โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 22 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๔๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 22, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ทักษิณได้พบหารือกับพลเอกสนธิฯ ผู้บัญชาการทหารบก 1 ครั้งที่ห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ทักษิณทราบดีว่า เบื้องหลังของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ยังมีชนชั้นหนึ่งที่มีบารมีและไม่มีใครสามารถสั่นคลอนได้ ซึ่งนั่นก็คือกองทัพ ที่จะสามารถแสดงบทบาทพลิกสถานการณ์ในยามคับขัน บรรดานายทหารที่ถือกระบอกปืนเหล่านี้ ดูเผินๆ เหมือนจะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นอิสระเหนือรัฐบาล แต่ที่แท้จริงแล้วแค่เพียงกระดิกนิ้วหัวแม่มือเพียงนิ้วเดียว ก็สามารถที่จะขับเขาให้ตกจากที่นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
22-08-2550

Thaksin's 24 Hours
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการรัฐประหาร ๑๙ กันยา
Thaksin's 24 Hours After the Coup:
บทที่ ๖ บุญคุณและความแค้นต่อสื่อ

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง
ต้นฉบับแปลจากภาษาจีนทั้งเล่ม ได้รับมาจากเพื่อนสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน

บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับนายกฯ ทักษิณ และการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นี้
แปลมาจากต้นฉบับภาษาจีน (โดยผู้แปลไม่เปิดเผยนาม) กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้นำมาเรียบเรียง
และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติม เพื่อสะดวกแก่การค้นคว้าในเรื่องประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
โดยในบทที่ ๖ นี้ มีชื่อบทว่า "บุญคุณและความแค้นต่อสื่อ" ดังมีลำดับหัวข้อที่น่าสนใจต่อไปนี้
- ในคืนที่ถูกทำรัฐประหาร / นิวยอร์ค อีกฝากหนึ่งของโลก
- เจ้าพ่อการสื่อสารและดาวเทียม / ดาวเทียมไทยคม ของ บ.ชินวัตรแซทเทลไลท์
- แบบอย่างที่มาของ ทักษิณคุยคนเดียว
- รายการทักษิณเรียลลิตี้โชว์ / ผลกระทบจากรายการ
- ความขัดแย้งของนายกฯ ทักษิณ กับสื่อมวลชนไทย
- ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดก็คือเพื่อน: สนธิ ลิ้มทองกุล / มูลเหตุแห่งความโกรธแค้น
- ลูกแกะหลงทาง - ความไม่จงรักภักดีพระมหากษัตริย์
- บทความเทศนาของหลวงตามหาบัว
- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการขับไล่ทักษิณ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๔๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทที่ ๖ บุญคุณและความแค้นต่อสื่อ

ตอนที่ 1

ในคืนที่ถูกทำรัฐประหาร
ละอองน้ำลอยผุดขึ้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา เรือจอดอยู่เต็มข้างแม่น้ำ ตลาดกลางคืนย่านพัฒน์พงศ์ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำเริ่มดำเนินกิจการ นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มๆ กำลังทยอยมุ่งสู่เส้นทางนั้น ย่านสถานเริงรมย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ นอกจากมีอาหารการกิน กิจกรรมบันเทิงหลากประเภทแล้ว ก็ยังมีการแสดงสำหรับผู้ใหญ่นานาชนิดและสถานที่ขายบริการที่เย้ายวนใจ เสียงอึกทึก เสียงหยอกล้อ ดนตรี ปนเปกับกลิ่นเครื่องสำอางค์ของสตรี อบอวลอยู่ใต้โคมไฟปรอท ชีวิตกลางคืนของเมืองแห่งนี้ได้เริ่มต้นขึ้น มันเป็นภาพของความสงบก่อนพายุฝนจะมา เหมือนกับทุกครา

ขณะนี้เป็นเวลา 20.00 น. ตามเวลากรุงเทพฯ ของคืนวันที่ 19 กันยายน ฟ้ามืดลงแล้ว เมฆครึ้มซ้อนเป็นชั้นอยู่บนฟ้า ราวกับฝนจะตก ตำรวจ191นายในกรุงเทพฯ ทุกคนถือปืน M16 คนละกระบอก อาวุธคร่าชีวิตที่มีชื่อเสียงจากสงครามเวียดนามเหล่านี้ ในคืนนี้ จะใช้เป็นเครื่องมือป้องกันเหตุการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้น หรือใช้ทำลายกำลังผู้ต่อต้าน การใช้วิธีการรัฐประหารล้มล้างนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกว่าครึ่งประเทศ ยุทธวิธีที่ดีที่สุดคือเลือกช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่ในประเทศ เมื่อใบหน้าของเขาไม่ปรากฏอีก แม้แต่เสียงก็ไม่ได้ยิน ความหวังต่อตัวเขาก็จะลดน้อยลง แต่ราวกับว่าในใจของพวกก่อการยังไม่แน่ใจ ยังคงต้องการป้องกันความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้น

หัวหน้าของการปฏิบัติการนี้มาจากหน่วยสงครามพิเศษจากจังหวัดลพบุรี ได้เดินทางมากว่าค่อนทาง อีกไม่กี่สิบนาที พวกเขาก็จะมาถึงกรุงเทพฯ สื่อมวลชนบางส่วนรับรู้ได้ถึงความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวต่างชาติรายหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากฝ่ายทหาร "คืนนี้ อย่าเพิ่งนอน จะมีเรื่องเกิดขึ้น" อู๋เสี่ยวฮั่น (Hanna Wu) บรรณาธิการนิตยสาร Thai Wind ได้รับการบอกเป็นนัยๆ จาก หวงเจิ้นจง รองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีน "ตงฮั้ว" ว่า "คืนนี้สถานการณ์บ้านเมืองอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่" ทว่า อู๋เสี่ยวฮั่นไม่ได้ใส่ใจ ไม่ถึงสามทุ่มก็เข้านอนเสียแล้ว วันรุ่งขึ้น ตื่นขึ้นมาจึงพบว่า "ฟ้าเปลี่ยนไปแล้ว"

นิวยอร์ค อีกฝากหนึ่งของโลก
อีกฝากหนึ่งของโลก 19 กันยายน 8.00 น. เวลานิวยอร์คคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ยังคงอยู่ในห้องเพรซิเดนเชียลสวีทของโรงแรมแกรนด์ไฮแอท กำลังถกประเด็นเรื่อง "ความสำเร็จหรือล้มเหลว" ของการปฏิวัติอย่างดุเดือด ทักษิณเดินออกจากกลุ่มคนเหล่านั้น นั่งตรงหน้าโต๊ะทำงาน รออีกต่อไปไม่ได้แล้ว ตั้งแต่รู้ข่าวจนถึงตอนนี้ ผ่านไปกว่า 3 ชั่วโมงแล้ว ในช่วงสองสามชั่วโมงก่อนหน้า เขาโทรศัพท์ตลอดเวลา เขาทำได้เพียงติดต่อกับผู้คนภายในประเทศ สั่งเคลื่อนกำลังพลผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น แต่ว่าสายเกินไปเสียแล้ว ในใจเขาไม่มีความกังวลใดอีกแล้ว เรื่องที่จะเกิดก็ต้องเกิด พวกเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ เขาถามตัวเอง....

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องรีบดำเนินการด่วน ต้องรีบ ทักษิณเริ่มร่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินลงบนกระดาษแผ่นหนึ่ง (ว่ากันว่าเขายังร่างการโยกย้ายตำแหน่งนายทหารระดับสูงด้วยตนเอง เพื่อระงับการก่อกบฏ) เขาจะแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. คุมอำนาจแก้สถานการณ์ฉุกเฉิน คนแรกเป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ และสหรัฐฯ ของเขา ส่วนคนหลังเป็นผู้บัญชาการทหารที่จงรักภักดีเขามากที่สุดคนหนึ่ง

ร่างเสร็จแล้ว เขาก็โทรศัพท์ไปประเทศไทย โทรศัพท์กลับเกิดสายไม่ว่างกะทันหัน ทักษิณประหลาดใจมาก โทรแล้ว โทรอีก ก็ยังคงสายไม่ว่าง โทรศัพท์ไปให้คนหลายคนหลายๆ ครั้ง ก็ไม่มีสายใดว่างเลย เขารีบเปิดคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนตก็ถูกตัด ในขณะนั้น ระบบการสื่อสารของสหรัฐฯ และไทยถูกตัดทั้งหมด ความรู้สึกพ่ายแพ้ที่โถมถาเข้ามากะทันหัน ความรู้สึกอ่อนล้าอย่างรุนแรง เกิดขึ้นจากแผ่นหลังสู่ทั้งกาย "เศรษฐีธุรกิจการสื่อสาร" ที่ควบคุมตั้งแต่โทรศัพท์จนถึงดาวเทียมของไทยคนนี้ นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่ทำรายการสื่อสารกับประชาชนคนนี้ ในช่วงที่เขากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดในชีวิตนั้น กลับไม่มีโอกาสใช้การสื่อสารใดๆ ชะตาชีวิตช่างเย้ยหยันเขาเหลือเกิน

ตอนที่ 2
เจ้าพ่อการสื่อสารและดาวเทียม
17 ธันวาคม 2536 ดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทย ถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรที่เฟรนช์กียานา ทวีปอเมริกาใต้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรดังกล่าวด้วย คนที่ส่งดาวเทียมดวงนี้ก็คือทักษิณ ชินวัตร ประธานบริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด

หลังจากที่ประสบความสำเร็จด้านกิจการโทรคมนาคม อาทิ คอมพิวเตอร์ วิทยุติดตามตัว โทรศัพท์ไร้สาย โทรทัศน์วงจรปิด ฯลฯ และร่ำรวยมหาศาลจากกิจการดังกล่าว ทักษิณก็เริ่มสนใจกิจการดาวเทียมอันนับเป็นจุดสูงสุดของวงการโทรคมนาคม. ในปี 2534 ทักษิณตั้งบริษัทชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด ได้รับสัมปทานธุรกิจดาวเทียมเป็นระยะเวลา 30 ปี จากนั้น เขาได้ลงนามทำสัญญามูลค่า100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับบริษัท Huges Space Aircraft ของสหรัฐฯ เพื่อสร้างดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทย

ดาวเทียมไทยคม ของ บ.ชินวัตรแซทเทลไลท์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานชื่อให้ดาวเทียมดวงนี้ "ไทยคม(Thaicom)" เป็นสัญลักษณ์หมายถึงความเชื่อมโยงของไทยกับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ทักษิณในฐานะเป็นผู้ส่งดาวเทียม "ไทยคม 1" ขึ้นสู่วงโคจร จึงได้ชื่อว่า "บิดาแห่งดาวเทียมไทย"

ตั้งแต่มีดาวเทียมเป็นของตัวเอง กิจการโทรคมนาคมระยะไกลของไทยได้รับการพัฒนาไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน ธุรกิจของเครือชินวัตรขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หนึ่งปีให้หลัง "ไทยคม 2" ที่ลงทุนไป 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากันเข้าสู่วงโคจร สัญญาณครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อายุการใช้งานของดาวเทียมดวงนี้คือ 13.5 ปี

เดือนเมษายน 2540 ดาวเทียม "ไทยคม 3" รุ่นที่สองที่หนัก 2.65 ตัน ถูกส่งขึ้นวงโคจรโดยจรวดอาเรียน่า ดาวเทียมดวงนี้ลงทุนไปกว่า 181 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นดาวเทียมที่ทรงพลังและเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในตอนนั้น การส่งขึ้นสู่วงโคจรของมัน ทำให้ระบบดาวเทียมไทยกลายเป็นระบบดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สัญญาณครอบคลุมทวีปเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และ แอฟริกา รวม 120 ประเทศ 3,000 ล้านคน สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9, หน่วยงานราชการ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (กสท.) และกองทัพ ก็ล้วนแต่เป็นลูกค้าของ "ไทยคม 3" นอกจากนี้ บริษัทชินวัตรยังเป็นบริษัทแรกในโลกที่ใช้ระบบถ่ายทอด DTH ดิจิตอลตามมาตรฐานสากล MPEG-2DVB ตั้งแต่ปี 2538

บริษัท IBC ภายใต้เครือธุรกิจของทักษิณ ได้รับสิทธิออกอากาศสถานี CNN ในปี 2533 ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย เกือบทั้งหมดของคนไทยรับรู้สถานการณ์ของอิรักผ่านทาง CNN ที่ทักษิณนำมาออกอากาศ หนึ่งปีให้หลัง บริษัท IBC ได้เพิ่มช่องภาษาไทย

- ปี 2540 บริษัทชินวัตรแซทเทลไลท์ กับ กสท. ร่วมกันจัดตั้งบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด ดำเนินกิจการด้านรับส่งสัญญาณดาวเทียมและอินเตอร์เนตระหว่างประเทศ

- ในปี 2542 เครือชินวัตรจดทะเบียนมูลค่า 200 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท Adventure จำกัด ดำเนินกิจการด้าน E-commerce และอินเตอร์เนต โดยเปิดเว็บไซต์เป็นของตนเอง นอกจากนี้ เครือชินวัตรยังถือหุ้นสถานีโทรทัศน์เสรี ITV เป็นจำนวนร้อยละ 39

ทว่า นายกรัฐมนตรีที่มีพื้นเพจาก "นักธุรกิจโทรคมนาคม" ผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับกิจการโทรคมนาคมระยะไกลของประเทศผู้นี้ ในวันที่เกิดรัฐประหาร เพราะต่อโทรศัพท์ไม่ติดจึงถูกขังอยู่ในโรงแรมที่นิวยอร์กอย่างไร้หนทาง

หลังจากเริ่มรัฐประหาร พล อ.สนธิ บุญยรัตกลิน สั่งให้กองทัพปิดล้อมสถานีส่งสัญญาณดาวเทียมไทยคมในโอกาสแรก ตัดการติดต่อทั้งหมดของสหรัฐฯ และไทย เรื่องนี้ทักษิณไม่ว่าอย่างไรก็คิดไม่ถึง หากกล่าวว่าชีวิตหนึ่งของแต่ละคนจะมีความผิดพลาดที่ไม่อาจกลับไปแก้ไขได้ ถ้าเช่นนั้น การที่ไม่ได้ควบคุมสื่อตั้งแต่เนิ่นๆ ก็คือความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในชะตาชีวิตของเขา เพราะความผิดพลาดนี้ ตอนนี้เขาจึงทำได้เพียงแค่ต่อสู้ในเวลาที่สายเกินไป และไร้ผล

คำบอกเล่าของทักษิณ
ผมอยากจะรีบประกาศว่าประเทศเข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน แต่เมื่อผมกำลังติดต่อกับในประเทศอยู่นั้น พบว่าการสื่อสารจากสหรัฐฯ ไปไทยถูกตัดขาดหมด ไม่เพียงแต่สายโทรศัพท์ อินเตอร์เนตก็ถูกตัด ผมลองอยู่หลายครั้ง ก็ไม่สำเร็จ ก่อนปฏิวัติสองชั่วโมง ทหารก็คุมสื่อได้แล้ว ใครที่คุมกองทัพได้ ก็คุมสื่อได้ กองทัพต้องประกาศการปฏิวัติผ่านการควบคุมสื่อ นี่เป็นวิธีเดียวของพวกเขา พวกเขาคุมโทรทัศน์กับวิทยุได้แล้ว

ถ้าจะพูดว่าผมมีเรื่องอะไรที่เสียใจไหม ก็คงเป็นควบคุมสื่อไม่ทันเวลา แม้ว่าก่อนจะออกไปประชุมต่างประเทศ ได้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ระวังการเคลื่อนไหวของฝ่ายทหาร แต่เราละเลยสื่อไป แต่ว่า จริงๆ ก็ไม่มีอะไรที่เสียใจ ที่ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป นี่เป็นบทเรียน

ตอนที่ 3
แบบอย่างที่มาของ ทักษิณคุยคนเดียว
ทักษิณผู้เคยร่ำเรียนที่สหรัฐฯ เป็นเวลา 5 ปี ตอนที่เที่ยววอชิงตันอยู่นั้น ได้สังเกตเห็นรูปปั้นที่ตั้งอยู่ที่รูสเวลท์พลาซ่า ประชาชนธรรมดาที่สวมชุดลำลอง นั่งอยู่ที่มุมหนึ่งของห้อง เอียงศีรษะ กำลังตั้งใจฟังอะไรบางอย่างอยู่ ...เขากำลังฟังรายการ "คุยกันริมเตาผิง" (Fireside Chats) ของรูสเวลท์อยู่ ประธานาธิบดีผู้ซึ่งร่างกายพิการแต่จิตวิญญาณแข็งแกร่งนี้ ในยามค่ำคืน เขาจะนั่งอยู่ข้างเตาผิง เล่าความยากลำบาก ความต้องการ และความหวังของประเทศชาติให้ประชาชนของเขาฟังผ่านคลื่นวิทยุ

12 มีนาคม 2476 วันที่แปดหลังจากรูสเวลท์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นวันอาทิตย์ เขาอัดเสียงให้สัมภาษณ์ American Broadcasting Company (ABC) Columbia Broadcasting System (CBS) และ National Broadcasting Company (NBC) ที่หน้าเตาผิงของห้องรับรองที่ชั้นล่างของทำเนียบ เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงที่ข้างเตาผิง ประธานาธิบดีกล่าวว่า หวังว่าการสนทนาครั้งนี้จะเป็นกันเองสักหน่อย ไม่ต้องหรูหราฟุ่มเฟือย ให้เหมือนกับล้อมวงนั่งอยู่รอบเตาผิงที่บ้านและพูดคุยเล่นกันกับคนในครอบครัว ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เรียกว่า "คุยกันริมเตาผิง(Fireside Chats)" เถิด

"คุยกันริมเตาผิง" จัดขึ้น 30 ครั้งภายใต้เวลา 12 ปีที่รูสเวลท์ดำรงตำแหน่ง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง เมื่อประเทศประสบเหตุการณ์สำคัญ เขาก็จะใช้วิธีนี้ติดต่อกับประชาชนสหรัฐฯ โดยตรง การฟัง "คุยกันริมเตาผิง" ของประธานาธิบดี กลายเป็นงานอดิเรกหนึ่งของชาวสหรัฐฯ ประธานาธิบดีรูสเวลท์ใช้การสนทนาที่เป็นกันเอง เข้าไปอยู่ในใจของประชาชนของเขา

นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน
ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ใช้หน่วยงานด้านกระจายเสียงแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชน เขาผู้ซึ่งชอบทำอะไรให้ถึงที่สุด แน่นอนว่าไม่พอใจกับ "ปีละ 2 ครั้ง" เขาไม่ยี่หระต่อความลำบาก ทุกอาทิตย์จัดรายการหนึ่งครั้ง ครั้งละ 60 นาที ใช้ชื่อรายการว่า "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" (Prime Minister Thaksin Talks to the People) ทุกวันเสาร์เวลา 8.00-9.00 น.

