โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๓๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (December, 15, 12, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

15-12-2550

Bangladesh Workers
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

เมื่อการต่อสู้ของคนงานหญิง กลับไม่ได้ไปไม่ถึงไหน
ประสบการณ์บังคลาเทศ: โลกาภิวัตน์ มาตรฐานแรงงาน และสิทธิสตรี
วรดุลย์ ตุลารักษ์ : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นขบวนการแรงงาน และโลกาภิวัตน์

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของบทความนี้ คือพยายามตรวจตราการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล
ว่าทำให้กรรมกรในประเทศยากจนดีขึ้นจริงหรือไม่ ผู้เขียนตระหนักดีว่า ข้อถกเถียง
ในเรื่องมาตรฐานแรงงาน เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างสูง และเป็นเรื่องที่มีการแบ่งขั้วกัน
รวมทั้งมีข้อถกเถียงครอบคลุมหลายเรื่อง นับตั้งแต่ ข้อกล่าวหาเรื่องลัทธิปกป้องการผลิตภายในประเทศ,
การใช้วิธีการสองมาตรฐาน, และการขูดรีดแรงงาน ฯลฯ
นอกจากนี้บทความดังกล่าวยังได้สะท้อน
ให้เห็นมิติเกี่ยวกับปัญหาแรงงานในบังคลาเทศ ที่ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมของนายจ้าง
และทุนนิยมโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานหญิงที่อยู่ร่างสุดของความไม่เป็นธรรม
เกี่ยวกับกระบวนการจ้างงาน ขณะเดียวกันแรงงานหญิงก็ได้รับการปลดปล่อยจากครอบครัว
สำหรับทางออกต่อปัญหามากมายเหล่านี้ มีตัวอย่างของความพยายามแก้ปัญหาที่น่าสนใจ
ซึ่งแรงงานไทยอาจประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของความเป็นธรรมมากขึ้น
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๓๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๔.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เมื่อการต่อสู้ของคนงานหญิง กลับไม่ได้ไปไม่ถึงไหน
ประสบการณ์บังคลาเทศ: โลกาภิวัตน์ มาตรฐานแรงงาน และสิทธิสตรี
วรดุลย์ ตุลารักษ์ : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นขบวนการแรงงาน และโลกาภิวัตน์

ความนำ

"แทบทุกมุมโลก มันเป็นเรื่องน่าเศร้า...ต่อคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า… เสื้อผ้า "เมดอินบังคลาเทศ" ต้องแข่งขันกับ "เมดอินฮอนดูราส", "เมดอินฟิลิปปินส์", "เมดอินมาเก๊า", หรือเสื้อผ้าจากประเทศโลกที่สาม สถานที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยคนงานจำนวนมาก แต่คนงานไม่มีพลังกำหนดค่าจ้างแรงงานของตนให้ดีขึ้น เป็นเรื่องน่าสงสารต่อประเทศโลกที่สามอีกเช่นกัน คือ มันยากเหลือเกินกว่าจะได้งาน"
(ฺBarry Bearak, 2001)

"ฉันชื่อฟาติมา ฉันเป็นกรรมกรโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ...ในฐานะกรรมกรโรงงาน เรามีสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมาก แต่อย่างน้อย รายได้จากการทำงานก็ทำให้เราจัดการกับความเป็นอยู่ของตัวเองได้มากขึ้น ตอนนี้เราได้ยินข่าวลือมาว่าในอีก 2 ถึง 4 ปีข้างหน้า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเหล่านี้กำลังจะปิดตัวลง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเรา? บางทีคุณอาจจะรู้อยู่บ้างถึงสถานการณ์ของผู้หญิงในบังคลาเทศ ผู้หญิงมีโอกาสน้อยมากที่จะมีคนจ้างไปทำงาน และการจ้างงานผู้หญิงก็แทบไม่มีการพัฒนาไปไหนเลย การทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้ฉันและผู้หญิงอย่างฉันอีกจำนวนมาก สามารถทำงานอย่างมีเกียรติ การตัดเย็บเสื้อผ้า จึงเป็นทางเลือกเดียวสำหรับพวกเรา เราวอนขอกับพวกท่าน โปรดอย่าได้พรากงานของเราและสิทธิในการมีงานทำไปจากพวกเราเลย"
(People's Health Movement, 2002)

คำพูดทั้งสอง อธิบายปรากฎการณ์เดียวกันบนจุดยืนที่ต่างกัน คำพูดแรกเป็นของนักหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ คนหนึ่งซึ่งมองว่า เป็นความขัดแย้งของการจ้างงานที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ในโรงงานตัดเย็บในประเทศยากจน ประเทศซึ่งมีคนว่างงานจำนวนมหาศาล ในขณะเดียวกัน คนประเทศยากจนก็แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเข้าไปสู่โรงงาน. มุมมองของเขาถือเป็นตัวแทนแนวความคิดที่กำลังมีอิทธิพลต่อสื่อมวลชนในตะวันตก และช่วยยังช่วยอธิบายถึงแรงสนับสนุนให้มีการนำ "เงื่อนไขทางสังคม-social clause" ครอบคลุมถึงมาตรฐานแรงงาน (labor standards) มาผูกกับความตกลงทางการค้า ซึ่งถ้าประเทศใดไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกคว่ำบาตรทางการค้าโดยองค์การการค้าโลก (WTO)

ส่วนคำพูดที่สองเป็นของผู้หญิงบังคลาเทศคนหนึ่ง ผู้ซึ่งทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นคนๆ หนึ่งในความเศร้าที่นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันบรรยายถึง แต่สำหรับบังคลาเทศ ผู้หญิงคนไหนก็ตามที่ได้รับการจ้างงาน ถือเป็นทางเลือกใน"การทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี" หนึ่งในทางเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัด. ฟาติมา เธอเป็นผู้หนึ่ง ที่นักกิจกรรมทั่วโลกสัมภาษณ์เธอในงานประชุม International People's Health Assembly (การชุมนุมว่าด้วยเรื่องสุขภาพของประชาชนนานาชาติ) ที่บังคลาเทศ ในปี 2000. คำพูดของเธอ เป็นเสียงที่เปล่งออกจากคนงานในโลกที่สาม ประเทศยากจนที่ผู้คนไม่มีงานทำ และอาจช่วยอธิบายว่า เหตุใดพวกเธอจึงไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล (global labor standards)

บทความนี้อธิบายจากจุดยืนเดียวกันกับคำให้สัมภาษณ์ของคนงานหญิงชาวบังคลาเทศ และพยายามท้าทายแนวความคิดข้างต้นเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล อย่างไรก็ดี ผู้เขียนตระหนักดีว่า ข้อถกเถียงในเรื่องมาตรฐานแรงงาน เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างสูง และเป็นเรื่องที่มีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน รวมทั้งมีข้อถกเถียงครอบคลุมหลายเรื่อง นับตั้งแต่ ข้อกล่าวหาเรื่องลัทธิปกป้องการผลิตภายในประเทศ, การใช้วิธีการสองมาตรฐาน, และการขูดรีดแรงงาน ฯลฯ

บทความนี้มิได้สนับสนุนมุมมองที่ว่า การแข่งขันโดยปราศจากกฎระเบียบสากล จะสร้างผลประโยชน์ให้แก่กรรมกรยากจนในโลก เช่นเดียวกับความคิดที่ชวนสงสัยว่า การบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล จะทำให้กรรมกรในประเทศยากจนดีขึ้นจริงหรือ ทั้งนี้ข้อวิจารณ์การปฏิบัตตัวของหลายประเทศที่มุ่งปกป้องภาคการผลิตภายในประเทศ ใช้แนววิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมกันในระบบโลก มิได้ใช้หลักการการเสรีนิยมของตลาดแต่อย่างใด

การแบ่งงานกันทำของแรงงานในโลกาภิวัตน์

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ภายใต้ลัทธิอาณานิคม ระบบการแบ่งงานกันทำของแรงงานระหว่างประเทศ ทำให้แรงงานในประเทศยากจนทำการผลิตสินค้าขั้นต้น เพื่อส่งออกไปยังประเทศร่ำรวย ซึ่งเชี่ยวชาญในสินค้าอุตสาหกรรม หลังจากนั้น เมื่อประเทศภายใต้อาณานิคมเป็นอิสระ ก็เริ่มตั้งเป้าหมายผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า หลายประเทศตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า เพื่อสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ในทศวรรษที่ 1970 เมื่อค่าจ้างแรงงานในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มมีต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การคมนาคมและการขนส่ง การเปิดเสรีทางการค้า การผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ของตลาดสินค้า ตลาดทุน และตลาดการเงิน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลก กล่าวคือ การเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของสินค้า ทุน บริการ และแรงงาน มีความคล่องตัวมากขึ้น กำแพงภาษีและมาตรการปกป้องทางการค้าต่างๆ เริ่มลดน้อยถอยลง แบบแผนทางการค้าและการแบ่งงานกันทำของแรงงานระหว่างประเทศ เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อน

ปริมาณการค้าระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก จาก 25% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของโลก (world GNP- Gross National Product) ในช่วงทศวรรษที่1970 เพิ่มเป็น 45% ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนา เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่มขึ้นจาก 20% ในช่วง 1960 มาเป็น 60% ในช่วงทศวรรษที่ 1990

ความเจริญเติบโตของการส่งออกส่วนใหญ่ มาจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก ประกอบกันกับ
เทคโลโลยีที่เอื้อต่อการแบ่งแยกกระบวนการผลิตเป็นส่วนย่อยๆ ค่าจ้างแรงงานที่ต่างกันมากในประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนา เป็นแรงจูงใจสำคัญในการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตจากประเทศค่าจ้างแรงงานสูง กรรมกรมีการจัดตั้งเข้มแข็ง ไปสู่ประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูก องค์กรแรงงานอ่อนแอ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังได้ผลักดันผู้หญิงจำนวนมากให้เข้ามาสู่กระบวนการผลิต กลายมาเป็นกรรมกรในโรงงาน

