บทความแนวคิดทางการเมืองของสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "ทางเลือกสายที่ 3 : วาทกรรมแบบหลังสังคมนิยม (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์/เขียน)
Anthony Giddens เริ่มต้นงานเขียนชิ้นล่าสุดอย่าง Runaway World ด้วยการอ้างคำพูดของอาร์คบิชอปวูลฟ์สแตน ซึ่งมีขึ้นที่ยอร์ค เมื่อ ค.ศ.๑๐๑๔ ว่า โลกกำลังเร่งรีบ และใกล้จะถึงจุดจบเข้าทุกที แต่หลังจาก ๑ สหัสวรรษผ่านไป และโลกก็ใกล้จะเคลื่อนเข้าสู่สหัสวรรษที่ ๓ จุดจบที่ว่าก็ยังมาไม่ถึง อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้หมายความว่าโลกได้เข้าสู่ยุคแห่งสันติสุข ในทางตรงกันข้าม โลกกลับวิ่งออกไปจากทิศทางที่มนุษย์จะสามารถควบคุมได้มากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะในเรื่องสภาพแวดล้อม, เศรษฐกิจ, การเงิน หรืออะไรก็ตาม โดยที่ปัจจัยซึ่งมนุษย์หวังจะใช้เป็นที่พึ่งอย่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ถึงจุดนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอจะวิ่งไล่ทันความเป็นจริงที่เกิดขึ้นโดยรอบระบบโลกาภิวัฒน์ได้.
บทนำ
สำหรับปัญญาชนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อย การล่มสลายในขอบเขตทั่วโลกของระบอบคอมมิวนิสต์ ,การปรากฎขึ้นของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ และการแผ่อิทธิพลอย่างเข้มแข็งของทุนการเงิน-การสื่อสาร เป็นเสมือนหลักไมล์สำคัญที่ตอกย้ำว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากวันวาน และโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ซึ่งไม่เหมือนกับยุคสมัยใดๆ ในอดีต โดยที่เมี่ออดีตเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจหวนกลับมาได้ ขณะที่โลกในวันพรุ่งนี้ ก็แตกต่างจากวันก่อนอย่างไพศาล เราจึงไม่มีทางเลือก หรือแม้กระทั่ง ทางลอง อื่นใดหลงเหลืออีกต่อไป มีแต่จะต้องเดินไปข้างหน้าตามเส้นทางนี้เท่านั้น.
ปฏิกิริยาแบบตื่นตูมต่อพัฒนาการขั้นล่าสุดของสิ่งที่เรียกว่า สภาวะสมัยใหม่(Modernity) ไม่ใช่เรื่องใหม่ และยิ่งไม่ใช่เป็นปรากฎการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะแต่ในสังคมไทย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเรียงทางสังคมศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดในโลกตะวันตกในทศวรรษที่ผ่านมา จะได้แก่ จุดจบของประวัติศาสตร์ หรือ The End of History ของฟรานซิส ฟุกุยามา ขณะที่นักคิดซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของทศวรรษที่แล้ว จะได้แก่ อัลวิน ทอฟเลอร์ ซึ่งแม้ว่างานเขียนของทั้งคู่จะถูกบริโภคโดยกลุ่มผู้อ่านและตลาดที่แตกต่างกัน แต่หากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว งานเขียนของคนคู่นี้ ก็ล้วนมีประเด็นใจกลางที่สอดคล้องกัน นั่นก็คือความคิดเรื่องโลกเก่าได้ปิดฉากลงไป ขณะที่โลกใหม่ก็มีเส้นทางภาคบังคับแต่เพียงสายเดียว ดังที่ได้กล่าวไปในย่อหน้าที่แล้ว.
กระแสความคิดทำนองนี้ไม่ได้ปรากฏแต่ในงานเขียนของปัญญาชนแนว popular อย่างทอฟเลอร์แต่เพียงอย่างเดียว ถ้าจะถือตามคำกล่าวของ นักคิดสกุลหลังสมัยใหม่ที่บอกว่าความรู้ทุกชนิดล้วนเป็นวาทกรรม ก็สามารถกล่าวต่อไปได้ว่า นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมา งานเขียนของปัญญาชนแนว academic จำนวนมากก็พูดถึงในเชิงสนับสนุนวาทกรรมแบบที่ Michael Rustin เรียกว่า Post-Socialism หรือ หลังสังคมนิยม เอาไว้ ไม่ว่าปัญญาชนผู้นั้นจะมีงานเขียนเป็นแบบทวนกระแสหรือไม่ ไม่ว่าปัญญาชนผู้นั้นจะอยู่ภายใต้สังกัดภาควิชาไหน และไม่ว่าปัญญาชนผู้นั้นจะมีความคิดทางการเมืองชนิดใดก็ตาม ดังมีงานของ John Gray ใน The Delusions of Global Capitalism และ Ian Shapiro ใน Democracys Value เป็นตัวอย่าง.
ปฏิกิริยาทำนองนี้ ดูจะแพร่หลายเป็นพิเศษในหมู่ปัญญาชนจากซีกยุโรป ไม่ว่าจะด้วยเหตุจากการอยู่ใกล้ศูนย์กลางของความเปลี่ยนแปลง หรือการมีจารีตทางการเมืองที่พรรคการเมืองเป็นพรรคแบบอุดมการชัดเจนกว่าประเทศอื่นๆ ก็ตาม ยิ่งในกลุ่มปัญญาชน ซึ่งแสดงบทบาทเป็นปัญญาชนสาธารณะ (public intellectual)ด้วยแล้ว ปฏิกิริยาในเรื่องนี้ยิ่งรุนแรงไปกันใหญ่ ผลที่ตามมาก็คือ การบังเกิดขึ้นของกลุ่มอย่าง Refounded Communist ขึ้นในอิตาลี และ New Times ในอังกฤษ โดยที่ในกรณีของอังกฤษนั้น การรวมกลุ่มดังนี้ได้ผลิดอกออกผลเป็นความคิดซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลพรรคแรงงานในเวลาต่อมาด้วยซ้ำไป และภายในเวลาไม่ช้าไม่นาน ความคิดทำนองนี้ก็แพร่ขยายไปสู่ผู้นำของประเทศต่างๆอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นคานาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, บราซิล, อาร์เจนตินา และแม้กระทั่งรัสเซีย
โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศอังกฤษ เรียกความคิดแบบนี้ว่า The Third Way หรือ ทางสายที่ ๓ ซึ่งเขากล่าวไว้ในหนังสือ The Third Way : New Politics for the new century ว่าหมายถึง วิสัยทัศน์แห่งศตวรรษที่ ๒๑ อันเป็นเสมือนกรอบโครงทางความคิดสำหรับการปรับตัวของฝ่าย ซ้าย หรือฝ่าย สังคมระชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อันได้แก่โลกซึ่งการแบ่งขั้วแบบ สังคมประชาธิปไตย และ เสรีนิยมใหม่ หรือซ้าย และ ขวา กลายเป็นเรื่องที่ปราศจากความหมาย จนจำเป็นต้องมีวิธีคิด และยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบใหม่ๆ เพื่อไล่ให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ และแน่นอนว่านี่ย่อมรวมความไปถึงการใช้ทางสายที่ ๓ เป็นแนวทางสำหรับการเปลี่ยนบทบาท และปรับยุทธศาสตร์การทำงานของพรรคแรงงานในประเทศอังกฤษเองด้วย.
อย่างไรก็ดี เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าความคิดเรื่อง ทางสายที่ ๓ ข้อนี้ ไม่ใช่ผลผลิตจากการครุ่นคิดถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างจริงจัง โดยตัวแบลร์เองแต่อย่างใด หากเป็นความคิดที่แบลร์หยิบยืมและได้รับมาจากกลุ่มปัญญาชนที่อยู่รายล้อมตัวเขา และทำหน้าที่อย่างที่มักเรียกกันว่า Think Thank หรือที่ปรึกษาด้านนโยบาย โดยมี Anthony Giddens เป็นแกนนำ ซึ่งก็คือ Giddens คนเดียวกับที่เคยเขียนงานทางสังคมศาสตร์ชิ้นสำคัญอย่าง Critique of Historical Materialism (๑๙๘๑), The Constitution of Society (๑๙๘๔), The Consequence of Modernity (๑๙๘๙), Modernity and Self-Identity (๑๙๙๑), และ The Transformation of Intimacy (๑๙๙๒) ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้อำนวยการ London School of Economics ในปัจจุบันนั่นเอง.
แบลร์ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่ดีมากนัก จนเริ่มมีการพูดถึงแนวโน้มที่พรรคแรงงานจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในฐานะโฆษกของความคิดเรื่อง ทางสายที่ ๓ ทุกอย่างยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่ แบลร์ทำให้ ทางสายที่ ๓ กลายเป็นคำขวัญทางการเมือง ที่ปราศจากความหมาย P.J.ORourke นักเขียนแนวประชดประเทียดสัญชาติอเมริกัน ถึงกับล้อเลียนว่าแบลร์ที่พูดถึงเรื่องทางสายที่ ๓ ดูจะมีหน้าตาไม่แตกต่างจากมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งพรรคอนุรักษ์นิยม เพียงแต่เป็นแธตเชอร์ ที่ไม่ได้ถือกระเป๋าสะพายสีดำเชยๆ แบบสตรีสูงอายุเท่านั้น ส่วน The Third Way : New Politics For the New Century อันเป็นหนังสือซึ่งแบลร์เขียนเพื่อขยายความคิดเรื่องนี้ ท้ายที่สุดก็ถูกตีค่าว่าเป็นแค่หนังสือรวมสุนทรพจน์ของนักการเมืองรายหนึ่ง ไม่ใช่หนังสือซึ่งแสดงถึงความคิดทางการเมืองอันลุ่มลึกแต่อย่างใด.
แต่ Giddens น่าจะคิดต่อเรื่อง ทางสายที่ ๓อย่างจริงจังและลึกซึ้งมากกว่าที่แบลร์คิด เพราะหลังจากปี ค.ศ.๑๙๙๘ เป็นต้นมา ปัญญาชนผู้นี้ก็ได้ผลิตงานเขียนชิ้นสำคัญๆ เพื่ออธิบายและขยายความความคิดเรื่องทางสายที่ ๓ มาโดยตลอด งานชิ้นหลักอย่าง The Third Way : The Renewal of Social Democracy นั้น กลายเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อการถกเถียงวิวาทะในวงการรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์อย่างกว้างขวาง โดยที่นักรัฐศาสตร์กระแสหลักอย่าง Joseph S.Nye แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ถึงกับสดุดีว่างานเขียนของ Giddens ชิ้นนี้ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการสร้างความคิดทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นในชุมชนของปัญญาชนด้วยซ้ำไป ไม่ว่าปัญญาชนผู้นั้นจะอยู่ฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา ของมหาสมุทรแอตแลนติคก็ตาม ส่วนนักประวัติศาสตร์หัวเอียงซ้ายรุ่นอาวุโสอย่าง Eric Hobsbawm เองก็ประเมินค่างานเขียนของ Giddens เล่มนี้เอาไว้ว่า อยู่ในระดับที่ ต้องอ่านเลยทีเดียว.
