โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 03 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๒๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 03, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ดังนั้น จุดมุ่งหมายหนึ่งของการศึกษาทางเลือกก็คือ การพยายามเปิดเผย (unfold) บางสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ให้ปรากฏออกมาจากการศึกษากระแสหลัก บางสิ่งที่การศึกษากระแสหลักปกปิด ซ่อน หรืออำพรางและไม่ให้แสดงตัวออกมา ฟูโกต์ใช้คำว่า "subjugated knowledge" ก็คือการนำสิ่งที่พลาโตเรียกว่า "การนำเข้ามาปรากฎ" (bringing - "poiesis") ปรากฏการณ์ที่ว่าเป็นการเปิดเผย (revealing - "aletheia") สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" (truth) นั่นเอง (บางส่วนจาก: การศึกษาทางเลือก: สงครามกองโจรบนการเมืองของความรู้) 030850
03-08-2550

Alternative Education
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ปรัชญาการศึกษาทางเลือก ความรู้และความจริงที่หลากหลาย
การศึกษาทางเลือก: สงครามกองโจรบนการเมืองความรู้ (ตอนที่ ๑)
จิรภักดิ์ จอมวิญญาณ์ : เขียน
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาทางเลือกและความซับซ้อนของความรู้
งานชิ้นนี้มุ่งเสนอเรื่องของการขบถของความรู้ ซึ่งโดยพื้นฐานไม่ได้ต่อต้านสาระ วิธีการ
หรือแนวความคิดของศาสตร์แขนงต่างๆ แต่ต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจของความรู้
ความรู้เป็นสิ่งที่มีความหลากหลาย แต่ความรู้กระแสหลักได้มากีดกันความหลากหลายดังกล่าว
และสถาปนาอำนาจความรู้แคบๆ ที่เลือกขึ้นมา มีอิทธิพล เหนือความรู้อื่น

ในโลกหลังสมัยใหม่ ฝ่ายที่ต่อต้านความรู้กระแสหลักพยายามนำเสนอความรู้ที่หลากหลาย
โดยกระตุ้นให้ความรู้กระแสรองหรือของท้องถิ่นได้ปรากฏตัวขึ้นมา
ฟูโกต์เรียกความรู้ที่ถูกกดทับนี้ว่า "subjugated knowledge"
อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้ได้ชี้ไปยังแก่นบางอย่างของความรู้ต่างๆ ว่า
ไม่ว่าจะเป็นความรู้กระแสหลักหรือความรู้กระแสรอง ล้วนเกิดขึ้นจากการคัดเลือกทั้งสิ้น
โดยคนกลุ่มต่างๆ การเลือกเอาความรู้หนึ่งเข้ามา ก็หมายถึงการกันอีกความรู้หนึ่งออกไป
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๒๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปรัชญาการศึกษาทางเลือก ความรู้และความจริงที่หลากหลาย
การศึกษาทางเลือก: สงครามกองโจรบนการเมืองความรู้ (ตอนที่ ๑)
จิรภักดิ์ จอมวิญญาณ์ : เขียน
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นิทเช่ กล่าวไว้ว่า "Man alone in irrational world / มนุษย์ลำพังเท่านั้นที่อยู่ในโลกที่ไร้เหตุผล" (1) มนุษย์พยายามสร้างกรอบเหตุผลอธิบายสิ่งต่างๆ ขึ้นมา แต่สัจจะของสิ่งเหล่านั้นในตัวของมันเอง (truth in itself) เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ได้ ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและผลที่สัมพันธ์กันในธรรมชาติก็เป็นการสมมุติของมนุษย์ และต้องถือเป็นเพียงแนวความคิดหรือบัญญัติ (concepts) และเป็นเพียงการกำหนดกติกาในทางสมมุติขึ้น (conventional fictions) เพื่อใช้ในการบ่งบอกและสื่อสาร แต่หาใช่คำอธิบายไม่ เพราะ "ในตัวของมันเอง" ไม่มีการเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลอยู่...ไม่มีกฎเกณฑ์