การแข่งขันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง นำไปสู่การผ่อนปรนและลดหย่อนกฎเบียบด้านแรงงานภายในประเทศ เกิดการจ้างแรงงานแบบยืดหยุ่น เช่น แรงงานเหมาช่วง แรงงานสัญญาจ้างชั่วคราว แรงงานที่รับงานมาทำที่บ้าน การจ้างงานแบบไม่เต็มเวลา การจ้างงานที่ไม่มีความแน่นอน เป็นต้น. การจ้างแรงงานที่ยืดหยุ่นนี้ เป็นการจ้างงานที่รัฐให้ความคุ้มครองแรงงานต่ำหรือไม่คุ้มครองเลย ความเปลี่ยนแปลงข้างต้น ก่อกระแสความกลัวว่า การแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนาจะกลายเป็นการแข่งขันกันไปสู่ความตกต่ำของสวัสดิการทางสังคม

ในช่วงเดียวกัน เริ่มมีการพูดถึง"จริยธรรม"ของการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น สาธารณชนจับตามองการจ้างแรงงานของอุตสาหกรรมในประเทศโลกยากจน ในมุมหนึ่ง แนวความคิดเรื่องจริยธรรมของการค้าระหว่างประเทศ ช่วยให้เรามองถึงการขูดรีดแรงงานที่ประกอบอยู่ในตัวสินค้า ผู้บริโภคในประเทศร่ำรวย เริ่มพิจารณาว่า สินค้านำเข้าจากประเทศโลกที่สาม ใช้กระบวนการผลิตและการจ้างแรงงานอย่างไร มาตรฐานแรงงานหลัก (core labor standards) ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จึงกลายมาเป็นข้อเสนอสำคัญให้นำมาบังคับใช้ในทุกประเทศ ในฐานะของ "จริยธรรมโลก"

ทั้งนี้มาตรฐานแรงงานหลัก(core labor standard) ประกอบด้วย
- เสรีภาพในการสมาคม (freedom of association)
- สิทธิในการรวมตัวเป็นองค์กร และการเจรจาต่อรองร่วม (the right to collective bargaining)
- การยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก และ
- ขจัดการเลือกปฏิบัติในการทำงาน เป็นต้น

การเคลื่อนไหวสนับสนุน "เงื่อนไขทางสังคม"(social clause) นี้มีวิธีการที่หลากหลาย เช่น
- การบอยคอตสินค้าโดยกลุ่มผู้บริโภค
- การรณรงค์ "ระบุยี่ห้อสินค้าและการประจาน"
- "การติดฉลากทางสังคม" บนสินค้า จรรยาบรรณของบริษัท
- ข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรม ตลอดจน
- ความพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตสินค้า องค์กรเอกชน และสหภาพแรงงาน
เพื่อส่งเสริมและเฝ้าจับตามองว่า ผู้ผลิตสินค้าปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่

กระแสการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวได้ขยายตัวกว้างขวาง โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ กดดันให้นานาประเทศบรรจุมาตรฐานแรงงานไว้ในข้อตกลงทางการค้า ในฐานะ "เงื่อนไขทางสังคม" (social clause)

แนวคิด "เงื่อนไขทางสังคม" นี้ ใช้หลักการสำคัญคือ ให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization- ILO) เป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานแรงงานโลกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยองค์กรการค้าโลก สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ คว่ำบาตรทางการค้าต่อประเทศที่ไม่ปฏิบัติตาม

การถกเถียงกันเรื่องมาตรฐานแรงงาน

ในยุคเริ่มต้นของการถกเถียงเรื่องมาตรฐานแรงงาน การถกเถียงจะอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น นายจ้างและนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่ค่อนไปทางฝ่ายขวา ต่อต้านแนวคิดนี้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง เช่น สหภาพแรงงาน และกลุ่มที่ค่อนไปทางฝ่ายซ้าย สนับสนุนมาตรฐานแรงงาน โดยโต้แย้งว่า มาตรฐานแรงงานจะช่วยปรับปรุงความสามารถของแรงงาน เพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิผลในการผลิต

แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคหลัง เมื่อข้อถกเถียงในเรื่องมาตรฐานแรงงานเป็นข้อถกเถียงระดับโลก ประเด็นการแบ่งงานกันทำของแรงงานระหว่างประเทศ ยังเป็นประเด็นที่ไม่มีการหาข้อสรุปที่ชัดเจน. ในประเทศพัฒนาแล้ว รัฐบาลหลายประเทศสนับสนุนให้นำข้อกำหนด "เงื่อนไขทางสังคม" เข้าไปอยู่ในความตกลงทางการค้า เช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้บริโภค สหภาพแรงงาน กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการก้าวหน้า รวมถึงนักสตรีนิยม ในประเทศเหล่านั้นด้วย (เช่น Rohini Hensman 2000, Ronaldo Munck, 2002)

เหตุผลหนึ่งคือ ระบบการแบ่งงานกันทำของแรงงานในโลกาภิวัตน์ได้คุกคาม"งาน" ในประเทศร่ำรวย เห็นได้ว่า องค์กรสหภาพแรงงานบางองค์กรสนับสนุนการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล ด้วยเหตุผลในเรื่องของการสูญเสีย "งาน"ในประเทศของตน เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่อีกหลายกลุ่มสนับสนุนเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลอื่น นับตั้งแต่ความมั่งคั่งของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ไปจนถึงการจ้างงานที่ขูดรีดแรงงานในประเทศยากจนของบรรษัทเหล่านั้น ซึ่งเรียกว่า เป็นการละเมิดศีลธรรมขั้นร้ายแรง

ในสายตาของผู้สนับสนุนบางกลุ่ม การบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล เป็นข้อเสนอที่ทำให้แรงงานทุกฝ่ายได้ประโยชน์ กล่าวคือ เมื่อบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล ราคาสินค้านำเข้าจากประเทศยากจนจะสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น แรงจูงใจย้ายฐานการผลิตของของบริษัทในประเทศร่ำรวยก็จะลดน้อยลง ผลก็คือคนงานในประเทศร่ำรวยจะไม่สูญเสีย "งาน" ของพวกตนไป ส่วนในประเทศยากจน คนงานจะได้รับค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการภายในประเทศโดยรวม หรือกำลังซื้อภายในประเทศ เพิ่มสูงขึ้น การจ้างงานในประเทศ ก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

ในสายตาของฝ่ายคัดค้าน นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งต่อต้านการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล โดยโต้แย้งว่า การค้าระหว่างประเทศทำให้แต่ละประเทศ ต้องเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าที่ตนมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่น ในประเทศยากจน มีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ถือเป็นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) หากผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ดังนั้น การบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากลจะทำลายหลักการความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบนี้ลง เนื่องจากเป็นการบังคับให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาก็เชื่อถือในแนวความคิดนี้

ขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากลโต้แย้งอีกแบบหนึ่งว่า ระบบการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อประเทศพัฒนาแล้ว ให้มีความได้เปรียบต่อประเทศกำลังพัฒนา ความพยายามเชื่อมโยงมาตรฐานแรงงานกับข้อตกลงทางการค้า จึงเป็นเพียงรูปแบบใหม่ในการวางเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อประเทศพัฒนาแล้ว (Nicola Bullard, 2001)

นักสังคมนิยมอาฟริกันคนสำคัญวิจารณ์ว่า ในการประชุมที่เจนีวาในปี 1996 องค์กรระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยประเทศพัฒนาแล้ว ต้องการผลักดันให้เกิดมาตรฐานแรงงานสากล โดยกล่าวอ้างคำว่า "สิทธิแรงงาน" เพื่อฉาบเคลือบนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของบรรดาประเทศมั่งคั่งเหล่านั้น (Julius Nyerere, 1998) ข้อกล่าวหานี้มิได้เลื่อนลอยไปจากความเป็นจริง ประเทศพัฒนาแล้ว มักพร่ำสอนถึงความความดีงามของการค้าที่เป็นธรรมมามาโดยตลอด แต่ในยามที่พวกเขาที่เห็นว่าเหมาะสม ประเทศเหล่านั้นก็จะใช้ลัทธิปกป้องอุตสาหกรรมและปกป้องการผลิตภายในประเทศ (Oxfam, 2002)

สหรัฐฯ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้นำการค้าเสรีของโลก ใช้อิทธิพลผ่านองค์กรการเงินระหว่างประเทศ กดดันให้ประเทศต่างๆ เปิดเสรี และสหรัฐฯ เองเป็นผู้ที่คอยตอบโต้กับประเทศที่ตั้งกำแพงภาษี หรือสร้างอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าส่งออกของตน ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กลับใช้นโยบายปกป้องการผลิตภายในประเทศอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2002 รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมาย Farm Bill เพื่ออุดหนุนเกษตรกรโดยใช้วงวงเงินระยะยาวมากกว่า 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นโยบายของสหรัฐนี้ สะท้อนถึงการแข่งขันทางการค้ากับสหภาพยุโรป ซึ่งปกป้องสินค้าเกษตรของตนเช่นเดียวกัน ส่วนผลที่เกิดขึ้นก็คือ สินค้าเกษตรส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรราคาถูกจากสหรัฐฯได้

ดังเช่นถ้อยแถลงของ Tom Hakin วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ผู้ร่วมร่างกฎหมาย Farm Bill เขากล่าวว่า "นี่ไม่ใช่ กฎหมาย Farm Bill ของเยอรมัน หรือกฎหมาย Farm Bill ของจีน หรือของฝรั่งเศส แต่เป็นกฎหมาย Farm Bill ของอเมริกา เพื่อเกษตรกรชาวอเมริกัน เราควรปล่อยให้ประเทศอื่น เป็นผู้ห่วงใยและดูแลเกษตรกรในประเทศของเขาเองจะดีกว่า"

ประสบการณ์อันยาวนานของการใช้สองมาตรฐานของประเทศร่ำรวย ในการค้าระหว่างประเทศ ประกอบกับความกลัวการเชื่อมโยงระหว่างมาตรฐานแรงงงานกับข้อตกลงทางการค้า ทำให้ข้อเสนอการบังคับใช้มาตรฐานแรงงาน ถูกต่อต้านคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน

ความพยายามบังคับใช้มาตรฐานแรงงานผ่านการคว่ำบาตรทางการค้า น่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจต่อประเทศกำลังพัฒนา อย่างน้อยในระยะสั้นและระยะกลาง ส่วนผลดี เพื่อปรับปรุงมาตรฐานแรงงานมีความเป็นไปได้น้อยมาก ในทางตรงกันข้าม เป็นการขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้มาตรฐานสังคมโดยรวมลดระดับลง (Singh and Zammit, 2000) และอาจลดสวัสดิการของคนงานลงด้วย (Martin Khor: Third World Network, 1994). อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล จะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับระดับเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศใช้แรงงานราคาถูก เพื่อนำพาเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด รวมถึงระดับการพึ่งพาการส่งออก และระดับของการพึ่งพาตลาดภายในประเทศ

มุมมองจากชนชั้นล่างในโลกที่สาม

ในประเทศโลกที่สาม การถกเถียงถึงปัญหานี้ต้องใช้มุมมองที่ซับซ้อน เช่น กระบวนการในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ, ความสัมพันธ์ทางชนชั้น, มิติของหญิง-ชาย, ประสบการณ์ที่แตกต่างกันของคนงานในแต่ละแห่งที่มีต่อระบบทุนนิยม, ตลอดจนความแตกต่างของประสบการณ์ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสังคมนั้น. ในปัจจุบัน แม้ว่าชนชั้นแรงงานทั้งผองจะถูกขูดรีดมากขี้น แต่ผู้หญิงถือเป็นชนชั้นแรงงานกลุ่มใหม่ที่ก่อตัวขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีโอกาสเข้าร่วมชนชั้นแรงงานเก่าที่มีผู้ชายตัวขับเคลื่อนในการต่อสู้กับนายทุน ชนชั้นแรงงานกลุ่มใหม่นี้ ไม่ใช่กลุ่มที่ไม่ต่อสู้ แต่พวกเธอต่อสู้ในแบบของเธอเอง (Fiona Wilson, 1991)

ในส่วนต่อไปของบทความนี้ เป็นการสำรวจมุมมองจากชนชั้นล่าง จากกรณีศึกษาแรงงานหญิงในประเทศบังคลาเทศ โดยเน้นการมองไปที่ชีวิตของผู้หญิงก่อนที่จะเข้าสู่โรงงานว่าเป็นอย่างไร ? คำถามนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า, "งาน" มีความหมายแตกต่างกันต่อคนงานในแต่ละที่อย่างไร ?

อุตสาหกรรมการตัดเย็บเพื่อการส่งออกของบังคลาเทศ
สหประชาชาติจัดให้บังคลาเทศจัดอยู่ในกลุ่ม 48 ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด บังคลาเทศเป็นประเทศกสิกรรม แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร ในอดีตสินค้าส่งออกสำคัญคือ ปอกระเจาและผลผลิตจากปอกระเจา ซึ่งเคยนำรายได้เข้าประเทศเป็นรายได้หลัก แต่ต่อมาราคาผลผลิตโลกตกต่ำอย่างมาก ในทศวรรษที่ 1980 จากนโยบายอุตสาหกรรมใหม่ บังคลาเทศเริ่มส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม โรงงานตัดเย็บเพื่อการส่งออกขยายตัวขึ้น

บังคลาเทศเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ตอบสนองต่อแรงกดดันจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมนี้ เคยพึ่งพาระบบโควต้าของประเทศพัฒนาแล้ว โดยได้รับสิทธิพิเศษงดเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงสิ่งทอระหว่างประเทศ (Multi-Fibre Agreement -MFA) ระบบโควต้าและข้อตกลงสิ่งทอระหว่างประเทศ ถือเป็นกลไกหลักในการจัดระเบียบของอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อส่งออกจากประเทศด้อยพัฒนา ไปยังประเทศพัฒนาแล้ว

บังคลาเทศ สังคมชายเป็นใหญ่
นอกจากบังคลาเทศ อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาแล้ว บังคลาเทศยังจัดเป็นกลุ่มประเทศสังคมชายเป็นใหญ่ในอันดับต้นๆ ในโลก ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านศาสนา เช่นเดียวกับประเทศในทวีปอาฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง ปากีสถาน เขตที่ราบทางตอนเหนือของอินเดีย หลักการชายเป็นใหญ่นี้ เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ใช้โครงสร้างครอบครัวแบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงมักเก็บตัวและแยกตัวเองออกจากการมีตัวตนในพื้นที่สาธารณะ ครอบครัวอยากมีลูกชายมากกว่าลูกสาว ไม่เพียงแต่ผู้หญิงถูกกีดกันจากการการศึกษาและการจ้างงานเท่านั้น แต่ผู้หญิงยังไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตที่จำเป็นอีกด้วย ในภูมิภาคนี้ จึงมีอัตราการตายของผู้หญิงและเด็กหญิงในระดับที่สูงกว่าผู้ชายและเด็กชายมาก แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่น

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา บังคลาเทศปรับปรุงขึ้นจากสภาะข้างต้นบ้าง ในปี 1991 บังคลาเทศเปลี่ยนจากการปกครองระบอบทหารเต็มรูปแบบ มาเป็นประชาธิปไตยบางส่วนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก แต่ก็ยังส่งผลดีบ้าง ความยากจนเริ่มลดลง ความมั่นคงทางอาหารเริ่มมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรประมาณครึ่งหนึ่ง ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน และไม่ได้รับปัจจัยขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ

ช่วงเวลาแห่งความยากจนและการสูญเสียที่ดิน ส่งผลให้ผู้หญิงในครอบครัวยากจนต้องออกมาหางาน
ทำ ด้วยข้อจำกัดทางด้านวัฒนธรรมในการเคลื่อนย้ายแรงงานของผู้หญิง กำแพงที่กีดกันผู้หญิงในตลาดแรงงาน ประกอบกับการกีดกันที่มองไม่เห็นอันสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตในอีกจำนวนมาก ผู้หญิงบังคลาเทศ จึงเป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างที่ต่ำที่สุด ถูกขูดรีดแรงงานจากงานนอกระบบ จากการทำงานที่ไม่เป็นทางการ พวกเธอจำนวนมากเป็นคนขายของเล็กน้อยๆ เป็นคนรับใช้ เป็นโสเภณี เป็นกรรมกรรายวัน

ผู้หญิงบังคลาเทศไม่มีตัวตนในพื้นที่สาธารณะ
ผู้หญิงบังคลาเทศไม่มีตัวตนในพื้นที่สาธารณะมานานนับแต่อดีต จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อโรงงานตัดเย็บเพื่อการส่งออกขยายตัวขึ้น ก่อให้เกิดกรรมกรหญิงรุ่นแรก ส่วนใหญ่ พวกเธอมาจากครอบครัวที่ยากจน เป็นแรงงานจากชนบทอพยพเข้ามาทำงานโรงงานในเมือง เหตุผลที่แรงงานหญิงเหล่านี้เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ก็เพราะว่า ความเสียเปรียบของผู้หญิงในตลาดแรงงานของบังคลาเทศ แต่ถือเป็นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของการค้าระหว่างประเทศ (Kabeer, 2000)

นายจ้างในบังคลาเทศ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานหญิงในฐานะที่มีทักษะในการตัดเย็บ ในขณะเดียวกัน กรรมกรหญิงตระหนักว่า เหตุใดนายจ้างจึงเลือกพวกเธอ กรรมกรหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า "คุณคงเห็นว่า ในฐานะผู้หญิง เราเหมือนนกปีกหัก เราไม่มีปีกบินไปไหนมาไหน เหมือนอย่างผู้ชาย ...ผู้ชายสามารถนอนที่ไหนก็ได้ เขาก็แค่ล้มตัวลงแล้วก็หลับไป แต่ผู้หญิงทำอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องนึกถึงร่างกายของเรา ความปลอดภัยของเรา". "...สำหรับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า นายจ้ายชอบจ้างผู้หญิง เพราะว่า ผู้ชายฉลาดเรื่องโอกาสมากกว่าผู้หญิง หากนายจ้างฝึกงานให้พวกเขา เขาก็จะย้ายไปทำงานที่แห่งใหม่ แม้แต่เปรียบเทียบระหว่างเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงที่อายุมากกว่า นายจ้างมักคิดว่า ยังไงเธอเป็นก็เด็กผู้หญิง เธอไม่สามารถย้ายไปไหนได้หรอก" (Kabeer, 2000)

โรงงาน เขตอุตสาหกรรม และสหภาพแรงงาน
ในปัจจุบันมีโรงงานตัดเย็บเพื่อการส่งออกประมาณ 3,480 แห่งในบังคลาเทศ มีการจ้างคนงานประมาน 1 ล้าน 8 แสนคน. ในจำนวนนั้น เป็นผู้หญิงประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน โรงงานที่ใหญ่ที่สุดจ้างงานคนงานจำนวนหลายพันคน โรงงานขนาดใหญ่จะส่งออกสินค้า โดยตกลงกับผู้ซื้อจากต่างประเทศโดยตรง โรงงานขนาดใหญ่จำนวนมากอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone-EPZ) เขตส่งเสริมการลงทุนที่รัฐบาลยกเว้นภาษี อย่างไรก็ตาม ในเขตอุตสาหกรรมการส่งออก มีงานจ้างงานน้อยกว่า 10 % ของงานจ้างงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บ0 ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก รัฐบาลห้ามการก่อตั้งสหภาพแรงงาน แต่การจ่ายค่าจ้างแรงงานกลับสูงกว่าโรงงานส่วนใหญ่ที่เหลือ นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าจ้างในภาคการผลิตอื่นของประเทศ

ส่วนโรงงานนอกเขตอุตสาหกรรมส่งออกจะกระจายตัวอยู่รอบนอกของเมือง ประมาณ 30 % ของโรงงานเหล่านี้ ประกอบธุรกิจส่งออกโดยตกลงกับผู้ซื้อต่างประเทศโดยตรง โรงงานแต่ละแห่งจ้างคนงานประมาณ 300 ถึง 500 คน รัฐบาลอนุญาตให้ก่อตั้งสหภาพแรงงานตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ นายจ้างใช้วิธีการต่างๆ เพื่อทำลายสหภาพแรงงาน ตั้งแต่ใช้ความรุนแรงกำจัดผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน ไปจนถึงการซื้อตัวผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน. โรงงานเหล่านี้ ขยับค่าจ้างและสภาพการจ้างงานขึ้นมาบ้างจากในอดีต ซึ่งอาจสะท้อนถึงแรงกดดันจากภายนอกของผู้ซื้อในต่างประเทศ กลุ่มองค์กรผู้บริโภค และสหภาพแรงงานในประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งอาจมาจากตัวนายจ้างเองที่เริ่มตระหนักปัญหาการต่อต้านสินค้าที่ขูดรีดแรงงาน ของกลุ่มผู้ซื้อในประเทศร่ำรวย

อุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าที่เหลือในบังคลาเทศเป็น โรงงานขนาดเล็ก ร้านตัดเย็บ โรงตัดเย็บเล็กๆ ส่วนใหญ่จะรับเหมาช่วงมาจากโรงงานใหญ่ โดยถูกกำหนดเงื่อนไขให้ผลิตครบจำนวนตรงตามเวลาที่โรงงานใหญ่กำหนดไว้ ส่วนย่อยๆ ของอุตสาหกรรมนี้ ประกอบขึ้นเป็นภาคเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการขนาดใหญ่ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน. ในส่วนของการจ้างงาน กล่าวได้ว่า เป็นภาคการผลิตที่ค่าจ้างแรงงานต่ำมาก และมีสภาพการทำงานเลวร้าย

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานมักไม่ให้ความสนใจเคลื่อนไหวต่อสู้ให้กับแรงงานนอกระบบ สหภาพแรงงานในบังคลาเทศ ไม่แตกต่างจากสหภาพแรงงานในหลายประเทศ ที่มุ่งเน้นต่อสู้ร่วมกับคนงานในระบบและเพื่อคนงานในระบบ

ปัญหาการทำงานของผู้หญิง: มุมมองด้านลบต่อการจ้างงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า
งานวิจัยจำนวนหนึ่งรวมทั้งงานวิจัยของผู้เขียนเอง ศึกษาแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมตัดเย็บเพื่อการส่งออก ในแง่มุมของค่าจ้างแรงงาน สภาพการทำงาน ทัศนคติของผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเพื่อการส่งออก และศึกษาตัวอย่างผู้หญิงที่มีรายได้น้อยในภาคการผลิตอื่นๆ. จากการสำรวจความพึงพอใจของคนงานหญิงในโรงงานตัดเย็บ งานวิจัยชี้ว่า ค่าจ้างแรงงานไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลสูงสุดต่อความพึงพอใจของคนงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บ ค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมนี้โดยเฉลี่ย สูงกว่าค่าจ้างแรงงานของผู้หญิงในการจ้างรูปแบบอื่นๆ นอกจากนั้น ในอุตสาหกรรมนี้ การปฏิบัติที่แสดงถึงความแตกต่างในมิติของชายหญิง อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการทำงานนอกระบบ และการทำงานในรูปแบบอื่นๆ เช่น การทำงานโดยไม่มีค่าจ้างในครัวเรือน การทำงานในไร่นา เป็นต้น

ความไม่พอใจของคนงานหญิง
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความพึงพอใจต่อคนงาน คือ

- ความไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอของการจ่ายค่าจ้างรายเดือน แม้ว่านายจ้างจะไม่ถูกบังคับตามกฎมายให้จ่ายเงินเดือนตรงกันทุกเดือน แต่กฎหมายก็จำกัดระยะเวลาการจ่ายล่าช้าของนายจ้างเอาไว้ อย่างไรก็ตาม นายจ้างจำนวนมากไม่ปฏิบัติตาม ในหลายกรณี นายจ้างจ่ายค่าจ้างรายเดือนล่าช้าออกไปสองหรือสามเดือน บางกรณีนายจ้ายยึดค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้างเอาไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้ลูกจ้างลาออกจากงาน หลายกรณี นายจ้างให้เหตุผลในการจ่ายเงินเดือนล่าช้าว่า เป็นเพราะบริษัทผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินให้ตนล่าช้า

- การทำงานล่วงเวลา เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนงานไม่พอใจ แต่ก็มีความเห็นต่างกันในหมู่คนงานหญิง กล่าวคือ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักจะไม่พอใจหากนายจ้างบังคับให้ทำงานล่วงเวลา เนื่องจากพวกเธอมีงานที่ต้องรับผิดชอบที่บ้าน ในขณะที่ผู้หญิงที่ไม่แต่งงงาน จะพอใจการทำงานล่วงเวลาเพื่อเพิ่มรายได้

- ความปลอดภัยในโรงงาน แม้ว่าปัญหาไฟไฟม้โรงงานในบังคลาเทศได้รับความสนใจมากจากสื่อมวลชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ดูเหมือนว่า คนงานจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องไฟไหม้โรงงานมากนัก. สิ่งนี้อาจจะสะท้อนว่า นายจ้างเริ่มมีมาตรการป้องกันไฟไหม้มากขึ้น หรืออาจเป็นไปได้ว่าปัญหาไฟไหม้โรงงาน ไม่ใช่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนงาน หรือเป็นไปได้อีกว่า คนงานเผชิญปัญหาร้ายแรงจำนวนมากในชิวิตประจำวันอยู่แล้ว

- ปัญหาห้องน้ำ เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับคนงานโรงงานตัดเย็บ นายจ้างจำกัดจำนวนครั้งที่อนุญาตให้คนงานเข้าห้องน้ำ คนงานโรงงานตัดเย็บจึงมองว่า คำสั่งของนายจ้างประกอบกับระยะเวลาทำงานที่ยาวนาน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกเธอในระยะยาว ปัญหานี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนงานย้ายงาน

- ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงงาน จากการสำรวจพบว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์จำนวนน้อย เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงงาน ส่วนที่เหลือเคยรับรู้และรับฟังจากคำบอกเล่าในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศนี้ อย่างไรก็ตาม คนงานจำนวนมากถูกล่วงละเมิดทางเพศนอกโรงงาน ในช่วงระหว่างเดินไป-กลับจากบ้านและโรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น คนงานจำนวนหนึ่งเคยถูกข่มขืนนอกโรงงาน

ปัญหาทางเพศ เกี่ยวกับคนงานหญิง
รายงานวิจัยแรงงานเด็ก ในสลัมเมือง Dhaka พบว่า พ่อแม่อยากให้ลูกสาวทำงานในโรงงานมากกว่าทำงานในรูปแบบอื่น เพราะพวกเขาเชื่อว่า ในโรงงาน เด็กหญิงมีโอกาสที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่าการทำอาชีพอื่นที่เปิดโอกาสให้กับเด็กเหล่านั้น (Emily Delap, 1998) นอกจากนี้ แม่ที่ทำงานโรงงาน ก็มองว่า การทำงานโรงงานตัดเย็บในท้องถิ่น อาจจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยกว่าการทำอาชีพอื่นสำหรับเด็กผู้หญิงที่ต้องเดินทางเพียงลำพัง

อย่างไรก็ตาม Dannecker (2002) ชี้ให้เห็นว่า คำอธิบายเรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงงาน ควรระมัดระวังทัศนคติที่มองว่า ผู้หญิงเป็นผู้เฉื่อยเนือยทางเพศ ซึ่งเป็นมุมองส่วนใหญ่ของชุมชนบังคลาเทศ แต่ในความเป็นจริง พบว่า คนงานหญิงส่วนหนึ่งพบปะและคบหาผู้ชายในโรงงาน บางคนพบสามีจากการทำงานในโรงงานนั่นเอง และบางคนก็ใช้เรื่องทางเพศเข้ามาต่อรองผลประโยชน์ในการทำงาน. การปฏิบัติตัวของคนงานหญิงที่เกิดขึ้น อยู่ภายใต้วัฒนธรรมปิดกั้นผู้หญิงในการแสดงออกทางเพศของบังคลาเทศ ช่วยอธิบายว่า เหตุใดสาธารณะชนมักมองคนงานหญิงโรงงานตัดเย็บว่า เป็นผู้หญิงไม่ดี และไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชายทั่วๆ ไป อย่างจริงจังนัก

การเลี้ยงดูเด็ก เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนงานหญิง คนงานจำนวนมากต้องลาออกจากงานเมื่อแต่งงานและมีลูก แต่เมื่อลูกของพวกเธอเริ่มโตขึ้น พวกเธอก็จะกลับเข้ามาทำงานในโรงงานอีกครั้ง จากสถิติพบว่า ประมาณ 40-50% ของคนงานหญิง เป็นผู้หญิงที่แต่งงานหรือเคยแต่งงานแล้ว และส่วนใหญ่ในจำนวนนั้น เป็นคนงานหญิงที่มีลูก ผิดกับความเข้าใจโดยทั่วไปว่า คนงานหญิงโรงงานสิ่งทอจะเป็น "สาวโสดอายุน้อย" ด้วยเหตุนี้เอง ผู้หญิงส่วนใหญ่จะต้องแบ่งเวลาให้กับการเลี้ยงดูลูก ทั้งนี้คนงานบางส่วนจะส่งลูกไปให้พ่อแม่ ญาติ หรือเพื่อนบ้านในชนบท เป็นผู้เลี้ยงดู

สาเหตุอีกประการที่ทำให้คนงานหญิงมีความไม่พึงพอใจต่อการทำงานคือ หัวหน้างาน. จากงานวิจัยของผู้เขียนระบุว่า "ผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคน เชื่อมโยงปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงาน การไร้ที่พึ่งพาช่วยเหลือ กับปัญหาหัวหน้างาน เช่น การจ้องจับตาการทำงานของพวกเธอ, การปฏิบัติและการพูดจาไม่ดีต่อคนงาน" (Dannecker, 2002) การไม่เคารพศักดิ์ศรีคนงานหญิงของหัวหน้างาน ประกอบด้วยมิติของหญิง-ชาย (gender-เพศสภาพ) กล่าวคือ ผู้จัดการและหัวหน้าส่วนงาน มักไม่ค่อยจับตามองและจ้องเล่นงานคนงานชายมากเท่ากับคนงานหญิง แม้ว่าคนงานชายอาจก่อความเสียหายแก่โรงงานได้มากกว่าคนงานหญิงก็ตาม นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารมักจะไม่พึงพอใจต่อการทำงานของคนงานหญิงมากกว่าคนงานชาย (Salma Chaudhuri,1996)

