home
ภาพประกอบดัดแปลง จากปกหนังสือเกี่ยวกับ Thomas Kuhn ใช้เพื่อประกอบบทความการศึกษาทางไกลฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

"ข้อสรุปที่ตั้งข้อสงสัยในรากฐาน เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นผลสัมฤทธิ์ของวิทยาศาสตร์เหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ Kuhn กลายเป็นฮีโร่สำหรับนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ และนักวิจารณ์ ผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับลักษณะภววิสัยของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ ตลอดจนผู้ซึ่งเลือกที่จะเชื่อว่า ทฤษฎีวิทยาศาสตร์เป็นผลพวงจากการสร้างของสังคม แต่ในความคิดของนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชื่อว่า งานของวิทยาศาสตร์คือ นำเราเข้าใกล้ความจริงเชิงภววิสัย(objective)มากขึ้น มากขึ้นตลอดเวลา สิ่งที่ Kuhn กล่าวเป็นเหมือนไม้รสขม
ที่เจือสุรารสหวานมอมเมาผู้อื่น"

วิพากษ์ Thomas Kuhn จากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติที่ไม่มีวันเกิด
แปลและเรียบเรียงจาก The Revolution That Didn't Happen ของ Steven Weinberg


บทความตอบโต้คูน จาก Steven Weinberg นักฟิสิกส์ทฤษฎี ได้รับ Nobel Prize เมื่อปี คศ.1979
แปลและเรียบเรียงโดย ผศ. สดชื่น วิบูลยเสข ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่ครั้งแรกที่ web site มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความใหม่ ม.เที่ยงคืน
ประจำเดือน ตุลาคม 2544 (125)
041044
Release Date
contents page
member page
webboard
หากประสบปัญหา
ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font
ลงมา จะแก้ปัญหาได้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

ตอนที่ 1: การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และการประเมินกระบวนทัศน์ที่ต่างกัน

หนังสือ Die Struktur wissenschaftlicher Revolutionen ของ Thomas Kuhn จัดว่ามีอิทธิพลในวงกว้างต่อประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์มากยิ่งกว่าหนังสืออื่น ภายหลังการเสียชีวิตของ Kuhn ในปี ค.ศ. 1996 นักสังคมวิทยา Clifford Geertz ตั้งข้อสังเกตซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า หนังสือของ Kuhn "เปิดประตูสู่การพุพลุ่งของสังคมวิทยาแห่งความรู้"ในการศึกษาวิทยาศาสตร์ มีผู้ยกตัวอย่างและใช้แนวคิดของ Kuhn

ครั้งแล้วครั้งเล่าในความขัดแย้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือที่เรียกกันว่า สงครามวิทยาศาสตร์ Die Struktur บรรยายประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ว่าเป็นกระบวนการวัฎฎจักรซึ่งประกอบด้วยช่วงของ" วิทยาศาสตร์ที่ยอมรับแล้ว" ซึ่งโดดเด่นด้วยสิ่งที่ Kuhn เรียกว่า "กระบวนทัศน์" หรือเครือข่ายที่สานต่อกันด้วยวินัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเรียกขานด้วยวลีใดก็ตาม กระบวนทัศน์ ก็อ้างอิงถึงทัศนะที่เป็นเอกฉันท์

ในช่วงของวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับแล้ว นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นพ้องต้องกันว่าปรากฎการณ์ใดที่ควรแก่การหยิบยกขึ้นมาศึกษา และอะไรคือคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์เหล่านั้น ในช่วงท้ายของวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับแล้วนี้ เกิดวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ขึ้น กล่าวคือ การทดลองให้ผลที่ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีที่มีอยู่แต่เดิม หรือพบความขัดแย้งกันเองภายในทฤษฎีเหล่านี้ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและสับสนขึ้นโดยทั่วไป วารสารทางวิทยาศาสตร์เต็มไปด้วยแนวคิดแปลกใหม่มากมาย ที่นักวิทยาศาสตร์นำเสนอเพื่อแก้ปัญหา และท้ายที่สุด ก็นำไปสู่ การปฏิวัติเชิงความคิด นักวิทยาศาสตร์เริ่มเปลี่ยนไปมองธรรมชาติจากมุมมองใหม่ ผลลัพธ์คือยุคใหม่ของวิทยาศาสตร์ "กระบวนทัศน์" ได้เปลี่ยนไปแล้ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สดชื่น วิบูลยเสข ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : แปลและเรียบเรียง

ตัวอย่างที่ Die Struktur ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือกระบวนทัศน์ Newtonian. ในศตวรรษที่สิบแปด ทฤษฎีกายภาพของ Newton ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นจุดเริ่มของยุคของวิทยาศาสตร์ที่วิทยาศาสตร์ประสบผลสำเร็จในการศึกษาเรื่องการเคลื่อนที่และความโน้มถ่วง นักวิทยาศาสตร์ใช้ทฤษฎีของ Newton ทำการคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์ได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น นำไปสู่ความสำเร็จที่โด่งดังเช่นคำทำนายในปี ค.ศ. 1946 ว่ามีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งอยู่ในสุริยจักรวาล (คือดาวเนปจูน) และยังสามารถคำนวณวงโคจรของดาวนี้ได้ถูกต้องในขอบเขตหนึ่ง

แต่ครั้นถึงปลายศตวรรษที่สิบเก้า เกิดวิกฤตการณ์รุนแรงซึ่งสั่นคลอนบัลลังก์ของกระบวนทัศน์ Newtonian คือความล้มเหลวในการอธิบายการเคลื่อนที่ของแสง ทางออกคือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การหวนกลับไปพิจารณาและปฏิวัติความเข้าใจในเรื่องของกาล(time) และ อวกาศ (space) เสียใหม่ ตามคำเสนอของ Einstein ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1905 - 1915 การเคลื่อนที่มีผลกระทบต่อเวลา สสารและพลังงานสามารถเปลี่ยนรูปกันได้ และความโน้มถ่วงคือความโค้งของ กาลวกาศ(space-time) โดยนัยยะนี้ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของ Einstein จึงเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ และการศึกษาการเคลื่อนที่และความโน้มถ่วงก็ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของวิทยาศาสตร์

ถึงแม้ว่าอาจจะยังมีข้อกังขาว่า ทฤษฎีวัฏจักรของการปฏิวัติเชิงวิทยาศาสตร์ของ Kuhn สอดคล้องกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์หรือไม่ แต่โดยตัวของมันเองแล้วทฤษฏีนี้ก็มิได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจเท่าใดนัก และก็คงจะมิได้เป็นสิ่งที่ทำให้ Die Struktur โด่งดังขึ้นมาถึงระดับนี้

สำหรับหลายๆคน การสร้างคำว่า "กระบวนทัศน์" ขึ้นมาใหม่ของ Kuhn นั่นเองที่ทำให้ทฤษฎีมีประโยชน์มากที่สุดหรือน่าต่อต้านมากที่สุด แน่นอน ในความหมายธรรมดาทั่วไป คำว่า กระบวนทัศน์หมายถึง ผลสำเร็จใดๆที่ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างสำหรับงานในอนาคต และนี่คือลักษณะที่ Kuhn ใช้คำๆนี้ในหนังสือเล่มก่อนของเขา เกี่ยวกับการปฏิวัติเชิงวิทยาศาสตร์ของ Copernicusและแม้ในช่วงหลัง Kuhn ก็ยังคงใช้ความหมายนี้บ้างในบางครั้ง

นักวิจารณ์ท่านแรก ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คำว่า"กระบวนทัศน์"ในลักษณะใหม่ของ Kuhn คืออธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด James Bryant Conant. Kuhn เริ่มชีวิตทำงานของเขาในฐานะนักประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้ช่วยสอนของ Conant สำหรับกระบวนวิชาปริญญาตรีที่ ฮาร์วาร์ด เมื่อ Conant ขอให้ Kuhn เตรียมกรณีศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกลศาสตร์ให้ เมื่ออ่านร่างงานของ Kuhn จบ Conant ปรารภว่า "ดูเหมือนคุณจะตกหลุมรักคำว่ากระบวนทัศน์เสียแล้ว" และ"เจ้าคำวิเศษที่ใช้ อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด!"

