H
His
011044
release date
Mid's history
บทความทางปรัชญาสังคมวิทยา ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง" แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องตัวตน ระหว่างฉันที่เป็นประธาน และ ฉันที่เป็นกรรม" : 1 พ.ย.44
CP
MP
WB
contents P.
member P.
Webboard

หากภาพ และตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้

 

แนวความคิดสำคัญ ที่เป็นพื้นฐานทางปัญญาของมี้ดที่ปรากฏอย่างเด่นชัด มีอยู่สี่แนวด้วยกันคือ

1. จารีตความคิดของสำนักศาสนานิกายธรรม นิวอิงแลนด์ที่เน้นถึงการค้นหาด้านปัญญาอย่างเป็นอิสระ และหน้าที่ทางศีลธรรมต่อชุมชน;
2. จารีตความคิดของยุคบุกเบิก ที่เน้นเรื่องการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาปฏิบัตินิยม
3.แนวความคิดวิวัฒนาการของดาร์วิน ที่เน้นถึงการเปลี่ยนแปลงและการยืนยันว่าไม่มีสิ่งใดถาวร นอกจากกระบวนการโดยตัวของมันเอง; และสุดท้ายคือ
4. แนวปรัชญาแบบจิตนิยมเยอรมันจาก คานต์ (Kant) ไปจนถึง เชลลิง (Schelling) ซึ่งเน้นสอดคล้องกันในเรื่องกระบวนการและการแปรเปลี่ยน และความสนใจหลักเกี่ยวกับความเป็นอิสระ
และความรับผิดชอบของผู้กระทำ

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานแปล ของ รศ.วารุณี ภูริสินสิทธิ์ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เฉพาะส่วนที่ตัดตอนมานี้ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ ปรัชญาสังคมวิทยา ว่าด้วยเรื่อง"ตัวตน" อันเป็นประเด็นที่ แนวคิดหลังสมัยใหม ่สนใจ

งานฉบับสมบูรณ์ ของ
บทความชิ้นนี้ชื่อ
"ยอร์จ เฮอร์เบริ์ต มี้ด พิมพ์ครั้งแรกโดย สนพ.
ม.ธรรมศาสตร์

ต้นฉบับเขียนโดย
ลิวอิส เอ.โคเซอร์
วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : แปล
(ความยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

Free Remote Education for All / The Midnight University / November 2001
George Herbert Mead
1863 - 1931
R
Related
article
P.2
go to

ชีวประวัติ ยอร์จ เฮอร์เบิรต์ มี้ด เกิดที่ เซาท์ แฮดเลย์ (South Hadley)
รัฐแมสชาชูเชตส์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1863
พ่อของเขาชื่อ ฮิแรม มี้ด (Hiram Mead) เป็นบาทหลวงผู้ซึ่งสืบเชื้อสายยืดยาว
จากชาวนาเพียวริแตน (puritan) ในรัฐนิวอิงแลนด์ และพวกนักบวช
แม่ของเขา อลิซาเบท สตอร์ส บิลลิงส์ (Elizabeth Storrs Billings) มาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานการให้คุณค่าความสำเร็จทางวิชาการอย่างสูง
เช่นเดียวกับสามีของเธอ

เมื่อมี้ดอายุได้เจ็ดปี พ่อของเขาถูกเชิญไปยังวิทยาลัยโอเบอร์ลิน (Oberlin College) เพื่อเป็นหัวหน้าสาขาศิลปะการเทศน์ ณ วิทยาลัยการศึกษาทางศาสนาที่ตั้งขึ้นใหม่แห่งนี้ มี้ดเติบโตขึ้นที่ โอเบอร์ลินและเข้าเรียนที่วิทยาลัยนั้น แม้ว่าเขาจะขบถต่อบรรยากาศของการบูชาพระเจ้า แต่ก็ยังได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่ผสมผสานระหว่างจริยศาสตร์ของพวกเพียวริแตนนิวอิงแลนด์กับความคิดที่ก้าวหน้าของกลุ่มตะวันตกกลาง (Midwestern progressive ideas) ซึ่งแพร่หลายอยู่ในวิทยาลัยขณะนั้น

โอเบอร์ลินได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1833 โดยท่านบาทหลวงจอห์น เจย์ ชิปเพิร์ด (John Jay Shipherd) ผู้นำการต่อสู้ในฐานะนักปฏิรูปในลัทธิคองกริเกชั่นแนลลิสม์ (Congregationalism) [ลัทธินิกายศาสนาซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของนิกายอิสระต่างๆที่เรียกร้องให้แต่ละนิกายมีอำนาจปกครองตนเองโดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐ] อธิการคนแรกของวิทยาลัยคือ อาชา มาหาน (Asa Mahan) ผู้ซึ่งเทศน์เนื้อหาอย่างย่อของคัมภีร์เพอร์เฟ็กชั่นนิสม์ (Perfectionism)* [คัมภีร์ที่ยึดถือว่าความสมบูรณ์แบบทางศีลธรรม ทางศาสนาหรือสังคม สามารถและควรจะได้มาในชีวิตนี้] คัมภีร์นี้ต่อมาได้รุ่งเรืองอย่างสูงเพื่อใช้ในการทดลองด้านการอยู่ร่วมกันเป็นคอมมูนและด้านเพศในชุมชนยูโธเปียโอนีดา (Oneida) ของจอห์น ฮัมฟรีย์ โนเยส์ (John Humphrey Noyes)

[โอดีนา เป็นชุมชนยูโธเปียที่ถูกตั้งขึ้นในเมืองโอนีดา รัฐนิวยอร์ค โดย จอห์น ฮัมฟรีย์ โนเยส์ ในปี ค.ศ.1847 ชุมชนนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากชุมชนยูโธเปียอื่นๆในแง่ที่ว่า ชุมชนมีการแต่งงานแบบ complex กล่าวคือผู้หญิงในกลุ่มเป็นภรรยาของผู้ชายทุกคนในกลุ่ม และผู้ชายทุกคนเป็นสามีของผู้หญิงแต่ละคน. โนเยส์ เชื่อว่า ครอบครัวขยายช่วยกำจัดความเห็นแก่ตัว และแสดงถึงตัวอย่างที่เป็นจริงของ Perfectionsim บนโลก ชุมชนนี้ได้รับการโจมตีจากโลกภายนอกมาก จนปี ค.ศ.1879 โนเยส์ ต้องอพยพไปอยู่แคนาดา และล้มเลิกการแต่งงานแบบ complex ในชุมชน]

