โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 29 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๑๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 29, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เป็นการกำกับ เป็นการกำจัด เป็นการควบคุม และเป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นการกระทำที่เรียกกันตามศัพท์พระพุทธศาสนาโดยอนุโลมว่า "อนันตริยกรรมประชาชน" เป็นการกระทำ"อนันตริยกรรมประเทศ" ก็คือเป็นกรรมที่ใหญ่และรุนแรงที่สุดก็คือ "การประหารรัฐ" ซึ่งมีความผิดมหันต์ ถือว่ากบฎ ถ้าในสมัยโบราณก็คือต้องตัดหัวเจ็ดชั่วโครต ในกฎหมายใหม่คงไม่มีแบบนี้อีกแล้ว (บางส่วนจากการพูดคุยในรายการวิทยุ)
29-07-2550

Referendum & Coup
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ (ฉบับสมบูรณ์) สามารถ download ได้จากที่นี่
สำหรับ (๑) แถวหนังสือสีส้มเป็นร่างรัฐธรรมนุญ ในรูป .doc (ขนาดความจุของไฟล์ 518 kb.)
ส่วน (๒) แถวหนังสือสีเหลืองเป็นร่างรัฐธรรมนูญ ในรูป .pdf (ขนาดความจุของไฟล์ 688 kb.)

(๑) ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ที่สนใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ สามารถคลิกไป download ได้จากที่นี่
(๒) ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ที่สนใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ สามารถคลิกไป download ได้จากที่นี่

ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ และโจทย์ที่แท้ของการลงประชามติ
อนันตริยกรรมประเทศและเรื่องการลงประชามติ
สมเกียรติ ตั้งนโม : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รายการมองคนละมุม วิทยุ FM 100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันเสาร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เวลา ๐๗.๓๐ น.

บทความถอดเทปนี้ นำมาจากรายการการสนทนาทางวิทยุ
ระหว่างคุณมานพ คีรีภูวดล กับ อ.สมเกียรติ ตั้งนโม ซึ่งออกอากาศที่เชียงใหม่
เป็นการพูดคุยกันเกี่ยวกับมุมมองร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ และ
พระราชบัญญัติต่างๆ รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวเนื่อง ซึ่งเร่งออกมา
ให้ทันรัฐบาลชั่วคราวในช่วงสุญญากาศทางการเมือง
ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการพูดคุยในรายการวิทยุครั้งนี้ ประกอบด้วย
- ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ (ฉบับอำมาตยาธิปไตย)
- พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในฯ
- การทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการปรับปรุงหลังจากที่ได้ถ่ายทอดทางวิทยุแล้ว
โดยผู้ร่วมสนทนาในรายการ"มองคนละมุม" เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา
และเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๑๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ และโจทย์ที่แท้ของการลงประชามติ
อนันตริยกรรมประเทศและเรื่องการลงประชามติ
สมเกียรติ ตั้งนโม : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รายการมองคนละมุม วิทยุ FM 100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันเสาร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เวลา ๐๗.๓๐ น.

มานพ คีรีภูวดล: ท่านผู้ฟังครับ เหลือเวลาไม่ถึงเดือนแล้วคือประมาณ ๒๐ วัน สิ่งที่พี่น้องประชาชนไทยทั่วประเทศจะต้องแสดงพลังไปลงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ว่าจะ"รับ"หรือ"ไม่รับ" เพราะฉะนั้นรายการ"มองคนละมุม"ก็คงจะมาพิจารณาสถานการณ์ในช่วงนี้ว่ามีประเด็นอะไรที่น่าสนใจวิพากษ์วิจารณ์ วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เรายกเอาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ มาพูดคุยกัน

ทางเชียงใหม่ อย่างที่ทราบกันว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็ได้ออกแถลงการณ์ตั้งแต่ต้นแล้วว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วเนื้อหาซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยนี้จะนำไปสู่เส้นทางที่ไม่ทำให้ประชาธิปไตยพัฒนาขึ้น มีเรื่องของระบอบอำมาตยาธิปไตยเข้ามา วันนี้เราได้เรียนเชิญ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ท่านเป็นอธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาสนทนา ผมขอเริ่มต้นเลยครับว่าวันนี้ผมจะถามคำถาม ๓ ประเด็นใหญ่ๆ

ประเด็นแรก จะเป็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ อาจารย์มองอย่างไร
ระบอบอมาตยธิปไตยที่ว่ากันจะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นอย่างไร จะทำให้สังคมไทยเป็นอย่างไร ?
ประเด็นที่สอง คือ มี พรบ.ฉบับหนึ่ง ที่จะออกก่อนรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้คือ พรบ.ความมั่นคงภายใน มันจะมีผลกระทบอย่างไร ?
ประเด็นสุดท้าย ก็คือเรื่องของประชามติ ทั้งหมดนี้อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร ? ขอประเด็นแรกก่อนครับ

