เว็บไซต์ใช้เวลาพัฒนามาตลอดเวลา ๖ ปี กว่า ๒,๑๙๐ วัน แต่ละวันใช้เวล ากว่า ๖ ชั่วโมง รวมเวลากว่า ๑๓,๐๐๐ ชั่วโมง เพื่อสร้างอุดมศึกษาทางเลือกสำหรับทุกคนที่อ่านไทย















บทความลำดับที่ ๑๑๒๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์
ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ ภายใต้ลิขซ้าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักศึกษาและสมาชิกได้รับอนุญาตให้คัดลอกไปได้คำต่อคำ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
R
H
070150
release date
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น... midnight's
ร่วมกันสร้างสรรค์ความรู้และความเสมอภาคเพื่อเตรียมตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
สำหรับผู้ที่สนใจบทความวิชาการก่อนหน้า ท่านสามารถคลิกที่ภาพประกอบ เพื่อย้อนกลับไปอ่านบทความที่เพิ่งผ่านมาได้จากที่นี่

นักศึกษา สมาชิก สามารถคลิกเพื่อค้นหาบทความต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จากแถบสีฟ้า
โดยใส่คำค้นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ต้องการค้นหา
midnightuniv(at)gmail.com

Religion & Philosophy
The Midnight University

ศาสนาและปรัชญาแนวธิเบต
ธารธรรมสามสายกับการบ่มเพาะพลังแห่งการตื่นรู้
วิจักขณ์ พานิช : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจแนวทางศาสนธรรม


บทความวิชาการนี้ ได้รับมาจากผู้แปลและเรียบเรียง
เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธแนวทางธิเบต ซึ่งแบ่งธารธรรมออกเป็น ๓ สาย คือ
สายธารเดิมแท้ (Primordial Lineage)
สายธารการสืบทอด(Transmission Lineage)
และ สายธารอำนาจ(Organizational Lineage)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๒๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑ หน้ากระดาษ A4)

 

ธารธรรมสามสาย: บ่มเพาะพลังแห่งการตื่นรู้สู่การปฏิรูปสถาบันทางศาสนา
Reginald A. Ray เขียน - วิจักขณ์ พานิช แปลและเรียบเรียง

ความนำ
"แรงบันดาลใจ การสร้างสรรค์ และสถาบัน" เรจินัลด์ เรย์ ให้มุมมองในเรื่องของการสืบทอดพุทธธรรม ว่าทำอย่างไรเราชาวพุทธจึงจะสามารถรักษาคุณค่าแห่งการตื่นรู้ในสายธารธรรมให้คงอยู่ไปตราบนานเท่านาน

ทุกศาสนาต่างก็ให้ความสำคัญกับคำถามในเรื่องของความถูกต้องและความถ่องแท้แห่งแก่นคำสอน แล้วเราจะสามารถบอกได้อย่างไรว่าธรรมาจารย์ หรือคำสอนของท่านเป็นสิ่งที่ถูกต้องสอดคล้องตามหัวใจแห่งพุทธธรรมอย่างแท้จริง เราจะบอกได้อย่างไรว่าสายการปฏิบัตินั้นๆ เป็นของจริงหรือของปลอม คำสอนหรือเทคนิคการฝึกฝนนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือแม้แต่คำถามพื้นๆ ที่ว่า "สายปฏิบัติ" หรือ "ธารธรรม" ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ แท้จริงหมายถึงอะไรกันแน่

ในประวัติศาสตร์ศาสนาของตะวันตก สถาบันทางศาสนาดูจะมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินว่าอะไรคือความจริง และอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง สามัญชนจึงมักมองตรงไปยังผู้นำสถาบัน หรือชนชั้นผู้มีอำนาจ ในการตรวจสอบและประเมินกฏเกณฑ์ วินัย ข้อประพฤติ และความถูกต้องของตัวธรรมาจารย์ หลักคำสอน หรือแนวทางการปฏิบัติที่ท่านชี้แนะ หนทางนี้ดูจะเหมาะสมและเข้ากันได้ดีกับศาสนาแบบเทวนิยม ที่ซึ่งสัจธรรมคำสอนถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่พบได้ภายนอก อีกทั้งคนเดินดินธรรมดาก็ดูจะไม่มีศักยภาพและอำนาจใดๆ ในการตัดสินว่าสิ่งใดคือสัจธรรมความจริงสูงสุด

อย่างไรก็ดี แม้แต่ในความเชื่อแบบเทวนิยม เราก็สามารถพบตัวอย่างที่ต่างออกไป หากเรามองดูชีวิตของจีซัส(พระเยซู) และภารกิจการเผยแผ่คำสอนของท่าน ในยุคที่อำนาจทางสถาบันถูกตรึงไปทั่วทั้งอาณาจักร โบสถ์เยรูซาเล็มและพิธีกรรมทางศาสนาทั้งหมดถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด ในฐานะเป็นหนทางเดียวแห่งการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า แต่ในทางกลับกันคำสอนของจีซัสได้บอกไว้อย่างชัดแจ้งว่า "อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า สามารถพบได้ภายในจิตใจของคนทุกคน"

หรือหากพิจาณาคำวิพากษ์วิจารณ์ของมาร์ติน ลูเธอร์ ที่มีต่ออำนาจคริสตจักรโรมันคาธอลิคในสมัยนั้นที่ยืนยันว่า "ไม่มีการไถ่ถอนใดเกิดขึ้นได้ภายนอกโบสถ์" โบสถ์คริสตจักรอันเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจชนชั้นในรูปแบบบุรุษเป็นใหญ่ (male hierarchies) โครงสร้างการปกครองของสถาบัน และอำนาจการต่อสู่แข่งขันทางการเมืองที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้. มาร์ติน ลูเธอร์ได้ท้าทายด้วยวลีที่ว่า "ความเป็นพระอยู่ในตัวผู้ศรัทธา" อันหมายความว่า ไม่มีบุคคลหรือสถาบันใดที่จะสามารถมาคั่นกลางความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจเจกบุคคลกับพระผู้เป็นเจ้าได้ คนทุกคนต่างสามารถมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยตรงกับพระผู้เป็นเจ้าได้ภายในจิตใจของเขา

