มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)
ถ้าถือว่า ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นความรุนแรงที่พลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมกระทำต่อฝ่ายก้าวหน้า ถ้าเห็นด้วยว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของการเมืองของชนชั้นกลาง และถ้ายอมรับว่าการปฏิรูปการเมืองในรูปของ "รัฐธรรมนูญใหม่" เป็นภาคต่อเนื่องที่จะสร้างกติกาและจัดระเบียบแบบแผนให้เป็นที่พอใจแก่พลังทางการเมืองทุกฝ่าย คำถามก็คือการบรรจบกันของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มีความหมายต่อการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง
บทความนี้มีเป้าหมายที่จะหาความหมายของการบรรจบกันของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ ครั้ง โดยอาศัยความคิดเรื่องรัฐแบบโครงสร้างนิยมและทฤษฎีการเมืองว่าด้วยการแยกมิตรและศัตรู เพื่อชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางปรากฎการณ์ทางการเมืองที่แปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์มากมาย การเมืองไทยกำลังจะเดินหน้าไปสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยมอย่างไรบ้าง
การเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจ
การเมืองไม่ใช่เรื่องของนักการเมือง เพราะการเมืองที่มีแต่นักการเมืองนั้นเป็นการเมืองที่จำกัดอยู่แต่ในหมู่คนจำนวนน้อย
แต่การเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของพลเมืองด้วย เพราะการเมืองของพลเมืองนั้นตีขลุมว่า
คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายทุกอาชีพมีความคิดความอ่านความปรารถนาและความต้องการเฉกเช่นเดียวกัน
หรือไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้แตกต่างขัดแย้งกันมากนัก เพราะเหตุว่าทุกคนเป็นพลเมืองเหมือนๆ
กัน.
การเมืองคือความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังทางเศรษฐกิจการเมือง, อุดมการณ์ และชนชั้นต่างๆ ความสัมพันธ์นี้ไม่คงที่และแปรเปลี่ยนไปได้ตามสภาพแวดล้อม, บรรยากาศ และดุลกำลังทางการเมืองที่ผันแปรไป การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นแตกหัก แต่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในแบบของการประนีประนอมและจัดโครงสร้างใหม่ได้เหมือนๆ กัน การเปลี่ยนความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซ้ำยังต้องใช้เวลาพอสมควร.
พูดอีกแง่หนึ่งแล้ว การเมืองจึงหมายถึงความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยการเผชิญหน้าและการประนีประนอมอันเป็นนิรันดร์ หรืออย่างที่นักทฤษฎีว่าด้วยรัฐคนสำคัญคนหนึ่งว่าไว้ การเมืองเป็นเรื่องของการจัดพันธมิตรทางชนชั้นตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา.
ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังทางเศรษฐกิจการเมือง, อุดมการณ์ และชนชั้นต่างๆ เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับไหน และเป็นข้อตกลงที่ไม่มีใครกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ชัดเจน แต่เพราะไม่สามารถมองเห็นเป็นตัวอักษรได้นี่เอง ทำให้ความสัมพันธ์นี้มีอยู่จริง ซ้ำยังดำรงอยู่อย่างเหลือวิสัยที่ใครจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เพราะมันเป็นข้อตกลงที่อยู่เหนือการเมืองแบบเป็นทางการ ระหว่างรัฐ-พลเมือง ที่สามารถตรวจสอบและแก้ไขได้ด้วยกลไกของระบบประชาธิปไตยทั่วไป.
ป่วยการที่จะพูดว่าพลังทางเศรษฐกิจการเมือง, อุดมการณ์ และชนชั้นต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อสังคมการเมืองไทยนั้นมีอะไรบ้าง เพราะนั่นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปไตยและระดับของความเปิดกว้างทางภูมิปัญญาจนเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมการเมืองไทยยังมีอยู่ไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ภายใต้กรอบของการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองอย่างกว้างๆ ก็พอจะเห็นได้ไม่ยากอีกเช่นกันว่าพลังเหล่านี้ได้แก่ สถาบัน, บรรษัทขนาดใหญ่, ศาสนา, คนชั้นกลาง, องค์กรระหว่างประเทศ , กองทัพ , ระบบราชการ ฯลฯ
กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีความต้องการ, อุดมการณ์ และผลประโยชน์ที่เป็นเอกเทศ ซึ่งในบางกรณีก็เหมือนกัน และในหลายกรณีก็ขัดกัน โดยที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างคนเหล่านี้ คือปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางของการเมืองไทย แต่เพราะพลังเหล่านี้เป็นพลังนอกระบบ การวิเคราะห์ถึงพลังเหล่านี้จึงไม่อาจทำได้เต็มที่ อย่างน้อยก็ในบรรยากาศทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.
โดยฐานะทางนิตินัย พลังทางเศรษฐกิจการเมืองและชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ มีสถานะเป็น "พลเมือง" ของระบบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ สมาชิกของคนกลุ่มเหล่านี้เป็นปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิมีเสียงที่จะไปลงคะแนนและมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยทัดเทียมเสมอหน้ากับบุคคลทั่วไป แต่ในฐานะทางพฤตินัยนั้น คนเหล่านี้มีอำนาจและอิทธิพลเข้มแข็งกว่าคนส่วนที่เหลือในสังคม ด้วยเหตุดังนั้น ระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่จึงทำให้คนพวกนี้มีอิทธิพลต่อรัฐได้สูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆไปด้วย ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม.
การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง และการเมืองก็เป็นเรื่องของการประนีประนอม ผลจากความขัดแย้งและการประนีประนอมที่คนกลุ่มหลักๆ ในสังคมมีในแต่ละช่วงเวลา การเลือกว่าจะเป็นมิตรกับคนกลุ่มใด เป็นศัตรูกับคนกลุ่มไหน จะจัดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไร หรือที่นักทฤษฎีการเมืองรายหนึ่งเรียกว่าการจัด "พันธมิตรทางประวัติศาสตร์" นั่นเอง ที่เป็นพลังที่มีความสำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางของระบบการเมืองในแต่ละยุค
การเมืองและพันธมิตรทางประวัติศาสตร์
รัฐบาลทักษิณขึ้นมามีอำนาจด้วยการใช้เงินอย่างมหาศาล ไม่มีรัฐบาลชุดไหนและพรรคการเมืองใดที่ไม่ใช้เงิน
แต่ก็เป็นความจริงที่รับรู้กันโดยทั่วไปอีกเช่นกันว่า มีรัฐบาลบางรัฐบาลและพรรคการเมืองบางพรรคการเมืองที่มีศักยภาพจะใช้เงินได้มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ
อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งหากข้อมูลของนักข่าวต่างประเทศถูกต้อง เงินที่พรรคไทยรักไทยจ่ายไปในช่วงเลือกตั้งนั้น
เกือบเท่ากับร้อยละ ๕ ของงบประมาณของประเทศไทยเลยทีเดียว.
แต่ลำพังตัวเงินอันมหาศาลนั้นไม่มากพอที่จะทำให้ใครมีความเข้มแข็งทางการเมืองถึงจุดนี้ได้ ซ้ำการวิเคราะห์แบบนี้ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของการเมืองเรื่องการซื้อเสียงมากเกินไป วิธีคิดแบบนี้หยาบเกินกว่าจะเข้าใจความสลับซับซ้อนของรัฐบาลในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้ และหากดึงดันทำความเข้าใจการเมืองด้วยกรอบแบบนี้จนเกินไป ผลลัพธ์ก็คือการมองรัฐบาลชุดนี้ไม่ต่างไปจากที่นักวิเคราะห์การเมืองแนวตื้นเขินมอง นั่นก็คือเป็นรัฐบาลของนายทุน โดยนายทุน และเพื่อนายทุน.
หากตัดปัญหาเรื่องการใช้เงินของรัฐบาลชุดนี้ทิ้งไป ยอมรับความจริงว่ารัฐบาลชุดไหนๆ ก็ใช้เงินไม่ต่างกันทั้งนั้น แล้วมองประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยสายตาที่เชื่อมั่นว่าคนเหล่านี้รู้ตัวว่ากำลังทำอะไร สิ่งที่จะพบได้อย่างไม่ยากเย็นเลยก็คือ คนชั้นกลางหลายรายลงคะแนนให้รัฐบาลชุดนี้ด้วยเหตุผลที่บริสุทธิ์ ในขณะที่คนชนบทอีกมากมายที่เลือกเพราะประทับใจในนโยบาย "ประชานิยม" ของรัฐบาล นอกจากนั้น นโยบายของรัฐบาลก็ไม่มีลักษณะ "เพื่อนายทุน" มากอย่างที่คิด. และเพราะเหตุนี้ ทฤษฎีการเมืองเรื่องการซื้อเสียงและพรรคนายทุนจึงไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจปรากฎการณ์ใหม่ๆ ในปัจจุบัน
พฤติกรรมการลงคะแนนที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลชุดนี้ เป็นพฤติกรรมที่วางอยู่บนความเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยอย่างเปี่ยมล้นโดยไม่ต้องสงสัย รัฐบาลมีนโยบายอย่างที่ประชาชนต้องการ และประชาชนก็ออกไปลงคะแนนเพื่อให้รัฐบาลทำสิ่งที่ได้ป่าวประกาศเอาไว้ ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นพรรคนายทุนหรือไม่ และไม่ว่ารัฐบาลจะใช้เงินไปในการเลือกตั้งมากขนาดไหน ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับการลงคะแนนอย่างที่กล่าวมานี้ จึงเข้าสูตรทฤษฎีสัญญาประชาคมอย่างพอดิบพอดี
ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งรัฐบาล แต่อยู่ที่กระบวนการทางการเมืองทั้งหมดที่ตามติดมาหลังจากนั้น ใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองโดยถี่ถ้วน คงสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่านอกจากจะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้นแล้ว รัฐบาลชุดนี้ยังได้รับความสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่และผู้นำของคนในทุกกลุ่มทุกวงการ ไล่มาตั้งแต่ปัญญาชนสาธารณะ, นายทุนข้ามชาติ, นายทุนชาติ, องค์กรพัฒนาเอกชน, ผู้นำฝ่าย "ประชาชน" และแม้กระทั่งหลวงตา.