สมเกียรติ ตั้งนโม: คิดว่ารัฐธรรมนูญปี ๕๐ ซึ่งร่างขึ้นมาโดยอรหันต์ ๓๕ องค์ คือคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นข้าราชการระดับสูง มีทั้งผู้ที่มาจากสายตุลาการ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และอื่นๆ ตัวประธานเองคือ นต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็คือคนที่อยู่บนเวทีสนามหลวงหลายเดือนก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คนเหล่านี้ซึ่งหมายถึงข้าราชการระดับสูงกับคนบนเวทีสนามหลวง กำลังรวมตัวกันเป็น ๓๕ อรหันต์ เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ อันเป็นกฎหมายสูงสุดมาปกครองประชาชนไทย ๖๕ ล้านคน ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีอะไรซึ่งน่าเคลือบแคลงสงสัยอยู่

ในแง่ที่จะตอบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอำมาตยาธิปไตยอย่างไร ผมขอให้พิจารณากระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการหรือกลไกในการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ก็ไปให้ความไว้วางใจกับบรรดาตุลาการ ในการที่จะคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ รวมไปถึง สสร.ชุดนี้ เมื่อเราพิจารณาแล้ว คนกลุ่มใหญ่ในจำนวน ๑๐๐ คน ล้วนเป็นข้าราชการและอดีตข้าราชการระดับสูง

ครั้งหนึ่งซึ่งผมได้มีโอกาสดูรายการโทรทัศน์ ดูเหมือนว่าจะเป็นรายการ"คุยกับ สสร."ซึ่งถ่ายทอดทางช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ คืนนั้นท่านจรัล ภักดีธนากุล ได้พูดคุยกับพิธีกรท่านหนึ่ง แล้วได้พูดถึงรัฐธรรมนูญว่าเป็นเรื่องของชนชั้นสูง หรือเป็นเรื่องของผู้มีวุฒิภาวะ เป็นเรื่องของนักกฎหมายมหาชน ที่จะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แบบนี้ก็เป็นการยอมรับโดย สสร. เองว่า เรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของชนชั้นสูง ที่เขาจะคิดจะเขียนเพื่อปกครองชนชั้นต่ำอย่างพวกเรา ๖๕ ล้านคน สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันได้สะท้อนอะไรหลายอย่าง นับจากการกำหนดให้ใครเป็นคนมาคัดเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ นั่นคือ ข้าราชการระดับสูง คนที่ออกมาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญก็ล้วนแล้วแต่เป็นพวกขุนนางเดิมๆ และข้ารับใช้ทั้งหลาย

ทั้งหมดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แบ่งออกเป็นหลายหมวดด้วยกัน แต่ผมคิดว่าหมวดที่เป็นขนมหวานเอาไว้ล่อผู้คน ซึ่งผมขอเรียกแบบอุปอุปมัยเชยๆว่า ยาพิษที่เคลือบน้ำตาล ก็คือหมวดที่ ๓ ซึ่งว่าด้วยเรื่องของ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย นับจากมาตราที่ ๒๖ ถึง ๖๙ รวมไปถึงหมวดที่ ๗ ที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ตั้งแต่มาตราที่ ๑๖๓ ถึงมาตราที่ ๑๖๕ สังเกตได้ว่า หมวดที่ ๓ ซึ่งว่าด้วยเรื่องของสิทธิและเสรีภาพฯ มักจะถูกนำมาโฆษณาชวนเชื่อผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์การรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสมอ

แต่ในเหตุการณ์จริงซึ่งพวกเราได้ดูผ่านช่องทางโทรทัศน์ บรรยากาศการประชุมของ สสร. ตั้งแต่ตามโรงแรมและรีสอร์ท และในรัฐสภา ถามว่าน้ำหนักมันอยู่ที่เรื่องของสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยหรือไม่ ปรากฏว่า ๘๐% ของชั่วโมงในการถ่ายทอด สะท้อนให้เห็นเรื่องราวของการยกร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามจะไปกำหนด กำกับ ควบคุม ตัวแทนของประชาชนหรือ สส. และฝ่ายบริหารเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลาที่คนเหล่านี้นำมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อที่จะให้ผู้คนรับร่างในการลงประชามติ คนเหล่านี้กับชูหมวดที่ ๓ ซึ่งพูดได้ว่าเกือบจะไม่ได้ออกโทรทัศน์เลย

