ภาพประกอบดัดแปลง : ภาพถ่ายท่านพระไพศาล วิสาโล ในคราวมาแสดงปาฐกถาวันเปิดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ณ ที่ทำการใหม่ จ.เชียงใหม่ วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2545 และภาพประกอบฉากหลัง ผลงานจิตรกรรมของศิลปินอินโดนีเซีย Lee Choon Kool ชื่อภาพ Bali Series(5) เทคนิคสีหมึก นำมาจากหนังสือ Kedah to Bali : Crossing Boundaries in Art หน้า 158 ห้องสมุดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่ออุดมศึกษาไท : บทความลำดับที่ 203 เกี่ยวกับทางเลือกอุดมศึกษา แสดงปาฐกถานำโดย พระไพศาล วิสาโล วันที่ 20 กรกฎาคม 45
H
home
re
relate

พระไพศาล วิสาโล : พระคุณเจ้า และขอเจริญพรทุกท่าน ตั้งแต่นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกท่าน ในบรรดาทุกท่านซึ่งได้รับเชิญให้มาเป็นวิทยากรเป็นองค์ปาฐกแสดงเรื่อง"ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" ทั้ง 3 ท่านที่ผ่านมาโดยลำดับ จนมาถึงอาตมา อาตมาถือว่าเป็นผู้ที่ห่างเหินอุดมศึกษามากที่สุด โดยเฉพาะในความหมายที่เป็นมหาวิทยาลัย

ตอนเป็นนักศึกษาก็ไม่ค่อยได้เข้าเรียนสักเท่าไหร่ จำได้ว่า ตั้งแต่เรียนชั้นปี 2 ถึงปี 4 มีสมุด lecture อยู่เล่มเดียว ก็ใช้มันเข้าเรียนทุกห้อง ทุกวิชา เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ค่อยได้เข้าเรียน จึงคงจะซึมซาบรับเอาสาระจากอุดมศึกษาไปได้น้อย และเมื่อจบแล้วก็ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับแวดวงอุดมศึกษาเสียเท่าไหร่ ไม่มีคุณวุฒิที่จะมาเป็นอาจารย์อย่างผู้บรรยายไปก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ท่าน เพราะฉะนั้น สิ่งที่พูดไปวันนี้ หากฟังแล้วรู้สึกตื้นเขินหรือว่าลอยหลุดโลกไปก็ขออภัยด้วย เพราะว่าไม่มีประสบการณ์มากพอเกี่ยวกับอุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับสถาบันที่เป็นมหาวิทยาลัย และให้ถือว่ารายการในบ่ายวันนี้ถือว่าเป็นภาคผนวกก็แล้วกัน เป็นภาคผนวกที่เสริมต่อจากเนื้อความที่ได้มีการบรรยายมาแล้ว 3 ครั้ง จุดหมายของการศึกษามีอยู่ 2 ระดับ อาตมาอยากจะเริ่มต้นตรงนี้ว่า"จุดหมายของการศึกษา"จริงแล้วมีอะไรบ้าง อาตมาคิดว่าโดยทั่วไป จุดหมายของการศึกษามีอยู่ 2 ระดับ

อันที่หนึ่งคือ, การศึกษาต้องตอบสนองต่อยุคสมัย จะเป็นความเป็นจริงในระดับชุมชนหรือในระดับประเทศก็แล้วแต่ การศึกษาต้องตอบสนองตรงนี้ จะเป็นความเป็นจริงในเรื่องของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ก็แล้วแต่ สุดแท้แต่ว่าเราจะให้ความสำคัญกับมิติด้านไหนของความเป็นจริง การศึกษาเบื้องต้นต้องตอบสนองตรงนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มองว่ายุคสมัยนั้นกำลังถูกภัยอาณานิคมคุกคาม ถูกลัทธิล่าเมืองขึ้นคุกคาม เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้การศึกษาเข้ามาตอบสนองความเป็นจริงตรงนี้ คือพยายามที่จะผลิตข้าราชการขึ้นไปทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือปฏิรูปให้มีความทันสมัย จะได้สามารถต้านภัยลัทธิอาณานิคมได้ อันนี้ก็เป็นความจริงของการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้พยายามตอบสนอง อย่างน้อยก็ในแง่ของการต่อสู้กับลัทธิล่าเมืองขึ้น และการรวมประเทศให้เป็นรัฐชาติ

หรือว่ามาถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ก็จะมองว่า ความเป็นจริงของสังคมไทยในเวลานั้นก็คือว่า คนไทยยากจน ยังล้าหลัง ไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นการศึกษาก็ต้องตอบสนองความเป็นจริงส่วนนี้ก็คือว่า การพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม การศึกษาเข้ามาตอบสนองตรงนี้คือทำให้ประชาชนเข้ามาเป็นกำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

ในปัจจุบันนี้ คนจำนวนไม่น้อยก็มองว่าความเป็นจริงก็คือว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นตามหลักตลาดเสรีที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ก็เลยมีการพูดกันว่า การศึกษาต้องพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกให้ได้ เดี๋ยวนี้เราจะได้ยินกันมากเวลาพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ก็มักพูดกันว่าจะปฏิรูปอย่างไรให้เราสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ มีการฝึกให้เด็กรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ให้เด็กรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ หรือว่าวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ตอนหลังก็ให้มาสนใจเรื่องภาษาจีน

อันนี้ก็เป็นหน้าที่หนึ่งซึ่งอยู่ในความคิดของคนทั่วไป โดยเฉพาะในการปฏิรูปการศึกษา หรือนักการศึกษา ซึ่งคิดว่ามันต้องตอบสนองให้เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งเราก็คงจะไม่ปฏิเสธที่การศึกษาจะทำหน้าที่นี้ และในแง่หนึ่งก็เป็นการสนองตอบต่อสังคม เป็นตัวตามสังคมว่าสังคมต้องการอะไร สังคมต้องการนักท่องเที่ยวกี่คน ต้องการวิศวกรกี่คน การศึกษาก็มาตอบสนองตรงนี้ ถูกหรือผิดคิดว่าเป็นเรื่องที่พูดกันได้ แต่ว่าอันนี้ก็คือหน้าที่ที่การศึกษามีจุดมุ่งหมายเป็นอันดับแรก

อันที่สอง อาตมาคิดว่า"การศึกษา"จะต้องตอบสนองความเป็นจริงขั้นพื้นฐาน ความเป็นจริงที่เป็นสากลซึ่งดำรงอยู่ทุกยุคทุกสมัย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราจะมองข้ามไม่ได้ การศึกษาจะปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้

"ความเป็นจริงขั้นพื้นฐาน"หมายถึงอะไร หมายถึง"ธรรมชาติขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์เราต้องการชีวิตที่มีความหมาย มนุษย์ต้องประสบกับความพรัดพราก ความทุกข์ มนุษย์เรามีความใฝ่สันติ ต้องการความสุข อิสรภาพและเสรีภาพซึ่งอันนี้เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งคงอยู่ทุกยุคทุกสมัย"

ทำไมหนังสือของเช็คสเปียร์ที่เขียนขึ้นมาหลายร้อยปีแล้ว ทำไมวรรณกรรม"ขุนช้างขุนแผน"ซึ่งเขียนขึ้นมาสองร้อยปีแล้วจึงยังจับใจคนได้ คนยังอ่านกันอยู่ ก็เพราะว่ามันตอบสนอง มันสัมผัสหรือกระทบกับธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องของความรัก ความทุกข์ ความพรัดพราก ความใฝ่หาชีวิตที่มีอิสระ เป็นต้น

อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งการศึกษาต้องตอบสนอง ยังไม่ต้องพูดถึงธรรมชาติพื้นฐานอีกอันหนึ่งก็คือ นอกจากธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตแล้ว ได้แก่ธรรมชาติพื้นฐานของโลก หรือจะเรียกว่าของธรรมะทั้งปวงก็ได้ ของโลกก็ยกตัวอย่างเช่น โลกทั้งหลาย ถ้ามองในแง่ของพุทธก็คือ มันมีสิ่งที่ทุกอย่างมันอิงอาศัยกัน ไม่มีอะไรที่สามารถจะแยกอยู่โดดๆได้ และก็มีธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานตรงที่ว่า ทุกคนก็ต้องการสังคมที่สงบ สันติสุข ปราศจากสงคราม อันนี้ก็คือธรรมชาติความเป็นจริงของมนุษย์และของสังคมทุกยุคทุกสมัย

การศึกษาจะต้องทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการส่วนนี้ด้วย ก็คือ ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่เพื่อให้คนมีงานทำ ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้สังคมมีสิ่งแวดล้อมที่ดีงามเท่านั้น หรือปลอดพ้นจากปัญหายาเสพติด มีเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้า แต่ว่ายังรวมถึงการทำให้คนเข้าถึงความสุข การทำให้สังคมได้เข้าถึงสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อธรรมชาติอันลึกซึ้งของมนุษย์ หรือทำให้คนได้เข้าใจธรรมชาติความเป็นจริงของโลก ว่ามันเชื่อมโยงอิงอาศัยกัน ไม่มีอะไรที่จะแยกขาดจากกันได้ ถ้าการศึกษาไม่สามารถที่จะบรรลุตรงนี้ได้ มันก็เป็นการศึกษาที่ขาดวิ่น ไม่ครบส่วน

ทีนี้เรามาดูการศึกษาที่เรียกว่า"มหาวิทยาลัย" อาตมาคิดว่ามีจุดโหว่ตรงนี้มาก เริ่มตั้งแต่ การบรรลุวัตถุประสงค์ข้อแรก คือการตอบสนองความเป็นจริงของยุคสมัย เราพบและวิจารณ์กันอยู่เสมอว่า มันตอบสนองความเป็นจริงเฉพาะด้านที่คับแคบมากเลย ยกตัวอย่างเช่น ไม่ตอบสนองความเป็นจริงของชุมชน

มหาวิทยาลัยไม่สนใจชุมชน แต่สนใจสังคมของคนกลุ่มเล็กๆของคนชนชั้นกลาง หรือว่าสนใจประเทศในความหมายที่เป็นนามธรรม แต่ไม่สนใจชุมชน เราไม่สนใจว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง เราไม่สนใจ นอกจากนี้เรายังพรากเอาคนออกจากชุมชนไปตอบสนองสิ่งที่เรียกว่าประเทศ เช่น เศรษฐกิจของประเทศเป็นต้น มุ่งผลิตคนเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ นี่ก็เป็นการตอบสนองความเป็นจริงเฉพาะด้าน คือตอบสนองความเป็นจริงเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ ไม่ได้สนใจความเป็นจริงส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น ภาคเกษตรกรรม

การผลิตโดยใช้เทคโนโลยีพื้นๆเพื่อที่จะช่วยเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการใช้เทคโนโลยีพื้นๆที่ทำให้เป็นการทุ่นแรงงานในภาคเกษตรกรรม จะไม่ได้ผลิตออกมาจากมหาวิทยาลัยเลย ส่วนใหญ่จะออกมาจากภาคอื่น เช่น ควายเหล็ก เรือหางยาว ก็ไม่ได้เป็นการผลิตที่ออกมาจากมหาวิทยาลัย มันมาจากข้างนอก เพราะว่าเขาไม่สนใจภาคเกษตรกรรมหรือว่าการทำมหากินของคนในระดับรากหญ้า

อุดมศึกษาปัจจุบันละเลยความเป็นจริงหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น ด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ค่านิยมตัวใครตัวมัน หลงวัตถุ สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่อยู่ในความสนใจของอุดมศึกษาเลย อุดมศึกษาไม่สามารถที่จะตอบปัญหาเหล่านี้ได้ และมิหนำซ้ำกลับเป็นตัวปัญหาทำให้สิ่งเหล่านี้รุนแรงขึ้น ทั้งนี้เพราะมุ่งผลิตคนที่จะไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นเอง

การศึกษาเมื่อแยกเป็นศาสตร์ย่อยแล้ว ก็จะสนใจแต่เฉพาะเรื่องของตัว จนกระทั่งเรียกได้ว่า แม้แต่จะตอบสนองความต้องการของสังคม บางทีก็ไม่ตอบสนองเลย อย่าง นิติศาสตร์ วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ ก็ไปมุ่งแต่สิ่งที่อาจารย์หมอประเวศเรียกว่า เอาวิชาเป็นตัวตั้ง สนใจแต่เรื่องเทคนิค นิติศาสตร์ก็สนใจแต่เรื่องเทคนิคว่า ข้อกฎหมายตรงนี้ว่าอย่างไร ไม่ได้สนใจว่ากฎหมายมันเป็นไปเพื่อความยุติธรรม เพื่อทำให้สังคมสงบสุข การตีความโดยนักกฎหมายหรือทนายความ หรือโดยผู้พิพากษา ก็ตีความโดยอาศัยข้อกฎหมายในเชิงเทคนิคมากกว่า

