บทความถอดเทป มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ผาสุก พงษ์ไพจิตร
นำการบรรยายและเสวนา

ชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ภายใต้หัวข้อใหญ่เรื่อง
วิกฤตโลก วิกฤตไทย อะไรคือทางรอด ?

หัวข้อย่อยการบรรยายและการเสวนา ครั้งที่ 2 เรื่อง
"เศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์"
วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544
เวลา 14.30-17.30 น. ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วิทยาเขตวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่

ภายใต้ขบวนการทุนนิยม โลกาภิวัตน์
ประเทศไทยไทยได้เข้าไปผนึกรวมตัวเป็นส่วนหนึ่ง
ของกระแสนี้ตั้งแต่เมื่อใด ?
เราได้สูญเสียอะไรไปบ้าง
และเราจะมีทางออกต่อปัญหานี้อย่างไร ?
รัฐบาล หรือประชาชน อะไรคือคำตอบ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
ส่วนกลางคืน เราต้องอาศัยจินตนาการ
หัวข้อการบรรยายครั้งที่ 2
midnight university
the alternative higher education for people / februry 2001

บทความถอดเทป / ความยาว 28 หน้ากระดาษ A4

ชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / เสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544

กระบวนวิชา : ท้องถิ่นวัฒนากับโลกาภิวัตน์ 101 (Globalization & Localization)
ภายใต้ชื่อ "วิกฤตโลก วิกฤตไทย อะไรคือทางรอด"
การบรรยายและเสวนาครั้งที่สอง หัวข้อ "เศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์"
ผู้นำการบรรยาย : ผาสุก พงษ์ไพจิตร (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : วันนี้เราได้เชิญ อ. ผาสุก จะมาคุยให้เราฟังเรื่องโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ โดยจะมาดูว่าเศรษฐกิจเราผูกพันกับเศรษฐกิจโลกอย่างไร ? และมีผลอย่างไรต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม. ก่อนที่จะเริ่มคือประมาณ 30-40 นาทีแรกนี้ ทางรายการทีทรรศน์ท้องถิ่น(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จะมีการถ่ายและบันทึกเทปโทรทัศน์เฉพาะช่วงแรกนี้เอาไว้ หลังจากนั้นก็จะเปิดเวทีเป็นปกติ

สำหรับท่านอาจารย์ผาสุก พวกเราคงรู้จักกันดีแล้วนะคะ ปัจจุบันทันดำรงตำแหน่งเมธีวิจัยของ สกว. อาจารย์ยังมีหนังสือออกมาหลายเล่ม, อาจารย์สนใจศึกษาเรื่องคอรัปชั่น เรื่องเงินนอกระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอาจจะเคยเห็นในทีวี ที่ได้มีการนำมาออกข่าวมากพอสมควร. แต่ในวันนี้อาจารย์มาพูดให้เราฟังถึง "ระบบเศรษฐกิจโลกอันสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจไทย, ขอเรียนเชิญอาจารย์ค่ะ

ผาสุก พงษ์ไพจิตร : ก็รู้สึกเป็นเกียรติมาเลยนะคะที่ได้รับเชิญให้มาพูดในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในครั้งนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่ง. ที่จริงตอนที่ได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี่ นึกว่าจะเป็นอะไรที่โรแมนติคมากก็คือ สอนกันตอนกลางคืนท่ามกลางแสงเทียน และเสียงเดือน. เพิ่งจะทราบว่าเป็นการสอนตอนเที่ยงวัน

ที่ดิฉันเตรียมมาในวันนี้ ก็ท่าน อ.นิธิ บอกว่า, ขอให้มาพูดเกี่ยวกับว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกส่วนต่างๆได้ขยับเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น, มันเป็นอย่างไร ? และส่งผลกับพวกเราอย่างไรบ้าง ? ดิฉันจะพูดใน 5 หัวข้อด้วยกัน...

หัวข้อที่ 1, จะเริ่มต้นด้วย การวิเคราะห์ว่า ทำไมเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในขณะนี้
จึงมีความเปราะบางมากขึ้น แล้วก็โยงเข้ากันมากขึ้น
หัวข้อที่ 2, พลังหรือปัจจัยต่างๆที่ดึงส่วนต่างๆของโลกเข้ามาใกล้ชิดกัน มีอะไรบ้าง ?
หัวข้อที่ 3, ความสำคัญของกระบวนการโลกาภิวัตน์ในสมัยปัจจุบัน ลักษณะพิเศษของมัน
หัวข้อที่ 4, ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน
หัวข้อที่ 5, เรื่องการกระจุกตัวของอำนาจการผูกขาดทางเศรษฐกิจการเมืองของบรรษัทข้ามชาติ

ตามด้วยข้อถกเถียงกันในเรื่องว่า ทางออกของการที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน
ซึ่งมีบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เป็นตัวละครสำคัญในโลก มีอะไรบ้าง ?
และในท้ายที่สุดนี่ ดิฉันอยากจะส่งประเด็นให้มีการอภิปรายกันระหว่างพวกเรา แทนที่จะเป็นผู้ถูกถามแต่ฝ่ายเดียว

หัวข้อแรก, ทำไมเศรษฐกิจในประเทศต่างๆขณะนี้ทำไมจึงมีความเปราะบางมากขึ้น และโยงกันมากขึ้น ?. เราจะเห็นว่าเมื่อตอนที่เราเกิดวิกฤตในปี 2540 นั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดระบาดไปสู่ประเทศข้างเคียง เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ แล้วต่อมาได้ระบาดไปถึงรัสเซีย แล้วก็บราซิล. ตรงนี้เป็นเพราะอะไร ?

สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง เป็นเพราะว่า...ในช่วงประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมา, มีการขยายตัวของนักลงทุนข้ามชาติ, กลุ่มเดียวกันไม่กี่กลุ่มที่ขยายการลงทุนไปในหลายประเทศในโลก เป็นกลุ่มทุนกลุ่มเดียวกัน. คือไม่ใช่มีอยู่กลุ่มเดียว, แต่มีอยู่ไม่กี่กลุ่ม ซึ่งพวกนี้จะกระจายตัวไปลงทุนในประเทศต่างๆ.

ถ้าเราดูตัวเลขในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เงินลงทุน เงินที่ไหลเวียนในโลกที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางธุรกิจ, มีอยู่...เฉพาะที่ไหลเวียนอยู่ที่นิวยอร์คเพียงแห่งเดียว มีอยู่ประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลล่าร์. อันนี้เรานึกไม่ออกว่ามันใหญ่แค่ไหน. แปลงลงมาเทียบกับประเทศไทย, ประเทศไทยแต่ละปีจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ก็คือ มูลค่าของสินค้าและการบริการที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด, เรานับเทียบดูว่า 1.3 ล้านล้านดอลล่าร์ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนกันที่ศูนย์กลางที่นิวยอร์คเพียงแห่งเดียว คิดเป็นถึง 13 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP หรือรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในแต่ละปี.

และในวงเงินจำนวนมหาศาลที่มีการเคลื่อนย้ายกัน เฉพาะในตลาดที่นิวยอร์คนี่, เพียง 3% เท่านั้นที่เป็นกิจกรรมที่โยงกับ ที่เรารู้กันว่าเป็นเศรษฐกิจจริง หรือ real economy คือการค้าขายสินค้าและบริการ. ร้อยละสามเป็นการค้าขายสินค้าและบริการ, เหมือนกับ import - export พวกนี้. อีก 97% เป็นการลงทุนด้านการเงิน, คือเป็นการไหลเวียนของด้านการเงิน. เช่นมาลงทุนในประเทศไทย ไปลงทุนที่บราซิล ไปลงทุนที่รัสเซีย, ซึ่งบางส่วนจะเป็นการลงทุนในธุรกิจ แต่ส่วนมากแล้วของ 97 % ซึ่งเป็นการไหลเวียนเงินลงทุนนี่ จะเป็นการเก็งกำไร และเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น เหมือนอย่างคนไปเล่นตลาดหุ้น. เป็นการเก็งกำไรระยะสั้นที่น้อยกว่า 7 วัน. ก็คือนักลงทุนเหล่านี้ก็จะเอาเงินไปลงทุนที่รัสเซีย หรือประเทศไทย หรือไต้หวัน ที่ญี่ปุ่น ที่เกาหลีนี่, เอาเงินไปลงทุนและถอนทุนคืนภายใน หรือน้อยกว่า 7 วัน. ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนแบบนี้

เพราะฉะนั้นในขณะนี้ โลกเราจึงตกอยู่ภายใต้วงจรของขบวนการโลกาภิวัตน์ทางด้านการเงิน ที่การหมุนเวียนของเงินลงทุนระหว่างประเทศส่วนใหญ่ เป็นการหมุนเวียนเพื่อเก็งกำไร. คือเงินต่อยอดเป็นเงิน ไม่ใช่เงินเพื่อไปสร้างสินค้าและบริการ. และเมื่อเงินลงทุนเหล่านี้ไหลเวียนไปทั่วโลก โดยกลุ่มของนักลงทุนไม่กี่กลุ่มใหญ่ๆกลุ่มเดียวกัน

ดังนั้น ชะตาชีวิต เศรษฐกิจของประเทศต่างๆจึงถูกกำหนดโดยอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของนักลงทุนกลุ่มนี้. ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีแต่ที่นิวยอร์คแห่งเดียว ก็จะมีนักลงทุนที่นิวยอร์ค ที่ลอนดอน ที่โตเกียว ที่ปารีส ที่เมืองใหญ่ของโลก. แต่ว่าบริษัทที่ทำการลงทุนใหญ่ๆจะผนึกกันอยู่ที่อเมริกา ที่อังกฤษ. ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในประเทศไทยเมื่อปี 2540, มิช้ามินาน โรคนี้ก็ระบาดไปที่ประเทศข้างเคียงถึงอินโตนีเซีย และเกาหลีใต้. เพราะว่าประเทศเหล่านี้ มีนักลงทุนกลุ่มเดียวกันนี้อยู่. เมื่อเกิดปัญหาความตระหนกตกใจขึ้นในเมืองไทย ความตระหนกตกใจนี้ก็จะแผ่ซ่านไปที่ประเทศอื่นๆที่เขาลงทุนอยู่ด้วย. และเมื่อมันเกิดปัญหาขึ้นที่รัสเซีย กลุ่มทุนกลุ่มเดียวกันนี้ก็ถูกผลกระทบอีก ก็จะมีปฏิกริยา มีความหวาดกลัวเหมือนกระต่ายตื่นตูม แล้วก็เป็นกลุ่มทุนกลุ่มเดียวที่ไปลงทุนในประเทศบราซิล แล้วมันก็ต่อไปที่บราซิล

แล้วทำไมมันถึงเป็นประเทศเหล่านี้ ? นี่ก็คือกลุ่มประเทศที่เขาเรียกว่า ประเทศรุ่งเรืองใหม่ หรือ emerging economy, ประเทศรุ่งเรื่องใหม่ๆที่มีอัตราให้ผลกำไรสูง. เงินลงทุนเหล่านี้ เมื่อก่อนมันกระจุกตัวการลงทุนอยู่ที่ยุโรปและอเมริกา เพราะนั้นเป็นแหล่งที่กำไรสูงในช่วงนั้นหรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ยุโรปและอเมริกากำลังตกอยู่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว. ผู้ที่ดูแลการเงินเหล่านี้จึงมองไปทั่วโลก ว่าที่ไหนบ้างมีอัตราดอกเบี้ยสูงที่จะทำให้เขาค้ากำไรได้ดีในเรื่องของการลงทุนทางการเงิน เพราะฉะนั้น เงินเหล่านี้ก็จะสามารถที่จะวิ่งไปในที่ที่มีผลกำไรในรูปของอัตราดอกเบี้ยที่สูงๆได้ แล้วก็แน่นอน ตัวที่เอื้อให้กับการเคลื่อนย้านการลงทุนอย่างรวดเร็วก็คือ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาในการสื่อสารและการโทรคมนาคมซึ่งเกิดขึ้นมาเร็วๆนี้

