ท้องถิ่นวัฒนา กับ โลกาภิวัตน์

หัวข้อการบรรยายครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การเสวนาในหัวข้อ
วิกฤตโลก วิกฤตไทย อะไรคือทางออก ?
ครั้งที่ 3 เสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544
ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ได้รับเกียรติจากท่าน
ศ.เสน่ห์ จามริก (นักวิชาการอิสระ)
มาเป็นผู้นำการเสวนาและการบรรยาย ในเรื่อง
"กระแสชุมชนท้องถิ่น ในยุคโลกาภิวัตน์"

อาจารย์ได้ปูให้เห็นถึงภาพของกระแสโลกาภิวัตน์

ตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ของทุนอุตสาหกรรมนิยมแบบเก่า กับโฉมหน้าใหม่ของกระแสทุน ที่มาพร้อมกับการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ
และสังคมในยุคปัจจุบัน

อาจารย์ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเรียนรู้
และเตือนถึงภัยของฐานทรัพยากร รวมทั้งการรณรงค์เกี่ยวกับการบริโภค

บทความถอเทปของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชั้นเรียน โลกาภิวัตน์ 101 เดือน กพ.44
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
midnight University
member
webboard

สรุปเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการเสวนาเรื่อง"กระแสชุมชนท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์"
โครงสร้างของการนำเสนอ ได้รับการตั้งขึ้นมาในเชิงคำถาม 3 ข้อดังนี้คือ

1. โลกาภิวัตน์ได้พัฒนา และมีความเป็นมาอย่างไร ?
- ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และ
- ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง.

2. ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ เป็นอย่างไร ?
- เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบโลกาภิวัตน์
- โลกาภิวัตน์ได้เข้ามาครอบงำชีวิตจิตใจของชนชั้นนำ

3. เราจะมองทางเลือกอย่างไร จากระแสโลกาภิวัตน์ ?
- "กระแสชุมชนท้องถิ่น"คือทางเลือก.
- แตกหักกับความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ที่เคยเป็นมาในอดีต
- ปกปัก"ฐานทรัพยากร" หมายถึง"ฐานวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น"
- การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของกระแสชุมชนท้องถิ่น
- การสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองของกระแสชุมชนท้องถิ่น
- การพึ่งตนเองของชุมชน ความเป็นอิสระของชุมชน
- การสร้าง"เศรษฐกิจชุมชน"อย่างเป็นเครือข่าย
- เรียนรู้วิทยาการจากภายนอก มองออกไปสู่โลกภายนอก ป้องกันความโดดเดี่ยว
- รณรงค์เรื่องการบริโภค

(เริ่มต้นข้อความถอดเทป)...ความยาวประมาณ 33 หน้ากระดาษ A4

สมเกียรติ ตั้งนโม : สำหรับเสาร์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์นี้ เป็นเรื่องที่ต่อจากคราวที่แล้ว ซึ่งเราจะเสนอเรื่อง"กระบวนการความเป็นท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์". รายการเสวนาของชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งได้เสนอมาแล้วก็คือ "วัฒนธรรมไทยในยุคโลกาภิวัตน์" เสนอโดยท่านอาจารย์ อานันท์ กาญจนพันธุ์. ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเสนอโดยท่านอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ในเรื่อง "เศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์".

สำหรับในวันนี้ เป็นตอนที่ต่อเนื่องกัน ในกระบวนวิชา" โลกาภิวัตน์ 101" ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เราได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ เสน่ห์ จามริก เป็นผู้นำการเสวนาในวันนี้ ในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับ"กระบวนการความเป็นท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์" ซึ่งในขณะที่อาจารย์พูดในช่วง 40 นาทีแรกนั้น เราจะมีการบันทึกเทป เพื่อไปตัดต่อสำหรับออกรายการทีทรรศน์ท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับช่อง 11 สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จ. เชียงใหม่. รายการนี้จะออกอากาศทุกวันอาทิตย์แรกของทุกเดือน ทางช่อง 11 เวลา 12.05 น.- 13.00 น. หากท่านผู้สนใจที่อยากจะชมรายการนี้จากรายการทีทรรศน์ท้องถิ่น ขอให้ติดตามในวันและเวลาดังกล่าวที่แจ้งให้ทราบนี้ ซึ่งจะเป็นการรวมกระบวนวิชา" โลกาภิวัตน์ 101" ทั้ง 4 สัปดาห์ที่เปิดให้มีชั้นเรียนนี้ เข้าด้วยกัน

ช่วง 40 นาทีแรก อาจารย์จะเป็นผู้นำเสนอ แล้วหลังจากนั้นจะเปิดให้วงสนทนาซักถาม หรือจะพูดคุยกัน หรืออภิปรายร่วม แล้วแต่สะดวกนะครับ ต่อไปอีกประมาณชั่วโมงครึ่ง... ผมขอเรียนเชิญท่านอาจารย์เสน่ห์ เริ่มได้เลยครับ

เสน่ห์ จามริก : นมัสการพระคุณเจ้า เพื่อนๆ น้องๆ ลูกๆ. ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณนะครับ ที่ได้ให้เกียรติผมมาร่วมเสวนาในวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกับเรื่องที่พูดมาแล้ว 2 ครั้ง. ผมคิดว่าเรื่องของโลกาภิวัตน์, เรื่องของท้องถิ่น เป็นเรื่องที่จะเป็นปัญหาที่ยืนยาวต่อไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า. ในการจับเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เป็นสิ่งที่ตรงประเด็นที่สุด.

ผมอยากจะนำการเสวนาโดยการตั้งเป็นคำถาม ที่ว่า "3 อย่างไร ?" ซึ่งอาจจะมีการซ้ำซ้อนกับเรื่องที่ อ.อานันท์ และ อ.ผาสุก พูดไปแล้วบ้าง แต่ก็คิดว่าจะมีแนวมองที่หลากหลายออกไป. จุดประสงค์ก็เพื่อจะให้เราได้มองปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น มันมีความซับซ้อน มันมีความหลากหลาย. จุดประสงค์ของผมก็คือว่า ความซับซ้อนและความหลากหลายดังกล่าวนี้ แก่นสารของมันอยู่ที่ตรงไหน ? แล้วก็จะไม่เข้าไปในรายละเอียดอะไรมากนัก

คำถามที่ว่า"3 อย่างไร ?", อันแรกก็คือว่า คงจะต้องย้อนไปพูดถึงเรื่องของโลกาภิวัตน์สักนิดหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำถามที่ว่า โลกาภิวัตน์นั้น ได้พัฒนามาอย่างไร ? โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา. แล้วก็มามีการทวีความร้อนแรงขึ้นในช่วงหลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน และการล่มสลายของจักรวรรดิ์คอมมิวนิสท์. ที่พูดตรงนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า โลกาภิวัตน์นั้น เป็นสิ่งที่มีพลวัตร มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า, การที่จะมองไปถึงเรื่องของท้องถิ่นนั้น เราต้องมองถึงต้นสายปลายเหตุของโลกาภิวัตน์ให้ชัดเจน.

เรื่องของพลวัตรของโลกาภิวัตน์นั้น เราจะต้องให้ความเข้าใจพอสมควร เพื่อที่จะมามองว่า, ...ซึ่งเป็นประเด็นที่สองก็คือว่า, เมื่อมันมีพลวัตรและการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะมองกันอย่างไร ? เราอาจจะมองในรายละเอียดมากมาย เรื่องผลกระทบซึ่งมีต่อเรื่องทางวัฒนธรรม อย่างนั้นอย่างนี้, มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเงิน, ซึ่งผมคิดอยากจะนำเสนอว่า เราจะมองอย่างไร ? ในจุดนี้ผมอยากจะนำเสนอว่า ให้มองในเชิงของผลกระทบต่อ...ในสิ่งที่ผมเรียกว่า"วัฒนธรรมการเรียนรู้". ซึ่งจะเป็นแก่นสารที่นำไปสู่อะไรหลายๆอย่าง และอยากจะให้จับประเด็นตรงนี้ ให้เป็นหลักการเอาไว้ เพื่อที่จะนำไปสู่คำถามที่สามก็คือ
เราจะมองทางเลือกจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่นี้กันอย่างไร ?

