"สิทธิชนพื้นเมืองในกระบวนการยุติธรรมมาเลเซีย" แปลโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขาวิชานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มช.
รายละเอียดเกี่ยวกับบทความเรื่อง "สิทธิชนพื้นเมืองในกระบวนการยุติธรรมมาเลเซีย"
แปลและเรียบเรียงจากคดี Adong bin Kuwau & Ors V. Kerajaan Negeri Johor & Anor คำพิพากษาของ High Court Nov 21, 1996 ใน Malayan Law Journal <1997>1,pp. 418-436.

หมายเหตุ งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ API Fellowship (Asian Public Intellectuals) ไปศึกษาวิจัยในประเด็นชนพื้นเมืองและระบบกฎหมายในการจัดการทรัพยากร ณ ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๐๐๑-เมษายน ๒๐๐๒
210145
release date
H
home
ในการจ่ายค่าชดเชยภายใต้ พ.ร.บ. การเวนคืนที่ดิน
โดยทั่วไปศาลจะใช้หลักการกำหนดค่าชดเชย โดยการพิจารณามูลค่าตามท้องตลาดของที่ดินนั้น แต่กรณีของสิทธิเหนือที่ดินของชนพื้นเมืองมีความแตกต่างอย่างมาก ในรายของบุคคลอื่นๆ ที่ถูกเวนคืนที่ดินและได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสมตามมูลค่าตลาด สามารถที่จะเริ่มมีชีวิตของตนตามปกติได้ด้วยการซื้อที่ดินแห่งใหม่ แต่สำหรับชนพื้นเมืองมีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างไปอย่างมาก ภายใต้วิถีชีวิตที่พึ่งพากับป่าและที่ดินซึ่งสืบทอดมาตามจารีตโดยปราศจากการศึกษา ความเชี่ยวชาญอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในที่อื่นๆ ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้หลักการการจ่ายค่าชดเชยแก่คนสองกลุ่มนี้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

CP
MP
WB
Contents P.
Member P.
Webboard
ภาพประกอบดัดแปลง : ชื่อภาพ Mother with her Child ผลงานภาพถ่ายโดย Danny Lyon จากหนังสือ The Photography Book หน้า 284
หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สาขาวิชานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เกริ่นนำ
นับตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินของชนพื้นเมืองที่อยู่ในรัฐต่างๆ ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้น การก่อตั้งองค์กรสหประชาชาติ และพร้อมกับได้มีการประกาศกฎบัตรออกมารับรองสิทธิชนพื้นเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือว่า พัฒนาการของสิทธิชนพื้นเมืองในหลายประเทศเป็นผลมาจากคำวินิจฉัยของศาล ดังในประเทศแคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และได้ทำให้มีการบัญญัติกฎหมาย และการจัดตั้งองค์กรขึ้นเพื่อพิจารณาสิทธิของชนกลุ่มดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่าสิทธิในที่ดินตามจารีตประเพณีของชนพื้นเมืองได้ขยายตัว แม้ในประเทศที่ใช้ระบบการจดทะเบียนเอกสารสิทธิในที่ดิน (Torrens system) ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็ได้ใช้ระบบนี้เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาที่ได้แปลและเรียบเรียงนี้เป็นคำพิพากษาของประเทศมาเลเซีย อันเป็นข้อพิพาทระหว่างชนพื้นเมืองกับหน่วยงานของรัฐ โดยชนพื้นเมืองที่ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นผลให้ต้องอพยพออกจากพื้นที่เหล่านี้ และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างรุนแรงต่อชนพื้นเมือง คดีนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นคดีแรกที่ชนพื้นเมืองในประเทศมาเลเซีย ได้ฟ้อง

เรียกค่าเสียหาย(compensation)จากรัฐ โดยอาศัยกระบวนการยุตธรรม โดยโจทก์ ๕๒ คนซึ่งเป็นตัวแทนของชนพื้นเมืองได้ฟ้องรัฐบาลของรัฐ Johor และผู้อำนวยการฝ่ายที่ดินและเหมืองแร่ของรัฐ Johor เป็นจำเลย (รัฐดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในจำนวน ๑๓ รัฐของมาเลเซีย โดยตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของประเทศมาเลเซียใกล้กับประเทศสิงคโปร์)