กว่าครึ่งหนึ่งของรายการวิทยุในไทยจะถ่ายทอดรายการ "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" เพื่อฟังทอล์กโชว์การเมืองที่แสดงโดยนายกรัฐมนตรีผู้ติดสำเนียงเชียงใหม่เล็กน้อย ทักษิณนำเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในหนึ่งสัปดาห์มาสรุป นำหลักฐาน เนื้อหา และผลลัพท์ ของนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ หรือวางแผนจะดำเนินการมารายงานประชาชน บางครั้งจะนำปัญหาที่ประชาชนให้ความสนใจมาตอบคลายความสงสัย เช่น ลดภาษีเกษตรกร, 30บาทรักษาทุกโรค, หนึ่งตำบลหนึ่งทุน, ก๊าซราคาถูกสำหรับแท็กซี่ เป็นต้น. ทักษิณยังตั้งตู้ไปรษณีย์ถึงนายกฯ ที่หน้าทำเนียบ เพื่อรับคำร้องเรียนและคำแนะนำของประชาชน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ "ใกล้ชิดประชาชน" ที่หาได้ยาก

นายกฯ ใช้คำพื้นๆ ที่เกษตรกรฟังเข้าใจ พูดถึงนโยบายที่ปฏิบัติและจับต้องได้จริง ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาก แต่ว่า ชนชั้นกลางในเมือง ผู้ต่อต้านและปัญญาชนกลับไม่คิดเช่นนั้น มีคนไม่พอใจที่นายกฯ ของประเทศที่ยิ่งใหญ่ใช้คำพูดพื้นๆ ในการสนทนาเสมอๆ และเมื่อเวลาผ่านไปก็ยังพบว่า ในการสนทนาของทักษิณนั้นนอกจาก "เอาใจ" คนจนอย่างมากแล้ว การดูแลเอาใจใส่ชนชั้นกลางในกรุง ผู้เป็นผู้เสียภาษีรายหลักยังน้อยกว่ามาก จนกระทั่งตอนหลังเกิดเหตุการณ์ประหลาดที่นายกฯ ที่ชาวนาเลือกมาในที่สุดกลับถูก "โค่นล้ม"

5 กุมภาพันธ์ 2549 สองสัปดาห์หลังจากเหตุการณ์ "ขายหุ้น" ชินคอร์ป การเดินขบวน "ขับไล่ทักษิณ" ก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เสียงเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกมีมากขึ้นทุกวัน ทักษิณพูดในรายการวิทยุช่วงเช้าวันเดียวกันนั้นว่า เขาจะไม่ลาออกเด็ดขาด "คนที่จะให้ผมลาออกมีเพียงในหลวงผู้เดียวเท่านั้น หากท่านบอกผมว่า ทักษิณ ลาออกเถอะ ผมก็จะไป" เขายังอธิบายถึงที่มาที่ไปของคดีขายหุ้นชินคอร์ป และบอกว่า "ผมไม่ได้ทำอะไรผิด เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังอยากให้ผมทำงานต่อ"

24 กุมภาพันธ์ เขาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เลื่อนการเลือกตั้งใหญ่ให้เร็วขึ้น รายการวิทยุของนายกฯ ก็ต้องปิดตัวลงไปด้วย ปลายเดือนมิถุนายน มีข่าวว่า เขาคิดจะกลับมาจัดรายการนี้อีก กลุ่มต่อต้านก็ต่อต้านรุนแรง มีผู้กล่าวว่า ตอนนี้เขาเป็น "นายกฯ รักษาการ" ใช้เวลาออกอากาศวิทยุรัฐบาลมาจัดรายการของตัวเองนั้น "ไม่เหมาะสม" และยังมีคนโจมตีเขา การเลือกตั้งใหญ่กำลังจะมาถึง ความนิยมในตัวเขาลดลง การกลับมา "จัดรายการ" สู่ประชาชนอีกครั้ง คือการ "หาเสียง" ให้กับพรรคไทยรักไทย

ทักษิณไม่ถูกกระทบโดยสิ่งนี้ และยืนยันว่าเขาจะ "พูดแต่เรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน" ในรายการ ในการสนทนาครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ทักษิณประกาศว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะเริ่มให้ "โน้ตบุ๊กร้อยเหรียญ" ที่สถาบัน MIT ของสหรัฐฯ ค้นคว้าและพัฒนาแก่นักเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ คอมพิวเตอร์ชนิดนี้เครื่องละเพียงประมาณ 135 เหรียญสหรัฐฯ เขาวางแผนว่าจะซื้อมา 500 เครื่องก่อน และส่งให้นักเรียนประถมที่อยู่เขตภูเขาที่ห่างไกล ปีหน้าจะซื้ออีกหนึ่งล้านเครื่อง เป้าหมายคือให้ "นักเรียนประถมทุกคนมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เพื่อแทนที่หนังสือเรียนตอนนี้" น่าเสียดายที่โครงการนี้จบลง เพราะจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชะตาชีวิตของเขา

ตอนที่ 4
รายการทักษิณเรียลลิตี้โชว์
อีกสิ่งหนึ่งที่ทักษิณใช้สื่อเพื่อเสริมสร้างกระแสสนับสนุนรัฐบาล คือการถ่ายทำรายการทักษิณเรียลลิตี้โชว์ ที่ทั้งสมจริงและกินเวลานานอันหาดูได้ยากในเวทีการเมืองโลก. 16 มกราคม 2544 ทักษิณไปยังหมู่บ้านยากจนแห่งหนึ่งในด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ และใช้ชีวิตอยู่กับชาวนาเป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ ผู้ติดตามมีคณะถ่ายทำกว่า 100 คน และกล้องวิดีโอกว่า 40 เครื่อง

ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน คำพูดและการกระทำของนายกฯถูกติดตามถ่ายตลอด 24 ชั่วโมง เนื้อหาทั้งหมดถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ผู้ชมจะเห็นภาพในช่วงสำคัญที่เกิดขึ้นภายในครึ่งชั่วโมงแรกของรายการ เช่น เจ้าหน้าที่กำลังจัดสถานที่ คนเดินผ่านมามุงดู เป็นต้น จนกระทั่งทักษิณออกโรง มุมกล้องจะย้ายไปจับอยู่ที่ตัวเอกนี้คนเดียว วันแรก ผู้คนเห็นนายกฯ คุยเรื่องสัพเพเหระ ทำกับข้าว กินข้าวกับคนท้องถิ่น ตอนเย็น เขาจะนอนในมุ้งที่กางเอง

วันที่สอง นายกฯขับรถแทรกเตอร์ไปตามถนนลูกรัง สำรวจสภาพชนบท บางครั้งกระโดดลงจากรถ คุยกับชาวนาที่มาขวางทางรถ ช่วยออกความเห็นให้ชาวบ้าน แนะนำ "ประสบการณ์ทำอย่างไรให้รวย" และมักแจกจ่ายเงิน ควักเงินสด 1,000 หรือ 2,000 บาท ยัดใส่มือของชาวนา ตอนเย็น เขานอนที่วัดแห่งหนึ่งใกล้ๆ หมู่บ้าน จากมุมกล้องมุมไกลนั้น ผู้คนจะเห็นทักษิณสวมกางเกงขาสั้นเดินออกจากบ้านมา โทรศัพท์ไป เดินไปห้องน้ำ สายตาราวกับกำลังมองไปยังอีกโลกหนึ่ง

ในรายการนี้ คุณยายท่านหนึ่งบอกนายกฯ ว่า เธอมีรายได้สัปดาห์ละ 5 เหรียญสหรัฐฯ และยังต้องจ่ายหนี้ที่ลูกชายที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางถนนติดหนี้ไว้อีก 5,000 เหรียญสหรัฐฯ

"ท่านช่วยฉันใช้หนี้ได้ไหม ท่านช่วยให้หลานของฉันเข้าเรียนได้หรือเปล่า" คุณยายถาม
"ได้" ทักษิณตอบอย่างไร้ความกังวลใจ "ผมจะให้วัวนมอีกตัวด้วย"
"ท่านเป็นคนดีมาก ขอให้ท่านเป็นนายกฯตลอดไป" ใบหน้าที่ผ่านมรสุมชีวิตของคุณยายยิ้มออกมาหน้ากล้อง

ในอีกภาพหนึ่ง ทักษิณปราศัยต่อหน้าชาวบ้านทั้งหมู่บ้านอย่างกระตือรือร้น "พ่อแม่พี่น้องรู้หรือไม่ว่าผมเห็นถึงอะไร ผมเห็นพ่อแม่พี่น้องขายกระดาษที่ผลิตเองในอินเตอร์เนต ผมเห็นพ่อแม่พี่น้องกำลังจะรวย ผมเห็นครอบครัวของพ่อแม่พี่น้องมีความสุข มีงานทำ"