คนงานหญิง กับความรู้สึกยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง
งานวิจัยของผู้เขียนและงานวิจัยอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่า ท่ามกลางความขับข้องและเจ็บปวดใจที่มีต่อสภาพการทำงานในโรงงาน แต่ขณะเดียวกันพวกเธอก็ยอมรับว่า เธอได้รับบางสิ่งบางอย่าง ผู้หญิงให้คุณค่าของ"งาน" ในโรงงานตัดเย็บ ว่าเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม "งาน" ในรูปแบบอื่นที่เธอเคยประสบมา โรงงานจึงเป็นทางเลือกอีกหนึ่งทางเลือกในจำนวนไม่กี่ทางของพวกเธอ

สำหรับคนงานหญิง การทำงานเพื่อได้รับค่าจ้างพื้นฐานอย่างปกติสม่ำเสมอ สร้างความรู้สึกถึงการยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง พวกเธอยังให้คุณค่ากับเข้าไปสู่เครือข่ายของสังคมในโรงงาน ซึ่งเข้ามาแทนที่ความโดดเดี่ยวของการมีชีวิตอยู่กับบ้านในช่วงชีวิตที่ผ่านมา พวกเธอมี"เสียง"มากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องในครัวเรือน เพราะว่า เธอมีส่วนช่วยครอบครัวด้านเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ เพิ่มพูนความรู้สึกถึงความมีคุณค่าในตัวเอง ในบางกรณี เธอก็มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระมากขึ้นด้วย (Nazli Kibria,1995, Zohir and Paul-Majunder, 1996, Margaret Newby, 1998, Kabeer, 2000, Paul Majunder and Begum, 2000, Dnanecker, 2002)

นอกจากนี้ ความสามารถในการหารายได้ของผู้หญิง ช่วยให้พวกเธอสามารถต่อรองกับครอบครัว เพื่อปรับปรุงชีวิตการแต่งงานให้ดีขึ้น ผู้หญิงบางส่วนตัดสินใจหย่าร้าง เพื่อหนีออกไปจากสภาพชีวิตการแต่งงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ บางส่วนนำรายได้ช่วยเหลือจุนเจือพ่อแม่ของตน และพวกเธอก็ยังสามารถทำอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งผู้หญิงบังคลาเทศไม่สามารถทำได้หลังจากแต่งงาน (Kabeer, 2000) ความสามารถในการมีรายได้นี้เอง ส่งผลให้คนงานหญิงบางส่วน ตัดสินใจแต่งงานเมื่อมีอายุมากขึ้น และเธอก็สามารถใช้เสรีภาพได้ในระยะเวลายาวนานขึ้นด้วย

ประเด็นที่ซับซ้อนของแรงงานหญิง
อย่างไรก็ตาม การทำงานของแรงงานหญิงในประเทศยากจน เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน ถ้าวิเคราะห์บนพื้นฐานของความเป็นจริงจากมุมมองของผู้หญิง

คนงานหญิงไม่ได้มองงานในโรงงานแบบสวยงามเกินจริง พวกเธอมองชีวิตการแต่งงานและทั้งเรื่องอื่นๆ ของชีวิตในแบบเดียวกัน พวกเธอตระหนักดีว่า พวกเธอถูกขูดรีดแรงงาน ด้วยการจ่ายค่าจ้างที่ต่ำ การปฏิบัติที่เลวร้ายต่อพวกเธอ รวมถึงความไม่ยุติธรรมในรูปแบบอื่นๆ (Dannecker, 2002) แต่ในอีกมุมหนึ่ง พวกเธอทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าจ้าง ในเงื่อนไขที่เธอมีตัวเลือกน้อยมาก

- ในอินโดนีเซีย ชี้ว่า คนงานหญิงตระหนักว่าตนถูกขูดรีดแรงงาน แต่ก็ต้องอดทนทำงานต่อไป เพื่อแลกกับประโยชน์บางอย่างที่ได้รับ

- ในตุรกี งานวิจัยพบว่า ในปัจจุบันผู้หญิงตุรกีนิยาม"การทำงาน" โดยเชื่อมโยงกับบทบาทของตนต่อครอบครัวน้อยลง การทำงานเริ่มมีความหมายในแง่ของชีวิตที่ถาวรมากขึ้น ในอดีตผู้หญิงต้องลาออกจากงานเมื่อแต่งงานและมีลูก (Eraydin and Asuman Erendil, 1999) และผู้หญิงจำนวนมากก็ตัดสินใจเข้าสู่โรงงาน ด้วยเหตุผลนานาประการ นับตั้งแต่ ความต้องการใช้ทักษะ ไปจนถึงความต้องการหนีไปจากการควบคุมการแสดงออกของผู้หญิงจากครอบครัวและจากเพื่อนบ้าน

- ทางตอนใต้ของประเทศจีน งานวิจัยระบุว่า ผู้หญิงโสดอายุน้อยจำนวนหลายพันคน อพยพจากชนบทเข้ามาทำงานในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ที่นั่นค่าแรงต่ำกว่ามาตราฐานแรงงานสากล มีสภาพการจ้างงานที่ขูดรีดแรงงาน และเป็นงานระบบสายพานที่คนงานไม่มีความก้าวหน้า อย่างไรก็ตาม กลับเป็นงานที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงในหมู่ผู้หญิงจากชนบท ผู้หญิงจำนวนมากเคยทำงานเป็นคนงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างในไร่นาของครัวเรือน แต่ในปัจจุบันพวกเธอมีโอกาสที่จะได้รับค่าจ้าง เงินเดือนของพวกเธอเพียงไม่กี่เดือน อาจมากกว่ารายได้ในปีหนึ่งของผู้ชายในหมู่บ้านยากจนที่เธอจากมา (Davin, 2001)

เราไม่สามารถปฏิเสธ "เสียง" ของหญิงสาวจำนวนมากที่เห็นพ้องกันถึงความรู้สึก ความภูมิใจในชีวิต ที่เธอสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองในฐานะกรรมกรโรงงาน ความยากลำบากในโรงงานอาจจะเป็นราคาที่เธอจ่าย หากค่าตอบแทนทำให้พวกเธอสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เธอเผชิญอยู่ในอดีต หรือเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่เธอจะต้องกลับไปเผชิญมันอีกในอนาคต (Davin, 2001)

- งานวิจัยกรรมกรหญิงในอเมริกาใต้สรุปว่า แม้ว่าการเปิดเสรีตลาดแรงงานผลักดันให้ผู้หญิงจำนวนมากเข้ามาเป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ โดยงานเหล่านั้นส่วนใหญ่ เป็นงานที่ไม่มีความแน่นอนและไม่มีความมั่นคง กระนั้นก็ตาม เงื่อนไขนี้อาจเป็นเงื่อนไขที่ดีกว่า โดยเปรียบเทียบกับตัวเลือกของผู้หญิง ในช่วงที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่ถูกผลักออกจากชนบท เนื่องจากไร้ที่ดินทำกิน โดยมีสาเหตุหลักจากการปรับโครงสร้างการเกษตรของประเทศ ผู้หญิงไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก นอกจากเป็นคนรับใช้ในบ้าน ในปัจจุบัน ผู้หญิงจากชนบทมีทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น การทำงานเป็นคนงานชั่วคราวในการผลิตเกษตรกรรมเพื่อส่งออก ทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่งผลทางอ้อมให้เกิดการปรับปรุงสภาพการจ้างคนรับใช้ในบ้านด้วย และผู้หญิงในปัจจุบันมีสิทธิที่จะเลือกเส้นทางชีวิตในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เพียงสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว (Davin, 2001)

แรงงานหญิง การจ้างงานเป็นการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ
หากมองจากมุมของผู้หญิง ประสบการณ์ของผู้หญิงในระยะแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป มีความคล้ายคลึงกับประสบการณ์ของผู้หญิงในประเทศในโลกที่สาม Nancy Fraser (1997) ชี้ว่า นักวิชาการสตรีนิยมที่วิพากษ์ว่า การจ้างงานในระบบทุนนิยมยุคแรกเริ่ม เท่ากับการจ้างแรงงานทาสที่กรรมกรไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิง (wage slavery) มองพลาดประเด็นสำคัญในมิติหญิง-ชาย

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 กระบวนพัฒนาอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนช่างฝีมือ ชาวนา ให้กลายมาเป็นกรรมาชีพ (ชาย) นับเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด เนื่องจาก คนเหล่านั้นไม่เพียงแต่สูญเสียทรัพย์สินและที่ดินของตน แต่ยังสูญเสียอำนาจในการจัดการกับ "งาน" ของตนเองด้วย. ในบริบททางสังคมเดียวกัน ด้วยเงื่อนไขความแตกต่างในมิติหญิง-ชาย ประสบการณ์ของผู้หญิงโสดอายุน้อยผู้อพยพออกจากไร่นามาสู่โรงงาน (mill) มีบางแง่มุมที่แตกต่างออกไป แม้การทำงานในโรงงานจะเป็นการทำงานอย่างยาวนาน มีการควบคุมการทำงานอย่างเข้มข้น ชีวิตส่วนตัวมีอิสระน้อยมาก แต่เมื่ออยู่นอกโรงงาน กรรมกรมีเสรีภาพมากขึ้นโดยเปรียบเทียบ ชีวิตส่วนตัวเป็นอิสระขึ้นจากการที่มีตนเองได้รับค่าจ้างตอบแทนจากการทำงาน สำหรับพวกเธอ ในมุมหนึ่ง การจ้างงานเป็นการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระด้วย

นอกจากนี้ โรงงานเป็นส่วนหนึ่งในหลายส่วนในชีวิต สำหรับคนงานหญิง ค่าจ้างแรงงานทำให้เธอมีสถานภาพอื่นในพื้นที่สาธารณะด้วย เช่น ในฐานะ "ผู้บริโภค" ในตลาดสินค้า ส่วนสถานภาพในครัวเรือน เมื่อก่อนพวกเธอถูกคาดหวังให้เป็นแรงงานที่ไม่มีค่าจ้างตอบแทน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำทางสังคม ซึ่งอำนาจและความไม่เท่าเทียมกันของเพศสภาพแทรกตัวอยู่ ค่าจ้างแรงงานของผู้หญิงจึงทำหน้าที่เป็น "ทรัพยากรและอำนาจ" ช่วยพวกเธอท้าทายแบบแผนของการที่ผู้ชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว และยังช่วยเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ในระบบครอบครัวชายเป็นใหญ่

