โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 19 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๙๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (March, 19,03.2007)
R

ทางเลือก การกระทำ และเสรีภาพในการตัดสินใจ
Slavoj Zizek: C'est mon Choix - มันคือทางเลือกของฉันที่จะเผารถ
อธิป จิตตฤกษ์ : แปลและเรียบเรียงเชิงอรรถ
นักวิชาการ และ นักแปลอิสระ

บทความชิ้นนี้กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้แปล
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอธิบายในเชิงปรัชญในเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นที่ปารีส
กลุ่มวัยรุ่นที่หลากหลายได้ทำการเผารถยนต์ไปเป็นจำนวนมากเมื่อไม่นานมานี้
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พาดพิงถึงคำอรรถาธิบายในเชิงปรัชญาเรื่อง ทางเลือก การกระทำ เสรีภาพในการตัดสินใจ
กระบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่อาจหยั่งถึงผลที่ตามมา และอื่นๆ
ในส่วนของเชิงอรรถที่ผู้แปลได้เสริมนั้น ก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการวิภาษวิธี,
ความจริงในระดับ The Real กับ Reality และอื่นๆ
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๙๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Slavoj Zizek: C'est mon Choix - มันคือทางเลือกของฉันที่จะเผารถ
C'est mon choix… to Burn Cars (1)
โดย Slavoj Zizek
แปล, เรียบเรียง และ เขียนเชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติม (2) โดย อธิป จิตตฤกษ์

คำสำคัญในบทความชิ้นนี้: hermeneutic temptation, utmost meaninglessness, second modernity, Subject, psychological individual, $ หรือ barred subject, passage a l'acte, Symbolic Order, Symbolic Universe, C'est mon choix, Reflexive Sociology, Dialectic, Thesis, Anti-Thesis,Vanishing Mediator เป็นต้น

ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในปารีสนั้นเป็นประจักษ์พยานให้กับ "กำแพง "(3) อย่างเดียวกันนี้ที่อยู่ในยุโรปเอง เมื่อเราเผชิญหน้ากับรายงานอันน่าตื่นตระหนก และภาพของรถที่ถูกเผาไหม้ที่ชานเมืองปารีสแล้ว สิ่งแรกที่เรานั้นจะต้องต่อต้านก็คือ "แรงดึงดูดในการตีความ" (hermeneutic temptation) ซึ่งก็คือ การพยายามค้นหาความหมายที่ลึกลงไป หรือ สารลับบางอย่างที่ถูกแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังความรุนแรงเหล่านี้ สิ่งที่ยากเย็นที่สุดที่เราจะยอมรับได้ก็คือ การไร้ความหมายอย่างถึงที่สุด (utmost meaninglessness) ของเหตุการณ์ครั้งนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นมากกว่ารูปแบบของการต่อต้าน (a form of protest) มันเป็น passage a l'acte (4) ที่ไม่เพียงแต่เป็นประจักษ์พยานให้เห็น ความไร้สมรรถภาพ (impotence) ของผู้กระทำการเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นแล้วมันยังเป็นประจักษ์พยานของการขาดสิ่งที่ เฟรดริค เจมส์สัน (Fredric Jameson) เรียกว่า "การสร้างแผนที่ทางความคิด" (cognitive mapping) ซึ่งก็คือความสามารถในการระบุถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถานการณ์ที่พวกเขาประสบ ลงไปในสิ่งทั้งหมดอันมีความหมาย (meaningful Whole) ตรงนี้คำถามที่แท้จริงก็คือ อะไรเป็นรากฐานของการไม่สามารถระบุตำแหน่งแห่งที่ได้ที่เกิดขึ้นนี้?

