โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 10 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๒๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 10, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ในหลายวัฒนธรรมเชื่อกันว่า ในร่างกายของชายประกอบด้วยธาตุความเป็นชายและหญิงรวมอยู่ด้วยกัน ทำให้โลกของชายเปิดกว้างเสรี ในขณะที่ร่างกายของหญิงมีเพียงธาตุความเป็นหญิงเพียงอย่างเดียว ดังนั้นโลกของหญิงจึงเป็นโลกปิดและมีข้อจำกัด จากความเชื่อดังกล่าวทำให้วัฒนธรรมและประเพณีที่สังคมยึดถือกันมา ในการปฏิบัติต่อมนุษย์สองเพศนี้แตกต่างกันออกไป (ภัสสร ลิมานนท์, 2544 : 11) แต่บางสังคมก็มีการปฏิบัติตัวของชายและหญิงแตกต่างไปจากสังคมอื่น หรืออาจเรียกได้ว่า มีการวางหน้าที่ของชายและหญิงที่ตรงกันข้ามเลยทีเดียว
10-08-2550

Theory and the Body
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ความสัมพันธ์ของร่างกายกับกระบวนการทางสังคม-วัฒนธรรม
บทบรรยายเชิงทดสอบเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีร่างกาย (ตอน ๒)
ศิริลักษณ์ คชนิล : เขียน
นักศึกษา ป.โท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่างกายกับการปรับเปลี่ยนเรือนร่าง
ตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นยุคที่มีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ความคิดที่ว่าด้วยความแตกต่างทางชีววิทยาของมนุษย์ยิ่งเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้ การแบ่งแยกโครงสร้างและหน้าที่ระหว่างร่างกายของผู้ชายและผู้หญิงมีความชัดเจนมาก ร่างกายจึงยังคงถูกมองว่าเป็นที่มาของอัตลักษณ์และการแบ่งหน้าที่ในสังคม ส่งผลให้ร่างกายกลายเป็นวัตถุทางการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจปัจเจกบุคคลและสังคม และเมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นตามลำดับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้ความเชื่อต่อความคิดและค่านิยมในเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้เป็นไปตามอุดมคติ มีความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

มนุษย์เราแทบทุกคนมีร่างกายสมบูรณ์ที่ถูกประกอบสร้างตั้งแต่เส้นผม-จรดปลายเท้า จะแตกต่างกันไปก็เพราะเรื่องเพศเข้ามาเป็นส่วนสำคัญต่ออวัยวะที่ต้องใช้งานต่างกัน เช่น เพศชาย มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เหมาะสำหรับการทำงานหนัก ส่วนเพศหญิงนั้นมีเนื้อกายที่อ่อนนุ่ม เหมาะสำหรับการทำงานเบา และจากการที่โลกของเรามีภูมิประเทศที่หลากหลายทำให้ร่างกายของคนปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของสภาวะแวดล้อม ผู้หญิงและผู้ชายในแต่ละประเทศจึงมีลักษณะร่างกายที่ต่างกัน จะมีความคล้ายคลึงกันบ้างสำหรับประเทศที่มีองค์ประกอบคล้ายๆ กันและใกล้เคียงกัน เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ

เมื่อเรื่องเพศมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจต่อการปรับเปลี่ยนร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงร่างกายนั้นเป็นเรื่องของ"เรือนร่างกับอำนาจ ที่ผู้หญิงใช้เป็นเครื่องต่อรองกับบุรุษ" ทำให้ผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงร่างกายมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ทำให้โครงการของการปรับเปลี่ยนร่างกายมีความเป็นไปได้มากขึ้นและมีความปลอดภัย อีกทั้งร่างกายยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงด้วย ดังนั้น การมองปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านของร่างกายในอุดมคติผู้หญิงอย่างพินิจพิเคราะห์ จึงช่วยสะท้อนภาพให้เราเห็นถึงการปะทะกันระหว่าง "แรงผลักดันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม" ที่มีต่อการสร้างความหมายให้กับร่างกายของผู้หญิง (โกสุม โอมพรนุวัฒน์, 2545 : ออนไลน์)

สำหรับการปรับเปลี่ยนร่างกายนั้นเป็นไปใน 2 รูปแบบ นั่นคือ

- การปรับเปลี่ยนร่างกายด้วยวิธีการทรมาน และ
- การปรับเปลี่ยนร่างกายโดยไม่ทรมานตนเอง

ในส่วนของการปรับเปลี่ยนร่างกายด้วยวิธีการทรมานเพื่อสนองความต้องการของตนเองนั้น มีด้วยกันหลายวิธี ซึ่งได้สร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกาย อาทิเช่น การรัดเอวให้คอดเล็กของสตรีในยุโรป (9) การรัดเท้าให้เล็กของหญิงชาวจีน (10) การสักลวดลายบนเรือนร่าง และการเจาะร่างกายเพื่อประดับสิ่งของ การลดน้ำหนักเพื่อให้มีรูปร่างผอมบาง การเปลี่ยนสีผิว และทำศัลยกรรมส่วนต่างๆ ของร่างกาย