ล่าสุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Giddens ได้เขียนงานขนาดเล็กออกมาอีกหนึ่งชิ้น คือ Runaway World : How Globalisation Is Reshaping Our Lives โดยปรับปรุงจากคำบรรยายซึ่งเขาแสดงไว้ที่ BBC Reith Lecture แต่หนังสือเล่มนี้ดูจะเป็นส่วนขยายของ The Third Way ซึ่งมุ่งอธิบายความคิดเรื่อง ทางสายที่ ๓ ให้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ โดยที่ The Third Way ยังคงมีสถานะเป็นงานชิ้นหลักของ Giddens ในเรื่องนี้อยู่ต่อไป.
งานเขียนของ Giddens ไม่แพร่หลายในสังคมไทย แต่จะว่าไป ในสังคมไทยก็ไม่มีงานเขียนของนักคิดคนใดที่แพร่หลายอย่างจริงจังอยู่แล้ว ไม่ว่านักคิดรายนั้นจะเป็นฝ่ายกระแสหลักหรือกระแสรองก็ตามที ความรู้ในสังคมไทยนั้นดูจะไม่ต่างไปจากสินค้าส่งออก กล่าวคือยังไม่สามารถพัฒนาแบรนด์ไทยที่ดีและมีคุณภาพเทียบเท่าตามมาตรฐานแบรนด์นอกขึ้นมาได้ มีแต่แบรนด์ไทยที่ดีตามมาตรฐานแบบไทยๆ ส่วนการเอาแต่บริโภคแบรนด์นอกนั้น ก็รังแต่จะทำให้ตกเป็นหางเครื่องทางภูมิปัญญาของโลกตะวันตกต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น.
แต่ถึงจะไม่แพร่หลาย การทำความรู้จักกับความคิดของ Giddens ก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่ Giddens พูดเอาไว้ ล้วนเป็นประเด็นที่มีลักษณะสากล เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิธีคิดในการมองความเปลี่ยนแปลงสังคม รวมทั้งเป็นประเด็นซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาว่า เราจะผลักดันสังคมในอนาคตไปสู่ทิศทางใด ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหน วาทกรรมที่นักคิดรายนี้ตั้งคำถามและนำเสนอคำตอบนั้น จะเป็นสภาพแวดล้อมของการถกเถียงทางสังคมศาสตร์ไปอีกช้านาน และกล่าวในแง่นี้แล้ว การอ่านงานของ Giddens จะช่วยให้ผู้อ่าน เรียน อะไรได้มากทีเดียว.
The Third Way ประกอบด้วยเนื้อหา ๔ ส่วน แต่เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น จึงขอเสนอโครงสร้างในการวิจารณ์ดังนี้.
๑. วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของความคิดเรื่อง ทางสายที่ ๓
๒. ทางสายที่ ๓ กับเศรษฐกิจสังคมร่วมสมัย
๓. วิธีวิทยาของ ทางสายที่ ๓
๔. ทางสายที่ ๓ และข้อสังเกตบางประการ
วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของ ทางสายที่ ๓
Giddens เริ่มต้นนำเสนอความคิดเรื่อง ทางสายที่๓ บนพื้นฐานว่าทั้งสังคมนิยมและเสรีนิยมใหม่นั้น ได้ล่มสลายไปแล้ว ความล้มเหลวของสังคมนิยมนั้น มีที่มาจากการไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งและพัฒนาผลิตภาพของสังคมได้อย่างดี สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สังคมนิยมไม่มีพลังบางอย่างซึ่งระบบทุนนิยมมี นั่นก็คือไม่มีพลังของกลไกตลาดที่จะทำหน้าที่สะท้อนว่าสังคมต้องการจะผลิตและบริโภคอะไร บทบาทของรัฐในการเศรษฐกิจระดับชาติที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อความเท่าเทียมและการคุ้มครองเอกบุคคลที่อ่อนแอนั้น ไม่อาจสร้าง และกระจายความมั่งคั่งได้มากเท่าที่ระบบตลาดทำ ถึงแม้ว่าโครงการเศรษฐกิจใหม่ของสหภาพโซเวียต จะทำให้โซเวียตในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีอัตราการเติบโตสูงกว่าอเมริกา แต่ในระยะยาวแล้ว ระบบวางแผนจากส่วนกลางก็ไม่อาจแสวงหาจุดสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานได้.
ยิ่งเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป สังคมนิยมก็ยิ่งล้มเหลวในการไล่กวดความเปลี่ยนแปลงนี้ นักวางแผนในระบบสังคมนิยมปราศจากวิสัยทัศน์ในระดับโลก และที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ พวกเขาไม่เคยให้ความสนใจปัญหาความเสื่อมสลายของระบบนิเวศน์วิทยาเอาเสียเลย โดยที่ในส่วนของการมีงานทำ หรืออัตราการจ้างงานเต็ม (full employment) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำนักสังคมนิยมถือว่าเป็นจุดแข็งของตนเองนั้น ก็เป็นเรื่องที่ Giddens เห็นว่าจำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม เพราะสำหรับ Giddens แล้ว ระบบสังคมนิยมเต็มไปด้วยภาวะการว่างงานแอบแฝง ส่วนผู้ที่มีงานทำก็เผชิญปัญหาค่าแรงต่ำ และสภาพการทำงานไม่เคยได้รับการปรับปรุง.
ขณะที่สังคมนิยมล้มเหลว ศัตรูของฝ่ายสังคมนิยมอย่างพวก เสรีนิยมใหม่ ก็ไม่ได้มีอะไรดีไปกว่ากัน เสรีนิยมใหม่ สืบทอดมรดกของความเกลียดชังรัฐบาลขนาดใหญ่มาจากนักปรัชญาการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมอย่าง Edmund Burke ผู้มองว่ารัฐเป็นศัตรูของเสรีภาพ ขณะเดียวกันก็ขานรับแนวคิดของทฤษฎีการเมืองสายประชาสังคม ซึ่งมองว่าประชาสังคมเป็นกลไกที่เพียงพอในการปกป้องประโยชน์ส่วนรวมเอาไว้ และด้วยเหตุที่ศูนย์กลางของเสรีนิยมใหม่อยู่พลังของปัจเจกบุคคล จึงถือกันว่าตลาดเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะมีแต่ภายใต้กลไกตลาดเท่านั้น ที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลพัฒนาศักยภาพตนเองขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ โดยที่พลังของตลาดจะยังผลให้เกิดสวัสดิการ โดยไม่จำเป็นต้องมีระบบรัฐสวัสดิการ ตามข้อเสนอของพวกสังคมนิยมด้วยซ้ำไป.
แต่เสรีนิยมใหม่ก็ประสบปัญหาอยู่ไม่น้อย สำหรับ Giddens แล้ว ปัญหาที่รุนแรงที่สุดของเสรีนิยมใหม่ มาจากการมีธรรมชาติที่ขัดแย้งภายในตัวเอง ๒ ประการ คือการเชิดชูความสำคัญของตลาดและเอกบุคคลในทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็หวาดระแวงความเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมไม่ได้ในทางการเมือง ผลที่ตามมาจากสภาพเช่นนี้นั้น หากจะพูดตามภาษาของ Giddens เองก็คือ เสรีนิยมใหม่เชื่อมโยงความคิดเรื่องตลาดเข้ากับสถาบันประเพณี โดยเฉพาะครอบครัวและชาติตามความหมายดั้งเดิม การริเริ่มของปัจเจกบุคคลนั้นเป็นไปเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ปัจเจกบุคคล ต้องมีพันธะต่อสถาบันดั้งเดิมเหล่านี้ เพื่อสร้างความสืบเนื่องและหยุดแนวโน้มที่ลัทธิปัจเจกบุคคลจะนำไปสู่การแตกแยกอย่างรุนแรง ข้อสังเกตของ Giddens ข้อนี้ นับว่าทั้งแหลมคมและน่าสนใจ และหากพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนแล้ว ก็ดูจะมีกลิ่นไอของวิธีคิดเรื่องตัวตนและอัตลักษณ์แบบ สำนักคิดหลังสมัยใหม่(post-modern) อยู่ไม่น้อย ถึงแม้ตัว Giddens เองจะประกาศตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสำนักคิดนี้อย่างรุนแรงก็ตาม เหตุที่ระบุว่าน่าสนใจก็เพราะ Giddens ชี้ให้เห็นว่าระบบตลาดทำให้ชีวิตของเอกบุคคลเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน แล้วใช้สถาบันประเพณีแก้ปัญหาความไม่แน่นอนนั้น ทั้งที่การอ้างอิงประเพณีเป็นศัตรูกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างสิ้นเชิง และนั่นทำให้มนุษย์ในระบบเสรีนิยมใหม่มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในตนเองตลอดเวลา.
ประเด็นก็คือเสรีนิยมใหม่มีปัญหาในระดับนามธรรม ขณะที่สังคมนิยมนั้นสร้างปัญหาที่พบได้ทั่วไปตามท้องถนน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คอมมิวนิสต์จะล่มสลายและพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมในโลกตะวันตกจะสูญเสียความนิยมลงไปเรื่อยๆ ส่วนเสรีนิยมใหม่นั้นดูจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ Giddens กล่าวไว้มากนัก การปรับตัวเพื่อออกไปจากภาวะวิกฤต ิจึงเป็นปรากฎการณ์ที่พบได้ทั่วไปในหมู่ฝ่ายซ้าย ในช่วงหลังจากปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ เป็นต้นมา โดยที่แนวโน้มของการปรับตัวนั้นคือ การหันไปให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภาพ, เสรีภาพส่วนบุคคล, นิเวศน์วิทยา และการมีส่วนร่วมของพลเมือง ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ.
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังคงตามหลอกหลอนพวก ซ้าย หรือถ้าจะเรียกให้สุภาพและรื่นหูขึ้นก็คือฝ่าย สังคมประชาธิปไตย ก็คือ หลังจากสังคมนิยมล่มสลาย บรรดาคนเหล่านี้จะนำเสนอนโยบายทางการเมืองระดับมหภาคได้จากฐานความคิดชนิดใด? การปรับตัวทำให้คนกลุ่มนี้มีชัยในการเลือกตั้งทั้งในอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, กรีซ ฯลฯ แต่เมื่อปรับตัวโดยปราศจากฐานคิดที่แจ่มชัด ท้ายที่สุดย่อมตกอยู่ในความสับสน ดังที่ Kurt Sontheimer ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน กล่าวเอาไว้ว่า ไม่มีใครบอกได้ว่าทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้น และไม่มีใครรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเดินไปทางไหน ภายใต้สภาพแวดล้อมทางภูมิปัญญาเช่นนี้ แม้ฝ่าย สังคมประชาธิปไตย จะมีชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่อนาคตก็ยังคงเป็นเรื่องคลุมเครือ สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกทุกวันนี้ก็คือ ชนชั้นไม่ได้เป็นตัวแปรที่กำหนดพฤติกรรมทางการเมือง และการเลือกตั้งอย่างตายตัวอีกต่อไป กรรมาชีพแบบ blue-collar ไม่ได้ลงคะแนนอย่างที่เคยลงในอดีต ส่วนเพศและอายุ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คะแนนเสียงของผู้ใช้แรงงานมีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตกมากยิ่งขึ้นโดยที่คนหนุ่มสาวและผู้หญิง มีแนวโน้มจะได้รับอิทธิพลจากลักษณะทางชนชั้นลดน้อยลง ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้พรรคสังคมประชาธิปไตย ไม่มีฐานความสนับสนุนที่แน่นอนอย่างในอดีตอีกต่อไป และหากปราศจากกรอบโครงทางความคิดที่แจ่มชัดแล้ว ก็ไม่มีวันจะสร้างฐานการสนับสนุนที่ยั่งยืนขึ้นได้ในวันข้างหน้า.
