ปาฐกถาของ
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ต่อไปนี้
เป็นการถอดเทปจากเทปเก่า
ซึ่งได้นำมาปรับปรุงเพียงเล็กน้อยขึ้นเพื่อ
ให้นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน
ได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับ กลุ่มของ
"สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน"
สำหรับการรณรงค์หรือการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่อง
ของคนจนในหลายๆครั้งที่ผ่านมา เรามักได้ยินชื่อ
กลุ่มสมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน เสมอๆ
อันที่จริงแล้ว
กำเนิดของนักวิชาการกลุ่มนี้ ได้เริ่มมีขึ้น
มาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ณ สถาบันวิจัยสังคม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคราวซึ่งได้จัดให้มีการ
ประชุม เพื่อบริจาคเงินช่วยเหลือคนจนซึ่งไปนอน
อยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
ชนชั้นกลางช่วยเหลือคนจน
ปาฐกถานำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
(มีนาคม 2540)
นิยามของความจน
เรื่องนิยามของความจนนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อมันนิยามได้ยากเข้า เราจึงปล่อยให้นักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้นิยาม
นักเศรษฐศาสตร์ก็นิยามเรื่องของความยากจนอย่างหยาบๆ ซึ่งมันหยาบมากเท่าที่จะหยาบได้โดยเอาตัวรายได้มาเป็นตัววัด
หรือมิฉะนั้นก็เอาตัวทรัพย์ที่ขายในตลาดได้มาเป็นตัววัด เพราะฉะนั้น โดยวิธีการวัดแบบนักเศรษฐศาสตร์นั้น
พระภิกษุที่ดีที่สุดในประเทศไทยคือ"คนที่จนที่สุด" แล้วก็ไม่เคยเดินขบวนไปไหนเลย
เพราะว่าความเป็นจริงแล้ว ความจนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์พยายามนิยาม
ผมอยากจะขอพูดในที่นี้ว่า ผมอยากจะให้นิยาม"ความยากจน"บ้าง แต่ผมคิดว่ามันก็ยังหยาบอยู่ดี ผมคิดว่า"ความจน" อันที่หนึ่งก็คือ"การไม่มีทางเลือก"
ในสมัยหนึ่งคนในประเทศไทยส่วนใหญ่ ถ้าจะถามว่าจนไหม ? ในทัศนะของผมคิดว่า"ไม่จน" เพราะ"มีทางเลือก" แต่ว่าแน่นอน มนุษย์มีทางเลือกในขีดที่จำกัดเสมอ คนอยุธยาไม่สามารถที่จะไปเป็นนักคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งหนีไม่พ้นที่พวกเขาจะต้องเป็นเกษตรกร แต่ผมคิดว่าพวกเขามีช่องทางขยับขยายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น ที่บางแห่งไม่พอกินก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น แน่นอนทางเลือกมีจำกัด มีการกดขี่ มีการจำกัดเสรีภาพในสมัยนั้นมากมายหลายอย่าง แต่ในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ผมคิดว่าเขาพอที่จะมีทางเลือกอยู่พอสมควร ซึ่งอันนี้เป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญมากๆ
ที่นี้คนพอที่จะมีทางเลือกได้ ก็หมายความว่าจะต้องมี"ฐานทรัพยากร" ซึ่งผมขอตีความทั้งในแง่"วัตถุซึ่งจับต้องได้" ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่า หรืออะไรก็แล้วแต่ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ"ความรู้"ซึ่งเป็น"สิ่งที่จับต้องไม่ได้" รวมไปถึงความเข้าใจในชีวิต เข้าใจในสิ่งต่างๆ เพราะว่ามนุษย์เรานี้ ถ้าเราเอาความโลภมาเป็นตัวนำแล้ว มันก็จนอยู่ตลอดเวลา อย่างที่พูดว่าจนที่ใจ คนที่มีทางเลือกต้องมีทัรพยากรเหล่านี้อยู่พอสมควร
ถ้าดูอย่างนี้แล้วถามว่า คนจนในประเทศไทยมันมาจากไหน ? อยู่ๆวันหนึ่งเราอยู่กันมาในสมัยอยุธยา ก็จนๆกันอยู่ แต่ก็ไม่ได้จนกันอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ บัดนี้เรามาพบว่าเรามีคนจนอยู่ในประเทศของเรามากมาย ถ้าใช้นิยามของนักเศรษฐศาสตร์ เราจะมีคนจนอยู่ 6-7 ล้านคน คือคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน เส้นนี้ก็ขยับได้ตามความเห็นของคน ถ้าขยับเพียงเล็กน้อยก็กลายเป็น 14 ล้านคน ขยับอีกหน่อยกลายเป็น 28 ล้านคน แล้วแต่ว่าจะขยับไปตรงไหน ไม่ว่าคุณจะขยับไปตรงไหน มีคนเป็นจำนวนล้านๆคนจนในประเทศของเรา จนโดยเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดว่า"พวกนี้จน" และตัวเขาเองก็คิดว่าตัวเขาเอง"จน"
ความยากจนมาจากไหน ?
"ความจน"เหล่านี้ผมคิดว่า "มันมาจากนโยบายการพัฒนา" เพราะนโยบายการพัฒนามันเป็นนโยบายที่มีความลำเอียง ตั้งใจมาตั้งแต่ต้นเลยในการที่จะระดมเอาทรัพยากรต่างๆเท่าที่จะเป็นไปได้ในแต่ละช่วงสมัยมารับใช้"คนกลุ่มน้อย" ผมคิดว่ามันมีเจตนาตั้งแต่ต้น และรู้ตั้งแต่ต้นด้วยว่าจะให้คนกลุ่มน้อย กลุ่มใด ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงระดมเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละช่วงเอามาใช้เป็นประโยชน์.