งานวิจัยแรงงานหญิงในบังคลาเทศ สรุปว่า ในช่วงต้นของกระบวนการอุตสาหกรรมเพื่อสร้างให้เกิดกรรมกร ไม่ว่าประเทศใดในโลก หรือในประวัติศาสตร์ช่วงใดก็ตาม ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบในลักษณะคล้ายกัน ในบังคลาเทศ "งาน" ส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่มีความแน่นอน และอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง ในเวลาอันใกล้นี้ ดูเหมือนว่า โรงงานตัดเย็บจำนวนมากกำลังจะปิดตัวลง อันเป็นผลมาจากการยกเลิกข้อตกลงสิ่งทอระหว่างประเทศ รวมถึงการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีน คนงานหญิงบังคลาเทศจำนวนหลายพันคนกำลังจะตกงาน และอาจส่งผลต่อครอบครัวให้กลับไปอยู่ในสภาพที่ยากจนยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ตัวเลือกที่น้อยมากของผู้หญิง ในบริบทสังคมของประเทศยากจน อาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า เหตุใดคนงานหญิงเหล่านั้นมองการทำงานในโรงงาน ในแง่มุมที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มรณรงค์ต่อต้านโรงงานห้องแถว (sweatshop - หมายถึงการทำงานในสภาพค่อนข้างแย่ ด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และได้รับคาจ้างที่ต่ำมาก). งานวิจัยแรงงานหญิงในบังคลาเทศ ชี้ว่า การเข้าไปทำงานในโรงงานของผู้หญิง มักถูกต่อต้านจากผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อและสามี จากแบบสอบถามพบว่า 37% ของคนงานหญิงถูกครอบครัวต่อต้าน (Paul and Begum, 2000)

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงพยายามใช้วิธีการเจราจาต่อรองกับครอบครัว เพื่อให้ตนเข้าไปทำงานในโรงงาน แต่ครอบครัวมักละเลยที่จะมองเห็นตัวเลือกของผู้หญิง และสิ่งที่ผู้หญิงจะได้รับจากการทำงาน ในอีกด้านหนึ่ง พวกเธออาจมองว่า การเข้าไปทำงานโรงงาน เป็นสิ่งที่คุ้มค่าเพียงพอต่อการที่เธอต้องโต้แย้งกับครอบครัว เพื่อเข้าสู่สภาพการจ้างงานที่อยุติธรรมก็ตาม (Kabeer, 2000)

มาตรฐานแรงงานสากล กับปัญหาการต่อสู้เรียกร้องของคนงาน

เช่นเดียวกับในหลายประเทศ บังคลาเทศให้การรับรองมาตรฐานแรงงานหลัก (Core Labor Standards) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศบางข้อ เช่น เสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัวเป็นองค์กร และการเจรจาต่อรองร่วม ในขณะเดียวกัน กฎหมายแรงงานของบังคลาเทศอนุญาตให้คนงานก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ แต่ยกเว้นในเขตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก (Export Processing Zone-EPZ) อย่างไรก็ตาม กรอบทางกฎหมายเหล่านี้ เป็นเครื่องมือที่คนงานส่วนใหญ่ใช้ต่อสู้กับนายจ้าง

ในการต่อสู้ของคนงาน คนงานมักจะนำคดีขึ้นสู่ศาลอยู่บ่อยครั้ง "โดยส่วนใหญ่ ศาลมักจะเชื่อถือสิ่งที่คนงานพูดมากกว่านายจ้าง และนี่จึงเป็นความหวังของเรา" ทนายความหญิงด้านแรงงานคนหนึ่งกล่าว ข้อพิพาทจำนวนมากที่ลูกจ้างนำสู่ขึ้นศาล มักจบลงด้วยผลในทางบวกต่อลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นผลจากคำตัดสินของศาล หรือจากการที่นายจ้างยอมตกลงกับลูกจ้างก่อนที่จะถูกลงโทษทางกฎหมาย (Dannecker, 2000) อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ในรูปแบบข้างต้น เป็นการต่อสู้ในนามของปัจเจกบุคคล และเป็นคดีที่กระจัดกระจาย มากกว่าจะเป็นการรวมกลุ่มการต่อสู้ที่ขยายวงกว้าง

สหภาพแรงงานกับการละเลยประเด็นผู้หญิง

ที่ผ่านมา นายจ้างมักจะขัดขวางการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสหภาพแรงงานอยู่เสมอ สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจาก ปัญหาความล้มเหลวของการจัดตั้งขยายฐานสมาชิกสหภาพแรงงานเอง รวมถึงไปความล้มเหลวในการทำให้คนงานหญิงตระหนักถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน

- ในเอเชียใต้ แม้ว่าสหภาพแรงงานมีประวัติศาสตร์อันมายาวนานกว่า 100 ปี แต่คนงานกลับเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสัดส่วนต่ำมาก เช่น คนงานในรัฐวิสาหกิจในบังคลาเทศ เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ประมาณ 5% เท่านั้น ปัญหานี้มาจากหลายสาเหตุ

- ในประเทศอินเดีย สหภาพแรงงานจำนวนมาก มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคการเมืองหลัก และสหภาพบางแห่งยังมีท่าทีราวกับว่าตนเองเป็นลูกน้องของพรรคการเมือง มากกว่าเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนงาน (Sharit K. Bhowmik, 1998)

กำแพงการกีดกันผู้หญิงเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบที่เป็นทางการ ส่งผลให้แรงงานหญิงส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ในขณะเดียวกัน นักสหภาพแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาของกรรมกรโดยรวมในฐานะชนชั้นกรรมาชีพ โดยละเลยสิ่งที่แรงงานหญิงให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ ในฐานะที่เป็น "ผู้หญิง"

- ในบังคลาเทศ องค์กรที่ตอบสนองต่อความต้องการและสิทธิของแรงงานหญิง กลับเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งทำงานกับแรงงานหญิงโดยตรง เช่น องค์การ Nari Uddug Kendra มีโครงการจัดหาห้องพักราคาถูกให้แก่คนงานหญิงในบริเวณโรงงานและในชุมชน, องค์การ Ain-O Shalish Kendro ร่วมกับสมาคมทนายความหญิง ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คนงาน

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรแรงงานลักษณะใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้น เป็นองค์กรซึ่งมีฐานอยู่ในชุมชน ทำงานสนับสนุนแรงงานหญิงในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น ยกตัวอย่างเช่น องค์กรแรงงาน ชื่อ The Bangladesh Independent Garment Worker's Union Kormojibi Nari เป็นองค์กรลูกของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นผู้หญิง

เครือข่ายความร่วมมือของหลายกลุ่มก่อรูปเป็น องค์กรพันธมิตร เช่น Bangladesh Garment Workers' Protection Alliance มีแนวทางผลักดันให้ข้อเรียกร้องของคนงานหญิงในอุตสาหกรรมตัดเย็บ ซึ่งอนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าวตกอยู่ในความไม่แน่นอน มาเป็นประเด็นสาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ งานวิจัยประสบการณ์ผู้หญิงในสหภาพแรงงานในส่วนอื่นของโลก ชี้ว่า สหภาพแรงงานมีความสำคัญในฐานะเป็นองค์กรหลักที่มีการจัดตั้ง แต่ด้วยการดำเนินการอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ จึงห่างไกลจากความต้องการและการจัดลำดับสำคัญของปัญหาของแรงงานหญิง (Swasti Mitter, 1994). เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปแบบองค์กรทางเลือกใหม่ จึงเข้ามาตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานหญิง โดยมีรูปแบบการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว ซึ่งอาจแตกต่างจากลัทธิสหภาพแรงงาน และอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีเดียวกันกับสหภาพแรงงานทั่วไป

การปฏิรูปอย่างถึงราก (radical reformation)

จากประสบการณ์ของ Central American Network of Women in Solidarity with Maquila Workers องค์กรเครือข่ายแรงงานหญิงในทวีปอเมริกากลาง Jennifer Mendez (2002) เห็นว่า ความล้มเหลวของลัทธิสหภาพแรงงานในการสนับสนุนความจำเป็นขั้นพื้นฐานและสิทธิของคนงานหญิง เป็นปัญหาที่สะท้อนออกมาจากสถานการณ์แรงงานหญิงในบังคลาเทศ. ส่วนในอเมริกากลาง องค์กรเครือข่ายผู้หญิงเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเพิ่มสิทธิของผู้หญิงในด้านต่างๆ ในการทำงาน โดยเรียกมันว่าเป็น "แนวคิดการปฏิรูปอย่างถึงราก (radical reformism)" ซึ่งมุ่งพิจารณาข้อจำกัดทางสถาบัน เพื่อหาหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างครอบคลุมมิติต่างๆ มากกว่าการยึดอำนาจรัฐและโค่นล้มระบบทุนนิยม

"การปฏิรูปอย่างถึงราก" นี้ เริ่มต้นวิเคราะห์สภาพความเป็นจริงของชีวิตคนงานหญิง ในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมือง และมุ่งผลักดันการปรับปรุงสภาพการจ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป คนงานหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า "เราเรียกร้องเพียง "ขั้นต่ำ" เราไม่ได้แม้แต่จะตั้งคำถามกับการขูดรีดแรงงานในระบบทุนนิยม เป้าหมายของการเรียกร้องคือเรื่องจริยธรรมการจ้างงาน ไม่ใช่การรื้อถอนระบบทุนนิยม" (Mendez 2002) ทั้งนี้ แน่นอนว่า การเจรจาต่อรองเป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดในตัวเอง ทว่าการต่อสู้ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในมิติของชีวิตผู้หญิง อาจทำให้เราต้องพิจารณาระหว่าง "ความต้องการอย่างแรงกล้า" กับ "ความเป็นไปได้" ในสถานการณ์ของประเทศที่ยากจนอย่างสุดขั้ว