ฉะนั้นข้อสังเกตเหล่านี้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เฝ้าติดตามบรรดา สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญผ่านหน้าจอทีวีทั้งหลาย รัฐธรรมนูญที่ได้แต่ดู(spectator constitution) เห็นกันอย่างชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเป็นเสมือน"หมายจับนักการเมือง" คือพยายามที่จะลดบทบาทและกำกับ สส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยลง ส่วนอันดับต่อมาคือ ลดอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยให้ข้าราชการระดับสูง หรือพูดให้ภาพชัดขึ้นก็คือฝ่ายตุลาการเข้ามาแทรกแซง ควบคุม กำกับ แต่งตั้ง คนที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทั้งหมดที่กล่าวมากำลังทำให้โครงสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักการคานอำนาจกันทั้ง ๓ ส่วน คือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ กำลังไขว้กันไปไขว้กันมาแบบสับสน จนไม่สามารถที่จะเหลือความชอบธรรมในการคานอำนาจกันต่อไป

วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่อันตราย การที่จะเรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะทำให้เกิดความฟั่นเฟือน การไขว้กันไปไขว้กันมาและการแทรกแซงแบบสับสนนี้จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยขาดดุลยภาพ และขาดการคานอำนาจตามหลักการไปโดยตลอด หลังจากวันที่เราไปหย่อนบัตรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และที่กล่าวว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน แล้วไปแก้กันทีหลัง อย่าลืมนะครับว่า หลังจากวันที่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว กลไกของความผิดปกติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะดำเนินการไปโดยทันที และจะเป็นภาระต่ออนาคตประชาธิปไตยไทยไปอีกนาน

เพราะฉะนั้น ผมขอคาดการณ์เอาไว้ว่า ถ้าถามว่าในอนาคตหลังจากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร? ตอบได้เลยว่าจะไม่สงบไปอีกหลายปี ก็เพราะเหตุผลที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ไปทำลายบทบาทการเป็นตัวแทนของ สส. และนักการเมืองลง, ไปลดอำนาจของฝ่ายบริหาร, การกำหนดบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งมาจากฐานอำนาจการแต่งตั้งโดยตุลาการและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งหมดนี้จะทำให้บ้านเมืองอ่อนแอ แต่เป็นประโยชน์ของคนบางฝ่าย ฉะนั้นจริงๆ ก็คือว่า สังคมไทยจะตกอยู่ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังฉากการย้อมสีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เรียกว่าประชาธิปไตยก็คือ บรรดาข้าราชการระดับสูงนั่นเอง

มานพ คีรีภูวดล: ถ้าย้อนกลับไปในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ซึ่งเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กล่าวกันว่าอำนาจของฝ่ายบริหาร หรือบรรดา สส.มีอำนาจมากเกินไป ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นอย่างนี้ แต่อาจารย์บอกว่าตามโครงสร้างหน้าที่ของระบอบประชาธิปไตย จะต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการคานอำนาจให้เกิดดุลยภาพ แต่กลับทำให้มันไขว้กัน อันนี้เป็นอย่างไรครับ

สมเกียรติ ตั้งนโม: ที่บอกว่ามันไขว้กัน หรือแทรกแซงก้าวก่ายกันเพราะรัฐธรรมนูญปี ๕๐ เมื่อเราพลิกไปที่หมวดว่าด้วยเรื่องของรัฐสภา ก็คือหมวดที่ ๖ และหมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด จะมีอำนาจของฝ่ายข้าราชการเข้ามาแทรกแซง และทำให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่แต่งตั้งองค์กรอิสระทั้งหลาย ส่วนหนึ่งมาจากฝ่ายตุลาการ นี่ล่ะครับที่เราเรียกว่าเป็นการไขว้กันหรือก้าวก่ายกันของการคานอำนาจในโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย

มานพ คีรีภูวดล: อาจารย์ครับ จริงๆ แล้วก็คือว่า เขาต้องการที่จะแก้ปัญหาฝ่ายบริหารในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ใช้อำนาจและตรวจสอบยาก การเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระก็ด้วยเหตุผลนี้ ซึ่งทำให้หน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ ออกมาหน้าตาเป็นอย่างนี้

สมเกียรติ ตั้งนโม: คิดว่าเหตุผลนี้น่าฟัง แต่จะชี้ให้เห็นลึกลงไปกว่านี้อีกว่า หลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยา จนกระทั่งทุกวันนี้ คนที่มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ คือคนที่เสียประโยชน์ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณมีอำนาจอยู่ ๖ ปี คำถามคือว่าเราคิดว่าคนที่ไม่เป็นกลางอย่างนี้ควรจะเขียนรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อปกครองคน ๖๕ ล้านคนหรือ ข้อกังขาของผมก็คือ "เราไม่เชื่อคุณ"