โอเบอร์ลินเป็นวิทยาลัยหนึ่งในบรรดาวิทยาลัยแรก ๆ ของอเมริกาที่รับนิโกรเข้าเรียน และในปี ค.ศ.1841 โอเบอร์ลินได้กลายเป็นวิทยาลัยสหศึกษาแห่งแรกที่ให้ปริญญาแก่สตรี ในปีก่อนสงครามกลางเมืองโอเบอร์ลินเป็นหนึ่งในสถานีหลัก ๆ ของทางรถไฟลับที่ช่วยให้ทาสนิโกรจำนวนพัน ๆ จากทางใต้หนีไปทางเหนือและไปแคนาดา ในด้านเกี่ยวกับสังคมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การควบคุมการบริโภคโดยมีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านสถานเริงรมย์ (The Anti-Saloon League) ขึ้นที่โอเบอร์ลิน

ขณะที่โอเบอร์ลินแสดงออกอย่างเด่นชัดถึงมโนธรรมทางสังคมแบบคริสเตียน แต่หลักสูตรของวิทยาลัยก็ยังมีความคับแคบซึ่งเป็นลักษณะของวิทยาลัยในนิวอิงแลนด์ที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกโปรเตสแตนต์ วิทยาลัยประเภทนี้ได้มีขึ้นในตะวันออกตอนกลางตลอดศตวรรษที่สิบเก้า บุตรชายของมี้ดกล่าวถึงการศึกษาของพ่อของเขาที่โอเบอร์ลินว่า ส่วนใหญ่เป็นการเรียนเกี่ยวกับ "งานเขียนภาษาโบราณเกี่ยวกับสมัยกรีกและโรมัน สุนทรียศาสตร์การใช้ภาษาและวรรณคดี ปรัชญาศาสนา คณิตศาสตร์ และความรู้พื้น ๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เบื้องต้น… การตั้งคำถามไม่ได้รับการสนับสนุน คุณค่าสูงสุดถูกกำหนดจากการเรียนในคัมภีร์และกลายเป็นนักปรัชญาทางศาสนาเพื่อเผยแพร่ความเชื่อ"

ในแง่นี้ โอเบอร์ลินมีสภาพคล้ายกับวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton College) ซึ่งทำให้ธอร์สไตน์ เว็บเลน (Thorstein Veblen) มีบุคลิกภาพที่ต่อต้านโดยการนำตัวเข้าไปปะทะกับลัทธิเคร่งคัมภีร์ทางเทวนิยมที่คับแคบของครูของเขา มี้ดมีปฏิกิริยาเช่นเดียวกันนี้ต่อ โอเบอร์ลิน สติปัญญาที่แก่กล้าของเขาได้ปฏิวัติต่อการครอบงำทางศาสนาที่มากเกินไป บุตรชายผู้สืบเชื้อสายมาจากนักเทววิทยาเพียวริแตนหลายต่อหลายรุ่นได้สูญเสียศรัทธาของเขาต่อความเคร่งคัมภีร์ของนิกาย อย่างไรก็ตามมี้ดได้แสดงออกตลอดชีวิตของเขาถึงจริยศาสตร์ของชาวคริสเตียนในเรื่องความผูกพันฉันพี่น้องและมโนธรรมทางสังคม ซึ่งเขาได้ซึมซับมาจากบ้านบิดาและจากโอเบอร์ลิน

ในปี ค.ศ. 1881 พ่อของมี้ดเสียชีวิตและทิ้งทรัพย์สินไว้น้อยมาก ครอบครัวของเขาต้องขายบ้านและย้ายไปอยู่ห้องเช่า มี้ดต้องทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในห้องอาหารของวิทยาลัยเพื่อหาเงินมาเป็นค่าอาหาร แม่ของเขาสอนหนังสือในวิทยาลัยเพื่อให้มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่าย (ภายหลังเธอได้เป็นอธิการวิทยาลัยเมานต์ โอลิโยก (Mount Holyoke) ในปี ค.ศ.1883 มี้ดสำเร็จการศึกษาจาก โอเบอร์บิน และในครึ่งปีต่อมาได้สอนหนังสือในโรงเรียนท่ามกลางสภาพการณ์ที่มีลักษณะแปลกผิดธรรมดาในสมัยนั้น ครูหลาย ๆ คนได้ลาออกจากโรงเรียนเพราะว่าไม่สามารถรับมือกับกลุ่มของนักเรียนอันธพาลที่คุกคามพวกครูและเพื่อน ๆ ร่วมชั้นได้ มี้ดได้ไล่พวกอันธพาลออกแต่เขาเองก็ถูกไล่ออก โดยคณะกรรมการโรงเรียน ซึ่งเชื่อว่าเด็กทุกคนมีสิทธิจากพระเจ้าที่ต้องได้รับการสอน

เมื่อล้มเลิกความฝันตอนแรก ๆ ที่จะเริ่มงานเขียนที่นิวยอร์ก มี้ดได้ไปอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือเป็นเวลาสามปี ทำงานชั่วคราวเป็นครูตามบ้านและเป็นพนักงานสำรวจให้กับการก่อสร้างทางรถไฟสลับกันไป เขาอยู่ในทีมงานที่วางรางรถไฟสายแรกจากมินิอาโปลิสไปยังมูสจอร์ ซึ่งจากที่นั่นจะเชื่อมเข้ากับแคนาเดียนแปซิฟิก ในช่วงฤดูหนาวเมื่องานสำรวจทางทำไม่ได้มี้ดจะเลี้ยงชีพโดยการเป็นครูตามบ้านและอ่านหนังสือทุกประเภท ในช่วงเวลานี้เขาดูเหมือนกับว่ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะมีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อไป หรือจะยึดอาชีพใด ความไม่แน่นอนเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1887 เมื่อเขาตัดสินใจตามเฮนรี่ แคลเชิล (Henry Castel) เพื่อนสนิทที่เคยเรียนร่วมกันในวิทยาลัยไปยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและศึกษาต่อทางปรัชญา