ผลกระทบจากรายการทักษิณเรียลลิตี้โชว์
ผลกระทบจากการออกอากาศรายการรุนแรงมาก เป็นหัวข้อในการสนทนาไปทั่วทั้งประเทศ คนที่รักทักษิณชื่นชมนายกฯว่าพูดจริงใจตรงไปตรงมา เอาใจใส่ความทุกข์ยากของประชาชน ผู้ที่ต่อต้านเขา กลับกล่าวว่าตลบตะแลง ใช้สื่อมาสร้างภาพ มีคนกล่าวว่า ทักษิณเชื่อโหราศาสตร์ ระยะนี้ดวงไม่ดี ดังนั้นจึงลองใช้วิธีเรียลลิตี้โชว์มาทำให้ตนเองสบายใจ มีคนกล่าวอีกว่า ทักษิณชอบมุ่งไปข้างหน้า พฤติกรรมที่สร้างความประหลาดใจนี้เป็นเพียงแค่การเพิ่มคะแนนสนับสนุนให้ตัวเองเท่านั้น ยังมีคนไม่พอใจที่เขาขี่มอเตอร์ไซค์ในหมู่บ้านแต่ไม่สวมหมวกนิรภัย คิดว่าเป็นคนยุยงให้ทำผิดกฎจราจร

รายการนี้สร้างกระแสในเวทีการเมืองเอเชียตะวันออก หนังสือพิมพ์สเตรท ไทม์ของสิงคโปร์ "เหน็บแนม" ว่า ผู้คนในสถานที่ที่ทักษิณไปถ่ายทำในรายการเรียลลิตี้โชว์ ได้รับผลประโยชน์ไม่น้อย เช่น ถนน อาคารราชการก็ได้ตกแต่งใหม่ พ่อค้าอายุ 50 ปีคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "เช้าวันนี้เมื่อตื่นนอน ผมก็จำถนนนอกบ้านตัวเองไม่ได้เสียแล้ว ถนนลูกรังที่ไม่มีคนสนใจมากนานปีจู่ๆ กลับซ่อมจนเรียบเสียแล้ว"

เผชิญกับคำวิจารณ์นานา ทักษิณกลับไม่สนใจเลยสักนิด เขากล่าวว่า จุดประสงค์การถ่ายทำ "เรียลลิตี้โชว์" ครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะดำเนินการ "การศึกษาทางไกล" ให้ข้าราชการท้องถิ่นสักครั้งหนึ่ง สอนพวกเขาว่าทำอย่างไรจึงจะ "ขจัดความยากจน" ได้. "ผู้ชมของเราไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ" เขากล่าวว่า "ผมไม่กังวลว่าข้างนอกจะวิจารณ์ ผมทุ่มเททั้งหมดให้กับผลที่จะเกิดจากรายการนี้"

หากไม่ใช่เพราะว่าหลายวันหลังจากนั้นจะเกิดกรณี "คดีขายหุ้นชินคอร์ป" ขึ้น "เรียลลิตี้โชว์" นี้ก็ยังคงให้คนไทยทุกระดับพูดถึงไปได้อีกหลายสัปดาห์ แต่ว่าเมื่อ "คดีขายหุ้นชินคอร์ป" เกิดขึ้น "เรียลลิตี้โชว์นายกฯ" ที่เป็นเอกลักษณ์นี้ จึงถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนประเด็น เป็น "แผนการ" ที่สร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนมุมมองข่าวด้านลบเกี่ยวกับเขา

ตอนที่ 5
ความขัดแย้งของนายกฯ ทักษิณ กับสื่อมวลชนไทย
ตั้งแต่ทักษิณจัดรายการวิทยุเพื่อติดต่อกับประชาชน เพิ่มชื่อเสียงของเขาในใจของมวลชน แต่ทว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่เขาทำเช่นนี้ เกรงว่าจะเกิดจากความรู้สึกที่เขาไม่ไว้ใจสื่อ ที่จริงแล้ว ความขัดแย้งของนายกรัฐมนตรีท่านนี้กับสื่อเกิดขึ้นมานานแล้ว

น่าแปลกมากที่เมื่อเศรษฐีพันล้านท่านนี้ทำธุรกิจอย่างซื่อตรงนั้น สื่อชื่นชมจิตวิญญาณที่กล้าคิดกล้าทำและความสำเร็จมหาศาลด้านธุรกิจโทรคมนาคมของเขา ความน่าเชื่อถือของกิจการโทรคมนาคมเครือชินวัตร และหุ้นที่ถีบตัวขึ้นสูงจนทำให้ทักษิณก้าวเป็นเศรษฐีร้อยล้านในข้ามคืน ก็เกี่ยวข้องกับคำชื่นชมของสื่อ แต่ว่า หลังจากเขาเปลี่ยนมาเล่นการเมือง ท่าทีของสื่อดูเหมือนจะกลับตาลปัตร คำวิจารณ์ด้านลบของเขาปรากฏออกมาไม่ขาดสาย หลังจากประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

มีคราวหนึ่ง ทักษิณในขณะนั้นเป็นรองนายกฯสร้างคฤหาสน์ที่ฝั่งธนบุรีริมแม่น้ำเจ้าพระยา เชิญอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช แห่งสหรัฐฯ และบุคคลสำคัญทางการเมืองไทยและนักธุรกิจใหญ่มาร่วมพิธีขึ้นบ้านใหม่ สื่อในขณะนั้นรายงานว่า คฤหาสน์ของทักษิณมูลค่า 500 ล้านบาท บอกเป็นนัยว่าตอนที่ประเทศประสบวิกฤตเศรษฐกิจขั้นสาหัสนั้น เขากลับร่ำรวยมหาศาล ทักษิณโกรธมาก เพราะว่าบ้านหลังนี้รวมที่ดินแล้วมีมูลค่าเพียง 100 ล้านบาท และขณะนั้น 500 ล้านบาทสามารถสร้างตึกสูง 20- 25 ชั้นได้หนึ่งหลัง

หลังจากทักษิณเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในด้านการแก้ไขปัญหา "ความไม่สงบในภาคใต้" ก็ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างมาก เขาทั้งไม่อ่อนข้อ และไม่ยอมแพ้ แต่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด จัดการกับผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมที่กล้า "ฆ่ารายวัน" ทำให้ผู้ต่อต้านโจมตีเขาว่า "เหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน"

เดือนสิงหาคม 2547 เขากล่าวในการสนทนากับสื่อครั้งหนึ่งว่า "หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ควบคุมและตรวจสอบปัญหาภาคใต้มากว่าหนึ่งปีแล้ว พบว่าพฤติกรรมแปลกๆ ที่เยาวชนภาคใต้มีนั้น ฝึกมาจากพวกหัวรุนแรงอินโดนีเซีย เยาวชนหลายคนไปเรียนศาสนาที่อินโดนีเซีย หลายคนมีเพื่อนอินโด ไม่น้อยแต่งงานกับสาวอินโด เราพบว่า คนเหล่านี้ปลุกระดมเยาวชนในท้องถิ่น พาคนส่วนหนึ่งไปรัฐกลันตันของมาเลเซีย บางส่วนฝึกอย่างลับๆ อยู่ในป่าของไทย แต่นี่ไม่ได้หมายความว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียสนับสนุนพวกเขา พวกเขา(มาเลเซียและอินโดนีเซีย) ก็คงไม่เห็นด้วย เพียงแต่พวกเขาแอบๆ ฝึก ไทยเราก็ไม่สนับสนุน แต่ว่าก็มีการฝึกลับๆ นี้อยู่"

คำพูดดังกล่าวมีสื่อบางส่วน "อ้างอิงเฉพาะส่วน" รายงานออกมาแล้ว กลายเป็นว่าทักษิณประณามมาเลย์เซียและอินโดนีเซียช่วยเหลือภาคใต้ให้การฝึกฝนผู้ก่อการร้าย ทักษิณโกรธมาก ในรายการ "นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน" สัปดาห์นั้น วิจารณ์สื่อว่าไม่รับผิดชอบ เขากล่าวว่า "ที่พวกเขารายงานแบบนี้จะให้ไทยทะเลาะกับเพื่อนบ้านหรือไง"

คำบอกเล่าของทักษิณ
สื่อไทยชอบรายงานเรื่องร้าย ไม่รายงานเรื่องดี ข่าวในแง่ลบบางข่าวไม่เป็นจริง มีแต่เพียงการเดาสุ่ม เวลารัฐบาลออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง พวกเขากลับไม่แก้ข่าว มีบางข่าวไม่ดูข้อเท็จจริง พูดแต่เรื่องไร้สาระ ไม่รับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองพูดออกไป หากมีวันหนึ่งมีหลักฐานบอกว่าพวกเขาพูดผิดแล้ว พวกเขาก็ไม่สน ลืมไปหมดแล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองไทย เป็นเรื่องที่ไม่อาจแก้ไขได้ในช่วงสั้นๆ ผมคิดว่าในสังคมสมัยใหม่ สื่อต้องพัฒนาไปด้วย แต่สื่อไทยกลับดูเหมือนไม่สามารถเดินออกจากวังวนการเมืองแบบละครน้ำเน่านี้ได้ตลอดกาล

นายกฯ ทักษิณพบสื่อมวลชนสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
ดังนั้น แม้รูสเวลท์จะมี "คุยกันริมเตาผิง" และยังชอบพบปะผู้สื่อข่าว ตามสถิติ ในช่วงที่เขารับตำแหน่งจะพบปะผู้สื่อข่าวสัปดาห์ละสองครั้ง แต่ว่า ทักษิณกลับไม่ชอบสื่อ ปรารถนาที่จะอธิบายนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเองในรายการ "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง นี่ทำให้สื่อไม่พอใจอย่างมาก หลังจากที่เขาเริ่มรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่แนะนำให้เขาทำตามวิธีเดียวกับ "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" จัดงานนายกฯ ทักษิณพบสื่อมวลชนสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อพบปะนักข่าว มิฉะนั้น นายกฯ ก็มักจะถูกนักข่าวที่ติดตามมาถามตอนที่เดินออกไปข้างนอก ทักษิณเห็นด้วยอย่างยิ่ง จึงเตรียมต้อนรับทันที แต่ว่า งานพบสื่อครั้งแรก การปรากฎตัวของนายกฯ ท่านนี้ กลับทำให้ผู้สื่อข่าวทั้งหมดที่มาร่วมงานตกตะลึงไปตามๆ กัน