หลัง ๑๙ กันยา เรียกเป็นว่าภาวะสุญญากาศทางการเมือง เราอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก กฎอัยการศึกเป็นกฎที่ไม่ได้มีการรับรองใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการกลั่นกรองใดๆ เขียนขึ้นและประกาศใช้โดยทันทีตามอำเภอใจโดยคณะบุคคล เรียกว่าเป็นคณาธิปไตย โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงพระปรมาภิไธย คือไม่มีการถูกยอมรับใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นกฎอัยการศึกจึงเป็นกฎที่ไม่มีความถูกต้องที่ประกาศออกมาหลัง ๑๙ กันยา ไม่ต้องด้วยหลักนิติธรรม ไม่มีการกลั่นกรอง ไม่มีการรับรองเป็นเรื่องของคณาธิปไตย

เหตุการณ์บ้านเมืองที่จะต้องใช้กฎอัยการศึก จะประกาศได้ต่อเมื่ออยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งแน่นอนในยามฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็นำมาใช้กันเป็นประเพณีของการทำรัฐประหารเพื่อควบคุมประชาชนทั้งประเทศ โดยที่ผู้คนทั้งหลายกลายเป็นเบี้ยไพร่พลเมืองที่ต้องรับฟังและอยู่ใต้คำสั่งดังกล่าว ถามว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะที่มีสงครามหรือ ชายแดนไทยทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก มีอริราชศัตรูหรือ คำตอบคือไม่ใช่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การใช้กฎอัยการศึกจึงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากกฎที่ปราศจากเหตุผล ซึ่งคิดและเขียนขึ้นมาเพื่อสยบให้ฝ่ายการเมืองที่มาจากเสียงประชาชน, ซึ่งจะถูกต้องหรือไม่ต้องมาว่ากันทีหลังตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย, ต้องสยบราบคาบ ดังนั้นกฎอัยการศึก จึงถูกนำมาใช้อย่างไม่จำเป็น ถูกนำมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ถูกนำมาใช้เพื่อการข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

ผมขอให้มาดูอีกภาพหนึ่ง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทย หลังการทำรัฐประหาร มีหลายวิธีที่ปกครองบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญ เพียงแต่งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือนำเอาธรรมนูญชั่วคราวมาใช้ โดยไม่ต้องประกาศกฎอัยการศึกซ้ำซ้อน อย่างนี้เป็นต้น จะเห็นว่ามีการปฏิบัติกันหลายวิธี แต่คณะรัฐประหารชุดนี้หรือ คปค. เลือกใช้กฎอัยการศึก เพราะว่าพวกตนจะได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

มานพ คีรีภูวดล: พูดโดยสรุป หมายความว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ไม่เป็นกลาง เกิดจากผู้เสียผลประโยชน์และต้องการขึ้นไปมีอำนาจ และนำไปสู่เรื่องของระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งหลังจากประชาชนไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว จะมีความวุ่นวายตามมา ประชาชนจะเกิดความขัดแย้ง ไม่ยอมรับกันไปอีกนาน

สมเกียรติ ตั้งนโม: ผมอยากจะยกให้เห็นภาพชัดว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๑๙ กันยา ฝ่ายการเมืองที่เรียกกันว่าพวกธนกิจการเมือง ค่อนข้างมีอำนาจเหนือข้าราชการ. หลัง ๑๙ กันยา พวกข้าราชการพยายามที่จะออกหมายจับพวกธนกิจการเมือง แล้วพวกข้าราชการก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น รัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกร่างโดยคนที่เป็นกลาง แต่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งกัน

มานพ คีรีภูวดล: ทีนี้มีอีกประเด็นหนึ่งคือ ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะประกาศใช้ มีกระบวนการที่จะสร้างเครื่องมือขึ้นมาอีกอันหนึ่ง คือ พรบ.ความมั่นคงภายใน ตรงนี้อาจารย์มองว่า การร่าง พรบ.ความมั่นคงภายใน มันมีความเชื่อมโยงกับการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ ไปใช้อย่างไร ?