สมัยหนึ่งก็คือ การเอาประโยชน์จากป่า ส่วนอีกสมัยหนึ่งก็คิดจะถางป่าให้หมดๆ เพื่อที่จะปลูกข้าวโพต แล้วก็เอาข้าวโพตไปขาย ขายแล้วจะได้เงินไหลกลับเข้ามา ไหลกลับเข้ามาแล้ว คนที่มีกำลังความสามารถก็จะจับเงินเหล่านั้นเอาไว้ได้ก่อน จับไว้ได้ก่อนก็จะเอาเงินนั้นไปลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม พอทำอุตสาหกรรมแล้วก็จะรวยมากขึ้น เป็นต้น
แต่พอมาถึงตอนนี้ ความคิดดังกล่าวก็ไม่เอาแล้ว ป่าต้องการจะเก็บเอาไว้ เพราะอยากจะได้น้ำมาหมุนเครื่องจักรหรือไฟฟ้าในภาคกลาง เพราะฉะนั้นจึงไล่คนออกไปจากป่า ดังนั้น การเลือกจะใช้ทรัพยากรเพื่อคนกลุ่มไหนจึงเป็นหัวใจเกี่ยวกับการพัฒนาของเรา
จนถึงวันนี้ บอกว่าอยากจะพัฒนาคน เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เราพูดถึงการพัฒนาคน เมื่อนั้นเรากำลังพูดถึง"ความเท่าเทียม"ถูกไหม ? เพราะว่าคนนั้นเหมือนกันหมด ไม่ใช่กลุ่ม ไม่ใช่ sector ทางเศรษฐกิจอีกต่อไป
พอพูดอย่างนี้ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่ความจริงเราจะพบอยู่ตลอดเวลาว่า นโยบายพัฒนาคน มันไม่เกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใดเลย อย่างที่เวลานี้กำลังโวยวายกันว่าให้ตัดงบประมาณแสนล้านบาท ปรากฏว่า งบประมาณเกี่ยวกับการก่อสร้างอยู่หมด ส่วนงบพัฒนาคนหายหมดเลย คนจะเจ็บป่วยล้มตาย ปัญหาเด็กขาดอาหารตัดออกไปก่อน ส่วนของการสร้างตึกสร้างถนนอะไรที่มันสามารถโอนเงินจำนวนนี้ไปให้แก่ประเป๋าคนบางคนได้ มันก็ยังอยู่ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น นโยบายที่เปลี่ยนจากการพัฒนามาสู่การพัฒนาคนนี้ คิดว่ากระทั่งถึงนาทีนี้ เป็นแต่เพียงคำพูด ยังไม่ใช่ของจริง
คนจนในสังคมไทยเวลานี้ เขาถูกเลือกให้จน ผมคิดว่าเขาถูกเลือกให้จน จากนโยบายการพัฒนา
บัดนี้เขาถูกสาปให้จน
ความคิดที่จะสร้างสังคมไทย
ให้มีชนชั้นกลางมีมา 40 ปีแล้ว
เป็นนโยบายอันหนึ่งในการ
ต่อต้านตอมมิวนิสท์
ในทุกวันนี้
ทุกรัฐบาลทุกพรรคการเมือง
พูดเหมือนกันหมดคือ คนที่ไปเป็นกรรมกรใน
โรงงานอุตสาหกรรม
ดีกว่าการเป็นชาวนา
ทีนี้พอพูดถึงตรงนี้แล้วทำให้เราเห็นได้ชัดเลยว่า คนที่เป็น"คนจน"ในสังคมไทยเวลานี้ เขาถูกเลือกให้จน แล้วจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่า เมื่อเขาถูกเลือกให้จนจากนโยบายของพัฒนาเท่าที่ผ่านมา บัดนี้เขาถูกสาปให้จน คือเลือกกลุ่มคนกลุ่มนี้ให้จน พอมาถึงตอนนี้สาปเลย สาปให้จนตลอดกาลไม่มีทางขยับไปไหนได้
เหตุผลก็คือว่า การกำหนดหรือการเลือกใช้ทรัพยากร หรือยกทรัพยากรให้ใครใช้ มันมีลักษณะที่เข้มข้นมากขึ้น ในปัจจุบันนี้เราเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรอย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ เปลี่ยนจากป่าไปเป็นที่ใช้สำหรับปลูกข้าวโพต ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นแหล่งผลิตน้ำ แล้วก็กลัวว่ามันจะถูกทำลายก็พยายามจะไล่คนออกจากป่าอะไรต่างๆนาๆ ครั้งหนึ่งเคยปลูกข้าวโพต แล้วพบว่าข้าวโพตมันให้กำไรไม่เพียงพอ บัดนี้ก็เลยเอาไปปลูกยูคาลิบตัสแทนบ้าง เอาไปปลูกอย่างอื่นแทนบ้างที่ให้กำไรมากกว่า แต่ว่าทำให้คนปลูกเปลี่ยนหน้าไปด้วย คนเก่าไม่ได้ปลูกแล้ว กลายเป็นคนใหม่ที่ปลูก หรือว่าถึงคนเก่าจะปลูกแต่คนใหม่จะเข้ามาฉวยผลประโยชน์ในอีกลักษณะหนึ่งแทน เพราะการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรอย่างนี้ มันเท่ากับเป็นการสาปให้คนซึ่งจนอยู่แล้ว จนตลอดไปเลย
แล้วเราจะพบว่าปัญหาที่มีการเรียกร้องของสมัชชาคนจน หรือ ส.ก.ย.ก. ในสมัยหนึ่งนั้น ความจริงแล้วมันเป็นปัญหาเรื่องทรัพยากรมากมาย นโยบายของรัฐเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร เรื่องของคนรวยเข้าไปแย่งใช้ทรัพยากรเป็นส่วนใหญ่ คนจนจึงไม่มีโอกาสที่จะขยับออกมาจากความยากจนได้เลย
คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นคนซึ่งทราบกันอยู่แล้วว่า เป็นคนที่รับรางวัลมูลนิธิโกมลคีมทองในหลายปีที่ผ่านมา ในปาฐกถาในการรับรางวัลท่านได้พูดประโยคของสิ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญของความยากจน ปัญหาเรื่องของความยากจนในประเทศไทยที่สุด คือพูดกันเสียเกือบตายทั้งหมดเท่าที่ผมพูดผ่านมา สรุปลงเหลือคำเดียวเท่านั้นเอง คือคุณวนิดาบอกว่า "คนจนไม่ได้รับความยุติธรรม" ซึ่งก็ตรงเลยทีเดียวซึ่งไม่ต้องไปพูดอะไรมาก คือการเลือกให้จน นโยบายการพัฒนาที่ลำเอียงทั้งหมด คือคุณไม่ใช้ความยุติธรรมกับความจน
การไม่ให้ความยุติธรรมกับคนจน
คราวนี้หันมาดูว่า"การไม่ให้ความยุติธรรมกับคนจน" ถ้าเราไปถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือถามข้าราชการส่วนใหญ่ก็ตามในปัจจุบันนี้ ถามว่าเขามีเจตนาร้ายต่อคนจนเหล่านี้ เขาเกลียดคนจนเหล่านี้ใช่หรือไม่ ? เขาบอกว่า"ไม่ใช่" นโยบายพัฒนาของเขาหวังว่า จะสร้างงานชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้แก่คนเหล่านี้มากกว่าเก่าเสียอีก ซึ่งเป็นนโยบายที่ติดมากับนโยบายการพัฒนาสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในที่นี้ไม่ทราบจะจำได้หรือไม่ ถ้าเราย้อนกลับดูตอนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารยึดอำนาจได้นั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะโดยคำแนะนำของหลวงวิจิตรวาทการหรืออะไรก็แล้วแต่ ได้ออกมาบอกว่า สิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใฝ่ฝันให้แก่สังคมไทย คือ"จะทำให้สังคมเรา กลายเป็นสังคมของชนชั้นกลาง" เกิดชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งจะทำให้สังคมของเราต่อต้านคอมมิวนิสมได้ เพราะชนชั้นกลางไม่ชอบการเป็นคอมมิวนิสท์ และนอกจากนั้นแล้วจะทำให้ทุกคนมีความสุข เพราะชนชั้นกลางมีเงิน และมีการศึกษาดี เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายของการพัฒนาก็คือ การพยายามสร้างชนชั้นกลาง
ด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่ามันเป็นส่วนที่มัน built in อยู่ในระบบ ถูกสร้างมาตั้งแต่ต้นเลยในระบบการพัฒนาของเราที่จะทำลายล้างคนซึ่งไม่ยอมเป็นคนชั้นกลางทั้งหลาย เช่นเป็นต้นว่า คุณเป็นเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรรายย่อยก็อย่างที่เรารู้จักอยู่ คือคนที่เสียเปรียบที่สุด เพราะว่านโยบายของรัฐตลอดเวลาที่ผ่านมา 40 กว่าปีนี้ คือนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมรายย่อยเลย คนที่ไปบุกเบิกที่ดินหรือเผาป่าเพื่อที่จะปลูกไร่ ทำไร่ส้มทีเดียว 2000 ไร่ บางคนอาจจะประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าคุณเป็นเกษตรกรรายย่อยแล้วร่วมอยู่ในกระแสการพัฒนา ไม่มีใครสามารถหลุดรอดมาได้แม้สักคนเดียว เพราะว่าตัวนโยบายตั้งแต่ต้น มันตั้งใจจะเป็นอย่างนั้น ให้คนเหล่านั้นหลุดออกไปจากการทำเกษตรกรรมรายย่อย กลายมาเป็นแรงงานในภาคเกษรตรกรรมก็ตาม แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็ตาม แต่ถ้าจะเป็นแรงงานในภาคเกษรตรกรรม ก็จะเป็นแรงงานในภาคเกษรตรกรรมก้าวหน้า เช่น การทำเกษตรในเชิงพันธะสัญญา เป็นต้น ความจริงก็เป็นแรงงานให้เขาแต่ว่ามันซ่อนอยู่เท่านั้น. หรือมิฉะนั้นอีกทีหนึ่งก็คือไปปลูกข้าวเพื่อทำเบียร์ เป็นแรงงานให้กับบริษัทที่ปลูกข้าวบาร์เล่ย์สำหรับที่จะนำมาผลิตเบียร์
เพราะฉะนั้นความคิดเกี่ยวกับการสร้างสังคมชนชั้นกลางขึ้นมา ก็ยังมีอยู่ แล้ววิธีสร้างนั้น ทำให้คนที่ไม่มีโอกาสเป็นชนชั้นกลาง หรือคนที่ไม่ใช่เป็นคนชั้นกลาง หลุดออกไปจากฐานเดิมของตัวเองเสีย แล้วจะไปพัฒนาตัวเองเป็นชนชั้นกลางก็ตามใจ ถ้าพัฒนาไม่ได้ก็เข้าไปสู่โรงงานอุตสาหกรรม
ในทุกวันนี้ถ้าท่านสังเกตุให้ดีท่านจะพบว่า ทุกรัฐบาลหรือทุกพรรคการเมืองพูดเหมือนๆกันหมด คล้ายๆกับว่า คนที่เป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมดีกว่าที่จะเป็นชาวนา จริงหรือเปล่า ?