กากบาท หมายถึง "คำถามไม่สร้างสรรค์"
งานนายกฯ พบสื่อมวลชนครั้งแรกคนแน่นขนัด ทักษิณนั่งบนเวที สงบสุขุม ข้างมือของเขาวางป้ายไว้สองใบ หลังจากนักข่าวแต่ละคนถามคำถาม ทักษิณจะชูป้ายหนึ่งใบ หากบนป้ายเป็นรูปวงกลม จะหมายถึงนายกฯ เห็นว่าคำถามนี้สร้างสรรค์ ควรค่าแก่การตอบ หากบนป้ายเป็น "กากบาท" ก็หมายถึงนายกฯ คิดว่าคำถามนี้ไม่สร้างสรรค์ นักข่าวไม่พอใจกันมาก "ราชาไร้มงกุฎ" ที่ชินกับการวิจารณ์รัฐบาลและผู้นำเหล่านี้ จิตใจที่อ่อนแอถูกกระทบอย่างรุนแรง หลังงานพบสื่อจบลง สื่อใหญ่ๆ ของไทยก็ลงบทความวิจารณ์ประณามทักษิณว่าไม่เห็นผู้อื่นอยู่ในสายตา เอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ ใช้มาตรฐานของตัวเองมาตัดสินมาตรฐานของนักข่าว เป็นการทำร้ายเสรีภาพสื่อ

จินตนาการได้เลยว่า ทักษิณนั่งอยู่ในห้องทำงาน มองเห็นความโกรธของสื่อ รู้สึกปั่นป่วนไม่น้อย การเล่นตลกเล็กๆ น้อยๆ นี้สำเร็จแล้ว แต่ว่า ในงานพบสื่อครั้งที่สอง เขาฉลาดที่จะไม่ใช้ป้ายสองใบนั้นอีก แต่ว่า นายกฯ หน้าตายิ้มแย้ม อดไม่ได้ที่จะแหย่นักข่าวอีกสักหน่อยว่า "พวกคุณทำไมจริงจังกันขนาดนั้น ก็แค่ป้ายใบเล็กๆ เท่านั้นเอง" มีนักข่าวถามว่า ความคิดเรื่องชูป้ายมาจากไหน ทักษิณตอบอย่างมีความสุขว่า ยืมมาจากรายการโทรทัศน์ประเภทประลองปัญญาของญี่ปุ่น

ฟ้องไทยโพสต์ และสุภิญญา กลางณรงค์
ประเด็นที่มีคนวิจารณ์มากที่สุดประเด็นหนึ่งช่วงที่อยู่ในตำแหน่งคือ เขาลดเสรีภาพสื่อเอะอะก็ฟ้องร้องสื่อ บทบรรณาธิการหนึ่งที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Asia Time กล่าวว่า "ในสายตาของคนกรุงเทพฯ ท่าทีของทักษิณและอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยูของสิงคโปร์ ต่อเสรีภาพสื่อเหมือนออกจากพิมพ์เดียวกัน. ในช่วงทศวรรษ 1990 ลีกวนยูเคยฟ้องร้อง Dow Jones ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ International Herald Tribune และ Far Eastern Economic Review ได้สำเร็จ แต่ว่าทั้งคู่ก็ยังมีสิ่งที่ไม่เหมือนกัน ผู้ที่ลีกวนยูฟ้องร้องว่ากันว่าเป็นชาวต่างชาติที่ใส่ร้ายเขา แต่ผู้ที่รัฐบาลทักษิณฟ้องร้องกลับเป็นคนชาติเดียวกัน"

เดือนกรกฎาคม 2546 บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ธุรกิจของครอบครัวทักษิณฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และสุภิญญา กลางณรงค์ นักข่าวและเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ด้วยข้อหา "ใส่ร้าย" และเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนสี่ร้อยล้านบาท เหตุผลคือ ในข่าวของสุภิญญาได้กล่าวว่า ระหว่างปี 2544-2545 หลังจากที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ผลกำไรของเครือชินวัตรเพิ่มขึ้นสามเท่า บทความบอกเป็นนัยว่าอาจเป็นเพราะผลประโยชน์ที่ได้จากรัฐบาล

ในการขึ้นศาลครั้งเดียวของสุภิญญา เธอกำหินนำโชคสีม่วงไว้แน่น ประณามอย่างโกรธเคืองว่านี่คือ "บรรยากาศที่น่าสะพรึงกลัว" ที่แทรกซึมไปทั่วสังคมไทย และรู้สึกว่า "ใจของตนตกลงไปในเหวลึก การฟ้องร้องเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อระงับไม่ให้คนวิจารณ์รัฐบาลทักษิณ" ว่ากันว่าปัญญาชนต่างชาติที่มีชื่อเสียงบางคนรวมถึง Noam Chomsky และ Armand Mattelart เคยลงชื่อในหนังสือเรียกร้องให้เครือชินวัตรถอนฟ้อง แต่ว่าในเดือนมกราคม 2549 หลังจากที่ลูกๆ ของทักษิณขายหุ้นเครือชินวัตรให้เครือเทมาเส็กของสิงคโปร์แล้ว การฟ้องร้องนี้จึงถูกยกฟ้อง

เดือนพฤศจิกายน 2548 ทักษิณประกาศกะทันหันว่า ก่อนปีใหม่ เขาจะไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เหตุผลคือโหราจารย์กล่าวว่า ดาวพุธอยู่แนวเดียวกับราศีตน แสดงว่าไม่เหมาะที่จะให้สัมภาษณ์ ดังนั้น "ขอโทษทุกๆ ท่านด้วย ผมจะไม่พูดแล้ว" ท่าทีของเขาเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทำให้สื่อไทยโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ สื่อใหญ่ๆ ทั่วโลกก็วิจารณ์เรื่องนี้เช่นกัน เพราะว่าข้ออ้างของนายกฯ ท่านนี้ไม่จริงจังเลย สถานการณ์จริงก็คือ ในช่วงที่ผ่านมา เขาไม่พอใจสื่อที่ลงข่าวด้านลบของเขาหลายครั้ง ว่ากันว่า มีครั้งหนึ่งทักษิณเล่นกอล์ฟกับเพื่อน พูดล้อชีวิตการงานต่อไปของตนว่า "ผมอยากจะสมัครงานสื่อสารมวลชน จะได้มีเพื่อน"

ตอนที่ 6
ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดก็คือเพื่อน: สนธิ ลิ้มทองกุล
ในวงการสื่อ ทักษิณใช่ว่าจะไม่มีเพื่อนเสียเลย ที่จริงแล้ว เขามีเพื่อนสนิทมากคนหนึ่ง คือนายสนธิ ลิ้มทองกุล แต่ว่า ในช่วงที่เกิดการโค่นล้มทักษิณนั้น ผู้ที่เป็นตัวเอกก็คือสนธิคนนี้ พวกเขาเปลี่ยนจากมิตรภาพเป็นความเกลียดแค้น เปลี่ยนจากพึ่งพาอาศัยกันเป็นศัตรูต่อกัน และศัตรูที่น่ากลัวที่สุดก็ไม่พ้นเพื่อนที่กลายเป็นศัตรูกัน

นายสนธิ ลิ้มทองกุล เกิดปี 2490 เชื้อสายจีน ครอบครัวมาจากมณฑลไหหลำ ประเทศจีน เขาเรียนจบมัธยมปลายที่ประเทศไทย และถูกบิดาส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เพราะภาษาจีนไม่ดี จึงเปลี่ยนไปเรียนที่ UCLA ที่นั่นเขาเรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์เอเชียปัจจุบัน หลังจากกลับประเทศไทย เขาก็เริ่มทำงานสื่อ ปีที่เขาอายุ 31 ปี สนธิเปิดบริษัทสื่อของตัวเอง ผลิตและจัดพิมพ์นิตยสารสตรีฉบับหนึ่ง จากนั้น อาณาจักรสื่อของเขาก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้เครือของเขามีทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน อาทิ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ Asia Times ฯลฯ อีกทั้ง สำนักพิมพ์ สื่ออินเตอร์เนตอีก 4 แห่ง รายการวิทยุที่ค่อนข้างมีอิทธิพลในประเทศไทยอีก 1 สถานี

ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เขาผลิตรายการโทรทัศน์และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของประเทศไทย มีสถานีข่าวโทรทัศน์ 24 ชั่วโมง ทักษิณกับสนธิรู้จักกันมาหลายปี สนิมสนมกลมเกลียว ว่ากันว่า ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทั้งสองฝ่าฝันอุปสรรคมาด้วยกัน หลังจากที่ทักษิณรับตำแหน่งนายกฯ สื่อในเครือของสนธิเกือบทั้งหมดกลายเป็นกระบอกเสียง "ส่วนตัว" ให้กับรัฐบาล เจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะรัฐมนตรีของทักษิณ มักลงบทความในหนังสือพิมพ์ของเขา ทุกครั้งที่รัฐบาลมีนโยบายใหม่ออกมา ก็จะได้รับคำชื่นชมอย่างจริงใจจากเขาทันที