สมเกียรติ ตั้งนโม: ขอยกตัวอย่างเป็นการอุปมาอุปมัยที่ชัดเจน คือว่า ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงและเกิดให้มีเวทีสนามหลวงหลายเดือนก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน มันเป็นการขัดผลประโยชน์ของกลุ่มธนกิจการเมืองด้วยกันเอง คือกลุ่มของสนธิ ลิ้มทองกุลและพรรคพวก กับกลุ่มของทักษิณ นี่คือการทะเลาะเบาะแว้ง และโต้เถียงกันในกลุ่มของพวกธนกิจการเมืองเอง

ในกลุ่มธนกิจการเมืองฝ่ายของคุณสนธิ ได้ใช้วิธีการทุกรูปแบบที่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้าม เช่น เริ่มตั้งแต่ ขอนายกฯ พระราชทาน อ้างการใช้มาตรา 7 และสุดท้ายก็ไปอ้อนวอนยักษ์ที่ถือกระบอง เพื่อให้มาช่วยพวกตน และปรากฏว่าไปอ้อนวอนอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งยักษ์ที่ถือกระบองได้ออกมาช่วยเหลือจริง ซึ่งจะช่วยเหลือจริงหรือไม่เราต้องพูดกันในความซับซ้อนของมันอีก เพราะว่ามันเกิดขึ้นในช่วง ๑๙ กันยายน, ๑๑ วันก่อนที่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.จะเปลี่ยนแปลงในวันที่ ๑ ตุลาคม แต่ผมจะไม่ลงรายละเอียดสำหรับเรื่องดังกล่าวในคราวนี้

พอยักษ์ถือกระบองออกมาแล้ว เราคิดว่าเราจะควบคุมยักษ์ที่ถือกระบองกลับไปจำศีลได้อีกหรือ เมื่อยักษ์ที่ถือกระบองออกมาแล้ว มันก็ได้กวัดแกว่งกระบองของมันไปทั่ว และควบคุมอะไรไม่ได้แล้ว เราลองมาตรองดูว่า พรบ.ต่างๆ ไม่ใช่เพียงฉบับนี้ฉบับเดียว นั่นคือ มันมี พรบ.ความมั่นคงฯ ฉบับหนึ่ง, พรบ.ข่าวกรองฯฉบับหนึ่ง, กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับหนึ่ง, และอีกหลายอย่างที่เป็นมาตราการซึ่งเป็น package ออกมาเป็นชุด เช่นการแต่งตั้ง คตส., ศาลรัฐธรรมนูญ กลไกอื่นๆ ในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ทั้งหมดนี้เป็นยุทธวิธีทางด้านการทหารอย่างเต็มรูปแบบในการต่อสู้ เพื่อที่จะปิดล้อมฝ่ายตรงข้ามให้อ่อนแอลง เราจะเห็นว่า วิธีการปิดล้อมนี้ประกอบด้วยภาพหลักๆ อยู่ ๔ ด้านด้วยกัน คือ

๑. ปิดล้อมเสบียง ซึ่งเรียกันว่า ทำลายท่อน้ำเลี้ยง
๒. ปิดล้อมทางภูมิศาสตร์ ก็คือกำหนดพื้นที่ม๊อบให้อยู่ในการควบคุม เช่นที่กรุงเทพก็กำหนดให้อยู่ในท้องที่สนามหลวง และในต่างจังหวัดก็คือ มีการตั้งด่านสกัดตามหัวเมืองต่างๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจ ทั้งหมดนี้ก็คือการป้องกันการเคลื่อนย้ายของฝูงชน ทำให้ม๊อบอยู่ในกำกับ ม๊อบที่มีระเบียบแบบนี้เราเรียกกันว่าม๊อบหรือกลุ่มจำศีล โดยปกติศัพท์คำว่า "ม๊อบ" หมายถึงกลุ่มคนที่มารวมตัวกันอย่างหลวม ไร้ระเบียบ มีความวุ่นวาย และพร้อมที่จะกระทำการต่างๆ

๓. ปิดพื้นที่สื่อของฝ่ายตรงข้าม
คำถามก็คือ เว็บไซต์ไฮทักษิณ ยังสบายดีอยู่หรือ หรือว่าสื่อโทรทัศน์ที่เคยเป็นของทักษิณคือ ITV ซึ่งปัจจุบันคือ TITV เป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เป็นภาวะบ้านแตกรอบที่สอง นี่ก็เป็นการปิดล้อมในหลายๆ ด้านตามยุทธวิธีทางด้านการทหาร
๔. การปิดล้อมแนวร่วม ด้วยการพยายามปิดกั้น ตั้งด่านสกัด ตามจับตัวฝ่ายตรงข้าม ด้วยกลไกทางการเมือง การทหาร และการใช้กฎหมายมาควบคุม ยุทธการดาวกระจายของฝ่ายตรงข้าม อย่างที่เชียงราย ก็มีการจับตัวคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ แนวร่วม นปก.ไปไว้ในค่ายเม็งราย อย่างนี้เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นยุทธวิธีทางด้านการทหาร เพื่อที่จะสยบ กำกับ ควบคุม ปิดล้อม และทำลายฝ่ายตรงข้ามในที่สุด เช่นดังตัวอย่างที่เพิ่งมีการทำลายพรรคไทยรักไทยลงไปเมื่อไม่นานมานี้

