NO ACCEPTANT VOTE
เลือกที่จะไม่เลือก
เลือกที่จะไม่เลือก : นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2543
ก่อนที่บทความนี้จะตีพิมพ์ พระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งคงประกาศออกมาแล้ว ปัญหาที่คนไทยถามกันไปถามกันมา โดยยังไม่ได้ตอบกันอย่างจริงจัง ก็คงถึงเวลาต้องตอบกันอย่างจริงจังเสียที นั่นก็คือแล้วจะเลือกใครดี

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวทาง “ การเมือง “ ของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นตลอดมา เช่น การคัดค้านการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อชุมชนท้องถิ่น จนถึงขั้นการต่อต้านและประท้วงการเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจนผ่านสภา การผลักดัน พ.ร.บ. ป่าชุมชน การติดตามและกำกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ความพยายามจะใช้ พ.ร.บ. ข่าวสารข้อมูลของทางราชการให้เกิดผลในการควบคุมหน่วยงานของรัฐ และนักการเมือง การเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจและการคลังที่เป็นทางเลือก ฯลฯ

จนอาจกล่าวได้ว่า “ ภาคประชาชน “ ของไทยประสบความสำเร็จโดยเปรียบเทียบเหนือกว่าอีกหลายสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เช่นเริ่มกำหนดญัตติสาธารณะของตนเองได้มากขึ้น มีการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงถึงกันและเคลื่อนไหวร่วมกันไปในหลายประเด็น ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประชาสังคมในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

manifesto

แต่น่าสังเกตว่า ตลอดเวลาหลายปีมาจนบัดนี้ ไม่มีทั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของ “ ภาคประชาชน “หรือ “ กลุ่มประชาสังคม “ เอาเลย

ไม่เฉพาะแต่พรรคการเมือง และนักการเมืองที่สังกัดซีกรัฐบาล แม้แต่ที่สังกัดซีกฝ่ายค้านก็พยายามรักษาระยะห่างจากการเคลื่อนไหวเหล่านี้เช่นกัน

ร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อภาคประชาชนอาศัยช่องทางซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพื่อจะเข้าไปใช้เวทีของการเมืองในระบบ กลับปรากฎว่าถูกขัดขวางและเมินเฉยจากนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างชัดเจน กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือ การผลักดันกฎหมายป่าชุมชนเข้าสู่สภา ก็ถูกพรรคการเมืองหลายพรรคชิงเสนอร่างกฎหมายของตนเองเข้าไปประกบ ลำเลิกเหยียดหยามตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปในสภาเพื่อเสนอร่างของตนเอง

คณะกรรมาธิการก็ประกอบด้วยข้าราชการและนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่ และตัวแทนภาคประชาชนไม่มีโอกาสเข้าไปชี้แจงร่างกฎหมายของฝ่ายตนเอง

กล่าวโดยสรุป ในขณะนี้ “ การเมือง “ ของไทยแบ่งออกเป็นสองภาคที่ไม่เชื่อมโยงกันเลย คือภาค “ ในระบบ ” ที่มีพรรคการเมืองและนักการเมืองครอบงำอยู่ เป็นเวทีปิดที่พรรคการเมืองและนักการเมืองกีดกันไม่ให้ประชาชนได้ผุดขึ้นไปได้เป็นอันขาด ส่วน “ การเมือง ” อีกภาคหนึ่งคือการเมืองภาคประชาชนซึ่งมีความคึกคักเข้มแข็งอยู่ไม่น้อย แต่ต้องเล่นอยู่นอกเวที อีกทั้งไม่มีช่องทางใดที่จะเชื่อมโยงการเมืองในระบบกับภาคประชาชนเข้าหากันได้

ยกเว้นแต่การหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้งตามวาระ บทบาทของภาคประชาชนในการเมืองในระบบ จึงเหลือแต่เพียงการเลือกจะให้ปีศาจตัวใดขึ้นไปกระโดดโลดเต้นบนเวทีปิดนั้นเท่านั้น ดังที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ อัปรีย์ไป จัญไรมา”