เพื่อจะสร้างกรอบความคิดที่ชัดเจนนี้ขึ้นมา Giddens เสนอว่ามีสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ ๕ ประการ ซึ่งฝ่ายสังคมประชาธิปไตยต้องตอบคำถามให้ได้, ตระหนัก และมีความเข้าใจ สภาพที่ว่านั้นได้แก่
๑) ปัญหาโลกาภิวัฒน์ ซึ่ง Giddens เสนอว่าฝ่ายสังคมประชาธิปไตยต้องมองเห็นว่าโลกาภิวัฒน์เป็นความจริง ไม่ใช่มายาคติ และเมื่อโลกาภิวัฒน์เป็นความจริง มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้. แต่โลกาภิวัฒน์ไม่ได้ทำให้รัฐชาติ และรัฐบาลกลายเป็นวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคิด จริงอยู่ว่าภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ รัฐชาติและรัฐบาลจะถูกท้าทายจากพลังทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ๆ จนต้องปรับเปลี่ยนรูปร่างไป
แต่ในอีกด้านหนึ่ง โลกาภิวัฒน์จะทำให้เกิดความเสี่ยงแบบใหม่ๆ และความต้องการแบบใหม่ๆ ขึ้นในสังคม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดขึ้นของระบบเอกลักษณ์ท้องถิ่น (local identities) โดยเฉพาะชาตินิยมท้องถิ่น (local nationalism) ซึ่งจะนำสังคมไปสู่การแตกตัวออกเป็นส่วนย่อยๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังปรากฎขบวนการชาตินิยมสกอตแลนด์, ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในคาทาโลเนีย และขบวนการเรียกร้องเอกราชในควิเบก ขึ้นในประเทศซึ่งอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของกระแสโลกาภิวัฒน์ ดังนี้เป็นต้น.
ในสายตาของ Giddens นั้นอำนาจรัฐทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของโลกาภิวัฒน์ ๓ กระแส ซึ่งเป็นเหตุให้อำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ในรูปได้หมดเสียหมด หรือ all-or-nothing-matter อีกต่อไป ส่วนความเป็นดินแดนก็จะไม่แจ่มชัดอย่างที่เคยเป็น แต่รัฐชาติจะยังคงอยู่ และขอบเขตการทำงานของรัฐบาลจะขยายตัว โดยที่รัฐชาติบางรัฐชาติอาจมีอำนาจเข้มแข็งขึ้นด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะในสถานการณ์พิเศษบางอย่าง เช่นรัฐชาติในยุโรปตะวันออกเป็นต้น
ข้อที่น่าสนใจและท้าทายก็คือ ภายใต้ภาวะที่อำนาจของรัฐชาติมีลักษณะเป็นแบบท้องถิ่นและอิงภูมิภาค (localities and regions) มากขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับพลังของกลุ่มข้ามชาติมากขึ้นนั้น ก็เท่ากับว่ารัฐ, กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ จะสามารถเป็นพลังที่ร่วมกันผลักดันให้โลกเปลี่ยนไป ตามทิศทางที่ตนปรารถนาได้มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย.
คำถามสำคัญก็คือ แล้วพลังฝ่ายสังคมประชาธิปไตยจะมีท่าทีอย่างไร ต่อสภาพการณ์เช่นนี้?
๒) การเฟื่องฟูของลัทธิปัจเจกบุคคล ซึ่ง Giddens เห็นว่าต้องสลัดการมองแบบฝ่ายซ้ายที่ว่าปัจเจกบุคคลเป็นแค่เอกบุคคลที่เห็นแก่ตัว และโยนทิ้งวิธีคิดแบบฝ่ายขวาที่เห็นว่าปัจเจกบุคคลที่เป็นเสรีนั้นคือคนที่ล้มละลายทางศีลธรรม พูดง่ายๆก็คือต้องยกเลิกการมองคนกลุ่มนี้ว่า เป็นอันตรายต่อความเป็นปึกแผ่นของสังคม ซึ่งเป็นมุมมองที่ทั้งฝ่ายขวาและซ้ายคิดคล้ายๆกัน แล้วหันมายอมรับว่าการขยายตัว และเฟื่องฟูขึ้นของค่านิยมแบบปัจเจกบุคคลนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และยิ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นอันตรายต่อใคร.
กล่าวสำหรับ Giddens แล้ว ปัจเจกบุคคลทุกวันนี้เป็น ปัจเจกชนนิยมใหม่ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือเป็นปัจเจกชนที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน (Institutionalized Individualism) หมายความว่าคนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นในสังคมที่ความคิดเรื่องสิทธิและการกระจายผลประโยชน์ทางสังคม ถูกออกแบบให้มอบให้แก่เอกบุคคล ไม่ใช่ครอบครัว เพราะไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การศึกษา หรือโอกาสการเลื่อนชั้นทางสังคม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่คนในสังคมสมัยใหม่ต้องกระทำไปในฐานะที่เป็นเอกบุคคลทั้งสิ้น ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นกลุ่มหรือสมาชิกของชุมชน.
บนเงื่อนไขเช่นนี้ คนที่เป็นปัจเจกบุคคลจึงไม่ใช่คนที่เห็นแก่ตัว, เอาแต่ได้ หรือไม่คำนึงความสงบสุขของส่วนรวม มันจึงไม่ใช่และไม่ได้เป็นเรื่องของความตกต่ำทางศีลธรรมอย่างที่พวกหัวเก่าทั้งในฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเข้าใจ. งานวิจัยบางชิ้นค้นพบว่าคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มีสำนึกทางศีลธรรมสูงกว่าคนรุ่นเก่าในอดีต ด้วยเหตุดังนี้ ลัทธิปัจเจกบุคคลจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และจะว่าไปแล้ว ความเป็นปัจเจกชนทุกวันนี้ก็เดินไปในทิศทางที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมสูงขึ้นเรื่อยๆด้วยซ้ำไป.
Giddens ไม่ได้เสนอไว้ตรงๆ ว่าเขาต้องการอะไรจากการพูดเรื่องนี้ แต่คงไม่ผิดไปจากความจริงนัก หากจะสรุปว่าข้อเสนอของเขาก็คือ หากปราศจากซึ่งการตระหนักในพลังของปัจเจกบุคคลเช่นนี้ ก็ไม่มีทางที่จะสร้างสังคมซึ่งเปิดกว้างและยืดหยุ่นกว่าเดิมขึ้นมาได้.
๓) ความหมายของ ความเท่าเทียม ซึ่ง Giddens เห็นว่าแม้การแบ่งแยกระหว่างซ้าย กับ ขวา จะหมดไป แต่การครุ่นคิดถึงปัญหาความเท่าเทียมอย่างจริงจัง ก็ไม่จำเป็นต้องจบสิ้น. ในทางตรงกันข้าม การปิดฉากลงของการแบ่งแยกระหว่าง ซ้าย กับ ขวา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับความเท่าเทียมเป็นระบบคุณค่าที่มีความสำคัญสำหรับสังคม.
ความคิดของ Giddens ในเรื่องนี้น่าสนใจ และจะว่าไปแล้วก็มีรากฐานมาจาการศึกษาปรัชญาการเมืองที่ลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย เขานำเสนอประเด็นนี้โดยเริ่มต้นว่าการแบ่งแยกระหว่าง ซ้าย กับ ขวาเป็นอะไรที่เปลี่ยนไปตามเงื่อนเวลา พูดอีกอย่างก็ได้ว่าทั้ง ซ้าย และ ขวาล้วนเป็นคำที่ไม่มีนิยามที่ชัดเจน. ตัวอย่างความคิดเรื่องตลาดเสรีนั้นถือว่าเป็นเรื่องของพวก ซ้าย ในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ แต่เป็น ขวา ใน ค.ศ.ปัจจุบัน. แต่เป็นพวกสังคมระชาธิปไตยหรือพวก ซ้าย ในอดีตอย่างพวกซินดิกาลลิสต์นั่นเอง ที่พยายามสร้างการแบ่งแยกนี้ขึ้นมา ในช่วงหลังทศวรรษ ๑๘๙๐ ขณะที่งานเขียนของนักปรัชญาการเมืองหัวเอียงซ้ายชาวอิตาลีอย่าง Norberto Bobbio ก็พูดอยู่ตลอดเวลา การเมืองต้องการความเป็นศัตรู สารัตถะของการเมืองคือการต่อสู้ และด้วยเหตุดังนั้น ซ้ายกับขวาจึงต้องอยู่คนละขั้วกัน การประกาศแบ่งขั้วเป็นอะไรที่มักมาจากฝ่ายซึ่งมีชัย ขณะที่ฝ่ายพ่ายแพ้ก็รังแต่จะตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลของการทำอย่างนี้ หลังทศวรรษ ๑๙๘๐ อันเป็นช่วงที่การปรับตัวของฝ่ายขวานับจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา เริ่มผลิดอกออกผลเป็นชัยชนะของพวกเสรีนิยมใหม ่ในการเลือกตั้งของหลายๆ ประเทศ. การณ์ก็กลับเป็นฝ่ายขวาเองที่ประกาศถึงความเป็นศัตรูที่ไม่อาจประนีประนอมได้กับพวกซ้าย แล้วก็กลายเป็นฝ่ายซ้ายที่โจมตีว่า การแบ่งขั้วเช่นนี้เป็นเรื่องปราศจากความหมาย.
เชื่อกันว่าความคิดเรื่อง ความเท่าเทียม คือเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งขั้วนี้ โดยฝ่ายซ้ายคือใครก็ได้ที่สนับสนุนการสร้างความเท่าเทียม ส่วนฝ่ายขวาก็คือคนกลุ่มที่เห็นว่าสังคมต้องมีลำดับชั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สำหรับ Giddens แล้ว ความเท่าเทียมเป็นคำที่มีลักษณะ สัมพัทธ์ ซึ่งต้องคำนึงถึงบริบทของมันไปตลอดเวลา และเพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่สมบัติผูกขาดของฝ่ายซ้าย มากพอๆ กับที่ความไม่เท่าเทียม ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ผูกขาดของฝ่ายขวา เพราะพวกซ้ายในประเทศทุนนิยมชั้นแนวหน้าก็อาจต่อต้านการยอมรับสิทธิของแรงงานอพยพได้ต่ำพอๆ กับพวกฝ่ายขวาในประเทศกำลังพัฒนา.
เมื่อความคิดเรื่อง ความเท่าเทียม ไม่ใช่สมบัติผูกขาดของใคร และเมื่อการล่มสลายของคอมมูนิสต์ทำให้ไม่มีฝ่ายซ้ายจัดหลงเหลืออีกต่อไปแล้ว การปฏิเสธความคิดเรื่อง ความเท่าเทียม จึงยิ่งเป็นเรื่องเหลวไหล และเมื่อถึงจุดนี้ แม้จะไม่ได้พูดออกมาอย่างตรงไปตรงมา ก็ดูเหมือน Giddens จะประกาศเป็นนัยๆ ว่า ถึงจะเป็นฝ่ายขวา แต่ก็สามารถยอมรับหลักการเรื่องความเท่าเทียม ได้ โดยที่ความเท่าเทียมใน ค.ศ.นี้ ไม่ใช่ความเท่าเทียมในความหมายของการปลดปล่อย (politics of emancipation)ตามแบบพวกซ้ายอีกต่อไป แต่ความเท่าเทียมคือ หลักการที่สำคัญเพื่อสร้างความปรองดองและเป็นหนึ่งเดียวขึ้นในสังคม.
