ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อประกอบบทความ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 1) ภาพบินลาเดน จาก Newsweek ฉบับ ธันวาคม 98 - มกราคม 99. 2) ภาพการ์ตูน Samuel L. Jackson จากนิตยสาร Time ฉบับ กันยายน 2000. 3) ภาพ After September 11: Image from Ground Zero ภาพถ่ายโดย Joel Meyerowitz
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 218 โดย : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ([email protected])

Ernest Gellner ซึ่งเห็นว่าศาสนาอิสลามอย่างที่เป็นอยู่ในโลก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลามในขณะนี้ ไม่ได้มีอะไรผิดแผกไปจากวิถีทางของอิสลามเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วมา เพียงแต่ความเฟื่องฟูของอิสลาม แบบที่เน้นการหวนกลับไปหาหลักการมูลฐาน - หรือที่เรียกว่า Islamic Fundamentalism นั้น - ไม่ได้เป็นวิถีทางของอิสลามมาตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด หากเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งเกิดแก่โลกอิสลาม อันเนื่องมาจากการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหลังจากการรุกรานของชาติตะวันตก ในคริสตศตวรรษที่ 18-20 เป็นต้นมา

โดยที่คุณลักษณะของความเป็นอิสลาม แบบที่เน้นการหวนกลับไปหาหลักการมูลฐานนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเป็นขบวนการซึ่งมุ่งคัดค้านการพิจารณาหลักคำสอนว่า เป็นสัญลักษณ์หรืออุปมาอุปไมย ที่จำเป็นต้องตีความให้เข้ากับจิตวิญญาณสมัยใหม่ แต่คือการทำลายการแบ่งแยกระหว่างวัฒนธรรมชั้นสูง กับวัฒนธรรมชั้นต่ำ (High Cultures / Low Cultures) ที่ดำรงอยู่ในสังคมอิสลามยุคก่อนสมัยใหม่ลงไป
(คัดมาจากบางส่วนจากบทความ)

QUOTATION
release date
021045
หากสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมาให้เหลือขนาด medium จะแก้ปัญหาได้ / webpage นี้ออกแบบให้แสดงผลได้ดีที่สุดกับการใช้ Microsoft Internet Explorer
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท - บทความทางวิชาการผ่านระบบเครือข่ายทางไกล เพื่อนักศึกษาและสมาชิกทุกท่านสามารถเข้าถึงได้

มายาคติไม่ใช่ความจริง และมายาคติ
เรื่อง ภัยคุกคามจากอิสลามก็เป็นแนวการ
มองโลกอิสลามที่สัมพันธ์กับความซึ่งไม่จริง
หลายอย่าง

ตัวอย่างเช่น การมองอิสลามว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับ fundamentalism ก็ไม่สอดคล้องกับรูปธรรมที่ก็ปรากฎขบวนการ fundamentalism ขึ้นในสังคมอื่นที่มิใช่อิสลาม ไม่ว่าจะเป็นฮินดูในอินเดีย หรือคริสตศาสนาแบบ fundamentalism ในสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นที่การใช้คำว่า fundamentalism เพื่ออธิบายถึงการเมืองที่อยู่ใต้อิทธิพลของศาสนานั้น มีกำเนิดมาจากสังคม
อเมริกาเองในช่วงปี 1910-1915 ด้วยซ้ำไป
ส่วนความเข้าใจว่าอิสลามเป็นขบวนการทางศาสนาที่เป็นเอกภาพนั้นก็มองไม่เห็นลักษณะทางประวัติศาสตร์ของอิสลามที่หลักคำสอนจำนวนมากถูกตีความแตกต่างกันไปโดยนิกายต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่แตกต่างกัน(multi-vocal interpretation) จนกระทั่งนอกจากอิสลามในประเทศที่เป็นชายขอบของความเป็นอิสลาม อย่างเช่น จีน, รัสเซีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ฯลฯ จะแตกต่างจากอิสลามในประเทศที่เป็นศูนย์กลางแล้ว อิสลามในประเทศศูนย์กลางเองก็ยังมีความผิดแผกจากกันด้วย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

อิสลามและประชาธิปไตย
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ([email protected])
(บทความนี้ยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

