โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๑๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 22, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

22-11-2550

Political History
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป รัชกาลที่๕
ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: การเมืองการเสด็จประพาสยุโรป (กรณีอังกฤษ)
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : เขียน
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ขอรับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ: การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป
พิมพ์ครั้งแรก ใน กาญจนี ละอองศรี และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (บก.)
ลืมโคตรเหง้าก็เผาแผ่นดิน รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ ๖๐ ปี
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๔ หน้า ๒๒๗-๒๖๔
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเบื้องหลังของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเสด็จประพาสยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีท่าที
ไม่ปรารถนาที่จะต้อนรับ อันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองหลายประการ
และตัวอย่างของกษัตริย์เอเชียหลายพระองค์ที่มีการเสด็จประพาสก่อนหน้านั้น

เนื่องจากเนื้อหาต้นฉบับพร้อมเชิงอรรถค่อนข้างยาว
จึงได้มีการนำเสนอเป็น ๒ หัวข้อตามลำดับต่อไปนี้
๑๔๑๖. ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: การเมืองการเสด็จประพาสยุโรป (กรณีอังกฤษ)
๑๔๑๗. ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: การเมืองการเสด็จประพาสยุโรป (กรณีฝรั่งเศส)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๑๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป รัชกาลที่๕
ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: การเมืองการเสด็จประพาสยุโรป (กรณีอังกฤษ)
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : เขียน
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความนำ

"การที่เราจะหมายกำลังอุดหนุนจากประเทศอื่นนั้น ตามที่ฉันเข้าใจชัดจากที่ได้สนทนากันกับเอมเปอเรอออฟรัสเซีย แลเคาน์มูราเวียฟ หลอดสอลีสบุรี มิสเตอร์เคอสัน เอมเปอเรอออฟเยอรมนี เห็นว่าไม่มีอะไรที่จะยึดหน่วงยิ่งกว่า ถ้าถึงจะทำลายเอกราชของเราแล้ว ท่านเหล่านั้นคงจะเข้าแซกแซงพูดจา ไม่เปนการทำได้ตามสบายใจ ฤาถ้าสบเหมาะถึงรบกันก็ได้ เว้นไว้แต่การที่จะถึงเช่นนั้นไม่มี "นอกจากนี้แล้ว ความทุกข์ร้อนอันใดของเราที่จะพึ่งปากผู้อื่นให้ช่วย คิดนั้น อย่าได้ฝันเห็นเลยว่าใครจะเปนธุระ โดยว่าเขาจะเปนธุระก็เสียแก่เรา เราเปนเมืองเอกราช ต้องพูดเองจึงจะสมควร ถ้าเขาไม่ต้องการเราเป็นโปรเตกชั่นแล้ว เขาไม่ฮุบเลย

"ความจริงอันนี้ไม่มีใครเข้าใจ จนเมื่อสองวันนี้เอง ยังมีผู้สงสัยว่าเอมเปอเรอออฟรัสเซียไม่ได้ทำตามที่รับไว้กับฉัน คือไปหมายว่าแกจะเปนท้าวมาลีวราชว่าความ ถ้าเช่นนั้นต้องเปนการตกลงกันตั้งคนกลางก่อน การที่เอมเปอเรอจะรับเปนคนกลางนั้นฉันสงสัยว่าจะไม่รับ แต่ฉันไม่ได้พูด"
(พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 กันยายน ร.ศ. 116) (1)

ทศวรรษสุดท้ายก่อนขึ้นสู่คริสตศตวรรษที่ 20 นับเป็นทศวรรษของเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบอย่างสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่มากที่สุดทศวรรษหนึ่ง การปฏิรูปการปกครองและการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางผ่านการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม และมณฑลเทศาภิบาล รวมทั้งการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยโดยผ่านกลไกของการจัดการ และการขยายการศึกษาแบบสมัยใหม่ในระดับต่างๆ ตลอดจนการสุขาภิบาล การสาธารณสุข การก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และหัวเมือง การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปการเงินและการคลัง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เริ่มขึ้นอย่างเข้มข้นและจริงจังในทศวรรษนี้

ขณะเดียวกัน ทศวรรษสุดท้ายของคริสตศตวรรษที่ 19 ยังเป็นทศวรรษที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับมหาอำนาจตะวันตก กล่าวได้ว่า ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษที่สถานะของอธิปไตยของไทย ถูกท้าทายจากมหาอำนาจตะวันตกอย่างรุนแรงที่สุดทศวรรษหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ.112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างไทยและฝรั่งเศส ที่นำไปสู่ "การสูญเสียดินแดน" ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และผลประโยชน์อื่นๆ ให้แก่ฝรั่งเศสในเวลาต่อมา (2) ในขณะที่การเจรจาและร่วมลงนามในอนุสัญญาลับกับอังกฤษ (The Anglo-Siamese Secret Convention of 1897) ใน พ.ศ. 2440 เพื่อรับรอง "สิทธิ" ของไทยและ "อิทธิพล" ของอังกฤษในบริเวณคาบสมุทรมลายู ก็นับเป็น "การตัดสินใจ" ทางนโยบายระหว่างประเทศของไทยที่ผิดพลาดและเสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองใหม่ๆ กับมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ ทั้งนี้เพราะข้อกำหนดในอนุสัญญาลับฉบับนี้ ขัดแย้งโดยตรงกับข้อกำหนดในเรื่อง "ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (most favoured nation clause)" ที่รัฐบาลไทยได้ให้แก่ภาคีสนธิสัญญาของสนธิสัญญาทวิภาคีทั้งหลาย ที่ลงนามกับมหาอำนาจตะวันตกชาติต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา และรวมทั้งยังขัดแย้งกับสาระสำคัญของข้อกำหนด ในพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการออกสัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่ที่รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศบังคับใช้ (3)