พวกนักทฤษฎีสังคมนั้น ชอบเหลือเกินที่จะกล่าวว่าสังคมในทุกวันนี้ได้ "สะท้อน" (reflexive) (5) ไปหมดแล้วในทุกๆ ส่วน มันไม่มี "ธรรมชาติ" (Nature) หรือ "จารีต" (Tradition) ใดๆ ที่จะสามารถเป็นรากฐานที่มั่นคงที่เรานั้นจะยึดถือไว้ได้ เรามีประสบการอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า แม้แต่แรกผลักดันจากภายในของเรา (our innermost impetuses) อย่างจุดยืนทางเพศ (sexual orientation) นั้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องกระทำการเลือกมัน

เราจะเลี้ยงและให้การศึกษาลูกอย่างไร?, เราจะทำการล่อลวงทางเพศ (sexual seduction) อย่างไร?, เราจะกินอะไร และ อย่างไร?, เราจะผ่อนคลายและ สร้างความสนุกสนานให้กับตนเองอย่างไร? : อาณาบริเวณเหล่านี้นั้นถูก "การสะท้อน" (reflexivity) นั้น ไล่ล่าอาณานิคมมาเรื่อยๆ เราจะมีประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ และ ต้องทำการตัดสินใจ

แต่ทว่าปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น (ultimate deadlock) ของสังคมเสี่ยงภัย (Risk Society) นั้นก็ได้ดำรงอยู่ตรงที่ช่องว่างระหว่าง ความรู้ (knowledge) และการตัดสินใจ (decision) เพราะว่ามันไม่มีใครทั้งสิ้นที่ "รู้จริงๆ" (really knows) ว่าจะต้องทำอะไร สถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้นจึงเป็นสถานการณ์ที่ "ไม่สามารถตัดสินใจได้" อย่างถึงรากถึงโคน (radically "undecidable") แม้กระนั้นก็ตามเราก็ยังต้องตัดสินใจในสถานการณ์เหล่านี้ ปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาของทางเลือกที่ถูกบังคับ (forced choice) (ที่เราจะทำการเลือกได้อย่างอิสระ ก็ต่อเมื่อเราเลือกทางเลือกที่ถูก) แต่เป็นในทางตรงข้ามก็คือ เรามีเสรีภาพที่จะเลือกจริงๆ แต่เสรีภาพดังกล่าวนั่นเองต่างหากที่จะทำให้เรานั้นตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

เรานั้นจะพบว่า ตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องทำการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าเรานั้นก็ไม่มีรากฐานความรู้อันเหมาะสมต่อการตัดสินใจ ประสบการณ์ที่เราต้องทำการตัดสินใจอย่างเสรีอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ห่างไกลมากจากความรู้สึกว่าถูกปลดปล่อย (Far from being experienced as liberating) เพราะ มันดูจะเป็นความรู้สึกทำนองการเดิมพันอันน่าอุจาดและตึงเครียด (anxiety-provoking obscene gamble) เสียมากกว่า นี่เป็นการกลับหัวกลับหางวีธีคิดแบบโชคชะตาอย่างน่าเย้ยหยัน (ironic reversal of predestination) เราต้องรับผิดชอบ (accountable) ต่อการตัดสินใจที่เราถูกบังคับให้ตัดสินใจโดยที่เราไม่มีความรู้ที่เหมาะสมเลย เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เราจำต้องตัดสินใจ

เสรีภาพในการตัดสินใจที่ซับเจคของ "สังคมเสี่ยงภัย" มีนั้นไม่ใช่เสรีภาพของใครบางคนที่สามารถจะเลือกชะตากรรมของตนได้โดยเสรี แต่มันเป็น เสรีภาพอันตึงเครียด (anxiety-provoking freedom) ของคนที่ถูกบังคับให้ทำการตัดสินใจ โดยที่ไม่สามารถหยั่งถึงผลที่ตามมาเสียมากกว่า

มันไม่มีอะไรที่จะรับประกันได้ว่า การทำให้เป็นการเมืองแบบประชาธิปไตย (democratic politicization) ที่มีบุคคลหลายต่อหลายพันคนที่เกี่ยวข้องนั้นเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญๆ นั้นจะจำเป็นต้องเพิ่มคุณภาพ, ความแม่นยำ และลดความเสี่ยงให้กับการตัดสินใจ - ถึงตรงนี้คำตอบของคาธอลิคผู้ทุ่มเท ที่มีต่อการโจมตีของนักเสรีนิยมผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า (atheist liberal) แทบจะผุดขึ้นมาทีเดียว

นักเสรีนิยมผู้ไม่เชื่อในพระเจ้านั้นโจมตีคาธอลิคผู้ทุ่มเทว่า "พวกคาธอลิค อย่างพวกคุณนั้นช่างโง่เหลือเกินที่เชี่อว่าสันตะปาปานั้นจะไม่มีข้อผิดพลาดเลย (infallability) "และคาธอลิคผู้ทุ่มเทนั้นก็ตอบว่า "พวกเราคาธอลิคนั้นอย่างน้อยก็เชื่อในความไม่มีข้อผิดพลาดของคนๆ เดียว และ คนๆ เดียวเท่านั้น ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้อ้างอิงกับวิธีคิดที่เสี่ยงกว่าหรือที่เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ (เป็นล้านๆ คน) นั้นจะไม่มีข้อผิดพลาดเลย?"