"3 อย่างไร ?"นี้จะเป็นคำถาม และความต่อเนื่องกัน

ในประเด็นแรกก็คือว่า โลกาภิวัตน์ได้พัฒนา และมีความเป็นมาอย่างไร ? จุดประสงค์ของผมก็เพื่อจะให้มองสิ่งต่างๆและพลวัตรต่างๆโดยนัยะเชิงประวัติศาสตร์. มิติในทางประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะมีความต่อเนื่องที่ว่า ความเปลี่ยนแปลง จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของมัน เป็นสิ่งที่มีนัยะทางประวัติศาสตร์ที่จะทำความเข้าใจ ในจุดนี้จะพูดเพียงสั้นๆ ย่นย่อที่สุด เพราะข้อมูลรายละเอียดต่างๆคงจะเป็นที่รับทราบกันกว้างขวางพอสมควรแล้ว

ถ้าจะมองดูเรื่องของโลกาภิวัตน์ อาจจะแบ่งเป็นช่วงประวัติศาสตร์ได้สัก 2 ช่วงใหญ่ๆด้วยกัน

คือ... ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง.

สำหรับช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง, ซึ่งกระแสโลกาภิวัตน์ในขณะนั้น ก็มีสมุฏฐานมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม. การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 18 มันก่อให้เกิดระบบทุนนิยมขึ้นมาแบบหนึ่ง ที่เราเรียกกันในภาษาวิชาการว่า"ทุนอุตสาหกรรมนิยม". ผมคิดว่า ตรรกะของทุนอุตสาหกรรมนิยมง่ายๆก็คือ เป็นระบบการผลิตที่อาศัยเครื่องจักร เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะผลิตได้เร็วและได้ปริมาณมาก ด้วยเหตุนั้น โดยตรรกะของ"ทุนอุตสาหกรรมนิยม"ก็คือต้องการแผ่ขยายออกไปทั่วโลก, อันนี้เป็นตรรกะของมัน.

ลัทธิจักรวรรดิ์นิยม เกิดขึ้นมาก็จากจุดตรงนี้, มันไม่ใช่เป็นการล่าเมืองขึ้น หรือเอาดินแดนอะไรต่างๆ... มันเป็นตรรกะของทุนอุตสาหกรรมนิยม ซึ่งต้องการที่จะหาตลาดและวัตถุดิบ...เมื่อผลิตได้เร็ว ผลิตได้ปริมาณมากๆ, แน่นอน ก็ต้องการหาตลาด. และเมื่อผลิตได้เร็ว ผลิตได้มาก, ก็ต้องการวัตถุดิบ. เพราะว่าประเทศมหาอำนาจอุตสาหกรรม เป็นประเทศที่อยู่ในเขตที่วัตถุดิบมีอยู่น้อย และการที่เกิดจักรวรรดิ์นิยมที่ต้องการจะแผ่อำนาจออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในดินแดนที่เป็นภูมิภาคเขตร้อน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อะไรพวกนี้.

การที่ภูมิภาคเขตร้อนนี้ได้ตกเป็นเป้าหมายสำคัญก็เพราะว่า เป็นแหล่งของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ ความหลากหลายทางชีวภาพ อันนี้เป็นเป้ามหาย. เพราะฉะนั้น ตรงนี้ครับ, ความหมายของโลกาภิวัตน์ในยุคของจักรวรรดิ์นิยม ซึ่งสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม การดำรงคงอยู่ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ...คือถ้าไม่มีการแผ่ขยายแบบนี้ ระบบแบบนี้อยู่ไม่ได้, นี่ก็เป็นตรรกะของมัน ซึ่งบังคับผลักดันให้ต้องมีการขยายออกไป.

แต่ในขณะเดียวกัน จุดอ่อนของจักรวรรดิ์นิยมก็มีอยู่ในแง่ที่ว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดอ่อนสองประการด้วยกันที่จะทำให้มันไม่สามารถดำรงอยู่ได้ก็คือ, ประการแรก, เป็นกระแสที่กระตุ้นให้เกิด กระแสชาตินิยม ซึ่งเราก็ทราบดีอยู่แล้วในสงครามทั้งสองครั้ง. ในขณะเดียวกัน ลัทธิจักรวรรดิ์นิยมได้ก่อให้เกิดการแตกแยกภายในของมหาอำนาจอุตสาหกรรมด้วยกัน ก็เป็นการแย่งดินแดน แย่งตลาด แย่งแหล่งวัตถุดิบอะไรพวกนี้. เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ความยั่งยืนต่างๆของระบบทุนอุตสาหกรรมเป็นไปไม่ได้. อย่าลืมนะครับ หลักที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโลกาภิวัตน์ในยุคไหนก็ตาม ก็คือ"ระบบทุนอุตสาหกรรม". อันนี้ก็เป็นที่มาของการล่มสลายของโลกาภิวัตน์ในยุคของจักรวรรดิ์นิยม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง.

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นยุคใหม่ของโลกาภิวัตน์ ในแง่ที่ว่า, ก็ต้องพยายามหาคำตอบในจุดอ่อนของโลกาภิวัตน์ในยุคแรก. กล่าวคือว่า ต้องหาเอกภาพของระบบทุนอุตสาหกรรมนิยมให้ได้. จะมาแบ่งกัน หรือแย่งดินแดนกันเหมือนกับสมัยก่อนหน้านี้ไม่ได้แล้ว. เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่จะเป็นจุดรวมของเอกภาพของ "ทุนอุตสาหกรรมนิยม" ก็คือ "ระบบตลาด" นั่นเอง. ระบบที่เรียกว่า"เศรษฐกิจเสรี" หรือว่า "ตลาดเสรี". หมายความว่า การรวมให้เกิดเอกภาพ เพื่อจะร่วมกันครอบงำตลาดและแหล่งวัตถุดิบด้วยในขณะเดียวกัน

อันนี้ก็เป็นที่มาของคำตอบว่า เพราะอะไรในหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกาภิวัตน์จึง...แทนที่จะเป็นพลังในการแผ่ขยายอำนาจ โดยการออกหน้าเสียเอง, ก็จัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ อย่างที่เรารู้จักกันแล้ว เช่น ธนาคารโลก, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, แล้วก็ GATT, ฯลฯ ซึ่งอันนี้ก็เป็น front หรือด่านหน้า, หรือหัวหอกในการที่จะขยายอำนาจของทุนอุตสาหกรรมนิยมไปทั่วโลก.

สิ่งเหล่านี้ จะออกมาในรูปของกระแสการผลักดันการพัฒนา กระแสการค้า กระแสการเงินการคลัง. ทั้ง 3 สถาบันจะทำหน้าที่เป็นหัวหอกของทุนอุตสาหกรรมนิยม, ภายใต้ลัทธิเศรษฐกิจตลาดเสรี ในหลังสงครามโลกครั้งที่สอง. อันนี้ล่ะครับ ที่เป็นที่มาของการรวมตัวกันของพวก G7, G8 อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้น.

เพราะฉะนั้นตรงนี้ กระแสโลกาภิวัตน์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้ยี่ห้อของเศรษฐกิจตลาดเสรีนี่ ก็จะเป็นกระแสที่ควบคู่กันไปพร้อมๆกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของ เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะเป็นอาวุธที่สำคัญซึ่งทำให้การขยายอำนาจเป็นอย่างรวดเร็ว. แล้วก็ ความหมายของโลกาภิวัตน์ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมองเห็นประเทศเขตร้อนเป็นแหล่งวัตถุดิบนั้น, ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ ก็ทำให้มองเห็นตัวแหล่งวัตถุดิบในประเทศเขตร้อน อย่างของไทย พม่า ของอะไรแถวๆนี้, ไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งซึ่งจะไปเก็บเกี่ยววัตถุดิบ เพื่อเข้าระบบการผลิตอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ก็จะมองแหล่งเหล่านี้ ในเชิงที่ผมขอใช้คำว่า ...แทนที่จะเป็นตัววัตถุดิบ, เป็นทรัพยากร, แต่เขาจะมองเป็น"ฐานทรัพยากร".