กระนั้นก็ดี ทศวรรษนี้ก็ยังเป็นทศวรรษที่สถานะของรัฐไทยในการเมืองโลกได้รับการ รับรองอย่างเป็นทางการและตอกย้ำอย่างมั่นคง ซึ่งเป็นผลมาจาก "คำแถลงการณ์ร่วม อังกฤษ-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1896" (The Anglo-French Declaration of 1896) ที่ให้การค้ำประกันอธิปไตยและความมั่นคงของไทยในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใน พ.ศ. 2439 (4) และเมื่อรัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนระดับรัฐบาลเข้าร่วมตามคำเชิญในฐานะของรัฐอธิปไตยรัฐหนึ่งในที่ประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรกที่กรุงเฮก (The First Hague Peace Conference of 1899) ร่วมกับคณะผู้แทนของมหาอำนาจอื่นๆ อีก 25 ประเทศ (5)ใน พ.ศ. 2442

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและมหาอำนาจตะวันตก และสถานะของรัฐไทยในการเมืองโลกที่เกิดขึ้นในทศวรรษสุดท้ายของคริสตศตวรรษที่แล้ว ที่นับว่ามีสีสันที่สุด เห็นจะเป็นการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2440 (6) การต้อนรับอย่างอบอุ่นที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ จัดถวายในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐอธิปไตย และความสัมพันธ์อันสนิทสนมใกล้ชิดที่ทรงได้รับจากประมุขและบรรดาพระราชวงศ์ของหลายประเทศ คือประจักษ์พยานแห่งความสำเร็จอย่างสูงของการเสด็จประพาสครั้งนี้ ซึ่งกินระยะเวลาอันยาวนานถึง 253 วัน (7) รวมระยะทางเสด็จกว่า 34,416 ไมล์ (8) จริงอยู่ที่ว่าภายหลังการเสด็จประพาสครั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่กับฝรั่งเศส อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 และซึ่งเป็นต้นเค้าที่มาของการเสด็จประพาสยุโรป (9) จะยังคงดำรงอยู่ แต่เมื่อพิจารณาผลของการเสด็จประพาสโดยรวมแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า การเสด็จประพาสครั้งนี้บรรลุเป้าหมายของการสร้าง "ภาพลักษณ์" ของ "ความศิวิไลซ์" ของสยามในฐานะของรัฐอธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนในยุโรป และรวมทั้ง "การเรียนรู้" ความเจริญก้าวหน้าใหม่ๆ ของชาติมหาอำนาจเหล่านั้นเพื่อนำมาเป็นแบบอย่างของการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยต่อไป (10)

ประการสำคัญ ความในลายพระราชหัตถเลขาฉบับวันที่ 5 กันยายน ร.ศ.116 ที่อัญเชิญมาลงไว้ข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุดการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้และการที่ได้ทรงมีโอกาสเข้าเฝ้าและปรึกษาปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประมุขและผู้นำรัฐอื่นๆ ได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุวุฒิภาวะทางการเมืองอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับ "อนุสัญญาลับ อังกฤษ-ไทย ค.ศ. 1897" ที่ได้ทรงตัดสินพระทัยให้รัฐบาลไทยร่วมลงนามไปเพียงห้าเดือนก่อนหน้านั้น

แผนการเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2436 วิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 และรัฐบาลอังกฤษ

บันทึกรายวันของเจ้าพระยาอภัยราชา (Gustave Rolin-Jaequemyns) ที่ปรึกษาราชการ แผ่นดินชาวเบลเยี่ยมระบุไว้ว่า ก่อนหน้าวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 ได้เคยกราบทูลเสนอแนะผ่าน กรมหลวงเทวะวงศวโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป (11) แต่ข้อเสนอแนะดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ได้มีการพิจารณาอย่างจริงจัง จนกระทั่งภายหลังที่ความขัดแย้งกับฝรั่งเศสเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2436 ภายใต้แรงบีบคั้นจากข้อเรียกร้องนานาประการอันเป็นเงื่อนไขเพื่อยุติข้อขัดแย้งของรัฐบาลฝรั่งเศส และท่าทีอันเฉยเมยของชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษที่มีต่อการคุกคามความมั่นคงที่ฝรั่งเศสกระทำต่อไทย ได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยิบยกประเด็นการเสด็จประพาสยุโรป เพื่อสานสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจต่างๆ อันเป็นหนทางหนึ่งในประกันการดำรงอยู่และความมั่นคงของไทย ขึ้นมาปรึกษากับเจ้าพระยาอภัยราชาในวันที่ 31 กรกฎาคม โดยทรงกำหนดการเสด็จประพาสไว้ใน พ.ศ. 2437 หรือ พ.ศ. 2438 รวมระยะเวลาการเสด็จประมาณ 9 เดือน (12)

หลังจากนั้น การปรึกษาหารือเพื่อเตรียมแผนการเสด็จประพาสก็ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเป็นเวลาหลายวันต่อเนื่องกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย, กรมหลวงเทวะวงศวโรปการ, และเจ้าพระยาอภัยราชา มีการกำหนดเส้นทางการเสด็จซึ่งรวมประเทศมหาอำนาจที่สำคัญในยุโรปทุกประเทศ แต่โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับมกุฎราชกุมารรัสเซีย ตั้งแต่เมื่อครั้งที่มกุฎราชกุมารพระองค์นั้นเสด็จเยือนไทยใน พ.ศ. 2434 ดังนั้น แผนการเสด็จที่กำหนดไว้จึงระบุเส้นทางเสด็จให้ไปที่รัสเซียก่อนอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งนี้ทรงมุ่งหวังว่าการรับเสด็จอย่างอบอุ่นอันพึงคาดหวังได้จากราชสำนักรัสเซีย จะมีผลต่อการเตรียมการรับเสด็จของมหาอำนาจอื่นๆ ไม่มากก็น้อย (13)

