มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2543 ที่ผ่านมา
ผู้นำภาคประชาชนระดับรากหญ้ากลุ่มหนึ่งจาก
ทั่วประเทศ ได้มาร่วมกันร่างแถลงการณ์

วาระแห่งชาติภาคประชาชน
ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซ.วัดอุโมงค์ อ.เมือง
จังหวัดเชียงใหม่
ทำไมจึงต้องมีวาระแห่งชาติภาคประชาชน
และบุคคลเหล่านี้เสนออะไรเป็นวาระแห่งชาติของพวกเขา
ประชาชน บอก ประชาชน

หลังการยุบสภา นักการเมืองเริ่มออกหาเสียงกันอย่างจริงจัง หลายพรรคให้ความสำคัญกับนักการเมือง
หน้าใหม่ๆ หลายพรรคเริ่มโจมตีกัน และหลายพรรคเริ่มผสมพันธุ์กัน
(โดยใช้คำหรูๆว่าเป็น พันธมิตรทางการเมือง) โดยไม่สนใจนโยบายพรรค.
เราไม่ควรต้องเสียเวลาตั้งคำถามเรื่องนโยบายพรรคอีกแล้ว เพราะเหมือนกันทุกพรรค ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีนโยบายที่ให้เลือกนั่นเอง

พรรคการเมืองไทยมีอะไรใหม่ไปกว่าความคิดของฮุนเซ็น หรือคลินตันไหม หรือประเทศไทยมีอะไรต่างไปจากประเทศทิมบักตู
?

ตอบได้ทันทีเลยว่าไม่มี และไม่มีมานานกว่า 40 ปีแล้วเป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้นับแต่เรารับเอารากความคิดมาจากแนวคิดทุนนิยมตะวันตก แนวคิดเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม พัฒนา

จนเราบอดกับทางเลือกอื่นๆ และพร้อมกันนั้นก็มุ่งสู่หุบเหวแห่งความหายนะด้วยความเร็วเป็นทวีคุณ.

ถามว่าทรัพยากรของเราหายไปไหน ? ถามว่าดิน น้ำ ป่าของเราหายไปไหน ? ถามว่าคนของเราหายไปไหน ? ถามว่าความเป็นคนหายไปไหน ?
นิวยอร์ค ลอนดอน ปารีส อัมสเตอร์ดัม เทลอาวิฟ หรือกล่าวโดยรวมก็คือ หายไปกับประเทศที่ใช้ทรัพยากรของโลกนี้เป็น 4 เท่าของประเทศด้อยพัฒนา

นักการเมืองจะคิดอย่างไร ? พรรคการเมืองใดจะมีนโยบายแบบไหน ? ไม่ต้องมาบอกกันแล้ว
เพราะ ณ วันนี้, ประชาชนได้สูญสิ้นศรัทธาลงอย่างราบคาบ
แถลงการณ์ วาระแห่งชาติภาคประชาชนระดับรากหญ้า คือวาทะที่เราเรียกร้องต่อประชาชน
เพื่อประชาชน รัฐจะฟังหรือไม่ก็ตาม ประชาชนก็จะผลักดันวาระแห่งชาตินี้ เพื่อทวงคืนสิทธิของเรา และสิ่งที่สูญเสียไปภายใต้แผนพัฒนากลับคืนมา

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

วาระแห่งชาติภาคประชาชนระดับรากหญ้า

 

 

รัฐปัจจุบันมีสภาพที่อ่อนแอ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ พร้อมประนีประนอมกับเจ้าของทุนที่นับวัน จะทวีความเข้มแข็ง ในขณะที่ภาคประชาชนยังอ่อนแอ ประชาชนจะมีทางออกอย่างไร จะ สู้ หรือ จะอยู่อย่างไร ?

ภายใต้สภาพหลังชนฝาอย่างนี้ ทุนเป็นพลังที่มีกำลังมากขึ้นในการเข้าไปกำหนดทรัพยากรทุกส่วน ในประเทศเรา ทุนที่ว่านี้นับวันจะเป็นทุน ต่างชาติมากขึ้น การสร้างพลังภาคประชาชนให้เข้มแข็งจะทำอย่างไร ?

1. แรงงาน ซึ่งเป็นคนจำนวนมากถูกเอาเปรียบมาก เราเรียกร้องให้ สังคมผลักดันให้เพิ่มอำนาจของแรงงานในการ ต่อรองให้มากขึ้น โดยการแก้และการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าฝ่ายคนงานมีสวัสดิการที่ดีขึ้น จะส่งผลให้ครอบครัว ดีขึ้น เท่ากับเป็นการสร้างชาติและสังคมให้เข้มแข็งขึ้น

สังคมต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดนโยบายการลงทุน และการผลิต และการจัดการแรงงาน อุตสาหกรรมทุกระดับ โดย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ต้องมีตัวเแทนของภาคแรงงาน และสังคม เพื่อให้นโยบายส่งเสริมการลงทุน เอื้อประโยชน์ให้กับคนทุกลุ่มของสังคม เช่น ให้มีการเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้ วัตถุดิบภายใน การประกันอุบัติภัยและสุขภาพให้แรงงาน เป็นต้น

2 . การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ได้แก่ การศึกษา ให้มีความหลากหลายในรูปแบบและเนื้อหาเพื่อ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน การศึกษาต้องเน้นให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การศึกษาที่สร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เป็นต้น

การพัฒนา ต้องสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ให้มีการจัดการทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า โดยชุมชน

หนี้สินเกษตรกร ต้องให้ความสำคัญกับการ จัดการปัญหาหนี้สินของเกษตรกรซึ่งมีอยู่ จำนวนมาก

เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนทั้งด้านการเกษตรและ อุตสาหกรรมให้มีความหลาก หลายและพึ่งตัวเองได้

3. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน อันได้แก่ การรักษาความ สมดุลย์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม โดยต้องรักษา ความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น พันธุ์พืชพื้นเมือง

4. ผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง ต้องมีที่อยู่อาศัย มีอาหาร กินอิ่ม และ สามารถเข้าถึงบริการทาง สาธารณสุขอย่างทั่วถึง

5. ต้องดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ทำกิน และเพื่อดำรงชีพอยู่ได้ เช่น มีการจำกัดการ ถือครองที่ดิน การพัฒนาที่ เหมาะสมกับการผลิตของเกษตรกรรายย่อย ทั้งนี้เพื่อให้ที่ดินมี คุณภาพและ ประสิทธิภาพในการผลิต และสร้างความมั่นใจให้กับอาชีพเกษตรกรรม

 

back to midnight's home midnightuniv(at)yahoo.com