โดยปกติแล้วสถานีวิทยุบีบีซีของประเทศอังกฤษจะมีการจัดปาฐกถาซึ่งมีชื่อว่า Reith Lectures อยู่เป็นประจำทุกปี รูปแบบของปาฐกถานี้ใช้วิธีการบันทึกเสียงของผู้บรรยายแล้วนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะในภายหลัง วิธีการนี้เปลี่ยนไปในปี 1998 เมื่อนักประวัติศาสตร์สงครามอย่าง John Keegan เริ่มเชิญบุคคลภายนอกเข้าไปรับฟังคำบรรยายและซักถามคำถามต่างๆ ในขณะบันทึกเสียง และเมื่อมาถึงปี 1999 องค์ปาฐกซึ่งได้แก่ Anthony Giddens ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ London School of Economics อยู่ในขณะนั้น ก็ได้ปรับปรุงการปาฐกถาครั้งสุดท้ายในคริสตศตวรรษที่ 20 ด้วยการแบ่งหัวข้อบรรยายออกเป็น 5 ส่วน แล้วทำการบรรยายต่อหน้าผู้ฟังตามภูมิภาคที่แตกต่างกัน หัวข้อแรกและหัวข้อสุดท้ายซึ่งพูดถึงโลกาภิวัตน์และประชาธิปไตยนั้นบรรยายที่กรุงลอนดอน ส่วนหัวข้ออันดับถัดมาอย่างภาวะเสี่ยงภัย, ประเพณี และครอบครัว ก็บรรยายที่เกาะฮ่องกง, กรุงเดลฮี และนครวอชิงตันตามลำดับ โดยหัวข้อซึ่งมีเนื้อหาที่แหวกแนวและน่าสนใจกว่าหัวข้ออื่นๆ ก็คือเรื่องของจารีตและประเพณี

Giddens เสนอความเห็นเอาไว้ในการบรรยายหัวข้อนี้ว่าความคิดแบบยุคสมัยใหม่ที่ต้องการจะขจัดพลังของประเพณีออกไปนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ประเพณีคือสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับสร้างความต่อเนื่องให้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าประเพณีต่างๆ นั้นไม่ได้เป็นเรื่องของความเที่ยงแท้ (genuine) แต่คือสิ่งที่มีข้อจำกัดซึ่งต้องถูกท้าทายและเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากคำถามใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้มีลักษณะทางประเพณี (2)

อย่างไรก็ดี Giddens ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่าเงื่อนไขและความหมายของประเพณีที่มีพลังในโลกสมัยใหม่นั้นคืออะไร ยกเว้นแต่ การกล่าวถึงศาสนาอิสลามเอาไว้อย่างสั้นๆ ว่าเป็นศาสนายิ่งใหญ่ที่มีอายุยืนยาวมานับร้อยปี แต่ความยืนยาวนี้ก็เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการที่วัฒนธรรมจากแหล่งอื่น ส่งผลให้การตีความและวิถีการปฏิบัติของอิสลามเปลี่ยนแปลงไป ไม่ต่างไปจากพลังทางประเพณีทั้งหลายที่เผชิญกับการท้าทาย และมีการสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา

อันที่จริงการพิจารณาศาสนาอิลลามในแง่ที่มีวิวัฒนาการเช่นนี้ แตกต่างจากความเข้าใจของนักสังคมศาสตร์หลายราย ตัวอย่างเช่น Ernest Gellner ซึ่งเห็นว่า ศาสนาอิสลามอย่างที่เป็นอยู่ในโลก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลามในขณะนี้ ไม่ได้มีอะไรผิดแผกไปจากวิถีทางของอิสลามเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วมา เพียงแต่ความเฟื่องฟูของอิสลามแบบที่เน้นการหวนกลับไปหาหลักการมูลฐาน - หรือที่เรียกว่า Islamic Fundamentalism นั้น - ไม่ได้เป็นวิถีทางของอิสลามมาตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด หากเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งเกิดแก่โลกอิสลามอันเนื่องมาจากการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหลังจากการรุกรานของชาติตะวันตกในคริสตศตวรรษที่ 18-20 เป็นต้นมา(3)