พูดอย่างรวบรัดก็คือ Giddens กำลังเสนอว่าความเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคมและชีวิต (life chances) อย่างในอดีต หากคือการสร้างการเมืองเรื่องทางเลือก, อัตลักษณ์ และผลประโยชน์ร่วม (politics of life , identity and mutuality) ขึ้นมา
๔) รูปร่างขององค์กรทางการเมือง (political agency) ซึ่ง Giddens เสนอว่าพวกซ้าย หรือ สังคมประชาธิปไตยจะต้องตระหนักว่า กำลังสร้างกระบวนการปฏิเสธความเป็นการเมือง (process of depoliticization) ขึ้นทั่วโลก ส่วนการต่อสู้ทางการเมืองนั้นก็เดินออกจากรัฐสภาไปสู่กลุ่มผลประโยชน์ย่อยๆ(single-issue groups) ในสังคม การเมืองแบบทางการอยู่ในสภาพเดียวกับกลไกรัฐที่ตายซาก ขณะที่การเมืองแบบใหม่เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ไม่ต่างการการยึดอำนาจรัฐโดยสังคมพลเมือง โดยที่ไม่เพียงแต่สถาบันการเมืองแบบรัฐสภาเท่านั้นที่ไม่มีใครให้ความเชื่อถืออีกต่อไป ข้อสังเกตของ Giddens ก็คือสถาบันที่เป็นทางการอื่นๆ เช่นตำรวจ, แพทยสภา, สมาคมนักกฎหมาย ฯลฯ ก็ล้วนอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันทั้งหมด.
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการจะมีบทบาทขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่ไม่สามารถนำเสนอแนวทางแบบทางเลือก ที่เติบโตและมีวุฒิภาวะอย่างเต็มที่นั้น เป็นเหตุให้กลุ่มประเภทนี้ไม่อาจจะมีบทบาทได้มากไปกว่าที่เป็นมา พรรคการเมืองที่เติบโตกับกระแสทำนองนี้ก็ดูจะตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว Giddens จึงเห็นว่ารัฐชาติและรัฐบาลแห่งชาติจะยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่ต้องเรียนรู้และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคนกุ่มนี้ ดุจเดียวกับที่มีต่อภาคธุรกิจและบรรษัทขนาดใหญ่.
ข้อเสนอประการนี้ พูดอย่างเป็นรูปธรรมแล้วก็คือการเรียกร้องให้คิดค้น และแสวงหารูปร่างขององค์การทางการเมืองการปกครอง ที่สามารถผสมผสานความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ให้ได้นั่นเอง ไม่ว่ากลุ่มนั้นๆ จะเป็นรัฐ, ภาคธุรกิจ หรือองค์กรทางการเมืองแบบไม่เป็นทางการก็ตาม
๕) ปัญหาสภาวะแวดล้อม ซึ่ง Giddens เสนอให้มองว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการทำให้ทันสมัยนั้น เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ (Ecological Modernization) ทุกฝ่ายต้องมองให้เห็นว่าในบรรดาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเหตุให้มีความเสียหายตามมาหรือไม่ และถ้ามี เราจะรับผิดชอบได้อย่างใด ทั้งหมดนี้หมายความว่าในการคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น จำเป็นต้องมีมุมมองที่เป็นแบบระดับโลก (global policy) เพื่อปรับโครงสร้างของระบบทุนนิยมให้คำนึงถึงการรักษาระบบนิเวศน์วิทยามากยิ่งขึ้น. ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดผลเช่นนี้ได้ก็คือ การดึงเอาอำนาจวินิจฉัยเรื่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กลับมาอยู่ในมือของสังคม. เท่าที่ผ่านมา มีแต่นักวิทยาศาสตร์ และผู้ชำนาญเท่านั้น ที่สามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และอะไรที่ไม่เป็น โดยที่การตัดสินใจนั้นเกิดขึ้นนอกกระบวนการประชาธิปไตย และไม่ได้อยู่ในเวทีสาธารณะ. และด้วยการควบคุมของสังคมนี้เองที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ธรรมชาติถูกทำลายโดยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากไปกว่านี้อีก.
ทางสายที่ ๓ กับเศรษฐกิจการเมืองร่วมสมัย
Giddens โจมตีความคิดของทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย แต่ก็มองตัวเองว่าเอนเอียงไปทางฝ่าย ซ้ายใหม่ หรือ สังคมประชาธิปไตยมากกว่าฝ่ายขวา และหลังจากอภิปรายถึง ๕ ปัญหาหลักๆ ที่พวกซ้ายใหม่ต้องมีคำตอบให้ชัดมาอย่างยืดยาว Giddens ก็นำเสนอความคิดเรื่องทางสายที่ ๓ บนหลักการสำคัญคือ
๑) มีมาตรการเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคม แบบที่ทางปรัชญาการเมืองเรียกว่า Egalitarianism ซึ่งเมื่อมีความเท่าเทียมแล้ว เสรีภาพของเอกบุคคลย่อมจะบังเกิดตามมา.
๒) คิดถึงเสรีภาพในความหมายของ เสรีภาพที่จะกระทำ (freedom of action) โดยเฉพาะการกระทำที่เอกบุคคลมุ่งเข้าไปเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับชุมชนรอบๆตัว ในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น.
๓) ยกเลิกความคิดเรื่องการเมืองของการปลดปล่อย (the framework of emancipatory politics) แล้วหันไปสู่การเมืองของอัตลักษณ์และความร่วมมือ (the politics ofidentity and mutuality)
๔) ยอมรับหลักการเรื่อง สิทธิและความรับผิดชอบเป็นของคู่กัน กล่าวคือเมื่อเอกบุคคลมีเสรีภาพที่จะกระทำและเสรีภาพทางอัตลักษณ์แล้ว ก็จำเป็นต้องมีพันธะหน้าที่สูงขึ้นตามไปด้วย พูดง่ายๆ คือ Giddens กำลังวิจารณ์พวก ซ้าย หรือ สังคมประชาธิปไตย อยู่กลายๆ เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะมองว่าสิทธิเป็นสิ่งที่มีโดยปราศจากเงื่อนไขและพันธะใดๆ.
๕) ยอมรับหลักการเรื่อง อำนาจและประชาธิปไตยเป็นของคู่กัน ซึ่งแตกต่างจากความคิดของฝ่ายขวาที่เห็นว่าอำนาจมาจากสถาบันในอดีต เช่นชาติ, กษัตริย์, ศาสนา หรือสถาบันประเพณีอื่นๆ และปราศจากสถาบันโบราณเหล่านี้ สังคมก็จะล่มสลาย แต่ในโลกทุกวันนี้ สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือ การยอมรับคุณค่าของประชาธิปไตย และเห็นว่าประชาธิปไตยเท่านั้นที่เป็นหนทางในการสร้างระบบอำนาจขึ้นมาได้ โดยที่อำนาจนี้ ต้องมาจากการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของเอกบุคคลที่มีเสรี.
๖) ต้องเดินหน้าไปสู่ภาวะทันสมัย (modernization) ต่อไป โดยยอมรับในระบบคุณค่าแบบ คำนึงถึงโลก (Cosmopolitan Values) และมีปรัชญาแบบอนุรักษ์สภาพแวดล้อม พูดอีกอย่างก็คือไม่ใช่เดินไปสู่ภาวะทันสมัยอย่างเป็นเส้นตรงและเถรตรง แต่ให้เดินหน้าโดยมีสำนึกต่อปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ของกระบวนการทำให้ทันสมัยเอง.
นอกเหนือไปจากหลักการอันเป็นนามธรรม Giddens ยังนำเสนอความคิดเรื่อง ทางสายที่ ๓ ในแง่ที่เป็นรูปธรรมด้วย โดยเฉพาะ ในแง่ที่เป็นโครงการทางการเมือง (political programme) ซึ่งถือเอาการปฏิรูปรัฐและรัฐบาลเป็นภารกิจขั้นพื้นฐาน ส่วนทิศทางของการปฏิรูปนั้น ก็มุ่งไปในการทำให้รัฐทำงานร่วมกับองค์กรในภาคประชาสังคม และในทางเศรษฐกิจนั้น ทั้งหมดนี้จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจผสมแนวใหม่ (new mixed economy) กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เค้าโครงการทางการเมืองของ ทางสายที่ ๓ จึงประกอบด้วย
๑) รัฐประชาธิปไตยชนิดใหม่ (new democratic state)
๒) ประชาสังคมเข้มแข็ง (active civil society)
๓) ครอบครัวที่เป็นประชาธิปไตย (the democratic family)
๔) เศรษฐกิจแบบผสมชนิดใหม่ (new mixed economy)
๕) ระบบสวัสดิการที่สร้างสรรค์ (positive welfare)
๖) รัฐทำการลงทุนทางสังคม (social investment state)
๗) The Cosmopolitan Nation
๘) Cosmopolitan Democracy
ควรระบุไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ข้อเสนอของ Giddens ทั้ง ๘ ประการนี้ ไม่ได้มาจากการคิดอย่างเลื่อนลอยโดยปราศจากรากฐานทางวิชาการใดๆ และยิ่งไม่ใช่การเสนออะไรแบบ ตามใจฉัน อย่างที่นักวิชาการไทยจำนวนมากชอบที่จะปฏิบัติ ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอทั้ง ๘ ประการ นั้น มีที่มาที่ไปและเหตุผลทางปรัชญาที่ยืดยาว ถึงขั้นที่ไม่อาจนำเสนอในที่นี้ได้ทั้งหมด แต่เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น จึงขอจัดระบบและนำเสนอเค้าโครงทางการเมืองของ ทางสายที่ ๓ เสียใหม่ โดยแบ่งออกเป็น ๓ หัวข้อ คือรัฐ, ประชาสังคม และเศรษฐกิจ ดังนี้
- รัฐ ซึ่ง Giddens เห็นว่าทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายล้วนตกอยู่ในมายาคติบางอย่าง มายาคติของฝ่ายขวาอย่างเสรีนิยมใหม่คือการโจมตีรัฐอย่างไม่มีขอบเขต ขณะที่มายาคติของฝ่ายซ้ายได้แก่การขยายบทบาทรัฐอย่างไม่รู้จักพอ ส่วนความคิดเรื่อง ทางสายที่ ๓ นั้น มุ่งออกไปจากมายาคติทั้ง ๒ ชนิด แล้วปรับโครงสร้าง (reconstruct) รัฐให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งๆ ขึ้นไป เพี่อให้รัฐมีบทบาทที่สอดคล้องกับโลกใน ค.ศ.ปัจจุบัน หรือหากจะพูดในเชิงตรรกก็คือ Giddens เริ่มต้นอภิปรายถึงปัญหารัฐจากสมมติฐานว่า วิกฤติของรัฐทุกวันนี้มีสาเหตุจากการไม่เป็นประชาธิปไตยมากพอ และฉะนั้น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการทำประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นไปอีก.