(9) เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 เรียกว่า "health" corset ช่วยเสริมหน้าอกและสะโพกให้ยื่นไปด้านหลังมากขึ้น
ทำให้ร่างกายมีลักษณะรูปร่างเหมือนตัว S (สมศรี สุกุมลนันทน์, 2525 : 25 - 26)

(10) สายพิณ ศุพุทธมงคล และคณะ. เผยร่างพรางกาย : สำรวจทฤษฎีร่างกาย, 2541 : 17

ส่วนการปรับเปลี่ยนร่างกายในแบบที่ไม่ทรมาน หรือทรมานน้อยกว่าที่กล่าวมาข้างต้น อาทิเช่น การเปลี่ยนทรงผม(11) การเพาะกาย(12) การออกกำลังกายกระชับสัดส่วน การดูแลสุขภาพร่างกาย โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ซึ่งเป็นการกระทำต่อร่างกายที่เจ็บปวดน้อยกว่า และเกิดขึ้นกับคนในสังคมแบบอิสระที่สามารถเลือกได้ทั้งทางความคิดและการปฏิบัติ

(11) ทรงผมมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามประวัติแฟชั่นผม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคของกรีก หรือยุคก่อนศาสนาคริสต์ เช่นในยุคของอียิปต์ ต่อมาในคริสตศตวรรษที่ 17 และศตวรรษที่18 ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่แฟชั่นผมเฟื่องฟูมากในหมู่ขุนนาง ราชวงศ์ และศักดินา โดยเฉพาะยุคศตวรรษที่18 นั้น ถือว่าเป็นยุคของการใช้ "วิกผม" มากที่สุดยุคหนึ่ง มีการใช้วิกผมทั้งผู้ชายและผู้หญิง

สิ้นสุดจากคริสตศตวรรษที่ 18 หรือเรียกกันว่า "สไตล์โรโกโก" ซึ่งผู้หญิงยุคนั้นยังคงยึดถือแฟชั่นผมแบบเดียวกับยุค "เรเนอร์ซองต์" อันถือเป็นยุคเปลี่ยนประวัติศาสตร์แฟชั่นผม เสื้อผ้า อย่างสิ้นเชิงจากยุคอดีต และยุคเรเนอร์ซองต์นี้เองถือเป็นยุคที่เริ่มต้นการก่อเกิด"ปัจเจกชน" หรือคนที่กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองจากชนหมู่มากออกไป และสามารถทำให้คนอื่น "เอาเยี่ยงอย่าง" ทำตามได้แม้จะอยู่ภายใต้กฏระเบียบ แบบแผน ของขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม

(12) เป็นหนึ่งในกีฬาชนิดหนึ่งที่เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อโดยการฝึกน้ำหนัก, การเพิ่มปริมาณอาหาร, และการพักผ่อน เริ่มเกิดขึ้นในสมัยกรีกโรมัน (วิษณุ ตุวยานนท์, 2542 : ออนไลน์) พัฒนาเป็นกีฬาเมื่อปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ในระหว่างปี ค.ศ. 1880 ถึง 1930 ถือเป็นยุคแรกของกีฬาเพาะกาย และยุคทองของกีฬาเพาะกาย อยู่ในช่วงเวลาระหว่างปี 1940 ถึง 1970 (วิกิพีเดีย, 2550 : ออนไลน์)

จากบทความเรื่อง "ศัลยกรรม...เสพติดความงาม" ของ นพ.มนตรี กิจมณี หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง โรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่า มีคนมาทำศัลยกรรมเฉลี่ยแล้วประมาณ 20-30 รายต่อเดือน ซึ่งหากดูตามจำนวน ผู้หญิงมักมาทำศัลยกรรมมากกว่าผู้ชายประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้คนมาทำศัลยกรรมว่า "คนเรารูปร่างจิตใจแยกกันไม่ออกเพราะทุกคนมีภาพรวมของตัวเอง คือ self - image. ความสวยทำให้เกิดความสุข สบายใจ เหมือนกับได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีๆ ซึ่งต้องโยงไปในเรื่องของ sex appeal (ความดึงดูดทางเพศ) ด้วย เพราะร่างกายอย่าง ลูกตา หน้าอก เป็นการ present ที่สำคัญ เป็นส่วนสำคัญทำให้ภาพเขาดีขึ้น บางคนทำแล้วทำอีกก็มี ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ทำ บางคนก็มาแก้ไข ไม่ได้มีปัญหาอะไรแต่อยากให้ดูดีขึ้นอีก" (โพสต์ทูเดย์, 2549 : ออนไลน์)