เราเองต่างหากที่สร้างแนวความคิดเกี่ยวกับ เหตุ ผล ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สัมพันธภาพ การกำหนด ตัวเลข กฎเกณฑ์ (2) จึงเกิดการสร้างความสอดคล้อง (correspondence) ระหว่างภาพตัวแทนกับวัตถุอย่าง "ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย" (correspondence theory of truth) (3) ขึ้น แต่กระนั้นโลกนี้เป็นของหลายเหลี่ยมหลายด้าน ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องตีความอย่างไม่รู้จบ (infinite interpretability) กับการมีอยู่ของตนและโลกเสมอมา

ความรู้ (knowledge) ถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจการตีความในคำอธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์ นับจนถึงปัจจุบัน ความรู้ถูกสั่งสมพอกพูนและทับถมมากมายจนบางคนถึงกับเลิกสนใจที่จะพูดถึง (4) บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า "ความรู้คือขยะที่เพิ่มขึ้น และมันกำลังเพิ่มปริมาณโดยการทำให้รู้ว่ามันคือความรู้" (5) การที่ความรู้ขยายตัวอย่างไม่รู้จบ ทำให้เกิดอำนาจในการอธิบายความจริงตามความเข้าใจของมนุษย์ในหลากหลายมุมมอง เพื่อตอบรับกับการแสวงความจริงอันหลากหลายที่มนุษย์เผชิญอยู่

ความจริงที่มนุษย์รับรู้สัมพันธ์กับความรู้อย่างมีนัยยะ ความจริงในกรอบความคิดแบบ "หลังสมัยใหม่" มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่มาจาก "Mimesis"(การจำลอง) ที่แปลออกมาเป็น "Representation" หรือภาพตัวแทน อันทำงานโดยผ่านตัวกลางแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษา แต่เป็นความจริงในความหมายของนักปรัชญาเยอรมันอย่างมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) นั่นก็คือ "Aletheia" (6)(A) อันเป็นความจริงที่ไม่มีลักษณะที่ตายตัวหรือความพยายามที่จะแสวงหาคุณสมบัติที่ตายตัวโดยผ่านภาษา ภาษาที่อยู่ในฐานะภาพตัวแทนที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริงมากกว่าที่จะเป็นการสร้างความจริง (construction) (7) ส่วนความรู้ที่เกิดขึ้นตามความเข้าใจของมนุษย์นั้นก็เป็นเรื่องของการสร้างและถูกผลิตขึ้นมากกว่าที่จะเป็นการค้นพบ (8)

การมุ่งสู่การผลิตความจริงนั้นเป็นลักษณะสำคัญของการผลิตความรู้ของสังคมตะวันตก โดยความรู้เหล่านี้ถูกผลิตขึ้นมาโดยอำนาจ (แต่ความรู้ไม่ใช่อำนาจ เพียงแต่อำนาจและความรู้เหล่านั้นอาจจะเรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด) (9) และความรู้นั้นไม่มีสิ่งใดชัดแจ้งและชัดเจนในตัวของมันเอง (self - evidence) มีแต่ถูกทำให้ชัดแจ้งผ่านมาตรฐาน/กฎเกณฑ์/เงื่อนไขบางชนิด สรรพสิ่งในสังคมเป็นเรื่องของการสร้าง/สถาปนาขึ้นของวาทกรรม (the events of discourse; Foucault, 1972b: 27) (10) เช่นเดียวกับความจริง (truth) ของไฮเดกเกอร์ที่ผูกติดอยู่กับความเห็นหรือการตัดสินของบางสิ่งบางอย่าง (11)

ความจริงเป็นสิ่งที่มากไปกว่าการมีและเป็น Logos (B) การไปสู่พื้นฐานทางอภิปรัชญาที่เกิดขึ้นในงานที่ถูกจัดว่าเป็นความคิดหลังสมัยใหม่ (postmodernism) นั้นก็ไม่ใช่เป็นการกลับหัวกลับหางความคิดดั้งเดิม แต่เป็นการยืนยันความถูกต้องที่ "ผิดพลาด" ของกระแสความคิดทางประวัติศาสตร์ของอภิปรัชญาของปรัชญาตะวันตก ในการที่จะเลือกเอาเส้นทางของ Logos มาเป็นตัวตั้งมากกว่าที่จะเป็น Aletheia

