โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 27 January 07
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๓๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 26,2007)
R

Reforming Thailand
The Midnight University

การปฏิรูปการเมืองไทยโดยภาคประชาชน
Reforming Thailand: ข้อเสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ๒๕๕๐
ทีมงานวิจัยการสร้างองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปการเมือง
นำเสนอโดย : ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์
(นำมาจากเว็บไซต์ onopen)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

บทความชิ้นนี้นำมาจากงานเสวนาเรื่องการปฏิรูปการเมือง"ระบบเลือกตั้ง ๒๕๕๐"
ในส่วนของ อ.สมบัติ จันทรวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งมีข้อเสนอเรื่องการพิจารณาระบบการเลือกตั้ง และเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง
พร้อมทั้งทำให้ระบบรัฐสภาเข้มแข็ง คานอำนาจกันได้ และตรวจสอบนายกฯ ได้
สุดท้ายเป็นการมองภาพการเมืองไทยในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๓๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๖ หน้ากระดาษ A4)

 

เกริ่นนำ

Reforming Thailand กับ สมบัติ จันทรวงศ์: "เรามีประธานาธิบดีในรูปนายกฯ ที่ยุบสภาได้"
ในงานเสวนาปฏิรูปการเมืองเรื่อง "ระบบเลือกตั้ง 2550" ซึ่งทีมวิจัย 'การสร้างองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปการเมือง' ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2549

ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ วิเคราะห์การเมืองไทย และใส่ข้อเสนอเรื่อง 'การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง' ลงในวงวิวาทะเรื่องปฏิรูปการเมืองอย่างเข้มข้น

ระบบเลือกตั้ง
ระบบเลือกตั้งมีความสัมพันธ์โยงใยกับเรื่องอื่นอีกมาก ถ้าเราพูดเรื่องปาร์ตี้ลิสต์ว่าจะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ (สัดส่วนของคะแนนเสียงของพรรคเทียบกับคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ซึ่งจะนำมาใช้คำนวณสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค (รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ 5%) เท่าไร, ก็จะโยงกับเรื่องการกำหนดเขตเลือกตั้งว่า เราต้องการเขตเลือกตั้งแบบไหน

เขตเลือกตั้งก็จะเป็นตัวกำหนดต่อไปว่า เราต้องการพรรคการเมืองแบบไหน เช่น ถ้าเราต้องการให้มีตัวแทนทุกของพรรค เราก็ต้องไปทำให้ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ต้องกำหนดเรื่องเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น ถ้าคุณได้คะแนน 3 แสน เอาไปเลย ส.ส. 1 คน เมื่อพูดถึงระบบเลือกตั้ง เขตเดียวเบอร์เดียว หรือรวมเขต หรือแบ่งเขตเรียงเบอร์ มันจะสะท้อนถึงพรรคการเมืองที่ต่างกัน

ถ้าเป็น Single Member District (เขตเดียวเบอร์เดียว) โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองสองพรรคก็มีมากขึ้น เพราะมันได้คนเดียว คนอื่นไม่มีโอกาส ก็ไม่เสี่ยง เขาก็ส่งไปเท่าที่เขาคิดว่ามีโอกาส แต่ถ้าเป็น Multi Member District (เขตเดียวเรียงเบอร์) อย่างนี้หลายพรรคก็มีโอกาสที่จะเกิด เพราะฉะนั้น มันโยงกันหมด เราต้องดูว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ถึงจะสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งได้

รวมไปถึงวุฒิสภา ถามว่ามีไว้เพื่ออะไร ถ้ามีไว้เพื่อกลั่นกรอง แปลว่า ส.ส. ไร้วุฒิภาวะหรือ ถึงต้องมีสภาพี่เลี้ยง ผมว่าเราต้องพูดตรงไปตรงมาเลยว่าจะเอาวุฒิสภาไว้ทำไม ในอดีตสมาชิกวุฒิสภาชุดแต่งตั้งมีเอาไว้เพื่อเป็นฐานรองรับข้าราชการ เพื่อให้เขามีอำนาจ ถ้าเขาไม่มีบทบาทเล่นทางสภาเขาก็ไปเล่นทางอื่น นี่ถ้ามีวุฒิแต่งตั้ง เผลอๆ ๑๙ กันยาไม่เกิด. ผมคิดว่า เราต้องตั้งให้ชัดเลยว่าเป้าหมายของเราคืออะไร

รัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ควรเลิกบังคับประชาชนให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
อีกสิ่งหนึ่งที่ยังไม่มีใครพูดกัน ผมว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อไปเลิกบังคับประชาชนให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเถอะครับ ผมไม่เห็นด้วย เพราะว่าการไปกำหนดให้เป็นหน้าที่ ทำให้งานของ กกต. เยอะขึ้นโดยไม่จำเป็น บังคับเขาก็ไม่ได้ ถ้าผมไม่ไปเลือกตั้ง แล้วผมจะเสียสิทธิอะไร? ไม่มีสิทธิประท้วงผลการเลือกตั้ง ปัดโธ่เอ๊ย ให้ผมไปเลือกผมยังไม่ไปเลย แล้วจะให้ผมหมดสิทธิ์ที่จะประท้วงผลการเลือกตั้ง ให้หมดสิทธิจะลงประชามติ ให้หมดสิทธิเสนอร่างกฎหมาย ให้หมดสิทธิเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน มันไม่ได้เรื่อง มันไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

ส่วนการกำหนดให้คนอยู่ต่างประเทศเลือกตั้ง เลิกได้เลยครับ นั่นผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะว่ากรณีของประเทศสหรัฐอเมริกัน เขาเลือกกันตำแหน่งเดียว ของเราเลือก ส.ส.ตั้ง 400 เขต ไอ้ 1 คะแนน 1 เปอร์เซ็นต์ที่กลับเข้ามาไม่มีผลอะไรเลย

ปีที่แล้ว ผมไปประชุมที่ฟิลิปปินส์ ผมจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะว่ามันทั้งน่าเศร้า ทั้งน่าตลก มีนักวิชาการอาวุโสท่านหนึ่ง เขากำลังรณรงค์ให้ฟิลิปปินส์มีการเปลี่ยนระบบจากระบบประธานาธิบดี มาเป็นระบบรัฐสภาแบบเรา แล้วเขาก็พูดว่าของเขามันชั่วยังไง ผมฟังแล้วก็บอกว่าของเราก็ไม่ต่าง ผมกำลังงงว่าตอนนี้เมืองไทยกำลังจะไปเป็นแบบอื่น ผมว่ามันกลับตาลปัตรนะครับ เขาบอกเหตุผลว่า ของเขาไม่ดี มันมั่นคงจนเกินไป ถ้ามาเป็นแบบเรา มันเปลี่ยนได้, มีปัญหา สภาเอาออกได้, ผมบอกว่า มันตรงกันข้ามนะ

เรื่องที่สอง เราพูดกันถึงเรื่องระบบ พูดถึงเรื่องสถาบันและกระบวนการทางการเมือง แต่ว่าในทางรัฐศาสตร์ สถาบันและกระบวนการทางการเมืองมีความสำคัญรองจากโลกทัศน์ รองจากวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชน คุณจะร่างสถาบันออกแบบกระบวนการอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ประชาชนและนักการเมืองเขาจะตีความกันเอง

ซื้อสิทธิ์ขายเสียงผิดกฎหมาย
ขออนุญาตเล่าสักนิดว่า เมื่อ รสช. ทำการปฏิวัติใหม่ๆ เขามีการส่ง สามทหารเสือ สี่ทหารเสือ ไปอบรมประชาธิปไตยทั่วประเทศ ตอนนั้นผมทำวิจัย ลงพื้นที่ที่ยากจนที่สุดจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ผมลง 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง เมื่อสี่เสือประชาธิปไตยลงไป ทุกหมู่บ้านมีป้ายเขียน "ซื้อสิทธิ์ขายเสียงผิดกฎหมาย" เสร็จแล้ว กระทรวงมหาดไทยตอนนั้นรายงานว่าได้ผล 100% ผมก็ส่งนักวิจัยลงไปที่อำเภอนั้น ถามเขาว่า เขาเข้าใจไหมว่าซื้อสิทธิขายเสียงเป็นอย่างไร เขาเข้าใจ เหมือนที่คนลงไปอบรมเป๊ะเลย

