ฟริตจ๊อฟ คาปร้า เป็นชาวออสเตรียเกิด และใช้ชีวิตวัยเยาว์ในชนบทอย่างใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของเขาในเวลาต่อมาเป็นอย่างมาก

คาปร้าจบการศึกษาปริญญาเอกด้านทฤษฎีฟิสิกส ์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นโอกาสให้เขาได้ศึกษา และรับอิทธิพลทางความคิดจาก เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบอร์ก นักฟิสิกส์ชาวออสเตรียผู้มีชื่อเสียง และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ ฟิสิกส์และปรัชญา (Physics and Philosophy) อันกระตุ้นให้คาปร้าเกิดความสนใจวิชาฟิสิกส์ในปริบท ที่กว้างไกล และหลากหลายกว่าวิทยาศาสตร์ตามกระแสหลักโดยทั่วไป

Introduction
content page
member page
back home
Midnight University
June 2001
อรศรี งามวิทยาพงศ์ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(ความยาวประมาณ 23 หน้ากระดาษ A4)
หากภาพและตัวอักษรซ้อนกัน
กรุณาลดขนาด font ลง จะแก้ปัญหาได้
1
บทความชิ้นนี้ ได้รับความกรุณา
จากอาจารย์อรศรี งามวิทยาพงศ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานชิ้นนี้มีความยาวประมาณ 23 หน้ากระดาษ A4 ดังนั้นจึงแบ่งออกเป็น 2 web page

ขณะนี้นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน กำลังอยู่ที่ web page ที่ 1 ต้องการอ่าน web page ที่ 2
กรุณาคลิกที่นี้

เขาศึกษาปรัชญาตะวันออกจากคัมภีร์จำนวนมาก เช่น ภควทคีตา คัมภีร์อี้จิงของจีนโบราณ คัมภีร์เต๋าเจอจิง ฯลฯ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เป็นผู้สอนและวิจัยสาขาฟิสิกส์ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั้งในยุโรป อเมริกา ปัจจุบันเขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ก่อตั้ง-อำนวยการศูนย์เพื่อความรอบรู้ทางนิเวศวิทยา(Center for Ecoliteracy )

คาปร้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีผลงานคิดและเขียนที่ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับโลก โดยเฉพาะในแวดวงผู้สนใจแนวคิด-ทฤษฎีใหม่ วิธีคิดอย่างใหม่ และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ไม่ว่าในทางวิทยาศาสตร์หรือสังคม เขามีชื่อเสียงทั้งในฐานะของนักฟิสิกส์ นักนิเวศวิทยาแนวลึก และนักทฤษฎีระบบ(Systems Theorist) ผลงานเขียนของเขาเป็นหนังสือติดอันดับขายดี และได้รับการแปลออกเป็นภาษาสำคัญต่าง ๆ เกือบ 10 ภาษา

ผลงานทางความคิดที่สำคัญในระยะเริ่มต้นของเขา คือหนังสือชื่อ The Tao of Physics (1975) หรือเต๋าแห่งฟิสิกส์(1) ที่เป็นการศึกษาอย่างละเอียดลุ่มลึกในเชิงเปรียบเทียบเพื่อประสานให้เห็นความสอดคล้องของปรัชญาในศาสนาตะวันออกกับความรู้ในวิชาฟิสิกส์ใหม่จากทฤษฎีสัมพัทธ์ (Relativity Theory)ของไอนสไตน์ และทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) อันเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ถือกันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติยุคใหม่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกี่ยวกับสสาร พลังงาน ลักษณะการดำรงอยู่ของอะตอมและองค์ประกอบ ซึ่งช่วยให้มนุษย์เข้าใจความเป็นไปและลักษณะการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งเกิดทัศนะใหม่ในการมอง"ความจริง"(Reality)ที่แตกต่างไปจากความเข้าใจของวิชาฟิสิกส์แบบเดิมตามทฤษฎีกลศาสตร์ของนิวตันซึ่งวิทยาศาสตร์สาขาอื่น และสังคมศาสตร์ด้านต่างๆ ได้ยึดถือเป็นกระบวนทัศน์ในการพัฒนาทฤษฎีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งปัจจุบัน

คาปร้าได้ศึกษาค้นคว้ามาเปรียบเทียบให้เห็นอย่างละเอียดในเต๋าแห่งฟิสิกส์ว่า การค้นพบความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติในศตวรรษที่ 20 นี้ เป็นความรู้ที่มีอยู่แล้วในวัฒนธรรมตะวันออกมานานนับพัน ๆปี และอยู่ในรูปของศาสนาซึ่งเป็นแกนหลักของระบบวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต ระบบคิด วิธีคิดแบบเดิมของโลกตะวันออก(และชุมชนดั้งเดิมในโลกตะวันตก เช่น อินเดียแดง อินคา ฯลฯ)