ในวิถีความเชื่อแบบอเทวนิยม อย่างพุทธศาสนานั้น คำถามในเรื่องของความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องเป็นปัญหาที่ท้าทายในตัวของมันเอง ในมุมหนึ่ง พุทธศาสนาก็เหมือนศาสนาจัดตั้งทั้งหลาย ที่มีองค์กรปกครอง มีสถาบันศาสนา โครงสร้างทางอำนาจ และชนชั้นในสถาบัน ในบางสายปฏิบัติอย่าง ฝ่ายเถรวาท หรือ ฝ่ายธิเบต ภาพของสถาบันที่ว่านี้ดูจะเป็นศูนย์กลางเลยก็ว่าได้ (ในสายปฏิบัติอื่นๆอย่างเช่น เซ็น อาจจะพบเห็นได้มากกว่าในฉากหลัง) โดยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ศาสนาของชาวตะวันตก เมื่อมองไปยังความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพุทธศาสนา คนส่วนมากก็มักจะเข้าใจว่าสถาบันคณะสงฆ์เบื้องสูง อย่างมหาเถรสมาคม คงมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินความถูกต้อง อย่างที่ไม่ต่างไปจากอำนาจของโบสถ์คริสตจักร

แต่เราต้องไม่ลืมว่า ในอีกมุมหนึ่ง พุทธศาสนาในฐานะวิถีการปฏิบัติแบบอเทวนิยม ได้ให้แนวทางที่ชัดเจนที่ว่า สัจธรรมสูงสุดหาได้ถูกค้นพบในปัจจัยภายนอก การเข้าถึงสัจธรรมที่แท้ คือ การตระหนักรู้ถึงศักยภาพสูงสุดภายในหัวใจของผู้ฝึกฝนปฏิบัติ แนวทางที่ว่านี้นำไปสู่คำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง อำนาจภายนอกกับศักยภาพภายใน ว่า ณ จุดใดที่พลวัตระหว่างพลังสร้างสรรค์ทั้งสองนี้ จะสามารถนำไปสู่การพิจารณาถึงความถูกต้องของสายการปฏิบัตินั้นๆ ได้

ในพุทธศาสนาฝ่ายธิเบต คำว่า "สาย" (Lineage) ถูกใช้ในหลายความหมายด้วยกัน ในที่นี้ ๓ ความหมายหลักได้ถูกยกขึ้นมาวิเคราะห์ ได้แก่

- สายในฐานะ "สายธารเดิมแท้" (Primordial Lineage),
-
สายในฐานะ "สายธารการสืบทอด" (Transmission Lineage), และ
- สายในฐานะ "สายธารอำนาจ" (Organizational Lineage)

ผู้เขียนเชื่อว่าด้วยการทำความเข้าใจ "ธารธรรมสามสาย" ที่ว่านี้ จะสามารถตอบคำถามในเรื่องของการตัดสินความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของสายการปฏิบัติที่มีมากมายหลากหลายในพุทธศาสนจักรได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

๑. สายธารเดิมแท้(primordial lineage)
สายธารเดิมแท้นั้น ถือว่ามีความสำคัญที่สุดในบรรดาธารธรรมทั้ง ๓ สายที่ยกมานี้ และในทางประวัติศาสตร์ก็ถือได้ว่ามีความเก่าแก่ในฐานะต้นกำเนิดของพุทธศาสนา ในฐานะศักยภาพแห่งการตื่นรู้อันพบได้ภายในตัวผู้ปฏิบัติ สรรพสัตว์ ธรรมชาติ และทุกอณูในสากลจักรวาล

สายธารเดิมแท้หมายถึงอะไร?
ต้นน้ำแห่งธารธรรมที่ว่านี้คือประสบการณ์ตรงแห่งการเข้าถึงพุทธสภาวะ หรือภาวะแห่งการตื่นรู้ พระพุทธเจ้าได้ค้นพบว่าภายในตัวเรานั้น มีสภาวะตื่นรู้อันแจ่มแจ้ง หมดจด ที่สามารถสัมผัสได้ในทุกปัจจุบันขณะ ในชั่วขณะแห่งการตื่นรู้ เราสามารถเข้าสู่สภาวะแห่งปัจจุบัน เหนืออดีต เหนืออนาคต ชีวิตที่ตื่นคือชีวิตที่แท้ ช่วงเวลาที่เราสามารถมองเห็นทุกสิ่งตามธรรมชาติที่เป็นจริง เป็นชีวิตที่ถูกลอก ปอกออกสู่ความเปลือยเปล่า เหนือความกลัวและความคาดหวังใดๆ

ประสบการณ์แห่งการตื่นรู้ที่ตรงไปตรงมาและหลอมรวมอยู่ในปัจจุบันขณะโดยสมบูรณ์ นั่นคือสายธารเดิมแท้ สิ่งนี้คือทั้งหมดแห่งพุทธศาสนา นั่นคือ การแสวงหาและสร้างความสัมพันธ์กับธรรมสภาวะเดิมแท้ภายในตัวเรา และเรียนรู้ที่จะให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ที่ว่านั้นในชีวิตประจำวัน

สายธารเดิมแท้ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ถ่ายทอดให้กับพุทธสาวก และพุทธสาวิกาทั้งหลายอย่างไม่เลือกชนชั้นวรรณะ หลังจากการรู้แจ้งโดยสมบูรณ์ท่านได้พบกับเพื่อนปัญจวัคคีย์ที่เคยปฏิบัติร่วมกันมา ท่านได้แบ่งปันประสบการณ์สองสามอย่างแก่เพื่อนเก่าทั้งห้า และเพียงไม่นานจิตของโกณฑัญญะก็เข้าสู่พุทธสภาวะภายในโดยสมบูรณ์ พระพุทธะเห็นดังนั้นก็กล่าวด้วยความปีติ "โกณฑัญญะเข้าใจแล้ว เขารู้แจ้งแล้ว"

สายปฏิบัติในพุทธศาสนาต่างก็ให้ชื่อแก่สายธารเดิมแท้แตกต่างกันออกไป

- ในสายเถรวาท อาจรู้จักกันในนาม "ความดับสนิทแห่งทุกข์" อันหมายถึงประสบการณ์การเผชิญหน้ากับการดับสลายของขันธ์ทั้งห้า

- ในสายมหายาน ช่วงต้น อาจรู้จักกันในนาม "ปรัชญาปารามิตา" อันเป็นสภาวะการข้ามพ้นทางปัญญา ที่เป็นพื้นฐานของสภาวะแห่งการตื่นรู้ของสรรพสัตว์

