โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 25 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๒๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 25, 04,.2007)
R

รายงานและข้อสรุปของเวทีประชาธิปไตยประชาชน ๓ เวที
รัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการ ผู้หญิง และเรื่องคนไร้สัญชาติ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
รายงานและข้อสรุปเวทีประชาธิปไตยนี้ ได้รับมาเป็นระยะๆ จาก จอน อึ้งภากรณ์

รายงาน ข้อสรุป ซึ่งเป็นข้อเสนอสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ ๑๙ นี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก จอน อึ้งภากรณ์
ซึ่งได้ทะยอยวส่งผ่านจดหมายอีเล็กทรอนิกมาให้เป็นระยะ หลังสิ้นสุดเวทีประชาธิปไตยประชาชนในแต่ละครั้ง
ส่วนใหญ่ของข้อเสนอ ตั้งต้นที่ตัวบทของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๔๐ ซึ่งยกขึ้นมาเป็นตัวตั้ง
และเสนอข้อควรปรับปรุงแก้ไข ซึ่งสำหรับในที่นี้ได้นำเสนอเวทีประชาธิปไตยประชาชน ๓ เวทีด้วยกันคือ
๑. เวทีประชาธิปไตยประชาชน : รัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการ
๒. เวทีประชาธิปไตยประชาชน : เวทีผู้หญิง

๓. เวทีประชาธิปไตยประชาชน
: สัญชาติกับการปฏิรูปการเมือง
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๒๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๑. เวทีประชาธิปไตยประชาชน: รัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการ
เวทีรัฐธรรมนูญประชาชน - ข้อสรุปของเวทีประชาธิปไตยประชาชน - ว่าด้วยรัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการ

การประชุมของเวทีประชาธิปไตยประชาชนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2550 ได้พิจารณาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในเรื่องรัฐสวัสดิการ: สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การเลี้ยงดูบุตร การประกันสังคม ฯลฯ และได้มีข้อสรุปดังนี้

ข้อสรุปในด้านสาระ
(1). รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองประชาชนทุกคนทุกส่วนโดยทั่วถึงและโดยเท่าเทียมกัน ในด้านคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้โดยให้หลักประกันแก่ประชาชนในเรื่องดังต่อไปนี้

- การมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม
- การได้รับบริการดูแลรักษาสุขภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- โอกาสการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมปลายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
(รวมทั้งไม่เสียค่าเดินทางไปเรียน ค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือ ค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน ค่าอาหารกลางวัน ค่าทัศนศึกษา ฯลฯ)

- โอกาสได้รับทุนการศึกษา(ไม่ใช่เงินกู้) เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อในระดับวิชาชีพหรืออุดมศึกษา
(อาจมีกำหนดว่าต้องใช้ทุนคืนโดยการทำงานรับใช้สังคมหรือชุมชนโดยตรง)

- การประกันรายได้หรือประกันการมีงานทำ
- บำนาญที่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุ (มีข้อเสนอให้รับบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี)
- การบรรเทาทุกข์อย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพในกรณีภัยพิบัติต่างๆ

(2). นอกจากนี้รัฐจะต้องจัดสวัสดิการทางสังคมอย่างทั่วถึงในเรื่อง

- การจัดสรรที่ดินทำกินสำหรับครอบครัวเกษตรกร
- ระบบขนส่งมวลชนและระบบสาธรณูปโภคที่มีคุณภาพและราคาถูก
- สวัสดิการช่วยเหลือผู้พิการหรือทุพพลภาพที่เน้นเรื่องโอกาสการศึกษา การมีงานทำ ความสะดวกในการเดินทาง
ความสะดวกในการใช้อาคาร และโอกาสเข้าถึงวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงหรือเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป

- สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรสำหรับครอบครัวที่มีผู้ปกครองเดียว
- สถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน
- สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- การสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลป วัฒนธรรม และการศึกษา
- สื่อสาธารณะเพื่อการรับข้อมูลข่าวสาร และการแสดงออกทางความคิดของประชาชนโดยอิสระ

(3). นอกจากนี้รัฐจะต้องจัดระบบเลี้ยงดูเด็ก เยาวชน ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งไม่มีผู้ดูแล ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

(4). เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับการคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรง

(5). รัฐต้องให้ท้องถิ่น ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการในรูปแบบกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยรัฐสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกับทุนที่ท้องถิ่น ชุมชน ระดมเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนได้ในแต่ละปี

(6). รัฐต้องกระจายอำนาจในการจัดบริการการศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาสังคมและชุมชน ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรชุมชน หรือองค์กรเอกชน ทั้งนี้ รัฐต้องควบคุมให้เป็นการจัดบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และประสิทธิภาพ โดยไม่หวังผลกำไร

(7). รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงาน ดำเนินการขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานเด็กและเยาวชน แรงงานหญิง แรงงานนอกระบบ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานตามฤดูกาล แรงงานย้ายถิ่น และจัดระบบแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม

(8). ระบบรัฐสวัสดิการจะต้องครอบคลุมประชาชนทุกส่วนที่อยุ่ในประเทศไทย รวมไปถึงผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย และผู้มาเยือนประเทศไทย เพื่อให้ประเด็นนี้มีความชัดเจนในหมวด 3 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ใช้ชื่อว่า "สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย" ควรต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "สิทธิของประชาชน"

(9). เพื่อที่จะสามารถจัดระบบรัฐสวัสดิการได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมทั้งเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม รัฐมีหน้าที่จะต้องเก็บภาษีจากประชาชนและจากธุรกิจเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเน้นเก็บภาษีจากรายได้และกำไรจากการลงทุนทุกชนิดในอัตราที่ก้าวหน้า รวมทั้งการเก็บภาษีมรดกและภาษีจากการถือครองที่ดินเกินความจำเป็นในด้านที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ

เหตุผลประกอบข้อเสนอ:
หน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐคือการดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกคนทุกส่วน ให้สามารถเข้าถึงปัจจัยจำเป็นแห่งการดำรงชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีระดับเศรษฐกิจค่อนข้างก้าวหน้า มีรายได้และทรัพยากรเพียงพอที่จะให้ประชาชนทุกคนสามารถมีพออยู่พอกิน แต่ที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีผลขยายช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน มากกว่าการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนโดยรวม

รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้บรรจุหลักการแห่งรัฐสวัสดิเพียงบางส่วน แต่ในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะสร้างระบบรัฐสวัสดิการเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกส่วนได้มากขึ้น เพราะได้มีการสร้างระบบหลักประกันถ้วนหน้าด้านสุขภาพ และขยายผู้อยู่ในระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมมากขึ้น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จึงเป็นโอกาสดี ที่จะให้กำหนดหลักประกันด้านความมั่นคงในคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน ในระดับที่มีความใกล้เคียงมากขึ้นกับบรรดาอารยประเทศ

ข้อเสนอด้านข้อความในร่างรัฐธรรมนูญ

"มาตรา… ประชาชนในประเทศไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน "
(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540)

เหตุผล : รัฐธรรมนูญต้องครอบคลุมคนทุกคนในประเทศไทย เนื่องจากนี่คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่รัฐธรรมนูญแห่งปวงชนชาวไทย

"มาตรา… รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีสภาพบังคับในตัวเอง ที่ประชาชนกล่าวอ้าง เพื่อให้รัฐดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"
(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540)

เหตุผล : รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายที่บังคับในตัวเอง ประชาชนกล่าวอ้างต่อรัฐได้ โดยไม่ต้องรอกฎหมายลูก เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญมักระบุข้างท้ายไว้ว่า "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ซึ่งทำให้สิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ยังไม่เกิดขึ้นได้จริงทันที แต่ต้องรอกฎหมายลูกก่อน

" หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของประชาชน"
" หมวด 4 หน้าที่ของประชาชน"

(แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 3 หมวด 4 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540)

เหตุผล : รัฐธรรมนูญต้องรับรอง สิทธิและเสรีภาพของทุกคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย อันเป็นการเคารพต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

"มาตรา… บุคคลต้องได้รับสิทธิเสมอกันในการรับสวัสดิการจากรัฐ ในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา การสาธารณสุข การเลี้ยงดูบุตรกรณีเป็นครอบครัวเดี่ยว การมีงานทำ การยังชีพอย่างมีคุณภาพของผู้พิการ/ทุพพลภาพและผู้มีอายุเกินห้าสิบห้าปี การจัดสรรที่ดินทำกิน การมีที่อยู่อาศัย ทั้งนี้รวมถึงการบรรเทาทุกข์อย่างเร่งด่วน ในกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติ

เด็ก เยาวชน ผู้พิการ และผู้สูงอายุซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูจากรัฐ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงการดำเนินการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี ความเชื่อ และศาสนา"

(วรรคแรกยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในหมวด "สิทธิและเสรีภาพของประชาชน" ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า "สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย" และวรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมข้อความที่มาจากมาตรา 53 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540)

บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
การทรมาณ ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ (แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้ - ข้อความในวงเล็บนี้ให้ตัดออก) [ข้อความในวงเล็บให้ตัดออก] เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับการคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรง

การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
(แก้ไขเพิ่มเติมและรวมข้อความจากมาตรา 31 และมาตรา 53 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540)

"หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ "
(แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย ปี 2540)
เหตุผล : รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติ หมวดว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" ควบคู่ไปกับบทบัญญัติทีว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อบ่งบอกว่ารัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อประชาชนและต่อรัฐเองอย่างไรบ้าง มิใช่บัญญัติว่าเป็นเพียงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเท่านั้น

"มาตรา… รัฐจะต้องให้หลักประกันแก่ประชาชนในด้านศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และคุณภาพแห่งชีวิต โดยทั่วถึงและเสมอภาคกัน หลักประกันดังกล่าวครอบคลุมถึง การมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับวิถีการดำรงชีวิต การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การเข้าถึงบริการสถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน โอกาสรับการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมปลายหรือสายวิชาชีพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โอกาสได้รับทุนเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาโดยผูกมัดกับการทำงานรับใช้ชุมชน การประกันการว่างงานหรือรายได้ขั้นต่ำ บำนาญที่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุ สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับ ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพที่เน้นโอกาสเข้าถึงวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงหรือเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป"

(ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในหมวด "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ")

"มาตรา… รัฐต้องคุ้มครองให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้ท้องถิ่น ชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณูปโภค ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในราคาที่เป็นธรรม"
(ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในหมวด "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ")

"มาตรา… รัฐต้องจัดให้มีขนส่งมวลชนเพื่อบริการประชาชนอย่างมีคุณภาพ และทั่วถึง"
(ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในหมวด "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ")

"มาตรา… รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรในวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานที่อยู่ในวิถีการผลิต ทุกประเภท โดยเฉพาะแรงงานเด็ก และแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม"
(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 86 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540)

"มาตรา… รัฐต้องกระจายอำนาจในการจัดบริการการศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม ชุมชน ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรชุมชน หรือองค์กรเอกชน ทั้งนี้ รัฐต้องควบคุมให้เป็นการจัดบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และประสิทธิภาพ โดยไม่หวังผลกำไร

บุคคลย่อมมีสิทธิจัดการศึกษา ตามวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรม โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับดูแลโดยรัฐ"
(ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในหมวด "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ")

"มาตรา… ในการดำเนินการสร้างสวัสดิการให้ประชาชน รัฐต้องให้ท้องถิ่น ชุมชน มีส่วนร่วมในสวัสดิการในรูปแบบกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยรัฐมีส่วนสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกับทุนที่ท้องถิ่น ชุมชน ระดมเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนได้ในแต่ละปี"
(ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในหมวด "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ")

"มาตรา… รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม โดยมาตรการทางภาษีรายได้บุคคลในอัตราก้าวหน้า"
(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540)

"มาตรา… เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้แก่รัฐ ในการให้หลักประกันแก่ประชาชนในด้านศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และคุณภาพแห่งชีวิต รัฐต้องใช้มาตรการ การเก็บภาษีรายได้บุคคล และจากรายได้ที่มาจากการดำเนินกิจการทุกชนิด รวมทั้งภาษีจากการจำหน่ายสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ภาษีการค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ภาษีมรดก และภาษีที่ดินที่มีการถือครองเกินความจำเป็นต่อการอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ ในอัตราก้าวหน้า อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วถึงและเป็นธรรม "
(ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในหมวด "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ")

"มาตรา… บทบัญญัติในหมวดนี้มีไว้เพื่อเป็นทิศทางสำหรับการตรากฎหมายและการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องจัดดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา… คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการใดเพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการรวมทั้งปัญหาอุปสรรค เสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง

หากประชาชนเห็นว่าคณะรัฐมนตรีไม่ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของรัฐ หรือดำเนินการล่าช้า หรือดำเนินการผิดไปจากทิศทาง ประชาชนสามารถเข้าชื่อจำนวนหนึ่งหมื่นชื่อยื่นต่อรัฐสภาให้มีการดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีได้"
(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 88 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540)

จอน อึ๊งภากรณ์ : ผู้ประสานงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน (12 กุมภาพันธ์ 2550)
สนใจหัวข้อเกี่ยวเนื่องกับเรื่องรัฐสวัสดิการ สามารถคลิกไปอ่านได้ที่...
ข้อเสนอรัฐสวัสดิการ - รัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนาน

๒. เวทีประชาธิปไตยประชาชน : เวทีผู้หญิง
เวทีประชาธิปไตยประชาชน : สรุปเวทีผู้หญิง

ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ คณะทำงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน ซึ่งเป็นเวทีปฏิรูปสังคมและการเมืองของภาคประชาชน ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็น การปฏิรูปเพื่อพัฒนาสถานภาพของผู้หญิง ประเด็นสำคัญๆ ของเวทีผู้หญิงสามารถจัดเป็นสองส่วนได้ดังนี้

1. ประเด็นที่ช่วยพัฒนาสถานภาพผู้หญิงแต่ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะผู้หญิง - เพราะเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น
ประเด็นเหล่านี้เราต้องร่วมกันรณรงค์ข้ามเครือข่าย

- รัฐสวัสดิการ ซึ่งลดภาระผู้หญิงในครอบครัว เพื่อเพิ่มบทบาทในสังคม ตัวอย่างที่มีการเอ่ยถึงในเวทีนี้เช่น การที่รัฐสวัสดิการจะเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของผู้หญิงคนจน หรือของผู้หญิงชนเผ่าต่างๆ และเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนอาชีพให้ผู้หญิงพิการ เพื่อให้เลี้ยงชีพตนเองได้ด้วยศักดิ์ศรี
- การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับคนชนบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่า ทะเล แร่ หรือที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ บุคคล และชุมชน และเกี่ยวกับรูปแบบกรรมสิทธิ์อีกด้วย

- การแก้ปัญหาสิทธิเสรีภาพและมนุษยธรรม เช่น เรื่อง สัญชาติ คนพิการ สิทธิการรวมตัวต่อสู้ของสหภาพแรงงาน และการแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคม เช่น กรณีสามจังหวัดภาคใต้ ทุกปัญหาเหล่านี้ ล้วนแต่มาจากการเลือกปฏิบัติต่อพี่น้องประชาชน และความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

- การเพิ่มอำนาจและสิทธิการมีส่วนร่วมของพลเมือง พร้อมกับลดอำนาจรวมศูนย์ของรัฐ จะมีผลทำให้คนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย แรงงาน หรือเกษตรกร มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น เพื่อกำหนดชีวิตตนเองตามความคิดประชาธิปไตย

2. ประเด็นเฉพาะของผู้หญิง
ในขณะที่มีหลายประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงที่เชื่อมกับประเด็นของภาคประชาชนทั่วไป ยังมีประเด็นเฉพาะของผู้หญิงดังนี้ เช่น

- การปกป้องและต่อยอด พัฒนา มาตราที่เน้นความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ เพื่อเป็นมาตรฐานทางสังคมในการห้ามการเลือกปฏิบัติ

- การรณรงค์เพื่อเปลี่ยนค่านิยมในประเด็นเพศ ซึ่งมีผลในการทำให้สตรีเป็นพลเมืองชั้นสอง มีการเสนอตัวอย่างที่ควรรณรงค์ เช่น

- ควรยกเลิกกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งส่งเสริมกรอบจารีตเรื่องครอบครัว ที่ทำให้ผู้หญิงถูกมองว่ามีบทบาทหลักในการรับผิดชอบงานครอบครัว และบทบาทรองในสังคมภายนอก นอกจากนี้กรอบคิดเรื่อง "ชายหญิง"ในครอบครัวทำให้คนรักเพศเดียวกันถูกกดขี่อีกด้วย

- ไม่ควรมีการรวบประเด็นผู้หญิงกับเรื่องเด็กและครอบครัว ในลักษณะที่ลดหรือละเลยสิทธิของผู้หญิง เพราะผู้หญิงเป็นผู้ใหญ่ที่ต่อสู้ได้ ส่วนเด็กเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลจากสังคม

- ควรยกเลิกการควบคุมศาสนาโดยรัฐ เพื่อให้ผู้หญิงเลือกที่จะนับถือศาสนาในรูปแบบหลากหลายรวมถึงสิทธิในการบวช

- ควรยกเลิก "หัวหน้าครอบครัว" ซึ่งที่ผ่านมามักหมายถึงผู้ชาย ต้องเปลี่ยนมาเน้นผู้ที่มีบทบาทจริงในการรับผิดชอบครอบครัว ไม่ว่าจะมีการจดทะเบียนสมรสหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นเพศใด ซึ่งจะช่วยปัญหาของผู้ปกครองเดี่ยว(Single Parents) ที่ต้องดูแลลูก

- ต้องมีการผลักดันสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย

- ที่สำคัญมากคือสิทธิของผู้หญิงที่จะเลือกทำแท้งหรือไม่ หรือเลือกคุมกำเนิดหรือไม่ โดยรัฐและศาสนาไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว แต่รัฐต้องอำนวยความสะดวกตามการตัดสินใจของสตรี

- สิทธิที่จะทำงานในสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งท้อง

- สิทธิที่จะปลอดภัยจากการทำร้ายภายในครอบครัว และในสังคมโดยรวม

- สิทธิของผู้หญิงที่จะรับการดูแลโดยสังคมในเรื่องโรคประจำตัวเฉพาะของผู้หญิง เพราะบ่อยครั้งโรคภัยไข้เจ็บของผู้หญิงมักถูกให้ความสำคัญน้อยเกินไป

- มาตรการพิเศษเพื่อเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิง (positive discrimination) เป็นมาตรการชั่วคราวที่ควรใช้เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิง เช่นการกำหนดสัดส่วนของผู้แทนที่ควรเป็นผู้หญิง หรือสัดส่วนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งในระดับต่างๆ เป็นต้น

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ควรจะกลายเป็นส่วนสำคัญของข้อเรียกร้องของภาคประชาชนทุกฝ่าย

ข้อเสนอจาก ใจ อึ๊งภากรณ์ สำหรับการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเนื่องมาจาก
ข้อเสนอในเวทีผู้หญิง : (แก้ไขจากรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐)