แต่สังคมตะวันตกในช่วง 200 ปีมานี้ได้หันหลังให้ หลังจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งมีฟิสิกส์แบบเดิมหรือกลศาสตร์ของนิวตัน เป็นแกนหรือฐานหลักของกระบวนทัศน์ ทำให้วิทยาศาสตร์สาขาอื่น รวมทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ตั้งอยู่บนฟิสิกส์แบบกลศาสตร์นิวตันนี้ ขาดสิ่งที่คาปร้าเรียกว่าหัวใจ หรือจิตวิญญาณ อันขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่ค้นพบใหม่โดยทฤษฎีสัมพัทธ์และทฤษฎีควอนตัม

กระบวนทัศน์ในการมองความจริงของเอกภพ โลก ธรรมชาติ มนุษย์แบบฟิสิกส์กลศาสตร์นี่เอง ทำให้มนุษย์จัดการกับชีวิต สังคม และธรรมชาติอย่างบกพร่อง จนกระทั่งนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่เป็นทางตัน คาปร้าเห็นว่าความบรรสานสอดคล้องกันระหว่างฟิสิกส์ใหม่และศาสนาจะนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการมองความจริงของโลกแบบองค์รวม (Holistic) เป็นการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ไปจากกระแสหลักซึ่งมีลักษณะแบบกลศาสตร์ คือ กลไก (Mechanistic) ลดส่วน แยกส่วน (Reductionist)

จากผลงานคิดในเชิงปรัชญาของงานเขียนเล่มแรก คาปร้าได้นำเสนอในเชิงการวิเคราะห์รูปธรรม และเสนอทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นกระบวนทัศน์ในการมองความจริงของโลก มนุษย์ ฯลฯในหนังสือเล่มสำคัญต่อมาคือ The Turning Point (1985) หรือจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ(2) เขาแสดงทัศนะและข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดข้ามสาขาวิชา (Transdisciplinary) โดยอาศัยปรัชญา โลกทัศน์ตะวันออกและฟิสิกส์ยุคใหม่ มาชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ทั้งหลายในโลกปัจจุบัน มิได้เป็นปัญหาเฉพาะด้านหรืออยู่ที่สาระทางความคิดของเรื่องนั้น ๆ เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ จิตวิทยา สิ่งแวดล้อมฯลฯ หากปรากฏการณ์ทั้งหลายเป็นตัวสะท้อนวิกฤตการณ์ด้านวัฒนธรรม กล่าวคือเป็นปัญหาระดับกระบวนทัศน์ คือทัศนะที่มนุษย์มีต่อ"ความจริง" (Reality) ของธรรมชาติแล้วไปกำหนดระบบคิด วิธีคิด การจัดการที่มนุษย์มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย และดำรงชีวิตไปตามกระบวนทัศน์ดังกล่าว จนกระทั่งนำมาสู่ทางตันของการพัฒนา ที่เป็นวิกฤตการณ์ของมนุษยชาติและโลกทั้งหมด อันแก้ไขได้ยากหากไม่มีการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ในการมองความจริงแบบใหม่ ซึ่งค้นพบโดยฟิสิกส์แบบใหม่และปรัชญาตะวันออก

โดยสรุปคือคาปร้าเห็นว่ารากเหง้าของปัญหามาจากการที่ศาสตร์ และความรู้ทั้งหลายที่มนุษย์ใช้ในการพัฒนาชีวิต สังคม ในด้านจิตวิทยา สุขภาพ เศรษฐกิจ การจัดระเบียบสังคม ฯลฯ ตั้งอยู่บนทัศนะ ความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ที่ยังคงตั้งอยู่บนฟิสิกส์แบบเดิมที่มีข้อบกพร่องและได้ถูกหักล้างไปแล้วด้วยฟิสิกส์ใหม่ในช่วง 3 ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20

แนวคิดของคาปร้าในงานเขียนทั้ง 2 เล่ม มาจากการย้อนไปศึกษาปรัชญา โลกทัศน์ตั้งแต่สมัยกรีก ซึ่งปรากฏว่า วิชาฟิสิกส์หรือศัพท์เดิมว่า Physis คือวิชาซึ่งว่าด้วยการค้นหาธรรมชาติแท้จริงของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง (Physics แปลว่า ธรรมชาติ) มิได้แยกออกเป็นวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา หากเป็นศาสตร์ของการศึกษากฎเกณฑ์ องค์ประกอบของธรรมชาติทั้งในเชิงรูปธรรม-กายภาพ (ดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ) และในเชิงนามธรรม ไม่มีการแยกสิ่งมีชีวิต-ไม่มีชีวิต จิตวิญญาณและวัตถุ ถือว่าสรรพสิ่งเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ไม่มีแม้คำเรียก"วัตถุ"เพราะถือว่าทุกสิ่งเป็นการปรากฏแสดงของ"Physis"หรือธรรมชาติซึ่งเต็มไปด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวตลอดเวลา จากการขับเคี่ยวกันของสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกัน หากแต่คู่แห่งการขับเคี่ยวกันนั้น แท้จริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือเป็นเอกภาพ(องค์รวม) ปรัชญาธรรมชาตินี้ตรงกับปรัชญาโบราณของอินเดียและจีน(โดยเฉพาะลัทธิเต๋า )