- ในสายเซ็น มันถูกรู้จักในชื่อ "ไร้จิต" อันแสดงถึงวินาทีที่เราล้มเลิกความพยายามที่จะรู้ แล้วพบตัวเองอยู่ในสภาวะแห่งจิตที่ไม่รู้ (don't know mind) โดยสมบูรณ์

- ในพุทธธิเบต คือ มหามุทรา (ธรรมลักษณ์อันยิ่งใหญ่) และ ซกเซ็น (ผลธรรมอันสุกงอม)

ในฐานะวิถีปฏิบัติแบบอเทวนิยม พุทธศาสนาได้ให้คุณค่ากับพุทธสภาวะหรือสายธารเดิมแท้ในฐานะหัวใจสูงสุด อย่างไรก็ดีมันก็เป็นสิ่งที่ดูจะแปลกแยกจากแบบแผนคุ้นชินของอัตตา หรือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเราอย่างสุดขั้ว ปุถุชนคนทั่วไปจึงมักจะไม่ตระหนักถึงความมีอยู่ของสภาวะพื้นฐานที่ว่านั้นแต่อย่างใด โดยปรกติแล้ว เราจึงมักสัมผัสถึงสภาวะแห่งการตื่นรู้ในสายธารเดิมแท้ได้ก็แต่ในผู้อื่น ซึ่งก็ได้แก่ธรรมาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบอันเป็นที่เคารพรักของเรา เราอาจจะรู้สึกถึงความรักและความศรัทธาอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ เราปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ชิดท่านตลอดเวลา หรือในทางกลับกันความสัมพันธ์ที่ว่าอาจถูกแสดงออกมาในรูปของความเกรงขาม หรือความหวั่นกลัว เราอยากที่จะวิ่งหนีไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การได้อยู่ใกล้ชิดบุคคลเช่นนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกบวกลบที่รุนแรงด้วยเหตุผลที่ว่า ภายในตัวท่านเราได้พบธรรมชาติอันลึกซึ้งของตัวเราที่เราได้เฝ้าค้นหามานานแสนนาน เมื่อได้สัมผัสสายธารเดิมแท้ในตัวท่าน ประสบการณ์นั้นก็จะนำมาซึ่งแรงดลใจในการฝึกฝนตนเอง เพื่อการค้นพบสภาวะที่ว่านั้นจากภายใน อันจะค่อยๆ เผยปรากฏมากขึ้นในตัวเราตามความพากเพียรบนเส้นทางแห่งการฝึกฝน

ในธรรมาจารย์ผู้สืบทอดหัวใจแห่งสายธารเดิมแท้ เราสามารถรู้สึกได้ถึงคุณสมบัติที่เด่นชัด ๓ ประการ ได้แก่ ความลุ่มลึก, จิตที่ใหญ่ไพศาล, และศักยภาพแห่งการตื่นรู้

๑.๑) ความลุ่มลึกในพุทธสภาวะ
ประสบการณ์ในสภาวะแห่งการตื่นรู้ มีคุณสมบัติของความลุ่มลึกอย่างที่ไม่อาจจะประเมินได้ ในสนามพลังแห่งการตื่นรู้ เรารู้สึกราวกับว่าความกว้างใหญ่นั้นทอดยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ในที่นี้เราไม่ได้พูดถึงความล้ำลึกในฐานะหน่วยวัดเชิงกายภาพ แต่เป็นประสบการณ์ตรงที่มีต่อพื้นที่ของจิตโดยตรง อันบ่งบอกว่า ณ ชั่วขณะแห่งปัจจุบัน พลังแห่งการตื่นรู้ประกอบไปด้วยชั้นอันสลับซับซ้อน อันเป็นภาวะความลุ่มลึกที่ยากจะหยั่งถึง

ยามที่เราฝึกฝนภาวนา จิตของเราอาจจะอยู่ในภาวะแห่งการผ่อนพัก แว้บหนึ่งเราอาจจะมีความคิดขึ้นมาว่า "นี่แหละใช่เลย นี่คือจิตอันปราศจากการปรุงแต่ง" แต่ทันใดนั้นเราตระหนักว่าเรากำลังยึดมั่นอยู่กับหลักการและพื้นที่การรับรู้ของจิตอันลุ่มลึก เราจึงปล่อยวางอีกครั้ง จิตผ่อนคลายมากขึ้นแล้วเข้าสู่ภาวะที่สดใหม่กว่า มีอิสระมากกว่า และเปิดกว้างมากกว่า ณ จุดนั้นเราอาจหลงคิดไปว่า "ใช่เลย เราได้บรรลุเป้าหมายแล้ว" แต่ชั่วขณะถัดไปเราก็ได้ตระหนักอีกครั้งว่า นั่นเป็นเพียงแค่ความพยายามที่จะยึดมั่นเอาประสบการณ์อันลุ่มลึกนั้นไว้เป็นหลักเกาะให้กับชีวิตอีก เราจึงจำเป็นต้องศิโรราบ ปล่อยวางความยึดมั่นนั้นให้ได้ และนั่นคือกระบวนการอันไม่มีที่สิ้นสุด

การศิโรราบ ปล่อยวาง และยอมรับสรรพสิ่งตามที่เป็นจริงดูเหมือนจะกลายเป็นลมหายใจแห่งชีวิตของผู้ฝึกฝนเลยก็ว่าได้ บางทีมันอาจจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าจุดสิ้นสุดของความลุ่มลึกในภาวะการตื่นรู้ของจิต คำถามก็คือ เราจะต้องทำเช่นไร ถึงจะสามารถดำรงอยู่ในสภาวะดิ่งอิสระ (free fall) ได้ในทุกสถานการณ์ของชีวิต

๑.๒) ความไพศาลแห่งจิตใหญ่
อย่างที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า "ธรรมชาติของจิตคือพื้นที่อันกว้างใหญ่แห่งธรรมธาตุ" นั่นหมายความว่าพลังแห่งการตื่นรู้ในตัวเรา หาได้มีขอบเขตจำกัดแต่อย่างใด จริงๆ แล้วจิตนั้นดำรงอยู่ไม่แยกขาดจากธรรมธาตุ อีกนัยหนึ่งจิตก็คือพลังชีวิต หรือพลังแห่งจักรวาลนั่นเอง สิ่งสำคัญก็คือเราจะสามารถศิโรราบให้กับศักยภาพแห่งจิตอันไพศาลนั้นได้หรือไม่