หมวดที่ 3: หัวข้อหมวดควรเปลี่ยนเป็น "สิทธิและเสรีภาพของประชาชน" (ไม่ใช่ชาวไทย)

- มาตรา 28 ตัดเรื่องศีลธรรมอันดีงามออก ควรเพิ่มประโยค "รัฐไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดว่าอะไรคือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ไม่ว่าจะผ่านหน่วยงานของรัฐหรือกลไกอื่นๆ"

- มาตรา 29 รัฐธรรมนูญต้องไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายลูก

- มาตรา 30 ควรแก้ "ชายหญิง"… เป็น "ทุกเพศต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน" เพิ่มประโยคในย่อหน้าที่สาม "การเลือกปฏิบัติดังกล่าวรวมไปถึงชีวิตการทำงานในทุกด้าน" ย่อหน้าที่สี่เพิ่ม "รัฐมีหน้าที่ใช้มาตรการชั่วคราวในการขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างประชาชน…"

- มาตรา 31 ควรเพิ่ม "บุคคลย่อมมีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจอย่างเสรีเรื่องการทำแท้งและการคุมกำเนิด โดยที่รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว"

- มาตรา 34
ควรระบุว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะอาศัยในครอบครัวหลากหลายรูปแบบอย่างเสรี โดยไม่พิจารณาเรื่องเพศหรือสภาพการจดทะเบียนสมรส ผู้ที่ทำหน้าที่หลักในการเลี้ยงดูบุตรในครอบครัวควรจะถือว่าเป็นผู้ที่สมควรจะได้รับสวัสดิการครอบครัวในรูปแบบต่างๆ จากรัฐ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศหรือสภาพการจดทะเบียนสมรส ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนผู้ปกครองเดี่ยวอย่างเต็มที่"

- มาตรา 38 ควรตัดประโยคเรื่องหน้าที่พลเมืองหรือความสงบเรียบร้อย/ศีลธรรมฯลฯ ควรเพิ่มคำว่า "รัฐไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดรูปแบบความเชื่อเรื่องศาสนาแต่อย่างใด และพลเมืองทุกเพศควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในการปฏิบัติศาสนา"

มาตรา 43, 52, 55 ฯลฯ หมวด 3 และ หมวด 5 ควรกล่าวถึงรัฐสวัสดิการผ่านการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า

ควรตัด มาตรา 87 ออกทั้งหมด :
รัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม…


๓. เวทีประชาธิปไตยประชาชน : สัญชาติกับการปฏิรูปการเมือง
บันทึกการประชุม เรื่อง สัญชาติกับการปฏิรูปการเมือง - เวทีเสวนาประชาธิปไตยประชาชนครั้งที่ ๑
(วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม)

ผู้เข้าร่วม : ตัวแทนกลุ่มเจ้าของปัญหา ได้แก่ ตัวแทนชาวเล, ชาวมอญ, ชาวกะเหรี่ยง, ชาวสิบสองปันนา,
ผู้ถือบัตรลาวอพยพ, และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น และนักกฎหมาย

เนื้อหาเวทีเสวนา
นายจอน อึ๊งภากรณ์ เปิดการเสวนา โดยให้ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ นำเสนอปัญหา และทางออกของปัญหา อันจะนำไปสู่ข้อเสนอที่ควรจะปรากฏในรัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลในอนาคต

๑. นายประสาน อุตสมัน ตัวแทนชาวเล จากเกาะลันตา
(เสริมข้อมูลโดย นางวรรดี จิตรนิรัตน์ เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา และ นายพลาเดช ณ ป้อมเพชร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ)

นายประสานกล่าวว่า เกาะลันตาเป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม มีชาวอุรักลาโว้ย ชาวมอร์แกน ดำรงวิถีชีวิตแบบชาวเล ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ปัญหาหลักๆ ที่ชนพื้นถิ่นบนเกาะลันตาต้องเผชิญ มี ๒ ประเด็นหลัก คือ ปัญหาเรื่องที่ดิน และปัญหาเรื่องสัญชาติ

ปัญหาเรื่องที่ดิน สืบเนื่องจากนโยบายที่เน้นการท่องเที่ยว นโยบายเรื่องโฉนดน้ำ และเรื่องเขตอุทยาน ที่ได้รุกรานวิถีความเป็นอยู่ของชนพื้นถิ่น โดยเฉพาะเมื่อเกิดสึนามิ ก็เกิดปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และการประกอบอาชีพ มีข้อเรียกร้องให้ชาวอุรักลาโว้ยย้ายออกไป แต่ชาวเกาะลันตาส่วนใหญ่ทำเป็นประมงชายฝั่ง. นางวรรดีกล่าวเสริมว่า เดิมพื้นที่ของชาวเลเป็นพื้นที่พระราชทาน แต่สุดท้ายก็ถูกเปลี่ยนมือจนชาวเลแทบจะไม่มีที่อยู่

ปัญหาเรื่องสัญชาติ เป็นปัญหาหลักของชาวเล คือ ชาวเลส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติที่ชัดเจน ว่าเป็นมาเลย์ เป็นพม่า หรือเป็นอะไร ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง.
นายพลาเดช ซึ่งทำวิจัยเกี่ยกกับชาวเลกล่าวว่า ปัจจุบัน ชาวเลในเมืองไทยมีประมาณหนึ่งหมื่นคน มีผู้ที่ยังไร้สถานะประมาณพันคน อาศัยอยู่ที่เกาะหลัก เกาะสุริทร์ เกาะภูเก็ต. ปัญหาจากการไม่ได้รับสัญชาติ และไม่มีบัตรประชาชน ทำให้กระทบต่อสิทธิด้านสาธารณสุข และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการเดินทาง เพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม

ข้อเสนอ คือ ให้รฐธรรมนูญใหม่สร้างพื้นที่ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของชนชาวเล ให้ชาวเลมีพื้นที่ของตนเอง

๒. นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายที่ทำงานเรื่องสัญชาติ
นายสุรพงษ์ เปิดประเด็นโดยอธิบายว่า "สิทธิ" มี ๒ แบบ

๑. "สิทธิมนุษยชน" หรือสิทธิของคน เช่น สิทธิการศึกษา, สิทธิพยาบาล, และ
๒. "สิทธิพลเมือง" คือ ต้องเป็นคนที่มีสัญชาติของชาตินั้นเท่านั้น