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานความเชื่อนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง และออกมาเป็นสำนักความเชื่อต่าง ๆ เช่น เชื่อว่ากฎธรรมชาติเป็นตัวบุคคล (เทพเจ้า พระเจ้า ฯลฯ) และกลายเป็นลัทธิทวิภาวะ (Dualism) การแบ่งแยกขั้ว ที่เป็นกระบวนทัศน์ของตะวันตกในเวลาต่อมา ในการแยกวัตถุ-จิต ปัจจัยภายใน-ภายนอก ฯลฯ ให้แยกกันเป็นคนละสิ่ง มิใช่เอกภาพของสิ่งเดียวกัน(องค์รวม) อีก

อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์อย่างสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในด้านวิทยาศาสตร์ การเมือง (การปฏิวัติฝรั่งเศส) เศรษฐกิจ(การปฏิวัติอุตสาหกรรม) โดยเฉพาะการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งพัฒนาการมาเป็นกระบวนทัศน์กระแสหลักของโลกปัจจุบัน โดยแกนหลักหรือรากฐานมาจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในด้านฟิสิกส์ของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลสำคัญ 2 คน คือกาลิเลโอ และไอแซค นิวตัน โดยคนแรกเชื่อว่า มนุษย์สามารถเข้าถึง"ความจริง"และหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ จักรวาลทั้งหมดได้ด้วยการทดลองและสังเกตโดยประจักษ์(Empirical) โดยอาศัยคณิตศาสตร์คำนวณได้อย่างแม่นยำไม่ผิดพลาด

แต่ผู้มีอิทธิพลอย่างสูงสุดต่อกระบวนทัศน์กระแสหลักคือ เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้วางรากฐานวิชาฟิสิกส์ด้วยทฤษฎีกลศาสตร์ ที่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวัตถุและการเคลื่อนที่ของสรรพสิ่ง และสามารถที่จะคำนวณการเคลื่อนที่ของวัตถุทั้งหลายได้อย่างแม่นยำ (การเคลื่อนที่ของดวงดาว น้ำขึ้นน้ำลง) และเห็นจักรวาล โลก ธรรมชาติเป็นวัตถุที่รวมกันอยู่ภายใต้กฎทางกลศาสตร์ด้วย ความรู้และโลกทัศน์ของกาลิเลโอและนิวตันได้เป็นรากฐานของการศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ไม่ว่าดาราศาสตร์ ชีววิทยา แพทย์ศาสตร์ ฯลฯ นอกจากนี้วิทยาศาสตร์ในช่วงดังกล่าว ยังมีอิทธิพลต่อปรัชญาสมัยใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย เรเน เดคาร์ต(Rene Dascartes) นักคณิตศาสตร์ซึ่งถือกันว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญายุคใหม่ ผู้พัฒนาปรัชญาขึ้นใหม่ทั้งระบบโดยละทิ้งปรัชญาสมัยเดิมทั้งหมด

โดยเขาเห็นว่า"ความจริง" คือสิ่งที่รับรู้ได้อย่างแจ่มชัดและแน่นอนเท่านั้น ดังนั้น ความแม่นยำคงที่ของคณิตศาสตร์จึงช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงของโลก จักรวาล และสรรพสิ่งทั้งปวงได้ ในทัศนะของเขา จักรวาล โลก ธรรมชาติ มนุษย์เป็นเสมือนวัตถุที่สามารถแยกเป็นชิ้นส่วนได้ เดคาร์ตเป็นผู้สร้างวิธีวิทยา (Methodology)ในการหาความรู้ ความจริงอย่างใหม่ ด้วยการจำแนกแยกแยะความคิดและปัญหาที่ต้องการศึกษาออกเป็นชิ้นส่วน แล้วจัดเรียงใหม่ตามวิธีการทางตรรกะ และกล่าวด้วยว่า"วิทยาศาสตร์ทั้งหลายคือความแน่นอน เป็นความรู้ที่มีหลักฐาน เราปฏิเสธความรู้ทุกชนิดที่เป็น"ความเป็นไปได้" และจะตัดสินว่าสิ่งที่รู้อย่างแจ่มแจ้งแล้วเท่านั้นที่เชื่อถือได้ และความรู้นั้นจะต้องไม่มีข้อสงสัยใด ๆ อีก"( พระประชา ปสันนธมโมและคณะ , เพิ่งอ้าง, น. 56)