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่ามหาวิทยาลัยตอนนี้อยู่นอกสังคม คือไม่ตอบสนองสังคม แม้ตอบสนองความต้องการของสังคมเฉพาะด้าน เฉพาะเรื่องก็ไม่ทำแล้ว คือไม่ตอบสนองอะไรทั้งสิ้น คนที่จบมหาวิทยาลัยไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปฝึกกันใหม่ในสถาบัน ในโรงงาน หรือในองค์กรธุรกิจ

อันนี้เป็นประเด็นขั้นพื้นฐานเลยก็คือว่า เพียงแค่วัตถุประสงค์ข้อแรกที่เป็นเบื้องต้น คือ"การตอบสนองความเป็นจริงของยุคสมัย" ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะกิจเฉพาะคราว มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำหน้าที่นี้แล้ว ยิ่งมาพูดถึงเรื่อง"การตอบสนองที่เป็นสากล" มหาวิทยาลัยก็ไม่เอาใจใส่เลย

คนที่เรียกว่าเป็น"บัณฑิต"จบมหาวิทยาลัยมา ส่วนใหญ่ต้องเรียกได้ว่าไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้ความหมายของชีวิต ไม่สามารถสัมผัสกับความต้องการส่วนลึกในจิตใจได้ มีความทุกข์แล้วไม่สามารถแก้ทุกข์ของตนเอง ไม่รู้ในธรรมชาติพื้นฐานของตัวเอง ธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานที่เป็นสากล ที่เป็นสัจธรรม อันนี้ไม่รู้จัก ดังนั้นคนที่ผ่านมหาวิทยาลัยไป ก็จะประสพสิ่งที่เรียกว่า "ความว่างเปล่าของชีวิต ความหิวโหยทางด้านจิตวิญญาน" แก้ความทุกข์ของตัวเองไม่ได้ ยิ่งแก้ก็ยิ่งพันขาของตัวเอง ไปๆมาๆการหนีทุกข์ก็คือการหนีเงาของตัวเอง หนีเท่าไหร่ก็หนีไม่พ้น

อันนี้เป็นปัญหาที่คนจบมหาวิทยาลัย ไม่เข้าใจในธรรมชาติพื้นฐานที่เป็นสากลของมนุษย์ เราสนใจแต่เรื่องนอกตัว สนใจแต่เรื่องที่เป็นเฉพาะกิจเฉพาะคราว โดยไม่สนใจธรรมชาติพื้นฐานที่เป็นของเราเอง สุข ทุกข์ ความพรัดพราก การสูญเสีย สิ่งนี้เราต้องเผชิญเราต้องประสพ แต่เราไม่รู้วิธีการที่เราจะจัดการกับมันอย่างไร เรามองว่าสุข ทุกข์ มันอยู่นอกตัว ไม่ได้คิดว่า จริงๆแล้วมันอยู่ภายใน

ไม่เข้าใจธรรมชาติพื้นฐานของสรรพสิ่ง ซึ่งอาตมาคิดว่าเป็นสากลก็คือ "ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง" เพราะฉะนั้นเราจึงมองอะไรเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งอันนี้ก็คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยได้สร้างให้เรามองเช่นนั้น มองเศรษฐกิจแยกออกจากสังคมวัฒนธรรม แยกกายออกจากจิต แยกตัวเราเองจากสิ่งแวดล้อม แม้แต่เรื่องเฉพาะกาย เราก็สนใจแต่เฉพาะด้าน เฉพาะแง่ การเรียนแพทย์ก็เป็นตัวอย่างให้เราแยกส่วนแบ่งซอย จนกระทั่งเรามองไม่เห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่ง เราเรียนศาสตร์ต่างๆ เราไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงให้มันเข้าหากันได้ เรียนป่าไม้มาก็ไม่สนใจว่า ป่าไม้กับชลประทานมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ดังนั้น กรมป่าไม้และกรมชลประทานก็ทะเลาะกันเอง ทั้งๆที่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเดียวกันก็คือระบบนิเวศ เวลาเรารักษาป่า เราคิดแต่จะรักษาป่าโดยที่เราไม่สนใจมิติด้านสังคม ชุมชน วัฒนธรรม เราคิดแต่จะเอาคนออกจากป่าอย่างเดียว

นี่เป็นการมองที่แยกสิ่งต่างๆออกเป็นส่วนๆ โดยมองไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จนกระทั่งเราไม่เห็นเลยว่า กายกับใจมันสัมพันธ์กันอย่างไร ถึงขั้นที่บางครั้งเราก็มองว่า ใจนั้นไม่มีจริง มันเป็นเพียงแค่กระบวนการทางชีวเคมีที่รวมศูนย์อยู่ที่สมอง กายเป็นเรื่องของกายล้วนๆหรือเป็นเรื่องของวัตถุ

ถึงที่สุดแล้วเราแยกตัวเราเองออกจากสิ่งแวดล้อม เราแยกตัวเราเองออกจากสังคม ก็จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า"ปัจเจกชนสุดโต่ง" คนในเวลานี้จะมีลักษณะปัจเจกชนสุดโต่งมาก เพราะไม่เห็นว่าตัวเองสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร เราได้เสรีภาพมา เสรีภาพนั้นแทนที่จะเป็นเสรีภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม กลับกลายเป็นเสรีภาพเพื่อสนองตัวตน เพื่อการเสพการบริโภคของตัวตน

เพราะฉะนั้น เมื่อมองในแง่นี้ มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นอุดมศึกษาประสบความล้มเหลว อาจจะประสพความสำเร็จในด้านอื่น แต่ว่าในแง่ของสถาบันอุดมศึกษาประสบความล้มเหลว เพราะไม่ได้ตอบสนองความต้องการ หรือความเป็นจริงสองระดับ คือ"ระดับความเป็นจริงของยุคสมัย" ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกร้องของยุคสมัย และ"ความเป็นจริงที่เป็นสากล"ที่เป็นธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตและโลกที่เราอยู่ กล่าวได้ว่า การศึกษาเช่นนี้มันไม่ทำให้เกิดความเป็นไท ทั้งในระดับชีวิตและในระดับสังคม ดังนั้นอุดมศึกษาในเวลานี้จึงไม่สามารถเรียกว่าอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทได้

อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท หรือเพื่อระบบทุนนิยม
หากจะพูดถึงการศึกษาเพื่อความเป็นไท อาตมาคิดว่า ปัจจัยเบื้องต้นที่เราต้องพูดก่อนก็คือว่า อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากอุดมศึกษาที่เป็นไทเสียก่อน แต่ปัจจุบันมันไม่เป็นไท โดยเฉพาะถ้าเรามองไปที่มหาวิทยาลัยที่เราเห็นอยู่ พูดง่ายๆก็คือ มันถูกครอบงำโดยอำนาจทุนมากเวลานี้ ดูตั้งแต่จุดมุ่งหมายของอุดมศึกษาที่เราร่าง นับตั้งแต่ที่เราพัฒนาการมาในปี พ.ศ.2503-2504 เป็นต้นมา อุดมศึกษาเป็นไปเพื่อผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการมาโดยตลอด นอกเหนือไปจากการผลิตข้าราชการซึ่งมีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่พอมาถึงสมัยที่เรามีการพัฒนาประเทศ อำนาจทุนที่เราได้รับอิทธิพลมาจากการศึกษาในต่างประเทศ หรือจากอเมริกา มันได้กำหนดให้การศึกษา ต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองการผลิต หรือว่าระบบทุนนิยม ซึ่งถือว่าต้องมีอุตสาหกรรม ภาคบริการ เป็นตัวฉุดประเทศให้พัฒนา ฉุดภาคเกษตรกรรมให้ขึ้นไป แต่กลับกลายว่าแทนที่มันจะฉุด มันกลับทิ้งห่างภาคเกษตรกรรมหรือชนบทไกลออกไปมากขึ้นทุกที

ในแง่อุดมการณ์มหาวิทยาลัยเป็นไปเพื่อสนองระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม แล้วโดยตัวมหาวิทยาลัยเองก็เริ่มจะเป็นธุรกิจ เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น อย่างที่เราเริ่มจะเห็นกันในเวลานี้ว่า มหาวิทยาลัยเริ่มแสวงหากำไรมากขึ้นทุกที มีการพยายามสร้างจุดขาย สร้างหลักสูตรพิเศษเพื่อที่จะดึงคนมาซื้อบริการทางการศึกษา มาเป็นบัณฑิต มีการเสนอจุดขายเช่น ปริญญาโท 2 ปีไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ หรือมีการเสนอหลักสูตรที่จบกันได้เร็วๆ ซึ่งอาจจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อย่างที่เป็นข่าวเรื่องด็อกเตอร์เก๊เมื่อเร็วๆนี้ ดังนั้นมันจึงเป็นอุตสาหกรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจ เพราะมันได้ปั๊มปริญญาออกมาเป็นโหลๆ เราผลิตปริญญากันเร็วมากเวลานี้ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ และการแสวงหากำไรก็รวมไปถึงการพยายามลดต้นทุน ให้อาจารย์ที่ไม่มีคุณภาพหรือมีปริมาณพอเพียงเข้ามาสอน

นอกจากอุดมการณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นไปเพื่อตอบสนองทุนนิยมแล้ว ตัวมหาวิทยาลัยเองก็เริ่มจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมในตัวเองด้วย และยิ่งไปกว่านั้นก็จะยิ่งเป็นเครื่องมือรับใช้บริษัทธุรกิจมากขึ้น เช่นรับจ้างทำวิจัยให้ โดยที่ความรู้ที่ได้จากการวิจัยก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือต่อมหาวิทยาลัย เป็นเครื่องมือ promote สินค้า เป็นที่รับจ้างโฆษณา มหาวิทยาลัยเวลานี้ก็กลายเป็นสถานที่โฆษณาให้กับบริษัทต่างๆมากมาย อันนี้ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงหาความเป็นไทไม่ได้

มหาวิทยาลัยนอกระบบ หรือแค่เปลี่ยนปลอกคอ
เวลานี้เราพูดถึงแนวคิดมหาวิทยาลัยให้อยู่นอกระบบ เราก็มองกันไม่ไกล เราก็มองว่านอกระบบนี่ก็คือว่าอยู่นอกระบบราชการ แต่ไม่ได้คิดเลยไปว่าให้มหาวิทยาลัยอยู่นอกระบบทุนนิยมด้วย ก็เลยเป็นว่า พอมหาวิทยาลัยอยู่นอกระบบราชการก็กลับเข้าไปอยู่ในอ้อมอกของระบบทุนนิยม จะเห็นได้ว่าระบบการศึกษามหาวิทยาลัยที่เราต้องการจะให้อยู่นอกระบบ มันก็เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนปลอกคอ หรือเปลี่ยนเจ้านายจากเดิมที่ระบบราชการเป็นเจ้านายมหาวิทยาลัย ก็กลายมาเป็นระบบทุนนิยมมาครอบงำมหาวิทยาลัยแทน

เราคิดไม่ไกล เราไม่เคยคิดจะให้มหาวิทยาลัยอยู่นอกระบบทุนนิยมด้วย ทุกคนที่คิดในเรื่องพวกนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของแนวคิดแบบทุน หรือแนวคิดแบบตลาด ที่จริงมันเป็นอย่างนี้ในเกือบทุกอย่าง ไม่แต่จำเพาะมหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ระบบสุขภาพ เวลานี้เราพยายามดึงให้มันออกมาจากอำนาจของรัฐ เราพยายามต่อสู้เรียกร้องให้สื่อมวลชนเป็นอิสระจากกฎหมายที่จะให้รัฐเข้ามาควบคุม พอสื่อมวลชนเป็นอิสระจากรัฐ ก็ปรากฎว่าไปอยู่ภายใต้อำนาจของระบบทุน สื่อมวลชนเวลานี้ก็เซ็นเซอร์ตัวเอง หรือว่าไม่ยอมไปวิพากษ์วิจารณ์เพราะกลัวไปกระทบกับผู้ให้โฆษณา หรือเจ้าของบริษัทข้ามชาติหรือระดับชาติ วิทยาศาสตร์ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ พอหลุดออกมาก็ไปอยู่ภายใต้อำนาจของธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้น

รวมทั้งเสรีภาพที่ประชาชนเราเรียกร้อง เราเรียกร้องเสรีภาพมาตั้งแต่ 14 ตุลา 16 เราได้เสรีภาพมา ปรากฎว่า แทนที่จะเป็นเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในการร่วมคิดร่วมสร้างสรรค์สังคม กลับกลายเป็นเสรีภาพเพื่อการบริโภค คือถูกระบบทุนเข้ามาใช้ เข้ามาเสวยผลพวงจากสิ่งต่างๆที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ว่าได้หลุดพ้นจากการครอบงำของรัฐ

ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือแบบแผนเดียวกัน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเพราะเวลานี้สังคมเราไม่มีกำลังพอที่จะดึงอุดมศึกษา เมื่อมันออกนอกระบบแล้ว เมื่อเริ่มจะอยู่นอกระบบราชการแล้วเราไม่สามารถที่จะดึงอุดมศึกษาให้เข้ามาอยู่ในการดูแลหรือการกำกับของสังคมได้ กลับกลายเป็นว่าระบบทุนมีอำนาจมากกว่า มันจึงดึงอุดมศึกษาหรือกลไกต่างที่จะเป็นประโยชน์ เป็นสวัสดิการของประชาชนให้เข้าไปอยู่ในอำนาจของระบบทุน อันนี้ก็รวมไปถึงรัฐวิสาหกิจด้วย

อาตมาคิดว่าในสังคมปัจจุบัน อำนาจทุนได้กลายเป็นอภิมหาอำนาจที่ครอบงำ มากำหนดชีวิต สังคม และโลกของเรามากมาย แล้วก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการจะบรรลุซึ่งความเป็นไท ไม่ว่าความเป็นไทนั้นจะเป็นไทในระดับชีวิต จิตใจ จิตวิญญาน หรือความเป็นไทของสังคม เราจะเห็นได้ว่าเวลานี้ผู้คนสัมพันธ์กัน ก็สัมพันธ์กันด้วยผลประโยชน์ สัมพันธ์กันด้วยทุน มีวัตถุเป็นสื่อกลาง แม้กระทั่งพ่อ แม่ ลูก ก็แสดงความรักไม่ใช่ด้วยการให้เวลา พูดคุย แต่แสดงความรักด้วยการให้วัตถุ ให้นาฬิกา ให้รถยนต์ เพื่อแสดงความรัก

พระกับฆราวาสก็สัมพันธ์กันด้วยผลประโยชน์ พระสัมพันธ์กับฆราวาสก็เพราะอยากได้ผ้าป่า อยากได้เงินมาสร้างโบสถ์ ศาลา หรือซื้อพระเครื่อง ฆราวาสก็สัมพันธ์กับพระก็เพราะอยากจะได้เงิน อยากจะถูกหวย เป็นต้น หรือบางทีก็อยากจะได้มากกว่านั้น

ระบบทุนได้เข้าไปครอบงำจนกระทั่งเวลาจะทำอะไรก็ตาม มักจะถามว่า ทำแล้วฉันจะได้อะไร ถ้าไม่ได้อะไรฉันไม่ทำ สุดท้ายเมื่อเวลาเราจะตายก็ตายไม่ได้ ต้องถูกต่อลมหายใจ ต้องถูกยื้อยุดฉุดกระชากให้อยู่ต่อไป เพราะว่าการที่เรามีอายุยืนต่อไป การที่เรามีลมหายใจต่อไปมันหมายความถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงพยาบาล ระบบทุนมันเข้ามาผูกพันจนกระทั่งความเป็นไทในชีวิตก็มีไม่ได้ แม้จะตายอย่างอิสระ ตายอย่างสงบก็ตายไม่ได้ เพราะว่าชีวิตของเรามันสามารถที่จะทำให้โรงพยาบาลหรือแพทย์ได้เงินได้ทองมากขึ้น จากลมหายใจที่ยืดยาวออกไป

อำนาจทุนและบริโภคนิยม อุปสรรคต่อความเป็นไท
อาตมาคิดว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความเป็นไทในเวลานี้ มันอยู่ที่อำนาจทุน ทั้งในความหมายที่เป็นอุดมการณ์แบบทุน ซึ่งรวมถึงบริโภคนิยม รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองอุดมการณ์ดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมไปถึงระบบการแพทย์ ระบบการศึกษา รวมทั้งศาสนาด้วย โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นในวงการธุรกิจ หรือบรรษัทข้ามชาติ หรือองค์กรที่เข้ามามีอำนาจในเรื่องของปัจจัยด้านทุนที่เรียกว่าองค์กรโลกบาล อย่างเช่น IMF หรือ World Bank เป็นต้น

และอำนาจทุนนี้ก็อาศัยตลาดเป็นสื่อ มาเป็นเวทีให้ทุนเข้ามามีอำนาจ คือทุนจะเข้ามามีอำนาจก็ต่อเมื่อดึงให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายมาเป็นสินค้าที่ขายได้ในตลาด พระเครื่องจะไม่มีความหมายจนกว่ามันจะกลายเป็นสินค้าในตลาดที่ซื้อขายกันได้ การศึกษาจะอยู่ภายใต้อำนาจทุนได้ก็ต่อเมื่อมันกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกัน ใครมีเงินก็ซื้อได้มาก ใครไม่มีเงินก็ไม่สามารถซื้อได้ เป็นต้น อาตมาคิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นปัญหาสำคัญ

อุดมศึกษาที่พึงปรารถนาควรจะเป็นอย่างไร ?
อุดมศึกษาที่พึงปรารถนาควรจะเป็นอย่างไร ? เห็นด้วยกับ อ.สุลักษณ์ ว่า อุดมศึกษาต้องเป็นไปเพื่ออุดมคติ แต่อุดมคติในที่นี้ไม่ได้มองเป็นเรื่องไกลตัว อุดมคติหมายถึงอะไร ? คติในที่นี้ อาตมาตีความว่า "เป็นที่ไป" หรือ"ที่บรรลุถึง" คติในที่นี้หมายถึง"ภพภูมิ" หรือ"สถานที่"ก็ได้ อย่างที่พูดกันว่า ตายแล้วไปสู่สุคติ ตายแล้วไปสู่ทุกขคติ คติในที่นี้หมายถึง"สภาวะ"หรือ"ภพภูมิ"

"อุดมศึกษาที่พึงปรารถนา"คือ อุดมศึกษาที่สามารถนำพามนุษย์และสังคมไปสู่คติที่อุดม หรือภพภูมิที่สูงส่งดีงาม อุดมศึกษาต้องเลื่อนชีวิตมนุษย์ และสังคมให้เข้าสู่สภาวะที่ดีงาม หรือภพภูมิที่ดีงาม ในระดับปัจเจกบุคคล ในมิติชีวิต อุดมศึกษาต้องเป็นไปเพื่อชีวิตที่เข้าสู่ภูมิธรรมที่สูงส่งขึ้น มีภาวะที่ดีงามยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายของมันคือความเป็นไท แต่อุดมศึกษาต้องไม่เป็นไปเพื่อชีวิตเท่านั้น แต่ต้องเพื่อสังคมด้วย เพราะฉะนั้น ก็หมายความว่าต้องเอื้อให้สังคมเข้าสู่ภาวะที่งอกงามขึ้น เป็นภพภูมิที่น่าอยู่ และเอื้อต่อความเจริญเติบโตในทางจิตวิญญานของมนุษย์

ดังนั้น การศึกษาก็คือการเลื่อนชีวิตและสังคมสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งตรงข้ามและสวนทางกับอุดมศึกษาในปัจจุบัน เพราะว่าอุดมศึกษาในปัจจุบัน เป็นแค่การเลื่อนสถานภาพทางสังคม คนจำนวนมากที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยก็เพื่อต้องการที่จะเลื่อนสถานภาพทางสังคมแค่นั้นเอง ซึ่งหมายความว่าต้องการมีเงินเดือน มีรายได้ดี มีหน้ามีตามากขึ้น แต่อาตมาคิดว่าอุดมศึกษาที่แท้เพื่อความเป็นไท ต้องสามารถเลื่อนชีวิตและสังคมสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นการเลื่อนสถานภาพทางสังคม

ทีนี้เรามาดูสภาวะชีวิตที่ดีงามเป็นอุดมคติ ซึ่งเรียกว่าภูมิจิตภูมิธรรมที่สูง มันคืออะไร ? หมายความว่าเป็นชีวิตที่เป็นอิสระ เป็นไทโดยเฉพาะในทางจิตใจ ในทางจิตวิญญาน เช่นมีความโปร่งโล่งแช่มชื่น ปลอดพ้นจากความเครียด ความกดดัน ความทุกข์ มีจิตที่เมตตา จิตที่ใหญ่ แผ่กว้างโดยไม่ติดยึดอยู่กับความเห็นแก่ตัว มีการใช้ปัญญาโดยปราศจากอคติ ความเห็นแก่ตัว หรือความหลง สามารถเข้าถึงความจริงขั้นลึกซึ้งได้ ขั้นปรมัตถ์ก็ได้ สามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ได้เพราะมันคลายจากความติดยึด ความหลง

ตรงนี้อุดมศึกษาหรือการศึกษาทั้งหมดที่รัฐจัดมาละเลยเรื่องนี้มาก ไม่มีการฝึกฝนพัฒนาตนให้เข้าใจธรรมชาติของตัวเองจริงๆ ธรรมชาติขั้นพื้นฐานให้รู้ว่า ความทุกข์เกิดจากอะไร เวลาเราโกรธ เราโกรธเพราะอะไร เราทุกข์นี่ทุกข์ที่ตรงไหน ไม่มีการฝึกฝนพัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นการฝึกฝนพัฒนาจิตใจในระบบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับล่างๆ พอถึงระดับอุดมศึกษาไม่ค่อยสนใจการพัฒนาจิตใจเท่าไหร่ เพราะถือว่าเป็นเรื่องเด็กๆ

อย่างไรก็ตาม ในระดับประถม มัธยมก็กระทำโดยตอบสนองวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ให้รักชาติ ขยัน ตรงเวลา อดทน ซื่อสัตย์ มีวินัย คือสนใจเรื่องการพัฒนาจิตใจเพียงแค่นี้ เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของรัฐ และเพื่อที่จะได้เป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ

การละเลยมิติทางด้านจิตวิญญาน การฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติพื้นฐานความเป็นจริงของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสากล คงทนอยู่ทุกยุคทุกสมัย อาตมาคิดว่ามันทำให้เกิดวิกฤตทางจิตวิญญานขึ้นมาในโลกและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วิกฤตและปัญหาที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การทำลายทรัพยากร ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาความเครียด ความทุกข์ ที่รุกรานรุกเร้ามนุษย์จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ อาตมาคิดว่าถึงที่สุดแล้วมันมีพื้นฐานมาจากรากเหง้าที่เรียกว่า วิกฤตทางจิตวิญญาน หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ คนมันเกิดปัญหาเรื่อง"ตัวตน"ขึ้นมา

วิกฤตทางจิตวิญญาน - ปัญหาเรื่อง"ตัวตน"
ผู้คนเวลานี้มีปัญหาเรื่อง"ตัวตน" ซึ่งไม่เพียงที่จะสร้างปัญหาให้กับตนเองเท่านั้น แต่ว่ายังกลายเป็นรากเหง้าปัญหาทั้งหลายของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย อาตมาขอขยายความสักหน่อยในเรื่องปัญหาของ"ตัวตน" หรือที่เรียกมันว่า"วิกฤตการณ์เรื่องจิตวิญญาน"

ปัญหาของ"ตัวตน"เป็นปัญหาของยุคสมัยนี้เลยทีเดียว ไม่ใช่ว่าสมัยก่อนไม่มีตัวตน สมัยก่อนก็มีตัวตน แต่ว่าตัวตนในสมัยก่อน เขาไม่ถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เพราะมองว่าเรื่องตัวตนของเขาแยกไม่ออกจากสิ่งแวดล้อม แยกไม่ออกจากผู้คน แต่พอมาถึงยุคปัจจุบันเรามาเน้นเรื่องตัวตนกันมาก เพราะว่าเรามองอย่างแยกส่วน ตัวตนของเรามันแยกขาดจากคนอื่น แยกขาดจากสิ่งแวดล้อม แล้วเมื่อเรามองตัวตนแยกขาดจากสิ่งอื่นแล้ว มันทำให้เกิดความทุกข์

คนเรายิ่งสนใจเรื่องตัวตนมากขึ้นเท่าไหร่ พอมีอะไรมากระทบ มันก็กระทบตัวตนไปหมด ทีนี้ปัญหาตัวตนนี้ อาตมามองว่า มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความเห็นแก่ตัวเท่านั้น เวลานี้เราชอบพูดกันว่าคนเห็นแก่ตัวกัน พระก็เทศน์เรื่องเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างที่เป็นอยู่ อาตมามองว่าปัญหาตัวตนในยุคสมัยปัจจุบัน มันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องความเห็นแก่ตัวเท่านั้น มันเป็นประเด็นที่กว้างและลึกไปกว่านั้น