ที่ฮาร์วาร์ด มี้ดศึกษางานส่วนใหญ่กับ รอยซ์ (Royce) และเจมส์ อาจารย์ทั้งสองนี้ได้ทิ้งร่องรอยที่ถาวรไว้กับชีวิตและการมองโลกของมี้ด การปลดแอกจากลัทธิเพียวริแตนของบิดาของเขาและจากความศรัทธาแบบคริสเตียนของโอเบอร์ลิน โดยการอ่านงานของดาร์วิน และของ "นักศึกษาหัวก้าวหน้า" คนอื่น ๆ มี้ดได้เปลี่ยนแนวความคิดไปสู่ปรัชญาปฏิบัตินิยมจากอิทธิพลของเจมส์ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเจมส์ดูเหมือนว่าค่อนข้างจะสนิทสนมเนื่องจากเขาไม่เพียงทำงานส่วนใหญ่ของเขากับเจมส์ แต่เป็นครูพิเศษให้กับลูก ๆ ของเจมส์ด้วย

ภายหลังจากศึกษาที่ฮาร์วาร์ด มี้ดตัดสินใจไปประเทศเยอรมนีเพื่อศึกษาต่อทางปรัชญา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับคนในรุ่นนั้น เขาไปอยู่แห่งแรกที่ไลป์ซิก (Leipzig) เพื่อศึกษากับ วิลเฮล์ม วุนดท์ (Wilhelm Wundt) ผู้เป็นเจ้าของแนวความคิด "อากัปกิริยา" (gesture) ซึ่งมีอิทธิพลต่องานช่วงหลัง ๆ ของมี้ดมาก และที่ไลป์ซิกนี้เองที่เขาได้พบกับจี. สแตนลีย์ ฮอลล์ (G. Stanley Hall) นักจิตวิทยาสรีรศาสตร์ชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงซึ่งดูเหมือนจะเป็นผู้กระตุ้นให้มี้ดสนใจในเรื่องจิตวิทยา ต่อมาในปี ค.ศ.1889 มี้ดเดินทางไปเบอร์ลินเพื่อศึกษาต่อในวิชาจิตวิทยาและปรัชญา (ข้าพเจ้าไม่สามารถพบหลักฐานว่ามี้ดเรียนกับใครที่เบอร์ลิน แต่เป็นไปได้ที่เขาจะได้ฟังการบรรยายของอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง ยอร์จ ซิมเมล ผู้ซึ่งเริ่มสอนที่นั่นก่อนหน้านั้นสองสามปี)

ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1891 มี้ดแต่งงานกับเฮเลน แคสเซิล (Helen Castle) น้องสาวของเพื่อนเขา เฮนรี่ แคสเซิล ทั้งสองได้เดินทางไปอยู่ที่แอน อาร์เบอร์ เพื่อรับตำแหน่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ในภาควิชาปรัชญาและจิตวิทยา ชาร์ลส์ เอช. คูลี่ย์ (Charles H. Cooley), จอหน์ ดิวอี้, และ เจมส์ เอช. ทัฟต์ (James H. Tuft) สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในช่วงนั้น พวกเขาได้กลายเป็นเพื่อนทางปัญญาในเวลาไม่นานต่อมา มี้ดได้มุ่งค้นคว้าในทางจิตวิทยาสรีรศาสตร์ ซึ่งได้รับการเสนอแนะครั้งแรกจากสแตนลี่ย์ ฮอลล์ และเริ่มขยายทฤษฎีทางสรีรวิทยาเกี่ยวกับอารมณ์ ซึ่งคล้ายคลึงกับทฤษฎีว่าด้วยจุดประสงค์ที่จอหน์ ดิวอี้ กำลังศึกษาอยู่ในขณะนั้น

ลูกชายคนเดียวของมี้ดชื่อ เฮนรี่ (Henry) เกิดที่แอน อาร์เบอร์ ในปี ค.ศ. 1892 หนึ่งปีภายหลังจากนั้น มี้ดรับคำเชิญของจอห์น ดิวอี้ ที่จะไปร่วมทำงานกับเขาที่มหาวิทยาลัยชิคาโกซึ่งเปิดใหม่ ซึ่งดิวอี้ได้เป็นศาสตราจารย์หัวหน้าภาคปรัชญา มี้ดอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกจนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1931

มี้ดที่ชิคาโก

ชิคาโกซึ่งเคยเป็นเพียงป้อมไม้เล็ก ๆ ในปี ค.ศ. 1833 ได้กลายเป็นเมืองใหม่ในเวลาเพียงหกสิบปีต่อมา หยาบ ดิบ เต็มไปด้วยความแข็งแกร่งและพลัง เมืองชิคาโกสามารถอวดอ้างได้ว่ามีความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งทางอุตสาหกรรมและการพาณิชย์เพียงภายในเวลาหนึ่งชั่วอายุคน เมืองนี้เป็นศูนย์กลางหลักของการบรรจุเนื้อ "คนชำแหละหมูสำหรับโลก" ชิคาโกใต้และเมืองข้างเคียง แกรี่ รัฐอินเดียนาได้กลายเป็นศูนย์โรงงานเหล็กที่สำคัญ แร่เหล็กจากทะเลสาบซุปพีเรียถูกส่งลงเรือมายังทะเลสาบมิชิแกน และถ่านหินจากแหล่งถ่านหินที่อิลลินอยส์ถูกส่งมาที่นี่ทางรถไฟ ในกลุ่มผู้ใช้เหล็กที่สำคัญกลุ่มหนึ่งคือบริษัทพลูแมน (Pullman) ที่มีฐานอยู่ที่ชิคาโก เป็นบริษัทที่สร้างรถตู้นอนให้กับบริษัทรถไฟของอเมริกา และเป็นสนามที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของการต่อสู้ในเรื่องแรงงาน

