บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๑๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
24-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Justice & healthful ecology
The Midnight University

ตุลาการภิวัตน์ในฐานะผู้วางนโยบายสังคม
ระหว่าง ๔ เดือนนี้ ยังว่ายน้ำเล่นที่อ่าวมานิลาไม่ได้: คดีสิ่งแวดล้อม:
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล

โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยภายใต้โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย

บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับ
ประสบการณ์คดีสิ่งแวดล้อมประเทศฟิลิปปินส์ กรณีการฟื้นฟูอ่าวมานิลา

เนื่องจากได้รับการปนเปื้อนจากมลพิษต่างๆ และหน่วยงานรัฐไม่นำพาที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้
ดังนั้นนักกฎหมายคนหนึ่งจึงนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล และศาลได้พิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
ในเชิงสร้างสรรค์และคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคม
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๑๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๙.๕ หน้ากระดาษ A4)



ระหว่าง ๔ เดือนนี้ ยังว่ายน้ำเล่นที่อ่าวมานิลาไม่ได้ : คดีสิ่งแวดล้อม
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล : โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(1) ตุลาคม ๒๕๔๘

ประสบการณ์คดีสิ่งแวดล้อมประเทศฟิลิปปินส์ กรณีการฟื้นฟูอ่าวมานิลา (๑)

โค้งของชายฝั่งอ่าวมานิลา (Manila Bay) สำหรับคนฟิลิปปินโน โดยเฉพาะคนฟิลิปปินโนที่อาศัยในแถบเมืองมานิลา (City of Manila) แล้ว มันมีความหมายมากกว่าเส้นโค้งของภูมิประเทศด้านซ้ายของเมโทร มานิลา (Metro Manila)ที่ทอดตัวยาวร่วม ๑๙๐ กิโลเมตร สำหรับพวกเขา อ่าวมานิลาเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะสำหรับการแสวงหาความรื่นรมย์รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเดินเล่นริมอ่าว(bay walk) การนั่งพูดคุยสารพัดเรื่องราวตามเก้าอี้ม้าหิน นอกจากนี้มันยังเป็นสถานที่ปิคนิคกับครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนในวันหยุด เป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่คนเล่นน้ำไม่ต้องเสียสตางค์

หรือหากจะมองในแง่การรำลึกถึงอดีต เส้นทางจากอ่าวมานิลาไปยังเกาะ Corregidor ซึ่งเป็นเกาะหน้าด่านของประเทศฟิลิปปินส์ ก็สร้างความทรงจำหลากหลายเรื่องราวและแง่มุมให้กับคนฟิลิปปินโน ไม่ว่าจะเป็นภายใต้ยุค 'อาณานิคม'ของสเปนและสหรัฐฯ หรือกรณีการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรือหากจะมองในแง่ความภาคภูมิใจ ผืนน้ำขนาด ๑,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร และทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายภายใต้ผืนน้ำแห่งนี้ ล้วนประกอบกันเป็นระบบนิเวศน์ที่มีค่าของคนฟิลิปปินโน หรือในอีกแง่หนึ่งอ่าวมานิลาเป็นแหล่งที่มาของรายได้สำหรับคนจับกุ้งหอยปูปลาไปขาย ฯลฯ

การปนเปื้อนและมลพิษของอ่าวมานิลา
แอนโทนี โอโปซา (Atonony Oposa) เป็นคนหนึ่งที่พักอาศัยอยู่ในย่านตัวเมืองมานิลา เขามีความเห็นว่าความรื่นรมย์ของเขาและคนในเมโทร มานิลา กำลังถูกคุกคาม ข้อมูลจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Department of Environmental and Natural Resoureces) [DENR] ชี้ให้เห็นว่าปริมาณการปนเปื้อนของ fecal coliform (แบคทีเรียที่อยู่ในอุจาระของคนหรือสัตว์บางประเภท) ในอ่าวมานิลาสูงถึง ๘๐,๐๐๐ หน่วย ขณะที่มาตรฐานการปนเปื้อนที่ยอมรับได้นั้นอยู่ที่ ๒๐๐ หน่วย (mpn/ 100ml)เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าปลาที่จับได้จากอ่าวมานิลามีปริมาณลดลงถึง ๙๐-๙๕% รวมถึงกุ้งหอยปูปลา ก็มีการปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ มันเป็นภัยคุกคามที่ขยายไปถึงความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย เพราะอ่าวมานิลาในฐานะแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่กำลังจะหายไป