การที่จะทำให้มีการเปิดถึงความจริงนั้น Aletheia เป็นสิ่งที่ปรากฏตัวออกมาในลักษณะแบบกระบวนการ ที่จะต้องมีอะไรร่วมกับสิ่งอื่นๆ มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นสิ่งที่สูงสุดแบบพระเจ้าหรือองค์อธิปัตย์ การเป็นซับเจคแบบองค์อธิปัตย์ (sovereign subjects) ก็เป็นสภาวะที่ตัดขาดออกจากปฏิสัมพันธ์ ในขณะที่ Aletheia นั้นต้องการบุคคลอื่นเพื่อมาเสริมสร้างความรู้และความจริงที่จะเปิดเผยตัวเอง บทบาทของการสนทนาแลกเปลี่ยนจึงเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญสำหรับความจริง (13)

นิทเช่ถึงกับกล่าวว่า "ความจริงทั้งหลายคือมายาที่ถูกลืมว่าเป็นมายา" (Truths are illusions about which it has been forgotten that they are illusions ) (14) อาจสรุปได้ว่า ความรู้เป็นเรื่องของการสร้างความจริงของมนุษย์ และภาษาก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเข้าถึงความจริง และทั้งสองสัมพันธ์กันทางวาทกรรมบางอย่างที่ถูกสถาปนาขึ้นมา เพื่อสร้างและ/หรือรองรับอำนาจบางชนิดภายในสังคม

ความรู้หลีกเลี่ยงไม่ได้กับการที่จะต้องใช้ความรู้ เพราะการใช้ความรู้เป็นการปฏิบัติการที่เผยความรู้ชุดหนึ่งๆ ออกมา ความรู้จึงไม่เรียกว่าความรู้หากไม่ถูกนำไปปฏิบัติ นิทเชจึงวิจารณ์ท่าทีต่อความรู้ในแบบปฏิฐานนิยม (positivism) ตลอดจนการเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากการใช้ความรู้ ว่าเป็นอาการของคนตาบอดสี (Nietzche, Op. Cit., p. 12.) เพราะความรู้ทุกรูปแบบมีจริยธรรม (morals) ของตนเองอยู่แล้ว คำถามแรกที่เราควรจะถามเกี่ยวกับความรู้จึงไม่ใช่คำถามที่ว่า ความรู้นี้เอาไปใช้อะไรได้บ้าง แต่เป็นคำถามที่ว่า ความรู้ (หรือผู้รู้) นี้มุ่งหมายที่จริยธรรมแบบไหน (15)

การเลือกเอา "ความรู้หนึ่งเข้ามา" ก็หมายถึงการ "กันอีกความรู้หนึ่ง" ออกไป. การเลือกเกิดสภาวะกีดกันทำให้อีกความรู้หนึ่งมีสภาพ "เป็นอื่น" การเลือกเอาหรือไม่เลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้มนุษย์ตกอยู่ในสภาพต้องมีความสามารถในการเลือก และการเลือกที่ดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งมีปริมาณหรือแนวทางเลือกมากเท่าไร การจะตัดสินใจบนข้อมูลท่วมหัวจึงไม่ต่างอะไรกับการไม่มีทางเลือก ความสามารถในการเลือกความรู้ในเชิงคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่เราก็ไม่สามารถเลือกในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เสรีภาพในการแสวงหาทางเลือกจึงมีขอบเขต เป็นขอบเขตที่เรามีส่วนในการกำหนด สิ่งที่เราเลือกมีสภาพที่เรามีส่วนร่วม และสิ่งที่เราไม่เลือก เราก็มีส่วนในการตัดสินเช่นกัน แต่กระนั้น สิ่งที่เราไม่ได้เลือก ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะไม่มีอยู่หรือถูกทำลายลง แต่เราเลือกที่จะไม่มอง และยังสร้างอำนาจบางอย่างกดทับหรืออำพรางมันจากการตัดสินใจของเรา การมีจริยธรรมในการเลือกหรือไม่เลือกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่เพียงว่าความรู้นั้นบอกอะไรแก่เรา แต่อยู่ที่เบื้องหลังทางจริยธรรมและความต้องการเถลิงอำนาจที่สร้างความรู้นั้นขึ้น การสืบรากเหง้าหรือลำดับความเป็นมาของความรู้ เพื่อให้ตระหนักถึงอำนาจและจริยธรรมที่แฝงเร้นอยู่นี้เป็นวิธีการซึ่งนิทเช่ใช้คำว่า "วงศาวิทยา หรือ การสืบสาววงศ์วาน (genealogy)" (16)(C)