สองสามปีต่อมา Magaret Masterman ชี้ให้เห็นว่า Kuhn ใช้คำว่า "กระบวนทัศน์" ในความหมายหรือลักษณะที่ต่างกันมากกว่ายี่สิบความหมาย แต่การถกเถียงเกี่ยวกับคำว่า"กระบวนทัศน์" นั้นไม่สำคัญ

Kuhn พูดถูกทีเดียวเมื่อเขากล่าวว่า ความเป็นเอกฉันท์เชิงวิทยาศาสตร์นั้นมีอะไรมากกว่าชุดหนึ่งของทฤษฎีที่เรายอมรับอย่างปราศจากข้อสงสัย เราต้องการคำใหม่ๆสำหรับความซับซ้อนของท่าทีและประเพณีปฏิบัติ ซึ่งปรากฏพร้อมๆกับทฤษฎีของเราในช่วงของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จแล้ว และคำว่า "กระบวนทัศน์" เป็นหนึ่งในบรรดาคำอีกหลายคำที่ใช้ได้ในสถานะการณ์นี้

สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดเมื่ออ่าน Die Struktur และงานเขียนอื่นๆในระยะหลังของ Kuhn คือ ข้อสรุปที่ตั้งข้อสงสัยในรากฐาน เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นผลสัมฤทธิ์ของงานวิทยาศาสตร์ และข้อสรุปเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ Kuhn กลายเป็นฮีโรสำหรับนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ และนักวิจารณ์ผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับลักษณะภววิสัยของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ ตลอดจนผู้ซึ่งเลือกที่จะเชื่อว่าทฤษฎีวิทยาศาสตร์เป็นผลพวงจากการสร้างของสังคม ซึ่งมิได้แตกต่างจากประชาธิปไตยหรือการเล่นเบสบอลเลย

Kuhn ทำให้การเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์หนึ่งไปยังอีกกระบวนทัศน์หนึ่ง ดูเหมือนกับการเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนามากกว่าจะมาจากการใช้เหตุผลเป็นสิ่งชี้นำ เขาให้ข้อสังเกตว่า ทฤษฎีของวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จนกระทั่งแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับนักวิทยาศาสตร์ภายหลังการปฏิวัติแนวความคิด ที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆเหมือนกับที่เขาเคยเห็นภายใต้กระบวนทัศน์เดิม

Kuhn เปรียบเทียบการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าเปรียบเหมือนภาพลวงตาจากแสง ซึ่งสิ่งที่เคยเห็นเป็นกระต่ายขาวบนพื้นดำปรากฎเป็นแพะดำบนพื้นขาวในทันทีทันใด แต่สำหรับ Kuhn การเปลี่ยนนี้ ลึกซึ้งกว่านั้น เขากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า "นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีอิสรภาพและเสรีภาพที่จะเปลี่ยนวิธีการมองกลับไปกลับมาระหว่างกระบวนทัศน์ทั้งสอง"

Kuhn ยังกล่าวด้วยว่าในการปฏิวัติเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงแต่ทฤษฎีวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เปลี่ยน แต่แม้แต่มาตรฐานที่เราใช้ตัดสินทฤษฏีวิทยาศาสตร์ก็เปลี่ยนไปด้วย จนกระทั่งกระบวนทัศน์ซึ่งเป็นตัวควบคุมช่วงต่อๆกันของวิทยาศาสตร์ธรรมดาก็ไม่สัมพันธ์หรือโยงต่อกัน

เขาให้เหตุผลต่อไปว่า เนื่องจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์หมายถึงการโยนกระบวนทัศน์เดิมทิ้งไปอย่างไม่เหลือซาก และไม่มีมาตรฐานร่วมสำหรับตัดสินทฤษฎีวิทยาศาสตร์ซึ่งพัฒนาภายใต้กระบวนทัศน์ที่แตกต่างออกไป จึงไม่มีความหมายที่จะพูดว่าทฤษฎีซึ่งพัฒนาขึ้นมาภายหลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ช่วยเพิ่มพูนความรู้ที่มีอยู่ก่อนการปฏิวัติ การบอกว่าทฤษฎีวิทยาศาสตร์อันหนึ่งจริงหรือไม่นั้นถูกกำกับโดยบริบทของกระบวนทัศน์หนึ่งเท่านั้น

Kuhn สรุปไว้ใน Die Struktur ว่า "พูดให้ตรงจุดก็คือว่า เราต้องละทิ้งแนวคิดเดิม ไม่ว่าจะเป็นที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งหรือซ่อนนัยไว้ก็ตาม การเปลี่ยนกระบวนทัศน์จะนำนักวิทยาศาสตร์และผู้ที่เรียนรู้จากเขาให้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น มากขึ้นทุกที" แต่ต่อมา ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 1992 Kuhn ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการยากที่จะจินตนาการวลีที่ว่าทฤษฎีวิทยาศาสตร์ "นำเราเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น" นั้นหมายความว่าอะไร

Kuhn เองมิได้ปฏิเสธว่ามีความก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์ แต่เขาไม่ยอมรับว่าความก้าวหน้านี้ได้นำไปสู่อะไร. Kuhn ชอบใช้อุปมาอุปไมยของวิวัฒนาการเชิงชีวภาพ. สำหรับเขา ความก้าวหน้าเชิงวิทยาศาสตร์เปรียบเหมือนวิวัฒนาการตามคำกล่าวของ Darwin มันเป็นกระบวนการที่ถูกผลักดันจากเบื้องหลัง มากกว่าจะถูกดึงให้เข้าไปใกล้สู่จุดมุ่งหมายที่แน่นอน กระบวนการคัดออกตามธรรมชาติของทฤษฎีวิทยาศาสตร์ถูกผลักดันโดยการแก้ปัญหา

ในยุคของวิทยาศาสตร์ธรรมดา(normal science) เมื่อใดก็ตามที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนึ่งปัญหาใดได้โดยใช้ทฤษฎีที่มีอยู่ ก็จะมีแนวคิดใหม่ๆพรั่งพรูออกมามากมาย และแนวคิดที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาได้ ก็คือแนวคิดที่ทำได้ดีที่สุดในการแก้ปัญหา

แต่ตามความคิดของ Kuhn เช่นเดียวกับที่ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทีปรากฎขึ้นในยุค Cretaceous และมีชีวิตรอดมาได้เมื่อดาวหางชนโลก. ขณะที่ไดโนซอร์สูญพันธ์ ก็ไม่มีอะไรพิเศษในธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์จะวิวัฒน์ไปในทิศทางของสมการ Maxwell หรือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป.

Kuhn ตระหนักว่าทฤษฎีของ Maxwell และ Einstein ดีกว่าทฤษฎีเดิมที่มาก่อนในทำนองเดียวกับที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดีกว่าไดโนซอร์ในแง่ของการเอาตัวรอดจากผลของการที่ดาวหางพุ่งชนโลก แต่เมื่อมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นกับทฤษฎีของ Maxwell และ Einstein ก็จะถูกแทนที่ด้วยทฤษฎีใหม่ซึ่งดีกว่าในแง่ของการแก้ปัญหา และต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ โดยไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในองค์รวมของวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

ในความคิดของนักวิทยาศาสตร์ผู้เชื่อว่า งานของวิทยาศาสตร์คือ การนำเราเข้าใกล้ความจริงแบบภววิสัย(objective)มากขึ้นตลอดเวลา สิ่งที่ Kuhn กล่าว เป็นเหมือนไม้รสขมที่ใช้เจือเหล้าหวาน แต่ข้อสรุปของ Kuhn กลับเป็นเหมือนอาหารอันโอชะของผู้ที่เฝ้ามองด้วยความแคลงใจว่าวิทยาศาสตร์คือการเสแสร้ง ถ้าการตัดสินทฤษฎีวิทยาศาสตร์มีความหมายเฉพาะในบริบทของกระบวนทัศน์อันหนึ่งเท่านั้น ในแง่นี้ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ก็ไม่เป็นสากล ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ของกระบวนทัศน์หนึ่งย่อมไม่มีอะไรดีกว่าวิธีการอื่นๆ เช่น โหราศาสตร์หรือลัทธิพระผู้สร้างในการทำความเข้าใจกับความจริง ถ้าเราไม่สามารถใช้มาตรฐานจากภายนอกตัดสินการเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์หนึ่งไปสู่อีกกระบวนทัศน์หนึ่งได้ บางทีก็อาจจะเป็นวัฒนธรรมของกระบวนการคิดมากกว่าธรรมชาติละกระมัง ที่บงการเนื้อหาของทฤษฎีวิทยาศาสตร์