เมื่อผู้หญิงต้องการความสวย ซึ่งผู้หญิงสวยจะต้องมีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณหมดจด เป็นที่พอตา (สมศรี สุกุมลนันทน์, 2531 : 11 ) ซึ่งผู้หญิงน้อยคนนักที่เกิดมาจะมีร่างกายทุกอย่างพร้อมสรรพหรือที่เรียกกันว่า เพอร์เฟ็กต์ ( Perfect ) และด้วยเหตุที่ว่าผู้หญิงในทุกชาติทุกภาษามักจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ การรักในความงามของร่างกาย บางคนโชคดีที่เกิดมาแล้วมีร่างกายสวยงามทุกอย่าง แต่บางคนโชคไม่ดีนักที่เกิดมาแล้วมีร่างกายไม่สวยงามตามต้องการ ก็พยายามเสริมแต่งให้มีความงามให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างมากโดยเฉพาะด้านศัลยกรรม จึงทำให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยได้ใช้บริการด้านศัลยกรรมเพื่อความงาม เป็นผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับการเสริมความงามเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนที่ "ผู้หญิง" เป็นกลุ่มคนที่รักสวยรักงาม มักนิยมใช้บริการด้านศัลยกรรมตกแต่ง(13) ความงามค่อนข้างมาก ทำให้ในประเทศจีนมีธุรกิจด้านศัลยกรรมเสริมความงามจำนวนมากเกือบ 1,000,000 แห่ง และยิ่งจีนเปิดประเทศเพื่อการพัฒนา ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกเข้าสู่จีนมากขึ้น ผู้หญิงจีนรุ่นใหม่จะได้รับอิทธิพลด้านความงามจากสื่อต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะนิตยสารต่างประเทศและภาพยนตร์ จึงนิยมทำศัลยกรรมเสริมความงามกันมากยิ่งขึ้น (บัญญัติ สุขศรีงาม, 2546 : ออนไลน์)

(13) ศัลยกรรมตกแต่ง หรือศัลยศาสตร์ตกแต่ง เป็นสาขาวิชาหนึ่งของวิชาศัลยศาสตร์ โดยเน้นเฉพาะการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับรูปร่างที่ปรากฏให้เห็นภายนอกร่างกายให้ดูปกติ (FORM) และมีการทำงานที่ดี (Function) โดยจะสามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์นี้ออกเป็น 2 ส่วนคือ "ศัลยศาสตร์เสริมสร้าง" และ "ศัลยศาสตร์ตกแต่งเสริมสวย"

ศัลยศาสตร์เสริมสร้าง (Reconstructure Plastic Surgery) เป็นการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ ของรูปร่างหรือความพิการที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลังจากอุบัติเหตุ เช่น การผ่าตัดแก้ไขปากแหว่ง เพดานโหว่ การผ่าตัดเนื้องอกบริเวณศรีษะและคอ ศัลยกรรมอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า ศัลยกรรมทางมือ อุบัติเหตุจากความร้อน (Burns) รวมทั้งความพิการที่ตามมา

ศัลยศาสตร์ตกแต่งเสริมสวย (Cosmetic Plastic Surgery) คือ การผ่าตัดเพื่อความสวยงามในคนที่ปกติให้ดูดีขึ้น เช่น การผ่าตัดเสริมจมูก, ตา 2 ชั้น, ดึงหน้า, เสริมหน้าอก, การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ เป็นต้น ( BangkokHealth, 2548 : ออนไลน์ )

ตามความเข้าใจโดยทั่วไป การทำศัลยกรรม "เสริมความงาม" เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ความงาม" หรือกล่าวอย่างเจาะจง คือ ความสวย และ ความน่าดึงดูดใจทางร่างกาย ในปริบทของคนเอเชียการทำศัลยกรรมเสริมจมูก อาจหมายถึง การที่เจ้าของจมูกรู้สึกว่าจมูกของตนไม่สวย แบน ไม่มีดั้ง จึงอาศัยการทำศัลยกรรมเสริมให้จมูกโด่งขึ้น แลดูสวยขึ้น เกิดความสบายใจและมั่นใจในตนเอง เป้าหมายจึงเป็นไปเพื่อการได้ครอบครอง "ความสวย" ตามแบบที่เจ้าของจมูกปรารถนา การทำศัลยกรรมเสริมความงามซึ่งรวมไปถึงการทำศัลยกรรมเสริมจมูก จึงไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงจมูกเพื่อแสวงหาอัตลักษณ์ของความสวยให้กับเจ้าของร่างกาย แต่ยังมีมิติของการปฏิเสธลักษณะทางชาติพันธุ์ของตน เพื่อแสวงหาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แบบใหม่ และแบบที่ถูกเลือกว่ามีคุณค่าและมูลค่า คือ แบบของคนผิวขาวชาวตะวันตก ดังที่ Anne Balsamo (1992: 228 อ้างถึงใน โกสุม โอมพรนุวัฒน์, 2543 : ออนไลน์) ได้กล่าวว่า "ใบหน้าอันสวยงาม ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความสวยในอุดมคติตามมาตรฐานแบบคนผิวขาว" (โกสุม โอมพรนุวัฒน์, 2543 : ออนไลน์)