เพื่อจะทำให้รัฐเป็นประชาธิปไตย จำเป็นต้องขยายบทบาทของอาณาบริเวณสาธารณะ(public sphere) ให้สูงขึ้น หรือพูดอีกอย่างก็คือ การปล่อยให้ประชาสังคมมีบทบาทยิ่งขึ้นนั่นเอง ไม่ว่าจะโดยการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง, ทำการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้โปร่งใสและเปิดกว้าง, แสวงหามาตรการใหม่ๆ เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น หรืออะไรอื่นๆ ก็ตาม.
ประเด็นสำคัญก็คือรัฐทุกวันนี้ไม่มี ศัตรูของรัฐ (the enemy of state)ที่ชัดเจนเหมือนอย่างอดีตอีกต่อไป ส่วน สถาบันประเพณี ก็เป็นอะไรที่รังแต่จะมีความชอบธรรมลดน้อยลง การอ้างมรดกตกทอดจากอดีตเพื่ออธิบายการกระทำของรัฐในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรับฟังอีกต่อไป ด้วยเหตุฉะนั้น รัฐจึงต้องแสวงหาแหล่งที่มาของความชอบธรรมที่กว้างขวางและสดใหม่กว่าในอดีตด้วย ส่วนการสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนโดยการขยายและประกันสิทธิพลเมือง (citizen rights) และสวัสดิการสังคมต่างๆ ก็ไม่แน่ว่าจะได้ผลมากเท่าที่เคยเป็น เพราะประชาชนในโลกยุคโลกาภิวัฒน์นั้น มีความต้องการที่แตกต่างไปจากเดิมอยู่มากพอสมควร.
ถ้ารัฐไม่ทำอย่างนี้ คือไม่สร้างความชอบธรรมจากแหล่งที่มาใหม่ๆ ก็ไม่มีทางที่รัฐจะฟื้นฟูและได้รับความเชื่อถือจากประชาชนได้ สภาพที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือประชาชนไม่เชื่อถือในรัฐบาลอีกต่อไป ถึงแม้พวกเขาจะเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยเพียงไรก็ตาม.
สำหรับ Giddens แล้ว เมื่อรัฐทุกวันนี้ปราศจากศัตรู ความชอบธรรมของรัฐย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ และเพราะฉะนั้น รัฐสมัยใหม่จึงต้องประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของตนตลอดเวลา การบริหารแบบภาคธุรกิจเป็นเรื่องที่รัฐต้องเรียนรู้ให้มาก แต่รัฐไม่ใช่ภาคธุรกิจ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่รัฐจะปล่อยให้บรรดา ผู้ชำนาญการเข้ามามีบทบาทในเรื่องใดๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว รัฐต้องถือว่าการมีส่วนร่วมของสาธารณะ คือสารัตถะของการทำงานในทุกๆ เรื่อง และนอกจากนั้น เพื่อที่จะให้การกำหนดนโยบายของรัฐสอดคล้องกับความต้องการของสังคม รัฐยังจำเป็นต้องยอมรับการมีประชาธิปไตยทางตรงให้มากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะในรูปของการสร้างประชาธิปไตยทางตรงในระดับท้องถิ่น, การลงประชามติทางอิเลคทรอนิคส์, ระบบลูกขุนพลเมือง หรืออะไรอื่นๆ ก็ตาม.
ทั้งหมดนี้คือหลักการอย่างคร่าวๆ ของสิ่งที่ Giddens เรียกว่าการสร้างรัฐประชาธิปไตยชนิดใหม่ (New Democratic State) - ประชาสังคม ซึ่ง Giddens เห็นว่าหัวใจของการเมืองแบบ ทางสายที่ ๓ อยู่ที่การสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็งและเอาการเอางาน โดยรัฐกับประชาสังคม ต้องมีความสัมพันธ์ทั้งแบบร่วมมือ (partnership) และควบคุมซึ่งกันและกัน นัยยะทางปรัชญาการเมืองของข้อเสนอเช่นนี้คือ การโจมตีวิธีคิดแบบฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในอดีต ที่ให้ลากเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับประชาสังคมอย่างตายตัว ขณะที่ Giddens เห็นว่าสัมพันธภาพระหว่างรัฐกับประชาสังคมเป็นเรื่องที่ต้องแปรผันตามความเปลี่ยนแปลงของแต่ละบริบทเป็นคราวๆไป เพราะในบางกรณี อาจจำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อผลักดันและริเริ่มให้เกิดกลุ่มพลเมืองระดับท้องถิ่นขึ้นมา.
ชุมชน คือหัวใจประชาสังคมตามนัยนี้ แต่ชุมชนไม่ได้มีความหมายแค่ในเชิงพื้นที่ เพราะชุมชนในแง่นี้หมายถึง การกระทำในทางสังคมเพื่อให้ความเป็นละแวก(neighborhoods), ความเป็นเมือง และความเป็นอาณาบริเวณในระดับสูงขึ้นไป อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น พื้นฐานของชุมชนชนิดนี้ได้แก่ มีกลุ่มขนาดเล็กที่สมาชิกในกลุ่มมีความสนใจบางอย่างร่วมกัน Giddens ระบุว่าประชาชนสหรัฐร้อยละ ๔๐ เป็นสมาชิกของกลุ่มประเภทนี้ ไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่ง ขณะที่ในอังกฤษนั้น ตัวเลขนี้อยู่ที่ร้อยละ ๒๐ ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ สะท้อนว่าชุมชนและกลุ่มแบบนี้เป็นการรวมตัวชนิดที่มีพลังอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว.
ข้อที่น่าแปลกก็คือ Giddens ค้นพบว่าแกนหลักของกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มาจากคนชั้นล่างหรือชนชั้นยากจน คนชายขอบมีส่วนร่วมน้อยลงโดยสัมพัทธ์ ขณะที่นักธุรกิจรุ่นใหม่และคนชั้นกลางกลายเป็นคนที่มีบทบาทมากขึ้น ผลก็คือเกิดแนวโน้มที่กลุ่มและชุมชนจะหันไปสร้าง กิจการของสังคม (Social Entrepreneurship) ในรูปของกลุ่มออมทรัพย์และให้กู้ แล้วพัฒนาระบบการตอบแทนผลประโยชน์แบบที่เป็นของท้องถิ่นขึ้น ดังมีการใช้ระบบ time dollar ในนิวยอร์ค สำหรับบุคคลที่อาสาทำงานให้กลุ่มหรือชุมชน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างดี ถึงกับสามารถนำกำไรที่ได้จากกลุ่ม ไปตั้งหน่วยงานประกันสุขภาพ, ฝึกอบรมทักษะการทำงาน และมีเงินพอจะช่วยเหลือสมาชิกของกลุ่มในเรื่องการศึกษาหรือการว่างงานได้ด้วยซ้ำไป.
แต่การรวมกลุ่มทำนองนี้มักทำไปโดยปฎิเสธความคิดเรื่องอาณาบริเวณสาธารณะหรือพูดอีกอย่างก็คือไม่สนใจจะคิดถึงอะไรที่เป็น มหภาค เลย ทั้งที่อาณาบริเวณสาธารณะเป็นหนทางในการสร้างประชาธิปไตย และมีผลเกี่ยวพันกับชุมชนโดยตรง กล่าวคือปราศจากอาณาบริเวณสาธารณะเสียแล้ว ชุมชนก็สุ่มเสี่ยงที่จะโดดเดี่ยวตัวเองจากส่วนอื่นๆ ของสังคม แต่ถ้าชุมชนเข้าไปมีบทบาทในอาณาบริเวณสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่า มีความหมายครอบคลุมไปถึงการเมืองของการใช้พื้นที่ (politics of space) ด้วย นั่นก็จะทำให้พื้นที่สาธารณะอย่างถนน, สวนสาธารณะ, สี่แยก ฯลฯ ตกมาอยู่ในมือชุมชนมากขึ้น ซึ่งก็เท่ากับว่าประชาชนจะมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น ส่วนรัฐจะสูญเสียอำนาจในการจัดการพื้นที่ข้อนี้ไป.
ประเด็นที่ Giddens เห็นว่าต้องคิดให้มากก็คือประชาสังคม, กลุ่ม และชุมชน ล้วนไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว อีกทั้งยังไม่เคยมีระเบียบที่แน่นอนตายตัวดำรงอยู่ในการรวมตัวประเภทนี้ นั่นหมายว่าประชาสังคม, กลุ่ม และชุมชน เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และมีโอกาสจะสร้างภาวะการเผชิญหน้าขึ้นมาโดยตัวเองได้ นั่นหมายความว่ารัฐจะยังต้องมีบทบาทต่อไป โดยเฉพาะบทบาทในการปกป้องเอกบุคคล จากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ในประชาสังคม แต่การมีบทบาทนั้นแตกต่างจากการครอบครองและควบคุม เพราะหากไม่ตระหนักถึงความข้อนี้ ประชาสังคมย่อมถูกรัฐทำลาย และนี่เองที่ทำให้การพัฒนาอาณาบริเวณสาธารณะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด สำหรับการสร้างประชาสังคมทีเข้มแข็ง และเอาการเอางาน.
- เศรษฐกิจ ซึ่งความคิดเรื่อง ทางสายที่ ๓ เสนอว่าให้มี เศรษฐกิจแบบผสมแนวใหม่ ซึ่งในด้านหนึ่งก็ยึดหลักของระบบเศรษฐกิจผสมแบบเก่ามาใช้ นั่นก็คือการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนโดยให้สาธารณะเป็นฝ่ายควบคุมอุตสาหกรรมหลักๆ และการมีระบบตลาดเพื่อสังคม (social market) แต่ปัญหาของเศรษฐกิจผสมแบบเก่าคือทำให้รัฐอยู่เหนือตลาดมากเกินไป ขณะที่เศรษฐกิจผสมแนวใหม่ต้องการหลอมรวม (synergy) ภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อใช้พลวัตรของตลาดให้มีประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณะตลอดเวลา ซึ่งจะได้มาก็โดยการสร้างดุลยภาพระหว่าง การแทรกแซง และไม่แทรกแซง (a balance between regulation and deregulation) ทั้งในระดับท้องถิ่น, ระดับชาติและระดับข้ามชาติ รวมทั้งการสร้างดุลยภาพระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ ให้เกิดขึ้นในสังคม.
