โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 12 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๓๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 12, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ตลาดไม่ได้จูงใจให้สร้างคุณูปการทำการผลิตบนพื้นฐานของการปักใจอุทิศตัวให้เพื่อนมนุษย์ และความปรารถนาที่จะรับใช้พวกเขา ขณะที่ก็ได้การรับใช้จากพวกเขาเช่นกัน หากแต่ตั้งอยู่พื้นฐานของสินจ้างรางวัลที่ไร้น้ำใจ แรงจูงใจเฉพาะหน้าที่เป็นแบบฉบับให้ดำเนินการผลิตในสังคม ตลาดคือความโลภผสมกับความกลัว ในสัดส่วนที่ผันแปรไปตามรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ในตลาดกับบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล ความโลภทำให้เห็นคนอื่นเป็นตัวเงินตัวทอง และความกลัวทำให้มองเขาเป็นภัยคุกคาม นี่นับเป็นการมองคนด้วยสายตาที่เลวร้ายน่าขยะแขยง
12-08-2550

Bare Life
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

การประยุกต์แนวคิดชีวิตเปลือยเปล่าในทางเศรษฐกิจ
ข้อเสนอทดลอง: ว่าด้วยความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจ
ศักดิ์สิทธิ์ สีลาเขต : เขียน
นักศึกษาปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อเสนอทดลอง: ว่าด้วยความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจ
On the Nakedness of Economic Life : ศักดิ์สิทธิ์ สีลาเขต - เขียน

บทคัดย่อ
ในสภาวะสมัยใหม่ที่มนุษย์แต่ละคนกลายเป็นปัจเจกบุคคลทางเศรษฐกิจ เกิดเป็นความเปราะบางของชีวิตในรูปแบบใหม่ ในการนี้มนุษย์จำเป็นจะต้องได้รับการรับการปกป้องในบางมิติของชีวิต จากการเป็นพลเมืองของหน่วยทางการเมืองขนาดใหญ่ที่ถูกเรียกว่ารัฐ-ชาติ ซึ่งเดิมทีได้รับการนิยามว่า มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง และโดยทางทฤษฎีแล้วเป็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่กระบวนการโลกาภิวัตน์ได้กัดกร่อนอำนาจอธิปไตยของรัฐ-ชาติในบางลักษณะ คือเกิดการซ้อนทับของอำนาจอธิปไตยของทุน ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุนทะลุทะลวงเข้ามาอย่างเต็มที่ในชีวิตของมนุษย์ เกิดสิ่งที่ผู้เขียนเสนอว่าเป็น "ความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจ" ที่การโอบอุ้ม(มนุษย์)โดยรัฐถูกลดทอน หรืออย่างที่เลวร้ายที่สุด คือหมดไปด้วยกลไกตลาด ซึ่งงานชิ้นนี้พยายามหาคำตอบว่า "ความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจ" จะมีลักษณะเป็นอย่างไร และถึงที่สุดแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตมนุษย์ โดยอาศัยการร้อยเรียงมโนทัศน์ "อำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ" (Imperial Sovereignty) ของ Michael Hardt และ Antonio Negri และมโนทัศน์ "ชีวิตที่เปลือยเปล่า" (bare life) ของ Giorgio Agamben เป็นมโนทัศน์หลักในการหาคำตอบข้างต้น

1. ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ (On Imperial Sovereignty) (1)
เริ่มจากจุดที่ว่า Empire (จักรวรรดิ) ของ Michael Hardt และ Antonio Negri คืออะไร ? ตามความหมายตามพจนานุกรมของ Empire (เป็นความหมายในแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ) คือ "กลุ่มของประเทศหรือรัฐที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเดียว" (2) ซึ่ง Hardt และ Negri กล่าวว่าเป็นจักรวรรดิในความหมายเก่าอย่างที่พวกมาร์กซิสต์นิยมใช้กัน คือ อยู่ภายใต้อำนาจเดียว (single power) (Hardt and Negri 2000:8-9 อ้างใน ธเนศ 2546ข:115) ซึ่งไม่ใช่จักรวรรดิ ในความหมายของ Hardt และ Negri

เพราะสำหรับทั้งคู่แล้ว "จักรวรรดิ"เป็นสิ่งที่ข้ามพ้นจากความคิดเรื่องเขตแดนและอำนาจอธิปไตยของรัฐในแบบสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (ไชยรัตน์ 2549ก:153) จักรวรรดิจึงไม่ใช่ประเทศ และไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในสภาวะของเครือข่าย เพราะจักรวรรดิไม่มีศูนย์กลาง มันปรากฏอยู่ได้ทุกหนแห่งและในขณะเดียวกันก็ไม่มีปรากฏอยู่ที่ใดเลย (ธเนศ:115-116) เป็นรูปแบบของระเบียบกฎเกณฑ์ที่กระจายไปทั่วโลกและสลายเส้นแบ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ (3) เพื่อผนวกสรรพสิ่งต่างๆ(ในโลก)ไว้ในจักรวรรดิ ดังนั้นแล้ว พื้นที่ของจักรวรรดิจึงเป็นพื้นที่แบบเปิด (4) เป็นสิ่งที่ "ไม่เป็นสถานที่" (non-place) ไม่มีทั้ง "ภายใน" (inside) และ "ภายนอก" (outside) (5) หรือถ้าจะอธิบายให้เป็นรูปธรรมที่สุด Hardt และ Negri เห็นว่า "โลกาภิวัตน์คือจักรวรรดิ หรือจักรวรรดิก็คือ รูปแบบทางการเมืองของโลกาภิวัตน์" (ไชยรัตน์:151-153)

เมื่อ Hardt และ Negri นำมโนทัศน์ "จักรวรรดิ" มาทำให้เป็นภาคปฏิบัติทาง"อำนาจ" คือ "อำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ" ซึ่งทั้งคู่ได้รับอิทธิพลอย่างมากมาจากแนวคิด "ชีวอำนาจ" (biopower) ของ Michel Foucault ที่บรรดารัฐสมัยใหม่ต่างตระหนักว่า การจัดการประชากร(ชีวิต)ในรัฐเป็นเป้าหมายสำคัญ (ดู Foucault 2003: 239-264) คือ เป็นเทคนิควิทยาการของอำนาจที่นำไปสู่การผลิต(คำอธิบาย, นิยาม) การวิเคราะห์ และการจัดการกับตัวตนของมนุษย์ เพื่อผลในการสยบยอม และง่ายแก่การควบคุมปกครอง (ไชยรัตน์:155) ในแง่นี้แล้ว อำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ จึงเป็นเครือข่ายเชิงวาทกรรมที่เคลื่อนจากการบริหารจัดการประชากรในอาณาเขตรัฐ-ชาติ สู่การบริหารจัดการชีวิตที่ไม่อยู่ในกรอบของรัฐ-ชาติ กล่าวคือ เป็น"อำนาจอธิปไตยเหนือชีวิต"ในระดับโลก (154-156)

นักคิดอีกคนที่มีอิทธิพลต่อมโนทัศน์นี้ของ Hardt และ Negri อย่างมากคือ Carl Schmitt (July 11, 1888 - April 7, 1985: was a German jurist, political theorist, and professor of law.) ในเรื่องของการประกาศสภาวะยกเว้นขององค์อธิปัตย์ ที่สามารถจะอยู่เหนือกฎหรือสร้างกฎใหม่ นั่นคือภายใต้ข้ออ้างบางอย่าง อาทิ สงครามที่ชอบธรรม (just war) ของประธานาธิบดีบุช, ความมั่นคงของชาติ, ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ องค์อธิปัตย์สามาถประกาศภาวะยกเว้นและทำหลายสิ่งหลาย อย่างที่ก่อนหน้านั้นไม่สามารถทำได้ (156-159)