๑.๓) ศักยภาพแห่งการตื่นรู้
ขณะที่สภาวะเดิมแท้นั้นเป็นอสังขตธาตุที่อยู่เหนือการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย แต่หากจะมองอีกมุมหนึ่งสภาวะนั้นก็หาได้แยกขาดหรือไม่ข้องเกี่ยวกับเหตุปัจจัยเสียเลยทีเดียว สิ่งที่เราสัมผัสได้จากแว้บหนึ่งของการภาวนาก็คือ สายธารเดิมแท้นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ที่สามารถมีผลต่อชีวิตของเราในทุกๆ แง่มุม เราอาจจะคิดว่าหลังจากได้สัมผัสกับธรรมชาติเดิมแท้ที่ว่านั้น เราก็สามารถหันหลังกลับไปใช้ชีวิตเดิมๆ ตามแบบแผนความคุ้นชินได้อีก แต่ในสายธารเดิมแท้นั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน" ที่แน่นหนาและถาวร ความคิดในเรื่อง "ชีวิตส่วนตัว" แท้จริงเป็นเพียงแค่ความฝันอันไม่มีอยู่จริง แบบแผนที่คุ้นชินของชีวิตก็ดูจะหาแก่นสารไม่ได้ตามไปด้วย จึงขึ้นอยู่ที่ว่า เราจะยอมให้ประสบการณ์แห่งสายธารเดิมแท้ส่งผลแทรกซึมสู่อดีตกรรมของเรา ชีวิตของเรา และบุคคลที่เราคิดว่าเราเป็นได้มากน้อยเพียงไร จนกระทั่งถึงจุดที่ว่ามุมมืดแห่ง "ตัวตน" ไม่หลงเหลืออยู่อีกต่อไป

ธรรมาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบเป็นผู้ที่ฝึกฝนตนเองจนกระทั่งชีวิตในทุกลมหายใจเข้าออกของเขาได้กลายเป็นสายธารธรรมโดยสมบูรณ์ เขาหรือเธอไม่ได้เป็นอะไรนอกไปเสียจากสภาวะเดิมแท้ที่ตื่นรู้ อันปรากฏให้สัมผัสได้ในรูปของคนธรรมดาๆ ผู้หนึ่ง ในวิถีพุทธเราเรียกปัจเจกบุคคลผู้เข้าสู่สภาวะดังกล่าวว่า "นิรมาณกาย" (Nirmanakaya)

กระนั้นมันคงเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวง หากเราจะมองไปที่ธรรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แต่ฝ่ายเดียว เพราะจริงๆ แล้วทุกคนต่างก็มีศักยภาพ สามารถเป็นผู้สืบทอดสายธารเดิมแท้นั้นได้เหมือนกัน. ท่านโทกุ อูเจ็น (Tulku Urgyen Rinpoche) ได้เน้นย้ำเสมอว่า หัวใจอยู่ที่การพัฒนาตนของผู้ปฏิบัติ เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของโยคีทุกคน แน่นอนว่าความคาดหวังสูงสุดก็คือ ณ จุดหนึ่งของชีวิตการอุทิศตนบนเส้นทางแห่งการภาวนา เราทุกคนจะสามารถสืบต่อสายธารแห่งการตื่นรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ นั่นคือความมั่นใจที่พระพุทธเจ้ามีต่อสาวกทุกคนอย่างไม่เลือกเพศ อายุ หรือชนชั้นวรรณะ

๒. สายธารการสืบทอด (The Transmission Lineage)
สายธารการสืบทอดประกอบด้วยหลากหลายวิธี ที่ซึ่งสายธารเดิมแท้หรือโพธิจิตได้ถูกส่งผ่านสู่ศิษย์สาวก เราสามารถเห็นตัวอย่างนี้ได้จากชีวิตของศากยมุนีพุทธะ หลังจากบรรลุสู่สภาวะตื่นรู้โดยสมบูรณ์ ขณะประทับนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ ท่านเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจ "เราควรจะดำรงอยู่ในธรรมดาสภาวะอันง่ายงามในความตื่นรู้ที่สมบูรณ์เช่นนี้ต่อไป หรือ เราควรที่จะพยายามถ่ายทอดหนทางสู่ความตื่นรู้นี้ให้แก่ผู้อื่น" ท่านรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะมีใครที่จะสามารถรับฟังและเข้าใจคำสอนนี้ได้

อย่างไรก็ดีเสียงครางแห่งทุกข์โศกในสังสารวัฎได้สัมผัสหัวใจอันเปล่าเปลือยของท่าน จนท่านไม่สามารถดื่มด่ำอยู่ในความสุขสูงสุดเช่นนั้นแต่เพียงผู้เดียวได้ มหากรุณาได้ผุดบังเกิดขึ้นในจิตใจ และ ณ วินาทีนั้น พระพุทธองค์กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ กับคำถามที่ว่า ท่านควรจะถ่ายทอดสภาวะแห่งการตื่นรู้ และหนทางสู่สภาวะนั้นให้แก่ผู้อื่นด้วยวิธีการใด

ก่อนจะบรรลุธรรมเป็นผู้ตื่นรู้โดยสมบูรณ์ ศากยมุนีได้ผ่านเส้นทางการฝึกฝนตนเองที่ยากลำบาก เขาได้ใช้เวลาร่ำเรียนเทคนิคโยคะขั้นสูงมากมายจากอาจารย์หลายท่าน จากนั้นจึงทุ่มเทเวลาฝึกฝนอย่างอุทิศกายถวายชีวิต การเดินทางของศากยมุนีเต็มไปด้วยอุปสรรคและทางตันทุกชนิด เขาไม่ต้องการให้ศิษย์สาวกของเขาต้องเผชิญหนทางที่ยากลำบากอย่างที่เขาประสบ หนทางที่ไม่มีเข็มทิศ ไม่มีผู้นำทาง อาศัยเพียงการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดไปเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งแรกที่พระพุทธองค์เลือกถ่ายทอดให้แก่เหล่าสาวก คือ เส้นทางการฝึกฝนอย่างเป็นขั้นตอน ท่านได้คิดค้นรูปแบบการถ่ายทอดอย่างเป็นเอกลักษณ์ เพื่อที่จะนำพาให้สาวกได้เข้าสู่เส้นทางแห่งการฝึกฝนตนเอง สู่เป้าหมายแห่งการตระหนักรู้ในสายธารเดิมแท้ อาจจะกล่าวได้ว่า คำสอนแรกที่พระพุทธเจ้าได้แสดงต่อปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ที่ป่าสวนกวาง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสายการสืบทอดในพุทธศาสนา

หัวใจคุณค่าในสายการสืบทอดนั้น คือ การให้คุณค่าต่อศักยภาพที่แตกต่างอย่างหลากหลายในปัจเจกบุคคล อันบ่งบอกถึงความโน้มเอียง สายธารแห่งกรรมในอดีต สายสัมพันธ์ต่อรูปแบบคำสอน สายการปฏิบัติและตัวครูบาอาจารย์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่แตกต่างกันในรากฐานแห่งคุณค่าในสายธารเดิมแท้ หน้าที่ของธรรมาจารย์ผู้มีความสามารถก็คือ การค้นหาแนวทาง คำสอน หรือ เทคนิคที่เหมาะสมกับศิษย์ ณ จุดนั้นบนการเดินทางของเขา เพื่อที่จะได้ช่วยให้กระบวนการเรียนรู้ด้านในเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่

ในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา แต่ละนิกายสายการปฏิบัติได้เน้นย้ำสายการสืบทอดที่ต่างกันออกไป เซ็นจะเน้นไปที่การนั่ง (ซาเซ็น) เดิน กิน(โอริโยกิ) คำสอนสั้นๆ (โกอาน) บทกวี (ไฮกุ) การจัดดอกไม้ (อิเคบานะ) การชงชา การเขียนตัวอักษร การสนทนาโต้ตอบกับอาจารย์ และอื่นๆ ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของเทคนิคที่หลากหลายในสายการสืบทอด อันเป็นประตูสู่การตระหนักรู้สายธารเดิมแท้. ในพุทธเถรวาท หรือพุทธธิเบต ก็ไม่แตกต่างกันนัก ทุกสายการปฏิบัติต่างก็ประกอบด้วยเทคนิคการฝึกฝนที่หลากหลาย อันได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน

พระคัมภีร์ในยุคแรกแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าแนวทางการส่งผ่านพุทธสภาวะนั้น มีด้วยกันมากมายหลากหลายวิธี พระพุทธเจ้าได้ใช้เวลาตลอดชีวิตของท่านสรรค์สร้างประตูสู่การตื่นรู้อันหลากหลาย ที่เหมาะกับศักยภาพภายในที่แตกต่างของศิษย์สาวกแต่ละคน เราถูกสอนว่าตลอดชั่วชีวิตของท่าน พระพุทธองค์ได้ค้นพบ ๘๔,๐๐๐ กระบวนการในการส่งผ่านพุทธสภาวะที่ว่านั้น

ท่ามกลางการแตกหน่อของสายการปฏิบัติในช่วงเวลากว่าสองพันปีที่ผ่านมา เชื่อกันว่าปัจจุบันมีกระบวนการสืบทอดเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายต่อหลายเท่า ด้วยอัจฉริยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าอริยธรรมาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้อบรมสั่งสอนศิษย์สาวกในเส้นทางแห่งการฝึกตนอันเป็นหนทางที่จะนำปัจเจกบุคคลให้ได้ไปสัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ภายใน ในพุทธศาสนาฝ่ายธิเบตสายการสืบทอดได้แตกแขนงออกไปเกินกว่าจะนับได้ โดยเฉพาะในสาย "รีเม" ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงคริสตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ได้มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาสายการปฏิบัติที่มีชีวิตทั้งหลายให้คงอยู่ ณ ยุคสมัยที่สายการสืบทอดเริ่มเผชิญหน้ากับภาวะที่เสี่ยงต่อการล่มสลาย

ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สายการสืบทอดจะต้องไม่พยายามสงวนกฏเกณฑ์หรือประสิทธิภาพในตัวของมันเอง เพราะสายการสืบทอดจะมีชีวิตได้ก็ต่อเมื่อ มันคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อรากฐานในสายธารเดิมแท้ นั่นคือคำสอนจะต้องถูกสอนจากหัวใจที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว เพื่อเป้าหมายเดียวในการที่จะนำผู้ฝึกฝนไปสัมผัสสภาวะเดิมแท้แห่งจิตที่ลึกซึ้งขึ้นในทุกขณะ

ตรงกันข้ามหากมันถูกสอนเพื่อเป้าหมายอื่น เช่น เพื่อการรักษาสถานะทางอำนาจของสถาบัน ดึงดูดผู้บริจาค หรือจำนวนผู้ฝึกฝน เมื่อนั้นมันก็หาได้มีความหมายอะไร แม้ภายนอกอาจจะดูน่าเกรงขามหรือดึงดูดใจมากเพียงใดก็ตาม เมื่อมันไม่ได้ถูกสอนบนรากฐานแห่งสภาวะแห่งการตื่นรู้ภายในเสียแล้ว มันก็ไม่สามารถจะพาให้ผู้ฝึกฝนก้าวหน้าบนเส้นทางแห่งการฝึกตนได้เลย และนั่นคือต้นตอของความเสื่อมสลายในแก่นของวิถีพุทธ

เราจะพิจารณาอย่างไรว่าสายการสืบทอดนั้นๆ ยังเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าและความหมายในหัวใจแห่งพุทธะ คำตอบไม่ใช่อยู่ที่ปัจจัยกายภาพที่เรามองเห็นจากภายนอกแต่อย่างใด สิ่งเดียวที่จะบอกได้คือความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ (ผู้สืบทอด) และศิษย์ (ผู้รับการสืบทอด) แต่เพียงเท่านั้น ผู้สอนนั้นจะต้องมีประสบการณ์ที่ลึกซึ้งในเทคนิคการฝึกฝนที่เขาสอน ส่วนนักเรียนก็จะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจที่ดี มีแรงบันดาลใจที่บริสุทธิ์ และฝึกฝนตนเองจนมีความพร้อมในระดับหนึ่ง สายสัมพันธ์ของหัวใจระหว่างศิษย์อาจารย์จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการส่งผ่านแก่นคำสอนในสายธารเดิมแท้

