ชั้นเรียนพลังงานของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน "พลังงานกับงานที่มีพลัง" ครั้งที่สามเรื่อง "พลังงานทางเลือก" บรรยายโดย เดชรัตน์ สุขกำเนิด และ ชัยพันธ์ ประภาสวัติ

ในต่างประเทศ หลังจากที่เขากำหนดเป้าหมายแล้วว่าสังคมเขาจะเป็นอย่างนี้ พลังงานเขาจะต้องเป็นแบบนี้ การผลิตพลังงานของเขาจะต้องมีลักษณะแบบนี้ เขาเลิกกระบวนการ Forecasting แต่เขาทำ backcasting.

Forecasting คืออะไร? ก็คือการพยายามทำนายหรือ predict หรือประมาณการณ์ว่าคนจะใช้เท่าไหร่ แล้วเราก็จะหาทางที่จะไปสนับสนุนปริมาณความต้องการใช้ให้ได้เพียงพอ และเราก็จะถามต่อไปว่าอะไรมันถูกที่สุดในการที่จะไปสนับสนุน มันก็จะออกมาเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นพลังงานรูปแบบเดิมๆ พลังงานรูปแบบใหม่มันไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ ภายใต้กระบวนการคิดแบบ forecasting ซึ่งบางคนก็เรียกว่า predict and provide ก็คือทำนายแล้วก็ไปจัดหาให้

H
home
release date
200445
QUOTATION

backcasting ก็คือ กำหนดเป้าหมายก่อนที่เราต้องการ เช่น 50 ปีข้างหน้าจะไม่มีแล้ว พลังงานที่ใช้เชื้อ
เพลิงฟอสซิล แต่จะหันมาเป็นพลังงานทางเลือกทั้งหมด เขาก็คิดเลยว่าแล้วจะทำอะไรล่ะใน 50 ปีนี้? เพื่อที่จะไปบรรลุถึงเป้าหมายที่จะให้เป็นในตอนนั้น

โธมัส เอดิสัน ผู้ที่ค้นพบหลอดไฟที่ให้แสงสว่าง เคยมีการพยากรณ์ไว้แล้วตั้งแต่สมัยที่เขามีชีวิตอยู่ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีพลังงานมันจะกลายเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในแต่ละบ้าน คนทุกคนจะมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอยู่ในบ้านของตัวเอง และเป็นแหล่งพลังงานซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด

พลังงานทางเลือกมันไม่ได้ถูกเลือกด้วยเหตุผลทางเทคนิค หรือด้วยเหตุผลทางธุรกิจ แต่มันถูกเลือกด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับระบบคิดทั้งหมด หรือภูมิปัญญาทั้งหมดในการจัดการพลังงาน และการจัดการระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษย์, พลังงาน, และธรรมชาติ

เดชรัตน์ สุขกำเนิด (คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ)

R
relate
ภาพประกอบดัดแปลง จากผลงานของ Craig Simpson เทคนิคสีน้ำและดินสอสี จากหนังสือ ILLUSTRATION : Thirty-Three และภาพจากนิตยสาร Time : October 16, 2000 จากเรื่อง An Android's Best Friend (ใช้เพื่อประกอบบทความพลังงานทางเลือก)
เผยแพร่ครั้งแรก วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2545

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ชัชวาล ปุญปัน : สวัสดีครับ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและท่านผู้สนใจทุกท่าน กระบวนวิชา"พลังงานกับงานที่มีพลัง"ชั่วโมงนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่เราพูดกันมาถึงเรื่องพลังงาน โดยเรื่องแรกเราได้พูดคุยกันถึงเรื่อง"พลังงานและวิกฤต"ว่าความหมายของพลังงานมันเป็นอย่างไร แล้วมันเกิดวิกฤตขึ้นได้อย่างไร,

ในครั้งที่สอง คุณวิทูร เพิ่มพงศาเจริญ ได้มาเล่าให้เราฟังถึงพลังงานกับเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เพื่อชี้ชวนให้เรามองเห็นภาพว่า พลังงานมันมีมิติทางด้านอื่นๆซึ่งมันสลับซับซ้อนอย่างไรบ้าง อำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจที่แทรกเข้ามาในเรื่องเกี่ยวกับพลังงานอย่างไร

ในครั้งที่สามนี้ เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่อง"ทางเลือกของพลังงาน"

หัวข้อของชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีนัยะสำคัญอย่างหนึ่งคือ เราพูดถึง"พลังงานกับงานที่มีพลัง" แสดงว่ามันมีอะไรบางอย่างที่"งานที่มีพลัง"มันมาทั้งมิติของเรื่องพลังงานและอาจจะไม่ใช่เรื่องของพลังงานเพียงภาพที่เราพบเท่านั้น งานที่มีพลังมันมีมิติของความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย ในสัปดาห์นี้ "ทางเลือกของพลังงาน" โดย อ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ท่านได้ทำงานวิจัยสำคัญเรื่องหนึ่งคือเรื่อง"การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ" เพราะในขณะที่เราได้มีการสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมาตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เรามักจะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเมินผลกระทบทางสังคม แต่ อ.เดชรัตน์ ท่านได้เสนอการประเมินผลกระทบสุขภาพเข้ามาอีกมิติหนึ่งด้วย

ส่วนวิทยากรอีกท่านหนึ่งคือ อ.ชัยพันธ์ ประภาสวัติ ตอนนี้ท่านยังเดินทางมาไม่ถึง ดังนั้นผมจึงจะยังไม่แนะนำวิทยากรท่านนี้ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาของทุกท่าน ผมขอเชิญอาจารย์เดชรัตน์เริ่มเลยครับ

เดชรัตน์ สุขกำเนิด : ที่ผมเตรียมมาวันนี้เป็นเรื่อง"พลังงานทางเลือก"อาจจะฟังดูสับกันนิดหน่อย ซึ่งทุกท่านคงพอจะนึกภาพได้ว่าหมายถึงอะไรได้บ้าง ผมจะขอแบ่งการบรรยายของผมออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน และการบรรยายครั้งนี้จะไม่เน้นเทคนิคทางด้านพลังงานมากนัก

ส่วนที่หนึ่งที่ผมจะพูดในหัวข้อ"พลังงานทางเลือก"ก็คือ "ทำไมต้องเลือก?"หรือ"ทำไมควรจะเลือก?" อันนี้เราจะมาตกลงกันสักนิดหนึ่งก่อนว่าเรากำลังพูดถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วยเหตุผลอะไร

ส่วนที่สองก็คือ "ทำไมมันถึงไม่ถูกเลือก?" ซึ่งตรงนี้ต้องการจะเน้นเป็นพิเศษสำหรับวันนี้ และ

ส่วนที่สาม คงจะเกริ่นเล็กน้อยและเชิญชวนให้พูดคุยกันในประเด็นนี้มากหน่อยก็คือ "ทำอย่างไรจึงจะถูกเลือก?"

ดังนั้นสามส่วนนี้คือ ทำไมต้องเลือก?, ทำไมมันถึงไม่ถูกเลือก?, และทำอย่างไรจึงจะได้รับการเลือก? ในอนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม

พลังงานทางเลือก คงทราบดีว่า เรากำลังพูดถึงหรือหมายความถึง รูปแบบพลังงานที่ไม่ใช่กระแสหลัก รูปแบบของพลังงานเหล่านี้ มีขึ้นมาเพื่อต้องการที่จะสร้างพลังงานที่สะอาด เป็นพลังงานประเภทที่ใช้แล้วไม่หมดไป แล้วก็ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากนัก นอกจากนั้นพลังงานทางเลือกยังเป็นรูปแบบของพลังงานที่หวังว่าจะสร้างผลดีทางสังคมเช่น กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน มีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น มีการใช้เทคโนโลยีในท้องถิ่น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่เราหวังว่าจะให้มีเกิดขึ้นมาในการทำพลังงานทางเลือก

รูปแบบของพลังงานทางเลือกที่กล่าวถึงกันอยู่ ปัจจุบันมีแสงอาทิตย์เป็นตัวหลัก แล้วก็มีพลังานรูปแบบอื่นๆอีกเช่น ลม น้ำ พลังานชีวมวล. ในด้านของพลังงานแสงอาทิตย์นั้น รูปแบบของการใช้เราก็พอทราบว่ามันมีอยู่ 2 ทางใหญ่ๆ ทางแรกก็คือใช้เป็นแหล่งความร้อน เช่น เอามาต้มน้ำได้ เอามาอบแห้งได้ แต่เดิมชาวบ้านก็นำเอามาใช้ในเรื่องการอบแห้งด้วยพลังแสงอาทิตย์ ต่อมาได้มีการนำเอาแก๊สเข้ามา นำเอาไฟฟ้าเข้ามา สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาว่าต้องไปสร้างโรงไฟฟ้าและต้องเสียต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก

เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับการอบลดความชื้นข้าวในภาคกลาง เดี๋ยวนี้เขาใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวทำให้ความชื้นมันสูง เวลาไปสีมันก็หัก ราคาก็ต่ำ ชาวบ้านก็ถูกกดราคาในเรื่องคุณภาพข้าว เขาพบว่าวิธีที่จะอบลดความชื้นข้าวได้ดีที่สุดและกำไรถึงมือเกษตรกรมากที่สุดก็คือใช้แสงอาทิตย์ ถ้าเกิดว่าไปใช้เครื่องอบลดความชื้นซึ่งรัฐบาลไปสร้างให้ กำไรทั้งหมดก็จะตกอยู่กับโรงสี เพราะว่าโรงสีเป็นผู้ครอบครองเครื่องอบลดความชื้น ไม่ใช่ชาวนา เพราะฉะนั้น แม้ว่าโดยรวมข้าวจากประเทศไทยจะมีความชื้นลดลง มีคุณภาพดีขึ้น แต่ว่าผลประโยชน์ ผลตอบแทนไม่ได้ไปตกอยู่ที่เกษตรกร เพราะฉะนั้น มิติของพลังงานทางเลือกมันจะเกี่ยวกับการครอบครองและการควบคุมในลักษณะอย่างนี้ด้วย