ในการทำศัลยกรรมความงามจากการศึกษาของ เชาวเลิศ มากสมบูรณ์ ได้กล่าวถึงผู้ที่ทำศัลยกรรมเสริมความงามว่า ได้สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้เกี่ยวกับหน้าตาของตนเองว่าไม่สวย ไม่มีเสน่ห์ ไม่ดึงดูดเพศตรงข้าม จึงได้ตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมจมูก หรือทำตาสองชั้น เพราะต้องการให้ตนเองมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในการคบหาสมาคมกับผู้อื่น ต้องการให้ตนเองเป็นที่สนใจของบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศตรงข้าม ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นในการพบปะสังสรรค์กับเพศตรงข้าม และการหาคู่ครอง รวมทั้งต้องการสร้างภาพความประทับใจแก่ผู้พบเห็น เพื่อความสำเร็จทางหน้าที่การงาน อีกทั้งยังเผยให้เห็นถึงการให้ความหมายกับจมูกของผู้ที่ทำศัลยกรรมอีกด้วย (โกสุม โอมพรนุวัฒน์, 2543 : ออนไลน์)

ปรากฏการณ์ความนิยมกิจกรรมการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยเฉพาะการทำศัลยกรรมจมูก (Rhinoplasty) ที่นิยมแพร่หลายและได้รับการยอมรับในสังคมไทยในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยขยายขอบเขตความปรารถนาของมนุษย์ ในการสร้างอัตลักษณ์ของตนผ่านการกระทำกับร่างกาย แพทย์เป็นผู้ช่วยเหลือให้ความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจได้เผยตัวออกมาเป็นรูปธรรมบนร่างกาย บนจุดศูนย์กลางของใบหน้า บนจมูก

กระแสความนิยมทำศัลยกรรมจมูก หรืออาจรวมไปถึงการทำศัลยกรรมตาสองชั้น การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงและปกป้องผิวให้ขาว เป็นผลมาจากการนิยมและยกย่องชาวตะวันตกให้เป็นต้นแบบของร่างกายในอุดมคติ และต้นแบบเหล่านั้นก็ถูกผลิตซ้ำและแพร่กระจายผ่านสื่อมวลชน. ผลผลิตทางวัฒนธรรมจากตะวันตก เจ้าของร่างกายที่รู้สึกว่าตนเองเป็นอื่นจากต้นแบบนั้น จึงพยายามจัด และกระทำกับร่างกายให้เข้าสู่มาตรฐานของแบบในอุดมคติ การทำศัลยกรรมเสริมความงาม ก็เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อการเข้าสู่มาตรฐานนั้นด้วย ดังนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่อยู่แค่เรื่องของ "ความสวย" แต่ผูกโยงกับ "ความแตกต่างทางชาติพันธุ์" โดยเป็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์บนความไม่เท่าเทียมกัน (โกสุม โอมพรนุวัฒน์, 2543 : ออนไลน์)

ด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีที่ร่างกายถูกทำให้แปลงโฉม เปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้ร่างสอดคล้องกับความรู้สึกหรือความต้องการของปัจเจกบุคคล จนกลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวพันกับร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีในการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการศัลยกรรมความงาม ที่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของร่างกายใหม่ให้กระชับ หรือเข้ากับค่านิยมของวัฒนธรรม การผสมผสานของร่างกายกับเทคโนโลยีได้ถูกทำให้กลายเป็นทฤษฎีหรือหลักการขึ้น โดยรวมเอาการทำงานด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างกว้างๆ เข้าไปด้วย เพราะนับเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง แก้ไข(modify)ร่างกาย จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยีการเป็นตัวแทน หรือการสร้างตัวตน (Technologies of Representation) การยอมรับเทคโนโลยีเข้ามาสู่ร่างกาย ทำให้คนเราขยายขอบเขตความสามารถโดยการแทนที่ส่วนประกอบหรืออวัยวะที่เสื่อมสภาพ จากนั้นจึงปรับปรุงและทำให้ร่างที่มีตามธรรมชาติหรือได้มาแต่กำเนิดนั้นดีขึ้น เทคโนโลยีที่ค่อยๆ พัฒนาไปในรูปแบบของการสนับสนุน ดังนั้นร่างกายจึงได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (David Bell : 139 - 140)

David Bell (p.144) ยังได้กล่าวอีกว่า การยอมรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาสู่ร่างกาย ทำให้คนเราขยายขอบเขตความสามารถ โดยการแทนที่ส่วนประกอบหรืออวัยวะที่เสื่อมสภาพ จากนั้นจึงปรับปรุงและทำให้ความสามารถตามธรรมชาติที่มีมาแต่กำเนิดนั้นดีขึ้น เทคโนโลยีจะค่อยๆ พัฒนาในลักษณะการให้การสนับสนุน ร่างกายที่เป็น Posthuman(14) จึงสามารถได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น การทำศัลยกรรมจึงเป็นเพียงการเริ่มต้นของคนที่รักสวยรักงาม ต้องการให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นไปตามอุดมคติ

(14) Posthuman เป็นบุคคลซึ่งมีความสามารถอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งทางด้านจิตวิทยา สติปัญญา และร่างกาย รวมทั้งการจัดการด้วยตัวเอง การกำหนดชัดตัวเอง และเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความเป็นอมตะและไม่มีขีดจำกัด. Posthuman สามารถเอาชนะข้อจำกัดทางชีววิทยา ประสาทวิทยา และจิตวิทยา ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในมนุษย์ แต่อาจมีรูปแบบบางส่วนหรือส่วนมากที่เป็นลักษณะทางชีววิทยา (David Bell , p.146)