โดยเทียบเคียบกับสภาพความเป็นจริงของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระยะใกล้ คงไม่เกินเลยไปจากความจริงนัก หากจะสรุปว่ารัฐบาลชุดนี้ที่ได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มคนที่กว้างขวางหลากหลายมากกว่ารัฐบาลทุกชุดในยุคหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ อย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองยุคหลัง ๖ ตุลาคม เป็นเรื่องของขวาพิฆาตซ้าย บรรยากาศทางการเมืองในยุคปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ยังต้องดูกันต่อไป
ไม่ว่าจะมองจากจุดยืนทางการเมืองแบบไหน ความเป็นจริงที่หนักแน่นและไม่สามารถปฏิเสธเป็นอื่นไปได้เลยก็คือ ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนที่มีความสามารถในการดูดซับ - และระดมความสนับสนุน - จากผู้นำทางความคิด และ "ปัญญาชนสาธารณะ" ของสังคมไทยไปได้มากขนาดนี้ ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือองค์ประกอบหลายส่วนในขบวนการที่มักเรียกกันอย่างหลวมๆ และปราศจากนิยามความหมายที่ชัดเจนว่า "การเมืองภาคประชาชน" ก็ยังแสดงท่าทีต่อรัฐบาลชุดนี้ได้อย่างสอดคล้องกับคนบางกลุ่ม บางชนชั้น อย่างน่าอัศจรรย์.
พูดกันว่ารัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ดี ความยิ่งใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการมีเสียงสนับสนุนในสภาหนาแน่นเป็นประวัติการณ์แต่เพียงอย่างเดียว เสียงในสภาเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ได้พอๆ กับทรราชย์ และเพราะฉะนั้น ผู้นำทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่จึงต้องมีฐานสนับสนุนที่เข้มแข็งในภาคนอกรัฐสภาเสมอ และรัฐบาลชุดนี้ก็เช่นเดียวกัน.
รัฐบาลทักษิณประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือกับปัจจัยนอกรัฐสภา หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่าพลังสำคัญๆ ที่อยู่นอกระบบรัฐสภาไทยนั้น ประสบความสำเร็จในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังทางเศรษฐกิจการเมืองและชนชั้นต่างๆ ขึ้นมาใหม่ และภายใต้กรอบอย่างกว้างๆ ของความสัมพันธ์นี้ รัฐบาลทักษิณได้รับฉันทานุมัติให้แสดงบทบาทเป็นผู้นำได้อย่างเต็มที่ และนั่นก็คือที่มาที่ทำให้คนหลายกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลนี้มากจนน่าประหลาดใจ.
เสียเวลาอีกเช่นกันที่จะเสนอว่าพันธมิตรทางประวัติศาสตร์นี้มีอะไรบ้าง เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของความเป็นจริงทางการเมืองในสังคมไทย และด้วยเหตุนี้ "พื้นที่สาธารณะ" ที่ชอบพูดนักพูดหนาจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีวันจะมีได้ เพราะความเป็นจริงของสังคมการเมืองไทยนั้นก็คือ การจำกัดการอภิปรายทางการเมืองให้อยู่แต่ในกรอบที่คนบางกลุ่มอนุญาติไว้เท่านั้นเสมอ ขณะที่นัยยะทางทฤษฎีของความคิดเรื่อง "พื้นที่สาธารณะ" คือการอนุญาติให้มีการโต้เถียงและแสดงความเห็นในหมู่สมาชิกของสังคมได้อย่างเสรีและเปิดกว้าง.
การเมืองและชาตินิยม
ความรวยไม่ใช่เรื่องน่าประณาม และความน่าสนใจที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ก็คือการป่าวประกาศให้เห็นอย่างเปิดเผยว่าองค์ประกอบของคณะรัฐบาลมีที่มาจากคนกลุ่มซึ่งร่ำรวยที่สุดในสังคมไทยอยู่มากขนาดไหน
เพราะไม่ว่าจะมองไปที่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายใด ก็จะเห็นสายสัมพันธ์กับทุนการเกษตร,
ทุนสื่อสาร, ทุนอุตสาหกรรม, ทุนพลังงาน, ทุนการเงิน, ทุนพาณิชย์ , ทุนท้องถิ่น
และทุนอะไรต่อมิอะไรไปได้ทั้งนั้น จะเป็นในรูปของการเป็นเจ้าของทุนเองโดยตรง
หรือเป็นตัวแทนก็ตาม.
ลัทธิมาร์กซ์แบบคลาสสิคถือว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุน ก็เหมือนอย่างที่ใน Communist Manifesto ว่าไว้ "รัฐสมัยใหม่คือคณะกรรมการเพื่อจัดการกิจการต่างๆ ของชนชั้นกระฎุมพี"
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์รัฐแบบหยาบๆ อย่างนี้เป็นเรื่องเหลวไหล เพราะทำราวกับว่านายทุนหรือกระฎุมพีมีผลประโยชน์ที่เป็นเอกภาพ และที่แย่ไปกว่านั้นคือตอบสิ่งที่เกิดในตอนนี้ไม่ได้ว่าทำไมคนจนและปัญญาชนสาธารณะฝ่าย "ประชาชน" หลายต่อหลายรายจึงสนับสนุน "คณะกรรมการของกระฎุมพี"
แน่นอนว่ากลุ่มทุนนั้นเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย และผลประโยชน์ของทุนแต่ละกลุ่ม ก็ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น การที่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดจะส่งสมาชิกในสังกัดไปเป็นรัฐบาลก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ชาญฉลาดเท่าใดนัก หรืออย่างที่นักทฤษฎีว่าด้วยรัฐสำนัก"โครงสร้างนิยม"คนสำคัญว่าไว้ "รัฐทุนนิยมรับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อสมาชิกของชนชั้นนี้ไม่เข้าไปอยู่ในกลไกรัฐ"
ในสถานการณ์ปกติ พันธมิตรทางประวัติศาสตร์อย่างนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่มีทางทำได้โดยได้รับฉันทานุมัติและแรงสนับสนุนจากสังคมในระดับที่เข้มแข็งมากขนาดนี้.