ซับเจคนั้นจะพบว่า ตัวเองนั้นอยู่ในสถานการณ์แบบคาฟคาที่อยู่ดีๆ ก็พบว่าเรานั้นมีความผิด แต่ไม่รู้ว่ามีความผิดเรื่องอะไร (6) สิ่งที่คอยหลอกหลอนเราตลอดไป ก็คือความเป็นไปได้ที่เรานั้นจะได้ทำการตัดสินใจอะไร อันก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวเราเองและคนที่เรารัก ซึ่งกว่าเราจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว (ถ้าเรายังมีโอกาสได้รู้). มาถึงตรงนี้ เรามาระลึกถึง ฟอร์เรสต์ กัมพ์ กันเถอะ เขาผู้นี้เป็น "ผู้ไกล่เกลี่ยที่จางหายไป" (vanishing mediator) (7) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ เจ้านาย (Master) (ผู้ซึ่งเป็นผู้ทำการบันทึกเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ [symbolically registers an event] โดยแต่งตั้งมัน จารึกมันลงไปใน big Other)

กัมพ์ นั้นได้ถูกนำเสนอในฐานะ ผู้เห็นเหตุการณ์ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร (innocent bystander) ซึ่งทำการริเริ่มการเคลื่อนไหวที่ทำให้เคลื่อนประวัติศาสตร์ไปข้างหน้า (sets in motion a shift of historical proportions) โดยทำในสิ่งที่เขาทำเพียงเท่านั้น เมื่อเขานั้นได้เดินทางไปเบอร์ลินเพื่อที่จะเล่นฟุตบอล เขาได้โยนลูกบอลข้ามไปที่อีกฟากของกำแพงโดยไม่ได้ใส่ใจอะไรเป็นพิเศษ และเขาก็ได้เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการที่ทำให้กำแพงนั้นร่วงลงมาในเวลาต่อมา

เมื่อกัมพ์ได้ไปที่วอชิงตันและได้อยู่ที่ห้องๆ หนึ่งใน วอร์เตอร์เกตคอมเพล็กซ์ เขาก็ได้สังเกตเห็นสิ่งแปลกๆ เกิดขึ้นที่ห้องที่อยู่อีกฟั่งของสนามในตอนกลางดึก และ เขาก็ได้โทรเรียกยามมาดู ซึ่งเขาก็ได้ริเริ่มกระบวนการที่นำไปสู่หายนะของนิกซ์สันในที่สุด สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อุปมาที่ดีที่สุดของสถานการณ์ที่ผู้สนับสนุนแนวคิด "สังคมเสี่ยงภัย" นั้นตั้งเป้าไว้หรือ? สถานการณ์ที่เรานั้นถูกบังคับให้ทำการเคลื่อนไหวที่เราไม่สามารถจะหยั่งถึงผลที่ตามมาของมันได้เลย?

ตรงนี้เราได้มาถึงแกนกลางของอุดมการณ์แบบเสรีนิยมอันเป็นอุดมการณ์หลักซึ่งพยายามจะขายความไม่ปลอดภัยอย่างถึงที่สุด (ซึ่งเกิดจากการล่มสลายของรัฐสวัสดิการ) ในฐานะที่มันเป็นโอกาสสำหรับเสรีภาพใหม่ๆ คุณต้องทำการเปลี่ยนงานทุกๆ ปี ต้องมีชีวิตอยู่กับสัญญาระยะสั้นแทนที่จะเป็นงานระยะยาวที่มีเสถียรภาพหรือ? ทำไมคุณไม่มองมันในฐานะการปลดปล่อยคุณออกจากข้อจำกัดของงานประจำ มองมันในฐานะโอกาสที่คุณจะสร้างตัวของคุณใหม่ไปเรื่อย เพื่อที่คุณจะได้ตระหนักรู้ถึงศักยภาพอันซ่อนอยู่ของบุคลิกภาพของคุณล่ะ? คุณไม่สามารถพึงพิงกับประกันสุขภาพและแผนหลังเกษียณอายุแบบมาตรฐาน คุณต้องเลือกการประกันเสริมอันเป็นสิ่งที่คุณต้องจ่ายหรือ? ทำไมไม่มองมันว่าเป็นโอกาสที่จะเลือกที่มากขึ้น ระหว่างชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบัน หรือ ความปลอดภัยในระยะยาวล่ะ?