แต่ในยุคสมัยใหม่ (modern) ระบบที่เกิดขึ้นนี้เป็นการกระทำระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ มนุษย์ยังตกเป็นเครื่องมือของวาทกรรมในการสร้างตัวมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์รับอำนาจของวาทกรรมแล้วนำกฎเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ที่วาทกรรมสร้างไปกำหนดมนุษย์ด้วยกันเองให้มีแบบแผน พฤติกรรม และความเป็นมนุษย์ในกรอบที่วาทกรรมอนุญาต. มนุษย์ปฏิบัติต่อมนุษย์คนอื่นราวกับเป็นผู้อยู่ใต้บังคับของตน (Hoy, 1986) (17) ระบบของการศึกษาแบบตะวันตกสมัยใหม่ จึงมุ่งผลิตความรู้ที่นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของระบบโดยรวม ซึ่งมุ่งไปยังเป้าหมายของความจริงที่ตายตัวและเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นนามธรรม

แต่สิ่งนี้ขัดกับปรัชญาพื้นฐานของยิว-คริสเตียน ที่ให้ความสำคัญแก่เจตนารมณ์เสรี (free-will) (18) ดังนั้นระบบจึงจำต้องสร้าง "ทางเลือก" แต่อย่างไรก็ตามการเลือกหรือไม่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ต่างมีจุดหมายเพื่อเข้าไปหาความจริงอย่างเดียวกัน นั่นคือเป้าหมายยังคงมีความสำคัญในการค้นหาความจริง และการแสวงหาความจริงภายใต้กรอบของ Mimesis ที่มุ่งแสวงหา "ความจริงที่ตายตัว" และมี "ความเป็นหนึ่งเดียว" ในแง่นี้ทำให้สถานะของความจริงกลายเป็นข้อจำกัดและในขณะเดียวกันกระบวนการแสวงหา "ความจริงที่ตายตัว" กลายเป็น "กรงขัง" ผู้ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินตามเส้นทางของระเบียบวิธีวิจัยที่ตายตัว ซึ่งก็เป็นไปเพื่อการแสวงหา "ความจริงที่ตายตัว" ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง …การไม่ยึดมั่นอยู่ใน "ความจริงที่ตายตัว" นี้เองกลับก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมกับผู้ศึกษา เพราะในที่สุดแล้วกลับทำให้ไม่มี "จริยธรรม" (19)

…การไม่สามารถที่จะเลือกได้กลับทำให้นักวิชาการไม่สามารถที่จะสร้าง "จริยธรรม" ในการกระทำดังกล่าวได้ (20) …อย่างไรก็ตามการจะมีจริยธรรมได้ จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นจากการได้มีทางเลือกและเสรีภาพ สถานะของความจริงที่ตายตัวทำให้นักวิชาการอยู่นอกเหนือจริยธรรม ดังนั้นการนำเสนอ "ความจริงที่ตายตัว" ของนักวิชาการจึงไม่ได้อยู่ในการเลือกของจริยธรรม แต่เป็นเรื่องของ "หน้าที่" ที่ต้องมุ่งมั่นไปสู่ความจริงแบบหนึ่งเสียมากกว่า ถ้าจะกล่าวง่าย ๆ ก็คือ การมีจริยธรรมจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีทางเลือก และทางเลือกในความจริงที่หลากหลายจึงทำให้เกิดการมีจริยธรรม (21)