มูลเหตุแห่งความโกรธแค้น
เพื่อนที่ช่วยเหลือกันมาเช่นนี้ สุดท้ายกลับกลายเป็น "ศัตรู" จากรายการของสื่อมวลชน กล่าวว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของบุคคลในธนาคาร ปี 2547 ธนาคารกรุงไทยซึ่งรัฐบาลถือหุ้นอยู่มีข่าวว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ สี่แสนล้านบาท ผู้จัดการธนาคารกำลังจะถูกปลดจากตำแหน่ง สนธิกลับปกป้องเขา เพราะว่าในจำนวนหนี้เสียนี้เขาได้กู้มา 1,600 ล้านบาท หากผู้จัดการธนาคารถูกปลด เขาก็จะล้มละลาย ท้ายที่สุด ผู้จัดการธนาคารคนนี้ก็ถูกปลด ทักษิณซึ่งเป็นนายกฯ ในตอนนั้นไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือใดๆ ทำให้สนธิไม่พอใจอย่างมาก

เดือนกรกฎาคม 2547 สถานีโทรทัศน์ในเครือสนธิก็เกิดปัญหาใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ทำให้ต้องหยุดถ่ายทอดสถานี เขาขอร้องให้เพื่อนช่วยอีกครั้ง แต่ก็ถูกทักษิณเมิน ในเวลานี้ ทักษิณไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดตามมาหลังจากละเลยเพื่อนคนนี้แล้ว บุคคลเล็กๆ ที่ไม่สะดุดตาคนนี้ภายหลังจะนำพาความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ บางทีแม้แต่ตัวเขาเองตอนนั้นก็ไม่แน่ใจ เขารู้เพียงว่า ความแค้นเคืองที่มีต่อเพื่อนรักเก่าคนนี้จะพุ่งไปถึงขีดสุด

9 กันยายน 2548 ในรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 สนธิ และพิธีกรร่วม สโรชา พรอุดมศักดิ์ ได้พูดเรื่องทักษิณเข้าไปก้าวก่ายพุทธศาสนา โดยแต่งตั้งให้พระสงฆ์ระดับสูงเลือกสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ในขณะที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันยังคงแข็งแรงอยู่ (ในประเทศไทย ปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนสูงนี้เป็นเพราะนี่คือพระราชอำนาจเฉพาะของกษัตริย์) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระชนมายุ 92 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

เนื่องจากปัญหาสุขภาพทำให้ไม่ได้ออกปฏิบัติงานสาธารณกิจเป็นเวลาหลายเดือน ในรายการของสนธิกล่าวว่า ในขณะที่สมเด็จพระสังฆราช "ยังมีชีวิตอยู่ สามารถทำงานได้ และสุขภาพกำลังดีขึ้น" รัฐบาลกลับใช้เหตุผลที่ว่าพระชนมายุพระองค์สูงมากแล้ว อาจมรณภาพเมื่อใดก็ได้มาแต่งตั้งรักษาการสมเด็จพระสังฆราช "ตามกฎหมายไทย สมเด็จพระสังฆราชต้องได้รับเลือกจากมหาเถรสมาคม จากนั้นได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์. รัฐบาลทักษิณ "ไม่ได้ดูกฎที่ว่ามีเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่มีสิทธิในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ก้าวก่ายพุทธศาสนา โอบอุ้มรักษาการสมเด็จพระสังฆราชที่สนิทกับตนเอง" นับเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ลูกแกะหลงทาง - ความไม่จงรักภักดีพระมหากษัตริย์
วันนั้น สนธิได้อ่านข้อเขียนชื่อ "ลูกแกะหลงทาง" ในรายการของเขา เรื่องนี้มีผู้อ่านส่ง
อีเมล์มาให้ "ผู้จัดการออนไลน์" (สื่อในเครือสนธิ เป็นเวบไซต์และฟอรั่มที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมากที่สุดเวบหนึ่ง) สนธิไม่ได้เปิดเผยว่าใครเป็นผู้ส่งมา และไม่ได้พูดชื่อทักษิณโดยตรง แต่เห็นได้ชัดว่า ข้อเขียนนี้กำลังบอกเป็นนัยว่าทักษิณไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์. ในประเทศไทย หากต้องการทำลายอนาคตของบุคคลทางการเมืองคนหนึ่ง ไม่มีอะไรที่จะได้ผล และโหดร้ายเท่ากับโจมตีเขาว่า "ไม่จงรักภักดีพระมหากษัตริย์" อีกแล้ว

สองสามวันหลังจากนั้น อสมท. เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ได้ระงับการถ่ายทอดรายการสนธิอย่างกะทันหันในวันที่ 15 กันยายน 2548. เหตุผลคือ รายการนี้โจมตีนายกฯ ทักษิณอย่าง "เอนเอียง" และ "ไม่เป็นกลาง" และกล่าวเรื่องความสัมพันธ์ของทักษิณและพระมหากษัตริย์. วันที่ 26 กันยายน สนธิฟ้องร้องผู้บริหาร 3 คนของอสมท. และเรียกร้องต่อศาลให้พวกเขาจ่ายเงินชดเชยหนึ่งบาท. ?นายสุวัตร? ?อภัยภักดิ์ ทนายของสนธิกล่าวว่า "สนธิเพียงแค่คิดจะให้ผู้คนรู้ว่าใครผิด ใครถูก เขาไม่ได้ต้องการเงิน". สี่วันหลังจากนั้น ทักษิณยื่นฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล สโรชา พรอุดมศักดิ์ และ Thaiday.com (บริษัทลูกของเครือผู้จัดการ ผู้ผลิตของรายการทอล์กโชว์ดังกล่าว) กับศาลอาญาและศาลปกครอง เรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 5,000 ล้านบาท. ทนายความของทักษิณชี้แจงว่า อสมท. และThaiday.com เคยลงนามในสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดว่าในรายการจะมีการวิจารณ์รุนแรงไม่ได้. อสมท. เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของสนธิผิดสัญญา ดังนั้นจึงถอดถอนรายการนี้

หลังจากรายการถูกระงับออกอากาศ สนธิไม่ได้รีบร้อนกังวลใจ เขานำฝีปากที่มีอำนาจสังหาร "เคลื่อนทัพ" ไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มจัดรายการวิทยุ มีผู้ชมในรายการกว่า 4,000 คน วันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็น "วันประชาธิปไตย" ของไทย มีผู้ชมกว่าหนึ่งหมื่นคน จากนั้น พวกเขาก็ย้ายไปจัดรายการที่สวนลุมพินี อันมีบรรยากาศงดงาม เหตุผลคือที่นั่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์น้อยเกินไป. ทุกเย็นวันศุกร์ สนธิก็จะจัดรายการคู่กับสโรชา ขึ้นพูดทอล์กโชว์การเมือง เนื้อหาคือวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณและรัฐบาลปัจจุบัน สวนลุมพินีภายหลังเปลี่ยนเป็นที่รวมพลต่อต้านรัฐบาล "ล้มล้างทักษิณ"

บทความเทศนาของหลวงตามหาบัว
27 กันยายน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการในเครือสนธิ ลงบทความเทศนาของหลวงตามหาบัว (พระผู้ใหญ่อายุ 92 ปี) พระรูปนี้มีชื่อเสียงมากและมีผู้วิจารณ์มากในประเทศไทย คนรุ่นก่อนคิดว่าท่านสวดมนตร์อยู่ในวัดก็ดีอยู่แล้ว ไม่น่าออกมาเกี่ยวข้องกับการเมือง (หลวงตาฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี) ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ท่านเป็นผู้เรียกร้องให้คนไทยทั้งในและนอกประเทศบริจาคทองคำและเงินดอลล่าร์ แน่นอนว่าเป็นเรื่องดี เมื่อทักษิณเพิ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องขึ้นศาลด้วยข้อหา "จงใจปิดบังทรัพย์สิน" ท่านยังออกมาช่วยแก้ปัญหาให้ ตอนนี้ พระอาวุโสท่านนี้กลับใช้น้ำเสียงรุนแรงโจมตีทักษิณและรัฐบาล

"มีคนฟ้องร้องมาว่า นายกฯ ทักษิณกับนายวิษณุ และกับอีกสองคนเราจำไม่ได้ นี้คือตัวยักษ์ใหญ่ ตัวอำนาจใหญ่ อำนาจป่าๆ เถื่อนๆ จะกินบ้านกินเมือง กัดตับกัดปอด ....เขาหลับหูหลับตา ทั้งกายของเขาแสดงออกถึงความโลภและโหดร้าย ตอนนี้เขามุ่งแต่ตำแหน่งนายกฯ... พระราชอำนาจถูกละเลย ความศรัทธาถูกเหยียบย่ำ ประเทศกำลังตกต่ำ พวกเขาปล่อยให้อำนาจตกอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อยในรัฐบาล คนพวกนี้อเปรต คือยักษ์ คือมหาภัย ...แม้แต่พระเทวทัต (ศัตรูของพระศากยมุนี เกิดมาต่อกรกับพระองค์หลายภพชาติ) ก็ยังสำนึกผิดได้เอง ในที่สุดก็เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ส่วนเราความผิดพลาดตัวเองทำเป็นมองไม่เห็น เราปกครองกันแบบไหน เมืองไทยจะเป็นอย่างไร... นักการเมืองพวกนี้เล่นการบ้านการเมืองขี้หมาอะไร... เราเอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาชะ มาล้าง ให้รู้เนื้อรู้ตัว รู้ผิดรู้ถูก... ถ้าพวกเขาไม่รับความจริง ก็เท่ากับเอาไฟเผาตัวเอง ทั้งหมดนี้ เราเสียใจมาก มันเกิดขึ้นได้อย่างไร"