และถึงที่สุดแล้วอำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิก็ยังคงเป็นอำนาจอธิปไตยที่ผดุงไว้ซึ่ง "ตรรกะของทุนนิยมโลก" ภายใต้ข้ออ้างหลักการและคุณค่าที่เป็นสากล อย่างเช่น เสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน และการค้าเสรี (ไชยรัตน์:163,168) ซึ่งโดยตรรกะของทุนแล้วเป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ของการครอบงำ ที่ตัดผ่านไปในทุกที่และมีแนวโน้มที่จะทำลายพรมแดนทางสังคมดั้งเดิมและขยายตัวในพื้นที่ต่างๆ (6) (Hardt and Negri:326)

เครือข่ายภาคปฏิบัติการแบบจักรวรรดิประกอบด้วยรัฐชาติ, องค์กรระดับเหนือชาติอย่าง IMF, WTO, องค์การระหว่างประเทศอย่าง UN และองค์การข้ามชาติอย่างองค์กรนิรโทษกรรมสากล และแพทย์ไร้พรมแดน (ไชยรัตน์:164) เป็นจักรกลที่ร่วมกันควบคุมชีวิตภายในจักรวรรดิและพร้อมที่จะประกาศสภาวะยกเว้น ซึ่งสุดท้ายแล้วคงหนีไม่พ้นเพื่อผลประโยชน์ขององค์อธิปัตย์เอง

ถ้าจะให้กล่าวอย่างชัดเจนที่สุด "จักรวรรดิ" ของ Hardt และ Negri คือมโนทัศน์ที่สำคัญมากในการอธิบายระบบทุนนิยมในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 (ธเนศ 2547:2) นั่นคือในทัศนะของผู้เขียน และในแง่หนึ่ง "จักรวรรดิ"(ที่มีภาคปฏิบัติการของอำนาจคืออำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ) เป็นรูปแบบหนึ่งของพัฒนาการ (7) ของ "ทุนนิยม" นั่นคือ "ทุน" ซึ่งสำหรับคาร์ล มาร์กซ์แล้ว เป็นความสัมพันธ์ทางการผลิตของสังคม ซึ่งแสดงออกเป็นวัตถุในมือของนายทุน โดยเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุน (พิชิต 2546:78-81)

โดยเหตุนี้จึงเรียกได้ว่า (ทุน) เป็น "อำนาจ" ที่แสดงออกเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม (8) ซึ่งได้พัฒนาไปเป็น"ทุน"ในฐานะที่สามารถสร้าง"วาทกรรม"(discourse) (9) ที่มีภาคปฏิบัติการ (practice) ในระดับโลก คือ "สามารถสร้าง/ผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (identity) และความหมาย (significance) ให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง… และตรึงสิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง" (ไชยรัตน์ 2549ข:19-20) ดังนั้นแล้ว "ทุน" ในปัจจุบัน จึงเป็น "อำนาจ" ที่ทรงพลังอย่างมหาศาล (10) [ถึงแม้ว่าแนวคิด Empire จะถูกวิพากษ์ว่า ให้ความสัมพันธ์แก่อำนาจและการปกครองมากเกินไป (ดู Liodakis 2005:57-60)]

2. ว่าด้วยชีวิตที่เปลือยเปล่า (On Naked Life) (11)
ในการทำความเข้าใจมโนทัศน์ "ชีวิตที่เปลือยเปล่า" (bare life or naked life) (12) ของ Giorgio Agamben นั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า เป้าหมายของโครงการทางปรัชญาของเขาคือ "ต้องการที่จะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจองค์อธิปัตย์ (sovereign power) และชีวิต (human life) ในสภาวะสมัยใหม่ (เก่งกิจ 2549)" ในการนี้เขาได้รับอิทธิพลของแนวคิด "ชีวอำนาจ" (biopower) ที่ได้กล่าวไปแล้ว และ "ชีวการเมือง" (biopolitics) (ซึ่งเป็นด้านที่เป็น "การเมือง" ของชีวอำนาจ ของ Foucault โดยที่ Foucault สนใจวิเคราะห์อำนาจที่ไม่ใช่เชิงสถาบันเท่านั้น (ชีวการเมือง) ซึ่งก็คือ

(1) "เทคนิคทางการเมือง" (political techniques) หรือกระบวนการผนวกรวมเบ็ดเสร็จของรัฐ (totalizing procedures of the state) ที่ดึงเอาชีวิตตามธรรมชาติ (natural life) ของปัจเจกบุคคลเข้ามาในรัฐ และ

(2) เทคนิควิทยาการแห่งตัวตน (the technologies of the self) เป็นกระบวนการทำให้การประกอบสร้างปัจเจกบุคคลถูกทำให้เป็นประธานผู้ถูกกระทำ(subject) [subjective individualization] และต้องขึ้นกับอำนาจภายนอก ในขณะเดียวกันซึ่ง Foucault มองว่ากระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นในรัฐ "ตะวันตก" สมัยใหม่. แต่ Agamben กลับคิดว่ากระบวนการเหล่านี้ เป็น "กิจกรรมพื้นฐาน" (original activity) ของอำนาจอธิปัตย์ ดังนั้นแล้วสำหรับ Agamben อำนาจที่ไม่ใช่เชิงสถาบันกับอำนาจในเชิงสถาบัน (อำนาจอธิปัตย์) ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ (Decha 2003:23-25 และดู ธเนศ 2532)

เพื่อที่จะสร้างมโนทัศน์ "ชีวิตที่เปลือยเปล่า" Agamben พาเราไปหาแนวคิดเรื่องชีวิตแบบกรีกโบราณ คือ

(1) zoe ซึ่งหมายถึง "ข้อเท็จจริงของการดำรงอยู่" (sheer fact of living) ซึ่งทุกชีวิตล้วนเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า และ

(2) bios หมายถึง รูปแบบหรือวิถีของชีวิต (form-of-life) ซึ่งไม่สามารถแยกออกจาก zoe ในแง่นี้ชีวิตมนุษย์ไม่เคยที่จะเป็นเพียงข้อเท็จจริงธรรมดาๆ (simple fact) แต่เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสามารถที่จะเป็นไปได้ที่สลับซับซ้อนเป็น "ชีวิตทางการเมือง" (political life) ที่มีพลัง มีสิทธิที่จะมีความสุข มีสิทธิที่ถูกรับรู้และมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นชีวิตที่ถูกรับรอง (qualified life) (Decha:25-26 และ เดชา 2546/2547:175) โดยเราสามารถอนุมานได้ว่าเป็นชีวิตที่อยู่ใน "polis" สำหรับกรีกโบราณ ซึ่งสำหรับ Agamban แล้วก็คือชีวิตใน "รัฐ" นั่นเอง

และดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ชีวิตภายในรัฐได้ถูกทะลุทะลวงและขึ้นกับอำนาจภายนอก จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดการตาย และการมีชีวิตอยู่ของตัวเองได้ นั่นคือ "เมื่อชีวิตถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมาย (ซึ่งเป็นรูปธรรมของอำนาจขององค์อธิปัตย์) แล้วปล่อยทิ้งไว้ สภาพของการปล่อยทิ้งไว้นั่นเอง ที่มนุษย์เผชิญหน้ากับความเปลือยเปล่าของตัวเอง และเมื่อถึงที่สุดแล้วองค์อธิปัตย์ก็สามารถตัดสินว่า ชีวิตนั้นควรค่าแก่การดำรงอยู่หรือไม่. ถ้าไม่ควรค่า การอุทธรณ์ใดๆ ก็ไร้ผล ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า เมื่อใดก็ตามที่องค์อธิปัตย์ประกาศสภาวะยกเว้น" (เดชา:175-176 - เน้นตามผู้เขียน)

"ชีวิตที่เปลือยเปล่า" จึงเป็นผลผลิตขององค์อธิปัตย์ ซึ่งถ้าหากอำนาจจากประชาชน(popular sovereignty) ให้ความชอบธรรมกับรัฐสมัยใหม่แล้ว การควบคุมสอดส่องประชาชน และการสร้างชีวิตที่เปลือยเปล่าให้กับคนในรัฐ จึงเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สุดของอำนาจอธิปัตย์ (Agamben 1998:6,83 อ้างใน เก่งกิจ: 3) หรือในทางกลับกัน ชีวิตที่เปลือยเปล่าเองเป็นสิ่งสร้างอำนาจอธิปัตย์ (Decha:26)