อย่างไรก็ดี การหารือเพื่อเตรียมแผนการเสด็จประพาสยุโรปที่ดูกระตือรือร้นและราบรื่นในระยะแรก ก็ต้องประสบกับปัญหาสำคัญเมื่อปรากฎว่า ในวันที่สามของการปรึกษาหารือเกี่ยวกับแผนการเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงลังเลพระทัยที่ต้องเสด็จออกจากบ้านเมืองเป็นเวลายาวนานร่วมหนึ่งปี ในขณะที่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเฉพาะหน้าที่มีอยู่กับฝรั่งเศสนั้นยังมองไม่เห็นหนทางยุติ นอกจากนั้นยังทรงกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลอังกฤษที่มีต่อแผนการเสด็จประพาส รวมทั้งไม่ทรงมั่นพระทัยด้วยว่ารัฐบาลอังกฤษจะยินยอมถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแด่พระองค์เหมือนอย่างที่ชาห์แห่งเปอร์เซียเคยทรงได้รับ ซึ่งหากว่ารัฐบาลอังกฤษไม่ยินยอมถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ก็ดูเป็นการเสื่อมพระเกียรติยศอย่างยิ่ง โดยที่ทั้งชาห์แห่งเปอร์เซียและพระองค์ ต่างก็ทรงมีสถานะของประมุขรัฐอธิปไตยของเอเซียที่เสมอกัน

ประการสำคัญ เมื่อราชทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ ได้รับการทาบทามบอกกล่าวจากเจ้าพระยาอภัยราชาเกี่ยวกับแผนการเสด็จประพาส ก็มีท่าทีสงสัยต่อจุดมุ่งหมายของการเสด็จประพาสครั้งนี้ว่า เป็นการเสด็จประพาสเพื่อการสำราญพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ มากกว่าที่จะเป็นการเสด็จเพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งทำให้พระองค์กริ้วและตรัสกับเจ้าพระยาอภัยราชาด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า "หากฉันต้องการความสนุกสนาน จะมีที่ไหนที่น่าสนุกไปกว่ากับเมียๆ และลูกๆ ในบ้านเมืองฉันเอง" (14)

แม้ว่าราชทูตอังกฤษจะได้แก้ตัวในเวลาต่อมาว่า ไม่ได้ตั้งใจตั้งข้อกล่าวหาหรือสงสัยในจุดมุ่งหมายของการเสด็จประพาสแต่อย่างใด หากโดยส่วนตัวแล้วยินดีกับแผนการเสด็จครั้งนี้ (15) แต่ท่าทีอัน "เฉยเมย" และเต็มไปด้วยความสงสัยในจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเสด็จประพาส ก็ได้รับการยืนยันในเวลาต่อมาว่า เป็นท่าทีของผู้นำระดับสูงของรัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอนด้วย ดังปรากฎในลายพระหัตถ์ของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวความว่า "เมื่อแรกออกมา (อังกฤษ) ในศก 112 ได้ทดลองปล้ำปลุกลอร์ดโรสเบอรี (Lord Rosebery) เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ช่วงวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 หลายพัก (เพื่อให้อังกฤษเห็นด้วยกับแผนการเสด็จประพาส) ก็เบือนเสียไม่เล่นด้วย" (16)

บันทึกรายวันของเจ้าพระยาอภัยราชาก็กล่าวไว้ด้วยว่า ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 กรมหลวงเทวะวงศวโรปการทรงได้รับหนังสือกราบทูลฉบับหนึ่งจากนายเฟรเดอริค เวอร์นีย์ (Frederick Verney) ที่ปรึกษาประจำสถานทูตไทยที่ลอนดอนแจ้งว่า แม้ว่าลอร์ดโรสเบอรีจะไม่คัดค้านแผนการเสด็จประพาสโดยทางหลักการ แต่ก็กล่าวอย่างเสียไม่ได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้รับการถวายการต้อนรับอย่างดี ซึ่งดูจะเป็นการตอบรับอย่างไม่มีหนทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น (17) ด้วยเหตุดังนั้น เวอร์นีย์จึงเห็นด้วยกับพระราชดำริที่ว่า ควรจะต้องเสด็จประเทศรัสเซียเป็นประเทศแรกสุดในหมายกำหนดการเสด็จประพาสอย่างเป็นทางการ เพราะความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับมกุฎราชกุมารรัสเซีย จะทำให้ราชสำนักรัสเซียจัดถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งจะมีผลต่อการถวายการรับเสด็จในที่อื่นๆ (18)

ดูเหมือนว่า ท่าทีและความสงสัยของฝ่ายอังกฤษใน พ.ศ. 2436 จะมีมูลสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ที่เคยได้รับจาก "การเสด็จประพาส" ของกษัตริย์และเจ้านายจากเอเชียหลายพระองค์ และท่าทีความรู้สึกดังกล่าวของฝ่ายอังกฤษก็ดำรงอยู่มาตลอด จนเมื่อแผนการเสด็จประพาสยุโรปถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในตอนปลายปี พ.ศ. 2439 ดังปรากฎความในลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลของพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ที่อ้างแล้วข้างต้น ความว่า

"…พระมหากษัตริย์แต่ประเทศตวันออกซึ่งได้เสดจมาประพาศยุโรปนั้น มีพระเจ้ากรุงตุรกีกับพระเจ้ากรุงเปอเซียองค์ก่อน ท่านทั้งสองเสดจมาด้วยกระบวนมากมายใหญ่โตเป็นอย่าง Oriental แท้ๆ เสดจแห่งใดก็เปนที่เมืองนั้นระอาในที่รับเสดจ ทำอะไรดูเหมือนไม่รู้ศึกเกรงใจเจ้าของบ้าน การที่พวกตวันออกทำมาแล้วเช่นนี้ จึงเปนเสียงรังเกียดพวกตวันออกติดต่อมา ครั้นเมื่อครั้งเจ้าบุตรเมืองอำฟะคานมาเมืองอังกฤษเมื่อปีก่อนนี้ มาอยู่จมให้เคาเวอนเมนต์ต้องรับรองเสียเงินทองเปนนักหนา ให้ hint เท่าไรๆ ก็ไม่ไป จนคนระอาหมด…" (19)