โดยที่คุณลักษณะของความเป็นอิสลามแบบที่เน้นการหวนกลับไปหาหลักการมูลฐานนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ การเป็นขบวนการซึ่งมุ่งคัดค้านการพิจารณาหลักคำสอนว่า เป็นสัญลักษณ์หรืออุปมาอุปไมยที่จำเป็นต้องตีความให้เข้ากับจิตวิญญาณสมัยใหม่ แต่คือการทำลายการแบ่งแยกระหว่างวัฒนธรรมชั้นสูงกับวัฒนธรรมชั้นต่ำ (High Cultures/Low Cultures) ที่ดำรงอยู่ในสังคมอิสลามยุคก่อนสมัยใหม่ลงไป แล้วแทนที่ด้วยอิสลามแบบที่เรียกกันในทุกวันนี้ว่า Islamic Fundamentalism ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว เป็นผลจากการปรับตัวของอิสลามให้ตอบสนองกับความเป็นจริงในโลกสมัยใหม่เอง

สำหรับ Gellner แล้ว การแบ่งแยกทางวัฒนธรรมในสังคมมุสลิมออกเป็นวัฒนธรรมชั้นสูงและวัฒนธรรมชั้นต่ำนั้น เป็นผลมาจากความแตกต่างทางสถานภาพระหว่างคนชั้นสูงกับคนชั้นต่ำที่ดำรงอยู่ในสังคมมุสลิมยุคก่อนสมัยใหม่ เขาเห็นว่าชนชั้นพ่อค้าในเขตเมืองซึ่งมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้นั้น คิดถึงศาสนาในแง่ของหลักการนามธรรมซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด (normativist, scripturalist and rule-oriented)

ขณะที่คนชนบทที่อยู่เป็นชนเผ่าและคนจนในตัวเมืองนั้น คิดถึงศาสนาในฐานะพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่มีเครือข่ายของผู้นำทางศาสนาแบบ living saints ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เพื่อหนีไปจากความทุกข์ (ritualistic and estatic religion) โดยที่คนฝ่ายหลังนั้นยอมรับหลักการและความเข้าใจทางศาสนาแบบคนฝ่ายแรกมาโดยตลอด ถึงแม้จะไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ก็ตาม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำให้วัฒนธรรมและท่าทีต่อศาสนาที่แตกต่างกันสามารถดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมมุสลิมได้ตลอดเวลา แม้อาจจะมีการเผชิญหน้ากันอย่างสั้นๆ อยู่เป็นระยะบ้างก็ตาม

การทำลายการแบ่งแยกทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นเมื่อกลไกของความเป็นสมัยใหม่ในช่วงอาณานิคมและหลังอาณานิคมได้ทำลายการรวมกลุ่มอย่างเป็นอิสระในรูปชนเผ่า (tribes) อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสังคมมุสลิมชนบทลงไป

ผลที่ตามมาก็คือศาสนาแบบคนชั้นล่างไม่มีรากฐานทางสังคมที่จะดำรงอยู่ต่อไปอีก ส่วนคนชนบทที่อพยพเข้ามาอยู่ในเขตเมืองก็มองศาสนาแบบคนชั้นสูงว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นสำหรับการเลื่อนฐานะทางสังคม นี่คือสาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรมชั้นสูงมีฐานะเป็นวัฒนธรรมส่วนรวมได้เป็นครั้งแรก โดยอิสลามในสภาวะวิสัยแบบนี้ก็มีหน้าที่ทางสังคมไม่ต่างไปจากลัทธิชาตินิยมที่เฟื่องฟูขึ้นในประเทศโลกที่ 3 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน(4)

สังคมสมัยใหม่ให้กำเนิดอิสลามแบบที่เน้น การหวนกลับไปหาหลักการมูลฐานซึ่งยึดมั่นในตัวอักษรและกฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อย่างเคร่งครัด กระบวนการนี้เปลี่ยนแปลงสังคมมุสลิมให้อยู่ภายใต้การเมืองแบบที่ปกครองด้วยเครือข่ายของผู้นำ / ผู้รู้ (clientelism) ซึ่งมีอำนาจโดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่ "ไม่เป็น" อิสลาม ส่วนสถาบันการเมืองแบบเป็นทางการนั้นก็มีบทบาทน้อยกว่าเครือข่ายส่วนบุคคลนี้แบบไม่เป็นทางการ แบบแผนการปฏิบัติในชีวิตประจำวันอยู่ใต้กฎหมายที่ได้อิทธิพลจากธรรมนูญทางศาสนา และถือว่าผู้ซึ่งอยู่เหนือกว่านั้นมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองผู้ที่อยู่ล่างจาก ผลด้านร้ายของโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกสมัยใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อแลกกับการได้รับความสนับสนุนจากเบื้องล่างเป็นการตอบแทน(5)