เนื่องจากจำเลยได้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนเพื่อส่งน้ำให้แก่รัฐ Johor และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งโครงการนี้เป็นผลให้พื้นที่ ๕๓,๒๗๓ เอเคอร์ ที่เป็นพื้นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษตามจารีตประเพณี (traditional and ancestral land- เรียกกันในภาษามาเลย์ว่า kawasan saka) ได้รับผลกระทบ โดยชนพื้นเมืองต้องถูกจำกัดสิทธิและห้ามเข้าไปหาอาหารในพื้นที่ดังกล่าวดังที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา โจทก์ได้ยืนยันว่า

- พื้นที่ทั้งหมดที่จำเลยได้เข้าครอบครองเพื่อการสร้างเขื่อนเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของชนพื้นเมือง
- จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ชนพื้นเมืองที่ต้องได้รับผลกระทบนี้

เมื่อคดีนี้ได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล มีประเด็นในการวินิจฉัยที่สำคัญ ๓ ประเด็นด้วยกัน ดังต่อไปนี้

๑.ประเด็นทางข้อเท็จจริง
ปัญหาในประเด็นทางข้อเท็จจริงก็คือชนพื้นเมืองเป็นผู้ที่อาศัยในพื้นที่จริงหรือไม่ ซึ่งได้ปรากฏจากหลักฐานเป็นจำนวนมากยืนยันว่า ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานานก่อนปี ค.ศ. ๑๙๔๕ ที่รัฐบาลแห่งอาณานิคมอังกฤษ(The British Colonial Government) จะได้จัดตั้งกรมกิจการพื้นเมือง(Department of the Aboriginal Peoples' Affairs) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมและดูแลชนพื้นเมืองในอาณานิคม และในช่วงระหว่างการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๑ รัฐบาลกลางได้อพยพชนพื้นเมืองซึ่งรวมถึงผู้ที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ออกมาจากพื้นที่ที่ห่างไกล มาสู่พื้นที่ที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ และชนพื้นเมืองจำนวนมากก็ได้กลายมาเป็นผู้นำทางให้กับทางฝ่ายตำรวจและทหารในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์

ทางฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งในประเด็นการดำรงอยู่ของชนพื้นเมืองก่อนการสร้างเขื่อนจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ในเอกสารของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลชนพื้นเมืองได้ยอมรับว่าพื้นที่ที่ถูกเวนคืนเป็นดินแดนของชนพื้นเมืองที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และหน่วยงานดังกล่าวยังได้แนะนำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการสร้างเขื่อนจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชนพื้นเมืองในที่ดินที่ถูกนำมาสร้างเขื่อน

เพราะฉะนั้นในประเด็นข้อเท็จจริง จึงเป็นที่ยอมรับว่าชนพื้นเมืองได้อาศัยและดำรงชีวิตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และที่ดินดังกล่าวก็เป็นการตกทอดมาจากบรรพบุรุษตามจารีตของชนพื้นเมืองจริง ประเด็นที่จะพิจารณากันต่อไปก็คือว่าจากข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวมาข้างต้น ชนพื้นเมืองจะมีสิทธิตามกฎหมายเหนือที่ดินเหล่านี้หรือไม่

๒, ประเด็นทางข้อกฎหมาย
มีประเด็นในการวินิจฉัย ๓ ประเด็นสำคัญ คือ สิทธิของชนพื้นเมืองตามระบบกฎหมายแบบ Common Law, สิทธิตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรของชนพื้นเมือง (statutory rights) และสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

๒.๑ สิทธิของชนพื้นเมืองตามระบบกฎหมายแบบ Common Law
ภายใต้ระบบกฎหมายแบบ Common Law ได้มีการรับรองสิทธิของชนพื้นเมืองแม้ในประเทศที่ใช้ระบบการจดทะเบียนสิทธิในที่ดินโดยเอกสาร (Torrens System) ในการพิจารณาของศาลมาเลเซีย ได้มีการอ้างอิงถึงคำพิพากษาของศาลในหลายประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Common Law เช่น คำพิพากษาของศาลสหรัฐอเมริกาในคดี Worcester V. State of Georgia ค.ศ. ๑๘๓๒, Mitchel V. United States ค.ศ. ๑๘๓๕, คำพิพากษาของศาลนิวซีแลนด์ในคดี Nireaha Tamaki V. Barker ค.ศ. ๑๙๐๑, คำพิพากษาของศาลแคนาดาในคดี Calder V. A-G of British Columbia ค.ศ. ๑๙๗๓ คำพิพากษาเหล่านี้ต่างให้การยอมรับถึงสิทธิของชนพื้นเมืองเหนือที่ดินที่ได้ครอบครองมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอำนาจรัฐ(การก่อตัวของรัฐชาติ)ก็ตาม

