บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๘๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
03-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Moving Picture
The Midnight University

บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ต่างประเทศ
คอมมิวนิสต์คนสุดท้าย - ความต่างที่ถูกคัดทิ้ง
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน
รวบรวมเพื่อผู้สนใจการวิเคราะห์ภาพยนตร์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการเผยแพร่แล้วบนประชาไทออนไลน์และหนังสือพิมพ์มติชน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพยนต์ต่างประเทศ ประกอบด้วย
๑. Bashing : ความต่างที่ถูกคัดทิ้ง
๒. The Last Communist คอมมิวนิสต์คนสุดท้าย
เรื่องแรกเกี่ยวกับอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่ไปทำงานในประเทศอิรัก และได้ถูกจับตัวไปเป็นตัวประกัน
ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องของการตามรอยประวัติจีนคอมมิวนิสต์ในมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในประเทศไทย
ทั้ง ๒ เรื่องมีวิธีการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่น่าสนใจในด้านสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1089
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)



คอมมิวนิสต์คนสุดท้าย - ความต่างที่ถูกคัดทิ้ง
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน - รวบรวมเพื่อผู้สนใจการวิเคราะห์ภาพยนตร์

1. Bashing : ความต่างที่ถูกคัดทิ้ง
ภาพยนตร์ 'อ้างอิง' จากเรื่องจริง หลังอาสาสมัครสาวญี่ปุ่นถูกจับเป็นตัวประกันในอิรัก
โดย ซาเสียวเอี้ย / ประชาไทออนไลน์
ความรุนแรงที่ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเข่นฆ่า ปะทะ หรือทำร้ายกันชนิดเลือดสาดกระจายให้เห็นตำตาเสมอไป... ในทางตรงข้าม หนังบางเรื่องดำเนินไปอย่างเนิบช้า และเป็นเพียงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ของใครสักคน แต่กลับมีความรุนแรงแทรกอยู่ทุกอณูบรรยากาศ จนทำให้เรารู้สึกสั่นสะเทือนและหนาวเยือกไปถึงสันหลังโดยไม่จำเป็นต้องเห็นภาพการใช้กำลังห้ำหั่นแม้แต่นิดเดียว

ผลงานเรื่อง Bashing ของผู้กำกับ Masahiro Kobayashi ก็เป็นหนึ่งในหนังประเภทที่ว่า...

น้ำหนักแห่งความรับผิดชอบ:
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 6 เดือนก่อน ยูโกะตกเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อเธอถูกกองกำลังไม่ทราบชื่อในตะวันออกกลางจับเป็นตัวประกัน และกองกำลังดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่อันตรายนั้น

เมื่อถูกปล่อยตัวออกมา ยูโกะถูกส่งกลับญี่ปุ่นทันที แต่สิ่งที่รออยู่ ณ บ้านเกิดเมืองนอน ไม่ใช่การต้อนรับเพื่อปลอบประโลมคนที่กำลังขวัญเสีย แต่เป็นคำประณามที่ยูโกะเข้าไปเสี่ยงอันตรายในตะวันออกกลางโดยไม่มีใครร้องขอ... หรือถ้าจะพูดกันตรงๆ คือยูโกะ 'แส่หาเรื่อง' ด้วยตัวเองแท้ๆ

จดหมายข่มขู่และโทรศัพท์ลึกลับถูกส่งมาที่บ้านของยูโกะไม่เว้นแต่ละวัน พร้อมกับคำต่อว่ายูโกะว่าเป็น 'ความอับอายขายหน้า' ของประเทศญี่ปุ่น ในเวบบอร์ดต่างๆ เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกรูปแบบที่ประณามการกระทำของยูโกะ และเจ้านายของเธอก็ใช้มันเป็นเหตุผลในการไล่เธอออกจากงาน. ไม่เพียงแต่ยูโกะเท่านั้น พ่อของเธอก็ถูกบีบให้ลาออกจากงานที่ทำมากว่า 30 ปี เพียงเพราะมีโทรศัพท์และจดหมายข่มขู่มาที่บริษัทต้นสังกัดที่ว่าจ้างให้ 'พ่อของคนที่ทำให้ญี่ปุ่นอับอายขายหน้า' ทำงานอยู่

สังคมญี่ปุ่นทวงถามความรับผิดชอบจากยูโกะ และมองว่าการที่เธอไปเป็นอาสาสมัครในตะวันออกกลางคือการทำตามใจตัวเอง แต่รัฐบาลและคนทั้งประเทศกลับต้องพลอยเดือดร้อนไปกับการกระทำของเธอ และต้องไปต่อรองกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ทำให้คนทั่วโลกมองว่า ญี่ปุ่นไม่สามารถจัดการให้คนของตัวเองอยู่ในโอวาทได้ สิ่งที่ยูโกะต้องจ่ายเมื่อกลับสู่สังคมญี่ปุ่นจึงเป็นราคาที่หนักหน่วงเหลือเกิน...