ตัวอย่างของรัฐบาลชาติชายในปี ๒๕๓๑-๒๕๓๔ , รัฐบาลบรรหารในปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ และรัฐบาลชวลิตในปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ ยืนยันถึงความข้อนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจากมีอำนาจได้ไม่นาน ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนแต่ละฝ่ายก็ปรากฏออกมาให้เห็นเด่นชัด และมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำลายความน่าเชื่อถือและพลังทางการเมืองของรัฐบาลชุดต่างๆลง ไม่ต้องพูดถึงความเกลียดชังที่ประชาชนมีต่อรัฐมนตรีหลายต่อหลายรายในรัฐบาลเหล่านี้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ และตื้นๆ ว่าคนเหล่านี้เป็นพ่อค้านายทุน.
รัฐบาลทักษิณก้าวขึ้นมามีอำนาจท่ามกลางสถานการณ์พิเศษ และวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ ก็ทำให้เกิดสถานการณ์พิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทักษิณในปัจจุบันโดยไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะมองว่าเหตุการณ์ในปี ๒๕๔๐ เป็นวิกฤติจริงหรือไม่ แต่ในทางการเมืองนั้น ความเชื่อว่ามีวิกฤติก็เป็นเหตุให้รัฐบาลพลเรือนล้มลงไปแล้วถึง ๒ ราย และทำลายความน่าเชื่อถือของผู้นำทางการเมือง-เทคโนแครตทางการเงินไปไม่น้อยกว่า ๑๐ คน.
ถ้าถือว่าวิกฤติอยู่ที่ปัญหาค่าเงิน การลดลงอย่างรุนแรงของค่าเงินก็ทำให้กลุ่มทุนใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งเผชิญปัญหาถึงขั้นหายนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าถือว่าความผันผวนของค่าเงินมีรากฐานมาจากความอ่อนแอของการส่งออก การเกิดวิกฤติค่าเงินก็ยิ่งทำให้กลุ่มทุนส่งออกหลายต่อหลายรายประสบปัญหายุ่งยากวุ่นวายมากขึ้นไปอีก.
ทุนธนาคารขาดทุนจากการขายดอลลาร์, ทุนการเงินขาดทุนจากตลาดหุ้น, ทุนอุตสาหกรรมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน, ทุนเกษตรเผชิญปัญหาสินค้าราคาตก, ทุนพาณิชย์เผชิญปัญหาสภาพคล่อง ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวและการสะสมทุนอันเป็นกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่สุดของระบบทุนนิยม จะมีข้อยกเว้นบ้างก็แต่ทุนสื่อสาร, ทุนการเกษตรบางส่วน และทุนท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจนอกระบบเท่านั้น ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก หรืออย่างน้อยก็ไม่มากเท่ากับที่กลุ่มทุนอื่นๆ เผชิญ.
รัฐบาลทักษิณประสบความสำเร็จในการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทุนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ เพื่อสร้างพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่สุดในสังคมไทยในช่วงหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นต้นมา
ในทางเศรษฐกิจนั้น คนกลุ่มนั้นเป็นคนกลุ่มที่มั่งคั่งที่สุดในสังคมไทยอย่างไม่มีปัญหา แต่ในทางการเมือง มีปัญหาอีกเช่นกันว่าแล้วจะทำอย่างไรให้พันธมิตรทางการเมืองนี้ได้รับความสนับสนุนจากประชาชน และ "ไพร่" กลุ่มต่างๆ ดี.
ถึงจุดนี้เองที่อุดมการณ์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ.
ชาตินิยมของ
"ประชาชน"
ชาตินิยมเป็นขบวนการทางการเมืองที่ทรงพลัง ประวัติศาสตร์ของชาตินิยมนั้นทำให้เกิดการปลดแอกจากจักรวรรดินิยมในหลายๆ
ประเทศ และก็นำไปสู่การเฟื่องฟูของลัทธิฟัสซิสต์และเผด็จการขวาจัดในหลายกรณี
โดยตัวชาตินิยมเองจึงเป็นขบวนการทางการเมืองแบบไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางประวัติศาสตร์,
วัฒนธรรม และดุลกำลังทางเศรษฐกิจการเมืองของแต่ละประเทศในแต่ละห้วงเวลา.
ถึงชาตินิยมจะสัมพันธ์กับความคิดเรื่องชาติ แต่ชาตินิยมก็แตกต่างจากชาติในหลายสถาน ชาติเป็นมโนทัศน์ทางสังคมเพื่ออธิบายประวัติการรวมกลุ่มของมนุษย์ ชาติจึงเป็นเรื่องที่คลุมเครือและโต้เถียงได้มากว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จิตวิญญาณของชาติมีจริงหรือเปล่า ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา ฯลฯ ในขณะที่ชาตินิยมเป็นขบวนการทางการเมืองที่มุ่งสร้างความเป็นหนึ่งเดียวเหนือดินแดน ชาตินิยมจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ในแง่ที่เป็นปรากฎการณ์ทางการเมือง ซึ่งบ่อยครั้งก็หาผู้สร้างไม่ได้ เพราะเมื่อรู้ตัวอีกที ชาตินิยมก็แพร่หลายในหมู่ประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว.
ถ้าถือว่า"ป๊อปปูลิสม์" คือการเมืองแบบที่หากินกับความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน รัฐบาลแบบป๊อปปูลิสม์ก็คือ รัฐบาลที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความนิยมจากคนจำนวนมาก คนเหล่านี้มีความต้องการที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน แต่ด้วยการสร้าง "ลักษณะร่วม" บางอย่างขึ้นมา ปัจเจกบุคคลซึ่งเต็มไปด้วยความแยกแย้งและหลากหลายก็สามารถอยู่ร่วมในขบวนการเดียวกันได้ ไม่ว่าจะโดยอาศัยความรู้สึกเรื่องสีผิว, ขาติพันธุ์ , เชื้อชาติ, ชนชั้น, ความยากจน หรือศาสนา.
เชื่อกันว่าป๊อปปูลิสม์ต้องต่อต้านระบบ แต่คงจะถูกต้องกว่าหากจะพูดว่าผู้นำของขบวนการป๊อปปูลิสม์ต้องดูเหมือนกำลังต่อต้านระบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้น การต่อต้านนั้นไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความก้าวหน้า เพราะในหลายสังคม ป๊อปปูลิสม์นำไปสู่ปฏิกริยา.
ในนิยามอย่างกว้างๆ แบบนี้ รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลป๊อปปูลิสม์อย่างไม่มีปัญหา เพียงแต่ในขณะที่ป๊อปปูลิสม์ร่วมสมัยในละตินอเมริกามีลักษณะ "กึ่งชนชั้น" ซึ่งสร้างขึ้นมาจากปัญหาความยากจน ความเป็นป๊อปปูลิม์ของรัฐบาลชุดนี้กลับเปี่ยมล้นไปด้วยลักษณะตีขลุมเหมารวม, ปราศจากความเป็นชนชั้น, เป็นขบวนการจากบนลงล่าง และสร้างขึ้นจากความรู้สึกแบบชาตินิยม.
ในช่วงปลายรัฐบาลที่แล้ว ตลอดจนการหาเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนี้ "ขายชาติ" คือข้อกล่าวหาที่รัฐบาลชุดที่แล้วถูกหยิบยกมาโจมตีมากที่สุด ไม่ว่าการขายชาติจะมีจริงหรือไม่ และไม่ว่านัยยะของนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำ จะเป็นเรื่องของการ "ขายชาติ" จริงหรือเปล่า แต่ความรู้สึกว่าชาติกำลังถูกขายก็กลายเป็นเรื่องที่พบได้ในหมู่ประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะมีการศึกษามากน้อยขนาดไหนก็ตาม.
"ขายชาติ" เป็นความคิดที่วางอยู่บนวิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" ซึ่งเห็นว่าศัตรูและต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจการเมืองทุกอย่างในสังคมไทยมีที่มาจากศัตรูตัวร้ายที่อยู่ "ข้างนอก" ศัตรูนี้ทำลายสังคมไทยไม่ได้ ถ้าไม่มีฝ่ายที่ขายชาติซึ่งอยู่ "ข้างใน" ให้ความร่วมมือเอาไว้ และเพราะฉะนั้น ถึงจะเป็นฝ่ายที่อยู่ภายในสังคมไทยเหมือนๆ กัน แต่คนที่ขายชาติก็คือคนที่เป็น "ข้างนอก" มากกว่า "ข้างใน" และมีส่วนในบาปกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ต่างไปจากฝ่ายผู้ร้ายที่นั่งอยู่ "ข้างนอก".
วิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" จะเป็นจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความรับรู้ทางเศรษฐกิจการเมืองและอุดมการณ์ของผู้มองแต่ละคนเป็นรายๆ ไป แต่สิ่งที่เป็นความจริงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือแนวการมองแบบนี้ทำให้ "ข้างใน" เป็นสังคมที่กลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียว ปราศจากความแตกต่าง ไร้ซึ่งความขัดแย้ง มีความต้องการเหมือนกันไปหมดทุกเรื่อง และกระทั่งเปี่ยมล้นไปด้วยความปรองดอง รักใคร่ และสมานฉันท์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเพราะเราเป็นคนในชาติเดียวกัน.
ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ "ชาตินิยม" คืออาวุธทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ ความรู้สึกแบบชาตินิยมทำให้ "ไพร่" มองไม่เห็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่หลายต่อหลายเรื่องก็มีที่มาจากความไม่เท่าเทียมในสังคม ความรู้สึกแบบนี้ทำให้ "ไพร่" มองคนกลุ่มน้อยที่กุมความมั่งคั่งและทรัพย์สินจำนวนมหาศาลว่า คือผู้แทนที่จะเป็นปากเป็นเสียงและเป็น "อัศวินควายดำ" ที่จะนำพารัฐนาวาสยามกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์ได้อีกครั้ง และความรู้สึกแบบนี้เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้คนจำนวนมากเดินออกจากประตูบ้านไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา.
แนวคิด "วัฒนธรรมชุมชน" สอดคล้องกับความคิดเรื่องชาตินิยมแบบนี้ เพราะพื้นฐานของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนก็คือวิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" เพียงแต่ในขณะที่หน่วยในการคิดของชาตินิยมคือประเทศและรัฐอธิปไตย วัฒนธรรมชุมชนกลับเพ่งความสนใจไปที่หมู่บ้านที่เป็นอิสระจากพลังภายนอก และฉะนั้น แม้จะเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นโดยฝ่ายที่รักประชาชนมากขนาดไหน วัฒนธรรมชุมชนก็ไม่ได้ขัดแย้งหรือตั้งคำถามกับชาตินิยมในทางการเมือง -หรือวัฒนธรรม- อยู่ดี.
เมื่อถึงจุดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำทางความคิดและนักปฏิบัติหลายต่อหลายรายของกระแส "วัฒนธรรมชุมชน" จะขานรับ, เห็นด้วย, สนับสนุน หรือกระทั่งเข้าไปเป็นผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ให้แก่นโยบายชาตินิยมของรัฐบาลชุดนี้ และก็ไม่น่าประหลาดใจที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ "ปัญญาชนสาธารณะ" ของไทย จะร่วมมือและเป็นเรือพ่วงลำหนึ่งในพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ที่ผลักดันและค้ำยันรัฐบาลชุดนี้ต่อไป.
ทุนนิยมและประชาชน
นักคิดทางการเมืองจำนวนไม่น้อยรังเกียจการปกครองของผู้มีทรัพย์ นักปรัชญาเอเธนส์เชิดชูการปกครองของราชาปราชญ์
โรมันเน้นความสำคัญของกำลัง ยุคกลางยกย่องการปกครองของพระเจ้า รุสโซเห็นทรัพย์สินเป็นบ่อเกิดของความชั่วร้าย
และเมื่อมาถึงมาร์กซ์ รัฐก็กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุน ซึ่งหากจะสรุปโดยรวมอย่างกว้างๆ
แล้ว ก็คือทรรศนะที่เห็นว่าการปกครองโดยทรัพย์สินเป็นภยันตรายต่อคนส่วนใหญ่นั่นเอง.
โต้เถียงได้มากกว่าแนวการมองแบบนี้มีความถูกต้องขนาดไหน แต่ถ้าเชื่ออย่างที่นักคิดแนวโพสท์โมเดิร์นบางรายว่าไว้ แนวการมองเหล่านี้ก็มีลักษณะเป็นอภิปรัชญามากเกินไป และอะไรที่ลงเป็นอภิปรัชญาแล้ว ก็ยากจะไปโต้เถียงได้ หรือไม่อย่างนั้น ก็ไม่มีทางจะได้ข้อสรุปอะไรออกมา. ด้วยเหตุดังนี้ สิ่งที่นักคิดแนวโพสท์โมเดิร์นรายนี้เสนอก็คือแทนที่การมองอะไรต่อมิอะไรด้วยสายตาแบบอภิปรัชญา ก็ควรจะมองมันโดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะจุดเฉพาะพื้นที่เฉพาะเงื่อนไขเฉพาะเงื่อนเวลา เพื่อให้เข้าใจสรรพสิ่งต่างๆ อย่างเป็น "ปฏิบัตินิยม" ให้มากที่สุด.
รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลนายทุน ความข้อนี้ใครๆ ก็รู้ และผู้นำรัฐบาลก็ประกาศเรื่องนี้ไว้อย่างภาคภูมิใจ แต่นั่นหมายความว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำการกดขี่ขูดรีดประชาชนตามที่ทฤษฎีคลาสสิคว่าไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกดค่าแรง, ทำลายทรัพยากร, ขายเรือนร่างสตรี ฯลฯ หรือไม่.
คำตอบนี้ตอบได้ไม่ง่าย ซ้ำยังต้องอาศัยการประเมินที่มีทรรศนะทางประวัติศาสตร์แบบช่วงยาว แต่หากดูจากสถานการณ์เฉพาะหน้า รัฐบาลชุดนี้ก็ดูจะทำหลายสิ่งหลายอย่างที่หักล้างทฤษฎีการเมืองโบราณเหล่านั้น ซ้ำยังไปไกลถึงขั้นมีนโยบายหลายด้านที่มีลักษณะ "เพื่อคนจน" หรืออย่างที่ "ปัญญาชนสาธารณะ" คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งว่าไว้ รัฐบาลชุดนี้ทำเพื่อคนจนมากกว่ารัฐบาลทุกชุดที่เคยมีมา.
การเมืองไม่เคยเป็นเรื่องของจริยธรรม และการกำหนดนโยบายทางการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความดีในระดับเอกบุคคลของชนชั้นนำทางอำนาจ ยิ่งในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ด้วยแล้ว นโยบายสาธารณะต่างๆ จะต้องผ่านความเห็นชอบของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เป็นอันมาก และฉะนั้น ผู้นำจะดีหรือไม่ หรือ "เพื่อนพ้องน้องพี่" จะไปมีบทบาทในรัฐบาลแค่ไหน จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
ถ้าถือว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นการจัดพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชนชั้นนำกลุ่มที่เข้มแข็งและอยู่ในระดับยอดสุดของสังคมไทย เพื่อตอบโต้กับวิกฤติการณ์ในด้านต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสะสมทุนจากตลาดทุน, ตลาดเงิน และภาคส่งออกในระดับโลก โดยอาศัยความคิดเรื่องชาตินิยมและวิธีคิดแบบ "ข้างนอก vs ข้างใน" มาเป็นพื้นฐานในการระดมความสนับสนุนทางการเมืองจากประชาชนในระดับรอบนอก ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจแบบป๊อปปูลิสม์บางจุด.
คำถามก็คือการสะสมทุนของพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากสถานการณ์อื่นๆ อย่างไร.
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของทุนนิยมไทยเดินมาถึงขั้นตอนที่ค้นพบว่าการสะสมทุนโดยอาศัยปัจจัยภายนอกล้วนๆ นั้น ไม่มั่นคงและไม่หนักแน่นมากพอจะทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นได้โดยง่าย ระบบโลกาภิวัฒน์สมัยใหม่นั้นมีโครงสร้างที่ตายตัว ส่วนช่องว่างระหว่างประเทศศูนย์กลาง-ชายขอบ นั้นก็แข็งทื่อมากกว่าที่เคยคาดคิด การแข่งขันกับทุนข้ามชาติไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆตามความเข้าใจเมื่อกลางทศวรรษที่แล้วอีกต่อไป และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา มีแต่กลุ่มทุนฝ่ายที่มีตลาดภายในประเทศอย่างเข้มแข็งเท่านั้นที่ประคองตัวมาได้จวบจนปัจจุบัน.
"ตลาดภายใน" กลายเป็นมโนทัศน์ใหม่ที่ชนชั้นนำในปัจจุบันปรารถนา ทั้งๆ ที่ก็คือคนกลุ่มเดียวกันนี้เองที่ในอดีตนั้นมองว่าความคิดเรื่อง "ตลาดภายใน" นั้นทั้งเหลวไหลและเป็นไปไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมายังวางอยู่บนการทำลายตลาดภายใน เพื่อสร้างจุดขายในสายตานักลงทุนต่างประเทศ ในรูปของนโยบายค่าแรงต่ำ สินค้าภาคเกษตรราคาถูก และการเซ็งลี้ทรัพยากรส่วนรวม.
เมื่อถึงจุดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ จะได้แก่การกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับหน่วยทางการเมืองขั้นพื้นฐานอย่างหมู่บ้านและตำบล ไม่ว่าจะในรูปของกองทุนหมู่บ้าน หรือ ๑ หมู่บ้าน ๑ ผลิตภัณฑ์ และไม่ต้องแปลกใจอีกเช่นกันที่ คำขวัญทางเศรษฐกิจที่โด่งดังที่สุดในสังคมไทยในห้วงเวลานี้ จะได้แก่คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เพราะมีแต่การสร้างฐานทางเศรษฐกิจให้ขยายลงไปในหมู่ประชาชนเท่านั้น ที่จะแปร "ประชาชน" เป็น "ผู้บริโภค" ที่มีกำลังซื้อในขั้นตอนทางประวัติศาสตร์นี้ได้.
ทฤษฎีการเมืองแนวคลาสสิคไม่เชื่อในการปกครองของผู้มีทรัพย์ แต่พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมทำให้ชนชั้นนำจำเป็นต้อง "แปร" ประชาชน เป็น "ผู้บริโภค" ด้วยการสร้าง "ตลาดภายใน" และเพราะเหตุนี้ วิกฤติเศรษฐกิจจึงทำให้ประชาชนกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญขึ้นมาอีกครั้ง.
การเมืองแบบอนุรักษ์นิยม
ในกรณีของสังคมไทย วัฒนธรรมชุมชนและชาตินิยมแนวป๊อปปูลิสม์ดูเป็นเรื่องที่ "ซ้าย"
แต่นั่นเป็นเพราะสังคมไทยเองมีความเป็นขวามากเกินไป จนสูญเสียความสามารถในการแยกแยะภาพลักษณ์กับข้อเท็จจริง
ซึ่งแตกต่างจากในหลายสังคม ที่วัฒนธรรมชุมชนและชาตินิยมแนวป๊อปปูลิสม์เป็นฐานทางการเมืองที่สำคัญที่สุดสำหรับความคิดทางการเมืองแบบ
"ขวา" หรือความคิดแบบอนุรักษ์นิยม.
อนุรักษ์นิยมไทยคืออะไร ? อนุรักษ์นิยมไทยแตกต่างจากอนุรักษ์นิยมอื่นๆ ตรงไหน? คำตอบนี้ยากเกินกว่าจะตอบในบทความขนาดสั้นๆ นี้ได้ แต่หากสังเกตปรากฎการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ลอยกรุ่นอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัยให้ถี่ถ้วน ก็จะเห็นได้ไม่ยากที่ความเปลี่ยนแปลงที่แปลกประหลาดและน่าวิตกหลายประการ.
ชาตินิยมและวัฒนธรรมชุมชนสัมพันธ์กับการสร้างมายาคติว่าด้วยอดีตอันยิ่งใหญ่ หรือไม่อย่างนั้นก็คืออดีตอันอ่อนหวาน อบอุ่น มีสันติสุข และปราศจากภยันตราย อดีตนี้มีจริงหรือไม่นั้นไม่มีใครทราบ แต่การสร้างอดีตแบบนี้กำลังเป็นปรากฎการณ์ที่แพร่สะพัดราวกับโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรอบ ๔-๕ ปีนี้เป็นต้นมา.
ชาติอันยิ่งใหญ่ถูกทำลายไม่ได้ แต่อาจอ่อนแอได้จากการคุกคามของภายนอก มายาคติของชาติอันยิ่งใหญ่เรียกร้องให้ไพร่ทุกฝ่ายรวมใจเป็นหนึ่งเดียว และภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวนั้น ผู้นำที่เข้มแข็ง มีความสามารถ ฉลาด เปี่ยมไปด้วยปรีชาญาณ รักชาติด้วยใจเที่ยงแท้บริสุทธิ์ คือปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับการฟื้นชาติอันยิ่งใหญ่ให้กลับคืนมาอีกครั้ง.
ถ้าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของฝูงชน อุดมคติเรื่องชาติอันยิ่งใหญ่ก็คืออุดมคติที่มองหาผู้นำที่เต็มไปด้วยบารมี ชาติที่ยิ่งใหญ่เรียกร้องผู้นำที่ยิ่งใหญ่ และผู้นำที่ยิ่งใหญ่ก็เรียกร้องความสนับสนุนจากประชาชนในสัดส่วนที่ยิ่งใหญ่ตามขึ้นไปด้วย.
ภายใต้อุดมคติทางการเมืองทั้งหมดนี้ ผู้นำกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับสังคมการเมืองไทย และด้วยเหตุเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คำถามเรื่ององค์อธิปัตย์ไม่เคยเป็นคำถามสำคัญในสังคมการเมืองไทย ไม่แม้กระทั่งในแวดวงปัญญาชนสาธารณะแบบไทยๆ.
ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าว
การเมืองใหม่ฉบับว่าด้วยรัฐธรรมนูญ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 กันยายน-ตุลาคม 2544 หน้า
7-12
และสามารถดูบทความอื่นๆ ซึ่งตีพิมพ์ในวาระโอกาสเดียวกันได้ที่ www.2516.org
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
ถ้าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของฝูงชน
อุดมคติเรื่องชาติอันยิ่งใหญ่ก็คือ อุดมคติที่มองหาผู้นำที่เต็มไปด้วยบารมี ชาติที่ยิ่งใหญ่เรียกร้องผู้นำที่ยิ่งใหญ่
และผู้นำที่ยิ่งใหญ่ก็เรียกร้องความสนับสนุน จากประชาชนในสัดส่วนที่
ยิ่งใหญ่ตามขึ้นไปด้วย.
ภายใต้อุดมคติทางการเมืองทั้งหมดนี้
ผู้นำกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับสังคมการเมืองไทย และด้วยเหตุเช่นนี้
จึงไม่น่าแปลกใจที่คำถามเรื่ององค์อธิปัตย์ ไม่เคยเป็นคำถามสำคัญในสังคมการเมืองไทย
ไม่แม้กระทั่ง
ในแวดวงปัญญาชนสาธารณะแบบไทยๆ.
(ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)
ปี ๒๕๔๔ เป็นปีที่การเมืองไทยเต็มไปด้วยปรากฎการณ์อันน่าแปลกประหลาดและมหัศจรรย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ในระดับผิวหน้าสุด ปี ๒๕๔๔ คือปีที่ประชาชนไทยออกมาใช้สิทธิลงคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งมากเป็นประวัติการณ์ คือปีซึ่งมีรัฐบาลที่มีจำนวนเสียงสนับสนุนในสภามากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คือปีที่นายกรัฐมนตรีเผชิญปัญหาความชอบธรรมทางอำนาจตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญใหม่ และคือปีที่พลังประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายออกมาโต้เถียงและวิวาทะในประเด็นสาธารณะใหญ่ๆ ว่าจะทำอย่างไรกับเศรษฐกิจการเมืองไทยดี.
ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองนั้น ปี ๒๕๔๔ เป็นปีที่ความรุนแรงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ กำลังจะผ่านไปได้ ๒๕ ปี , เป็นปีที่การต่อต้านเผด็จการเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ กำลังจะมีอายุครบ ๑ ทศวรรษ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นปีที่รัฐธรรมนูญใหม่อันเป็นผลจากการปฏิรูปการเมืองจะปรากฎกายมาได้ครบ ๑ ปี พอดิบพอดี.
เหตุการณ์ทั้ง ๓ เหตุการณ์ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเมืองไทยอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ดี การประเมินเหตุการณ์เหล่านี้ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อการเมืองไทย ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับมุมมองทางประวัติศาสตร์และแนวการมองความเคลื่อนไหวทางสังคมของแต่ละคน
ในระดับที่เป็นปรากฎการณ์ทางสังคม ปี พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นปีที่ทั้ง ๓ เหตุการณ์นี้ก็มีชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ผ่านไปโดยที่ยังนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีไม่ได้ เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครจดจำอีกต่อไป ส่วนหลักการต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลกขบขันไปเรียบร้อย ไม่ว่าจะโดยการทำงานขององค์กรอิสระ หรือโดยความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองยุคปฏิรูปการเมืองเองก็ตาม.
พูดโดยรวมแล้วก็คือในปี
๒๕๔๔ ทั้ง ๓ เหตุการณ์นี้กลายเป็นเรื่องที่
ไม่มีความหมายต่อการเมืองในปัจจุบันอีกต่อไป.