เพราะฉะนั้น สาเหตุประการที่หนึ่งก็คือ การแผ่ขยายของการลงทุนไปทั่วโลก.
ประการที่สองก็คือ การที่ประเทศเหล่านี้ เมื่ออยู่ในวงจรของการลงทุน ชะตาชีวิตทางเศรษฐกิจก็ถูกกำหนดโดยนักลงทุนกลุ่มเดียวกันเหล่านี้.
ประการที่สาม ประเทศทั้งหลายเหล่านี้มีกระบวนการคล้ายๆกันในการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของตนเอง ที่สอคล้องกับกระบวนโลกาภิวัตน์ในช่วงเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องการเปิดเสรีทางด้านการเงิน.

เพราะฉะนั้นประเทศต่างๆ ขณะนี้ ก็ตกเข้าไปอยู่ในวงจรของขบวนการเปิดเสรีทางการเงินในระบอบเดียวกัน
และตกอยู่ภายใต้ความเปราะบางคล้ายกัน

ที่นี้หัวข้อที่สอง, ที่จะพูดคือว่า มันมีพลังหรือปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งสัมพันธ์และดึงเอาส่วนต่างๆของโลกเข้ามาใกล้ชิดกันหรือผนึกเข้าด้วยกัน ?

อันนี้มีหลากหลายมาก และได้เกิดขึ้นมานานแล้ว นั่นก็คือการค้าระห่างประเทศ. อย่างเช่นประเทศไทย เรามีการค้าระหว่างประเทศกับจีน กับประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยาก็มีการค้าระหว่างประเทศแล้ว. แล้วก็มีเรื่องของการลงทุนข้ามชาติข้ามประเทศ. ในสมัยก่อนการลงทุนข้ามชาติอาจจะไม่มาก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็มีบ้าง, แม้ว่าการคมนาคม การสื่อสารจะไม่ทันสมัยเท่าสมัยนี้ แต่ก็เกิดระบบโพยก๊วน ระบบการส่งเงินข้ามประเทศ, คนที่ดูละครเรื่องชาติมังกรในทีวีก็จะเห็น เป็นการส่งเงินข้ามประเทศโดยใช้คน. การอพยพข้ามชาติ การอพยพแรงงานข้ามชาติ เรารู้กันอยู่ว่าคนจีนเดินทางไปทั่วโลกมานานแล้ว แล้วก็ขณะนี้ ได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ต่างๆ. ที่ไหนขุดทองจะมีแรงงานที่อพยพจากจีนไปอยู่ เช่น ที่แคลิฟอร์เนีย ที่ออสเตรเลีย ทีอัฟริกา หลายแห่งในโลกเกิดขึ้นมานานแล้ว.

ในสมัยใหม่นี้ ขบวนการที่ผนึกโลกเข้าด้วยกัน ที่สำคัญก็มีการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนข้ามชาติ การลงทุนในตลาดหุ้น การกู้ยืมระหว่างประเทศ จนเวลานี้ประเทศต่างๆก็เกิดปัญหาหนี้ระหว่างประเทศ, การลงทุนเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน. และในสมัยปัจจุบัน ผลของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร เช่น ระบบดาวเทียมต่างๆนี่ ทำให้การผนึกโลกเข้าด้วยกันมันรวดเร็วขึ้น.

หัวข้อที่สาม, แม้ว่ากระบวนการผนึกโลกให้ใกล้ชิดเข้าด้วยกัน แม้ว่ามันจะมีมานานแล้ว แต่ในขบวนการโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน มันมีอะไรซึ่งเป็นสิ่งพิเศษ. นั่นก็คือ การเพิ่มบทบาทตัวละคร บรรษัทข้ามชาติ เป็นตัวละครสำคัญในกระบวนการผลิต การลงทุน การเงิน การสื่อสาร. บรรษัทข้ามชาติขณะนี้เป็นตัวละครสำคัญในการผนึกโลกเข้าด้วยกัน หรือว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์ในสมัยปัจจุบันนี้. ซึ่งมีนัยยะของการเข้าควบคุมสถาบันสำคัญๆ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ การทำธุรกิจ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆได้ในบางระดับ. และการเข้าควบคุมการทำงานของระบบรัฐบาลหรือระบบรัฐชาติของประเทศต่างๆ. นอกจากนั้นยังมีบทบาทในเรื่องของการเข้ามีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การควบคุมวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งกระทำผ่านการลงทุนในการโฆษณาอย่างมหาศาล

ถ้าพวกเราดูทีวี ลองสังเกตุว่า ในระยะตั้งแต่เศรษฐกิจวิกฤตนี้ การโฆษณาในทีวีเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เพราะว่ามีการโฆษณาของสินค้าแบบธรรมดาๆมากๆ แต่เป็นสินค้าที่บรรษัทข้ามชาติได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย. อย่างเช่นพวกขนมต่างๆ ซึ่งมันเป็นสินค้าที่ธรรมดาๆมาก มันไม่ต้องการเทคโนโลยีอะไรมหาศาลหรือมีความซับซ้อน แต่ว่ามันกำลังเข้ามาครอบคลุมพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นเยาว์ของเรา ของพวกเรากันเอง. ลูกศิษย์ของดิฉันที่จุฬาฯขณะนี้ เวลาที่เขากินขนม เขาต้องกินกูริโกะ หรืออะไรต่างๆ อันนี้เป็นเพียงส่วนย่อย.