ชิคาโกเองตระหนักดีถึงการพุ่งทะยานขึ้นสู่ความสำคัญโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดในหมู่นครใหญ่ ๆ ของอเมริกา และชิคาโกอวดอ้างได้ถึงความสำเร็จเหล่านี้ ตึกระฟ้าที่มีโครงเหล็กแห่งแรกได้ถูกสร้างขึ้นที่นี่ เส้นทางการไหลของแม่น้ำชิคาโกถูกเปลี่ยนทิศทาง ราคาที่ดินสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่อัตราอาชญากรรมก็สูงขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของการย้ายถิ่นเข้าเมืองอย่างรวดเร็ว และการเกิดสลัมที่ไม่มีการจัดระเบียบหลายแห่ง ในเวลาไม่นานเมืองนี้ก็สามารถกล่าวได้ว่า เป็นผู้ชนะแห่งโลกในด้านองค์การอาชญากรรม (organized crime)

มหาวิทยาลัยแห่งใหม่โดยการสนับสนุนของ จอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ (John D. Rockefeller) ได้เปิดประตูที่เลียนแบบกอทิก เริ่มการสอนในปี ค.ศ.1892 ภายใต้การอำนวยการของวิลเลียม เรนนี ฮาร์เปอร์ (William Rainey Harper) จุดประสงค์เริ่มแรกของการตั้งมหาวิทยาลัยนี้คือ เพื่อสร้างสิ่งที่น่าทึ่งอีกอันหนึ่งให้กับเมืองชิคาโก เรนนีรุกมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกอย่างไม่ปรานี เขาให้สัญญากับผู้ที่เขาต้องการดึงมาทำงานด้วยเงินเดือนที่มากกว่าสองเท่า ของเงินที่คนเหล่านั้นได้รับและความก้าวหน้าที่รุ่งโรจน์ในการทำงานในมหาวิทยาลัยซึ่งต่อไปจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เรนนีประสบความสำเร็จอย่างสูง ในเวลาเพียงสองสามปีมหาวิทยาลัยชิคาโกถูกจัดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยระดับแรก ๆ ของประเทศ คณะรุ่นแรก ๆ อวดอ้างว่าศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่าแปดคนยอมออกจากตำแหน่งอธิการของวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อมาทำงานที่มหาวิทยาลัยชิคาโก แม้ว่าศาสตราจารย์รุ่นแรก ๆ สิบคนจากทั้งหมดสามสิบเอ็ดคนจะสอนเกี่ยวกับวิชาเทววิทยา ซึ่งเป็นการสืบทอดประเพณีของมหาวิทยาลัยในอเมริกาที่เน้นการฝึกฝนคนให้เป็นหมอสอนศาสนา แต่ต่อมาไม่นานมหาวิทยาลัยได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญในการเรียนเกี่ยวกับเรื่องทางโลก

หนึ่งในคณาจารย์ที่อธิการบดีฮาร์เปอร์ภูมิใจมากที่สุดคือ จอห์น ดิวอี้ ภายหลังที่ดิวอี้ได้เป็นหัวหน้าภาควิชาปรัชญา เขาได้ชักชวนทัฟต์และมี้ดมาอยู่ที่ภาควิชา จึงทำให้ปรัชญาปฏิบัตินิยมเบ่งบานได้ในภาควิชา และไม่ถูกขัดขวางจากการต่อต้านของนักปรัชญาประเพณีนิยมผู้ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของแขนงวิชานี้ในมหาวิทยาลัยเก่า ๆ "สำนักที่แท้จริง และความคิดที่แท้จริงเป็นแนวคิดที่สำคัญด้วย" ข้อความนี้เป็นปฏิกิริยาของวิลเลียม เจมส์ ที่มีต่อกลุ่มนักปรัชญากลุ่มดิวอี้ที่ ชิคาโกในช่วงต้นทศวรรษ 1900

สอดคล้องกับความกระตือรือร้นในการปฏิรูปของผู้ก่อตั้ง ภาควิชาปรัชญาไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่เพียงงานด้านวิชาการ แต่ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมที่ทับถมมาของเมืองด้วย การทดลองเกี่ยวกับการศึกษา การจัดการเคหะ การศึกษาด้านอุตสาหกรรม และการปฏิรูปสังคม ทั่ว ๆ ไป ได้อยู่ในความคิดคำนึงของดิวอี้และเพื่อน ๆ ของเขา พวกเขาต้องการเรียนรู้โดยการทำดีและจริงจังต่อปรัชญาปฏิบัตินิยมของพวกเขามาก

การศึกษาแบบก้าวหน้า (progressive education) เป็นสิ่งที่ดิวอี้ให้ความสนใจมากที่สุด ถึงแม้มี้ดจะไม่กระตือรือร้นเท่ากับเพื่อนของเขา แต่ก็ได้ร่วมทำงานกับดิวอี้ในเรื่องการทดลองทางการศึกษา มี้ดไม่ใช่คนชอบเขียนมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้เขียนบทความแปดชิ้นที่เกี่ยวกับการศึกษาในช่วงเวลาที่อยู่ในคณะจนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาเริ่มมีบทบาทตั้งแต่โรงเรียนทดลองที่ดิวอี้ได้ตั้งขึ้น เขาได้เป็นประธานสมาคมผู้ปกครองของคณะศึกษาศาสตร์ และในขณะนั้นก็ได้เป็นบรรณาธิการของวารสารทางการศึกษาที่มีชื่อของมหาวิทยาลัยคือ The Elementary School Teacher ด้วย เขาพูดในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ผู้วิจารณ์ และผู้สนับสนุนนโยบายใหม่ ๆ ทางการศึกษา และเป็นสมาชิกหรือบางครั้งเป็นประธานของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ความสนใจในการปฏิรูปของมี้ดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านการศึกษาเท่านั้นเขายังได้เข้าร่วมกับกลุ่มฮอลล์ เฮาส์ (Hull House)* ของเจน อาดัมส์ (Jane Addams) และร่วมงานบุกเบิกของกลุ่มในขบวนการเคหะ นอกจากนี้เขายังมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นเป็นเวลาหลายปีในสโมสรเมือง ชิคาโก สโมสรนี้เป็นที่รวมของนักธุรกิจและบุคคลในอาชีพต่าง ๆ ที่มีจิตใจต้องการปฏิรูป มี้ดได้เป็นประธานของสโมสรนี้อยู่ระยะหนึ่ง