ผมว่าเรื่องนี้น่าสงสัยมาก ถ้านิยามความจนอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์นิยามโดยยึดรายได้เป็นตัวหลักหรือตัวตั้ง อาจจะดีกว่าก็ได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่ามันดีกว่าจริงเสมอไป เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่ใครหลุดจากท้องนาแล้วเข้าโรงงานอุตสาหกรรมได้ กลายเป็นของดีในตัวมันเองเข้าใจไหม ? เพราะฉะนั้นคุณก็มีทางเลือกอยู่ 2 อย่าง, อย่างที่หนึ่งคือคุณเป็นคนชั้นกลางขึ้นมาได้ ถ้าคุณเก่งพอ หรือมิฉะนั้นคุณก็ไปเป็นแรงงานในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ผมคิดว่าภาพของสังคมไทยที่เขามองกันอยู่ เป็นภาพของสังคมที่เต็มไปด้วยคนชั้นกลาง คนส่วนใหญ่เป็น employee เป็นลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจบ้าง ธุรกิจเอกชนใหญ่ๆบ้าง พวกที่มีความรู้ความสามารถบ้าง พวกที่ไม่มีความรู้ก็ขายแรงงานบ้าง แต่ก็ต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เพราะแรงงานซึ่งไม่มีคุณภาพนั้นเขาให้พม่าทำ
นี่คือภาพในความนึกฝันของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อพูดอย่างนี้ถามว่า"คนจนคือใคร"
"คนจน"ก็คือ ผมรู้สึกว่าหมออุทัยวรรณเคยพูดว่า"คือคนตกรถไฟ" คือคนที่ไปกับเขาไม่ทัน คือคนที่ที่จริงผมว่าแกไม่ได้ตกรถไฟ แกโดนถีบออกมาจากรถไฟมากกว่า คือคนที่ถูกทิ้ง คนที่ไม่สามารถไปกับรถไฟ คนมันเต็มแล้วก็เลยถีบคนทิ้งไป หรืออะไรก็แล้วแต่ และไม่ใช่คนจำนวนน้อย มันเป็นคนจำนวนมากเลยทีเดียว
การกำหนดทางเลือกแบบนี้ให้ทุกคนมีวิถีทางเลือกที่ตายตัว มันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนตกรถไฟเท่านั้น เวลานี้เขามีภาพของสังคมไทยว่าเป็นภาพของบริษัทใหญ่ๆ อาจจะมี head quarters หรือมีศูนย์อยู่ที่ญี่ปุ่นหรือไต้หวันก็แล้วแต่ มันมีแรงที่จะจ้างงานคนจำนวนมากในประเทศไทย แล้วทุกคนต้องเดินเข้าไปตามช่องทางนี้หมด
ผมคิดว่าถ้ามองในรูปนี้ "ความจน"ตามนิยามของผม "ความจน คือ การไม่มีทางเลือก" มันขยายจากเกษรตรกรรายย่อยมาสู่ชนชั้นกลางเองด้วย ชนชั้นกลางก็จะต้องเริ่มจนแล้ว จนในความหมาย"คุณไม่มีทางเลือกอื่น คุณต้องเดินตามทางนี้" เท่านั้นเอง และการเลือกเดินตามทางนี้ไม่ใช่ง่ายนะ คนเป็นกรรมกรในประเทศไทย 30 ปีต่อมา เขาสามารถเขยิบฐานะทีละเล็กทีละน้อยขึ้นไป ถามว่ามีไหม ? ตอบว่ามี แต่น้อยมากอย่างน่าตกใจ
ถ้าคิดว่าใน 30-40 ปีที่ผ่านมาเราขยายแรงงานอุตสาหกรรมจากสมัยหนึ่งเคยมีเมื่อปี 2500 มีแรงงานอุตสาหกรรมอยู่สักประมาณแสนคน หรือไม่ถึงนั้น เวลานี้เรามีไม่รู้ตั้งกี่ล้านคน คนที่ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่แรงงานอุตสาหกรรมแล้วสามารถตั้งตัวได้ มันมีสักกี่คน นับว่าน้อยมากเลยทีเดียว มันก็เป็นแรงงานไปจนกระทั่งมันแก่ เงินเดือนเพิ่มมากขึ้นจากการเดินขบวนเพิ่มค่าแรงไปตามเรื่องตามราว หรือ ออกๆเข้าๆ ย้ายโรงงาน ชีวิตต้องพึ่งพิงกับทางด้านเกษตรกรรมของญาติสืบต่อมาเป็นเวลานานมากๆเลย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว จะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนชั้นกลางจะได้ไหม ? อาจจะเป็นคนชั้นกลางชั้นต่ำๆสุดก็ได้ แต่เป็นวิถีทางเลือกซึ่งไม่ได้จริงจังเท่าไรนัก