เขากล่าวถึงสาเหตุที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเล่าถึงกระบวนการเมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ว่า แต่ละมาตรา ถูกร่างขึ้นโดยเลือกใช้คำว่า "บุคคล" เพื่อให้ทุกคนที่สิทธิเท่าเทียมกัน แต่ก็ถูกลูกเล่นเชิงเทคนิค โดยการเพิ่มเติมคำขึ้นในชื่อของหมวดที่ ๔ ในภายหลัง ที่เลือกใช้คำว่า "หน้าที่ของ 'ชนชาวไทย' " ซึ่งเป็นเทคนิคของคนเพียงไม่กี่คน

เมื่อดูรายละเอียด ในมาตรา ๖๗ ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่ง บุคคล ในนี้หมายถึง คนทุกคน เพราะหากไม่ทำตามกฎหมายจะถือว่าเป็นความผิด แต่ในมาตราที่ว่าด้วยสิทธิในการเลือกตั้ง กลับจำกัดความเฉพาะ "ปวงชนชาวไทย"เท่านั้น

ที่น่าห่วงคือมีการตีความของกฤษฎีกา เนื่องจาก สปสช. ใช้มาตราที่ระบุว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการรักษา แต่ถึงเวลาใช้จริง ไม่ได้สิทธิเท่ากันทุกคน โดยกฤษฎีกาซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญตีความว่า ผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๔ ต้องเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น เพราะมาตราดังกล่าวอยู่ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิของ "ปวงชนชาวไทย"

และเมื่อกลับมาดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราว ได้พูดถึงหน้าที่และสิทธิการคุ้มครองไว้ว่า สิทธิที่เคยได้รับ ยังคงได้รับต่อไป แต่ในมาตรา ๓ ระบุว่า "บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครอง" อันนี้ยิ่งชัดกว่าเดิม คือใส่ในมาตราเลย ไม่ใช่ใส่ในหัวข้อ ซึ่งคนที่ร่าง น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน ตั้งแต่ฉบับ ๔๐. หากทัศนคติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังให้เฉพาะ "ชนชาวไทย" ต่อไปคงต้องทำงานกันหนักพอสมควร และหากเราเสนอโดยไม่ระวังจะเป็นแบบนี้อีก

นอกจากนี้ บุคคลที่ถูกทำให้ต้องถือบัตรสี กฎหมายจะสันนิษฐานว่าเป็นคนต่างด้าว ทั้งที่เกิดในประเทศไทย หรือประเทศแถบนี้ ทว่าแต่ไม่มีชาติไหนรองรับ เขาอาจจะอยากได้สัญชาติไทย. รัฐไทยไม่สามารถให้สัญชาติอื่นนอกจากไทยได้ ดังนั้น หากมีเอกสารของรัฐที่ระบุว่า ใครคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติพม่า หรือเขมร เป็นเอกสารที่ผิด เพราะรัฐไทยไม่มีสิทธิ์

๓. น.ส.อัมพร คำวันดี ผู้ถือบัตรลาวอพยพ อ. เชียงของ จ. เชียงราย
อำเภอเชียงของมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ถูกเรียกรวมเป็นลาวอพยพ
ปัญหาขั้นพื้นฐาน คือปัญหาเรื่องสัญชาติ ซึ่งปัจจุบันมี ๔๔๗ คน ในอำเภอเชียงของ เป็นลาวอพยพที่ไม่ได้สัญชาติ ถือบัตรฟ้าขอบน้ำเงิน ระบุว่าเป็นลาวอพยพ ทั้งที่เป็นชาวลาวดั้งเดิมที่ตามญาติเข้ามาและอยู่ในไทยมา ๓ - ๔ ชั่วคนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับสัญชาติ บางคนไม่มีบัตรเลยก็มี. เมื่อปี ๒๕๓๔ ตอนที่กองทัพภาคที่ ๒ ไปสำรวจก็มีหลายคนที่ตกสำรวจเพราะบางคนไปทำงานข้างนอกกลับมาไม่ทัน

ทั้งนี้ ปัญหาจากเรื่องสัญชาติ ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการเดินทาง สิทธิการรักษาพยาบาล และสิทธิในการประกอบอาชีพ. อัมพรกล่าวว่า คนเชียงของมีอาชีพหลักคือการทำไร่ข้าวโพด แต่การทำไร่ข้าวโพดก็ต้องเช่าที่ และต่อไปเชียงของจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ลาวอพยพซึ่งมีอาชีพหลักที่การทำไร่ เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ก็จะรับแต่คนที่มีบัตร นอกจากนี้ การไม่มีสัญชาติ ยังทำให้เมื่อเกิดอุทกภัย ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ข้อเสนอ

- ตั้งคณะกรรมการหรือมีคำสั่งให้ดำเนินการตามช่องทางกฎหมาย เช่น ๗ ทวิ ระเบียบฯปี ๒๕๔๓ ปว.๓๓๗ เพื่อให้มีผลในการปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างแท้จริง (ผู้ถือบัตรลาวอพยพ)

- ระหว่างการดำเนินการจะต้องได้รับการบริการสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม
- รัฐควรระงับการจับกุมระหว่างการรอพิสูจน์สถานะ
- ยกเว้นมติ ครม. ๙ มีนาคม ๒๕๑๘ (ไทยพลัดถิ่น)
- แต่งตั้งคณะกรรมการร่วม (ไทยพลัดถิ่น)
- ให้ระงับการจับกุมคนไทย (ไทยพลัดถิ่น)

๔. นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ชาวมอญ อ.สังขละบุรี
ที่ อ.สังขละ มีบัตร ๔ ประเภท คือ บัตรสีฟ้า, เขียว, แดง, และส้ม. โดยบัตรสีฟ้า, เขียว, และแดง, จะมีอภิสิทธิ์มากที่สุด คือสามารถยื่นขอสัญชาติได้ ยื่นขอออกนอกพื้นที่ได้

ส่วน"บัตรสีส้ม" ระบุว่าเป็น "ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า" ทั้งที่เดิมเคยใช้คำว่า ผู้อพยพเข้าเมืองจากพม่า ไม่ได้สิทธิอะไร, ไม่มีสิทธิขอออกนอกพื้นที่, ไม่มีสิทธิเรื่องการศึกษา. สิ่งที่ผู้ถือบัตรสีส้มต้องการคือ อยากมีสิทธิยื่นขอสัญชาติได้ เพื่อเวลาเรียนหนังสือจะได้มีสิทธิในการกู้ยืม