ตรงนี้ครับ ที่ทำให้โลกาภิวัตน์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ยี่ห้อของเศรษฐกิจตลาดเสรี มันค่อนข้างเป็นไปอย่างเข้มข้น แล้วก็มีประสิทธิภาพอย่างสูง. ในประการสำคัญ ยังเป็นกระแสที่ไปบ่อนทำลายความเป็นชาตินิยมของประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย. หมายความว่า โลกาภิวัตน์ในยุคของเศรษฐกิจตลาดเสรีนั้น เป็นโลกาภิวัตน์ที่มีการแบ่งสรรอำนาจ ผลประโยชน์ กับชนชั้นนำของประเทศด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนาอย่างของไทยเรา.

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆที่กำลังพัฒนาก็คือ เกิดปัญหาการแบ่งแยกและช่องว่าง ระหว่างชนชั้นนำ กับประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในชนบท, ซึ่งเป็นชนบทที่เป็นแหล่งของฐานทรัพยากร.

ความหมายของชนบทตรงนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งที่จะเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรไปส่งออก เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาจุนเจืออุตสาหกรรม อย่างที่เราทำในช่วงแรกๆ ของการพัฒนาในทางเศรษฐกิจ. ในช่วงหลัง, ช่วงของการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ก็จะมองชนบทว่าเป็น"ฐานทรัพยากร"ที่จะนำมาซึ่งการแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลในเชิงของการผลิต"อาหาร" กับ"ยา"ด้วย.

เราคงทราบว่า "ยา" เป็นตัวที่จะเป็นหัวหอกที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งหมายความว่า มันจะเป็นตัวเข้ามาครอบครอง หรือครอบงำ, ไม่ใช่ในเชิงของผลประโยชน์เท่านั้น. แต่จะเป็นการครอบครองครอบงำในเชิงของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การบริโภค ทั้งหมดนี่ด้วย. เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าลักษณะของโลกาภิวัตน์ ในช่วงภายใต้เศรษฐกิจตลาดเสรีนี่ จึงเป็นโลกาภิวัตน์ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงในระดับของที่เราเรียกว่า"อำนาจนิยม"เท่านั้น. แต่จะเป็นลักษณะของ"อำนาจเบ็ดเสร็จ". คือจะเข้ามาควบคุมและครอบงำทั้งชีวิตจิตใจ ความคิดความอ่าน.

และตรงนี้ละครับ ระบบการศึกษาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็จะเป็นระบบการศึกษาที่มองดูตะวันตกเป็นต้นแบบ. การผลิต โดยเฉพาะการผลิตพวกผู้เชี่ยวชาญ หรือ เทคโนแครท ที่เราเรียกว่ามืออาชีพกันนี่, ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มชนชั้นนำ. เวลาที่ผมพูดชนชั้นนำตรงนี้ ผมไม่ได้หมายความแค่ ผู้นำที่อยู่ในระบบการเมือง หรือระบบราชการ. เดี๋ยวนี้เรามีชนชั้นนำที่ถูกหล่อหลอมจากระบบอุตสาหกรรมนิยมที่จะทุ่มความคิดความอ่าน เชื่อมโยงไปกับกระแสของโลกาภิวัตน์. ตรงนี้ล่ะครับ ช่องว่างมันเกิดขึ้นตรงนี้ แล้วก็เป็นช่องว่างที่ไม่สามารถสื่อสาารกันได้เลย.

ทีนี้เรื่องโลกาภิวัตน์ที่ผมอยากจะพูดเป็นอย่างสุดท้ายก็คือว่า ลักษณะที่เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จตรงนี้ มันจะทวีความรุนแรงเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังของการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของจักรวรรดิ์คอมมิวนิสท์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ อำนาจความเป็นใหญ่ในเศรษฐกิจการเมืองโลก รวมทั้งการทหารของโลก, ไม่มีการดุลย์อำนาจกันอีกต่อไปแล้ว ในระดับเวทีการเมืองโลก. หมายความว่า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เกือบจะเรียกว่าเป็นเจ้าโลก. เพราะฉะนั้น โลกาภิวัตน์จึงมีลักษณะที่เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นอำนาจที่เข้าไปอยู่ภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติ.

พวกสถาบันเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ อย่าง ธนาคารโลก ก็เป็นเพียงหัวหอกของบรรษัทข้ามชาติต่างๆ. การศึกษาและการวิจัย เทคโนโลยี ก็จะอยู่ในกำมือของบรรษัทข้ามชาติ. อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา, หรือผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่างๆ. นี่ก็เป็นสาระ โดยสังเขปนะครับว่า โลกาภิวัตน์ที่เราพูด มันได้พัฒนามาอย่างไร ? มันมีพลวัตรในการเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร ?

พอพูดถึงตรงนี้แล้ว ผมคิดว่า, เราพอสามารถที่จะ project ภาพของปัญหาต่อไปใน 20-30 ปีข้างหน้าว่า"โลกาภิวัตน์"อันนี้ มันคงจะส่งผลกระทบอย่างมากมายในเชิงของการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่จะเข้าไปครอบครอง ครอบงำวิถีชีวิต ความคิด ความอ่าน โดยเฉพาะการบริโภค. การบริโภคก็จะเป็นการบริโภคที่ ได้รับการเสริมส่งอย่างสูงจากเทคโนโลยีต่างๆ.

วิชาความรู้ โดยเฉพาะการศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์นี่ ก็จะเป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือ หรือ กลไกของกระแสโลกาภิวัตน์. ตรงนี้ผมอยากให้ นิสิต นักศึกษา ได้ตระหนักตรงนี้ว่า ในการเข้าไปเรียนตอนนี้ คนหนุ่มคนสาวก็แย่งชิงกันสอบเข้าไปในมหาวิทยาลัยกันเยอะแยะ, คนในรุ่นใหม่ๆอย่างนี้จะได้ไม่เข้าไปตกเป็นเหยื่อของการครอบงำแบบเบ็ดเสร็จ ในเชิงของความคิด ในเชิงของรสนิยม การบริโภคต่างๆเหล่านี้. โดยเฉพาะนิเทศศาสตร์ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญค่อนข้างมาก แล้วพวกเราไม่ค่อยพูดถึงกัน. เราด่าแต่นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์, ตอนนี้เรากำลังมีนักกฎหมาย นักนิติาสตร์ที่กำลังจะเข้ามาครองบ้านเมืองในยุคของการปฏิรูป. แต่ว่านิเทศศาสตร์เรามักจะมองข้ามกันไป.

ผมขอสรุปตรงนี้นะครับว่า โลกาภิวัตน์, ที่ผมพูดมาแค่นี้ ก็คงจะมองเห็นความเป็นพลวัตรว่ามันค่อนข้างรอบด้าน และมีมิติหลายๆอย่างที่เราคิดไม่ถึง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว, คำถามที่สองก็คือว่า

เราจะมองผลกระทบอย่างไร ? ผมได้พูดในตอนต้นแล้วว่า จะขอเน้นในเรื่องของ"วัฒนธรรมการเรียนรู้". ความเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของโลกาภิวัตน์เป็นประการที่หนึ่ง. ประการที่สอง การเข้ามาครอบงำชีวิตจิตใจของชนชั้นนำ ทั้งในระดับของผู้นำทางการเมือง ราชการ วิชาการ แล้วก็ชนชั้นกลาง. สิ่งต่างๆเหล่านี้ หรือกลุ่มคนต่างๆเหล่านี้ ตกอยู่ภายใต้ การครอบงำในทางวัฒนธรรมการเรียนรู้. ผมคิดว่า ปมปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย, เราจะประจักษ์ปัญหาต่างๆมาก หลากหลายซับซ้อน แต่จริงๆแล้ว ปมสำคัญอยู่ที่ตัววิธีคิด ซึ่งผมเรียกว่า"วัฒนธรรมการเรียนรู้".