ดังนั้นการให้ความรู้แบบทางเลือกจึงไม่ควรมุ่งไปยังจุดหมายหรือความจริงที่ตายตัว แต่ควรเสนอทางเลือกในฐานะการสร้างความรู้ เพื่อมุ่งไปสู่อาณาเขตทางจริยธรรมภายใต้ความจริงอันหลากหลาย และความจริงที่สร้างขึ้นมานั้น เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ความเป็นวัตถุวิสัยเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของความเป็นวัตถุวิสัยได้อย่างแท้จริง เพราะถูกเคลือบแฝงด้วยความคิดที่มีเป้าหมายในทางการเมือง (22) ความรู้แบบทางเลือกจึง "เลือก" ที่จะมุ่งไปยังด้านการเมืองของความรู้ (politics of knowledge) ที่จะทำให้เกิดการสร้างจริยธรรมของคนในสังคม มากกว่าที่จะพยายามสร้างองค์รวมทางความรู้ขึ้นมา

การศึกษาก็คือการสร้าง "วินัย (discipline)" ที่เหมาะสมแก่สมาชิกรุ่นต่อไป เพื่อให้เข้าไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่างๆ โดยมีแขนงวิชา (discipline) เป็นตัวกำกับ วาทกรรมจึงเกี่ยวข้องกับการจัดจองทางสังคม (social appropriation) ในรูปใดรูปหนึ่งหรือในแวดวงใดแวดวงหนึ่งเสมอ (23) แต่กระนั้น การศึกษาไม่ได้เผยถึงจริยธรรมที่ซ่อนอยู่ใต้วินัยหรือวิชาหนึ่งๆ วาทกรรมทางการศึกษาถูกเชื่อมโยงกับอำนาจบางอย่างที่ควบคุม และทำให้วาทกรรมการศึกษามีระเบียบและเป็นระบบขึ้นมา ซึ่งขัดแย้งกับสภาพแสวงหาของมนุษย์ ที่ต้องพยายามดิ้นรนกับความเป็นระบบนี้อยู่ตลอดเวลา

ด้วยอิทธิพลแนวความคิดแบบนิทซเชียน (Nietzchean) ฟูโกต์จึงกล่าวย้ำว่า "สิ่งที่เรามุ่งหมายก็คือ การขบถของความรู้ที่โดยพื้นฐานไม่ได้ต่อต้านสาระ วิธีการ หรือแนวความคิดของวศาสตร์แขนงต่างๆ แต่ต่อต้านผลการรวมศูนย์อำนาจ ที่เชื่อมโยงกับการสถาปนาตัวและการทำงานของวาทกรรมศาสตร์หนึ่ง ๆ ในสังคมแบบของเรา...การสืบสาววงศ์วานจะต้องต่อสู้กับผลที่เกิดจากอำนาจของวาทกรรมหนึ่งๆ ซึ่งถือกันว่าเป็นศาสตร์" (Ibid., p. 84.) (24) "เจตนา" (will) ของฟูโกต์จึงอยู่ที่…

"การกระตุ้นเร้าให้ความรู้ท้องถิ่นกลับกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง... โดยอยู่ตรงกันข้ามกับการจัดลำดับสูงต่ำของความรู้โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ (scientific hierachisation) ตลอดจนผลที่แฝงเร้นอยู่ในอำนาจของมัน" (Ibid., p. 85.) (24) การกลับมาของความรู้ที่ถูกกดทับ ปิดบังไว้ จะต้องมีลักษณะเป็นความรู้เชิงสัมพัทธ์ (relative knowledge) ที่ไม่มีการสร้างคู่ตรงข้าม (dichotomy) กับความรู้ที่มีอยู่เดิมและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของความรู้ในแนวราบ (horizontal knowledge) ขจัดซึ่งอำนาจแฝงมากกว่าความรู้แบบเชิงลึกที่มีลำดับขั้นและอำนาจซ่อนตัวอยู่ โดยหวังจะทำให้มนุษย์มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้แบบต่างๆ มากขึ้น