นอกจากนี้ เมื่อมีการสำรวจใหม่ กลับยิ่งทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ถอยหลังกลับ ชาวบ้านไม่รู้ว่าต้องทำอะไร พ่อแม่กลัวว่าลูกจะยังไม่มีชื่อ ก็รีบไปขึ้นทะเบียน แล้วก็ได้บัตร ทร. ๓๘ / ๑ กลายเป็นแรงงานต่างด้าวไป. บางคนมีบัตรประจำตัว แต่ฐานข้อมูลโดนลบหรือโดนจำหน่ายไป ปลัดอำเภอก็ไม่กล้าแก้ไขให้

ทั้งนี้ สิทธิที่อยากได้รับ คือสิทธิในการรักษาพยาบาล เมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ที่ให้เฉพาะคนไทย ก็โดนยึดบัตรทอง การรักษาพยาบาลก็ลำบาก ทางโรงพยาบาลพยายามแก้ปัญหา คือรับรักษาให้ แต่ก็ทำให้งบประมาณของโรงพยาบาลต้องเป็นหนี้ ชาวบ้านก็อยากได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล ตามสิทธิพื้นฐานที่คนทุกคนควรจะได้รับ

เด็กที่เกิดในประเทศไทย ก็อยากให้มีขั้นตอนที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอการยื่นขอ เช่น ไปยื่นขอสัญชาติตามมาตรา ๗ ทวิ พอมารู้อีกทีก็พบว่าโดนทิ้งเรื่องเอาไว้ อยากให้มีวิธีการที่เร็วกว่านี้ บางทีเด็กที่กำลังเรียนก็อยากจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น พอเรียนจบแล้วไปสมัครงาน ใช้บัตรสีคนเขาก็ไม่ค่อยรับ

๕. นายพลศักดิ์ บัวจันทร์เรือง ชาวกะเหรี่ยงจากสังขละบุรี กาญจนบุรี
เมื่อปี ๒๕๓๑ มีการสำรวจ โดยหลังจากนั้นมีการทำบัตรสีฟ้า เมื่อปี ๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ แต่ก็ยังทำไม่หมด เพราะบางคนอยู่ในเมือง หรือบางคนเจ็บป่วยไม่สามารถกลับมาทำได้. การขอสัญชาติ บางครั้งก็ง่ายตามอำนาจนายอำเภอตามระเบียบปี ๒๕๔๓ แต่อย่างไรก็ดี การขอสัญชาติยังคงมีอุปสรรคมากมาย เขาจะบอกว่าติดที่ระบบ

ข้อเสนอ

- ยกเลิกการเจาะเลือดตรวจเอดส์เวลาออกนอกพื้นที่ แถมยังต้องเสียเงิน ๖๐๐ บาทต่อคน และบัตรแต่ละสี ก็ถูกจำกัดโอกาสเดินทางออกนอกพื้นที่ระยะเวลาต่างกัน

- ยกเลิกการรายงานตัวของผู้ที่ถือบัตรสี ที่คนเข้ามาหลังปี ๒๕๓๘ ต้องรายงานตัว อาจจะ ๓ เดือนครั้งหนึ่ง หรือเเดือนละครั้ง)

- เมื่อชาวบ้านรายงานตัว มีผู้นำท้องถิ่นได้รับประโยชน์ การรายงานตัวทุกครั้งต้องมีใต้โต๊ะ เช่น ไปรายงานตัวไม่ทันกำหนดการ ก็จะต้องจ่ายใต้โต๊ะ

- ผู้ถือบัตรสี อยู่ในประเทศไทย ๑๐ ปีขึ้นไป ควรได้รับสถานะ ผู้ที่เกิดในประเทศไทย ควรได้สัญชาติไทย ถ้าไม่ได้เกิดในประเทศไทย ได้ต่างด้าวถูกกฎหมาย

- การขอสัญชาติตามาตรา ๗ ทวิ ควรยกเลิก. ยกเลิกอำนาจรัฐมนตรี มาเป็นอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะการจะให้ชาวบ้านทั่วไปเดินเข้าไปหารัฐมนตรีนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นผู้ว่าฯ ยังพอเป็นไปได้

- ยกเลิกคดีตัดไม้ทำลายป่าและหลบหนีเข้าเมือง มีบุคคลที่เจอคดีเหล่านี้เยอะมาก เพราะทำอาชีพไร่หมุนเวียน นอกจากนี้ คดีหลบหนีเข้าเมือง ทำให้ไม่สามารถขอสถานะได้

- ผู้ถือบัตรสี ทุกๆ สี ควรได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน เช่น ในแง่การจ้างงาน บัตรสีส้ม ไปไหนไม่ได้เลย

๖. นายสุทิน กิ่งแก้ว คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทย
คนไทยพลัดถิ่น เจอปัญหาไม่เหมือนกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากไทยพลัดถิ่นคือคนที่อพยพจากเขตตะนาวศรี ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกตัดไปเมื่อปี ๒๔๑๑ ปัจจุบันมาอยู่แถวประจวบคีรีขันธ์ บางสะพาน บางสะแก ท่าแซะ ระนอง ฯลฯ ด้านคนพม่าก็ไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นพม่า คนไทยก็ไม่ยอมรับว่าเป็นคนไทย

ข้อเสนอ

- ให้มีคนไทยพลัดถิ่น เป็นกรรมการพิสูจน์สัญชาติ
- ระงับการจับกุมคนที่ยังไม่มีบัตร
- ให้ยอมรับบัตรที่ในกลุ่มได้สำรวจกันเอง
- ออกกฎหมาย นโยบายที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต
- ขอคืนสัญชาติ ซึ่งต่างกับมติ ม.ค. ๔๘ ที่กำหนดให้แปลงสัญชาติ

๗. นายน้อย ไม่มีนามสกุล ชาวสิบสองปันนา ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ฉะเชิงเทรา
เขา เล่าว่า มาจากสิบสองปันนา อยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2526 เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ก็มากรุงเทพฯ ต่อมา 2536 ได้แต่งงานกับภรรยาซึ่งเป็นคนไทย จึงย้ายไปอยู่ที่ฉะเชิงเทราด้วยกัน มีลูก 2 คน และเมื่อปี 2547 ถูกจับข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติช่วยประกันตัวให้ แต่ต้องมารายงานตัวที่กรุงเทพฯ ทุกเดือน