เหตุการณ์ต่อไปนี้เป็น 'เรื่องสมมติ'
วันซวย:

บรรยากาศภายในห้องเตรียมอุปกรณ์ของพนักงานทำความสะอาดดูตึงเครียดขึ้นทันทีที่ ยูโกะ ก้าวเข้าไป คำกล่าวทักทายอรุณสวัสดิ์ของเธอถูกปล่อยให้เลือนหายไปในอากาศ...

ยูโกะทำหน้าที่ของตัวเองไปอย่างเงียบเชียบ ไม่มีบทสนทนาระหว่างเธอและเพื่อนร่วมงาน จนกระทั่งหัวหน้างานเรียกไปพบและบอกว่า "ต่อไปเธอไม่ต้องมาทำงานที่นี่อีกแล้ว" จากนั้นเขาก็ยื่นซองใส่เงินค่าจ้างมาให้. ใช่...เธอถูกไล่ออก...

(ฉากต่อมา) เมื่อจอดจักรยานหน้าร้านสะดวกซื้อเรียบร้อยแล้ว ยูโกะเดินเข้าไปสั่งซื้อโอเด้งราคาถูกใส่กล่อง เพื่อเอากลับไปกินที่บ้านตามประสาคนตกงาน ขณะเดียวกัน เด็กวัยรุ่น 3 คนที่วนเวียนอยู่ในร้านก็พยักเพยิดให้กันเมื่อเห็นยูโกะ ดูเหมือนพวกเขาจะจำหน้าเธอได้ พวกเขาเดินตามยูโกะออกไปหน้าร้าน และกระชากกล่องอาหารที่เธอซื้อมาทุ่มลงกับพื้น กระทืบจนมันแหลกเละ ก่อนจะเดินหัวเราะร่วนจากไป

(ฉากต่อมา) ยูโกะเปิดประตูเข้าไปในบ้านพักอย่างโมโห แม่เลี้ยงหันหน้ามาถามไถ่อย่างเป็นห่วง ยูโกะชูถุงโอเด้งอันแหลกเหลวที่เธอถือติดมือมาด้วยให้ดูแต่ไม่พูดอะไร

โทรศัพท์ดังขึ้นขณะที่ยูโกะซุกตัวอยู่บนที่นอน ไม่มีใครในบ้านรับสาย เครื่องตอบรับโทรศัพท์ทำงานของมันโดยอัตโนมัติ เสียงผู้ชายจากปลายสายดังขึ้นพร้อมประโยคคุกคาม "...แกคิดว่าสิ่งที่แกทำมันถูกต้องแล้วเรอะ!"

การรอคอยอันแสนทรมาน:
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่มีการพูดถึงหรือทำให้คนดูเห็นถึงฉากที่ยูโกะถูกจับเป็นตัวประกันในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกมองว่าอันตรายและเต็มไปด้วยความรุนแรง สิ่งที่ทำให้เรารับรู้ว่ายูโกะเคยผ่านเหตุการณ์ถูกจับเป็นตัวประกันมาก่อน มีเพียงคำพูดจากปากคนรอบตัวยูโกะเท่านั้น แต่ในประเทศที่ติดอันดับว่ามีความปลอดภัยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ครอบครัวของยูโกะกลับถูกคุกคามอย่างเลือดเย็นและโหดร้ายยิ่งกว่าความตายจากสงครามในตะวันออกกลางเสียอีก

โทรศัพท์ลึกลับทำให้ทุกคนในบ้านประสาทเสีย และครอบครัวของยูโกะก็ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักไปตลอดกาลเพราะความกดดันที่ได้รับ การทวงถามความรับผิดชอบจากครอบครัวของเธอ โดยอ้างถึงความสำนึกในบุญคุณของประเทศชาติและรัฐบาล รวมถึงทหารญี่ปุ่นอีกเป็นจำนวนมากที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ที่ยูโกะถูกจับเป็นตัวประกันอย่างไม่ตั้งใจ จึงเป็นคำถามโหดร้ายที่สุดที่ถูกโยนใส่หน้ายูโกะ และเรียกได้ว่านั่นคือการคุกคามที่ได้ผลรุนแรงที่สุด

ปฏิกิริยาตอบโต้ของยูโกะที่มีต่อเรื่องนี้คือการนิ่งเฉยและสวมหน้ากากอันเย็นชา จนเราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเธอคิดอย่างไรอยู่ คนดูหลายคนอาจรู้สึกขัดใจที่ยูโกะไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือทำอะไรสักอย่างเป็นการตอบโต้ผู้คนรอบข้างที่ใช้ทั้งการกระทำและคำพูดเพื่อทำร้ายเธอ แต่ดูเหมือนว่า ผู้กำกับมาซาฮิโร่ โคบายาชิ จงใจใช้ความนิ่งและเหตุการณ์ซ้ำซากบีบคั้นให้คนดูรู้สึกอึดอัดไปกับชะตากรรมของยูโกะที่ผ่านคืนวันแต่ละวันไปอย่างช้าๆ และในความเชื่องช้าที่ถ่ายทอดออกมานั้น เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทีละนิดผ่านพฤติกรรมเดิมๆ ของยูโกะ พอๆ กับที่รู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงความหนักหน่วงที่ทับถมลงมาในจิตใจ รอเวลาระเบิดมันออกมา...