การเชื่อมต่อการเมือง “ ในระบบ ” เข้ากับการเมือง “ ภาคประชาชน” เป็นปัญหาสำคัญ มิฉะนั้นแล้วก็มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงให้สังคมไทยมากขึ้นไปกว่านี้ ในขณะที่ประชาธิปไตยที่ใฝ่หาตามรัฐธรรมนูญก็ไร้ความหมาย เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนกลายเป็นเรื่องมีส่วนร่วมกันเอง ไม่มีผลต่อนโยบายสาธารณะและการกำหนดชะตากรรม ของเราทุกคนในฐานะ “ พลเมือง ” แต่อย่างไร

เว้นแต่จะใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือกเด็ดขาด เช่น “ มึงสร้าง กูเผา ”

การเลือกตั้งในฐานะช่องทางเดียวที่จะเชื่อมต่อระหว่างการเมืองสองภาคนี้จึงมีความสำคัญ แม้ว่ายังไร้ความหมายอยู่ในปัจจุบัน ควรช่วยกันคิดว่าจะใช้การเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์ต่อการที่ภาคประชาชนจะเข้าไปกำหนดเวทีการเมืองในระบบได้อย่างไร

ท่ามกลางนักการเมืองที่ฟอนเฟะ และพรรคการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้

เราอาจกล่าวโดยไม่ผิดพลาดได้ด้วยว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดสักพรรคเดียว ที่ส่อแววว่าจะทำให้การเมืองในระบบเปลี่ยนไปสู่การเป็นเวทีเปิดสำหรับภาคประชาชน

ถ้าเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ( และพันธมิตรร่วมรัฐบาลในเวลานี้ ) นอกจากจะทำให้นักการเมืองกลุ่มนี้ ลำพองคะนองฤทธิ์ว่า ที่ตนเคยรังแกความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนแต่ก่อนมานั้น เป็นความถูกต้องและชอบธรรม คนกลุ่มนี้จะกดขี่บีฑาการเคลื่อนไหวของประชาชนหนักข้อขึ้นไปอีก สมัชชาคนจน คนบ่อนอก - บ้านกรูด คนที่ถูกการประกาศเขตอุทยาน ฯ ริบที่ทำกิน คนที่ต่อต้านท่อก๊าซและโรงบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมที่คลองด่าน คนบ้านครัว ชาวกะเหรี่ยงที่คลิตี้ล่าง ฯลฯ และประชาชนอีกนับแสน ๆ ครอบครัว

เตรียมตัวไว้ได้เลยว่า โอกาสที่จะได้รับการเหลียวแลและความเป็นธรรมโดยสงบสันตินั้น หมดไปอย่างสิ้นเชิงแน่นอน

ถ้าเลือกพรรคไทยรักไทย ก็ให้เหลียวไปดูสมุนบริษัทบริวารของพรรคนี้ให้ดี จำนวนมากของคนเหล่านี้ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทั้งในเวลาที่จะผ่านสภาเมื่อปี 2540 และสืบมาจนถึงทุกวันนี้ บางคนประกาศว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนด้วย ทุกคนไม่เคยเหลียวแลความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเลยสักครั้งเดียว

ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงพฤติกรรมที่ยังไม่ได้รับคำอธิบายอีกหลายอย่างของธุรกิจหัวหน้าพรรค ไม่เฉพาะแต่การโอนหุ้นเท่านั้นแต่รวมถึงการประกอบธุรกิจที่อาจไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคอีกหลายเรื่องด้วยกัน จะหวังให้พรรคอย่างนี้หรือบรรดาคนเหล่านี้เปิดเวทีการเมืองในระบบให้แก่ภาคประชาชนจึงไม่พึงหวัง

แต่เราก็ต้องไปเลือกตั้ง ทั้งเพื่อรักษาสิทธิพลเมืองของเราซึ่งอาจถูกเพิกถอนบางอย่างได้ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง และที่สำคัญกว่านั้นก็คือเพื่อใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่จะบังคับให้การเมืองในระบบต้องเชื่อมโยงกับการเมืองภาคประชาชนให้ได้

ในท่ามกลางสภาพที่หมดทางเลือกเช่นนี้ หนทางเดียวที่เป็นไปได้สำหรับการส่งผ่าน “ สาร ” ของภาคประชาชนให้ถึงพรรคการเมืองในการเลือกตั้งได้ก็คือ ลงบัตรที่จะไม่เลือกพรรคใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เราควรเลือกที่จะไม่เลือก โดยเฉพาะส.ส. บัญชีรายชื่อ บอกให้พรรคการเมืองรู้ว่า พวกเขายังไม่มีคุณสมบัติดีพอที่จะเลือก