ความรู้แบบทางเลือกจึงต้องการความหลากหลาย มากกว่าความเป็นกระแสหลักทางความรู้. แต่อำนาจไม่ชอบความหลากหลาย อยากควบคุมให้สรรพสิ่งเหมือนกันหมด (26) ระบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับวาทกรรมการใช้อำนาจบางอย่าง ตำแหน่งการหาความรู้แบบทางเลือกเชิงคุณภาพจึงไม่ใช่การกระโดดออกจากวงวาทกรรมทางการศึกษา เพื่อให้เกิดแรงผลักดันจากภายนอก (external reinforcements) ในแง่นี้การแสวงหาความรู้แบบทางเลือก จึงไม่ได้เกิดจากคนที่มีความรู้ถอนตัวออกไปจากระบบการศึกษาแล้วจึงเกิดทางเลือกในการเรียนรู้ และความรู้แบบทางเลือกนั้นก็ไม่ได้เกิดจากคนที่ไม่มีความรู้ แต่เกิดขึ้นจากคนที่มีความรู้และเห็นว่าความรู้ที่มีอยู่นั้นจำกัด และแฝงไปด้วยลำดับขั้นของอำนาจ ไม่ก่อให้เกิดการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้ จึงจำต้องหาทิศทางใหม่ๆ ให้กับความรู้ และก็จะพบว่าความรู้แบบทางเลือกที่ถูกใช้โดยปฏิบัติการผ่านภาษานั้น ก็เป็นภาษาหรือความรู้ชุดเดียวกันกับที่มีอยู่ในระบบการศึกษานั่นเอง

ถึงที่สุดแล้ว ความรู้ไม่ว่าจะเป็นกระแสหลักหรือทางเลือก ก็เกิดขึ้นจากการคัดเลือก และถูกสถาปนาตัวตนของมันจากคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในวาทกรรมทางความรู้หนึ่งๆ อยู่ร่ำไป. ความรู้และอำนาจจึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกในการสร้างความจริงทางสังคมบางอย่างขึ้นมา

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกไปอ่านบทความนี้ตอนที่ ๒

เชิงอรรถ

(1) Nietzsche : The Pedestal of Postmodern Thinking นิทเช่ : ในฐานะรากฐานแนวคิดปรัชญาหลังสมัยใหม่ บรรยายโดย Hans de Crop ภาควิชาปรัชญาศาสนา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 19 กันยายน 2544 / เวลา 17.00 - 19.00 น. บรรยายที่ห้อง 1307 คณะวิจิตรศิลป์ มช. / กระบวนวิชาปรัชญาศิลป์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(2) วีระ สมบูรณ์, ความไม่รู้ไร้พรมแดน (2541). มูลนิธิโกมลคีมทอง. กรุงเทพฯ:หน้า 78.

(3) ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย (correspondence theory of truth) ทฤษฎีที่ถือว่า ความจริงคือความตรงกันระหว่างข้อความกับข้อเท็จจริง (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540: 23) อันทำให้เกิดภาพตัวแทน (representation) ที่สร้างความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งขึ้นมา.

