มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)
แม้อาจารย์นิธิพอใจที่จะเรียกตนเองว่าเป็น"นักเรียนประวัติศาสตร์"ยิ่งกว่านักประวัติศาสตร์ แต่ที่จริงแล้วความเป็น"นักเรียน"ของอาจารย์นิธินั้นยิ่งใหญ่ไพศาลเกินกว่าที่วิชาประวัติศาสตร์จะคลุมหรือครอบเอาไว้ได้ อาจารย์นิธิมีความใฝ่รู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ และทะลุทะลวงข้ามพ้นพรมแดนของศาสตร์เหล่านั้น โดยไม่สนใจรั้วที่กำหนดขอบเขตของศาสตร์ดังกล่าวเอาเลยก็ว่าได้ ดังนั้นจึงแลเห็นความเชื่อมโยงของศาสตร์ต่าง ๆ รวมทั้ง"ความรู้"ที่ยังไม่ถูกยกเป็นศาสตร์ (อาทิความรู้เกี่ยวกับการทอดกล้วยแขกของแม่ค้าหรือการจับจิ้งหรีดของเด็กบ้านนอก)
มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นตัวอย่างเพียงส่วนน้อยของศาสตร์นานาชนิดที่อาจารย์นิธิเข้าไปศึกษาด้วยความใฝ่รู้อย่างเพลิดเพลิน แต่อาจารย์นิธิไม่เพียงแต่ตักตวงความรู้จากศาสตร์เหล่านั้นเท่านั้น หากยัง"ให้"อะไรหลายอย่างกลับไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาจากศาสตร์สาขาอื่น หรือข้อคิดจากสามัญสำนึกของปุถุชนคนหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญแก่คุณค่าความเป็นมนุษย์ยิ่งกว่าทฤษฎีหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ศาสตร์หรือวงการต่าง ๆ หวงแหนปกป้องเอาไว้ ส่วนสมทบที่อาจารย์นิธิให้ไปในฐานะ"คนนอก" โดยไม่หวั่นเกรงคำกล่าวหาใด ๆ นั้นช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้แก่ศาสตร์และวงการเหล่านั้นไม่น้อย แต่บ่อยครั้งก็ทำความกระอักกระอ่วนใจให้แก่ผู้รู้ที่เป็น"คนใน"หรือ"เจ้าของ"ศาสตร์ดังกล่าว เพราะอาจารย์นิธิไม่เพียงแต่เสนอสิ่งที่อยู่นอกกรอบความคิดของเขาเหล่านั้น (ซึ่งหลายเรื่องคนในวงการถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามหรือความคิดนอกรีตเลยทีเดียว) หากยังหาญกล้าท้าทายความคิดพื้นฐานซึ่งได้รับการสถาปนาว่าเป็นสัจธรรมหรือหลักการสูงสุดอันมิอาจแตะต้องได้
พุทธศาสตร์หรือพุทธศาสนาเป็นอีกวงการหนึ่งซึ่งอาจารย์นิธิให้ความสนใจและใฝ่ศึกษา เช่นเดียวกับศาสตร์สาขาอื่น ๆ อาจารย์นิธิมีงานเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนามากมาย (ไม่นับงานแปลซึ่ง เท่าที่ทราบมีอยู่เพียงเล่มเดียว) ในบรรดางานเขียนเหล่านี้ ที่เป็นงานวิชาการมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนเชิงวิจารณ์ ซึ่งปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันตลอดจนนิตยสารและวารสารต่าง ๆ งานเขียนประเภทหลังมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยตรง (ไม่ว่าในด้านหลักธรรม สถาบัน และประเพณีพิธีกรรม ) และที่สะท้อนทัศนะหรือมุมมองทางพุทธศาสนา
การที่อาจารย์นิธิมีงานเขียนดังกล่าวอยู่เป็นประจำ (โดยเฉพาะส่วนที่สะท้อนมุมมองทางพุทธศาสนา) จึงย่อมมีผลต่อการขยายมุมมองและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย ไม่เฉพาะแก่คนทั่วไปเท่านั้น หากยังรวมถึงคนที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธหรืออยู่ในแวดวงพุทธศาสนาด้วย (ซึ่งแม้จะไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนดังกล่าว แต่ก็คงจะคิดแบบเดิม ๆ ได้ไม่สะดวกใจเหมือนก่อน อย่างน้อยก็คงมีคำถามค้างคาในใจที่ต้องขบคิดไปอีกนาน)
พุทธศาสนาในท่ามกลางบริบท
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งในงานเขียนของอาจารย์นิธิคือการให้ความสำคัญกับบริบทหรือเงื่อนไขแวดล้อม
ดังนั้นทุกครั้งที่ศึกษาพุทธศาสนาโดยเฉพาะในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและการปฏิบัติของคนไทย
อาจารย์นิธิจะนำพุทธศาสนามาวางไว้ในท่ามกลางบริบท โดยเชื่อมโยงกับปัจจัยต่าง
ๆ ที่แวดล้อม
แน่นอนว่าในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ บริบทที่จะมองข้ามไม่ได้คือบริบททางประวัติศาสตร์ หรือมิติทางด้านเวลา พุทธศาสนาในสายตาของอาจารย์นิธิแยกไม่ออกจากบริบททางประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงมีความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนหรือมีพัฒนาการมาโดยตลอดไม่มากก็น้อย
มุมมองเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย เพราะส่วนใหญ่เรามักจะมองพุทธศาสนา (รวมทั้งวัฒนธรรมไทยและความเป็นไทย) อย่างหยุดนิ่ง ดังนั้นเวลาจำแนกพุทธศาสนา จึงมักจะแยกเป็น ๒ ประเภทคือ "พุทธแท้" กับ"พุทธไม่แท้" เท่านั้น พุทธศาสนาที่แท้เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างเดียวกันหมด ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ถ้าผิดไปจากนี้ ก็ถือว่าเป็นพุทธไม่แท้ แต่ในความเป็นจริง พุทธศาสนาในเมืองไทยมีความหลากหลายซับซ้อนกว่านั้นมาก สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริบททางประวัติศาสตร์
ตัวอย่างงานเขียนที่เด่นชัดในด้านนี้ได้แก่"พระปฐมสมโพธิกถากับความเคลื่อนไหวทางศาสนาในต้นรัตนโกสินทร์" อาจารย์นิธิได้ชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงในทางความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะการตีความในแบบ"เหตุผลนิยม"นั้น มิใช่เกิดขึ้นเมื่อวชิรญาณภิกขุ(หรือเจ้าฟ้ามงกุฏ) ก่อตั้งคณะธรรมยุต หากสามารถย้อนไปถึงสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก การ"ปฏิรูปพุทธศาสนา"ของวชิรญาณภิกขุเป็นเพียงการสืบต่อจากความเปลี่ยนแปลงที่มีมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้ว (โดยมีเหตุผลทางการเมืองเกี่ยวข้องด้วย)
งานเขียนดังกล่าวทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงทางด้านพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นจากพลังผลักดันที่มีอยู่แล้วในเนื้อตัวของสังคมไทยแต่อดีต ใช่ว่าจะต้องรอให้มีอิทธิพลจากภายนอกเข้ามากระทำ ก็หาไม่(ดังที่มักเข้าใจกันว่าเจ้าฟ้ามงกุฏได้รับความคิดในเชิงเหตุผลนิยมมาจากมิชชันนารีตะวันตก) โดยที่พลังผลักดันที่มีอยู่ภายในนั้นก็สัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากสมัยอยุธยา ความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้เกิดโลกทัศน์อย่างใหม่ในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากวรรณกรรมทางโลกพอ ๆ กับวรรณกรรมทางพุทธศาสนา เช่น พระปฐมสมโพธิกถา
กล่าวอีกนัยหนึ่ง งานชิ้นนี้ชี้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในยิ่งกว่าภายนอก แม้จะมีปัจจัยภายนอกมากระทำ แต่พุทธศาสนาจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด ปัจจัยภายในเป็นตัวชี้ขาด ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า "ดูกรกัสสป ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ที่แท้โมฆบุรุษโลกนี้ต่างหากเกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะอับปางก็เพราะต้นหนเท่านั้น (หาใช่เพราะลมไม่)"
นอกจากบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว บริบททางสังคมก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจารย์นิธิคำนึงถึงอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อมองพุทธศาสนาในสังคมไทย จึงไม่ได้เห็นแต่พุทธศาสนาที่ชาวบ้านนับถือเท่านั้น หาก ยังเห็น"ผี"ที่ชาวบ้านเซ่นไหว้ด้วย และเมื่อมองวัด ก็ไม่ได้เห็นแค่พระ แต่เห็นชาวบ้านที่แวดล้อมวัดด้วย ในทำนองเดียวกันเมื่อคิดถึงศีลธรรมของผู้คน ก็โยงไปถึงระบบความสัมพันธ์และวิถีชีวิตของผู้คนด้วย
ด้วยมุมมองเช่นนี้พิธีกรรมทางศาสนาจึงมิได้มีจุดหมายทางศาสนาเพียงประการเดียวเท่านั้น หรือเป็นตัวเชื่อมระหว่างบุคคลกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งสูงสุดเท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชนอีกด้วย ภาพพุทธศาสนาของอาจารย์นิธิจึงมีทั้งความกว้างและความลึก (สมกับคำว่า perspective) โดยปัจจัยต่าง ๆ ในภาพต่างมีปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้นพุทธศาสนาในสังคมไทยจากมุมมองของอาจารย์นิธิ จึงแยกไม่ออกจากความเชื่อเรื่องผี กระทั่งในบางสมัยกลายเป็นเรื่องเดียวกันในสายตาของชาวบ้าน
ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องหมายถึงความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนาหรือของชุมชนเสมอไป เพราะในความเป็นจริง (อย่างน้อยก็ในสมัยก่อน) พุทธศาสนากับผีก็พึ่งพาอาศัยกันอยู่มาก กล่าวคือ "ในทางศีลธรรมส่วนบุคคล พุทธศาสนาเป็นผู้รับผิดชอบ ในทางศีลธรรมส่วนสังคม ผีเป็นผู้รับผิดชอบ สองอย่างนี้จึงขาดจากกันไม่ได้"
นอกจากนี้ผีกับพุทธยังแบ่งบทบาทหน้าที่กันในอีกลักษณะหนึ่ง คือในขณะที่จุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนาอยู่พ้นโลกหรือเหนือโลก ผีช่วยให้คนทั่วไปรู้สึกว่า"สิ่งศักดิ์สิทธิ์"นั้นมิได้อยู่ไกลเกินเอื้อม หากอยู่ใกล้ชิดกับตน และสามารถขอความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความอุ่นใจได้ในโลกนี้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ในศีลในธรรม ในแง่หนึ่งพุทธจึงอาศัยผีเป็นสื่อนำคนเข้าหาธรรม ขณะเดียวกันผีก็ต้องอาศัยการค้ำจุนจากพุทธศาสนา "ฉะนั้นไสยศาสตร์ไทยจึงเป็นเทคโนโลยีที่มีศีลธรรมของพุทธศาสนากำกับตลอดมา ไม่ใช่หนทางที่จะบรรลุความสำเร็จทางโลกย์ล้วน ๆ"
ทัศนะดังกล่าวช่วยให้คนสมัยใหม่ที่มีความคิดแบบ"วิทยาศาสตร์"หันมามองในมุมใหม่ว่า พุทธศาสนา"ที่แท้"ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นพุทธศาสนาที่ปราศจากผี พุทธศาสนาที่มีผีเจือปนอาจทำให้คนมีศีลธรรมหรือเข้าถึงธรรมชั้นสูงได้ดีกว่าพุทธศาสนาที่ปราศจากผีด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นหากไม่ระวัง พุทธศาสนาที่ปราศจากผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจกลายเป็นพุทธที่"ไม่แท้"ก็ได้ เช่นทำให้คนติดยึดกับเหตุผล (หรือวัตถุและเทคโนโลยี) อย่างงมงายจนไปไม่ถึงมิติทางจิตวิญญาณ หรือถึงกับปฏิเสธโลกุตรธรรมและอิสรภาพทางจิตวิญญาณไปเลย
ในขณะที่พุทธศาสนาแยกไม่ออกจากผี วัดก็แยกไม่ขาดจากชาวบ้าน โดยที่การค้ำจุนศีลธรรมของชุมชนก็ต้องอาศัยทั้งผีและชาวบ้านด้วย ไม่ใช่ว่าจะเป็นบทบาทของพุทธศาสนาหรือวัดเท่านั้น เมื่อมองวัดในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือชุมชนซึ่งต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า การปลูกฝังกล่อมเกลาให้ผู้คนมีโลกทัศน์และชีวทัศน์แบบพุทธนั้น ลำพังวัดอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ หากต้องมี"ระบบสังคมในอดีต เช่นมีครอบครัวและชุมชนเป็นฐานให้แก่การแผ่รังสี (ธรรมของวัด) เป็นต้น" ด้วยเหตุนี้ถึงแม้หนุ่มสาวในสมัยก่อนจะไม่ได้เข้าวัดเพื่อฟังธรรมหรือปฏิบัติธรรมกันมากเท่าไร แต่ก็มีท่าทีต่อชีวิตตามแนวพุทธศาสนา เนื่องจากการกล่อมเกลาในครอบครัวและภายในชุมชน
ประเด็นดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อปัจจุบันก็เพราะว่าทุกวันนี้"ระบบสังคม"ได้เปลี่ยนไปแล้ว พ่อแม่นอกจากไม่ได้เข้าวัดเข้าวาแล้ว ยังไม่มีเวลากล่อมเกลาลูก ขณะเดียวกันชุมชนก็ไม่มีพลังเหลืออยู่ ต่างคนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ดังนั้นการเทศนาสั่งสอนศีลธรรมแบบเดิม ๆ ภายในวัดจึงมีอิทธิพลต่อผู้คนไม่มากนัก และถึงแม้จะพยายามปรับบทบาทของวัดเพื่อดึงคนเข้าวัดให้มากขึ้น หรือเพื่อเข้าถึงคนที่อยู่นอกวัดโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะนำพุทธธรรมไปสู่ผู้คนได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชาวบ้านอย่างสอดคล้องกับยุคสมัย (ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านเป็นสื่อนำพุทธศาสนาไปยังลูกหลานของตนอีกต่อหนึ่ง)
ตรงนี้อาจารย์นิธิเสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชาวบ้านไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ หากขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย กล่าวคือ"ความสัมพันธ์ระหว่างวัดและชาวบ้านที่เป็นประเพณีมาแต่เดิมนั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนสังคมเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเอง" แต่สังคมเช่นนั้นไม่มีอีกแล้วในปัจจุบัน ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างวัดและชาวบ้านตามแบบประเพณี จึงไม่สามารถดำรงต่อไปได้ มีก็แต่ความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยที่ไร้ความหมาย หรือไม่เอื้อให้ผู้คนเข้าถึงพุทธธรรมได้
ด้วยเหตุนี้ หากต้องการให้วัดยังคงมีบทบาทสร้างสรรค์ในทางศาสนธรรมได้ต่อไป อาจารย์นิธิเสนอว่า จำต้องมีการปรับเปลี่ยน"ไม่แต่เพียงแค่บทบาทของตนในระบบความสัมพันธ์แบบเดิมเท่านั้น แต่ต้องปรับเปลี่ยนตัวระบบความสัมพันธ์กับชาวบ้านใหม่ทั้งหมดทีเดียว" โดยที่ระบบความสัมพันธ์นั้นต้องสอดคล้องกับโครงสร้างของสังคมปัจจุบันด้วย
พุทธศาสนานั้นนอกจากประกอบด้วยวัดและคำสอนแล้ว ยังมีพิธีกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย พิธีกรรมทางศาสนาหากอยู่โดด ๆ ก็ย่อมมีจุดหมายประการเดียวคือเป็นสื่อนำมนุษย์ให้เข้าถึงสิ่งสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าหรือพระรัตนตรัย แต่เมื่อพิธีกรรมอยู่ท่ามกลางสังคม ก็ย่อมมีจุดมุ่งหมายทางสังคมเพิ่มเข้ามาด้วย ประเด็นนี้เราจะพบในงานเขียนของอาจารย์นิธิอยู่บ่อย ๆ อาทิเช่น พิธีขึ้นบ้านใหม่ นอกจากจะเป็นการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว "เจตนารมณ์ทางสังคม"ของพิธีนี้ก็คือ "การฝากตัวของครอบครัว' บ้านใหม่ ' กับชุมชนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน สร้างไมตรีจิตและความรู้จักกันเอาไว้กับคนอื่น ๆ ในชุมชนซึ่งอยู่มาก่อน"