๘. นายไวยิ่ง ทองบือ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จากเชียงใหม่
เขากล่าวถึงปัญหาว่า มีความไม่เข้าใจเกิดขึ้นกับกลุ่มที่เชื้อชาติและวัฒนธรรมต่างกัน ชาวกะเหรี่ยงถูกมองว่า ผู้ชายกะเหรี่ยงขี้เกียจ ใช้ผู้หญิงทำงาน, เช่นเดียวกับที่ชาวเลถูกพูดถึงว่า หญิงชาวเลขี้เกียจ. ทัศนคติเช่นนี้ สะท้อนความไม่เท่าเทียมทั้งสิทธิและศักดิ์ศรี ไม่ให้เกียรติกัน

เขายังรู้สึกว่า เวลาที่ต้องกรอกเอกสาร ในช่องเชื้อชาติ ทำไมถึงไม่มีการให้กรอกได้ว่า เชื้อชาติกะเหรี่ยง มอญ ลาว แม้ว ฯลฯ "มันเหมือนว่าวันหนึ่งผมต้องไม่มีเชื้อกะเหรี่ยง ทั้งที่ผมเป็นกะเหรี่ยง หรือเวลามาจากเชียงใหม่ ก็ถูกถามว่า คุณเป็นแม้วหรือเปล่า หมายถึง เป็นพวกทักษิณหรือเปล่า อันนี้มันมีนัยยะ"

"ถ้าชุมชนหรือเผ่าพันธุ์ไหน พร้อมที่จะกลับมาพูดภาษาของเขา เขาต้องมีสิทธิ ไม่ใช่ถูกหาว่าเป็นกบฏ"

ข้อเสนอ

- ควรสำรวจประชากรกลุ่มน้อยในประเทศไทยทั้งหมด สำรวจการเกิด การตาย การอพยพ ให้ทราบจำนวนที่แน่นอน. ที่ผ่านมา ตัวเลขของกรมการปกครอง กับตัวเลขอำเภอ ยังต่างกัน เช่นที่ อ. แม่ฟ้าหลวง มีคนที่ไม่มีสัญชาติมีมากกว่าคนที่มีสัญชาติ แต่ตัวเลขที่กรมการปกครองกลับมีตัวเลขคนไม่มีสัญชาติเพียงแค่ไม่กี่คน

- กำหนดรูปแบบเกี่ยวกับการพิสูจน์บุคคล การจำทำบัตรประชาชน ให้กับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในประเทศไทย เพื่อให้เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกันทุกจังหวัด

- ควรกำหนดนโยบายและแก้ไขการยอมรับสถานะบุคคล ของชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในแต่ละจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน

- สำรวจประชากรชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันการออกบัตรซ้ำ เช่นที่แม่แตง

๙. สกาว เรืองงาม นักวิจัยสถาบันชาติพันธุ์ศึกษา ราชภัฏเชียงราย
สกาว กล่าวว่า พี่น้องบ้านบางใหม่และบ้านห้วยวาด ประสบปัญหาเรื่องสัญชาติ โดยพี่น้องบ้านบางใหม่ที่ลงมาจากอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ส่วนหนึ่งได้รับสัญชาติแล้ว แต่ยังมีตกหล่นไม่ได้รับการสำรวจ เมื่อไปที่อำเภออื่น เจ้าหน้าที่ก็ให้กลับไปที่ต้นสังกัด แต่ก็ไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ เรียกว่า ให้แนวทางแต่ไม่ให้โอกาส

ส่วนที่บ้านห้วยวาด ชาวบ้านที่เดิมอยู่ดอยแม่เม่า ถูกบอกให้อพยพปลายปี ๔๖ เนื่องจากมีการทำสงครามยาเสพติด โดยอำเภอบอกว่า หากลงมาจะให้สัญชาติ ให้อพยพเพราะเป็นพื้นที่ทางผ่านของยาเสพติด แต่ไม่มีการเตรียมการรองรับคน ๘๕ ครัวเรือนเลย ไม่มีน้ำกินหรือใช้ ต้องกินน้ำที่ไหลมาจากหลายหมู่บ้าน ซึ่งทั้งขุ่นและมีสีเหลืองเนื่องจากทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี. ไปขอสัญชาติ อำเภอก็ไม่ดำเนินการให้อ้างแต่ว่า ถ้ามีใครแม้แต่คนเดียวเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะไม่ดำเนินการให้ ทำมาหากินก็ลำบาก เพราะไม่มีการส่งเสริมการประกอบอาชีพ

ข้อเสนอ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอว่า ให้แก้หมวดเรื่องสัญชาติว่า ใครเกิดในไทยควรได้รับสัญชาติ และคนที่อยู่ในไทยมากว่า ๑๐ ปี ควรได้สัญชาติไทย ทั้งนี้เห็นว่าขั้นตอนการขอสัญชาติ เกิดปัญหาเนื่องจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ มีการเรียกเงิน ทั้งยังมีการปฏิบัติที่ต่างกันต่อสีบัตรที่ต่างกัน จึงเห็นว่า บัตรใดๆ ก็ควรจะมีสิทธิที่เท่าเทียม แม้จะไม่มีสัญชาติ เช่น สิทธิในการเรียนหนังสือ, สิทธิในการได้ปริญญา, สิทธิในการทำใบขับขี่, และสิทธิทางวัฒนธรรมของตัวเองที่ต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากับกลุ่มอื่นๆ

๑๐. นางเพ็ญวดี แสงจันทร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป
เรื่องคนที่เกิดในประเทศไทยควรได้รับรองสถานะบุคคล ปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่บางอย่างไม่สามารถระบุในรฐธรรมนูญได้ทั้งหมด แต่ต้องระบุในกฎหมายลูก ซึ่งก็พบว่า ปัญหาเวลานี้อยู่ที่กฎหมายลูก. เรื่องการรับรองสถานะบุคคล ควรเขียนในรัฐธรรมนูญ แต่รายละเอียดต้องระบุในกฎหมายลูก ซึ่งก็ต้องให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามให้ถูก

จากประสบการณ์พบว่า ปัญหามาจากทั้งสองทาง ทั้งราชการ และเจ้าของปัญหา ต่างฝ่ายต่างทำไม่ถูก จนเกิดอคติต่อกัน ทั้งนี้คิดว่าสิ่งที่จะเขียนในรัฐธรรมนูญได้ น่าจะเป็นเรื่องการรับรองสถานะการเกิด ว่าหากเกิดในประเทศไทย ต้องได้รับรองสถานะบุคคล โดยสถานะบุคคลในประเทศไทย ต้องได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน กินอยู่ หลับนอน เจ็บตาย

หากบุคคลนั้นควรจะได้รับสัญชาติไทย ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ จนให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย และคนที่รู้อยู่แล้วว่าเดิมทีไม่มีสัญชาติไทย และต้องการขอสัญชาติไทย สามารถทำได้เมื่อเขาผ่านหลักเกณฑ์