[Hull House เป็นนิคมทางสังคมแห่งแรกในอเมริกาเหนือ ถูกจัดตั้งขึ้นที่ชิคาโก โดย เจน อาดัมส์ ในปี ค.ศ.1889 ผู้ที่พักอาศัยในนิคมนี้ประกอบด้วยอาสาสมัครซึ่งประกอบอาชีพหลากหลาย เป็นทนายความ ศิลปิน นักดนตรี ครู นักสังคมสงเคราะห์ และนักธุรกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้แก่เพื่อนบ้านซึ่งเป็นคนยากจน นิคมแห่งนี้ยังเปิดการศึกษา ศิลปะ ดนตรี การพักผ่อนหย่อนใจและความเป็นมิตรให้แก่เพื่อนบ้านที่เป็นทั้งเด็กและคนแก่ด้วย. Hull House ได้กลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ของการศึกษาในปัญหาความยากจน แรงงาน การศึกษา และสิทธิมนุษยชน]

กิจกรรมภายนอกทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้มี้ดบกพร่องต่อหน้าที่สอนหนังสือ เขาเป็นบุคคลที่มีความเข้มแข็งอย่างหาไม่ได้ง่าย ๆ ในทรรศนะของดิวอี้ มี้ดแสดงออกถึง "ความมีพลัง ความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งที่เป็นเอกภาพ ความเป็นคนเปิดเผย และเป็นผู้ให้" ดังนั้นเขาจึงบรรยายให้นักศึกษาฟังได้อย่างกระตือรือร้นเช่นเดียวกับที่เขาอุทิศให้กับกิจกรรมการปฏิรูปต่าง ๆ เขาเตรียมการบรรยายอย่างเอาใจใส่ การบรรยายเหล่านั้นมีผู้เข้าฟังจำนวนมากเสมอ การบรรยายของเขาชัดเจนและเป็นขั้นตอน แม้ว่ามี้ดจะมีความยากลำบากมากในการเขียนความคิดของเขาออกมา แต่เขาไม่พบกับอุปสรรคดังกล่าวเลยเมื่อถ่ายทอดออกมาทางคำพูด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาจิติทยาสังคมของมี้ดได้ดึงดูดนักศึกษาจำนวนมากจากภาควิชาอื่น ๆ โดยเฉพาะจากสังคมวิทยาและจิตวิทยา เฮอร์เบิร์ต บลูเมอร์ กล่าวว่า เขาค่อนข้างแปลกใจอยู่เสมอที่การตอบสนองต่อการบรรยายของมี้ดแบ่งเป็นสองขั้วอย่างไม่เปลี่ยนแปลง คือมีทั้งกลุ่มที่ซาบซึ้ง และกลุ่มที่ไม่รู้เรื่องเลย นักศึกษาบางคนซึ่งรวมทั้งบลูเมอร์เอง มีความประทับใจอย่างลึกซึ้งต่อมี้ด และรู้สึกว่ามี้ดได้เปลี่ยนการมองโลกของพวกเขาทั้งหมด สำหรับคนอื่น ๆ ผู้ซึ่งไม่ได้มีความฉลาดน้อยกว่ากลุ่มแรกไม่เคยเข้าใจเลยว่าวิชานี้เกี่ยวกับอะไร คนในกลุ่มแรกมีจำนวนมากพอที่จะแพร่กระจายชื่อเสียงของมี้ดและทำให้เขามีกลุ่มนักศึกษาที่เข้าฟังคำบรรยายของเขาอยู่ตลอดเวลา ในกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ได้แก่ ที. วี. สมิธ (T.V. Smith) และชาร์ลส์ มอร์ริส (Charles Morris) จากสาขาปรัชญา และเอลส์เวิร์ธ ฟารีส (Ellsworth Faris) และเฮอร์เบิร์ต บลูเมอร์ จากสาขาสังคมวิทยา

ความเชื่อผิด ๆ บางอย่างดูเหมือนได้แพร่กระจายเมื่อไม่นานมาว่า อาจารย์ในภาควิชาสังคมวิทยารวมกลุ่มตั้งจิตวิทยาสังคมสำนักแนวคิดชิคาโกโดยใช้แนวคิดของมี้ดเป็นหลัก สิ่งนี้ไม่น่าจะเป็นจริง ตัวอย่างเช่น แม้ว่าทั้งดับเบิลยู. ไอ. โธมัส (W. I. Thomas) และโรเบิร์ต พาร์ก (Robert Park) จะยกย่องมี้ด แต่โธมัสเองแสร้งทำว่าไม่เข้าใจมี้ด ขณะที่พาร์กอ้างว่าไม่ได้อ่านงานของมี้ดมากนัก แม้ว่าจะง่ายในการสรุปย้อนหลังว่า มี้ดน่าจะได้รับการยอมรับเป็นพิเศษจากนักสังคมวิทยา แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วตัวเชื่อมที่สำคัญเพียงสิ่งเดียวระหว่างมี้ดกับภาควิชาสังคมวิทยาคือ เอลส์เวิร์ธ ฟารีส ผู้ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของมี้ด และปัจจุบันก็สอนอยู่ในภาควิชานั้น แนวความคิดของมี้ดเช่นเดียวกับของดิวอี้ ได้แพร่ขยายไปสู่ภาควิชาสังคมวิทยาที่ชิคาโกอย่างแน่นอน และอาจจะเป็นจริงด้วยว่า ดับเบิลยู. ไอ. โธมัส ล้มเลิกความคิดแรก ๆ ของเขาที่เน้นเกี่ยวกับสัญชาตญาณ หันไปเน้นด้าน จิตวิทยาสังคมมากขึ้นเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากนักปรัชญาปฏิบัตินิยม แต่สิ่งเหล่านี้ยังห่างไกลจากความเชื่อที่ว่ามี้ดเป็นผู้ทำให้เกิดจิตวิทยาสังคม สำนักแนวคิดชิคาโก พาร์ก และเบอร์กีสส์ (Burgess) ไม่เคยพูดถึงงานเขียนของมี้ดเลยในตำราที่มีชื่อเสียงของพวกเขา มี้ดเองก็ไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นหัวหน้าของ "สำนัก" และอาจต้องบันทึกไว้ด้วยว่าคำว่า "การกระทำระหว่างกันทางสังคม" (social interactionism) ไม่เคยเป็นที่รู้จักเลยที่ชิคาโกขณะที่มี้ดมีชีวิตอยู่

