โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๘๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (Febuary, 10, 02, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐)

10-02-2551

Thai Nation & Thainess
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
รัชกาลที่ ๖: ปัญหาใหญ่ในการนิยามชาติไทยและความเป็นไทย
รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานวิจัยต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอรับมาจากผู้วิจัย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำหรับโครงการ:
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)"
โดย รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

เฉพาะผลงานวิชาการในส่วนนนี้นำมาจาก บทที่ ๓ ของงานวิจัยข้างต้น คือ
การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
โดยปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยสาระสำคัญเป็นเรื่องของการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเผชิญกับปัญหา ดังต่อไปนี้
- การต้องพิสูจน์ว่า ทรงมีพระปรีชาสามารถไม่น้อยไปกว่ารัชกาลที่ผ่านมา
- การทำให้ประชาชนยอมรับการนำของพระองค์และยอมรับพันธกิจในบริบทสังคมที่แตกต่าง
- ความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับเจ้านายและข้าราชการ
- ปัญหาการแข่งขันกับ "ชาตินิยม" ที่เสนอโดยข้าราชการ คนจีน, และลูกจีนหรือจีนสยาม
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๘๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๓๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++

การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
รัชกาลที่ ๖: ปัญหาใหญ่ในการนิยามชาติไทยและความเป็นไทย
รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความนำ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปัญญาชนสำคัญ ที่สืบทอดความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางรากฐานไว้ คือ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ซึ่งมีพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นหัวใจ อันส่งผลให้ "เมืองไทยนี้ดี" แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสร้างความหมายที่ชัดเจนและมีพลังขึ้นมา พร้อมกับทรงพยายามปลูกฝังความหมายดังกล่าวลงไปในความรู้สึกนึกคิดของคนทุกชั้นในประเทศสยาม โดยที่มโนทัศน์ที่พระองค์ทรงเน้น ส่วนใหญ่ได้รับการเลือกสรรมาสืบทอดโดยปัญญาชนหลายคนในช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 จนมีผลต่อ "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย" ของคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง

ในรัชกาลที่ 6 ปัญหาใหญ่ทางการเมืองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญโดยตรงมีหลายประการ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการนิยามความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ของพระองค์

- การต้องพิสูจน์ว่า ทรงมีพระปรีชาสามารถไม่น้อยไปกว่ารัชกาลที่ผ่านมา
- การทำให้ประชาชนยอมรับการนำของพระองค์และยอมรับพันธกิจในบริบทสังคมที่แตกต่าง
- ความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับเจ้านายและข้าราชการ
- ปัญหาการแข่งขันกับ "ชาตินิยม" ที่เสนอโดยข้าราชการ, คนจีน, และ "ลูกจีน" หรือ "จีนสยาม

ปัญหาสำคัญประการแรก คือการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ภายหลังพระมหากษัตริย์ที่ทรงประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง ทำให้พระองค์ต้องพยายามพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำพาประเทศไปสู่ความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองไม่น้อยไปกว่ารัชกาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องานนมัสการพระบรมรูปทรงม้าประจำปีในวันที่ 23 ตุลาคม ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับรัชกาลของพระราชบิดาได้รับการผลิตซ้ำจนแจ่มชัดในความรู้สึกนึกคิดของคนทั้งปวง ความคิดในเรื่องที่พระองค์จะต้องทรงหาทางสร้างความนิยมให้สูงเด่นทัดเทียมกับรัชกาลพระราชบิดานี้ เป็นที่ตระหนักในหมู่ชนชั้นนำในเวลานั้น จนกระทั่งปรากฏอยู่ในหนังสือ ที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์สวนลุมพินี พระพุทธศักราช ๒๔๖๘ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว...เสด็จผ่านถวัลยาธิปัติเถลิงสยามรัฏฐสีมาอาณาจักรนั้น พระองค์ต้องทรงประสพพระราชภาระอันมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์...ข้อที่นับว่ายากก็คือ พระองค์จำต้องดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระชนกนาถซึ่งได้ทรงปกครองทะนุบำรุงประเทศมา โดยพระบรมราชปรีชาญาณอันสุขุมคำภีรภาพตลอดรัชกาลอันเนิ่นนาน อาศัยพระบรมราชจริยาวัตร์ประเสริฐยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ยังได้ทรงปลูกฝังความนิยมให้แน่นแฟ้นอยู่ในน้ำใจชาวชนผู้เป็นพศกนิกรแห่งพระองค์ ..มหาชนพากันแตกตื่นมา...นมัสการพระบรมรูปทรงม้า ...นับเข้าในวันนักขัตฤกษประจำปีสำหรับเปนวันรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คงสถิตเปนอนุสาวรีย์อยู่มิรู้ลืม การเป็นดังนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ จึงจำต้องเผชิญกับปัญหากิจการอันไม่ใช่ง่ายนัก คือความดำรงพระองค์อยู่ในพระราชฐานะอันสูงเด่นสำหรับความนิยมของทวยราษฎร์เสมอด้วยสมเด็จพระบรมชนกาธิราช... (1)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเองทรงสำนึกในปัญหาพระสถานภาพของพระองค์เมื่อเทียบกับพระราชบิดาตั้งแต่ต้นรัชกาล จึงไม่ทรงพอพระราชหฤทัยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสถาปนาความคิดเรื่อง "สมเด็จพระปิยมหาราช" ขึ้นมา ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ (2)

กล่าวได้ว่า "ปัญหา...อันมิใช่ง่าย" คือจะทำอย่างไรให้พระองค์ทรง "อยู่ในพระราชสถานะอันสูงเด่นสำหรับความนิยมของทวยราษฎร์เสมอด้วยสมเด็จพระบรมชนกาธิราช" ดังกล่าวมานี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงเร่งนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อจะทำให้เจ้านาย ข้าราชการ และพสกนิกรทั้งปวง ได้สำนึกในความสำคัญสูงสุดของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่ง "ชาติไทย" ซึ่งจะทรงบันดาลความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชาติและทุกคนในชาติ

ปัญหาสำคัญประการที่สอง คือการทำให้ประชาชนยอมรับการนำของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุด และยอมรับพันธกิจต่าง ๆ ที่ประชาชนมีต่อรัฐ ในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยรัชกาลที่ 5

ลายพระหัตถ์ที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 มาแล้ว ที่ราษฎรเริ่มขาดความเชื่อมั่นในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ และราษฎรเริ่มต้องการเสนอความคิดเห็นของตน ดังความว่า

...นับแต่ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของราษฎรในพระบรมราโชบายดูเบาบางลงมาก เกิดความเห็นว่าทำอย่างนั้นจะดีกว่า อย่างนี้จะดีกว่า ทำอย่างนั้นเปนการเดือดร้อนแก่ราษฎร อย่างนี้เปนประโยชน์แก่ราษฎร ความคิดดังนี้มีแพร่หลายก็เนื่องจากราษฎรมีความรู้มากขึ้น...โดยที่ได้ทรงพระมหากรุณาจัดการศึกษาให้เจริญขึ้นโดยเร็วพลัน ผิดกว่าแต่ก่อนมาก... (3)

ปัญหาข้างต้นทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อราษฎรประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์ข้าวในระหว่าง พ.ศ.2453-2454 และ พ.ศ.2460-2462 และรัฐบาลได้เพิ่มภาระด้านภาษีแก่ประชาชนเพื่อแก้ปัญหางบประมาณขาดดุลและการลดลงของเงินคงคลัง เช่น อัตราอากรค่านาเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว และค่าธรรมเนียมรูปพรรณโคกระบือเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าตัว (4) ในเวลานั้นความสำนึกในความสำคัญของราษฎรได้เกิดขึ้นแล้ว ดังปรากฏว่ามีการเสนอภาพของชาวไร่ชาวนาในฐานะที่เป็น "ผู้กระทำการหัตถกรรมเปนกระดูกสันหลังของชาติ" (5) ดังนั้น การทำให้ราษฎรจงรักภักดีต่อผู้ปกครองและระบอบการปกครองจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเห็นความสำคัญ

เพื่อให้ราษฎรยอมรับการนำของพระมหากษัตริย์และยอมรับพันธกิจต่าง ๆ ที่ประชาชนมีต่อพระองค์ด้วยความเต็มใจ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนิยามความหมายของ "ชาติไทย" โดยเน้นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ต่อ "ชาติไทย" เพื่อให้ราษฎรมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ และยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ดังจะเห็นได้ว่า พระองค์ได้ทรงนิยามความหมายของคำว่า "ความจงรักภักดี" ให้หมายถึงการ "ความยอมเสียสละ" ดังความว่า

ความจงรักภักดีแปลว่ากระไร?
แปลว่า "ความยอมสละตนเพื่อประโยชน์แห่งท่าน" คือถึงแม้ว่าตนจะต้องได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ตกระกำลำบาก หรือจนถึงต้องสิ้นชีวิตเป็นที่สุด ก็ยอมได้ทั้งสิ้น เพื่อมุ่งประโยชน์อันแท้จริง ให้มีแก่ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ผู้ที่จะยอมเสียสละเช่นนี้ได้ โดยไม่รู้สึกเสียดายเลย ต้องเป็นผู้ที่ถึงแล้วซึ่งความรุ่งเรืองขั้นสูง จึงจะเข้าใจซึมซาบว่าตนของตนนั้น แท้จริงเปรียบเหมือนปรมาณูผงก้อนเล็กนิดเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแห่งภูเขาใหญ่ที่เรียกว่าชาติ และถ้าชาติของเราแตกสลายไปเสียแล้ว ตัวเราผู้เป็นผงก้อนเดียวนั้นก็จะต้องล่องลอยตามลมไป สุดแท้แต่ลมจะหอบไปทางไหน...ผู้ที่เข้าใจจริงแล้วจึงไม่รู้สึกเลยว่าการเสียสละส่วนตัวใด ๆ จะเป็นข้อควรเป็นห่วงหวงแหน นี้เป็นความจงรักภักดีแท้จริง (6)