"เรือนร่าง" หรือ "รูปร่าง" จึงเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนเรามองเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกัน การมองว่าคนนั้นอ้วนไป หรือคนนี้ผอมไป ขึ้นอยู่กับค่านิยมของแต่ละสังคม ดังเช่น คนไทยที่ยังมีความเชื่อในเรื่องรูปร่างอ้วน-ผอมที่ได้รับค่านิยมมาจากจีนและชาติตะวันตกมาช้านาน ซึ่งภาพความอ้วนที่ถูกประกอบสร้าง เปรียบได้ดั่งอัตลักษณ์แห่งตัวตนที่ความหมายจากการสร้างเลื่อนไหลไปมา ดังเช่นในสมัยก่อนภาพคนอ้วนของทั้งผู้หญิงและผู้ชายในสังคมไทยที่ได้รับค่านิยมมาจากวัฒนธรรมจีน จะถูกให้ความหมายในเชิงบวกจากคนรอบข้างว่าเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า เป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย อิ่มหนำสำราญ เป็นเสี่ยและเถ้าแก่เนี้ย แต่ในปัจจุบันตัวตนของคนอ้วนถูกสร้างความหมายใหม่จากอิทธิพลของสังคมตะวันตก ความอ้วนที่รับรู้ที่อยู่ในความคิดความเชื่อ คือ การปล่อยตัว การไม่รู้จักดูแลตัวเอง การไม่รักตัวเองและหมายถึงการนำไปสู่การหมดคุณค่าในสังคม (นิษฐา หรุ่นเกษม, 2549 : ออนไลน์)

ในปัจจุบันพบว่า หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของคนไทยที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรคือ ความอ้วน ซึ่งโรคอ้วนนี้พบมากในเด็กไทย ถึงแม้ว่าเด็กไทยที่มีปัญหาโรคอ้วนจะมีเพียง 25% เท่านั้น แต่อัตราการเกิดเด็กอ้วนในสังคมไทยเป็นไปอย่างรวดเร็วจนน่าวิตก ทั้งที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วเด็กไทยยังผอมโกรกกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏว่าสัดส่วนเด็กไทยที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเร็วมาก จนกลายเป็นว่าสัดส่วนของเด็กไทยที่อ้วนขึ้นเกิดขึ้นเร็วที่สุด เร็วกว่าเด็กจีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม หรือแม้กระทั่งเร็วกว่าที่นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย (จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์, 2547 : ออนไลน์)

ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร นวนิยาย โฆษณาหรือในโลกแห่งความเป็นจริงที่นักแสดง นักร้อง นางแบบที่มีอิทธิพลและมีบทบาทต่อภาพลักษณ์ของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ ที่เป็นต้นแบบของความผอม ส่งผลให้เกิดค่านิยมของคนในสังคมไทยที่เป็นสังคมบริโภคได้ง่าย เมื่อความผอมได้รับการยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม ความอ้วนจึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ถูกดูถูก เกิดเป็นปรากฏการณ์การนำเสนอภาพตัวแทนของคนอ้วนในทางเหยียดต่ำด้อยค่าในสังคมไทย ซึ่งคนไทยได้รับอิทธิพลนี้มาจากการสร้าง และนำเสนอมาตรฐานสังคม "ความผอมคือความสวย" ให้เป็นภาพในอุดมคติของผู้หญิงชาวตะวันตก ซึ่งภาพในอุดมคติความผอมคือความสวยนี้ Macdonald และ Myra (1995) กล่าวว่าได้เริ่มตั้งแต่สมัยที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่มีคริสเตียนดิออร์ ลังโคม และ Mini-skirt เป็นตัวเร่งปรากฏการณ์ ตลอดจนการเกิดวัฒนธรรมการอดอาหารหลังสงครามในสังคมตะวันตกที่ "ความผอม ไม่ได้หมายถึง ความจน" (นิษฐา หรุ่นเกษม, 2545 : ออนไลน์) มาตรฐานสังคมดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอด แผ่ขยาย กระจายอิทธิพลไปยังสังคมต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สังคมไทยที่มีค่านิยมในการมองเห็นตะวันตกเป็นเจ้าครอบครองวัฒนธรรมในเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว (นิษฐา หรุ่นเกษม, 2545 : ออนไลน์)

ผิวขาว, Whitening, และความมีอำนาจ
นอกจากเรื่องรูปร่างแล้ว "สีผิว" ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทย หรือแม้กระทั่งคนในเอเชียให้ความสนใจ สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผิวกาย ประเภท Whitening ต่างๆ ที่มีออกมามากมาย ปรากฏต่อสายตาของคนไทย เน้นย้ำให้เห็นถึงความจริงที่มาจากความเชื่อที่มาจากบรรทัดฐานที่ว่าการมีผิวขาว และหน้าตาแบบตะวันตก เท่ากับความสวยนั้น ซึมซับเข้าไปในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้หญิงผิวขาวและผู้หญิงผิวสี ผู้หญิงผิวสีถูกโจมตีด้วยสารเชิงวัฒนธรรมที่ไม่เพียงแต่เชื่อมโยงความขาวไว้กับความสวยและความเป็นหญิง แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ เชื่อมโยงความขาวไว้กับ "ความเป็นผู้ดี การได้รับความคุ้มครองจากการตกเป็นแรงงาน มาตรฐานของชนชั้นสูงและความเหนือกว่าของ Anglo-Saxon" (Peiss, 1990: 164 อ้างใน Davis, 1995) หรือ ความขาวถูกเชื่อมโยงกับอำนาจนั่นเอง