แน่นอนว่าการที่มนุษย์อาศัยศาสนาเป็นแหล่งพึ่งพิงทางจิตวิญญาณนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติ แต่ภาวะที่ศาสนาผนึกตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ ซ้ำยังมีอิทธิพลถึงขั้นที่กำหนดอัตลักษณ์, คุณลักษณะ และแบบแผนความประพฤติของสมาชิกในสังคมนั้น ก็ไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา การเมืองแบบนี้เป็นการเมืองที่เน้นความสำคัญของ "ตัวกลาง" ผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างพลเมืองกับสิ่งสูงสุดทางศาสนา หรือพูดอีกอย่างก็คือ ตัวกลางเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงในทางโลกและทางจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน

ผลที่ตามมาจากกระบวนการนี้คือสภาพที่งานศึกษาหลายชิ้นอธิบายว่าสังคมการเมืองเช่นนี้ ไม่เปิดโอกาสให้กับการเกิดขึ้นของประชาสังคม, อาณาบริเวณสาธารณะ, การรวมกลุ่มทางการเมืองที่เป็นเอกเทศจากรัฐ และปัจเจกชนที่เป็นอิสระจากเหตุผลของศาสนา (faith) ถึงขั้นที่แทบไม่มีความเป็นไปได้ที่จะปรากฏความคิดที่แตกต่างและ "เป็นอื่น" ไปจากโครงสร้างแบบจารีตประเพณีดังที่กล่าวมานี้

ไม่ต้องพูดถึงแนวทางการปฏิบัติในระดับรายละเอียดที่เป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรี, สิทธิของบุคคลในการนับถือศาสนา , การลงทัณฑ์ด้วยมาตรการอันโหดร้าย, สิทธิเหนือชีวิตของผู้กระทำความผิดในคดีอาญา ฯลฯ (6) ซึ่งล้วนละเมิดหลักการพื้นฐานของการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

โดยผลที่สภาพทั้งหมดนี้ทำให้เกิดขึ้นในกรณีของตะวันออกกลางก็คือกองทัพกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื่องจากไม่มีกลุ่มพลังอื่นใดที่มีเครื่องไม้เครื่องมือและกลไกที่จะกระทำการทางการเมืองโดยเป็นอิสระจากสถาบันศาสนาได้อีกต่อไป(7)

ปัจจัยต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้เองที่ทำให้ปัญญาชนอย่าง ฟรานซิส ฟุกุยามา โจมตีว่า ความคิดทางการเมืองแบบอิสลามนั้น มีลักษณะเป็นการท้าทายทางการเมืองต่อฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ถึงแม้การท้าทายจะแทบไม่มีความหมายในระดับสากล และไม่ได้รับความสนใจจากคนที่ไม่ใช่มุสลิมก็ตาม(8)

ข้อที่ควรพิจารณาก็คือ จะบอกว่าโลกอิสลามท้าทายการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยจริงหรือไม่นั้น ก็จำเป็นต้องตอบคำถามใหญ่ๆ ที่สัมพันธ์กับอิสลามทั้งในฐานะที่เป็นคำสอนทางศาสนาและสภาพความเป็นจริงทางการเมืองอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นคำถามว่าอิสลาม และ fundamentalism เป็นเรื่องเดียวกันจริงหรือไม่ , ความเป็นอิสลามนั้นเป็นเอกภาพและเป็นขบวนการที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวอย่างที่กล่าวกันจริงหรือเปล่า, ไม่เคยเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในประวัติศาสตร์ของอิสลามเลยจริงหรือ, ประชาสังคมและการรวมกลุ่มทางการเมืองแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นอิสลามนั้นเป็นอย่างไร, ปรากฎการณ์แบบ fundamentalism เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่เกิดในศาสนาอิสลามอย่างเดียวจริงหรือ ฯลฯ รวมทั้งความเป็นการเมืองแบบมุสลิมตามที่ชาวมุสลิมเข้าใจตัวเองนั้นเหมือนหรือแตกต่างจากที่ได้กล่าวมานี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพื้นฐานของวิธีคิดและแนวการมองแบบที่เรียกว่า "มายาคติเรื่องภัยคุกคามจากอิสลาม" (Islamic Threat) ที่แท้จริงแล้วนำไปสู่การคุกคามฝ่ายอิสลาม (Threat to Islam) ไปเสียเอง