(4) อย่างเช่นริชาร์ด รอร์ตี (Richard Rorty) ในหนังสือที่ชื่อ (1979) Philosophy and the Mirror of Nature. New Jersey : Princeton University Press. โดยที่แนวคิดหลักของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับปรัชญา ที่มุ่งเป้าไปยังตัวทฤษฎีความรู้ (epistemology) ที่ผู้เขียนเสนอว่าเราควรที่จะเลิกให้ความสนใจกับทฤษฎีความรู้ ตัวของปรัชญาได้เดินทางมาถึงจุดจบของมันแล้ว เพราะเนื่องจากทฤษฎีความรู้ ซึ่งถือเป็นแก่นหรือศูนย์กลางของปรัชญาที่ผ่านมา มันไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนมั่นคงแก่มนุษย์ได้เลย แถมยังให้ความหวังกับผู้ที่สมาทานในแบบลม ๆ แล้ง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการอ้างอิงถึงความจริง และความรู้ในฐานะที่มันคือภาพตัวแทนของความจริง (representation) (Rorty : 1979 : 374-376) อ้างใน พิศาล มุกดารัศมี, (2546). Richard Rorty : "เรื่องของใหญ่ๆ ไม่ แต่เล็กๆ ทำ" : การปฏิเสธความมีเหตุมีผลทางการเมืองสู่การเมืองแห่งความเข้าอกเข้าใจ. รัฐศาสตร์สารปีที่ 24 ฉบับที่ 3. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพ : หน้า 112.

(5) Adrian Gargett , แปลและเรียบเรียงโดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ . Deprogramming the Body. 2002 in www.ctheory.com

(6) เปลโต (Plato) กล่าวว่าการนำเข้ามาปรากฎ (presence) ขึ้นเพื่อมีอยู่หรือ "poiesis" (bringing-forth) (Heidegger, 1997: 9-10. อ้างใน เทพทวี โชควศิน, (2546). หน้า 19.) และการนำเข้ามา ปรากฏทำให้สิ่งที่เคยถูกปกปิดมาปรากฎ เป็นการเปิดโอกาส ให้สิ่งหนึ่งปรากฏขึ้นเพื่อมีอยู่ ส่วนการนำเข้ามาปรากฎทำให้สิ่งที่เคยถูกปกปิดมาปรากฎโดยไม่ปกปิดอีกต่อไป ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าการเปิดเผย (revealing, aletheia) ซึ่งก็คือความจริง (truth) นั่นเอง (เทพทวี โชควศิน, (2546). ทรรศนะของมาร์ตินไฮเดกเกอร์ที่มีต่อเทคโนโลยี และการตีความในด้านความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อโลกธรรมชาติ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปีที่ 3 ฉบับที่ 7 : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต: ปทุมธานี. หน้า 20.)

(7) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). ชาติพันธุ์วรรณาในความเป็นซับเจคของนักมานุษยวิทยา: "จริยธรรม" ระหว่างการหาความจริงและการสร้างความจริง . รัฐศาสตร์สารปีที่ 24 ฉ.3 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : น. 159.

(8) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน: น. 161.
(9) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2530). บทส่งท้าย. ตรรกะของการกดบังคับ: ฟูโกและเฟมินิส. รัฐศาสตร์สาร ฉบับพิเศษ ครบรอบ 12 ปี. น. 171.
(10) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมกับการพัฒนา. (2538) วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 2. น.22.
(11) "…, one defines "truth" as something that 'really' pertains to judgment,… " (Heidegger, 1962: 33/57.)

(12) Logos มีความหมายอันหลากหลายตามแต่การตีความ เช่น "reason", "judgment", "concept", "definition", "ground" หรือ "relationship" ดู "concept of logos" ของไฮเดกเกอร์ที่ (Heidegger, 1962: 32/55.)

(13) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). ชาติพันธุ์วรรณาในความเป็นซับเจคของนักมานุษยวิทยา: "จริยธรรม" ระหว่างการหาความจริงและการสร้างความจริง . รัฐศาสตร์สารปีที่ 24 ฉ.3 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : น. 160.

(14) Nietzsche,(1873). On Truth and Lying in an Extra Moral Sense.4. p. 250, อ้างใน อู่ทอง โฆวินทะ , (2544) . ความปราดเปรื่องของสัตว์ที่พูดได้: นิทเช่กับกำเนิดของภาษา. วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ปีที่ 19 ฉบับที่ 2. ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: น. 59.

(15) วีระ สมบูรณ์, ความไม่รู้ไร้พรมแดน (2541). มูลนิธิโกมลคีมทอง. กรุงเทพฯ:หน้า 78.