ปัญหาสำคัญประการที่สาม คือความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับเจ้านายและข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เสนาบดีบางพระองค์ทรงมีอำนาจมากเกินไป เพราะทรงสั่งสมพระบารมีมายาวนานตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับความจงรักภักดีจากข้าราชการในกระทรวงมากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เนื่องจากระบบราชการสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเป็นระบบที่เสนาบดีมีอำนาจสูงสุดในกระทรวง ทั้งในการจัดสรรงบประมาณ การพิจารณาความดีความชอบ ตลอดจนการฝึกฝนอบรมและการให้ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การปฏิบัติราชการ

แต่เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามทำให้ข้าราชการขึ้นตรงต่อพระองค์ รวมทั้งข้าราชการในระบบมณฑลเทศาภิบาลที่เคยขึ้นต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาก่อน ทำให้เสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย ส่วนข้าราชการก็ยากจะมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับพระมหากษัตริย์ เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้นอยู่เสมอว่าข้าราชการนั้นมีสถานะที่ต้อง "ช่วยในพระราชภาระ...ตามพระราชประสงค์" (7) และทรงเตือนข้าราชการว่า "จงประพฤติตามพระบรมราโชวาท ช่วยเปนกำลังของเราให้ทุกตำแหน่งน่าที่" (8)

แต่ในรัชกาลที่ 6 นี้ โครงสร้างของข้าราชการได้เปลี่ยนไปมากแล้ว นอกจากจำนวนข้าราชการจะเพิ่มมากขึ้น ยังปรากฏว่าข้าราชการมีภูมิหลังที่หลากหลายกว่าเดิม มิได้มีแต่คนในตระกูลผู้ดีดังที่เคยเป็นมาในอดีต ข้าราชการส่วนที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น และเป็นข้าราชการที่มีความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของตนเองอย่างสูง จนรู้สึกไม่พอใจได้โดยง่ายหากจะต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งโดยไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ดังนั้น จึงเป็นการยากมากที่จะทำให้ข้าราชการถวายความจงรักภักดีอย่างเต็มที่จนกระทั่งยอมทำงานในสถานะ "ผู้ช่วย" ของพระมหากษัตริย์ที่พร้อมจะทำทุกอย่างตามพระราชประสงค์ โดยปราศจากความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งในสภาวการณ์เช่นนี้ ความขัดแย้งและความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับข้าราชการย่อมจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นธรรมดา

กล่าวได้ว่าปัญหาความสัมพันธ์กับเจ้านายและข้าราชการ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างความหมายใหม่ให้แก่ "พระมหากษัตริย์" โดยการสร้างจินตนาการ "ชาติไทย" ขึ้นมา แล้วทำให้คนทั้งหลายตระหนักว่า "ชาติไทย" จำเป็นต้องมีประมุขของชาติ มิฉะนั้น "ชาติไทย" ก็จะไม่สามารถอยู่รอดและเจริญก้าวหน้าได้เลย นับเป็นการสร้างความหมายของ "พระมหากษัตริย์" โดยการเชื่อมโยงให้เกิดความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่าง "พระมหากษัตริย์" กับ "ชาติไทย" เพื่อให้คนทั้งปวงที่ "รักชาติไทย" ได้เกิด "ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์" อย่างเต็มที่ วิธีการเช่นนี้เป็นทางออกที่จำเป็นในบริบทที่พระมหากษัตริย์ไม่อาจทำให้ข้าราชการจงรักภักดีโดยตรงต่อพระองค์

จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 8 ปี ที่เสด็จกลับมาประทับอยู่ในเมืองไทย ก่อนที่พระราชบิดาจะเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญในระบบราชการ อีกทั้งยังทรงปลีกพระองค์ไปอยู่ท่ามกลางมหาดเล็กที่ใกล้ชิด และใช้เวลาจำนวนมากไปในการพระราชนิพนธ์ มากกว่าจะทรงพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้านายและข้าราชการ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ การณ์จึงเป็นไปดังที่พระราชบิดาทรงกริ่งเกรงมาตั้งแต่ ร.ศ.113 (พ.ศ.2437) นั่นก็คือ "จะไม่คุ้นเคยกับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งในกรุงและหัวเมือง ก่อนเวลาซึ่งจะต้องเปนผู้บังคับ จนเปนเหมือนหนึ่งคนที่เข้ามาใหม่ ไม่รู้จักผู้ใดตลอดจนอาณาประชาราษฎร" (9)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแตกต่างจากพระราชบิดามาก ในแง่ที่พระราชบิดาทรงมีเครือข่ายความสัมพันธ์กว้างขวาง จากการสร้าง "พระคุณ" ต่อเจ้านายและข้าราชการจำนวนมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีมหาดเล็กใกล้ชิดแวดล้อมแน่นหนา จนกระทั่งเจ้านายและข้าราชการ "ผู้มีชาติตระกูลสูง" ส่วนใหญ่ ไม่สามารถจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าในระบบราชการของเจ้านายและข้าราชการ "ผู้มีชาติตระกูลสูง" แต่ละคนโดยตรงเท่านั้น เจ้านายและข้าราชการเหล่านี้ยังต้องวิตกกังวลต่ออนาคตของบุตรหลานในตระกูล ซึ่งได้ถูก "ผู้มีชาติตระกูลต่ำ" แย่งเอาตำแหน่งระดับสูงในระบบราชการไปเป็นอันมาก กล่าวคือ มหาดเล็กที่ทรงใช้สอยใกล้ชิดนั้น "บางคนก็เป็นเชื้อสายจีนลูกจีน บางคนก็เป็นลูกหลานชาวปักษ์ใต้ บางคนก็ติดหน้าตามหลังข้าราชการผู้ใหญ่เข้ามา" (10) แม้แต่เจ้าพระยารามราฆพและเจ้าพระยาอนิรุทธเทวา ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมากที่สุด ก็เป็นแต่เพียงหม่อมหลวงในสกุลพึ่งบุญเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีถึงความไม่พอใจของ "ผู้มีชาติตระกูลสูง" ในเรื่องนี้ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่นายรองสนิท (กุหลาบ) มีความตอนหนึ่งว่า "มีบางคนรู้สึกเหมือนหนึ่งว่า เจ้ามาแย่งที่ซึ่งควรจะเปนของสำหรับเฉพาะแต่ลูกผู้มีบรรดาศักดิ์ ทำให้คนชั้นนั้น ขาดประโยชน์ที่ควรจะมีแก่เขาไปอย่าง ๑" (11) ดังนั้น จึงเป็นการยากที่"ผู้มีชาติตระกูลสูง" ทั้งหลาย ซึ่งเคยได้รับการชุบเลี้ยงมาอย่างดีในสมัยรัชกาลที่ 5 และเคยรู้สึกถึงความมั่นคงของตระกูลตนเองมานานตราบจนกระทั่งเกิดการ "ผลัดแผ่นดิน" จะยังคงมีความจงรักภักดีอย่างเต็มที่ต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นไปได้ด้วยว่าในเวลาต่อมา "ผู้มีชาติตระกูลสูง" ส่วนหนึ่ง จะถึงกับสูญเสียความเชื่อมั่นต่อคุณงามความดีของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยงบุคคลที่มิได้เป็น "ลูกผู้มีบรรดาศักดิ์" ให้มีอำนาจ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งน่าจะส่งผลให้เสนาบดีและข้าราชการระดับสูงทั่วไปรู้สึกหวั่นไหว คือการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้มี "คณะกรรมการตรวจรายรับรายจ่ายเงินแผ่นดิน" ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการเงินของกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธาน และมีกรรมการอื่นอีก 4 คน โดยกรรมการหลายคนเป็นคนชาติตะวันตกที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการระดับสูง ซึ่งไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจของเสนาบดีและข้าราชการชั้นสูงในกระทรวงต่าง ๆ กรรมการทั้งสี่คนประกอบด้วย พระยากัลยาณไมตรี ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน, นายวิลเลียมสัน ที่ปรึกษาราชการกระทรวงการคลัง, นายเกรแฮม ที่ปรึกษาราชการกระทรวงเกษตราธิการ, และพระยารัษฎากรโกศล เจ้ากรมสรรพากรใน

ในพระราชหัตเลขา "แต่งตั้งกรรมการตรวจรายรับรายจ่ายเงินแผ่นดินในกระทรวงต่าง ๆ ทุกกระทรวง" ที่พระราชทานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเสนาบดีทุกกระทรวง มีข้อความตอนหนึ่งว่า

ด้วยเวลานี้รายรับเงินแผ่นดินหาใคร่จะพอกับรายจ่ายไม่ ต้องคิดตัดรายจ่ายเข้าหารายรับทุก ๆ ปีมา...กระทำให้ความเจริญของบ้านเมืองเดินช้าไปไม่ควรแก่กาลสมัย สมควรต้องคิดจัดรายรับให้ทวีขึ้น...แลควรคิดตัดรายจ่ายที่ยังไม่ถึงเวลาจำเป็นจริง ๆ ...ความเจริญของบ้านเมืองจะได้เดินเร็วขึ้น แต่ก่อนที่จะคิดจัดการเรื่องนี้ จำเปนต้องได้ทราบรายรับรายจ่ายในกระทรวงต่าง ๆ เสียให้ละเอียดถ่องแท้ก่อน จึงจะเปนทางดำริห์ได้สะดวก...เพราะฉะนั้นจึงได้ตั้ง...รวม ๕ นาย เปน กรรมการตรวจรายรับรายจ่ายเงินแผ่นดินในกระทรวงต่าง ๆ ทุกกระทรวง ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงจัดการให้กรรมการได้ตรวจโดยสะดวก (12)

นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงพยายามเข้าไปตรวจสอบในเรื่องการเงินภายในกระทรวงต่าง ๆ อย่างจริงจัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงพยายามจะรวมอำนาจเข้าสู่พระองค์มากยิ่งขึ้น และแต่ละกระทรวงมีอิสระในการบริหารราชการน้อยลง. จากหนังสือ "แต่งตั้งกรรมการตรวจรายรับรายจ่ายเงินแผ่นดินในกระทรวงต่าง ๆ ทุกกระทรวง" ฉบับที่ส่งถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 27 มีนาคม ร.ศ.130 นี้ แสดงว่าคณะกรรมการชุดนี้จะเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของเสนาบดีอย่างละเอียด เพราะระบุว่า

"แลเมื่อกรรมการจะต้องการตรวจดูสรรพหนังสือฤาบาญชี แลจะต้องการความอธิบายอย่างใด ๆ ที่เกี่ยวกับการรับแลจ่ายเงินแผ่นดิน ก็ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวง แลเจ้าน่าที่นั้น ๆ จัดหนังสือแลบาญชีให้กรรมการได้ตรวจดู แลอธิบายชี้แจงอย่างเปิดเผยต่อกรรมการ ให้กรรมการได้เข้าใจจงตลอด ...เมื่อตรวจเสร็จแล้ว กรรมการจะได้ทำรายงานมาถวาย และเมื่อกรรมการจะมีความเห็นแนะนำประการใด ก็อนุญาตให้ออกความเห็นมาในรายงานนั้นด้วย" (13)

อำนาจหน้าที่ของ "กรรมการตรวจรายรับรายจ่ายเงินแผ่นดินในกระทรวงต่าง ๆ" ดังกล่าวข้างต้น นับว่ากระทบกระเทือนต่ออำนาจของเสนาบดีเป็นอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้านายที่ทรงเป็นเสนาบดี (รวมทั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) มาตั้งแต่ต้นรัชกาล และน่าจะเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงตัดสินพระทัยนำเอาบุคคลที่มิได้เป็นเจ้านายเข้ามาดำรงตำแหน่งเสนาบดี เพื่อจะทรงมีพระราชอำนาจในการควบคุมเสนาบดีมากขึ้น พร้อมกับทรงพยายามหาทางลดพระบารมีและอำนาจของเจ้านายลง จนทำให้เจ้านายบางพระองค์ทรงไม่พอพระทัย ถึงกับกราบบังคมทูลลาออกจากราชการในเวลาต่อมา

ความขัดแย้งและความตึงเครียด ในความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้านายและข้าราชการ ปรากฏชัดในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานพระยาเทพอรชุน พระยาอุไทยมนตรี และพระยาธรรมสุกราช ดังความว่า

ตัวเราเวลานี้ตกอยู่ในที่ลำบาก ยากที่จะรู้ได้ว่าภัยอันตรายจะมาถึงตัวเราเวลาใด เพราะเรารู้สึกประหนึ่งว่า เปนตัวคนเดียว หาพวกพ้องมิได้ ฤาที่เปนพวกพ้องก็เผอิญเปนผู้ที่อยู่ในตำแหน่งอันหาอำนาจมิได้ ส่วนผู้ที่มีอำนาจน่าที่ใหญ่ในราชการนั้น เรารู้สึกว่ามีความเชื่อถือในตัวเราน้อยกว่าที่ควรจะมี เพราะฉะนั้นเราจะคิดว่ากล่าวตักเตือนอย่างใด มักจะไม่ใคร่เชื่อฟัง ถือทิฐิมานะไปว่า ตนได้เคยเปนราชการมาก่อนเราบ้าง ฤาถือว่ามีความรู้และเข้าใจความประสงค์…แลความคิดของประชาชนดีกว่าเราบ้าง… (14)

ส่วนพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานเจ้าพระยายมราช มีข้อความที่สะท้อนความรู้สึกโดดเดี่ยวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกัน

…ฉันจึ่งเปนผู้ที่หาพวกพ้องไม่ได้เลย ยืนอยู่คนเดียว ข้อนี้ปรากฏชัดเจนอยู่ เมื่อแรกรู้ข่าวอ้ายพวกทหารคิดการกำเริบกันขึ้น ไม่มีใครที่จะแสดงความเดือดร้อนเลย…ข้อวิตกของฉัน…คือวิตกว่า ถ้าแม้มีคนเลือดร้อนบังอาจคิดการเช่นที่ทำมาแล้ว…ข้าราชการไทยก็จะพากันตั้งตัว "เปนกลาง" และข้าราชการไทยเราพากันใจเย็นคอยแต่ "เปนกลาง" อยู่เช่นนี้ ไม่ช้าก็จะเปนขี้ข้าชาวต่างประเทศโดยไม่รู้สำนึกตัวเลย (15)

หนังสือเจ้าพระยายมราชที่กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เจ้าพระยายมราชซึ่งเป็นเสนาบดีที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและพระราชทานอำนาจให้มากที่สุดนั้น เป็นบุคคลที่ได้รับความเกลียดชังและถูกด่าว่า จนกระทั่งตกอยู่ในสภาวะที่เจ้าพระยายมราชเองระบุว่า "อดทนต่อการประหัตประหารส่วนตัวเปนอย่างยิ่ง เขาด่าให้ข้าพระพุทธเจ้าก็นิ่ง" อีกทั้งเจ้าพระยายมราชยังรู้สึกด้วยว่าชีวิตของตนตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง ถึงกับกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดูแลครอบครัวให้ ในกรณีที่เจ้าพระยายมราชถูกทำอันตรายจนถึงแก่ชีวิต (16)

แม้แต่กองทัพซึ่งเป็นกลไกอำนาจอันสำคัญยิ่งก็ยังปรากฏว่า จนถึงช่วงปลายรัชกาลที่ 5 แล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงรู้สึกอยู่เสมอว่าเป็นกองทัพส่วนพระองค์ของพระราชบิดา มีพระราชอนุชาของพระองค์ คือสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นผู้บังคับบัญชา หาใช่กองทัพของพระองค์ไม่ (17) ซึ่งเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงรู้สึกบาดหมางพระทัยมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ "กบฏ ร.ศ.130" ซึ่งนายทหารบางคนในคณะผู้ก่อการมีความต้องการให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระองค์ (18)

ปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดทางการเมืองดังกล่าวข้างต้นนี้ หากไม่รีบแก้ไขแต่ต้นมือแล้ว ในระยะยาวก็อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มาก การสถาปนามโนทัศน์ "ชาติไทย" ให้มีความหมายที่ทำให้คนทั้งปวงสำนึกในความสำคัญสูงสุดของ "พระมหากษัตริย์" จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงดำเนินการอย่างเต็มที่ เพราะหากประสบความสำเร็จในการทำให้คน "รักชาติ" ก็จะส่งผลให้เกิด "ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์" ซึ่งทรงเป็นพระประมุขของชาติได้โดยง่าย

ด้วยความจำเป็นดังกล่าวมานี้ ความหมายของ "พระมหากษัตริย์" ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้นจึงแตกต่างจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังจะเห็นได้ว่า

- สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้น "พระมหากษัตริย์" ที่ราษฎร "รัก"
ด้วยพระคุณสมบัติและพระราชกรณียกิจของ"พระมหากษัตริย์" เอง

- แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้นความจงรักภักดีต่อ "พระมหากษัตริย์"
อันเกิดแต่ความสำคัญของพระองค์ต่อ "ชาติไทย" เป็นสำคัญ

ปัญหาสำคัญประการที่สี่ คือปัญหาการแข่งขันกับ "ชาตินิยม" ที่เสนอโดยข้าราชการ, คนจีน, และ "ลูกจีน" หรือ "จีนสยาม" ซึ่งทำให้ปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทบทุกพระองค์มีความจำเป็นที่จะต้องนิยามความหมายของ "ชาติไทย" ให้มีพลังเหนือกว่า เพื่อจะมี "อำนาจนำ" คือครอบงำความรู้สึกนึกคิดของคนทั้งประเทศ และเบียดขับ (exclude) กระแสชาตินิยมของ "ข้าราชการ", "คนจีน", และ "จีนสยาม" ออกไปจากพื้นที่ทางอุดมการณ์ของ "ชาติไทย". ปัญหานี้กระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งพระราชอำนาจเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนจำนวนหนึ่งสมาทานแนวความคิดทางการเมืองแบบสาธารณรัฐนิยม และดำเนินการเผยแพร่แนวความคิดดังกล่าวไปสู่มหาชน

ในช่วงต้นรัชกาล "กลุ่มทหารหนุ่ม" หรือ "กลุ่มกบฏ ร.ศ.130" ได้เสนอความหมายของ "ชาติไทย" ที่ท้าทายพระราชอำนาจ เพราะนิยามว่าชาติคือราษฎร (19) "ทหารกบฏ" คนหนึ่งซึ่งถูกจับได้ ให้การว่า "นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์พูดว่า พวกเราควรจะซื่อตรงต่อชาติไทยของเรา ไม่ควรจะคิดกตัญญูต่อคน ๆ เดียว...คือพระเจ้าอยู่หัว" (20) เอกสารที่เขียนโดยผู้นำของกลุ่ม เรื่อง "ว่าด้วยความเสื่อมทรามแลความเจริญของประเทศ" ระบุว่า " ถ้าทำให้ชาตแลบ้านเมืองมีความเจริญ ฝูงคนทั้งหมด ซึ่งเปนชาตเดียวกัน ก็จะได้รับความสุขความสบายทั่วทุกคน" เป้าหมายสำคัญของกลุ่มนี้ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรืออย่างน้อยก็ต้องเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์