เมื่อเรามองตัวแปรกฎหมายในสมการนี้ Agamben มีทัศนะว่า ชีวิตถูกรวมเข้ามาในกฎหมายตั้งแต่กระบวนการที่อำนาจอธิปัตย์เข้ามาประกอบสร้างตัวตนของเราแล้ว (ซึ่งถ้าไม่มีมนุษย์ กฎหมายก็ไม่มีความหมาย) และภายใต้การรวม (inclusion) เข้ามานี้ กลับเป็นการรวมเพื่อเบียดขับออกไป (inclusive exclusion) ภายใต้การตัดสินใจประกาศสภาวะยกเว้นขององค์อธิปัตย์ (13) ซึ่งการตัดสินใจขององค์อธิปัตย์ (ในเงื่อนไขดังกล่าว) ที่ข้างใน-ข้างนอกไม่สามารถแบ่งแยกความแตกต่างได้อีกต่อไป เกิดเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ (zone of indistinction) ซึ่งเปิดพื้นที่ให้กับความเป็นไปได้ของการยกเว้นกฎ (27-28) เกิดเป็นสภาวะที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ และชีวิตที่เปลือยเปล่าก็ปรากฏขึ้นในเงื่อนไขที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง ซึ่งถ้าหากจะมีความรุนแรงในสภาวะยกเว้นนั้น มันก็คือการรักษา (conserve) กฎหมาย โดยการยกเว้นตัวกฎหมายเอง (32)

อย่างไรก็ตาม อำนาจอธิปัตย์ก็มิได้มีเพียงด้านเดียว (14) คือ มีทั้งด้านที่ "ดี" (good) ที่โอบอุ้มสิ่งที่ประกอบสร้างตัวเองขึ้นมา (ชีวิตที่เปลือยเปล่า) และอีกด้านหนึ่งที่ "ชั่วร้าย" (evil) ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นภัยคุกคามชีวิตที่เปลือยเปล่าเหล่านั้นได้ (31)

3. ว่าด้วยชีวิตทางเศรษฐกิจ (Economic life)
ในการที่จะสร้างมโนทัศน์ความเปลือยเปล่าทางเศรษฐกิจได้นั้น ในที่นี้มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างมโนทัศน์"ชีวิตทางเศรษฐกิจ"ขึ้นมาก่อน ในการนี้ผู้เขียนยังไม่พบบทความทางวิชาการใดที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนในลักษณะที่ต้องการ จึงจะทดลองเสนอดังต่อไปนี้

สิ่งที่เรียกว่าชีวิตทางเศรษฐกิจ (ในสภาวะสมัยใหม่) (15) สามารถมองได้(หรือมีความหมายได้)หลายมิติ แต่ที่เห็นว่าสำคัญที่สุดมี 2 มิติ คือ

- ชีวิตทางเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลทางเศรษฐกิจ และ
- ชีวิตทางเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน (ซึ่งมีฐานคิดเป็นปัจเจกบุคคลเช่นเดียวกัน)

ในมิติแรก คือ ชีวิตทางเศรษฐกิจในฐานะปัจเจกบุคคลทางเศรษฐกิจ หมายความว่าในสภาวะสมัยใหม่ที่มีการแบ่งส่วนงานกันทำ (division of labor) ทำให้เกิดความถนัดเฉพาะอย่างขึ้น เกิดเป็นการเพิ่มขึ้นในประสิทธิภาพของการผลิตในสังคม โดยที่ทั้งเราและผู้อื่นได้ประโยชน์จากความชำนาญของกันและกัน (ดู Smith 1937:420-439) แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้หลักการซึ่งเป็นความเป็นจริงในโลกสมัยใหม่ในปัจจุบันมีความล่อแหลมอยู่ไม่น้อย นั่นคือ "ความไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลทางเศรษฐกิจ" (the helplessness of economic individuals) (ไฮล์บรอนเนอร์ 2531:25-27 ดูเปรียบเทียบกับ Heilbroner 1998:2) นั่นก็เพราะว่าในขณะที่ชุมชนบุพกาลหรือสังคมที่มีรูปแบบเช่นนั้นในปัจจุบัน อย่างเช่น พวกเอสกิโม, ชนเผ่าชาวเผ่าในแอฟริกาถ้าถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังพร้อมกับเครื่องมือของเขา เขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เองเป็นเวลานาน เพราะรูปแบบการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย และในทางเดียวกันถ้าเขาอยู่ในชุมชนเพียงไม่กี่ร้อยคนเขาก็มีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป ซึ่งแม้ว่ามองจากมุมมองของคน (ส่วนใหญ่) ในสภาวะสมัยใหม่อย่างเราแล้ว พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีชีวิตอย่างแร้นแค้นและ "ด้อยพัฒนา" แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ (26)

ซึ่งตรงข้ามกับชีวิตในเมืองหรือชีวิตสมัยใหม่ ที่ถึงแม้จะมีความสะดวกสบายทางวัตถุอย่างมาก แต่ก็มีการพึ่งพาผู้อื่นมากที่สุด เพราะรูปแบบชีวิตของมนุษย์ในสภาวะนี้ (16) คือ แต่ละคนมีความถนัดเฉพาะอย่าง และใช้วิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้วยเงินตรา ดังนั้นแล้วเขาจะไม่สามารถหาอาหารเองได้ ไม่สามารถเย็บเสื้อผ้าใส่เอง และเมื่อเครื่องจักรที่อยู่รอบๆ ตัวเกิดความบกพร่องเสียหาย พวกเขาก็จะเรียกสมาชิกในชุมชนที่มีอาชีพในการซ่อมสิ่งนั้นๆ เพราะไม่สามารถทำเองได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ บางทียิ่งประเทศหรือกลุ่มสังคมใดมีความร่ำรวยมากขึ้น ความไม่สามารถของประชากรหรือสมาชิกที่จะต่อสู้มีชีวิตอยู่ได้ โดยปราศจากความช่วยเหลือและตามลำพังก็จะมีมากขึ้น (26)

หรือถ้าจะมีขีอถกเถียงถึงสายใยมนุษย์แต่ละคน ซึ่งมีอยู่ผ่านทางครอบครัวและชุมชนหรือหมู่มิตรสหาย ดังนั้นแล้วเขาก็ย่อมไม่เป็นปัจเจกบุคคลโดยสิ้นเชิงอย่างที่อธิบายก่อนหน้า ซึ่งในที่นี้เห็นว่า เราไม่สามารถที่จะใช้ระดับการอธิบายแบบปัจเจกบุคคลอย่างเข้มงวด (methodological individualism in sensusricto) ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่คนในสังคมต่างเชื่อมโยงส่งผลกระทบกันและกันประกอบกันเป็นหน่วยใหญ่ คือ ไม่ยอมรับว่าสามารถทอนการอธิบายโลกทางสังคมทั้งหมดลงมาเหลือแต่ความเป็นปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เชื่อว่าสามารถลดทอนเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ที่สามารถทอนลงมาโดยอาศัยกฎเกณฑ์ของปัจเจกบุคคลในการศึกษา ซึ่งบางครั้งปรากฏการณ์ในระดับหน่วยใหญ่ อาจต้องอธิบายด้วยกฎเกณฑ์ระดับองค์รวมเท่านั้น (อนุสรณ์ 2542:110-112)