คราวนี้ในความเป็นจริงของสังคมสมัยใหม่นี่ ถามว่ามันมีทางเลือกในชีวิตมากกว่านี้ไหม ? ผมคิดว่าความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักพัฒนา หรือนักอะไรก็แล้วแต่ซึ่งเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจของเราอยู่ทุกวันนี้ เป็นอะไรที่ล้าสมัยเอามากๆเลยที่มองสังคมว่า เป็นสังคมของนายจ้างขนาดใหญ่ ซึ่งสัก 20-40-60 นายจ้าง แล้วที่เหลือก็คือลูกจ้างหมด ผมคิดว่าอันนี้เป็นความคิดที่ผิดและหยาบด้วย
เป็นต้นว่า เวลาพูดถึงญี่ปุ่นว่า ใครๆก็เป็น salary man คือไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างระดับใหญ่หมด ในความเป็นจริงพอมาถึงเมื่อ 10 ปีกว่ามานี้เอง คนส่วนใหญ่ของสังคมญี่ปุ่นมาอยู่ในธุรกิจระดับกลางและระดับย่อย ไม่ใช่เป็นลูกจ้าง SONY, ไม่ใช่เป็นลูกจ้าง TOSHIBA อะไรอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักพัฒนาชอบพูดถึงในเมืองไทย เวลาไปลอกเลียนสังคมอื่นก็มองหยาบๆ ไม่ได้มองลึกลงไปถึงรายละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้น ในทุกสังคมซึ่งรวมทั้งสังคมไทยเองก็น่าจะมีทางเลือกมากกว่านั้น
ผมไม่ได้มีตัวเลขและไม่ทราบว่ามีใครทำไหม ? จริงๆแล้วนี่ ปริมาณคนที่ถูกจ้างโดยครอบครัว โดยเศรษฐกิจรายย่อย มากมายมหาศาล แต่คนเหล่านี้ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒฯ หรืออะไร เขาไม่ได้เตรียมให้คนเหล่านี้มีความสามารถที่จะพัฒนาจากร้านขายโอเลี้ยงขึ้นมาให้มันดีขึ้น แล้วก็อยู่ได้จนขายโอเลี้ยงไปจนตาย อันนี้ไม่ได้คิดเลย แต่คิดว่าทำอย่างไรไอ้หมอนี่จึงจะถูก CP จ้างมากกว่า ผมว่าอันนี้เป็นการขยายความจนไปสู่คนชั้นกลางแล้ว แต่เป็นความจนที่ผมหมายถึง คือไม่ให้โอกาสคนชั้นกลางที่จะพัฒนาจากฐานที่มีอยู่ เพราะว่า โอเลี้ยงเวลานี้ที่เห็นอยู่เป็นทรัพยากรที่กำลังถูกยึด เพราะร้านเซเว่นอีเลเว่นมีน้ำแข็งเหลวๆซึ่งมันน่ากินกว่า ร้านโอเลี้ยงเวลานี้มันอยู่ไม่ได้แล้วเพราะเขายึดร้านโอเลี้ยงแล้ว ความจนมันกำลังขยายเข้ามา
ประเด็นที่ว่า "ทำไมคนชั้นกลางจึงไม่สนใจความจน" ไม่สนใจกับความยากจน ผมคิดว่าคนชั้นกลางคิดว่า"คนจน"กับ"ตัว"ไม่ใช่พวกเดียวกัน. แต่ความจริง"ไม่ใช่" ผมคิดว่าคนชั้นกลางกำลังจนลงๆ อาจจะโดยไม่รู้ตัว. ในที่นี้ผมหมายถึง"จน"ตามนิยามผม ไม่ใช่"จน"ตามนิยามนักเศรษฐศาสตร์
เราสามารถสร้างเศรษฐกิจที่มีธุรกิจเล็กๆเชื่อมโยงเข้าหากันเพื่อการแข่งขันระดับโลกก็เป็นได้ แต่อันนี้เป็น option ที่จะสังเกตุเห็นว่า นักการเมืองไทยไม่เคยพูดถึงเอาเลย. เวลาพูดถึงการแข่งขัน ไปพูดถึง CP ในเรื่องการแข่งขัน พูดถึงบริษัทใหญ่ๆหรือบริษัทญี่ปุ่นเองขยับมาอยู่ในเมืองไทยแล้วออกไปแข่งขันข้างนอก เวลาเราพูดถึงการแข่งขัน เราจะนึกถึงซัมซุง ฮุนได ไปนึกถึงธุรกิจ big business ของหน้าใหม่ที่จะไปแข่งกับตลาด แต่ไม่เคยนึกถึงว่ามันมีที่เราจะเชื่อมเครือข่ายของธุรกิจเล็กให้มันแข็งแกร่งและก็สามารถไปแข่งกับภายนอกได้
ที่จริงธุรกิจเล็กๆนั้น เป็นที่ยอมรับกันหมดว่า ธุรกิจเล็กเป็นธุรกิจที่มี efficiency สูงสุด ไม่ว่าในแง่ของการใช้แรงงาน ในแง่ของการใช้ทุน แต่เราไปมอง efficiency กันหยาบเกินไปตรงที่ ถ้าไม่มีเครื่องจักร ไม่มีคอมพิวเตอร์แสดงว่าไม่ efficient ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่. ธุรกิจเล็กเป็นธุรกิจซึ่งมี efficiency สูงมาก เพราะฉะนั้นโอกาสที่เขาจะแข่งขันจึงมีอยู่สูงมาก เราก็ไม่เคยคิดถึง ไม่เป็น option ของทางเลือกเกี่ยวกับการพัฒนาในประเทศของเรา เป็นต้น