รูปแบบที่สองของพลังงานแสงอาทิตย์ก็คือ การนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า

รูปแบบต่อมาของพลังงงานทางเลือกก็คือเรื่องลม ซึ่งเรารู้จักกันดีก็คือ การใช้กังหันลมนำมาทำเป็นพลังงานกล หรือนำมาทำเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่เดิมก็เน้นเป็นพลังงานกล ต่อมาประเทศในกลุ่มยุโรปนำโดยเดนมาร์ก เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ แล้วตอนหลังก็สหรัฐอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จในการแปลงพลังงานลมให้เป็นพลังงานไฟฟ้า. อย่างกรณีของประเทศเดนมาร์กนี้ สามารถแปลงได้แล้วประมาณ 10% ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แล้วคาดหมายว่าจะพยายามทำพลังงานทดแทนทุกรูปแบบให้หมด คือไม่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนอีกภายในระยะเวลา 50 ปีจากนี้

นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องน้ำ พลังงานน้ำมีการถกเถียงกันมาก เพราะว่าพลังงานน้ำขนาดใหญ่ไม่ถือว่าเป็นพลังงานทางเลือก เพราะว่ามีการใช้กันอยู่โดยทั่วไปอยู่แล้ว ส่วนพลังงานน้ำขนาดเล็ก ก็มีการเถียงกันอีกว่า เล็กขนาดไหนถึงจะเรียกว่าเป็นพลังงานทางเลือก สุดท้ายตอนนี้ที่ตกลงกันอยู่ก็คือว่า เล็กขนาดที่ไม่ต้องไปสร้างอะไรกั้นขวางลำน้ำ ถึงจะเรียกว่าพลังงานทางเลือก เพราะถ้านำอะไรไปกั้นขวางลำน้ำ หากไม่คิดให้ดีก็จะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยาของลำน้ำไป อันนี้ผมเข้าใจว่าคงจะไม่ได้หมายรวมถึงการกั้นขวางลำน้ำขนาดเล็กเหมือนระบบเหมืองฝายที่เขาทำกัน แต่น่าจะเป็นการกั้นในลักษณะซึ่งเป็นการถาวร แล้วก็มีผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาโดยกว้าง

ผมไปพบที่เดนมาร์กและมีหลายคนซึ่งเคยไปเนปาลเล่าให้ฟังว่า เครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าจากน้ำขนาดเล็ก ปัจจุบันมีขนาดเล็กเท่ากล่องกระดาษขนาดเล็ก(กล่องเบียร์) ก็สามารถใช้ supply ได้ในครอบครัว ก็จะมีการทำลักษณะเล็กๆอย่างนี้ทั่วไป

สุดท้ายก็คือพลังงานชีวมวล ก็คือนำมวลของสิ่งมีชีวิตมาทำเป็นพลังงาน ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบคือ หนึ่งก็เอามาเผาไหม้โดยตรง เอาแกลบ เอาชานอ้อยมาเผาไหม้ก็ได้เป็นความร้อนออกมา แล้วก็นำเอาความร้อนนี้ไปผลิตไอน้ำ แล้วก็นำไปปั่นกังหันไฟฟ้าเพื่อทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า อันนี้ก็เป็นการเผาไหม้โดยตรง ชาวบ้านสมัยก่อนก็ใช้การเผาไหม้โดยตรงในการทำฟืน ทำถ่าน แล้วนำมาใช้เป็นพลังงาน

ส่วนที่สองก็คือ นำมาทำเป็นแก๊ส โดยการนำเอาเศษเหลือต่างๆมาหมักเพื่อให้เกิดแก๊สชีวภาพ แล้วก็เอาแก๊สชีวภาพไปทำให้เป็นพลังงาน

ส่วนที่สาม เราก็นำมาทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการนำน้ำมันจากชีวภาพทั้งหลายมาสกัด เช่น จากพืชมาสกัดน้ำมัน แล้วนำไปเป็นพลังงาน

นอกจากนั้นก็ยังมีพลังงานทางเลือกอย่างอื่นๆอีก ในเมืองไทยก็มีบ้างแต่มีศักยภาพไม่มากนัก เช่นพลังงานความร้อนจากใต้พิภพ หรือพลังงานคลื่น พลังน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งมีศักยภาพไม่มากนัก

ผมแนะนำไปแล้วเรื่องเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ต่อจากนี้ผมขอเข้าสู่ประเด็นที่ว่า ทำไมเราถึงต้องเลือกพลังงานทางเลือก? คำตอบง่ายๆแบบกำปั้นทุบดินก็คือ เพราะพลังงานกระแสหลักกำลังมีปัญหา มีวิกฤต ซึ่งเข้าใจว่าชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้พูดกันไปแล้วว่าวิกฤตอย่างไร? แต่ผมจะขออนุญาตพูดซ้ำในเชิงภาพใหญ่ว่า ทำไมมันถึงมีวิกฤต

ที่มันมีวิกฤตก็เพราะ ผมเข้าใจว่าความหมายของพลังงานเปลี่ยนไป แล้วก็แคบลง. พลังงานมันถูกทำให้เป็น commoditization หรือการทำให้มันเป็นสินค้าตัวหนึ่ง แล้วพวกเราก็ถูกทำให้รู้สึกเป็นผู้บริโภคพลังงานอย่างหนึ่ง เรารู้สึกว่าเวลามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน เราจะพูดในฐานะผู้บริโภค หรือไม่เช่นนั้น การไฟฟ้าจะพูดในฐานะผู้ผลิต หรือรัฐบาลจะพูดในฐานะผู้ผลิต แต่จริงๆพลังงานมันมีความหมายกว้างกว่านั้น

ถ้าเกิดเราดูกันตั้งแต่เดิม พลังงานมันมีความหมายที่กว้างขวาง และมีผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติมาก

พลังงาน ถ้าแปลความหมายทางฟิสิกส์ ก็คือความสามารถในการทำงาน ดังนั้นมันจึงไม่ใช่สินค้า แต่คือความสามารถที่เราจะไปทำงานได้ ถ้าใครอยู่ทางด้านฟิสิกส์ก็บอกว่า "งาน = แรง X ระยะทาง" หรือถ้าในทางไฟฟ้าก็จะบอกว่า "กำลัง X ระยะเวลา" ก็เรื่องเดียวกันคือเรื่องของความสามารถที่เรามีในการที่จะไปทำงานนั้น เราเรียกว่าพลังงาน

แต่เดิมนั้น มนุษย์จะเกี่ยวพันกับพลังงานบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในแต่ละแหล่ง บวกกับภูมิปัญญาของมนุษย์ในการที่จะเอาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้เป็นแหล่งพลังงานของตนเอง การขนย้ายพลังงานขนาดใหญ่ๆเป็นไปได้น้อยมาก ขนย้ายก็คือเก็บฟืนนำมาไว้ที่บ้าน ถ่านหินก็มีพบบ้างในประเทศจีน แต่ก็ไม่ได้มีการขนกันไกล ก็ใช้กันเล็กน้อยภายในพื้นที่เท่านั้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ มันเป็นการบอกหรือเตือนมนุษย์ว่า คุณจะมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อ คุณดูแลธรรมชาติและดูแลภูมิปัญญาของคุณให้มันสามารถใช้ได้ภายในขอบเขตบริเวณที่ธรรมชาติให้มา หรือว่าธรรมชาติมีอยู่นั่นเอง

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก เพราะสมมุติว่ามันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็หมายความว่าปัญหาความขัดแย้งหรือการกระทบกระทั่ง ระหว่างคนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบ กับคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อว่าตนเองจะได้รับผลประโยชน์ มันจะไม่มีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ปัญหามันเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มค้นพบพลังงานจากทรากดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่าฟอสซิล เพราะการค้นพบพลังฟอสซิล มันกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยกับพลังงานโดยสิ้นเชิงเลย เพราะคราวนี้เราสามารถที่จะขนเชื้อเพลิงฟอสซิลจากแหล่งหนึ่งไปใช้ยังอีกแหล่งหนึ่ง แล้วมันไม่สัมพันธ์กับพื้นที่ที่มีอยู่ เรามีความรู้สึกเหมือนกับว่าเรามีความสามารถที่จะใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่จำกัดแล้วตอนนี้

มนุษย์ในช่วงหนึ่งตอนต้น เราคิดว่าเราหมดขีดจำกัดแล้วในเรื่องพลังงาน ตอนนี้เราสามารถที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมของเราได้เต็มที่ มนุษย์ในซีกโลกตะวันตกช่วงแรกคิดอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้น มันก็เกิดเป็นปัญหาหาเกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า จะเกิดปัญหาขึ้น 2 ประการ

ประการแรกคือ ในที่สุดแล้วโลกก็ยังมีขีดจำกัดอยู่ดี ทีแรกเราคิดว่าโลกไม่มีขีดจำกัดแล้วในเรื่องพลังงาน และขีดจำกัดนี้น่าสนใจคือ แต่เดิมเรามองเห็นขีดจำกัดในแง่ของทรัพยากร คำว่าในแง่ของทรัพยากรหมายถึง เราจะใช้พลังงานได้มากน้อยแค่ไหน มันก็ขึ้นอยู่กับแหล่งทรัพยากรที่เรามี แต่ปัจจุบันนี้โลกกำลังพบขีดจำกัดในฐานะของการเป็นแหล่งรองรับของเสีย คือเมื่อมันมีการใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดิน

หลายคนบอกว่าพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงซ่อนไว้แล้ว หลายคนบอกว่าดูไม่ยากเลยระหว่าง"พลังงานทางเลือก"กับ"พลังงานฟอสซิล" อันนี้ดูไม่ยากเลย คือสิ่งไหนที่พระผู้เป็นเจ้าทำให้เราเห็นง่ายๆ นั่นแหละคือสิ่งที่พระองค์ให้เราเลือกใช้ แต่มนุษยนี่ซุกซนเอง อุตส่าห์ไปเอาพลังงานที่พระองค์ซ่อนเอาไว้ใต้ดิน ดันไปขุดขึ้นมา เมื่อเราไปขุดเอาฟอสซิลขึ้นมาเผาไหม้ มันก็จะเกิดเป็นคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ขึ้น แล้วคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เหล่านี้มันไม่ได้หายไปไหน มันก็สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก โดยที่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่านี่ก็เป็นขีดจำกัดอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ ขีดจำกัดในการรองรับของเสียของโลก

ประการที่สอง เมื่อโลกรองรับของเสียไม่ได้ พูดง่ายๆคือมีของเสียมากเกินไป ก็เกิดภาวะโลกร้อน เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ทำให้อณุหภูมิสูงขึ้นอย่างมากภายในชั่วระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ความเข้มข้นของคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในโลกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ซึ่งเรียกว่า extream event หรือเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดขีด ไม่ว่าจะเป็นแล้งสุดขีด น้ำท่วมสุดขีด ฝนตกหนักสุดขีด เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากตามที่มีการเก็บสถิติ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเขายืนยันแล้วว่า มันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก

เพราะฉะนั้น ตอนแรกที่เราคิดว่าถ้าเราเอาเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามา มนุษย์จะไม่ถูกจำกัดแล้วจากธรรมชาติหรือจากโลก ที่จริงมันไม่ใช่ เพราะมนุษย์กลับไปถูกจำกัดอีกแบบหนึ่ง นอกจากนั้นในระบบนิเวศแต่ละระบบ มันก็เกิดขีดจำกัดของมันเองด้วย เช่น เราไปสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ มันก็ไปกระทบกับระบบนิเวศ ระบบนิเวศก็ปรับตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ระบบนิเวศเหล่านั้นก็ถูกทำลายไป เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก และเมื่อระบบนิเวศแต่ละท้องถิ่นถูกทำลาย ในขณะเดียวกันพลังงานกกระแสหลักที่เราใช้กันอยู่ มันเป็นการนำพลังงานที่หนึ่งมาผลิตอีกที่หนึ่ง สร้างปัญหาในที่หนึ่งแล้วส่งไปใช้อีกที่หนึ่งได้ ซึ่งแต่ก่อนไม่มี

แต่ก่อนใครจะใช้ อยู่ที่ไหนก็ต้องดูแลตรงนั้น ต้องไม่ให้ทรัพยากรของตัวเองเสียไป ถ้าตัดไม้มาเยอะอนาคตของตัวเองก็จะไม่มีไม้ใช้ในการที่จะทำเป็นแหล่งพลังงาน เพราะทั้งหมดมันผูกพันกัน แต่เดี๋ยวนี้การผูกพันกันมันไม่ใช่แล้ว มันเป็นความสัมพันธ์ในแบบที่เป็นความขัดแย้ง เพราะ ณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งใช้พลังงานมาก อาจจะไปผลิตพลังงานอีกที่หนึ่ง อาจจะไปสร้างผลกระทบกับอีกที่หนึ่งก็ได้ การใช้และการจัดหาพลังงานก็เลยนำมาสู่ความขัดแย้ง เหมือนที่เราพบในกรณีบ่อนอก และในกรณีบ้านกรูด

เพราะคนตรงนั้นไม่ใช่เป็นคนที่จะใช้พลังงาน คนตรงนั้นกลับเป็นผู้ซึ่งจะต้องได้รับผลกระทบจากแหล่งพลังงาน ในขณะที่คนกรุงเทพฯ เป็นคนที่จะใช้พลังงาน แล้วเราก็มาถกเถียงกันว่าจะมีความมั่นคงทางด้านพลังงานสำหรับคนกรุงเทพฯ หรือแหล่งอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหน

หลายคนบอกว่าแล้ว จ.ประจวบฯไม่ใช้พลังงานหรือ ประจวบฯใช้พลังงานประมาณ 100 เมกกาวัตต์ แต่โรงไฟฟ้า 2 โรงที่จะสร้างที่บ่อนอกและบ้านกรูดรวมกันแล้ว ประมาณ 2100 เมกกาวัตต์ เพราะฉะนั้น มันจึงกลายเป็นปัญหาเกิดขึ้นในระบบพลังงานกระแสหลัก ถ้าเราปล่อยไว้อย่างนี้การพัฒนาพลังงานกระแสหลักจะก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องไม่รู้จบ ทั้งในระบบโลกซึ่งต้องแบกรับภาระของเสียในการใช้พลังงานแบบนี้ไม่ไหว ทั้งในระดับท้องถิ่นของแต่ละท้องถิ่นก็รองรับไม่ไหว แล้วในที่สุด ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ของสิ่งแวดล้อม ในแง่ของสังคม

นอกจากนี้การที่เราไปพึ่งพิงอยู่กับทรัพยากรฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป เราจะเกิดความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจ อันนี้เรายังไม่รวมว่าแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยประเทศมหาอำนาจเพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจการเมือง แล้วก็ถูกคุมโดยบริษัทใหญ่ๆไม่กี่บริษัท ซึ่งก็เป็นปัญหาเศรษฐกิจการเมือง เพราะฉะนั้นถ้าเราพัฒนาพลังงานกระแสหลัก หรือเราผูกพันกับรูปแบบพลังงานกระแสหลักต่อไป ความไม่ยั่งยืนมันจะเกิดขึ้นทั้งทางสิ่งแวดล้อม ทางสังคม แล้วก็ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ผมอยากจะย้ำในทางเศรษฐกิจสักนิด เพราะคนชอบถามว่า น้ำมันจะหมดไปจากโลกเมื่อไหร่? จริงๆแล้วในทางเศรษฐศาสตร์ไม่มีใครคิดอย่างนั้น เพราะว่ามันไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงน้ำมันหมดหรอก แค่เพียงมันผลิตมากที่สุดจนถึงขีดสูงสุด แล้วหลังจากนั้นมันผลิตได้น้อยลง อันนี้ยังไม่หมดนะ แต่มันผลิตได้น้อยลงเท่านั้น ราคามันก็เพิ่มสูงขึ้นแล้ว เท่านั้นแหละราคาพลังงานหรือน้ำมันจะไม่มีทางถูกลงแล้ว

เพราะฉะนั้น จริงๆแล้วคำถามในเรื่องเกี่ยวกับน้ำมัน ไม่ได้อยู่ที่จะหมดไหมในทางเศรษฐศาสตร์ มันอยู่ที่มันจะถึงจุด peak เมื่อไหร่ในการผลิตน้ำมัน ซึ่งก็มีนักวิทยาศาสตร์อเมริกันไปสำรวจและอันนี้ก็รู้มานานแล้ว แต่ไม่เคยตั้งคำถามอันนี้กับเรา มีการศึกษาซึ่งเขียนเป็นตำรับตำราออกมาเลย พบว่าอีกประมาณ 10 ปีจากนี้ การผลิตน้ำมันของโลกจะถึงจุดสูงสุด จากนั้นราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มแต่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อไป จะเพิ่มมากขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองแต่ละช่วงเวลา แต่ในภาพรวมแนวโน้มราคาจะเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด

อันนี้ก็คือปัญหาของพลังงานกระแสหลัก ซึ่งทำให้เราต้องหันมาหาพลังงานทางเลือก แล้วการหันมาหาพลังงานทางเลือก มันจึงเป็นการกลับแนวทาง โดยการหันไปแบบเดิมคือไปให้ความสำคัญกับ

1. ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ การพัฒนาพลังงานเริ่มจากทรัพยากรในแต่ละพื้นที่

2. ภูมิปัญญาที่จะใช้ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่

3. การควบคุมและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่น

ข้อ 3 นี้ ถ้าสังเกตให้ดีซึ่งตอนแรกผมไม่ได้พูดไว้ จริงๆมันก็คงจะมีเพียงแต่สังคมในรูปแบบเดิมมันยังไม่ซับซ้อนเท่ากับสังคมในปัจจุบัน แต่สังคมปัจจุบันจะต้องพูดให้ชัดเลยว่า การผลิตพลังงานจะถูกควบคุมโดยใคร จะดำเนินการอย่างไร ? ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมได้ในระดับท้องถิ่น ไม่ใช่ควบคุมกันในระดับโลกหรือควบคุมกันในระดับประเทศดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูจากแนวความคิดแบบนี้ มันคล้ายๆกับที่เราจะต้องสร้างให้มนุษย์ไปสัมพันธ์กับธรรมชาติในรูปแบบเดิม เพื่อให้ได้พลังงานมา เพื่อให้ได้ความสามารถในการทำงานของมนุษย์กลับมา มันจึงไม่ได้ไปตั้งคำถามว่า คุณจะไปหาพลังงานจากแหล่งไหนมาให้พบ ซึ่งตอนนี้เป็นคำถามที่เราตั้งอยู่ในปัจจุบัน คราวที่แล้วผมมาบรรยายมีคนตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าที่นั่น ผมจะใช้พลังงานที่นั่นได้อย่างไร? เพราะฉะนั้นคำถามของมนุษย์มันจึงเปลี่ยนไป

เราพบว่าการพัฒนาพลังงานทางเลือกในแต่ละประเทศหรือในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีลมแรงมาก กางร่มบางวันร่มอาจจะหักได้ เพราะฉะนั้นเขาก็พัฒนาพลังงานลมขึ้นมา เพราะฉะนั้นเขาจึงทุ่มเทในเรื่องพลังงานลม ตอนนี้พื้นที่ในประเทศเขาก็เริ่มมีขีดจำกัดเพราะเขานึกถึงเรื่องของสุนทรียภาพ ดังนั้นพลังงานลมในบางจุดก็ทำไม่ได้ เพราะแทนที่จะมองเห็นภาพภูเขาสวยงามกลับไปเห็นภาพของกังหันลมเต็มไปหมด อันนี้ก็ไม่เป็นไรเขาก็ไปทำในทะเล ปรากฎว่าได้พลังงานลมมากขึ้นอีก แต่ว่าต้นทุนการก็สร้างอาจจะแพงขึ้นหน่อย อันนี้ก็เป็นรูปแบบของเดนมาร์ก