เศรษฐกิจแบบผสมแนวใหม่ ให้ความสำคัญต่อ ความเท่าเทียม แต่ไม่ใช่ความเท่าเทียมแบบสังคมนิยมที่รัฐเป็นฝ่ายกำหนดทุกอย่าง และไม่ใช่ความเท่าเทียมแบบเสรีนิยมใหม่ที่คิดถึงแต่ในแง่ โอกาสที่เท่าเทียม หรือที่เรียกอีกอย่างว่า MERITOCRACY เท่านั้น ความเท่าเทียมตามนัยของเศรษฐกิจแบบผสมแนวใหม่ มีศูนย์กลางอยู่ที่ความคิดเรื่อง การดึงเข้ามา และการเบียดขับออกไป (inclusion-exclusion) โดยที่ การดึงเข้ามา หรือ inclusion นั้นหมายถึงการได้รับสิทธิทางการเมือง, สิทธิพลเมือง และพันธะหน้าที่ ซึ่งสมาชิกทุกคนของสังคม ควรจะมีในชีวิตจริง รวมทั้งโอกาสในการมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ (public space) ซึ่งมีการศึกษาและการเข้าถึงงานเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ. ส่วนการเบียดขับออกไป หรือ Exclusion นั้นเกิดขึ้นได้ ๒ รูปแบบ. แบบแรก, เกิดขึ้นกับคนในส่วนล่างของสังคม ซึ่งถูกเตะออกจากโอกาสต่างๆ ในสังคม. แบบที่สอง, เกิดกับคนส่วนบน ซึ่งอำลาสถาบันสาธารณะในสังคมไปเพื่อมีชีวิตอย่างอภิสิทธิ์ในด้านการศึกษา, สุขภาพ, ชุมชน ฯลฯ
สำหรับ Giddens แล้ว การทำความเข้าใจความคิดเรื่อง inclusion และ exclusion มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ปัญหาความไม่เท่าเทียมในโลกสมัยใหม่ เพราะการมองความเท่าเทียมด้วยสายตาแบบเดิมไม่ช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันได้เท่าที่ควร. ในโลกทุกวันนี้ มีเพียงร้อยละ ๒๐ ของประชากรวัยทำงานที่ยังอยู่ในภาคหัตถอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยามเก่าๆ จึงหดหาย ไม่ต่างไปจากชุมชนของชนชั้นคนงานในความหมายเดิมๆ ในกิจการถ่านหิน, เหล็ก และอุตสาหกรรมโลหะ ที่กำลังมีบุคลิกลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ส่วนปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นมาแทนที่ก็คือการขยายตัวของ คนจนรุ่นใหม่ ที่มาจากผู้อพยพชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมืองอย่างลอนดอน, ปารีส, เบอร์ลิน ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นพวก economic exclusion ทั้งในแง่การศึกษาและโอกาสการมีงานทำ.
มักคิดกันว่าความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องไม่อาจหยุดยั้งได้ แต่ Giddens เสนอให้แยกแยะระหว่างเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalism) กับเสรีนิยมของพลเมือง (Civic Liberalism) แล้วใช้ความคิดเรื่องเสรีนิยมของพลเมืองเป็นกลไกป้องกันไม่ให้ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การเบียดขับคนบางส่วนไปจากสังคม ตัวอย่างของการทำอย่างนี้ในยุโรปก็คือ การให้ลูกจ้างถือหุ้นในสถานประกอบการ หรือแม้แต่การสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ และอีกปัจจัยที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลยก็คือ การขยายความรู้สึกเรื่องความเป็นชาติเดียวกัน (COSMOPOLITAN NATION) ให้กว้างขวางออกไป เพราะมีแต่พลเมืองที่รู้สึกว่าเป็นสมาชิกของชุมชนชาติเท่านั้น ที่จะตระหนักถึงพันธะที่ตนมีต่อคนอื่นในชุมชนเดียวกัน
เพื่อจะสร้างความเท่าเทียม การมีระบบสวัสดิการที่ดีเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่ระบบสวัสดิการตามนัยของ ทางสายที่ ๓ ต้องเน้นไปที่บทบาทขององค์กรอิสระให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าองค์กรนั้นๆจะเป็นโบสถ์, ครอบครัว หรือชุมชนเองก็ตาม ตามกรอบความคิดนี้ ระบบสวัสดิการต้องมีอยู่ แต่ระบบรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ต้องหมดไป การจัดการด้านสวัสดิการจะไม่ได้อยู่ในมือของรัฐ เพราะรัฐมีหน้าที่เพียงแค่หนุนช่วยในจุดที่องค์กรอิสระไม่อาจทำได้ หรือไม่อย่างนั้นก็คือการเป็นฝ่ายกระตุ้น และลงทุนเพื่อให้เกิดเงื่อนไขบางอย่างที่เอื้อต่อการสร้างระบบที่ว่านี้ขึ้นมาเท่านั้น.
วิธีวิทยาของ ทางสายที่ ๓
ได้กล่าวไว้แล้วว่างานของ Giddens เล่มนี้ เป็นภาคต่อเนื่องของความคิดที่มีมาก่อนในงานเขียนชิ้นอื่นๆ และเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจกับความคิดของนักคิดผู้นี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หัวข้อนี้จึงขอเสนอว่า Giddens ในบทบาทของผู้แต่ง มีพัฒนาการทางความคิด และรากฐานทางปรัชญามาอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าข้อเสนอทั้งหมดใน The Third Way ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย หรือเป็นแค่การรวบรวมรสนิยมทางเศรษฐกิจการเมืองของตัวผู้เขียนเองเท่านั้น.
Michael Rustin ให้ความเห็นว่าวิธีคิดของ Giddens นั้นดูจะได้อิทธิพลมาจากเวเบอร์อยู่มาก ความข้อนี้เป็นจริงโดยไม่ต้องสงสัย งานเขียนสำคัญของ Giddens ในยุคต้นๆ อย่าง Capitalism and Modern Social Theory(๑๙๗๑) ลากเส้นแบ่งระหว่างเดอร์คไฮม์-มาร์กซ์ กับเวเบอร์ แล้วถือว่าฝ่ายแรกเป็นพวกประวัติศาสตร์นิยมเชิงระบบ (Systematic Historicist) ส่วนฝ่ายหลังเป็นพวกเจตจำนงนิยม โดยตัวผู้เขียนเองได้แสดงออกถึงการปฏิเสธความคิดเรื่อง เศรษฐกิจกำหนด (economism) และความเชื่อว่า มีปัจจัยบางตัวที่มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ทั้งหมด(determinism) อันเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แบบมาร์กซ์ ขณะที่งานชิ้นถัดมาอย่าง The Class Structure of Industrial Relations (๑๙๗๓) ก็เสนอว่าทุนนิยมเป็นระบบที่มีพัฒนาการเป็นของตัวเอง และสารัตถะของระบบทุนนิยมอยู่ที่การแบ่งแยกระหว่างปริมณฑลทางเศรษฐกิจกับการเมือง อันเป็นข้อเสนอที่วางอยู่บนวิธีคิดทางประวัติศาสตร์ ทำนองเดียวกับงานเขียนเล่มก่อน ซึ่งก็คือการคัดค้านการมองสังคมแบบมาร์กซ์ เพราะมาร์กซ์เห็นว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกับการเมือง ส่วนทุนนิยมก็เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องและอยู่ภายใต้กฎทางประวัติศาสตร์เดียวกับระบบสังคมอื่นๆ.
ถึงจะไม่เห็นด้วยกับมาร์กซ์ แต่โลกทัศน์ทางการเมืองของ Giddens ก็ได้อิทธิพลอย่างมากจากความคิดเรื่องการปลดปล่อย โดยที่ในงานยุคกลางอย่าง The Constitution of Society (๑๙๘๔) นักคิดผู้นี้ถึงกับระบุว่า ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกับการปลดปล่อยเลยทีเดียว. ความเชื่อเรื่องการปลดปล่อยนำไปสู่การศึกษาปัญหาองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในประเด็นว่าภายใต้เงื่อนไขใดที่เอกบุคคล จะมีบทบาทในการผลิตซ้ำ และภายใต้เงื่อนไขใดที่เอกบุคคลจะเป็นฝ่ายตีความข้อกำหนดของสังคม แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมา Giddens เรียกวิธีการของเขาในช่วงนี้ว่า ทวิศาสตร์แห่งการตีความ (double hermeneutics) แล้วสรุปว่าสัมพันธภาพระหว่าง ผู้กระทำกับโครงสร้างสังคมนั้น ในทางทฤษฎีแล้วเป็นเรื่องที่โครงสร้างมีแต่จะถูกผลิตซ้ำผ่านตัวผู้กระทำ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ได้ตลอดเวลาคือ ตัวผู้กระทำจะปฏิเสธบทบาทที่ถูกกำหนดได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งก็หมายความว่า บริบท ของความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด.
ในงานเขียนชิ้นสำคัญอย่าง A Contemporary Critique of Historical Materialism(๑๙๘๑) Giddens ได้เสนอทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่สำคัญเอาไว้ว่า ภายใต้ยุคสมัยที่แตกต่างกัน แบบวิถีทางอำนาจย่อมแตกต่างกัน อำนาจจึงมีลักษณะหลากหลาย ขณะที่การกดขี่ขูดรีด ก็ไม่ได้มาจากชนชั้นแต่เพียงอย่างเดียว Giddens เรียกทฤษฎีของตัวเองว่า ๓ ด้านของการขูดรีด (three main axes of exploitation) ซึ่งประกอบด้วยการขูดรีดระหว่างรัฐ, การขูดรีดระหว่างชาติพันธุ์ และการขูดรีดระหว่างเพศ. อย่างไรก็ดี จุดที่แหลมคมที่สุดไม่ได้อยู่ที่ทฤษฎีอำนาจแบบพหุนิยมข้อนี้ หากคือการเสนอว่า สัมพันธภาพระหว่าง เอกบุคคล กับสังคม ไม่ได้เป็นทั้งการบังคับหรือสมัครใจ แต่คือการ รับเข้าไปไว้ภายใน (internalization) ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ อำนาจจึงกลายเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญหา กาละ-เทศะ หรือ time and space และนั่นนำไปสู่การนิยามอำนาจว่าคือกระบวนการของก้าวข้ามพ้นขีดจำกัดของกาละ-เทศะ.
กล่าวอย่างรวบรัดแล้ว ข้อเสนอของ Giddens ในเรื่องนี้ก็คือ ในยุคก่อนสมัยใหม่ สังคมจะมีพลังอย่างมาก ในการจำกัดให้เอกบุคคลอยู่ใต้ กาละ-เทศะของประเพณีและระบบความหมายในแต่ละท้องถิ่น ขณะที่ภายใต้สภาวะสมัยใหม่นั้น เอกบุคคลมีช่องทางจะออกไปจากขีดจำกัดที่ว่านี้ได้ง่ายดายและกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ความคิดเรื่องโลกาภิวัฒน์ และความเป็นปัจเจกบุคคล(globalization and individualization) ก็กลายเป็นอะไรที่มีความสำคัญขึ้นมา เพราะโลกาภิวัฒน์จะสร้างระบบคุณค่า และชุดของปทัสถานอย่างตลาด, วิทยาศาสตร์, สิทธิมนุษยชน ฯลฯขึ้นมาแทนที่ประเพณีและระบบความหมายในแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ส่วนรัฐชาติก็จะถูกแทรกแซงและรุกรานด้วยปัจจัยต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุม สรุปโดยรวมแล้วก็คือยิ่งโลกเคลื่อนสู่สภาวะสมัยใหม่มากเท่าใด โครงสร้างที่มีลักษณะบังคับก็จะยิ่งอ่อนแอลงไปมากเท่านั้น และนั่นเท่ากับว่ามนุษย์จะมีเสรีภาพและทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่มากขึ้นไปโดยปริยาย.