มานพ คีรีภูวดล: อาจารย์ได้พูดถึงเรื่องของความขัดแย้ง เรื่องของการเสียผลประโยชน์ของกลุ่มธนกิจการเมืองด้วยกันเอง ระหว่าง ๒ ฝ่าย เมื่อฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ได้ก็เลยไปชักชวนยักษ์มาเป็นพวก ทีนี้เราจะควบคุมยักษ์อย่างไร

สมเกียรติ ตั้งนโม: คิดว่าเราจะต้องออกมาร่วมกันลงประชามติ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นกันชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ซึ่งเปรียบเสมือนผ้ายันต์ของยักษ์ที่ถือกระบอง เพื่อทำให้มันแคล้วคลาด และยังคงกระพันอยู่ได้ และเมื่อพิจารณาตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา ๓๐๙ ซึ่งเป็นมาตราสุดท้าย จะเห็นว่าได้มีการนิรโทษกรรมในสิ่งที่ได้กระทำมาทั้งหมด ยักษ์ที่ถือกระบองและกวัดแกว่งกระบองไปทั่ว รู้ว่าตัวเองทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ผิดหลักนิติธรรม ผิดหลักความชอบธรรมทุกชนิด จึงได้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีการนิรโทษกรรมตนเองในมาตรา ๓๐๙
(บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้)

การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เป็นการกำกับ เป็นการกำจัด เป็นการควบคุม และเป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นการกระทำที่เรียกกันตามศัพท์พระพุทธศาสนาโดยอนุโลมว่า "อนันตริยกรรมประชาชน" เป็นการกระทำ"อนันตริยกรรมประเทศ" ก็คือเป็นกรรมที่ใหญ่และรุนแรงที่สุดก็คือ "การประหารรัฐ" ซึ่งมีความผิดมหันต์ ถือว่ากบฎ ถ้าในสมัยโบราณก็คือต้องตัดหัวเจ็ดชั่วโครต ในกฎหมายใหม่คงไม่มีแบบนี้อีกแล้ว

การนิรโทษกรรมในมาตรา ๓๐๙ คือการหลุดพ้นจากการถูกตัดหัวเจ็ดชั่วโครตนั่นเอง ฉะนั้นจริงๆ ก็คือ ตัวเองก็รู้อยู่ แล้วพยายามที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนควรใช้วิจารณญาน ถามว่าเราจะต่อสู้ หรือควบคุมอย่างไรกับยักษ์ที่ถือกระบอง อันดับแรกก็คือ วันที่ ๑๙ สิงหาคม ให้เราไปที่คูหาการลงประชามติ แล้วกาช่องที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับยักษ์ที่ถือกระบองนี้

มานพ คีรีภูวดล: อาจารย์ได้อธิบายที่ทำให้ผมเข้าใจง่ายขึ้น คือพวกที่เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญเป็นพวกหรือกลุ่มของความขัดแย้ง และไม่มีความเหมาะสมที่จะปกครองคน ๖๐ กว่าล้านคน ที่สำคัญก็คือว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยา กลุ่มธนกิจการเมืองที่ขัดแย้งกัน กลุ่มหนึ่งก็ไปเอายักษ์ที่ถือกระบองมาเป็นพวก เพื่อที่จะจัดการกับอีกกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่กลุ่มธนกิจการเมืองซึ่งไปเอายักษ์มา ไม่สามารถที่จะควบคุมยักษ์ได้ และได้มีการออกมาตราการสกัด ๔ อย่างขึ้น ปิดล้อมทั้งเสบียง, ปิดล้อมพื้นที่, ปิดล้อมสื่อ, และปิดล้อมแนวร่วมต่างๆ เหล่านี้สะท้อนออกมาในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ พรบ.บางฉบับ กฎหมายต่างๆ ไปจนถึงองค์กรที่ตั้งขึ้น

สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตในที่นี้ก็คือ พรบ.เหล่านี้จะออกมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หมายความว่า พรบ. และกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ จะไปทำลายสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลายๆ มาตราที่เขียนขึ้นมาดี อย่างเช่นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ปรากฏว่า พรบ. และกฎหมายหลายฉบับที่เร่งออกในช่วงนี้ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่าทำให้ข้อดีในรัฐธรรมนูญไม่มีความหมายใช่ไหม