มันมีช่องว่างอย่างมากระหว่างชนชั้นนำกับสามัญชน. สามัญชนที่ด้อยโอกาส ที่จะเข้าถึงกระแสโลกาภิวัตน์. ปัญหาความยากจน ปัญหาการด้อยโอกาส หลายๆอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากช่องว่างนี้. เป็นปัญหาที่ความจงรักภักดีของชนชั้นนำ มันไปฝากความหวังไว้ที่กระแสของโลกภายนอก. ตรงนี้จะสะท้อนให้เห็นได้จาก นโยบายของรัฐ. นโยบายของรัฐที่เป็นช่องว่าง แล้วไม่สามารถอธิบายกันได้ ไม่สามารถที่จะสื่อสารกันได้ก็ตรงนี้. เป็นกระแสที่เขามองว่า อนาคตของบ้านเมือง รวมทั้งของประชาชนโดยส่วนรวม จะต้องเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์. ทุกวันนี้ ข้อถกเถียงก็จะอยู่ตรงนี้.

จะเห็นว่า ผู้นำทางการเมืองที่ได้มาจากระบบการเลือกตั้งนี่ ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดระบบการเมืองที่สามารถจะตอบปัญหาช่องว่างอันนี้ได้. ในทางตรงกันข้าม เราจะเห็นช่องว่างที่เกิดขึ้นมามากมาย แม้กระทั่งในยุคของรัฐบาลที่มีผู้นำมาจากลูกชาวบ้าน. อันนี้ไม่ได้เป็นของผิดแปลกอะไรเลย. ผมไม่อยากจะมองในแง่ตัวบุคคล แต่อันนี้มันเป็นระบบที่ผมคิดว่า ในจุดนี้จะเป็นจุดที่เราคงต้องพยายามหาคำตอบ. การที่พูดว่าหาคำตอบตรงนี้ ผมไม่ได้หมายความว่า จะหาคำตอบจากผู้นำ.

ผมคิดว่า กระแสของอำนาจเบ็ดเสร็จของโลกาภิวัตน์ เป็นการยากที่เราจะเสนอแนะนโยบายอะไร. เท่าที่เป็นมาตลอดเวลา เราฝากความหวัง ฝากข้อร้องเรียนในเชิงนโยบาย หรือการเรียกร้องต่างๆกับตัวผู้นำ, จริงๆแล้ว มันจะไม่เคยบังเกิดผลเลย แล้วจะไม่มีวันบังเกิดผลด้วย.

เมื่อสักครู่ ได้รับประทานอาหารกลางวัน ก็ยังได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้. ผมก็ตั้งข้อสังเกตุว่า แม้แต่รัฐบาลทักษิณ ก็เช่นเดียวกัน. รัฐบาลทักษิณนั้น ก็เหมือนชนชั้นนำอื่นๆ, ก็ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมการเรียนรู้ของโลกาภิวัตน์เช่นเดียวกันว่า โลกาภิวัตน์นั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด. นโยบายอย่างเช่น การรักษาพยาบาล 30 บาท, กองทุนหมู่บ้าน, หรือว่าการพักการชำระหนี้, จริงๆแล้ว มันก็เป็นเพียงนโยบายที่จะผ่อนคลายความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะชุมชนในระดับรากหญ้า. โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่กับฐานทรัพยากร.

ในตอนต้นผมพูดแล้วว่า โลกาภิวัตน์ภายใต้ยุคของเศรษฐกิจตลาดเสรี นั้นก็คือ เป็นโลกาภิวัตน์ที่มองไปที่ประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเขตร้อน มองในเชิงของการพยายามที่จะเข้าไปครอบครอง ครอบงำฐานทรัพยากร. ไม่ใช่เข้าไปครอบครอง ครอบงำ ในเชิงยึดดินแดน, แต่เข้าไปครอบครอง ครอบงำ ด้วยเทคโนโลยี ทั้งข่าวสารข้อมูล และ เทคโนโลยีชีวภาพ. แล้วเขาก็ผลิตกลไกขึ้นมา ที่เขาเรียกว่า สิทธิในทรพย์สินทางปัญญา.

ระบบสิทธิบัตร อะไรพวกนี้, ก็จะเป็นระบบที่นำเข้ามาสู่การครอบครอง ครอบงำ ฐานทรัพยากรพวกนี้. โดยไม่ต้องใช้กำลังเข้ามาบีบบังคับ. เป็นเพียงใช้สื่อวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยผ่านผู้นำเข้ามา. เพราะฉะนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักธุรกิจ หรือศาสตร์ต่างๆเหล่านี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศาสตร์ที่รองรับความต้องการที่จะเข้ามาครอบงำตรงนี้. โดยการที่ไปช่วยเสริมเรื่องของระบบทรัพย์สินทางปัญญา.

ผมตั้งคำถามและข้อสังเกตุง่ายๆมานานแล้วว่า เพราะเหตุใด กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงไปอยู่ในกระทรวงพาณิชย์. จะเห็นได้ว่า เรามองทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงแลกเปลี่ยน, การส่งออกใช่หรือไม่ ? เพราะว่า การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าไปอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ ก็เป็นช่องทางที่จะให้... เป็นการแลกเปลี่ยนที่เปิดทางสะดวกให้กับการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา คือการใช้ สิทธิบัตร ผูกขาดในเชิงของการกุมอำนาจทางเทคโนโลยีเข้ามา แล้วเราก็แลกเปลี่ยนโดยการผ่อนคลายการส่งออกของเรา ด้วยสิทธิพิเศษอะไรต่างๆ.

ตรงนี้ผมคิดว่า การจัดกลไกการบริหารของรัฐ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นประเด็นที่จะเสนอให้เห็นตรงนี้ว่า เรื่องของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องที่เราค่อนข้างจะไม่พูดถึงกันนัก. แต่ผมคิดว่ามันเป็นระบบที่มีความร้ายแรงค่อนข้างสูง ในการที่จะเปิดทางสะดวก. เราจะเห็นได้ว่า ด้วยระบบอันนี้ เป็นระบบที่ทำให้กลไกของรัฐ ทั้งในด้านของกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ จะกลายเป็นกลไกของการเข้ามาทำหน้าที่ให้กับระบบทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผูกขาดโดยอำนาจอุตสาหกรรมจากภายนอก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา.

ทั้งหมดเหล่านี้ จะเห็นว่ามันมีปัญหาที่สลับซับซ้อน กระทบและสะท้อนไปให้เห็นถึงการจัดกลไกต่างๆข้างต้น. แต่จริงๆแล้วทั้งหมดนี่ ผมคิดว่าเป็นผลจากการที่เราอยู่ภายใต้การครอบงำของวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งมองเห็นโลกาภิวัตน์เป็นวิถีทางที่ดีที่สุด ซึ่งประเทศชาติบ้านเมืองเราจะต้องเดินไปตามนั้น. ก็เป็นปัญหานะครับ เรื่องที่เป็นช่องว่าง ซึ่งเราต้องหาคำตอบ.

ข้อสำคัญก็คือ ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตุสุดท้ายในช่วงนี้ก็คือว่า ความสำคัญของ"ฐานทรัพยากร". ผมคิดว่าในขณะนี้ก็คือ เรามีกระบวนการต่อสู้มากมายในเรื่องของ การพยายามที่จะยืนหยัดในเรื่องของสิทธิของชุมชนต่างๆ. ในขณะนี้เราเดินมาทิศทางที่ค่อนข้างจะเป็นปฏิกริยาธรรมชาติที่สุด ที่จะตอบสนองต่อการคุกคามจากภายนอก ซึ่งจะเข้ามาครอบครอง ครอบงำฐานทรัพยากรอันนี้. แล้วเราก็มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตราที่ 46, 56 อะไรเหล่านี้ ที่มารองรับสิทธิในเรื่องของฐานทรัพยากรตรงนี้. ผมอยากจะหมายเหตุตรงนี้ก็คือว่า รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตราที่ 46, 56 อะไรพวกนี้, ก็เป็นผลอันหนึ่งจากการ... ผมออกชื่อก็ได้ ก็คือ ดร.บวรศักดิ์ ก็เป็นคนหนึ่งซึ่งมาร่วมในการทำการวิจัยเรื่องป่าชุมชนในหลายๆปีที่ผ่านมา. อันนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้นักนิติศาสตร์คนหนึ่งที่เอาวิธีคิด วัฒนธรรมการเรียนรู้ เข้าไปสอดแทรกเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป.