คดีสำคัญคดีหนึ่งในการยืนยันถึงสิทธิของชนพื้นเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน คือ คดี Mabo V. State of Queensland ค.ศ. ๑๙๘๖ ซึ่งถูกวินิจฉัยโดยศาลสูงของออสเตรเลีย คดีนี้ศาลได้เปลี่ยนแปลงแนวคำพิพากษาของศาลออสเตรเลียที่เดิมเคยยึดถือเป็นบรรทัดฐานว่า ออสเตรเลียเป็นดินแดนที่ไม่มีผู้ใดครอบครอง(terra nullis) ก่อนการค้นพบของอังกฤษ ซึ่งหมายความถึงการปฏิเสธการดำรงอยู่ของชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย แนวคำพิพากษานี้ได้ดำรงอยู่มานานกว่า ๒ ศตวรรษ แต่แนวคำพิพากษาในคดี Mabo V. State of Queensland ได้กลับคำพิพากษาโดยยอมรับการดำรงอยู่ของชนพื้นเมืองก่อนการเข้ามาของอังกฤษ และยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองในออสเตรเลียเหนือที่ดิน ซึ่งต่อมา Federal Court of Australia ในคดี Pareroultja V. Ticker ค.ศ. ๑๙๙๓ ก็ได้ยืนยันการรับรองสิทธิของชนพื้นเมือง โดยศาลได้วินิจฉัยว่า

" จากคดี Mabo เป็นอำนาจอันชอบธรรมในการยืนยันว่าระบบ Common Law ของออสเตรเลียรับรองสิทธิของชนพื้นเมือง ซึ่งปรากฏในรูปแบบที่สอดคล้องกับกฎหมายหรือจารีตบนพื้นที่ที่สืบทอดมาตามประเพณี สิทธิชนพื้นเมืองมีรากเหง้าและเนื้อหาตามกฎหมายจารีตประเพณีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยผู้อยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม และได้รับการยอมรับโดย common law สิทธินี้ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงภายใต้ common law ถ้าชนพื้นเมืองยังดำรงวิถีชีวิตบนผืนดินซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยกฎเกณฑ์และจารีตของกลุ่ม จนกว่าการรับรองโดยกฎเกณฑ์และการปฏิบัติตามจารีตของกลุ่มจะยุติ รากฐานของสิทธิชนพื้นเมืองจึงสิ้นสุดซึ่งจะทำให้สิทธิของรัฐบาลกลายมาเป็นสิทธิที่เหนือกว่า"

คำตัดสินของศาลในคดี Mabo ด้วยการยืนยันถึงสิทธิของชนพื้นเมืองเหนือที่ดินซึ่งถูกใช้ประโยชน์โดยชนพื้นเมือง เป็นผลให้ต่อมารัฐสภาของออสเตรเลียผ่าน พ.ร.บ. สิทธิชนพื้นเมือง (The Native Title Act) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ ๑ มกราคม ๑๙๙๔ และกฎหมายนี้ได้กลายมาเป็นกลไกที่สำคัญสำหรับชนพื้นเมืองออสเตรเลียในการเรียกร้องสิทธิเหนือที่ดินตามจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ

ซึ่งในกรณีของมาเลเซีย คำถามที่สำคัญก็คือว่าโจทก์ซึ่งถือเป็นชนพื้นเมืองมีสิทธิที่สืบทอดมาตามจารีตประเพณีหรือไม่ ในประเด็นนี้จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบถึงข้ออ้างของชนพื้นเมืองด้วยการสืบค้นในทางประวัติศาสตร์