มายาคติไม่ใช่ความจริง และมายาคติเรื่องภัยคุกคามจากอิสลามก็เป็นแนวการมองโลกอิสลามที่สัมพันธ์กับความซึ่งไม่จริงหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น การมองอิสลามว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับ fundamentalism ก็ไม่สอดคล้องกับรูปธรรมที่ก็ปรากฎขบวนการ fundamentalism ขึ้นในสังคมอื่นที่มิใช่อิสลาม ไม่ว่าจะเป็นฮินดูในอินเดีย หรือคริสตศาสนาแบบ fundamentalism ในสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นที่การใช้คำว่า fundamentalism เพื่ออธิบายถึงการเมืองที่อยู่ใต้อิทธิพลของศาสนานั้นมีกำเนิดมาจากสังคมอเมริกาเองในช่วงปี 1910-1915 ด้วยซ้ำไป(9)

ส่วนความเข้าใจว่าอิสลามเป็นขบวนการทางศาสนาที่เป็นเอกภาพนั้น ก็มองไม่เห็นลักษณะทางประวัติศาสตร์ของอิสลาม ที่หลักคำสอนจำนวนมากถูกตีความแตกต่างกันไปโดยนิกายต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่แตกต่างกัน(multi-vocal interpretation) จนกระทั่งนอกจากอิสลามในประเทศที่เป็นชายขอบของความเป็นอิสลาม อย่างเช่น จีน, รัสเซีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ฯลฯ จะแตกต่างจากอิสลามในประเทศที่เป็นศูนย์กลางแล้ว อิสลามในประเทศศูนย์กลางเองก็ยังมีความผิดแผกจากกันด้วย จนจำเป็นต้องคิดถึงอิสลามในแง่พหุลักษณ์ ไม่ใช่อิสลามในแง่ที่เป็นหนึ่งเดียว (not one Islam, but many Islams) ถึงแม้พวกเขาจะเคารพในหลักการและคำสอนอันศักดิ์สิทธิของคัมภีร์กุรอ่านเหมือนๆ กันก็ตาม(10)

สำหรับแนวการมองอิสลามว่าเป็นพื้นฐานของการสร้างขบวนการทางการเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวเพื่อคุกคามอารยธรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นขบวนการ fundamentalism หรือความคิดเรื่องรัฐอิสลามซึ่งอยู่เหนือความเป็นรัฐชาติใดๆ ก็เป็นสิ่งที่ Fred Halliday โจมตีว่าเป็นผลมาจากความเข้าใจอิสลามที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายสถาน

เริ่มต้นจากการมองว่าตัวบทของอิสลามนั้น ทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมีพฤติกรรมทางการเมืองและสังคมที่เป็นเอกภาพ ทั้งๆ ที่การที่อิสลามโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นสังคมโลกที่ 3 ซึ่งเผชิญปัญหาต่างๆ ในโลกสมัยใหม่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันต่างหาก ที่ทำให้พวกเขามีปฏิกริยาทางการเมืองในแบบที่ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เพราะตำรับตำราหรือคำสอนทางศาสนาแต่อย่างใด