และถ้าสภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกเหล่านี้สร้างความตึงเครียดให้คุณ พวกนักอุดมการณ์แบบหลังสมัยใหม่ หรือ สมัยใหม่ที่สอง (second modernity) (8) นักก็จะกล่าวหาคุณทันทีในข้อหาที่คุณไม่สามารถตระหนักถึงเสรีภาพโดยสมบูรณ์ได้, ในข้อหา "หนีไปจากเสรีภาพ" (escape from freedom), ในข้อหาของการไร้วุฒิภาวะและติดอยู่กับรูปแบบอันเสถียรแบบเก่าๆ

... มากไปกว่านั้น เมื่อใดก็ตามที่สิ่งเหล่านี้ถูกจารึกลงไปในอุดมการณ์ที่กล่าวว่า ซับเจคนั้นเป็น ปัจเจกบุคคลทางจิตวิทยา (psychological individual) ที่มีศักยภาพและแนวโน้มตามธรรมชาติแล้ว เมื่อนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็ราวกับว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นผลมาจากบุคลิกภาพของเราเอง ไม่ใช่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการที่เราโดนเหวี่ยงไปมาโดยพลังของตลาด

รายการโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยมที่สุดในฝรั่งเศสในฤดูไบไม้ร่วงปี 2000 (อันมีเรตติ้งสูงกว่ารายการ "บิ๊ก บราเธอร์" อันฉาวโฉ่ถึงสองเท่า) คือ รายการ "C'est mon choix" (มันคือทางเลือกของฉัน) ทางช่อง France 3 ซึ่งเป็นรายการทอล์คโชว์ที่มีแขกรับเชิญเป็นคนธรรมดาๆ (หรือ เป็นคนมีชื่อเสียง ในกรณียกเว้นเป็นบางครั้ง) ซึ่งได้ทำการเลือกแบบประหลาดๆ อันมีผลที่ต่อวิถีชีวิตของเขา/เธอทั้งชีวิต พวกเขาคนหนึ่งตัดสินใจที่จะไม่ใส่กางเกงใน, อีกคนพยายามตลอดเวลาที่จะค้นหาคู่นอนที่เหมาะสมกว่าพ่อและแม่ของเขา พฤติกรรมที่เลยเถิดนั้นได้รับอนุญาต (แทบจะขอร้องด้วยซ้ำ) ทว่ามันต้องเป็นไปเป็นภายในเงื่อนไขของการกันทางเลือกอันเป็นที่ระคายเคืองสาธารณชนออกไปอย่างออกนอกหน้า (เช่น คนที่เลือกที่จะเป็นและประพฤติเยี่ยง นักเหยียดเชื้อชาติ [racist] นั้นจะถูกกันออกไป เป็นต้น)

เราจะสามารถจินตนาการถึงความน่ากระอักกระอ่วนที่มากกว่านี้ ของความหมายของ "เสรีภาพที่จะเลือก" ในสังคมเสรีของเราได้ไหม? เราสามารถทำการเลือกเล็กๆ น้อยๆ (สร้างตัวเราเองใหม่ทั้งหมด) ในเงื่อนไขที่ว่าทางเลือกของเราเหล่านั้นไม่ได้ทำการรบกวนสมดุลทางสังคมและอุดมการณ์อย่างจริงจัง เมื่อพิจารณาจาก "C'est mon choix" (มันคือทางเลือกของฉัน) แล้วสิ่งที่ถึงรากถึงโคนจริงๆ ที่จะทำได้ก็คือ การทำการเน้นเฉพาะ ทางเลือกอัน "เป็นที่รบกวน" ทั้งหลายแหล่ ทำการเชิญแขกรับเชิญอย่างนักเหยียดเชื้อชาติผู้ทุ่มเท ซึ่งเป็นคนที่ทางเลือกของเขา (หรือความแตกต่างของเขา) นั้นสร้าง "ความแตกต่าง" ขึ้นมาได้จริงๆ