ในเชิงมานุษยวิทยา (ในกรณีนี้จากการศึกษา myth) ของ Georges Dumezil ได้อธิบายว่า ในสังคมบุพกาลความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในเชิงมิตรภาพนั้น เป็นความสัมพันธ์เชิงสัญญา (contract) คือ เมื่อเป็นมิตรก็ย่อมมีพันธะหน้าที่ต่อกัน ซึ่งก่อนที่จะเป็นมิตรกันก็ต้องเริ่มจากการให้ "gift" แก่กัน นั่นคือ เป็นสายสัมพันธ์ที่คนเป็นมิตรกันสามารถพึ่งพาอาศัยกันทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร ฯลฯ ซึ่งประเด็นอยู่ที่ว่า "เป็นมิตร" กันก็เพื่อจุดประสงค์เชิง contract (ดู Dumezil 1988:67-71) แต่ในสภาวะสมัยใหม่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกเรากลับ romanticize ความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพ ทำไม? นั่นเป็นเพราะสภาวะสมัยใหม่ได้แบ่งแยกให้พวกเราทำหน้าที่ต่างๆ ตามหลักการแบ่งงานกันทำเพื่อความชำนาญเฉพาะทางเรียบร้อยแล้ว "เพื่อน" ของเราจึงไม่ใช่คนที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ทางกายภาพของเราอีกต่อไป เพราะเพื่อนไม่ใช่คนที่นำอาหารมาแลกเปลี่ยนกับเรา ไม่ใช่คนที่ขับรถเมล์ที่เราโดยสาร เราจึง romanticize ความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพของเรา เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ก็คงจะไม่มีสิ่งใดเป็นสิ่งเชื่อมโยงหรือร้อยรัด "เรา" กับ "เพื่อน" อีกต่อไป

ทั้งนี้แน่นอนที่สุดว่า ปัจจุบันมนุษย์เป็น "สัตว์สังคม" (social being) เพราะมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อมีชีวิตรอด หรือเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่าการอยู่คนเดียว (อุกฤษฏ์ 2546:29) และเห็นจะต้องกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า ถึงแม้ว่าคาร์ล มาร์กซ์จะมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในระบบการผลิตสินค้าในสังคมทุนนิยม ถูกเข้าใจและบิดเบือนไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง"สิ่งของ"กับ"สิ่งของ" ซึ่งเป็น "จิตสำนึกที่ผิดพลาด" เป็น "ลัทธิบูชาสินค้า" (commodity fetishism) ที่ดำรงอยู่เพื่อเคลือบคลุมความสัมพันธ์ที่แท้จริงถึงการขูดรีดส่วนเกินแรงงานของนายทุน (พิชิต 2546:89-93) ตัวอย่างก็คือ การที่ผู้ชายคนหนึ่งอยากได้เสื้อ จึงนำเงินไปซื้อเสื้อ เงินจึงสัมพันธ์กับเสื้อ ทั้งเงินและเสื้อจึงปกปิดความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้บริโภค (ที่เป็นแรงงานและถูกขูดรีด) และผู้ผลิต (17) (ที่เป็นแรงงานที่ถูกขูดรีดเช่นกัน) (เบลซีย์ 2549:72)

ในมิติที่สอง คำอธิบายข้างต้นในแง่หนึ่ง เพื่อปูทางมาสู่มิติของชีวิตทางเศรษฐกิจ นั่นคือ ชีวิตทางเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิต (producer) และผู้บริโภค (consumer) ในเวลาเดียวกันเพราะในการที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้ เขาจะต้องบริโภคและในระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยน (exchange economy) ในปัจจุบัน (ในเงื่อนไขของสภาวะสมัยใหม่อย่างที่กล่าวข้างต้น) เขาจะไม่สามารถได้รับสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือก็คือเงินตรามาจับจ่ายใช้สอยในการบริโภคได้ถ้าหากเขาไม่เป็นผู้ผลิต

เมื่อเรานำมิติทั้งสองของชีวิตทางเศรษฐกิจมาประสานเข้าด้วยกัน เราจะได้ความหมายของชีวิตทางเศรษฐกิจที่ต้องการนำเสนอในที่นี้ คือ มนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคลทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยน ของระบบทุนนิยมในสภาวะสมัยใหม่ นั่นคือ มนุษย์ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ต้องเผชิญกับความเปราะบางของชีวิตทางเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวข้างต้น

คำถามคือว่า ชีวิตทางเศรษฐกิจตายได้หรือไม่ สำหรับผู้เขียน ชีวิตทางเศรษฐกิจสามารถตายได้ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยหลักการง่ายๆ คือ ผู้บริโภคที่ตายก็คือผู้ที่ไม่สามารถบริโภคได้ ซึ่งก็นำไปสู่ความตายของชีวิตจริงๆ แต่สิ่งที่ต้องการนำมาเป็นนัยในการวิเคราะห์ครั้งนี้คือ ความเป็นไปได้ที่จะตายของชีวิตทางเศรษฐกิจในฐานะผู้ผลิต (18)

สำหรับความตาย(ชั่วคราว)ในฐานะของการเป็นผู้ผลิต คือ การที่ปัจเจกบุคคลหมดสภาพการเป็นผู้ผลิต ไม่สามารถที่จะทำการผลิตไม่ว่าจะยังมีศักยภาพในการผลิตอยู่หรือไม่ก็ตาม หรือถ้าจะพูดให้ง่ายเข้าก็คือการ "การตกงาน" นั่นเอง เพราะนั่นจะทำให้ปัจเจกบุคคลผู้นั้นหมดความสามารถที่จะหาสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และในการหาสิ่งต่างๆ มาบริโภค โดยเฉพาะปัจจัยสี่และอาจนำไปสู่ความตายทางกายภาพในที่สุด เพียงแต่ว่าโลกสมัยใหม่ไม่ได้โหดร้ายกับมนุษย์ถึงที่สุด เพราะในขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนก็มีกลไกมากมายในการพยุงคนเหล่านั้น (ที่ตายทางเศรษฐกิจ) เอาไว้ได้ ทั้งในแง่คุณสมบัติของเงินที่สามารถสะสมมูลค่าได้ ดังนั้นพวกเขาเหล่านั้นสามารถมีสิ่งที่เรียกว่า "เงินออม" ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือการ "กู้" ที่พวกเขาสามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม อีกทั้งยังมีระบบรองรับและโอบอุ้มชีวิตโดยรัฐ (life supporting system) เช่นระบบสวัสดิการที่สามารถค้ำจุนพวกเขา รวมถึงการช่วยเหลือโดย "ชุมชน"(community) แต่อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาเองที่จะต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแสวงหาการฟื้นคืนชีพชีวิตทางเศรษฐกิจ (economic reincarnation) ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอันจะสามารถทำให้การดำรงอยู่อย่างเสรี และตามเจตจำนงอิสระของตนเอง

4. ว่าด้วยความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจ (On the Nakedness of Economic Life)
ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า มโนทัศน์ชีวิตที่เปลือยเปล่าของ Agamben มีความหมาย 2 มิติ

มิติแรก หมายถึง ข้อเท็จจริงของการดำรงอยู่ (sheer fact of living - zoe) ที่ทุกชีวิตล้วนเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า ซึ่ง (zoe) ตรงกันข้ามกับรูปแบบของชีวิต (form-of-life - bios) ซึ่งเป็นชีวิตทางการเมือง (political life) ที่ชีวิตถูกผนวกรวม (included) เข้ามาในกฎหมาย (ซึ่งเป็นรูปธรรมของอำนาจขององค์อธิปัตย์) และ (bios) ถูกเบียดขับ (excluded) ออกไปภายใต้การตัดสินใจประกาศสภาวะยกเว้นขององค์อธิปัตย์ เกิดเป็นสภาวะที่ (bios) ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้มนุษย์เผชิญหน้ากับความเปลือยเปล่าของตัวเอง (ที่ไม่มีอาภรณ์ทางกฎหมายห่อหุ้ม เพราะกฎหมายได้ถูก "ยกเว้น" ไปแล้ว) "และเมื่อถึงที่สุดแล้ว องค์อธิปัตย์ก็สามารถตัดสินว่าชีวิตนั้นควรค่าแก่การดำรงอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ควรค่า การอุทธรณ์ใดๆ ก็ไร้ผล ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าเมื่อใดก็ตามที่องค์อธิปัตย์ประกาศสภาวะยกเว้น" (เดชา 2546/2547) แต่ถึงอย่างไรก็ตามอำนาจอธิปัตย์ก็มิได้มีเพียงด้านเดียว คือ มีทั้งด้านที่โอบอุ้มมนุษย์ (ในฐานะที่เป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าที่ประกอบสร้างอำนาจอธิปัตย์ขึ้นมา) อีกด้านหนึ่งซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นภัยคุกคามชีวิตเหล่านั้นได้ (Decha 2003:31) (19)