ศาลของมาเลเซียได้ยอมรับว่าในส่วนดินแดนมาเลเซียส่วนที่เป็นคาบสมุทร (Peninsular Malaysia) ได้ถูกครอบครองโดยกลุ่มคน ๒ กลุ่ม คือ ชาวมาเลย์ (The Malays) ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลและแม่น้ำ และอีกกลุ่มคือชนพื้นเมือง (aboriginal people) ซึ่งอาศัยอยู่ลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน การดำรงอยู่ของทั้ง ๒ กลุ่มเริ่มปรากฏความขัดแย้งเมื่อชาวยุโรปได้เดินทางมาถึง อังกฤษได้นำเอารูปแบบการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมกับการขีดเส้นแบ่งเหนือแผ่นดินอย่างชัดเจนมาใช้บังคับ

อังกฤษได้นำระบบ Torrens มาใช้บังคับ ทำให้มีการโอนกรรมสิทธิและการยืนยันสิทธิในที่ดินโดยปราศจากการครอบครองเกิดขึ้น ระบบนี้ถูกใช้บังคับกับประชาชนทั่วไปยกเว้นกับชนพื้นเมืองที่ยังคงวิถีชีวิตในป่าตามที่เคยเป็นมา ก่อนการนำเข้าของระบบ Torrens ที่ดินเหล่านี้ชนพื้นเมืองถือว่าเป็นพื้นที่ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรษ ในตอนเริ่มต้นของระบบ Torrens ที่ดินเหล่านี้ถูกประกาศเป็นที่ดินของรัฐและบางส่วนได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน อย่างไรก็ตามชนพื้นเมืองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และถือว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนที่พวกเขายังคงสามารถล่าสัตว์และเก็บของป่าดังที่บรรพบุรุษได้กระทำมา

ซึ่งในที่นี้ศาลของมาเลเซียเห็นว่าสิทธิของชนพื้นเมืองเหนือที่ดินในการมีชีวิตอย่างอิสระ และการพึ่งพาผลผลิตจากป่าเป็นสิทธิที่มีความแตกต่างไปจากสิทธิในความหมายซึ่งเข้าใจกันในความหมายของสมัยใหม่ว่าเป็นผู้เป็นเจ้าของสามารถขาย ให้เช่าผืนดินหรือผลผลิตแก่บุคคลอื่น และด้วยเหตุผลว่าชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ได้ดำเนินชีวิตและใช้สิทธิในที่ดินมาตั้งแต่อดีตกาล เพราะฉะนั้นศาลจึงเห็นว่าระบบ common law ของมาเลเซียต้องยอมรับสิทธิที่จะดำรงชีวิตบนผืนดินของเขาทั้งหลายเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ และรวมไปถึงสิทธิของชนพื้นเมืองในรุ่นต่อไปที่จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ

๒.๒ สิทธิตามกฎหมายลายลักษณ์อักษร
ในการคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมือง รัฐบาลได้ตรา พ.ร.บ. ชนพื้นเมือง (Aboriginal Peoples Act) ค.ศ. ๑๙๓๙ เพื่อปกป้องชนพื้นเมืองในเปรัคแต่ต่อมาได้ถูกแก้ไขให้มีเนื้อหาขยายรวมไปถึงรัฐอื่นๆ มีการแก้ไขเกิดขึ้นหลายครั้งกับกฎหมายนี้ ครั้งสุดท้ายได้มีการแก้ไขใน ค.ศ. ๑๙๗๔

กฎหมายฉบับนี้ได้รับรองพื้นที่ซึ่งกันไว้เป็นการเฉพาะให้กับชนพื้นเมืองของมลายา หรือสำหรับสิทธิในการเก็บหาของป่าหรือล่าสัตว์ ในหมวด ๑๐ ของ พ.ร.บ. ได้ให้สิทธิแก่ชนพื้นเมืองในการครอบครองหรือเก็บหาของป่าเป็นสิทธิที่อยู่เหนือการกำหนดพื้นที่สงวน ป่าสงวน หรือเขตห้ามล่าสัตว์ เนื้อหาของหมวดนี้ได้สะท้อนเจตนารมย์ของฝ่ายนิติบัญญัติในการให้อำนาจแก่ชนพื้นเมืองที่จะคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้ต่อไป และในหมวด ๑๑ องค์กรของรัฐต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อต้องการได้มาซึ่งพื้นที่ดังกล่าว