จากสิทธิแรงงานมาสู่การปฏิบัติ: ผู้หญิงยังอยู่ในฐานะที่ยากลำบาก

ในบังคลาเทศ ปัญหานายจ้างเป็นปรปักษ์มุ่งทำลายสหภาพแรงงาน ประกอบกับวัฒนธรรมเพศชายครอบงำของสหภาพแรงงานเอง เป็นอุปสรรคที่ช่วยอธิบายว่า ทำไมคนงานหญิงจึงมีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานในระดับที่ต่ำมาก. การเรียกร้องให้ยืนยันเกี่ยวกับหลักการสิทธิการรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงาน ผ่านวิธีการคว่ำบาตรทางการค้า อาจจะไม่ช่วยแก้ไขอคติที่ฝังรากลึกอยู่ภายในการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน แนวทางที่น่าจะเป็นก็คือ การเปิดทางให้องค์กรในรูปแบบของทางเลือกใหม่เติบโตและเบ่งบานขึ้นมา

ในบังคลาเทศ กำลังหลักของคนงานคือแรงงานชายในระบบเศรษฐกิจทางการ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในรัฐวิสาหกิจ แรงงานเหล่านี้ ไม่ต้องเผชิญกับการแลกเปลี่ยนระหว่าง "สิ่งที่ตนจะได้มา"จากการเรียกร้องกับ "การสูญเสียงาน"ไป มากเท่ากับแรงงานหญิง. แรงงานชายสามารถเรียกร้องให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการทำงาน ตลอดจนสภาพการจ้างงานของตน ในขณะที่สามารถรักษางานของตนเอาไว้ได้ด้วย เนื่องจากแรงงานรัฐวิสาหกิจได้รับการคุ้มครองการจ้างงานมากว่าการผลิตในสาขาอื่น รวมทั้งได้รับการปกป้องจากกำแพงภาษีการค้า และกำแพงการกีดกันผู้หญิงออกไปจากการจ้างงานในระบบ. อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีทางการค้าและการกระบวนการเจือจางความเป็นชาติ (de-nationalization) ในการเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ กำลังเปลี่ยนแปลงสภาวะการณ์ข้างต้น

ในปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำในสาขาการผลิตภาครัฐ สูงกว่ารายได้ประชาชาติต่อหัวถึง 2 เท่า และก็สูงกว่าค่าจ้างแรงงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการหลายเท่า โดยที่แรงงานที่เหลือถูกปฏิเสธการเข้าถึงการจ้างงานที่เป็นทางการอยู่เสมอ จากเงื่อนไขทางสังคมรูปแบบต่างๆ เช่น การปฏิบัติของสหภาพแรงงานเอง สำหรับคนงานไร้สหภาพแรงงานเหล่านี้ จึงมีสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนระหว่าง การถูกกีดกันจาก "งาน" กับถูกขูดรีดแรงงานจากการทำงานโรงงาน ด้วยเหตุเช่นนี้ แรงงานผู้หญิงจึงระมัดระวังที่จะกระทำการใดๆ อันอาจส่งผลให้ "งาน" ของตนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะรักษามันไว้ ซึ่งจะเป็นการสูญเสียงานในสังคมที่เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้หญิงน้อยมาก (Dannecker, 2002, Kabeer and Mahmud, 2003)

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของการกีดกันผู้หญิงออกจากการทำงานในระบบ โรงงานตัดเย็บเสนอโอกาสให้แก่ผู้หญิงจำนวนมากเข้าสู่รูปแบบการจ้างงานในระบบเป็นครั้งแรก โดยเปรียบเทียบกับรูปแบบงานของผู้หญิงก่อนหน้านี้ ประกอบกับ ในยุคสมัยที่ระบบชายเป็นผู้นำหาลี้ยงครอบครัวกำลังถูกสั่นคลอน จากความกดดันของสภาพความยากจนของประเทศ ระบบนี้จึงไม่สามารถดำรงอยู่เช่นเดิมได้ ครัวเรือนจึงต้องหาหนทางให้ผู้หญิงมีส่วนช่วยเหลือความเป็นอยู่ของครอบครัวมากขึ้น

สำหรับผู้หญิงบังคลาเทศแล้ว ไม่ว่าปัญหาที่ประสบอยู่จากการทำงานโรงงาน จะมีมากหรือน้อยเพียงใด แต่ทางเลือกที่มีอยู่นอกโรงงาน เป็นทางเลือกที่น่าเศร้าและอ้างว้างเสมอ ผลก็คือ พวกเธอลังเลที่จะต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสภาพการจ้างงานที่ดี เนื่องจากเกรงว่าการกระทำเช่นนั้น อาจมีผลให้พวกเธอต้องสูญเสียงงานไป และในขณะเดียวกัน ก็มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่รอเข้าไปทำงานแทนที่พวกเธออยู่

จากที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องหลักในการถกเถียงเรื่องมาตรฐานแรงงานสากลในปัจจุบัน ว่า เป็นการถกเถียงซึ่งมองปัญหาอยู่ภาคการผลิตในระบบ และภาคการค้าเท่านั้น โดยแยกออกจากภาคการผลิตที่เหลือของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด

นักกิจกรรมต่อต้านโรงงานห้องแถว (sweatshop) ใช้วิธีเปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานที่คนงานในประเทศยากจนได้รับ กับราคาขายของสินค้าส่งออกในประเทศพัฒนาแล้ว หรือเปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานในประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาในการผลิตสาขาเดียวกัน

การเปรียบเทียบดังกล่าว อาจเป็นประโยชน์สำหรับการรณรงค์ แต่ราคาสินค้าและค่าจ้างแรงงานในโรงงาน กลับไม่ใช่ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้หญิงในตลาดแรงงานในบังคลาเทศมากเท่ากับค่าจ้างและสภาพการจ้างของงานรูปแบบอื่นที่เปิดไว้ให้กับผู้หญิง รวมถึงปัญหาการไม่มีงานทำในบังคลาเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจที่กว้างกว่าคือ ภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งแรงงานหญิงส่วนใหญ่กระจุกอยู่มากกว่า ปัจจัยเหล่านี้ได้สร้างรูปการณ์และกำหนดทางเลือกในการตัดสินใจของผู้หญิง และต่อการตัดสินใจระหว่างการมีงานทำกับการไม่มีงานทำ

นอกจากนี้ งานวิจัยแรงงานในอาฟริกาชี้ว่า สหภาพแรงงานในอาฟริกาก็ประสบความล้มเหลวในการจัดตั้งคนงานหญิง เพื่อกดดันให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างแรงงานและการปรับปรุงสภาพการจ้าง ในอุตสาหกรรมตัดเย็บ เช่นเดียวกัน ความล้มเหลวนี้ นอกจากสะท้อนว่านายจ้างเป็นปรปักษ์กับสหภาพแรงงานแล้ว ยังสะท้อนถึง "การก่อรูปของกำลังแรงงานที่อยู่ในกระบวนการทางเศรษฐกิจที่กว้างกว่า (แรงงานนอกระบบ) และสะท้อนถึงการแสวงหาและการแย่งชิงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมเล็กๆ น้อยๆ อย่างสิ้นหวังของคนจำนวนมาก" (Gillian Hart, 1995)

ตราบใดที่แรงงานหญิงจำนวนมากยังว่างงานอยู่ และพวกเธอก็เต็มใจที่จะเข้าสู่โรงงานตัดเย็บเพื่อส่งออก หรือเข้าสู่การจ้างงานนอกระบบ ซึ่งค่าจ้างและสภาพการทำงานเลวร้ายกว่าโรงงานตัดเย็บเสียอีก การรวมตัวกันต่อรองเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงานในโรงงาน จึงมีความจำกัดจำเขี่ยอยู่มาก นอกจากนี้ การเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับการบังคับใช้"มาตรฐานแรงงานสากล" ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก

นโยายทางสังคมสำหรับคนจนในประเทศยากจน

มุมมมองจาก "คนชั้นล่าง(from below)" ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นจุดยืนที่แตกต่างและมีมิติหญิง-ชาย (gender) มากกว่ามุมมองที่มีการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันต่อประเด็นการบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล. ผู้ที่สนับสนุนข้อกำหนด "เงื่อนไขทางสังคม" แสดงความกลัวว่า การแข่งขันกันของประเทศกำลังพัฒนา เป็นการแข่งขันเพื่อนำไปสู่ความตกต่ำของสวัสดิการสังคม (race to the welfare bottom) ทว่าพวกเขายังมีประโยชน์ในการเตือนเราว่า คนงานในส่วนที่แตกต่างกันของโลกถูกจับไปเข้าไปสู่การแข่งขันในลักษณะที่แตกต่างกัน

ในประเทศยากจนกว่า คนงานในระบบซึ่งทำงานเต็มเวลา ได้รับการคุ้มครองทางสังคมมากว่า แต่ก็เป็นคนงานส่วนน้อยของแรงงานทั้งหมด กล่าวคือ เพียงไม่ถึง 10% และในจำนวนนั้น เป็นแรงงานหญิงจำนวนน้อยของแรงงานหญิงทั้งหมด. คนงานส่วนใหญ่ของประเทศยากจน เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากมาตรการทางสังคมใดๆ คนเหล่านั้นจัดอันดับความสำคัญต่อการดำรงชีวิตแตกต่างจากคนงานในระบบ ในปัจจุบันคนเหล่านั้น หาทางที่จะต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการคุ้มครองทางสังคมที่มากกว่าเดิม

เช่นเดียวกันกับผู้ที่ต่อต้านการใช้ข้อกำหนด "เงื่อนไขทางสังคม" ซึ่งอธิบายว่า การบังคับใช้มาตรฐานแรงงานสากล จะกระทบต่อการจ้างงานโดยรวมในประเทศยากจนในด้านลบ มุมมองจากคนชั้นล่างเตือนพวกเราอีกว่า ผู้ที่สูญเสียมากที่สุดก็คือคนงานหญิง เนื่องจากพวกเธอเป็นคนกลุ่มใหญ่ทั้งในอุตสาหกรรมและสาขาการผลิตอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนผู้เปราะบางต่อผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ในท้ายที่สุด ทั้งสองฝ่ายกำลังถกเถียงกันถึงการบังคับใช้มาตรฐานสิทธิแรงงานหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในฐานะฉันทามติระหว่างประเทศ มุมมองจากชนชั้นล่างนี้ ย้ำเตือนเราอีกว่า โครงสร้างไตรภาคีขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศนั้น ประกอบด้วยรัฐบาล องค์กรนายจ้าง และองค์กรแรงงาน แต่ไม่รวมถึงการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิง โดยเฉพาะแรงงานหญิงนอกระบบ. อย่างไรก็ตาม หากเสียงของพวกเธอได้รับการรับฟัง พวกเธออาจมองว่า สิทธิในการรวมตัวเป็นองค์กร และการเจรจาต่อรองร่วม ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เป็นสิทธิที่ไม่มีความสำคัญมากนัก หากพวกเธอขาดสิทธิในการทำงาน และขาดทางเลือกอื่นในการดำรงชีวิต