แต่ผมอยากจะมองกระบวนการจุดอ่อนของการปฏิรูปอันนี้ ซึ่งเคยพูดมาหลายๆครั้งว่า กระบวนการปฏิรูปการเมืองในช่วงนี้ เรามองว่า เรามีรูปแบบของประชาธิปไตย รูปแบบของการเมืองภาคประชาชน ค่อนข้างจะครบเครื่อง, อะไรต่างๆอีก เช่น กลไกการเลือกตั้ง มีองค์กรอิสระ มีการเปิดสิทธิเสรีภาพให้กับการเมืองภาคประชาชน ซึ่งผมจะไม่จารนัย, แต่ว่าจริงๆแล้วผมคิดว่า ความซับซ้อนของกระบวนการปฏิรูปการเมืองในช่วงนี้ เรายังแยกไม่ออกระหว่าง เป้าหมายการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของโลกาภิวัตน์.

โลกาภิวัตน์มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เพราะฉะนั้น การปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี่ ในส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่จะเปิดทางสะดวกให้กระแสทุนใหม่ ที่จะเข้ามาแทนที่กระแสทุนเก่า.

อย่าลืมนะครับ ถ้าเราย้อนหลังไปนี่ กระแสทุนเก่าคือกระแสทุนพวกตระกูลต่างๆที่เคยร่วมมือกับ หรือที่เคยเข้าไปรับการอุปถัมภ์จากยุคของเผด็จการทหาร, นี่เป็นพัฒนาการของระบบทุนของไทย, เป็นระบบที่นำมาซึ่งการคอรัปชั่นอะไรต่างๆที่เรากำลังพูดตรงนี้, เป็นระบบที่ ถ้าพูดตามภาษาของโลกาภิวัตน์ก็คือ เป็นระบบที่"ขาดความโปร่งใส" ในสมัยคุณอานันท์, ขาดความรับผิดชอบ, ขาดธรรมาภิบาล(good governance). ศัพท์ต่างๆพวกนี้ เป็นหลักการที่กระแสโลกาภิวัตน์ ช่วงสิบกว่าปี, ภายใต้กระแสของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งผมได้พูดถึงเมื่อสักครู่นี้, มีความต้องการที่จะทลายระบบทุนกระแสเก่าลง

ปฏิรูปการเมืองคราวนี้, วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา 2-3 ปีก็ตาม, บทบาทของ IMF, บทบาทของธนาคารโลก, ในการที่เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจการเงินก็ดี รวมทั้งธนาคารโลกที่ให้ทุนนักวิชาการทำวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายก็ดี ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการล้มละลายอะไรต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า, นี่เป็นกระแสที่รองรับการปฏิรูปในกระแสของโลกาภิวัตน์. ผมอยากจะแยกแยะตรงนี้นะครับ อันนี้ก็เป็นปัญหาของวัฒนธรรมการเรียนรู้อีก เพราะว่า บรรดานักวิชาการ และนักอะไรต่อมิอะไร ก็ถูกทำให้กลายเป็นมือเป็นไม้ เป็นกลไกของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่จะทำการปฏิรูปเพื่อพังทลายกระแสทุนเก่า แล้วก็ปฏิรูปกลไกของรัฐให้เอื้อต่อการเข้ามาซึ่งกระแสทุนใหม่. กระแสปฏิรูปที่พูดถึงนี้ เป็นกระแสปฏิรูปที่อยู่ภายใต้ วัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่ปรับการปฏิรูปให้เข้ากับกระแสของโลกาภิวัตน์.

แต่ว่าในขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง, ซึ่งเป็นกระบวนการปฏิรูปเหมือนกัน แต่ไม่ตรงกัน. มาตรา 46, มาตร 56, ถ้าจะพูดว่าเป็นตัวสะท้อนกระแสปฏิรูปอีกกระแสหนึ่ง, ผมอยากจะแยกแยะตรงนี้นะครับ, เพราะในขณะนี้เราพูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง ค่อนข้างปะปนกัน ถ้าแยกไม่ออกผมคิดว่า บางทีเราไปอาศัยมือนักวิชาการ เราไม่รู้ว่านักวิชาการเขาอยู่กระแสไหน ? เพราะฉะนั้น เราคงต้องชัดเจนเหมือนกันว่า กระแสการปฏิรูปตรงนี้, แนวทางที่เราต้องการนั้นคืออะไร ? ตรงนี้ก็มาถึงประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดก็คือว่า...

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วนี่ เราจะมองทางเลือกอย่างไร จากระแสโลกาภิวัตน์ ? อันนี้ก็เข้ามาถึงเรื่องของการปกครองท้องถิ่น.

ในประการแรก ผมคิดว่าทางเลือกอันนี้, เป็นทางเลือกที่เราไม่อาจจะคาดหวังได้จากชนชั้นนำ. เพราะเหตุผลเกี่ยวกับช่องว่าง เหตุผลของวัฒนธรรมการเรียนรู้ มันเป็นคนละมิติเลย.

ผมไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องไปล้มล้างอะไรทำนองนั้น ซึ่งที่จริงแล้ว เราไม่มีพลังอะไรที่จะไปล้มล้างใดๆทั้งสิ้นในสถานการณ์ที่เป็นอยู่. แต่ที่ผมพูดตรงนี้ ก็เพื่อที่จะให้เราแยกแยะเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น.

มาตราหนึ่งที่ชัดเจนถึงขบวนการปฏิรูปตรงนี้ เน้นหนักไปในทางที่จะเป็นการปฏิรูป, ในเจตนารมณ์ของกระแสโลกาภิวัตน์ก็คือ ...มาตราอะไร, ซึ่งผมจำไม่ค่อยได้, มาตรา 87 อะไรทำนองนี้, ...ที่ว่านโยบายเศรษฐกิจ ก็ต้องเป็นนโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรี และการแข่งขัน... อันนี้ก็เป็นการบ่งบอกอะไรหลายๆอย่าง. เพราะฉะนั้น ในจุดนี้ ถ้าเราจะมองทางเลือกนี่. คิดว่า ในข้อสรุปของผม, "กระแสชุมชนท้องถิ่น"ก็คือทางเลือก.

แล้วตรงนี้ กระแสชุมชนท้องถิ่น ที่เราพูดถึงกันทุกวันนี้, ถ้าจะพูดถึง 2-3 ประเด็นที่พูดมาในตอนแรก, ก็คงจะพอมองเห็นได้ว่า, ก็คงจะเป็น"กระแสชุมชนท้องถิ่น"ที่พุ่งเป้าไปเรื่องของตัว "วัฒนธรรมการเรียนรู้". ที่เน้นตรงนี้เป็นจุดสำคัญก็คือว่า มันจะเป็นทางเลือกที่แตกหัก หรือค่อนข้างแตกหักจากวัฒนธรรมประเพณี ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับประชาชนที่เคยเป็นมาในอดีต.

ความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ที่เคยเป็นมาในอดีตนั้น คงจะต้องมีการแตกหัก. เพราะว่า ถ้ายังมีจุดเชื่อมตรงนี้, อย่างเช่น รัฐบาลทักษิณ, เราจะฝากความหวังไว้ที่กองทุนหมู่บ้าน, การพักชำระหนี้, ในแง่ที่จะให้เป็นกลไก เป็นนโยบายที่นำไปสู่ความเป็นอิสระของชุมชน เป็นเรื่องซึ่งเป็นไปไม่ได้. มาตรการและนโยบายต่างๆเหล่านี้ มีความหมายเป็นเพียงคลี่คลายปัญหา ไม่ให้ปัญหาในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะปัญหาในระดับของฐานทรัพยากรรุนแรงขึ้น... อย่าลืมนะครับตรงนี้นี่, เวลานี้ วิกฤตสำหรับทุนนิยม ทุนอุตสาหกรรมนิยม วิกฤตสำหรับโลกาภิวัตน์ตรงนี้, ไม่ใช่กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่อไปแล้ว. แต่จะอยู่ที่ชุมชน ซึ่งมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับฐานทรัพยากร.