มลพิษในอ่าวมานิลาเหล่านี้มาจากไหน? ความจริงก็คือมาจากประชากรฟิลิปปินโนในเมโทร มานิลานั่นเอง ทุกๆ วัน ของเสียจากคนฟิลิปปินโนในลักษณะต่างๆ อาทิ อุจาระประมาณ ๕ ล้านแกลลอน, ขยะอีกประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ตัน จะถูกระบายทิ้งลงสู่อ่าวมานิลาและทางน้ำสาธารณะที่เชื่อมต่อกับอ่าวมานิลา. นอกจากนี้ทุกปี สารพิษและสารอันตรายอีกประมาณ ๖.๕ ล้านเมตริกตัน ก็ถูกระบายทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะลงสู่ทางน้ำสาธารณะที่เชื่อมต่อกับอ่าวมานิลาเช่นกัน

มลพิษที่ปนเปื้อนในอ่าวมานิลา ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ประชากรในตัวเมืองมานิลา แต่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงอีก ๑๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และแน่นอนย่อมกระทบถึงทางน้ำสาธารณะที่เชื่อมต่อกับอ่าวมานิลาอีก ๒๖ สาย. คำถามของโอโปซาก็คือ ทำไมหน่วยงานรัฐของประเทศ เขาจึงไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ในการปกป้องและดูแลรักษาอ่าวมานิลา รวมไปถึงทางน้ำสาธารณะเหล่านั้น

โอโปซาได้ถามคำถามเดียวกันนี้ กับนักเรียนกฎหมายในห้องเรียนวิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมของเขา ที่มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (University of Philipipnes)[UP] และนำไปสู่การตั้งหัวข้อรายงานวิจัยฉบับเล็กๆ ให้นักศึกษาไปค้นคว้า การทำงานร่วมกันระหว่างเขาและลูกศิษย์ กลายเป็นต้นเรื่องที่มาของคำฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดในการฟื้นฟูอ่าวมานิลา เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๒

Where there is a right, there is a remedy หรือ ubi jus, ubi remedium
รัฐธรรมนูญแห่งฟิลิปปินส์ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการที่จะมีระบบนิเวศน์ที่สมดุล (Section 16, Article II of the 1987 Constitution) (2) นอกจากนี้ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของฟิลิปปินส์ ก็ได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีอำนาจหน้าที่ในการฟื้นฟู (Clean up) ซึ่งหมายถึงการดำเนินการ, การกำจัด และการฟื้นฟูมลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้น (Section 20 of PD 1152 of the Philippine Environment Code) (3)

เมื่อกฎหมายมีอยู่แล้ว แต่หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โอโปซาเห็นว่า การฟ้องร้องให้เป็นคดีเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย

ในคำฟ้อง โอโปซาในฐานะทนายความเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการดูแลทางน้ำสาธารณะ ชายฝั่ง และอ่าวมานิลา หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการกำจัดของเสีย ดูแลสุขภาพของคนในเมโทร มานิลา หน่วยงานปกครองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ให้ประสานงานและร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ในการฟื้นฟูอ่าวมานิลา และทางน้ำสาธารณะที่เชื่อมต่อกับอ่าวมานิลาให้กลับคืนสู่สภาพคุณภาพน้ำชั้น SB (ระดับคุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการว่ายน้ำ, ดำน้ำและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อความรื่นรมย์) โดยจะต้องกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการที่สามารถตรวจสอบหรือติดตามการดำเนินงานได้ฯลฯ

เมื่อถามความเห็นของโอโปซาต่อประเด็นการแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความเสียหายจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ เพราะกรณีนี้พยานหลักฐานที่ได้มาเป็นข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ คือ DENR เอง มันจึงเป็นการชี้ชัดและน่าเชื่อถือ และหากว่าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป เช่นว่า พยานหลักฐานมาจากภาคเอกชน หรือภาคประชาชน มันจะยังคงความน่าเชื่อถือในสายตาของกระบวนการยุติธรรมฟิลิปปินส์ หรือไม่ โอโปซาตอบว่า เป็นความจริงที่ว่าคดีนี้ไม่ยุ่งยากเลย ในแง่การแสวงหาพยานหลักฐาน แต่เขาเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากหน่วยงานใด ก็ย่อมต้องเป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ในศาล เพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การปนเปื้อนที่มีอยู่นั้นมันสูงเกินมาตรฐานที่ยอมรับกันได้จริง หรือมันได้เกิดภาวะมลพิษทางน้ำในอ่าวมานิลาแล้ว