Kuhn เองก็ไม่เป็นสุขนักกับผู้ที่อ้างอิงงานของเขา เมื่อปี ค.ศ. 1965 Kuhn กล่าวด้วยความไม่ชอบใจถึงนักปรัชญา Paul Feyerabend ซึ่งกล่าวถึงข้อโต้แย้งของเขาว่า เป็นการปกป้องความไม่มีเหตุผลในวิทยาศาสตร์. Kuhn กล่าวว่า "การกล่าวเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะโง่เง่าท่านั้น แต่ยังหยาบคายอีกด้วย"

ในการให้สัมภาษณ์กับ John Horgan เมื่อปี 1991 Kuhn รำลึกถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษากล่าวเยินยอเขาว่า "ขอบคุณนะครับ คุณ Kuhn ที่ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจคำว่า กระบวนทัศน์ เมื่อเรารู้เรื่องเกี่ยวกับมันแล้ว ทีนี้ เราก็สามารถกำจัดมันออกไปได้"

นอกจากนี้ Kuhn ยังไม่สบายใจเกี่ยวกับ"โปรแกรมเข้มข้น"ของสังคมวิทยาของวิทยาศาสตร์ ที่ดูเหมือนจะ "เข้มข้น" ในแง่ของจุดมุ่งหมายที่ไม่ยอมประนีประนอมใดๆทั้งสิ้น และต้องการแสดงว่าประโยชน์และอำนาจของสังคมและการเมือง เป็นตัวบงการความล้มเหลวหรือความสำเร็จของทฤษฎีวิทยาศาสตร์ โปรแกรมดังกล่าวได้รับความสนับสนุนและดำเนินการโดยนักปรัชญาและนักสังคมวิทยา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำงานที่มหาวิทยาลัย Edinburgh. Kuhn กล่าวถึงเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1991 ว่า "ข้าพเจ้าอยู่ในกลุ่มที่เห็นว่าโปรแกรมเช่นนั้นโง่เง่าไร้สาระ และเป็นตัวอย่างของความพยายามรื้อโครงสร้างที่เฉไฉใกล้บ้า"

เมื่อพิจารณาจากมุมมองทั้งหมดประกอบกัน นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า รากฐานของทฤษฎีการปฏิวัติของ Kuhn ค่อนข้างไม่ถูกต้อง หรือค่อนข้างผิดก็ว่าได้

ทำไม? ประการแรกที่สุด ไม่จริงเลยที่ว่านักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างวิธีการมองปรากฎการณ์ธรรมชาติ และก็ไม่จริงอีกเช่นกันที่ว่า ภายหลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์แล้ว นักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่มาก่อนหน้านั้น ตัวอย่างของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ซึ่ง Kuhn เอ่ยถึงมากใน Die Struktur คือการแทนกลศาสตร์ Newtonian ด้วยกลศาสตร์สัมพัทธภาพของ Einstein เมื่อต้นศตวรรษนี้

แต่ข้อเท็จจริงก็คือในการศึกษาฟิสิกส์ เรายังคงเริ่มต้นด้วยการสอน เรื่องเก่าที่แสนดี คือกลศาสตร์ Newtonian นั่นเอง และนักฟิสิกส์เหล่านี้ก็ไม่เคยลืมวิธีคิดแบบ Newtonian แม้จะเรียนต่อไปถึงทฤษฎีของ Einstein แล้วก็ตาม Kuhn เป็นอาจารย์ที่ Harvard และคงจะเคยสอนกลศาสตร์ Newtonian ในระดับปริญญาตรีมาบ้าง

Kuhn ปกป้องข้อเสนอของเขาด้วยตอบโต้ว่า คำพูดที่ใช้และสัญลักษณ์ในสมการฟิสิกส์มีความหมายเปลี่ยนไปก่อนและหลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เช่น นักฟิสิกส์ตีความหมายของคำว่ามวลเปลี่ยนไปก่อนและหลังทฤษฎีสัมพัทธภาพ ถูกต้องที่ว่า มีความสับสนไม่แน่นอนในแนวคิดเรื่องมวลระหว่างการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในยุค Einstein มีการพูดถึง มวล"ตามขวาง" และ มวล"ตามยาว" ซึ่งบางคนคิดว่าขึ้นอยู่กับอัตราเร็วของอนุภาค และเป็นตัวต้านความเร่งตามแนวทิศการเคลื่อนที่และทิศตั้งได้ฉากกับการเคลื่อนที่

แต่ปัจจุบัน คำว่ามวลมีความหมายถึง มวลนิ่ง ซึ่งเป็นสมบัติติดตัวมาตั้งแต่เกิดของวัตถุและไม่เปลี่ยนแปลงตามการเคลื่อนที่ ความหมายนี้ของมวล ก็คือความหมายที่นักฟิสิกส์ใช้แต่เดิม ก่อนทฤษฎีของ Einstein จะเข้ามานั่นเอง ความหมายอาจเปลี่ยนไปได้ แต่ต้องอยู่ในแนวที่เพิ่มความสมบูรณ์ของนิยาม เพื่อที่เราจะได้ไม่สูญเสียความสามารถที่จะเข้าใจทฤษฎีในช่วงที่ผ่านมาแล้วของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว (และยังประสบผลสำเร็จอยู่ในขอบเขตหนึ่งในปัจจุบัน)

บางทีการที่ Kuhn สรุปว่า นักวิทยาศาสตร์ในยุคหลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ไม่สามรถเข้าใจวิทยาศาสตร์ในยุคก่อนได้ อาจมาจากประสบการณ์ในการสอนและเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ก็เป็นได้ เขาอาจต้องรับมือกับความคิดที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์และนักศึกษา ผู้ซึ่งไม่มีโอกาสได้อ่านแหล่งที่มาเริ่มต้นของงาน และประดาผู้ที่เชื่อว่า เราสามารถเข้าใจงานของนักวิทยาศาสตร์ในยุคปฏิวัติได้โดยคิดเอาเองว่า นักวิทยาศาสตร์ในอดีต คิดค้นทฤษฎีของตนในลักษณะเดียวกับที่เราบรรยายทฤษฎีเหล่านี้ในตำราเรียนปัจจุบัน

เป็นจริงอีกเช่นกันที่ นักวิทยาศาสตร์ผู้เริ่มงานในยุคของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จแล้ว มักจะพบว่างานของนักวิทยาศาสตร์ในยุคการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้เป็นงานที่เข้าใจยาก และในแง่นี้จึงไม่สามารถสมมติตัวเองเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่เริ่มมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ซึ่งเกิดจากกการปฏิวัตินั้นได้ ตัวอย่างเช่น ไม่ง่ายนักสำหรับนักฟิสิกส์ปัจจุบันที่จะอ่านงานชิ้นเอกของ Newton ที่ชื่อ Principia แม้จะมีฉบับแปลจากภาษาลาตินออกมาแล้วก็ตาม

นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ Subrahmanyan Chandrasekhar ใช้เวลากว่าสองปีในการแปลหลักการและเหตุผลของของ Principia ออกมาในรูปแบบที่นักฟิสิกส์ปัจจุบันสามารถเข้าใจได้ อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มีชีวิตอยู๋ในสองโลกพร้อมกัน นั่นคือ โลกของวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จแล้วซึ่งกำลังจะแตกสลาย และโลกยุคใหม่ของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จอีกเช่นกัน ซึ่งเขาเองก็ยังไม่เข้าใจอย่างสมบูรณ์

นักวิทยาศาสตร์ในยุคหนึ่ง สามารถเข้าใจทฤษฎีของกระบวนทัศน์เก่าได้ไม่ยากนัก ถ้าทฤษฎีนั้นได้รับการขัดเกลาทางภาษาแล้ว โปรดสังเกตว่าเราเอ่ยถึง Newtonian mechanics ไม่ใช่ กลศาสตร์ของ Newton. ในเชิงของเรขาคณิต Newton มาก่อน Newtonian. John Maynard Keynes เคยกล่าวว่า Newton ไม่ใช่ นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่คนแรก แต่เป็นนักมายากลคนสุดท้าย