ร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ ผู้นำคนหนึ่งของคณะทหารหนุ่ม ในเหตุการณ์ ร.ศ.130 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการก่อการว่า "เพื่อจะหาอำนาจใส่ชาตไทย เพื่อมิให้อัประยศแก่ชาตอื่นเขา" และยังกล่าวด้วยว่าเงินเดือนที่ทหารได้รับนั้นมาจากราษฎร ทหารจึงต้องทำหน้าที่ปกป้อง "ชาติไทย" "เพื่อไม่ให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนที่จะเปนข้าเขา คงให้ดำรงเปนชาตไทยอยู่" (21) ทหารอีกคนหนึ่งให้การว่า เหตุที่เขาเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการก็เพราะต้องการทำให้ชีวิตราษฎรดีขึ้น เพราะเงินเดือนของทหารมาจากภาษีที่เก็บจากราษฎร "ราษฎรจึงเปนนายข้าราชการ มิใช่กษัตริย์" (22)

กลุ่ม "ทหารหนุ่ม" มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเซียวฮุดเส็งและครอบครัวของเขา ซึ่งเป็นนักชาตินิยมจีนที่สนับสนุนฝ่ายก๊กมินตั๋ง นอกจากนี้ในการประชุมของกลุ่มก่อการ ร.ศ.130 ยังมีผู้นำของพวก "จีนสยาม" เข้าร่วมประชุมด้วย แสดงถึงการมีความสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างกัน รวมทั้งความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ที่เน้นว่าเป็น "ชาติของราษฎร" และการแสวงหาหนทางใหม่ ๆ ในการทำให้ "ชาติไทย" เจริญ เพื่อให้ราษฎรมีความสุข (23)

กระแส "ชาตินิยมจีน" ของคนจีนในประเทศสยาม ทวีความเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวอย่างเด่นชัดเกิดขึ้นในต้นทศวรรษ 2450 เป็นต้นมา ในต้นทศวรรษดังกล่าวนี้ ประเทศสยามประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตบางส่วน ทำให้นายทุนชาวจีนซึ่งเคยได้รับความคุ้มครองโดยอำนาจทางกฎหมายและอำนาจทางการเมืองของอังกฤษหรือฝรั่งเศส ในฐานะที่เป็นคนในบังคับของชาติดังกล่าว เกิดความหวั่นวิตกในความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนการสูญเสียอภิสิทธิ์ต่าง ๆ จึงร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในรูปของสมาคมที่แตกต่างไปจากเดิม คือเป็นการรวมตัวกันของชาวจีนทุกกลุ่มสำเนียงในสมาคมเดียวกัน นับเป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันในฐานะที่เป็นคน "ชาติจีน" ด้วยกัน (24)

ในช่วงเวลานั้น ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศจีน ส่งผลให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายก๊กมินตั๋งดำเนินการหาความสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเล. ในวันที่ 1 ธันวาคม 2451 ซุนยัตเซ็นเดินทางเข้ามาอภิปรายที่สโมสรจีนกรุงเทพฯ ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมจีนด้วยการโจมตีว่า คนไทยใช้อำนาจกดขี่ชาวจีนและทำให้ชาวจีนกลายเป็นชาติต่ำต้อย ระยะนี้เซียวฮุดเส็งนายกสมาคมถุงเหมิงฮุ่ย อันเป็นสมาคมลับที่สนับสนุนก๊กมินตั๋ง ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหว ถึงขั้นที่สามารถผลักดันสมาคมลับของจีนแคะสองแห่ง ที่เคยแข่งขันกันให้มารวมตัวกันทำงานเพื่อ "ชาติจีน" ปรากฏว่าหลังจากพรรคก๊กมินตั๋งได้ชัยชนะในประเทศจีน สมาคมชาวจีนในสยามซึ่งมีกรรมการหลายคน เช่น ยี่กอฮง (พระยาอนุวัตน์ราชนิยม), อึ้งยุกหลง ล่ำซำ, โกศล ฮุนตระกูล ฯลฯ ก็ยิ่งทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองคึกคักมากขึ้น (25) ดังนั้น ความคิด "ชาตินิยมจีน" ของคนกลุ่มนี้ จึงมีอิทธิพลต่อกลุ่ม "ลูกจีน" หรือ "จีนสยาม" มากทีเดียว

ตัวอย่างหนึ่งของชาวจีน ที่เคลื่อนไหวด้วยแรงผลักดันของชาตินิยมจีนอย่างต่อเนื่อง คือกรณีของ เหียกวงเอี่ยม ซึ่งจะเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของสมาคมพาณิชย์จีนหรือเซียงหวย ในปลายทศวรรษ 2470. เหียกวงเอี่ยม เป็นผู้มีความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างโดดเด่น ถึงกับเรียกตัวเองเป็นผู้ "รักชาติยิ่งชีพ" (26) ส่วน เซียวฮุดเส็ง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ เป็นปัญญาชนที่มีอิทธิพลสูงมากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้เสนอแนวคิดเรื่อง "ชาติ" ที่เน้นราษฎรโดยรวม หรือมองราษฎรเป็น "เพื่อนร่วมชาติ" โดยที่ "ชาติ" จะเจริญได้ "เพราะราษฎรชาวเมืองมีวิชาความรู้ ประกอบกับสามัคคีธรรมที่มีต่อกันระหว่างรัฐบาลกับชาวเมือง" (27) หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ของเซียวฮุดเส็ง เสนอความเห็นเกี่ยวกับ "ชาติไทย" และ "ความสามัคคีในชาติ" ดังนี้

เราทั้งหลายซึ่งเปนชาติไทย พึงมีความสามัคคีปรองดองกัน บำรุงพระมหากษัตริย์เจ้าของเราให้มีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล บำรุงประเทศสยามของเราให้ตั้งมั่นอยู่โดยสวัสดิภาพ และบำรุงเพื่อนร่วมชาติของเราให้มีความสุขความเจริญโดยประการทั้งปวง... เมื่อท่านจะทำกิจการอันใดเกี่ยวกับราษฎร จะต้องอาไศรยความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง หรือว่าย่อ ๆ ถ้าท่านรักนับถือตัวท่านเองฉันใด ท่านจะต้องรักและนับถือราษฎรอันเปนเพื่อนร่วมชาติกับท่านฉันนั้น นี่เปนสามัคคีธรรมที่ฝ่ายผู้ปกครองจะพึงปฏิบัติ (28)

กลุ่ม "ลูกจีน" หรือ "จีนสยาม" เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ส่วนใหญ่แล้วได้รับการศึกษาในโรงเรียนสมัยใหม่ในประเทศสยาม เฉพาะโรงเรียนอัสสัมชัญแห่งเดียว ในเวลา 50 ปี ระหว่าง พ.ศ.2428-2478 ก็ได้ผลิตนักเรียนจำนวนถึง 10,612 คน ซึ่งมีความรู้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มีธุรกิจอยู่ในประเทศสยาม บางคนได้ผลิตงานเขียนในฐานะที่เป็นปัญญาชนของสังคมสยามใหม่ โดยที่หลายคนมีหนังสือพิมพ์ของตนเอง (29) เข้าใจว่าแนวความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ที่คนกลุ่มนี้เสนอ มีอิทธิพลมากและเป็นอันตรายต่อพระราชอำนาจมากที่สุด เนื่องจากมีหนังสือพิมพ์และวารสารเป็นสื่อในการเผยแพร่ความคิดอย่างกว้างขวาง ในรัชกาลที่ 6 นี้ ประเทศสยามมีหนังสือพิมพ์ถึง 22 ฉบับ และวารสารอีก 127 ฉบับ

ในบรรดาชาวจีนเลือดผสมหรือ "ลูกจีน" ที่มีบทบาทด้านชาตินิยมมาก เช่น นายเล็ก โกเมศ, นายเจือ เพ็ญภาคกุล, นายเอก วีสกุล, นายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง, นายซุ่นใช้ คูตระกูล ฯลฯ หลายคนมีส่วนช่วยการต่อสู้ในประเทศจีน พร้อมกันกับการเสนอแนวคิดชาตินิยมไทย แต่ส่วนใหญ่แล้วมีกิจกรรมทางชาตินิยมอยู่ในประเทศสยาม (30) บางคนเป็นผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ซึ่งทำให้สามารถสื่อสารกับคนในวงกว้าง (31) หลายคนรวมตัวกันเป็น "สโมสรสยามจีนางกูร" เพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม คนเหล่านี้ล้วนได้รับการศึกษาในประเทศสยามและสามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถสื่อสารความรู้สึกนึกคิดกับคนไทยได้สะดวก (32)

ในบรรดา "ลูกจีน" เหล่านี้ มีบางคนเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับ "ชาติ" ที่ตรงกันข้ามกับแนวความคิดที่ปัญญาชนของรัฐเสนอ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ซึ่งนำโดยนายเล็ก โกเมศ ได้แสดงความคิดเห็นว่า เมืองไทยยังไม่ใช่เป็นเมืองสำหรับคนไทยจริง ๆ แต่เป็นเพียงบ้านเช่า และยังประกาศอย่างโจ่งแจ้งในบทความว่า "ชาติ" คือราษฎร" ส่วน หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ก็ประกาศว่าจะยึดหลักการใช้ภาษาของราษฎรซึ่งเป็น "ภาษามารดร" พร้อมกับโจมตีเจ้านายที่นิยมใช้ภาษาอังกฤษในการสนทนากัน (33) นอกจากนี้ชาวจีนเลือดผสม ยังมีบทบาทในการส่งเสริมและขยายวัฒนธรรมของคนชั้นกลางในเขตเมือง เช่น ละครไทย ภาพยนตร์ไทย นวนิยายไทย และศิลปะการชกมวยไทย เป็นต้น แนวคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ที่คนเลือดผสมจีน-ไทยเสนอผ่านสื่อนานาชนิด เป็น "ชาติ" ในความหมายว่าคือประชาราษฎร์ หรือประชาชนซึ่งมีสายสัมพันธ์จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และอนาคต (34)

โรงเรียนจีนซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังความคิดที่เป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากความคิดชาตินิยมจีนแล้ว ยังพยายามเผยแพร่แนวคิดอื่น ๆ ของลัทธิไตรราษฎร์ คือความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง ตลอดจนอุดมการณ์สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ (35) ซึ่งความคิดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และส่งผลให้ "ลูกจีน" บางคนวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยพื้นฐานความคิดที่ปฏิเสธการแบ่งชั้นทางสังคมตามหลักชาติวุฒิ ทั้งนี้โดยอาศัยสถานะที่เป็นคนในบังคับของชาติมหาอำนาจ เพื่อช่วยเป็นเกราะป้องกันตัวจากอำนาจของรัฐบาลสยาม

นอกจากการเคลื่อนไหวทางความคิดของกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในรัชกาลที่ 6 ยังมีการเสนอความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" โดย ขุนนางเก่า ที่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ คือพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งได้เขียนหนังสือ เศรษฐวิทยา หรือทรัพยศาสตร์ ขึ้นมา ตอนต้นของหนังสือเรื่องนี้กล่าวว่า "เราเกิดอยู่ในแผ่นดินใด ก็ต้องนับว่าเราเป็นราษฎรหรือชาติซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินนั้นอยู่ด้วยคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองก็เป็นคุณประโยชน์แก่เรา" (36) เห็นได้ชัดว่าแนวคิดที่พระยาสุริยานุวัตรเสนอนี้ เน้นถึงการที่ราษฎรเป็นเจ้าของชาติ และทุกคนใน "ชาติ" มีส่วนได้ส่วนเสียกับ "ประโยชน์ของชาติ"

พระยาสุริยานุวัตรยังได้เสนอให้หาทางสร้าง "คนชั้นกลาง" ขึ้นในชาติ พร้อมกับเน้นให้แก้ปัญหาความยากจนของราษฎร และเรียกร้องให้ "ชาวเรา" ช่วยกันคิดด้วยว่า "ทำประการใดอำนาจของชาวเราจึงจะมีน้ำหนักถ่วง (ชาวจีน)" รวมทั้ง "ต้องหาทางปิดกัน (ชาวจีน) อย่างใดอย่างหนึ่ง" ทั้งนี้ เป็นความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจของ "ชาติ" มีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อราษฎรทั่วไป (37)

เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ทั้ง "ชาตินิยมจีน" "ชาตินิยมจีนสยาม" หรือ "ชาตินิยมของลูกจีน" ตลอดจนความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ของพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งนำเสนออย่างเข้มข้นในรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นความคิดที่เน้น "ชาติของราษฎร" และเน้นให้หาทางแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมที่ราษฎรได้รับ และบางกลุ่มถึงกับคิดว่า หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาของราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของชาติได้อย่างแท้จริง ก็คือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ความหมายของ "ชาติไทย" ที่คนเหล่านี้เสนอ จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเร่งนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" อย่างจริงจัง โดยเน้นความสำคัญสูงสุดของพระมหากษัตริย์ต่อ "ชาติไทย" และเน้น "พุทธศาสนา" ว่าเป็น "ศาสนาประจำชาติ" เพื่อใช้แนวความคิดทางพุทธศาสนาในการทำให้คนทั้งปวงจงรักภักดีต่อ "ชาติ" และ "พระมหากษัตริย์" ตลอดจนช่วยในการจัดระเบียบและควบคุมสังคม พร้อมกันนั้นทรงพยายามชี้ให้เห็นด้วยว่า พุทธศาสนาเหนือกว่าทุกศาสนาในโลก และเป็นแหล่งที่มาของ "ธรรมจรรยา" ที่ทำให้ "ชาติไทย" เป็นชาติศิวิไลซ์

ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง "คนอื่น" (the other) โดยเน้น "ความเป็นอื่น" ของชาวจีนที่ไม่ยอมกลายเป็นไทย (คือไม่จงรักภักดีต่อ "พระมหากษัตริย์" ซึ่งเป็นผู้นำแห่ง "ชาติไทย" และไม่ยอมพูด "ภาษาไทย") ซึ่งต่างกับนโยบายในรัชกาลของพระราชบิดาและพระราชปิตุลา เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงขัดขวางการ "เข้าพวกกัน" ในหมู่ชาวจีน แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระราชดำริว่า "ความคิดถังยูไวแลซันยัดเซนสองจำพวกนี้...เปนธรรมดาที่ใคร ๆ จะต้องเห็นว่าถังยูไวคิดใกล้เข้าถูกมากกว่า...แต่ผลมาถึงเมืองเราไม่ดีทั้งสองทาง เราไม่อยากให้มีโปลิติคัลโอปิเนียนในหมู่พวกจีนในเมืองเราเลย" (38) ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเน้นแนวความคิดเรื่อง "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" เพื่อให้สามารถระดมความร่วมมือจากชาวจีน พร้อมสร้างความร่วมมือหรือความสมานฉันท์ระหว่างชาวสยามกับชาวจีนเพื่อลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ลงไป

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับชาวจีน ก็เพราะในรัชกาลของพระองค์ "โปลิติคัลโอปิเนียนในหมู่พวกจีน" ได้ขยายอิทธิพลออกไปอย่างรวดเร็วจนเป็นอันตรายต่อพระราชอำนาจ พระองค์จึงทรงสร้างความสำนึกในการต่อต้านชาวจีนขึ้นมา

ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญเช่นเดียวกับพระราชบิดา ก็คือ การที่จะต้องทรงเลือกว่าจะรับวัฒนธรรมตะวันตกในเรื่องใด และจะรักษา "ความเป็นไทย" ในแง่ใดเอาไว้ ในสภาวการณ์ที่ได้เกิด "คนสมัยใหม่" ที่รับอิทธิพลทางความคิดจากตะวันตกและต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นแบบตะวันตกในทุกด้าน ปรากฏว่า ทรงตัดสินพระทัยเช่นเดียวกับพระราชบิดา คือการรักษา "ความเป็นไทย" ในด้านวัฒนธรรมหรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบมีลำดับชั้นเอาไว้ มิใช่ปล่อยให้บุคคล "มีอิสรภาพ...โดยบริบูรณ์" ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเน้น "ความเป็นไทย" แบบจารีตนิยมมากขึ้น (39) เพื่อตอบโต้และต่อต้านกระแสความคิดใหม่ ๆ ที่เน้นให้คนมี "อิสรภาพ" พระองค์ทรงให้เหตุผลว่า "อิสรภาพ" จะทำให้เกิด "ความยุ่งเหยิง" ดังความว่า

คนสมัยใหม่...มักพอใจแสดงว่าลักษณะแห่งชาติอันรุ่งเรืองแท้ก็คือ "ต้องมีอิสรภาพแก่บุคคลทุกคนโดยบริบูรณ์" ...วาทะอันนี้เป็นการแสดงลัทธิอันหนึ่ง เมื่อนำลัทธินั้นมาใช้ในกิจการสำหรับทุก ๆ วันแล้ว ก็ย่อมบังเกิดความยุ่งเหยิงได้เป็นอันมาก (40)

ทรงเน้นว่า "คนสมัยใหม่" เหล่านี้ มักจะคิดว่าชาติตะวันตกมีอะไรดีกว่าไทยอย่างมากมาย และต้องการเลียนแบบชาติตะวันตกทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองแบบมีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ทรงมีพระราชดำริว่าคนเหล่านี้ต้องการเปลี่ยนแปลงแบบ "ล้มกระดาน" ซึ่งพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วย ทรงพระวิตกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ว่า

เมื่อ "สยามใหม่" ถูกครอบงำด้วยแนวคิดที่ว่า "จะเสียอะไรก็ไม่ว่า ขอให้ก้าวหน้าก็แล้วกัน" ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนทั้งหลายจะคิดว่าการที่จะเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงนั้น เราจะต้องหันหลังให้กับทุก ๆ ที่อยู่ในแบบแผนที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมาแต่เก่าก่อน และก็ดูเหมือนว่าวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดในการทำตัวให้เจริญก้าวหน้านั้นก็คือ ล้มกระดานและตั้งต้นกันใหม่ (41)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสนอพระราชดำริว่า การ "ล้มกระดานและตั้งต้นกันใหม่" เพื่อจะศิวิไลซ์แบบตะวันตกในทุกเรื่องนั้น เป็นอันตราย เพราะว่า "ความเจริญ (ซิวิไลเซชั่น) ของชาวยุโรป เปนสิ่งซึ่งได้ฆ่าชาติที่อ่อนมาแล้วมาก ถึงชาติที่มีกำลังก็ดี ถ้า "ซิวิไลซ์" มาก ๆ ขึ้นแล้ว ก็มักอ่อนแอลง...เรานี้ก็กลัวโรค "ซิวิไลซ์" นี้และยิ่งกว่าโรคอื่น" (42)

ในบริบทที่ทรงปกครองรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำเป็นต้อง "พยายามอนุรักษ์ขนบประเพณีแบบแผนต่าง ๆ ของไทย" (43) เพราะ "ความเป็นไทย" ดังกล่าวนี้ จะช่วยจรรโลงโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นและความสูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มีความมั่นคง

ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชิดชูเอกลักษณ์แห่ง "ความเป็นไทย" ในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบจารีต ที่เน้นคุณค่าในเชิงความวิจิตร ประณีต สวยงาม ละเอียดอ่อน หรือเน้นในเชิงฝีมือช่างที่ทำได้ยาก ซึ่งนอกจากจะช่วยจรรโลงระบบ "ฐานานุศักดิ์" แล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความเป็นชาติเก่าแก่ที่มีความศิวิไลซ์มาแต่โบราณ ซึ่งจะช่วยให้คนใน "ชาติไทย" เกิดความภาคภูมิใจและความรักใน "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" อีกด้วย (44) เป็นที่น่าสังเกตว่า "พระราชนิยม" ในเรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความคิดประการหนึ่งที่แพร่หลายในสังคมตะวันตกในเวลานั้น คือกระแสความคิดที่ต่อต้านการผลิตแบบอุตสาหกรรม ด้วยการหวนกลับไปนิยมหลงใหลงานศิลปะโบราณที่ทำด้วยฝีมือของมนุษย์ กระแสความคิดเช่นนี้เป็นบริบทที่เอื้ออำนวยให้พระองค์ทรงดำเนินพระบรมราโชบายฟื้นฟูงานศิลปะและช่างฝีมือแบบจารีตของไทย โดยไม่ต้องหวั่นวิตกว่า "ชาติไทย" และ "พระมหากษัตริย์ไทย" จะถูกมองโดยชาติตะวันตกว่ายังป่าเถื่อนหรือล้าหลัง