นี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมทุกวันนี้ "ประชาธิปไตย" มันเป็นประเด็นเก๊มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นแนวคิดที่ถูกทำให้เสื่อมความน่าเชื่อถือจากการใช้มันแบบบ่อยๆ ซึ่งเราควรจะทำการเสี่ยงที่จะทิ้งมันไปให้ศัตรูของเราเสียด้วยซ้ำ

การตัดสินใจสำคัญๆ เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมของโลกถูกตัดสิน ที่ไหน, อย่างไร, โดยใคร? มันได้ถูกตัดสินในพื้นที่สาธารณะโดยผ่านการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่หรือเปล่า? ถ้าคำตอบคือ ใช่ มันก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นเท่าไรกระมังที่เรามีพรรคการเมืองพรรคเดียวหรือไม่ ฯลฯ ถ้าคำตอบคือ ไม่ มันก็คงจะไม่เป็นประเด็นเท่าไรกระมังที่เรามีประชาธิปไตยระบบรัฐสภา และ เสรีภาพทางการเลือกของปัจเจกบุคคลหรือไม่

++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

(1) สามารถอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ (C'est mon choix… to Burn Cars) ได้ที่ http://www.lacan.com/zizfrance4.htm

(2) เชิงอรรถทั้งหมดในงานแปลชิ้นนี้เป็นของผู้แปล การพูดถึง Lacan ทั้งหมดในเชิงอรรถเหล่านี้เป็นการพูดถึง Lacan ผ่านงานของ Zizek เป็นหลัก ดังนั้นเวลากล่าวถึง Lacan ในเชิงอรรถของงานชิ้นนี้ ความหมายจริงๆ ของมันคือ "สำหรับ Zizek แล้ว Lacan นั้นเห็นว่า ..." หรือ เป็น Lacan ในแบบ Zizekianized Lacan อย่างไรก็ดีหากต้องทำการกล่าวเช่นนี้ทุกครั้งเวลาพูดถึง Lacan ก็คงจะเป็นสิ่งที่รกรุงรังมาก ดังนั้นผู้แปลพูดถึงสิ่งเหล่านี้ผู้แปลจะใช้คำว่า Lacan เฉยๆ

(อย่างไรก็ดี ผู้แปลไม่คิดว่าเราสมควรจะกล่าวว่า "Zizek เห็นว่า..." ไปเลยถ้า Zizek กำลังพูดถึงประเด็นต่างๆ ผ่านคนอื่น เช่น การมีข้อความในงาน Zizek ว่า "Hegel นั้นมองประเด็นนี้ว่า ..." เราไม่ควรมอง ว่านี่เป็นไอเดียของ Zizek เต็มๆ และในทางกลับกันเราก็ไม่ควรจะพูดถึงแนวคิดคนอื่นๆ โดยตรงๆ ทำนอง "Hegel เห็นว่า ..." ไปเลยเช่นกันถ้านั่นเป็นเสียงของคนอื่นที่เราได้ยินผ่าน Zizek อีกที ในกรณีทั่วๆ ไปเช่นนี้ ผู้แปลคิดว่าเรากล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ทำนอง "สำหรับ Zizek แล้ว Hegel เห็นว่า..." จะเหมาะและตรงที่สุด อย่างไรก็ดีสำหรับ Lacan, นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นกรณียกเว้น เพราะ เป็นนักคิดหลักที่ Zizek ใช้มาโดยตลอดและใช้บ่อยมากๆ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความรุงรังจึงขอใช้ Lacan เฉยๆ ดังที่เรียนไว้แล้ว)

(3) " กำแพง" ดังกล่าวนั้น Zizek กล่าวพาดพิงถึงบทความก่อนหน้านี้ของเขาเดี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนแคทรีน่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึง "กำแพง" ที่ดำรงอยู่ในสังคมอเมริกัน ดูบทความ Escape from New Orleans ที่ http://www.lacan.com/zizfrance2.htm และ บทความ The Subject Supposed to Loot and Rape Revisited ที่ http://www.lacan.com/zizfrance3.htm ประกอบ ถ้าต้องการรายละเอียดตรงนี้เพิ่มเติม