สมเกียรติ ตั้งนโม: ขอโทษ ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ จะให้สิทธิเสรีภาพใครเพิ่มเติม โดยเฉพาะในหมวดที่ ๓ ซึ่งโกหกมาโดยตลอด อย่างที่กล่าวไว้แล้ว แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่แจกไปถึงประชาชนทุกครัวเรือจะชี้แจงเรื่องนี้ไว้ในหน้า ๑๗๔ -๑๗๕ โดยมีข้อความที่ยกมา ๖ ข้อ เหล่านี้เราทั้งหลายได้ยินทางโทรทัศน์แล้ว และเป็นเรื่องปกติที่ใครก็ตาม ไม่ว่ากรรมการชุดไหนที่ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญหลังปี ๔๐ จะเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพน้อยกว่านี้ไปไม่ได้ มิฉะนั้นจะเป็นการถอยหลังเข้าครอง

ส่วนในหมวดที่ ๗ ว่าด้วยการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน นี่คือของจริงที่เรียกว่าเป็นการล็อคสิทธิเสรีภาพเลย ผมขออ่านให้ฟังดังนี้… "มาตรา ๑๖๓ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มิสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้, คำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย, หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวสอบรายชื่อ "ให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ"… ลองอ่านดูกันทั้งหมด ทั้งมาตรา ๑๖๔ และ ๑๖๕ ในหมวดนี้ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวยาวประมาณ ๒ หน้ากระดาษพิมพ์ และการล็อคก็มาโผล่ตรงจุดนี้

สิ่งที่จะทำให้เรื่องของสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นจริงเป็นจัง ไม่ใช่เรื่องการลดจำนวน ไม่ใช่เรื่องการลดปริมาณ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาเรื่องหนึ่งหมื่นหรือสองหมื่นรายชื่อ แทนที่จะเป็นห้าหมื่นเหมือนเดิมไม่ใช่ประเด็นปัญหา อันนี้ขอย้ำ, แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เมื่อเรื่องการถอดถอนนักการเมือง หรือการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าสภาแล้ว เรื่องมันไปอยู่ตรงไหน เรื่องมันถูกนำไปดองไว้ที่ใด หรือเรื่องมันเคยถูกบรรจุเข้าไว้ในวาระการประชุมหรือไม่ นี่ต่างหากคือประเด็นปัญหาที่สำคัญ ตัวอย่างเหล่านี้ก็เห็นกันมาแล้วนับจากรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ซึ่งประชาชนห้าหมื่นคนได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชน จนทักษิณล่มไปแล้ว กฎหมายฉบับนี้ก็ยังคงค้างอยู่

โดยเหตุนี้ การปรับใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเรื่องจำนวนหรือปริมาณ จึงเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด แก้ปัญหาโดยไม่เคยเข้าใจปัญหาเลย อย่างที่มีบางคนบอกว่าคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้อ่านประเทศไทยไม่ออก อ่านประเทศไทยไม่ทั่ว หากต้องการที่จะแก้ปัญหาให้ตรงจุด จะต้องระบุลงไปในรัฐธรรมนูญให้เป็นวาระเร่งด่วนโดยมีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ดังนั้นที่ผมกล่าวเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าเป็น"ยาพิษที่เคลือบน้ำตาล" ก็คือการโฆษณาชวนเชื่อว่าปวงชนชาวไทยมีสิทธิมากขึ้น ขอโทษ กระเป๋าของเรายังคงว่าเปล่าเหมือนเดิม คือไม่มีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาเลย

มานพ คีรีภูวดล: อันนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดว่า จริงๆ แล้ว ถ้าเราฟังจากมุมของนักวิชาการ จะเห็นว่ามันเป็นอย่างไร อาทิตย์ก่อนโน้น ผมได้เชิญ สสร. ท่านหนึ่งมาออกรายการ โดยมีการเปรียบเทียบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับรัฐธรรมนูญฉบับปี ๔๐ หลายประเด็นก้าวหน้า อย่างที่อาจารย์ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่ เมื่อก่อนอาจจะให้มีการร่วมกันลงชื่อห้าหมื่นรายชื่อ ปัจจุบันลดลงเหลือหนึ่งหมื่นรายชื่อ จริงๆ อาจารย์ใช้คำว่า"ยาพิษเคลือบน้ำตาล" มันไม่ได้ขยับอะไรเลย เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นวาระเร่งด่วน

มาถึงช่วงสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชามติ อาจารย์อยากจะเพิ่มเติมอะไรหรือคิดว่าประชาชนควรจะแสดงจุดยืนตรงนี้อย่างไร