นอกจากนั้น การเมืองในโลกอิสลามเองก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งและการเผชิญหน้าทั้งในระดับระหว่างรัฐอิสลามด้วยกันเอง และในระดับภายในรัฐอิสลามระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่มีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แตกต่างกัน ถึงแม้จะนับถือศาสนาเดียวกันก็ตาม จนทำให้แทบไม่มีความเป็นไปได้ที่จะปรากฎการรวมตัวของรัฐอิสลามทั้งหลาย เพื่อทำการต่อสู้ทางการเมืองและการทหารในขอบเขตที่กว้างขวางกับโลกฝ่ายที่ "เป็นอื่น" ไม่ต้องพูดถึงการที่แสนยานุภาพทางการเมืองและการทหารของโลกอิสลามในระดับองค์รวมนั้นอยู่ในจุดที่ด้อยกว่าของฝ่ายโลกตะวันตก และกระทั่งชาติมหาอำนาจเอกเทศอื่นๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้(11)

ในส่วนของการพิจารณาอิสลามว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของเสรีประชาธิปไตยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ปัญญาชนชาวอิสลามศึกษา ได้โต้แย้งเอาไว้อย่างมาก หลักใหญ่ใจความของแนวคิดแบบนี้คือ การมองว่าอิสลาม ไม่อนุญาติให้มีการรวมกลุ่มที่เป็นอิสระและเป็นเอกเทศจากรัฐและศาสนา ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ประชาสังคมหรืออาณาบริเวณสาธารณะแบบเสรีประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปรากฎขึ้นได้ในสังคมอิสลาม

นักวิชาการฝ่ายอิสลามศึกษา (และตะวันออกกลางศึกษา) โจมตีคำอธิบายแบบนี้ว่าเป็นผลมาจากการพิจารณาการเมืองในสังคมอิสลาม โดยมุ่งไปยังสถาบันที่เป็นทางการในระดับรัฐและการรวมกลุ่มแบบประชาสังคมตามแบบตะวันตก แต่มองข้ามพลังไม่เป็นทางการซึ่งมีลักษณะคลุมเครือ, มองเห็นได้ไม่ง่าย และไม่ได้เป็นไปตามนิยามที่เคยมีมา แต่ทรงความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นตลาด, สมาคม, มัสยิด ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอาณาบริเวณที่เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ความคิดและการกระทำทางการเมืองเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมา

โดยเฉพาะในกรณีของสังคมตะวันออกกลางเองที่มีพลังประเภทนี้ดำรงอยู่ในรูปของเครือข่ายของสถาบันทางสังคมต่างๆ ซึ่งในบางครั้งก็มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปได้ถึงคริสตศตวรรษที่ 10-11 ด้วยซ้ำไป โดยที่การขยายตัวของการศึกษาสมัยใหม่ (mass education) ในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ก็ยิ่งทำให้ความคิดแบบใหม่ๆ แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนปรากฎการรวมกลุ่มแบบเป็นไปเองของประชาชนขึ้นโดยทั่วไปในปัจจุบัน(12)

ข้อที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ความคิดเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างการเมืองและศาสนา ก็เป็นสิ่งที่มีผู้โต้แย้งเอาไว้ว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ของอิสลามเองที่เกิดการแบ่งแยกระหว่างการเมืองกับศาสนา ในช่วงหลังจากการตายของศาสดาไปไม่กี่ปี โดยที่ในบางกรณีก็เกิดความขัดแย้งและการแข่งขันระหว่างองค์กรทางการเมืองกับองค์กรทางศาสนาขึ้นมาก็เป็นได้

ตัวอย่างเช่น นักเขียนชาวปากีสถานอย่าง Qamaruddin Khan ก็ระบุว่า "กุรอ่าน"ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับทฤษฎีการเมืองแบบอิสลามชนิดใดๆ และโดยตัวของคัมภีร์เองนั้น ก็มีความยืดหยุ่นจนไม่อาจถูกใช้ไปเพื่อปกป้องสถานะทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ในสังคมมุสลิมเองได้

การอ้างว่า คัมภีร์พูดถึงความเป็นเอกภาพระหว่างการเมืองและศาสนา เป็นคำขวัญที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาใหม่ ส่วนคำอย่าง "รัฐอิสลาม" ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 20 โดยไม่เคยปรากฏทั้งในทางทฤษฎีและวิถีการปฏิบัติของชาวมุสลิมมาก่อนแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่มีเป้าหมายเพื่อกลุ่มการเมืองและชนชั้นนำทางการเมืองบางกลุ่มในสังคมอิสลามเองมากกว่าอะไรอื่น(13) โดยที่คำอธิบายเช่นนี้ก็สอดคล้องกับแนวการมองแบบที่ Fred Halliday เรียกว่า "การคุกคามฝ่ายอิสลาม" (Threat to Islam) นั่นเอง