(4) passage a l'acte ที่ Zizek ใช้ นั้นเป็นมโนทัศน์แบบ Lacanian โดยเบื้องต้นแล้ว มโนทัศน์ passage a l'acte นั้นใช้เพื่อจะสร้างความแตกต่างกับมโนทัศน์ acting out ถ้าจะอธิบายให้รวบรัดก็คือ การกระทำที่เป็น acting out นั้นยังเป็นการกระทำที่มุ่งส่งสารในทางสัญลักษณ์ (symbolic message) ไปยัง The Other อยู่ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นใน Symbolic Order

โดยคร่าวๆ แล้ว The Other [หรือ Symbolic Order - ในแง่นี้ The Other และ Symbolic Order นั้นมีความหมายในระนาบเดียวกัน และสามารถใช้แทนกันได้ - แต่ในหลายๆ มิติ The Other กับ Symbolic Order นั้นก็ไม่ได้มีความหมายไปในทางเดียวกัน] ในที่นี้คือ พื้นที่ที่อยู่นอก subject เป็นพื้นที่ระหว่าง subject ที่ทำให้การสื่อสารเกิดขึ้นได้ กล่าวคือสำหรับ Lacanian แล้วเวลาเราพูดกับคนอีกคน เราไม่ได้พูดกับเขาตรงๆ สิ่งที่สารของเรามุ่งไปก็คือ The Other ซึ่งคู่สนทนาเราก็เข้าใจสารของเราผ่าน The Other อีกที ประเด็นที่สำคัญมากๆ ตรงนี้ก็คือ The Other นั้นเป็นความเป็นอื่นอย่างถึงรากถึงโคนที่ไม่มีทางเป็นเนื้อเดียวกับ subject ได้เลย.

เวลา subject แสดงตัวเองผ่าน The Other มา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ subject นั้นแสดงตัวตนออกมาผ่านความเป็นอื่น subject สร้างภาพตัวแทนที่ไม่สามารถแทนตัวเองได้ หรือ กล่าวคือ คำว่า "ฉัน" ที่ subject ใช้แสดงตัวเองในภาษา นั้นไม่มีทางเป็นสิ่งเดียวกับ "ตัวฉันจริงๆ" ซึ่งก็คือ subject ดังนั้นสัญลักษณ์ที่ Lacan ใช้แทน subject นั้นก็คือ $ หรือ barred subject ซึ่งก็คือ subject ที่ถูกภาษาตัดผ่านและสร้างภาพตัวแทนที่ไม่สามารถแทนตัวได้ในภาษา $ จึงเป็นต้นตอของภาพตัวแทนในภาษาที่อยู่นอกภาษา - หวังว่านี่จะนำเสนอบางแง่ของมโนทัศ The Other และ subject แบบ Lacan และไม่เป็นการ Simplify มโนทัศน์เหล่านี้เกินไป

ทว่า passage a l'acte นั้นไม่ใช่การส่งสารให้ The Other (อันเป็นกระบวนการใน Symbolic Order) แต่เป็นการก้าวให้เลยพ้นไปจากอาณาบริเวณของ Symbolic Order ไปสู่อาณาบริเวณของ The Real (พูดอย่างรวบรัดที่สุดก็คือ The Real คือ อาณาบริเวณที่เลยพ้น จาก reality หรือ ความเป็นจริงโดยทั่วๆ ไปออกไป ทั้งนี้ สิ่งที่เป็น reality ของ subject นั้นเกิดจากการที่ subject นั้นทำความเข้าใจโลกโดยผ่านการจัดระบบระเบียบต่างๆ ใน Symbolic Order ซึ่งสร้างความสม่ำเสมอให้แก่สภาวะ "ความเป็นจริงทั่วๆ ไป" สำหรับ subject ซึ่งตรงนี้ Lacan เห็นว่าราคาที่ subject จะต้องจ่ายเพื่อการสร้าง reality ที่มีความสม่ำเสมอเหล่านี้ก็คือ การกีดกันสิ่งอื่นๆ ที่จะสร้างความไม่สม่ำเสมอให้ reality ออกไป ซึ่งของที่ถูกกันออกไปเหล่านี้เองที่จะไปปรากฏในอาณาบริเวณของ The Real. ในแง่นี้สิ่งที่ subject เห็นว่าเป็น reality เป็น "สิ่งทั้งหมด" นั้นก็ยังไม่ทั้งหมดจริงๆ แต่เป็นทั้งหมดที่กันบางส่วนออกไป เพื่อให้ความเป็นทั้งหมดนั้นเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอและมีความหมาย เป็นสิ่งทั้งหมดอันมีความหมาย [meaningful Whole]. สิ่งที่ต้องสังเกตตรงนี้ก็คือ เวลาที่ Lacanian นั้นพูดถึงสิ่งที่เป็น "ทั้งหมด" นั้นเราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทั้งหมดนี่คือ ทั้งหมดใน reality เท่านั้น ไม่ได้รวม The Real ไปด้วย ซึ่งถ้าจะพูดในอีกภาษาแล้วก็ต้องพูดว่า ตรรกะแบบ Everything and Something Else นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในวิธีคิดแบบ Lacanian)