ความยากในคดีนี้สำหรับโอโปซา จึงเป็นเรื่อง "ค่าใช้จ่าย" คดีนี้เกิดจากความริเริ่มของเขาเอง นับจากปีเริ่มต้น วันที่ยื่นคำฟ้องฟ้องจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นตัดสินก็ใช้เวลา ๓ ปี (วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๕) และศาลอุทธรณ์เพิ่งพิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นไปเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๘ รวมเวลาร่วม ๗ ปี เขาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างตั้งแต่ค่าน้ำมันรถ, ค่าถ่ายเอกสาร, ค่าเดินทางของผู้เกี่ยวข้องทุกคน, ค่าใช้จ่ายในชั้นศาล, รวมถึงเวลาที่ต้องเสียไป ฯลฯ

แต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟู และคุ้มครองอ่าวมานิลาภายใน ๖ เดือน และศาลอุทธรณ์ก็ยืนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การที่หน่วยงานรัฐโต้แย้งว่าไม่มีงบประมาณนั้น ก็เท่ากับว่า รัฐบาลกำลังปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง นอกจากนี้ ศาลยังได้ชี้ว่า ไม่จำเป็นต้องจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับการฟื้นฟู เพราะการฟื้นฟูนั้นสามารดำเนินการได้ด้วยการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และโดยการประสานและร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ได้อยู่แล้ว - เงินทุกเปโซ รวมถึงวันและเวลาที่ได้ใช้จ่ายไป ถึงตอนนี้ย่อมคุ้มค่าแล้วสำหรับเขา

"ผมไม่ได้ต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสังคมฟิลิปปินส์ มาตรฐานมันมีอยู่แล้วในกฎหมาย ผมต้องการเห็นการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น"

หลังจากที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา ชัยชนะที่ได้มาในวันนั้น โอโปซาได้กล่าวขอบคุณหลายคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโจทก์ในคดีนี้ ที่เขาบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนในห้องเรียนกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ UP เป็นเพื่อนพ้องที่รู้จักเขาดี รวมถึงคนขับรถของเขาซึ่งเป็นคนในตัวเมืองมานิลา ฯลฯ เพราะเขาเป็นเพียงคนริเริ่มการตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ และกระบวนการยุติธรรมของฟิลิปปินส์ แต่คนกลุ่มนี้ต่างหากที่ช่วยให้คำถามของเขานำไปสู่การตรวจสอบ และผลักดันให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

"อย่างอื่น" ในคำพิพากษาของศาลฟิลิปปินส์ :
ประสบการณ์คดีสิ่งแวดล้อมประเทศฟิลิปปินส์ กรณีการฟื้นฟูอ่าวมานิลา (๒)

หากใครพอจะเคยอ่านคำพิพากษาอยู่บ้าง เมื่อได้อ่านไปสักจำนวนหนึ่งก็ย่อมต้องจับทางหรือเริ่มคุ้นกับ 'แบบแผน' ของคำพิพากษา ที่มักจะขึ้นต้นด้วยการสรุปคำฟ้อง, สรุปคำให้การ, การตั้งประเด็นแห่งคดี, สรุปการสืบพยานตามประเด็นแห่งคดี, ตามด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอ้างข้อกฎหมาย และการออกคำสั่ง

แต่เมื่อได้มาอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นของฟิลิปปินส์ (Fourth Judicial Region Regional Trial Court Branch 20, Imus, Cavite) ในคดีการฟ้องร้องให้มีการฟื้นฟูอ่าวมานิลา (Divina V. Ilas v The Philipine Government, คดีแพ่งหมายเลข ๑๘๕๑-๙๙, ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๕) แล้ว ทำให้อยากรู้ว่าหากใครได้อ่านแล้ว จะเกิดความรู้สึกสงสัยแบบอารมณ์ดีไหมว่า ลักษณะแบบนี้ เป็น 'แบบแผน' ของศาลฟิลิปปินส์ หรือเปล่า และเป็นไปได้ไหมว่าลักษณะ 'แบบนี้' จะสามารถพบเห็นได้ในคำพิพากษาของศาลไทย