บทความวิจารณ์นี้เนื่องจากออกมาจากพระสงฆ์ จึงมีผู้ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ สื่อหลายค่ายนำไปเผยแพร่ต่อ ผู้คนมีความเห็นหลากหลาย รัฐธรรมนูญไทยระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล พระมหากษัตริย์สืบทอดราชบัลลังก์. วาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีข้อจำกัดด้านเวลา (วาระหนึ่งสี่ปี แต่ก่อนหน้าสมัยทักษิณ ไม่เคยมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งครบวาระสี่ปี) ความหมายแฝงของพระสงฆ์รูปนี้ดูเหมือนจะบอกว่า ทักษิณเชื่อว่าจะไม่ยอมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และท้าทายราชวงศ์ พยายามลดพระราชอำนาจ นี่เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมรับได้ในประเทศไทย หากนักการเมืองคนหนึ่งถูกสวมหมวกใบนี้เข้าแล้ว(หมายถึงถูกกล่าวหา) ก็เหมือนกับถูกศัตรูบีบคอ ไม่มีการโจมตีใดที่จะนำภัยอันตรายต่อชีวิตได้มากกว่านี้แล้ว

ทักษิณให้ทนายฟ้อง นสพ.ผู้จัดการ
วันที่ 11 ตุลาคม ทักษิณฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในข้อหา "ใส่ความ" เรียกร้องให้ชดเชยค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นเงิน 500 ล้านบาท ในหนังสือฟ้องร้องกล่าวว่า การลงบทความที่ใช้ "ภาษารุนแรง" และ "ไม่เป็นจริง" นั้นมิใช่ "พฤติกรรมที่น่านับถือ" นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความของนายกฯ เห็นว่า "แม้เนื้อหาบทความนั้นจะเป็นความจริง แต่หนังสือพิมพ์ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ควรลงข้อเขียนผิดๆ ที่อาจทำร้ายผู้อื่นได้... นี่เป็นการที่บุคคลหนึ่งกำลังใช้สิทธิปกป้องชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัว ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการวิจารณ์ไม่ใช่การตรวจสอบบุคคลสาธารณะคนหนึ่ง แต่เป็นการใช้คำพูดรุนแรงทำร้ายตัวเขา"

การฟ้องร้องครั้งนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง "ทักษิณกดดันสื่อ" ทนายความของสนธิกล่าวว่า "หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็ลงคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ทำไมทักษิณจึงไม่ฟ้องหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ที่เขาฟ้องแต่บริษัทแมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ปจำกัด(มหาชน) ก็เพราะว่าบริษัทนี้เกี่ยวข้องกับสนธิ ลิ้มทองกุล นี่เป็นส่วนหนึ่งของความแค้นเคืองระหว่างคนสองคน" คณะทนายความของนายกฯฯ อธิบายว่า หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นลงเพียงบางส่วนของเนื้อหา มีแต่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการไม่เพียงลงเนื้อหาทั้งหมด แต่ยังลงหัวข่าวตัวใหญ่ที่ก่อให้เกิดความสงสัย "หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เพิ่มความเห็นของตนเองลงไปในคำเทศนา" ทนายความของนายกฯ กล่าวว่า "หนังสือพิมพ์ของไทยสามารถวิจารณ์ใครก็ได้ คุณสามารถพูดทุกอย่างที่อยากพูดได้ แต่คุณไม่สามารถโจมตีใครก็ได้โดยไม่มีหลักฐาน หากสื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงในข่าวของตน นายกฯ ก็มีสิทธิฟ้องร้องในฐานะประชาชน"

มีคนถามว่า เหตุใดทักษิณจึงไม่ฟ้องร้องพระสงฆ์ที่เขียนบทความเทศนานี้ คำอธิบายของทักษิณคือ "ท่านเคยดีต่อผม ฉะนั้นตอนนี้ผมต้องดีต่อท่านด้วย" แต่ว่า พระผู้ใหญ่ท่านนี้กลับเรียกร้องออกมาขึ้นศาลเอง ท่านถามว่า "หากคำเทศนาของอาตมามีคำที่ไม่เหมาะสมจริงๆ เหตุใดนายกฯ ท่านนี้จึงไม่ฟ้องอาตมา" ท่านกล่าวว่าทักษิณก็ควรเป็นจำเลยในคดีนี้เช่นกัน ท่านเองกลับพร้อมที่จะติดคุกเสมอ "อาตมาได้ยินคนไทยหลายคนบ่นว่า รัฐบาลนี้ทะเยอทะยานด้านการเมืองสูงมาก นี่จะทำลายระบอบสำคัญในประเทศในระยะยาว" ดังนั้น เจตนาที่ท่านเทศนานั้น "เป็นเพียงแค่คำวิจารณ์ลูกศิษย์ของอาจารย์เท่านั้น (ท่านยังมองว่าทักษิณเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของท่าน) เพื่อความสงบสุขและเป็นระเบียบของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"

การฟ้องร้องสนธิและสื่อในเครือของเขาทั้งสองครั้ง เรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหายรวมมูลค่า 24 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หลายคนเหน็บแนมว่า "คำสัญญาที่ทักษิณจะกำจัดความยากจนให้หมดไปนั้นมาถูกทางแล้วจริงๆ" ทนายความของทักษิณกล่าวว่า ค่าเสียหายสูงสุดที่กำหนดในกฎหมายไทยในอดีตคือ 5 ล้านบาท (ไม่ถึง 125,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) 24 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ นั้นเป็นเพราะคำนึงถึงเงินเฟ้อ แต่ว่า "ในที่สุดจำเลยจะต้องชดเชยเท่าไรขึ้นอยู่กับคำตัดสินของผู้พิพากษา" เขาอธิบายว่า การฟ้องร้องเป็นเพื่อรักษาชื่อเสียงของนายกฯ คำนึงถึงนายกฯ "ฐานะทางสังคมสูงส่งเช่นนี้" ค่าเสียหาย 24 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จึงไม่มากเกินไป

คดีนี้เป็นเรื่องใหญ่โต และกระทบไปถึงพระมหากษัตริย์. วันที่ 4 ธันวาคม 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระราชดำรัสก่อนวันคล้ายวันประสูติ เตือนทักษิณให้ "ยุติเรื่องราว" พระองค์มีพระราชดำรัสว่า แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังมีผู้วิจารณ์ ท่านก็ไม่ควรจะฟ้องคนอื่นแล้ว และยังตรัสอีกว่า "ข้าพเจ้าทราบว่ามีหลายคนไม่ชอบท่านนายกฯ แต่ พวกเราตอนนี้ยังไม่มีผู้ที่เหมาะสมกว่า" ท่าทีของพระมหากษัตริย์ครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถามขึ้น จากนั้นทักษิณถอนฟ้องคดี

คำบอกเล่าของทักษิณ
ประมาณสาม-สี่เดือนหลังจากเลือกตั้งใหญ่เมื่อมีนาคม 2548 ผมก็รู้สึกมีอะไรไม่ชอบมาพากล หนังสือพิมพ์เริ่มโจมตีผมอย่างไร้เหตุผล แต่ก่อน พวกเขาจะค่อนข้างระวัง เพราะผมสามารถฟ้องว่าพวกเขาใส่ร้าย แต่ครั้งนี้พวกเขาไม่กลัวแล้ว ผมรู้สึกเหมือนกับทั้งประเทศเริ่มวางแผนจัดการผม สื่อ ระบบกฎหมาย ระบบการแต่งตั้งคน.....ผมถูกกดดันโดยทุกฝ่าย ทำงานไม่ได้ ลำบากไปหมด

ตอนที่ 7
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการขับไล่ทักษิณ
ทว่า บันทึกความแค้นฟาดฟันของทักษิณกับสนธินี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ในไม่ช้า "คดีขายหุ้น" ชินคอร์ปก็เปิดเผยออกมา "เจ้าแห่งการเปิดเผยข้อมูล" รีบใช้ "โอกาส" ที่สวรรค์ส่งมานี้ รวมพลคนต่อต้าน 27 คนอย่างรวดเร็ว ตั้งเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ชุมนุมกันที่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ถวายหนังสือให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและตัวแทนของผู้บัญชาการทหารบก พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน โดยเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถอดถอนทักษิณจากตำแหน่ง ให้กองทัพเลิกสนับสนุนทักษิณ จากนั้นสื่อเข้าร่วมขบวนการ "ขับไล่ทักษิณ" มากขึ้นเรื่อยๆ รายงานของสื่อมวลชนทำลายชื่อเสียงของนายกฯ คนนี้อย่างมาก จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ผ่านไป มีผู้ถามว่า ในกระบวนการที่ทักษิณถูกทหารโค่นล้มนั้น สื่อไทยมีส่วนร่วมมากเพียงใด