สำหรับสาเหตุเบื้องต้นของ passage a l'acte นั้นก็เนื่องมาจากทางตันทางสัญลักษณ์ (Symbolic Deadlock) ที่ subject เผชิญ สภาวะดังกล่าวนั้นไม่เอื้อให้ subject นั้นสามารถถ่ายทอดหรือระบายสิ่งที่ subject เผชิญเข้ามาใน Symbolic Order ได้โดยสิ้นเชิง สิ่งที่ subject ทำเพื่อถ่ายทอดหรือระบายสภาวะที่ subject เผชิญจึงต้องเป็นการก้าวออกไปจาก Symbolic Order ไปสู่ The Real ซึ่งในอาณาบริเวณของ The Real นั้นเราไม่สามารถถามหาความหมายได้แล้ว ความหมายนั้นอยู่ใน Symbolic Order เท่านั้น ตรงนี้ในตัวบทความ Zizek จึงบอกว่า เราต้องหลีกเลี่ยง "แรงดึงดูดในการตีความ" (hermeneutic temptation) และยอมรับการไร้ความหมายอย่างถึงที่สุด (utmost meaninglessness) ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ดูประเด็นเกี่ยวกับ acting out กับ passage a l'acte ได้ใน Dylan Evans, An Introductory Dictionary of Lacanian Psychoanalysis, (London: Routledge, 1996), p. 2-3, 136-137 และ Slavoj Zizek, Looking Awry: An Introduction to Jacques Lacan through Popular Culture, (MIT Press, 1991), p 138-140

(5) เข้าใจว่าที่ Zizek พูดถึงการ "สะท้อน" (Reflexivity, Reflexive) และ สังคมเสี่ยงภัย (Risk Society) ทั้งหมดในบทความชิ้นนี้นั้นเป็นการวิจารณ์ คนในสายสังคมวิทยาสะท้อน (Reflexive Sociology) อาทิ Ulrich Beck, Anthony Giddens, Scott Lash และ คนที่ยืนอยู่บนแนวคิดเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นการวิจารณ์ที่ถูกผิดประการใดนั้นผู้แปลไม่สามารถประเมินได้ เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานในสายนี้เลย

อย่างไรก็ดีปัญหาเกี่ยวกับ "ทางเลือก" (Choice) ที่ Zizek ยกขึ้นมาพูดถึงในบทความนี้ ก็เป็นปัญหาที่น่าสนใจมากๆ อยู่ดี (ในสายตาผู้แปล) แน่นอนปัญหาใหญ่ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผู้แปลก็เห็นว่า Zizek นั้นก็นำเสนอปัญหานี้ได้อย่างน่าสนใจมากๆ ด้วยบทสนทนากับ วัฒนธรรมป็อป (Pop Culture) และสำนวนอันเสียดสีของเขา ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ผู้แปลเลือกแปลงานชิ้นนี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทุกประเด็นในงาน

(6) ตัวอย่างที่น่าจะดีที่สุดของสถานการณ์เหล่านี้ในงานของ คาฟคา ได้แก่สถานการณ์ที่ Josef K. ประสบในเรื่อง The Trail