Newtonianism ขึ้นถึงจุดสูงสุดในต้นศตวรรษที่สิบเก้าโดยผลงานของ Laplace Lagrange และคนอื่นๆ และปัจจุบันเรายังคงสอนกลศาสตร์ในรูปแบบนี้อยู่ นักศึกษาสามสารถเข้าใจเนื้อหาได้ดีโดยไม้ยากลำบากแต่ประการใด และพวกเขาก็ยังคงเข้าใจอยู่เช่นเดิมและใช้ทฤษฎีนี้เมื่อถึงเวลาต้องใช้ แม้เมื่อได้เรียนทฤษฎีสัมพัทธภาพของ Einstein แล้วก็ตาม

เราอาจกล่าวเช่นเดียวกันได้ สำหรับความเข้าใจเรื่องทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของ James Clerk Maxwell นักฟิสิกส์ปัจจุบันพบว่า หนังสือ Treatise on Electricity and Magnetism ที่ออกเมื่อปี 1873 เป็นหนังสือที่อ่านยาก เพราะเริ่มจากแนวคิดพื้นฐานที่ว่า สนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าแทนแรงตึงในตัวกลางกายภาพ(อีเธอร์) ซึ่งวิทยาศาสตร์ปัจจุบันไม่เชื่อในการดำรงอยู่ของมัน ในแง่นี้ Maxwell จึงเป็น pre-Maxwellian (Olivier Heaviside ผู้ซึ่งช่วยขยายความทฤษฎีของ Maxwell พูดถึง Maxweell ว่าเขาเป็น Maxwellian เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ทฤษฎี Maxwell - ทฤษฎีของไฟฟ้า แม่เหล็กและแสงซึ่งมีรากฐานมาจากงานของ Maxwell มาถึงจุดสมบูรณ์ (ซึ่งไม่ต้องอ้างอิงเทียบกับอีเธอร์) ในปี คศ. 1900 และทฤษฎี Maxwell ในรูปแบบหลังนี้เองที่เราสอนนักศึกษาอยู่ในปัจจุบัน ต่อจากนี้แล้วนักศึกษาจะเรียนกระบวนวิชากลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งสอนให้เขารู้จักว่าแสงคืออนุภาคโฟตอน และสมการ Maxwell เป็นเพียงการประมาณเท่านั้น แต่นั่นก็มิได้ทำให้นักศึกษาเลิกเข้าใจหรือเลิกใช้ ทฤษฎีของ Maxwell ในสถานการณ์ที่เหมาะสมต่อไป

ในการตัดสินธรรมชาติของความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ เราต้องพิจารณาทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับและประสบผลสำเร็จแล้ว ไม่ใช่ขณะที่เริ่มเสนอ ***ถ้าเราจะถามว่าชัยชนะของพระเจ้าตากสินเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เราก็ควรจะตอบคำถามโดยเปรียบเทียบสังคมของพระเจ้าเอกทัศน์และพระเจ้าตากสินเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างประสบผลสำเร็จแล้ว คือในช่วงของกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี เราคงจะไม่พยายามตอบคำถามโดยการศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นในสงครามบางระจัน*** และก็ไม่จำเป็นว่าการปฏิวัติวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นตัวเปลี่ยนแปลงวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินหรือกำหนดทฤษฎีของตน ซึ่งทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกระบวนทัศน์ที่ต่างกันได้

ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมามีการปฏิวัติแนวคิดใหม่ซึ่งทำให้นักฟิสิกส์เข้าใจอนุภาคมูลฐานซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสสาร การปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ในศตวรรษนี้เป็นพื้นฐานของงานวิจัยของนักฟิสิกส์ในรุ่นปัจจุบัน แม้ว่าการปฏิวัติดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนช่วงเวลาของเขาก็ตาม

ในประวัติศาสตร์ของฟิสิกส์ ไม่เคยปรากฏหหลักฐานที่ใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถวัดกระบวนทัศน์ที่ต่างกันโดยถือเกณฑ์เดียวกันได้ แนวคิดและวิธีการมองโลกของนักวิทยาศาสตร์อาจเปลี่ยนไป แต่เขาเหล่านั้นยังคงประเมินทฤษฎีของฟิสิกส์ในลักษณะเดียวกัน คือ ความสำเร็จของทฤษฎีหนึ่งดูได้จากว่า มันมาจากหลักการทั่วไปแบบพื้นๆและใช้อธิบายข้อมูลการทดลองได้ดีพอสมควรหรือไม่ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่านักวิทยาศาสตร์มีหนังสือคู่มือที่บอกตายตัวว่าจะประเมินทฤษฎีอย่างไร หรือนักวิทยาศาสตร์มีแนวคิดที่ชัดเจนว่า หลักการทั่วไปแบบง่ายๆ หมายความถึงอะไร แต่ความหมายที่แท้จริงคือ ไม่ว่าเราจะใช้คำพูดเช่นไร ก็ไม่เคยปรากฎว่ามีการเปลี่ยแปลงอย่างกระทันหันในวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ประเมินทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบความจริงของทฤษฎีก่อนและหลังการปฏิวัติ

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นศตวรรษนี้ นักฟิสิกส์ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในการทำความเข้าใจสเปกตรัมของอะตอม ซึ่งก็คือเส้นสว่างและมืดที่เกิดขึ้นสลับกันในแสงจากก๊าซร้อนเช่นเดียวกับที่ผิวของดวงอาทิตย์ เมื่อใช้สเปคโทรมิเตอร์แยกออกเป็นสีต่างๆ

ในปี คศ. 1913 Niels Bohr แสดงให้เห็นว่าสามารถใช้ทฤษฎีควอนตัมอธิบายสเปกตรัมของไฮโดรเจนได้ และทำให้นักฟิสิกส์เกิดความเชื่อมั่นในทฤษฎีควอนตัมเพิ่มยิ่งขึ้น. ยิ่งในปี คศ.1926 เมื่อผลงานทุกชิ้นชี้ไปในทางเดียวกันว่าสามารถใช้กลศาสตร์ควอนตัมอธิบายสเปกตรัมของอะตอมใดๆก็ได้ กลศาสตร์ควอนตัมจึงกลายเป็นเรื่องร้อนฉ่าที่นักฟิสิกส์รุ่นใหม่ๆต้องเรียน

ชตากรรมนี้เป็นชตากรรมเดียวกับที่นักฟิสิกส์รุ่นปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ เกี่ยวกับเรื่องของอิเล็กตรอนซึ่งปรากฎว่ามวลที่วัดได้มีค่าประมาณสิบสองค่าหรือประมาณนั้น ซึ่งค่าตัวเลขที่วัดได้ของมวลเหล่านี้ค้านกับคำอธิบายเชิงทฤษฎี ทฤษฎีใหม่ๆทฤษฎีใดก็ตามที่สามารถอธิบายมวลเหล่านี้ได้ ย่อมได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นในทันทีทันใดว่า เป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่งต่อไปข้างหน้าของวิทยาศาสตร์ กรณีศึกษาในฟิสิกส์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่จุดมุ่งหมายของเรายังคงเดิม

แต่การกล่าวเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่า วิธีการประเมินทฤษฎีของนักฟิสิกส์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนักฟิสิกส์ยอมรับกันมากขึ้นว่า ควรจะตั้งรากฐานของทฤษฎีกายภาพบนหลักการ"invariance" กว่าเมื่อต้นศตวรรษนี้ เมื่อ Einstein เริ่มกังวลเกี่ยวกับ invariance ของกฎของธรรมชาติ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของผู้สังเกต (invariance เป็นหลักการซึ่งกล่าวว่า กฎของธรรมชาติจะปรากฎเหมือนกันจากมุมมองต่างๆกัน แต่การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวนี้เป็น [b]"วิวัฒนาการ"[/b] ไม่ใช่ [b]"การปฏิวัติ"[/b]

ดูเหมือนว่าธรรมชาติจะปฏิบัติต่อเราเช่นเดียวกับเครื่องมือสอน เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงความลับระดับหนึ่งของธรรมชาติ เขาหรือเธอผู้นั้นจะแสดงความสุขความปลาบปลื้มอย่างยิ่งยวดออกมาแก่พลโลก ประสบการณ์ที่สั่งสมในช่วงเวลาอันยาวนานได้สอนให้เรารู้ว่า ควรจะตัดสินอย่างไรว่าทฤษฎีแบบใดที่ก่อให้เกิดความสุขในการเข้าใจธรรมชาติ


ตอนที่ 2: การเปลี่ยนกระบวนทัศน์นำนักวิทยาศาสตร์เข้าสู่ความจริงหรือไม่?