การเสด็จประพาสยุโรป "อันอื้อฉาว" ของบรรดา "พระมหากษัตริย์แต่ประเทศตวันออก" ที่ผ่านมา ได้ถูกนำมาใช้เป็น "บทเรียน" ของการจัดหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินในรายละเอียด ดังที่พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ทรงกราบบังคมทูลรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า

"…การเสดจพระราชดำเนินครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานให้เปนอิศระแก่พระองค์จริงๆ คือ หมายความว่าไม่ต้องอาศรัยเจ้าใดเมืองใดไม่ได้มาอยู่มารับเลี้ยงของใคร ถ้าเจ้าใดเมืองใดรู้จักกิริยาที่สุภาพ ที่ดีมีน้ำใจ จะต้องรับเสดจ อย่างธรรมเนียมยุโรปในราชสำนักนั้นเพียงวันหนึ่งสองวันก็ควร เปนความอารีรอบความดีส่วนของเขา แต่ส่วนฝ่ายเรานั้นไม่ได้อาศรัยมา ไม่ได้อาศรัยอยู่ ไม่ได้อาศรัยเที่ยว มีพาหะนะและเปนอิศระแก่พระองค์พอแก่ที่จะทำเองได้ทุกอย่าง เสดจพระราชดำเนินอย่างที่ฝรั่งทั้งหลายย่อมกลัวเกรง… เพราะว่าเราเปน Independent จริง ชอบพระราชหฤทัยจะทรงอย่างใดก็ได้ ไม่มีใครเอี้ยมเอียล่วงเกินได้ และข้าพระพุทธเจ้าเชื่อเปนแน่ว่า Independent attitude นี้ จะชักมาซึ่งความต้อนรับอันดีตลอดทั่วยุโรป พระเจ้าแผ่นดินในยุโรป มีพระเจ้ากรุงคริก เดนมาก เปนต้น ตั้งพระองค์อย่างนี้ เปนอัตตะสัมมาปทิธิแท้ ไม่ง้อใคร เหตุด้วยข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ อย่างนี้เปนดีที่สุด จึงขอพระราชทานให้เสดจกระบวนอย่างน้อย ไม่เฟ้อฟูมฟายไปด้วยอิศรยศ และขอให้มีที่ประทับใน Continent และในเมืองอังกฤษเตรียมไว้รับเสดจ เพราะจะให้ความปรากฎทั่วไปว่า The King of Siam comes on his own hook, he depends on no body and no Country. If any Courts will welcome him, he will accept their civility. If any one do not desire his Society, he will not thrust himself on him." (20)

ประการสำคัญ ความรู้ที่เกี่ยวกับการเสด็จประพาสของบรรดา "พระมหากษัตริย์แต่ประเทศตวันออก" เหล่านี้ ยังได้กลายมาเป็น "มาตรวัด" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เปรียบเทียบ "สถานภาพ" ที่พระองค์ทรงได้รับจากการถวายการต้อนรับที่ราชสำนักและรัฐบาลต่างๆ ของมหาอำนาจตะวันตกจัดขึ้น โดยหนึ่งในบรรดา "พระคัมภีร์" ข้างพระแท่นบรรทมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่บนเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากสิงคโปร์ถึงทะเลแดง ก็คือ "ไดอรีของชาห์ออฟเปอเซีย" ที่บันทึกระยะทางเสด็จประพาสยุโรป (21)

แผนการเสด็จประพาสยุโรปที่เตรียมการไว้สำหรับปี พ.ศ. 2437 หรือ พ.ศ. 2438 ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2436 เป็นต้นไปจนถึงปลายปีต่อมา ความกดดันจากวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกับฝรั่งเศส และการสูญเสียในพระราชวงศ์หลายครั้งติดต่อกันในระหว่าง พ.ศ. 2436 และ พ.ศ. 2437 ได้ทำให้พระพลานามัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสื่อมทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งเป็นที่หวั่นเกรงกันในหมู่เจ้านายและเสนาบดีว่าอาจจะถึงแก่สวรรคต (22)

การเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 วัชรภิเษกสมโภชสมเด็จพระราชินีนาถวิคทอเรีย และ ท่าทีของรัฐบาลอังกฤษ

ในด้านหนึ่ง การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชอาณาเขตไกลที่สุด และกินเวลายาวนานมากที่สุดครั้งนี้ เป็นการเสด็จประพาสที่เกิดขึ้นจากการตัดสินพระทัยอย่างค่อนข้างกระชั้นชิดและกระทันหัน การกำหนดแผนการเสด็จและการเตรียมการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเสด็จเริ่มขึ้นราวปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2440 (ตามระบบปีปฏิทินปัจจุบัน) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ใช้เวลาเตรียมการเสด็จจริงๆ เพียงชั่วกว่าสองเดือนเล็กน้อย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ว่า การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเสด็จประพาส "อย่างเป็นทางการ" (state visit) จึงมีความไม่พร้อมในเกือบทุกๆ ด้าน จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นฝั่งทวีปยุโรปในตอนกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2440 หมายกำหนดการเสด็จที่แน่นอนโดยละเอียดทั้งหมดก็ยังไม่เรียบร้อย และยังคงต้องมีการปรับแก้ใหม่อีกหลายครั้ง (23) แม้แต่เครื่องทรงที่เตรียมจากกรุงเทพฯ ก็ต้องมีการแก้ไข (24) เครื่องเสวยไทยระหว่างระยะทางเสด็จหมดลงหลังจากเริ่มเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพฯ เพียงไม่นาน (25)เครื่องแบบทหารที่ตามเสด็จที่ตัดมาจากกรุงเทพฯ ใช้ผ้าบางไม่ได้ขนาดและสีผ้าไม่เป็นแบบเดียวกัน (26) และของพระราชทานไม่เพียงพอหรือราคาไม่สมควรที่จะพระราชทาน (27) เป็นต้น

