โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 22 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๖๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 22,02.2007)
R

ความตึงเครียดระลอกใหม่ ในเหตุการณ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
รายงานฝรั่ง: ปัญหาภาคใต้ไทยไม่ใช่สงครามศาสนา (๓)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก Crisis Group
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 เผยแพร่วันที่ 18 เมษายน 2548

บทความวิชาการขนาดยาวนี้ เดิมชื่อ
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะนำเสนอเป็นตอนๆ
เพื่อให้นักศึกษาและสมาชิกเข้าใจสถานการณ์ภาคใต้โดยลำดับ
และเห็นถึงปัญหาอันซับซ้อนของพี่น้องมุสลิม รวมถึงการแก้ไขของทางการอย่างไม่ถูกจุด
ในบทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงละลอกใหม่
และความร่วมมือระหว่าง
รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย, เหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนา
ที่ ๔
ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส,วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๙

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๖๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๙ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 / 18 เมษายน 2548
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
Crisis Group Asia Report

ความตึงเครียดระลอกใหม่
กลุ่มแรกที่แสดงรอยร้าวคือ BRN ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่าเริ่มอ่อนตัวแล้วเพราะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการคือเจะกุดิน อาดัม ถูกสังหารเมื่อปี 2520 ขณะที่ผู้นำระดับบนอีกสองคนคืออับดุลการิม ฮัสซัน กับ "หะยี เอ็ม" แตกคอกันในปี 2523 มีการแยกตัวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อการิมฮัสซันหันไปหาอิสลามแนวเคร่งครัด แทนที่"สังคมนิยมอิสลาม" ปี 2527 การออกเสียงกันเรื่องการนำของการิมฮัสซัน เขาแพ้ให้กับผู้นำที่หนุ่มกว่าอย่างเจะกุ เป็ง (หรือเปาะตัว หรือโรซ่า บุราโซ่ หรืออับดุลราซัค รามาน) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแทนและมีเปาะ ยูโซะ เป็นเลขาธิการ (1)

ผู้นำรุ่นใหม่ของ BRN ต่างเห็นด้วยกับการใช้กำลังมากขึ้น ขณะที่ซีกหะยี เอ็มต้องการใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองระยะยาว ที่ขยายการสนับสนุนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามโดยที่ใช้กำลังอย่างจำกัดมากกว่า อุสตาสอับดุลการิม ฮัสซันเองยังมองว่าตัวเองเป็นหัวหน้าของ BRN อยู่ เขากับกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งแยกตัวจากกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ ไปตั้งสาขาที่สามคือ BRN Ulama (เป็นที่รู้จักกันด้วยในนามขบวนการปัตตานีอูลามาหรือ Gerakan Ulama Pattani) (2) เขาเป็นผู้นำกลุ่มนี้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่เน้นที่กิจกรรมทางศาสนาจนกระทั่งเมื่อสิ้นชีวิตเดือนธันวาคม 2539 (3)

ส่วน BRN โคออร์ดิเนต ที่เป็นปีกภายใต้การนำของหะยี เอ็ม เน้นเรื่องการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนสอนศาสนาและการก่อวินาศกรรมในเมือง (4) ขณะที่เจะกุ เป็ง หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการทางทหารเป็นผู้นำกลุ่มย่อย BRN คองเกรส ทั้งสามกลุ่มย่อยมีฐานอยู่ในภาคเหนือของมาเลเซียและหน่วยกำลังของ BRN ปฏิบัติการในนราธิวาส และยะลา (5)

ส่วนพูโลเริ่มแตกแยกเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว กลายเป็นกลุ่มที่ใช้กำลังมากขึ้น นำโดยหะยีฮาดี มินโดซาลี ซึ่งหนุนให้กลุ่มจับมือกับกลุ่มแก๊งอาชญากรรมทั่วไปเพื่อจะสร้างผลกระทบต่อรัฐไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กับอีกกลุ่มย่อยหนึ่งที่นำโดยอารง มูเร็ง ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว แต่กลุ่มของหะยีฮาดีได้เสียงหนุนมากกว่า และกลุ่มที่ต่อต้านการจับมือกับแก๊งค์อาชญากรรมถูกลดบทบาทลง (6)

พูโลยังเจอปัญหาด้านการเงินด้วย, ปี 2527 สำนักงานใหญ่ในนครเมกกะถูกปิด ผู้นำหลายคนถูกจับกุมและส่งตัวออกนอกประเทศ เพราะว่ารัฐบาลซาอุดิอาระเบียเริ่มอึดอัดกับกิจกรรมของกลุ่มมากขึ้นทุกที (7) พอถึงปี 2535 พูโลก็แตกออกเป็นสองกลุ่มย่อย แต่อารงไม่ได้แยกตัวอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี 2538

อารง มูเร็ง กับ หะยีอับดุลเราะมาน บาโซ่ (หรือหะยี บือโด) ตั้งกลุ่มพูโลใหม่ขึ้นมา ยุทธวิธีคือโจมตีในระดับเล็กๆ แต่ทำเรื่อยๆ แทนที่จะก่อการครั้งใหญ่แบบที่พูโลเริ่มทำช่วงราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว นโยบายของพูโลใหม่คือลดความสูญเสียของชีวิตให้น้อย ซึ่งอาจจะเป็นความพยายามในอันที่จะเพิ่มความชอบธรรม ดังนั้นจึงพุ่งเป้าการโจมตีไปที่สถานที่ราชการ แทนที่จะเป็นตำรวจหรือไทยพุทธที่ไปตั้งรกรากที่นั่น (8)

เขตปฏิบัติการของพูโลใหม่อยู่ในทางใต้ของยะลาและบางส่วนของนราธิวาส มีซาลี ตาเลาะ บุยอ เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในอำเภอจะแนะและศรีสาคร ส่วนกลุ่มของมาโซ ตาเยะทำงานครอบคลุมอำเภอเบตงของยะลา มีมะแอ โต๊ะเปียนเป็นผู้บัญชาการของทุกเขตทั่วทั้งนราธิวาสและยะลา (9) ส่วนพูโลเดิมซึ่งอยู่ภายใต้การนำของหะยีฮาดี มินโดสลี ก็ยังขึ้นอยู่กับผู้ก่อตั้งคือตนกูบีรอ กอตอนีลอ หน่วยปฏิบัติการทางทหารอยู่ภายใต้การนำของ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ

นอกจากกลุ่มพูโล พูโลใหม่และสามกลุ่มย่อยของ BRN แล้ว ยังมีสมาชิกส่วนหนึ่งของทั้งพูโลและ BRN ที่หันมาจับมือกันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว และก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า กองทัพอิสลามิค จิฮาด หรือ Tantra Jihad Islam เป็นกลุ่มเล็กๆ จับมือกันหลวมๆ เป้าหมายคือหาทางทำลายเสถียรภาพในพื้นที่ด้วยการก่อวินาศกรรม วางเพลิงและเรียกค่าไถ่ (10) อีกหลายส่วนที่ไม่พอใจกับการที่โครงการของรัฐบาลประสบผล ได้หันไปหาอาชญากรรมแทน เช่นลักลอบขนและค้ายาเสพติด รวมทั้งน้ำมันเถื่อน และส่วนใหญ่มักจะด้วยการร่วมมือกับตำรวจและนักการเมืองในท้องที่ (11)

B. จีเอ็มไอพี (GMIP)
ปี 2538 มีกลุ่มใหม่ปรากฏตัว คือขบวนการมูจาฮิดีน อิสลาม ปัตตานี (Gerankan Mujahidin Islam Patani) หรือ GMIP กลุ่มนี้ก่อตั้งโดยนะซอรี เซะเซ็ง (หรืออะแว แคและ หรือเปาะแว หรือหะยีแว) ซึ่งเป็นชาวอำเภอบาเจาะในนราธิวาส ได้รับการฝึกอบรมมาจากลิเบีย เคยร่วมต่อสู้กับมูจาฮิดีนในอาฟกานิสถานสิบกว่าปีที่แล้ว ทำให้มีประสบการณ์และสายสัมพันธ์กับกลุ่มในลักษณะคล้ายๆกัน (12) กลุ่มนี้ต้องการจัดตั้งรัฐปาตานีที่เป็นอิสสระ แต่ดูเหมือนจะผูกพันกับกระแสของอิสลามระหว่างประเทศมากยิ่งกว่า BRN หรือพูโลใหม่. ปลายปี 2544 มีรายงานว่า กลุ่มนี้แจกใบปลิวในยะลาเรียกร้องให้มีการทำจิฮาดเพื่อสนับสนุนโอซามา บิน ลาเดน ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนด้วย (13)

นะซอรีได้รับการอบรมพร้อมๆ กับนิค อะดิลี นิค อาซิส (บุตรชายของนิค อับดุล อาซิส นิค หมัด ประธานพรรคปาส) ซึ่งถูกคุมขังตั้งแต่ปี 2544 ภายใต้กฏหมายความมั่นคงภายในของมาเลเซียเนื่องจากมีส่วนร่วมในกลุ่มจิฮาด คือกลุ่ม KMM (Kelompok Mujahidin Malaysia) (14)