หรือกรณีของประเทศญี่ปุ่น เอาธุรกิจเล็กไปเชื่อมกับธุรกิจใหญ่ อย่างเช่น บริษัทมิตซุบิชิจะไม่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมด แต่ว่าจะขายการผลิตให้กับธุรกิจเล็กๆ เช่นบริษัทนี้ผลิตแต่ตัวสต๊าร์ทเตอร์ บริษัทนั้นผลิตไอ้นั่น แล้วนำมารวมกันที่มิตซูบิชิ โดยที่มิตซูบิชิเป็นคนตั้งมาตรฐานให้ อย่างนี้เราก็ไม่เคยนึกถึงอีกเหมือนกัน เมื่อไหร่ที่ธุรกิจใหญ่ของเราทำอย่างนี้ ก็แสดงว่าเขายังไม่พร้อมที่จะผลิตเอง เขายังสามารถกดขี่ เอาเปรียบแรงงานที่อยู่นอกโรงงานของเขาได้ดีกว่าเขาก็ทำอย่างนี้ ถ้าเขากดขี่ไม่ได้ เอาเปรียบไม่ได้ เขาก็เลิก เขาก็ไม่ทำตาม ไม่มีนโยบายภาษีที่จะหนุนให้เขาทำสิ่งเหล่านี้เลย
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเชื่อ จอห์น ไนซบิส ที่พูดเอาไว้นานแล้วว่า โลกสมัยใหม่เป็นโลกที่ธุรกิจเล็กลง เพราะปริมาณกำไรซึ่งทำได้โดยบริษัทจีเอ็ม บริษัทจีอี บริษัทเวสธิงเฮาร์ บริษัทใหญ่ในอเมริกาที่ขายไปยังต่างประเทศ เขาพบว่า มันมีปริมาณของผลกำไรลดลงๆ ในขณะที่เงินเข้าซึ่งเป็นเงินที่ทำได้จากต่างประเทศของอเมริกา มันมาจากธุรกิจระดับกลางและระดับย่อยมากขึ้นๆ ดังนั้นโลกข้างหน้าจึงเป็นโลกที่ มันไม่แปลกอะไรถ้าหากว่าคุณเชื่อว่า เป็นโลกของข่าวสารข้อมูล โลกของธุรกิจการขายบริการ ไม่ใช่ขายตัวสินค้า แน่นอน สิ่งเหล่านี้ต้องการความคล่องตัว ต้องการอะไรที่มันเล็กๆมากกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่โลกที่เขาเรียกกันว่าโลกาภิวัฒน์ ก็ต้องมองถึงฐานการผลิตที่เล็กๆซึ่งคนแต่ละคน คนแต่ละครอบครัว หรือแต่ละหน่วยย่อยๆสามารถเข้าไปมีบทบาทได้อย่างจริงจัง
เหตุดังนั้นผมจึงคิดว่า ภาพจำลองหรือภาพของความฝันของนักอะไรก็ไม่ทราบ ผมไม่อยากใช้คำว่านักเศรษฐศาสตร์บ่อยๆ เพราะว่ามีเพื่อนของผมคืออาจารย์ อัมมาร์ สยามวาลา น้อยใจว่าทำไมชอบว่านักเศรษฐศาสตร์ เอาว่านักอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นคนวางแผนพัฒนาประเทศ เป็นคนที่มองสิ่งเหล่านี้ให้มันแคบลง ผมว่ามันทำให้ความจนขยายตัวมากขึ้นจากการที่เราคิดว่าไม่เกี่ยว. ความจริงมันเกี่ยวกับเราอย่างยิ่ง มันกำลังขยายมาถึงคนชั้นกลางอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากมากๆเลย เพราะฉะนั้น การที่เราอยากจะไปเปลี่ยนเพราะเราไม่อยากเป็นคนจน เราอยากจะไปเปลี่ยนนโยบาย เราจะต้องไปร่วมมือกับคนที่เขาโดนกระหน่ำอยู่ในเวลานี้ ไปจับมือร่วมกันเพื่อให้สังคมของเรามองเห็นว่า ช่องทางข้างหน้ามันเปิดกว้างมาก อย่าไปวางอะไรที่มันเป็นกรอบตายตัวอย่างนี้ เพราะว่ามันจะทำให้คนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นได้เปรียบ ได้เปรียบในการนำทรัพยากรส่วนใหญ่ไปใช้
ความจริงแล้วสภาพเมืองไทยเห็นชัดเจนเลยว่า
ชนชั้นกลางไม่ว่าจะทำอะไร เมื่อคุณมีคนจนมากอยู่อย่างนี้ คุณไม่สามารถใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือได้ในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้เป็นอันขาด
กรณีที่มันมีการซื้อเสียงกันมากมาย ขอให้ระวังนะ มันไม่ได้หมายความว่าเขาขายเสียงเพราะเขา"จน"
ผมคิดว่าถ้าผมเป็นเขาผมก็ขาย ผมว่าไม่เห็นมันมีประโยชน์อะไรเลยซึ่งเป็นอยู่ในเวลานี้.