เมื่อก่อนนี้เราเห็นการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติในกิจกรรมที่มันใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รถยนต์ โทรทัศน์ อีเล็คทรอนิคอะไรต่างๆเหล่านี้ แต่เดี๋ยวนี้มันลงมาถึงขนมต่างๆ. แล้วเราก็ถามตัวเองว่า เอ๊! ได้ขนมเหล่านี้มันใช้เทคโนโลยีสูงหรือเปล่า เราจำเป็นต้องกินอาหารเหล่านี้หรือเปล่า. แต่เราจะถูกครอบงำ เด็กๆของเราจะถูกครอบงำไปโดยไม่รู้ตัว และในท้ายที่สุด เราก็จะพบว่า สินค้าขนมของเราบางส่วน ก็อาจจะหายไปจากตลาด. หรือสินค้าขนมที่คนไทยเคยผลิต จะถูกซื้อไปโดยบรรษัทลงทุนข้ามชาติเหล่านี้ ซึ่งมีอำนาจการเงินมหาศาล ที่จะมาใช้เพื่อการลงทุน เพื่อการโฆษณา แล้วก็เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค แล้วก็ทำให้บริษัทขนาดเล็กต้องหลุดออกจากตลาดไป.

ในระดับของการส่งอิทธิพลต่อสถาบันหรือต่อรัฐบาล มันก็จะมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการโฆษณา. เราคงจะเห็นแล้วว่า ในช่วงเศรษฐกิจวิกฤตนั้น บทบาทของ IMF ในประเทศไทยมีมากเพียงไร. ซึ่ง IMF ก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับระหว่างประเทศ ที่มีความผูกพันกับกระบวนการโลกภิวัตน์ในปัจจุบัน เพราะว่า ในอเมริกา ในยุโรป ในบรรดาประเทศ G7 ทั้งหลาย, ธนาคารโลก, IMF, ADB, หรือองค์กรอย่างเช่น OECD, เป็นสถาบันที่โยงกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ แล้วก็มีการประสานงานกันในระดับการวางนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของ การที่ว่าประเทศต่างๆ ควรจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร ? เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ภายใต้อุดมการณ์ที่เราเคยได้ยิน อย่างเช่น Washington Consensus, หรือ เสรีนิยมใหม่, ที่ถือว่ากลไกตลาดเป็นตัวกำหนดที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ.

ทีนี้อยากให้มาดูอีกนิดหนึ่ง ดิฉันกล่าวถึง ความสำคัญของกระบวนการโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน พยายามจะเน้นไปให้เห็นถึงบทบาทของบรรษัทข้ามชาติ ในฐานะเป็นตัวละครที่ผนึกส่วนต่างๆของโลกเข้าด้วยกัน. บรรษัทข้ามชาติผนึกโลกเข้าด้วยกันอย่างไร นอกจากเรื่องของการโฆษณา. ที่สำคัญก็คือ ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นสากล.

ตรงนี้ก็คือว่า สมัยก่อนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ มันจะอยู่ในแต่ละประเทศ แล้วก็จะมีการค้าสินค้า เป็น import - export เป็นการค้าระหว่างประเทศ. แต่ในระยะหลังๆนี้ การค้าระหว่างประเทศก็ยังมีอยู่ แต่ว่ามันหดน้อยลง หลังจากที่บรรษัทลงทุนข้ามชาติทั้งหลายได้แผ่กิจกรรมของตนไป โดยไปลงทุนในประเทศต่างๆ จนกระทั่งในเวลานี้...ถ้าหากว่าดูตัวเลขในเวลานี้ สินค้าอุตสาหกรรมทั้งโลกในเวลานี้, ร้อยละ 20 ของสินค้าอุตสาหกรรม ถูกผลิตโดยบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในประเทศของตนเอง. คือผลิตโดยบริษัทลูก บริษัทที่เป็นเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติในประเทศหลักๆ เช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ประเทศใหญ่ๆเหล่านี้.

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมร้อยละยี่สิบของโลก อยู่ในกำมือของบริษัทที่มีเครือข่ายทั่วโลก ผลิตโดยบริษัทที่มีเครือข่ายเหล่านี้. คือไม่ได้นับรวมบริษัทของตนเอง ที่ประเทศแม่ของตนเอง. สำหรับทั้งโลก ร้อยละสิบ สินค้าบริการของทั้งโลกอยู่ในกำมือของบรัทเครือข่ายของบรรษัทข้ามชาติ. ดูก็ไม่มากนะคะ ร้อยละสิบ, แต่ว่าก็เป็นสินค้าสำคัญๆที่ทุกประเทศใช้.

ถ้ามาดูในระดับประเทศ จะมีความลักลั่น บางประเทศจะตกเข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตที่เป็นสากลนี้กว่าบางประเทศ ยกตัวอย่าง สิงค์โปร์. ในสิงค์โปร์ การผลิตทั้งหมด 70% เกิดจากบริษัทที่ไม่ใช่ชาวสิงค์โปร์ เป็นบริษัทที่มาจากที่อื่นทั่วโลก. ของมาเลเซีย ร้อยละสามสิบ, ของจีนร้อยละสิบ, ของไทยร้อยละสิบห้า, นี่คือเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละสิบห้าของสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทย ผลิตโดยบริษัทลูกๆของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆในโลก

ตัวเลขที่น่าสนใจอีกตัวเลขที่อยากจะชี้ให้เห็น ก็คือว่า ในขณะนี้ ร้อยละแปดสิบห้าของเงินลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เป็นการลงทุนใหม่. การลงทุนใหม่ก็คือ มีเงินลงทุนเข้ามาสร้างโรงงานใหม่. ในภาษาทางด้านเศรษฐศาสตร์เราจะเรียกว่า green investment คือเงินลงทุนที่ยังเขียวอยู่ จะผลิดอกออกผลใหม่.