หลังจากนั้นก็มีประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง นักการเมืองเริ่มหาเสียง ผมก็ส่งนักวิจัยลงที่เดิมอีก ถามซ้ำอีก แต่คราวนี้เราถามใหม่ แทนที่จะถามว่า ทำอย่างนี้ผิดกฎหมายเลือกตั้งไหม เราถามว่า ถ้าคนที่คุณจะเลือก เป็นคนดีอยู่แล้ว แล้วถ้าเขาทำดังต่อไปนี้ หนึ่ง สัญญาว่าจะให้, สอง สัญญาว่าจะแจก, อย่างนี้ถือว่าซื้อสิทธิขายเสียงไหม ปรากฏว่าเสียงมันเริ่มเปลี่ยนแล้วนะครับ ไม่ใช่ 100% แล้วนะครับ มันสักประมาณ 50-60% พอโค้งสุดท้าย ส่งลงไปอีก ถามคำถามเดียวกัน คราวนี้ไม่เลยครับ ถ้าเขาชอบคนนี้อยู่แล้ว ถึงจะมาแจก มาซื้อ มาให้ ก็ไม่ถือว่าเป็นการซื้อสิทธิขายเสียง

แล้วผมเชื่อว่าผลวิจัยนี้ ปัจจุบันก็ยังใช้การได้อยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าระบบเลือกตั้งจะเป็นแบบที่ผ่านมา ที่เป็นอยู่ หรือที่กำลังจะทำใหม่ จะมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไหม? ผมแน่ใจว่ามี ไม่ว่าจะใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว แบบรวมเบอร์ หรือแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ ผมว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะไม่หมดไป เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ผิดในแง่ของเขา ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว พรรคการเมืองจะมีบทบาทมาก หัวของพรรคจะมีความหมายมาก แต่เนื่องจากว่ามัน "ต้องได้" การใช้เงินก็จะยิ่งมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าตรงนี้ เราต้องตั้งคำถามให้มันใหญ่แล้วโยงทั้งหมด ถึงจะได้คำตอบว่าถ้าต้องการเป้าหมายนี้ จะต้องออกแบบระบบเลือกตั้งอย่างไร

วุฒิสมาชิก มีไปก็เปลืองเปล่าๆ
ส่วนเรื่องวุฒิสมาชิก ผมว่าเลิกเถอะ ไม่มีประโยชน์เลย เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ หน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย สภาก็มีอยู่ ศักดิ์ศรีก็เท่ากัน สภาผู้แทนราษฎรมีศักดิ์ศรีสูงกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่าประธานรัฐสภาก็มาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร เราจะมีวุฒิสภาไว้ทำอะไร ถ้าวุฒิสภาแก้ร่างกฎหมาย แล้วกลับไปพิจารณาที่สภาผู้แทนฯ ถ้า ส.ส.ยังยืนยัน วุฒิสภาก็ไม่มีความหมาย บวกลบแล้ว ... เปลือง!

เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ปัจจุบัน กำลังจะมีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เริ่มมีประเด็นว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. หรือไม่ ผมถามว่าเหตุผลคืออะไร ถ้านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เลือกตั้งโดยตรงเลยดีไหม?

อย่าลืมนะครับ ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการทำประชาพิจารณ์ ประชาชนบอกว่า อยากได้การเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง เอกสารผมยังมีอยู่นะครับ เสร็จแล้วพวก สสร. เองก็ปอด ไม่กล้า เขาบอกว่าจะไปแข่งบารมีสถาบัน ผมว่ามันคนละเรื่องกัน อันนี้คิดว่าคนไทยแยกแยะออกว่า คนที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง กับผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้ปกเกล้าฯ นั้นแตกต่างกัน

ถ้าเสียงประชาชนบอกว่าเขาอยากเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง เราก็เลี่ยงมาบอกว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. มันเทียบกันไม่ได้เลยระหว่าง นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส., กับนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ลองเทียบน้ำหนักดูสิครับ นายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ก็มาจากเขตเลือกตั้งเล็กนิดเดียว อาจมีสตางค์ เป็นหัวหน้าพรรคใหญ่ แล้วได้เป็นนายกฯ มันยิ่งไปกันใหญ่เลย ถ้าจะนับถือเสียงของประชาชน ทำไมไม่ให้ประชาชนเลือกตั้งไปเลย?

ถ้านายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรง กระบวนการตรวจสอบจะดุเดือดมากเลยตั้งแต่ต้น กรณีอย่างคุณทักษิณไม่มีทางหลุดเข้ามาได้เลย ทุกพรรคจะมีแรงจูงใจที่จะตรวจสอบผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม

หากนายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็จะเป็นการแบ่งแยกอำนาจโดยเด็ดขาด ตอนนี้เราต้องการแบ่งแยกอำนาจโดยเด็ดขาดใช่ไหมครับ แต่ว่าในขณะเดียวกัน เราก็ยังไม่กล้าให้มีการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ยิ่งถ้ามีระบอบรัฐสภาซึ่ง "โกง" ด้วยแล้ว ... โดยหลักการแล้ว ในระบอบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีต้องบริหารแบบรับผิดชอบต่อรัฐสภา แต่นี่ไม่ใช่ คุณทักษิณตั้งรัฐมนตรีตามชอบใจ ปลดตามชอบใจ นั่นคือ ระบอบประธานาธิบดี แล้วยังเป็นประธานาธิบดีที่มีอำนาจยุบสภาอีกต่างหาก ร้ายหนักเข้าไปอีก เพราะประธานาธิบดีแบบอเมริกัน เขายุบสภาไม่ได้

รัฐสภาจะได้หมดปัญหา คุณไม่ต้องกระสันไปเป็นรัฐมนตรี ไม่ต้องคอยหวังว่าจะไปเป็นรัฐมนตรี ทำงานของคุณไป เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายได้ คุณก็ทำงานของคุณไป ไม่ต้องมีวุฒิสภาด้วย แล้วถ้านายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็สามารถจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง เช่น เป็นได้แค่ 2 สมัยได้ แต่ถ้าเป็นระบอบรัฐสภา 2 สมัย คุณจะไปห้ามเขาได้อย่างไร

ผมคิดว่า เราต้องการบรรลุเป้าหมายหลายอย่าง ซึ่งมันขัดกันเอง แล้วต้องการจากระบอบเดิม มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องการเสถียรภาพทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้นายกฯ รับผิดชอบต่อประชาชน เราต้องการให้รัฐสภาเป็นอิสระ ทำหน้าที่คานอำนาจฝ่ายบริหาร แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะในระบอบรัฐสภา รัฐสภาไม่ได้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการเสถียรภาพ ก็ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยากให้สภาคานอำนาจฝ่ายบริหารได้ ก็ให้สภาไม่ต้องไปขึ้นกับพรรคการเมือง

ผมคิดว่า การปฏิรูปการเมืองโดยเอากรณีคุณทักษิณมาเป็นตัวตั้งทั้งหมด มันไม่ถูก ต้องมองให้รอบด้านกว่านั้น มองแต่คุณทักษิณไม่ได้ ผมอยากให้มองว่าตัวประชาชนคิดอย่างไร เขาต้องการอะไร เพราะว่าถ้าเราตั้งของเราไป พอเอาไปใช้จริง ก็มีอาการเพี้ยนทุกที คนฐานล่างต้องการความช่วยเหลือ ความเอื้ออาทร ซึ่งไม่เคยเปลี่ยน หรือยังไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ควรตั้งโจทย์โดยมองระดับชาติอย่างเดียว แล้วคิดว่าจะดีทั้งหมด

พรรคการเมืองไทยยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง หากเป็นกลุ่มเสียมากกว่า คุณทักษิณประสบความสำเร็จในการรวมทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในพรรคเดียวกัน ทำให้สำเร็จ แต่มันก็มีราคาที่ต้องจ่ายมากเหมือนกัน. ระบบที่เป็นอยู่ เราต้องการหลายอย่างพร้อมกัน มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องการ "ตัวแทน" ตัวแทนอาจจะไม่ใช่ผู้บริหารที่ดี อาจจะไม่ใช่คนดี เราต้องการคนซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ ระบบปัจจุบันทำได้ยาก จุดประสงค์ของระบอบรัฐสภาคือทำให้ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเนื้อเดียวกันเกือบทุกปี

สมาคมหนึ่งของอเมริกันมีข้อเสนอว่าสหรัฐอเมริกาเองต้องเปลี่ยนระบอบ ต้องไปเป็นแบบอังกฤษ เพราะว่าของเขาเจอ Dead Lock Democracy ประธานาธิบดีอยู่พรรคหนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติอยู่อีกพรรคหนึ่ง ขยับไปไหนไม่ได้ ฟิลิปปินส์ก็จะเอาอย่างเรา แล้วเราจะเอาอย่างเขา แต่ว่า "กลายๆ" ไม่กล้าใส่เต็มที่ ก็เลยเกิดผลเสีย เรามีประธานาธิบดีในรูปของนายกฯ ที่ยุบสภาได้ เสียหายมาก ถ้าเรามีนายกฯ ซึ่งยุบสภาไม่ได้. ลองคิดดูสิครับ 400 คนในสภา ผมว่าตั้งป้อมซัดแหลกเลย ตรวจสอบทุกอย่าง นายกฯ ไม่โปร่งใส เจ๊งแน่นอน แล้ว 400 คนเป็นตัวแทนของท้องถิ่นได้เต็มที่เลย

การเลือกตั้งแบบแยกส่วน และการตรวจสอบนายกฯ
มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากได้อะไร ถ้าคุณอยากได้ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง คุณต้องเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรง คุณต้องการฝ่ายนิติบัญญัติที่กล้ายืนบนขาของตัวเอง มีกระดูกสันหลัง กล้าท้วงนายกฯ กล้าท้วงหัวหน้าพรรคตัวเอง คุณต้องให้เขามาจากระบบเลือกตั้งที่แยกออกจากฝ่ายบริหาร เราต้องการอย่างนี้หรือไม่

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง กับระบบปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหลายก็บอกว่า เลือกพรรคผม แล้วผมจะเป็นนายกฯ ผมถามว่าแตกต่างกันตรงไหน? ปาร์ตี้ลิสต์กลับยิ่งทำให้นายกฯ มีอำนาจแอบแฝงเป็นประธานาธิบดีไปด้วยโดยที่เราไม่รู้สึก. เพราะฉะนั้นคุณต้องตัดสินใจให้แน่ว่า คุณจะฟังเสียงประชาชน หรือคุณคิดว่าประชาชนยังไม่มีวุฒิภาวะพอ ซึ่งเปลี่ยนเป็นอีกข้างหนึ่งเลยนะ นายกฯ มาจากสภา จะเป็น ส.ส. หรือไม่เป็นก็ได้

เราต้องตั้งโจทย์ให้ถูก ในทางรัฐศาสตร์มันไม่มีคำตอบที่ถูกเสมอ มันมีแต่ว่าในสถานการณ์อย่างนี้คำตอบแบบไหนเหมาะสมที่สุด

ถ้าเราจะใช้ระบบปัจจุบันเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงทางอ้อม ก็ทำไป แต่ว่าจะต้องมีการจำกัดอำนาจนายกฯ มากเหมือนกัน ที่ชัดเจนคืออำนาจยุบสภา ต้องเขียนไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า นายกฯสามารถยุบสภาได้ในเงื่อนไขใดบ้าง การประกาศยุบสภาทุกสมัยเหมือนกันหมด คือการเลี่ยงปัญหา เหมือนเป็นเอกสิทธิ์ของนายกฯที่จะใช้ กรณีสุดท้าย ที่คุณทักษิณยุบสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ผมรับไม่ได้เลย

การตรวจสอบนายกฯ ต้องทำได้ง่าย เพราะว่านายกฯ มีอำนาจมาก เป็นประธานาธิบดีแฝง ถ้านายกฯทุจริต ส.ส.แม้คนเดียวก็ควรจะมีสิทธิ์ยื่นสอบได้ แล้วกลไกที่ว่าต้องใช้การได้จริง