ฉะนั้น ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ได้มาสัก 300-500 บาทก็ยังดี ด้วยเหตุดังนั้น
จึงมีพวกนักการเมืองที่จะพยายามจะไปหาประโยชน์เพื่อเอาคนจนมาเป็นฐานเสียงของตนเอง
แล้วขึ้นไปขี่หัวชนชั้นกลางอยู่ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด
ผมจึงคิดว่า สิ่งที่เราไปนึกแต่เพียงง่ายๆว่า ประชาธิปไตยที่ขยายตัวมากขึ้นนั้นจะปกป้องตัวเรา แล้วปล่อยให้คนจนอยู่ข้างล่างเป็นล้านๆคน ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย เพราะว่า ไม่ใช่นักการเมืองไทยเลว นักการเมืองที่ไหนๆก็จะทำอย่างเดียวกันนี้ คือดึงเอาคนจนซึ่งมีปัญหาเดือดร้อนร้อยแปดอยู่แล้วมาเป็นฐานของตนเอง จะโดยหยาบๆหรือโดยสุขุมรอบคอบก็แล้วแต่ แล้วก็เอาประโยชน์จากคนเหล่านี้มาเพื่อขึ้นมาขี่หัวชนชั้นกลางอีกทีหนึ่ง คนที่อยู่ในฐานะซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบ เขาจะแลกทุกอย่างกับสิ่งซึ่งมันสามารถจะจับต้องได้ แทนที่จะมาหวังว่านักการเมืองจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรให้แก่เขา เพราะฉะนั้นโดยสรุปผมคิดว่า หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ว่าสังคมจะต้องเติบโตไปด้วยกัน เราไม่สามารถที่จะไปด้วยตัวของเราเองโดยลำพังคนเดียวได้ ชนชั้นกลางไปเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับคนจน ทิ้งคนจนเอาไว้เลยซึ่งมีเป็นจำนวนล้านๆอย่างนี้ ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ผมเคยเขียนบทความให้กับ"มติชนรายวัน"เรื่อง"ความเป็นอื่นของคนจน". ความเป็นอื่นเป็นเรื่องที่น่ากลัว. เราเกลียดชังอะไรก็ไม่เป็นไรเท่าไหร่ สิ่งที่ถูกเราเกลียดชังมันก็ยังตอบโต้เราได้ แต่ว่า"ความเป็นอื่น"มันร้ายกว่าความเกลียดชัง ผมขอยกตัวอย่างว่า เราได้ยินข่าวกันมาแล้วว่า เด็กนักเรียนมัธยมในอเมริกา มันนอนกันเป็นว่าเล่นเลย. อันนี้ เราก็ฟังดู...เออ มันสนุกดี. แต่ถ้ามีใครมาบอกว่า เด็กนักเรียนมัธยมของไทยก็นอนกันอย่างนั้น จะมีคนเดือดร้อน จะมีคนรู้สึกว่าต้องแก้ไข ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะว่าอะไร ? เพราะว่าเด็กอเมริกันมี"ความเป็นอื่น"กับเรา เรารู้สึกว่า"ไม่เกี่ยว" เป็นเพียงเรื่องซึ่งฟังแล้วสนุก เข้าใจไหม ? ในขณะที่เด็กไทย"ไม่ได้มีความเป็นอื่น"กับเรา เรารู้สึกเดือดร้อนว่า...ถ้านอนกันมากขนาดนั้น มันไม่ได้เสียแล้ว อะไรต่างๆนาๆ เราจะต้องเข้าไปทำโน่นทำนี่. "ความเป็นอื่น"จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว ในประเทศไทยเราเห็น"คนจน"มีความเป็นอื่น" มีกระบวนการที่ทำให้เราเห็นคนจนเป็นอื่น กระบวนการนี้ทำโดยนักพัฒนาหรือโดยรัฐบาลหรือใคร ผมไม่ทราบ แต่มันมีกระบวนการนี้อยู่ เช่นผมขอยกตัวอย่างสัก 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งก็คือ มีข่าวทีวีในช่วงจบท้ายข่าววันหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อตอนที่คนจนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็คือว่า"คนจนกินกิ้งก่า" เป็นภาพปิดท้ายข่าว เป็นข่าวสนุก เป็นข่าวสั้นๆ ข่าวตลก. ผมคิดว่าคนอีสานกินกะปอมเป็นเรื่องปกติธรรมดา จริงๆแล้วผมคิดว่า คนไทยนี้เป็นนักกินสัตว์เลื้อยคลาน กินสัตว์เลื้อยคลานหลายอย่างมาก เพียงแต่ว่าคนภาคกลางอาจจะไม่กินกิ้งก่า แต่เราก็กินเหี้ย กินแย้ กินหลายอย่าง คือเราเป็นนักกินสัตว์เลื้อยคลานด้วยกัน เป็นแต่เพียงเรากินสัตว์คนละตัวก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นจะประหลาดอะไร ไม่เห็นว่ามันจะตลกตรงไหน ? แต่ว่าเราเอาเรื่องของคนจน เราไม่ได้ดูถูกคนจน แต่คนจนกินกิ้งก่า แปลกไหม ? มันแปลกดี มันตลกดี นี่ล่ะเป็นแบบที่เราเล่าเรื่องของเด็กอเมริกัน อายุเพียง 11 มันนอนกัน คือมันเป็นเรื่องของ"ความเป็นอื่น" หรือ "the otherness" เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคุณนะ. หรือเรื่องคนจนแต่งงานก็แล้วแต่ นักศึกษาที่รักชอบกันในมหาวิทยาลัยแต่งงานกันกี่คู่แล้วก็ไม่รู้. คนที่พบกัน อยู่ร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วแต่งงานกันไม่เห็นว่ามันจะแปลกตรงไหน ? จะต้องไปพาดหัวข่าวทำไมผมยังไม่เข้าใจ แต่นี่เป็นเรื่องของ "ความเป็นอื่น" และผมคิดว่าเรื่องของคนจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขามาร่วมกันอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีเรื่องของ"ความเป็นอื่น"แยะมากเลย เป็นเรื่องซึ่งปรากฏออกมาเป็นข่าว เป็นเรื่องซึ่งไม่เกี่ยวกับเรา เวลาที่พาดหัวข่าวแต่ละทีจะเป็นเรื่องแปลกๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ของชนชั้นกลาง ถ้าเรามีสำนึกแล้วมีความเข้าใจว่า เราไม่สามารถแยกตัวเองออกไปได้"ต่างหาก" คือเราต้องทำลาย"ความเป็นอื่นกับคนจนให้ได้" จะทำลายได้อย่างไร ? ผมคิดว่าเราจะทำลายได้ 2-3 อย่าง. อย่างที่หนึ่งก็คือว่า
เราต้องทำให้ประเด็นปัญหาของคนจนถูกเข้าใจกว้างขวางมากขึ้น จากจุดยืนของคนจน.