ในทำนองเดียวกันพิธีแห่เทียนพรรษา ก็มีจุดหมายประการหนึ่งคือเพื่อ"รักษาสำนึกของชุมชนหรือเครือข่ายของชุมชนที่ต้องสัมพันธ์กันเพื่อการดำรงชีวิต" แม้แต่พิธีที่ดูเหมือนจะมีจุดมุ่งหมายในทางโลกย์ เช่น พิธีขอฝน (ซึ่งเป็นพิธีกรรมส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาแต่โบราณ) ก็ยังมีมิติทางสังคมอยู่ด้วย ดังอาจารย์นิธิได้ชี้ว่า ทำแล้วฝนจะตกลงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าไร ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่"ชาวบ้านจัดพิธีสวดกันขึ้นในวัดนั้น ก็เพื่อดึงเอาคนทั้งชุมชนมาร่วมงาน เพื่อเตือนให้ระลึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน เห็นหน้าเห็นตากัน รู้ความทุกข์ยากของกันและกัน" กล่าวอีกนัยหนึ่งขณะที่พิธีกรรมเป็นสื่อนำชุมชนเข้าสู่จุดหมายทางศาสนา ชุมชนก็ปรับพิธีกรรมให้เป็นเครื่องมือรับใช้จุดมุ่งหมายทางสังคมด้วย
เห็นได้ว่าเมื่อพุทธศาสนาได้ถอดจากพระไตรปิฏก ออกมาเป็นความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติของผู้คนในสังคมแล้ว พุทธศาสนาย่อมเป็นมากกว่าคำสอนในคัมภีร์ กล่าวคือมีสิ่งอื่น ๆ เข้ามาผสมผสาน เจือปน หรือเพิ่มเติม ไม่อาจแยกตัวออกจากปัจจัยแวดล้อมหรือบริบททางสังคมได้ ดังนั้นจะเข้าใจสถานะและบทบาทของพุทธศาสนาในสังคมได้ก็ต่อเมื่อมองพุทธศาสนาในท่ามกลางบริบททางสังคม โดยคำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน
ในทำนองเดียวกันบริบทดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอหากปรารถนาจะให้คำสอนและสถาบันทางพุทธศาสนามีความหมายต่อผู้คนในยุคปัจจุบัน ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธโดยเฉพาะผู้ที่เคร่งศีลธรรมมักมองข้าม จึงมักเรียกร้องให้คนมีศีลธรรม โดยไม่ได้มองว่ามีเหตุปัจจัยทางสังคมมาเป็นอุปสรรคขัดขวางมากน้อยเพียงใด
โลกทัศน์แบบพุทธ
การนำพุทธศาสนามาวางในท่ามกลางบริบททางสังคมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเขียนทางด้านพุทธศาสนาของอาจารย์นิธิก็จริงอยู่
แต่เมื่อเขียนวิจารณ์สังคม บ่อยครั้งเราจะพบว่าอาจารย์นิธินำสังคมมาวางไว้ในกรอบของพุทธศาสนา
หรือพิจารณาประเด็นต่าง ๆ จากจุดยืนของพุทธศาสนาได้อย่างแหลมคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง
อาจารย์นิธิมองพุทธศาสนาจากสายตาของสังคม ขณะเดียวกันก็มองสังคมจากสายตาของพุทธศาสนา
มุมมองอย่างหลังนี้เราไม่ค่อยได้เห็นมากเท่าไรนักจากชาวพุทธส่วนใหญ่แม้แต่ในระดับปัญญาชน
(ที่จริง มุมมองอย่างแรกก็เป็นของใหม่สำหรับชาวพุทธไทยด้วยเช่นกัน)
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพราะ ในทัศนะของคนทั่วไป (จะถือพุทธหรือไม่ก็ตาม) พุทธศาสนาถ้าไม่เป็นเรื่องประเพณีพิธีกรรม ก็เป็นเรื่องของชีวิตจิตใจและการประพฤติปฏิบัติส่วนบุคคลเท่านั้น แต่อาจารย์นิธิได้ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของท่าทีต่อชีวิตและโลกด้วย ท่าทีต่อชีวิตและโลกนี้แหละที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาเพราะเป็นพื้นฐานไม่เฉพาะแก่การประพฤติปฏิบัติส่วนบุคคลเท่านั้น หากยังรวมถึงระบบความสัมพันธ์ในสังคมอีกด้วย ท่าทีต่อชีวิตและโลกนั้นเกิดขึ้นมาจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องชีวิตและโลก แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นมุมมองหรือโลกทัศน์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะใช้ทำความเข้าใจชีวิตและโลกเท่านั้น หากยังสามารถใช้ทำความเข้าใจสังคมได้ด้วย ท่าทีต่อชีวิตและโลกจึงแยกไม่ออกจากท่าทีต่อสังคม
ในขณะที่ชาวพุทธจำนวนมากเอามุมมองแบบพุทธมาใช้กับชีวิตเพียงด้านเดียว อาจารย์นิธิได้นำโลกทัศน์แบบพุทธมาใช้กับสังคมด้วย โดยใช้เป็นมุมมองในการวิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะระบบและความคิดที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดแง่คิดที่ผิดแผกไปจากคนส่วนใหญ่ (ไม่ว่าคนถือพุทธหรือนักวิชาการ) เช่น วิจารณ์เศรษฐกิจแบบระบบตลาดว่า "ตะล่อมให้ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์หันเหทิศทางไปสู่การทำกำไรทางวัตถุ ใช้เกณฑ์ของกำไรทางวัตถุเป็นเครื่องมือในการประเมินโลกภายนอก" ดังนั้น"วัฒนธรรมของระบบตลาดก็ต้องบูชาเงิน หรือเอาความรวยเป็นเกณฑ์สำคัญในการมองโลก"
ด้วยมุมมองแบบพุทธนี้เอง วิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ ซึ่งใคร ๆ เห็นว่าอยู่ตรงข้ามกันนั้น อาจารย์นิธิกลับเห็นว่าเหมือนกันอย่างมาก "จนผมคิดว่ายิ่งส่งเสริมวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งทำให้ไสยศาสตร์เข้มแข็งขึ้น" ทั้งนี้เพราะ"ทั้งสองอย่างเอากิเลสมนุษย์เป็นตัวตั้ง แล้วสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาตอบสนองบัญชาของตัณหานานาชนิดของมนุษย์"
งานวิจารณ์สังคมของอาจารย์นิธิจะให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตใจมาก จุดนี้เองที่เป็นความผิดพลาดอย่างสำคัญของวัฒนธรรมกระแสหลักในปัจจุบัน เพราะโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำอยู่นั้น "ริบเอา'จิตใจ 'ไปจากมโนภาพของมนุษย์" ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า"วัฒนธรรมยา" คือการพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างของชีวิตและสังคมด้วยยาหรือเทคโนโลยี ใช่แต่เท่านั้น โลกทัศน์ดังกล่าวยังทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ตื้นเขิน กระทั่งกามารมณ์ก็ถูกลดลระดับมาเป็นเรื่องของร่างกายล้วน ๆ "ผมคิดว่าสิ่งที่ลามกที่สุดในหนังโป๊ ไม่ใช่การร่วมเพศ อวัยวะเพศหรือท่าพิสดารที่ผู้แสดงกระทำ แต่ก็คือการที่หนังโป๊ไม่มีความรัก ไม่มีสารของความอาทรต่อกันระหว่างคู่ร่วมเพศ การกระทำทั้งหมดเป็นการ ' ใช้ ' ร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น"
นอกจากการขาดมิติทางจิตใจแล้ว การเคารพสรรพชีวิต ก็เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากแนวคิดสมัยใหม่ที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน อาทิสิทธิมนุษยชน ดังตอนหนึ่งได้กล่าวว่า "แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนของฝรั่งยังแฝงไว้ด้วยความคิดที่จำกัดมนุษยชนให้เหลือแต่เพียงเผ่าเดียวกัน ชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน หรือสีผิวเดียวกันสืบต่อมานานมาก จนถึงปัจจุบันนี้ก็ว่าได้" ในทัศนะของอาจารย์นิธิ "แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลจริง ๆ คือไม่จำกัดอยู่เฉพาะเผ่าพันธุ์ของตัวเท่านั้น เป็นแนวคิดของศาสนาของเอเชีย โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา" ทั้งนี้เพราะ"พระพุทธศาสนาสอนให้เคารพชีวิต ไม่แต่เฉพาะชีวิตคนเท่านั้น แต่ร่วมถึงชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมโลกเราทั้งหมด"
พร้อม ๆ กับการตั้งคำถามกับโลกทัศน์และวัฒนธรรมกระแสหลักในปัจจุบัน งานเขียนของอาจารย์นิธิก็ตั้งคำถามชาวพุทธอย่างถึงแก่นว่าเป็นชาวพุทธเพียงใด เพราะแท้ที่จริงเราไม่ได้มีโลกทัศน์อย่างชาวพุทธเลย "เพราะโลกทัศน์ของเราถูกวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าครอบงำมาก วิทยาศาสตร์สมัยใหม่นี่แหละ ที่เป็นผู้สถาปนาทัศนคติว่ามนุษย์คือศูนย์กลางของจักรวาล และมนุษย์พึงสัมพันธ์กับโลกรอบตัวด้วยท่าทีที่มุ่งจะพิชิตทุกอย่างรอบตัว ให้มาสยบต่อกิเลสของมนุษย์ให้หมด"