พอถึงเนปาล เขาก็ใช้พลังงานน้ำขนาดเล็ก เพราะว่ามีภูมิประเทศที่เป็นภูเขามาก. พอมาดูที่อินเดียกับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีคนมาก มีการเกษตรมาก เขาก็ทุ่มเทกับการผลิตก๊าสชีวภาพ ซึ่งก็ผลิตกันแทบจะทุกครัวเรือน. ของเราเวลาพูดถึงก๊าสชีวภาพ เราจะนึกถึงฟาร์มหมูขนาดใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรม แต่จีนกับอินเดียเขาทำกันในครัวเรือน เข้าส้วมเสร็จออกมาก็ติดเตาได้

เพราะฉะนั้น การพัฒนาพลังงานทางเลือกจึงเป็นการปรับระบบความคิดที่สำคัญ มันมีหลักอยู่ 2 ข้อคือ

1. จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันได้ ถามว่าภูมิคุ้มกันทางด้านไหน ก็คือภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจด้วยการไม่ต้องไปพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกเลย เพราะอย่างที่เราบอกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลมีแต่จะหมดไป ต้นทุนจะแพงขึ้น นับวันเราจะควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นการจะทำให้พลังงานยั่งยืนจะต้องมีภูมิคุ้มกัน ต้องมีการใช้ทรัพยากรภายในพื้นที่ตัวเอง ใช้ภูมิปัญญาในพื้นที่ตัวเอง นอกจากนั้นยังเป็นภูมิคุ้มกันทางด้านสิ่งแวดล้อมว่ามันจะไม่ได้รับการกระทบ

2. ในขณะเดียวกันจะต้องมีลักษณะของการเกื้อกูนกัน การเกื้อกูนกันหมายถึงทางด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างคนกับธรรมชาติ ระหว่างคนกับคน ไม่ใช่ขอร้องให้คนที่หนึ่งเสียสละเพื่อตนจะได้ใช้พลังงานตามที่ต้องการ

เพราะฉะนั้นลักษณะแบบนี้ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ พลังงานทางเลือกจึงไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ใหม่ เน้นเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน เน้นการสร้างความเกื้อกูนกัน ซึ่งลักษณะ 2 อย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิดในระดับท้องถิ่น ถ้าเราทำอย่างนั้นได้จริง พลังงานทางเลือกมันจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจพอเพียงในแง่พลังงานอย่างแท้จริง

ในต่างประเทศก็มีการทำลักษณะนี้กันมา แล้วเราก็จะพบ ชัดเจนว่ามันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาทางเลือก เราพบว่าการที่จะพัฒนาพลังงานทางเลือกได้ จะต้องมีการเอื้อให้เกิดระบบขนาดเล็กได้ อย่างในประเทศเดนมาร์กระบบไฟฟ้าจะอยู่ในการดูแลของเทศบาล ซึ่งเทศบาลส่วนมากก็จะเล็กกว่าเมืองเชียงใหม่ เทศบาลจะต้องหาพลังงานทางเลือกให้ได้ 40% ในพื้นที่ของเทศบาล อันนี้เป็นกฎ บางส่วนก็ยังทำไม่ได้ แต่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพรัฐบาลกำหนดลงไปเลย

นอกจากนั้นพลังงานทางเลือกยังมีลักษณะเป็นการกระจาย ไม่ใช่ในลักษณะรวมศูนย์ จะมีการกระจายออกไปในแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยชุมชน เขาจะต้องออกแบบให้ชุมชนเข้าไปบริหารจัดการได้ ในกรณีกังหันลมของเดนมาร์กพบว่า ส่วนใหญ่ครึ่งหนึ่งดำเนินการโดยสหกรณ์ อันนี้เป็นมิติที่สำคัญในการพัฒนาการทางเลือก กังหันลมในเดนมาร์กเกิดขึ้นได้จากการเลือกระหว่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับกังหันลม เพราะว่าตอนนั้นราคาน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้นช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สังคมเขาต้องเลือกระหว่างนิวเคลียร์กับพลังงานลม แล้วเขาก็เลือกพลังงานลม

พอทำสำเร็จขึ้นมาระดับหนึ่ง เขายังต้องเลือกอีกหนหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก ระหว่างจะให้บริษัทขนาดใหญ่ทางด้านการผลิตไฟฟ้าทำกังหันลม ทำทีเดียวได้เป็นทุ่งกังหันลม อย่างเช่นที่แคลิฟอร์เนียเป็นทุ่งกังหันลม ส่วนในกรณีของประเทศเดนมาร์ก เขาเลือกที่จะให้มันเป็นกังหันลมขนาดเล็กและดำเนินการโดยสหกรณ์ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ทั้งหมดเป็นการเลือก มันจึงกระจายกันอยู่ แล้วรูปแบบของพลังงานแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไป ในบางชุมชนที่มีการเลี้ยงหมูมาก เขาก็ทำพลังงานก๊าสชีวภาพ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าระบบพลังงานทางเลือกมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมดไป

เรามีข้อมูลของประเทศที่เลือกใช้พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นประเทศเดนมาร์กหรือสหรัฐอเมริกาเองก็ตามในบางรัฐที่ทุ่มเทเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่าขนาดเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าหรือขนาดเฉลี่ยของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเล็กลงเรื่อยๆ ในการประชุมที่พบ โดยที่ผมได้มีโอกาสไปประชุมยังประเทศเดนมาร์ก เขาวัดความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของเขา ด้วยการหาแนวทางที่จะสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะซื้อหามาได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ

โธมัส เอดิสัน ผู้ที่ค้นพบหลอดไฟที่ให้แสงสว่าง เคยมีการพยากรณ์ไว้แล้วตั้งแต่สมัยที่เขามีชีวิตอยู่ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีพลังงาน มันจะกลายเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในแต่ละบ้าน คนทุกคนจะมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอยู่ในบ้านของตัวเอง และเป็นแหล่งพลังงานซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด

เพราะฉะนั้น เงื่อนไขแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนาดเล็กกระจายกันอยู่แตกต่างกันแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกันเลย มันจึงกลายเป็นเหตุผลให้พลังงานทางเลือกไม่ถูกเลือก เพราะพลังงานทางเลือกมันไม่ได้ถูกเลือกด้วยเหตุผลทางเทคนิค หรือด้วยเหตุผลทางธุรกิจ แต่มันถูกเลือกด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับระบบคิดทั้งหมด หรือภูมิปัญญาทั้งหมดในการจัดการพลังงาน และการจัดการระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษย์, พลังงาน, และธรรมชาติ

มันจะไม่ถูกเลือกถ้าหากว่ามันยังเป็นอยู่เหมือนกับระบบในบ้านเราปัจจุบันนี้ เพราะว่าเรายังตั้งคำถามว่า เราจะไปซื้อพลังงานทางเลือกที่ไหน? หลายคนฟังจบแล้วคิดว่า อ. เดชรัตน์ จะแนะนำที่ซื้อพลังงานทางเลือกได้ หรือรัฐบาลยังคงถามว่า แล้วไหนล่ะ ทางออกของคุณ เอามาซิสัก 300 เมกกาวัตต์ หรือเอามา 1400 เมกกาวัตต์ซิ เป็นอย่างไง อยู่ตรงไหน. เขาจะบอกว่า ITP เขารอเข้ามาในเมืองไทยกันเยอะแยะแล้ว 2000 - 3000 เมกกาวัตต์ เขามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ พลังงานทางเลือกของคุณอยู่ที่ตรงไหน?

พลังงานทางเลือกจะไม่ถูกเลือกโดยการซื้อหรอกครับ มันจะต้องถูกเลือกโดยการคิด มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า พลังงานทางเลือกที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเยอรมันหรือเดนมาร์ก หรือตอนนี้ในจีนที่กำลังจะประสบความสำเร็จเพิ่มเติมขึ้นมา พลังงานทางเลือกไม่ได้ถูกเลือกเพราะมันถูกกว่า แต่มันถูกเลือกเพราะประเทศเหล่านั้นเลือกที่จะทำให้มันถูกลง แล้วก็ถูกกว่าในที่สุด

คือเราไม่ได้เลือกโดย ไหนลองเอาพลังงานทางเลือกมาเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินซิ แล้วดูว่ามันถูกกว่าไหม? แล้วเราก็เลือก อันนี้เป็นวิธีคิดของผู้นำเราในปัจจุบัน ไหนคุณเอาต้นทุนพลังงานทางเลือกมาดูซิว่ามันถูกไหม? แต่เขาเลือกที่จะทำจนกระทั่งมันถูกลง แล้วก็ถูกกว่าในที่สุด

พวกเราสังเกตดูเถอะครับ ไม่มีเทคโนโลยีอันไหนออกมาวันแรกแล้วถูกที่สุด แล้วจากนั้นก็ค่อยแพงขึ้น ผมหมายถึงเทคโนโลยีนะครับ ไม่ใช่สินค้าที่มันขาดแคลน อย่างน้ำมันนี่ออกมาแรกๆถูกมาก แต่พอมันขาดแคลนก็ค่อยๆแพงขึ้น แต่เทคโนโลยีไม่มีหรอกครับ อย่างโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างไร อันนี้เป็นตัวอย่าง ตอนแรกเป็นอย่างไร ใครซื้อมือถือจะต้องเต็มที่จริงๆ ต้องมีเงินเต็มที่ เดี๋ยวนี้ราคาโทรศัพท์มือถือ เด็กประถมซื้อกันได้สบาย พ่อแม่ซื้อให้ได้ เทคโนโลยีทางไฟฟ้าก็เช่นกัน มันต้องการเวลาและขนาดในการพัฒนา ขนาดหมายถึงมันมีการผลิตมากขึ้น เวลาหมายถึงมีการเรียนรู้มากขึ้น ราคาของเทคโนโลยีก็จะถูกลง