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 เป็นผลมาจากการที่แผนการเสด็จถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่งในปลายปี พ.ศ. 2439 ซึ่งนำไปสู่การเสด็จประพาสจริงในปีต่อมา จุดเริ่มที่เป็นการรื้อฟื้นแผนการเสด็จครั้งนี้ อยู่ที่คำสั่งที่มีไปถึงราชทูตไทยที่ลอนดอนในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 ให้ดำเนินการติดต่อทาบทามรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินมายุโรปของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อ

"ทรงเยี่ยมเยียนพระราชโอรศ และเสดจราชสำนักต่างๆ… (และการทาบทามนี้เป็นการขอหารือว่า) เวลาใดจะสดวก เวลาจะสมควรแก่กวีนที่รับเสดจ เพราะกวีนเปนเจ้าของเมืองและเปนผู้มีพระชนม์สูงกว่า…" (28)

อย่างไรก็ดี เพียงสองวันภายหลังจากที่ได้ส่งคำสั่งดังกล่าวออกมายังลอนดอน และนานก่อนหน้าที่คำสั่งฉบับนี้จะมาถึงมือของราชทูต (เพราะบริการทางไปรษณีย์ระหว่างไทยและยุโรปในขณะนั้นกินเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์) รัฐบาลไทยก็มีเหตุผลที่ดูเหมาะสมมากขึ้นสำหรับการเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 เมื่อปรากฎข่าวงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองวัชรภิเษกสมโภชของสมเด็จพระราชินีนาถวิคทอเรีย ที่รัฐบาลอังกฤษเตรียมการจัดถวายขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2440 ดังนั้น ในวันที่ 1 ธันวาคม รัฐบาลไทยจึงได้มีคำสั่งทางโทรเลขจากกรุงเทพฯ ให้ราชทูตเข้าหารือกับเสนาบดีต่างประเทศของอังกฤษเกี่ยวกับการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงานพระราชพิธีนี้ (29)

ในตอนต้นของเดือนธันวาคม ราชทูตไทยก็ได้เข้าพบลอร์ดซอลสเบอรี (Lord Salisbury) เสนาบดีว่าการต่างประเทศของอังกฤษ เพื่อหารือตามคำสั่งทางโทรเลข แต่ก็ต้องประสบกับความผิดหวัง เพราะอังกฤษปฏิเสธที่จะรับเสด็จมาทรงร่วมการพระราชพิธีใหญ่ครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า "เหตุเพราะควีน ทรงพระชรา การต้อนรับพระมหากษัตริย์ทั้งหลายต้องของด ให้คงมีแต่เจ้านายพระญาติวงศ์และเจ้านายผู้มาแทนราชสำนักต่างๆ แห่งละองค์" (30) เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องเปลี่ยนเหตุผลของการเสด็จประพาสจากการเข้าร่วมงานพระราชพิธี เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเยี่ยมเยียนพระราชโอรสที่ทรงรับการศึกษาอยู่ในยุโรป และเพื่อเสด็จเยี่ยมราชสำนักต่างๆ ตามคำสั่งเดิมลงวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ส่งมาทางไปรษณีย์

หลังจากที่เข้าพบหารืออยู่หลายครั้ง ในที่สุดในตอนกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2440 (ตามระบบปีปฏิทินปัจจุบัน) เสนาบดีว่าการต่างประเทศของอังกฤษก็ตอบไปยังราชทูตไทยอย่างไม่เป็นทางการว่า สมเด็จพระราชินีนาถวิคทอเรีย ทรงยินดีที่จะต้อนรับการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่วังวินด์เซอร์หรือที่วังออสบอร์น โดยที่เป็นที่เข้าใจว่า พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จถึงลอนดอนภายหลังงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองวัชรภิเษกในเดือนมิถุนายน (31)

การเจรจาทาบทามรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับแผนการเสด็จประพาสยุโรปทั้งใน พ.ศ. 2436 และ พ.ศ. 2439-2440 สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของอังกฤษที่มีต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในทศวรรษดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับ "ข้อสงสัย" ของนักการทูตชาวต่างประเทศในระยะนั้นว่า ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยสองคนในทศวรรษดังกล่าว คือ เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยและที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนั้น เป็นผู้ที่มีนโยบาย "สนับสนุน" อังกฤษ (32) ทั้งนี้เพราะในการทาบทามทั้งสองครั้งข้างต้น อังกฤษเป็นเพียงรัฐบาลเดียวที่ได้รับการหารือจากรัฐบาลไทยเกี่ยวกับแผนการเสด็จประพาสยุโรปก่อนการตัดสินใจขั้นสุดท้าย และในครั้งหลังเมื่อภายหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษตอบให้ความเห็นชอบอย่างไม่เป็นทางการในตอนกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2440 รัฐบาลไทยเริ่มดำเนินการออกคำสั่งไปยังราชทูตของตนในประเทศอื่นๆ ในยุโรปให้ทาบทามหารือรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการเสด็จและหมายกำหนดการเสด็จ เป็นต้นว่า พระยาสุริยานุวัตร อรรคราชทูตที่ปารีส ได้รับคำสั่งให้ทาบทามรัฐบาลรัสเซียในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2440 (33) ในขณะที่พระยานนทบุรีศรีเกษตรกรรม อรรคราชทูตที่เบอร์ลินได้รับคำสั่งให้เจรจาทาบทามรัฐบาลออสเตรีย, เยอรมัน, เดนมาร์ก, สวีเดน, นอร์เวย์ ฯลฯ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 (34) ส่วนทูตานุทูตต่างชาติในกรุงเทพฯ ได้รับแจ้งแผนการเสด็จประพาสยุโรป อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ (35)