อย่างไรก็ดี นอกจากข้อสังเกตข้างต้นแล้ว โดยตัวเนื้อหาของคำพิพากษาในคดีนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่เช่นกัน …ช่วงแรกของคำพิพากษาคดีนี้ ไม่แตกต่างไปจากรูปแบบของคำพิพากษาทั่วไปของศาลไทย นั้นคือ ศาลชั้นต้นได้สรุปคำฟ้องของโจทก์ว่า ต้องการให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอ่าวมานิลาในด้านต่าง ดำเนินการ และประสานงานร่วมกันในการวางแผนทำความสะอาดและฟื้นฟูอ่าวมานิลา รวมถึงทางน้ำสาธารณะที่เชื่อมต่อกับอ่าวมานิลา เพื่อให้คุณภาพน้ำนั้นกลับคืนสู่คุณภาพระดับ SB (ระดับคุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการว่ายน้ำ, ดำน้ำและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อความรื่นรมย์) และคืนสภาพเดิมของระบบนิเวศเดิมให้กับสิ่งมีชีวิตในทะเล

จากนั้นก็เป็นการกล่าวถึงหน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้ง ๑๔ หน่วยงาน คือ

- Metropolitan Waterworks and Sewerage System (MWSS);
- Local Water Utilities Administration (LWUA);
- Department of Environment and Natural Resources (DENR);
- Department of Education, Culture and Sports (DECS);
- Department of Agriculture (DA)
- Department of Health (DOH);
- Department of Public Works and Highways (DPWH);
- Department of Budget and Management (DBM);
- Metropolitan Manila Development Authority (MMDA);
- Philippine Coast Guard (PCG);
- Philippine Ports Authority (PPA);
- Philippine National Police and the Philippine Maritime Group;
- Concerned Local Government Units ("LGU-John Doe");
- Department of Interior and Local Governments (DILG)

ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นแห่งคดีไว้ ๒ประเด็นคือ

หนึ่ง - คุณภาพน้ำในอ่าวมานิลายังเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายหรือไม่ และ
สอง - การฟื้นฟู (Cleaning up) ตาม Section 17 และ 20 แห่ง President Decree No.1152 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ the Environmental Code นั้น จำกัดเพียงการฟื้นฟูที่เกิดจากเหตุมลพิษอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือรวมถึงการฟื้นฟูกรณีทั่วๆ ไปด้วย

จากการสืบพยาน
ประเด็นที่หนึ่ง - หัวหน้าฝ่ายการจัดการคุณภาพน้ำกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (DENR) ให้การต่อศาลว่า ผลการตรวจตัวอย่างน้ำจากอ่าวมานิลาพบว่า ค่าการปนเปื้อนของ Fecal Coliform นั้นสูงถึง 800 mpn / 100 ml. ขณะที่มาตรฐานการปนเปื้อนที่ยอมรับได้นั้นอยู่ที่ระดับ 200 mpn/ 100 ml. ผลก็คือ คุณภาพน้ำในอ่าวมานิลาไม่เป็นไปตาม classification SB แห่ง DENR Administrative Order No. 34 คือ ไม่สามารถใช้เพื่อการอาบน้ำ ว่ายน้ำหรือดำน้ำได้อีกต่อไป ศาลเห็นว่าเมื่อประชาชนมีสิทธิที่จะมีระบบนิเวศที่สมดุล เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีตามรัฐธรรมนูญ (4) หน่วยงานรัฐต้องย่อมต้องมีหน้าที่ในการปกป้องและรักษาสิทธิดังกล่าว

ประเด็นที่สอง - การที่จำเลยอ้างว่า บทบัญญัติใน Section 20 (5) นั้น ใช้บังคับกับกรณีการฟื้นฟูมลพิษเฉพาะกรณีการแพร่กระจายของมลพิษ (spilled pollutants) เช่น กรณีน้ำมัน เท่านั้น ไม่รวมถึงการฟื้นฟูมลพิษที่เกิดจากการปล่อยทิ้ง (pollutant discharge) ในลักษณะทั่วๆ ไปอย่างกรณีของอ่าวมานิลา ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า การตีความในเชิงแคบและจำกัดดังกล่าวของจำเลยเป็นแนวทางที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิฉะนั้นแล้ว มาตรฐานคุณภาพน้ำที่กฎหมายปักธงเป็นเกณฑ์ให้แหล่งน้ำประเภทต่างๆ ต้องไปให้ถึง ก็คงไม่สามารถเป็นไปได้จริง เพราะหน่วยงานรัฐต่างๆ จะลงมือปฏิบัติหน้าที่ของตนก็ต่อเมื่อเป็นกรณีการแพร่กระจายของมลพิษเท่านั้น