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้น "ความเป็นไทย" ในทางศิลปะ ด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีตและสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นงานช่างสิบหมู่ ตั้งโรงเรียนเพาะช่าง และจัดงานแสดงศิลปหัตถกรรมถึง 12 ครั้ง เพื่อนำเสนอฝีมือช่างและศิลปะแบบจารีตในอดีตของสยาม กระแสต่อต้านอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตกดังกล่าวข้างต้น ทำให้ "ศิลปะไทย" ช่วยยืนยันว่า "ชาติไทย" เป็นชาติเก่าแก่ที่มีมรดกทางศิลปะและช่างฝีมือในระดับสูงเป็นของตนเอง ไม่แพ้ชาติทั้งหลายในทวีปยุโรป (45)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงให้เห็นอยู่เสมอว่า "ชาติไทย" มี "ภูมิธรรม" อันเป็นสากลหรือเป็นเช่นเดียวกันกับ "ภูมิธรรม" ของชาติตะวันตก และยังมีส่วนที่เหนือกว่า "ภูมิธรรม" ของชาติอื่น ๆ รวมทั้งของชาติตะวันตกด้วย เช่น พระพุทธศาสนาซึ่ง "เป็นของไทย" (46) นี้ "เป็นศาสนาที่ควรผู้มีสติปัญญาจะนับถือยิ่งกว่าศาสนาอื่น ๆ" (47) ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนาไม่เชื่อใน "สิ่งซึ่งเรียกว่าขลัง คือมีกำลังฤทธิ์ กำลังอำนาจ...บันดาลให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปในโลกนี้" (48) "พระพุทธองค์...เป็นผู้ดำรงความสัตย์มั่นคงยิ่งนัก...นำเอาแต่ความที่เป็นจริง, ที่รู้จริง, ที่เห็นจริง มาแสดงให้แก่เรา, มิได้ใช้อุบายหลอกลวงประการใด" (49) และที่สำคัญก็คือ "แลเห็นได้ว่า แท้จริงพระพุทธเจ้าของเราได้เป็นผู้มีกำเนิดดี สมควรเป็นที่นับถือของเราทั้งหลาย" (50) แตกต่างจากศาสดาของศาสนาอื่นอย่างตรงกันข้าม

"ศาสดาของศาสนาอื่น ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เยซูมีกำเนิดต่ำ, กำเนิดอยู่ในตระกูลคนที่ต่ำ...เป็นพ่อค้าต่ำ ๆ ...ส่วนพระมะหะหมัดเดิมเป็นคนไพร่ทีเดียว.. .เดิมเป็นคนจน แล้วตั้งศาสนาขึ้น กลับเป็นคนมีเป็นคนใหญ่ในกรุงอาเรเนีย, อยู่ข้างได้กำไรอยู่มาก" (51)

ในการแสดงให้เห็น "ความเป็นไทย" ซึ่งมีทั้งด้านที่เป็นสากลและด้านที่เหนือกว่าชาติอื่นนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่า แท้ที่จริงแล้วพระองค์ทรงเป็นผู้ "สร้าง" ความหมาย หรือทรงเลือกสรร "ความเป็นไทย" บางประการมาเน้นให้เป็น "หลักอันดี" หรือเป็น "ภูมิธรรมของชาติ" ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในที่หนึ่งว่า "จึงได้พยายามประดิษฐานภูมิธรรมของชาติ กล่าวคือตั้งหลักอันดี" (52) อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงพยายามแสดงให้ปรากฏอยู่เสมอว่า "ความเป็นไทย" ซึ่งเป็น "หลักอันดี" หรือเป็น "ภูมิธรรมของชาติ" ที่พระองค์ทรงประดิษฐานขึ้นนี้ล้วนแล้วแต่มีมาแล้วใน "ชาติไทย" ตั้งแต่สมัยโบราณ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์จำนวนมาก เช่น "เมืองไทยจงตื่นเถิด", "ประโยชน์แห่งการอยู่ในธรรม", "หลักราชการ", "ความเป็นชาติอันแท้จริง", และ "เทศนาเสือป่า" เป็นต้น

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงสถาปนาสถาบันทางวรรณคดี อันได้แก่ "วรรณคดีสโมสร" เพื่อแสดงให้เห็นว่า "ชาติไทย" มีความเจริญรุ่งเรืองทางวรรณคดีระดับสูง ซึ่งบ่งบอกถึง "ภูมิธรรม" ที่ "ชาติไทย" มีอยู่อย่างทัดเทียมกับชาติอารยะทั้งหลายในระดับสากล และเพื่อให้สถาบันนี้ได้ทำหน้าที่ในการสถาปนามาตรฐานทาง "วรรณคดีไทย" ที่คนไทยจะต้องเรียนรู้เพื่อสืบทอด "ความเป็นไทย" ในด้านวรรณศิลป์ต่อไป "วรรณคดีสโมสร" จะทำการตัดสินว่าวรรณคดีเรื่องใดมีความดีเด่นในด้านใด และดีเด่นอย่างไร ซึ่งทำให้วรรณคดีนั้น ๆ กลายเป็นมาตรฐานที่คนไทยยกย่องและยึดถือเป็นแบบอย่างในการแต่งวรรณคดี และทำให้เคารพใน "คุณค่า" ต่าง ๆ เกี่ยวกับ "ความจริง ความดี ความงาม" ที่วรรณคดีแต่ละเรื่องได้สถาปนาเอาไว้ อันเป็น "คุณค่า" ที่จะช่วยจรรโลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มั่นคง

จะเห็นได้ว่า "วรรณคดีสโมสร" ทำหน้าที่แสดงให้คนไทยทั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 และในสมัยหลัง ได้ประจักษ์ชัดถึงสุนทรียภาพชั้นเลิศของวรรณคดีไทยที่มีมาแล้วตั้งแต่อดีต และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงแปลกับทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีขึ้นมาใหม่เป็นอันมาก ซึ่งเป็นการประกาศว่า "ชาติไทย" ในรัชกาลของพระองค์ก็ยังคงดำรงรักษาความรุ่งเรืองระดับสูงทางวรรณคดีเอาไว้ได้ พร้อมกันนั้นทรงแสดงให้เห็นด้วยว่า "ภาษาไทย" เป็นภาษาที่มีความเจริญสูงจนสามารถนำมาใช้ในการแสดงสุนทรียรส ทางวรรณคดีได้เป็นอย่างดี อันเป็นการเน้นให้เห็นคุณค่าของภาษาไทยซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นเครื่องหมายอันสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งของ "ความเป็นไทย" อันน่าภาคภูมิใจ ซึ่งผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็น "คนไทย" อย่างแท้จริงจะต้องใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันของตน (53)

จากการดำเนินพระบรมราโชบายทางวัฒนธรรมดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะรักษาวัฒนธรรมทางจิตใจ "แบบไทย" เอาไว้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงมีความจำเป็นที่จะต้องยืนยันและแสดงให้เห็นว่า "ความเป็นไทย" ทางจิตใจนี้มิได้ป่าเถื่อน แต่มีความศิวิไลซ์ไม่ต่างจากวัฒนธรรมตะวันตก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงย้ำอยู่เสมอ ในพระราชดำรัสและพระราชนิพนธ์ถึง "ความเป็นไทย" ที่มี "ภูมิธรรม" แบบสากล โดยทรงใช้คำต่าง ๆ หลายคำเพื่อหมายถึง "ความเป็นไทย" นี้ เช่น "ประเพณีประพฤติธรรมจรรยาอย่างไทย", "ธรรมเนียมไทยเรา", "ธรรมประเพณีที่ไทยเราได้เคยใช้", "ประเพณีแบบแผนอันใช้มาแต่โบราณ", "นิติธรรมของเราแต่โบราณ" ฯลฯ ทรงเน้นอยู่เสมอว่า ถึงแม้ "ความเป็นไทย" นี้จะมีลักษณะเฉพาะ แต่ใน "ความเป็นไทย" มี "วิญญาณ" หรือมี "ภูมิธรรม" ที่เป็นสากลเหมือนกับวิญญาณหรือภูมิธรรมของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ทรงให้เหตุผลว่า"เพราะหลักแห่งธรรมย่อมเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้อยู่อย่างเดียวในโลก และถึงสิ่งไร ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป หลักแห่งธรรมจะมีเวลาคร่ำคร่าหรือดับสูญไปหามิได้" (54) "ถึงแม้จะทิ้งประเพณีประพฤติธรรมจรรยาอย่างแบบไทย ใช้แบบฝรั่งแทน ในที่สุดก็คงได้ผลคล้ายคลึงกันนั้นเอง เพราะหลักแห่งธรรมย่อมเหมือนกันหมดทั้งโลก" (55) และ "สิ่งไรที่เป็นความดีหรือความชั่ว, ว่ากันโดยที่เป็นหลักของการแล้ว, ย่อมเหมือนกันทั้งโลก" (56)