ในการบรรยาย Rothschild ที่ ฮาร์วาร์ดในปี คศ. 1992 Kuhn ตั้งข้อสังเกตว่า "ขอโอกาสให้ผมกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง ผมไม่ได้ชี้นำว่ามีความจริงแท้ซึ่งวิทยาศาสตร์ไปไม่ถึง ตรงกันข้ามประเด็นของผมคือสิ่งที่เรียกว่าความจริงแท้ ไม่มีความหมายในวิทยาศาสตร์ เพราะที่อยู่ของความจริงแท้คือในปรัชญาของวิทยาศาสตร์เท่านั้น"

สิ่งที่รุนแรงยิ่งกว่าข้อกล่าวหาแรกของ Kuhn คือ ข้อสรุปที่ว่า ในการปฏิวัติกระบวนทัศน์จากกระบวนทัศน์หนึ่งไปสู่อีกกระบวนทัศน์หนึ่งนั้น นักวิทยาศาสตร์หาได้เคลื่อนเข้าใกล้ความจริงในธรรมชาติแต่ประการใดไม่ Kuhn สนับสนุนข้อเสนอของเขาโดยกล่าวว่า ความเชื่อทั้งหมดทั้งมวลที่มีเกี่ยวกับธรรมชาติในอดีตนั้นไม่ถูกต้อง และไม่มีเหตุผลใดที่จะยืนยันได้ว่านักวิทยาศาสตร์กำลังทำได้ดีกว่านั้นในปัจจุบัน

แน่นอนที่สุด Kuhn ย่อมทราบดีว่านักฟิสิกส์ปัจจุบันยังคงใช้ทฤษฎีความโน้มถ่วงและการเคลื่อนที่ของ Newton และทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของ Maxwell ว่าเป็นการประมาณที่ดีซึ่งสามารถหาได้จากทฤษฎีที่ถูกต้องกว่า นักฟิสิกส์ไม่เคยคิดว่าทฤษฎีของ Newton และ Maxwell ไม่จริงในลักษณะเดียวกับที่คิดว่าทฤษฎีการเคลื่อนที่ของ Aristotle หรือทฤษฎีที่ว่า ไฟเป็นธาตุอย่างหนึ่งเป็นทฤษฎีที่ผิด

ในหนังสือเล่มก่อนชื่อ "การปฏิวัติโคเปอร์นิกัน" Kuhn เองกล่าวถึงว่า บางส่วนของทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ยังคงปรากฏในทฤษฎีที่ประสบความสำเร็จมากกว่าในเวลาต่อมาอย่างไร และดูเหมือนว่า Kuhn จะไม่มีข้อขัดข้องอันใดในการเป็นเช่นนั้น แต่แล้ว Kuhn ก็หันกลับมาเผชิญหน้ากับคำกล่าวของตนเอง ในหนังสือเล่มใหม่ Die Struktur ด้วยการกล่าวถึงสิ่งที่เป็นข้อสนับสนุนที่อ่อนมากสำหรับเขาเอง

Kuhn เสนอว่า กลศาสตร์ Newtonian และ พลศาสตร์ไฟฟ้าของ Maxwell ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้อยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ทฤษฎีเดียวกับทฤษฎีก่อนการเกิดของทฤษฎีควอนตัมและทฤษฎีสัมพัทธภาพ ด้วยเหตุผลว่า ก่อนหน้านั้นไม่มีผู้ใดทราบว่าทฤษฎี Newton และ Maxwell เป็นการประมาณ แต่ปัจจุบันทุกคนยอมรับแล้ว การกล่าวเช่นนี้เหมือนกับการกล่าวว่า สเต๊กที่กำลังกินอยู่ไม่ใช่สเต๊กที่ซื้อมา เพราะเดี๋ยวนี้รู้แล้วว่า สเต๊กนี้เหนียวหนืด แต่ก่อนนั้นยังไม่รู้

สิ่งสำคัญคือต้องมองให้ชัดเจนว่าสิ่งใดที่เปลี่ยน และสิ่งใดที่ไม่เปลี่ยนในการการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การแยกแยะซึ่ง Die Struktur มิได้ใส่ใจที่จะทำ ในทฤษฎีฟิสิกส์ยุคใหม่มีส่วนที่เป็น "แกนแข็ง" (คำว่าแข็งในที่นี้ หมายถึง ไม่ยุ่งยาก แต่ทนทาน เช่น กระดูกหรือชิ้นส่วนของหม้อไหในโบราณคดี เป็นต้น) แกนแข็งประกอบด้วยสมการ ความเข้าใจว่าสัญญลักขณ์ในสมการหมายถึงอะไร และชนิดของปรากฏการณ์ที่ใช้สมการนี้อธิบายได้ นอกจากนี้ไปก็จัดเป็น "แกนอ่อน" ซึ่งก็คือภาพของความจริงแท้ที่เราใช้เพื่ออธิบายให้เห็นว่าทำไมสมการจึงใช้ได้ผล แกนอ่อนนี้เปลี่ยนแปลงได้ และบ่อยครั้ง นักฟิสิกส์ปัจจุบันไม่เชื่อในทฤษฎี อีเธอร์ของ Maxwell และนักฟิสิกส์ก็รู้ว่ามีอะไรอีกมากในธรรมชาติมากกว่าแรงและอนุภาคของ Newton

การเปลี่ยนแปลง "แกนอ่อน" ของทฤษฎีวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า"แกนแข็ง"เป็นการประมาณที่ดี แต่หลังจากที่ทฤษฎีดำเนินไปถึงจุดอิ่มตัวแล้ว"แกนแข็ง"ของทฤษฎีจะเป็นความสำเร็จที่ถาวร

ถ้าคุณซื้อเสื้อยืดที่ประทับสมการของ Maxwell ไว้ด้านหน้ามาใส่ คุณอาจจะต้องกังวลว่าวันหนึ่งมันอาจจะล้าสมัยไป แต่คุณไม่เคยต้องกังวลว่าสมการนั้นจะผิด นักฟิสิกส์ยังคงสอนพลศาสตร์ไฟฟ้าของ Maxwell ต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีนักฟิสิกส์ ไม่มีสาระใดที่จะกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นขององค์ความรู้และความถูกต้องของแกนแข็งของทฤษฎีฟิสิกส์ มิได้เป็นการสั่งสมองค์ความรู้ที่จะนำเราเข้าสู่ความจริง

บางสิ่งที่ Kuhn กล่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติกระบวนทัศน์เป็นไปได้กับแกนอ่อนของทฤษฎีฟิสิกส์ แต่แม้กระนั้นก็ดูเหมือนว่า Kuhn จะพูดเกินเลยความจริงไปมากเมื่อเขากล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ในยุคของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จแล้วตกเป็นเชลยของกระบวนทัศน์ของเขาเอง

มีตัวอย่างหลายตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นถึงนักวิทยาศาสตร์ผู้ยังคงระแวงเกี่ยวกับ"แกนอ่อน"ของทฤษฎีของเขาเอง นักวิทยาศาสตร์ยอมรับอย่างหน้าชื่นว่า คำกล่าวที่โด่งดังของ Newton ที่ว่า Hypotheses non fingo (ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้ทำสมมติฐาน) นั้นอย่างน้อยที่สุด ย่อมหมายรวมไปถึงว่า ภาระผูกมัดของเขาไม่ได้รวมไปถึงความจริงแท้ของแรงโน้มถ่วงซึ่งกระทำที่ระยะต่างๆ ความรับผิดชอบของนักวิทยาศาสตร์สิ้นสุดลงที่การใช้ได้ของคำทำนายที่ได้มาจากสมการของเขา