หลังจบการนำเสนอของกลุ่มปัญหา มีการอภิปรายกันจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งสามารถประมวลปัญหาเพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้

- ยังมีช่องว่างของกฎหมาย เช่น การรับรองสถานะของบุตรของคนต่างด้าวและคนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย

- ควรยกเลิก มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ที่ทำให้เด็กมีความผิดทางอาญา ที่อ้างถึง "ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นคนต่างด้าว เป็นคนหลบหนีเข้าเมือง" ซึ่งทำให้เด็กที่เกิดหลังจาก ๒ กมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เป็นบุคคลต่างด้าว เหมือนพ่อแม่

- ระเบียบเรื่องขอสัญชาติไทย มีเกณฑ์ที่ไม่สมควรกับกลุ่มคนที่จะขอ เช่นการขอสัญชาติตามสามี กำหนดให้ต้องมีรายได้เกินสามหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งบางกลุ่มเป็นชาวเขา ไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมายกำหนด

- ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์นั้น มีแนวคิดของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตามมติ ครม.เมื่อ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ มีหลักการว่า ให้ก่อน(บัตรสี)โดยไม่ต้องขอ เพราะขอแล้ววุ่นวาย แต่ยังไม่มีการปฏิบัติ นอกจากนี้หลักการดังกล่าว ยังยอมให้ถอนภายหลังได้ หากบุคคลนั้นกระทำความผิด

สรุปข้อเสนอจากที่ประชุม

- คนที่จะขอสัญชาติไทยนั้น มาตรา ๗ ทวิ ที่ใช้อยู่ตอนนี้ ไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนตายตัว ควรจะกำหนดให้ชัดว่า กระบวนการจะเสร็จสิ้นภายในกี่เดือน

- ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกา
- คำและภาษาที่ใช้ในกฎหมาย ต้องไม่นิยามแคบจนคุ้มครองสิทธิได้ไม่ทั่วถึงบุคคลทุกคน
- คนที่ไม่มีสัญชาติควรได้รับการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

- ในรัฐธรรมนูญควรระบุแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และควรเติมเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมให้ชัดเจน อยู่ในเรื่องสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต้องไม่ใช่รัฐธรรมนูญแห่งปวงชนชาวไทย ฉะนั้น กฎหมายต้องมีผลบังคับใช้ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย
- ผู้ใช้แรงงานที่อพยพมาจากพม่า คนซึ่งโยกย้ายถิ่นฐานจริง ควรจะมี "สิทธิ" ในการยื่นขอสัญชาติ
- ผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาจได้รับสิทธิอยู่ถาวร และถัดมาก็ได้รับสิทธิในสัญชาติ

- สถานะบุคคลในประเทศไทย ต้องได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน กินอยู่ หลับนอน เจ็บตาย
- บุคคลทุกคนต้องได้รับสถานะบุคคล สัญชาติ และได้รับการจดทะเบียนรับรองการเกิด
- บุคคลทุกคนต้องได้รับการดูแลสิทธิพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน

- บุคคลทุกคนต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติทางสัญชาติ เชื้อชาติ วัฒนธรรม
- ทุกคนมีสิทธิทางวัฒนธรรมของตนเอง

นายจอน อึ๊งภากรณ์ สรุปประเด็นปัญหาและข้อเสนอเรื่องสัญชาติว่า

- คนทุกคนต้องได้รับสิทธิโดยเท่าเทียมกัน แม้จะไม่มีสัญชาติ เป็นสิทธิในแง่การใช้ชีวิต เช่น สิทธิในการเรียนหนังสือ สิทธิในการได้ปริญญา สิทธิในการทำใบขับขี่ และสิทธิทางวัฒนธรรมของตน ที่ต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากับกลุ่มอื่นๆ

- ต้องมีการตรวจสอบสิทธิในเรื่องสัญชาติ และทุกคนต้องได้รับสิทธิในการตรวจสอบเท่าเทียมกัน
- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาได้ ไม่ต้องรอถึงรัฐมนตรี

- บุคคลต้องได้รับสิทธิในการได้รับสัญชาติไทย เช่น เด็กที่เกิดในประเทศไทย คนที่ตั้งถิ่นฐานเกิน ๑๐ ปี โดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่างบัตรสีต่างๆ ทั้ง ๑๗ ชนิด

- ขั้นตอนการขอสัญชาติ ต้องแก้ปัญหาจากการปฏิบัติที่ต่างกันต่อสีบัตรที่ต่างกัน แก้ปัญหาการเรียกเงินจากเจ้าหน้าที่ ต้องมีการสำรวจและจดทะเบียน

- ใครเกิดในประเทศไทย ต้องได้รับการบันทึกการเกิด ใครเกิดในประเทศไทยต้องมีสิทธิขอสัญชาติไทย ใครที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมาระยะหนึ่ง (สิบปี) ก็น่าจะได้สัญชาติไทย

สรุปข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญ

- บุคคลต้องได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สัญชาติ"
- บุคคลที่เกิดในประเทศไทยต้องได้รับการจดทะเบียนเกิด และรับสัญชาติ
- บุคคลย่อมมีสิทธิทางวัฒนธรรมของตนเอง
- กฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีผลบังคับใช้ทุกตารางนิ้วของแผ่นดินไทย ไม่ใช่บังคับเฉพาะคนไทย ดังนั้นต้องไม่มีคำว่า "ปวงชนชาวไทย" ในรัฐธรรมนูญ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สนใจหัวข้อเกี่ยวเนื่องกับเรื่องรัฐสวัสดิการ คลิกไปอ่านได้ที่...
ข้อเสนอรัฐสวัสดิการ - รัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนาน

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

รายงานการวิจัยของ TDRI สรุปอย่างรวบรัดว่าความตกลง JTEPA ใช้ข้อความว่าประเทศภาคีจะพยายาม ให้ความคุ้มครองมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยี ซึ่งข้อความดังกล่าวมีผลผูกพันน้อย ผู้เขียนเห็นต่างในประเด็นนี้ การทำความตกลงระหว่างประเทศไม่ใช่การเล่นขายขนมครก ที่คู่เจรจาจะสามารถทำความตกลงโดยไม่คำนึงว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ ความตกลง JTEPA เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย การใช้ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ประเทศภาคีมีระยะเวลาพอสมควรในการออกกฎหมายภายในเท่านั้น
25-04-2550

Drafting Constitution
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.