เช่นเดียวกับในคริสตศตวรรษที่ 16 จนกระทั่งต้นคริสตศตวรรษที่ 17 ภายหลังการปฏิรูปศาสนา (Protestant Reformation) มีความเชื่อการสร้างความเป็นชาย / ความเป็นหญิงในประวัติศาสตร์ของประเทศในตะวันตก ซึ่งไปสัมพันธ์กับความคิดในเรื่องร่างกายของศาสนาคริสต์ ในประเทศอังกฤษเชื่อว่าร่างกายของผู้หญิงผิวขาวมีบทบาทในการสร้างเผ่าพันธุ์ (race) ที่แข็งแรงให้ครอบครัวและประเทศชาติ สำหรับร่างกายของคนผิวดำโดยรวมแสดงถึง "ความเป็นอื่นที่อันตราย" (dangerous others) เป็นร่างป่าเถื่อน (uncivilized) มีพลังทางเพศที่ไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งเป็นร่างกายที่อุดมด้วยภัยที่คุกคามระเบียบอันดีงามทางศีลธรรมของอารยธรรมตะวันตก

การผูกโยงความขาวหรือผิวขาวเข้ากับอำนาจ ยังพบได้ในกรณีการแบ่งวรรณะของอินเดียเช่นกัน "วรรณะ" แปลว่า "สี" ซึ่งสีในที่นี้ คือ "สีผิว" ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ (2545) ได้กล่าวถึงสีในวัฒนธรรมอินเดียว่า "เนื่องจากมีคนสองกลุ่มเข้ามาอยู่ในประเทศอินเดีย คือ คนที่อยู่เดิมหรือพวกทราวิด (Dravidian) ซึ่งเป็นคนผิวดำ แล้วพวกที่เข้ามาใหม่คือ พวกอารยันหรืออินโดยูโรเปียนที่มีผิวสีขาว เมื่อพวกผิวสีขาวเข้ามาสู่อินเดีย ก็ได้เข้ามาแย่งชิงพื้นที่และมีการต่อสู้กันทางวัฒนธรรม รวมทั้งการต่อสู้กันทางยุทธวิธียุโธปกรณ์ด้วย เมื่อผู้มาใหม่ผิวสีขาวชนะ ก็ได้พยายามสถาปนาสิ่งที่เรียกว่าวรรณะหรือสีผิวขึ้นมา ให้มีกรอบกำหนดเพื่อแสดงชัยชนะ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่สมัยที่อารยันเข้ามาสู่อินเดีย จึงทำให้ "ผิวสีขาว" ถูกทำให้มีความหมายเหนือกว่า "ผิวสีดำ" นั่นหมายความว่า ผิวสีดำจะกลายเป็นความต่ำต้อย" (โกสุม โอมพรนุวัฒน์, 2545 : ออนไลน์)

จิราจารีย์ ชัยมุสิก ได้เขียนบทความลงในผู้จัดการรายวันว่ากระแสใหม่สังคมไทยที่พ้นจากยุค " J-Wave(15) ขับเคลื่อนสู่ยุคใหม่ " K-Wave(16) กระแสนิยมสินค้าเกาหลีในเชิงวัฒนธรรม ที่กำลังไหล่บ่ามาในรูป "สินค้าวัฒนธรรม" หลากหลายซึ่งเป็นปรากฏการณ์ "Korea Wave Fever" ที่ผู้บริโภคคนไทยกำลังตอบรับกระแสดังกล่าว นับเท่าทวีมากขึ้น (จิราจารีย์ ชัยมุสิก, 2549 : ออนไลน์)

จากการวิเคราะห์กระแสเกาหลีฟีเวอร์ในสังคมไทยอย่างน่าสนใจของ ไพบูลย์ ปีตะเสน นักเขียน เจ้าของผลงาน "ประวัติศาสตร์เกาหลี" ว่า คนไทยยอมรับสินค้า "เกาหลี" มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทย-เกาหลีไม่ค่อยแตกต่างกันมาก ในลักษณะเป็นเอเชียนด้วยกัน อีกทั้งวิธีคิด การดำรงชีวิตที่คล้ายคลึงกับไทยมาก ทำให้คนไทยยอมรับวัฒนธรรมสินค้าเกาหลีได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น K-Pop (17) ซึ่งเป็นคลื่นกระแสความนิยมนักร้อง ดารา มาแรงอินเทรนด์ ขณะที่ J-Pop (18) กลับอยู่ในขาลง… (จิราจารีย์ ชัยมุสิก, 2549 : ออนไลน์ ) ซึ่งอิทธิพลของ Korea Power นี้ได้ออกฤทธิ์ไปแทบทุกด้าน ปลายปี 2548 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์, 2549 : ออนไลน์ ) อีกทั้ง ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ได้กล่าวยืนยันถึง "กระแสเกาหลีฟีเวอร์" ที่เริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2549 และมาแรงขึ้นอย่างน่าจับตามอง ซึ่งกระแสนิยมเกาหลี หรือโคเรียนเทรนด์ นี้มาแรงมาก และแทรกซึมเข้าไปอยู่ในแฟชั่น ดนตรี ทรงผม การแต่งหน้า เครื่องประดับ (ผู้จัดการรายวัน, 2550 : ออนไลน์)