สิทธิต่างๆ ของชนพื้นเมืองที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายสามารถที่จะถูกเพิกถอนโดยปราศจากการจ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ ในกรณีนี้ศาลมีความเห็นว่าเป็นที่ชัดเจนว่ากฎหมายรับรองการจ่ายค่าชดเชยอย่างเพียงพอต่อความเสียหาย โดยสำหรับกรณีที่เป็นพื้นที่ซึ่งถูกสงวนไว้สำหรับชนพื้นเมืองนั้นเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่สำหรับกรณีที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนที่ชนพื้นเมืองมีสิทธิในการเก็บหาหรือในประโยชน์ กรณีนี้การจ่ายค่าชดเชยเกิดขึ้นเพื่อความเสียหายแก่ต้นไม้ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองไม่ใช่การจ่ายเพื่อสิทธิในที่ดิน นอกจากนี้ พ.ร.บ. ชนพื้นเมืองก็ไม่ได้จำกัดสิทธิของชนพื้นเมืองให้น้อยลง ฉะนั้นสิทธิของชนพื้นเมืองตามระบบ common law และตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะต้องถูกพิจารณาเชื่อมโยงว่าต่างเป็นส่วนที่เสริมซึ่งกันและกัน

๒.๓ สิทธิตามรัฐธรรมนูญของชนพื้นเมือง
หลังจากมาเลเซียได้รับเอกราชเมื่อ ๓๑ สิงหาคม ๑๙๕๗ รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ(The Federal Constitution) ได้กลายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐก็จะถือว่าปราศจากผลบังคับ โดยประเด็นสำคัญทางชนพื้นเมืองเห็นว่ารัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิในประเด็นเรื่องสิทธิในทรัพย์สินไว้ ในมาตรา ๑๓ ว่า

"(๒) ไม่มีกฎหมายใดที่สามารถริบเอาทรัพย์สินหรือใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยปราศจากการจ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสม"

โจทก์ได้เสนอว่าการนำเอาที่ดินซึ่งตกทอดมาตามจารีตไปใช้ประโยชน์ ทางฝ่ายจำเลยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชนพื้นเมืองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และทางฝ่ายจำเลยเองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสิทธิในการขับไล่ชนพื้นเมืองโดยชอบ ซึ่งศาลเห็นด้วยกับทางฝ่ายชนพื้นเมืองว่าควรจะได้รับค่าชดเชย นอกจากนี้ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงอีกประการหนึ่งก็คือ การเวนคืนที่ดินเพื่อการสร้างเขื่อนได้ดำเนินไปภายใต้อำนาจของประมวลกฎหมายที่ดิน ค.ศ. ๑๙๖๕ (National Land Code) โดยที่กฎหมายนี้ไม่ได้มีบทบัญญัติสำหรับการจ่ายค่าชดเชย จำเลยจะสามารถอ้างประเด็นการไม่มีบทบัญญัติเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในกฎหมายที่ดินเป็นข้อต่อสู้ได้หรือไม่

ในประเด็นนี้ศาลได้วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมีอำนาจเหนือทั้ง common law และกฎหมายลายลักษณ์อักษร และสามารถบังคับให้มีการจ่ายค่าชดเชยในการกระทำใดๆ ของรัฐที่เป็นผลให้ได้มาซึ่งสิทธิของเอกชน การได้มาซึ่งสิทธิด้วยอำนาจบังคับหรือการใช้ประโยชน์โดยปราศจากการเยียวยา เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันการเวนคืนที่ดินของชนพื้นเมืองตามประมวลกฎหมายที่ดิน แม้ในกฎหมายดังกล่าวจะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในการเวนคืนที่ดิน แต่ทั้งนี้ต้องตีความกฎหมายที่ดินภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๓ ดังนั้น หากปราศจากบทบัญญัติสำหรับการจ่ายค่าชดเชยในการเวนคืนที่ดินก็ต้องนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับประกอบ

(หมายเหตุ- ในประเด็นนี้นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นการตีความรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดให้มีผลบังคับใช้ได้จริง ซึ่งก็เป็นประเด็นที่คล้ายคลึงกับปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญของไทย อันเนื่องจากบทบัญญัติในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ไม่มีการตรากฎหมายใดมารองรับ เช่น การรับรองสิทธิชุมชนตาม ม. ๔๖ แต่ไม่มีกฎหมายใดถูกบัญญัติออกมารับรองสิทธิดังกล่าว และเจ้าหน้าของรัฐก็ยังคงปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายเดิมทั้งที่กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าหากมีการนำข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมของไทย คำวินิจฉัยของศาลจะเป็นไปในทิศทางที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับได้จริง หรือจะทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมดความหมายลง -ผู้เรียบเรียง)