คนที่ไม่ค่อยเห็นแก่ตัวก็มีอยู่ในสังคม เวลาที่เรามองเห็นคนอื่นเห็นแก่ตัว เรามักจะมองคนอื่นเห็นแก่ตัว ฉันไม่เห็นแก่ตัว ฉันไม่เห็นแก่ตัวแต่ทำไมฉันทุกข์ล่ะ ทำไมฉันจึงยึดเอาวัตถุเป็นสรณะ ทำไมฉันอยากจะรวย ทำไมฉันอยากจะมีวัตถุ ทำไมฉันอยากจะได้สิ่งของต่างๆมากมาย ทำไมฉันจึงจะมีชื่อเสียง มันมีอะไรที่มากไปกว่าคำตอบง่ายๆซึ่งเรียกว่า"ความเห็นแก่ตัว"

ลึกลงไปคนเรามีความไม่พอใจในตัวตน เป็นส่วนใหญ่เลยที่เวลานี้เราถูกสร้างให้เกิดความไม่พอใจในตัวตน เราอยากจะมีตัวตนใหม่ เราอยากจะสร้างตัวตนใหม่ และการสร้างตัวตนใหม่ของคนปัจจุบันก็คือ การบริโภค การเสพ การเสพโดยเฉพาะการเสพสินค้าที่มี brand name เวลานี้มันเริ่มกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น เราเสพสินค้าที่มีชื่อ ที่มียี่ห้อ ที่มีแบรนด์เนมดังๆ ไม่ใช่เพราะว่ามันสบาย มันอร่อย มันนุ่มเท้า ไม่ใช่! เรานั่งรถเบนซ์ไม่ใช่เวลาขับแล้วมันเย็นสบาย แต่ทว่ามันมีคุณภาพ มันมีภาพลักษณ์อยู่ในนั้น มันมีความหมายที่พ่วงติดมากับยี่ห้ออันนั้น คุณภาพและภาพลักษณ์เหล่านี้ มันเป็นคุณค่าที่เหนือจากการปรนเปรอในทางอายตนะ 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่มันตรงเข้าไปถึงใจ

เราต้องการสร้างตัวตนใหม่ เราก็เลยคิดว่าเราใส่ไนกี้ เรากินโค๊ก เรากินสตาร์บั๊คแล้วรู้สึกว่าเรามีความภูมิฐานมากขึ้น ถ้าเราต้องการเป็นคนที่รักษาสิ่งแวดล้อม เราต้องไปซื้อของร้าน body shop ถ้าเราต้องการเป็นผู้ชนะเราต้องใส่ NIKE เพราะใส่ไปแล้วทำให้เรารู้สึกเหมือนกับไมเคิล จอร์แดน

เห็นภาพโฆษณาโทรทัศน์ไหมครับ จะมีคนหนึ่งแต่งชุดดาราคล้ายทีมฮอลแลนด์ แล้วก็สวมรองเท้าฟุตบอล ใส่ชุดกีฬา นั่งดูฟุตบอลจากโทรทัศน์ ใส่แล้วรู้สึกว่าตัวเป็นนักกีฬาโดยไม่ต้องลงเล่น แค่ใส่ก็รู้สึกเป็นนักกีฬาแล้ว และก็เป็นผู้ชนะด้วย เพราะคนที่ใส่ชุดกีฬาซึ่งเป็น presenter อุปกรณ์สินค้าพวกนั้นก็คือผู้ชนะ

สมัยก่อนเราคิดว่า ถ้าเรากินดีหมีอาจจะแข็งแรง กินอวัยวะสืบพันธุ์ของเสือ เราจะมีพลังทางเพศ ความเป็นเสือความเป็นหมีมันจะซึมซับเข้ามาสู่ตัวเรา เดี๋ยวนี้เราคิดว่าถ้าเราใส่ NIKE ที่ไมเคิล จอร์แดนโฆษณา ความเป็นไมเคิล จอร์แดนจะเข้ามาอยู่ในร่างกายเรา เกิดเป็นตัวตนใหม่ขึ้นมา เวลานี้คนจำนวนไม่น้อยต้องการสร้างตัวตนใหม่ด้วยการบริโภค เพราะการบริโภคสิ่งที่มันเป็นแบรนด์เนม เขาไม่ได้บริโภคเฉพาะตัววัตถุ แต่เขาบริโภคคุณค่า ความหมาย และสัญลักษณ์ที่วัตถุเหล่านั้นเป็นสื่อ

การที่ลัทธิบริโภคนิยมมันแพร่กระจายและเป็นที่นิยมได้ก็เพราะคนเราต้องการสร้างตัวตนใหม่ ไม่ใช่เพราะว่าเขาอยากจะสะดวกสบาย ไม่ใช่เพราะอยากจะกินอาหารที่อร่อย แม็คโดแนล เขาไม่ได้บอกว่าเขาผลิตอาหาร เขาผลิตอย่างอื่นมากกว่า

ความไม่พอใจตัวตนและพยายามสร้างตัวตนใหม่อีกประเภทหนึ่งซึ่งอาตมาจัดว่าอยู่ในบริโภคนิยมก็คือ การพยายามผ่าตัดเสริมทรง เพียงแค่เปลี่ยนร่างกาย เปลี่ยนทรวดทรง มันก็เปลี่ยนตัวตน อันนี้เป็นความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อยที่ไปผ่าตัดเสริมทรง ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนใหม่ (new life) และอันนี้เป็นปัญหามาก

เพราะเดี๋ยวนี้คนจำนวนไม่น้อย เริ่มที่จะเอาคุณค่าความหมายของตัวไปขึ้นอยู่กับน้ำหนักร่างกาย เอาคุณค่าและความหมายของชีวิตเราไปขึ้นตาชั่งกันแล้ว ถ้าตาชั่งมันเยอะ น้ำหนักเยอะ คุณค่าเราก็น้อย เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการเพิ่มคุณค่าเราต้องไปลดน้ำหนัก ให้น้ำหนักเบาลงหรือไปเปลี่ยนทรวดทรง เพื่อตนเป็นคนใหม่ ก็คือไปซื้อบริการผ่าตัดเสริมทรงนั่นเอง อันนี้เป็นบริโภคนิยมแบบหนึ่งเพื่อสร้างตัวตนใหม่

มองลึกลงไป เราไม่เพียงต้องการสร้างตัวตนใหม่เท่านั้น ลึกลงไปแล้วนี่ เราต้องการสร้างความหมายและคุณค่าให้แก่ชีวิตของเรา ทุกคนต้องการชีวิตที่มีความหมาย และความหมายของชีวิตของเราเวลานี้ เราคิดว่าเราได้มันมาจากวัตถุ วัตถุกลายเป็นตัวให้ความหมายและคุณค่ากับชีวิต

ที่พูดไปเมื่อสักครู่นี้เรื่องแบรนด์เนม เราคิดว่าถ้าเราได้ครอบครองวัตถุ เสื้อผ้ายี่ห้อนี้ นาฬิกายี่ห้อนั้น รองเท้ายี่ห้อโน้น ชีวิตเราจะมีคุณค่าความหมาย กินสตาร์บั๊คแล้วมันรู้สึกอิ่มเอมใจมากกว่ากินเนสกาแฟ รู้สึกว่าเราได้ทำอะไรบางอย่างที่มันมีคุณค่ามากขึ้น

มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเคยถามเด็กเมื่อสองสามปีก่อนว่า อะไรที่ทำให้ชีวิตเขามีคุณค่า ที่รู้สึกว่าเขามีความหมาย ? เด็กแทบทั้งหมดตอบตรงกันก็คือ มีรอลเลอร์เสก็ตบ้าง มีนาฬิกาบ้าง มีเป้สะพายหลังแพงๆ ไม่ได้บอกเลยว่าชีวิตมีความหมายด้วยการได้ทำประโยชน์ ด้วยการกลับไปบ้านช่วยพ่อแม่ หรือด้วยการรักษาความจริง ไม่โกหก ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่มีคำตอบเหล่านี้เลย

ชีวิตจะมีความหมายก็ต่อเมื่อ มีสิ่งบริโภคเหล่านั้น เพราะฉะนั้น คนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาตัวตน และรู้สึกว่าชีวิตของเขาไม่มีคุณค่าไม่มีความหมาย เขาต้องการเพิ่มชีวิตของเขาให้มีคุณค่ามีความหมาย แต่เขาไปหาวัตถุ วัตถุเป็นตัวให้คุณค่าและความหมายของชีวิต ซึ่งอาตมาคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจ มีเรื่องพูดได้เยอะ

วัตถุเป็นตัวให้ความหมายและคุณค่าแก่ชีวิต
สมัยก่อนศาสนาเป็นตัวให้คุณค่าและความหมายต่อชีวิต ชีวิตคุณจะมีคุณค่า มีความหมายก็ต่อเมื่อคุณปฏิบัติธรรม คุณรักษาศีล เป็นต้น หรือว่าคุณทำตามคำสั่งของพระเจ้า ทำตามบัญชาของพระเจ้า ทำให้ชีวิตคุณมีคุณค่า มีความหมาย แต่พอศาสนาเริ่มเสื่อมอิทธิพล คนไม่เชื่อเรื่องศาสนา ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาให้คุณค่าและความหมายแก่ชีวิต ก็ไปหาวัตถุ วัตถุซึ่งแต่ก่อนเป็นสิ่งที่ศาสนาเป็นตัวกำหนดว่าวัตถุอะไรที่มีคุณค่าที่มีความหมาย วัตถุเป็นตัวรองรับคุณค่าและความหมายโดยมีศาสนาเป็นตัวกำหนด แต่พอศาสนาหมดบทบาทไป วัตถุก็เปลี่ยนสภาพจากสิ่งที่เคยเป็นตัวรองรับความหมายและคุณค่าจากศาสนา มันก็กลายเป็นตัวให้คุณค่าและความหมายในตัวมันเองแก่มนุษย์

มันกลับกัน แทนที่จะเป็น Object of Meaning มันก็กลายเป็น Source of Meaning เป็นตัวให้คุณค่าความหมายแก่ชีวิต เวลานี้วัตถุเป็นตัวให้คุณค่าความหมายแก่คนจำนวนไม่น้อย แก่วัยรุ่น แก่คนทั่วไป ตรงนี้เองที่ทำให้เวลานี้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรม

บริษัทใหญ่ๆเดี๋ยวนี้เขาบอกว่าเขาไม่ผลิตสินค้าแล้ว เขาจะผลิตคุณค่าและความหมายแทน ก็คือผลิตแบรนด์เนมนั่นเอง ไนกี้เขาไม่ผลิตรองเท้าแล้ว เขาจะไปให้ subcontract ให้เวียดนาม ให้จีน ให้อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิต บริษัทยี่ห้อดังๆเขาไม่ผลิตสินค้าเองแล้ว วัตถุเขาไม่ผลิตเองแล้ว แต่เขาจะผลิตคุณค่าและความหมาย เขาจะเป็นตัวให้คุณค่าและความหมายต่อวัตถุ โดยการประทับตราแบรนด์เนม คุณผลิตรองเท้ามา ฉันประทับตรา คุณผลิตเสื้อมา ฉันประทับตรา มันมีคุณค่ามันมีความหมายขึ้นมาทันที

บริษัทพวกนี้ทำหน้าที่ผู้เสกความหมายและคุณค่าให้กับวัตถุ แล้วคนที่ใส่เสื้อ ใส่รองเท้าเหล่านั้นก็รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าและมีความหมาย อันนี้มันสะท้อนถึงปัญหาตัวตน ว่าคนไม่มีคุณค่าไม่มีความหมาย ก็เลยไปหาคุณค่าความหมายจากวัตถุ แล้วก็เลยเปิดช่องให้บริโภคนิยมแพร่หลายกระจายไปได้กว้าง แบรนด์เนมถึงเป็นสิ่งสำคัญ มีคุณค่ามากกว่าอะไรทั้งสิ้น

ตรงนี้เป็นปัญหาของยุคสมัยมากที่ว่า ทำไมคนเราหันไปหาวัตถุนิยมมาก ไม่ใช่เพราะอยากเสพเพื่อความสบายทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ใช่นะ มันเลยไปกว่านั้น มันต้องการสร้างความหมายและให้คุณค่าแก่ชีวิต โดยถือว่า วัตถุที่มีแบรนด์เนม มันสามารถให้สิ่งนี้ มันเป็นการสนองในส่วนลึกของตัวตนได้

ปัญหาของมนุษย์มาจาก"ความพร่องทางจิตวิญญาน"
ถึงที่สุดแล้ว อาตมาคิดว่ามันมีมากกว่านั้น ขอใช้เวลาตรงนี้หน่อยเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ… ลึกๆแล้วคนเรานั้นมันมี"ความพร่อง"อยู่ เรียกว่า"ความพร่องทางจิตวิญญาน" ตรงนี้ต้องอาศัยเดวิด ลอย ได้มาอธิบาย เขาเป็นนักปรัชญาและสนใจเรื่องจิตวิทยาด้วย โดยอาศัยแนวคิดทางพุทธศาสนา เขาบอกว่า