การยอมรับโลกทัศน์แบบนี้แหละที่ทำให้ชาวพุทธไทยยอมรับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่ "ไม่มีอะไรที่เป็นพุทธอยู่ในการพัฒนาของไทยเลย" เนื่องจากการพัฒนา"เน้นการกอบโกยไว้ให้ตัวเองหรือที่เรียกว่ากำไรและความเป็นตัวใครตัวมัน " สิ่งที่ตามมาจากการที่ชาวพุทธไทย"ชอบโมเมว่าแนวคิดการพัฒนากับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างเดียวกัน" ก็คือการ"แปลงให้พระพุทธศาสนาเป็นเพียงคอรัสหรือเฟอร์นิเจอร์ของการพัฒนา"
งานเขียนของอาจารย์นิธิเตือนให้ชาวพุทธหันมาให้ความสำคัญกับโลกทัศน์แบบพุทธ มิใช่เพียงแต่ทำบุญ รักษาศีลเท่านั้น "จะเป็นพุทธหรือไม่เป็นพุทธ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตรปฏิบัติภายนอกเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญกว่าขึ้นอยู่กับจิตใจซึ่งกำหนดท่าทีต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อโลกต่างหาก .น่าเสียดายที่ท่าทีต่อชีวิต ,ต่อสังคมและโลกแบบชาวพุทธที่กล่าวมานี้ดูจะถดถอยไปในหมู่คนไทยที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางในเมือง (ดังนั้น)ชีวิต ,สังคม และโลกของเขาจึงร้อนรน"
ท่าทีของชาวพุทธ อันได้แก่ การตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต การรู้จักสันโดษ การรู้จักคิดถึงคนอื่น การเคารพชีวิต ไม่เฉพาะแต่ชีวิตคน เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งสำคัญซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขเท่านั้น หากยังมีคุณค่าต่อสังคมโดยรวมด้วย เป็นเพราะสังคมไทยละเลยท่าทีและภูมิปัญญาแบบพุทธ จึงประสบปัญหานานานัปการ อาจารย์นิธิชี้ว่าการที่สังคมไทยอ่อนแอจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้นเป็นเพราะ"มองชีวิตเป็นเส้นตรง รวมทั้งความเชื่อมั่นในอนาคตของตนเองอย่างมืดบอด" โดยไม่ตระหนักว่าแท้ที่จริงชีวิตไม่ใช่เส้นตรง แต่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
หากมีท่าทีชีวิตอย่างประการหลัง ก็จะทำให้เรามีความรอบคอบสุขุม แม้จะพลั้งพลาดก็ไม่เกิดผลเสียร้ายแรง "เพียงแต่ถ้านักวางแผนเศรษฐกิจเชื่อว่า ' มันบ่แน่ดอกนาย ' ก็จะไม่ทุ่มทุกอย่างไปสู่การส่งออกประตูเดียว หากต้องให้ความเอาใจใส่แก่เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มากขึ้น เพราะหากวันหนึ่งเกิดส่งออกไม่ถึงเป้า ถึงจะเสียหาย แต่ก็ไม่อับจนเสียทีเดียว เพราะเราพอมีตลาดภายในที่แข็งแกร่งรองรับไว้บ้าง" ในทำนองเดียวกันการพัฒนาที่ขาดสันโดษย่อม"นำไปสู่ความพินาศ พินาศเพราะระบบนิเวศน์ของโลกรับไม่ได้ หรือพินาศเพราะต้องฆ่าล้างผลาญแย่งชิงกันก็ตาม แต่พินาศแน่ "
แม้แต่ความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ อาจารย์นิธิก็เห็นว่ามีคุณค่านานัปการต่อสังคมไทย รวมไปถึงการปฏิรูปการเมืองด้วย ถึงแม้ว่าความเชื่อดังกล่าวจะทำให้ชาวบ้านลงคะแนนเสียงให้แก่นักการเมืองที่ตนรับเงินมา โดยไม่ยอม"เบี้ยว" ก็ตาม ทั้งนี้เพราะ"ถ้าประชาชนพากันเบี้ยวนักการเมืองจอมเบี้ยวเพื่อให้นักการเมืองดี ๆ เข้าไปนั่งในสภา ในไม่ช้านักการเมืองดีๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนเบี้ยวที่เบี้ยวได้ซับซ้อนไปกว่าพวกสอบตกเสียอีก เพราะไม่มีใครเป็นคนซื่อตรงสุจริตอยู่ได้ในสังคมที่ขาดความสุจริตซื่อตรงโดยพื้นฐาน"
อาจารย์นิธิเห็นว่า "ตราบเท่าที่ชาวบ้านไทยขายเสียงด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โอกาสที่เราจะปฏิรูปการเมืองให้เมืองไทยสะอาด มีประสิทธิภาพ และควบคุมได้ก็เป็นไปได้ เพราะเรามีประชาชนที่รู้บาปบุญคุณโทษ" กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อาจารย์นิธิเห็นว่าถึงจะขายเสียงก็ไม่ควรขายศีลธรรม "การเลือกตั้งสกปรกอาจทำลายเยื่อใยความสัมพันธ์บางอย่างที่ชาวบ้านเคยมีต่อกัน แต่ตราบเท่าที่การเลือกตั้งสกปรกยังไม่สามารถทำลายเยื่อใยทางศีลธรรมของผู้คน ตราบนั้นเราก็ยังสามารถมีความหวังกับสังคมของเราได้"
แต่ปัญหาก็คือทุกวันนี้คนที่เชื่อบาปบุญคุณโทษมีน้อยลง เพราะไม่ค่อยเชื่อเรื่องชาติหน้ากันแล้ว ส่วนความเมตตาของชาวพุทธก็จำกัดอยู่เพียงแค่การให้ทาน แต่ปล่อยให้สังคมสร้างความทุกข์ยากแก่ผู้คนต่อไป ขณะที่คนซึ่งรักษาศีลก็พากันสนับสนุนนโยบายพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรไปจากประชาชน หาไม่ก็เอาแต่คัดค้านการทำแท้งโดยไม่สนใจที่จะทำให้ผู้คนมีทางเลือกที่ดีกว่าการทำแท้ง ยิ่งไปกว่านั้น พิธีกรรมทางศาสนาก็ไม่สื่อกับผู้คนแล้ว ยังพระสงฆ์ก็ไม่สามารถเป็นแบบอย่างหรือบันดาลใจให้เกิดท่าทีต่อชีวิตและโลกดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ ในสภาพเช่นนี้พุทธศาสนาจะมีความหมายต่อสังคมไทยได้อย่างไร คำตอบของอาจารย์นิธิก็คือจะต้องมี"การปฏิรูปพุทธศาสนา"อย่างจริงจัง
การปฏิรูปพุทธศาสนา
อาจารย์นิธิเป็นหนึ่งในบรรดานักวิชาการชั้นนำจำนวนน้อยคนที่มีความห่วงใยในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
ในยามที่ผู้คนเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนาโดยเฉพาะการปฏิบัติตัวของพระสงฆ์ จนไม่อยากเอาใจใส่อีกต่อไปนั้น
อาจารย์นิธิไม่เพียงแต่จะเตือนให้คนทั่วไปตระหนักถึงคุณค่าของหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาเท่านั้น
หากยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพระสงฆ์ ถึงกับกล่าวว่า "สังคมไทยควรเป็นสังคมที่มีอุดมคติ
และอุดมคติอันเป็นรูปธรรมนั้นคือ พระสงฆ์หรือวิถีของพระสงฆ์" แต่อาจารย์นิธิไม่ได้ทำเพียงแค่นั้น
หากยังพยายามครุ่นคิดถึงทางออกและมีข้อเสนอออกมาเป็นระยะเพื่อให้พุทธศาสนาในสมัยของเรามีการปฏิรูปอย่างจริงจัง
การปฏิรูปในส่วนแรกคือการอธิบายหลักธรรมทางพุทธศาสนาให้มีความหมายครบถ้วน คือมีทั้งมิติด้านจิตวิญญาณ และมิติทางสังคม ในทัศนะของอาจารย์นิธิ หลักธรรมทางพุทธศาสนาแบบทางการ ซึ่งผ่านการปฏิรูปนับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาละเลยเรื่องโลกุตรธรรมหรืออิสรภาพทางจิตวิญญาณ แต่จะเน้นเรื่องโลกิยธรรมคือมุ่งผลแต่เฉพาะชาตินี้ นี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยจำนวนมากหันเข้าหาไสยศาสตร์เพราะมีความหิวในเรื่องจิตวิญญาณ แต่ไม่สามารถไปหาจากวัดได้ " การเกิดพระพุทธรูปปางแปลก ๆ เช่น ปางพระเจ้าเหยียบโลก นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความคิดทางพุทธศาสนาของคนไทยที่ขาดมิติทางด้านโลกุตตรธรรม ซึ่งเคยแสดงออกผ่านพระพุทธรูปอันมีพระพักตร์อิ่มเอิบสงบนิ่ง การที่คนสมัยนี้ลดพระพุทธเจ้าให้เป็นเพียงบุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ (แทนที่จะเป็นสัญลักษณ์ของโลกุตรธรรม) ทำให้อาจารย์นิธิสรุปว่า "หลวงพ่อเพี้ยน(พระพุทธรูปปางเหยียบโลก) เป็น ' ศิลปะร่วมสมัย ' อย่างน่าตกใจ"