สิ่งแรกศิษย์จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเป้าหมายของการปฏิบัติ เป้าหมายที่ว่านี้คือการลอกเอาเปลือกทางหลักการเวียนว่ายที่ปกคลุมศักยภาพแห่งการตื่นรู้ภายในออกไปเสียให้หมด ฟังแล้วอาจดูน่าดึงดูดใจในหลักการ แต่ในกระบวนการจริงๆ ของเส้นทางการฝึกฝนที่เราสามารถพบได้ในชีวประวัติของเหล่าอริยโยคีทั้งหลาย ได้แสดงให้เห็นว่าทุกขั้นตอนของการลอกเอาเปลือกชีวิตเหล่านั้นออกไป นำมาซึ่งความท้าทาย และความเจ็บปวด อย่างที่เราไม่คาดฝัน การเดินทางสายนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค ความท้อแท้สิ้นหวัง และประสบการณ์ตรงในความทุกข์ที่เพิ่มขั้นความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามหัวใจที่เปล่าเปลือยขึ้นตามการฝึกฝน หากเราขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเราอาจจะมองประสบการณ์เหล่านี้ในฐานะ "ปัญหา" แต่หากความเข้าใจในเป้าหมายของการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสรรพสัตว์ของเรามีความมั่นคงเสียแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนเป็นปัญหากลับจะนำมาซึ่งปิติสุขอย่างที่ไม่สามารถประเมินได้

ในแง่ของการฝึกฝน แรงบันดาลใจที่ถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้เราจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องแต่หากถูกผลักดันด้วยความคาดหวังหรือความกลัวเสียแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะพบความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณได้เลย บ่อยครั้งที่เรามักจะนำพาเอาความทะเยอทะยานทางโลกมาใช้ในการภาวนา อยากจะเขย่งก้าวกระโดดจากเทคนิคหนึ่งไปยังอีกเทคนิคหนึ่งที่สูงกว่า ราวกับว่าขั้นความก้าวหน้าเหล่านั้นเป็นเกียรติยศประมาณนั้น

เรายังต้องการเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้สูงส่งทางจิตวิญญาณ อย่างน้อยก็ขอเป็นที่ยอมรับของอาจารย์และกัลยาณมิตรในสังฆะ หรือมากไปกว่านั้นเราอาจจะต้องการขจัดปมด้อยในชีวิต หรือกำจัดความทุกข์ในอดีตให้ราบคาบไปเสียเลยทีเดียว หากเรายอมให้แรงผลักดันในลักษณะนี้มาเป็นใหญ่ในใจเราเสียแล้ว การฝึกฝนของเราก็ไม่มีทางที่จะจริงแท้ได้เลย การเดินทางทางจิตวิญญาณก็ไม่มีทางที่จะนำเราไปสู่การมีหัวใจที่เปิดกว้าง อ่อนน้อม และเอื้ออาทรต่อผู้คนรอบข้างแต่อย่างใด

นอกจากนั้นทุกการปฏิบัติ จะต้องมีความเหมาะสมต่อความสุกงอมทางจิตวิญญาณของบุคคลผู้นั้น เพราะเทคนิคที่อาจารย์มอบให้เรามาฝึกไม่ได้เป็นเหมือนกับสินค้า ที่จะมาเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค แต่ละขั้นบนเส้นทางการฝึกตนจะต้องถูกให้การเอาใจใส่และเคารพ ด้วยเทคนิคการฝึกที่เหมาะสม เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้ที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเราของเราไปทีละน้อยๆ

ตัวอย่างเช่น ซกเซ็น (Dzogchen) หรือ คำสอนในเรื่องความสมบูรณ์แบบอันยิ่งใหญ่ ถูกมองว่าเป็นเทคนิคการภาวนาขั้นสูงสุดของพุทธฝ่ายธิเบต เรียกได้ว่าเป็นจุดบรรจบของทุกรูปแบบการภาวนา แต่ทุกวันนี้มีผู้ฝึกชาวตะวันตกมากมายที่ได้รับคำสอนซกเซ็นมาปฏิบัติ ในบรรดาคนเหล่านี้ บ้างก็มีประสบการณ์ในการภาวนามาบ้าง บ้างก็ยังเพิ่งเริ่มฝึกมาได้ไม่นาน ทั้งนี้เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ซกเซ็นนั้นมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภาวะการตื่นรู้ขั้นสูงในอนัตตา อันเป็นสภาวะที่ล้ำลึกของการศิโรราบต่อความว่างในธรรมดาสภาวะแห่งสากลจักรวาล ในสายการปฏิบัติของธิเบตต่างก็กล่าวตรงกันว่า ซกเซ็นไม่ใช่เทคนิคที่จะเข้าถึงอันได้ง่ายๆ จนกว่าผู้ฝึกจะผ่านการภาวนาที่เข้มข้นมาเป็นเวลาหลายต่อหลายปี และมีประสบการณ์การฝึกวิเวกที่มากพอ จนกระทั่งถึงจุดที่ว่าทุกลมหายใจเข้าออกในชีวิตของเขาคือการภาวนาไปเสียแล้ว

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับซกเซ็น ดูจะสามารถอธิบายแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับการสอนพุทธศาสนาธิเบตในโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี เทคนิคการฝึกขั้นสูงกำลังถูกนำออกมาจากประเพณีและการเตรียมตัวในแบบดั้งเดิมของผู้ฝึก จากที่เคยถูกมองว่าเป็นพื้นฐานที่จะขาดไปเสียไม่ได้ แต่ในปัจจุบันกลับถูกตัดทิ้งอย่างไม่มีความสำคัญอีกต่อไป สายการปฏิบัติอันเก่าแก่ของพุทธธิเบตกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในโลกสมัยใหม่ จากวิถีแห่งธรรมชาติและความศักดิ์สิทธิ์ สู่สังคมแห่งจักรกลและอาหารจานด่วน ส่งผลให้ธรรมาจารย์ต้องเลือกที่จะปรับเปลี่ยนปัจจัยหลายๆ อย่าง อันมีผลให้คุณค่าบางอย่างได้ค่อยๆ สูญหายไป

สิ่งที่เราพบก็คือ ผู้ฝึกที่โตมาในวัฒนธรรมสมัยใหม่น้อยคนนัก ที่จะสามารถผ่านกระบวนการการฝึกฝนที่ต้องอาศัยการทุ่มเทและเสียสละชีวิตอย่างที่เคยเป็นมาได้ ที่น่าเศร้าก็คือนับวันก็ยิ่งจะมีชาวธิเบตที่สามารถส่งผ่านสายธารแห่งการตื่นรู้นี้ได้น้อยลงเรื่อยๆ แนวโน้มที่เด่นชัดอันนี้ ได้สร้างความกังวลให้แก่ธรรมาจารย์ทั้งหลายว่า สายธารการสืบทอดในหลายๆ อย่างอาจจะสูญสลายไปในไม่ช้า