นอกเหนือไปจากเหตุผลของ "อิทธิพล" ของอังกฤษที่มีต่อนโยบายต่างประเทศของไทยโดยทั่วไปในทศวรรษนี้แล้ว การทาบทามหยั่งเสียงรัฐบาลอังกฤษในครั้งหลังนี้ ยังน่าจะมีสาเหตุเฉพาะหน้าที่มาจากเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษและไทยอยู่อีกสองประการ

ประการแรก ในการทาบทามหารือในตอนปลายปี พ.ศ. 2436 ลอร์ดโรสเบอรี เสนาบดีว่าการต่างประเทศของอังกฤษ เคยตอบนายเวอร์นีย์ว่า ต้องการรอให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงของไทยได้รับการค้ำประกันเสียก่อน ก่อนที่จะตอบรับการเสด็จ (36) ดูเหมือนฝ่ายอังกฤษจะมีความเห็นในครั้งนั้นว่า ความไม่มั่นคงของสถานการณ์ในไทยอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองกับฝรั่งเศสจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของอังกฤษในอาณานิคมพม่าด้วย แต่เมื่อมาถึงปลายปี พ.ศ. 2439 ความมั่นคงดังกล่าวก็ได้รับการค้ำประกันแล้วในระดับหนึ่งด้วย "คำแถลงการณ์ร่วม อังกฤษ-ฝรั่งเศส" ที่ประกาศในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2439 ที่เป็นการรับรองบูรณภาพของบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาของไทย และทำให้ไทยมีสถานะของการเป็น "กันชน" ระหว่างผลประโยชน์ของอังกฤษในพม่า และของฝรั่งเศสในอินโดจีน

ประการที่สอง ซึ่งเป็นประการสำคัญ แม้ว่าบูรณภาพทางดินแดนของบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับการค้ำประกันจาก "คำแถลงการณ์ร่วม อังกฤษ-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1896" แต่ทั้งรัฐบาลไทยและอังกฤษต่างก็ยังดูเหมือนจะไม่ค่อยมั่นใจนักว่า สิทธิและผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายในบริเวณอื่น โดยเฉพาะในบริเวณคาบสมุทรมลายูจะมีความมั่นคงเพียงพอ และเกรงว่าอาจจะถูกละเมิดจากมหาอำนาจที่สามได้ ดังนั้น เกือบจะในทันทีที่มีการประกาศ "คำแถลงการณ์ร่วมอังกฤษ-ฝรั่งเศส" ข้างต้น รัฐบาลอังกฤษก็ได้พยายามที่จะแสวงหาหนทางปกป้องอิทธิพลและผลประโยชน์ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต่อการคงอยู่ของอาณานิคมอังกฤษในคาบสมุทรมลายูตอนล่าง

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1896 รัฐบาลอังกฤษจึงได้ทาบทามรัฐบาลไทยเพื่อเจรจาเป็นการลับ ในการประกันสิทธิและผลประโยชน์ร่วมกันของแต่ละฝ่ายในอาณาบริเวณดังกล่าว พร้อมกับเสนอร่างอนุสัญญาลับให้เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยพิจารณา ท่าทีตอบรับของรัฐบาลไทยเป็นไปในเชิงบวก สอดคล้องกับการคาดคะเนของอรรคราชทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯที่เชื่อมั่นตั้งแต่แรกว่า จากท่าทีคุกคามที่รุนแรงมากขึ้นของกลุ่มผลประโยชน์อาณานิคมของอังกฤษในสิงคโปร์ ฝ่ายไทยก็คงต้องการการค้ำประกันสิทธิของตนในบริเวณดังกล่าวจากรัฐบาลอังกฤษด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี การเจรจาระหว่างรัฐบาลทั้งสองก็ดำเนินไปอย่างค่อนข้างล่าช้า เพราะมีการโต้แย้งข้อความในร่างอนุสัญญาโต้ตอบไปมา และต้องหยุดชะงักไปประมาณสองเดือนในระหว่างปลาย พ.ศ. 2439 และต้นปี พ.ศ. 2440 (37) อันเป็นช่วงเดียวกันกับการเจรจาทาบทามเกี่ยวกับแผนการเสด็จ และนี่คงเป็นสาเหตุที่มาของท่าทีอัน "เฉยเมย" ที่รัฐบาลอังกฤษมีต่อการทาบทามเรื่องแผนการเสด็จในตอนปลายปี พ.ศ. 2439 และต้นปี พ.ศ. 2440 ท่าทีอัน "เฉยเมย" ของฝ่ายอังกฤษนี้เองที่ทำให้พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ทรงเห็นด้วยกับแผนการที่นายเวอร์นีย์เคยเสนอไว้ก่อนแล้ว ที่จะจัดให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสรัสเซียก่อนอังกฤษ (38)

แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลไทยในขณะนั้นเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จำต้องรีบมี "ข้อตกลงพิเศษ" กับอังกฤษเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนในคาบสมุทรมลายู รัฐบาลไทยจึงพร้อมที่จะยอมเสียเปรียบและเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดจากมหาอำนาจอื่นๆ หากการเจรจาและเงื่อนไขในอนุสัญญาลับดังกล่าวเป็นที่เปิดเผยออกไป ในขณะที่อังกฤษเองก็ปรารถนาที่จะให้การเจรจาที่ดำเนินอยู่ได้ข้อยุติโดยเร็ว ดังนั้น ท่าทีของรัฐบาลอังกฤษในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2440 ต่อการเสด็จประพาสจึงเปลี่ยนไปในทางดีขึ้นอย่างตรงกันข้ามจากที่เคยเป็นในตอนปลายปี พ.ศ. 2439 ด้วยการถามกลับมายังรัฐบาลไทยว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองวัชรภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิคทอเรียหรือไม่ (39) แต่โดยที่หมายกำหนดการส่วนหนึ่งได้มีการเจรจาตกลงอย่างเป็นทางการไปแล้วกับรัฐบาลอื่นที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลไทยจึงได้ตอบปฏิเสธ ในที่สุดการลงนามใน "อนุสัญญาลับ อังกฤษ-ไทย ค.ศ. 1897" ก็ได้มีขึ้นในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2440 ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ในวันที่ 7 เมษายน ตามหมายกำหนดการเสด็จประพาส ยุโรปเพียงหนึ่งวันเท่านั้น (40)

กล่าวได้ว่า การตกลงลงนามใน "อนุสัญญาลับ" ฉบับนี้ของฝ่ายไทย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รัฐบาลอังกฤษจัดถวายในตอนปลายเดือนกรกฎาคมและต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2440 เป็นไปอย่างอบอุ่น สมพระเกียรติ และเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๒

เชิงอรรถ

(1) "พระราชหัตถเลขาฉบับที่ 52, เอสเซน, วันที่ 5 กันยายน ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440)" ใน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินธรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 (ร.ศ.116), มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ และหม่อมเจ้าหญิงจงจิตถนอม ดิสกุล พระธิดา พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535 (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, 2535), 181.

(2) เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ.112 และผลกระทบ ดู จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ, วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112: การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2523); Walter E.J. Tips, Siam's Struggle for Survival: The 1893 Gunboat Incident at Paknam and the Franco-Siamese Treaty of October 1893 (Bangkok : White Lotus, 1996) ; และ Patrick Tuck, The French Wolf and the Siamese Lamb: The French Threat to Siamese Independence, 1858-1907 (Bangkok : White Lotus, 1995).

(3) ดูรายละเอียดของการเจรจานัยทางการเมืองระหว่างประเทศของอนุสัญญาฉบับนี้ และผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยได้ใน Thamsook Numnonda, "The Anglo-Siamese Secret Convention of 1897," Journal of the Siam Society LIII (January 1965): 45-60.

(4) Chandran Jeshurun, "The Anglo-French Declaration of January 1896 and the Independence of Siam," Journal of the Siam Society LVIII (July 1970) : 105-126.

(5) ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าร่วมการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรกที่กรุงเฮก นโยบายและท่าทีของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวกับหัวข้อการประชุม และบทบาทของคณะผู้แทนไทยในการประชุมครั้งนี้ใน Chalong Soontravanich, "Siam and the Hague Peace Conference of 1899: A Preliminary Note", Paper presented at the International Conference to Commemorate the Centenary of King Chulalongkorn of Siam's First Visit to Europe in 1897 (Bangkok : Chulalongkorn University, 6-7 November 1997).

(6) "สีสัน" ของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกนอกจากจะสะท้อนออกมาในรูปของบทความเชิงสารคดีประเภท "ตามรอยพระบาท" จำนวนมากในหน้านิตยสาร "เคลือบสี" สำหรับวางบนโต๊ะกาแฟและตามห้องแต่งผมสตรี รวมทั้งที่ผลิตเป็นรายการสารคดีทางโทรทัศน์หลากหลายรายการแล้ว ก็ยังปรากฎให้เห็นได้อย่างชัดเจนในการตีพิมพ์ซ้ำเอกสารประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จประพาสครั้งนี้ในช่วง 15 ปีเศษที่ผ่านมา เป็นต้นว่า การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ.116, เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2523); พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์…; และ พระยาศรีสหเทพ, จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.116, 2 เล่ม (กรุงเทพฯ : กองวรรณคดี และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2538) ; นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อันเป็นระยะการเตรียมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ยังปรากฎผลงานการศึกษาการเสด็จประพาสครั้งนี้ รวมทั้งปัญหาและและผลกระทบในด้านต่างๆ อยู่อีกจำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า Agathon Aerni, Siam-Swiss Centenary : The Growth of a Friendship, To Commemorate the 100th Anniversary of the Royal State Visit to the Swiss Confederation of His Majesty King Chulalongkorn of Siam (1897) (Bangkok, Berne : Royal Thai Embassy, Berne and the Federal Department of Foreign Affairs of Switzerland, 1997) ; Niels P. Petersson, "King Chulalongkorn's Voyage to Europe in 1897," Journal of European Studies 3 (July - December 1995) : 1-27; และ Walter E.J. Tips, "Notes on the Origins, Background and Significance of HM King Chulalongkorn's 1897 Journey to Europe Based on Private Belgian Archives," unpublished paper.

(7) "พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 46, เรือมหาจักรีในทะเลเหนือ, วันที่ 28 กรกฎาคม ร.ศ.116" ใน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์…, 116-117, ได้คำนวณวันเดินทางตั้งแต่เสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพฯ ในวันที่ 7 เมษายน ร.ศ.116 จนถึงวันที่กำหนดเสด็จนิวัติสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 16 ธันวาคม ร.ศ.116

(8) ดูการคำนวณระยะทางเสด็จใน "บาญชีรายย่อระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรป เมื่อต้นรัตนโกสินทรศก 116" ใน จดหมายเหตุ…, เล่ม 2, 474-484.

(9) ฉลอง สุนทราวาณิชย์, รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5-6 (กรุงเทพ : สร้างสรรค์, 2517), 106. และ Tips, "Notes on the Origins…," 4-6.