แน่นอนว่า จำนวนของผู้ไม่เลือก คงไม่มากพอที่จะทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคหมดสิทธิที่จะได้ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ ( แต่ละคนต้องได้คะแนนเสียงประมาณ 1 ล้านแปดแสนเสียงหากประชาชนไปใช้สิทธิเต็ม 100% ) กล่าวคือคนส่วนใหญ่คงสมัครใจเลือกด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่หากสามารถทำให้จำนวนของผู้ใช้สิทธิ เลือกที่จะไม่เลือก มีถึง 5-10 % ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เสียงไม่เลือกนี้ก็จะดังพอที่จะส่งผ่านไปถึงพรรคการเมืองได้ว่า ถ้าเขาปฎิรูปและปรับพรรคของเขาให้สอดรับเชื่อมโยงกับการเมืองภาคประชาชนแล้ว ก็จะสามารถพลิกผันผลการเลือกตั้งได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ไม่ว่าเราจะลงคะแนนเลือกใคร หรือเลือกที่จะไม่เลือก เราก็จะได้รัฐบาลขี้ริ้วขี้เหร่อย่างที่เคยได้มาแล้ว รัฐบาลที่ไม่สนใจฟังเสียงประชาชนเหมือน ๆ กันทั้งนั้น เราจึงไม่ควรฝากความหวังให้แก่พรรคที่ชั่วน้อย แต่ควรเอาชะตากรรมของการเมืองไทยไว้ในมือของเราเอง ด้วยการส่งสัญญาณแก่พรรคการเมืองให้ปรับปรุงตัวเองอย่างจริงจัง

สัญญาณนั้นคือ เลือกที่จะไม่เลือก

your opinion


ช่วยกันลงคะแนนเสียงไม่เลือก

๑) ในการเลือกตั้งซึ่งจะมาถึงในวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๔ นี้ เป็นที่แน่ชัดว่าประชาชนไทยไม่มีตัวเลือกที่น่าพอใจอยู่เลย เพราะพรรคการเมืองไร้ความรับผิดชอบ ไม่มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และเป็นระบบมากไปกว่าการหาเสียง ในขณะเดียวกัน ก็ไม่รังเกียจที่จะเสนอบุคคลที่สังคมไม่สามารถวางใจได้ให้เป็นตัวเลือกแก่ประชาชน จนมีผู้กล่าวว่า เราต้องเลือกส.ส.และพรรคที่เลวน้อย แต่ทำไมคนไทยจึงมีวาสนาเพียงจะต้องเลือกส.ส.และผู้บริหารประเทศที่เลวน้อยเท่านั้น ทำไมเราจึงไม่มีโอกาสที่จะเลือกพรรคและคนที่ดีที่สุดบ้าง

๒) โอกาสเช่นนั้นจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ จนกว่าเราจะร่วมมือกันให้บทเรียนแก่พรรคการ เมืองและนักการเมืองว่า เขาต้องรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างเรา ด้วยการไตร่ตรองและใคร่ครวญในเรื่องนโยบายมาอย่างดี และคัดสรรคนที่น่าไว้วางใจในทุกด้านมาเสนอให้เราได้เลือก วิธีการที่จะให้บทเรียนแก่พรรคการเมืองและนักการเมืองก็คือ เราควรพร้อมใจกันไปลงคะแนนเสียงไม่เลือก (โดยกาบัตรในช่องผู้ไม่ประสงค์จะเลือก) ในวันเลือกตั้งให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

๓) คะแนนของผู้ใช้สิทธิ์เลือกที่จะไม่เลือกเช่นนี้ ตามกฎหมายจะต้องถูกนับและแจ้งผล หากสามารถรวบรวมกันได้เป็นจำนวนมากมีสัดส่วนเกิน ๑๐% ขึ้นไป ก็จะเป็นบทเรียนให้แก่พรรคการเมืองและนักการ เมืองต้องหันไปปรับปรุงตนเองสำหรับการยอมรับของสังคมมากขึ้นในอนาคต