จากย่อหน้าข้างต้น หากแทนที่ "อำนาจอธิปัตย์" ด้วย "อำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ" ซึ่งทำงานภายใต้ตรรกะของทุน และแทนที่ "ชีวิตมนุษย์" ด้วย "ชีวิตทางเศรษฐกิจ" พร้อมทั้งปรับแต่งเนื้อหาบางส่วน ก็จะได้มโนทัศน์ "ชีวิตทางเศรษฐกิจที่เปลือยเปล่า" ดังนี้

ชีวิตทางเศรษฐกิจที่เปลือยเปล่าเป็นแนวคิดที่สังเคราะห์ขึ้น เพื่อทำให้ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ ซึ่งทำงานภายใต้ตรรกะของทุนในระดับโลกกับชีวิตทางเศรษฐกิจในสภาวะสมัยใหม่ โดยมโนทัศน์ชีวิตทางเศรษฐกิจที่เปลือยเปล่านี้มีความหมาย 2 มิติ

มิติแรก หมายถึง ข้อเท็จจริงของการดำรงอยู่ทางเศรษฐกิจ (economic sheer fact of living) ที่ทุกชีวิตของเศรษฐกิจล้วนเปลือยเปล่า ซึ่งตรงกันข้ามกับรูปแบบของชีวิตทางเศรษฐกิจ (economic form-of-life) ซึ่งเป็นชีวิตทางเศรษฐกิจภายใต้สังคมการเมืองที่ชีวิตถูกผนวกรวม (included) เข้ามาในกฎหมาย (ซึ่งสำหรับนักคิดแนวมาร์กซิสต์แล้ว เป็นรูปแบบหนึ่งของกลไกการควบคุมของรัฐ (20) ที่เป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยม) และถูกเบียดขับ (excluded) ออกไปภายใต้การตัดสินใจประกาศสภาวะยกเว้นของทุน เกิดเป็นสภาวะที่ (รูปแบบชีวิตทางเศรษฐกิจ) ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้มนุษย์เผชิญหน้ากับความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจของตน (ที่ไม่มีอาภรณ์ทางกฎหมายห่อหุ้ม เพราะกฎหมายได้ถูกยกเว้นไปแล้ว) และเมื่อถึงที่สุดแล้วองค์อธิปัตย์ (ทุน) ก็สามารถตัดสินว่า ชีวิตทางเศรษฐกิจนั้นควรค่าแก่การดำรงอยู่หรือไม่ ? ถ้าไม่ การอุทธรณ์ใดๆ ก็ไร้ผล ดังนั้นทุกๆ ชีวิตทางเศรษฐกิจจึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นชีวิตทางเศรษฐกิจที่เปลือยเปล่า เมื่อใดก็ตามที่ทุนประกาศสภาวะยกเว้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อำนาจอธิปัตย์มิได้มีเพียงด้านเดียว กล่าวคือ มีด้านที่โอบอุ้ม และมีด้านที่กดทับดังที่กล่าว

จากย่อหน้าที่แล้วผู้เขียนพบว่ามีประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจ ดังนี้

1. ข้อเท็จจริงของการดำรงอยู่ทางเศรษฐกิจ คืออะไร
2. รูปแบบของชีวิตทางเศรษฐกิจภายใต้สังคมการเมืองคืออะไร
3. ทุนเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างไร

4. ชีวิตทางเศรษฐกิจถูกผนวกรวมเข้ามาในกฎหมายได้อย่างไร
5. กฎหมายที่กล่าวถึงเป็นกฎหมายของรัฐ-ชาติ หรือกฎหมายระหว่างประเทศ และมีสภาพการบังคับใช้อย่างไร
6. ชีวิตทางเศรษฐกิจถูกเบียดขับออกไปภายใต้การตัดสินใจประกาศสภาวะยกเว้นของทุนได้อย่างไร และสภาวะยกเว้นของทุนคืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร

7. สำหรับอำนาจอธิปัตย์ (แบบปกติ) ทะลวงเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ด้วยกฎหมายและชีวการเมือง แต่สำหรับอำนาจของทุนแล้วทะลวงเข้ามาในชีวิตมนุษย์(หรือในงานชิ้นนี้คือ"ชีวิตทางเศรษฐกิจ")ได้อย่างไร
8. มีความจำเป็นที่จะต้องแยกกฎหมายกับ "กฎของทุน" หรือไม่ และถ้าแยกแล้ว จะทำให้ได้ผลลัพท์ของการอธิบายที่แตกต่างกันอย่างไร
9. อำนาจของทุนนอกจากกดทับแล้ว ยังโอบอุ้มชีวิตทางเศรษฐกิจหรือไม่

สำหรับประเด็นแรก สามารถรับมือได้ง่ายคือ ข้อเท็จจริงของการดำรงอยู่ทางเศรษฐกิจเป็นอะไรที่ไม่มากไปกว่าลักษณะพื้นฐานของชีวิตทางเศรษฐกิจที่ผู้เขียนแจกแจงไว้ในส่วนที่ 3. ที่มนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลทางเศรษฐกิจจะต้องทำการผลิตและบริโภค ซึ่งก็เป็นส่วนที่ดำรงอยู่อย่างไม่สามารถแยกจากกันได้จากรูปแบบของชีวิตทางเศรษฐกิจภายใต้สังคมการเมืองที่ซึ่งเพิ่มความซับซ้อนในแง่ของความสามารถที่จะเป็นไปได้

ในประเด็นที่สองและสาม ผู้เขียนได้อธิบายไว้ในวงเล็บหลังข้อความที่เน้นเอาไว้และในเชิงอรรถที่ 20 แล้วถ้าต้องการที่จะเข้าในมากขึ้นโปรดอ่าน อัลธูแซร์ 2529, พิชัย 2524 และไชยันต์ 2524 แต่ทั้งหมดนี้อธิบายโดยใช้รัฐเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า มองโดยใช้แว่นตาของลัทธิมาร์กซ์