กระบวนทัศน์ที่เกิดขึ้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และโลกทัศน์ของกาลิเลโอ นิวตัน เดคาร์ต ได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อในเรื่องของจักรวาล โลก ธรรมชาติ วิธีวิทยาในการหาความรู้ ความจริง และระบบคิดของมนุษย์ไปจากเดิมอย่างมากมาย คาปร้าเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ เกิดการมองสรรพสิ่งต่างๆ ด้วยทัศนะแบบกลไก-ลดส่วน-แยกส่วน ซึ่งสรุปได้ดังนี้(พระประชา ปสันนธัมโม และคณะ. เพิ่งอ้าง , บทที่ 2)

(1) ธรรมชาติดำเนินไปหรือเคลื่อนไหวไปอย่างต่อเนื่องเหมือนเครื่องจักร ที่ถูกควบคุมด้วยกฎอันคงที่ และทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในโลกของวัตถุ สามารถจะอธิบายได้ในรูปของการจัดลำดับอย่างเป็นระเบียบ สรรพสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่ามนุษย์ วัตถุ ธรรมชาติ ฯลฯ สามารถที่จะวัดและคำนวณค่าออกมาเป็นตัวเลขหรือผลทางคณิตศาสตร์ได้ และวิธีการดังกล่าวมีความแม่นยำ น่าเชื่อถือ เพราะคณิตศาสตร์ไม่มีความลำเอียงหรืออคติ แนวคิดนี้สนใจการศึกษาเฉพาะสิ่งที่สามารถวัดและหาปริมาณได้ คุณสมบัติอื่น เช่น สี เสียง รส หรือกลิ่น เป็นเพียงปรากฏการณ์ของความนึกคิดแบบอัตวิสัย (subjective) ซึ่งจะถูกแยกออกไปจากอาณาเขตของวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุเป็นผลทั้งหลาย จึงถูกกำหนดไว้แล้วอย่างตายตัว สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีสาเหตุอันแน่นอน และนำไปสู่ผลที่เที่ยงตรงแน่นอน เราจึงสามารถคำนวณและคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ออกมาได้อย่างเที่ยงตรงแน่นอน หากเราสามารถรู้ชัดถึงรายละเอียดของสภาวะของส่วนนั้น ๆ ในเวลานั้นได้

(2) วัตถุเป็นพื้นฐานของสรรพปรากฏการณ์ โลกทางวัตถุถูกมองว่าเป็นเครื่องจักรขนาด ใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากวัตถุเป็นชิ้น ๆ จำนวนมากมายที่สามารถแยกจากกันได้ เชื่อกันว่ากลไกของเอกภพก็เป็นเหมือนเครื่องจักรที่มนุษย์สร้างขึ้น คือประกอบด้วยหน่วยย่อยพื้นฐานต่าง ๆ ดังนั้นปรากฏการณ์อันสลับซับซ้อนต่าง ๆ สามารถทำความเข้าใจได้โดยการลดส่วนแยกซอยลงมาศึกษาหน่วยย่อยพื้นฐานของมัน และมองหากลไกการทำงานของหน่วยย่อยเหล่านี้ และส่วนย่อยสามารถจะกำหนดความเป็นไปของส่วนทั้งหมดได้

(3) โลกเป็นเครื่องจักรกลเครื่องหนึ่ง ไม่ได้มีชีวิต ดังนั้นธรรมชาติหรือระบบนิเวศ และข้อจำกัดของธรรมชาติที่เคยกำหนดและจำกัดมนุษย์ไว้ และความลึกลับต่าง ๆ ของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องเอาชนะและพิชิตให้ได้ เพื่อนำธรรมชาติมารับใช้มนุษย์

(4) มนุษย์มีร่างกายและจิตใจที่แยกจากกันเป็นคนละส่วน สามารถแยกศึกษาและจัด การได้แบบเครื่องกล เรื่องของร่างกาย ไม่มีจิตมาปนอยู่ และความคิดเกี่ยวกับจิตใจ ก็ไม่มีเรื่องของร่างกายมาเกี่ยวข้อง