๔) ยิ่งไปกว่านี้ หากจำนวนของผู้ใช้สิทธิ์เลือกที่จะไม่เลือกมีจำนวนมากพอ ก็อาจเป็นฐานสำหรับการผลักดันให้แก้กฎหมายหลายฉบับ ที่จะบังคับให้พรรคการเมืองและนักการเมืองรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นในอนาคตด้วย เช่นในบางประเทศ หากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใด ผ่านการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงสัดส่วนหนึ่งที่สมเหตุผล (ซึ่งอาจกำหนดเป็นเปอร์เซนต์ได้ตามแต่สถานการณ์การเมืองของแต่ละประเทศซึ่งไม่ เหมือนกัน) ก็จะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกเป็นต้น

นอกจากนี้เรายังอาจเสนอแก้กฎหมายที่รัฐสนับสนุนเงินแก่พรรคการเมืองโดยนำเอาผลของการ เลือกตั้งที่ผู้สมัครของพรรคได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์มา ใช้พิจารณาแบ่งสรรด้วยเป็นต้น

ยังมีกฎหมายและระเบียบปฏิบัติอีกหลายอย่างที่ เราสามารถผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อบีบบังคับให้พรรคการเมืองและนักการเมือง แสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนได้มากขึ้น หากเราสามารถรวมกำลังกันเลือกที่จะไม่เลือกใน ครั้งนี้ได้เป็นสัดส่วนสูงของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

๕) เป็นไปได้ว่า การใช้สิทธิ์เลือกที่จะไม่เลือกของคนจำนวนมาก อาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้เปรียบ หรือบางพรรคเสียเปรียบ อย่างไรก็ตาม ในหมู่ผู้ที่ตั้งใจจะใช้สติในการลงคะแนนเสียง เลือกตั้ง ควรตระหนักด้วยว่า ไม่ว่าพรรคใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่สู้จะมีความแตกต่างในด้านเนื้อหาสาระแก่ประชาชนมากนัก ระหว่างนักการเมืองที่ไว้วางใจไม่ได้สองฝ่าย และนโยบายที่ฉาบฉวยมุ่งแต่จะหาคะแนนเสียงเฉพาะคราวเช่นนี้ ใครเป็นรัฐบาลจะแตกต่างกันอย่างสำคัญได้อย่างไร

ตรงกันข้าม ระบบการเมืองที่ขาดสำนึกรับผิดชอบ ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น โดยขาดเสียงประท้วงของการเลือกที่จะไม่เลือกเลยเสียอีก กลับจะช่วยสืบสานความเหลวแหลกทางการ เมืองต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

๖) ฉะนั้น การเลือกที่จะไม่เลือกจึงไม่ใช่การนอน หลับทับสิทธิ์ และไม่ใช่การปัดความรับผิดชอบ เพราะเป็นการดำเนินการเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ นับเป็นการเชื่อมโยงการเมืองภาคประชาชนกับการเมืองของนักการเมือง เราจะไปเลือกตั้งกันอย่างมีสติ และใช้ปัญญาว่าจะหาทางออกจากความเหลวแหลกทางการเมืองนี้ได้อย่างไร เราจะลงคะแนนเสียงไม่เลือก เพื่อสร้างอนาคตแก่เรา และลูกหลานของเรา แทนที่จะปล่อยให้ระบบการเมืองเป็นเวทีผูกขาด ของนักการเมืองที่ปลิ้นปล้อนตลบแตลง และไว้วางใจไม่ได้ปู้ยี่ปู้ยำกันตามใจชอบ

พวกเราชาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงใคร่เรียกร้องสังคมไทยให้ใช้สติให้มากในยามนี้ อย่าหลงไปกับเล่ห์เพทุบายของนักเลือกตั้ง อย่าหวังว่าจะมีใครเข้าไปกวาดล้างระบบการเมืองให้สะอาดขึ้นได้ แต่เป็นภาระหน้าที่ของเราทุกคน ที่ต้องลงมือกวาดล้างเอง และในสถานการณ์การเลือกตั้งที่ไม่มีตัวเลือกนี้ เราควรร่วมมือกันให้บทเรียนแก่พรรคการเมืองและนักการเมืองด้วยการเลือกที่จะไม่เลือก

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๔

 

 

 

 

 

 

manifesto
midnight university's manifesto : no acceptant vote
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : การรณรงค์ไปกาบัตรไม่เลือก ส.ส.
วันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2544