คนเราในทางพระพุทธศาสนา ตัวตนไม่มีอยู่จริง ลึกๆคนเราก็รู้ว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง แต่ไม่ยอมรับ มันจะผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ตัวตนที่มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน และเรายอมรับความจริงนี้ไม่ได้ว่าตัวฉันไม่มีอยู่จริง แล้วพยายามกดตัวตนนี้เอาไว้ กดเอาไว้ในจิตใต้สำนึก แต่มันก็จะออกมาอยู่เรื่อยๆ แต่มันจะออกมาในสภาพที่ผิดเพี้ยน ตามหลักจิตไร้สำนึกก็คือว่า เรากดอะไรไว้ก็ตาม มันจะออกมาในลักษณะที่มันเพี้ยน

เช่น คุณโกรธหรือเกลียดอะไรสักอย่าง แล้วคุณกดมันไว้ มันจะออกมารบกวนจิตใจคุณอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าคุณไม่รู้ว่านั่นคืออะไร เดวิด ลอย บอกว่าตรงนั้นแหละคือความรู้สึกพร่อง ความรู้สึกที่มัน lack คือความพร่อง มันจะรู้สึกออกมารบกวนจิตใจ แล้วเมื่อคนรู้สึกพร่องแล้ว คนก็จะพยายามหาทางไปยึดอะไรก็ตามเพื่อมายืนยันความมีอยู่ของตัวตน ยืนยันว่าตัวตนมีอยู่จริง ความรู้สึกต้องการของมนุษย์ที่มายึดอะไรเพื่อมาเป็นเครื่องยืนยันว่าตัวตนมีอยู่จริง มันเป็นพฤติกรรมที่ถูกผลักดันโดยจิตไร้สำนึก เขาเรียกว่าเป็นแรงผลักดันทางจิตวิญญาน ซึ่งทำให้คนเราต้องแสวงหาอะไรต่างๆมากมาย

สมัยก่อนปัญหาตรงนี้มีไม่มาก เพราะเรามีศาสนา ศาสนาพุทธก็ดี ศาสนาคริสต์ก็ดี พยายามแก้ปัญหาความรู้สึกพร่องตรงนี้ ศาสนาคริสต์บอกว่าความรู้สึกพร่องของคุณจะหายไปต่อเมื่อคุณได้แก้บาป คุณมีความรู้สึกพร่องเพราะว่าคุณมีบาปดั้งเดิม ถ้าคุณแก้บาปคุณก็จะหายไป แน่นอน มันเกิดขึ้นมาใหม่ คุณก็แก้บาปใหม่ แต่คุณก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งคุณจะได้พบกับพระเจ้า แล้วความรู้สึกพร่องก็จะหายไป

ศาสนาพุทธก็สามารถแก้ตรงนี้ให้เห็นถึงความไม่ใช่ตัวตน อนัตตา ให้รู้ว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง อย่าไปกลัวมัน แต่พอเราปฏิเสธศาสนา ความรู้สึกพร่องตรงนี้ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ได้รับการบำบัด ไม่ได้รับการจัดการ มันก็ไปก่อกวน มันก็หาทางออกจากการไปหาวัตถุมาเป็นเครื่องยืนยัน เพื่อบอกว่าตัวตนนั้นมีอยู่จริง คือเอาตัวตนไปผูกอยู่กับวัตถุซึ่งเป็นของที่แข็ง มั่นคง ก็จะรู้สึกว่าตัวตนนั้นมันจริง เราต้องการเอาตัวตนไปผูกติดอยู่กับสิ่งที่ใหญ่กว่าเรา สังคม ประเทศชาติ รวมทั้งรัฐ เพราะทำให้เรารู้สึกว่าตัวตนของเรามีอยู่จริง

กษัตริย์และรัฐชาติ มาแทนที่ พระเจ้าและศาสนา
สิ่งที่น่าสนใจ เดวิด ลอย บอกว่า การกำเนิดของรัฐชาติมันแยกไม่ออกจากความรู้สึกตรงนี้ เพราะสมัยก่อนในช่วงยุคของการปฏิรูปศาสนา ที่เรียกว่า Reformation ซึ่งทำให้เกิดลัทธิ Protestant ขึ้นมา ศาสนจักรถูกท้าทาย แล้วถูกทำให้ไม่มีความหมาย โบสถ์กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับศาสนา Protestant พระเจ้ากลายเป็นสิ่งที่อยู่ไกล เพราะพระเจ้าไม่ได้อยู่ที่โบสถ์แล้ว พระเจ้าไม่ได้อยู่ที่นักบวชแล้ว เพราะนักบวชและศาสนาไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ศาสนา Protestant บอกว่า พระเจ้ากับตัวเราสามารถสื่อกันได้โดยตรง

เมื่อโบสถ์และนักบวชถูกท้าทาย ถูกลดความสำคัญลง พระเจ้าก็กลายเป็นสิ่งที่อยู่ไกล มนุษย์เราต้องการสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะมาลดความรู้สึกพร่อง เมื่อพระเจ้าอยู่ไกลออกไป เราไม่มีการล้างบาป ความรู้สึกพร่องมันมารบกวนจิตใจ สิ่งที่มาแทนพระเจ้าคืออะไร ในยุโรปก็คือ"กษัตริย์" กษัตริย์ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชเกิดขึ้นตอนนี้เอง สมัยก่อนกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช แต่หลังจาก Reformation ในยุคศตวรรษที่ 15-16 แล้ว ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเกิดขึ้น เพราะคนต้องการให้กษัตริย์มาแทนที่พระเจ้า

กษัตริย์เริ่มเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมา ระบบศักดินาก็เริ่มเสื่อมคลายลงไป รัฐได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นแขนขาของกษัตริย์ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช แล้วต่อมา กษัตริย์ก็เริ่มหมดบทบาท รัฐชาติก็เข้ามามีบทบาทแทน เดวิด ลอย พยายามบอกว่า อารยธรรมของยุโรปโดยตลอดมันเป็นความพยายามที่จะแสวงหา และต้องการลดความรู้สึกพร่องด้วยการเอาสิ่งต่างๆมาแทนที่จากเดิมที่ศาสนาเคยทำหน้าที่อยู่

ทุนนิยม การตอบสนองของมนุษย์ที่ต้องการลดความรู้สึกพร่อง
รัฐและระบบทุนนิยมที่เน้นแต่การบริโภคอย่างไม่รู้จักพอสักที มันเป็นการตอบสนองของมนุษย์ที่ต้องการลดความรู้สึกพร่อง เป็นการตอบสนองความรู้สึกหมู่ collective unconscious อันนี้อาตมาคิดว่าน่าสนใจเพราะ เวลาเราเรียนเรื่องพุทธศาสนา เราก็มีการพูดถึงมนุษย์เราว่า ชอบยึดถืออะไรเป็นตัวเป็นตน เรามีบ้านเราก็ยึดบ้านเป็นตัวตน เรามีชื่อเสียงเราก็ยึดเอาชื่อเสียงเป็นของเรา แต่ว่าอะไรล่ะที่ทำให้จิตต้องทำหน้าที่นี้ หรือเราตระหนักว่า จิตนั้นลึกๆมันรู้ว่า"มันไม่มีตัวตน"ที่แท้จริง มันเลยต้องพยายามหาอะไรมายึดเกาะ เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นตัวตน และสิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุ อาจจะเป็นรัฐหรือชื่อเสียงก็ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน โลกทั้งโลกมันถูกจำลองไว้ในสื่อโทรทัศน์และสื่อวิทยุ อะไรที่ไม่ปรากฎอยู่ในสื่อก็เหมือนกับว่าไม่มีอยู่จริง ใครที่ไม่มีชื่อปรากฎในสื่อ ไม่เป็นที่รู้จักก็เหมือนกับว่าไม่มีตัวตนอยู่เลย เหล่านี้มนุษย์เราทนไม่ได้ที่จะไม่มีตัวตนอยู่เลย ที่จะไม่เป็นที่ยอมรับ nobody ก็เลยต้องพยายามแสวงหาชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อที่จะยืนยันว่าฉันมีอยู่จริง ถ้าฉันเป็นที่ยอมรับ ถ้าทุกคนรู้จักฉัน มันก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าฉันมีอยู่จริง ถ้าปราศจากคนที่รู้จักฉันเลย ฉันก็สงสัยว่าฉันมีอยู่จริงหรือเปล่า ตรงนี้เรายอมรับไม่ได้

และอันนี้ อาตมาคิดว่าเป็นปัญหาเรื่อง"ตัวตน"ของคนในยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุก็ดี ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงก็ดี เราบ้าคลั่งกันมาก เราสนใจชื่อเสียงกันมาก เกียรติยศ ชื่อเสียง เราต้องแสวงหามา เป็นคณบดี ก็อยากจะเป็นอธิการบดี มันไม่ใช่เป็นแค่อำนาจเสียทีเดียวที่เราต้องการ มันต้องการการยอมรับเพื่อยืนยันตัวตน

ปัญหาเรื่องตัวตน ทำให้เราไม่อาจบรรลุถึงความเป็นไท
อันนี้คิดว่าเป็นปัญหาตัวตน เป็นปัญหาจิตวิญญาน ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่ตอบสนอง ไม่สนใจเลย และระบบอื่นก็ไม่สนใจด้วย แต่อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นมิติที่เราไม่สามารถจะปฏิเสธได้ และเป็นอุปสรรคที่เมื่อเราเผชิญปัญหาตัวตนเหล่านี้แล้ว ทำให้เราไม่สามารถจะบรรลุถึงความเป็นไทได้ ทำให้เราต้องมีพฤติกรรมซึ่ง ถ้าคนจากโลกดาวอังคารมาเห็นเรา คงจะแปลกใจว่ามันทำอะไรกันวะ อุตสาห์ประหยัดเวลา ไม่ทำงาน จะเดินก็ไม่เดิน ต้องขับรถเอา จะตัดหญ้าก็ต้องไปจ้างคน เสร็จแล้วต้องไปเสียเงินเพื่อรีดน้ำหนักออก อันนี้น่าสงสัยนะ พยายามสะสมพลังงานเอาไว้ ทำอะไรก็ไม่ทำ แล้วก็ไปหาทางรีดออก แล้วก็เสียเงินด้วย

เดี๋ยวนี้เป็นกันเยอะแยะไปหมดเลย แทนที่จะรีดน้ำหนักออกด้วยการทำงาน ด้วยการเดิน การเดินขึ้นบันได ไม่ทำ สงวนเนื้อสงวนตัวเสร็จแล้วก็ไปรีดมันออก มันน่าแปลก การที่มีพฤติกรรมแปลกๆอะไรมากมาย อาตมาคิดว่าเป็นเพราะเป็นปัญหาตัวตนที่เราไม่เข้าใจ แล้วเราก็ไปวิ่งไล่เหมือนคนวิ่งไล่เงา

อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท ต้องทำให้จิตวิญญานมีอิสรภาพ
คิดว่าอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทต้องกลับมาตรงนี้เลย เพราะว่า ทำอย่างไรจะให้เกิดอิสรภาพทางจิตวิญญานให้ได้ เพื่อช่วยให้มนุษย์ปลดเปลื้องจากปัญหาตัวตน ซึ่งมันทำความทุกข์ให้กับเรา และสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม โลกภายนอก การที่เรามุ่งตักตวงมีชื่อเสียง เราก็ต้องไปเอาเปรียบเบียดเบียนเขา มันทำให้เกิดปัญหาร้อยแปด สงคราม ปัญหาอาชญากรรม ลึกๆแล้วมีปัญหามาจากตัวตน

เพราะฉะนั้น อุดมศึกษาจะช่วยคนให้เข้าถึงความเป็นไท หรือมีอิสรภาพทางจิตวิญญานได้ อาตมาคิดว่าต้องหาทางช่วยให้คนบรรเทาปัญหาเรื่องตัวตนให้ได้ โดยช่วยให้มนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะเข้าถึงความสงบภายใน อันนี้ภาษาพระเรียกว่า"สมาธิ" ขณะเดียวกันก็เข้าใจและรู้จักตนเองในมิติที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่รู้ว่าตัวเองมีหมายเลขในบัตรประชาชนว่าอะไร มองหน้าตัวเองในกระจกแล้วรู้ว่านี่คือฉัน หรือรู้เพียงว่าฉันเป็นคนใจร้อนโมโห เราต้องรู้จักตัวเองในมิติที่ลึกไปกว่านั้น ให้รู้ว่าคุณค่าและความหมายของชีวิตอยู่ที่ตรงไหน มันไม่ได้อยู่ที่ภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งเสพที่เป็นสินค้ายี่ห้อดังๆ เข้าใจธรรมชาติของตัวตนว่ามันกำกับสุขทุกข์ของเราอย่างไร มันเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเราอย่างไร และการไปตอบสนองตัวตนมันทำให้เกิดความทุกข์ในระยะยาวอย่างไร อยากดัง อยากมีชื่อเสียง ไปตอบสนองมัน มันพอใจเพียงชั่วคราว เสร็จแล้วสักพักก็เบื่อ ก็เซ็ง เป็นคณบดีแล้วก็อยากเป็นอธิการบดี เป็นอธิการบดีแล้วก็อยากเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นนายกรัฐมนตรี