ในระยะแรก ๆ ที่ชิคาโก มี้ดได้ถูกดิวอี้ผู้ซึ่งมีความคล่องและเปิดเผยมากกว่าบดบังแม้กระทั่งหลังจากที่ดิวอี้ได้ย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเนื่องจากรู้สึกว่า การทดลองทางการศึกษาของเขาไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอที่ชิคาโก มี้ดก็ยังไม่ได้รับตำแหน่งที่มีชื่อเสียงที่เพื่อนเขาได้รับในส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเลย สาเหตุหนึ่งก็คือเขามีผลงานตีพิมพ์น้อยเกินไป

มี้ดประสบกับความยากลำบากอย่างมากในการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ เขาใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ อย่างทุกข์ทรมานที่โต๊ะเขียนหนังสือ บางครั้งเกือบจะร้องไห้เมื่อเขาไม่สามารถหาคำที่แสดงออกได้อย่างเพียงพอต่อความคิดที่พรั่งพรูออกมาอย่างรวดเร็ว ดิวอี้เขียนไว้ว่า "ผลที่ตามมาคือ เขาจะไม่มีความพึงพอใจต่อสิ่งที่เขาได้ทำลงไปเสมอ จะมีความคิดเพิ่มขึ้นจากความคิดแรกเสมอ และผลคือลังเลที่จะเสนอความคิดตนเองออกมาเป็นข้อเขียนอย่างตายตัว จนกระทั่งเป็นเวลาหลาย ๆ ปีที่ [มีแต่] นักศึกษาของเขาและเพื่อนร่วมงานในขณะนั้นจะตระหนักถึงความคิดทางปรัชญาที่มากมายและมีพลังของเขา"

สื่อที่ใช้ในการถ่ายทอดที่มี้ดชอบคือ การพูดมากกว่าการเขียน เขาหมายถึงตัวเองอย่าง ชัดเจนเมื่อเขียนว่า "เราทำการคิดในรูปแบบของการสนทนาและอาศัยการบรรยายพรรณนาเสนอความหมายของเรา" ที.วี. สมิธ ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาเขียนถึงมี้ดว่า "การสนทนาเป็นสื่อที่ดีที่สุดของเขา การเขียนเป็นสื่อที่ดีที่สองแต่ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเขาเขียนเกี่ยวกับ 'บางสิ่งบางอย่าง' -- เช่นที่เขาพูดอีกเรื่องหนึ่งในที่หนึ่ง - - 'บางสิ่งบางอย่างนั้นกำลังดำเนินไป - - ยักษ์ (titan) กำลังโกรธ หรือการปรับตัวของแรงกดดันภายในโลก' ถูกมี้ดเช่นเดียวกับตัวอย่างที่เขายกขึ้นมา แน่นอนสิ่งที่ผู้อ่านได้ย่อม 'ไม่ใช่ประสบการณ์แรกเริ่ม'" ประสบการณ์ที่เขาสามารถแสดงออกและถ่ายทอดได้เพียงทางการแลกเปลี่ยนทางคำพูดและทางอากัปกิริยาที่มีความหมายร่วม (significant gestures)

แม้ตามข้อเท็จจริงมี้ดมีบทความตีพิมพ์ค่อนข้างน้อย แต่เขาไม่มีความรู้สึกเลยว่าตนต้องไปให้ถึงบทบาททางสังคมเช่นดิวอี้ มี้ดเป็นคนถ่อมตัว มีความสมดุลและมีความกลมกลืนในตัวเองมากที่สุด เขาไม่ค่อยมีความดึงดูดใจต่อความคาดหวังที่จะได้รับการยอมรับนับถือจากคนทั่วไป และมักจะมองตนเองเป็นเสมือนคนงานที่ไร้ความสำคัญในไร่องุ่น บลูเมอร์จำได้ว่าในช่วงปีทศวรรษ 1920 เมื่อเบอร์ทรันด์ รัสเชล (Bertrand Russell) มาบรยาย และมี้ดเป็นคนแนะนำเขา มี้ดซึ่งขณะนั้นอายุประมาณหกสิบปี ยังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกับตนเป็นอาจารย์รุ่นเด็ก ที่ได้พบกับนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในสาขาวิชาของตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความไม่ค่อยเชื่อมั่นของมี้ด ไม่ควรถูกมองว่าเป็นลักษณะของความอ่อนแอ เขาเป็นบุคคลที่มีหลักการและสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดเมื่อถึงเวลาที่ต้องการ เมื่อโรเบิร์ต ฮัตชินส์ (Robert Hutchins) อธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยในขณะนั้น พยายามบีบบังคับให้ภาควิชาปรัชญารับเพื่อนของเขาที่ชื่อมอร์ไทเมอร์ แอดเลอร์ (Mortimer Adler) นักปรัชญาแนวนีโอ-โธมีส (neo-Thomist)* เข้าไปเป็นอาจารย์ เมื่อการคัดค้านของมี้ด ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เขาได้ยื่นใบลาออกและเตรียมพร้อมที่จะไปอยู่กับจอหน์ ดิวอี้ที่โคลัมเบีย การเสียชีวิตของเขาอย่างกะทันหันเท่านั้นที่หยุดยั้งการเตรียมตัวเพื่อย้ายไปในครั้งนี้