แต่ขณะนี้ 85% ของเงินลงทุน ของบริษัทข้ามชาติที่มาเกิดในประเทศต่างๆ เป็นการลงทุนที่ไม่ใช่การลงทุนใหม่. เป็นการเข้ามาซื้อหรือควบกิจการ เหมือนอย่างที่เราถูกซื้อหรือถูกควบกิจการเวลานี้ หลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ. Bank ไทยเป็นจำนวนมากถูกซื้อไป มีหุ้นใหญ่เป็นชาวต่างชาติ. Bank นี่ตั้งอยู่แล้ว แต่มีหนี้มาก บริษัทข้างนอกมาซื้อ ชำระหนี้ให้ แล้วก็ซื้อกิจการไป. นี่คือการซื้อหรือควบกิจการ ก็คือบริษัทซึ่งมีอยู่แล้วหลายๆบริษัทในธุรกิจเดียวกัน มีบริษัทยักษ์ใหญ่มาซื้อบริษัททั้งหมดนี้ ควบเป็นกิจการเดียวกัน.

ถ้าใครที่ชอบทางขนมกรอบๆ มันฝรั่งทอด, จะพบว่าขณะนี้ คุณลองสังเกตุดู การโฆษณามันฝรั่ง มีแต่"เลย์"อย่างเดียว. เมื่อก่อนนี้จะมี มันมัน มีอะไรอย่างอื่นอีกหลายอัน แต่ในขณะนี้ "เลย์"ได้เข้ามาควบกิจการ ซื้อบริษัทท้องถิ่นที่ผลิตมันฝรั่งทอดกรอบ แล้วเราก็จะเห็นชั้นวางของที่เคยเป็นชั้นวางของมันฝรั่งทอดหลายๆอย่าง ได้หายไปจนเกือบหมด

นัยะของการที่เงินลงทุน ระหว่างประเทศทั่วโลก, ร้อยละแปดสิบห้า ขณะนี้เป็นการควบกิจการหรือการซื้อกิจการ, นัยะของมันคืออะไร ?

นัยะคือ หมายความว่า การผลิตสินค้าหัตถอุตสาหกรรมทั้งหลายจะอยู่ในกำมือของ บรรษัทลงทุนข้ามชาติสำคัญๆ จำนวนไม่กี่ร้อยแห่งเท่านั้น, มากขึ้นๆทุกวัน. คือการผูกขาดการผลิต การขายสินค้าจะมากขึ้น... ตรงนี้อาจมีนัยะต่อไปด้วยว่า แนวโน้มของสินค้าหัตถอุตสาหกรรม จะสูงขึ้นจากการผูกขาด. หรือถ้าหากว่าไม่ผูกขาดโดยผู้ผลิตผู้เดียว ก็อาจจะเป็นระบบตลาดที่เราเรียกว่า ระบบตลาดผู้ผลิตน้อยราย, 2-3 ราย. แล้วก็ความโน้มเอียงที่ผู้ผลิต 2-3 รายนี่จะมาประชุมตกลงกันตั้งราคาสินค้า หรือแบ่งตลาดกัน. ดังนั้น คนที่ดื่มเบียร์ก็จะสังเกตุว่า ในตลาดเบียร์มันจะมีการแข่งขันของผู้ผลิตน้อยราย.

เมื่อก่อนนี้"สิงห์"กับ"คลอสเตอร์"เป็นผู้ผลิตน้อยราย แข่งขันกัน. ตอนหลังนี้ก็มีการเปิดเสรีเรื่องเบียร์ แล้วก็จะมีเบียร์"ช้าง", มี"ลีโอ", และก็ต่างประเทศเข้ามา ก็กำลังแข่งขันกัน. แล้วเราก็กำลังพบว่า"ช้าง"กำลังนำตลาดอยู่ 68%. "สิงห์"ตกไปแล้ว เพราะว่า"ช้าง"มาจากอภิมหานักลงทุนน้ำเมา ซึ่งมีเงินทุนมหาศาลอยู่เบื้องหลัง แล้วก็มีมาตรการในทางการตลาด ที่จะค่อยๆกลืนสิงห์ไป. แม้กระทั่งบริษัทต่างๆอย่าง"มิทไวด้าร์"นี่ก็รู้สึกว่า กำลังจะต้องล่าถอยไปแล้ว. ก็จะเป็นการสู้กันระหว่างเบียร์ ...เบียร์สิงห์ก็จะต้องลดอำนาจลง, ลีโอก็จะต้องสู้กับบริษัทต่างๆอย่างเช่น ไฮน์เนเก็น หรือว่าบริษัทต่างประเทศอื่นๆ.

อย่างไรก็ตาม, สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมโดยทั่วๆไป ราคาจะสูงขึ้นจากการผูกขาด แล้วประเทศอย่างเราที่ยังผลิตสินค้าเกษตร จะต้องขายสินค้าเกษตรไปแลกกับสินค้าอุตสาหกรรม เราก็จะต้องมีปัญหาในการที่จะต้องซื้อของแพงมากขึ้น และถึงแม้ว่าสินค้าเหล่านี้จะมาผลิตในประเทศเราก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะซื้อสินค้าถูก.

คุณอย่าไปคิดนะคะว่าเบียร์ลีโอเข้ามาตอนนี้ดี เพราะว่าลีโอสามขวดร้อย และบางแห่งอาจจะถูกกว่านั้นอีก. อันนี้เป็น marketing technic ที่จะลดอำนาจของคู่แข่งในระยะสั้นลงไป. แล้วเมื่อลีโอกุมตลาดได้แล้ว คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายราคา...