ความคิดเรื่องแบบวิถีทางอำนาจที่แตกต่างกัน สำหรับระบบสังคมที่แตกต่างกัน ยังคงเป็นแกนกลางของปรัชญาสังคมแบบ Giddens ต่อไป เพียงแต่ในงานชั้นหลังๆ นั้น นักคิดผู้นี้จะขยายความคิดต่อไปว่า นอกจากระบบสังคมที่แตกต่างกัน จะมีแบบวิถีทางอำนาจที่แตกต่างกันแล้ว ระบบสังคมที่แตกต่างกัน ยังมีองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันด้วย โดยเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลง ก็หมายความว่าสภาวะที่เป็นอยู่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงใจ ซึ่งนั่นเป็นเพราะ Giddens เองก็ไม่ได้มองว่าโลกาภิวัฒน์หรือสภาวะสมัยใหม่มีแต่ด้านบวกแต่เพียงอย่างเดียว โดยที่ในงานเขียนชิ้นสำคัญอย่าง Beyond Left and Right นั้น นักคิดผู้นี้ได้พูดถึงปัญหาที่เกิดในแต่ละภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะปัญหาจากระบบทุนนิยม และลัทธิอุตสาหกรรมนิยม รวมทั้งปัญหาความรุนแรงและความมั่นคง แล้วเสนอให้มีการพัฒนาระบบคุณค่าแบบ หลังวัตถุนิยม ที่คำนึงถึงผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ, การให้ประชาชนมีบทบาทโดยตรงในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน -การงาน-ชุมชน, การลดความเสี่ยงด้านสภาวะแวดล้อม และการสร้างความร่วมมือระหว่างคนรวยกับคนจนขึ้นมา ซึ่ง Giddens เรียกข้อเสนอของเขาในช่วงนี้ว่า Utopian Realism หรือ อุดมคติที่เป็นไปได้จริง.
แต่จุดที่ทำให้หนังสือเล่มนื้โด่งดังและขายดีเป็นเทน้ำเท่ท่านั้นไม่ได้อยู่ที่ข้อเสนอเชิงอุดมคติเหล่านี้. Beyond Left and Right เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเพราะมันเป็นงานเขียนเล่มแรกๆ ที่เสนอว่าทั้งระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยมได้ล่มสลายไปแล้ว และฉะนั้น การแบ่งแยกระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมจึงไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไป สิ่งที่จำเป็นต้องทำโดยเร่งด่วนก็คือการสร้างมุมมองแบบหลังสังคมนิยม - หลังทุนนิยม ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยองค์ประธานในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะไม่ใช่รัฐหรือชนชั้นแต่อย่างใด หากกลับได้แก่กลุ่มที่มีความหลากหลาย, เป็นอิสระ และมีลักษณะเป็นกลุ่มช่วยตัวเอง (collective self-help) มากกว่าอะไรอื่น และถึงจุดนี้ คงเห็นได้ไม่ยากว่าเพราะเหตุใดที่งานของ Giddens ชิ้นนี้จึงขายดิบขายดี และเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่คนที่สนใจความคิดเรื่อง การเมืองแนวใหม่ หรือที่มักเรียกกันอีกอย่างว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม.
ถึงจุดนี้ก็คงจะเห็นได้ชัดว่า Giddens มีระบบความคิดที่ต่อเนื่องและเป็นระบบอยู่ไม่น้อย เขาเริ่มต้นจากการยืนยันว่าระบบทุนนิยมนั้น มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เป็นของตัวเอง การแสวงหากฎเกณฑ์ที่ตายตัวอย่างชนชั้นหรือความสัมพันธ์ทางการผลิต จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องแต่อย่างใด จากนั้นก็เสนอต่อไปว่าโครงสร้างสังคมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่สัมพันธภาพระหว่างเอกบุคคล กับโครงสร้างก็เป็นเรื่องผันแปรไปตลอดเวลา และยิ่งโลกเคลื่อนไปสู่สภาวะสมัยใหม่มากเท่าใด ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอิสระขึ้นมา เพราะสภาวะสมัยใหม่จะเป็นเงื่อนไขให้เอกบุคคลมีอิสระได้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดการรวมกลุ่มของเอกบุคคลตามมา โดยคนกลุ่มนี้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และไม่ใช่กลุ่มตามนัยของชนชั้นอย่างในอดีต แต่เป็นกลุ่มที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และมีจุดโยงใยอยู่ที่ความคิดเรื่องอัตลักษณ์ และการเมืองของทางเลือก (politics of choice) ของสังคม.
ทางสายที่ ๓: ข้อสังเกตบางประการ
Anthony Giddens เริ่มต้นงานเขียนชิ้นล่าสุดอย่าง Runaway World ด้วยการอ้างคำพูดของอาร์คบิชอปวูลฟ์สแตน ซึ่งมีขึ้นที่ยอร์ค เมื่อ ค.ศ.๑๐๑๔ ว่า โลกกำลังเร่งรีบ และใกล้จะถึงจุดจบเข้าทุกที แต่หลังจาก ๑ สหัสวรรษผ่านไป และโลกก็ใกล้จะเคลื่อนเข้าสู่สหัสวรรษที่ ๓ จุดจบที่ว่าก็ยังมาไม่ถึง อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้หมายความว่าโลกได้เข้าสู่ยุคแห่งสันติสุข ในทางตรงกันข้าม โลกกลับวิ่งออกไปจากทิศทางที่มนุษย์จะสามารถควบคุมได้มากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะในเรื่องสภาพแวดล้อม, เศรษฐกิจ, การเงิน หรืออะไรก็ตาม โดยที่ปัจจัยซึ่งมนุษย์หวังจะใช้เป็นที่พึ่งอย่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ถึงจุดนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอจะวิ่งไล่ทันความเป็นจริงที่เกิดขึ้นโดยรอบระบบโลกาภิวัฒน์ได้.
สำหรับ Giddens แล้ว มนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นมนุษย์เผชิญกับความเสี่ยงและไม่แน่นอนในระดับที่สูงกว่ายุคใดๆ ในประวัติศาสตร์ ผลก็คือแม้ส่วนข้างมากของโลกจะเคลื่อนสู่พัฒนการขั้นล่าสุดของสภาวะสมัยใหม่ แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อยนั้น การหวนกลับไปหาความคิดแบบยุคก่อนสมัยใหม่อย่าง fundamentalism ยังเป็นสิ่งที่พบได้ตลอดเวลา ความขัดแย้งและความตึงเครียด เป็นเรื่องที่พบได้ทุกหัวมุมถนน และในสายตาของนักคิดผู้นี้ มีแต่ ความเท่าเทียมเท่านั้นที่จะเป็นทางออกไปจากปัญหาทั้งหมดนี้ได้ แต่บทเรียนจากความล้มเหลวของสังคมนิยมก็คืออำนาจรัฐไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดในการบรรลุสภาพเช่นนี้ ขณะที่เสรีนิยมใหม่นั้น ไม่มีแม้กระทั่งการคิดถึงความเท่าเทียมด้วยซ้ำไป.
Giddens ไม่ใช่มาร์กซิสต์ และเขาได้แสดงออกอย่างคงเส้นคงวาว่าวิธีคิดแบบมาร์กซ์มีข้อบกพร่องเพียงไร ในขณะที่มาร์กซิสต์โจมตีว่าเสรีภาพทางเศรษฐกิจไม่อาจนำไปสู่การมีเสรีภาพที่แท้จริงได้ นักคิดผู้นี้กลับมองแตกต่างไปจากนั้น แล้วหันไปทำอะไรอย่างที่เฮเกลเคยทำไว้ นั่นก็คือการยืนยันว่าเสรีภาพส่วนบุคคลไม่ขัดแย้งกับเสรีภาพของพลเมือง และถ้ามนุษย์ทุกคนต้องอยู่ในสังคมการเมือง นั่นก็เท่ากับว่าเสรีภาพส่วนบุคคลไม่ได้เป็นอะไรที่คุกคามเสรีภาพตามความหมายที่แท้จริงได้ หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่า การรักษาไว้ซึ่งระบบกรรมสิทธิ์เอกชนไม่ใช่เรื่องอันตราย ตราบใดที่มีการใช้เสรีภาพของพลเมือง หรือ civic liberalism เข้าควบคุม โดยที่ Giddens นั้นเห็นว่ากรรมวิธีเช่นนี้จะทำให้ไปถึงเป้าหมายเรื่องความเท่าเทียมได้ด้วยซ้ำไป.
ประเด็นก็คือ Giddens ไม่ได้มองว่าความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง คุณค่าของความเท่าเทียมนั้นมาจากภายนอก กล่าวคือมาจากการประกันไม่ให้สังคมขัดแย้งและแตกร้าว ความเท่าเทียมจึงเป็นเครื่องมือเพื่อไปสู่เป้าหมายบางอย่าง และเป้าหมายที่ว่านั้นก็ได้แก่ความเป็นเอกภาพและความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือเลวร้ายอะไร ถ้าเราจะไม่มองปัญหานี้จากจุดยืนแบบเอียงซ้ายหรืออนาธิปัตย์จนเกินไป เพราะไม่ว่าจะสังคมใด ก็ล้วนต้องการระเบียบบางอย่างเพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกภาพในระดับองค์รวมทั้งนั้น.
ทั้งหมดนี้คือแกนกลางของข้อเสนอหลักๆ ที่ปรากฎอยู่ในความคิดเรื่อง ทางสายที่ ๓ ส่วนรายละเอียดและข้อเสนออื่นๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จะว่าไปก็แยกย่อยออกมาจากแกนกลางข้อนี้ทั้งสิ้น ความคิดเรื่องการลดบทบาทรัฐก็ดี, การเน้นพลังของกลุ่มและชุมชนก็ดี, การสร้างการเมืองของทางเลือกและอัตลักษณ์, เศรษฐกิจแบบผสมแนวใหม่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนมีแกนกลางอยู่ที่การรักษาระบบกรรมสิทธิ์เอกชนเอาไว้ แล้วใช้ความคิดเรื่อง เสรีภาพของพลเมือง เข้าประกบ หรือจะพูดให้รวบรัดก็คือการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าคะคานอำนาจทางเศรษฐกิจนั่นเอง เพียงแต่อำนาจทางการเมืองในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่รัฐหรือระบบราชการอีกต่อไป แต่ได้แก่ การเมืองของพลเมือง และประชาสังคม.
คำถามก็คือลำพังการใช้การเมืองของพลเมืองเช่นนี้จะเป็นมาตรการที่เข้มแข็งพอที่จะคะคานอำนาจทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ ข้อที่ต้องระลึกไว้ก็คือแนวความคิดเรื่อง การเมืองของพลเมือง นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และจะว่าไปแล้ว ก็เป็นแนวความคิดที่ได้มีการทดลองปฏิบัติไปบ้างแล้วด้วยซ้ำ การเติบโตของสิ่งที่เรียกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งของความคิดเรื่องการเมืองของพลเมืองที่ว่านี้ และเมื่อถึงขั้นนี้ ข้อที่ต้องพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนกันต่อไปก็คือ จากการประเมินบทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ในที่ต่างๆ เราจะสรุปว่าการรวมกลุ่มประเภทนี้เป็นพลังที่มีน้ำหนักมาก จนสามารถสร้างดุลยภาพกับพลังฝ่ายทุนได้หรือไม่ และในระดับที่มากน้อยขนาดไหน.