สมเกียรติ ตั้งนโม: เรื่องของประชามติเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ว่าต้องเข้าใจโครงสร้างของประชามติก่อน โครงสร้างของประชามติมันมีหลักสำคัญอยู่สองสามประการ นั่นคือ อย่างแรกจะต้องมีพื้นที่ส่วนกลางที่คนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องราวต่างๆ ที่จะมีการทำประชามติได้มีโอกาสมาแสดงความคิดเห็นกัน, อย่างที่สอง หลังจากสนทนาแลกเปลี่ยนหรือให้ข้อมูลกันแล้ว จะเป็นขั้นตอนของการลงประชามติ, และอย่างที่สามก็คือ เสียงของประชามติจะต้องได้รับการปฏิบัติ ซึ่งเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ ในขณะที่เสียงส่วนน้อยต้องได้รับความเคารพ

ทีนี้เรามาดูสถานการณ์จริง เกี่ยวกับการจะมีการลงประชามติ"รับ"หรือ"ไม่รับ"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ จะเห็นว่าไม่มีพื้นที่ส่วนกลางเลย คนที่ออกไปรณรงค์เพื่อให้มีการไปลงประชามติ อย่างเช่น โครงการแม่ไก่ ๗ พันตัว, พวกต่อมาคือ สสร. ซึ่งควรหมดอายุหลังจากยกมือกันถึง ๙๘ มือรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้ว เพราะว่าคุณไม่ได้เป็นกลางแล้ว แต่ก็ยังไปรณรงค์เรื่องการทำประชามติโดยใช้เงินภาษีราษฎรซึ่งรวมถึงเงินของผมและของคุณมานพด้วย อันนี้ไม่มีความชอบธรรม, ต่อมาก็ กกต. ๒ คน ซึ่งมีตำแหน่ง สสร. ด้วย ก็กลับไปทำหน้าที่ผู้รักษากติกาการลงประชามติ ดูแลหีบบัตร โดยมารยาทเราพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างไร โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องหิริโอตัปปะ เราลองคิดกันดูว่าประชามติแบบนี้จะออกมาเป็นอย่างไร อันที่จริงทั้งหมดนี้ขัดต่อมาตรา ๑๖๕ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ ที่ สสร.ช่วยกันร่างขึ้นมาเอง ซึ่งระบุว่า

"ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจกรรมนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน"

คำถามคือว่า เราเคยได้เห็นพวกที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกโทรทัศน์ไหม มีเวทีที่ใดบ้างที่เปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้ แค่จะปิดโปสเตอร์ไม่เห็นด้วยก็ถูกฉีกแล้ว และต้องทำกันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ราวกับกำลังจะก่ออาชญากรรม อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้งบประมาณและภาษีของราษฎรอยู่ผ่ายเดียวในการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ด้วยเหตุนี้ การลงประชามติที่ไม่มีเวทีกลางในการฟังความเห็นทั้งสองฝ่าย ไม่มีความเท่าเทียมในทุกๆ ด้าน ทำให้เราไม่มีอะไรอยู่ในกระเป๋าเลย เว้นแต่ว่าเราจะไปลงประชามติครั้งนี้ เพื่อจะบอกว่าเราไม่เอา คมช. และสมุนบริวารของคณะรัฐประหารชุดนี้

มานพ คีรีภูวดล: ท่านผู้ฟังครับ อาจารย์สมเกียรติ ฟันธงชัดเลยครับเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจารย์ได้กล่าวถึงกระบวนการ เนื้อหา และรวมถึง พรบ.และกฎหมายต่างๆ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แล้วยังบอกต่อไปว่าในเนื้อหารัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ต้องสนใจอย่างมาก เพราะเมื่อดูแล้วเป็นเสมือนยาพิษเคลือบน้ำตาล ซึ่งแฝงอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายเป็นการพูดถึงเรื่องของการลงประชามติ ที่สำคัญก็คือว่าต้องเข้าใจโครงสร้างของการทำประชามติ กล่าวคือต้องมีพื้นที่กลาง และที่สำคัญต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย ทีนี้ถ้าหากว่าการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน คมช.สามารถที่จะหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปรับปรุงแล้วประกาศใช้ก็ได้ อันนี้เริ่มจะผิดหลักการประชามติหรือไม่ให้ช่วยพิจารณากันดู

วันนี้เราได้รับรู้อะไรหลายอย่างจากอาจารย์ ท่านผู้ฟังครับ วันนี้เวลาของเราได้หมดลงแล้ว ต้องขอขอบคุณท่านผู้ฟัง ขอบคุณ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และพบกันในครั้งต่อไป สวัสดีครับ

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com