เข้าใจธรรมชาติของตัวตน เข้าใจและเห็นถึงความเป็นมายาของมัน ให้เห็นว่า ที่เราคิดว่ามีตัวตนอยู่จริง มันจริงแน่หรือ ถ้าเรายอมรับความไม่มีตัวตน เข้าใจว่าตัวตนมันเป็นมายาภาพ ปัญหาเรื่องตัวตน ความรู้สึกพร่อง มันจะรบกวนจิตใจเราน้อยลง เพราะเรายอมรับมันได้ และเราสามารถที่จะตายได้ง่ายเมื่อเรารู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องตาย

คนเราไม่ยอมตายก็เพราะกลัวว่าตัวตนจะขาดสูญ เรามีสวรรค์เราก็พอใจว่าจะทำให้ตัวตนของเราสืบเนื่อง แต่พอเราไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ขึ้นมา เราไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าขึ้นมา ก็รู้สึกกระอักกระอ่วนว่า ถ้าตายแล้วตัวตนก็ขาดสูญเชียวหรือ ก็พยายามหาทางออกด้วยการคิดว่า สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา เพราะคิดว่าอนุสาวรีย์จะทำให้ตัวตนมันสืบต่อไปได้

คนจำนวนไม่น้อยอยากดัง อยากมีชื่อเสียงจนไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ให้เป็นที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์เพราะลึกๆแล้ว ต้องการให้ตัวเองเป็นอมตะ ให้ตัวเองได้สืบทอดต่อไปแม้กายจะดับสูญ แต่ถ้าเรารู้ว่าตัวตนมันไม่เที่ยง มันจะตายเมื่อไหร่ มันก็ทำใจได้

อาตมาคิดว่า อุดมศึกษาชนิดนี้ จะทำให้มนุษย์เข้าสู่สุคติ คติที่เป็นอุดม หรือภพภูมิที่สูงขึ้นได้

อุดมศึกษาเพื่อสังคม
ที่นี้ อุดมศึกษามันไม่ได้เพื่อชีวิตเท่านั้น มันต้องเพื่อสังคมด้วย นำสังคมให้สู่ภพภูมิที่สูงขึ้น เราพูดถึงสังคมที่พึงปรารถนามากมาย สังคมที่พึงปรารถนากับสังคมที่ไม่พึงปรารถนา หรือทุคติภูมิ อาตมาคิดว่ามันมีจุดหนึ่งที่แตกต่างกัน ระหว่างสังคมอุดมคติ-สังคมที่พึงปรารถนา กับสังคมที่ไม่น่าพึงปรารถนา-สังคมที่น่าเกลียด

สังคมที่พึงปรารถนา เน้นเรื่องการให้"ทาน" ไม่ใช่"สินค้า"
ขอสรุปสั้นๆนะว่า สังคมที่พึงปรารถนา มันจะเน้นหลักการในภาษาพระที่เรียกว่า"ทาน" สังคมที่เน้นเรื่อง"ทาน"คือ "การให้ การแบ่งปัน การร่วมมือ "

สังคมที่เป็นทุคติ หรือสังคมปัจจุบัน มันจะอยู่ที่การมุ่งเอา มุ่งเสพ มุ่งบริโภค ในสังคมที่เป็นที่พึงปรารถนา ทรัพยากรจะเป็นทาน จะเป็นสิ่งที่ให้เปล่า เป็นสิ่งที่ให้แก่กัน ขณะที่สังคมซึ่งเป็นทุคติ ทรัพยากรจะกลายเป็นสินค้า ที่ต้องแลกเปลี่ยนด้วยเงิน หรือแลกเปลี่ยนด้วยผลประโยชน์ อาตมาคิดว่าอันนี้เป็นจุดชี้ขาดที่จะกำหนดได้ว่าอะไรเป็นสังคมที่พึงปรารถนาหรือไม่ คือสังคมที่เน้น"ทาน", "การให้", "การร่วมมือ" เห็นทรัพยากรเป็นสิ่งที่ต้องแบ่งปัน หรือเห็นทรัพยากรเป็นสินค้าที่มีไว้บริโภค ครอบครองแต่ผู้เดียว

อาตมาขอขยายความเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สังคมที่พึงปรารถนา สังคมที่เป็นไท อาตมาคิดว่าเน้นเรื่อง "ทาน", "การให้", "การร่วมมือ" ในขณะที่สังคมทุคติ พื้นฐานทางเศรษฐกิจจะอาศัยตลาด เพราะทุกอย่างต้องได้มาด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่มีการให้เปล่า เพื่อจะเห็นภาพนี้ชัดเจน สังคมสมัยก่อนมีตรงนี้มาก เศรษฐกิจของเขาอิงอยู่กับ"ทาน" เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว แม่ให้อาหารลูก แม่ให้ทานแก่ลูก ให้นม ให้ความรัก ให้ความรู้ ชุมชนมีความร่วมมือกัน เช่นรักษาเหมืองฝาย ดูแลต้นน้ำ มีการแบ่งปันกัน

เศรษฐกิจที่เน้นการให้เปล่า(Give Economy)
สังคมปัจจุบันมีคนเรียกตรงนี้ว่า "Give Economy" คือ เศรษฐกิจที่เป็นการผลิต การกระจายทรัพยากรโดยการเน้นการให้เปล่า โดยเน้นเรื่องการให้ทาน การร่วมมือ Give Economy ในสังคมปัจจุบันก็มี เช่น ในครอบครัวมีการให้เปล่า ชุมชนมีการให้เปล่า ในสังคมปัจจุบันมีการให้เปล่าอยู่เยอะ เช่น เรามีอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม

ในญี่ปุ่นจะมีชมรมหนึ่งเรียกว่า"ชมรมคนรักก้น" คือคนที่ช่วยผู้ป่วยซึ่งเป็นริดสีดวง พวกนี้จะให้คำแนะนำว่า เวลาจะเข้าโรงพยาบาลจะทำอย่างไร จะมีความรู้สึกอย่างไรตอนผ่าตัด ซึ่งมีแบบนี้อยู่ หรือในยุโรปและที่หลายๆแห่ง ความรู้ก็เป็นสิ่งที่ให้เปล่าในระดับหนึ่ง เช่น ในห้องสมุด คุณเข้าไปใช้ได้ พิพิธภัณฑ์ในอเมริกาหลายแห่ง ถ้าคุณไม่มีเงิน คุณก็เข้าไปเปล่าๆได้โดยไม่เสียเงิน หรือจะจ่าย 50% ก็ได้ แต่เศรษฐกิจที่เน้นสินค้า ที่เน้นตลาด จะเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวที่บดบังเศรษฐกิจแบบการให้เปล่า

อาตมาคิดว่าชุมชนที่พึงปรารถนา สังคมที่เป็นไท จะต้องให้เศรษฐกิจที่เน้นการให้เปล่า หรือเน้นความร่วมมือกันมาเป็นหลัก เศรษฐกิจที่เน้นการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยใช้ตลาดควรจะเป็นรอง สังคมที่พึงปรารถนาคือสังคมที่เน้นเรื่องของ"ทาน" เน้นเรื่อง"การให้" ไม่ใช่ให้แค่อาหาร แต่รวมถึงการให้แรงงาน เป็นอาสาสมัคร อย่างที่เรามี จส.100 อย่างที่เรามีเครือข่ายป้องกันคอรัปชั่น ที่ทำกันอย่างอิสระโดยไม่มีใครมาว่าจ้าง มีอาสาสมัครเพื่อคนพิการเป็นต้น

นอกจากการให้แรงงานแล้ว การให้ความรู้ การแบ่งปันความรู้ อย่างที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทำ ไม่มีการเก็บเงิน ความรู้เป็นสิ่งที่ให้เปล่า เป็น"ทาน" นี้เป็นสิ่งที่อาตมาคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบบการให้ทาน หรือการให้เปล่า

สังคมแบบนี้นอกจาก"ทาน"จะเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแล้ว มันควรจะเป็นแกนกลางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างเพื่อนฝูงเราช่วยกัน คุณเป็นช่างไม้ ฉันเป็นหมอ แทนที่เราจะใช้วิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยน ฉันรักษาคุณ คุณให้เงินฉันมา แล้วฉันก็จ้างคุณในการซ่อมบ้าน ก็มาเป็นเราต่างคนต่างมาแลกเปลี่ยนกัน ช่างไม้มาซ่อมบ้านให้หมอ แล้วหมอก็รักษาให้กับช่างไม้ นี่ก็เป็น"ทาน"การให้เปล่า เป็นความเอื้อเฟื้อซึ่งเป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์

"ทาน"เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย อาจารย์พุทธทาสท่านเล่าอยู่เสมอว่า ชาวบ้านแต่ก่อนเมื่อเขาทำนา จะมีนกมากิน ชาวบ้านก็ไม่ว่า จะมีคนมาเอาไป เขาก็ไม่ว่า ชาวบ้านเขาบอกว่า "นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน" ทานจึงเป็นการเชื่อมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มันไม่ใช่สินค้าที่ต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน และที่สำคัญ สังคมแบบนี้"ทาน"จะต้องเป็นเครื่องมือพัฒนาตน ซึ่งแนวความคิดตรงนี้ ในทางพุทธศาสนาชัดเจน

พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ให้ทาน จนกระทั่งชาติสุดท้าย พระเวสสันดร ต้องให้ทาน ทานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตน ที่จริงพระองค์ให้มากกว่านั้น ในชาติก่อนๆท่านให้ชีวิตมาแล้ว ให้ชีวิตเป็นทานเพื่อที่จะให้แม่เสือที่หิวโหยไม่กินลูกเสือ ทานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตน ทานเป็นอุปกรณ์และปัจจัยสำคัญในการพัฒนาตน ในการเปลี่ยนสภาวะ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ว่า คนก่อนจะบวชจะต้องโปรยเงิน เพราะคุณกำลังเคลื่อนสู่สภาวะที่สูงขึ้น การให้ทานเป็นสัญลักษณ์หรืออุปกรณ์ในการที่จะทำให้คุณเลื่อนสู่สถาวะที่สูงขึ้นๆ สู่ภพภูมิที่สูงขึ้น การเปลี่ยนสภาพแม้กระทั่งการแต่งงานจากคนโสดเป็นครอบครัวก็จะต้องให้ทาน

ทานเป็นสื่อกลางสำคัญในการเปลี่ยนสภาวะ เลื่อนสภาวะ เลื่อนสถานะ หรือว่าพัฒนาตน

สังคมปัจจุบันกำลังเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นสินค้า
อาตมาคิดว่า แนวคิดเรื่องการให้ทาน การให้เปล่า การสละ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก มันจะเป็นหัวใจของสังคมที่เป็นไท ขณะที่ความคิดเรื่องสินค้า การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ มันเป็นตัวที่ทำให้สังคมเลวลงไปเรื่อยๆ อันนี้ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธสินค้า แต่การนำเอาสินค้ามาเป็นตัวหลักที่สำคัญ ขณะที่การแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันเป็นเรื่องรอง อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว และสังคมปัจจุบันเป็นสังคมซึ่งทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า แล้วยิ่งทำให้มันน่าเกลียดมากขึ้นเรื่อยๆ

อาหารกลายเป็นสินค้า ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนกัน ความรู้กลายเป็นสินค้าที่คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถจะเข้าถึงได้ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งเลยก็คือว่า มันทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้าไปหมด เด็กผู้หญิงกลายเป็นสินค้า ธรรมชาติก็กลายเป็นสินค้า แทนที่เราจะสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยมีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เราก็มองเห็นธรรมชาติเป็นสินค้าที่เราต้องตักตวง พระเครื่องต่างๆก็กลายเป็นสินค้า ไม่ได้เป็นทาน แต่ก่อนพระเครื่องไม่มีขาย แต่มีไว้แจก หลวงพ่อท่านจะให้คนที่ควรจะให้ ไม่มีขาย ปัจจุบันก็เป็นสินค้า

แม้กระทั่งชีวิต เดี๋ยวนี้เราก็ต้องประเมินชีวิตกันเป็นสินค้า เราประเมินกันแล้วว่าชีวิตนี้จะราคาเท่าไหร่ เวลาบริษัทที่เขาผลิตรถยนต์เขาจะต้องประเมินว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์ของเขา จะทำให้เกิดคนตายขึ้น เขาก็จะประเมินว่า ชีวิตที่ตายแต่ละคนๆราคาเท่าไหร่ มีกรณีตัวอย่างที่คลาสสิคคือ...