ในงานเขียนของเขา คาปร้าได้ยกตัวอย่างศาสตร์ที่มีกระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นว่า กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้ก่อผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งที่สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างไรบ้าง เช่น ในด้านการแพทย์ กระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน มีอิทธิพลให้เกิดทัศนะ ความเชื่อ ที่เห็นว่าร่างกายมนุษย์ทำงานแบบกลไก ร่างกายมนุษย์(สัตว์)สามารถแยกย่อยออกมาศึกษาเป็นส่วน ๆได้ ความเจ็บป่วยถูกลดทอนให้เกิดจากเชื้อโรค หรือความผิดปกติของอวัยวะหนึ่ง ๆ การแสวงหาความรู้และการรักษาจึงมุ่งไปที่การกำจัด ควบคุม เชื้อโรค และเซลล์ที่ผิดปกติ เช่น มะเร็ง หรือมุ่งไปที่การศึกษาเจาะลึกความรู้เกี่ยวกับอวัยวะนั้นๆ (หัวใจ ตับ ไต กระดูก ฯลฯ) เพื่อสร้างวิธีการรักษา แม้จะมีการศึกษากายวิภาค เพื่อศึกษาระบบการทำงานของร่างกายทั้งหมด แต่ก็อยู่บนความเชื่อแบบกลไกที่ว่า ร่างกายเกิดจากการรวมกันของอวัยวะต่าง ๆ ประกอบกันเข้า จึงสามารถแยกส่วนออกมาศึกษาเจาะลึก ซอยแยกให้ลึกลงไปเป็นลำดับได้จนถึงเซล เนื้อเยื่อ DNA ฯลฯ เสมือนหนึ่งเครื่องยนต์กลไก การแพทย์สมัยใหม่ มิได้มองร่างกายในทัศนะองค์รวม หรือหน่วยหนึ่งเดียวกัน ที่แยกซอยออกไม่ได้ เพราะมีระบบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยทั้งหมด

ในวิชาเศรษฐศาสตร์ คาปร้าได้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน ได้ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่แต่เพียงการผลิต การบริโภค กำไร ขาดทุนฯลฯ โดยไม่ได้คิดว่า เศรษฐกิจเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งหมด เขาเห็นว่าอิทธิพลของกระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน แยกส่วนได้ละเลยระบบชีวิตของมนุษย์ซึ่งสัมพันธ์กันและกัน และสัมพันธ์กับระบบธรรมชาติหรือนิเวศด้วย และทำให้"คุณค่า"(Value)ในทางเศรษฐศาสตร์ลดทอนเหลือเพียงเงินตรา วัตถุที่สามารถวัดได้ อิทธิพลของ"วิธีวิทยาศาสตร์"ปรากฎในทฤษฎีและการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุด ทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เป็นกลไก ลดส่วน แยกส่วน มีความแคบ ตายตัว และละทิ้งมิติอื่น ๆ ทั้งหมด รวมทั้งคุณค่าทางจริยธรรม และความคิดในเชิงคุณภาพ (เช่น การวัดพลังงานออกมาในรูปของกิโลวัตต์ โดยไม่สนใจว่าพลังงานนั้นมาจากไหน) ความต้องการในทางเศรษฐกิจของมนุษย์ไม่ว่าในการผลิต การบริโภค และผลตอบแทนหรือมูลค่า(ทางวัตถุ)จากการนั้น คือศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดในโลกปัจจุบัน ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในด้านต่าง ๆ ที่เศรษฐศาสตร์ละทิ้งไม่สนใจ คือ ระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ วัฒนธรรม ฯลฯ

นอกจากการวิพากษ์การแพทย์ เศรษฐศาสตร์แล้ว เขาได้วิจารณ์จิตวิทยาแบบนิวตันด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของคาปร้าในการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนทัศน์ มิได้มุ่งไปที่ตัวเนื้อหาสาระเพียงเท่านั้น หากจุดสำคัญอยู่ที่การชี้ให้เห็นถึงรูปธรรมของปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนทัศน์ วิธีคิดของมนุษย์ที่มีต่อความจริงและความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งต่าง ๆ ในแบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน ตามอิทธิพลของความเชื่อในฟิสิกส์แบบนิวตัน จนกระทั่งมีอิทธิพลเหนือความรู้ของศาสตร์อื่นทั้งหมดในรอบ 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา

ดังที่เดคาร์ตเปรียบเทียบว่า ปรัชญาคือต้นไม้ มีอภิปรัชญาเป็นราก ฟิสิกส์เป็นลำต้น และศาสตร์อื่นทั้งหมดคือกิ่งก้านที่แตกออกไปจากลำต้น(ฟิสิกส์) กระแสแห่งกระบวนทัศน์นี้มีอิทธิพลต่อระบบคิด วิธีคิด ของผู้คนในสังคมตะวันตกในรอบ 200 ปีที่ผ่านมามากที่สุด หล่อหลอมจนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ที่ปฏิเสธกระบวนทัศน์ที่มีต่อความจริงในระบบความเชื่อ ปรัชญาในระบบวัฒนธรรมอื่น รวมถึงปฏิเสธวิธีวิทยา(Methodology) ในการหาความจริงด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่มิอาจทดลองให้เห็นได้ในเชิงประจักษ์ หรือชั่ง ตวง วัด คำนวณได้

กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้ทำให้"วิธีการทางวิทยาศาสตร์" (Scientific Method) และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Thinking) กลายเป็นฐานในการกำหนดความน่าเชื่อถือของศาสตร์อื่น ๆ หมายความว่าหากต้องการให้ศาสตร์และความรู้ใดน่าเชื่อถือ ศาสตร์นั้นจะต้องตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งยังคงเป็นแบบกลไก ลดส่วน แยกส่วน แม้ว่าฟิสิกส์แบบเดิมนี้จะถูกหักล้างด้วยฟิสิกส์ใหม่เมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไปแล้วก็ตาม

คาปร้าเห็นว่า การหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์คือการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ใหม่ ที่จะนำไปสู่"การคิดใหม่-ทำใหม่"อย่างแท้จริงได้ คือการมองจักรวาล โลก มนุษย์ ธรรมชาติด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ที่แตกต่างสิ้นเชิงกับกระบวนทัศน์ของฟิสิกส์แบบนิวตันและปรัชญาเดคาร์ต ทฤษฎีของฟิสิกส์ใหม่โดยไอน์สไตน์และกลุ่มนักฟิสิกส์ทฤษฎีควอนตัม มีหัวใจสำคัญของการค้นพบ คือ การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งในจักรวาล โลก และวัตถุ ฯลฯทั้งหลาย รวมถึงอะตอม มิได้ดำรงอยู่ในรูปแบบของกลไก ตายตัว แยกส่วน สามารถคำนวณได้แม่นยำ หากดำรงอยู่ในลักษณะผสมผสานกลมกลืนในขณะเดียวกันก็ผกผันขัดแย้งกัน (Paradox) ด้วย ทฤษฎีของฟิสิกส์ใหม่เกิดขึ้นจากการศึกษาและทดลองเกี่ยวกับอะตอมซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นหน่วยเล็กที่สุดของวัตถุมีความแข็งแกร่ง ไม่สามารถทำลายหรือเปลี่ยนแปลงได้ มีความคงที่ ตายตัว (โลกทัศน์ต่อ"ความจริง"ทางวัตถุนี้จึงสร้างกระบวนทัศน์ ระบบคิด วิธีวิทยาแบบกลไก แยกส่วนขึ้น)

แต่ฟิสิกส์ใหม่ในต้นศตวรรษที่ 20 พบว่า แท้จริงยังมีอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ภายในมีอิเลคตรอน(-) โปรตรอน(+) วิ่งอยู่รอบนิวเคลียส และอนุภาคเหล่านี้มิใช่เป็นวัตถุแข็งตัน ตามความคิดของฟิสิกส์แบบนิวตัน หากแต่อนุภาคเหล่านี้มีการแปรเปลี่ยนตลอดเวลา อย่างมีความสัมพันธ์กันระหว่างสองขั้วที่ต่างกันนั้น และแปรเปลี่ยนไปในลักษณะต่าง ๆ กัน บางครั้งเป็นคลื่น เป็นแสง ฯลฯ ขึ้นกับการทดลองจัดบริบทที่ต่างกัน แสดงว่าการดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลงของอนุภาคเหล่านี้ ไม่ตายตัว คงที่ หากขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างอนุภาค และระหว่างอนุภาคกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งเสมอไป ดังที่นักทฤษฎีควอนตัมพบว่า ไม่สามารถจะกำหนดการเปลี่ยนแปลงอย่างตายตัวของอิเล็คตรอนได้เสมอไป เนื่องจากการแปรเปลี่ยนบางครั้งมิได้เกิดจากสาเหตุที่อยู่ใกล้ชิดกัน แต่ถูกกำหนดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งอาจทราบหรือไม่ทราบ ทำให้นักฟิสิกส์ใหม่พบว่า สัมพันธภาพของสรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างเป็นองค์รวมกัน ดังเช่นที่การเปลี่ยนแปลงของอิเล็คตรอนที่คาดเดาไม่ได้นั้น เกิดจากการเคลื่อนไหวของระบบทั้งหมดเป็นผู้กระทำ กระบวนทัศน์ของฟิสิกส์ใหม่จึงเป็นแบบองค์รวม และเห็นว่าองค์รวมเป็นตัวกำหนดการแปรเปลี่ยนของส่วนย่อย มิใช่ส่วนย่อยกำหนดความเป็นไปของส่วนทั้งหมด ดังเช่นกระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน แยกส่วนเชื่อเช่นนั้น