(16) วีระ สมบูรณ์,เรื่องเดียวกัน:หน้า 79. ดูคำอธิบายเรื่อง "วงศาวิทยา" ได้ใน ธงชัย วินิจจะกูล, (2534). รายงานโครงการวิจัยเสริมหลักสูตร เรื่องวิธี การศึกษาประวัติศาสตร์แบบวงศาวิทยา (genealogy). (กระดาษอัดสำเนา). คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ.

(17) อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท, กรอบวาทกรรมวิเคราะห์และกรณีศึกษาไทย. วารสารนิเทศศาสตร์. ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 (2546). คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: น.4.

(18) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 179.
(19) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 179.

(20) สำหรับ Foucault การค้นพบความจริง การได้บรรลุถึงความจริงที่ให้ความกระจ่างและการพูดถึงความจริงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างตัวตน และการเปลี่ยนแปลงตนเอง Michel Foucault, "Sexuality and Solitude", in Michel Foucault : Ethic, Subjectivity, and Truth : Essential Works of Foucault, Vol. 1. ed. By Paul Rabinow, translated by Robert Hurley and Others, (New York : The New Press, 2000), p. 178. อ้างใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 180.

(21) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 180.
(22) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 164.

(23) Michel Foucault. The Archaeology of Knowledge and The Discourse on Language (New York : Pantheon Book, 1972. p. 227.) อ้างใน วีระ สมบูรณ์, ความไม่รู้ไร้พรมแดน (2541). มูลนิธิโกมลคีมทอง. กรุงเทพฯ:หน้า 81.

(24) (Ibid., p. 84.) อ้างใน วีระ สมบูรณ์, ความไม่รู้ไร้พรมแดน (2541). มูลนิธิโกมลคีมทอง. กรุงเทพฯ:หน้า 84.
(25) (Ibid., p. 85.) อ้างใน วีระ สมบูรณ์, เรื่องเดียวกัน.หน้า 84.

(26) น.พ. ประเวศ วะสี, ความคิดนอกกระแส : ทางเลือกของสังคมไทย.กองสาราณียกร เรียบเรียง.ปาจารยสาร ฉ. 2 ปีที่ 30
พย. 46 - กพ. 47. หน้า 38.

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถโดยกองบรรณาธิการ

(A) Aletheia in its current sense comes from Heidegger's use of it as renewed attempt to understand Truth. Aletheia is the Greek word for truth, sincerity, the real or actual. It comes from a-letheia, that is unforgetful, cf, lethe.

It does not mean truth as correspondence, ie, that something said corresponds with something in the world, with facts. Nor does it mean truth as coherence, ie, that things are true because they fit with other facts or theories. Nor truth as usefulness as in pragmatism.

Chiefly then Aletheia is the truth that first appears when something is seen or revealed. It is to take out of hiddeness to uncover. It is not something that is connected with that which appears. Allowing something appear is then the first act of truth, for example, one must give attention to something before it can be a candidate for any further understanding, for any understanding of space it must first somehow appear. Untruth then is something concealed or disguised.

Heidegger is trying to uncover a meaning of truth that is pre-Socratic, because, since Socrates, truth has instead come to mean agreement, correspondence, coherence or usefulness.
[Heidegger, M. "Being and Time". Translated by Joan Stambaugh, Albany, State University of New York Press, 1996. (1927)]

(B) The Greek word. logos is a word with various meanings. It is often translated into English as "Word" but can also mean thought, speech, meaning, reason, proportion, principle, standard, or logic, among other things. It has varied use in the fields of philosophy, analytical psychology, rhetoric and religion.
[http://encyclopedia.thefreedictionary.com/logos]

(C) Nietzsche's moral philosophy is primarily critical in orientation: he attacks morality both for its commitment to untenable descriptive (metaphysical and empirical) claims about human agency, as well ... Genealogy of Morality (hereafter simply "Genealogy" or "GM"): "our thoughts, values, every 'yes,' 'no,' 'if' and 'but' grow from us with the same inevitability ...

คลิกไปอ่านบทความนี้ตอนที่ ๒

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com