(15) J-Wave ย่อมาจาก Japan Wave หมายถึง คลื่นความนิยม "สินค้าวัฒนธรรม" ญี่ปุ่น
(16) K-Wave ย่อมาจาก Korea Wave หมายถึง คลื่นความนิยม "สินค้าวัฒนธรรม" เกาหลี ในรูปแบบ อาทิ การท่องเที่ยว การศึกษา
(17) K-Pop หมายถึง กระแสความนิยมต่อศิลปิน ดารา นักร้อง เกาหลี
(18) J-Pop หมายถึง คลื่นกระแสนิยมศิลปินญี่ปุ่น

โลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมข้ามพรมแดน กับการแปรเปลี่ยนเรื่องร่างกาย
สิ่งต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยน ทั้งในเรื่องของการศัลยกรรม สีผิว และรูปร่าง มีอิทธิพลมาจากการรับวัฒนธรรมข้ามพรมแดน ดังเช่น David Levinson and Melvin Ember (1996) ที่ Javier Inda ได้แปลและรวบรวมแนวคิดของนักมานุษยวิทยาท่านต่างๆ ซึ่งได้ให้ความเห็นไว้ดังต่อไปนี้

Alfred L. Kroeber อธิบายว่าลักษณะทางวัฒนธรรมประการหนึ่งคือ ยอมรับสิ่งใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนโดยผ่านวัตถุทางวัฒนธรรมจากที่อื่นๆ วัฒนธรรมหนึ่งๆจึงประกอบด้วยเค้าโครงของตัวเอง และเค้าโครงของวัฒนธรรมอื่น โครเบอร์เชื่อว่าโลกเต็มไปด้วยการติดต่อสัมพันธ์และเชื่อมโยงหากัน มีการแลกเปลี่ยนไปมา คล้ายกับพื้นที่วัฒนธรรมที่มีการปะทะสังสรรค์กันถาวร

ปัจจุบันนี้นักมานุษยวิทยาพบประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ เพราะโลกมีกลวิธีใหม่ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์. เทคโนโลยีในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการขนส่งและการสื่อสาร เช่น เครื่องบิน โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และวีดิโอ ทำให้โลกติดต่อสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้น โลกจึงเต็มไปด้วยการหลั่งไหลของผู้คน ภาพลักษณ์ และวัตถุ สิ่งเหล่านี้ส่งต่อข้ามพรมแดน และทำให้เกิดข้อถกเถียงใหม่เกี่ยวกับผลกระทบของสินค้า สื่อ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลก ซึ่งมีการอพยพย้ายเข้าและออกของผู้คนภายในรัฐชาติความสัมพันธ์แบบเชื่อมโยง ร้อยรัดเข้าด้วยกันที่เกิดขึ้นกับโลก คือการหลั่งไหลทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดน ซึ่งการศึกษาทางมานุษยวิทยาอาจเรียกว่า ลักษณะข้ามพรมแดนรัฐชาติ (transnationalism)

Arjun Appadurai อธิบายว่าการข้ามพรมแดนมี 5 ลักษณะ คือ

1. การข้ามพรมแดนทางชาติพันธุ์ (ethnoscapes) เกิดการเคลื่อนไหวของผู้คน เช่น นักท่องเที่ยว คนอพยพ คนถูกเนรเทศ คนย้ายถิ่นอาศัย และคนทำงาน คนอพยพและคนทำงานในที่นี้เกิดขึ้นมากในโลกที่สาม ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากย้ายถิ่นไปทำงานในโลกที่หนึ่ง การอพยพแรงงานนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของมวลชนจำนวนมาก ประเทศอเมริกาและประเทศในยุโรปจึงกลายเป็นตัวแบบให้กับโลกที่สาม

2. การข้ามพรมแดนทางเทคโนโลยี (technoscapes) เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลโดยบริษัทการค้าต่างๆ กิจการพาณิชย์เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น บริษัทผลิตเหล็กในลิเบีย อาจได้รับความสนใจจากอินเดีย รัสเซีย จีนหรือญี่ปุ่น

3. การข้ามพรมแดนการเงิน (finanscapes) มีการหลั่งไหลของเงินตราจำนวนมากในตลาดการค้าการลงทุน การเคลื่อนไหวของเงินตรากลายเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดขอบเขต เพราะนายทุนต้องการผลกำไรมากโดยต้องติดต่อกับต่างประเทศ มิใช่ลงทุนในประเทศอย่างเดียว สิ่งนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งชนิดใหม่ เช่น ชาวลอสแอนเจลีสไม่พอใจชาวญี่ปุ่นที่มาซื้อเมืองของพวกเขา หรือชาวบอมเบย์กังวลเกี่ยวกับเมืองที่เขาอาศัยว่าจะถูกชาวเปอร์เซียยึดครอง