(7) มโนทัศน์ "ผู้ไกล่เกลี่ยที่จางหายไป" (Vanishing Mediator) นั้นปรากฏครั้งแรกในงาน Zizek ใน For The Know Not What They Do: Enjoyment as a Political Factor ซึ่ง Zizek นั้นหยิบยืมมโนทัศน์นี้มาจากการพูดถึง Max Weber ของ Fredric Jameson อีกทีหนึ่ง

โดยย่อแล้ว Vanishing Mediator นั้นเป็นส่วนประกอบที่สี่ของกระบวนการวิภาษวิธี (Dialectic) Zizek เสนอว่ามันไม่ได้มีเพียง Thesis, Anti-Thesis และ Synthesis เท่านั้นในกระบวนการ Dialectic มันมี Vanishing Mediator อยู่ด้วยที่จะทำการไกล่เกลี่ย Thesis และ Anti-Thesis ให้ออกมาเป็น Synthesis

สำหรับ Zizek แล้วเขามอง Hegel ในระนาบเดียวกับ Lacan และเห็นความสมมาตรกันในหลายๆ ส่วนของมโนทัศน์ของทั้งสองคน ดังนั้นการมองกระบวนการ Dialectic แบบ Hegel นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงของ โลกในทางสัญลักษณ์ (Symbolic Universe - ให้มองมโนทัศน์นี้ในระนาบเดียวกับ Symbolic Order ผู้แปลคิดว่าสำหรับ Zizek แล้วทั้งสองมโนทัศน์ไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างจริงจังในเนื้อหา สิ่งที่ต่างกันคือแต่จุดเน้นของสองมโนทัศน์มากกว่า) ในแบบ Lacan จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไร

ในทรรศนะแบบ Lacanian แล้วกระบวนการเปลี่ยนแปลงของ Symbolic Universe นั้นเกิดจากการเปลี่ยน Master Signifier อันเป็นตัวกำหนดความหมายของ Symbolic Universe (Symbolic Universe เป็นสิ่งที่มีความหมายอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะมากำหนดว่ามันจะมีความหมายไปทางไหนคือ Master Signifier) ซึ่งถ้ามองแบบ Zizek นั้นก็น่าจะเป็นว่ากระบวนการเปลี่ยน Master Signifier จากตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง เป็นกระบวนการเดียวกับ Dialectic ที่เดินจาก Thesis ไป Synthesis (ซึ่งเมื่อ Dialectic ครั้งใหม่ Synthesis ก็จะมีสถานะเป็น Thesis)

ในแง่นี้ Vanishing Mediator ที่ Zizek ใช้เสริมกับกระบวนการ Dialectic ก็น่าจะใช้ได้กับกระบวนการเปลี่ยน Master Signifer ได้เช่นกัน คือ Vanishing Mediator นั้นตัวไกล่เกลี่ยที่จะปรากฏในกระบวนการเปลี่ยน Master Signifier เช่นเดียวกับที่มันปรากฏใน Dialectic

สำหรับผู้สนใจประเด็น Vanishing Mediator ดูเพิ่มเติมได้ใน Slavoj Zizek, For The Know Not What They Do: Enjoyment as a Political Factor 2nd Edition, (London: Verso, 2002), p. 182-188

(8) สมัยใหม่ที่สอง (Second Modernity) นั้นเป็นมโนทัศน์ของ Ulrich Beck ดูเชิงอรรถั้ 5 ประกอบ

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

สังคมเสี่ยงภัย นั้นก็ได้ดำรงอยู่ตรงที่ช่องว่างระหว่าง ความรู้ และการตัดสินใจ เพราะว่ามันไม่มีใครทั้งสิ้นที่ "รู้จริงๆ" ว่าจะต้องทำอะไร สถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้นจึงเป็นสถานการณ์ที่ "ไม่สามารถตัดสินใจได้" อย่างถึงรากถึงโคน (radically "undecidable") แม้กระนั้นก็ตามเราก็ยังต้องตัดสินใจในสถานการณ์เหล่านี้ ปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาของทางเลือกที่ถูกบังคับ (ที่เราจะทำการเลือกได้อย่างอิสระ ก็ต่อเมื่อเราเลือกทางเลือกที่ถูก) แต่เป็นในทางตรงข้ามก็คือ เรามีเสรีภาพที่จะเลือกจริงๆ แต่เสรีภาพดังกล่าวนั่นเองต่างหากที่จะทำให้เรานั้นตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

19-03-2550

Slavoj Zizek
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com