หัวข้อที่ 4, ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน. จากวิกฤตที่เกิดขึ้นเราจะเห็นว่า ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น ซึ่งมันเข้าไม่ยากเพราะว่า กระบวนการผลิต การลงทุนของระบบเศรษฐกิจสำคัญ คือภาคอุตสาหกรรมและภาคการเงิน และอาจจะเป็นภาคเกษตรบางส่วน มันไม่ได้อยู่ในกำมือของพวกเราอีกต่อไป เพราะฉะนั้นความผันผวนมันจะมีมากขึ้น เมื่อผู้ลงทุนเหล่านี้เปลี่ยนนโยบายการลงทุน จากการที่เขาสามารถจะโยกย้ายการลงทุนไปได้ทั่วๆ. และในภาวะของการเปิดเสรีในระบบการลงทุนและการเงินเช่นนี้ ความผันแปรและขึ้นๆลงๆของระบบเศรษฐกิจ ที่เราเรียกว่าคลื่นเศรษฐกิจนี้ จะยิ่งมีความรุนแรงขึ้น.

เมื่อก่อนนี้ประเทศไทยไม่ค่อยมีหรอก ไอ้ที่ว่า...อยู่ๆ อัตราความเจริญเติบโตจะตกไปเหลือเพียงแค่ 4%. ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เราตกไปครั้งเดียวในช่วงที่โอเปคขึ้นราคาน้ำมัน ในช่วง 1983-84. แต่นับจากนี้ต่อไป จากวิกฤตนี่ เราตกจากความเจริญเติบโตปีละ 7-8% เหลือติดลบ 7. อันนี้คือลักษณะใหม่ของกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่จะนำไปสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ยังไม่สามารถจะปรับตัวได้ทัน.

ประการที่สอง, ความเปราะบางของเศรษฐกิจที่เกิดจาก shock ของการที่เงินไหลเข้าอย่างรุนแรง และเงินไหลออกอย่างรุนแรง ก็จะมีมากขึ้น. และประการที่สาม, การผูกขาดหรือการกระจุกตัว หรือการรวมศูนย์ของอำนาจทุน อำนาจของบรรษัทข้ามชาติในประเทศต่างๆ จะมีมากขึ้น

หัวข้อที่ 5, ก็อย่าเพิ่งตกตกใจ เพราะนี่คือภาพรวมที่เรามองเห็น. ดิฉันอยากจะวิเคราะห์ต่อไปว่า การกระจุกตัวของอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองของบรรษัทข้ามชาติ อาจจะสำคัญมากกว่าการโยงกันของระบบโลกาภิวัตน์. การที่เราต้องไปผูกโยงกับประเทศต่างๆ เป็นอะไรที่มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ที่มันสำคัญไปกว่านั้นก็คือ การกระจุกตัวของอำนาจผูกขาดของบรรษัทข้ามชาติ อำนาจผูกขาดขององค์กรระหว่างประเทศที่โยงกับประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่นองค์กรอย่าง IMF, World Bank อะไรเช่นนี้.

ที่นี้ ผลที่มันเกิดขึ้นกับประเทศไทยนี่ มันก็ไม่ได้เกิดอย่างรวดเร็ว. มันเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่มีพลังสะสมกันมา. วิกฤตเศรษฐกิจเป็นน้ำหยดสุดท้าย. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วแผลงมาเป็นวิกฤตก็คือ การที่เศรษฐกิจไทยได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นๆ ทั้งเงินลงทุนระยะยาว เงินลงทุนระยะสั้น. โดยเฉพาะช่วง 2520 เรื่อยมา จนกระทั่งช่วง 2531-32 ที่มีเงินไหลเข้าจากญี่ปุ่น หรือจากประเทศอย่างเช่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง อย่างมหาศาล.

กระบวนการเหล่านี้ทำให้บรรษัทข้ามชาติ มีกำไรมากและมองหาลู่ทางทำกำไรต่อไปอีก หากว่าสามารถจะชักจูงให้ประเทศไทยเปิดเสรีการลงทุน. เพราะประเทศไทยของเราเพิ่งจะเปิดเสรีการเงินและการลงทุน อย่างมาก ก็เมื่อในช่วงปี 2534-35, ก่อนหน้านี้ก็เปิด แต่ว่า ยังไม่อ้าซ่า, มาอ้าซ่ากับระบบการเงินนี่ 2534-35. และเมื่อเปิดแล้ว บรรษัทเหล่านี้ก็แย่งเข้ามาลงทุน ให้ผู้ประกอบการไทยกู้เงิน และเมื่อเกิดวิกฤตก็ฉวยโอกาส เข้ามากว้านซื้อ ควบกิจการ ทั้งธุรกิจธนาคาร การเงิน และอุตสาหกรรม.

แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะสิ่งที่จะพูดต่อไป ขบวนการโลกาภิวัตน์ มันแผ่ขยายไปก็จริง แต่มีความลักลั่น. มันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในทุกๆหน่วยอณูของชีวิตของเรา. ตัวอย่าง ถ้าคุณไปตลาดเมื่อเช้านี้ ไปซื้อของ ถ้าซื้อผักตำลึง ยอดฝักทอง บวบ ผักบุ้ง เราจะพบว่าผักเหล่านี้มาจากสวนผักที่ปลูกในท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่น เป็นอิสระจากธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติ.

แต่แน่นอน ถ้าคุณซื้อกระหล่ำปลี ก็อาจใช้เมล็ดพันธุ์ หรือใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงที่มาจากต่างชาติ, แต่ผู้ผลิตก็ยังไม่ใช่ต่างชาติ. ถ้าซื้อไก่มาทำแกง เกือบทั้งร้อยก็จะเป็นไก่ซีพี ซึ่งอยู่ระบบการผลิตสากลเหมือนกัน แต่ยังไม่ใช่สากลทั่วโลก เพราะว่าซีพียังไม่ได้ขายไก่ทั่วโลก, ขายไปสหรัฐฯบ้าง ขายไปญี่ปุ่นบ้าง ไปลงทุนที่จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม. เป็นการผลิตสากล แต่เป็นสากลในระดับภูมิภาค.