นอกจากนี้ Sec. 20 par. (g) of Presidential Decree No.1152 ที่ได้นิยามความหมายของคำว่าการดำเนินการฟื้นฟู (clean-up operations) ว่าหมายถึงการดำเนินการเพื่อกำจัดมลพิษที่ถูกปล่อยทิ้งหรือเกิดการแพร่กระจายในน้ำ ดังนั้น จึงยิ่งไม่สมควรที่จะตีความจำกัดว่ามลพิษนั้นต้องหมายถึงมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจาย แต่ควรตีความให้หมายรวมถึงมลพิษที่ถูกปล่อยทิ้งด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น Sec. 17 of President Decree No. 1152 (6) ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดให้มีมาตรการที่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้น การอ่านและใช้ Section 20 นั้น ศาลเห็นว่าควรต้องอ่านและใช้ให้เชื่อมโยงกับ Section 17 และ Section 20 par (g) ด้วย

ก่อนจะไปถึงบรรทัดที่ศาลออกเป็นคำสั่งหรือพิพากษาชี้ขาด ศาลได้ขึ้นย่อหน้าใหม่ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

แนวโน้มสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินอรรถคดีของศาลในการปกปักรักษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม บทบาทของศาลในปัจจุบันก็คือ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ให้การคุ้มครองเกี่ยวกับคนรุ่นนี้และรุ่นหน้าในอนาคต บรรดาผู้พิพากษามีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลปกป้องธรรมชาติ. ในเอกสารชิ้นหนึ่งที่เขียนโดย Mr. M.C. Mehta, แห่งอินเดีย ซึ่งได้รับมาจากการประชุมสัมนาเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาคดีของศาล และกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน, เขาได้ประกาศว่า "ศาลต่างๆ ควรจะหลุดรอดจากการดำเนินการทางการศาลที่รัดแน่นของขนบประเพณี และปฏิบัติการทั้งหลายเกี่ยวกับความยุติธรรมในเชิงพิธีกรรม. ขณะที่การตัดสินอรรถคดีของศาลเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ต่อความต้องการต่างๆ ของยุคสมัย และจะต้องมีการนิยามกันใหม่ในแนวความคิดที่มีอยู่ของกฎหมาย โดยการขยายขอบเขตกฎหมายในเชิงขบวนการและเนื้อหาสาระออกไปอย่างกว้างขวาง; สร้างสรรค์สิทธิใหม่ๆ; พัฒนายุทธวิธีใหม่ๆ เพื่อยืดขยายแขนของความยุติธรรมไปในทุกภาคส่วนของสังคม และส่งผลต่อการยืนยันรับรองระบบบรรเทาและเยียวยาเกี่ยวกับการพิจารณาคดี". เขาเพิ่มเติมต่อไปว่า สิทธิใหม่ๆ อย่างสิทธิเรื่องความสะอาดของสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีสุขภาวะ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งสัมพันธ์กับการอยู่รอดของมนุษย์ อันเป็นผลลัพธ์ในการค่อยพัฒนากลไกทางการศาลใหม่ๆ เพื่อให้ความยุติธรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

(The modern trend is to involve the judiciary in the protection and preservation of the environment. The role of courts at present is to act as guardians of this and of future generations. They have trusteeship duties towards nature. In a paper written by Mr. M.C. Mehta, of India delivered at the Symposium on the Judiciary and the Law of Sustainable Development, he declared that "courts should break away from the traditional straitjacket judicial procedures and practices of administering justice. As the judiciary becomes more responsive to the needs of the time, it has to redefine the existing concepts of law; broaden the horizon of substantive and procedural laws; create new rights; develop new strategies for extending the arms of justice to all sections of society; and give effect to affirmative judicial relief system." He added that new rights like right to clean environment and right to live in a safe and healthy surroundings are basic rights relating to the very survival of human beings, resulting in the evolvement of new judicial mechanism to provide environmental justice.)