จากที่ได้กล่าวถึงข้างต้น บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนการวิเคราะห์ในเรื่องมาตรฐานแรงงานสากลที่คับแคบอยู่แต่เฉพาะในภาคการค้า ไปเป็นการวิเคราะห์โดยพิจารณาเงื่อนไขของการทำงานในระบบเศรษฐกิจที่กว้างขวางขึ้น สิ่งนี้เป็นตัวกำหนดความเต็มใจของคนงานที่จะลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของพวกเขาในฐานะคนงานทั้งมวล. อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์บางอย่างของการเคลื่อนไหวต่อต้านโรงงานห้องแถวที่ถูกนำมาใช้โดยคนงาน ก็ถือได้ว่า มีบทบาทต่อการปรับปรุงสิทธิของคนงานด้วย. ส่วนการริเริ่มข้อกำหนดด้านจริยธรรมของบริษัท (code of conduct) เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เช่น สหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และบริษัท เข้ามาร่วมติดตามการปฏิบัติของบริษัทต่อแรงงานและการปฏิบัติที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คนงานหญิงให้ความสำคัญ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้หญิงสากล(Women Worker Worldwide) ซึ่งทำงานกับสหภาพแรงงาน ชี้ว่า คนงานหญิงส่วนใหญ่ทำงานโดยไม่มีเอกสารที่ถูกกฎหมาย ทั้งในภาคเกษตร และในอุตสาหกรรมบางสาขา ผู้หญิงบางส่วนทำงานโดยไม่มีค่าจ้าง เช่น การทำงานในครัวเรือน แรงงานหญิงเหล่านี้ อยู่ห่างไกลจากการคุ้มครองของกฎหมายทั้งภายในประเทศเอง และกฎหมายระหว่างประเทศ

แม้แต่ในอุตสาหกรรมส่งออกก็ตาม มีการจ้างงานแรงงานหญิงในหลายรูปแบบ เช่น การรับงานไปทำที่บ้าน หรือการทำงานในห้องแถวขนาดเล็ก การจ้างงานเหล่านี้ เป็นหน่วยสุดท้ายของห่วงโซ่การจ้างงานเหมาช่วงงานเป็นทอด (sub-contract) เป็นการจ้างงานแบบไม่เต็มเวลา ไม่แน่นอน เป็นงานชั่วคราว มากกว่าการจ้างงานของผู้ชาย. ในอีกด้านหนึ่ง ข้อกำหนด "เงื่อนไขทางสังคม" มุ่งไปที่การบังคับใช้กับแรงงานในระบบและแรงงานมีค่าจ้าง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถบังคับใช้แรงงานที่อยู่นอกภาคการผลิตที่เป็นทางการ หากเราต้องการบังคับใช้ข้อกำหนด" เงื่อนไขทางสังคม" ให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน อาจต้องใช้ทรัพยากรการเงินและการบริหารอีกเป็นจำนวนมาก

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ (อ่านบทความต่อเนื่องจากบทความนี้ คลิก)

เอกสารอ้างอิงหลัก

Amin, Sajeda, Ian Diamond, Ruchira T. Naved and Margaret Newby. 1998 "Transition to Adulthood of Female Garment Factory Workers in Bangladesh", Studies in Family Planning, Vol. 29, No. 22, pp. 185-200.

Bearak, Barry. 2001. "Lives Held Cheap in Bangladesh Sweatshops." New York Times April 15.

Beattie, R. 2000. "Social Protection for All: But How?" International Labor Review 139 (2): 129-48

Bhowmik, Sharit K. "The Labour Movement in India: Present Problems and Future
Perspectives" The Indian Journal of Social Work Vol. 59(1): 147-167).

Birdsall, Nancy and David Roodman. 2003. "The Commitment to Development Index: A Scorecard of Rich-Country Policies" Washington. DC. Center for Global Development.

Bullard, Nicola. 2001. "Social Standards in International Trade", Prepared for the Deutsche Bundestag Commission of Enquiry, "Globalization of the World Economy-Challenges and Answers. Bangkok: Focus on Global South.

Dannecker, Petra. 2002. "Between Conformity and Resistance: Women Garment Workers in
Bangladesh" Dhaka: University Press.

Davin, Delia. 2001. "The Impact of Export-Oriented Manufacturing on Chinese Women
Workers" Paper prepared for the UNRISD Project on "Globalisation, Export-oriented
Employment for Women and Social Policy" Geneva: UNRISD

Delap, Emily. 1998. "The Determinants and Effects of Children's Income-Generating Work in
Urban Bangladesh" Department of Economics and International Development, University of Bath, UK.

Eraydin, Ayada and Asuman Erendil. 1999. "The Role of Female Labour in Industrial Restructuring: New Production Processes and Labour Market Relations in the Istanbul Clothing Industry" Gender, Place and Culture Vol. 6(3): 259-272

Esping-Andersen, Gosta. 1990. "The Three Worlds of Welfare Capitalism" Cambridge UK: Polity Press.

Fraser, Nancy. 1997. "Justice Interruptus: Critical Reflections on the Post-socialist"
London and New York, Routledge.

Hart, K. 1999. "Racism and Migration: the World Economy as an Apartheid System"
DPU News Supplement 1 Issue 41.

Hensman, Rohini. 2000 'World Trade and Workers' Rights: To Link or not to Link?"
Economic and Political Weekly April 8: 1247-1255

Kabeer, Naila. 2000 "The Power to Choose. Bangladeshi Women and Labour Market
Decisions" London and Dhaka Verso Press, London and New York.


Kabeer, Naila. 2003. "Mainstreaming Gender Equality in Poverty Eradication and the Millenium Development Goals" London and Ottawa: Commonwealth Secretariat and International Development Research Centre.

Kabeer, Naila. 2003. "Past, Present and Future: Child Labor and the Intergenerational Transmission of Poverty Research Centre Conference: Staying Poor: Chronic Poverty and Development Policy" Available at www.idpm.man.ac.uk

Kabeer, Naila and Mahmud, Simeen (2003) "Globalization, Gender and the Millennium Development Goals: Women's Employment in the Bangladesh Garment Industry." Presented at OXFAM: Institute of Development Studies, Sussex, UK.

Kabeer, Naila 2004. "Globalisation Gender and Poverty: Bangladeshi Women Workers in Global and Domestic Markets" Journal of International Development 16(1) : 93-109.

Kibria, Nazli. (1995) "Culture, Social Class and Income Control in the Lives of Women
Garment Workers in Bangladesh" Gender and Society Vol. 9(3): 289-309

Mendez, Jennifer Bickham. 2002. "Transnational Organising for Maquila Workers' Rights in Central America" in Nancy A. Naples and Manisha Desai (eds.) "Women's Activism and Globalization: Linking Local Struggles and Transnational Politics" London: Routledge.

Mitter, Swasti. 1994. "On Organising Women in Casualised Work: A Global Overview" in Sheila Rowbotham and Swasti Mitter (eds.) "Dignity and Diary Bread: New Forms Economic Organising among Poor Women in The Third World and the First" London: Routledge.

Munch, Ronaldo. 2002. "Globalisation and Labour: The New "Great Transformation" London: Zed Books.

Newby, Margaret. 1998. "Women in Bangladesh: A Study of the Effects of Garment Factory
Work on Control Over Income and Autonomy" Ph.D. dissertation, University of
Southampton. Southampton

Nyerere Julius K. 1998. " Are Universal Social Standards Possible? Presented to the North South conference for Sustainable Development." Berne: Swiss Coalition for Development.
Oxfam International. 2002. "Rigged Rules and Double Standards: Trade, Globalisation and the Fight Against Poverty" Oxford UK: Oxfam.

Paul-Majumder, Pratima and Anwara Begum. 2000. "The Gender Differentiated Effects of the Growth of Export-Oriented Manufacturing: A Case for the Ready-Made Garment Industry in Bagladesh" Prepared for the Policy Research Report on Gender and Development, World bank
People's Health Movement. 2002. "Voices of the Unheard: Testimonies from the People's Health Assembly" Gonoshasthya Kendra; Savar.

Singh, Ajit and Ann Zammit. 2000. "The Global Labour Standards Controversy. Critical
Issues for Developing Countries" Geneva: South Centre.

Third World Network. 1994. "Asian Meet Opposed to Labor Link at WTO" Available at www.sunonline.org

Wilson, Fiona. 1991. "Sweaters: Gender, Class and Workshop-Based Industry in Mexico"
Basingstoke: Macmillan.

Women Worker Worldwide.1996 "Trade Liberalization and the Rights of Women Workers: Are Social Clause the Answer?" Available at www.poptel.org.uk

Zohir, Salma Chaudhuri and Pratima Paul-Majumder. 1996. "Garment workers in Bangladesh: Economic, Social and Health Conditions" Research Monograph 18, Bangladesh Institute of
Development Studies, Dhaka.

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
15 December 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
สำหรับผู้หญิงโสดอายุน้อยผู้อพยพจากไร่นามาสู่โรงงาน มีบางแง่มุมที่แตกต่างออกไป แม้การทำงานในโรงงานจะเป็นการทำงานอย่างยาวนาน มีการควบคุมการทำงานอย่างเข้มข้น ชีวิตส่วนตัวมีอิสระน้อยมาก แต่เมื่ออยู่นอกโรงงาน กรรมกรมีเสรีภาพมากขึ้นโดยเปรียบเทียบ ชีวิตส่วนตัวเป็นอิสระขึ้นจากการที่มีตนเองได้รับค่าจ้างตอบแทนจากการทำงาน สำหรับพวกเธอ ในมุมหนึ่ง การจ้างงานเป็นการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ นอกจากนี้ โรงงานเป็นส่วนหนึ่งในหลายส่วนในชีวิต สำหรับคนงานหญิง ค่าจ้างแรงงานทำให้เธอมีสถานภาพอื่นในพื้นที่สาธารณะด้วย
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream