โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 04 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๗๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 04,03.2007)
R

สัมนาเปิดประเด็นหนังสือทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนภาตใต้
ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน : ความจริงและมายาคติ
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ : บรรยาย
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบรรยายต่อไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสัมนาเปิดประเด็นหนังสือ
ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน : ความจริงและมายาคติ
จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ณ ห้องประชุมใหญ่ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี
จัดโดย โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และ วิทยาลัยอิสลามศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โคงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ: บทความถอดเทปชิ้นนี้ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
เป็นส่วนหนึ่งของการสัมนา เปิดประเด็นหนังสือดังกล่าว
อันเกี่ยวเนื่องกับบทความลำดับที่ ๑๑๔๖-๑๑๕๑ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
จากหนังสือเรื่อง "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย" ของ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ.
สำหรับผู้สนใจ สามารถคลิกไปเริ่มต้นอ่านได้จากที่นี่
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบพระคุณ คณะทำงานวาระทางสังคม
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เอื้อเฟื้อบทความถอดเทปชิ้นนี้เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๗๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

เปิดประเด็นหนังสือ
ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน : ความจริงและมายาคติ

ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ผมมีประเด็นที่จะพูดอยู่ 7 ประเด็น พยายามที่จะพูดเท่าที่จะทำได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง

1. การแบ่งแยกดินแดนและประเทศราช
2. รัฐสมัยใหม่และการบูรณาการ
3. พื้นที่ทางการเมืองของประชาชน
4. อัตลักษณ์ความเป็นมลายูกับความเป็นมุสลิม
5. ความเป็นเนื้อเดียวกันของสังคมมุสลิม
6. ความยุติธรรมจากรัฐ
7. ความสมานฉันท์

ประเด็นที่ 1. ที่อยากพูดก็คือ เรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" ผมขออนุญาตอธิบายถึงคำโบราณที่ใช้ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา เขาไม่ได้ใช้คำว่า แบ่งแยกดินแดน แต่เขาใช้คำว่า "แข็งเมือง" คำนี้เป็นคำที่ใช้กันก่อนที่จะเกิด รัฐประชาชาติ ขึ้นมา และก็เป็นปกติมาก ๆ เลย ที่ไม่ได้เกิดเพียงแค่รัฐปัตตานีเพียงรัฐเดียวเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วไป มีการแข็งเมืองเกิดขึ้นทั้งภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคอีสาน, มักจะเกิดการแข็งเมืองเป็นครั้งคราวทั้งสิ้น

ความเข้าใจว่า การแข็งเมือง คือการแบ่งแยกดินแดนหรือการกบฏนั้น เป็นความเข้าใจผิด เป็นการเข้าใจไปเองของนักประวัติศาสตร์สมัยรุ่นหลังๆ เพราะว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่เป็นศูนย์กลางหรือรัฐใหญ่ กับดินแดนรัฐอื่น ๆ ที่เรียกว่าประเทศราช. แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า "ประเทศราช" ในภาษาไทยนั้น ไม่ได้แปลว่า "Colony" ในภาษาอังกฤษ มันคนละความหมายกันเลย เป็นการแสดงสถานะความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีในเมืองฝรั่ง มีเฉพาะในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศูนย์กลางกับรัฐที่เป็นประเทศราช

ความสัมพันธ์นั้นเป็นความสัมพันธ์ในแบบแปลกๆ กล่าวคือมีรัฐศูนย์กลาง หรือมีรัฐที่เป็นดุลอำนาจค่อนข้างมากอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีประเทศราชล้อมรอบ ประเทศราชไม่ได้แปลว่า ขึ้นอยู่กับรัฐศูนย์กลางแต่เพียงอย่างเดียว ถ้ารัฐอีกรัฐนั้นมันมีอำนาจมากพอๆ กัน มันมักจะขึ้นกับรัฐทั้ง 2 ฝั่ง อย่างในประวัติศาสตร์ เขียนว่า

"จริง ๆ แล้ว เมื่อตอนที่ปัตตานีเป็นประเทศราชของสยาม ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นประเทศราชของมะละกาด้วยก็ได้ " ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติ หากเรามีเพื่อนบ้านที่เป็นนักเลงใหญ่ทั้งคู่ วิธีที่จะเอาตัวรอดหรือรักษาอิสรภาพของอำนาจก็คือ เอานักเลงใหญ่นั้นมาคานอำนาจกันเอง อย่างประเทศไทยเองก็ทำอย่างนี้ ในสมัยที่เรากลายเป็นประเทศเล็กๆ ไปแล้ว เราก็พึ่งพิงจีนบ้าง สหรัฐอเมริกาบ้าง เพื่อที่จะถ่วงอำนาจกัน เพราะฉะนั้นเมืองประเภทเหล่านี้ที่ภาษาไทยเรียกว่า เมืองสองฝั่งฟ้า เราจะพบได้ในอีสาน ในลาว รวมทั้งในเชียงใหม่ด้วย

อย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองเชียงใหม่ยังแอบส่งทูตไปหาพระเจ้าแผ่นดินพม่า และพระเจ้าแผ่นดินพม่ายังพระราชทานสร้อยทับทิมมาให้ 1 เส้น แต่พอทางกรุงเทพฯ รู้เรื่องเข้า ทางเมืองเชียงใหม่ก็ตกใจ รีบนำเอาสร้อยเส้นนั้นมาถวายให้กับทางกรุงเทพฯ เพื่อแสดงว่า ตนเองไม่ได้คิดเอาใจออกห่าง แต่ทำไปเพื่อรักษาดุลยภาพของอำนาจเท่านั้น

ดังนั้น เรื่องของความสัมพันธ์แบบนี้เราเรียกว่า "ประเทศราช" ซึ่งมันมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ / ผู้น้อย, ปฏิเสธไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นแบบที่ฝรั่งใช้กัน เป็นความสัมพันธ์แบบที่อาจจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ปัตตานีกับอยุธยา ต่างก็พึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ปัตตานีต้องพึ่งพาบางอย่างจากอยุธยา และทางอยุธยาก็ต้องพึ่งพาอะไรบางอย่างจากปัตตานี เป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน ไม่ใช่เมืองขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นพันธมิตรในการสงครามด้วย เช่น ขอกำลังไปช่วยรบกับพม่า เป็นต้น

เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่รัฐเอกราช แบบที่เราใช้ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเราใช้วิธีคิดแบบฝรั่ง ซึ่งมันมีทั้งรัฐเอกราชและรัฐที่ไม่เอกราชแบบที่ฝรั่งเขาเรียกกัน สมัยก่อนเขามาไม่ได้คิดแบบนี้ เขาเรียกกันว่า "เป็นรัฐที่เป็นผู้ใหญ่ และรัฐที่เป็นผู้น้อย" มีความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกันและกัน เมื่อไหร่ที่รัฐนั้นบอกว่า ไม่อยากผูกความสัมพันธ์กันแล้ว อย่างนี้โบราณเรียกว่า "แข็งเมือง" ไม่ใช่เป็นเรื่องของการ แบ่งแยกดินแดน คำว่าแบ่งแยกดินแดน เราใช้ได้เฉพาะรัฐสมัยใหม่ที่มันเกิดเป็นรัฐชาติแล้วเท่านั้น

ประเด็นที่ 2. เมื่อมันเกิดรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา และต่อมามันพัฒนามากลายเป็นรัฐประชาชาติไทย (Nation-State) เราต้องเข้าใจด้วยว่า ในช่วงนั้น ประเทศที่เป็นมาเลเซียปัจจุบัน คือ ดินแดนรัฐมลายูทั้งหลายในสมัยนั้น ช่วงตอนที่มันใกล้จะเกิดเป็นรัฐมลายู มันเป็นช่วงที่เกิดช่องว่างทางอำนาจในดินแดนรัฐมลายู

ในคริสศตวรรษที่ 18, อำนาจของรัฐยะโฮร์ (Johor) เริ่มลดน้อยลง, รัฐอะเจะห์ (Acheh) ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงในคาบสมุทรมลายูได้อย่างเคย, มะละกา กลายเป็นศูนย์กลางการค้าเล็กๆ อันหนึ่งของบริษัท บี โอ ซี ซึ่งพวกฮอลันดาก็ไม่ได้สนใจคาบสมุทรนี้เท่าไหร่ พวกเขาทุ่มเทอยู่กับการที่จะขยายอำนาจตนเองในเกาะชวาและเกาะสุมาตรามากกว่าที่จะมายุ่งเกี่ยวกับตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดช่องว่างทางอำนาจ

ช่วงนั้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 ทางกรุงเทพฯ เองจึงขยายอิทธิพลโดยดึงเอารัฐมลายู เข้ามาเป็นประเทศราช กว้างไกลมากเลยไปจนถึงรัฐปะหัง (Pahang) ด้วยซ้ำไป. ปะหังเองก็เคยสัมพันธ์การค้ากับทางกรุงเทพฯ แต่ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นจากช่วงที่มันมีช่องว่างทางอำนาจ ก่อนที่จะเกิดรัฐสมัยใหม่ในประเทศไทย อังกฤษก็โผล่เข้ามากลายเป็นมหาอำนาจที่เข้ามาคานการขยายตัวทางอำนาจของสยาม

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับรัฐสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือเกิดความพยายามจะบูรณาการ ผมเรียกว่า เกิด Territorial Integration คือมันเกิดการ บูรณาการทางดินแดน ไม่ใช่เป็นการบูรณาการของชาติ. การเกิดรัฐสมัยใหม่ก็จริง แต่ยังไม่เกิดชาติแท้ๆ ขึ้น เป็นการบูรณาการทางดินแดน คือเอาดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชทั้งหลายไปอยู่กับตัวเอง โดยล้มล้างอำนาจเดิมที่มีอยู่ เช่น สุลต่านต่างๆ ล้มออกไป หรืออย่างเจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็ทำให้กลายเป็นเพียงเจ้าที่มีวัง มีคุ้มอยู่สักแห่งเท่านั้น แล้วก็มีข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ไปคอยกำกับดูแล คือทำให้อำนาจทางท้องถิ่นลดลง

แต่อย่าลืมว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐไทยเล็กนิดเดียว คำว่า เล็กในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดินแดน แต่หมายความว่า คุณไม่มีเงินที่จะตั้งระบบราชการที่จะแพร่เข้ามาถึงข้างล่างได้มากนัก คุณไม่มีเงินที่จะสร้างเส้นทางคมนาคมที่จะเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯกับหัวเมืองได้อย่างดีนัก คุณไม่มีเงินที่จะสร้างโรงเรียนพอที่จะกล่อมให้เด็กที่เกิดในชนบทได้เติบโตมากลายเป็นกลุ่มคนในรัฐสมัยใหม่อย่างเต็มภาคภูมิได้

เพราะฉะนั้น รัฐมันเล็กนิดเดียว จึงล้มอำนาจเดิมเสีย หากถามว่าแล้วมันไม่เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย หรือมันไม่เกิดเพราะมีการผลักดันให้ผู้นำท้องถิ่นในระดับเล็กมาก คือระดับหมู่บ้าน ระดับตำบลเป็นผู้นำแทน ให้คนเหล่านั้นเข้ามาดูแลแทนคนระดับใหญ่ จริงอยู่ที่มีการส่งข้าหลวงมาประจำที่ปัตตานี แต่ถ้าถามว่าข้าหลวงมีอำนาจอะไร? ก็ไม่มี. อำนาจอาจจะมีทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติไม่มี เพราะรัฐนั้นเล็กนิดเดียว คำว่า "เล็ก" มีความหมายถึง "ความอ่อนแอ" นั่นเอง

หากถามว่า ภายใต้การเกิดรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เมืองอย่างเช่น ปัตตานี อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของใคร? คำตอบคือ อยู่ภายใต้การปกครองของคนชั้นนำท้องถิ่นระดับเล็ก ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นนำธรรมดา กับผู้รู้ทางศาสนา, ทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีอิทธิพลค่อนข้างมาก

สำหรับหะยีสุหลง ผมคิดว่า ท่านสืบทอดประเพณีของโต๊ะครูหรืออูลามะอ์ ที่มีมาตั้งแต่โบราณในปัตตานี เราจะพบว่า มีอูลามะอ์บางคนหรือโต๊ะครูบางคนที่มีอิทธิพลเหนือระดับท้องถิ่นเล็กๆ เป็นที่รู้จักทั่วไปหมด ยกตัวอย่าง ท่านโต๊ะปันจัน หรือ โต๊ะยาว ที่ใครๆ ก็รู้จักในปัตตานี ถือว่าเป็นโต๊ะครูที่ดีคนหนึ่ง หะยีสุหลงก็สืบทอดประเพณีนี้มา ซึ่งรักษาสืบทอดกันมาตั้งแต่ตะวันออกกลาง แล้วก็สถาปนาตนเองเป็นที่เคารพนับถือกันทั่ว ไม่ใช่เฉพาะท้องถิ่นเล็กๆ ไม่ใช่เฉพาะปัตตานี, ไม่ใช่เฉพาะ 4 จังหวัด, แต่นับถือกันทั่วไปหมด นาน ๆ ก็จะมีคนมีอิทธิพลเข้ามา แต่ก็ไม่ได้เข้ามาแทนที่สุลต่าน มันไม่เหมือนกัน หรือทำลายอำนาจของสุลต่านให้เล็กลง นานๆ จะมีคนที่มีชื่อเสียงเข้ามามีบทบาทสักทีหนึ่ง

ดังนั้น รัฐไทยเล็กๆ ที่มีความอ่อนแออย่างมาก ดำรงอยู่ได้อย่างไ? ดำรงด้วยทหารหรือก็ไม่ใช่ กองทัพไทยไม่สามารถไปสู้กับชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้ มันดำรงอยู่ได้หลายอย่าง อย่างที่สำคัญที่สุดคือ การรับรองสถานะของมหาอำนาจตะวันตก โดยการรับรองเขตแดน อย่างอังกฤษรับรองว่า เขตนี้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนนี้เป็นของไทย เป็นต้น. สรุปก็คือ "รัฐสยาม" เกิดขึ้นจากการรับรองของมหาอำนาจตะวันตก อันนี้คือ Territorial Integration ที่เกิดขึ้นในระยะแรก ที่จะปลุกขึ้นมาเป็นรัฐสมัยใหม่ ที่เรียกว่า "สยาม"

ลำดับต่อมาก็เกิดการบูรณาการชนชาติขึ้นมา คือ National Integration คือค่อยๆ เกิดขึ้น แต่ความเป็นประชาชาติของไทยที่สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งอาจารย์ธเนศเขียนไว้ในหนังสืออย่างชัดเจนว่า ความเป็นชาติของไทยนั้น เป็นความเป็นชาติที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมันเป็นความเป็นชาติที่ถูกใส่ลงมาจากข้างบนแต่ฝ่ายเดียว ไม่ได้เกิดจากสำนึกของประชาชนข้างล่างว่า เรามีผลประโยชน์ร่วมกัน เรามีความทรงจำบางอย่างร่วมกัน เรามีอะไรบางอย่างร่วมกัน ที่จะมารวมตัวกันเป็นชาติ อันเป็นลักษณะธรรมดาของการเกิดชาติในทางยุโรป และที่อื่น ๆ แต่ของเราไม่ใช่แบบนี้ เป็นการดันจากข้างบนลงมา

ฉะนั้น การเป็นชาติของเราจึงเป็นการเป็นชาติที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีพื้นที่สำหรับความแตกต่างหลากหลาย ถ้าเราดันมาจากข้างบนฝ่ายเดียวโดยไม่ได้เกิดมาจากข้างล่าง มันก็ไม่สามารถเปิดพื้นที่ของความแตกต่าง และความหลากหลายของประเทศไทย

เราเรียนหนังสือมา ไม่สังเกตหรือว่าเราจะเป็นชนชาติไทย น้ำเนื้อเดียวกันหมดทั้งประเทศก็ไม่น่าใช่, เพราะความเป็นจริง เราก็เจอชนชาติหลากหลาย ทั้ง จีน แขก มอญ ฯลฯ เยอะแยะไปหมด ซึ่งเราจะมาจินตนาการอย่างไม่จริง ว่าประเทศไทยเราเป็นน้ำเนื้อเดียวกันหมด ย่อมไม่ใช่

เพราะฉะนั้น สิ่งที่มันบูรณาการนั้น มันคือบูรณาการอะไร? คำตอบคือ มันบูรณาการในสิ่งที่มันไม่สัมพันธ์กับชีวิตความจริง เช่น มันบูรณาการทางกฎหมาย ซึ่งก็จะไปต่อเนื่องกับที่อาจารย์ธเนศเขียนไว้ถึงเรื่อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 บรรพ 6 แล้วคิดไปถึงว่า ในเมื่อเราเป็นชนชาติไทยเดียวกันหมดก็ต้องใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน แล้วท่านก็ประกาศเป็นรัฐธรรมนูญออกมา

ซึ่งจริงๆ หากเราลองย้อนกลับไปดูว่า ความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวนี้ มีมานมนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มันมีมาตั้งแต่สมัย Territorial Integration บูรณาการทางดินแดน มีความพยายามบังคับลงมาจากข้างบนให้เราเป็นน้ำเนื้ออันเดียวกันมานานแล้ว โดยไม่ให้มีพื้นที่ความแตกต่างหลากหลาย. ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ระบบราชการหรือระบบบริหารเป็นกลุ่มสำคัญอีกอันหนึ่งในการบูรณาการชาติของเรา โดยส่งคนมาจากส่วนกลาง จับย้ายไปย้ายมา โดยถือว่า ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ระบบราชการเดียวกัน

ฉะนั้น ข้อเสนอข้อที่ 4 ของท่านหะยีสุหลงที่เสนอว่า ทำไมเราต้องอยู่ภายใต้ระบบราชการเดียวกัน ทำไมเราไม่สร้างระบบราชการชนิดที่เหมาะสมสำหรับท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ใหม่, ทางกรุงเทพฯ ได้ฟังก็ตกใจ ไม่เคยมีใครได้ยินข้อเสนอเช่นนี้มาก่อนเลย และเราก็ปฏิบัติเช่นนี้มาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยเริ่มต้นการบูรณาการทางดินแดน จึงคิดไปไกลถึงขั้นว่า ท่านหะยีสุหลงจะคิดแยกดินแดนหรืออย่างไร

อันที่จริงข้อเสนอนี้ไม่ได้แปลกอะไรเลย มีการยอมรับใช้กันทั่วไป อย่างในแถบ Mid - West ของอเมริกาเอง อิทธิพลของ Populism แบบอเมริกาแผ่ขยายในหมู่ข้าราชการ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 - 20 บางรัฐไม่ได้ใช้ระบบราชการเดียวกัน แต่มันกลับเป็นของประหลาดสำหรับประเทศไทย เพราะว่า National Integration (บูรณาการชนชาติ) มันไม่สมบูรณ์

แม้ในระบบการศึกษา หลักสูตรก็ยังมาบังคับจากส่วนกลาง หลักสูตรมาจากกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกันหมดทั้งประเทศ อย่างเด็กเชียงใหม่เกิดอยู่บนดินแดนของพระเจ้าติโลกราชที่ท่านสร้างมาช้านาน แต่เด็กเชียงใหม่ไม่มีใครรู้จักท่านเลย กลับรู้จักแต่พระเจ้าบรมไตรโลกนาถ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นศัตรูกับพระเจ้าติโลกราชและรบแพ้พระเจ้าติโลกราชด้วย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่จะเห็นว่า การศึกษาไม่ได้เปิดพื้นที่ของความแตกต่างหลากหลายในการเรียนรู้

อีกอันคือระบบภาษี เก็บมันเหมือนกันหมดทั่วประเทศ และก็สร้างให้เกิดปัญหากับชาวบ้าน บางแห่งชาวบ้านถึงกับไม่ยอมเสียภาษี เพราะว่าเราไม่มีพื้นที่ให้กับความแตกต่าง และนอกจากนั้นก็มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มาถึงช่วงนี้ การแข็งเมืองจึงกลายเป็นการแข็งขืนหรือการแข็งข้อ หากเรามองแค่เป็นการแข็งขืน แข็งข้อ มันก็ควรเป็นเรื่องที่เราเจรจาจัดการกันได้ แต่ผู้นำของรัฐไม่สามารถจะมองไปเป็นอื่นได้ อันเนื่องจากประสบการณ์ในชีวิตของเขา และประสบการณ์ที่เขาถูกสอนมา ไม่ได้มีพื้นที่สำหรับความแตกต่างหลากหลาย จึงกลับมองไปเป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งก็คือ การไม่ยอมรับในอธิปไตยของชาติ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลย

หากพูดเช่นนี้ รัชกาลที่ 1 ท่านบอกว่า ท่านไม่เคยรู้เรื่อง เพราะในสมัยก่อน เขาไม่ได้คิดเรื่องอธิปไตยแบบเรา พอรู้ว่ามีการแข็งเมือง ก็แค่แข็งเมือง ก็รบกันไป แต่ไม่ได้มีเรื่องของการไม่รักอธิปไตยของชาติ หรือแยกดินแดน เขาไม่รู้จัก แต่พอเรากลายเป็นรัฐประชาชาติขึ้นมา การไม่รักอธิปไตยก็คือ การแบ่งแยกดินแดน

ประเด็นที่ 3. คือเรื่องพื้นที่ทางการเมือง. พื้นที่ทางการเมืองของไทยนับตั้งแต่เรารวมดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 สืบมาจนกระทั่งถึงการรวมชาติในสมัยหลัง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา เป็นพื้นที่ที่แคบมาก. หากเรานิยามการเมืองแปลว่า เราจะมาแบ่งการใช้ทรัพย์สมบัติของประเทศ หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างไร? ใครเป็นคนใช้, ใช้เท่าไหร่, ใช้เมื่อไหร่, ใช้อย่างไร, อย่างนี้เรียกว่า "การเมือง" โดยเป็นการต่อรองการใช้ทรัพยากรหรือสมบัติของชาติ

หากคิดในความหมายนี้ พื้นที่ในการต่อรองทางการเมืองไทยนับว่าแคบมาก พื้นที่ทางการเมืองที่เป็นทางการมีเพียงแค่ในสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรเคยพูดอะไรบ้าง (หลัง พ.ศ.2490) ที่เกี่ยวข้องทางศาสนาบ้างไหม, เคยพูดเรื่องการใช้ทรัพยากรบ้างไหม, เคยพูดเรื่องอัตลักษณ์บ้างไหม, เคยพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมบ้างไหม, หรือพูดเรื่องการกระจายอำนาจบ้างไหม, แทบจะไม่มีเลย. แต่กลับไปพูดถึงเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตของเราเลย ในขณะที่ชีวิตของเรามันเกี่ยวข้องกับการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างแนบแน่น

ในช่วงระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา, ตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูรานนท์ จนถึงยุคคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ฯ หรือ คปค. 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ท่านเคยสังเกตไหมว่า มันมีการเคลื่อนไหวของประชาชนในประเทศไทยอย่างสูงมาก อย่างประชาชนแถวปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนโดยนั่งประท้วงปิดกั้นแม่น้ำ เพื่อระงับไม่ให้มีการระเบิดแม่น้ำสร้างเขื่อน จนถึงกับต้องนำกำลังตำรวจไปกระชากออกมาให้ห่างจากแม่น้ำ. อย่างการต่อสู้ของชาวบ้าน บ้านกรูด, บ่อนอก, ที่ประจวบคีรีขันธ์ซึ่งต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า ประเด็นเหล่านี้กลับไม่เคยเอาไปพูดกันในสภาสักนิดเดียว

ท่ามกลางระบอบการปกครองที่อ้างว่า เป็นประชาธิปไตย ประชาชนที่ปัตตานีเคยต่อสู้ประท้วงการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำปัตตานี แต่กลับไม่มีการพูดสักนิดเดียวในสภา มันไม่มีที่ไหนในโลก เนื่องจากพื้นที่แคบๆ ทางการเมืองในสภาของเราไม่เคยพูดถึงเรื่องความเสียหายของประชาชนเลย สิ่งที่กระทบชีวิตของเรา การกระจายอำนาจของเราก็ดี การใช้ทรัพยากรของเราก็ดี ศาสนาของเราก็ดี อัตลักษณ์ของเราก็ดี ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางสังคม ไม่มีใครเอ่ยถึงในสภาเลย. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา, มีประชาชนถูกอุ้มหายไปประมาณ 100 กว่าคนเท่าที่สำรวจได้ แต่กลับไม่มีผู้แทนราษฎรทั้งจากปัตตานี ยะลา นราธิวาสแม้แต่คนเดียวที่ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีมหาดไทยในสภา ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สภาคือพื้นที่ทางการเมืองที่ประชาชนจะเข้าไปเล่น แต่ในเมื่อพื้นที่ทางการเมืองของเรามันแคบขนาดนี้ การต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราจริงๆ จึงไม่อาจจะผ่านพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นทางการได้ ไม่ใช่เฉพาะที่ปัตตานีเท่านั้น มันเป็นทั้งประเทศไทยเลย เราไม่สามารถใช้พื้นที่ทางการเมืองของเราได้ เมื่อไหร่ที่เราชุมนุมประท้วงโครงการของรัฐ ชุมนุมประท้วงนายทุนที่สร้างสิ่งต่างๆ ที่ทำลายสาธารณสมบัติ เวลาเราไปเชิญ ส.ส.มา เขาก็ไม่มากัน ฉะนั้น เราจะเคลื่อนไหวได้อย่างไรในสภา เราก็ต้องเคลื่อนไหวนอกพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นทางการ

การเคลื่อนไหวของประชาชนในภาคพื้นที่อื่นๆ ก็เป็นเพียงราษฎรหัวแข็งเท่านั้น แต่เมื่อไหร่ที่มันเป็นการเคลื่อนไหวของ 3 จังหวัดภาคใต้ กลับกลายเป็นเรื่องแบ่งแยกดินแดน ซึ่งอาจจะเป็นอย่างที่อาจารย์ธเนศกล่าวไว้ว่า ชาติไทยนั้นเป็นการพัฒนาการสร้างชาติแบบไม่สมบูรณ์ มันไม่มีพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลาย เพราะฉะนั้นทั้ง 2 เรื่องนี้มันผูกพันกัน คือมี "พื้นที่ทางการเมืองที่แคบ" และมี "ชาติที่ไม่สมบูรณ์" จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ค่อนข้างยากมาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่อง ท่านหะยีสุหลง ท่านเคลื่อนไหวทางการเมือง จนทำให้ถูกพิพากษาจำคุก น่าประหลาดมากที่การเคลื่อนไหวของท่านหากมาทำในปัจจุบัน หรือกระทำในพื้นที่อีสาน ภาคเหนือ คงไม่เกิดแบบนี้ การกระทำของท่านเพียงแค่ยื่นข้อเสนอ 7 ประการ และ 1 ใน 7 ข้อเสนอนั้น มีอยู่ว่า ขอให้ดินแดน 4 จังหวัดภาคใต้ อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของชาวมลายูมุสลิมท่านหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจดูแลกำกับการทำงานทั้งหมดของ 4 จังหวัดภาคใต้ และน่าที่จะเป็น ท่านตวนกู มาห์ยิดดิน คือ บุตรชายของตวนกูอับดุล กอดีร์ สุลต่านองค์สุดท้ายแห่งปัตตานี

ฉะนั้นตอนที่ท่านเคลื่อนไหวทางการเมือง ท่านพิมพ์หนังสือฉันทานุมัติให้ราษฎรเซ็นต์เห็นชอบให้ท่านตวนกู มาห์ยิดดิน มาปกครอง ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเสนอ 7 ข้อที่ท่านเสนอไป นับเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเขียนขึ้นเพื่อหวังว่า โต๊ะมาห์ยิดดินบอกท่านว่าจะไปพบนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ก็จะได้ไปพร้อมกับหนังสือฉันทานุมัติ ซึ่งกลับกลายเป็นว่าท่านถูกพิพากษาจำคุก โดยกล่าวหาว่าท่านไปดูหมิ่นรัฐ เพราะมีหนังสือนั้นมา และในหนังสือนั้นเขียนไว้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่นั่นกดขี่ข่มแหงราษฎรอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงจะขอปกครองโดยให้คนมลายูมาดูแล แต่กลับถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นรัฐ โดยไปกล่าวหาว่ารัฐกดขี่ข่มเหงประชาชน

ประเด็นที่ 4. คือประเด็นเรื่อง"อัตลักษณ์". ผมคิดว่า "ความเป็นมลายู" กับ "ความเป็นมุสลิม" นั้นแยกออกจากกันไม่ได้ อย่างน้อยก็ในสำนึกของท่านก็แยกไม่ได้ ซึ่งมีงานวิจัยเช่นนี้ออกมาหลายปีแล้ว อันนี้ขอยกตัวอย่างในประเทศมาเลเซีย มีชาวมลายูคนหนึ่งขอลาออกจากการเป็นมุสลิม เพื่อไปนับถือศาสนาคริสต์ คนเขางงกันทั้งประเทศ ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะกฏหมายมันไม่เปิดช่องให้ หากเราเป็นคนมลายูก็ต้องเป็นมุสลิม ทั้ง 2 อย่างนั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้

อัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมนั้นมีพื้นที่มากมายไปหมด ผมสงสัยว่าจะมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามนอกเขต 4 จังหวัดภาคใต้นั้น น่าจะมีจำนวนมาก อย่างน้อยก็เท่ากับ 4 จังหวัดภาคใต้ อย่างที่จังหวัดกระบี่ น่าจะมีประชากรที่เป็นมุสลิมอยู่ประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์ในตอนนี้ หรือครึ่งหนึ่งของจังหวัด ซึ่งนับว่าเยอะมาก

ความเป็นมุสลิมมีไหม อัตลักษณ์มุสลิมนี้อยู่ในชาติไทยได้ไหม? ไม่น่ามีปัญหา เพราะชาติไทยอ้างว่าตนเองเป็น Secular State หรือ" รัฐโลกียวิสัย" อันนี้นับเป็นปัญหามาก ซึ่งรัฐโลกียวิสัยแบบของไทยก็เป็นรัฐโลกียวิสัยแบบปลอมๆ หมายความว่า ในแง่หนึ่งคุณก็ประกาศว่าเป็นรัฐโลกียวิสัย แต่คุณเอางบประมาณจำนวนมากมาอุดหนุนพระพุทธศาสนาเต็มที่เลย ซึ่งถ้าเราเป็น Secular State จริงๆ แบบบ้าสุดโต่งเหมือนในฝรั่งเศส ก็คือ เอาไม้กางเขนสวมออกนอกเสื้อเพื่อไปโรงเรียนไม่ได้ เพราะโรงเรียนไม่ใช่ที่ประกาศศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคริสต์หรือมุสลิมก็ตาม

แต่ที่สำคัญก็คือว่า ไม่มีประเทศอิสลามที่ไหนในโลกที่สามารถอยู่ใน Secular State รัฐโลกียวิสัย ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันมีความขัดแย้งในตัวเองระหว่างกฎที่มนุษย์ออกกับกฎที่พระเจ้าออก คุณจะให้กฎที่มนุษย์ออกอยู่เหนือกฎที่พระเจ้าออกไม่ได้. เพราะฉะนั้นการเป็น Secular State นั้นเป็นปัญหาสำหรับคนอิสลาม รัฐไทยเมื่อไม่เปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลาย เราไม่มาถกปัญหานี้กันว่า จะทำอย่างไรให้รัฐไทยสามารถที่จะให้คนมุสลิม สามารถที่จะอยู่ในรัฐนี้ได้โดยรู้สึกว่าไม่ต้องฝ่าฝืนบัญญัติของพระเจ้า

ผมคิดว่า ความเป็นอัตลักษณ์ นี่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับงคนมุสลิมและความเป็นมลายู ส่วนความเป็นมลายูก็ไม่มีพื้นที่ในรัฐชาติไทย เพราะฉะนั้น จึงยากมากที่คนที่เป็นทั้งมลายูและคนมุสลิมพร้อมกันอยู่ในตัว จะไปเรียกร้องอะไรจากรัฐไทยหรือชาติไทยโดยไม่กระทบโครงสร้างเลย นับว่ายากมาก

คำถามที่น่าสนใจสำหรับพวกเราก็คือ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มันจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ เพราะว่า ใน Liberal Democracy ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม มีหลายอย่างที่คนมุสลิมก็รับไม่ได้ เช่น เรามีการโหวตกฎหมายในสภา เราต้องยึดเสียงข้างมากในสภา มันอาจจะขัดกับหลักศาสนาก็ได้ เป็นต้น

มันน่าสนใจตรงที่ ข้อเสนอ 7 ประการของหะยีสุหลง ข้อเสนอข้อที่ 1. ท่านบอกว่า คนที่เป็นมลายูมุสลิมที่จะเข้ามาปกครองดูแลการบริหารเมือง ท่านบอกว่า ประชาชนต้องเป็นคนเลือกมา ข้อเสนอแบบนี้ ถ้าเป็นในปากีสถานจะต้องบอกว่า สภาอูลามะอ์เป็นผู้เลือก แต่ตรงนี้ท่านกลับเสนอว่า ประชาชนเป็นคนเลือก นับเป็นเรื่องใหญ่มากๆ สำหรับประเทศไทย

เราลองคิดดูว่า คนที่จะมาทำอย่างนั้นได้ โดยรัฐบาลสยามหรือรัฐบาลทางกรุงเทพฯ ไม่กล้าส่ง เพราะต้องมีฐานความชอบธรรมจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง กรุงเทพฯ จึงไม่กล้าส่ง นับว่าเป็นข้อเสนอที่ฉลาดมากของท่าน ที่จะไม่ถูกต่อต้านก็คือต้องให้ประชาชนเลือกโดยตรง ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงไม่กล้าส่ง ไม่เช่นนั้นทางกรุงเทพฯ จะต้องส่งนายกเทศมนตรีมาไม่รู้ต่อกี่คนแล้วในประวัติศาสตร์ แต่การเข้ามาโดยการเลือกตั้ง ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้นำถูกเลือกมาจากประชาชนโดยตรง จะต้องกระทบต่อโครงสร้างของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง

ประเด็นที่ 5. ประเด็นนี้ผมไม่ได้พูดมาจากความรู้ความเข้าใจสังคมของมลายูมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้ แต่พูดจากความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์เท่าที่ได้เคยศึกษาสังคมอื่นมา ท่านเคยสังเกตไหมครับว่า เวลาพูดถึงชาวมลายูมุสลิม ไม่ว่ารัฐพูดก็ตามหรือพวกท่านพูดก็ตาม หรือเวลาที่นักวิชาการที่เป็นมลายูมุสลิมพูดก็ตาม มันช่างเป็นสังคมที่เป็นน้ำเนื้อเดียวกันเหลือเกิน ซึ่งทำให้ผมไม่เชื่อ

ผมไม่คิดว่า มันจะมีสังคมมนุษย์อะไรที่เป็นน้ำเนื้อเดียวกันมากขนาดนั้น มันมีความแตกแยกภายในมาก จะเป็นการแตกแยกด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เหตุผลทางศาสนาก็ตาม อย่างเช่นที่อาจารย์ฉวีวรรณ ท่านเคยศึกษาเรื่องชุมชนมลายูมุสลิมในปัตตานีแห่งหนึ่ง เมื่อ 20 - 30 ปีมาแล้ว ท่านพบเรื่องการเข้ามาของกลุ่ม " กาบุฮูดา " หรือ กลุ่มใหม่ หรือกลุ่มที่ตีความเรื่องศาสนาใหม่ ได้เข้ามาแล้วมีความขัดแย้งกับกลุ่มเก่าที่สอนศาสนาอยู่ในหมู่บ้านมาก่อน อย่างเช่น ขัดแย้งกันเรื่อง การดูเดือนรอมาฎอน โดยดูพระจันทร์ขึ้นลงไม่ตรงกัน, วิธีละหมาดต้องคุกเข่าลงกี่หน, ความเห็นไม่ตรงกัน แตกแยกกันขนาดพี่น้องในครอบครัวเดียวกันต้องทะเลาะกัน

ดังนั้น มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกสังคมในโลกนี้ที่มีความขัดแย้งภายใน เวลาที่รัฐพูดถึงสังคมมลายูมุสลิมก็ตาม นักวิชาการมลายูมุสลิมพูดถึงสังคมมลายูมุสลิมก็ตาม พูดประหนึ่งว่า มันไม่มีความขัดแย้งแตกแยกภายในกันเลย เหมือนประหนึ่งว่า คนมลายูมุสลิมด้วยกันไม่เคยเอาเปรียบกันเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ สังคมที่ไหนก็ต้องมีทั้งคนได้เปรียบ เสียเปรียบ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีรัฐไทยอยู่หรือไม่ก็ตามแต่ ยิ่งมีโลกสมัยใหม่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา พื้นที่ใน 3 - 4 จังหวัดภาคใต้นั้นเปลี่ยนแปลงมาก เพราะการคมนาคมที่เปลี่ยนไปและเหตุผลอื่นๆ มากมายไปหมด มันมีคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามา ประชาชนกลุ่มอื่นอพยพเข้ามาก็มาก นายทุนเข้ามาก็แยะ ตัวราชการเองก็โตขึ้นคลอดเวลา รัฐไทยใหญ่ขึ้นตั้งแยะ มีคนแปลกหน้าเข้ามาเต็มไปหมด ทั้งที่เป็นคนมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ทั้งที่เป็นคนมลายูและไม่ใช่มลายู

ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันนี้ คนกลุ่มต่างๆ เข้าไปเกาะที่ตัวโครงสร้างที่มันเป็นอยู่นี้ เพื่อหาประโยชน์จากโครงสร้างเหล่านั้น มีค่อนข้างมาก ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกสังคม เกาะได้มาก เกาะได้น้อยก็แล้วแต่ เกาะแล้วเอาเปรียบคนอื่น เกาะแล้วเสียเปรียบคน อย่างใดก็ตามแต่ ฉะนั้น ก็เหมือนกับทุกสังคมอื่นๆ ในโลก

การหาฉันทามติจากสังคม มันไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ผมคิดว่า ในสังคมมลายูมุสลิมก็เหมือนกัน การหาฉันทามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ในงานของอาจารย์ธเนศเอง เวลาพูดถึงหะยีสุหลง อาจารย์พูดถึงกลุ่มคนที่เป็นมลายูมุสลิมด้วยกัน แต่จริงแล้วยังมีกลุ่มอีกมากที่ไม่เห็นด้วยกับท่านหะยีสุหลง อาจารย์ไม่ได้เอามาอธิบายให้ชัดเจนว่า มันมีกลุ่มไหนบ้าง อย่างน้อยก็มีกลุ่มตระกูลอับดุลราบุต เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกตระกูลหนึ่งที่ไม่เอาด้วยกับท่านหะยีสุหลง นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง และผมเชื่อว่า ยังมีมากกว่านั้นอีก ถึงแม้ว่าท่านหะยีสุหลงจะมีอิทธิพลเป็นที่นับถือกว้างขวางอย่างไรก็ตาม คนที่ไม่เห็นด้วยกับท่านก็ต้องมี และก็เป็นมลายูมุสลิมเหมือนกัน

ผมคิดว่า แม้แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิมเอง คุณจะเรียกว่า แบ่งแยกดินแดน, ทวงดินแดนคืน, เปิดพื้นที่ใหม่, อย่างไรก็แล้วแต่ มันไม่เคยเป็นกลุ่มก้อนอย่างนั้นเลย อย่าลืมว่าในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิม ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวภายในรัฐไทย คือเปิดพื้นที่สำหรับที่จะต่อรองภายในเงื่อนไขของรัฐไทยก็ตาม หรือ ไม่เปิดพื้นที่ในรัฐไทย แต่ไปซ่องสุมกำลังคนในการที่จะต่อสู้กับรัฐไทย แล้วเรียกตนเองว่าแบ่งแยกดินแดน ไม่เคยปรากฏว่า มีพรรคที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตัวอย่างง่ายๆ คือ ไม่เคยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาเลเซีย ภาคใต้ไทย ที่รวมทั้งหมด ตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มหนึ่งก็มีความเชื่อว่าต้องดึงเอาอินโดนีเซียสนับสนุน อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่เห็นด้วย ต้องพยายามปฏิวัติระบบสังคมของมลายูมุสลิมเอง อีกกลุ่มกลับบอกว่าไม่ใช่ เราต้องฟื้นฟูกลุ่มผู้นำทางศาสนา เช่น โต๊ะอิหม่าม เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยรักษาโครงสร้างเดิมของมลายูมุสลิมไว้

เราจะเห็นได้มากมายเต็มไปหมดว่า มันมีกลุ่มที่แตกต่างหลากหลาย ผมเชื่อว่าแม้แต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มที่ใช้รุนแรงในเวลานี้ ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพกัน มีลักษณะที่แตกต่างหลายแนวทางด้วยกัน คิดว่าประเด็นนี้มีความสำคัญ แทนที่เราจะไปหลอกตัวเองว่า สังคมมลายูมุสลิมเป็นสังคมที่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด

ประเด็นที่ 6. เรื่องความยุติธรรมจากรัฐ. หลักการสำคัญอันหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ รัฐทุกที่ในโลกนี้ ไม่ใช่เฉพาะรัฐไทย ไม่เคยมีรัฐไหนสามารถตรวจสอบตนเองได้ว่า ตนเองมีความยุติธรรมหรือไม่ หากให้รัฐตรวจสอบตนเองก็จะพบว่า รัฐต้องบอกว่ารัฐยุติธรรมแล้วทุกที เพราฉะนั้น ถ้าเราต้องการความยุติธรรมจากรัฐ ถามว่าเฉพาะพื้นที่ในภาคใต้ มันมีอะไรอะไรบ้างที่จะเป็นผู้ตรวจสอบ เป็นผู้ทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในรัฐ ผมคิดว่าเราร้องขอความยุติธรรมไม่ได้ เราร้องขอเสรีภาพไม่ได้ เราไม่สามารถให้รัฐยื่นสิ่งเหล่านี้ให้เราได้เฉยๆ เราต้องมีสังคมที่เข้มแข็งพอ เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ สังคมที่เข้มแข็งพอประกอบไปด้วย 3 ส่วน

1. สังคมในท้องถิ่น
2. สังคมไทยในวงกว้าง
3. สังคมโลก

ส่วนที่ 1. ประกอบด้วย "สังคมในท้องถิ่น" ของตนเอง ผมเชื่อว่า ถ้าคนในท้องถิ่นไม่ลุกขึ้นมารักษาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้ มันก็ไม่มีทางเกิด เป็นไปไม่ได้ และคนในท้องถิ่นปัตตานี ยะลา นราธิวาส ก็เคยลุกขึ้นมาแล้วในการที่จะรักษาความยุติธรรมเอง เช่น การประท้วงที่สะพานกอตอ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน กรณีของการประท้วงการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำปัตตานี นั่นก็ประสบความสำเร็จ แต่ประสบความล้มเหลวก็มาก ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่ลุกขึ้นสู้จะประสบความสำเร็จหมด แต่ผมเชื่อว่าสังคมท้องถิ่นต้องมีความเข้มแข็งพอที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ในเวที ซึ่งเวทีนั้นมันมีพื้นที่ที่แคบ พื้นที่นั้นมันจะไม่มีวันขยายเองเป็นอันขาด จนกว่าเราจะดันให้มันขยายขึ้นมา

ส่วนที่ 2. "สังคมไทยในวงกว้าง" อย่างเช่น คนภายนอกอย่างผม อย่างอาจารย์มารค อาจารย์ธเนศ ฯลฯ สามารถเข้ามาช่วยได้ และเราก็พยายามที่จะช่วย เพราะอย่างที่อาจารย์มารคพูดว่า ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถแก้ได้ไม่ใช่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แก้ได้ที่รัฐไทย รัฐไทยต้องเปลี่ยน และรัฐไทยจะเปลี่ยนได้นั้น สังคมไทยในวงกว้างต้องบีบบังคับให้รัฐไทยเปลี่ยน อยู่เฉยๆ มันไม่มีวันเปลี่ยน จนกว่าจะต้องบีบให้มันเปลี่ยน โดยการบีบผ่านสื่อ บีบผ่านการให้การศึกษา ให้คนรู้ ให้คนเข้าใจ เหล่านี้เป็นต้น

อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดสอนหลักสูตรมลายูศึกษาที่เชียงใหม่ แล้วทำไมต้องเปิดที่เชียงใหม่ ก็เชียงใหม่เป็นตัวปัญหา ยังมีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจว่า พี่น้องร่วมชาติอื่นๆ เขาอยู่กันอย่างไร เราต้องรู้จักเขา ดังนั้นไม่ใช่ว่าปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะอยู่เฉพาะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้นตอของปัญหาทั้งหมด มันอยู่ที่ความไม่ลงรอยของรัฐไทยที่เราได้พูดถึงมาแล้วเมื่อช่วงเช้า เพราะฉะนั้นสังคมไทยในวงกว้างจึงมีความสำคัญ

ส่วนที่ 3. สังคมส่วนที่เหลือคือ "สังคมโลก" ซึ่งในอนาคตที่พอจะมองเห็นได้ ผมเชื่อว่าโลกไม่สนใจ ทุกวันนี้ เราเริ่มจะยอมรับกันแล้วว่า มาเลเซียไม่มีวันเกี่ยวกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย และเหตุผลที่ผมคิดว่า มาเลเซียไม่มีวันเกี่ยวเพราะ มาเลเซียย่อมมองเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนสำคัญกว่าอย่างอื่นทั้งหมด ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มาเลเซียมีต่อประเทศไทยนั้น มันมโหฬารเกินกว่าที่เขาจะมาทำอะไรอย่างนั้นในภาคใต้ เขาอยากจะเห็นประเทศไทยที่สงบสุขเพื่อจะได้หาประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่จะหาประโยชน์จากความวุ่นวายที่ 3 จังหวัดภาคใต้. ทีวีทุกเครื่องที่เราซื้อมันผลิตที่อยุธยาและมาเลเซีย มันไม่ได้ผลิตที่ใดที่หนึ่ง เวลานี้เราเป็นโรงงานให้กับญี่ปุ่นเท่าๆ กันทั้งคู่ คือใครถนัดอะไรก็ผลิตกันตรงนั้น แล้วมาประกอบเข้ากันที่บางปะอินบ้าง ที่มาเลเซียบ้าง และถือเป็นตลาดร่วมกันในสายตาของญี่ปุ่น

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ข้างหน้าที่เรามองเห็นได้ โลกจะไม่สนใจปัญหาชายแดนภาคใต้ไทย ทำท่าสนใจ แต่จริงๆ แล้วไม่สนใจ เพราะมันมีผลประโยชน์อื่นบดบังมากกว่า หากถามว่าอเมริกาหรือจะมาทำอะไรประเทศไทย ผลประโยชน์ที่อเมริกามีอยู่ในประเทศไทย มันมากกว่าที่จะมาทำอะไรกันตรงนี้ ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า มันเหลือเพียง 2 ที่ คือ "สังคมท้องถิ่น" กับ "สังคมไทย"เอง ที่จะต้องแก้ปัญหาตัวเอง ส่วนสังคมโลกไม่มีความหมาย และทั้ง 2 อันนี้มันมีเงื่อนไข มันมีปัจจัยที่ไม่ง่าย

การที่จะทำให้สังคมท้องถิ่นเคลื่อนไหว เพื่อที่จะขยายพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง เคลื่อนไหวเพื่อที่จะรักษาความยุติธรรมอันพึงที่จะได้จากรัฐก็ตาม ทำให้สังคมไทยทั้งหมดเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันจากคนที่แตกต่าง จากคนที่มีความหลากหลายจากเรา ก็ไม่ใช่ง่ายทั้ง 2 อย่าง แต่มันเป็นทางออกทางเดียวที่เราจะทำได้ ไม่คิดว่าจะมีหนทางอื่น

ประเด็นที่ 7. เป็นประเด็นสุดท้ายคือ "ความสมานฉันท์" ผมคิดว่า สมานฉันท์ถูกใช้เป็นคาถาในการเรียกร้องความสมานฉันท์โดยฝ่ายรัฐตลอดเวลา แต่รัฐกลับไม่มีความจริงใจในการสมานฉันท์ เพราะเหตุที่ว่า สมานฉันท์เกิดขึ้นได้จาก

1. ความจริง คุณต้องทำความจริงให้ปรากฏ การที่เราจะสมานฉันท์กันได้ จะรักกัน จะให้อภัยต่อกันได้ เราต้องรู้กันก่อนว่าเราทำอะไรผิด แต่ปรากฏว่ากระบวนการที่จะเปิดเผยความจริงทั้งหมดของความสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับรัฐไทย มันไม่ได้เคยถูกเปิดเผยอย่างจริงจังสักที ก่อนที่คุณจะให้อภัยผม ก่อนที่ผมจะให้อภัยคุณ เราต้องรู้ก่อนว่าใครทำอะไรกันมาบ้าง ผิดแค่ไหน ถูกแค่ไหน จึงจะให้อภัยกันได้

ตราบใดที่เราไม่มีความพยายามที่จะเปิดเผยความจริงกันอย่างแท้จริง กรณีกรือเซะก็ตาม กรณีตากใบก็ตาม และกรณีอื่น ๆ อย่าง กรณีหะยีสุหลง ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครที่จะพูดอะไรได้ว่าท่านถูกกระทำโดยรัฐ เพราะไม่มีหลักฐานอะไรที่จะพูดว่าอย่างนั้น แต่ก็รู้กันอยู่ว่า ท่านเสียชีวิตอย่างทารุณโหดร้ายเพราะอะไร? แต่รัฐไม่เคยยอมรับว่า ครั้งหนึ่งเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมาทำอะไรต่อประชาชนได้ถึงขนาดนี้ ถ้าอย่างนั้น ถามว่า ลูกหลานหรือผู้ที่นับถือท่านหะยีสุหลงจะให้อภัยรัฐได้ไหม ในเมื่อรัฐบอกว่า เขาไม่ได้เป็นคนทำ มันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการพูดความจริงจึงเป็นเรื่องใหญ่

2. เราต้องแก้ปัญหาเรื่อง"ชาติ" อย่างที่เคยพูดว่า ชาติไทยเป็นชาติที่พัฒนาไม่ถึงจุดสมบูรณ์สุดของมัน เราต้องพัฒนาให้มันถึงจุดสมบูรณ์สุดให้ได้ ต้องไม่มีความเหนือกว่าของกลุ่มชาติพันธุ์ใดในชาติ เราทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่เกิดชาติ คำว่า"ชาติ"คือคำว่า"เสมอภาค"นั่นเอง ไม่เคยมีครั้งไหนที่เรามีรัฐ แล้วทุกคนเท่าเทียมกันหมด แต่เราพยายามสร้างชาติขึ้นมาโดยพยายามรักษาความไม่เท่าเทียมกันที่มันเคยมีอยู่ ให้มันคงไว้ต่อไป ซึ่งคุณต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้ ถ้าเราแก้โจทย์นี้ไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะเปิดพื้นที่ให้กับชาวมลายูมุสลิมได้

ปัญหาอีกอันที่ผมทิ้งค้างไว้เมื่อช่วงเช้าคือ ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับ Secularism รัฐโลกียวิสัย (Secular State) จะทำอย่างไร อย่างที่มีคนพูดถึงเรื่อง Revolution คุณต้องกระจายอำนาจ เราต้องกระจายอำนาจจริงๆ ไม่ใช่การกระจายอำนาจหลอกๆ จนถึงที่สุดแม้แต่การที่คุณจะต้องมีเขตปกครองพิเศษ ซึ่งจะแปลว่าอะไรก็ไม่ทราบ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ จะต้องมี ก็ต้องมี

ผมเคยถามอาจารย์ธเนศที่เคยเรียนรัฐศาสตร์มาเหมือนกัน ว่า Unitary State รัฐเดี่ยว รัฐศาสตร์เขานิยามว่าอะไร ท่านบอกไม่รู้เหมือนกัน ดังนั้นในที่สุดแล้ว การที่รัฐธรรมนูญมากำหนดว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ การที่เขาจะบอกว่าพื้นที่ 3 - 4 จังหวัดภาคใต้มีระบบปกครองอีกระบบหนึ่ง มันจะเป็นการแบ่งแยกดินแดนตรงไหน ก็ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ ไม่เห็นแปลกอะไร

เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายของระบบปกครอง เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเขา คนของเขา วัฒนธรรมของเขา ดังนั้นข้อเสนอ 7 ประการของท่านหะยีสุหลง ข้อที่ 1. เขตปกครองพิเศษ มันไม่เหมือนที่อื่น มันเป็นเขตที่มีคนถูกเลือกตั้งขึ้นมา แล้วก็เป็นผู้ดูแลทั้ง 3 - 4 จังหวัดนี้ คุณอาจจะไม่เอาโมเดลนี้ แต่คุณต้องคิดโมเดลที่มันเหมาะกับพื้นที่นี้ จะเป็นอย่างไรผมก็ไม่ทราบ และเมื่อมันมีเขตปกครองพิเศษ เราต้องคิดถึงสิทธิของคนกลุ่มน้อย

ผมขอยกคำพูดของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ท่านบอกว่า
" พวกเราทุกคนซึ่งอยู่ตรงนี้เป็นคนส่วนน้อยหมด แล้วแต่คุณจะขีดวงไว้ตรงไหน ชาวมลายูมุสลิมเป็นคนส่วนน้อยในรัฐไทย คนไทยเป็นคนส่วนน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคนมลายู เราคือคนส่วนน้อย ฉะนั้น เราจึงต้องอ่อนไหวกับเรื่องสิทธิของคนส่วนน้อยให้มาก เพราะทุกคนเป็นคนส่วนน้อยหมด ไม่มีใครเป็นคนส่วนใหญ่สักคน "

ฉะนั้น ถ้ามันมีเขตปกครองพิเศษ จะต้องตกลงยังไงผมก็ไม่ทราบ โดยรายละเอียด แต่ต้องคิดถึงสิทธิของคนส่วนน้อยคือคนที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งเขาอยู่ร่วมกันที่นี่มาหลายชั่วคนแล้ว เขาจะอยู่กันอย่างไร อันนี้ผมขอโยนลูกบอลให้ทางฝ่ายมลายูมุสลิมคิดบ้างแล้วว่า หากคุณจะอยู่ร่วมกับเขา คุณต้องกำหนดกติกาขึ้นมาเพื่อให้เขาอยู่ได้สบาย อย่างที่คุณอยากอยู่อย่างสบาย ไม่ว่าคุณจะแยกดินแดน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเขตปกครองพิเศษ ไม่ว่าจะอะไรก็ตามแต่ การไม่คิดถึงสิทธิของคนกลุ่มน้อย ก็จะเกิดปัญหาตลอดไป ถ้าอยู่ในประเทศไทย ก็จะเกิดปัญหากับประเทศไทย ถ้าแยกเป็นรัฐอิสระ ก็จะเกิดปัญหากับรัฐอิสระ เพราะมันไม่มีหรอก

หากเราลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์มลายู ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของชนชาติมลายู เป็นประวัติศาสตร์ของรัฐ ของเมือง ที่มีความหลากหลายที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากอยู่ริมทะเล ใครๆ ก็มาอยู่ตรงนี้ คนนานาประเทศต่างก็มาอยู่ตรงนี้ ดังนั้นคนมลายูมุสลิมล้วนมีประสบการณ์กับการอยู่ร่วมกับคนส่วนน้อยมาอย่างยาวนานมาก เราต้องดึงเอาความสามารถนั้นกลับมาใหม่ เพื่อจะใช้กับการที่จะมาอยู่ต่อไปข้างหน้า

สุดท้าย ผมขอพูดเรื่อง "ความสมานฉันท์" ก็คือว่า คุณต้องยอมรับอัตลักษณ์ของมลายู ผมคิดว่า ปัญหาเรื่องศาสนาอิสลามไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ผมสงสัยว่ามีคนมุสลิมที่อยู่นอกเขต 3 จังหวัดภาคใต้ มากกว่าคนมุสลิมที่อาศัยในเขต 3 จังหวัดภาคใต้เสียอีก แต่คนเหล่านั้นกลับไม่มีปัญหา ที่มันมีปัญหาจริง ๆ คือ ความเป็นมลายู อัตลักษณ์ที่คุณรู้สึกสำคัญและถูกย่ำยีอย่างมากคือ ความเป็นมลายู แต่อย่างที่ผมบอกในตอนต้นว่า คุณแยกทั้ง 2 อย่างออกจากกันไม่ได้ เพราะสำนึกของคนมลายูกับความเป็นมุสลิมนั้นมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

และด้วยเหตุผลที่รัฐไทยไม่เปิดพื้นที่ให้คนอิสลามต่อสู้ได้ จึงจำเป็นต้องซ่อนการต่อสู้ ต่อรองกับรัฐมาในรูปของศาสนาอิสลามทุกที ไม่สามารถต่อรอง ต่อสู้ในเรื่องของความเป็นมลายูได้ ผมว่า เราต้องยอมรับความจริง คุณอยากเป็นมลายู คุณต้องอยู่ในรัฐนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ยุ่ง เพราะทุกคนจะทำแบบคนจีนหมด โดยสามารถหลบตนเองให้กลายเป็นไทยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ แต่คนมลายูทำแบบนั้นไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ คุณก็ต้องเป็นมลายู และรัฐต้องยอมรับความเป็นมลายูมุสลิม

และในบรรดาความเป็นมลายูทั้งหมด เรื่องภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญ ผมเห็นด้วยกับทาง กอส. เป็นอย่างยิ่งในการมีข้อเสนอบอกว่า "ทำไมการศึกษาในเขตพื้นที่ 3 - 4 จังหวัดภาคใต้ จะเริ่มศึกษาประถม 1 ถึง ประถม 6 ด้วยภาษามลายูไม่ได้" ในเมื่อคนเขาเกิดเป็นมลายู เขาก็น่าจะใช้ภาษามลายูได้ การเรียนมันไม่ได้เรียนเพียงแค่ภาษาอย่างเดียว โรงเรียนนั้นสอนวิชาอื่น ๆ ทุกอย่าง เมื่อเราเรียนเราก็ใช้ภาษามลายูไป เมื่อเราจบชั้นประถม แล้วเริ่มเรียนมัธยม เราก็สามารถเรียนภาษาไทยเหมือนกับเป็นภาษาต่างประเทศภาษาหนึ่งได้ จริงๆ ภาษาไทยไม่ได้แข่งกับภาษามลายู อย่างไร ๆ คนมลายูก็ไม่สามารถรู้ภาษามลายูอย่างเดียวได้ที่จะอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ คุณต้องรู้ภาษาที่สอง หนีไม่พ้น ถ้าไม่เป็นภาษามลายูแบบมาเลเซีย ก็ต้องเป็นภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส สำหรับภาษาไทยนั้นแข่งกับภาษาพวกนี้ ไม่ได้มาแข่งกับภาษามลายูท้องถิ่น แต่ไปแข่งกับภาษามลายูหลวง มลายูกัวลาลัมเปอร์โน่น หรือแข่งกับภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสต่างหาก

สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับภาษามลายูท้องถิ่นที่สุดก็คือว่า ทุกภาษาในโลกนี้ เมื่อตอนที่เรากำลังจะเข้ามาสู่สมัยใหม่ เรามีโอกาสพัฒนาภาษา แต่มันมีภาษาอีกเป็นร้อยเป็นพันภาษาที่ไม่มีโอกาสพัฒนาภาษา คือคุณไม่สามารถใช้ภาษานั้นในการที่จะสื่อสารของโลกสมัยใหม่ได้ ผมเคยถามกับเพื่อนที่เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิดว่า ให้สอนวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาที่ง่ายแล้ว ด้วยภาษาคำเมืองได้ไหม เพื่อนผมทดลองดูก็คิดไม่ออก สอนไม่ได้ คิดไม่ทันที่จะเอาคำเมืองมาใช้อธิบายแนวคิดบางอย่าง คงยากมากเลย

ผมกำลังสงสัยว่า แม้แต่ภาษามลายูท้องถิ่นก็อาจจะยากเหมือนกัน คงทราบกันว่า ภาษามลายูนั้นถูกพัฒนาก่อนเพื่อนที่สุด และไปได้ไกลที่สุดคือ อินโดนีเซีย เมื่ออินโดนีเซียรับภาษามลายูเป็นภาษาอินโดนีเซียแล้ว มันมีการพัฒนาภาษามลายูในอินโดนีเซียมากกว่าในมาเลเซียด้วยซ้ำไป แล้วเป็นภาษาที่ใช้ทางวิชาการ ใช้แต่งวรรณคดี ใช้อะไรได้ร้อยแปด มาเลเซียเสียอีก ที่มาพัฒนาภาษาตามมาในภายหลัง ผมคิดว่า ภาษามลายูท้องถิ่นเสียโอกาสอันนี้ เหมือนกับที่ภาษาคำเมืองในเชียงใหม่เสียโอกาส ภาษาอีสานเสียโอกาส อย่างเดียวกัน คือไม่ได้มีโอกาสที่จะถูกใช้เอามาเขียนนิยายรัก เอามาใช้อธิบายวิทยาศาสตร์ และอธิบายอื่นๆ อีกร้อยแปด เราต้องเปิดโอกาสอันนี้ให้ภาษามลายูท้องถิ่นได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง แน่นอน ภาษามลายูหลายคำเราอาจต้องยืมมาจากภาษามาลายูที่ใช้กันในมาเลเซีย อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เพราะฉะนั้น ความเป็นอัตลักษณ์มลายู เราต้องยอมรับ รัฐต้องยอมรับ ถ้าเราจะสมานฉันท์กันเราต้องยอมรับว่า คุณกับผมนั้นมีความแตกต่างกัน จะเหมือนกันก็มี ต่างกันก็มี การยอมรับเช่นนี้เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ได้จริง สมานฉันท์ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้จากการท่องคาถาสมานฉันท์ตลอดเวลา โดยไม่ทำอะไรเลย เป็นไปไม่ได้

ถอดเทปและเผยแพร่โดย
แผนงานร่วมศึกษา เสริมสร้างสุขภาวะ กรณี ๓ จังหวัดภาคใต้
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก

การนำเสนอเนื้อหาสำคัญและบทสรุปของหนังสือ "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย" โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
(กรุงเทพฯ, โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙).
สำหรับผู้สนใจอ่านชิ้นนี้ทั้งเล่ม คลิก

เสนอในที่สัมมนา เปิดประเด็นหนังสือ ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน: ความจริงและมายาคติ
วันจันทร์ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ณ ห้องประชุมใหญ่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ. ปัตตานี


เนื้อหาหลักและบทสรุป
ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
บทความนี้ศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย อะไรคือมูลเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดแนวความคิดที่เรียกกันต่อมาว่า "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" (separatism) ข้อสรุปจากการศึกษาในขั้นนี้ วิเคราะห์ถึงมูลเหตุทางการเมืองซึ่งมีที่มาจากทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

- ภายในประเทศได้แก่การต่อสู้และโค่นล้มพลังการเมืองฝ่ายเสรีนิยมและก้าวหน้า(พรรคสหชีพและแนวร่วมรัฐธรรมนูญ) ที่นำโดยปรีดี พนมยงค์และอดีตขบวนการเสรีไทย โดยมีกลุ่มและนักการเมืองท้องถิ่นสำคัญๆร่วมด้วยโดยเฉพาะทางภาคอีสาน ฝ่ายตรงข้ามที่ประกอบกันเป็นพลังอนุรักษ์นิยมและต่อต้านฝ่ายก้าวหน้า ได้แก่กลุ่มกษัตริย์นิยม กลุ่มข้าราชการเก่า และที่สำคัญคือกลุ่มทหารบก โดยมีพรรคการเมืองเอียงขวาคือประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุนด้วย. เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่นำไปสู่การกำเนิดาของการเมืองที่ต่อต้านรัฐด้วยหนทางนอกระบบและกฎหมายนั้นคือการรัฐประหาร ๘ พย. พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น "บิดา" ของการรัฐประหารและปฏิวัติโดยกองทัพในเวลาต่อมาอีกครึ่งค่อนศตวรรษ

- ส่วนเหตุการณ์ระหว่างประเทศคือสงครามโลกครั้งที่ ๒ และการเริ่มสงครามเย็นต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในยุโรป เช่น อังกฤษ. ในกรณีภาคใต้ การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและกลุ่มชาตินิยมมลายู มีส่วนสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ฝ่ายพันธมิตร โดยเฉพาะเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายาทำการโจมตีด้วยกำลังอาวุธ ทำให้อังกฤษประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วไปในมลายาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐

อุดมการณ์ลัทธิชาตินิยม
นอกจากบริบททางประวัติศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนในปตานีกับกรุงเทพฯ ดำเนินไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อย นั่นคือ ปัจจัยในทางอุดมการณ์ทางการเมือง ได้แก่สิ่งที่เรียกว่าลัทธิชาตินิยม คือจินตนากรรมถึงความเป็นชาติเดียวกันของบรรดาผู้คนในรัฐๆ หนึ่งเหมือนกับว่ามันเป็นชุมชนที่เป็นธรรมชาติ เกิดและเติบโตมาอย่างเป็นเอกภาพสำหรับทุกคนเหมือนกัน

ลัทธิชาตินิยมสยาม ถูกสร้างขึ้นมาท่ามกลางการต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตกสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา รูปธรรมที่ชัดที่สุดคือ การปฏิรูปการปกครอง ด้วยการผนวกและรวมศูนย์ดินแดนที่เคยอยู่หรือเป็นประเทศราชแต่ก่อน ให้เข้ามาเป็นหน่วยหนึ่งในรัฐใหม่คือสยามที่เป็นรัฐชาติ กลายเป็นบริเวณ มณฑลและจังหวัดในที่สุดของสยามไป นั่นคือประวัติศาสตร์ของการสุดสิ้นอาณาจักรปตานีและอื่นๆ

การสร้างชาติไทยที่ไม่สมบูรณ์
กระบวนการสร้างชาติดำเนินต่อมาอีก แม้ในที่รัฐไทยสยามเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว การสร้างรัฐชาติไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามมหาอาเซียบูรพา มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน

ด้านหนึ่งกระบวนการสร้างรัฐและชาติไทยดำเนินไปอย่างเต็มที่ในระยะทศวรรษปี พ.ศ. ๒๔๘๐ แต่ผลลัพธ์กลับเป็นการสร้างรัฐที่เป็นอัตลักษณ์เดี่ยวคือความเป็นไทย ที่ไม่เหลือเนื้อที่และเนื้อหาให้กับผู้คนเชื้อชาติและศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไทยและไม่ใช่พุทธ ชาติไทยจึงดูเหมือนก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดของการสร้างชาติที่ทันสมัย แต่แท้จริงแล้วกลายเป็นชาติที่ไม่สมบูรณ์ ในอีกด้านหนึ่งกล่าวได้ว่ากระแสอิทธิพลของแนวคิดชาตินิยม ก็ได้มีส่วนในการปลุกระดมความตื่นตัวและสำนึกในความเป็นหนึ่งของคนท้องถิ่นด้วยเหมือนกัน เช่น ในบริเวณสามจังหวัดมลายูมุสลิมชายแดนภาคใต้ และในภาคอีสาน เป็นต้น

ชาตินิยมลายู
กรณีการก่อตัวขึ้นของขบวนการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความเป็นคนมลายูและเป็นมุสลิม มีปัจจัยที่ทำให้แตกต่างไปจากกลุ่มเคลื่อนไหวในภูมิภาคอื่นๆ ตรงที่บทบาทของศาสนาและผู้นำท้องถิ่น ในสามจังหวัดฯ การเคลื่อนไหวดำเนินไปภายใต้การนำของอูลามะ หรือฮะยีห์ หรือโต๊ะครู ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาของชาวบ้านและชุมชน ที่มีมายาวนานแล้ว แต่ที่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองกับรัฐไทยเปลี่ยนไป คือการที่ศาสนาอิสลามถูกทำให้เป็นการเมืองมากขึ้น หรือมีมิติทางการเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยลักษณะและการปฏิบัติของศาสนาอิสลามเอง และปฏิสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ที่เป็นโลกียวิสัย (secular) ที่สำคัญคือการที่มุสลิมยึดถือและปฏิบัติหลักการคำสอนของศาสนาในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ วัตรปฏิบัติของอิสลามเป็นส่วนที่สำคัญในการดำรงชีวิตที่เป็นจริง ไม่ใช่ในพิธีกรรมเหมือนศาสนาอื่นๆ

ดังนั้นเมื่อรัฐไทยเริ่มการผนวกอาณาจักรปตานีให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และความเป็นไทย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกระทบเข้ากับการปฏิบัติทางศาสนาของชาวมุสลิม ในระยะแรกมีการผ่อนปรนให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวหย่าร้าง และทรัพย์สิน แต่ในทางปฏิบัติรัฐไทยก็ยังยืนยันที่จะต้องเป็นผู้กำหนดแต่งตั้งควบคุม และกระทั่งตัดสินว่าคำพิจารณาของผู้พิพากษาอิสลามในศาลศาสนา ที่เรียกว่า โต๊ะกาลี ต่อมาเรียกว่าดะโต๊ะยุติธรรมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ปัญหาเรื่องการจัดการปัญหาครอบครัวและมรดกของคนมุสลิมนั้น รัฐไทยอนุโลมด้วยการให้ใช้หลักการกฎหมายอิสลาม ในเรื่องว่าด้วยครอบครัวและมรดกที่ร่วมกันแปลเป็นภาษาไทย (ดำเนินการจากปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ถึง ๒๔๘๔) เป็นหลัก แต่ในทางปฏิบัติก็ให้ดำเนินวิธีการทางศาลในแบบศาลแพ่งธรรมดา เพียงแต่มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งทำการพิจารณาร่วมด้วย สมัยรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศยกเลิกดะโต๊ะยุติธรรมไป ๓ ปี (จากปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๙) ปัญหาว่าศาลศาสนาดังกล่าวจะอยู่ใต้ผู้พิพากษาอิสลามทั้งหมดได้หรือไม่ การแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมโดยคนมุสลิมเองได้ไหม จะเป็นปัญหาในการเคลื่อนไหวที่มีมิติทางการเมืองอย่างมากในช่วงการนำของหะยีสุหรง

การใช้ความรุนแรงโดยรัฐ
มิติอีกด้านอันเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ กับรัฐไทยกรุงเทพฯ คือการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาขัดแย้ง และการเมืองของประชาชน กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปราม และสยบการเรียกร้องและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกเป็นระยะเวลายาวนาน ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวมุสลิม ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงรวมศูนย์ในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันว่าคือ "กบฏหะยีสุหลง" กับ "กบฏดุซงญอ" ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑

กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกัน ระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้ ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆ ของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ "กบฏ" แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวถึงการประท้วงต่อสู้ต่างๆ นั้นคือ การเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิของพลเมืองในรัฐที่เคารพวัฒนธรรมความเชื่อของคนกลุ่มน้อย ไปจนถึง "การทำสงคราม" เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามศรัทธาและความเชื่อของตน

หนทางของการเจรจาต่อรอง
จากการศึกษาในหนังสือเล่มนี้ กล่าวได้ว่าก่อนที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงโดยรัฐนั้น มีหนทางของการเจรจาและทำความเข้าใจตกลงกันในวิธีการแก้ไขปัญหาสามจังหวัด ผู้นำมลายูมุสลิมในภาคใต้มีความต้องการแน่วแน่ ในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทยต่อปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในทศวรรษปี ๒๔๘๐ เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวและขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาต่อการจัดการปัญหาและไม่พอใจสภาพกดขี่ไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้รับอยู่ และต่อเนื่องมาจากการต่อรองเจรจากับรัฐบาล

อุปสรรคและปัจจัยที่ทำให้การเจรจาต่อรองนั้นไม่ประสบผลสำเร็จมีหลายประการ หนึ่งคืออุปสรรคทางศาสนาและวัฒนธรรม ระหว่างความเป็นชาติไทยที่ถือว่าเป็นสมาชิกของชาติมหาอำนาจในโลกสมัยนั้น อีกด้านคือการไม่มองถึงอัตลักษณ์และความเท่าเทียมกันของชนชาติที่ไม่ใช่ไทย อันนี้เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลก ที่มีความเชื่อว่าความเป็นชาติ หรือเชื้อชาติเล็กๆ กระจัดกระจายนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญใหญ่โตเฉพาะหน้า ขอให้สร้างประเทศชาติใหม่ที่คนเชื้อชาติใหญ่ขึ้นมานำได้สำเร็จ ก็จะสามารถคลี่คลายสร้างชาติให้เข้มแข็ง แล้วชนชาติอื่นๆ ก็จะมีความสุขไปเอง

นอกจากนั้นเมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งกับทางการขึ้น มีลักษณะสองอย่างในชุมชนมุสลิมที่ทางการไทยไม่เข้าใจ และนำไปสู่การสรุปว่าเป็นการแข็งขืนทางการเมือง

- ข้อแรกคือการที่ชุมชนมุสลิมมีการจัดตั้งและมีโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็งแน่นเหนียว ทำให้สามารถดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพได้สูง ลักษณาการเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ผู้นำรัฐและเจ้าหน้าที่ หวาดระแวงและกระทั่งหวาดกลัวการกระทำ ที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจการปกครองของพวกตนได้ การเปรียบเทียบชุมชนในสายตาของเจ้าหน้าที่ ก็ย่อมมาจากการเปรียบเทียบกับชุมชนไทย ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจหรือมองชุมชนมุสลิมในด้านบวกได้มากนัก โดยเฉพาะในระยะเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียด

- อีกข้อหนึ่งคือ ลักษณะและธรรมชาติของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองหรือสังคม ผู้นำศาสนาอิสลามมีหน้าที่ต้องให้การช่วยเหลือนำพาชาวบ้านในทุกๆ เรื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยมองพฤติการณ์ของบรรดาผู้นำศาสนาต่างๆ (เช่น ฮัจญีสุหลงในสมัยนั้น และอุสตาซในสมัยนี้)ว่าล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ในความหมายของการกระทำที่บ่อนทำลายอำนาจและความชอบธรรมของรัฐไทยลงไป

ทั้งหมดนี้ทำให้ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการเมืองของทางการและรัฐไทย ที่ไม่ละเอียดอ่อนพอ หลีกไม่พ้นที่ไปกระทบและทำลายจิตใจและความเชื่อของคนมุสลิมไป ที่สำคัญคือความเป็นมลายู อันเป็นอัตลักษณ์ทางโลกที่แนบแน่นกับความเป็นมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ศาสนาไม่ใช่ต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง
สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชนชาติส่วนน้อยกับรัฐ แม้โดยส่วนใหญ่ อาจมาจากการมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างตรงข้ามกันก็ได้ ในทางเป็นจริงนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวไม่จำเป็นต้องปะทุลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและเป็นปฏิปักษ์กัน นอกจากว่าอำนาจรัฐเข้ามาจัดการอย่างไม่ถูกต้อง ดังกรณีของกบฏดุซงญอ ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ปัญหาของศาสนาและเชื้อชาตินั้นก็ยังขึ้นต่อปัญหาและความเป็นมาในพัฒนาการทางการเมืองระดับชาติและในทางสากลด้วย

ดังเห็นได้จากการที่ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทย ต่อข้อเรียกร้องของขบวนการมุสลิมว่าเป็นภยันตรายและข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาลไป จนเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ และสหรัฐฯและอังกฤษต้องการรักษาสถานะเดิมของมหาอำนาจในภูมิภาคอุษาคเนย์เอาไว้ วาทกรรมรัฐว่าด้วย "การแบ่งแยกดินแดน" ก็กลายเป็นข้อกล่าวหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามเย็น ในการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนภาวการณ์ในประเทศ การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้อำนาจรัฐของศูนย์กลาง ก็เป็นความจำเป็นภายในประเทศที่เร่งด่วน ทั้งหมดทำให้การใช้กำลังและความรุนแรงต่อกลุ่มชนชาติ(ส่วนน้อย) และหรือกลุ่มอุดมการณ์ที่ไม่สมานฉันท์กับรัฐบาลกลางเป็นความชอบธรรมและถูกต้องไปได้ในที่สุด

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ความเข้าใจว่า การแข็งเมือง คือการแบ่งแยกดินแดนหรือการกบฏนั้น เป็นความเข้าใจผิด เป็นการเข้าใจไปเองของนักประวัติศาสตร์สมัยรุ่นหลังๆ เพราะว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่เป็นศูนย์กลางหรือรัฐใหญ่ กับดินแดนรัฐอื่น ๆ ที่เรียกว่าประเทศราช. แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า "ประเทศราช" ในภาษาไทยนั้น ไม่ได้แปลว่า "Colony" ในภาษาอังกฤษ มันคนละความหมายกันเลย เป็นการแสดงสถานะความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีในเมืองฝรั่ง มีเฉพาะในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศูนย์กลางกับรัฐที่เป็นประเทศราช

04-03-2550

Southern Thailand
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com