กลับมาบ้านเอาไก่เข้าเตาไมโครเวฟ ไมโครเวฟอาจเป็นสินค้าที่ผลิตจากญี่ปุ่น จากไต้หวัน จากเกาหลี หรือแม้กระทั่งจากสหรัฐฯ หรืออาจจะผลิตในเมืองไทย แต่ผลิตโดยบริษัทร่วมทุนหรือบริษัทต่างชาติ. บริษัทของประเทศเหล่านี้ อยู่ในกระบวนการผลิตที่เป็นสากลจริงๆ คือเขาจะขายไมโครเวฟไปทั่วโลก ไม่ใช่ในระดับภูมิภาค. และเมื่อเรารอให้ไก่สุก เราไปเปิด internet, ตอนนี้หลายคนใช้ e-mail ใช้คอมพิวเตอร์แล้ว, 99% มีโอกาสว่าคุณใช้ software ของ microsolf. ถ้าใครที่ใช้ window ใครที่ใช้ word มันเป็น software ของ microsolf. และ microsoft นี้เป็นผู้ผูกขาดระดับโลกใน software ตัวนี้. คุณอาจจะบอกว่า ไม่ใช่หรอกอาจารย์ เราใช้ software ปลอม, แต่ก่อนที่มันจะมาปลอมได้ มันจะต้องมีคนใดคนหนึ่งไปจ่ายลิขสิทธิ์ให้กับ microsoft แล้วถึงจะเอามาใช้ได้.

ดังนั้น นัยยะที่กล่าวมาก็คือว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์ มันแผ่ขยายและมีอิทธิพลกว้างขวาง แต่มันไม่สม่ำเสมอ มันไม่เท่าเทียมกันหมด มันลักลั่น. ของบางอย่างยังไม่ได้ถูกควบคุมโดยโลกาภิวัตน์ ยังเป็นท้องถิ่น มีหลายๆส่วนยังผสมปนเปกัน ทั้งท้องถิ่น ทั้งโลกาภิวัตน์. บางส่วนเป็นเพียงระดับภูมิภาค ของบางอย่างเป็นระดับชาติ บางอย่างภูมิภาค มีบางอย่างเป็นโลกาภิวัตน์.

นอกจากนี้เราจะพบว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์มันจะโยงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ก็อย่าไปคิดแต่เพียงว่า ธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น โทรคมนาคม หรืออีเล็คทรอนิคเท่านั้นที่มันเป็นโลกาภิวัตน์. การเงินเป็นธุรกิจเก่า แต่ว่ามันเป็นธุรกิจโลกาภิวัตน์ในขณะนี้ เพราะว่าได้พัฒนาเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้. และหัวใจของการผูกขาดนี่ ถึงแม้มันจะมีความลักลั่น การผูกขาดจากนี้ต่อไปมันจะเพิ่มมากขึ้น. หัวใจของการผูกขาดนี่มันอยู่ที่วัฒนธรรมของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ "การใช้อำนาจแบบกึ่งศักดินา" สามารถจะใช้เงินฟาดหัว ซื้อผู้คนได้.

ในระบบศักดินา พระมหากษัตริย์ฟาดหัวคนโดยการให้ตำแหน่งและอำนาจ ซึ่งส่งต่อไปถึงความมั่งคั่ง. แต่ บรรษัทข้ามชาติจะฟาดหัวคนด้วยเงินอย่างเดียว จ่ายเงินเพื่อตอบแทนการทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำ และซื้อความจงรักภักดีกับบริษัทอย่างยิ่งยอด.

คุณรู้ไหมว่า ถ้าคุณทำงานบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่างริเวอร์บราเดอร์ คุณจะต้องใช้สินค้าของริเวอร์บราเดอร์ทั้งหมดในบ้าน เพราะถ้าเผื่อเจ้านายใหญ่มาเยี่ยมบ้านคุณ แล้วเจอะว่าในห้องน้ำของคุณใช้แชมพูของบริษัทอื่น คุณอาจจะถูกไล่ออก. เขา demand ความจงรักภักดีอย่างยิ่งยอด. ถ้าทำงานไม่ได้ผล ขัดคำสั่ง ไม่จงรักภักดี ไล่ออกทันทีไม่ปรานีปราศรัย.

คุณลองมีเพื่อนเป็นนักการเงิน ลองไปคุยกับเขาดูว่าวัฒนธรรมของคนที่มาทำงานบริษัทการเงิน หรือธนาคาร ใหม่ๆในกรุงเทพฯ เทียบเคียงกับพวกเขาซึ่งเราว่าพวกเขานี่ คิดอะไรเป็นเงินอย่างยิ่งยอดแล้ว. พวกคนทำงานต่างชาติที่เข้ามากับธนาคาร กับบริษัทการเงินใหม่ๆในกรุงเทพฯ ยิ่งร้ายกว่านั้นหลายเท่าเลย. ลองไปคุยกับคนเหล่านี้ดูว่าเขาจะพูดถึงคนเหล่านั้นว่าอย่างไร ?

ย้อนกลับมาเรื่องของบรรษัทข้ามชาติ. ถ้าคุณทำได้สำเร็จ ก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างมหาศาล, ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ จะไล่ออก หาทางให้ออก. ฟังดูแล้วเหมือนพฤติกรรมของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศหรือเปล่าคะ. วัฒนธรรมดังกล่าวนี้ขาดมนุษยธรรม. เงินเป็นเจ้า เป็นใหญ่ที่สุด. และ บรรษัทข้ามชาติ จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้กำไรเท่านั้นเอง.