การฟื้นฟูหลักธรรมทางด้านโลกุตตรธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พุทธศาสนาสอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ เพราะคนยุคนี้ต้องการมิติทางจิตวิญญาณเป็นอย่างยิ่ง แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ มิติทางสังคมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องฟื้นฟูหรือนำมาเพิ่มเติมให้แก่หลักธรรมทางพุทธศาสนาที่สอนกันอยู่ในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้เพราะการให้ความสำคัญแก่ปัจจัยทางสังคมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนามาแต่เดิมอยู่แล้ว มิใช่แต่จะเน้นเฉพาะการฝึกฝนในระดับบุคคลเท่านั้น แม้แต่การทำสมาธิภาวนาของพระภิกษุ ก็ยังต้องอาศัยสภาพแวดล้อมทางสังคมหรืออยู่ในชุมชนที่เหมาะสม ดังพระพุทธองค์ได้ตรัสแนะให้แสวงหาสถานที่สัปปายะเอื้อต่อการปฏิบัติ หรืออยู่ในถิ่นที่ไม่มีความวุ่นวาย หาอาหารยาก หรือเดือดร้อนจนผู้คนพากันอพยพหลบหนี เป็นต้น
มีหลักธรรมหลายประการที่อาจารย์นิธิเห็นว่าควรมีมิติทางสังคมด้วย ถึงจะสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ อาทิ หลักคำสอนเรื่องกรรม ในเรื่องนี้อาจารย์นิธิให้ความเห็นว่า "คนไทยมักมองกรรมเป็นเรื่องของบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว บุคคลทำกรรมดีมาน้อยจึงเกิดมาจน .อย่างไรก็ตาม ถ้ามองว่ากรรมยังมีอีกมิติหนึ่งคือกรรมของสังคม ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของความจนนั้นมีสาเหตุมาจากสังคมเอง เช่น เขาทำไร่ทำนาเขาอยู่ดี ๆ ก็ไปอพยพเขาขึ้นไปอยู่บนยอดเขาแห้งแล้ง เพื่อจะเอาที่ดินของเขาไปทำเขื่อน ก็กลายเป็นคนจนรากเลือดอยู่บนเขา ก็เห็นได้อยู่ชัด ๆ ว่ากรรมที่ทำให้เขาจนนั้นเป็นกรรมของสังคมแน่"
เรื่องศีลก็เช่นกัน เรามักเข้าใจว่าปาณาติบาตเป็นการกระทำเฉพาะของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่อาจารย์นิธิเตือนว่ายังมีปาณาติบาตที่เกิดขึ้นได้โดยไม่มีบุคคลเป็นผู้กระทำ เช่นความตายที่เกิดจากความยากจนและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจ และความตายที่เกิดจากการสัญจรด้วยรถยนต์ "ปาณาติบาตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่อาจซัดทอดปัจเจกบุคคลใด ๆ ได้ เพราะไม่มีใครฆ่าใครด้วยกาย,วาจา,หรือใจ เลยต้องยกให้เป็นความผิดของสังคม" อย่างไรก็ตามเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ปาณาติบาตโดยสังคม ก็เกี่ยวข้องกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเราต่างก็ยอมให้ระบบที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำต่ำสูงดำรงอยู่ต่อไป "คำถามก็คือ ถ้าอย่างนั้นการสมยอมเป็นการฆ่าใช่หรือไม่" อาจารย์นิธิเสนอว่าเราควรคิดถึงปาณาติบาต (หรือศีลข้ออื่น ๆ ) ในแง่มุมที่กว้างขึ้น
จริงอยู่เมื่อพูดอย่างเคร่งครัดแล้ว การล่วงศีลนั้นต้องมีเจตนามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าไม่มีเจตนาให้ชีวิตใดชีวิตหนึ่งตกล่วงไป ก็ไม่ถือว่าผิดศีลข้อปาณาติบาต อย่างไรก็ตามความจริงมีอยู่ว่าในสังคมทุกวันนี้ การกระทำของเราแต่ละคนสามารถส่งผลถึงชีวิตของคนอื่นได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนและแน่นแฟ้น ดังนั้นหากต้องการดำรงชีวิตโดยเบียดเบียนผู้อื่นน้อยที่สุด การถือศีลปาณาติบาต (และศีลข้ออื่น ๆ) อย่างเดิม ๆ ย่อมไม่เพียงพออย่างแน่นอน จำเป็นต้องมีความสำรวมระวังเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงการมีหลักปฏิบัติอย่างอื่นมากำกับตนเองมากขึ้น จะโดยการถือศีลข้ออื่นเพิ่มขึ้นหรือขยายความหมายของศีล ๕ ให้กว้างจากเดิมก็แล้วแต่ ทั้งนี้โดยมีสาระสำคัญอยู่ตรงที่การตระหนักว่าการกระทำของเราสามารถส่งผลเสียต่อผู้อื่นได้โดยผ่านกลไกต่าง ๆ ในสังคมด้วย มิใช่ว่าจะกระทบอย่างซึ่ง ๆ หน้าหรือกระทบโดยตรงเท่านั้น การอธิบายหรือขยายความหมายของศีลในลักษณะนี้จะช่วยให้ศีลในพุทธศาสนาเป็นหลักประกันแห่งความสงบสุขในชีวิตและสังคมอย่างแท้จริงสำหรับยุคนี้
ถ้าศีลมีมิติทางสังคมดังกล่าวมา เมตตากรุณาของชาวพุทธ (รวมทั้งการทำบุญ) ก็จะมีความหมายกว้างขึ้น คือไม่ใช่แต่เพียงการให้ทานหรืออาหารแก่คนตกทุกข์ได้ยากเท่านั้น หากยังจะรวมไปถึงการทำกิจกรรมทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนอย่างถึงรากถึงโคน อาจารย์นิธิเห็นว่าเมตตากรุณาในความหมายนี้ จะก่อให้เกิดการร่วมมือกันจนเกิดเป็นองค์กรทางสังคม ซึ่งจะเป็นทางออกสำคัญสำหรับสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะปัจจุบันสังคมกำลังเกิดปัญหานานัปการที่แก้ได้ยาก (เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม ปัญหาทางจิตใจ) เนื่องจากฝากความหวังการแก้ปัญหาไว้กับปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว ปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อมีองค์กรทางสังคมมาเป็นกำลังสำคัญด้วย
มิติทางสังคมนี้อาจารย์นิธิเห็นว่ายังสามารถเอามาใช้กับแนวคิดเรื่องโลกหน้าได้ด้วย ทั้งนี้เพราะ"สังคมและชาติหน้านั้นเป็นแนวคิดเดียวกัน เพราะชาติหน้าคือที่ซึ่งตัวเราหรือคนที่เรารักจะไปผุดไปเกิดในอนาคต อย่างเดียวกับที่สังคมคือที่ซึ่งเราจะฝังลูกหลานของเรา ซึ่งก็คือตัวตนของเรานั่นเอง และคนที่เรารักเอาไว้ในนั้นในอนาคต" หรือถึงไม่เชื่อเรื่องชาติหน้าเลย การสอนพุทธศาสนาโดยคำนึงถึงมิติทางสังคมด้วยก็สามารถสร้างสำนึกในทางศีลธรรมอย่างเดียวกับที่คนสมัยก่อนเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ดังอาจารย์นิธิเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
" ถ้าจะไม่พูดถึงโลกหน้าเลย ก็ต้องพูดถึงสังคมซึ่งเป็นความยืนยงของโลกนี้ เป็นสถานที่จุติของลูกหลานของเราและคนที่เรารักในกาลนานข้างหน้า เป็นสภาวะที่ทำให้เราเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้น แม้ไม่มีชาติหน้า เราก็ยังต้องเอื้อต่อประโยชน์ของสังคมอยู่นั่นเอง" การอธิบายหลักธรรมทางพุทธศาสนาโดยให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมด้วย นอกเหนือจากมิติทางจิตวิญญาณและการประพฤติปฏิบัติส่วนบุคคล จะช่วยให้พุทธศาสนามีพลังในการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แทนที่จะสรุปอย่างห้วน ๆ สั้น ๆ ว่าปัญหาทั้งหลายในโลกนี้เกิดจากโลภ โกรธ หลง ซึ่งเท่ากับไม่ได้ตอบอะไรเลย และอาจเป็นการส่งเสริมความมักง่ายของชาวพุทธในการไม่ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุปัจจัยต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
การคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมยังช่วยให้การส่งเสริมศีลธรรมในสังคมเป็นไปอย่างได้ผล เพราะเมื่อตระหนักว่าศีลธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลอย่างเดียว หากยังมีปัจจัยทางสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย (ทั้งในฐานะสิ่งที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของเรา และสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเราและส่งต่อไปยังผู้อื่น) ดังนั้น เมื่อต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมีศีลธรรม ก็ไม่คิดแต่จะพร่ำสอนวอนย้ำให้ทุกคนจงทำดี ๆ เท่านั้น หากยังต้องพยายามสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางสังคมให้เอื้อต่อการมีศีลธรรม พร้อมกันนั้นก็ส่งเสริมให้ทุกคนได้มีส่วนสร้างสรรค์สังคมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย มิใช่แต่ทำความดีเฉพาะตัวเท่านั้น
ในทัศนะของอาจารย์นิธิในการธำรงศีลธรรมในสังคม (โดยเฉพาะกรณีห้ามทำแท้ง) นักศีลธรรมต้อง"ไม่เพียงแต่ร้องปาว ๆ หากต้องหาทางที่จะทำให้การปฏิบัติตามคีลธรรมเป็นทางเลือกที่น่าเลือก เป็นไปได้ ไม่เจ็บปวดจนเกินไป และเป็นจริงในสังคม" เหตุผลของอาจารย์นิธิก็คือ "ไม่มีอะไรโหดร้ายยิ่งไปกว่าศีลธรรมที่ขาดความรับผิดชอบ"
การปฏิรูปในส่วนที่สองได้แก่การปฏิรูปคณะสงฆ์ เป็นที่รู้กันดีว่าทุกวันนี้พระสงฆ์สูญเสียสถานะและบทบาทไปมาก ในทัศนะอาจารย์นิธิ สาเหตุสำคัญอยู่ที่ปัจจัย ๓ ประการ คือ ๑. ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐ ๒.ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับสังคม และ ๓. การศึกษาของคณะสงฆ์. ทั้ง ๓ ประการเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขชนิด"ยกเครื่อง"กันเลย
แม้ว่าคณะสงฆ์กับรัฐจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแต่โบราณ แต่เพิ่งรัชกาลที่ ๕ นี้เองที่รัฐสามารถเข้าไปควบคุมคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ทั่วราชอาณาจักรโดยผ่านองค์กรปกครองที่รัฐตั้งขึ้นเอง จนคณะสงฆ์กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ แต่ในสายตาของอาจารย์นิธินั่นยังไม่ร้ายเท่ากับเมื่อจอมพลสฤษฎิ์ขึ้นมาปกครองประเทศ เพราะทำให้คณะสงฆ์ถูกครอบงำโดยระบบเผด็จการ และกลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านรัฐ และสนับสนุนนโยบายพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม ผลก็คือคณะสงฆ์สูญเสียการเป็นพลังทางสังคมไปเกือบสิ้นเชิง
นอกจากจะไม่สามารถมีบทบาทสร้างสรรค์ต่อสังคมได้แล้ว (ยกเว้นการริเริ่มของพระภิกษุเป็นรายบุคคล โดยไม่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์แต่อย่างใด) ยังอ่อนแอปวกเปียกจนไม่สามารถจัดการปัญหาอื้อฉาวในคณะสงฆ์ได้เลย ดังกรณียันตระไปจนถึงวัดพระธรรมกาย ขณะที่พระทุศีลอีกมากก็ยังลอยนวลโดยไม่เป็นข่าว ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความอ่อนแอซวดเซที่ลงลึกไปถึงวัดในระดับท้องถิ่น ดังนั้น"พระสงฆ์ไทยเวลานี้จึงเป็นพระสงฆ์อิสระ แทบไม่ถูกควบคุมจากองค์กรของตนเอง ที่ท่านเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ก็นับว่าดีเหลือหลายแล้ว แต่ความดีนี้มาจากบารมีของพระพุทธเจ้า ไม่ได้มาจากการปกครองของคณะสงฆ์"
ปัญหานี้โยงมาถึงปัจจัยประการที่ ๒ อันได้แก่ความสัมพันธ์กับสังคม กล่าวคือเมื่อคณะสงฆ์ไปผูกติดกับรัฐอย่างใกล้ชิด ก็ยิ่งเหินห่างจากสังคม นั่นหมายความว่าพระสงฆ์ไม่เพียงจะเป็นอิสระจากการกำกับดูแลของชาวบ้านมากขึ้นเท่านั้น หากยังตอบสนองความต้องการของสังคมได้น้อยลง และทำให้พระสงฆ์มีความหมายต่อสังคมน้อยลงไปเรื่อย ๆ อาจารย์นิธิเป็นผู้หนึ่งที่เสนออย่างแข็งขันว่า "จำเป็นต้องคืนพระสงฆ์และวัดให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนกำกับดูแล" อย่างน้อยความสัมพันธ์ดังกล่าวจะช่วยถ่วงดุลมิให้รัฐครอบงำคณะสงฆ์ตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงพระธรรมวินัย
ในทัศนะของอาจารย์นิธิ การที่สังคมหรือประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลกำกับพระสงฆ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อคณะสงฆ์เอง แม้ทัศนะดังกล่าวจะถูกโจมตีด้วยข้อกล่าวหาว่า"ฆราวาสปกครองสงฆ์" แต่อาจารย์นิธิเตือนว่า "ไม่มีคณะสงฆ์ที่ไหนในโลกจะสามารถปกครองดูแลกันเอง โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลและกำกับจากสังคมฆราวาสได้" แท้ที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับสังคมในลักษณะนี้ เป็นสิ่งปกติธรรมดาของสังคมไทยมาช้านาน จนเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติสงฆ์ในสมัยจอมพลสฤษฏิ์ ซึ่งทำให้สังคมถูกกีดกันออกไปจากการกำกับดูแลพระสงฆ์อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้หาใช่เพื่อประโยชน์ของคณะสงฆ์ไม่ หากเพื่อ"ริบเอาคณะสงฆ์ไปไว้ในอุ้งมือเผด็จการต่างหาก"
อาจารย์นิธิเสนอว่า จำเป็นจะต้องสร้างสถาบันและกระบวนการที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอำนาจของพระสงฆ์และฆราวาส ทั้งนี้เพื่อให้พระธรรมวินัยเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ ขณะเดียวกันก็จะต้องคิดถึงการจัดองค์กรของวัดเพื่อให้วัดมีฐานอยู่กับชุมชนที่วัดตั้งอยู่ (แทนที่จะพึ่งการอุปถัมภ์จากกลุ่มคนที่อยู่นอกชุมชน ) และเอื้อให้วัดมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในท้องถิ่น (มิใช่ประกอบแต่พิธีกรรม) ทั้งนี้ เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางของชีวิตในชุมชน และมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมทางสังคมพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือในทางธรรม
ถึงแม้อาจารย์นิธิจะไม่มีคำตอบชัดเจนว่าสถาบัน กระบวนการ และการจัดองค์กรดังกล่าวควรจะเป็นอย่างไร แต่การที่อาจารย์นิธิเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ รัฐ กับสังคมหรือประชาชนเสียใหม่ ก็ช่วยขยายมุมมองของการปฏิรูปคณะสงฆ์ให้พ้นจากกรอบเดิม ๆ คือไม่คิดแต่เพียงว่าจะปรับปรุงการปกครองภายในคณะสงฆ์อย่างไร หรือจะกระจายอำนาจแบบใด ผู้บริหารจะได้มาอย่างไร และ พระกลุ่มต่าง ๆ จะมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างไร ฯลฯ ดังที่หลายคนมักยกเอาพระราชบัญญัติการปกครองสงฆ์ปี ๒๔๘๔ เป็นแม่แบบ
ซึ่งในทัศนะของอาจารย์นิธิ พระราชบัญญัติดังกล่าวโดยพื้นฐานก็ไม่ได้ต่างไปจากพระราชบัญญัติฉบับอื่น ๆ ที่ผ่านมา กล่าวคือไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่มีกับรัฐ ยังคงยอมให้รัฐมีอำนาจควบคุมคณะสงฆ์อยู่ ซึ่งจะไม่ช่วยให้คณะสงฆ์พ้นวิกฤตเลย "ถึงจะปรับเปลี่ยน (การปกครองภายในคณะสงฆ์) ไปอย่างไร ก็ไม่ช่วยทำให้คณะสงฆ์มีพลังเพิ่มขึ้นในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคใหม่นี้ได้ดีขึ้น ประเด็นหลักของความเปลี่ยนแปลงก็คือ จำเป็นต้องทบทวนและคิดกันให้มากขึ้น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐ"