GMIP เป็นกลุ่มที่แยกออกมาจาก GMP หรือ Gerakan Mujahidin Patani ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 และนำโดยแวหะมะ แวยูโซะ (15) GMP ร่วมมือกับพูโลใหม่เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่แล้วก็แตกคอกันในเรื่องค่าคุ้มครอง กลุ่มนี้หมดพิษสงไปในปี 2536 (16)

GMIP ก็เหมือน BRN พูโล และพูโลใหม่ ที่เริ่มขัดแย้งกันในเรื่องปัญหาเรียกค่าไถ่เพื่อจะหาทุนสนับสนุน จนกระทั่งสิบกว่าปีที่แล้ว ทางการไทยถือว่ากลุ่มนี้เป็นได้แค่แก๊งอันธพาลทั่วไปเท่านั้น

C. เบอร์ซาตูกับปฏิบัติการ "ใบไม้ร่วง"
ราวสิบกว่าปีที่แล้ว กลุ่มแบ่งแยกดินแดนพยายามจะจับมือกันแต่ประสบความสำเร็จเป็นเวลาแค่สั้นๆ. ปี 2540 เดือนสิงหาคม พูโลกับพูโลใหม่จับมือเป็นพันธมิตรกันในเชิงยุทธวิธีภายใต้ร่มธงของกลุ่มชื่อ Bersatu (เบอร์ซาดู) (เอกภาพ) (17) แล้วร่วมมือกันในปฏิบัติการที่ใช้ชื่อว่า "ใบไม้ร่วง" ที่มีเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐ (18) มีรายงานด้วยว่า มีบางส่วนใน GMIP กับ BRN ร่วมวงด้วย (19)

ระหว่างเดือนสิงหาคม 2540 ถึงมกราคม 2541 มีการโจมตี 33 ครั้ง ทำให้มีคนตายเก้าคน ทั้งหมดนี้เชื่อกันว่าเป็นผลของปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งบ้างก็บอกว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบยี่สิบกว่าปี (20). GMIP กับพูโลอ้างตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์รุนแรงหลายหนในจำนวนที่เกิดขึ้น โดยทิ้งจดหมายไว้ ณ ที่เกิดเหตุ หรือไม่ก็แจกจ่ายใบปลิว

D. ปฏิกิริยาของรัฐบาล และเงื่อนไขกรณีมาเลเซีย
ขณะที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น บทบาทของภาคประชาสังคมได้รับการส่งเสริมช่วงสิบกว่าปีมานี้ รัฐบาลชุดต่างๆ ต่างพยายามทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ในอันที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงอันเกิดจากความพยายามแบ่งแยกดินแดนที่ต้นตอ นโยบายที่ออกมาในด้านนี้เริ่มซับซ้อนและรอบคอบมากขึ้น (21) ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะประสบผล กล่าวคือ จำนวนสมาชิกของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนลดลง และการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของมาเลย์มุสลิมก็มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญในการแก้ปัญหานี้ในสายตาของรัฐบาล ก็คือการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจากภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมาเลเซีย (22)

หน่วยงานด้านข่าวกรองของไทยบอกว่า ปฏิบัติการ "ใบไม้ร่วง" ไม่มีทางจะเป็นไปได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคปาส ซึ่งปกครองรัฐกลันตันของมาเลเซีย ที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของฝ่ายนำของพูโลและพูโลใหม่ เดือนธันวาคม ปี 2540 รัฐบาลไทยขู่จะจำกัดความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อมาเลเซีย หากมาเลเซียไม่ช่วยปราบปรามกลุ่มแกนนำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ในภาคเหนือของมาเลเซีย (23)

ข้อเรียกร้องนี้ไทยเสนอขึ้นในช่วงที่วิกฤติทางการเงินในเอเชียกำลังหนักหน่วง นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นพ.มหาเธียร์ โมฮัมหมัด ซึ่งวิตกถึงผลกระทบต่อโครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียก็ยอมตาม เห็นชอบให้ตำรวจสองฝ่ายร่วมมือกันกวาดล้าง

เดือนมกราคม 2541 มาเลเซียจับกุมผู้นำกลุ่มพูโลใหม่ อับดุล เราะมาน บาโซ กับผู้นำปฏิบัติการทางทหารคือ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ รวมทั้งหะยี มะแอ ยะลา ที่เป็นผู้ช่วยของบาโซในเคดะ รวมทั้งผู้นำปฏิบัติการทางทหารของพูโลคือ หะยี สะมะแอ ท่าน้ำ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ พร้อมกับส่งตัวให้ฝ่ายไทยอย่างเงียบๆ (24)

การปราบปรามดังกล่าวทำให้ผู้นำคนอื่นๆ ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลบหนีออกจากมาเลเซีย ตนกูบีรอ กอตอนีลอ ผู้นำพูโลหนีไปดามัสกัส, วัน สุไลมาน ผู้นำเบอร์ซาตูหนีไปสวีเดน, อดีตผู้นำพูโลใหม่ อารง มูเร็ง หนีไปสวีเดนเช่นกัน และผู้ช่วยของเขาคือ หะยี อับดุลฮาดี บิน โรซาลี (หรือฮาดี มูโน่) หนีไปซาอุดิอาระเบีย (25)

รัฐบาลไทยประกาศเสนอการนิรโทษกรรมให้นักสู้แบ่งแยกดินแดน และให้เวลาพวกเขาให้ยอมรับข้อเสนอนี้ภายในวันที่ 10 มีนาคม 2541 (26) การขีดเส้นตายบวกกับการที่ตำรวจสองประเทศจับมือกันล้อมปราบประสบผล ทำให้นักสู้ร่วมห้าสิบคนเข้ามอบตัวเข้าร่วมโครงการฟื้นฟู และทำให้ตัวเลขคนเข้ามอบตัวมีร่วม 969 คน (27). พตท.43 มีโครงการฝึกอบรมทางด้านช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้าและช่างเทคนิคให้กับผู้เข้ามอบตัว (28)

พลโทไพรัตน์ เข้มขัน ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาภาคใต้ของ พตท.43 คาดเอาไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 ว่าในตอนนั้นยังเหลือกลุ่ม "อาชญากรติดอาวุธ" ปฏิบัติการอยู่แค่ 70 - 80 คนเท่านั้น (29) สำนักข่าวกรองแห่งชาติเองก็คาดว่า ในปี 2544 มีกลุ่มนักสู้ติดอาวุธไม่ถึง 1,000 คน (30)

ตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลมักจะบอกว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหมดเขี้ยวเล็บไปแล้วและกลายสภาพ เหลือแค่เป็นกลุ่มอาชญากรรมธรรมดาเท่านั้น พวกเขาก็พูดถูกในหลายแง่ (31) การเปลี่ยนแปลงนโยบายให้ผล และเมื่อการสนับสนุนด้านเงินทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งแรงหนุนจากภายในร่อยหรอลง กลุ่มแบ่งแยกดินแดนต้องหันไปพึ่งการเรียกค่าไถ่ และอาชญากรรมอื่นๆ เพื่อหาทุนแทน

ความแตกแยกภายในบวกกับการเข้ามอบตัวของนักสู้หลายร้อยคน ทำให้ขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธอ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลเองก็หาทางร่วมมือกับมาเลเซียมากขึ้น ขณะที่ระดมความพยายามทางการทูตในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่เห็นใจกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็มีผลทำให้กลุ่มเหล่านั้นขาดเงินสนับสนุน (32) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนยากจะแยกตัวเองออกจากภาพของกลุ่มอาชญากรรมทั่วไปได้ แต่พวกเขาก็ไม่ถึงล้มหายตายจากไปเสียทีเดียว

พูโลใหม่ แม้ว่าผู้นำจะถูกจับและแม้ว่าจะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก แต่ก็ยังปฏิบัติการได้อยู่ กะแม ยูโซะ เข้ารับหน้าที่แทนอับดุล เราะมาน บาโซะ ที่ถูกจับในฐานะหัวหน้ากลุ่ม และพูโลใหม่ก็ยังมีคนที่เชี่ยวชาญด้านการใช้ระเบิดที่ได้รับการฝึกมาจากต่างประเทศรวมอยู่ในกลุ่มหลายคน โดยเฉพาะมารุดี ปิยะ (ปิเยาะ) ที่ผ่านการอบรมมาจากลิเบียเมื่อปี 2528 ผู้ซึ่งมีรายงานว่า อาศัยอยู่ในกลันตันเวลานี้ (33)

ส่วนพูโลเดิมที่นำโดยซยามซุดดิน ข่าน ที่อยู่ในสวีเดนยังคงทำเวบไซท์ต่อไป แม้ว่าจะไม่มีกำลังในพื้นที่แล้วก็ตาม ที่แทบไม่มีความหมายด้วยก็คือ BNPP ที่เคยมีเขี้ยวเล็บครั้งหนึ่ง (34)

BRN ซึ่งเงียบเชียบลงไปในช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว ก็ดูเหมือนจะหันไปพยายามเสริมสร้างกลุ่มและขยายเครือข่ายในหมู่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบน้อยหน่อยจากการจับมือ เพื่อปราบปรามร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซียเมื่อปี 2541 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มย่อยที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงอย่าง BRN อูลามาทำให้พวกเขาได้รับความนับถืออยู่บ้าง และนักรบของ BRN ที่เข้ามอบตัวภายใต้โครงการนิรโทษกรรมก็มีไม่มากนัก (35)

รายงานระบุว่า BRN โคออร์ดิเนท ได้กลายเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุดและจัดตั้งดีที่สุด ในบรรดากลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เป็นที่รู้จักกันในเวลานี้ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าด้วยว่า กลุ่มนี้เริ่มรวบรวมสมาชิกให้กับปีกยุวชนที่ค่อนข้างใหญ่ (บางทีก็เรียกกันว่า "เปอมูดา" ภาษามาเลย์แปลว่า เยาวชน) ตั้งแต่ปี 2535 หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ (36) เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเห็นว่า กลุ่มเปอมูดามีส่วนในการวางเพลิงและการลอบยิงหลายกรณีในช่วงสิบห้าเดือนที่ผ่านมา แต่ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างกลุ่มมีน้อยมาก กลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่มดูเหมือนจะปฏิบัติการตามลำพัง (37) และอีกจำนวนหนึ่งจัดตั้งขึ้นมาโดยไม่มีสังกัด

BRN (38) พูโล ก็จัดตั้งปีกยุวชนด้วยคือ"ปันยอม" (ขบวนการยุวชนแห่งชาติปาตานี) มีเป้าหมายใหญ่คือ การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อจะให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล เวบไซท์ของกลุ่มไม่ปรากฏอีกต่อไป และดูเหมือนกลุ่มนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในช่วงนี้ (39)

ถ้าสมาชิกของพูโล พูโลใหม่และ BRN เข้ารับเงื่อนไขการนิรโทษกรรมตามข้อเสนอของรัฐบาล ก็ดูเหมือนจะไม่มีสมาชิกของ GMIP เข้ารับข้อเสนอนี้แม้แต่รายเดียว (40) แม้ว่าเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมักจะบอกว่า GMIP เป็นแค่แก๊งค์อาชญากรรมทั่วไปในช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่สงสัยว่า สมาชิกกลุ่มนี้จะมีส่วนในการโจมตีที่มั่นของทหารหลายหน ตั้งแต่ 2544 - 2546 ซึ่งมีการปล้นอาวุธด้วย รวมทั้งการปล้นปืนจากค่ายทหารเมื่อ 4 มกราคม 2547

อุเซ็ง ฮามะ ทหารเกณฑ์มุสลิมที่ถูกจับ ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล้นหน่วยพัฒนาของนาวิกโยธินเมื่อ 28 เมษายน 2546 ซึ่งมีการปล้นปืนเอ็มสิบหกไป 30 กระบอก และทหารห้านายถูกสังหาร ได้เล่าว่าคนที่วางแผนการโจมตีทั้งหมดคือนะโซรี เซะเซ็ง. สมาชิก GMIP หลายคนยังเคยเป็นทหารเกณฑ์ด้วย (42) จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำอาวุธเหล่านี้รวมทั้งที่ถูกปล้นไประหว่างปี 2544 - 2547 ออกมาใช้ในการปฏิบัติการในไทย ยังไม่ชัดเจนว่าได้มีการขายออกไปแล้วหรือว่าเก็บสะสมเอาไว้

นะโซรี เซะเซ็ง เป็นผู้นำปฏิบัติการในนราธิวาส แต่มีข่าวว่าหนีออกจากเมืองไทยเมื่อปี 2544 หลังจากเหตุการณ์ยิงต่อสู้กับทหารที่อำเภอบาเจาะ (43) การิม กะรุบัง (หรือผู้นำจากหมู่บ้านกะรุบัง ในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา) เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ GMIP ในยะลา (44). มีรายงานว่าแหล่งข่าวในหน่วยงานข่าวกรองไทยเชื่อว่า GMIP ยังมีฐานใต้ดินแหล่งสำคัญอยู่ในตรังกานู ในภาคเหนือของมาเลเซีย, อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวทางทหารและข่าวกรองยืนยันว่า GMIP ไม่มีอุดมการณ์เท่า BRN และทำงานเพื่อหาเงินค่อนข้างมาก (45)

GMIP สูญเสียผู้นำสำคัญสองคนในเดือนสิงหาคม 2546 เมื่อนาเซะ สะนิง (หรือมะนาเซะ เจะดะ) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการที่ผ่านการอบรมมาจากอัฟกานิสถาน กับ มามะ แมะเราะ ซึ่งเป็นโต๊ะครูจากปัตตานีและอดีตมือแม่นปืนจากกองทัพ ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฆ่าตายในปัตตานี (46) นาเซะถูกทางการมาเลเซียจับกุมตัวในตรังกานู และส่งตัวให้ทางการไทยอย่างเงียบๆ ในเดือนสิงหาคม เขาหลบหนีแต่ถูกจับได้และถูกตำรวจยิงตายที่อำเภอหนองจิก จัหวัดปัตตานี. หลังจากสูญเสียคนระดับหัวหน้าสองคนไปแล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองทหารคาดว่า กำลังของกลุ่มนี้เหลือแค่สิบเจ็ดคน และถือว่าคนเหล่านี้เป็นได้อย่างดีแค่ "มือปืนรับจ้าง" เท่านั้น (47)

E. จุดเริ่มต้นของสถานการณ์เลวร้าย
ความรุนแรงรอบใหม่เปิดฉากขึ้นเมื่อคืนวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ด้วยการโจมตีที่ประสานงานกันมาอย่างดี 5 แห่งตามที่มั่นของตำรวจในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทำให้ตำรวจห้าคนเสียชีวิตและอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านตายอีกหนึ่ง การโจมตีที่แทบจะสอดคล้องเป็นเวลาเดียวกันแสดงให้เห็นถึงระดับของความสลับซับซ้อน เหนือกว่าการโจมตีแบบประปราย (ส่วนใหญ่ลักพาตัวเรียกค่าไถ่)ที่เห็นกันมากว่าสิบปี และกลายเป็นจุดวางแบบแผนใหม่ที่ตามมา คือ การประสานการโจมตีที่ตั้งของตำรวจ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะอยู่ในที่ห่างกัน และการเข้าปล้นโดยคนมีอาวุธปิดบังใบหน้า ทั้งนี้เพื่อจะเอาอาวุธ

ตามสถิติของกระทรวงมหาดไทย เหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับการก่อความไม่สงบขยายตัวจาก 50 หนในปี 2544 เป็น 75 ในปี 2545 เป็น 119 ปี 2546 (48) และกระโดดขึ้นไปกว่า 1,000 ครั้งในปี 2547 (49)

เหตุการณ์ 4 มกราคม พ.ศ.2547
A. การปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนา
เหตุการณ์ใหญ่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 คือการบุกปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส, กลุ่มผู้ก่อเหตุราว 100 คน ลงมือโจมตีราว 02.00 น. โดยมีการวางแผนและประสานงานอย่างดี และสามารถขโมยปืนของเจ้าหน้าที่ได้ประมาณ 400 กระบอก รวมทั้งปืนยาว ปืนกล ปืนสั้นและปืนยิงจรวด (50)

ผู้ลงมือใช้ท่อก๊าซอ็อกซิเอเซ็ทไทลีนและอุปกรณ์ตัดสลักประตู บุกเข้าไปในคลังเก็บอาวุธ นอกจากนี้ ยังติดตั้งสายเคเบิลชักรวบอาวุธใส่กระสอบและขนขึ้นรถบรรทุกไปได้อย่างรวดเร็ว การลงมือชี้ว่าผู้ก่อเหตุเตรียมการและรู้จักสถานที่เป้าหมายอย่างดี (51) กลุ่มคนร้ายสังหารทหารยามชาวพุทธ 4 คน แต่ไม่ทำร้ายทหารมุสลิมเลย พวกเขาใช้เวลาปล้นปืนเพียง 20 นาที หลังจากนั้นโปรยตะปูเรือใบ และโค่นต้นไม้กีดขวางเส้นทางที่ใช้เข้าออกค่าย

นอกจากนี้ ยังมีการวางกลลวงอย่างแยบยล ราว 1.30 น. กลุ่มผู้ก่อเหตุจุดไฟเผาโรงเรียน 20 แห่งและจุดตรวจของตำรวจ 3 แห่งในพื้นที่ 11 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีทั้งหมด 13 อำเภอ และก่อเหตุเผายางรถยนต์และวางระเบิดปลอมใต้สะพานและบนถนน เพื่อลวงเจ้าหน้าที่ในจังหวัดยะลา. หลังเกิดเหตุแล้ว 24 ชั่วโมง คือวันที่ 5 มกราคม ถึงทราบว่ามีการลอบวางระเบิดอีกหลายจุดที่จังหวัดปัตตานี ตำรวจกู้ได้บางจุด แต่ตำรวจสองนายต้องเสียชีวิต การลงมือก่อเหตุพร้อมๆ กันโดยกลุ่มคนร้ายจำนวนมากทำให้เจ้าหน้าที่ข่าวกรองและกองกำลังความมั่นคงต้องประหลาดใจ (52)

B. ปฏิกริยาของรัฐบาล
หนึ่งวันหลังเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีทักษิณ แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ทหารยามสมควรตาย เพราะปล่อยให้คนร้ายก่อเหตุได้ (53) รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 8 อำเภอของสามจังหวัดภาคใต้ (ต่อมารัฐบาลขยายกฎอัยการศึกครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอในสามจังหวัด) และสั่งให้เจ้าหน้าที่หาตัวคนร้ายให้ได้ภายในเวลา 7 วัน. นายกรัฐมนตรีสั่งเพิ่มกำลังทหารอีก 3,000 คนไปเสริมกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งดูแล 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา โดยให้อำนาจในการจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องขอหมายศาล (54)

ก่อนหน้าเหตุปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่าเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการปล้นปืนก่อนหน้านี้หลายครั้ง เป็นฝีมือของโจรกระจอกและขบวนการค้ายาเสพติด โดยปฏิเสธว่าไม่ใช่เป็นการลงมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่ฝีมือของกลุ่มคนร้ายในเหตุการณ์วันที่ 4 มกราคม ทำให้ข้ออ้างของรัฐบาลขาดน้ำหนัก พตท.ทักษิณยอมรับว่า "คนร้ายไม่ใช่โจรธรรมดา พวกนี้เป็นมืออาชีพและฝึกมาเป็นอย่างดี" (55)

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพูดกลบเกลื่อนว่าไม่ใช่เป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ทางการก็ออกหมายจับบุคคลต้องสงสัย 33 คน หลังเกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายพัฒนาแล้ว 10 วัน ในจำนวนนี้มีสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนรวมด้วย 5 คน. 3 คนเป็นสมาชิกขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี หรือ GMIP (ได้แก่ นาซอรี แซะเซ็ง หรือ อาแว แคและ, การิม การูปัง และเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ หรือ ดอรอแม เลาะแม หรือ อับดุล เราะมัน อาหมัด) อีกคนหนึ่งมาจาก BRN (คือมะแซ อุเซ็ง หรือ ฮะซัน ฮุสเซ็น) และคนสุดท้าย คือ แวอาลี คอปเตอร์ วาจิ ซึ่งไม่รู้แน่ชัดว่ามาจากกลุ่มไหน (56)

ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยห้าคนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังนายกรัฐมนตรีกดดันด้วยการประกาศเส้นตาย ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดให้การรับสารภาพว่าได้รับการจ้างวานด้วยเงิน 8,000 บาท (ราว 200 ดอลล่าร์สหรัฐ) จากผู้นำ BRN และ GMIP แต่ในภายหลังผู้ต้องหากลับคำให้การ โดยอ้างว่าถูกตำรวจซ้อมให้ยอมรับสารภาพ (57)

ทนายความของผู้ต้องหาคือนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัวไปอย่างลึกลับหนึ่งวันหลังจากที่ยื่นจดหมายเรียกร้องให้เปิดการสอบสวน กรณีที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าทรมานผู้ต้องหา (58)

C. คำอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ถึงแม้ว่าทางการจะจับกุมผู้ต้องสงสัยไปนับสิบ แต่ว่ายังไม่ชัดเจนว่าผู้วางแผนและลงมือก่อเหตุโจมตีนั้นเป็นใคร ผู้รู้ตั้งข้อสันนิษฐานไป 3 ทาง คือ

- อาจเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีความเข้มแข็งขึ้น หรือ
- สอง เป็นฝีมือหน่วยงานความมั่นคง และ
- สาม เป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและนักการเมืองที่คอรับชั่น

ทั้งนี้ เชื่อว่า มีแต่ BRN และ GMIP เท่านั้นในส่วนของขบวนการ และในส่วนของหน่วยงานด้านความมั่นคง ก็คงมีแต่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเท่านั้นที่ลงมือก่อเหตุทำนองนี้ได้

ตำรวจและทหารคงจะมีส่วนรู้เห็นอยู่บ้างในเหตุรุนแรงหลายครั้งที่ถูกโยนว่าเป็นฝีมือของ "พวกก่อความไม่สงบ" หรือ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" นอกจากนี้ เหตุรุนแรงยังอาจเปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มบุคคล และกลุ่มผลประโยชน์แก้แค้นฝ่ายตรงข้าม แต่ถึงอย่างนั้น มีเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการที่ทำให้เชื่อว่าเหตุการณ์วันที่ 4 มกราคมน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (59)

ประการแรก โรงเรียนรัฐบาลมักถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทย และนโยบายกลืนความเป็นมาเลย์ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่รังเกียจ การเผาโรงเรียนรัฐบาลจึงมักจะเป็นวิธีที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนนิยมใช้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เพราะสามารถบั่นทอนความน่าเชื่อของรัฐบาลได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณทางการเมืองด้วย. ในการโจมตีเมื่อวันที่ 4 มกราคม การเผาโรงเรียนหลายจุดพร้อมๆ กันถูกนำมาใช้หันเหความสนใจจากการก่อเหตุปล้นปืน และเพื่อหวังผลทางการเมืองและทางจิตวิทยา

ประการที่สอง การมุ่งโจมตีชาวพุทธโดยเฉพาะ ยังเป็นวิธีการต่อสู้ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนใช้ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 มีผู้สันนิษฐานว่า ตำรวจทหารอาจลงมือก่อเหตุเอง และสร้างสถานการณ์กลบเกลื่อน ข้อสันนิษฐานนี้มีความเป็นไปได้ แต่ว่าดูจากหลักฐานและข้อมูลแล้ว ถึงแม้จะเป็นหลักฐานข้างเคียงเป็นส่วนใหญ่ ก็ทำให้ข้อสันนิษฐานนี้ไม่มีน้ำหนักเท่าใดนัก

รัฐบาลเองโทษว่าเป็นฝีมือของสมาชิก BRN และ GMIP นอกจากนี้ GMIP ยังถูกสงสัยว่ามีส่วนลอบบุกค่ายทหารอีกหลายครั้งในช่วงปี 2545-46 โดยใช้ทหารเกณฑ์ที่คุ้นเคยกับค่ายช่วยวางแผนการอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (60) BRN ซึ่งมีฐานจัดตั้งในท้องที่ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของค่ายพัฒนากองพันที่ 4 เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่และมีการจัดตั้งดีที่สุดตามข้อมูลที่มี. ตำรวจอ้างด้วยว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามะแซ อุเซ็ง และแวอาลี คอปเตอร์ร่วมลงมือด้วย (61) BRN มีประวัติว่าปลุกปั่นหาแนวร่วมตามโรงเรียนสอนศาสนา และในช่วงหลัง มีรายงานว่าเน้นการชักจูงคนรุ่นใหม่หลังมะแซ อุเซ็งเข้าไปเป็นผู้ประสานงาน. มะแซ อุเซ็งสอนหนังสืออยู่ระยะหนึ่งที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาที่มีชื่อเสียงในจังหวัดยะลา (62)

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547 ตำรวจจับกุมครูสอนศาสนา 3 คน และอดีตครูโรงเรียนธรรมวิทยาอีก 1 คน ประกอบด้วย แวยูโซ๊ะ แวดือราแม, มูหมัดคานาฟี ดาเลาะ, อะหามะ บูละ, และอับดุลรอเซะ.หะยีดอเลาะถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏอั้งยี่ แบ่งแยกดินแดนและก่อความไม่สงบ ผู้อำนวยการใหญ่โรงเรียน คือ สะแปอิง บาซอ และผู้ต้องสงสัยอีก 5 คนหลบหนีไปได้ และขณะนี้ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน (63)

สะแปอิง ซึ่งพูดกันว่าเป็นผู้นำปีกการเมืองของ BRN (BRN-Coordinate) ถูกกล่าวหาว่าเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนวางแผนและประสานงานก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้ รวมทั้งการบุกโจมตีเมื่อวันที่ 4 มกราคมด้วย (64) มีรายงานว่าเขาปลุกปั่นชักจูงเยาวชนในโรงเรียนสอนศาสนา ให้มีความคิดแบ่งแยกดินแดนเพื่อจัดตั้งรัฐอิสลาม เขาถูกวางตัวให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐปัตตานี หากปฏิบัติการประสบความสำเร็จ (65) ส่วนแวยูโซ๊ะถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ (66)

ในช่วงวันที่ 7-8 มกราคม 2548 ตำรวจจับกุมครูสอนศาสนาอีก 3 คนคือ มะสุกรี ฮารี, ตอเล๊าะ ดีสะเอะ, และสาแล๊ะ เดง ในข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีเมื่อมกราคม 2547 ตอเล๊ะ ดีสะเอะ ครูสอนภาษามาเลย์ถูกจับกุมอีก 4 วันต่อมา (67) อย่างไรก็ดี หลักฐานที่ตำรวจรวบรวมได้ในคดีนี้อ่อนมาก ส่วนใหญ่มาจากแหล่งเดียว คือ จากอับดุลเลาะ อาโก๊ะ ซึ่งเป็นครูโรงเรียนธรรมวิทยาเหมือนกัน และเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ลงมือก่อเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 เขาถูกจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 และให้ความร่วมมือกับทางการ แต่ว่าตอนที่ถูกจับกุมแรกๆ เขาไม่มีทีท่าว่าจะมีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการวางแผนเหตุโจมตีเดือนมกราคม หรือรู้จักครูในโรงเรียนธรรมวิทยาที่เป็นบุคคลระดับแกนนำของขบวนการ (68) ในเอกสารบันทึกการให้ปากคำ ไม่มีข้อมูลใดๆ ที่ชี้ว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของคนใกล้ชิดกับสะแปอิง และแวยูโซ๊ะ (69)

พยานของฝ่ายอัยการ 4 คนถูกสังหารไปแล้ว ส่วนพยานคนที่ 5 คือ มะดาโอ๊ะ ยะลาแป ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของโรงเรียนธรรมวิทยาถูกลอบยิง แต่รอดมาได้ และพยานคนสำคัญของฝ่ายอัยการอีกคน คือ อุสมาน อุเซ็งหนีไปมาเลเซียภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ เพราะเกรงว่าชีวิตจะไม่ปลอดภัย คาดว่าเขาจะให้ปากคำในการพิจารณาคดีผ่านวีดีโอลิงค์ (70)

การพิจารณาคดีผู้ต้องหา 8 คนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2548 พวกเขาถูกตั้งข้อหาต่างๆ กันในฐานะเป็นสมาชิกของ BRN ฐานร่วมกันวางแผนและลงมือก่อเหตุรุนแรง วางเพลิง ร่วมกันฆ่า และบุกค่ายทหารที่ยะลาและนราธิวาส ผู้ต้องหาปฏิเสธความผิดทุกข้อหา (71)

ไม่มีใครพบอาวุธที่ถูกขโมยไปจากค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ จนกระทั่งวันที่ 2 เมษายน 2548 เมื่อมะสุกรี เซ็ง ครูสอนโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาสุดสัปดาห์ในมัศยิด) ในหมู่บ้านตาจุง ลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ถูกจับกุมตัวโดยหน่วยปฏิบัติการร่วมตำรวจทหาร. นายมะสุกรีนำตำรวจไปยังที่ซ่อนปืนเอ็ม 16 สองกระบอกและสารภาพว่าได้ซ่อนปืนที่เหลือไว้ที่ตำบลกาลุวอร์ เหนือ และอีกส่วนหนึ่งถูกกามารุสมัน (หรือกามัน) ซึ่งเป็นหัวหน้าแจกจ่ายให้กับลูกน้องในกลุ่มไปแล้ว

มะสุกรียอมรับว่าเป็นครูฝึกอาวุธให้กับกลุ่มของกามารุสมัน สมาชิกอีกคนในกลุ่ม ชื่อ มะยุรี นิแวถูกจับกุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน เพราะถูกให้การซัดทอด (72) แหล่งข่าวในหน่วยข่าวกรองทหารกล่าวหาว่า กลุ่มของมะสุกรีมีความพัวพันกับ BRN โคออดิเนต แต่ว่า จนถึงขณะนี้ ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับครูสอนศาสนาที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ และโรงเรียนวิทยาอิสลามพัฒนา (73)

นักการเมืองและข้าราชการท้องถิ่นถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในเหตุโจมตีวันที่ 4 มกราคมด้วย ตำรวจจับกุมอนุพงศ์ พันธชยางกูร กำนันในนราธิวาสเมื่อเดือนมีนาคม 2547 ฐานฆ่าคนตาย ในระหว่างถูกควบคุมตัว เขาได้สารภาพว่าช่วยวางแผนการปล้นปืน นอกจากนี้ ยังซัดทอดนัจมุดดีน อูมา สส. นราธิวาสในขณะนั้น และอารีเพ็ญ อุตรสิน และเด่น โต๊ะมีนา วุฒิสมาชิกจังหวัดปัตตานี ว่าร่วมวางแผน. นัจมุดดีน ซึ่งเป็นประธานพูซาก้าด้วยถูกตั้งข้อหากบฏเมื่อเมษายน 2547 (74) เขาถูกนำตัวขึ้นศาลเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน และปฏิเสธทุกข้อหา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ (75)

ดูเหมือนจะมีความไม่ชอบมาพากลในการปากคำของอนุพงศ์ ตามรายงานระบุว่า เขาบอกกับตำรวจหลายครั้งว่าซ่อนปืน 100 กระบอกที่ถูกขโมยมา ไว้ที่บ้าน แต่ว่าเจ้าหน้าที่หาไม่พบ เขาอ้างด้วยว่าการบุกปล้นปืนที่ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ วางแผนกันในระหว่างประชุมกันที่บ้านนัจมุดดีน (76) แต่ไม่น่าเป็นไปได้ว่าปฏิบัติการที่ซับซ้อนขนาดนั้นจะใช้เวลาวางแผนกันแค่วันเดียว นอกจากนี้ คำให้การของเขายังขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่าตำรวจซ้อมทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ (77)

มีผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมไปหลายคน แต่ว่ามีหลักฐานไม่มากพอในขั้นนี้ที่จะบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ใครวางแผนและลงมือโจมตี หลักฐานที่มีพอจะบอกได้แต่ว่าน่าจะเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดอาวุธของทางการและทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล นอกจากนี้ ผู้ลงมือยังมีฝีมือมากพอจะจู่โจมค่ายทหารได้

เท่าที่ทราบ มีอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปอย่างน้อย 2 กระบอกที่อยู่ในครอบครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่อย่างไรก็ตาม ยังเร็วไปหากจะสรุปว่า BRN อยู่เบื้องหลังการโจมตี (78) หลักฐานที่นำมาปรักปรำครูสอนศาสนาและนักการเมืองก็อ่อน นอกจากนี้ คำสารภาพต่างๆ ก็ขาดความน่าเชื่อถือเพราะข้อกล่าวหาที่ว่า "มีการทำร้ายร่างกายทรมานผู้ต้องหา"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกกลับไปทบทวน - คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๔

เชิงอรรถ :

(1) เจ๊ะกุเป็ง ตายเมื่อวันที่ 8 เมย. 2548 ด้วยวัย 63 ปี ผู้นำใหม่ยังไม่ปรากฏ, Relatives confirm deaths of insurgents', สำนักข่าว TNA, 21 เมย. 2548

(2) Wan Kadir, อ้างแล้ว หน้า 107-109

(3) คนที่มาแทนคือหะยี อามีน โต๊ะมีนา (บุตรชายหะยีสุหลง) จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 2548 และวัน มูหะหมัด วันยูซุฟ รับหน้าที่ต่อ และยังคงอยู่ในเปรัค ภาคเหนือของมาเลเซีย จากการสัมภาษณ์ จนท.ตร. ระดับสูงโดยไครซิสกรุ๊ป, ยะลา, เมย. 2548

(4) 'Thai Muslims holding dual nationality pose constant security problem', Bangkok Post, 16 มค. 2538

(5) ช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว BRN มีพื้นที่ปฏิบัติการ 3 เขต แต่ละเขตมีหัวหน้าในการปฏิบัติการของตนเอง มะ สุไหงบาตู รับผิดชอบเขตหนึ่งครอบคลุมกรงปินัง รามัน อ.เมือง บันนังสตาร์ และธารโตในยะลา มีกำลังในกลุ่ม 40 คนแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม มีที่หลบซ่อนตามชายแดนไทยมาเลเซียตรงข้ามหมู่บ้านสุไหง ในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา. อรียะ โต๊ะบาลารับผิดชอบเขต 2 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ระแงะและจะแนะ เจาะไอร้อง ศรีสาครในนราธิวาส. เปาะยะลารับผิดชอบเขต 3 ซึ่งครอบคลุม อ.เมือง และกิ่ง อ.กาบัง ในยะลา มีกำลังคน 30 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม มีที่หลบซ่อนตามชายแดนไทยมาเลเซียตรงข้ามหมู่บ้านคลองผุด ในกิ่งอ.กาบัง ในยะลา. จาก 'Rebel demise - bandit's death weaken reign of terror in South', Bangkok Post, 13 เมย. 2540

(6) Wan Kadir, อ้างแล้ว หน้า 107

(7) พูโลเริ่มออกเอกสาร "บัตรประจำตัวพลเมืองสาธารณรัฐปาตานี" ให้กับชาวปัตตานีที่อยู่ในซาอุดิอาระเบียพร้อมกับเก็บภาษี รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเองก็เริ่มอึดอัดใจมากขึ้น กับการที่พูโลใกล้ชิดกับสมาชิกพรรคบาอัด (Baath) ในซีเรีย ทั้งยังเปิดสำนักงานในอิหร่านด้วย, เพิ่งอ้าง หน้า108

(8) U.S Pacific Command (CINCPAC) Virtual Information Center, 'Primer: Muslim separatism in Southern Thailand', 23 กค. 2545 หน้า 9-10; Peter Chalk, 'The Islamic factor in Southern Thailand, Mindanao and Ache', Studies in Conflict and Terrorism24, 2544, หน้า 244

(9) Peter Chalk, 'The Islamic factor', อ้างแล้ว หน้า 244
(10) เพิ่งอ้าง
(11) Don Patan, 'Same faces, but motives have changes', The Nation, 3 เมย. 2545

(12) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านการข่าวทหาร, ยะลา, เมย. สุภลักษณ์ กาญจนขุนดีและดอน ปาทาน (เรียบเรียง) "สันติภาพในเปลวเพลิง", เนชั่นบุคส์, 2547, 320-321 มีรายงานด้วยว่า หัวหน้ากลุ่ม GMIP เจ๊ะกุแม กูเต๊ะ ซึ่งถูกจับกุมที่มาเลเซียเมื่อเดือนมกราคม 2548 ช่วยเหลือในการก่อตั้งด้วย เจ๊ะกุแม กูเต๊ะเป็นหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม ของ GMIP แต่แยกตัวออกไปเมื่อปี 2536. สำหรับกองกำลังของ GMIP นั้น มีรายงานว่า ในปี 2539 กลุ่มมีกำลังคน 27 คน ในจำนวนนี้ 8 คนได้รับการอบรมเรื่องการใช้วัตถุระเบิดมาแล้ว แต่ว่า 2 คน (มะแอ อะยา กับมะรุดิง เต็งนิ) ถูกจับเมื่อ 29 กพ. 2539, 'Mujahidin Blamed for Grenade Attacks', Bangkok Post, 30 พค. 2539

(13) Anthony Davis, 'Thailand faces up to southern extremist threat', Jane' Intelligence Review, ตค. 2546

(14) ในมาเลเซีย มีการก่อตั้งกลุ่ม เคเคเค หรือ Kumpulan Mujahidin Malaysia ขึ้นในปี 2538 เช่นกันโดยอดีตนักรบผ่านศึกตจากอาฟกานิสถาน ซึ่งในจำนวนนั้นมี Zainol Ismael รวมอยู่ด้วย Nik Adili Nik Aziz เข้าร่วมกลุ่มเคเคเคหลังจากกลับถึงมาเลเซีย เมื่อปี 2539 ต่อมานักสู้ทั้งจากไทยและมาเลเซียได้เข้าร่วมกับกลุ่ม Rabitat-ul Mujahidin ซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มนักสู้จากเอเชียใต้หลายกลุ่มที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเจไอ หรือเจมาห์ อิสลามิยาซึ่งก่อตั้งในปี 2542. จากรายงานของไครซิสกรุ๊ป ฉบับที่ 43, Indonesia Backgrounder: How the Jemaah Islamiyah Terrorist Network Operates, 11ธค. 2545, หน้า 8; เชิงอรรถเลขที่ 36; Anthony Davis, 'Thailand confronts separatist violence in its Muslim south', Jane's Intelligence Review, 1 มีค. 2547

(15) GMP เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ปฏิบัติการเฉพาะในระแงะและรือเสาะในปัตตานี และมายอ และยะหริ่ง ในนราธิวาส, Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 240 เชิงอรรถที่ 43

(16) 'Birth of a Movement - The story behind Gerakan Mujahidin Islam Pattani', Bangkok Post, 18 มค. 2541 แหล่งข่าวด้านงานข่าวกรองชี้ว่า GMIP กับนิวพูโลยังร่วมมือกันในงานข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองในปี 2543 โดยร่วมมือกับกลุ่มที่ 3 ด้วยคือ Gerakan Srinako ภายใต้ร่มธงของ BERSATU, ดร.รุ่งแก้วแดง (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ), สงครามและสันติสุขที่ชายแดนภาคใต้, (สำนักพิมพ์มติชน, 2547) หน้า 124

(17) เบอร์ซาตู (Bersatu) ได้รับการก่อตั้งหนแรกในปี 2532 แต่มีบทบาทในเดือน มิย.ปี 2540 เป็นองค์กรรวมศูนย์แบบหลวมๆ เพื่อการประสานงานด้านการเมืองของพูโล, นิวพูโล, จีเอ็มไอพี, และบีอาร์เอ็น. เบอร์ซาตูมีฐานในมาเลเซียและมีผู้นำคือพวกที่อาศัยอยู่ต่างแดนที่ค่อนข้างสูงวัย หนึ่งในนั้นคือ วัน คาเดร์ เจ๊ะ มาน (ดร.ฟาเดห์) (Wan Kadir Che Man) ซึ่งยอมรับว่าเบอร์ซาตูไม่มีส่วนควบคุมการปฏิบัติการ 'Southern Strategy:talks with separatist informal', Tha Nation, 26 พค. 2547 เบอร์ซาตูบางครั้งมีชื่อเรียกว่า สภาที่ปรึกษาประชาชนมาเลย์ปาตานี (Majelis Permesyuaratan Rakyat Melayu Patani, MPRMP)

(18) Peter Chalk and Angel Rabasa, 'Muslims Separatist Movement in the Philippines and Thailand', ใน Indonesia's Transformation and the Stability of Southeast Asia (Rand, 2001) หน้า 96-97

(19) เพิ่งอ้าง; 'Chronological list of the events - arrest of the PULO's top guns', Bangkok Post, 1 กพ. 2541

(20) เพิ่งอ้าง; Peter Chalk, 'Separatism in Southeast Asia',อ้างแล้ว หน้า 244

(21) รัฐบาลปรับปรุงนโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสำคัญ รวมทั้งสานต่อเรื่องการดึงมุสลิมให้เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง ดูเพิ่มเติมจาก Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 163-181

(22) กระทรวงต่างประเทศของไทยยังดำเนินการทางการทูต เพื่อชักจูงให้ประเทศในตะวันออกกลางเห็นว่า โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความทันสมัยในจังหวัดภาคใต้ของรัฐบาลไทยยังผลให้ความเป็นอยู่ของประชากรมุสลิมดีขึ้น และรัฐบาลเหล่านั้นควรจะหยุดสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน, Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 69

(23) Chalk กับ Rabasa, อ้างแล้ว หน้า 97
(24) 'Terrorists asked to surrender in a month's time', The Nation, 27 มค.2541

(25) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ จนท.หน่วยงานข่าวกรองของทหาร ที่ได้พบกับผู้นำที่ลี้ภัยเหล่านี้, ยะลา, เมย. 2548, 'Security in South - Separatists in Malaysia flee abroad', Bangkok Post, 22 กพ.2541

(26) Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 149-150

(27) ช่วงระหว่างปี 2522 - 2540 มีจำนวน 919 คนเข้ามอบตัว, เพิ่งอ้าง หน้า 161, ในจำนวน 50 คน ที่เปลี่ยนข้างในปี 2541 มี 23 คนมาจากกลุ่มพูโล ซึ่งเข้าใจกันว่ามีสมาชิกจำนวน 93 คน อีก 20 คนมาจากกลุ่มนิวพูโลที่เข้าใจกันว่ามีสมาชิก 102 คน, 7 คนมาจากกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เชื่อกันว่ามีสมาชิก 131 คน แต่ไม่มีคนจากกลุ่มจีเอ็มไอพี ซึ่งคาดกันว่ามีสมาชิก 79 คนเข้ามอบตัว. ตัวเลขมาจากรายงานของศอ.บต.อ้างไว้ใน 'Terrorism, 50 separatists surrender', Bangkok Post, 12 มีค. 2542

(28) Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 161

(29) เขายังประเมินด้วยว่า ยังมีผู้นำหลายกลุ่มที่อยู่นอกประเทศอีก 200 คน 'Name hitch for unity plan', Bangkok Post, 4 สค. 2543

(30) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ จนท.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ปัตตานี เมย. 2548
(31) Anthony Davis, 'Thailand's troubled south', Jane' Intelligence Review,1 ตค. 2546
(32) Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 69-70

(33) สุภลักษณ์กับดอน, อ้างแล้ว หน้า 331-332; Anthony Davis, 'Southern Thai Insurgency gains fresh momentum', Jane' Intelligence Review,1 สค. 2547

(34) ไครซิสกรุ๊ป สัมภาษณ์ จนท.ทหาร, ปัตตานีและยะลา, เมย. 2548
(35) กรุณาดูเชิงอรรถเลขที่ 128

(36) สมาชิกบางรายเรียกขบวนการนี้ว่า เปอมูดาหรือเปอมูดอ ตามสำเนียงภาษาในปัตตานี บางครั้งก็เรียกกันว่า เปอมูดา เบอร์ซาตู; บางกลุ่มไม่แน่ใจว่าเรียกอย่างไรกันแน่. ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ จนท.ทหาร และสมาชิกของปีกเยาวชนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ยังไม่ชัดว่ากลุ่มไหน, ปัตตานี, เมย. 2548; เอกสารการให้ปากคำของอะดินัน ซาริเด, 31 พค, 1 มิย 2547; แว อารง ฮู กับอัสมิน กะจิกับคนอื่นๆ ขบวนการนี้บางทีรู้จักกันในนาม พีเคอาร์อาร์พี (Pasukan Komando Revolusi Rakyat Patani) ข้อมูลจากที่ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ชิดชนก ราฮิมมูลา, นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับด้านความขัดแย้งในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา, ปัตตานี, เมย. 2548

(37) จากการประเมินด้านข่าวกรอง พื้นที่ที่เปอมูดามีความเข้มแข็งมากที่สุดคือ ในสุไหงปาดีและสุไหงโกลกในนราธิวาส และยะรังในปัตตานี. ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์จนท.ข่าวกรองทหาร, ยะลา, เมย. 2548

(38) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์จนท.ตร.ระดับสูง,ปัตตานี, ธค. 2547
(39) รุ่ง แก้วแดง, อ้างแล้ว หน้า 125
(40) Davis, 'Thailand's Troubled South', อ้างแล้ว
(41) ดูข้อความถัดไป
(42) Davis, 'Troubled South', อ้างแล้ว

(43) ตร.เชื่อว่านาซอรีหลบซ่อนอยู่ในภาคเหนือของมาเลเซีย และได้ออกหมายจับในปี 2543, 2544และ 2545, 'Militants face treason charges', The Nation, 15 มค. 2547

(44) Davis, 'Southern Thai Insurgency', อ้างแล้ว
(45) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์จนท.ทหาร, กรุงเทพฯ ปัตตานี และยะลา, เมย.2548

(46) 'Battle is on for hearts and minds in the South', The Nation, 12 มค. 2547, มีการกล่าวหาว่า การหลบหนีของนะแซ แสนิงเป็นการจัดฉากของ ตร. เพื่อที่จะได้ฆ่าทิ้ง ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของไครซิสกรุ๊ป, เมย. 2548

(47) 'Thailand's Trouble in the south', Jane Intelligence Review, 8 มค. 2547

(48) จาก Anthony Davis, 'Ethnic Devide Widens in Thailand', Jane's Terrorism & Security Monitor, 17 พย. 2547; ตัวเลขจากการประมวลของปณิธาน วัฒนายากร, นักรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ

(49) เหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกับการก่อความไม่สงบอาจหมายรวมไปถึงการโจมตีด้วยการซุ่มยิง ส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่ จนท.ด้านความมั่นคง การวางเพลิง ส่วนใหญ่กับโรงเรียน ในฐานะที่เป็นสัญญลักษณ์ของนโยบายหลอมรวมชาติของรัฐบาลไทย รวมทั้งเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจ และในระยะหลังมีการใช้วัตถุระเบิดที่ประกอบมาอย่างหยาบๆ และระเบิดขนาดเล็กทำกันเองโดยเป้าหมายก็ยังเป็น จนท.ด้านความมั่นคง สถานที่ราชการ แต่ว่าตั้งแต่ มค. 2547เริ่มขยายไปหาเป้าหมายที่ง่ายกว่ามากขึ้น

(50) การสอบสวนของกองทัพภาคที่ 4 สรุปว่า มีผู้ก่อเหตุอย่างน้อย 50 คน จากข้อมูลของกองทัพ อาวุธที่ถูกขโมยไปประกอบด้วยปืนเอ็ม 16 จำนวน 366 กระบอก, ปืนพก 24 กระบอก, เครื่องยิงระเบิด 7 เครื่อง, ปืนกลเอ็ม 60 จำนวน 2 กระบอก และเครื่องยิงจรวด 4 เครื่อง. สุภลักษณ์ และดอน, อ้างแล้ว, หน้า 31 ด้านAnthony Davis นักวิเคราะห์ความมั่นคงประเมินว่ามีผู้ร่วมก่อเหตุ 100-150 คน, นิตยสาร Jane's Intelligence Review, 1 มีนาคม 2547

(51) นิตยสาร Jane's Intelligence Review, 1 มีนาคม 2547
(52) ไครซิส กรุ๊ปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองหลายคน, เมษายน 2548

(53) นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตามที่อ้างใน "Southern Violence: Pattani hit, martial law declared", The Nation, 6 มกราคม 2547 หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พันตำรวจโททักษิณชี้แจงว่าที่พูดว่า "ทหารสมควรตาย" นั้น เขาหมายความว่า "ทหารสมควรถูกลงโทษ" นายกรัฐมนตรีตำหนิสื่อมวลชนว่าอ้างคำพูดมาผิด จากรายงานข่าว "ชี้ป่วนใต้ โยงก่อการร้ายสากล ข้อมูลสันต์ มุ่งสิบสองเป้า กรุงเทพอยู่ในข่าย" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน, 7 มกราคม 2547, แม่ทัพภาคสี่ประกาศ 8 อำเภอใช้กฎอัยการศึก, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 7 มกราคม 2547

(54) "แม่ทัพภาคสี่ประกาศ" อ้างแล้ว
(55ป "Southern violence:Pattani hit, martial law declared", The Nation, 6 มกราคม 2547
(56) "ออกหมายจับแก๊งค์ป่วนใต้ สี่ผู้นำขจก.จากสามขบวนการ ใช้คน 200" มติชน, 15 มกราคม 2547

(57) ผู้ต้องหาทั้ง 5 คนประกอบด้วยมะกะตา ฮารง, 48, สุกรี มะมิง, 37, อับดุลเลาะ หรือ โปเลาะ อาบูคารี, 20, ซูดีรือมัน มาและ, 23, และมะนะเซ มามะ, 25. พลตำรวจโทโกวิท วัฒนะ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เจ้าหน้าที่ยึดขวาน, เลื่อย, ธงชาติมาเลเซีย, กระสุน 61 ชุด และเอกสารต่างๆ ได้จากผู้ต้องหา จากข้อมูลการสอบปากคำยังนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยอีก 4 คน ซึ่งทางการเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เผาโรงเรียนยี่สิบจุดในวันที่ 4 มกราคม 2547

ทั้ง 4 คือ มะแว สามาห์, 19, เจ๊ฮามี เต๊ะ, 39, มะนะเซ มานะเฮง, 23, และอาบูเด็ง อะแว, 39. อับดุลเลาะ อาบูคารีได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกจับพร้อมกันอีก 4 คนนั้น เนื่องจากอัยการยื่นฟ้องไม่ทันเวลา ศาลอาญาจึงสั่งให้ปล่อยตัว แต่ก็ถูกตำรวจจับกุมอีกในข้อหาฆ่าคนตาย ทั้ง 5 ให้ปากคำว่าตำรวจเอาปืนจ่อหัว และเอาปืนยัดใส่ปาก และมีคนปัสสาวะใส่หน้าและปาก พวกเขายังถูกตำรวจใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้างและนำตัวไปที่ชายทะเลแห่งหนึ่ง และขู่ว่าถ้าไม่รับสารภาพจะเอาโยนทะเล

ไครซิสกรุ๊ปได้สัมภาษณ์อนันต์ ไทยสนิท, ทนายของผู้ต้องหาทั้ง 5 ที่รับทำคดีหลังทนายสมชายหายตัวไป, จังหวัดนราธิวาส, เมษายน 2548 ; ไครซิสกรุ๊ปยังได้เห็นจดหมายคำร้องที่ผู้ต้องหาทั้ง 5 บรรยาการทรมานทำร้ายร่างกายของตำรวจ และได้ยื่นให้กับรัฐมนตรีมหาดไทยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 โดยได้ดูเอกสารชิ้นนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2547. สุกรี มะมิง, 38, มะแว สาแมะ หรือ สาเมาะ, 19, เจ๊ะฮามิ เต๊ะ, 39, และมักตา หรือมะกะตา ฮารง, 49, ถูกตั้งข้อหาร่วมกันฆ่า, ศาลจังหวัดนราธิวาส, คดีหมายเลข 751/2547 ตัวเลขที่ระบุในรายงานเป็นดอลลาร์ หมายถึงดอลลาร์สหรัฐ

(58) มีคนเห็นสมชายครั้งสุดท้ายที่โรงแรมชาลีน่า ถนนรามคำแหง ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 รถถูกจอดทิ้งอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร ใกล้สถานีหมอชิต 2, เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 คนถูกตั้งข้อหาพัวพันการลักพาตัว ศาลเริ่มพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 สมชาย นีละไพจิตรเป็นทนายให้กับผู้ต้องหา 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่าวางแผนระเบิดสถานทูตของหลายประเทศ ตามแผนของเจมาอิสลามิยาห์. ไครซิส กรุ๊ปได้สัมภาษณ์เพื่อนทนายของสมชาย ชาลิดา ท่าเจริญสุข ผู้อำนวยการด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ Asian Forum for Human Rights and Development และอัฮะหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง อดีตนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเดือนธันวาคม 2547; "Missing Lawyer Somchai accused police of torture", The Nation, 27 มีนาคม 2547