อันที่จริง แม้แต่หลักคำสอนของศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่มีผู้ตีความว่า แง่มุมและมรดกบางอย่างที่เป็นคุณต่อการขยายตัวของเสรีประชาธิปไตยในสังคมอิสลาม(14) ตัวอย่างเช่น ความคิดเรื่อง Tawhid ซึ่งเห็นว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากองค์พระผู้เป็นเจ้าตามหลักอิสลาม , ความคิดเรื่อง Khilafat หรือพันธะหน้าที่ซึ่งมนุษย์มีต่อชุมชน, ความคิดเรื่อง Shurah หรือการถกเถียงและปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียมกัน, ความคิดเรื่อง Ijma หรือฉันทานุมัติโดยเสียงส่วนใหญ่, ความคิดเรื่อง Ijtihad หรือการประยุกต์หลักการของพระเจ้าให้สอดคล้องกับยุคสมัยต่างๆ โดยไม่สูญเสียแก่นสารของคำสอนไป, ความคิดเรื่อง Fitnah และ Ikhtilaf หรือความเห็นทีผิ่ดแผกแตกต่างกันโดยไม่ทำลายระเบียบหรือคุกคามความเชื่อของสังคม ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนี้ สังคมอิสลามมองเห็นว่าชาวมุสลิมทั้งหมดล้วนมีสถานะที่เท่าเทียมกันต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้า ระบบสังคมที่แบ่งแยกมนุษย์เป็นลำดับขั้นจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ส่วนองค์อธิปัตย์ทางโลกนั้น ก็ต้องทำการปกครองโดยคำนึงถึงคำสอนทางศาสนา (theo-democracy) และอยู่ภายใต้เจตจำนงทั่วไปของชาวมุสลิม ในขณะที่การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ นั้นต้องผ่านการปรึกษาหารือร่วมกันโดยตระหนักว่า คู่สนทนาทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน โดยที่ทั้งองค์อธิปัตย์และพลเมืองต้องใช้สิทธิและอำนาจ โดยคำนึงถึงความเป็นชุมชนการเมืองไปตลอดเวลา

จริงอยู่ว่า การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และจะทำอย่างนี้ได้ ก็คงต้องอาศัยความเข้าใจทั้งในระดับหลักคำสอนและสังคมวิทยาของศาสนาอีกมากพอสมควร

เป้าหมายของเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่การอธิบายความสัมพันธ์นี้ แต่คือการชี้ให้เห็นว่าความรู้และข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์, เทววิทยา, เศรษฐศาสตร์การเมือง, สังคมวิทยา, วาทกรรม ฯลฯ ทำให้เห็นถึงความเหลวไหลและไม่สมจริงของการอาศัยความเป็นศาสนาของอิสลาม ไปสร้างความรู้สึกว่าอิสลามเป็นขบวนการทางการเมืองซึ่งมีความคิดและยุทธศาสตร์ที่เป็นปึกแผ่นเพื่อต่อต้านเสรีประชาธิปไตยและทำลายอารยธรรมตะวันตก

หรือไม่อย่างนั้นก็คือบิดเบือนการโจมตีที่อิสลามมีต่อประชาธิปไตยแบบตะวันตกด้วยเหตุผลทางจริยธรรม ให้กลายเป็นว่า ทั้งหมดนี้มีต้นตอมาจากลักษณะทางชาติพันธุ์และศาสนาซึ่งทำให้อิสลามต่อต้านประชาธิปไตยในความหมายทั่วไป แล้วปฏิเสธหลักการ, วิวัฒนาการและความหลากหลายของโลกอิสลามแบบที่ไม่เป็นไปตามจินตนกรรมเช่นนี้ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไรก็ตาม