ดังนั้น เราจะไม่รู้สึกแปลกใจว่า แม้กระทั่งที่ตะวันตกเอง ซึ่งเป็นต้นตอของบรรษัทลงทุนข้ามชาติ มีปฏิกริยาต่อต้านต่อวัฒนธรรมบรรษัทข้ามชาติที่แผ่ขยาย. ยกตัวอย่าง มีนักวิชาการมีชื่อเสียงคนหนึ่งพูดถึงการขยายตัวของธุรกิจผิดกฎหมาย พวก illegal economy อย่างที่ดิฉันศึกษา ว่าเป็นปฏิกริยาต่อต้านบรรษัทลงทุนข้ามชาติ เพราะไม่สามารถจะเข้าไปแข่งขันในตลาดเดียวกันกับบรรษัทเหล่านี้ได้ จึงลงไปใต้ดิน. ใช้กรรมวิธีการทำธุรกิจผิดกฎหมาย เพื่อสร้างความร่ำรวยแข่งกับบรรษัทลงทุนข้ามชาติ.

ประการต่อมา เราพบว่าหลายๆประเทศในยุโรป เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เราเรียกว่า social movement หรือ new social movement เพื่อปกป้องวิถีชีวิตให้ปลอดจากการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติ ธุรกิจขนาดใหญ่. มีขบวนการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม. SME เกิดขึ้นในยุโรปเหมือนกัน.

เมื่อเช้าดูหนังสือพิมพ์, ที่ฝรั่งเศส ประชาชนที่ปารีสก็กำลังประท้วงร้านขายแฮมเบอร์เกอร์. ขบวนการส่งเสริม SME เป็นขบวนการที่มุ่งจะลดอำนาจของบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ และมีขบวนการหันกลับไปสู่การผลิตของธุรกิจขนาดเล็ก ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม. ขบวนการเกิดขึ้นคล้ายๆบ้านเรา เช่น การผลิตเนยแข็งในอังกฤษขณะนี้ มีคนกำลังปฏิเสธการผลิตเนยแข็งแบบโรงงาน แล้วหันไปซื้อเนยแข็งที่ผลิตตามฟาร์มเล็กๆซึ่ง... ก็เหมือนของเราที่ทำกะปิ หรือเต้าหู้ยี้ ก็ต้องมีกระบวนการมาจากฟาร์มเล็กๆ แล้วต่อมาทำเป็นโรงงาน. กะปินี่เราต้องไปแสวงหากะปิจากร้านเล็กๆใช่ไหม ไม่เช่นนั้น เคยมันจะไม่ดี หรือจะมีการผสมอะไรต่างๆ. ขบวนการเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น.

ทางออกที่จะเผชิญหน้ากับกระบวนการโลกาภิวัตน์
นอกจากนี้ ก็มีการอภิปรายกันถึง "ทางออกที่จะเผชิญหน้ากับกระบวนการโลกาภิวัตน์" ที่มี บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ มีวัฒนธรรมที่ไร้มนุษยธรรมได้อย่างไร ? การอภิปรายได้แบ่งออกเป็นสองแนวทางใหญ่ๆคือ

แนวทางที่หนึ่ง, มีกลุ่มที่เสนอว่า บทบาทรัฐบาลหรือรัฐชาตินี่ ยังไม่สูญหาย ยังมีความสำคัญอยู่ ยังไม่ถูกข้ามไปเหมือนอย่างผู้ที่ตื่นเต้นกับเรื่องของโลกาภิวัตน์คาดคิด. เพราะอะไร ? เพราะว่ารัฐชาติยังมีความเข้มแข็งในฐานะที่เป็นสถาบันที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ควรจะลื้อฟื้นให้เป็นตัวต้าน หรือเป็นสถาบันที่จะมาต้านกับ บรรษัทข้ามชาติ.

อันนี้ก็จะมีการถกเถียงกันไปนะคะในแต่ละประเทศว่า บทบาทของรัฐชาติมันเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นไหนแล้ว. ของไทยนี่ บทบาทของรัฐชาติในสมัย ชวน หลีกภัย ถูก IMF ซื้อ, หรือ ชวน หลีกภัย หรือ ชวลิต ตอนนั้นถูกครอบงำโดย IMF เท่าไหร่ ? ขณะนี้เราก็คาดหวังกันว่า บทบาทรัฐชาติที่นำโดยนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 นี่อาจจะ ช่วยเราสู้กับบรรษัทข้ามชาติได้บ้าง แต่ก็ต้องรอดูหน่อยนะคะ ว่าจะไปสู้หรือว่าจะไปสมยอม
แนวทางที่สอง,
การอภิปรายกลุ่มที่สอง, มีกลุ่มที่เสนอว่า รัฐชาตินี่ เชื่อถือมันไม่ได้แล้ว, มันถูกกลืนไปแล้วโดยขบวนการโลกาภิวัตน์. มันอยู่ในความควบคุมของบรรษัทข้ามชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศไปแล้ว. หมดความหวังที่จะตั้งความหวังเอาไว้กับรัฐให้เป็นตัวต้าน. ก็ไปตั้งความหวังให้กับขบวนการของประชาชน พลังอำนาจของประชาชน. จึงสนับสนุนให้ส่งเสริมพลังประชาชนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งกลุ่มที่สนับสนุนวัฒนธรรมชุมชนด้วย. ซึ่งถ้าคุณอ่านงานของอาจารย์รังสรรค์ อาจารย์ก็จะเรียกกลุ่มนี้ว่า "กระแสชุมชนท้องถิ่นพัฒนา". ซึ่งก็มีกระแสมากมาย รวมทั้งกระแสที่ในหลวงท่านได้ดำรัสขึ้นไว้เกี่ยวกับ"เศรษฐกิจพอเพียง"ด้วย.

มาถึงจุดนี้ ดิฉันก็จะขอจบการพูดในวันนี้ แต่อยากจะให้ท่านช่วยอภิปรายกันต่อไปว่า ความเห็นของท่านนี่ ท่านอยากจะฝากความหวัง ไว้กับใคร, กับรัฐชาติในฐานะที่เป็นสถาบันที่จะต้านกับขบวนการโลกาภิวัตน์ หรือขบวนการประชาชนรูปแบบต่างๆ และอยากจะได้รูปแบบใด... ขอบคุณค่ะ

คลิกไปหน้าถัดไป I กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com