เอาตัวอย่างอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ผมก็ต้องอ้างตัวเองอีกเหมือนกันซึ่งผมขอโทษด้วย ผมเคยเขียนบทความเรื่องอสังหาริมทรัพย์เมื่อหลายปีมาแล้วว่า รัฐบาลเดือดร้อนที่ว่าธุรกิจอันนี้จะล่มลง จริงๆแล้วมองในแง่ดี คนไทยไม่มีบ้านอยู่ตั้งเยอะแยะ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังจะล่มลงก็ดีแล้ว คุณก็ต้องเข้าไปช่วยเพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มันมีการจ้างงานสูงมาก แต่คุณจะช่วยอย่างไร ? ไม่ใช่ยอมให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่บนหัวของเราอยู่ต่อไป เพราะมันทำกำไรมากในช่วงเศรษฐกิจเติบโตแบบฟองสบู่ มันทำกำไรมาก แต่เราจะช่วยมันอย่างไร ? ก็ช่วยโดยมีเป้าหมายว่า ดีแล้ว เราจะทำให้ประชาชนไทยเป็นจำนวนมากมีโอกาสที่จะมีบ้านของตนเอง แต่ผ่าเข้าไปคิดถึง...ก็เพราะไม่คิดถึงเรื่องของคนจน เข้าใจไหม ? แต่กลับไปคิดถึงการแข่งขัน การซื้อจากภายนอกที่มีเงินมาก หรือการกำหนดให้นักธุรกิจฝรั่งมีสิทธิในการซื้อบ้านมากขึ้น ถ้าผมเป็นนักธุรกิจสร้างบ้าน ผมก็ยินดีที่จะสร้างบ้านขายฝรั่งดีกว่าขายคนไทยด้วยกัน เพราะคนไทย ง้อแล้วง้ออีกก็ไม่มีเงินจะซื้อสักที เป็นต้น อันนี้ไม่ใช่ของผมถูก มุมมองจากสถาบันการศึกษา จากวงวิชาการที่เป็นมุมมองช่วยคนจน ไม่เป็นมุมมองที่เสนอขึ้นไปเพื่อเป็น"อีกทางเลือกหนึ่ง" ผมคิดว่าชนชั้นกลางไทยไม่ได้ใจไม้ใส้ระกำอะไร แต่เป็นเพราะว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหาในสังคมไทย จะมีคนเสนอทางเลือกซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นของบริษัท CP บ้าง เป็นของบริษัทล็อคเล่ย์บ้าง ตลอดเวลา. มันไม่มีทางเลือกจากนโยบายสาธารณะที่มาจากจุดยืนของคนจนเลย แล้วก็แน่นอนที่ว่าเป็นทางเลือกซึ่งมีศักดิ์ศรีเท่าๆกันกับสิ่งซึ่ง TDRI เสนอด้วย ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องซึ่งผมคิดว่าเราน่าจะคิดกันให้มาก เรื่องของการเรี่ยไรเงินอันนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องง่ายนะ แต่ทำอย่างไร จะให้จุดยืนของคนจนเป็นที่เข้าใจมากขึ้นในหมู่ชนชั้นกลาง และทำอย่างไรจะให้สังคมของเราได้มีทางเลือกที่มีศักดิ์ศรี ที่มีเหตุผล ซึ่งเป็นทางเลือกที่มองมาจากจุดยืนของคนจนๆบ้าง หมายเหตุ
|
ทำไมชนชั้นกลางไม่สนใจคนจน
ทีนี้ผมอยากจะตอบคำถามที่ว่า "ทำไมชนชั้นกลางจึงไม่สนใจคนจน ?" ชนชั้นกลางเชื่อว่าเรามีประชาธิปไตย หรือเรากำลังขยายสิทธิประชาธิปไตยของเรามากขึ้น เราสามารถเอาประชาธิปไตยใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิของเรา ปกป้องการใช้ทรัพยากรของเราเต็มที่ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าอย่างไรเราก็ไม่กลัว |