เรื่องการอยู่ในตำแหน่งของนายกฯ ถ้านายกฯ มีอำนาจมาก เราก็ต้องชั่งน้ำหนักกันว่า ต้องการการเลือกตั้งแบบใด เราต้องการการเลือกตั้งแบบใดขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการพรรคการเมืองแบบใด ถ้าเราต้องการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ต้องมีระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ถ้าเรามีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง โอกาสที่จะมีนายกฯ แบบคุณทักษิณก็มีมาก เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าควรจำกัดวาระในการดำรงตำแหน่งนายกฯ

ประเด็นเรื่องรัฐสภา ถ้ามี 2 สภาแบบอเมริกัน วัตถุประสงค์ดั้งเดิมคือเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติอ่อน คือให้ทะเลาะกันเองเสียก่อน ฝ่ายบริหารจะได้ทำงานได้ ฉะนั้น ถ้าเราต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติแข็ง ก็ต้องยกเลิกวุฒิสภา

ในกรณีอเมริกัน พรรคการเมืองไม่มีอำนาจในการกำหนดว่าจะส่งใครลงสมัครในนามพรรคของเขา ต้องให้ประชาชนในพื้นที่ว่ากันเอง ทุกคนมีสิทธิ์จะประกาศตัวเองว่าเป็นผู้สมัครในนามของพรรค ไปสู้กับใครก็ได้ที่ประกาศเหมือนกัน ส่วนของไทยให้สิทธิหัวหน้าพรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัคร หัวหน้าพรรคก็เลยมีอำนาจมากมหาศาลในการชี้ว่าจะเอาใคร พรรคก็ต้องจ่าย พอพรรคต้องจ่ายก็นำไปสู่การคอร์รัปชั่น

การเมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลง
ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกามีพวกผู้สมัครอิสระเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้เป็นตัวแปรที่สำคัญ แต่ในบ้านเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเรียกว่าเป็นคุณูปการก็ได้ คือพรรคไทยรักไทยทำให้คนชายขอบเข้ามามีบทบาททางการเมืองแบบที่เรียกว่า มองในระยะยาวมากขึ้น แต่ว่าเป็นยาวในระยะสั้น แต่เดิมมันเป็นการตอบแทนที่หน่วยเลือกตั้งแล้วจบ แต่ตอนนี้เขามองต่อไปว่าจะมีโคล้านตัวไหม มีอะไรต่อไปไหม ซึ่งมันทำให้ political landscape ของไทยงวดต่อไปจะต่างออกไปเลย แล้วจะมีปัญหาตามมามาก ทั้งในทางดีและทางร้าย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไทยต้องดูให้ดี เพราะว่าผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่เหมือนเดิมแล้ว

+++++++++++++++++++++
หมายเหตุ: ถอดเทปโดยเบญจมาศ บุญฤทธิ์, อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา, เรียบเรียงโดย ปกป้อง จันวิทย์

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกามีพวกผู้สมัครอิสระเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้เป็นตัวแปรที่สำคัญ แต่ในบ้านเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเรียกว่าเป็นคุณูปการก็ได้ คือพรรคไทยรักไทยทำให้คนชายขอบเข้ามามีบทบาททางการเมืองแบบที่เรียกว่า มองในระยะยาวมากขึ้น แต่ว่าเป็นยาวในระยะสั้น แต่เดิมมันเป็นการตอบแทนที่หน่วยเลือกตั้งแล้วจบ แต่ตอนนี้เขามองต่อไปว่าจะมีโคล้านตัวไหม มีอะไรต่อไปไหม ซึ่งมันทำให้ political landscape ของไทยงวดต่อไปจะต่างออกไปเลย แล้วจะมีปัญหาตามมามาก ทั้งในทางดีและทางร้าย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไทยต้องดูให้ดี เพราะว่าผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่เหมือนเดิมแล้ว (ข้อความคัดลอกมาจากบทความ)

อย่าลืมนะครับ ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการทำประชาพิจารณ์ ประชาชนบอกว่า อยากได้การเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง เอกสารผมยังมีอยู่นะครับ เสร็จแล้วพวก สสร. เองก็ปอด ไม่กล้า เขาบอกว่าจะไปแข่งบารมีสถาบัน ผมว่ามันคนละเรื่องกัน อันนี้คิดว่าคนไทยแยกแยะออกว่า คนที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง กับผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้ปกเกล้าฯ นั้นแตกต่างกัน...

26-01-2550