แล้วจึงค่อยไปสู่หัวข้อสุดท้ายของคำพิพากษาคือ ศาลได้ออกคำสั่งให้จำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันและประสานงานกัน เพื่อดำเนินการทำความสะอาดและฟื้นฟูอ่าวมานิลา รวมถึงทางน้ำสาธารณะที่เชื่อมต่อกับอ่าวมานิลา ให้กลับคืนสู่สภาพคุณภาพแหล่งน้ำระดับ SB เพื่อให้ประชาชนสามารถว่ายน้ำ, ดำน้ำ หรือใช้เพื่อความรื่นรมย์รูปแบบอื่นๆ ได้ โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน ๖ เดือน (7)

"อย่างอื่น" ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแห่งคดี และไม่ใช่ตัวบทกฎหมายในคำพิพากษา
คดีนี้ มีความน่าสนใจอยู่ที่ว่า เป็นคดีที่บุคคลและกลุ่มบุคคลลุกขึ้นมาใช้สิทธิที่กฎหมายรับรอง โดยใช้กลไกทางกฎหมาย ใช้กลไกของกระบวนการยุติธรรม หรือผ่านการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล และประเด็นที่ทำให้คดีนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นเหตุผลที่ว่า 'คดีนี้ประชาชนเป็นฝ่ายชนะ'แล้ว ก็เห็นจะเป็นเพราะรายละเอียดบางอย่าง หรือ 'บางย่อหน้า' ในคำพิพากษาคดีนี้นั่นเอง

คดีนี้ ศาลได้ยืนยันถึงสิทธิของบุคคลที่กฎหมายได้รับรองไว้ โดยการใช้และการตีความกฎหมายของศาลนั้น เป็นไปโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งบุคคล และประโยชน์แห่งสาธารณะ ที่จะมีสิทธิในสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี และอาจกล่าวได้ว่า ฐานของการใช้และการตีความกฎหมายเช่นนี้ ได้อิงหรือยืนอยู่บนข้อเรียกร้องของ M.C.Mehta

ในแวดวงทนายความที่ทำคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Interest Environmental Lawyer) ระหว่างประเทศ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก M.C.Mehta เขาเป็นทนายความและนักรณรงค์ต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญชาวอินเดีย เป็นทนายความในศาลสูงของอินเดีย หลายคดีที่เขาต่อสู้ในศาลได้นำไปสู่การวางหลักการ การรับรองและคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการยุติธรรมของอินเดีย (8)

การที่ศาลหยิบเอาข้อความของ M.C.Mehta มาเขียนไว้ในคำพิพากษานั่นย่อมหมายความว่า ศาลชั้นต้นแห่งนี้ นอกจากจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ M.C.Mehat แล้ว ศาลยังได้ร่วมเรียกร้องต่อบทบาทของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาลของ M.C.Mehat ที่ว่า ศาลควรจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่ปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อคนในยุคปัจจุบันและลูกหลานของพวกเรา ศาลควรจะก้าวให้พ้นกรอบเดิมๆ แห่งประเพณีและทางปฏิบัติในกระบวนการพิจารณาพิพากษา โดยการใช้การตีความกฎหมายของศาลจะต้องสามารถตอบสนองต่อประเด็นปัญหาแห่งยุคสมัย นำไปสู่การสร้างสิทธิใหม่ๆ พัฒนาแนวทางใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมในการบรรเทาหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม

ความน่าสนใจในประการต่อมาของคำพิพากษาคดีนี้ก็คือ ข้อความของ M.C.Mehta มาปรากฏอยู่ในคำพิพากษาได้อย่างไร ปรากฎว่าที่มาของย่อหน้านี้ก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะมันมิได้เป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ฝ่ายโจทก์เสนอต่อศาล เพื่อโน้มน้าวไปสู่ประเด็นฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์

โอโปซา บอกว่าศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นมาอ้างเอง

เป็นหลักการทั่วไปที่ว่า ศาลในระบบ Civil Law อาจหยิบยกความเห็นของนักกฎหมายมาเขียนไว้ในคำพิพากษาคดีที่ตนเป็นเจ้าของ หากเห็นว่ามันจะมาสนับสนุนการใช้ การตีความกฎหมายที่ต้องตรงกับเจตนารมณ์