4. การข้ามพรมแดนสื่อ (mediascapes) ภาพลักษณ์ของความจริงถูกสร้างขึ้น และถูกเผยแพร่ออกไปมากมายโดยหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ พรมแดนสื่อทำให้เรื่องราวของผู้คนจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง และทำให้คนท้องถิ่นมีโอกาสเผยแพร่เรื่องราวของตัวเองได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

5. การข้ามพรมแดนความคิด (ideoscapes) รัฐชาติได้สร้างความคิดขึ้นมา ความคิดที่ถูกสร้างส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความรุ่งเรือง ความเจริญก้าวหน้า อิสรภาพ ภราดรภาพ สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นเอกราช ความคิดเหล่านี้มีการต่อสู้แข่งขันกันในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และส่วนต่างๆของโลก

Cees T. Hamelink กล่าวว่า การพัฒนาทางวัฒนธรรมในประเทศศูนย์กลาง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมกับการแผ่ขยายตัวไปยังประเทศชายขอบ และทำให้วัฒนธรรมของชุมชนชายขอบถูกทำลายไป หรือถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป คำอธิบายตามแนวทางนี้ต้องการบอกว่าโลกสมัยใหม่ทำให้ทุกอย่างดูคล้ายกัน และตอกย้ำว่าศูนย์กลางมีอำนาจที่จะครอบงำชายขอบ

Ult Hanners กล่าวว่า การหลั่งไหลของวัฒนธรรมข้ามชาติต้องมีเทคโนโลยีใหม่ และสัญลักษณ์ใหม่ให้กับชุมชนชายขอบคอยรองรับ

Arthur M. Schlesinger เชื่อว่ามนุษย์ที่อยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่น อเมริกา จะสร้างความร้าวฉานและทำให้ตัวเองอยู่ในกลุ่มเฉพาะ หนทางที่จะทำให้อเมริกาห่างไกลจากความแตกแยกก็คือ การทำให้ประเทศหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยทำให้ประชาชนซึมซับวัฒนธรรมเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับการหลั่งไหลของผู้คนข้ามพรมแดนรัฐชาติ ก็คือการสร้าง และปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมประจำชาติ ซึ่งมีความตึงเครียดเกิดขึ้นกับนโยบายการเมืองของชาติเอง (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2550 : ออนไลน์)

ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมตะวันตกหรือตะวันออก ซึ่งปัจจุบันกำลังไหลบ่าและข้ามรัดตัดกันไปมาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้แก่กันและกันในเชิงวัฒนธรรมและสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผลของการแลกเปลี่ยนกันอย่างรวดเร็วในยุคข้อมูลข่าวสารและการขนส่งที่ทันสมัยนี้ ย่อมส่งอิทธิพลต่อคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น รวมทั้งคนไทยในการปรับเปลี่ยนร่างกายของตนเองไปตามกระแส หรือที่เรียกว่า อินเทรนด์ ดังจะเห็นได้จากวัยรุ่นชายหญิงในสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่พลิกผันตัวเองไปสู่อิทธิพลที่ไหลข้ามพรมแดน และยอมรับนับถือวัฒนธรรมนำเป็นค่านิยม

สนใจคลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




บทความวิชาการต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานค้นคว้าอิสระ(independent studies) เรื่อง
อิทธิพลของสื่อโฆษณาบนเว็บบอร์ดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเรื่องร่างกายของคนไทย (คัดมาบางส่วนจากบทที่ ๒) โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีร่างกาย [body] ซึ่งยังคงเป็นร่าง(draft)งานค้นคว้าอยู่ ด้วยเหตุนี้ จึงมีอีกหลายส่วนที่ยังคงต้องปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น และหวังว่าผู้รู้จะช่วยให้คำแนะนำตามสมควร

สำหรับบทบรรยายเชิงทดสอบนี้ มีขนาดค่อนข้างยาว จึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น ๒ ตอน และในส่วนของการอ้างอิงนั้น ได้นำมาวางไว้ใกล้กับเนื้อหาข้อความ ที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมรายละเอียด เพื่อสะดวกกับการอ่านอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับสีตัวอักษรให้แตกต่าง
ในส่วนของเนื้อหาหลักของบทบรรยายนี้ ประกอบด้วย
- ร่างกายเป็นกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม
- ร่างกาย : บทบาทเพศ และความสำคัญระหว่างเพศ
- ชาย-หญิง และความไม่เท่าเทียมในพุทธศาสนา
- บทบาทเปิดและปิดของเพศวิถีที่ต่างกัน
- เรือนร่าง กับ อำนาจ (และทฤษฎีเกี่ยวกับการต่อรอง)
- ร่างกายกับการปรับเปลี่ยนเรือนร่าง
- ผิวขาว, Whitening, และความมีอำนาจ
- โลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมข้ามพรมแดน กับการแปรเปลี่ยนเรื่องร่างกาย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๒๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)