รถยนต์ฟอร์ดเขาพบว่ารถยนต์ของเขามีปัญหา แล้วจำเป็นจะต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัย ก็คือต้องผลิตอุปกรณ์ตัวหนึ่งใส่เข้าไป เขาก็คำนวณว่า ระหว่างรายจ่ายในการผลิตอุปกรณ์ตัวหนึ่งใส่เข้าไปในรถยนต์เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น กับต้นทุนที่จะเกิดกับอุบัติเหตุถ้าไม่ใส่อุปกรณ์นั้นเข้าไป เขาคำนวณว่า ถ้าไม่ใส่อุปกรณ์นั้นเข้าไป จะมีอุบัติเหตุประมาณ 2 พันคัน ในจำนวนนั้นจะมีคนบาดเจ็บ 180 คน แล้วจะมีคนถูกไฟครอกตาย 180 คน เขาก็คำนวณว่า 180 คนที่จะเจ็บป่วยนี้ คนหนึ่งก็ 67,000 ดอลล่าร์ คนที่ตายเขาก็คำนวณว่าคนหนึ่ง 200,000 ดอลล่าร์. 180 คนคูณ 200,000 ดอลล่าร์เข้าไป กับ 180 คนคูณ 67000 ดอลล่าร์ ปรากฎว่ารายจ่ายที่จะต้องจ่าย 47 ล้านดอลล่าร์

แต่ถ้าเผื่อว่าเขาเอาอุปกรณ์นั้นใส่เข้าไปในตัวรถ มันจะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นไป 110 กว่าล้านดอลล่าร์ พอเห็นตัวเลข ซตพ.อย่าใส่ดีกว่า เพราะถ้าใส่จ่าย 110 ล้านดอลล่าร์ ไม่ใส่จ่าย 47 ล้านดอลล่าร์ เขาเอาชีวิตประเมินเป็นสินค้าเลยว่า ชีวิตหนึ่งจะมีราคา 2 แสนดอลล่าร์ ปรากฏว่าเขาคำนวณผิด คนไม่ได้ตายเพียงแค่ร้อยกว่าคน คนตายจริงตั้ง 500 กว่าคน ก็เลยขาดทุน

คือสังคมที่เน้นเรื่องสินค้า มันไปไกลจนกระทั่งเอาชีวิตเป็นสินค้า แล้วมันทำให้เป็นสังคมที่น่าเกลียด เป็นสังคมที่ตกอยู่ภายใต้ทุนล้วนๆ คิดว่าแนวคิดเกี่ยวกับการให้ทาน การให้เปล่า เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราต้องพยายามสร้างขึ้นมา ให้มันเป็นส่วนหนึ่ง ให้มันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคม แทนที่จะเน้นเรื่องสินค้า

ทานเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ทางสังคมและธรรมชาติ
"สินค้า"กับ"ทาน"นั้นต่างกัน สินค้าเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้จำกัด คุณต้องมีเงิน เช่น "ความรู้"เป็นสินค้า แต่"ทาน"เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ คนยากคนจนก็เข้าถึงได้ คนยากคนจนก็มาที่นี่ได้(หมายถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) ไม่ต้องมีเงินก็มาได้ สินค้าเป็นการครอบครองส่วนบุคคล แต่ทานมีไว้เพื่อแบ่งปัน สังคมที่ถือเรื่อง"ทาน"เป็นใหญ่ เขาจะเน้นว่า"ทาน"ต้องมีไว้เพื่อแบ่งปัน พระได้รับทานจากประชาชน พระต้องเกื้อกูลสังคม ครูสมัยก่อนได้ความรู้มาฟรีๆ ต้องมีพันธะหน้าที่ที่ต้องแบ่งปันออกไป หมอสมัยก่อนได้ความรู้มาไม่ใช่เพราะต้องจ่ายเงิน เพราะฉะนั้นเมื่อมีความรู้แล้วก็ต้องมีหน้าที่ต้องให้บริการ อย่างมากก็มีค่ายกครูเล็กๆน้อยๆ ระบบแบบนี้ทำให้ทรัพยากรหมุนเวียน ไม่ไปติดตันอยู่ที่คน

ปัจจุบันเงินจำนวนมากไปอยู่กับคนไม่กี่คน อย่างเช่น บิลล์ เกต มีเงินมหาศาล แม้จะให้ทานสร้างมูลนิธิ ก็ให้ทานเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ทำอย่างไรให้"ทาน"มาเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์พื้นฐานของสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมันจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เกิดการหมุนเวียน ไม่เกิดความขาดแคลน ถ้าเรามี"ทาน"

กรณีคุณป้าคนหนึ่ง อาตมาชอบเล่าให้หลายคนฟัง คุณป้าคนนี้ ครั้งหนึ่งคุณนิรมล เมธีสุวกุล เคยไปทำรายการโทรทัศน์ ไปเจอคุณป้าคนหนึ่งหิ้วปลาตัวใหญ่มา คุณป้าคนนั้นก็ถามคุณนิรมลกับคณะว่า ถ้าจะทำให้ปลาตัวนี้อยู่ได้นานๆจะทำอย่างไร ? คณะของคุณนิรมลก็ช่วยกันคิดกันใหญ่ว่าจะใส่ตู้เย็น หรือจะหมัก จะดอง หรือจะตากแดดดี แต่ว่าคำตอบเหล่านี้ผิดหมด คุณป้าบอกว่าก็แบ่งปันไปให้คนอื่นๆ เอาไปให้เพื่อนบ้าน การนำไปให้เพื่อนบ้านมันก็จะไหลเวียน เพราะว่า เมื่อเราเอาไปฝากใส่ท้องคนอื่น ถึงเวลาเขามีเขาก็จะเอามาแบ่งปันกัน

ทานทำให้ทรัพยากรหมุนเวียน สินค้าทำให้ทรัพยากรติดตัน
ระบบ"ทาน"ทำให้ทรัพยากรหมุนเวียน พอหมุนเวียนแล้วมันไม่ขาดแคลน ความขาดแคลนมันเริ่มเกิดขึ้นเมื่อตอนที่เรามีแนวความคิดว่าทุกอย่างมันต้องเป็น"สินค้า" การเป็น"สินค้า"มันต้องเก็บ มันต้องกักตุน แต่พอมาเน้นเรื่องทาน มีพันธะที่จะต้องแจกจ่ายออกไป สมัยก่อนเมื่อชาวบ้านได้ข้าว จะต้องให้ทานกับธรรมชาติ ประเพณีแม่โพสพก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง คือว่า เมื่อธรรมชาติให้ข้าวแก่เรามา เราก็มอบให้แก่ธรรมชาติ มันก็ทำให้เกิดการหมุนเวียน ไม่ขาดแคลน

"ความรู้"เมื่อเราให้ทาน มันก็พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญตัวนี้ทำให้คุณค่าทางสังคม ที่บางคนเรียกว่าต้นทุนทางสังคมมันยั่งยืนต่อไป ความไว้ใจ ความซื่อสัตย์ ความกรุณา ถ้าเราให้กับผู้อื่น ผู้อื่นก็เกิดกำลังใจที่จะให้ผู้อื่นต่อไป สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่เอาแต่ได้ ธุรกิจปัจจุบันเน้นที่ความซื่อสัตย์ ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างเช่น ธนาคาร การกู้หนี้ยืมสินต้องอาศัยความซื่อสัตย์ แต่มันเอาแต่ใช้ทรัพยากรของสังคม ได้แต่ใช้ต้นทุนทางสังคมโดยไม่เคยจ่ายคืนเลย ยิ่งทุนนิยมแพร่หลายมากเท่าไหร่ ความซื่อสัตย์ก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไป

ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ลดน้อยลงเพราะทุนนิยมเท่านั้น ต้นทุนทางสังคมที่เรียกว่าความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกรุณา ก็หมดเปลืองหายไปเรื่อยๆ เพราะเอาแต่ถูกใช้ แต่ไม่มีการสร้างขึ้นเลย เพราะเน้นที่การผลิตที่เป็นไปในแบบการซื้อขายแลกเปลี่ยน เน้นเรื่องประโยชน์ส่วนตน แต่ถ้าเราเอาทานเป็นหลัก เมื่อเราให้หนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็เริ่มเกิดความรู้สึกอยากจะให้ การให้มันก็เกิดการให้เป็นทอดๆไป ต้นทุนทางสังคมที่เรียกว่าความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็งอกงามมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะหมดเปลืองไปจากระบบทุนนิยม

ตรงนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งจะทำให้เป็นตัวชี้ว่า สังคมอุดมคติที่พึงปรารถนามันควรจะเป็นอย่างไร และการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อตรงนี้ ให้เกิดสังคมที่เน้นเรื่อง"ทาน"เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ "ทาน"เป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ รวมทั้ง"ทาน"เป็นพื้นฐานของการพัฒนาตน

ทานในความหมายเกี่ยวกับการเสพ
ปัจจุบันการพัฒนาตนก็ใช้"ทาน"เช่นเดียวกัน แต่เป็นทานในความหมายของการเสพ การบริโภค "ทาน"เวลานี้มีความหมาย 2 อย่าง อันหนึ่งแปลว่า"การให้"ในความหมายของพระพุทธศาสนา แต่"ทาน"อีกความหมายหนึ่งคือ"การเอา" เช่น วันนี้เราไปทานข้าวกันดีกว่านะ หรือเราทานข้าวกันหรือยัง อันนี้คือการเอาเข้า คือการเสพ และอย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ คนปัจจุบันพัฒนาตนด้วยทาน แต่ในความหมายด้วยการบริโภค ด้วยการบริโภคสินค้าแบรนด์เนม ด้วยการบริโภคบริการต่างๆที่ทำให้โก้เก๋ทันสมัย ขณะที่คนสมัยก่อนพัฒนาตนด้วยการสละ ให้ทาน ด้วยการเสียสละทีละนิด จนกระทั่งเสียสละชีวิต สละความยึดถือในตัวตน

เพราะฉะนั้น "ทาน"จึงมีความหมายต่างกัน คำดีๆนี้ก็กลายเป็นคำเสีย กลับกลายเป็นคำที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน ทานก็เลยกลายเป็นเรื่องของการเอาเข้า แทนที่จะเป็นเรื่องของการให้ และที่น่าเสียใจ อาตมาอาจจะนอกเรื่องหน่อยคือ ทุกวันนี้เราเน้นเรื่องของการเอามาก จนกระทั่งกรณี 30 บาทรักษาทุกโรค กรณีประกันสังคมที่มีการรวมทุนกัน ก็มีคุณหมอบางท่านบอกว่า การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขเป็นสังคมนิยม เป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆที่มันเป็นหลักการพุทธ แต่ถูกทำให้เสียกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไป

ทุนนิยมซึ่งเน้นเรื่อง"สินค้า" เน้นเรื่อง"การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์" มันทำให้แนวความคิดเรื่อง"ทาน"เรื่อง"การแบ่งปัน"กลายเป็นเรื่องเสียหาย ของดีๆในพุทธศาสนากลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ซึ่งไม่ต่างไปจากกรณีจอมพลสฤษดิ์ทำให้หลักการเรื่องความสันโดษของพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องเลวร้ายไป สมัยก่อนสฤษดิ์บอกพระว่า อย่าสอนเรื่องสันโดษ เพราะสันโดษมันทำให้ประเทศไม่พัฒนา ทำให้ประเทศล้าหลัง ทำให้เฉื่อยเนือย ขี้เกลียด

แนวคิดแบบนี้ที่ดีๆมันถูกทำให้เสียเพราะแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แล้วตอนนี้เราก็มาทำให้การแบ่งปัน ซึ่งเป็นแนวคิดพุทธศาสนากลายเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อไปนี้ไม่มีใครกล้าพูดเรื่อง"การแบ่งปัน"แล้วเพราะกลัวเป็นคอมมิวนิสต์ เห็นไหมว่าระบบทุนนิยมที่เน้นเรื่องการเอา การเสพ การทำให้เป็นสินค้า มันทำให้สังคมของเราน่าเกลียด และทำให้ชีวิตเรามันน่าเกลียดตามไปด้วย

สรุป
สรุปก็คือว่า อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท อาตมาคิดว่าจะต้องเอื้อให้คนได้พัฒนาทางจิตวิญญาน ปลดเปลื้องตนจากปัญหาตัวตนให้ได้ และส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปัน ทานเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจและความสัมพันธ์

อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทในแง่เนื้อหา อาตมาคิดว่า ต้องมีการฝึกฝนพัฒนาตนในทางจริยธรรม อาจจะเรียกว่าศีลก็ได้ รวมไปถึงสมาธิ และปัญญา รวมเรียกว่าไตรสิกขานั่นเอง ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะภูมิปัญญาไทยมันเข้ากันได้กับแนวคิดเรื่องจิตวิญญาน แนวคิดเรื่องทาน