แม้ผู้ฝึกจะได้รับมอบเทคนิคการปฏิบัติขั้นสูงสุดโดยธรรมาจารย์ผู้รู้แจ้ง แต่หากเขาเหล่านั้นฝึกฝนโดยปราศจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและการให้คำแนะนำที่เหมาะสมเสียแล้ว ก็ยากที่การปฏิบัตินั้นจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้ ในสายการปฏิบัติของธิเบตความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับผู้ฝึกฝนบนเส้นทางสายนี้อย่างจริงจัง เขาต้องการกัลยาณมิตรร่วมการเดินทางอย่างใกล้ชิด และดูเหมือนพุทธศาสนาที่กำลังเติบโตขึ้นในโลกสมัยใหม่จะมองข้ามความสำคัญในเรื่องนี้ ด้วยความยึดมั่นในอิสระทางความคิดในแบบปัจเจกนิยมสุดโต่ง

๓. สายธารอำนาจ (The Organizational Lineage)
ธารธรรมแบบที่สาม คือ การสืบทอดในเชิงองค์กรหรือสถาบัน ผู้สืบทอดในแง่นี้คือบุคคลผู้ซึ่งแบกรับความรับผิดชอบในการบริหาร สืบต่อรูปแบบและวิถีประเพณีขององค์กรและสายการปฏิบัติ

เช่นเดียวกันกับในสองสายธารแรก เราสามารถพบตัวอย่างนี้ได้ในยุคสมัยของศากยมุนีพุทธะ จากพระคัมภีร์ในยุคแรก พระพุทธองค์ได้ปฏิเสธองค์กรจัดตั้งแบบรวมศูนย์อย่างเด็ดขาด ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เทวทัตได้แนะให้ท่านจัดตั้งองค์กรทางศาสนาที่มีอำนาจรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ โดยมีผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว ผู้จะทำหน้าที่บริหาร จัดการและควบคุมสังฆะที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ท่านไม่ลังเลที่จะปฏิเสธความคิดนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะก่อให้เกิดปัญหามากมายต่อศักดิ์ศรีของผู้ปฏิบัติ และการอยู่รอดของสายการปฏิบัติในภาพรวม การตัดสินใจนี้สอดคล้องกับสิ่งที่พระพุทธองค์เน้นย้ำเสมอ ในการให้คุณค่าสูงสุดแก่ศักดิ์ศรีภายในของคนทุกคน อันแสดงถึงสภาวะแห่งการตื่นรู้ในตัวผู้ปฏิบัติที่ถูกหล่อเลี้ยงและบ่มเพาะจากจิตภาวนา

คำถามก็คือ แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันพุทธศาสนาจึงถูกพัฒนาให้กลายเป็นสถาบันทางศาสนา อันมีโครงสร้างการบริหารจัดการอันซับซ้อนได้

แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) บิดาแห่งสังคมวิทยาสมัยใหม่ได้วิเคราะห์ว่า การเติบโตของพุทธศาสนาในฐานะสถาบันจัดตั้งนั้น เป็นการทรยศต่อแก่นธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ในขณะที่เวเบอร์มีประเด็นที่น่าสนใจ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าเราจำเป็นต้องไปให้บทสรุปที่ค่อนข้างจะสุดโต่งถึงขนาดนั้น

ในโครงสร้างสถาบันของพุทธศาสนา องค์กรมีเป้าหมายแรกเริ่มในการสนับสนุนการฝึกฝนของปัจเจกอย่างเต็มที่ โดยหากรากฐานในสายการสืบทอด และสายธารเดิมแท้มีความมั่นคง สายธารอำนาจก็จะทำหน้าที่สำคัญในลักษณะของภาชนะที่ปลอดภัยให้กับธารธรรมทั้งสองได้งอกงามอย่างเต็มศักยภาพ โครงสร้าง การจัดการและการบริหารบนรากฐานทางปัญญา จะช่วยสนับสนุนให้สายการปฏิบัติเติบโต เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้ฝึกฝนรุ่นเยาว์ และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่สอดคล้องไปกับแก่นพุทธธรรมอันเป็นพลวัตแห่งการตื่นรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง

แต่ก็แน่นอนว่า พุทธศาสนาก็เหมือนศาสนาอื่นๆ ที่บ่อยครั้งเรามักจะพบว่าอำนาจของสถาบันได้ไปขวางกั้นระหว่างผู้ฝึกฝนกับประสบการณ์ในพุทธสภาวะ ในกรณีนั้นสถาบันหรือสายธารอำนาจก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็นอีกต่อไป เพราะมันได้ตกไปสู่ความยึดติดในอำนาจ จนไปกดทับศักยภาพการตื่นรู้ในสายธารเดิมแท้ของปัจเจก เมื่อนั้นสถาบันก็ได้สูญเสียความชอบธรรมไปโดยปริยาย

บุคคลผู้ทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดสายธารอำนาจนั้น ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง เขาจะต้องอยู่เหนือความคิดการเข้าข้างพวกพ้อง และมีแรงผลักดันเพียงอย่างเดียวนั่นคือการรับใช้สายธารเดิมแท้ สิ่งแรกที่จะต้องมาก่อน คือคุณค่าและศักดิ์ศรีในเส้นทางการฝึกฝนของผู้คนในสังฆะ ที่จะต้องไม่ถูกชะล้างให้เจือจางด้วยเรื่องผลประโยชน์หรือโครงสร้างของสถาบัน นี่คือภาระอันหนักอึ้งของผู้นำองค์กร ดังที่เราจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาว่า น้อยคนนักที่จะสามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างสมบูรณ์. ตัวอย่างที่เราพบมักจะเป็น การไม่ยอมรับหรือสละตำแหน่ง หรือไม่อีกด้านหนึ่งก็เป็นความบ้าและยึดติดในอำนาจ บริหารสถาบันศาสนาราวกับทำหน้าที่ซีอีโอ จนสถาบันนั้นได้สูญเสียคุณค่าที่แท้จริงของมันไปในที่สุด