ดังนั้น โลกาภิวัตน์จะมองไปที่ตัวชุมชน กับ ฐานทรัพยากร. แล้วก็ปฏิกริยาของชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่เฉพาะแต่ในสังคมไทย, ผมว่าเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลกเหมือนกัน. ที่ผมพูดตรงนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องการให้เกิดเห็นว่า "ชุมชนท้องถิ่น"เป็นคำตอบจากความคิดของผมเท่านั้น แต่ว่า ผมได้ข้อสรุปนี้จากปรากการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้. มันเป็นปฏิกริยาที่ตอบสนองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ที่มันทวีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งไปถึงตัวฐานทรัพยากร.

ตัวฐานทรัพยากรตรงนี้ มันหมายถึงฐานวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น. เพราะฉะนั้น "วิถีชีวิต" กับ "ฐานทรัพยากร" จึงเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปด้วยกัน. ตรงนี้เป็นทางเลือก. แต่เราจะมองทางเลือกนี้อย่างไร ? เราจะบอกว่า ชุมชนท้องถิ่นเป็นทางออก เป็นทางเลือก เพียงแค่นั้นคงไม่ได้. เราคงต้องพิจารณาว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ความหมายของกระแสชุมชนท้องถิ่นตรงนี้ มันคืออะไร ? ผมก็กลับไปที่หลักคิดของผมก็คือ ตัว"วัฒนธรรมการเรียนรู้".

คือประการแรกทีเดียว ต้องตระหนักว่า การที่จะฝากความหวังให้กับชนชั้นนำ ที่จะมีนโยบายมีมาตรการที่ส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น รักษาไว้ซึ่งความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ตามมาตราที่ 46, โดยลำพังก็ไม่ได้. พูดง่ายๆก็คือ ชุมชนท้องถิ่นจะต้องออกแรงในการเรียนรู้ด้วยตัวของตัวเอง. เพราะฉะนั้น บทเรียนแรกที่จะต้องพูดถึงก็คือ การแตกหักกับระบบอุปถัมภ์ตรงนี้.

แต่การแตกหักตรงนี้ไม่ใช่ของง่ายๆ เพราะว่าในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงรัฐบาลชาติชาย ที่ใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า, แล้วก็เร่งการซื้อขายที่ดิน. กระแสของโลกาภิวัตน์, อย่าลืมนะครับ มันได้ทะลุทะลวงไปถึง ไม่เฉพาะชนชั้นนำในระดับชาติเท่านั้น, แต่ว่ามันได้มาถึงระดับท้องถิ่นด้วย. แล้วนักวิชาการ ก็เสนอแนะการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น มี อบต. อบจ. แต่ความจริงแล้ว, อบต. อบจ. ในช่วงการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เป็น อบต, อบจ. ที่ส่วนใหญ่, สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลายเป็นส้วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์. เพราะฉะนั้น จริงๆแล้วคำตอบไม่ใช่เป็นตัวองค์กรระดับการปกครองท้องถิ่นที่ว่านี้ แต่จะอยู่ที่ชุมชน.

ที่พูดนี้มิได้หมายความว่าจะต้องทอดทิ้ง อบต. อบจ., เราได้ให้ปรากฏการณ์ในหลายๆที่ อย่างเช่นที่บ้านกรูด ที่ประจวบฯ การต่อต้านและการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้านี่. แรกเริ่มเดิมที อบต.ก็อนุมัติโครงการฯ, แต่การต่อสู้ของชาวบ้านจนสามารถที่ตัวผู้นำการต่อต้านเองนี่ ไปเป็นประธาน อบต.ในขณะนั้น. แต่ว่าแก่นสำคัญของมันก็คือตัวชุมชน ไม่ได้อยู่ที่ตัว อบต., อบต.น่าจะเป็นเป้าหมายที่กระแสชุมชนจะต้องเข้าไปยึดครองตรงนั้น. ไม่ใช่ปฏิเสธ อบต.ตรงนี้. หมายความว่า ดึงจุดเชื่อมโยงลงมาให้เป็นหูเป็นตา เป็นปากเสียงของชาวบ้าน ดึงให้มาเป็นองค์กรของท้องถิ่นให้ได้.

สังเกตุนะครับว่าผมแยกระหว่างตัว องค์กรที่เป็นทางการ กับ ตัวชุมชน. ตัวชุมชนนั้นเป็นการเมืองนอกระบบ เป็นการเมืองภาคประชาชน. การเมืองภาคประชาชนไม่ได้อยู่ที่ อบต. แต่การเมืองภาคประชาชน สามารถที่จะเข้าไปอยู่ในการเมืองที่เป็นระดับที่เป็นทางการได้. จุดของการต่อสู้ของชุมชนท้องถิ่นที่มองเห็นได้คือ จะไปฝากไว้ที่รัฐสภาฯ ที่กรุงเทพฯอะไรพวกนี้ ค่อนข้างอ่อนเต็มที, แต่ผมคิดว่า ที่เห็นได้ทันทีคือพวก อบต. แล้วก็จะเกี่ยวพันมากกับเรื่องของการปกปักรักษาฐานทรัพยากร. พูดง่ายๆก็คือ ประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้คือ ฐานทรัพยากร ความมั่นคงของชุมชนอะไรต่างๆพวกนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่สุดของพัฒนาการเศรษฐกิจการเมือง, ไม่เฉพาะของไทยนะครับ แต่ของภูมิภาคด้วย.

และเมื่อสักครู่ ผมได้พูดถึงช่องว่างระหว่างชนชั้นนำกับชาวบ้าน. ผมคิดว่า ถ้าการเมืองตอนนี้มีความเข้มแข็ง สามารถก้าวไปสู่ อบต.ได้, ก็จะสามารถเปลี่ยนการเมืองระดับชาติได้. ความสำคัญจะอยู่ตรงนี้มากกว่า.

ทีนี้ เมื่อตะกี๊ผมพูดแล้วว่า จะมองทางเลือกอย่างไร ? ก็คือ ประการแรกจะต้องแตกหักจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์. การเรียกร้องต่อสู้ของผู้คนระดับรากหญ้านี่ ได้บรรลุไปถึงความสำเร็จในก้าวหนึ่ง ที่สามารถจะดึงให้ชนชั้นนำได้ให้ความสนใจ. จะเห็นได้จากรัฐบาลทักษิณ. ผมคิดว่า พรรคประชาธิปปัตย์จะต้องเรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง. และต่อไปนี้ สิ่งที่คุณทักษิณได้นำเสนอมานี่ ไม่มีทางที่จะย้อนหลังแล้ว. ต่อไปนี้พรรคการเมืองจะต้องแย่งกันเกี้ยวพาราษีชาวบ้าน.

แต่ว่าปัญหาอยู่ที่ว่า ชาวบ้านจะสามารถทำให้มาตรการต่างๆเหล่านี้ เป็นกลไกของตัวเองได้อย่างไร ? คือผมไม่ได้พอใจเพียงแค่มีกองทุน ปีหน้าก็เอากองทุนใหม่อีก คงไม่ใช่อย่างนั้น. เพราะฉะนั้น ตรงนี้ผมเห็นว่า จะมองทางเลือกอย่างไร ? ที่เป็นทางเลือกของชุมชนท้องถิ่น.