ประเด็นที่สี่ ชีวิตทางเศรษฐกิจถูกผนวกรวมเข้ามาในกฎหมายได้อย่างไร ซึ่งต้องย้อนกลับไปดูที่ประเด็นที่สองคือเมื่อเราเข้ามาอยู่ในสังคมการเมือง นั่นหมายความว่าเราจำต้องยอมรับกฎระเบียบของสังคมการเมืองนั้น ซึ่งกฎระเบียบของรัฐชาติก็คือ กฎหมายซึ่งส่งผลต่อความซับซ้อนของประเด็นที่ห้า เพราะถ้าผู้เขียนกำลังกล่าวถึง(อำนาจอธิปไตย)ในระดับโลก กฎหมายก็น่าจะตั้งอยู่ในระดับนั้นด้วย แต่ในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าเราไม่สามารถที่จะแยกความแตกต่างระหว่างระดับรัฐ-ชาติ หรือระดับโลกได้อย่างสิ้นเชิงอีกต่อไป เพราะถึงที่สุดแล้วทุนได้สลายเส้นแบ่งต่างๆ และทำให้ทุกๆ ที่ อยู่ภายใต้กฎเดียวกัน นั่นก็คือ ตลาด (หรือกลไกตลาด) ซึ่งถ้าหากจะมีสิ่งใดที่ถือได้ว่าเป็นภววิทยา (ontology) ของทุนนิยมแล้ว "ตลาดในขอบเขตและบริบทที่สมบูรณ์" ย่อมสามารถเทียบได้กับ "พระเจ้า" ที่ดลบันดาลสิ่งใดก็ได้ (ยอร์จ 2545:91-92)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรากล่าวถึงกฎหมายของรัฐชาติ (รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เนื้อหาคล้ายกันหรือเกิดจากการตกลงร่วมกัน) มีไม่น้อยที่มีเนื้อหาคุ้มครองชีวิตทางเศรษฐกิจ อาทิ กฎหมายแรงงานของฝรั่งเศสที่กำหนดให้มีเวลาทดลองงานโดยทั่วไป (ซึ่งระหว่างนี้นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายหรือคำเตือนใดๆ) นานเพียงแค่ 1-3 เดือนเท่านั้น (ปิยะมิตร 2549) และกฎหมายที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานต่างๆ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องการกล่าวถึงเมื่อเราพูดถึงรัฐชาติ คือเมื่อเส้นเขตแดนได้ถูกลากขึ้น [และก่อให้เกิดปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ของผู้คนอย่างที่ Appadurai กล่าวถึง (Arjun Appadurai, "Sovereignty without Territory: Notes for a Postnational Geography," in Yaeger 2006:40-58)] ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ มันได้สร้างปราการที่คอยปกป้องชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คนในรัฐชาติเอาไว้ (รวมถึงผู้คนที่มีปัญหาทางด้านอัตลักษณ์เหล่านั้นด้วย) ซึ่งเราไม่สามารถเถียงได้ว่า กฎหมายด้านการนำเข้า อาทิ โควตาการนำเข้า ภาษีอากร เป็นกำแพงป้องกันทุนขนาดใหญ่ไม่ให้ไหลเข้ามาภายในประเทศได้ง่าย อธิบายในเชิงรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น สินค้า (ในความหมายของทุน) ที่สามารถทดแทนสินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศได้ในราคาที่ถูกกว่า เพราะถูกผลิตโดยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า เมื่อถูกส่งเข้ามาในประเทศย่อมมีผลทำให้ผู้ผลิตในประเทศยากที่จะต้านทานได้ และต้อง "ตาย" (ในทางเศรษฐกิจ) ในที่สุด ซึ่งในแง่นี้แล้วมโนทัศน์ "การสะสมทุนแบบบุพกาล" (primitive accumulation) ของคาร์ล มาร์กซ์ น่าจะอธิบายได้ดีแม้ในยุคปัจจุบัน (ดู Marx 1958:713-774, ch.8)

นั่นคือถ้าเราทอนกฎหมายให้เหลือแต่มิติของการปกป้องคุ้มครอง(ชีวิตทางเศรษฐกิจ) เราจะพบการปกป้อง 2 แบบใหญ่ คือ

(1) การปกป้องตามพื้นฐานของระบบทุนนิยม ที่มีรากฐานมาจากความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายแพ่งในเรื่องของทรัพย์และนิติกรรมสัญญาหรือกฎหมายอาญาที่อาจเกี่ยวเนื่อง ได้ และ

(2) การปกป้องที่เป็นผลมาจากอาณาเขตของรัฐชาติ ซึ่งนอกจากปกป้องชีวิตทางเศรษฐกิจแล้ว ทุนนิยมในฐานะระบบโลก (world capitalism) ในด้านหนึ่งก็อาศัยรัฐชาติค้ำประกันความมั่นคงของทรัพย์สินมาตั้งแต่ต้น การสะสมทุนก็อาศัยทั้งตลาดภายในและการส่งออกมาสู่ตลาดโลกสลับกันเป็นระยะ (Hont 1995 และ Petras 1999 อ้างใน เสกสรรค์ 2548:76) นั่นคือ ด้านหนึ่งทุนในชาติไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็อาศัยการปกป้องในเรื่องภาษีอากร โควตาการนำเข้า แต่ในบางโอกาสทุนขนาดใหญ่ภายในชาติได้ออกมาหาประโยชน์ในตลาดโลกโดยถือว่า ยังมีแหล่งพักพิงสุดท้ายคือในรัฐชาติของตนที่จะกลับเข้ามาอยู่ได้อย่างสุขสบาย(?)

ในหลายๆ ครั้งได้คุ้มครองชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คนภายในรัฐเอาไว้ (21) แต่เราต้องไม่ลืมว่าในแง่นี้ ชีวิตทางเศรษฐกิจก็แทบไม่เคยปลอดภัยจากทุนภายในรัฐเลย

จากการทำความเข้าใจประเด็นทั้งหมดข้างต้น ผู้เขียนคิดว่าสามารถนำเข้าสู่ประเด็นที่มีความสำคัญ นั่นคือ ทุนประกาศสภาวะยกเว้นได้อย่างไร และดังนั้นแล้วชีวิตทางเศรษฐกิจถูกเบียดขับออกไปได้อย่างไร ในการนี้เราต้องกลับไปในส่วนที่ 1. ของรายงานชิ้นนี้ใน 2 ย่อหน้าสุดท้าย กล่าวคือ สำหรับ"ทุน"ที่ทำงานผ่านอำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ ได้พัฒนาไปเป็นสิ่งที่สามารถสร้าง "วาทกรรม" ในความหมายดังกล่าวได้ ซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็น "อำนาจ" ที่มีศักยภาพที่จะทะลุทะลวงเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ และด้วยเงื่อนไขเช่นนี้เองที่ "ในนามของประสิทธิภาพและการค้าเสรี มันจึงต้องการให้มีการยกเลิกโควตาการนำเข้า ภาษีสินค้านำเข้า ยกเลิกกฎหมายสหภาพแรงงานในประเทศต่างๆ (deregulation) ก่อนที่มันจะทำให้คนที่ขัดขืนเป็นวายร้ายในประชาคมโลก" ซึ่งนี่คือรูปธรรมของการที่อำนาจของทุนในระดับโลกประกาศสภาวะยกเว้น อันทำให้อาภรณ์ทางกฎหมาย (รวมถึงอาภรณ์ทางอาณาเขตในรัฐชาติ) ของ (ชีวิตทางเศรษฐกิจ) ผู้คนภายในรัฐถูกถอดออก และถูกปล่อยทิ้งไว้ในสภาพที่จะต้องเผชิญกับทุน (ข้ามชาติ) ขนาดมหึมาที่มีความสามารถในการขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจมหาศาลเกิดเป็น "ชีวิตทางเศรษฐกิจที่เปลือยเปล่า"

บทสรุป
ในบทสรุปงานชิ้นนี้ ผู้เขียนมี อรรถาธิบาย ที่ชื่นชอบและคิดว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์ระบบ / คุณค่า / หลักการของตลาดในฐานะที่เป็นกลไกของระบบทุนนิยมได้อย่างถึงรากของ G. A. Cohen (22) ว่า

"…ตลาดไม่ได้จูงใจให้สร้างคุณูปการทำการผลิตบนพื้นฐานของการปักใจอุทิศตัวให้เพื่อนมนุษย์ และความปรารถนาที่จะรับใช้พวกเขา ขณะที่ก็ได้การรับใช้จากพวกเขาเช่นกัน หากแต่ตั้งอยู่พื้นฐานของสินจ้างรางวัลที่ไร้น้ำใจ แรงจูงใจเฉพาะหน้าที่เป็นแบบฉบับให้ดำเนินการผลิตในสังคม ตลาดคือความโลภผสมกับความกลัว ในสัดส่วนที่ผันแปรไปตามรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ในตลาดกับบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล ความโลภทำให้เห็นคนอื่นเป็นตัวเงินตัวทอง และความกลัวทำให้มองเขาเป็นภัยคุกคาม นี่นับเป็นการมองคนด้วยสายตาที่เลวร้ายน่าขยะแขยง ไม่ว่าผลของการพัฒนาทุนนิยมนานหลายศตวรรษจะทำให้เราคุ้นเคยชาชินกับมันสักเพียงใดแล้วก็ตาม…"
(เกษียร ใน นครินทร์ 2542:58-59)

และเราคงต้องกลับมาคิดกันแล้วว่า ถ้าปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว มันจะสร้างผู้ชนะน้อยเกินไป และผู้แพ้มากเกินไป (ยอร์จ 2545:48) และ "เร่ง" เวลาที่จะพาพวกเราและลูกหลานของเราไปสู่จุดจบเร็วมากขึ้น ใช่ไหรือไม่ ?