การค้นพบธรรมชาติของฟิสิกส์ใหม่นี้ ยังได้กระทบต่อวิธีวิทยาในการศึกษาธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางสังคมด้วย เนื่องจากสรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์ เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นองค์รวม ความถูกต้องแม่นยำ คำนวณได้ไม่สามารถกระทำได้ในทุกกรณี ดังเช่นที่คาปร้าเห็นว่าฟิสิกส์แบบนิวตันมีประโยชน์ในการคำนวณปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่างได้ เช่นการเคลื่อนที่ของดวงดาว น้ำขึ้นน้ำลง ฯลฯ และเป็นฐานที่มีประสิทธิภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตามฟิสิกส์แบบนิวตันมีปริมณฑลของความจริง ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงมิใช่เรื่องของสัจธรรมหากเป็นการอธิบายความจริงอย่างมีขอบเขต โดยการประมาณการ และฟิสิกส์ใหม่ทำให้พบว่าสิ่งที่ผู้ศึกษาจะทำได้มากที่สุดคือการคาด"ความเป็นไปได้"เท่านั้น นอกจากนี้ จากการทดสอบอนุภาคในทฤษฎีควอนตัมพบว่า ผู้ศึกษาเองก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทดสอบและสังเกตด้วย ตลอดเวลา จึงไม่อาจแยกมนุษย์ออกไปได้ นั่นหมายความว่า ทัศนะสภาวะวิสัย(Objective) และ"ปลอดค่านิยม" (Value Free) เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

จากความรู้ในวิชาฟิสิกส์ใหม่และการศึกษาศาสนธรรมตะวันออก คาปร้าได้เสนอทัศนะใหม่ในการมองโลก ชีวิต และสรรพสิ่ง ในทฤษฎีกระบวนระบบ "Systems View of Life" ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (เสน่ห์ จามริก : "บทวิเคราะห์ว่าด้วยการศึกษากับการวิจัยและพัฒนา"ในการศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัย, 2538. น.172-173 )

(1) ให้ความตระหนักรับรู้รวมถึงระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นจึงมองโลกและชีวิตในความหมายที่เป็นความสัมพันธ์เกี่ยวโยง และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของมวลปรากฏการณ์ทั้งหลาย

(2) ความตระหนัก และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงคุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศไม่อาจบังเกิดขึ้นได้โดยลำพังของความคิด หรือความรู้ที่ยึดแต่หลักความเป็นเหตุเป็นผล หากต้องประสานไปด้วยกันกับปัญญาหยั่งรู้อันเป็นลักษณะโดดเด่นของวัฒนธรรมแบบประเพณีที่ไม่ได้มีการสื่อกันด้วยภาษาหนังสือ (Non-literate)

(3) สิ่งมีชีวิตทุก ๆ หน่วย ตั้งแต่แบคทีเรียที่เล็กที่สุดขึ้นไปจนถึงพืช สัตว์ และมนุษย์ ต่างเป็นมวลรวม และระบบชีวิต และทั้งหมดประกอบกันขึ้นเป็นมวลรวม ในรูปของระบบสังคมอันมีโครงสร้างเฉพาะ ที่เกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของส่วนต่าง ๆ โดยนัยนี้ มวลรวมจึงมีธรรมชาติและความหมายที่แตกต่าง และนอกเหนือไปจากผลรวมของส่วนต่าง ๆ ทั้งหมด

(4) อย่างไรก็ดี โครงสร้างที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ตายตัว หากแต่เป็นเครื่องแสดงออกของกระบวนการพื้นฐานที่ยืดหยุ่น แต่ทว่ามั่นคง("ธรรมชาติมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรกลที่จะสร้างกันขึ้นมาให้ตรงตามต้นแบบอย่างหนึ่ง และก็กำหนดให้ทำงานไปตามที่ถูกสั่งเอาไว้ แต่(ธรรมชาติมนุษย์) เป็นเสมือนต้นไม้ที่ต้องเติบโต และพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้าน ตามความโน้มเอียงของพลังภายใน ซึ่งทำให้ธรรมชาติมนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิต") และโดยนัยนี้เอง ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจึงเป็นเรื่องของกระบวนการ ในขณะที่การทำงานของเครื่องยนต์กลไกถูกกำหนดขึ้นจากโครงสร้าง แต่โครงสร้างของสิ่งมีชีวิตถูกกำหนดมาจากกระบวนการต่าง ๆ ทั้งหลาย

(5) ในทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน ปัญหาความอยู่รอดเป็นเรื่องของแต่ละชนิดพันธ์ทั้งหลายในโลกชีวภาพ แต่มาในปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนกันแล้วว่า ปัญหาจริง ๆ เป็นเรื่องความอยู่รอดของ"สิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมของตนเอง" สิ่งมีชีวิตใดที่คิดถึงแต่ความอยู่รอดของตนเองโดยลำพังเป็นสำคัญ ก็จะทำลายสภาพแวดล้อมของตน แล้วก็จะทำลายตนเองในที่สุด โดยนัยนี้ หน่วยของความอยู่รอดจึงมิใช่เรื่องของสิ่งมีชีวิตโดยตรง หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับแบบแผนของการจัดองค์การ ซึ่งสิ่งมีชีวิตจัดตั้งขึ้นในการปฏิสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อมของตน

(6) วิวัฒนาการของชีวิตประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก เป็นการสืบพันธุ์ทางเพศ ขั้นตอนต่อมาเป็นการบังเกิดขึ้นของจิตสำนึกเป็นสื่อสร้างกลไกทางสังคมบนพื้นฐานของความนึกคิดและภาษา สัญลักษณ์ องค์การทางสังคม จึงเป็นระบบที่มีการจัดการของตัวเอง ระบบที่มีการจัดการของตัวเอง ย่อมมีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า สิ่งมีชีวิตแยกออกจากสภาพแวดล้อม หากมีการปฏิสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่า ปฏิสัมพันธ์ที่ว่านี้ ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดการจัดองค์กรของสิ่งมีชีวิต

(7) ในการทำความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ เราจึงต้องทำการศึกษาไม่เฉพาะแต่มิติด้านกายภาพและจิตวิทยาเท่านั้น หากรวมถึงด้านการแสดงออกทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เหนือชนิดพันธุ์อื่นใด มนุษย์เรารู้จักการมีการคิดร่วมกัน และเพราะฉะนั้นจึงได้สร้างสรรค์โลกของวัฒนธรรมและคุณค่าขึ้นมาเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของธรรมชาติแวดล้อมของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ลักษณะเฉพาะทางชีวภาพและวัฒนธรรมในธรรมชาติมนุษย์ จึงไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ มนุษยชาติก่อเกิดขึ้นมาโดยอาศัยกระบวนการสร้างสรรค์วัฒนธรรม และต้องอาศัยวัฒนธรรมที่ว่านี้ เพื่อความอยู่รอดและวิวัฒนาการสืบต่อไป

กล่าวโดยสรุป ความคิดหลักในกระบวนทัศน์นี้ คือการมองโลกในทางตรงข้ามกับแบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน คือ เชื่อว่า สรรพสิ่งไม่ว่าตัวของมนุษย์ ธรรมชาติ ดำรงอยู่ในระบบความสัมพันธ์แบบองค์รวม ( Holism) ที่มีความเชื่อมโยงอันหลากหลายมิติ ซับซ้อน ไม่สามารถแยกส่วนหรือลดส่วนออกมาศึกษา จัดการได้ เนื่องจากคุณสมบัติขององค์รวมมีลักษณะเฉพาะมิใช่เกิดจากการรวมกันของส่วนย่อย ลักษณะเฉพาะดังกล่าวคือ เป็นกระบวนการ มีมิติที่เกินกว่าขอบเขตที่มองเห็นในทางวัตถุ

อ่านต่อหน้าถัดไป โปรดคลิกที่นี่

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I กระดานข่าว I ประวัติมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

ภาพประกอบของ Fernand Leger ชื่อภาพ The Acrobats(The Parrots)
webboard
1.จากเต๋าแห่งฟิสิกส์

ฟริตจ๊อฟ คาปร้า เป็นชาวออสเตรียเกิดและใช้ชีวิตวัยเยาว์ในชนบทอย่างใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของเขาในเวลาต่อมาเป็นอย่างมาก คาปร้าจบการศึกษาปริญญาเอกด้านทฤษฎีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นโอกาสให้เขาได้ศึกษาและรับอิทธิพลทางความคิดจาก เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบอร์ก นักฟิสิกส์ชาวออสเตรียผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ ฟิสิกส์และปรัชญา (Physics and Philosophy) อันกระตุ้นให้คาปร้าเกิดความสนใจวิชาฟิสิกส์ในปริบทที่กว้างไกลและหลากหลายกว่าวิทยาศาสตร์ตามกระแสหลักโดยทั่วไป คือเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสู่มิติทางสังคม ชีวิต สิ่งแวดล้อมและมีความสนใจในปรัชญาต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาตะวันออกของจีนโบราณ ลัทธิเต๋า พุทธศาสนานิกายเซน ฮินดู
คำชี้แจงของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บทความชิ้นนี้ได้บรรจุเชิงอรรถไว้อย่างถูกต้องทุกประการ โดยผู้เขียนให้ความเคารพต่อแหล่งข้อมูลที่มา ตามมาตรฐานทางวิชาการ แต่ด้วยเหตุแห่งการจัดหน้า web page ในการบริการผ่านระบบเครือข่าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทำให้ต้องตัดเอาเชิงอรรถบางส่วนออกไปตามความจำเป็นทางเทคนิค จึงขอชี้แจงและขออภัยมา ณ ที่นี้