เมื่อแตกหักกับวัฒนธรรมอุปถัมภ์แล้ว คงต้องสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง. อัตลักษณ์ของความเป็นชุมชน ซึ่งสายใยที่เคยมีคงต้องสลัดทิ้งไป แล้วก็สร้างอัตลักษณ์ สร้างบุคลิกภาพของการเรียนรู้ใหม่. อย่างเช่น กระแสการปฏิรูปการศึกษาตอนนี้ เราก็ปล่อยให้พวกเทคโนแครท พวกอะไรต่างๆ ที่มานั่งเป็นกรรมการปฏิรูป... แต่ผมดูเรียงตัวไปแล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรปฏิรูปที่ เป็นที่มาของความล้มเหลวทางการศึกษาทั้งนั้นเลย. เพราะฉะนั้น การปฏิรูปการศึกษาตอนนี้ ก็เป็นการปฏิรูปในทางที่จะ ทำอย่างไรที่จะสงวนรักษาผลประโยชน์ อภิสิทธิ์ ...แม้แต่ครูอะไรพวกนี้ ที่ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีหน้ามีตา มีเงินเดือนสูง ก็แค่นั้นเอง. ปฏิรูประบบราชการก็เช่นเดียวกัน ก็จะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น. เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า กุญแจของการปฏิรูปก็จะอยู่ที่ตรงนี้.

คือหมายความว่า เราคงต้องเรียนรู้ให้สร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง. การสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองก็คือ หันกลับมาสู่สิ่งที่เราพูดกันเอาไว้มากมาย คือกลับมาดู ฐานทรัพยากร, ดูวิถีชีวิต ดูภูมิปัญญา. จะต้องฟื้นสิ่งเหล่านี้ให้มีความเป็นตัวตนของตัวเองขึ้นมาให้ได้. แล้วผมคิดว่า มันเป็นความพยายามที่จะฟื้นในสิ่งที่เข้ากับกาลสมัยด้วย.

เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ตอนนี้ กำลังเป็นกระแสที่ได้รับบทเรียนจากการพัฒนาที่ผ่านมาหลายสิบปี ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงนิเวศมากมาย ที่มันก็จะนำไปสู่ความไม่มั่นคงของระบบทุนอุตสาหกรรมนิยมเช่นเดียวกัน. เพราะฉะนั้น ความเป็นห่วงในเรื่องของนิเวศ ของสภาพแวดล้อม ของทรัพยากรพวกนี้, ก็เป็นเรื่องของกระแสชุมชนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับกระแสโลกด้วย. เราน่าจะฉวยโอกาสการเรียนรู้ของโลกตอนนี้ ได้พัฒนาภูมิปัญญา ขีดความสามารถขึ้นมา. นั่นก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะต้องสร้างอัตลักษณ์ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของตัวเอง.

ประการต่อมาก็คือว่า เราคงต้องมองความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ตรงนี้ อย่างเป็นกระบวนการ. คงจะไม่เป็นการเปลี่ยนจากรูปนี้ไปสู่รูปนี้. ผมได้เคยพูดเอาไว้แล้ว ในบทความเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัตน์" ได้พูดถึงว่า กระบวนการท้องถิ่นจะพัฒนาไปนี่ คงจะต้องเริ่มอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อนำไปสู่ความเป็นอิสระของตัวเองอย่างแท้จริง. แล้วคงจะไม่ใช่ความเป็นอิสระของแต่ละชุมชน. เท่าที่มองก็คือว่า มันมีขั้นตอนบางอย่างที่พอจะพูดโดยสังเขปตรงนี้ก็คือว่า

ในขั้นแรก จะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ของ การดำรงชีวิต, การผลิต การบริโภค ให้อยู่ในกระแสของการพอมีพอกินให้ได้. การพอมีพอกิน การพึ่งตนเอง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยตัวเอง เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุด. แน่นอน ฐานะของชุมชนท้องถิ่นในชนบทเรา ไม่เหมือนกันหมดหรอกครับ, บางแห่งก็ฐานะค่อนข้างดี. แต่ว่าโดยทั่วไป ผมคิดว่าจะต้องพยายามทำให้ชุมชนท้องถิ่นที่ค่อนข้างยากจนมากๆ ต้องก้าวไปสู่ระดับของการพึ่งตนเองในเรื่องปากท้องให้ได้. แล้วจากจุดนั้น มันก็จะพัฒนาในก้าวต่อไปได้.

ผมจำคำของครูเกื้อ ที่สุรินทร์ได้ว่า... เขาบอกว่า "คนอีสานนี่ ถ้าท้องอิ่มแล้วก็มีศักดิ์ศรี" ผมว่าอันนี้จริงเลย, คนเราถ้าเผื่อตรงนี้พอเพียงแล้ว มันก็มีศักดิ์ศรีที่จะก้าวต่อไป. ตรงนี้ เศรษฐกิจก็จะเป็นเศรษฐกิจที่มีการแปรรูปอะไรต่างๆขึ้น.

ตรงนี้ผมคิดว่าอยากจะให้ความสนใจในเรื่องการมีส่วนผลักดันในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาขึ้น คือไม่ใช่ปล่อยให้เทคโนแครทที่กรุงเทพฯว่ากันไป. ตรงนี้คิดว่าชุมชนท้องถิ่นทุกแห่งที่รวมตัวกันได้ แม้แต่สมัชชาคนจน คงจะต้องมองไปที่ชุมชน มองไปที่ฐานทรัพยากร มองไปที่เรื่องที่ดิน ...ซึ่งเดี๋ยวผมจะพูดเรื่องการปฏิรูปที่ดิน. ตรงนี้ผมคิดว่าต้องไปวางรากฐานตรงนั้นให้ได้. แล้วเราก็จะก้าวเดินไป สู่เศรษฐกิจที่มันจะเติบโตขึ้น มีการแปรรูป มีการรู้จักใช้ภูมิปัญญา ใช้วัสดุในท้องถิ่น ซึ่งค่อนข้างมีพอสมควร โดยเฉพาะ ผมคิดว่า การแปรรูปเป็นธุรกิจ เป็นอุตสาหกรรมได้, ที่ผมเห็นนี่ ก็คือ "อาหาร" กับ "ยา" ในชนบท อันนี้เป็นจุดแข็ง. แต่ว่า ถ้าเราปล่อยไป ธุรกิจอาหารกับยาก็จะกลายเป็นเหยื่อโอชะของคนในกรุงนั้นมากกว่า ผมอยากให้มองจุดแข็งตรงนี้.

ในสังคมไทย ในชุมชน มันก็มีพรสวรรค์ มีขีดความสามารถ มีภูมิปัญญาอย่างมากๆในเรื่องอาหารกับยา. ใครก็ตามที่สนใจในเรื่องของแพทย์แผนไทย ในเรื่องของอะไรต่างๆ, ผมอยากจะให้เราได้เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้สามารถที่จะพัฒนา เรื่องการแพทย์แผนไทย การนวด การใช้สมุนไพร อาหารการกิน พวกนี้ให้มันเกิดคุณภาพชีวิตขึ้นมา.

สิ่งเหล่านี้ อย่าทำเป็นเล่นไปนะ, ยังมีจุดอ่อนเยอะ. ผมไปเห็นที่อีสานนี่มีจุดอ่อนเยอะ อาหารการกินมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ว่าก็ยังชอบกินปลาดิบกันอยู่ เป็นต้น. เพราะฉะนั้น วิทยาการสมัยใหม่ก็สามารถที่จะเข้าไปช่วยขยายให้ สิ่งที่มันเป็นภูมิปัญญาอยู่แล้ว สามารถที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตได้.

และสุดท้ายยที่ผมมองก็คือ, อีกสองขั้นตอน ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นจุดหมายปลายทางของการพัฒนาของกระแสชุมชนท้องถิ่น, คือ การก้าวไปสู่"ความเป็นเครือข่าย" แล้วก็สร้างสิ่งที่ผมเรียกว่า "เศรษฐกิจชุมชน"ขึ้น. เศรษฐกิจชุมชนไม่อาจเป็นไปได้ ถ้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจของแต่ละชุมชน แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนอะไรต่างๆพวกนี้. เพราะว่า เศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ต้องการความหลากหลาย มีการ, ในภาษาของอดัม สมิทธ์, มีการแลกผลงานกัน แลกความชำนาญ ต่างๆภูมิภาค ต่างท้องถิ่น ไม่เหมือนกัน. ตรงนี้ครับ ก็จะสามารถทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตขึ้นมาได้.