ข้อที่น่าสังเกตต่อไปอีกก็คือ บ่อยครั้งที่ Giddens พูดถึง เสรีภาพของพลเมือง หรือ civic liberalism โดยมีความหมายใกล้เคียงกับความคิดของสำนักคิดวัฒนธรรมการเมือง ในวงการรัฐศาสตร์กระแสหลักในสหรัฐอเมริกา และด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ Joseph S.Nye จะแสดงท่าทียกย่องงานเขียนเรื่อง The Third Way ของ Giddens อย่างเปิดเผย ประเด็นอยู่ตรงที่นับตั้งแต่มีสถานะเป็นกระแสหลักในวิชารัฐศาสตร์อเมริกัน แนวความคิด วัฒนธรรมการเมือง ก็ดูจะมีอิทธิพลต่อแบบแผนการปฏิบัติทางการเมืองในประเทศแห่งนั้นมาโดยตลอด ปัญหาที่ต้องถามกันต่อไปก็คือ แล้วพลังทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมความเคลื่อนไหวของพลังฝ่ายเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ และนอกจากนั้น ชีวิตทางสังคมในสหรัฐอเมริกาเป็นชีวิตทางสังคมที่มีความเท่าเทียมสูงขึ้นเพียงใด.
ประเด็นที่ซ่อนเร้นและเป็นรากฐานของความคิดหลักๆ ในข้อเสนอเรื่อง ทางสายที่ ๓ อีกประการหนึ่งก็คือการมองสภาวะสมัยใหม่ในแง่บวก ในเรื่องนี้นั้น Giddens ดูจะมีโลกทัศน์ไม่ต่างไปจากมาร์กซ์ โดยเฉพาะในแง่ที่มองสภาวะสมัยใหม่ว่าให้กำเนิดเงื่อนไขบางอย่าง ที่จะนำไปสู่การปลดปล่อย เพียงแต่ขณะที่มาร์กซ์มองไปที่วิถีการผลิตแบบทุนนิยมและชนชั้นกรรมาชีพ Giddens กลับเพ่งความสนใจไปที่โลกาภิวัฒน์ เพื่อต่อต้านพลังทางประเพณี หรือพูดง่ายๆ ก็คือสร้างคู่ขัดแย้งใหม่ระหว่างโลกาภิวัฒน์กับระบบคุณค่าแบบประเพณีขึ้นมา แล้วตั้งความหวังว่าโลกาภิวัฒน์จะเป็นพลังที่ปลดปล่อยผู้คนจากพันธนาการของสถาบันประเพณีได้ โดยที่ไม่เคยนิยามให้ชัดเจนว่า สถาบันประเพณีที่ว่านั้นคืออะไร.
เมื่อปราศจากนิยามที่ชัดเจน ปัญหาที่ตามมาก็คือแล้วกลุ่มหรือชุมชนซึ่งรวมตัวโดยมีสายใยจากอดีตเป็นแกนกลาง แต่ในขณะเดียวกัน ก็แสดงบทบาทเป็นพลังฝ่ายวิจารณ์รัฐ หรือต่อต้านบรรษัทอุตสาหกรรม อย่างที่เกิดขึ้นใน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ จำนวนมากนั้น เราจะจัดกลุ่มหรือชุมชนเหล่านี้ไว้ที่จุดไหนดี ระหว่างการเป็นพลังทางประเพณี กับการเป็นกลุ่มทางสังคม ที่มากับการขยายตัวของระบบคุณค่าแบบโลกาภิวัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเรื่องการเมืองของทางเลือก, อัตลักษณ์, ศาสนา, ชาติพันธุ์ หรืออะไรอื่นๆ ก็ตาม.
ต้องไม่ลืมว่า Giddens เขียนหนังสือเรื่อง The Third Way ทั้งในฐานะที่เป็นการประมวลแนวคิดทางสังคมศาสตร์ และเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติการทางการเมืองของพรรคสังคมประชาธิปไตยในยุโรปไปพร้อมๆกัน การไม่สามารถจัดที่ทาง (locate) ให้กับกลุ่มเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนนั้น โดยตัวมันเองก็เป็นปัญหาทางทฤษฎีในระดับที่มากพออยู่แล้ว ยิ่งเมื่อไปถึงในระดับของปฏิบัติการทางการเมือง ประเด็นนี้จะเป็นเรื่องที่มีนัยยะสำคัญมากทีเดียว. เพราะในหลายกรณี กลุ่มหรือชุมชนที่ทำการเคลื่อนไหวแบบ สิทธิพลเมือง ก็อาจจะมากับอุดมการทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมก็เป็นได้ การรวมกลุ่มเพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมหรือผืนป่านั้น เกิดขึ้นได้ทั้งกับกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองแบบซ้าย, เสรีนิยม และฝ่ายขวา ขณะที่การรวมตัวทางศาสนาเพื่อควบคุมนักการเมือง ก็อาจจะขับเคลื่อนไปได้โดยมีอุดมการหลักๆของชาติเป็นแกนกลาง.
จริงอยู่ว่าผู้อำนวยการของ London School of Economics รายนี้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ ปัญหาที่กำลังเป็นกระแสร่วมสมัยอย่างวิกฤติสภาวะแวดล้อม, ชาติพันธุ์, ยาเสพติด, เยาวชน ฯลฯ แต่การที่นักคิดผู้นี้แสดงออกอย่างชัดแจ้ง และคงเส้นคงวา ว่ามองสภาวะสมัยใหม่ในแง่ที่เป็นคุณมากกว่าโทษ ถึงขั้นเป็นพลังแห่งการปลดปล่อยได้ด้วยซ้ำไป นั่นเป็นเหตุให้ Giddens ดูจะกล่าวถึงปัญหาต่างๆ อย่างขอไปที โดยไม่ได้มีความตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด ผลที่ตามมาก็คือข้อเสนอทั้งหมดที่ Giddens นำเสนอเพื่อแก้ปัญหาประเภทนี้ เป็นข้อเสนอที่เบาและดูไม่น่าเชื่อถือว่าจะช่วยให้อะไรดีขึ้นมาได้ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมา ก็คือไม่น่าจะเป็นไปได้ที่นักคิดรายนี้จะมองภาวะวิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม. แล้วเห็นเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วนเป็นอันดับต้นๆ.
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่างานของ Giddens เล่มนี้มีความต่อเนื่องทางทฤษฎีจากงานเขียนเล่มก่อนๆ โดยเฉพาะในแง่ของวิธีคิด, การตั้งคำถาม และการนำเสนอคำตอบหลักๆ ทางปรัชญา จริงอยู่ว่า The Third Way ไม่ได้เป็นงานทางทฤษฎีล้วนๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า Giddens เขียนหนังสือเล่มนี้โดยปราศจากความคิดแกนกลางแต่อย่างใด มรรควิธีหรือวิธีวิทยาของ Giddens เป็นสิ่งที่ได้กล่าวเอาไว้ในหัวข้อที่แล้ว ส่วนปัญหาของวิธีวิทยาข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ได้แสดงให้เห็นไปแล้วพอสมควร จนไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวซ้ำ ณ ที่นี้อีก แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เท่ากับว่า The Third Way เป็นงานเขียนที่ปราศจากจุดแข็งเอาเสียเลย ในทางตรงกันข้าม Giddens ในฐานะนักคิดทางสังคมศาสตร์ ได้แสดงถึงความพยายาม ที่จะวิ่งไล่กวดให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าในระดับวิธีคิดเท่านั้นที่ Giddens ดูจะให้ค่ากับสภาวะสมัยใหม่สูงเกินไป จนในหลายกรณีก็พูดได้ว่านักคิดรายนี้เน้นแต่ด้านบวกของสภาวะสมัยใหม่เกินจริงไปมาก.
ในภาวะที่พูดกันมากว่าสังคมนิยมล่มสลายไปแล้ว ส่วนโลกก็ไม่ได้หลงเหลือทางเลือกใดๆ อีกต่อไป และทุกวันนี้มีแต่ต้องเดินไปสู่หนทางของทุนนิยมเสรีกับประชาธิปไตยรัฐสภาเท่านั้น ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้กระทั่งนักคิดที่ประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับลัทธิมาร์กซ์อย่าง Giddens ก็ยังเห็นว่าอุดมคติของลัทธิสังคมนิยมยังคงเป็นสิ่งที่รับฟังได้ และจะว่าไปแล้ว ข้อเสนอเรื่อง ทางสายที่ ๓ เองก็มีแรงบันดาลใจหลายประการมาจากความคิดเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป การล่มสลายของประเทศสังคมนิยมจึงไม่ได้นำไปสู่การล่มสลายของความคิดแบบสังคมนิยมอย่างง่ายๆ เพราะทุนนิยมเสรีกับประชาธิปไตยรัฐสภาเองก็ไม่สามารถนำเสนอทางออกไปจากสภาวะวิกฤติต่างๆ ที่รายล้อมโลกทุกวันนี้ได้ดีพอ ขณะที่ความคิดทวนกระแสที่มีอยู่หลายสำนัก ก็ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองว่าจะเป็นทางเลือกที่มีน้ำหนักในระดับองค์รวมได้ชัดเจนนัก.
The Third Way เป็นงานเขียนที่มุ่งจะตอบปัญหาซึ่งสังคมทุกวันนี้เผชิญหน้าอยู่ เป็นงานเขียนซึ่งพยายามทำความเข้าใจ และนำเสนอทางออกไปจากภาวะวิกฤติ โดยอาศัยรากฐานทางภูมิปัญญาของสังคมศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน แต่ปัญหาของทฤษฎีสังคมศาสตร์ทุกวันนี้คือไม่มีใครอยู่ในจุดที่จะเสนอความคิดหรือเค้าโครงทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นระบบได้ต่อไป โดยเฉพาะการแสวงหาจุดสมดุลระหว่างเสรีภาพทางเศรษฐกิจกับความเท่าเทียมนั้น ถึงจุดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจมากนัก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสังคมนิยมก็อยู่ในภาวะล้มละลาย เสรีนิยมก็ไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาอะไร ส่วนโพสท์โมเดิร์นเองนั้นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะไม่สนใจอะไรในระดับมหภาคเอาเสียเลย
The Third Way เป็นงานเขียนที่เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะทางภูมิปัญญาที่ว่านี้ และเมื่อเข้าใจสภาวะทางภูมิปัญญาดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ต้องยอมรับต่อไปว่าหนังสือเล่มนี้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ แต่ไม่น่าจะดีพอที่จะช่วยให้โลกเราดีขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่น่าจะไปถึงเป้าหมายที่ตัวผู้เขียนตั้งไว้นั่นเอง
เอกสารประกอบการเขียน
Anthony Giddens, Beyond Left and Right : The Future of Radical Politics(Cambridge : Polity : 1994)
Anthony Giddens, Runaway World : How Globalisation is Reshaping our Lives (London : Profile Books : 2000)
Anthony Giddens, The Consequences of Modernity (Cambridge : Polity Press : 1990)
Anthony Giddens, The Third Way : The Renewal of Social Democracy (London : Polity : 1999)
Julie Froud, Colin Haslam, Sukhdev Johal, Adam Leaver, John Williams, Karel William, The Third Way and the Jammed Economy, Capital and Class, Volume 67, Spring 1999.
Michael Rustin, The Future of Post-Socialism, Radical Philosophy , Volume 74, November-December 1995.
Reginald Dale, What the Third Way Is Really About, International Herald Tribune, April 4, 2000.