14 มีนาคม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" รวมคนแสนคนเดินขบวน "ขับไล่ทักษิณ" กลุ่มผู้ประท้วงล้อมทำเนียบรัฐบาล สาบานว่าหากทักษิณไม่ลาออก พวกเขาก็จะไปกลับไปเด็ดขาด ในตอนนั้นทักษิณกำลังหาเสียงอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ช่วงเช้าวันนั้น ในเมืองมีข่าวลือว่า ทักษิณลาออกแล้ว หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ที่ค่อนข้างมีอิทธิพลมากกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกำลังหารือถึงบุคคลผู้เหมาะสม เพื่อมาแทนตำแหน่งของทักษิณ ในจำนวน "ผู้ที่เหมาะสม" นั้นก็คือรองนายกฯ สุรเกียรติ์? ?เสถียรไทย. ข่าวบอกว่า เช้าวันนั้น ทักษิณจู่ๆ ก็อ้างว่า "ไม่ค่อยสบาย" ยกเลิกกิจกรรมพบชาวบ้านท้องถิ่น แต่ว่าเขากลับแอบเปิดประชุมคณะรัฐมนตรีทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ประกาศว่ารองนายกฯ จะตัดสินใจแทนเขา

อายุของข่าวลือนี้มีไม่ถึงครึ่งวัน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ทักษิณก็ออกมาปฏิเสธ เขากล่าวว่าตนจะไม่ยอมแพ้ให้กลุ่มผู้ประท้วง ที่บนหน้าหนังสือพิมพ์มีข่าวลือนี้ ก็อาจเป็นเพราะว่าการประชุมสภาวันนั้นเลื่อนให้พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ขึ้นเป็นรองนายกฯ ลำดับที่หนึ่งแทนที่รองนายกฯ ลำดับที่หนึ่งในขณะนั้น คือ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย จุดประสงค์ที่เลื่อนพลตำรวจเอก ชิดชัย ขึ้นนั้นก็เพราะขณะนั้นเขาไม่อยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อรับผิดชอบความปลอดภัยทั่วประเทศ หากเกิดเหตุใดขึ้น เขาจะต้องรับผิดชอบ จากนั้นไม่นาน ทักษิณยังให้สัมภาษณ์ CNN โต้กลับข่าวลือที่เขาจะลาออกว่า "สื่อ (ไทย) จะล้มล้างรัฐบาล"

วันที่ 21 มีนาคม ศาลท่านท้าวมหาพรหมที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ถูกชายมุสลิมสติไม่สมประกอบ อายุ 27 ปี ใช้ค้อนเหล็กทุบเสียหาย ผู้ทำลายศาลพระพรหมถูกประชาชนรุมทำร้ายจนเสียชีวิต กลุ่มผู้ต่อต้านรีบชุมนุมกัน สนธิประกาศว่า เหตุการณ์นี้เป็นแผนการของทักษิณ "เหตุใดคนคนนี้จึงถูกตีจนตาย ผมมีข้อมูลภายในว่า บางคนถูกผีเข้า อยากทำลายศาลนี้ พอตอนที่สร้างใหม่ก็จะยัด "ของ" ของตนเอง เพื่อจะ"แก้ไขดวงชะตา". " ทักษิณกล่าวว่า สนธิ "บ้า" ไปแล้ว พ่อของชายคนดังกล่าวบอกว่าสนธิเป็นผู้ที่ "หลอกลวงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาตั้งแต่เกิด"

ช่วงที่การชุมนุม "ขับไล่ทักษิณ" กำลังดุเดือดอยู่นั้น รายการโทรทัศน์หลายรายการฉายเทปในปี 2535 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรียกนายกฯ พลเอก สุจินดา คราประยูร และผู้นำประท้วงพลตรี จำลอง ศรีเมือง เข้าพบ (ดูรายละเอียดในบทที่สอง) หลายครั้ง ทักษิณกล่าวว่า "พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ทำให้เราเข้าใจว่าการปะทะไม่ดีต่อประเทศชาติ พวกเราต้องเชื่อฟังโอวาทของท่าน" แต่สนธิกล่าวว่า "ความหมายที่แท้จริง" ที่สื่อฉายเหตุการณ์ปี 2535 ซ้ำนั้น เป็นเพราะต้องการให้ทักษิณทำตามนายกฯ สุจินดาในตอนนั้น คือประกาศลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข

วันที่ 3 เมษายน วันที่สองหลังจากผลการเลือกตั้งใหญ่ถูกประกาศว่าเป็นโมฆะ หนึ่งวันก่อนทักษิณประกาศลาออก นายกฯ ท่านนี้ไม่รู้ว่าได้รับแรงกระตุ้นจากที่ชนะการเลือกตั้งหรืออย่างไร ในช่วงที่ยุ่งเช่นนี้ กลับเตรียมฟ้องสื่ออีกครั้ง เขาให้ทนายเตรียมเอกสารฟ้องหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฟ้องว่าข่าวหน้าหนึ่งของฉบับวันที่ 30 มีนาคม รายงานว่านายกฯ ถูกคณะองคมนตรีปลดออกจากประธานคณะกรรมการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีไม่เป็นความจริง ทนายความของทักษิณกล่าวว่า "คณะองคมนตรียืนยันว่า ไม่เคยมีการประชุมปลดตำแหน่งประธานคณะกรรมการของนายกฯ อย่างที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้รายงาน รายงานที่ปราศจากความจริงนี้ได้ทำลายชื่อเสียงของนายกรัฐมนตรี เขาต้องการให้หนังสือพิมพ์รับผิดชอบ แต่ไม่เรียกร้องเงินชดเชยใดๆ"

ปฏิญญาฟินแลนด์
การโจมตีทักษิณที่ร้ายแรงที่สุดของสนธิกับสื่อมวลชน คงต้องนับ "ปฏิญญาฟินแลนด์" ปลายเดือนพฤษภาคม 2549 ก่อนงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงบทความหนึ่งกล่าวว่า ในปี 2542 ทักษิณกับผู้นำนักศึกษาในยุคทศวรรษ 1970 (พ.ศ.2513) ประชุมลับที่ฟินแลนด์ หารือกันว่าทำอย่างไรจึงจะล้มล้างระบอบกษัตริย์ และก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐ หัวข้อของบทที่ 5 ชื่อว่า "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ แผนการปฏิวัติประเทศไทย" (Finland Strategy: Thailand's Revolution Plan?)

บทความกล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมลับนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนในพรรคไทยรักไทย และในคณะรัฐมนตรีรัฐบาลทักษิณ พวกเขามีการไปมาหาสู่อย่างลับๆ กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บทความอื่นที่ลงประกอบบทความนี้ มีบทวิจารณ์ของนักวิจารณ์การเมืองผู้มีชื่อเสียงของไทยอีกหลายท่าน แต่ว่า บทความทั้งหมดนอกจากกล่าวหาอย่างหนักแล้ว กลับไม่ได้แสดงหลักฐานที่มีอยู่อันเกี่ยวข้องกับ "ปฏิญญาฟินแลนด์" นี้เลย. สนธิพูดเพียงว่า เขาเพิ่งได้ยินมาจากปากของสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่ "กลับลำ" คนหนึ่ง

บทความดังกล่าวเป็นเสมือนระเบิดนิวเคลียร์ ในเวทีการเมืองไทยที่วุ่นวายอยู่แล้ว กลับมีเมฆทะมึนเต็มไปหมด โค่นล้มระบอบกษัตริย์ นี่เป็นความผิดที่ให้อภัยไม่ได้ ชาวพรรคไทยรักไทยและคณะรัฐมนตรีทักษิณที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องต่างออกมาปฏิเสธทันที ทักษิณฟ้องสนธิ ผู้เขียนบทความ, บรรณาธิการ, ผู้จัดพิมพ์, ผู้รับผิดชอบเว็บไซต์,... ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว. ในหนังสือฟ้องร้องกล่าวว่า พวกเขาพยายามใช้ข่าวลือที่น่ากลัวเช่นนี้เพื่อ "ทำลายอนาคตทางการเมืองของทักษิณและพรรคไทยรักไทย" แต่ว่า อิทธิพลที่เลวร้ายไม่อาจคืนกลับ คดีอาจใช้วิธีทางกฎหมายแก้ปัญหา แต่ข่าวลือไม่อาจหายไปในเวลาสั้นๆ แม้ต่อมาทักษิณจะแสดงในหลายโอกาสว่า ตน"จงรักภักดี"ต่อราชวงศ์ แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับที่บทวิจารณ์เรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์" ของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เขียนไว้ว่า…

แผนการนี้จะมีอยู่จริงหรือไม่ พิสูจน์ได้ยาก แต่ว่า สนธิและคนอื่นๆ รู้ดี การกล่าวหาที่ไร้ความรับผิดชอบนี้ จะเติมเชื้อไฟให้กับสถานการณ์ที่วุ่นวายอยู่แล้ว ทำให้ความแค้นที่มีต่ออีกฝ่ายรุนแรงมากขึ้น. มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ไทย การกล่าวหาว่าผู้ใดคิดกระทำการ "ล้มล้างพระราชอำนาจ" มักถูกมองว่าเป็นข้ออ้างที่เหมาะสมของการใช้รัฐประหารโค่นล้มผู้นำสูงสุด หรือผู้ที่มีทัศนะการเมืองที่ไม่ได้รับความนิยม"

สื่อวิเคราะห์ได้ไม่ผิด ความผิดนี้กลายเป็น "เหตุผลข้อหนึ่ง" ที่ทหารใช้ในการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลทักษิณ

สนใจคลิกไปอ่านต่อบทที่ ๗

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73