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำตอบจะออกมาเป็นเช่นไร นักฟิสิกส์ย่อมสามารถแสดงหลักฐานได้ว่า ถึงแม้ทฤษฎีปัจจุบันของอนุภาคมูลฐาน หรือแบบจำลองมาตรฐานจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในการทำนายสมบัติที่วัดได้ของอนุภาคมูลฐาน แต่นักฟิสิกส์ปัจจุบัน ก็มิได้ผูกมัดตัวเองกับมุมมองของธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานของทฤษฎีนี้ แบบจำลองมาตรฐานเป็นทฤษฎีสนาม ซึ่งหมายความว่าทฤษฎีนี้ใช้สนามเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของธรรมชาติ - เงื่อนไขของปริภูมิ เช่น สนามแม่เหล็กซึ่งดึงดูดชิ้นเล็กๆของเศษเหล็กให้เข้าไปหาขั้วของแท่งแม่เหล็ก - มากกว่าจะพูดถึงอนุภาค

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา นักฟิสิกส์ตระหนักเพิ่มขึ้นว่า ทฤษฎีใดก็ตามที่มีรากฐานมาจากกลศาสตร์ควอนตัมและทฤษฎีสัมพัทธภาพ จะดูคล้ายคลึงกับทฤษฎีสนามเมื่อทำการทดลองที่อุณหภูมิต่ำ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์คิดว่า แบบจำลองมาตรฐานเป็นทฤษฎีสนามยังผล หรือเป็นการประมาณที่พลังงานต่ำของทฤษฎีมูลฐานที่ยังไม่ทราบบางอัน ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับสนามเลยก็เป็นได้

ถึงแม้ว่า แบบจำลองมาตรฐานจะวางกระบวนทัศน์สำหรับยุคของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จแล้วในปัจจุบัน แต่แบบจำลองนี้ก็มีลักษณะที่เป็นเฉพาะกิจอยู่หลายประการ รวมถึงค่าคงที่ที่อย่างน้อยที่สุดมีถึงสิบแปดตัว เช่น มวลและประจุของอิเล็กตรอนที่ต้องปรับทุกครั้ง เพื่อให้ทฤษฎีสอดคล้องกับผลการทดลอง นอกจากนี้ แบบจำลองมาตรฐานยังไม่รวมความโน้มถ่วง นักทฤษฎีทราบว่าต้องหาทฤษฎีใหม่ที่น่าพอใจมากกว่านี้ ซึ่งแบบจำลองมาตรฐานนี้จะเป็นเพียงการประมาณที่ดี นักทดลองก็กำลังทำงานหนักเพื่อหาข้อมูลใหม่ ที่ไม่สอดคล้องกับแบบจำลองมาตรฐาน

Kuhn พูดเกินความจริง เมื่อเขากล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ถูกสะกดจิตจากกระบวนทัศน์ของตัวเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเน้นว่า การค้นพบสิ่งที่ขัดแย้งในช่วงของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จเป็นไปโดยไม่ตั้งใจ Kuhn คิดผิดเมื่อกล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของงานในยุคของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จแล้วที่จะเสาะหาปรากฏการณ์ชนิดใหม่

มุมมองของ Kuhn ในเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ยิ่งทำให้น่าฉงนฉงายมากยิ่งขึ้น ทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงจะต้องขวนขวายขนาดนั้น ถ้าทฤษฎีวิทยาศาสตร์อันหนึ่งดีกว่าอีกทฤษฏีหนึ่งเพียงเพราะมันมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาที่อยู่ในจิตใจเราในวันนี้ ทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงไม่หนีจากความยุ่งยากนี้ด้วยการโยนปัญหานี้ออกไปให้พ้น?

นักวิทยาศาสตร์มิได้ศึกษาอนุภาคมูลฐาน เพียงเพราะมันน่าสนใจโดยตัวเอง ไม่เหมือนมนุษย์ที่มีความเป็นปัจเจกสูง อนุภาคพวกนี้ไม่น่าสนใจ ถ้าคุณเห็นอิเล็กตรอนเพียงตัวเดียว ก็เหมือนกับคุณได้เห็นอิเล็กตรอนทุกตัวแล้ว สิ่งที่ผลักดันนักวิทยาศาสตร์ให้เดินต่อไปแท้ที่จริงคือสังหรณ์ที่ว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่รอการค้นพบอยู่ที่นั่น ความจริงที่เมื่อพบแล้วจะสร้างสรรค์ส่วนที่ถาวรขององค์ความรู้ของมนุษย์

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดในหนังสือ Die Struktur ไม่ใช่การบรรยายการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ของ Kuhn แต่เป็นวิธีการที่เขาดูวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จ Kuhn แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาของวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จนั้นมิใช่ช่วงเฉื่อยชาไร้ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเฟสที่จำเป็นของการก้าวไปข้างหน้าของวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในตอนต้นของยุค คศ. 1970 เนื่องจากความก้าวหน้าทั้งในด้านเอกภพวิทยาและฟิสิกส์อนุภาคมูลฐาน

เอกภพวิทยาเป็นศาสตร์ที่ยุ่งเหยิงสับสน ไร้ที่มาที่ไป จนกระทั่งช่วงหลังของยุค 60 (ซิกส์ตี้) ในช่วงก่อนหน้านั้นนักฟิสิกส์แต่ละคนจะถือหางแนวคิดด้านเอกภพวิทยาที่ตนเองเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น และกล่าวหาแนวคิดของผู้อื่นที่ไม่เหมือนกับของตนว่าเป็นเพียงคำพูดที่ปราศจากข้อพิสูจน์ สถานะที่แตกแยกสับสนของวาทกรรมเอกภพวิทยาเริ่มดีขึ้นหลังการค้นพบ cosmic microwave background ในปี 1965

cosmic microwave background คือรังสีที่หลงเหลืออยู่ในอวกาศจากเวลาที่เอกภพมีอายุได้ประมาณหนึ่งล้านปี การค้นพบนี้บังคับให้ทุกคน หรืออย่างน้อยก็เกือบทุกคนต้องทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับเอกภพในยุคเริ่มต้นเสียใหม่อย่างจริงจัง และในที่สุดก็ลงเอยที่ทฤษฎี Big Bang ของเอกภพ แต่ในขณะเดียวกันยังมีนักฟิสิกส์ชื่อดังหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวโน้มของการเป็นเอกฉันท์เชิงความคิดของนักวิทยาศาสตร์ บุคคลประเภทหลังนี้นิยมลัทธิทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า วิทยาศาสตร์น่าจะเป็นกระบวนการปฏิวัติที่ต่อเนื่องของกระบวนการทางความคิด ซึ่งทุกคนควรมีสิทธ์ที่จะคิดตามที่ตนต้องการคิด และก้าวต่อไปตามทิศทางที่ตนเห็นว่าถูกต้องและมีความหมาย

แต่อันที่จริง อันตรายหรือข้อเสียที่เกิดจากความไม่ลงรอย และความไม่สามารถสื่อสารกันได้ในความเห็นของนักวิทยาศาสตร์นั้นมากมายกว่าการยอมรับแนวคิดที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างแน่ชัดหลายเท่านัก

ความสามัคคีระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องของวิชาการเท่านั้น ที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นไปที่การทดลองและการคำนวณ เพื่อยืนยันหรือหักล้างแนวคิดอันเดียวกัน ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่า ทฤษฎีที่ตั้งขึ้นนั้นถูกหรือผิด และถ้าผิด ก็จะชี้ให้เห็นแนวทางใหม่ต่อไป Kuhn เองก็มองเห็นข้อเท็จจริงนี้เมื่อเขาอ้างอิงคำพูดของ Francis Bacon ที่ว่า "ความจริงปรากฎให้เห็นจากความผิดพลาด ได้ง่ายกว่าจากความสับสน" (Truth emerges more readily from error than from confusion)

มุมมองของ Kuhn เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จแล้ว แม้ว่าจะมีประโยชน์แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา ส่วนที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดจากงานของ Kuhn คือการบรรยายการปฎิวัติวิทยาศาสตร์และมุมมองเรื่องความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดที่เหนี่ยวนำให้เกิดความเข้าใจผิดมากที่สุด