ภายใต้ตรรกะข้างต้นนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงระบุอยู่เสมอว่า "ความเห็นของข้าพเจ้านั้น มีหลักที่จะอ้างได้ ในพวกนักปราชญ์ทั้งในทางรัฐศาสตร์และในทางกฎหมายที่เลื่องลือที่สุดในยุโรป" (57) ทรงเน้นด้วยว่าหลักการที่ทรงเสนอนั้น เป็นหลักการที่ปราชญ์ทุกชาติทุกภาษาย่อมยกย่อง พร้อมกันนั้นก็ทรงเน้นว่า ในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ทรงเป็นผู้นำในการทำให้ "ชาติไทย" ศิวิไลซ์ และดำรงอยู่ในสังคมโลกอย่างเท่าเทียม ดังเห็นได้จากการที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงได้รับพระราชทานพระราชอิสริยยศ เป็นนายพลพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ ในขณะที่ "สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ...ทรงรับคำเชิญของเราให้ทรงรับพระยศเป็นนายพลพิเศษในกองทัพบกสยาม" (58) และกองทัพไทยก็ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาติมหาอำนาจในยุโรป โดยที่ธงไตรรงค์ของไทยโบกสะบัดเคียงคู่ธงของชาติมหาอำนาจเหล่านั้น (59)

ทั้งการส่งทหารไปร่วมรบในยุโรป และการใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ มีความสำคัญต่อการนิยามความหมายของ "ชาติไทย" ในรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก นอกจากการส่งทหารไปร่วมรบจะช่วยยืนยันความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างชาติไทยกับชาติต่าง ๆ ในยุโรปแล้ว ยังมีความหมายในแง่ที่ช่วยยืนยันว่า "ชาติไทยเป็นชาตินักรบ" อีกด้วย หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ ได้ตีพิมพ์ข้อความที่สะท้อนการเน้นความคิด "ชาติไทยเป็นชาตินักรบ" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้

"การที่ทหารอาษาได้นำธงไชยของเราไปร่วมการสงครามกับมหาอำนาจสัมพันธมิตร แลได้เดินสวนสนามในมหานครต่าง ๆ พร้อมกับทหารในกองทัพของมหาประเทศนั้น ย่อมเปนการนำเกียรติยศของเราผู้มีสัญชาติเปนไทยทุก ๆ คน ไปเผยแผ่ให้ฟุ้งขจร...ให้นานาประเทศในยุโรปเห็นความองอาจสง่าผ่าเผยของชาติไทยซึ่งสืบสายโลหิตมาจากนักรบแต่บุราณกาล (60)

ความพยายามที่จะสร้างจินตภาพว่า "ชาติไทยเป็นชาตินักรบ" ปรากฏอยู่เสมอในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น

สยามยงอยู่ด้วย เสรี-ภาพแฮ
เพราะบรรพบุรุษเรา รักชาติ
เป็นไทยอยู่พันปี ไป่เสื่อม
เราลูกนักรบกาจ กลั่นแกล้ว เดิมมาฯ (61)

หรือใน ปลุกใจเสือป่า ระบุว่า

ไทยเราไม่เหมือนชาติที่ตั้งตัวขึ้นใหม่ เราเปนชาติที่ตั้งตนได้มานานแล้ว จนมีสมบัติสั่งสมไว้แล้ว คือความเปนปึกแผ่นและความเปนไทย อันเปนสมบัติซึ่งชนกของเราได้หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง...และยอมสละชีวิตร์เลือดเนื้อเพื่อหาสมบัติอันนี้สั่งสมไว้ เราทั้งหลายที่เกิดมาเปนลูกหลาน ได้รับมรฎกอันนี้แล้ว จึ่งควรต้องพยายามรักษาสมบัติอันนี้ไว้ให้มั่นคง และถ้ายิ่งสามารถทำสมบัตินั้นให้งอกงามขึ้นได้ด้วยอีกก็ยิ่งจะดี สมควรเปนไทย ลูกหลานนักรบแท้ ๆ (62)

ส่วนใน เทศนาเสือป่า ทรงเน้นว่า

ต้องเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเวลานี้ ไม่มีแห่งใดในโลกที่ถือว่ารู้จริงเท่าในเมืองไทยเรา...มั่นคงอยู่แต่ในเมืองไทยเท่านั้น, จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่เป็นเชื้อชาตินักรบ ต้องรักษาพระศาสนาอันนี้ให้คงอยู่ในเมืองไทย...เพื่อให้เป็นมฤดกแก่ลูกหลานเราทั้งหลาย ให้เขารักษากันต่อไปยั่งยืน, เป็นเกียรติยศแก่ชาติเราชั่วกัลปาวสาน (63)

การเน้นความเป็น "ชาตินักรบ" นี้ มีความสำคัญในแง่ของการทำให้คนรู้สึกรักชาติและพร้อมที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ชาติ เพราะ "นักรบ" เป็นสัญลักษณ์ที่ดีของความรักชาติและสามารถเสียสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อชาติ

สำหรับการใช้ "ธงไตรรงค์" เป็น "ธงชาติ" นั้น ไม่เพียงแต่จะทรงมีพระราชประสงค์ให้ธงชาติไทย "ให้เปนสามสีตามลักษณธงชาติของประเทศที่เปนสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่มาก" เท่านั้น ยังเป็นเพราะ "สีน้ำเงินนี้เปนสีอันเปนศิริแก่พระชนมวาร นับเปนสีเครื่องหมายฉเภาะพระองค์ด้วย" (64) แถบสีน้ำเงินซึ่งอยู่กลางผืนธงสื่อความหมายถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในฐานะ "หัวใจของชาติไทยและความเป็นไทย" ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ "วัตถุ" เช่นศิลปะและสถาปัตยกรรมในการกล่อมเกลาให้คนทั้งปวงมีจิตใจที่ "ซาบซึ้ง" ในคุณค่า "ความเป็นไทย" ที่มีศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นสูงเป็นตัวแทน เพื่อเน้นพระราชอำนาจและความสำคัญของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอุปถัมภ์ศิลปะและวัฒนธรรมเหล่านั้น

ในการหล่อหลอมจิตใจคนให้ซาบซึ้งใน "ความเป็นไทย" นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามทำให้คนไทยตระหนักด้วยว่า "ความเป็นไทย" ที่ทำให้ชาติไทยศิวิไลซ์ได้นั้น เป็นเรื่องของ "ใจ" และ "ความประพฤติ" ที่อยู่ในทำนองคลองธรรม ตามหลักการที่ทรงถือว่า "ความซิวิไลซ์...อยู่ที่ใจและความประพฤติอันเป็นไปโดยความบังคับแห่งใจนั้นต่างหาก" (65) และ "ชาติใดมีพลเมืองที่ประพฤติอยู่ในทำนองคลองธรรมมากที่สุด ชาตินั้นแลเป็นชาติที่ศิวิไลซ์แท้จริง" (66) การเน้น "ใจ" ที่ "เป็นไทย" หรือ "ความเป็นไทยทางจิตใจ" นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้คนที่ "เป็นไทย" ยอมรับโครงสร้างสังคมแบบมีลำดับชั้น และมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า "งานศิลปะไทย" ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมแบบจารีตที่ทรงส่งเสริมนั้น ตอบสนองโครงสร้างสังคมแบบมีลำดับชั้นและความสูงส่งของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียดและลวดลายซับซ้อนที่เน้นระเบียบแบบแผนในระบบความสัมพันธ์ที่คนมีฐานานุศักดิ์แตกต่างกันอย่างเคร่งครัด โดยพระมหากษัตริย์ทรงดำรงพระสถานะสูงสุดในโครงสร้างดังกล่าว (67) แบบแผนและมาตรฐานเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แล้วจะมีความพยายามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการเปลี่ยนรูปแบบศิลปะให้มีลักษณะเรียบง่าย เพื่อให้ศิลปะสะท้อนอุดมคติใหม่คือความเสมอภาคทางสังคม แต่ "ศิลปะไทย" แบบที่ได้รับการวางรากฐานไว้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงเป็นแม่แบบของงานศิลปะที่เรียกว่า "ศิลปะไทย" สืบต่อมาในสมัยหลัง เนื่องจากในทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้ศิลปะและวัฒนธรรมแบบจารีตได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง (68)

++++++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกไปอ่านต่อบทความเกี่ยวเนื่อง)



เชิงอรรถ

(1) ที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์สวนลุมพินี พระพุทธศักราช ๒๔๖๘ กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์, 2470. หน้า 110.

(2) ราม วชิราวุธ (นามแฝง) "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" ศิลปวัฒนธรรม 23, 6 (เมษายน 2545): 148-152. โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม กรุงเทพฯ: มติชน, 2546. หน้า 147-150.

(3) ห.จ.ช., ร. 6 ก. 1/12 ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(4) ชูศรี มณีพฤกษ์, "เศรษฐกิจไทยในช่วง พ.ศ.2452-2475" ใน เศรษฐกิจไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2535.
(5) ที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์สวนลุมพินี พระพุทธศักราช ๒๔๖๘ . หน้า 145.
(6) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2515. หน้า 123-124.

(7) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,"พระราชดำรัสตอบพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา" ใน ที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์สวนลุมพินี กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์, 2470. หน้า 116. (เน้นโดยผู้วิจัย).

(8) เรื่องเดียวกัน. (เน้นโดยผู้วิจัย).

(9) ห.จ.ช., ร.5 ว.22/1 พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ
ลงวันที่ 5 มีนาคม ร.ศ.113.

(10) จันทรรัตน์ ประวาลปัทม์, "การศึกษาเปรียบเทียบราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6" วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521. หน้า 148.

(11) ห.จ.ช., ร.6 รล.5/1 พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ข้าราชการในราชสำนัก วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ร.ศ.129.

(12) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ 100/1143 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการตรวจรายรับรายจ่ายเงินแผ่นดินในกระทรวงต่าง ๆ ทุกกระทรวง ลงวันที่ 27 มีนาคม ร.ศ.130 จิตรา พรหมชุติมา (รวบรวม), เอกสารประวัติศาสตร์ การบริหารการปกครองกระทรวงมหาดไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย, 2539. (เน้นโดยผู้วิจัย).