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงศาลในบ้านเรา จริงอยู่ที่ว่า ในคำพิพากษาของศาลไทยเอง ความเห็นของนักกฎหมายนั้นอาจถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง อ้างอิงไว้ในคำพิพากษาได้ แต่เมื่อสอบถามไปยังทนายความ รวมถึงทนายความอาวุโสบางท่าน แล้วอาจสรุปได้ว่า ในทางปฏิบัติแล้ว ความเห็นของนักกฎหมายที่ศาลไทยจะหยิบยกขึ้นมากล่าวในคำพิพากษานั้น มักเป็นความเห็นที่เกี่ยวกับการปรับใช้การตีความตัวบทกฎหมายโดยนักกฎหมายที่เป็นนักวิชาการ ที่ทนาย หรืออัยการได้อ้างถึงไว้ในช่วงการสืบพยาน หรือลักษณะที่ศาลมักหยิบยกมาใช้กันในทางปฏิบัติอย่างกว้างขวางมาโดยตลอดก็คือ การอ้างถึงคัมภีร์ของแวดวงตุลาการอย่าง "ฎีกา" ฉบับต่างๆ ก่อนหน้า ส่วนการหยิบเอาข้อความคิดเห็น หรือข้อเรียกร้องใดๆ ของนักกฎหมายกลุ่มอื่นๆ อาทิ ทนายความ นั้น ยังไม่เคยมีปรากฏในคำพิพากษาของศาลไทย

++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยภายใต้โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (API Fellowship 2005-2006)

(2) Section 16 Article II of the 1987 Constitution
"The State shall protect and advance the right of the people to a balanced and healthful ecology in accord with the rhythm and harmony of nature."

(3) Section 20 of PD 1152 of the Philippine Environment Code:
"Clean-up Operations - It shall be the responsibility of the polluter to contain, remove and clean up water pollution incidents at his own expense. In case of his failure to do so, the government agencies concerned shall undertake containment, removal and clean up operations and expenses incurred in said operations shall be charged against the persons and/or entities responsible for such pollution:"

(4) Section 16, Article II of the 1978 Constitution
"The State shall protect and advance the right of the people to a balanced and healthful ecology in accord with the rhythm and harmony of nature."

(5) Section 20 of President Decree No. 1152 หรือ the Environmental Code
Clean-Up Operations. - It shall he the responsibility of the polluter to contain, remove and clean up water pollution incidents at his own expense. In case of his failure to do so, the government agencies concerned shall undertake the containment, removal and clean-up operations and expenses incurred in said operations shall be charged against the persons and/or entities responsible for such pollution

(6) Section 17
Upgrading of Water Quality. - Where the quality of water has deteriorated to a degree where its state will adversely affect its best usage, the government agencies concerned shall take such measures as may be necessary to upgrade the quality of such water to meet the prescribed water quality standards."

(7) ….WHEREFORE, finding merit in the complaint, judgment is hereby rendered ordering the abovenamed defendant-government agencies, jointly and solidarily, to clean up and rehabilitate Manila Bay and restore its waters to SB classification to make it fit for swimming, skin-diving and other forms of contact recreation. To attain this, defendant-agencies, with defendant DENR as the lead agency, are directed, within six (6) months from receipt hereof, to act and perform their respective duties by devising a consolidated, coordinated and concerted scheme of action for the rehabilitation and restoration of the bay.

(8) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ M.C. Mehta ได้ที่ http://www.mcmef.org

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

ในเอกสารชิ้นหนึ่งที่เขียนโดย Mr. M.C. Mehta, แห่งอินเดีย ซึ่งได้รับมาจากการประชุมสัมนาเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาคดีของศาล และกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน, เขาได้ประกาศว่า "ศาลต่างๆ ควรจะหลุดรอดจากการดำเนินการทางการศาลที่รัดแน่นของขนบประเพณี และปฏิบัติการทั้งหลายเกี่ยวกับความยุติธรรมในเชิงพิธีกรรม. ขณะที่การตัดสินอรรถคดีของศาลเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ต่อความต้องการต่างๆ ของยุคสมัย และจะต้องมีการนิยามกันใหม่ในแนวความคิดที่มีอยู่ของกฎหมาย โดยการขยายขอบเขตกฎหมายในเชิงขบวนการและเนื้อหาสาระออกไปอย่างกว้างขวาง; สร้างสรรค์สิทธิใหม่ๆ; พัฒนายุทธวิธีใหม่ๆ เพื่อยืดขยายแขนของความยุติธรรมไปในทุกภาคส่วนของสังคม และส่งผลต่อการยืนยันรับรองระบบบรรเทาและเยียวยาเกี่ยวกับการพิจารณาคดี".