แนวคิดเรื่องการแพทย์ท้องถิ่น ก็เน้นเรื่องการแบ่งปัน ความรู้เรื่องการจัดการเหมืองฝาย ซึ่ง อ.นิธิ เคยเขียนเอาไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ก็เน้นตรงนี้ ซึ่งก็คือการแบ่งปัน การแบ่งปันให้กับธรรมชาติและรวมถึงสังคมด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยจะเน้นมาก คือให้ความสำคัญแก่มิติทางด้านจิตวิญญาน และแนวคิดเรื่องการแบ่งปัน เรื่องทาน เพราะฉะนั้น อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทจะต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย

นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญต่อศาสตร์สมัยใหม่ คือไม่แยกขาดจากสองเรื่องข้างต้น เมื่อสักครู่อาตมาได้พูดแล้วว่า การศึกษามันต้องตอบสนองปัญหาของยุคสมัย และในความจำเป็นปัจจุบัน เราต้องเข้าใจในศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อที่จะสามารถเข้าไปเผชิญกับสังคมและปัญหาสมัยใหม่ได้ การเรียนรู้ศาสตร์สมัยใหม่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้จากการศึกษาเพื่อความเป็นไท จะเน้นแต่การพัฒนาชีวิตอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ

การศึกษาสมัยใหม่ก็ต้องเข้าใจว่า ประการแรก ศาสตร์สมัยใหม่จะต้องไม่ใช่ศาสตร์ที่เราเข้าใจกัน คือว่า มันจะต้องมีจริยธรรมกำกับ ศาสตร์สมัยใหม่ที่ไม่เอาจริยธรรมมากำกับ เพราะถือว่า "ความรู้"กับ"คุณค่า"เป็นคนละเรื่อง แต่ในอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท "คุณค่า"กับ"ความรู้"ต้องไม่แยกจากกัน "สัจธรรม"กับ"จริยธรรม"ต้องไม่แยกจากกัน "ความรู้"ต้องคู่กับ"จริยธรรม" อย่างที่ อ.ป๋วย พยายามทำให้เศรษฐศาสตร์มีจริยธรรมกำกับ และการแพทย์ก็เห็นได้ชัดว่าต้องมีจริยธรรมกำกับ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เป็นการพาณิชย์ขึ้นมา

ศาสตร์สมัยใหม่จะต้องเอื้อให้คนเข้าถึงสัจธรรมขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า สรรพสิ่งล้วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน อาตมาคิดว่า ศาสตร์สมัยใหม่มันไปถึงตรงนี้ได้ถ้าศึกษาให้ถึง ยกตัวอย่างเช่น วิทยาศาสตร์ ถ้าศึกษาไปถึงระดับควอนตัมฟิสิกส์ ถึงระดับอนุภาค เราก็เห็นได้ว่า คุณสมบัติของอนุภาคมันไม่แยกจากอนุภาคอื่น อันนี้เป็นเรื่องฟิสิกส์สมัยใหม่ซึ่งเราก็คงได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว

มีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่สามารถดึงให้เราเข้าถึงตรงนี้ได้ แม้กระทั่งชีววิทยา แนวคิดเรื่อง Genetics ก็ทำให้เราพบว่า ในตัวเรา เราแทบจะสัมพันธ์กับมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ เมื่อเร็วๆนี้มีบทความชื่อ Royal We ในหนังสือ Atlantic Monthly สักเดือนสองเดือนที่แล้ว เขาบอกว่า คนในยุโรปทั้งหมด เมื่อสืบสาวไปแล้วโดยผ่าน genetic มีความเป็นไปได้สูงมากที่ทุกคน จะมีบรรพบุรุษเดียวกันใน ค.ศ.1400

เขาพูดว่า คนใน ค.ศ.1400 แทบทุกคน ในยุโรป จะเป็นบรรพบุรุษของทุกๆคนในยุโรปและอเมริกาเวลานี้ อันนี้ก็หมายความว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน แล้วเขาศึกษาต่อไปและพบว่า เอาเข้าจริงๆถ้าสืบสาวไปถึงประเทศอื่นด้วย ทุกคนในโลกมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีบรรพบุรุษ มีขงจื้อ และมีพระมะหะหมัดเป็นบรรพบุรุษ มันไปถึงนั่นเลย อันนี้เขาศึกษาโดยใช้หลัก genetic และใช้สูตรคณิตศาสตร์ เขาบอกว่ามันมีความเป็นไปได้สูง ที่ขงจื้อ และพระมะหะหมัดจะเป็นบรรพบุรุษของคนในโลกนี้ อาตมาไม่มีเวลาที่จะอธิบาย แต่ลองให้ข้อคิดดูว่า ศาสตร์สมัยใหม่มันสามารถทำให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ซึ่งเป็นสัจธรรมพื้นฐานได้

ไม่ต้องอื่นไกล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น กับสรรพสัตว์ เอาเข้าจริงเราก็โยงถึงกัน ในเซลล์ของเราทุกเซลล์มันมีชีวิตอื่นที่เข้ามาปะปนอยู่ในเซลล์เรา ที่เห็นชัดคือไมโครคอนเดีย(microconidia) ไมโครคอนเดียมันไม่ได้อยู่ในชีวิตเราเลย มันเป็นสัตว์ชั้นต่ำซึ่งมีมาตั้งแต่ 2-3 พันล้านปี แล้วมันอยู่ในเซลล์เรา มันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเซลล์เรา มันไม่ได้เป็นตัวเรา แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา และถ้าเราดูให้ดีๆ ในยีนของเราจะมียีนหมา ยีนแมว ยีนลิง เข้ามาอยู่มากมาย เพราะฉะนั้นในที่สุดแล้วเราแยกไม่ออกจากสรรพสัตว์

อาตมากำลังจะเน้นว่า ศาสตร์สมัยใหม่ถ้าเราจะศึกษาจริงๆ มันจะพาให้เราเข้าถึงความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งได้ กับเพื่อนมนุษย์ทุกคนในโลกได้ ไม่ใช่ทำให้เราเกิดความอหังการ มมังการมากขึ้น อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หรือศาสตร์สมัยใหม่ที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล จนกระทั่งสร้างปัญหากับสังคมและสร้างปัญหาให้กับตัวเองด้วย เพราะฉะนั้น เราอย่าไปรังเกียจศาสตร์สมัยใหม่ พยายามเรียนรู้ให้ถึงและเข้าใจ และพยายามโยงเข้าสู่อุดมคติและความเป็นไท ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะทำให้อุดมศึกษาสอดคล้องกับความเป็นจริงของยุคสมัย และตอบสนองความต้องการที่เป็นสากลด้วย

ประเด็นสุดท้าย เรื่องรูปแบบความสัมพันธ์ อาตมาไม่มีรายละเอียดมาก แต่คิดว่ารูปแบบอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท มันน่าจะทำกันเป็นรูปเครือข่าย ไม่ใช่ในรูปสถาบันที่ตายตัว แต่เป็นไปรูปเครือข่ายระหว่างชุมชน องค์กรประชาชน อาจจะรวมถึงวัด รวมการศึกษาทางเลือก โรงพยาบาล ห้องสมุด โรงงาน สิ่งเหล่านี้สามารถที่จะทำเป็นเครือข่ายได้ ให้เป็นเครือข่ายทางด้านอุดมศึกษา ซึ่งไม่แยกส่วน ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้วัด เรื่องพัฒนาตนให้วัดเป็นคนจัด เรื่องศาสตร์สมัยใหม่ให้สถาบันสมัยใหม่ อาตมาคิดว่ามันต้องบูรณาการ ต้องไม่แยกส่วนขนาดนั้น

ในศาสตร์สมัยใหม่เราก็เรียนรู้เรื่องจริยธรรม เรียนรู้เรื่องสัจธรรมพื้นฐานด้วย ขณะเดียวกันในเรื่องการฝึกฝนและพัฒนาตน เราก็ต้องเรียนรู้จากโลกภายนอกด้วย อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทจะต้องอยู่ในกำกับของสังคมให้ได้ ซึ่งคิดว่าในส่วนนี้จะทำให้อยู่ได้ด้วยทานของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเงิน การสละแรงงาน การให้ความรู้

อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทถ้าไม่อยู่ในกำกับของสังคมแล้ว มันไม่มีอนาคต และมันก็จะไปอยู่ในกำกับของรัฐหรือของทุนนิยมก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เราต้องทำให้สังคมมีอุดมศึกษาขึ้นมา อุดมศึกษาแบบนี้จะทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้น และอาตมาคิดว่าอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทแบบนี้จะต้องมีช่องทางที่สัมพันธ์กับอุดมศึกษาในระบบด้วย ซึ่งเรื่องนี้อาตมาไม่มีความรู้พอ แต่คิดว่ามันจะต้องเชื่อมโยงกัน ถ่ายโอนกันได้ ซึ่งอันนี้ อ.นิธิ ได้เคยพูดไว้แล้ว ในเรื่องนี้เกี่ยวกับอุดมศึกษาทางเลือกกับการศึกษาในระบบที่ควรจะถ่ายโอนกันได้ เพราะมันจะช่วยให้เกิดความหลากหลาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อาตมาคิดว่าภาคผนวกรู้สึกจะยาวเกินไปเสียแล้ว จึงขอยุติเพียงเท่านี้

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ

 

The Midnight University : An educational website where we are to get knowledge and theoretic knowledge : August 2002
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 203 โดยพระไพศาล วิสาโล เป็นองค์ปาฐกในคราวเปิดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ณ ที่ทำการใหม่ วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2545
หากนักศึกษา สมาชิก ประสบปัญหา ภาพและหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด
ของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้
ในแง่อุดมการณ์มหาวิทยาลัยเป็นไปเพื่อ สนองระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม แล้วโดยตัวมหาวิทยาลัยเองก็เริ่มจะเป็น
ธุรกิจ เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น อย่างที่เราเริ่มจะเห็นกันในเวลานี้ว่า มหาวิทยาลัยเริ่มแสวงหากำไร
มากขึ้นทุกที มีการพยายาม
สร้างจุดขาย สร้างหลักสูตร
พิเศษเพื่อที่จะดึงคนมาซื้อ
บริการทางการศึกษา มาเป็น
บัณฑิต มีการเสนอจุดขายเช่น
ปริญญาโทสองปีไม่ต้องทำ
วิทยานิพนธ์ หรือมีการเสนอ
หลักสูตรที่จบกันได้เร็วๆ
พระไพศาล วิสาโล
ปาฐกถาลำดับที่ ๔
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
030845

มหาวิทยาลัยภายใต้กระแสทุนนิยม
(ภายใต้หัวข้อ ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท)

โดย พระไพศาล วิสาโล

แสดงปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ วันที่ 20 กรกฎาคม 2545 เวลา 14.00 น. - 16.30 น.
(บทความนี้ยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4)

ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ : สำหรับบ่ายวันนี้จะเป็นบทสุดท้ายปาฐกถาเรื่อง "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" ซึ่งวันนี้เราได้กราบนิมนต์พระภิกษุที่ผมเชื่อว่า เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นผู้เชื่อมประสานสิ่งที่เป็นจารีตคือ พระพุทธศาสนา อันเรารู้สึกว่าอยู่ในวัด ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกันก็ค่อนข้างเป็นภาษาวัด แต่พระคุณเจ้ารูปนี้ ท่านสามารถที่จะสื่อภาษาภายในวัด ให้เป็นภาษาที่พอจะฟังรู้เรื่องกันได ้สำหรับคนสมัยใหม่ทั่วๆไป และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคิดว่าเป็นความเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะกราบนิมนต์ท่านมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอุดมศึกษา เพื่อความเป็นไทซึ่งหมายความว่าอิสระ

โดยปกติแล้ว มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะไม่ให้ผู้บรรยายใช้เวลาในการพูดเป็นเวลานาน แต่สำหรับโอกาสนี้ วิทยากรทั้ง 3 ท่าน เราจะไม่กำหนดเวลาของท่านในการนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ตามแต่ที่ท่านจะคิดและเห็นสมควร จึงไม่มีการกำหนดเวลา หลังจากที่ท่านแสดงปาฐกถาและข้อคิดเห็นของท่านจบแล้ว ก็จะเป็นวาระที่ทุกคนซึ่งเข้ามาร่วมในที่นี้จะได้มีโอกาสซักถามวิทยากร หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน วันนี้วิทยากรที่ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกราบนิมนต์มาคือท่านพระไพศาล วิสาโล ซึ่งท่านได้มาอยู่ที่นี้แล้ว และผมขอนัมสการพระคุณเจ้าได้แสดงปาฐกถาตามหัวข้อที่ทางคณาจารย์ได้กราบนิมนต์ครับ...