++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) อาศัยการถอดความจาก ไชยรัตน์ 2549ก:151-172 และธเนศ 2546ก:112-162

(2) ความหมายที่ 1: "a group of countries or state are controlled by one ruler or government: the roman empire" ใน Oxford Advanced Learner's Dictionary 2003:140

(3) สามารทำความเข้าใจแนวคิดการสลายเส้นแบ่งและการลากเส้นแบ่งใหม่ (De-territorialization and Re-territorialization)[ภาษาไทย]ได้ใน ไชยรัตน์ 2549:26-47 (หัวข้อ 1.2)

(4) ดูคำอธิบายที่น่าสนใจยิ่งของพื้นฐานแนวคิดนี้ได้ใน ธเนศ 2546ก:154-161

(5) แนวคิดเรื่องพื้นที่ของ Empire มีลักษณะคล้ายกับที่ราบ (plateaus) ของเดอลิซและกัตตารี (ไชยรัตน์ 2549)

(6) หรือจะพูดอย่าง Alliez (1996:6) ว่าเป็น "เวลาของทุน" (capital time) ที่เป็นผลมาจากอำนาจอธิปไตยของเงินตราเพราะ "เงินตราเปลี่ยนคุณค่าให้เป็นการไหลเคลื่อน (flow) และมีแนวโน้มที่จะหลบเลี่ยงกรอบทางกฎหมายของอาณาเขตทางการเมือง(ของรัฐชาติ)" อ้างใน เดชา 2549:20

(7) ผู้เขียนยอมรับว่าไม่มั่นใจว่าจะสามารถใช้คำว่า "พัฒนาการ" ได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะหมายถึงโดยหลักการก็คือ การปรากฏขึ้นของความสามารถ(?)ใหม่ที่แต่เดิมไม่เคยดำรงอยู่

(8) ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจมโนทัศน์เรื่องอำนาจในเชิงการทบทวนมโนทัศน์นี้ในรูปแบบ(?)ต่างๆได้ใน รัตนา 2548:26-30

(9) ทำความเข้าใจมโนทัศน์นี้ได้ใน ไชยรัตน์ 2549ข:19-42 ในหัวข้อ "วาทกรรมกับการวิเคราะห์วาทกรรม"

(10) อธิบายเพิ่มเติม ถ้าเราเชื่อว่ากลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (ดู อัลธูแซร์:2529) ในแง่หนึ่งแล้วเป็นอำนาจของทุนในการกำหนดให้คนในรัฐเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรในการดำรงไว้ซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สิ่งที่ผู้เขียนเสนอก็เป็นอำนาจในการครอบงำของทุนที่ข้ามพ้นอาณาเขตของรัฐชาตินั่นเอง

(11) อาศัยการถอดความจาก Decha 2003:23-34, เดชา 2546/47:175-176 และเก่งกิจ 2549

(12) เหตุผลที่ผู้เขียนใช้คำว่า "naked" อย่าง Decha 2003 ดู Decha:21 fn. 3 และการเปรียบเทียบการใช้Naked และ Bare ในOxford Advanced Learner's Dictionary 2003:845

(13) ซึ่ง Agamben ได้รับอิทธิพลจาก Carl Schmitt ที่เขานิยามองค์อธิปัตย์ว่า คือ "ผู้ที่ตัดสินใจในสภาวะยกเว้น" (Schmitt 1985:5 อ้างใน Decha:27) และ Agamben ยังได้ต่อเติมความคิดของ Schmitt อีกว่า "ข้าฯองค์อธิปัตย์ผู้อยู่ภายนอกกฎหมาย ขอประกาศว่าไม่มีสิ่งใดอยู่นอกเหนือกฎหมาย" (Agamben:15 อ้างใน Decha:27) ส่วนงานเกี่ยวกับความคิดของ Schmitt ในภาษาไทยดู ศิโรตม์ 2548

(14) ผู้ที่สนใจประเด็นนี้ สามารถอ่านได้ใน Dumezil 1988 โดยเฉพาะ Chapter IV, p. 71-73.

(15) ในการทำความเข้าใจสภาวะสมัยใหม่แบบประวัติศาสตร์กระแสหลัก ดู ฆัสรา2542 และจุมพฏ 2542 และวิธีอธิบายอีกแบบหนึ่งที่ทั้งทรงพลังและน่าตื่นใจอย่างยิ่งของ Michel Foucault จาก นพพร, "คำนำเสนอ: ฟูโกต์กับการสืบสาวความเป็นมาของหลังสมัยใหม่," ใน ฟูโกต์ 2547 ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็น Euro-centrism

(16) เรามีความจำเป็นที่จะต้องตระหนักว่า ในสภาวะสมัยใหม่แต่ละสังคมก็จะมีระดับการพึ่งพิงที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าระดับการพึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจของคนไทยในชนบท ย่อมน่าจะพึ่งพิงกันน้อยกว่าผู้คนในมหานครนิวยอร์กถึงแม้ว่าจะมีการพึ่งพิงกันในรูปแบบอื่นมากกว่าอย่างเช่นการลงแขก ฯลฯ ซึ่งเป็นคนละมิติกับการพึ่งพิงที่พูดถึงในที่นี้

(17) สำหรับมาร์กซ์แล้วยังมีความสัมพันธ์ที่แท้ของมนุษย์ซึ่งเป็นเชิงอุดมคติอยู่มากในโลกสังคมนิยมของเขา ดู อุกฤษฏ์ 2546 ส่วนทัศนะต่อบทความนี้ดู ธเนศ และใจ ในเล่มเดียวกัน

(18) แท้ที่จริงชีวิตทางเศรษฐกิจในฐานะผู้บริโภคก็สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ แต่ผู้เขียนเห็นว่าในมิติของผู้ผลิตมีอะไรให้ "เล่น" ได้เยอะกว่าจึงนำมาใช้วิเคราะห์

(19) โครงสร้าง/การร้อยเรียง และการใช้คำ/วลี/ประโยคของย่อหน้านี้อาศัยย่อหน้าสุดท้ายใน เดชา 2546/47:175-6 เป็นต้นแบบ

(20) สำหรับอัลธูแซร์แล้วกฎหมายอยู่ในทั้งกลไกการปราบปรามของรัฐและกลไกทางด้านอุดมการณ์ของรัฐ (อัลธูแซร์ 2529:106 เชิงอรรถที่ 9)

(21) สมควรจะกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า สำหรับมาร์กซ์แล้ว "ในการขยายตัวของทุนโดยแก่นแท้แล้วไม่ได้เผชิญหน้ากับอาณาเขตของชาติ" (Liodakis 2005:350)

(22) ดู G. A. Cohen 1994 อ้างใน เกษียร เตชะพีระ, "แบบวิถีอำนาจไทย: ข้อคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เกี่ยวข้องกัยสาธารณสุขในสังคมไทย," ใน นครินทร์ 2542:537-581

++++++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

ภาษาไทย
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2549. Giorgio Agamben: ว่าด้วยชีวิตเปลือยเปล่าและองค์อธิปัตย์, 1 และ 2. บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 982-983 (http://midnightuniv.tumrai.com).

ฆัสรา ขมะวรรณ. 2542. "Modernity, Modernism, Postmodernity, Postmodernism: บทสำรวจการนิยาม." วารสารสังคมศาสตร์, 30/2: 92-115.

จุมพฏ คำสนอง. 2542. "หลังสมัยใหม่ (What is Postmodernism?)." วารสารสังคมศาสตร์, 30/2: 116-127.

ใจ อึ๊งภากรณ์. 2546. "แง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับบทความ 'ทรรศนะของมาร์กซ์เรื่องสัตสังคม' ของ อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย." วารสารสังคมศาสตร์, 34/2 (กรกฏาคม-ธันวาคม): 73-80.

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. 2533. ท้าทางทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมล คีมทอง

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2545. สัญวิทยา, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยม กับการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: วิภาษา.
_______. 2549ก. รัฐ-ชาติกับ(ความไร้)ระเบียบโลกชุดใหม่. กรุงเทพฯ: วิภาษา.
_______. 2549ข. วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: วิภาษา.