(10) ผลงานการศึกษาการเสด็จประพาสในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีประโยชน์มากต่อบทความนี้ ทั้งในด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ คือ Petersson, "King Chulalongkorn's…,"; และ Tips, "Notes on the Origins …,"

(11) อันที่จริง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในเรื่องการเสด็จประพาสยุโรปมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่เสด็จกลับจากการประพาสเกาะสิงคโปร์และชวาครั้งแรกใน พ.ศ. 2414 แต่พระราชดำริในครั้งนั้น ถูกทัดทานจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการ ซึ่งต่อมาได้จัดให้พระองค์เสด็จประพาสอินเดียแทนในตอนปลายของปีเดียวกัน, David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand : Education in the Reign of King Chulalongkorn (New Haven : Yale University Press, 1969), 41.

(12) Tips, Siam's Struggle for Survival …, 111; Tips, "Notes on the Origins…," 5.
(13) Ibid., 113.
(14) Tips, "Notes on the Origins…," 5-6.
(15) Ibid.

(16) "หนังสือกราบบังคมทูลของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ร.ศ.115 เรื่องปัญหาความล่าช้าในการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษในการให้การต้อนรับการเสด็จพระราชดำเนิน" ใน การเสด็จประพาส…, 43.

(17) Tips, "Notes on the Origins…," 7.
(18) หอจดหมายแห่งชาติ ร.5 ต.2/4 เอกสารกรมราชเลขาธิการรัชกาลที่5 กระทรวงต่างประเทศ (13ตุลาคม 2436)
(19) การเสด็จประพาส…, 45.

(20) "หนังสือกราบบังคมทูลของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ร.ศ.115 เรื่องปัญหาความล่าช้าในการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษในการให้การต้อนรับการเสด็จพระราชดำเนิน" ใน การเสด็จประพาส…, 45.

(21) พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 10 เมษายน, 14 เมษายน และ 1 กรกฎาคม ร.ศ.116 ใน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์…, 4, 10, 132.
(22) Tips, Siam's Struggle for Survival …, 209; Tips, "Notes on the Origins…," 8-9.
(23) "พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 18 ปาร์ก เดสโซวีฟ เยนีวา, วันที่ 22 พฤษภาคม ร.ศ.116" ใน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์…, 90.

(24) "พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 6 เรือมหาจักรีในทะเลอาหรับ, วันที่ 23 เมษายน ร.ศ.116" และ "พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 10 เรือมหาจักรีในทะเลมีดิเตอเรเนียน, วันที่ 11 พฤษภาคม ร.ศ.116" ใน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์…, 31-32, 66.

(25) "พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 2 เรือมหาจักรี, วันที่ 17 เมษายน ร.ศ.116" ใน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์…, 13.
(26) "พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 6 เรือมหาจักรีในทะเลอาหรับ, วันที่ 29 เมษายน ร.ศ.116" ใน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์…, 34.

(27) "Telegram from His Majesty in Aden No. 2 on May 1st, 1897 to Svasti in Siamaduto Paris" ใน การเสด็จประพาส…, 246.

(28) การเสด็จประพาส…, 43-44.
(29) เรื่องเดียวกัน, 43.
(30) เรื่องเดียวกัน.
(31) เรื่องเดียวกัน, 44.
(32) ฉลอง สุนทราวาณิชย์, รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5-6, 235.
(33) "สำเนาโทรเลขพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ถึง พระยาสุริยานุวัตร, เวนิส, 26 มกราคม", ใน การเสด็จประพาส…, 23.

(34) "หนังสือพระยานนทบุรี ราชทูตสยามประจำกรุงเบอร์ลิน กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ลงวันที่ 4 มีนาคม ร.ศ.115 แจ้งราชการติดต่อกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ในยุโรป เรื่องหมายกำหนดการเสด็จประพาส" ใน การเสด็จประพาส…, 150.

(35) "หนังสือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ร.ศ.115 ทรงแจ้งข่าวแก่ราชทูตประเทศยุโรปต่างๆ และสหรัฐอเมริกาประจำในประเทศไทย เรื่องเสด็จประพาสยุโรป ในเดือนเมษายน เป็นเวลา 8-9 เดือน" ใน การเสด็จประพาส…, 8.

(36) Tips, Siam's Struggle for Survival …, 209; Tips, "Notes on the Origins…," 7.
(37) Thamsook, "The Anglo-Siamese…, 45-49.
(38) หอจดหมายแห่งชาติ ร.5 ฝ. 38/2 "Prince Svasti-King Chulalongkorn" Tel., Paris, Febuary 16, 1897.

(39) "หนังสือกราบบังคมทูลของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวtวงศ์ฯ ลงวันที่ 14 มีนาคม ร.ศ.115 ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องหมายกำหนดการเสด็จประพาสถึงกรุงลอนดอน และการเข้าร่วมงานฉลองพระราชสมบัติ 60 ปีของสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ แห่งอังกฤษ" ใน การเสด็จประพาส…, 64-65.

(40) Thamsook, "The Anglo-Siamese…, 50-51.

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
22 November 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ความรู้ที่เกี่ยวกับการเสด็จประพาสของบรรดาพระมหากษัตริย์แต่ประเทศตวันออก เหล่านี้ ยังได้มาเป็น "มาตรวัด" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เปรียบเทียบ "สถานภาพ" ที่พระองค์ทรงได้รับจากการถวายการต้อนรับที่ราชสำนักและรัฐบาลต่างๆ ของมหาอำนาจตะวันตกจัดขึ้น โดยหนึ่งในบรรดา "พระคัมภีร์" ข้างพระแท่นบรรทมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่บนเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากสิงคโปร์ถึงทะเลแดง ก็คือ "ไดอรีของชาห์ออฟเปอเซีย" ที่บันทึกระยะทางเสด็จประพาสยุโรป