เหมือนกันครับ พลังงานทางเลือกจะถูกลงได้เราก็ต้องให้เวลา แล้วก็ทุ่มเทกับการพัฒนา เมื่อ 20 ปีที่แล้ว พลังงานลมในเดนมาร์กเทียบไม่ได้เลยกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในเดนมาร์กด้วยกัน เทียบกันไม่ได้เลยอันนี้ แต่พอเวลาผ่านไป 15 ปี ราคาก็ลงมาใกล้เคียงกัน ปัจจุบันนี้ถูกกว่าแล้ว พอถูกกว่าแล้วเป็นไงครับ เดนมาร์กก็ส่งออกพลังงาน

เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำพลังงานทางเลือกได้เราจะต้องเลือกทั้งระบบภูมิปัญญา คือมันไม่ใช่เลือกที่จะเอาเทคโนโลยีว่าจะเอาตัวนั้นตัวนี้ แต่มันต้องเลือกทั้งระบบคิดก่อนเลย คุณจะต้องเลือกทั้งระบบคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับพลังงานมันเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเป็นอย่างนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า พลังงานทางเลือกของประเทศเราถูกเลือกในระดับของโครงการเท่านั้น จะไม่มีวันถูกเลือกในระดับนโยบายเลยในปัจจุบัน

วันดีคืนดีกองทุนอนุรักษ์พลังงานก็ไปให้โครงการวิจัยจุดนั้นจุดนี้ทีละจุด แต่ไม่ได้โผล่ขึ้นมาในแผนพัฒนาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไม่ได้โผล่ขึ้นมาในนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจน ไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายเลยในการพัฒนาทางเลือกให้ได้ในเวลาเท่าไหร่ กี่ปี หรืออีกกี่ปี สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้ สุดท้ายแล้ว พลังงานทางเลือกก็ได้เป็นแต่เพียงเรื่องที่พูดถึง แต่ไม่มีวันได้ถูกเลือกสักที

ผมอยากจะพูดตรงเรื่องของการถูกเลือกเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง เป็นเรื่องของการเปิดเสรีในภาคพลังงาน ต่อไปเขาจะมี power pool จะมีการนำไฟฟ้าเข้ามาขายในตลาดกลางเพื่อขายไฟฟ้ากันในแต่ละช่วงเวลา ราคาไฟฟ้าก็จะไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับ demand และ supply หมายความว่าช่วงไหนที่มีคนต้องการใช้เยอะ แล้วคนผลิตน้อย ราคาไฟฟ้าก็จะสูง ช่วงไหนที่ความต้องการน้อยลง คนผลิตเยอะขึ้น ราคาไฟฟ้าก็จะต่ำลง อันนี้ต้องเช็คราคาไฟฟ้ากันทุกครึ่งชั่วโมงทำนองนี้

สำหรับผู้บริโภคเขาก็จะมีการเฉลี่ยให้ อย่างไรก็ตามก็เป็นการเฉลี่ยจากค่าที่ผันแปรไปในแต่ละครึ่งชั่วโมงนั่นเอง ซึ่งตรงระบบนั้นเป็นระบบที่รัฐบาลไทยเชื่อว่าจะแก้ปัญหาภาคพลังงานได้ เพราะเชื่อว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่น่าจะทำการผลิตได้ดีเท่ากับเอกชน ในขณะเดียวกันก็คิดว่าระบบการแข่งขัน น่าจะเป็นประโยชน์ น่าจะเกิดมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ก็เลยคิดจะพัฒนาเป็นระบบตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า

ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง เพราะถ้าทำตรงนี้ ตัวระบบพลังงานทางเลือกก็ยิ่งจะถึงคราวอวสานแน่นอน เนื่องจากมันกลายเป็นว่าทุกอย่างจะถูกเลือกบนพื้นฐานของต้นทุนอย่างเดียว แต่เมื่อสักครู่ผมได้บอกแล้วว่า พลังงานทางเลือกต้องการเวลาในการที่จะบ่มเพาะ ต้องการขนาดในการที่จะค่อยๆเพิ่มปริมาณคนใช้มากขึ้น แล้วต้นทุนก็จะถูกลง แต่คราวนี้พลังงานทางเลือกจะต้องไปแข่งขันกับพลังงานกระแสหลัก และการแข่งขันนี้จะเป็นการแข่งขันแบบเสรีแต่ไม่เป็นธรรม แล้วไม่มีวันที่จะเป็นธรรมด้วยนะครับ

เหตุผลง่ายๆไม่ใช่เป็นเรื่องของความชั่วร้าย แต่มันเป็นเรื่องของกลไกราคาและโครงสร้างต้นทุน เนื่องจากพลังงานกระแสหลักเขาได้มีการลงทุนในเทคโนโลยีมานานแล้ว ถ้าเป็นในต่างประเทศเขาได้มีการลงทุนมานับร้อยปีแล้ว ส่วนในเมืองไทยได้มีการลงทุนมาแล้ว 30 ปี เพราะฉะนั้น ต้นทุนของตัวเทคโนโลยีเขาจัดการหาผลประโยชน์กลับคืนมาหมดแล้ว

แต่ในขณะที่คนซึ่งค้นคิดพลังงานทางเลือกจะต้องคิดถึงค่าวิจัยและพัฒนาที่ใส่ลงไปในตัวพลังงานทางเลือก เช่น ถ้าผมจะทำก๊าสชีวภาพขึ้นมา ผมก็ต้องคิดว่าผมได้ทุ่มเทในการใช้ความคิดไปตั้งเท่าไหร่แล้ว, 5 ปีที่ผ่านมาผมใช้ต้นทุนไปเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเวลาไปประมูลกัน มันจะแพ้วันยังค่ำ เพราะคนกลุ่มหนึ่งไม่จำเป็นต้องคิดต้นทุนค่าเทคโนโลยีก็ได้ในบางช่วง หรือช่วงเวลาสั้นๆในการแข่งกัน แต่ผมยังต้องคิดต้นทุนทางเทคโนโลยีอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าไปแข่งในตลาด เขาสามารถที่จะตัดราคาผมได้ทันที จนผมไม่อยู่แล้วนั่นแหละ ก็ค่อยมา recharge กับพวกเรา อันนี้ก็เป็นรูปธรรมธรรมดาในการแข่งขันในตลาดและโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราปล่อยให้มีการทำเรื่องตลาด power pool พลังงานทางเลือกนี่จะเสร็จเลย จะไปไม่รอด แม้กระทั่ง DSN ก็เหมือนกัน การอนุรักษ์ด้านพลังงาน การจัดการด้านการใช้พลังงานก็จะน้อยลงไปด้วย เพราะว่าผู้ผลิตก็ต้องการกระตุ้นให้มี demand มาก เพราะฉะนั้นการเปิดเสรีทางด้านพลังงานที่มีอยู่ในเมืองไทย จะเป็นผลเสียหรือเป็นผลร้ายต่อพลังงานทางเลือกทั้งสิ้น

เหตุผลถ้าฟันธงง่ายๆก็เพราะว่า มันเปิดเสรีเฉพาะธุริกจ ไม่ใช่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ อันนี้เป็นทางธุรกิจเฉยๆให้ธุรกิจมาทำการแข่งขันกัน มันไม่ได้เปิดเสรีในทางเศรษฐกิจให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และที่สำคัญที่สุดมันไม่ได้เปิดเสรีทางการเมืองด้วย คือไม่ทำให้คนมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาบอกว่า พลังงานที่เขาอยากใช้ พลังงานที่เขาอยากทำซึ่งมันไม่มีผลกระทบต่อคนอื่นนั้นเป็นอย่างไร?

ช่องทางนี้รัฐบาลไม่เคยคิด คำว่าเปิดเสรี รัฐบาลคิดออกทางเดียวคือ เปิดเสรีทางด้านธุรกิจเท่านั้น เพราะฉะนั้นพลังงานทางเลือกจะยังไม่มีวันที่จะถูกเลือกในสังคมไทย ถ้ารัฐบาลเรายังไม่เปลี่ยนแนวนโยบาย ถ้ารัฐบาลเราไม่เลือกทั้งระบบภูมิปัญญา ทำอย่างไรครับพลังงานทางเลือกถึงจะถูกเลือก ผมจะพูดถึงในส่วนนี้ไม่มากเพื่อจะปล่อยให้พวกเราพูดคุยกัน

หนึ่ง. ผมคิดว่าเราจะต้องเลือกที่ระบบภูมิปัญญาก่อนเลย

สอง. เมื่อเราเห็นว่ารูปแบบพลังงานที่มันจะสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงมันคืออะไร? เมื่อนั้น เราจะต้องมาเลือกกำหนดเป้าหมาย ผมเชื่อว่าเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาพลังงานทางเลือก เพราะมันจะไม่ได้ถูกเลือกเนื่องจากถูกกว่า เราจะต้องไปสร้างให้มันถูกลง แล้วก็ถูกกว่าในที่สุด เพราะฉะนั้นการกำหนดเป้าหมายมันจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การกำหนดเป้าหมายมันนำมาสู่วิธีคิดหลายๆอย่างที่แตกต่างไปจากเดิม

ในต่างประเทศ หลังจากที่เขากำหนดเป้าหมายแล้วว่าสังคมเขาจะเป็นอย่างนี้ พลังงานเขาจะต้องเป็นแบบนี้ การผลิตพลังงานของเขาจะต้องมีลักษณะแบบนี้ เขาเลิกกระบวนการ Forecasting แต่เขาทำ backcasting. Forecasting คืออะไร? ก็คือการพยายามทำนายหรือ predict หรือประมาณการณ์ว่าคนจะใช้เท่าไหร่ แล้วเราก็จะหาทางที่จะไปสนับสนุนปริมาณความต้องการใช้ให้ได้เพียงพอ และเราก็จะถามต่อไปว่าอะไรมันถูกที่สุดในการที่จะไปสนับสนุน มันก็จะออกมาเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นพลังงานรูปแบบเดิมๆ พลังงานรูปแบบใหม่มันไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ ภายใต้กระบวนการคิดแบบ forecasting ซึ่งบางคนก็เรียกว่า predict and provide ก็คือทำนายแล้วก็ไปจัดหาให้

แบบนี้ไม่มีทางครับ ดังนั้น ในต่างประเทศเขาจึงเปลี่ยนในการวางแผนพัฒนาจากเดิมมาเป็นระบบ backcasting ก็คือ กำหนดเป้าหมายก่อนที่เราต้องการ เช่น 50 ปีข้างหน้าจะไม่มีแล้ว พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่จะหันมาเป็นพลังงานทางเลือกทั้งหมด เขาก็คิดเลยว่าแล้วจะทำอะไรล่ะใน 50 ปีนี้? เพื่อที่จะไปบรรลุถึงเป้าหมายที่จะให้เป็นในตอนนั้น

แน่นอนที่สุด เขาก็จะต้องเลือกที่มีต้นทุนต่ำที่สุด แต่ว่าสุดท้ายจะไปถึงเป้าหมาย. ต่างกันนะครับ ในวิธีการแบบแรกเป็นแบบ forecasting ซึ่งไม่ได้สนใจว่าเป้าหมายคืออะไร? เป้าหมายก็มีอยู่อย่างเดียวคือ ให้คนใช้พลังงานได้ตามที่เขาคาดการณ์ และในบางทีอย่างในเมืองไทยยังใช้วิธีการคาดการณ์ให้สูงกว่าที่มีการใช้จริงเสียอีก ก็เลยกลายเป็นปัญหาอีก

ในขณะที่ถ้าเป็นระบบ backcasting อันนี้ไม่ใช่แล้ว จะเลือกแนวทางซึ่งมีต้นทุนต่ำลง แต่ว่าต้องถึงเป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เลือกต้นทุนต่ำลงหมายความว่าอะไรครับ? หมายถึงเลือกวิธีพัฒนาเทคโนโลยี เลือกแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยี เลือกตัวพลังงานซึ่งมีศักยภาพมากทำก่อน แล้วจากนั้นค่อยๆเลือกพลังงานที่มีศักยภาพน้อยลงแทน เช่น ในเมืองไทย เราก็ต้องเลือกพลังงานชีวมวลมาทำก่อน เนื่องจากประเทศเราเป็นประเทศเกษตร มีชีวมวลที่ทิ้งเยอะ มีมวลที่เผาทิ้งก็เยอะ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาพลังงานชีวมวลเหล่านี้มาทำ

ปัจจุบันเราประมาณการณ์ว่าเราจะมีศักยภาพในการทำพลังงานชีวมวล ภายใต้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 2000-3000 เมกกาวัตต์ เราทำได้ตอนนี้ประมาณ 300 เมกกาวัตต์ แล้วเราจะทำได้เพิ่มขึ้นอีกในเร็วๆนี้ถึง 300 เมกกาวัตต์ ถ้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าของรัฐบาลสำเร็จก็ได้อีก 300 ก็ยังเหลืออีกเยอะที่เราจะทำได้

นั่นก็คือจะต้องมีการตั้งเป้าหมาย จากนั้นก็มีการวางแผนที่จะไปสู่เป้าหมาย แล้วก็เลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาเทคโนโลยีนี่ผมคิดว่าเราจะต้องให้ความสมดุลย์ระหว่างเทคโนโลยีใหม่ๆที่พลังงานทางเลือกเขามีการพัฒนาไปแล้ว และก็เทคโนโลยีเดิมๆซึ่งเราเคยมีอยู่ในการทำพลังงานทางเลือก

เทคโนโลยีอย่างเช่น กังหันลม กังหันน้ำ ผมคิดว่าเรามีความรู้อยู่ แต่เราไม่ได้ต่อยอดซึ่งตอนนี้เข้าใจว่าเราคงลืมไปแล้ว เทคโนโลยีในการเผาถ่าน แต่เดิมเราเคยมีอยู่ แต่ตอนนี้ก็เหลือคนมีความรู้ไม่มากนัก ไม่มีใครที่จะพัฒนาในเรื่องนี้แล้ว มีคนบอกผมว่าถ้าทำเรื่องเตาเผาถ่าน เข้าใจว่าจะไม่ได้มีโอกาสเป็นศาสตราจารย์ ถ้าทำเรื่องเทคโนโลยีอย่างอื่นซึ่งมันมีเหล็กมีอะไรเป็นเครื่องจักรก็คงจะได้เป็นศาสตราจารย์ได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เลยมีปัญหา เทคโนโลยีเรื่องการเผาถ่านก็เลยไม่มีการพัฒนา

น้องชายผมเป็นวิศวเครื่องกล เขาก็ไปสำรวจเรื่องพลังงาจากชีวมวลก็พบว่า คนที่มีความรู้เรื่องการจัดการหม้อไอน้ำในเมืองไทยจากพลังงานชีวมวล ปัจจุบันเหลือน้อยลงไปทุกทีตามโรงสีที่มันปิดไปเรื่อยๆ พอมันปิดไปเทคโนโลยีเหล่านี้ก็หายไป โรงสีรุ่นใหม่ก็หันไปใช้วิธีการควบคุมแบบไฟฟ้า เพราะฉะนั้นจะหันกลับมาเป็นการควบคุมแบบระบบไอน้ำ ระบบพลังงานแบบชีวมวล ก็ทำไม่ได้. สิ่งต่างๆเหล่านี้จะต้องเร่งพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยีใหม่และฟื้นฟูเทคโนโลยีเก่า

จากนั้นเราต้องเลือกระบบสนับสนุน ระบบสนับสนุนที่สำคัญมีอยู่ด้วยกัน 3 ระบบ อันนี้ผมหมายถึงระบบสนับสนุนทางธุรกิจ

1. ระบบการรับซื้อ ปัจจุบันพลังงานทางเลือกยังมีปัญหา การรับซื้อในการผลิตจำนวนน้อยๆ การส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและภูมิภาคยังมีปัญหาอยู่ เพราะทั้งสองส่วนนี้ยังไม่มีมาตรฐานและเครื่องมือมาตรฐานที่จะไปรับซื้อจากผู้ผลิตขนาดเล็ก ผมไปพบที่น้ำพองที่ขอนแก่น หมู่บ้านนั้นเขาเลี้ยงหมูกันทั้งหมู่บ้าน แล้วผลิตแก๊สชีวภาพได้ แต่ปัญหาคือเขาไม่รู้จะไปขายที่ไหน เพราะฉะนั้นเขาจึงยังปล่อยขี้หมูเหลือทิ้งไป ซึ่งถ้าเกิดเขาเอามาแปรเป็นพลังงาน เขาจะทำให้สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเขาดีขึ้นมามากเลย แต่ก็ไม่ได้ทำ อันนี้ก็เป็นส่วนที่เสียหายไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหนเพราะไม่มีกระบวนการรับซื้อ จำเป็นอย่างยิ่งครับเรื่องการรับซื้อ

2. นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงเรื่องราคาด้วย รัฐบาลถ้าจะพัฒนาพลังงานทางเลือกแล้ว จะต้องเห็นพลังงานทางเลือก และเห็นประโยชน์ของพลังงานทางเลือกอย่างครบถ้วนด้วย ปัจจุบันราคาที่การไฟฟ้ารับซื้อจากพลังงานทางเลือกยังต่ำกว่าที่การไฟฟ้ารับซื้อจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งที่พลังงานทางเลือกเกิดประโยชน์ทั้งทางสิ่งแวดล้อม และสังคม ทางสังคมหมายความว่าอะไร หมายถึงมีการจ้างงานในท้องถิ่น เช่น ถ้าโรงสี หรือโรงงานน้ำตาล เอาแกลบหรือชานอ้อยมาปั่นกระแสไฟฟ้า ต้องมีคนงานเข้าไป เรามีการคำนวณแล้วว่ามันกระตุ้นการจ้างงานมากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าสธรรมชาติมาก แต่ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ผลประโยชน์ทางสังคม รวมถึงผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ยังไม่ได้ถูกนำมาคิดกันอย่างจริงจังเท่าที่ควร เพราะการใช้พลังงานจากชีวมวลเหล่านี้ช่วยลดมลพิษทางอากาศลงได้มาก แต่มันก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนอยู่ในระบบราคาเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การไฟฟ้าคิดบนฐานเดียวก็คือ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กจะให้ความมั่นคงทางด้านพลังงานน้อยกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นควรจะได้รับราคาที่ต่ำกว่าไปด้วย ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา ปัจจุบันรัฐบาลและการไฟฟ้ากำลังจะแก้ตรงจุดนี้ โดยการประกาศรับซื้ออีก 300 เมกกาวัตต์ โดยการให้ประมูล ประมูลนี้หมายถึงว่าแต่ละรายก็เสนอราคาเข้ามา ประมูลก็คงจะสูงกว่าราคาเฉลี่ยที่การไฟฟ้ารับซื้อในปัจจุบัน แต่ว่าจะเอาเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานเข้าไปอุดหนุนในส่วนที่แพงขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นนิมิตหมายอันนี้ในการจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว

แต่การใช้วิธีประมูลก็จะมีปัญหา มันจะมีเฉพาะพลังงานทางเลือกที่ถูกที่สุดเท่านั้นที่จะได้รับการพัฒนา เพราะมันจะต้องแข่งขันกันในเชิงราคาในหมู่พลังงานทางเลือกด้วยกัน แน่นอนที่สุดก็คงจะเป็นดังที่พูดมาคือ เฉพาะเชื้อเพลิงชีวมวลเท่านั้นที่จะเข้ามาสู่ตลาดนี้ได้ พลังงานอื่นๆเข้ามาไม่ได้ถ้าใช้วิธีประมูลอย่างเดียว จำเป็นต้องมีระบบราคาในแบบอื่นๆเสริมด้วย

3. ระบบสนับสนุนในเรื่องสินเชื่อและการลงทุน คนที่ไม่ได้อยู่วงในจะไม่ทราบว่าเรื่องนี้ลากเลือดเลย ปัจจุบันไปขอกู้เงินธนาคารมาทำธุรกิจปกติยังกู้ยากเลย ยิ่งจะไปขอกู้เงินมาทำพลังงานทางเลือกแล้ว ยิ่งงงหนักเลย ผมเคยสัมภาษณ์คนซึ่งทำโรงไฟฟ้าจากแกลบที่ชัยนาท เขาหาเงินกู้ไม่ได้ ความจริงกู้มาได้น้อยจึงพยายามลดโครงการลง โดยไปซื้อเครื่องจักรจากจีน แต่ก็ได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเครื่องจักรจากจีนก็ใช้งานได้ดีไม่แพ้เครื่องจักรจากเยอรมัน ก็เอาเครื่องจักรและขนาดของโรงการทั้งหมดกับไปหาธนาคารใหม่ ธนาคารก็ยังไม่ให้กู้อีก เขาบอกว่าเพราะคุณใช้เครื่องจักรจากประเทศจีน เขาอยากให้ไปเอาเครื่องจักรจากเยอรมันหรือจากอเมริกามาแทน กลายเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ซึ่งวนไม่จบสักที สุดท้ายโรงไฟฟ้าเสร็จ เหลือเครื่องจักรที่ต้องรออยู่ ไม่รู้ว่าจะเอาเงินกู้งวดสุดท้ายไปซื้อเครื่องจักรเอาเข้ามาโรงไฟฟ้าตัวเองได้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาอย่างมาก

ในต่างประเทศเขามีระบบประกันสินเชื่อ คือจะทำเรื่องพลังงานทางเลือกนี่เขาต้องประกัน เพราะธนาคารเขากลัวความเสี่ยง เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยประกันความเสี่ยง แต่ก็ไม่ใช่เข้าไปแบบไปเสียค่าโง่อีกนะครับ คือเราต้องเชื่ออีกว่าเรามีองค์ความรู้หรือเปล่าที่เราจะเข้าไปประกันความเสี่ยงกับเขา แต่ต้องช่วยครับในแง่ของผู้ผลิต เราต้องเข้าไปดูว่าทำแบบนี้แล้วไม่เสี่ยง ถ้ามีระบบราคาแบบนี้แล้วไม่เสี่ยง ถ้ามีระบบการรับซื้อแบบนี้แล้วไม่เสี่ยง หรือถ้ามีนโยบายแบบนี้แล้วไม่เสี่ยง หลังจากนั้นก็ค้ำประกันได้เลย

ในส่วนเรื่องของการพัฒนาพลังงานที่ทำๆกันอยู่ในปัจจุบัน ผมอยากจะชวนพวกเรามามองว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ยังไม่มีองค์กรไหนที่มีการพัฒนาพลังงานทางเลือกเป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งขององค์กรเลย ทั้งหมดเป็นเรื่องของพลังงานกระแสหลักทั้งสิ้น เช่น ตัวกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ซึ่งน่าแปลกใจมาก เพราะว่าหน้าที่หลักของเขาก็คือสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเท่านั้น และการที่เราจะฝากเรื่องนี้ไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือสำนักงานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ที่เน้นหรือทุ่มเทแต่เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นการพัฒนาพลังงานกระแสหลัก มันจะทำให้เกิดความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ หรือ conflict of interest ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะในแง่ของการไฟฟ้านี่ชัดเจน

อันนี้เราไม่ได้พูดในฐานะเฉพาะองค์กรหรือส่วนบุคคล เราพูดกันในเชิงโครงสร้าง มันขัดแย้งกันแน่นอนระหว่างที่คุณใช้เทคโนโลยีของคุณที่มีอยู่แล้ว คุณก็ขายได้อยู่แล้ว กับการที่คุณจะไปพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่สุดท้ายจะมาดีกว่าเทคโนโลยีเก่าที่คุณมีอยู่ และมาแข่งขันกับเทคโนโลยีที่คุณมีอยู่ ไม่มีใครเขาทำกัน เราเลยพบว่าการพัฒนาพลังงานทางเลือกโดยการไฟฟ้าที่ทำมาจึงมีความสำเร็จไม่มากนัก โดยคิดเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 0.02% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในประเทศไทย ตรงนี้คือส่วนที่เราจำเป็นจะต้องปรับระบบองค์กร จะต้องไม่ให้มันมี conflict of interest ในลักษณะอย่างนี้

หรือแม้กระทั่งในกรณีของการอนุรักษ์พลังงานเองก็ตาม การไฟฟ้าก็ทำในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน แต่ได้มีการศึกษามาแล้วจากต่างประเทศด้วย การไฟฟ้าจะทำเฉพาะส่วนที่ต้นทุนเพิ่มมากกว่าต้นทุนเฉลี่ย เวลาการไฟฟ้าคิดค่าไฟฟ้าเรา เขาจะคิดจากต้นทุนเฉลี่ย ต้นทุนเฉลี่ยก็คือเอาต้นทุนทั้งหมดมาเฉลี่ย หารด้วยจำนวนหน่วยพลังงานที่เราใช้ก็จะออกมาเป็นต้นทุนเฉลี่ย แต่ต้นทุนเพิ่ม บางหน่วยผลิตมันจะแพงมากเลยถ้าหากว่าพวกเราใช้กันมากเกินไป เพราะฉะนั้นเขาจะลดเฉพาะส่วนนั้น ลดเฉพาะส่วนที่ต้นทุนมันแพง เขาจะลดลง

เขาไม่อยากจะเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านั้นที่ต้นทุนเพิ่มมันจะแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ย พูดง่ายๆก็คือเดินเครื่องไปแล้วเขาเก็บเงินเราได้น้อยลง แต่ในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ เขาจะไม่มีวันลดลงมาต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ย เพราะถ้าเกิดลดลงมาต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ยแล้ว และพยายามให้เราประหยัดพลังงานอีก แปลว่ามันจะเริ่มเข้าเนื้อแล้ว เขาจะเริ่มขายพลังงานได้น้อยลง อันนี้เป็นการค้นพบทั่วไปในหลายประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นมันจึงจำเป็นต้องมีองค์กรเฉพาะขึ้นมาดำเนินการ

สุดท้ายต้องเลือกที่ความหมายของพลังงาน ผมขอกลับมาที่ความหมายใหม่อีกครั้ง พลังงานทางเลือก ถ้าเกิดโดยความหมายแบบเดิมก็คือสินค้าตัวหนึ่ง มีผู้บริโภค มีผู้จัดหา พลังงานทางเลือกเกิดยากครับ เราต้องแปลงพลังงานทางเลือก หรือทางเลือกของพลังงานโดยยิ่งจะต้องกลับไปหาคำนิยามใหญ่เลย ว่านิยามของพลังงานจริงๆมันคืออะไร?

ผมพบนิยามสองกรณี กรณีแรกคือนิยามของ"ฟิสิกส์" ก็คือความสามารถในการทำงาน จากนั้นอันที่สอง ผมไปพบนิยามทางศิลปะด้วย ผมคงจะนำมาแลกเปลี่ยนว่าพลังงานมีนิยามทางศิลปะว่าอย่างไร?

ในทางฟิสิกส์นั้นคือ ความสามารถในการทำงาน ผมคิดว่าถ้าเราเอาความหมายนี้มาเป็นตัวหลัก มาสอนนักศึกษา เอามาพูดคุยหรือเอามาคิดกันในทางสังคม เราจะพบเลยว่ามันมีงานหลายงานที่จำเป็นต้องทำ ไม่ควรจะทำ ในขณะเดียวกันมันก็มีงานหลายงานเลยที่มันมีรูปแบบวิธีการทำงานที่ให้ได้งานนั้น แต่ใช้พลังงานน้อยลง ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่เราะต้องตั้งโจทย์คิดกันอย่างมากว่า ความสามารถในการทำงานคือการจัดการด้านพลังงานอย่างดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราจะต้องคิดทบทวนว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เป็นการใช้ความสามารถในการทำงานกันถูกวิธีหรือเปล่า

ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ พลังงานในภาคการเกษตร เอาแค่พูดกันในเรื่องพลังงานทางด้านการเกษตร หลายคนผมเคยไปพูดยกมือขึ้นมาเลยว่า ไม่ต้องพูดหรอก พลังงานการเกษตรมันใช้นิดเดียวเอง ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้ในบ้านเรือน ถูกครับ พลังงานทางด้านการเกษตรใช้ในรูปน้ำมันนิดเดียวเอง ใช้ไฟฟ้ามาสูบน้ำก็นิดเดียวเอง แต่สิ่งที่ใช้เยอะอยู่ตรงไหนทราบไหมครับ มันอยู่ในปุ๋ย มันอยู่ในยาฆ่าแมลง มันอยู่ในการคมนาคมขนส่งที่จะนำข้าวออกไปที่อื่น มันอยู่ในการที่จะขนอาหารอย่างอื่นซึ่งครัวเรือนจะต้องบริโภคกลับเข้ามา เขาเรียกว่ามันเป็นพลังงานที่ embody คือมันซ่อนอยู่ในตัววัตถุดิบหรือสินค้าจำนวนมาก

ดังนั้น เขาจึงมีการค้นพบว่าถ้ามันรวมพลังงานทุกอย่างเหล่านี้เข้ามาแล้ว จะพบว่าประเทศไทยเรา ใช้พลังงานในการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนเท่าเดิม เพราะเราต้องไปเสียพลังงานที่ซ่อนอยู่ในปุ๋ย เราต้องไปเสียพลังงานที่ซ่อนอยู่ในน้ำมัน ที่จะขนข้าวออกไปแล้วไปขนผักกลับเข้ามาที่บ้านเรา เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆที่เป็นรูปธรรมว่า เอ๊ะ ! ชาวบ้านน่าจะลองคิดดูไหมโดยใช้กรอบพลังงานว่า ตกลงแล้วมันคุ้มค่ากันไหม?

สิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่งชาวบ้านพบว่าไม่คุ้มค่าก็คือ ต้นทุนเหล่านี้มันเพิ่มขึ้น ต้นทุนปัจจัยการผลิตก็เพิ่มขึ้น ค่าพลังงานรวมอยู่ไหมครับในต้นทุนปัจจัยการผลิต มีใช่ไหม ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นไหม ต้นทุนในการขายสินค้าเพิ่มขึ้นไหม ก็เพิ่มขึ้นอีก พบว่ามันมีตัวพลังงานรวมอยู่ทั้งสิ้นเลย สิ่งเหล่านี้ทำให้พบว่าหรือคิดว่า ชาวบ้านไม่คุ้มค่าเลยในการจะต้องเสียพลังงานแฝงอยู่ในกระบวนการผลิตของเขามากมายโดยที่เขาไม่รู้ตัวเพราะฉะนั้น ถ้าเราลองคิดกันถึงเรื่องความสามารถในการทำงาน เราก็น่าจะจัดการกับเรื่องความสามารถในการทำงานได้ดีขึ้น

นอกจากนั้น เรายังพบว่าในการที่เราจะต้มน้ำเพื่อดื่มกาแฟสักถ้วย เรามีวิธีการต้มอย่างไรบ้าง งานที่เราต้องการจะให้เกิดก็คือ ทำให้น้ำในถ้วยมันร้อนใช่ไหมครับ กาแฟและน้ำตาลจะได้ละลาย มีวิธีการอะไรบ้างที่จะทำให้น้ำในถ้วยมันร้อน หลายคนบอกว่าเอาไปตากแดด มีจุดรวมแสง แต่ผมจะไม่ไปถึงขั้นนั้น อย่างเช่น เราก็มีวิธีการต้มทั้งใช้เตาถ่านและเตาแก๊ส เสร็จแล้วก็เก็บเอาไว้ในกาน้ำ ปัจจุบันก็คือการเสียบกาต้มน้ำร้อนไฟฟ้า ซึ่งเราจะพบว่าสองรูปแบบนี้ใช้พลังงานไม่เท่ากันในการจะเกิดงานชิ้นเดียวกัน คือทำให้น้ำมันร้อนโดยใช้พลังงานไม่เท่ากัน ทราบไหมครับว่าอันไหนใช้มากกว่า

คำตอบก็คือเสียบปลั๊กไฟฟ้าใช้มากกว่าเพราะต้องแปลงถ่านหิน หรือก๊าสธรรมชาติให้เป็นไฟฟ้าหนึ่งรอบ ตรงนี้จะสูญเสียไป 66% แล้วจากนั้นต้องแปลงไฟฟ้ากลับมาเป็นความร้อนอีก อันนี้ก็จะสูญเสียหลายรอบกว่าที่จะได้มาเป็นงานชิ้นของเรา เพราะฉะนั้น เราก็สามารถใช้ความคิดในการทำงานคิดได้กับทุกสิ่ง ถ้าเราไม่นึกว่าพลังงานเป็นเพียงแค่สินค้าที่เราจะต้องซื้อมาบริโภค

จากตัวอย่าง 2 ตัวอย่างนี้ในการต้มน้ำ ทราบไหมครับว่าชาวอเมริกันซึ่งตอนนี้ระบาดเข้ามาในเมืองไทยแล้ว เขาไม่ต้มน้ำกินกาแฟด้วย 2 วิธีนี้หรอก เขาใช้วิธีใส่เข้าไปในเตาไมโครเวฟ ซึ่งตรงนั้นยิ่งสูญเสียพลังงานหนักขึ้นไปอีก ตรงนี้เราน่าจะมาคิดกัน ทุกอย่างมันคือการแสวงหาความสามารถในการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด เราจะเห็นว่าพลังงานมันเกี่ยวพันกับทุกๆเรื่องในชีวิตของเรา

ทีนี้ก็มาถึงนิยามพลังงานทางด้านศิลปะ ซึ่งผมไม่เข้าใจมากนัก เพียงแต่ยั่วให้เรามาลองคิดกันดู ผมได้ไปพบนายหนังตะลุงที่นครศรีธรรมราช เขาบอกว่า ถ้าสสารหมายถึง"รูปแบบ" ถ้าเป็นพลังงานเขาหมายถึงมันเป็น"จังหวะ" เขาบอกว่าเพลงเดียวกันถ้าอัดเทปเข้าไปแล้ว ถ้าเปิดช้าเกินไปมันก็อาจจะฟังไม่รู้เรื่อง เร็วเกินไปก็ฟังไม่รู้เรื่อง ก็ไม่เกิดเป็นงาน ถ้าเปิดในจังหวะที่พอดี ความเร็วที่พอดี ก็เกิดเป็นพลังงานเกิดขึ้น ผมฟังแล้วรู้สึกว่ามันน่าคิดว่า จังหวะในชีวิตของเรามันเกี่ยวพันกับพลังงานอย่างไร?

ผมพบว่าการต้มน้ำ 3 วิธีข้างต้นมันเกี่ยวพันกับจังหวะชีวิต เวลาที่จังหวะชีวิตเรามั่วๆ พอคิดอยากจะกินมันก็ต้องกิน จังหวะชีวิตเราไม่มีแบบแผนชัดเจน จังหวะชีวิตของเราเร่งรีบ เราก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้นไปในลักษณะแบบนี้ หรือบางทีเราใช้จังหวะชีวิตที่ไม่ดี อย่างหลานผม พอเล่นมาจนเหนื่อยจะอาบน้ำอุ่น พออาบน้ำอุ่นเสร็จก็จะเปิดแอร์ เพราะมันร้อน พอนอนไปสักพักก็ต้องห่มผ้าอีกเพราะมันหนาว อันนี้เป็นการใช้จังหวะชีวิตที่มันไม่สมดุลย์ อันนำมาซึ่งการใช้พลังงานทั้งนั้น เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นแนวทางที่เราจะต้องกลับมาย้อนคิดกัน

สรุปก็คือ ผมยืนยันว่า การที่พัฒนาการพลังงานทางเลือก จะต้องไม่ใช่เป็นการเลือกเทคโนโลยีแต่ละตัว จะต้องไม่เป็นการตั้งคำถามว่าเราจะไปซื้ออะไรมาดีเพื่อที่จะนำมาติดบ้านเรา แต่จะเป็นการใช้ระบบคิดทั้งหมด ภูมิปัญญาทั้งหมดของพวกเรามองหาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ ที่จะทำให้เราอยู่กับธรรมชาติโดยที่ไม่เกินขีดความสามารถของธรรมชาติที่ให้มา

เราจำเป็นที่จะต้องเลือกระบบที่สังคมจัดการกันได้ ไม่ใช่ระบบพลังงานที่เอาความเสียหายไปไว้ที่จุดหนึ่งเพื่อให้ได้พลังงานที่นำไปใช้ยังอีกจุดหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนี้ สังคมยังจะต้องถามถึงความเป็นธรรมกันอยู่ไม่รู้จักจบ ดังนั้นการทำพลังงานทางเลือกในต่างประเทศที่เขาไปได้ เขาคิดจนแตกทะลุหมดแล้ว ว่ามันไม่ใช่แค่มาทำกังหันลม มาทำเซลล์แสงอาทิตย์ แต่มันเป็นการเปลี่ยนระบบคิด เปลี่ยนระบบการจัดการ เขาพยายามที่จะทำให้การผลิตพลังงานของเขามีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เพื่อที่จะควบคุมกันได้ทั้งในแง่ของธรรมชาติและในแง่ของสังคม สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยถูกคิดหรือเคยถูกถามในเมืองไทย เราจำเป็นที่จะต้องคิด เราจำเป็นที่จะต้องถาม เราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนความคิดของเรา เราจำเป็นที่จะต้องใช้ปัญญาของเราในการหาทางที่ดีที่สุดเพื่อเกิดความสามารถในการทำงาน

วันนี้คงไม่ได้ให้อะไรที่เป็นสิ่งสำเร็จรูปกับพวกเรา แต่คงจะได้คุยกันเพิ่มเติมต่อไปหลังจากนี้ครับ…


คลิกไปหน้าบทความที่เกี่ยวเนื่องกัน

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

 

 

 

ชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน "พลังงานกับงานที่มีพลัง"
หัวข้อการบรรยายครั้งที่ 3 เรื่อง "ทางเลือกของพลังงาน"
ผู้นำเสวนา : เดชรัตน์ สุขกำเนิด
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 / เวลา 14.00 น. ณ สวนอัญญา จ.เชียงใหม่

สมเกียรติ ตั้งนโม : ชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในวันนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 ของหัวข้อ"พลังงานกับงานที่มีพลัง" ซึ่งได้รับเกียรติจากอาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาบรรยายในเรื่อง"ทางเลือกของพลังงาน"

อาจารย์เดชรัตน์ เคยได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาพูดในชั้นเรียนแบบนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่อง"การประเมินผลกระทบสุขภาพ"(HIA) ภายใต้หัวข้อ"คนจนตายอย่างไร?" ปัจจุบันได้มีการถอดเทปเรียบร้อยแล้ว และได้เผยแพร่บนเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (ผู้สนใจ กรุณาคลิกไปดูที่หน้าสารบัญของเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) ความยาวประมาณ 32 หน้ากระดาษ A4 สำหรับรายการในวันนี้ผมต้องขอรบกวน อ.ชัชวาล ปุญปัน เป็นผู้รับผิดชอบต่อจากผม เพราะท่านเป็นผู้มีความรู้ทางด้านพลังงานอีกท่านหนึ่ง สังกัดภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่