ไชยันต์ รัชชกูล. 2524. "รัฐตามความหมายของทฤษฎีแนวความคิดแบบมาร์กซ์." รัฐศาสตร์สาร, 7/3 (พฤษภาคม-สิงหาคม): 82-92.

เดชา ตั้งสีฟ้า. 2546/47. "มองผ่านดวงตาของกะเหรี่ยง 'คนอื่น': สู่วิธีวิทยาเพื่อการศึกษาผู้ถูกบังคับพลัดถิ่นในพื้นที่ระหว่างไทย-พม่า." วารสารไทยคดีศึกษา, 1/1(ตุลาคม-มีนาคม): 154-196, 308-315.
_______. 2549. อ่าน "คู่มือข้าราชการ" เขียนพื้นที่วัฒนธรรม: วาทกรรมวัฒนธรรมของรัฐไทยกับพื้นที่ในระหว่างไทย-มาเลเซีย (ฉบับร่าง). เอกสารงานวิจัยนำเสนอในการสัมมนาโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง "ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐไทย: โครงการสันติวิธีความ รุนแรง และสังคมไทย ปีที่ 1" ร่วมจัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร, 18-19 สิงหาคม 2549.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2532. การวิเคราะห์ซับเจค (Subject): ทฤษฎีที่ไร้ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจของมิเชล ฟูโก. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
_______. 2546ก. "Micheal Hardt & Antonio Negri ในฐานะ 'Return of the Jedis': เมื่อ Empire ถูก Strike Back." วารสารสังคมศาสตร์, 34/2 (กรกฏาคม-ธันวาคม): 112-162.
_______. 2546ข. "ประวัติศาสตร์และ 'สัตสังคม' ของคาร์ล มาร์กซ์ ช่วงต้น: บทวิจารณ์อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย." วารสารสังคมศาสตร์, 34/2 (กรกฏาคม-ธันวาคม): 55-72..
_______. 2547. รากฐานปรัชญาการเมืองของ Antonio Negri กับ Empire. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (บรรณาธิการ). 2542. รัฐศาสตร์-การเมือง: รวมบทความวิชาการทางรัฐศาสตร์ 2526-2542. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เบลซีย์, แคทเธอรีน. 2549. หลังโครงสร้างนิยมฉบับย่อ. แปลโดย อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ปิยะมิตร ลีลาธรรม. 2549. "ก้าวแห่งชัยของการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ฝรั่งเศส." ฟ้าเดียวกัน, 4/2 (เมษายน-มิถุนายน): 289-294.

พิชัย อิศรภักดี. 2524. "ทฤษฎีว่าด้วยเรื่องรัฐในความคิดของมาร์กซ์." รัฐศาสตร์สาร, 7/3 (พฤษภาคม-สิงหาคม): 93-106.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์. 2546. ทฤษฎีเศรษศาสตร์การเมือง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ฟูโกต์, มิแช็ล. 2547. ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่. บรรณาธิการโดย นพพร ประชากุล และแปลโดยทองกร โภคธรรม. กรุงเทพฯ: คบไฟ
ยอร์จ, ซูซาน. 2545. รายงานลูกาโน: การอนุรักษ์ระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21. แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. 2548. ฉันทมติวอชิงตัน. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

รัตนา โตสกุล. 2548. มโนทัศน์เรื่องอำนาจ. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. 2548. ความคิดทางการเมืองของ คาร์ล ชมิทท์: ความเป็นการเมือง, สภาวะสมัยใหม่ และเสรีประชาธิปไตย. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. 2548. การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

อนุสรณ์ ลิ่มมณี. 2542. "ปัญหาระดับของการอธิบายในการวิเคราะห์ทางการเมือง." รัฐศาสตร์สาร, 21/1 (มกราคม-เมษายน): 99-125.

อัลธูแซร์, หลุยส์. 2529. อุดมการและกลไกทางอุดมการของรัฐ. แปลโดย กาญจนา แก้วเทพ. กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย. 2546. "ทรรศนะของมาร์กซ์รื่องสัตสังคม." วารสารสังคมศาสตร์, 34/2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 26-54.

ไฮล์บรอนเนอร์, โรเบิร์ต แอล. 2531. การสร้างสังคมเศรษฐกิจ. แปลโดย ลิลี่ โกศัยยานนท์. กรุงเทพฯ: ดวงกมล.

ภาษาอังกฤษ
Agamben, Giorgio. 1998. Homo Sacer: Sovereign of Power and Bare Life. translated by Daniel Heller-Roazen. Stanford, Calif.: Standford University Press.

Aristotle. 1995. The Politics, Book I and II. translated by Trevor J. Saunder. New York: Oxford University Press.

Decha Tangseefa. 2003. "Imperceptible Naked-lives & Atrocities: Forcibly Displaced Peoples & the Thai-Burmese In-between Spaces." Ph.D. dissertations, University of Hawaii at Manoa.

Dumezil, Georges. 1988. Mitra-Varuna: An Essay on Two Indo-European Representations of Sovereignty. New York: Zone Books.

Foucault, Michel.2003. Society must be Defended: Lectures at the Coll?ge de France, 1975-1976. edited by Mauro Bertani and Alessandro Fontana, translated by David Macey. London: Allen Lane The Penguin Press.

Hardt, Michael and Negri, Antonio. 2001. Empire. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.

Heilbroner, Robert and Milberg, William. 1998. The Making of Economic Society. 10th ed. Upper Saddler River, N.J.: Prentice-Hall.

Liodakis, George. 2005. "The New Stage of Capitalist Development and the Prospects of Globalization." Science & Society, 69/3 (July): 341-366.

Marx, Karl. 1958. Capital: A Critical Analysis of Capitalist Production, Vol. 1. translated from the third German edition by Samuel Moore and Edward Aveling, and edited by Frederick Engels. Moscow: Foreign Languages Publishing House.

Oxford Advanced Lerner's Dictionary. 2003. Oxford: Oxford University Press.

Smith, Adam. 1937. An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations. edited with an introduction, notes, marginal summary and an enlarge index by Edwin Cannan. New York: The Modern Library.

Yaeger, Patricia (ed). 1996. The Geography of Identity. Ann Arbor: University of Michigan Press.

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ:
ว่าด้วยความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจ -
On the Nakedness of Economic Life. ซึ่งผู้เขียนปรับปรุงจากหัวข้อรายงานศึกษาเรื่อง "ลักษณะข้ามชาติ" (Transnationalism) ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[ขอขอบคุณ อ.เดชา ตั้งสีฟ้า ที่ "อนุมัติ" ให้ผู้เขียนได้เข้าเรียนในวิชานี้ และขอขอบคุณ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ได้จุดประกายความคิดต่างๆ รวมทั้งชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง ของงานชิ้นนี้. ขอบคุณอรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง, อนุสรณ์ ชัยอักษรเวช,
และวรธิดา ไชยปะ สำหรับการวิจารณ์ที่มีคุณค่า]


ในงานเขียนนี้ได้ลำดับหัวข้อที่สำคัญโดยสังเขป ต่อไปนี้
- ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยแบบจักรวรรดิ (On Imperial Sovereignty)
- ว่าด้วยชีวิตที่เปลือยเปล่า (On Naked Life)
- ว่าด้วยชีวิตทางเศรษฐกิจ (Economic life)
- ว่าด้วยความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจ
- On the Nakedness of Economic Life
- บทสรุป: ความเปลือยเปล่าของชีวิตทางเศรษฐกิจ
อนึ่ง ข้อเสนอนี้แม้เป็นเพียงแบบทดลอง แต่มีความน่าสนใจบางอย่าง
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนพิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการเผยแพร่
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงปรับปรุงและตัดแต่งข้อมูลบางส่วนให้ภาษามีความกระชับขึ้น เหมาะสำหรับการเผยแพร่
รวมทั้งได้เว้นวรรค ย่อหน้าใหม่ และปรับแต่งเชิงอรรถตามความเหมาะสม
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๓๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๑ หน้ากระดาษ A4)