อะไรล่ะที่ผิดไป? ประสบการณ์ใดในชีวิตของ Kuhn ที่นำเขามาสู่ความเคลือบแคลงใจอย่างรุนแรงต่อวิทยาศาสตร์? มาสุ่มุมมองที่แปลกแยกต่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์? แน่นอนที่สุดย่อมไม่ใช่อวิชชา - Kuhn เข้าใจฉากต่างๆของประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์กายภาพได้ดีพอๆกับคนอื่นๆ กุญแจสู่ข้อข้องใจนี้ปรากฏขึ้นในปี คศ. 1992 ที่งานฉลองครบรอบ 400 ปีของการบรรยายครั้งแรกของ Galileo ที่มหาวิทยาลัย Padaau Kuhn เล่าว่าเมื่อคศ. 1947 ขณะที่ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Harvard เขาได้อ่านงานด้านฟิสิกส์ของ Aristotle cและนี่คือคำบอกเล่าของ Kuhn

"น่าฉงนว่าปรีชาญาณซึ่งเป็นลักษณะสมบัติของ Aristotle ดูเหมือนจะเหือดหายไปอย่างเป็นระบบเมื่อ เขาหันมาศึกษาการเคลื่อนที่และกลศาสตร์ แต่ที่น่าสนเท่ห์ไปกว่านั้นคือ ถ้าปรีชาญาณของเขาเหือดหายไปจริง ทำไมงานเขียนของเขาเกี่ยวกับกลศาสตร์จึงได้รับการศึกษาในอีกหลายศตวรรษต่อมา แต่ทันทีทันใดชิ้นส่วนต่างๆก็ดูเหมือนจะมาปะติดปะต่อเป็นรูปร่างขึ้น ทันทีทันใดอีกเหมือนกัน Aristotle กลายเป็นนักฟิสิกส์ชั้นยอด เพียงแต่เป็นประเภทที่ไม่เคยมีใครคาดฝันเท่านั้นเอง"

เมื่อมีผู้ถามว่า สิ่งที่เขาเรียกว่า"ชิ้นส่วนที่มาปะติดปะต่อทันทีทันใด"เกี่ยวกับ Aristotle นั้นคืออะไร Kuhn ไม่ตอบโดยตรง แต่เขียนถึงเรื่องนี้ในบทความชิ้นหนึ่งของเขาว่า...

"สิ่งที่เปลี่ยนไปจากการอ่านงานเขียนฟิสิกส์ของ Aristotle เป็นครั้งแรก คือ ความเข้าใจของข้าพเจ้าต่อสิ่งที่งานเขียนเหล่านั้นได้แสดง ไม่ใช่การประเมินผลงานจากมุมมองของข้าพเจ้า และสิ่งที่ทำให้การเปลี่ยนนี้ดูยิ่งใหญ่ในสายตาของข้าพเจ้าคือ การเปลี่ยนที่มีผลต่อความเข้าใจของข้าพเจ้าทันทีทันใด (และอีกครั้ง ไม่ใช่การประเมิน) ในธรรมชาติของผลสำเร็จของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จของ Galileo และ Newton"

ต่อมาภายหลัง ในปี คศ. 1977 Kuhn กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งในบทความของเขาว่า โดยที่ไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์แบบ Aristotle แต่ Kuhn เองก็เรียนรู้ที่จะคิดเหมือนกับ แนวคิดของ Aristotle คือคิดว่าการเคลื่อนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในคุณภาพของวัตถุ มากกว่าจะเป็นสถานภาพซึ่งสามารถศึกษาแยกออกไปได้

นัยสำคัญของเหการณ์นี้คือการที่ Kuhn ได้เรียนรู้ถึงความเป็นไปได้ที่จะยอมรับหรือยึดถือมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ที่ตนศึกษาอยู่ อาจเป็นไปได้ว่า เนื่องจากเหตุการณ์ในช่วงนี้ของชีวิตมีความสำคัญมากต่อ Kuhn จึงอาจเป็นไปได้ว่า เขาได้แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์มาจากการเปลี่ยนจากแนวคิดแบบ Aristotelian ไปเป็น Newtonian physics - การเปลี่ยน(ซึ่งใช้เวลานานหลายศตวรรษ)จาก ความพยายามของ Aristotle ที่จะนำเสนอการบรรยายเชิงคุณภาพของทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติอย่างมีระบบ ไปเป็นการอธิบายเชิงปริมาณของ Newton ซึ่งใช้ได้กับปรากฏการณ์เฉพาะบางอย่างเป็นเรื่องๆไป เช่นการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ เป็นต้น

และนี่คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่แท้จริง สำหรับ Kuhn ดูเหมือนว่ากระบวนทัศน์ของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี่เองที่วางรูปแบบซึ่งเขาพยายามจะใช้ช้อนการปฏิวัติวิทยาศาสตร์อื่นๆอีกมากมาย เหตุการณ์นี้เข้ากันได้ดีกับความเห็นของ Kuhn เกี่ยวกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เป็นการยากมากทีเดียวสำหรับนักฟิสิกส์ยุคใหม่ที่จะเข้าใจกรอบความคิดของฟิสิกส์ของ Aristotle และข้อความของ Kuhn ที่ว่า ความเห็นก่อนหน้านี้ทุกอันเกี่ยวกับความจริงแท้เป็นเรื่องที่ไม่จริง แม้จะใช้ไม่ได้กับกลศาสตร์ของ Newton หรือ แม่เหล็กไฟฟ้าของ Maxwell แต่ก็สามารถประยุกต์ได้กับ ฟิสิกส์ของ Aristotle อย่างแน่นอน

การปฏิวัติในวิทยาศาสตร์ไปกันได้กับความเห็นของ Kuhn ในขอบเขตที่ว่าเป็นการบ่งชี้ถึงการย้ายกระบวนการความเข้าใจในความเป็นไปบางแง่มุมของธรรมชาติจากยุค "ก่อน" วิทยาศาสตร์ จนถึง วิทยาศาสตร์ยุค"ใหม่" กำเนิดของฟิสิกส์นิวโตเนียน เป็นการย้ายกระบวนทัศน์ครั้งมโหฬาร แต่นับจากนั้นมาไม่มีสิ่งใดหรือครั้งใดเลยที่เกิดขึ้นกับความเข้าใจเรื่องการเคลื่อนที่ - แม้แต่การเปลี่ยนจาก กลศาสตร์ของ Newton มาเป็น กลศาสตร์ของ Einstein หรือการเปลี่ยนจากฟิสิกส์คลาสสิกัลไปสู่ฟิสิกส์ควอนตัม - ที่จะกล่าวได้ว่าสอดคล้องกับการบรรยายของ Kuhn เกี่ยวกับ การเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต Kuhn มองตนเองในฐานะของนักปรัชญาผู้กังวลเกี่ยวกับความหมายของความจริงและความจริงแท้ ปัญหาซึ่งเขาแตะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นใน Die Struktur

หลังการเสียชีวิตของ Kuhn, Richard Rorty กล่าวว่า Kuhn เป็นนักปรัชญาผู้มีอิทธิพลทางความคิดสูงสุดที่ผลิตผลงานเป็นภาษาอังกฤษนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง บทสรุปของ Kuhn เกี่ยวกับ ปรัชญาแสดงถึงแนวคิดที่เปลี่ยนไป ในการบรรยาย Rothschildที่ ฮาร์วาร์ดในปีคศ. 1992 Kuhn ตั้งข้อสังเกตว่า...