เชิงอรรถ

(1)...อิสลามและประชาธิปไตย
(2) Anthony Giddens, Runaway World : How Globalization is reshaping our lives (London : Profile Books, 1999), pp.40-45.
(3) Ernest Gellner , Conditions of Liberty : Civil Society and its Rivals (London : Penguin Books, 1996), p.15-29.
(4) Ernest Gellner, "Civil Society in Historical Context," International Social Science Journal, No.129 (August 1991), p.506.
(5) Ernest Gellner , Conditions of Liberty : Civil Society and its Rivals , p.26, Manuel Castells, The Power of Identity : The Information Age : Economy, Society and Culture Volume II , p.18.
(6) Fred Halliday, "Relativism and Universalism in Human Rights : the Case of the Islamic Middle East," Political Studies, Vol. XLIII (1995), p.153 ; Ann Mayer, Islam and Human Rights (London : Westview Press, 1991)
(7) Bernard Lewis , The Middle East : 2000 years of History from the Rise of Christianity to the Present Day (London : Phoenix Press, 2000), p.380
(8) Francis Fukuyama, "The End of History?," in Stephen Eric Bronner (ed.), Twentieth Century Political Theory : A Reader (New York : Routledge, 1997), p.379.
(9) Manuel Castells พูดถึงปัญหานี้ไว้อย่างน่าสนใจมากกว่าอันที่จริงอเมริกานั้นเป็น "สังคมศาสนา" อย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ความเป็น Christian Fundamentalism ในอเมริกานั้นรวมศูนย์อยู่ที่การเน้นความสำคัญของครอบครัว และโจมตีสถาบันทางสังคมอื่นๆ ว่ามีส่วนทำลายความเข้มแข็งของครอบครัวลงไปอย่างไรบ้าง การเมืองของคริสตศาสนาแบบอเมริกาจึงเป็นการเมืองที่มีอาณาบริเวณหลักๆ จำกัดอยู่ในดินแดนของประเทศ แต่ไม่ได้ส่งผลที่ชัดเจนต่อการเมืองโลกแต่อย่างใด โปรดดู The Power of Identity : The Information Age : Economy, Society and Culture Volume II , pp.21-26 และ Harold Bloom, The American Religion : The Emergence of the Post-Christian Nation (New York : Touchstone, 1992)
(10) Edward Mortimer, Faith and Power : The Politics of Islam (London : Faber and Faber, 1982) และ Akbar S.Ahmed, Discovering Islam : Making Sense of Muslim History and Society (London, New York : Routledge & Kegan Paul, 1988), pp.107-116,143-171.
(11) Fred Halliday, Islam and the Myth of Confrontation : Religion and Politics in the Middle East (London : I.B.Tauris, 1995), pp.107-123.
(12) โปรดดู Augustus Richard Norton (ed.), Civil Society in the Middle East Vol.2 (Leiden : E.J.Brill, 1996) ข้อที่น่าสนใจก็คือบทนำของ Dale F.Eickelman พูดถึงการเฟื่องฟูของขบวนการอิสลามป๊อปปูลิสม์ในภูมิภาคตะวันออกกลางว่าเป็นประจักษ์พยานของการดำรงอยู่ของประชาสังคม เพียงแต่ประชาสังคมในที่นี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด แน่นอนว่าในทางตรรกะนั้น การลากเส้นแบ่งระหว่างประชาสังคมกับประชาธิปไตยคงไม่ใช่ปัญหา ถึงแม้จะเป็นความเป็นจริงที่ชวนให้ขัดข้องใจอยู่บ้างก็ตาม แต่คำถามที่สำคัญกว่าก็คือเราสามารถแยกการเติบโตของขบวนการอิสลามป๊อปปูลิสม์ในตะวันออกกลางออกจากการสนับสนุนในทางใดทางหนึ่งของรัฐได้หรือไม่ และถ้าคำตอบคือไม่ได้ คำถามถัดไปก็คือแท้จริงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาสังคมในสังคมตะวันออกกลางนั้นเป็นอย่างไรกันแน่
(13) Dale F.Eickelman and James Piscatori, Muslim Politics (New Jersey : Princeton University Press, 1996), pp.46-57.
(14)โปรดดู John L.Esposito and John O.Voll, Islam and Democracy (New York : Oxford University Press, 1996), pp.3-51.

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม word)