ทั้งหมดที่ผมพูดนี่ก็เพราะว่า ความจำเป็นที่ต้องพัฒนาเป็นกระบวนการไปสู่"ความเป็นเครือข่ายของเศรษฐกิจชุมชน" เพราะว่า มันจะเป็นทางเลือกทางเดียวที่ผมมองเห็น ที่จะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลที่จะรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้. ผมคิดว่า ลำพังของการพึ่งตนเองของแต่ละชุมชนนั้นไม่เพียงพอ เพราะการคุกคามของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่อนข้างกว้างขวางและเข้มข้นด้วย. เพราะฉะนั้น ตรงนี้จะเป็นฐานที่จะต้องอยู่ในระดับที่สามารถจะรับมือได้.

ที่พูดตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าจะหันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัตน์. ตรงนี้ผมได้เรียนมาแล้วว่า กระแสความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน จะทำให้การเมืองของรัฐได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปได้. ไม่ใช่จะมาคอยฟังว่านายกฯ หรือหัวหน้าพรรคการเมืองคนใหม่มีอะไรให้ชาวบ้านบ้าง. คงไปไม่ได้แล้วตอนนี้. จะต้องเอาสิ่งเหล่านั้นมาสร้างระบบของตนเองให้ได้. ตรงนี้เป็นการท้าทายนะครับ. กองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้ อะไรต่างๆพวกนี้ ผมว่าเป็นการท้าทายพวกเราที่นั่งกันอยู่แถวๆนี้ว่า เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้มาเป็นสมบัติของชุมชนท้องถิ่นให้ได้. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมขอเน้นคำว่า"ฐานทรัพยากร"อีกครั้ง. ผมคิดว่า ฐานทรัพยากร เป็นฐานที่มีความสำคัญที่สุด ที่จะทำให้สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดมีความเป็นไปได้.

อย่างเช่นว่า กองทุนหมู่บ้าน หรืออะไรต่างๆพวกนี้, ภารกิจอันแรกก็คือ การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ของน้ำ ของป่า แล้วก็การเรียนรู้ถึงวิทยาการในเรื่องของพันธุกรรม ในการที่จะเอาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่เรามีอยู่, สามารถที่จะพัฒนาให้เกิดมูลค่าขึ้น. ต่างๆเหล่านี้เป็นการอาศัยการเรียนรู้ในเรื่องวิทยาการสมัยใหม่ทั้งสิ้น. ดังนั้น ภารกิจคงไม่ใช่ว่า เรามีเสียงดัง สามารถเดินขบวน จนกระทั่งผู้นำทางการเมืองต้องประกาศนโยบายช่วยชาวบ้าน. มันไม่ได้จบแค่นั้นแล้ว. เพราะว่าผู้นำทางการเมืองของไทยก็ไม่ได้อยู่ในสูญญากาศ เขาก็อยู่ภายใต้การกดดันของโลกาภิวัตน์ แล้วเขาก็นิยมชมชื่อกับกระแสโลกาภิวัตน์ด้วย

ในขณะเดียวกัน กระแสโลกาภิวัตน์ ก็มีอะไรหลายๆอย่างที่เอื้ออำนวยแก่ กระแสชุมชนท้องถิ่น. เพราะว่า กระแสโลกาภิวัตน์ตอนนี้นี่ ความที่เขาต้องการที่จะมาทำลายกระแสทุนเก่า เขาก็อ้างหลักการดีๆหลายอย่าง เช่น ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ การไม่คอรัปชั่น อะไรพวกนี้. ตรงนี้มันเป็นอาวุธของกระแสชุมชนท้องถิ่นได้.

เพราะฉะนั้น รวมความในขณะนี้ก็คือว่า ชุมชนท้องถิ่นตรงนี้ มีโอกาสดีกว่าชุมชนท้องถิ่นในสมัยของยุคที่มีการต่อสู้ระหว่างโลกนายทุนกับโลกคอมมิวนิสท์, ตอนนั้นมีการจำกัด และริดรอนเสรีภาพมากมาย ด้วยเหตุผลความมั่นคง. แต่ตอนนี้โลกได้เปิดพอสมควร. ตรงนี้เป็นช่องว่างที่เราสามารถจะใช้อุดมการณ์ของโลกาภิวัตน์อันเดียวกันนี้ละครับ, สามารถที่จะนำไปเป็นกลไกที่ทำให้การเมืองภาคประชาชน ได้สามารถเข้าไปมีส่วนที่จะทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลง. เป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมของทางเลือกของระดับรากหญ้า. ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นทางเลือกของผู้นำ จะเลือกช่วยใคร ไม่ช่วยใคร. เพราะฉะนั้น โดยสรุปตรงนี้ก็เป็นปัญหาท้าทายที่เราคงจะต้องมอง แล้วคิดกันให้หนักแน่นพอสมควร.

ผมหวังว่า สิ่งที่ผมพูดในช่วงสุดท้ายนี่, เราจะมองทางเลือกอย่างไร ? แล้วก็ต้องตอบคำถามนะครับว่า ทางเลือกนั้นคืออะไร ? ผมได้พูดมาแล้วว่า ทางเลือกนั้นก็คือกระบวนการที่นำไปสู่ความเป็นเศรษฐกิจชุมชน ความเป็นเครือข่ายของเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นทางเลือกจากอะไรครับ ? เป็นทางเลือกจากกระแสเศรษฐกิจโลกที่รวมศูนย์อำนาจ. ในขณะนี้ อำนาจเศรษฐกิจการเมือง ไปรวมศูนย์เบ็ดเสร็จอยู่ที่ บรรษัทข้ามชาติ, แล้วก็ได้ชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ข้าราชการ นักวิชาการต่างๆ เป็นบริวารกับศูนย์อำนาจ. เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ โลกอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบรวมศูนย์. จะเรียกว่าการรวมศุนย์แบบเบ็ดเสร็จแบบคอมมิวนิสท์ก็ได้.

แต่ว่า ทางเลือกของ กระแสชุมชนท้องถิ่น ที่ผมพูดมานี้, จะเป็นกระแสที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลก. แทนที่จะเป็นระบบเศรษฐกิจการเมืองที่รวมศูนย์ ก็จะเป็นระบบเศรษฐกิจของโลกที่มีความหลากหลาย เป็นระบบที่มีหลายๆชั้นเชิงด้วยกัน. อันนี้เป็นภารกิจของ กระแสชุมชนท้องถิ่น, นั่นคือที่ผมมองว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสม. เพื่ออะไรครับ ? ก็เพื่อคลี่คลายระบบของอำนาจเบ็ดเสร็จตรงนี้ ให้มันมีลักษณะของการกระจายอำนาจออกไป.

แต่การกระจายอำนาจ ไม่ได้เป็นเพียงการกระจายอำนาจแบบที่เป็นทางการ คือ แบบ อบต., อบจ., ไม่ใช่ตามตำราอย่างนั้น. แต่เป็นการกระจายโดยที่ทำให้เนื้อหาสาระขององค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นเนื้อหาสาระของการกระจายอำนาจที่แท้จริง และถ้าเป็นอย่างนั้นนี่ สิ่งที่เราบอกว่าเป็นประชาธิปไตย ในขณะนี้เป็นประชาธิปไตยที่เป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น. เรามีครบ เรามีนักวิชาการที่เปิดตำราเสนอแนะได้, ฝรั่งมีอะไร เรามีหมด ...พรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง กลุ่มผลประโยชน์ มีการร๊อบบี้ แต่ว่าเรายังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาสาระอย่างแท้จริง. ผมคิดว่า ชุมชนท้องถิ่นจะเป็นกระแสที่สร้างความเป็นเนื้อหาสาระของกรอบของประชาธิปไตยที่เรากำลังพูดถึง

จุดใหญ่ใจความก็คงจะมีแต่เพียงเท่านี้

 

คลิกไปหน้าถัดไป I กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com