(59) ข้อขัดแย้งระหว่างตำรวจกับทหาร อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของเหตุรุนแรง แก็งค์อาชญากรรมซึ่งหากินใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็จ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงจำนวนหนึ่งก็มีส่วนกับการกระทำผิดกฎหมายอย่างเช่น การลักลอบค้ามนุษย์ ยาเสพติดและอาวุธขนาดเล็ก ดู David Fulbrook, " Thailand: behind the Muslim 'insurgency'", International Herald Tribune, 17 ธันวาคม 2547

Saroja Dorairajoo ชี้ว่า เหตุวางระเบิดที่จุดตรวจร้างของตำรวจและการวางเพลิงโรงเรียน (ไม่มีนักเรียน) มักจะเกิดถี่ก่อนหน้ารัฐสภาจะอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดู The Ghost of Separatism Revived: the current state of the Malay Muslim separatist movement in southern Thailand", ใน Vivienne Wee, Political Fault Lines in Southeast Asia: Movements for Alternative Sovereignty in Nation States (London, 2004)

(60) ผู้นำ GMIP คือ นายมามะ แมะเราะห์ (ถูกยิงตายในระหว่างการปะทะกับตำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2547) เคยผ่านการฝึกเป็นทหารมาก่อน ดู Davis, "Thailand faces up to southern extremist threat", ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของอุเซ็ง มะมะ (ในฐานะทหารเกณฑ์และ สมาชิก GMIP) ในการบุกค่ายนาวิกโยธิน ที่ยะลา เมื่อเดือนเมษายน 2546

(61) ใยผ้าจากถุงที่ใช้ขนอาวุธจากค่าย ตรงกับใยผ้าที่พบบนเสื้อผ้าที่บ้านของคนทั้งสอง ไครซิสกรุ๊ปได้สัมภาษณ์เข้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่, ยะลา, เมษายน 2548

(62) มะแซ อุเซ็งหลบหนีไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ตามรายงานระบุว่า เขาหนีไปมาเลเซีย หลังจากถูกตำรวจขู่จะเอาชีวิต ก่อนหน้านั้น เขาเป็นครูที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และเป็นเลขานุการของพูซากา ซึ่งเป็นสมาคมตาฏีกาของนราธิวาส (โรงเรียนสอนศาสนาสุดสัปดาห์) ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ของไครซิส กรุ๊ป เดือนเมษายน 2548; "TRT MP's 'fund body linked to militants", The Nation, 2 เมษายน 2547 เอกสารที่ยึดได้จากการบุกค้นบ้านมะแซ เมื่อปี 2546 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการแทรกซึมตาฏีกา Anthony Davis, "School system forms the frontline in Thailand's southern unrest", Jane's Intelligence Review, 1 พฤศจิกายน 2547 ครูโรงเรียนตาฏีกาหลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงสถานที่ราชการ และหาสมาชิกให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ข้อมูลได้จากการสอบปากคำยะคะเรีย อาลี

(63) มีข่าวว่าสะแปอิง ติดต่อขอมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในรัฐบาล เมื่อเดือนมกราคม 2548 แต่เกิดเปลี่ยนใจในภายหลัง ทางการไทยเชื่อว่าเขาหลบซ่อนตัวอยู่ทางเหนือของมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยว่า เขาถูกควบคุมตัวได้อย่างลับๆ และถูกตำรวจไทยควบคุมตัวอยู่. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของไครซิส กรุ๊ป, ยะลา และปัตตานี, เมษายน 2548

(64) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง, กรุงเทพฯ ยะลา และปัตตานี, เมษายน 2548

(65) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหาร, กรุงเทพฯ ยะลา และปัตตานี, เมษายน 2548

(66) ว่ากันว่าเขาจัดการฝึกอบรมการรบและสั่งให้สมาชิกสังหารตำรวจ ครูโรงเรียนรัฐบาล พระ และพลเรือน "Religious teachers plead not guilty, The Nation, 11 มีนาคม 2548

(67) "ตั้งค่าหัวสะแปอิงเพิ่ม 10 ล้าน รวบอีก 5 ป่วนใต้ มีอุสตาส 3" ,มติชน, 11 มกราคม 2548

(68) ในการให้ปากคำครั้งแรก อับดุลเลาห์ อาโก๊ะอ้างว่า รู้จักอุสตาสโซะ ซึ่งชักชวนเขามาร่วมงานกับสมาชิกร่วมกลุ่มอีก 4 คน และปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนในโรงเรียนธรรมวิทยา. นอกเหนือไปจากที่ร่วมกลุ่มของโซะ ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เขาบอกว่ารู้จักแต่สมาชิกในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น ดูจาก "Southern Front", Time, 11 ตุลาคม 2547; "Superstition, fear and loathing: the secret life of the Thai Muslim militant", 1 กันยายน 2547, AFP

อย่างไรก็ตาม ในการให้ปากคำครั้งที่สอง เขาได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเคลื่อนไหวในโรงเรียน ซึ่งตรงกับข้อมูลในเอกสารที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากบ้านของมะแซ อุเซ็งอย่างน่าประหลาด ในการให้ปากคำไม่มีข้อมูลว่า อับดุลเลาะรู้จักบุคคลสำคัญในกลุ่มได้อย่างไร เอกสารบันทึกการให้ปากคำของอับดุลเลาะ อาโก๊ะ ซึ่งไครซิส กรุ๊ปได้เห็น, เมษายน 2548

(69) อ้างแล้ว, "The turning point that wasn't", The Nation, 27 มกราคม 2548

(70) ตามข้อมูลของแหล่งทหาร มะดาโอ๊ะ ยะลาแพ ให้การปรักปรำสะแปอิง ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารของไครซิส กรุ๊ป, เมษายน 2548

(71) "ศาลนัดเปิดคดีแปดอุสตาสป่วนใต้ 11 เมษายน", สำนักข่าวไทย, 10 มีนาคม 2548

(72) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยไครซิส กรุ๊ป, เมษายน 2548; "Two survive ambushes in Pattani, Bangkok Post, 19 เมษายน 2548

(73) สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหารทางโทรศัพท์, เมษายน 2548
(74) "TRT MP's 'fund body linked to militants", The Nation, 2 เมษายน 2547

(75) "Nujmuddin granted Bht3m bail", The Nation, 4 มิถุนายน 2547 อารีเพ็ญบริจาคเงินให้พูซาก้า 100,000 บาท, พูซาก้าเป็นสมาชิกตาฏีกาของจังหวัดนราธิวาส (โรงเรียนสอนศาสนาสุดสัปดาห์) ซึ่งมะแซ อุเซ็งเป็นเลขาธิการอยู่ก่อนหน้าจะหลบหนีไป ทางการไทยอ้างว่า พูซาก้าเป็นฉากบังหน้าของบีอาร์เอ็น แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น พูซาก้าเป็นมูลนิธิทำงานด้านการกุศลช่วยเหลือโรงเรียนตามหมู่บ้านต่างๆ และการที่นัจมุดดินและอารีเพ็ญเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น

(76) Asian Human Rights Forum, "Urgent Appeal: Mr Somchai Neelaphaijit is still missing and the police may have been involved in his disappearance", ข้อมูลได้รับการปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2547 ดูได้ที่ http://www.ahrchk.net/ua/mainfile.php/2004/640

(77) เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกกับไครซิส กรุ๊ปว่า อนุพงศ์ ถูกตำรวจนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์และถูกขู่ว่าถ้าหากไม่สารภาพจะถูกโยนจากเฮลิคอปเตอร์ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของไครซิส กรุ๊ป, ยะลา, เมษายน 2548 แหล่งข่าวทหารและตำรวจพูดเหมือนกันว่า คำให้การของอนุพงศ์ไม่น่าเชื่อถือ

(78) เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทหารบางคนยังตั้งคำถามด้วยว่า บีอาร์เอ็นโคออดิเนต มีจริงหรือเปล่า Joseph Liow, "Who are the hands behind Thailand's southern insurgency", Asian Analysis, มกราคม 2548

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ขณะที่อีกด้าน บรรดาเพื่อนบ้านของไทยต่างก็กังวลว่า ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอาจจะชักนำให้เกิดการสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งในศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็ดึงเอากลุ่มนักรบศาสนาอย่างเช่นกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม ในด้านตัวปฏิบัติการเองก็มีความสลับซับซ้อนและมีอาการของการประสานงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนทเข้าช่วย และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตย และที่ซึ่งมีการใช้แนวทางแก้ปัญหาอย่างแข็งกร้าว

22-02-2550

Southern Thailand
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com