"ขอโอกาสให้ผมกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง ผมไม่ได้ชี้นำว่ามีความจริงแท้ซึ่งวิทยาศาสตร์ไปไม่ถึง ตรงกันข้ามประเด็นของผมคือสิ่งที่เรียกว่าความจริงแท้ไม่มีความหมายในวิทยาศาสตร์ เพราะที่อยู่ของความจริงแท้คือในปรัชญาของวิทยาศาสตร์เท่านั้น"

ดูเหมือนว่านักปรัชญาหัวรั้นที่ชื่อ Charles Sanders Peirce จะเป็นคนที่ให้ความหมายของคำว่าความจริงแท้ได้ชัดเจนที่สุด เมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีมาแล้ว แต่จะพูดไป นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่พร้อมไม่ว่าจะโดยรสนิยมหรือการศึกษาที่จะตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างนักปรัชญา แต่นับเป็นโชคดีของนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่จำต้องยอมให้นักปรัชญามาบงการว่า จะประยุกต์ข้อถกเถียงเชิงปรัชญาอย่างไรในวิทยาศาสตร์ มากไปกว่าที่จะยินยอมให้นักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจเองว่าจะใช้วิทยาศาสตร์อย่างไรในเทคโนโลยีหรือการแพทย์

สำหรับนักฟิสิกส์ กฎของธรรมชาติมีความจริงแท้ในความหมายเดียวกันกับ(ไม่ว่าความหมายนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม) ก้อนหินบนพื้นดิน7 Richard Rorty กล่าวหาว่าโดยการกล่าวเช่นนั้นนักฟิสิกส์ชะล้างคำถามเกี่ยวกับความจริงแท้และความจริงซึ่งได้ครอบงำความคิดของนักปรัชญามาหลายสหัสวรรษในชั่วพริบตา แต่นั่นไม่ใช่ท่าทีของนักฟิสิกส์

นักวิทยาศาสตร์ย่อมรู้ว่ายากเย็นเพียงใดที่จะบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเขาหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขาใช้คำว่า"จริงแท้" และ"จริง" และนั่นคือเหตุผลสำหรับข้อความในวงเล็บในตอนต้นของย่อหน้านี้ นักฟิสิกส์เคารพต่อความพยายามของนักปรัชญาในการทำให้แนวคิดของคำทั้งสองนี้ชัดเจนขึ้น แต่แน่นอนที่สุดแม้แต่ Kuhn และ Rorty เองก็เคยใช้คำว่า "ความจริง" และ ""ความจริงแท้"ในชีวิตประจำวันและไม่เคยสะดุดในความคิด หรือพบความยุ่งยากแต่ประการใด และก็คงไม่มีเหตุผลใดว่า ทำไมนักฟิสิกส์จึงจะไม่มีสิทธิใช้คำสองคำนี้เมื่อเขาพูดถึงประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์

นักปรัชญาสามารถช่วยนักฟิสิกส์ได้เป็นอย่างยิ่งเมื่อเขาพยายามจะทำให้คำทั้งสองนี้ชัดเจนขึ้น แต่การที่ Kuhn กล่าวว่าเขารู้สึกขัดข้องมากในฐานะของนักปรัชญาที่จะทำความเข้าใจว่า ความจริงหรือความจริงแท้หมายถึงอะไร นั้น ไม่ได้พิสูจน์อะไรเลยนอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าเขารู้สึกลำบากมากที่จะทำความเข้าใจว่าความจริงหรือความจริงแท้หมายถึงอะไร

ท้ายที่สุดนี้ ขอให้เราพิจารณาถึงความหมายของ "ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์" ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นของบทความนี้ Kuhn ใช้การอุปมาอุปมัยวิวัฒนาการของ Darwin ที่บ่งบอกถึงการก้าวไปในทางที่ดีขึ้นโดยตัวเอง แต่ไม่ได้มุ่งไปสู่จุดหมายใดๆ อันที่จริง อุปมาอุปไมยของ Kuhn ก็ไม่ได้เลวร้ายนัก หากเราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งในคำกล่าวนั้น:

ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์กายภาพเปรียบเสมือนกับวิวัฒนาการที่วิ่งถอยหลัง เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์สามารถแกะรอยกำเนิดของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมย้อนกลับไปถึงสัตว์มีขนบางชนิดที่ซ่อนตัวจากไดโนซอร์ในยุคเครตาเชียสได้ และสัตว์มีขนเหล่านั้นตลอดจนไดโนซอร์และทุกๆชีวิตบนโลกอาจมีจุดกำเนิดย้อนไปถึงสิ่งที่เรียกว่า หยดเล็กๆของอะตอมปฐมภูมิโปรโตพลาสมา นักวิทยาศาสตร์ก็มองเห็นวิทยาศาสตร์ของทัศนศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไฟฟ้าและแม่เหล็กหลอมรวมเข้าด้วยกันในยุคของ Maxwell กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกขานในปัจจุบันนี้ว่า electrodynamics

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้ เราได้เห็น electrodynamics และทฤษฎีของแรงอื่นๆในธรรมชาติหลอมรวมกันเข้าเป็นแบบจำลองมาตรฐานของอนุภาคมูลฐาน นักฟิสิกส์หวังว่าในก้าวกระโดดที่สำคัญยิ่งขั้นต่อไปของฟิสิกส์ เราจะได้เห็นทฤษฎีของความโน้มถ่วงและสาขาต่างๆกันของฟิสิกส์อนุภาคมูลฐาน ไหลรวมกันเข้าเป็นทฤษฎีเอกภาพ นี่คืองานที่นักฟิสิกส์กำลังมุ่งหน้าไปหา และนี่คือสิ่งที่เราใช้เงินภาษีของผู้เสียภาษีทำ เมื่อนักฟิสิกส์ค้นพบทฤษฎีนี้ มันก็คือส่วนหนึ่งของการบรรยายที่เป็นจริงของความจริงแท้นั่นเอง

หนังสือของ Thomas Kuhn :

1. The Structure of Scientific Revolutions(University of Chicago Press, 1962; second edition, 1970)
2. The Copernican Revolution(Harvard University Press 1957)
3. Black -Body Radiation and the Quantum Discontinuity1894-1912(Oxford University Press; 1978)

คำอธิบายเพิ่มเติม:

1. Thomas Kuhn เริ่มการศึกษาครั้งแรกเพื่อเป็นนักฟิสิกส์ และดังนั้นถึงแม้ว่าชื่อหนังสือจะเป็นชื่อที่กว้างครอบคลุมวิทยาศาสตรืทั้งหมดก็ตาม เกือบจะทั้งหมดของ The Structure of Scientific Revolution จะเกี่ยวข้องกับฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์กายภาพ

2. Steven Weinberg มิได้พยายามที่จะวิพากษ์หนังสือเล่มนี้ แต่ต้องการวิพากษ์แนวคิดของ Kuhn ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในภาพรวม ทั้งก่อนและหลังการเขียน The Structure of Scientific Revolution

3. Weinberg ยอมรับว่าเขาไม่คุ้นเคยกับวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และดังนั้น จึงบอกไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาวิพากษ์ในที่นี้ครอบคลุมถึงวิทยาศาสตร์ชีวภาพหรือไม่

4. อาจจะเป็นไปได้ที่ทฤษฎีคู่แข่งสองทฤษฎีที่ดูเหมือนจะมีแกนแข็งต่างกันกลับให้คำทำนายที่ประสบผลสำเร็จเหมือนกัน เช่นในศตวรรษที่สิบเก้า นักฟิสิกส์ในอังกฤษบรรยายปรากฏการณ์แม่เหล็กไฟฟ้าโดยใช้สมการที่เกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า ตามข้อเสนอของ Faraday ขณะที่นักฟิสิกศ์ยุโรปใช้แรงซึ่งกระทำที่ระยะต่างๆโดยตรง โดยทั่วไปสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวคือสมการสองชุดสมมูลกันทางคณิตศาสตร์ แม้ว่าชุดใดชุดหนึ่งอาจจะได้รับการยอมรับมากกว่าในทฤษฏีต่อๆมาเช่นกรณีของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าภายหลังการค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ

5. บทความนี้ส่วนหนึ่งมาจากการบรรยายของ Weinberg ในเทศกาลรำลึกงาน Thomas Kuhn ที่ Rice University แต่ส่วนใหญ่มาจาก Colloquium talk ของ Weinberg ที่ ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Harvard เมื่อปีคศ.1998 สองปีหลังการเสียชีวิตของ Kuhn

6. *** ผู้แปลเปลี่ยนการเปรียบเทียบจากสังคม Anglo-Saxon และ Norman ในยุคของ Edward the Confessor และ Henry I กับสงครามที่ Hastings มาเป็นของไทย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
Steven Weinberg เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ได้รับ Nobel Prize เมื่อปี คศ.1979 ร่วมกับ Abdus Salam และ Sheldon Glashow
จากผลงานเกี่ยวกับทฤษฎีเอกภาพสนาม(Unified Field Theory) หรือ แบบจำลองมาตรฐาน (The Standard Model) Weinberg
เขา รู้จักกับ Kuhn ในฐานะเพื่อนร่วมหน่วยงาน ที่ University of California at Berkeley ในยุค sixties
และต่อมาที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT)

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

 

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของมุมมอง ที่มองงานของคูนต่างไปจากบทความที่
97. Thomas Kuhn กับการตั้งข้อสงสัย
ในวิทยาศาสตร ์
เพื่อให้ภาพทั้งสองด้าน

 

ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4