๓.การจ่ายค่าชดเชย
สิ่งที่เป็นปัญหาติดตามมาก็คือว่าจะกำหนดค่าชดเชยให้กับโจทก์อย่างไร เนื่องคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการฟ้องในลักษณะดังกล่าวจึงไม่เคยมีมาตรฐานหรือหลักการในการจ่ายค่าชดเชยเช่นนี้มาก่อนในมาเลเซีย

หลังจากคดี Mabo ในออสเตรเลีย เมื่อรัฐบาลกลางของออสเตรเลียได้ประกาศใช้ The Native Title Act ซึ่งได้มีการกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่ชนพื้นเมืองที่สิทธิของตนถูกกระทบ รัฐสภาออสเตรเลียก็ได้กำหนดให้การจ่ายค่าชดเชยต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม (just term) ซึ่งในกรณีของมาเลเซีย ศาลเห็นว่าต้องเป็นการจ่ายค่าชดเชยที่เพียงพอ (adequate compensation)

ในการจ่ายค่าชดเชยภายใต้ พ.ร.บ. การเวนคืนที่ดิน (Land Acquistion Act) โดยทั่วไปศาลจะใช้หลักการเดียวในการกำหนดค่าชดเชยโดยการพิจารณามูลค่าตามท้องตลาดของที่ดินนั้น แต่กรณีของสิทธิเหนือที่ดินของชนพื้นเมืองมีความแตกต่างอย่างมากจากที่ดินที่ถือครองโดยมีเอกสารสิทธิ ที่ดินของชนพื้นเมืองไม่อาจขาย โอน ให้เช่าหรือเป็นหลักประกันในการจำนองได้ ยิ่งไปกว่านั้นบุคคลอื่นๆ ที่ถูกเวนคืนที่ดินและได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสมตามมูลค่าตลาด สามารถที่จะเริ่มมีชีวิตของตนตามปกติได้ด้วยการซื้อที่ดินแห่งใหม่ แต่สำหรับชนพื้นเมืองมีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างไปอย่างมาก ภายใต้วิถีชีวิตที่พึ่งพากับป่าและที่ดินซึ่งสืบทอดมาตามจารีตโดยปราศจากการศึกษา ความเชี่ยวชาญอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในที่อื่นๆ ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้หลักการการจ่ายค่าชดเชยแก่คนสองกลุ่มนี้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน

ความเสียหายที่ชนพื้นเมืองได้รับตามความเห็นของศาลมี ๕ ประเด็น ดังต่อไปนี้

- การเสียสิทธิจากแผ่นดินที่เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมา
- การเสียเสรีภาพในการดำรงอยู่หรือการดำเนินชีวิต
- การเสียสิทธิในการเก็บผลผลิตเพื่อยังชีพจากป่า
- การเสียสิทธิในการอยู่อาศัยของพวกเขาและครอบครัว
- การเสียสิทธิในการดำรงชีพและอยู่อาศัยของลูกหลานรุ่นต่อไป

เพราะฉะนั้น ในการจ่ายค่าชดเชยแก่ชนพื้นเมือง ความเสียหายข้างต้นจึงควรนำมาเป็นหลักของการคำนวณในการจ่ายค่าชดเชย อย่างไรก็ตามศาลเองก็ยอมรับว่าจำนวนเงินที่กำหนดนั้นสำหรับชดเชยการสูญเสียการใช้ประโยชน์ในที่ดินและผลผลิตที่ควรจะได้รับ ส่วนความผูกพันทางด้านความรู้สึก วัฒนธรรม ไม่อาจคำนวณออกมาเป็นความเสียหายได้ และศาลยังกำหนดค่าชดเชยให้แก่การสูญเสียรายได้ของชนพื้นเมืองอีกเป็นเวลา ๒๕ ปีสำหรับแต่ละคน ทั้งหมดนี้เป็นการชดเชยเพื่อให้ชนพื้นเมืองและครอบครัวสามารถที่ดำรงชีวิตต่อไปได้จนถึงรุ่นลูกหลาน

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

 

(บทความนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)
1