[แนวคิด neo-Thomist มีหลักการสำคัญคือ ศึกษาถึงแนวคิดดั้งเดิมของ เซนท์ โธมัส อไควนัส และนำความคิดนี้มาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับปัญหาสังคมในปัจจุบัน. เซนท์ โธมัส อไควนัส เป็นนักคิดในยุโรปสมัยกลางที่เสนอว่า วิญญานของมนุษย์เป็นรูปแบบการดำรงอยู่ที่พิเศษโดยเฉพาะ ซึ่งรวกเข้ากับสาสารอย่างแน่นหนา อันก่อให้เกิดความเป็นธรรมชาติมนุษย์ วิญญานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่ตาย และมีความแตกต่างด้านหลักการระหว่างวิญญานและพลังของวิญญาน ในการรับรู้และความต้องการ. ความรู้ของมนุษย์มีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์ของความรู้สึก นำไปสู่การสะท้อนของจิต. ความคิดของ เซนท์ โธมัส อไควนัส ภายหลังต่อมาถูกนำไปขยายเพิ่มเติมโดยสานุศิษย์หลายคน รวมเรียกว่าลัทธิโธมิส]

ในช่วงปลายชีวิตของมี้ด เขาเขียนสิ่งซึ่งอาจจะใช้บอกถึงความเป็นไปของชีวิตเขาได้ว่า "การแสดงออกที่ภาคภูมิใจที่สุดของความเป็นคนที่อิสระ ไม่ใช่อะไรอื่นนอกเหนือไปจากการยืนยันความสามารถเฉพาะของตนในการสวมบทบาททางสังคมบางอย่าง" ในความสุภาพและเด็ดเดี่ยว มี้ดไม่เคยมีความปรารถนาที่จะเป็นแสงสว่างในความมืดสลัว เขามองตนเองเป็นเช่นทหารธรรมดาในสนามรบของการปฏิรูปทางสังคมและทางปัญญา และไม่เคยใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้นำกองทัพ การอุทิศทางสติปัญญาของเขาต่อการศึกษาค้นหาทางวิทยาศาสตร์ได้ถูกจำกัดอยู่ในกรอบของความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมเพื่อชีวิตของมนุษยชาติที่ดีกว่า เขาเขียนไว้ก่อนเสียชีวิตว่า "เรากำหนดความเป็นไปของโลกโดยการค้นหาอย่างกระตือรือร้นถึงแนวทางที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น" ลูกชายของมี้ดบอกแก่ดิวอี้ว่า วลีที่เขากับพ่อพูดกันมากที่สุดเมื่อถกเถียงเรื่องปัญหาสังคมคือ "มันควรจะเป็นไปได้ที่จะทำ ดังนั้นดังนี้"

มี้ดเสียชีวิตลงด้วยความเชื่อที่ว่า เขาจะเป็นที่รู้จักภายหลังเสียชีวิตแล้ว ก็เพียงในฐานะนักเขียนบทความทางวิชาการสองสามชิ้นเท่านั้น เขาเหมือนจะไม่เคยนึกเลยว่า อิทธิพลงานของเขาจะเติบโตจากทศวรรษหนึ่งไปยังอีกทศวรรษหนึ่ง และเป็นที่ยอมรับในฐานะหนึ่งในจำนวนนักคิดชาวอเมริกันไม่กี่คนที่ช่วยหล่อหลอมลักษณะสังคมศาสตร์สมัยใหม่

บริบททางวิชาการ

มี้ดเป็นคนที่ศึกษาครอบคลุมสาขาวิชาต่าง ๆ มากมาย ด้วยความสนใจทางปัญญาที่มีขอบเขตกว้างและอย่างเป็นชีวิตจิตใจ มี้ดมีความรอบรู้อย่างดีในสาขาวิชาย่อย ๆ ทั้งหมดของปรัชญาและประวัติศาสตร์ปรัชญา และยังติดตามพัฒนาการของวิชาฟิสิกส์และชีววิทยา รวมทั้งสังคมศาสตร์อยู่ตลอดเวลา เขามีความคุ้นเคยต่อคณิตศาสตร์และตรรกวิทยาคณิตศาสตร์ และมีความรักอย่างมากต่อดนตรีและบทกวี ดิวอี้ บันทึกไว้ว่า

เขารู้ผลงานส่วนใหญ่ของมิลตัน (Milton) อย่างขึ้นใจ และเป็นที่รับรู้ว่าเขาสามารถท่องจำ [ข้อความเดิมเป็นดังนี้] ได้เป็นเวลาสองชั่วโมง โดยปราศจากความเหนื่อยหน่าย งานของเวิร์ดเวิร์ธ (Wordsworth) และคีตส์ (Keats) และเช็กสเปียร์ (Shakespeare) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโคลง (sonnet) ต่าง ๆ ก็เป็นที่คุ้นเคยของมี้ดเช่นกัน… ความทรงจำที่แม่นยำและจำได้ทุกถ้อยกระทงความ และความคิดที่สามารถผสมผสานสิ่งต่าง ๆ เก็บใจความสำคัญ และสร้างความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ยากที่จะมีปรากฏในคน ๆ เดียว แต่คุณมี้ดมีสิ่งนี้รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เขาเป็นคนที่หายากและบุคลิกภาพของเขายากต่อการวิเคราะห์หรือการจำแนกใด ๆ

นี่เป็นคำอธิบายว่า ทำไมการอธิบายถึงพื้นฐานทางปัญญาของมี้ดจึงอาจเป็นการมองอย่างหยาบ ๆ และไม่สมบูรณ์