ถ้าถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐควรเป็นอย่างไร คำตอบของอาจารย์นิธิก็คือ " ถ้าคณะสงฆ์จะเป็นหลักยึดของสังคมในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอยู่ขณะนี้ได้ คณะสงฆ์จะต้องเป็นอิสระจากรัฐ เพื่อจะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง " อย่างไรก็ตามอาจารย์นิธิยอมรับว่า"ปราศจากอำนาจรัฐโดยสิ้นเชิง ก็ยากที่คณะสงฆ์จะปกครองภายในกันได้เอง ตลอดจนง่ายที่จะเกิดการแตกแยกภายใน"คณะสงฆ์"เดียวกัน" ดังนั้นคณะสงฆ์จึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจบ้านเมืองในการบริหารภายใน แต่ที่สำคัญก็คือ"การควบคุมดูแลคณะสงฆ์นั้น ไม่ควรเป็นภาระของทั้งสองฝ่าย คือองค์กรปกครองของคณะสงฆ์เอง และราชการเท่านั้น ควรเปิดช่องให้สังคมเข้าไปมีส่วนควบคุมดูแลพร้อมกันไปด้วย"
นอกจากการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ กับรัฐและสังคมแล้ว การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์นิธิให้ความสนใจ การศึกษาของคณะสงฆ์นั้นมี ๒ ส่วนคือการศึกษาปริยัติธรรม และการศึกษาทางโลก สำหรับส่วนแรกนั้น ข้อเสนอของอาจารย์นิธิคือควรมีการจัดการศึกษาสำหรับพระทุกระดับอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะบวชหลายพรรษาหรือบวชเพียง ๓ วัน เพราะปัจจุบันคนที่บวชเพียง ๓ วันมีมากมาย โดยที่คณะสงฆ์ไม่ได้เตรียมการสำหรับปัญหานี้เลย คณะสงฆ์ต้องคิดว่า"ทำอย่างไรให้คนมาอยู่กับเรา ๓ วันได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาติดกลับไปด้วย เช่น คนที่บวชหน้าไฟ อย่างน้อยสุดได้ท่าทีของชาวพุทธที่จะมองความตายกลับไปเป็นต้น" ขณะเดียวกันคนที่บวชนาน ๆ ก็ต้องมีหลักสูตรเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งขึ้น มิใช่เพียงแค่เรียนให้รู้ภาษาบาลีเท่านั้น
สำหรับการศึกษาทางโลกนั้น อาจารย์นิธิเห็นว่าสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไม่ควรเดินตามสถาบันการศึกษาของฆราวาสไปเสียทั้งหมด หากควรจัดการศึกษาทางโลกให้มีเนื้อหาแตกต่างออกไป กล่าวคือสอนวิชาต่าง ๆ โดยใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน หรือนำวิธีคิดแบบชาวพุทธมาใช้กับศาสตร์ต่าง ๆ อาทิเช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ แทนที่จะสอนให้รู้วิธีจัดการทรัพยากรให้เกิดกำไรสูงสุด ก็เปลี่ยนมาเป็นการสอนเพื่อให้เกิดธรรมะขึ้นในชีวิตและสังคม มีศาสตร์มากมายที่สามารถมองจากมุมของพุทธศาสนาได้ ไม่ว่านิเวศวิทยาแนวพุทธ จิตวิทยาแนวพุทธ หรือแม้กระทั่งฟิสิกส์แนวพุทธ
แม้ว่าข้อเขียนของอาจารย์นิธิที่พูดถึงการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์จะมีไม่มากนัก และไม่สู้มีรายละเอียด อีกทั้งไม่ค่อยกล่าวถึงการศึกษาธรรมในภาคปฏิบัติอันได้แก่สมาธิภาวนา ทั้ง ๆ ที่อาจารย์นิธิให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาอย่างมาก อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวก็ได้ย้ำว่าการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นส่วนสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ของการปฏิรูปคณะสงฆ์ทั้งหมด หากขาดการปฏิรูปด้านนี้ไป การปฏิรูปคณะสงฆ์ก็จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
การปฏิรูปคณะสงฆ์ดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์อย่างมากกับการปรับบทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทย นี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์นิธิมีข้อเสนออย่างแหลมคม อาจารย์นิธิเห็นว่าบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของพระในยุคปัจจุบันก็คือการเป็นตัวแทนแห่งอุดมคติของพุทธศาสนา เพียงแค่พระมีชีวิตอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ประพฤติตามพระธรรมวินัย ก็ช่วยเหลือสังคมได้มากแล้ว ดังอาจารย์นิธิเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
"พื้นฐานความสำคัญของพระภิกษุต่อสังคมนั้นอยู่ที่ว่า พระภิกษุเป็นการจำลองอุดมคติของพระพุทธศาสนาออกมาในรูปของวิถีและบุคคล พระภิกษุและวิถีชีวิตของพระภิกษุเป็นประจักษ์พยานว่า ความเป็นอยู่ที่ไม่เห็นแก่ตัว,ไม่สะสมวัตถุและเกียรติยศ ฯลฯ เป็นชีวิตที่ไม่เศร้าหมอง และเป็นไปได้จริงในโลก "
คุณค่าหรืออุดมคติดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้ทั้งโลกกำลังถูกครอบงำด้วยโลกทัศน์แบบทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม จนผู้คนไม่คิดอย่างอื่นนอกจากการสะสมความมั่งคั่งและแสวงหาสิ่งเสพปรนเปรอตน นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง และการทำลายธรรมชาติแวดล้อม การที่พระเป็นประจักษ์พยานว่าความร่ำรวยไม่ใช่ความสุข ก็เท่ากับได้เตือนสติผู้คนและเป็นการท้าทายโลกทัศน์ดังกล่าวไปในตัว
อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิธิเห็นว่า พระสงฆ์ในฐานะเป็นตัวแทนแห่งอุดมคติของพุทธศาสนา ยังสามารถทำอย่างอื่นได้อีกนอกเหนือจากการมีชีวิตอยู่อย่างสมถะเรียบง่ายตามพุทธบัญญัติแล้ว อย่างอื่นที่ว่านั้นก็คือ"การเสนอ ' ทางเลือก ' ใหม่จากมุมของของพระพุทธศาสนา" อาจารย์นิธิย้ำว่าสิ่งที่สังคมปัจจุบันต้องการอย่างยิ่งคือ "การมองปัญหาต่าง ๆ จากมุมมองที่เป็นอิสระจากการครอบงำของทุนนิยม บริโภคนิยม และบริโภคนิยม พระอยู่ในฐานะที่จะให้มุมมองอย่างนี้เป็น ' ทางเลือก ' ใหม่แก่ทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นเอกบุคคล หรือสังคม หรือรัฐ" ในทัศนะของอาจารย์นิธิ บทบาทนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าการบริการสังคมในด้านอื่น ๆ เสียอีก ไม่ว่าในด้านพิธีกรรม หรือการทำงานสังคมสงเคราะห์อย่างที่ทำ ๆ กัน คือมุ่งช่วยเหลือแต่เพียงวัตถุหรือด้านกายภาพเท่านั้น
การเสนอทางเลือกใหม่ที่ไปพ้นจากทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยมนี้แหละที่เป็นคุณูปการสำคัญที่พุทธศาสนา (ไม่ใช่เฉพาะพระสงฆ์)จะให้แก่โลกสมัยใหม่ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ คำถามก็คือว่า เวลานี้เป็นไปได้เพียงใดที่พุทธศาสนาจะทำเช่นนั้นได้ ในสายตาของอาจารย์นิธิ ไม่ใช่แต่ คณะพระสงฆ์เท่านั้นที่หมดพลัง พุทธศาสนาในสังคมไทยโดยรวมก็อ่อนแอ ตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายหนึ่ง ดังอาจารย์นิธิเปรียบเทียบว่า
"การแข่งขันระหว่างทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม กับพระพุทธศาสนานั้นเป็นการแข่งขันกันด้านอุดมการณ์ แต่การแข่งขันนี้เป็นการแข่งขันระหว่างยักษ์กับคนแคระโดยแท้" ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ เมื่อมีการพัฒนาแบบทุนนิยมและวัตถุนิยม "พุทธศาสนา(จึง)เป็นเพียงคอรัสหรือเฟอร์นิเจอร์ของการพัฒนา ชัยชนะของโลกทัศน์การพัฒนาทำให้ไม่เหลือบทบาทอะไรที่มีสาระสำคัญให้พระพุทธศาสนาในเมืองไทยอีกเลย"
ความอ่อนแอของพุทธศาสนามีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการไม่ยอมปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง อาจารย์นิธิตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่สังคมมีคนชั้นกลางเติบโตและขยายตัวมาก แต่พุทธศาสนาไทยยังเป็น"ศาสนาของราชสำนักและชาวนา" คำถามก็คือพุทธศาสนาแบบนี้มีคำตอบอะไรให้แก่คนชั้นกลางได้บ้าง คำตอบของอาจารย์นิธิคือ "พุทธศาสนาไทยซึ่งถูกรัฐครอบงำหนักขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีคำตอบให้แก่วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ (คนชั้นกลางที่เป็นอิสระ) ความต้องการที่จะยึดเหนี่ยวศีลธรรมของตนไว้กับ ' สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ' , ความใฝ่ฝันที่จะมีความผูกพันใน ' ชุมชน ' แบบใหม่ของตน,พิธีกรรมสำหรับปลอบประโลมใจให้เผชิญความผันผวนในชีวิตซึ่งต่างจากการขอฝน, ความต้องการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของรัฐไทย ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่วัดในพุทธศาสนาไทยไม่สามารถตอบสนองได้ทั้งสิ้น"
นอกจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิทยาของคนชั้นกลางแล้ว พุทธศาสนาไทยยังไม่สามารถอธิบายให้คนกลุ่มนี้เห็นคุณค่าของชีวิตที่สงบเย็นและเรียบง่าย จนละทิ้งทัศนะแบบวัตถุนิยมได้ ผลที่ตามมาก็คือ คนชั้นกลางหนีจากวัดในพุทธศาสนาเข้าหา"ลัทธิพิธี"นานาชนิดมากขึ้นเรื่อย ๆ
อาจารย์นิธิชี้ว่า การเกิดลัทธิพิธีต่าง ๆ อย่างมากมายในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนากระแสหลักของไทยในปัจจุบัน สานุศิษย์ของลัทธิพิธีนี้หากรวมกันแล้ว มีจำนวนมหาศาล "ยิ่งถ้ารวมเอาหลวงพ่อ,หลวงตา,หลวงปู่ดัง ๆ ที่มีศิษยานุศิษย์ไป ' ขึ้น 'อีกเป็นแสนว่าเป็นลัทธิพิธีเหมือนกัน ก็อาจกล่าวได้ว่าลัทธิพิธีต่าง ๆ ในเมืองไทยมีสาวกอยู่มากกว่าครึ่งของประชากรแน่ ๆ "
เมื่อนำพุทธศาสนามาวางไว้ในท่ามกลางบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีลัทธิพิธีต่าง ๆ ผุดขึ้นมาอย่างดกดื่นทุกหนแห่ง ข้อสรุปของอาจารย์นิธิก็คือ พุทธศาสนาและสังคมไทยกำลังมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ"สังคมไทยกำลังปรับระบบความเชื่อของตนอย่างมโหฬาร ไม่ต่างไปจากเมื่อสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทจากลังกาแพร่หลายเข้ามา" แม้อาจารย์นิธิจะไม่ได้บอก แต่ก็เห็นได้ไม่ยากว่าความแตกต่างของ ๒ สมัยดังกล่าว ส่วนหนึ่งอยู่ตรงที่ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ พุทธศาสนาเป็นฝ่ายแพร่หลายเข้ามาจนตั้งมั่นในสังคมไทย แต่ในพุทธศตวรรษนี้ พุทธศาสนากลับตกเป็นฝ่ายตั้งรับและกำลังเพลี่ยงพล้ำให้แก่ลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ที่แพร่เข้ามา
ข้อสังเกตดังกล่าวเป็นเสมือนคำเตือนของอาจารย์นิธิที่ชาวพุทธควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ควรเข้าใจไปว่า"ตัวการ"ที่ทำให้พุทธศาสนาอยู่ในสภาพดังกล่าวคือ ลัทธิพิธีต่าง ๆ หรือแม้แต่ทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม เพราะปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะทรงพลัง หรือเลวร้ายเพียงใด ความเป็นไปของพุทธศาสนาก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในเป็นสำคัญ วัตถุนิยมไม่อาจทำให้พุทธศาสนาเพลี่ยงพล้ำได้ หากพุทธศาสนารู้จักตอบรับปรับตัวด้วยความรู้เท่าทัน หรือมีพุทธบริษัทที่เข้าถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ สามารถนำธรรมไปปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อีกทั้งสามารถสร้างสรรค์สถาบันและกลไกต่าง ๆ เพื่อให้ธรรมเจริญงอกงามทั้งในระดับบุคคลและสังคม แต่ถ้าพุทธบริษัทบกพร่องเสียเองแล้ว พุทธศาสนาย่อมเสื่อมโทรมไป ใช่หรือไม่ว่า"เรือจะอับปางก็เพราะต้นหน (หาใช่เพราะลมไม่)"
คำลงท้าย
พุทธศาสนากับสังคมไทยนั้นไม่อาจแยกจากกันได้ ต่างพึ่งพาอาศัยกัน พุทธศาสนาจะอยู่ได้ก็ด้วยการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากสังคม
ไม่เพียงการบำรุงด้วยปัจจัยสี่เท่านั้น แต่รวมถึงการกำกับดูแลและปกป้องให้บริสุทธิ์ผุดผ่องต้องตามพระธรรมวินัย
ส่วนสังคมไทยนั้นถึงจะมั่งคั่งพรั่งพร้อมด้วยวัตถุเงินตราและเจริญก้าวหน้าในศาสตร์ต่าง
ๆ เพียงใด ก็ไม่อาจละเลยมิติทางจิตวิญญาณ ซึ่งรวมถึงคุณธรรมและภูมิปัญญาอันเอื้อให้เกิดท่าทีต่อชีวิตและโลกอย่างถูกต้องเกื้อกูล
มิติทางจิตวิญญาณดังกล่าวคือสิ่งที่พุทธศาสนาสามารถให้ได้และให้มาโดยตลอดตราบจนเมื่อไม่นานมานี้
กล่าวโดยสรุปพุทธศาสนาต้องการสังคมไทย ส่วนสังคมไทยก็ต้องการพุทธศาสนา ปัญหาก็คือทุกวันนี้ทั้งสองส่วนต่างเหินห่างจากกันมากขึ้นเรื่อย
ๆ
ท่ามกลางสภาพการณ์อันน่าวิตกนี้ อาจารย์นิธิเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการเชื่อมทั้งสองส่วนเข้าหากัน ในด้านหนึ่งก็โยงพุทธศาสนาให้สัมพันธ์กับบริบททางสังคม ในอีกด้านหนึ่งก็โยงสังคมให้เข้ามาสัมพันธ์กับหลักการทางพุทธศาสนา พร้อม ๆ ไปกับการฟื้นฟูมิติทางสังคมให้แก่พุทธศาสนา อาจารย์นิธิยังพยายามเติมมิติทางจิตวิญญาณให้แก่สังคม อาจารย์นิธิไม่เพียงแต่จะชี้ให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของพุทธศาสนาในสังคมไทยทั้งอดีตและปัจจุบันเท่านั้น หากยังเสนอแนวทางในการเคลื่อนย้ายตำแหน่งแห่งที่ของพุทธศาสนาให้มีความโดดเด่นในสังคมอีกครั้งหนึ่งแทนที่จะถูกข่มหรือบดบังจนเห็นเพียงแต่เงาดังทุกวันนี้ ในเวลาเดียวกันก็กระตุ้นเตือนสังคมให้ตระหนักถึงภัยของวัฒนธรรมทุนนิยมและวัตถุนิยม แล้วหันมาเห็นคุณค่าของพุทธศาสนาเพื่อความไพบูลย์อย่างแท้จริง
ผู้ที่จะเป็นตัวกลางระหว่างพุทธศาสนากับสังคมไทยได้อย่างน่าเชื่อถือและได้ผลนั้น มีไม่กี่คนในเวลานี้ อาจารย์นิธิเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะความสามารถในการเข้าถึงแก่นของพุทธศาสน์และศาสตร์ร่วมสมัยจนสามารถนำมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้อย่างเป็นวิภาษวิธี คือนำมาใช้หนุนเสริมและวิพากษ์ซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดพัฒนาการอันเป็นคุณต่อมนุษย์และสรรพชีวิต ซึ่งก็คือจุดหมายของพุทธศาสนานั่นเอง (และน่าเป็นจุดหมายของศาสตร์ร่วมสมัยด้วยเช่นกัน) พลังทางวิชาการ จริยธรรม และภาษา อันเปี่ยมในงานเขียนของอาจารย์นิธิ ช่วยให้ภูมิปัญญาและสถาบันต่าง ๆ ของพุทธศาสนาได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในแวดวงปัญญาชนและนักวิชาการ และเชื่อว่าพลังดังกล่าวจะสามารถบันดาลใจให้ผู้คนเหล่านี้มาร่วมมือกันอย่างเป็นขบวนการเพึ่อปฏิรูปพุทธศาสนาในอนาคต
บทความนี้มุ่งประมวลแนวคิดและคุณูปการทางพุทธศาสนาของอาจารย์นิธิ โดยการศึกษาข้อเขียน(บางส่วน)ของอาจารย์นิธิเป็นสำคัญ อันที่จริงอาจารย์นิธิไม่ได้เอื้อเฟื้อพุทธศาสนาด้วยการคิดและเขียนเท่านั้น หากยังทำอย่างอื่นด้วย เช่น อุดหนุนพระสงฆ์ทางด้านวิชาการและวิทยาทาน ส่งเสริมกิจกรรมทางพุทธศาสนาในเชียงใหม่และที่อื่น ๆ ซึ่งล้วนมีคุณค่าต่อพุทธศาสนา แต่ด้วยข้อจำกัดของผู้เขียนเอง จึงไม่สามารถประมวลและประเมินกิจกรรมประเภทหลังได้ ดังนั้นจึงจำกัดอยู่เฉพาะการศึกษาผลงานของอาจารย์นิธิที่เป็นงานเขียนเท่านั้น
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com