(13) เรื่องเดียวกัน.

(14) ห.จ.ช., ร.6 ม. 36 ก/6 พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยาพระยาเทพอรชุน พระยาอุไทยมนตรี และพระยาธรรมสุกราช. วันที่ 8 มิถุนายน ร.ศ.131.

(15) ห.จ.ช., ร.6 บ.3.1/64 เล่ม 4 เรื่องเจ้าพระยายมราช.
(16) ห.จ.ช., ร.6 บ./3.1/64 เล่ม 2 หนังสือเจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 30 กันยายน ร.ศ.133.

(17) มัทนา เกษกมล, "การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เรื่องการเมืองและการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2453-2468)," วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517. หน้า 153.

(18) เรื่องเดียวกัน, หน้า 153.

(19) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 11 มีนาคม 2543. หน้า 11.

(20) ห.จ.ช., ร.6 บ.17/4 คำชี้แจงนายร้อยตรีบรรจบ วันที่ 5 มีนาคม ร.ศ.130.
(21) ห.จ.ช., ร.6 บ.17/5 คำชี้แจงนายร้อยตรีเหรียญ วันที่ 4 มีนาคม ร.ศ.130.

(22) ห.จ.ช., ร.6 บ.17/6. อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต หน้า 11.

(23) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต หน้า 14-15.

(24) ปรารถนา โกเมน, "สมาคมจีนในกรุงเทพฯ พ.ศ.2440-2488" วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533. หน้า 136.

(25) เรื่องเดียวกัน, หน้า 142.
(26) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตร์สาร 21, 3 (2542): 6.

(27) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต หน้า 7.

(28) เซียวฮุดเส็ง, "กิจที่ควรปฏิบัติ" หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ วันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.129.

(29) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต หน้า 4-5.

(30) เรื่องเดียวกัน, หน้า 6-7.

(31) เรื่องเดียวกัน, หน้า 8-9. เป็นที่น่าสังเกตว่านักหนังสือพิมพ์เช่น เซียวฮุดเส็งเสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจโดยมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาทางเศรษฐกิจของชาวจีนกับของชาวนาไทย ดังที่เขาวิเคราะห์ความทรุดโทรมของการค้าว่า "ผลที่ราษฎรได้เงินจากสินค้าข้าวลดน้อยลงไปนั่นแล เปนปัจจัยทำให้การค้าขายอื่น ๆ พลอยทรุดโทรมลง" (หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ 10 กุมภาพันธ์ ร.ศ.129) ซึ่งปรากฏว่าเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ข้าวในทศวรรษ 2450 กิจการของนายทุนจีนก็ได้ประสบภาวะขาดทุนถึงขั้นล้มละลายเดือนละหลายรายด้วยกัน โปรดดู ปรารถนา โกเมน, สมาคมชาวจีนในกรุงเทพฯ พ.ศ.2440-2488.หน้า 132

(32) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตร์สาร 21, 3 (2542): 7.
(33) เรื่องเดียวกัน, หน้า 9.
(34) เรื่องเดียวกัน, หน้า17.

(35) โปรดดู สุวดี เจริญพงศ์, "ปฏิกิริยาของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อความเคลื่อนไหวตามแนวความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475" วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2519. หน้า 170-280.

(36) พระยาสุริยานุวัตร, ทรัพยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ: พิฆเณศ, 2518. หน้า 4.
(37) เรื่องเดียวกัน, หน้า 178-179.
(38) ห.จ.ช., ร.5.21/14 สำเนาพระราชหัตเลขาลับถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ร.ศ.127.
(39) โปรดดูรายละเอียดข้างหน้า
(40) เรื่องเดียวกัน, หน้า 217-218.

(41) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, "Siamese Art," Siam Observer อ้างใน พิริยะ ไกรฤกษ์, ศิลปกรรมหลัง พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525. หน้า 23.

(42) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2517. หน้า 38-39. อ้างใน ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2547. หน้า 239.

(43) ข้อความนี้เป็นความเห็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งวิเคราะห์ว่า ""ทรงพยายามอนุรักษ์ขนบประเพณีแบบแผนต่าง ๆ ของไทยนั้น ก็เพราะทรงเป็นอังกฤษ คนไทยเขาไม่ทำกัน" และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังลงความเห็นด้วยว่า "พระองค์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เองก็มีการต่อสู้ว่าจะไปทางไหนแน่ ว่าจะทรงเป็นอังกฤษหรือทรงเป็นไทย พูดง่าย ๆ ว่าจะทรงเป็นฝรั่งหรือทรงเป็นไทย...ในพระองค์เองที่มีความขัดแย้งนั้นก็น่าคิด เพราะเป็นไทยในบางเวลา เป็นฝรั่งเต็มยศในอีกเวลาหนึ่ง" โปรดดู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช,"ปาฐกถานำ ศิลปกรรมสมัยใหม่" ใน บันทึกการสัมมนาศิลปกรรมหลัง พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ:สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528. หน้า 11. ผู้วิจัยไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้วิจัยเห็นว่าไม่ใช่ "มีความขัดแย้ง" ในพระองค์เอง แต่เป็นความพยายามที่จะศิวิไลซ์แบบตะวันตก พร้อมกับรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไทยเอาไว้.

(44) ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม หน้า 229-230.

(45) เรื่องเดียวกัน, หน้า 222-223.
(46) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เทศนาเสือป่า กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2539. หน้า 57.
(47) เรื่องเดียวกัน, หน้า 24.
(48) เรื่องเดียวกัน, หน้า 24-39.
(49) เรื่องเดียวกัน, หน้า 41.
(50) เรื่องเดียวกัน, หน้า 40.
(51) เรื่องเดียวกัน, หน้า 22.

(52) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วาทะพระมงกุฎ, รวบรวมโดย ส. วัฒนเศรษฐ์ กรุงเทพฯ: รุ่งวิทยา, 2506. หน้า 328.

(53) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี. หน้า 18 และหน้า 225. (เน้นโดยผู้วิจัย).
(54) เรื่องเดียวกัน, หน้า 59.
(55) เรื่องเดียวกัน, หน้า 56.
(56) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เทศนาเสือป่า หน้า 107.
(57) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี. หน้า 39.
(58) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วาทะพระมงกุฎ รวบรวมโดย ส. วัฒนเศรษฐ์, กรุงเทพฯ: รุ่งวิทยา, 2506. หน้า 145-146.
(59) ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย กรุงเทพฯ: มติชน, 2546. หน้า 59-94.
(60) ห.จ.ช., ร.6 น.20.ข/35 งานฉลองพระนครและฉลองขวัญทหารอาสา หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ 20 กันยายน 2462. (เน้นโดยผู้เขียน).
(61) อ้างใน ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 แพร่พิทยา, 2516. หน้า (19).
(62) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปลุกใจเสือป่า, พระนคร: โรงพิมพ์อำนวยศิลป์, 2484. หน้า 4. (เน้นโดยผู้วิจัย)
(63) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เทศนาเสือป่า. หน้า 66-67. (เน้นโดยผู้วิจัย)

(64) พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460" ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 30 รวบรวมโดย เสถียร ลายลักษณ์ พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2477. หน้า 391-392.

(65) เรื่องเดียวกัน, หน้า 213.
(66) เรื่องเดียวกัน, หน้า 73.

(67) ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2547. หน้า 246-248.

(68) เรื่องเดียวกัน, หน้า 413-483.

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
10 Febuary 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ตัวเราเวลานี้ตกอยู่ในที่ลำบาก ยากที่จะรู้ได้ว่าภัยอันตรายจะมาถึงตัวเราเวลาใด เพราะเรารู้สึกประหนึ่งว่า เปนตัวคนเดียว หาพวกพ้องมิได้ ฤาที่เปนพวกพ้องก็เผอิญเปนผู้ที่อยู่ในตำแหน่งอันหาอำนาจมิได้ ส่วนผู้ที่มีอำนาจน่าที่ใหญ่ในราชการนั้น เรารู้สึกว่ามีความเชื่อถือในตัวเราน้อยกว่าที่ควรจะมี เพราะฉะนั้นเราจะคิดว่ากล่าวตักเตือนอย่างใด มักจะไม่ใคร่เชื่อฟัง ถือทิฐิมานะไปว่า ตนได้เคยเปนราชการมาก่อนเราบ้าง ฤาถือว่ามีความรู้และเข้าใจความประสงค์…แลความคิดของประชาชนดีกว่าเราบ้าง (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว )
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
home
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง "คนอื่น" (the other) โดยเน้น "ความเป็นอื่น" ของชาวจีนที่ไม่ยอมกลายเป็นไทย (คือไม่จงรักภักดีต่อ "พระมหากษัตริย์" ซึ่งเป็นผู้นำแห่ง "ชาติไทย" และไม่ยอมพูด "ภาษาไทย") ซึ่งต่างกับนโยบายในรัชกาลของพระราชบิดาและพระราชปิตุลา เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงขัดขวางการ "เข้าพวกกัน" ในหมู่ชาวจีน แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระราชดำริว่า "ความคิดถังยูไวแลซันยัดเซนสองจำพวกนี้...เปนธรรมดาที่ใคร ๆ จะต้องเห็นว่าถังยูไวคิดใกล้เข้าถูกมากกว่า...แต่ผลมาถึงเมืองเราไม่ดีทั้งสองทาง เราไม่อยากให้มีโปลิติคัลโอปิเนียนในหมู่พวกจีนในเมืองเราเลย" (38) ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเน้นแนวความคิดเรื่อง "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" เพื่อให้สามารถระดมความร่วมมือจากชาวจีน พร้อมกับสร้างความร่วมมือหรือความสมานฉันท์ระหว่างชาวสยามกับชาวจีนเพื่อลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ลงไป