แนวความคิดสำคัญที่เป็นพื้นฐานทางปัญญาของมี้ดที่ปรากฏอย่างเด่นชัด มีอยู่สี่แนวด้วยกันคือ
1. จารีตความคิดของสำนักศาสนานิกายธรรมนิวอิงแลนด์ที่เน้นถึงการค้นหาด้านปัญญาอย่างเป็นอิสระและหน้าที่ทางศีลธรรมต่อชุมชน;
2. จารีตความคิดของยุคบุกเบิกที่เน้นเรื่องการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาปฏิบัตินิยม แม้ว่าปรัชญานี้มีต้นกำเนิดในหมู่คนที่มาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ตาม;
3. แนวความคิดวิวัฒนาการของดาร์วินที่เน้นถึงการเปลี่ยนแปลงและการยืนยันว่าไม่มีสิ่งใดถาวรนอกจากกระบวนการโดยตัวของมันเอง; และสุดท้ายคือ
4. แนวปรัชญาแบบจิตนิยมเยอรมันจาก คานต์ (Kant) ไปจนถึง เชลลิง (Schelling) ซึ่งเน้นสอดคล้องกันในเรื่องกระบวนการและการแปรเปลี่ยน และความสนใจหลักเกี่ยวกับความเป็นอิสระและความรับผิดชอบของผู้กระทำ, ตัวตนสัมบูรณ์ (Absolute Self), "ฉัน" ผู้อยู่เหนือกาลเวลาในฐานะที่เป็นผู้สร้างสรรค์ในโลกมนุษย์

การสืบทอดของลัทธิโปรเตสแตนต์และความคิดยุคบุกเบิก

มี้ดเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนักคิดชาวอเมริกันทั้งหลายที่มีนักสังคมวิทยารุ่นแรกสุดรวมอยู่ด้วย ที่ถูกเลี้ยงดูในบรรยากาศของชาวเพียวริแตนที่เคร่งครัด แต่ได้ปลดปล่อยตนเองจากการยึดติดกับความเชื่อทางศาสนาซึ่งส่วนใหญ่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากคำสอนของดาร์วิน มี้ดซึ่งก็เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ยังมีความเชื่อมโยงอยู่กับความคิดเพียวริแตนอยู่ แม้ว่าจะสามารถเปลี่ยนจากรากฐานนี้ไปสู่ความสนใจในเรื่องทางโลก อันได้แก่ จริยศาสตร์ทางสังคม และเปลี่ยนความเชื่อแบบคริสเตียนที่เน้นเรื่องความผูกพันฉันพี่น้องของมนุษย์ในพระคริสต์ไปสู่การเรียกร้องด้านมนุษยธรรม เพื่อความเป็นภราดรภาพของมนุษยชาติทั้งหมด ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามี้ดอ่านงานเกี่ยวกับศาสนวิทยานอกเหนือไปจากที่ถูกบังคับให้อ่านที่วิทยาลัยโอเบอร์ลิน และแม้ว่าแนวคิดแบบเพียวริแตนไม่ปรากฏเป็นหลักฐานในงานเขียนของมี้ด แต่ก็เป็นการยากที่ใครจะอ่านผ่านไปโดยไม่สะดุดข้อเท็จจริงที่ว่าปรัชญาทางโลกของมี้ดมีรากฐานที่มั่นคงและยาวนานมาจากคริสเตียนแบบเพียวริแตน

ลัทธิวิวัฒนาการ

ดูเหมือนจะง่ายกว่าในการเสนอเอกสารแสดงถึงการเป็นหนี้ของมี้ดต่อความคิดแนวดาร์วิน แนวคิดของดาร์วินไม่เพียงช่วยให้มี้ดเป็นอิสระจากพันธนาการทางศาสนาในสมัยวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อการพัฒนาปรัชญาปฏิบัตินิยมของเขาด้วย ตามข้อเท็จจริงทฤษฎีวิวัฒนาการทางชีววิทยาของดาร์วินเป็นพื้นฐานทางความคิดของลัทธิปฏิบัตินิยมของมี้ดและเพื่อนร่วมคิดของเขา ทฤษฎีนี้มีทรรศนะว่า สิ่งมีชีวิตผูกพันอยู่กับการต่อสู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม ทฤษฎีนี้มีพื้นฐานอยู่บนแนวความคิดแบบธรรมชาตินิยมเกี่ยวกับจิต ซึ่งแตกต่างอย่างถึงรากถึงโคนกับทรรศนะประเพณีเกี่ยวกับธรรมชาติของปัญญา เมื่อกรอบความคิดแนวดาร์วินได้รับการยอมรับ จิตจึงถูกมองว่าจะผูกพันกับกระบวนการประดิษฐ์เครื่องมือต่าง ๆ ที่ซับซ้อนเพื่อประกันความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น การคิดสามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าถึงโลกซึ่งเกื้อหนุนต่อการแสดงพฤติกรรม "ปัญญาทดสอบได้จากการกระทำ" ปัญญาเป็นกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ "สัจธรรม… มีความหมายเดียวกับการแก้ไขปัญหา" วิทยาศาสตร์เป็นเพียง "การรู้สึกสำนึกด้วยตนเองซึ่งเติบโตขึ้นในกระบวนการแบบวิวัฒนาการ" "สัตว์ก็กำลังทำในสิ่งเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์กำลังทำอยู่"

ดาร์วินสอนให้มี้ดและเพื่อน ๆ ของเขาคิดในแง่ของกระบวนการแทนที่จะคิดในแง่รูปแบบต่าง ๆ ที่มีความตายตัว มี้ดเขียนไว้ว่า "หัวใจของปัญหาวิวัฒนาการอยู่ที่การยอมรับว่ากระบวนการจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบ" "กระบวนการมีรูปแบบหนึ่งในขณะนี้และอีกรูปแบบหนึ่งในอีกขณะหนึ่ง ภายใต้สภาพเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มันกำลังดำเนินอยู่"

มี้ดได้รับความคิดอื่น ๆ อีกมากมายจากการศึกษางานของดาร์วินอย่างใกล้ชิด ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ของมี้ดถูกสร้างตามแนวขั้นตอนการสังเกตของดาร์วิน และบางส่วนของรากฐานความคิดรวบยอดของมี้ดในเรื่องอากัปกิริยาก็พบได้ในงานของดาร์วินเรื่อง The Expression of Emotion in Man and Animals อย่างไรก็ตาม หนี้ทางความคิดที่สำคัญที่มี้ดมีต่อความคิดวิวัฒนาการไม่ว่าจะเป็นแนวลามาร์ก (Lamarchian) หรือแนวดาร์วิน (Darwinian) ก็ตาม คือการเน้นให้เห็นถึงการสลายตัวของโครงสร้างตายตัวไปสู่รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านทางกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

คลิกไปอ่านหน้าต่อไป

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com