เมื่อสายธารเดิมแท้ไม่ถูกให้ความสำคัญเสียแล้ว ความพยายามที่จะส่งผ่านสายการสืบทอด และสายอำนาจก็ไม่มีทางที่จะได้ผล ในทางตรงข้ามหากผู้ปฏิบัติมีความแน่วแน่ในการสืบทอดสายธารการตื่นรู้ เขาหรือเธอก็จะกลายเป็นผู้ถือสายการสืบทอดไปโดยปริยาย และหากเขาหรือเธอจำเป็นต้องไปเป็นดำรงตำแหน่งผู้นำในสายอำนาจแห่งสถาบันศาสนา ก็เชื่อได้ว่าสถาบันนั้นจะทำหน้าที่รับใช้สายธารแห่งการตื่นรู้เป็นแน่นอน

อย่างไรก็ดี การสืบทอดสายอำนาจของสถาบันนั้นดูจะต้องอาศัยความรอบคอบ และความกล้าที่จะถกเถียง คัดค้าน และวิพากษ์วิจารณ์ กิจกรรม แผนการ หรือความทะเยอทยานของสถาบันนั้นๆ ดังที่เชอเกียม ตรุงปะ ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า "ตลอดการสืบทอดของสายการปฏิบัติ ทุกคนจำเป็นจะต้องมีความรอบคอบ รู้จักคิดวิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์ ต่อภาพหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสายการปฏิบัติ สิ่งนี้จะทำให้สถาบันตื่นจากแนวโน้มความหลับใหลในอำนาจอยู่ตลอด"

ความรอบคอบและมีสติเฝ้าระวังในทุกย่างก้าวขององค์กร จะปรากฏขึ้นจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความศรัทธา ความวิริยะพากเพียร และการอุทิศตนในการฝึกฝนตนเองของเหล่าโยคีผู้ปฏิบัติทั้งหลายอย่างเป็นธรรมชาติ การโต้แย้งแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ถือเป็นพลวัตที่เกิดขึ้นจากจิตใจที่ก้าวข้ามพ้นความคับแคบของอัตตา สู่การดำเนินชีวิตเพื่อรับใช้สายธารเดิมแท้อันมีชีวิต เพราะนั่นจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถาบันทางศาสนาดำเนินการด้วยอำนาจที่โปร่งใส สดใหม่และตื่นรู้ อยู่บนพื้นฐานแห่งพลังการสร้างสรรค์ของเหล่าอริยปัจเจก ผู้ดำเนินชีวิตทุกย่างก้าวอยู่บนพื้นฐานของการฝึกฝนบนพลังแห่งการตื่นรู้ภายในตนอย่างแท้จริง

+++++++++++++++++++++++++++++++

(แปลและเรียบเรียงจากบทความ "The Three Lineages"
โดย Reginald A. Ray ตีพิมพ์ในวารสาร Buddhadhamma ฉบับฤดูหนาว ปี ๒๐๐๕)

เกี่ยวกับผู้เขียน
เรจินัลด์ เรย์ (Reginald A. Ray) หรือ "เร้จจี้" เริ่มต้นเรียนรู้พุทธศาสนาด้วยการเป็นนักศึกษาดุษฎีบัณฑิตของโรงเรียนเทวศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (Divinity School at University of Chicago) สถานศึกษาทางด้านศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศอเมริกา จนกระทั่งปี๑๙๖๘ ที่เขาได้อ่านหนังสือของเชอเกียม ตรุงปะ เล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า "เกิดในธิเบต" (ฺBorn in Tibet) เมื่อนั้นเขาจึงได้ตระหนักว่า พุทธธรรมนั้นสามารถเป็นได้มากกว่าเพียงแค่งานทางวิชาการประเภทหนึ่ง

สองปีต่อมาเขาได้พบกับเชอเกียม ตรุงปะ และเสนอที่จะยุติการเรียนปริญญาเอก เพื่อขอย้ายมาอยู่ฝึกฝนภาวนากับท่านที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมที่เวอม้อนท์ ท่านตรุงปะปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอนั้น สั่งให้เร้จจี้กลับไปเรียนปริญญาเอกต่อให้จบ ซึ่งหนุ่มน้อยก็ตอบตกลงอย่างจำยอม จากนั้นไม่นาน ชื่อของ ดร.เร้จจี้ เรย์ กลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิชาการทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่เคารพอย่างสูงสุดคนหนึ่งในอเมริกา อีกทั้งยังเป็นธรรมาจารย์อาวุโสในสายการปฏิบัติของเชอเกียม ตรุงปะ

ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนโรปะ ในเมืองโบลด์เดอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังให้การอบรมการฝึกจิตภาวนา ภายใต้มูลนิธิสมุทรธรรม (Dharma Ocean Foundation) ที่เมืองเครสโตน ในรัฐโคโลราโด เขามีงานเขียนทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์หลายต่อหลายเล่ม ซึ่งรวมทั้งหนังสือรางวัลดีเด่นอย่าง "เหล่าพุทธะแห่งอินเดีย" (Buddhist Saints in India) และหนังสือคู่มือสองเล่มอย่าง "ความจริงอันมิอาจถูกทำลาย" (Indestructible Truth) และ "ความลับแห่งโลกวัชรยาน" (Secret of the Vajra World) งานเขียนที่รวมเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แนวความคิด และการปฏิบัติ ในพุทธศาสนาฝ่ายธิเบต ไว้อย่างยอดเยี่ยม


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

ในโครงสร้างสถาบันของพุทธศาสนา องค์กรมีเป้าหมายแรกเริ่มในการสนับสนุนการฝึกฝนของปัจเจกอย่างเต็มที่ โดยหากรากฐานในสายการสืบทอด และสายธารเดิมแท้มีความมั่นคง สายธารอำนาจก็จะทำหน้าที่สำคัญในลักษณะของภาชนะที่ปลอดภัยให้กับธารธรรมทั้งสองได้งอกงามอย่างเต็มศักยภาพ โครงสร้าง การจัดการและการบริหารบนรากฐานทางปัญญา จะช่วยสนับสนุนให้สายการปฏิบัติเติบโต เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้ฝึกฝนรุ่นเยาว์ และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่สอดคล้องไปกับแก่นพุทธธรรมอันเป็นพลวัตแห่งการตื่นรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง แต่ก็แน่นอนว่า พุทธศาสนาก็เหมือนศาสนาอื่นๆ ที่บ่อยครั้งเรามักจะพบว่าอำนาจของสถาบันได้ไปขวางกั้นระหว่างผู้ฝึกฝนกับประสบการณ์ในพุทธสภาวะ ในกรณีนั้นสถาบันหรือสายธารอำนาจก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็นอีกต่อไป เพราะมันได้ตกไปสู่ความยึดติดในอำนาจ