แม้จะดูมึนงง ไม่แน่ใจ และมีสีหน้าที่ใครๆ ก็เดาอารมณ์ไม่ค่อยจะถูก แต่เราก็ได้เห็นยูโกะสวมเสื้อสีแดงสดใสเป็นครั้งแรกในหนัง (แทนที่จะใส่เสื้อดำทึบทึมที่เคยใส่ประจำ) เมื่อเธอปั่นจักรยานไปหาคนรักที่ไม่ได้คุยกันอย่างจริงๆ จังๆ มานานกว่า 6 เดือน เพียงเพื่อจะพบว่า สิ่งที่เธอไม่ต้องการเผชิญหน้า ได้เกิดขึ้นและดำเนินอยู่โดยที่เธอไม่อาจหลีกเลี่ยง

หรือแม้แต่ฉากในวัดที่ยูโกะนั่งนิ่งฟังเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์โดยไม่ขยับเขยื้อน แม้ว่านั่นจะเป็นงานศพของคนที่รักและคอยให้กำลังใจเธอมาตลอดก็ตามที เธอกลับไม่มีน้ำตาไหลออกมาให้ใครเห็น แต่มุมปากและหนังตาที่กระตุกจนบิดเบี้ยวบ่งบอกถึงความกดดันอันใกล้จะถึงขีดสุดของคนหนึ่งคนแล้ว

น้ำตาที่ไหลออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อยูโกะรับรู้และเชื่อมโยงได้ถึงความรู้สึกของแม่เลี้ยง ผู้เป็น 'ครอบครัว'เพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ คือกุญแจไขไปสู่โลกของยูโกะ และทำให้เรารับรู้และเข้าใจเช่นกันว่าแท้จริงนั้น ยูโกะรู้สึกรู้สากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่แสดงออกมาให้ตาเห็นมากนัก

เหตุการณ์ต่อไปนี้ 'เกิดขึ้นจริง'
เธอชื่อ 'นาโฮโกะ ทาคาโตะ' ตัวประกันหญิงชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกกองกำลังไม่ทราบชื่อในอิรักจับไปเป็นตัวประกันเมื่อเดือนเมษายน ปี 2004 มีชื่อว่า 'นาโฮโกะ ทาคาโตะ' เป็นอาสาสมัครลำเลียงยาช่วยเหลือให้แก่เด็กและชาวอิรักที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐอเมริกาเป็นโต้โผใหญ่. เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอโด่งดังไปทั่วโลก แต่นายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคอิซูมิ ได้กล่าวในทำนองตำหนิว่าการถูกจับไปเป็นตัวประกันครั้งนี้เป็นความผิดของเธอเองที่เข้าไปยังพื้นที่อันตราย ทั้งที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศเตือนแล้ว

เมื่อกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่เธอได้รับจึงได้แก่ถ้อยคำตำหนิติเตียนต่างๆ นานา เช่นเดียวกับนักศึกษาวัย 18 ปี ที่ไปศึกษาเรื่องผลกระทบจากยูเรเนียมที่มีต่อมนุษย์ และช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่ทำงานที่อิรักก็ถูกจับเป็นตัวประกันในช่วงเวลาเดียวกัน เธอทั้งสามคนตกเป็นเป้านิ่งให้พวกเสรีนิยมใหม่ในญี่ปุ่นด่าว่าพวกเขาคือตัวทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศ และเหตุการณ์นี้ก็สร้างความงุนงงให้คนทั่วโลกที่ไม่เข้าใจจนแล้วจนรอดว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงได้จงเกลียดจงชังทั้ง 3 คนที่เป็น 'เหยื่อสงคราม' ได้ขนาดนั้น

สุดท้าย นาโฮโกะก็กลับไปยังพื้นที่ตะวันออกกลางที่ใครๆ ก็มองว่าอันตรายที่สุด และทำหน้าที่อาสาสมัครต่อ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าเธอยังอยู่ที่ญี่ปุ่น เธอก็เป็นเพียงคนไร้ค่าคนหนึ่งที่ใจแตกเสียคนไปเมื่อตอน ม.ปลาย ก่อนจะกลับตัวกลับใจมาเปิดร้านคาราโอเกะของตัวเองเมื่อเข้าวัยสามสิบต้นๆ และใช้ชีวิตที่ว่างเปล่าไปวันๆ

แต่ถ้าอยู่ที่ (อิรัก) นั่น...เธอสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้อย่างเต็มที่ และสิ่งที่เธอทำมีความหมายต่อชีวิตคนทั้งชีวิต นาโฮโกะจึงตัดสินใจกลับไปอิรักอีกครั้ง เพื่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กข้างถนนในอิรักให้ได้มีโอกาสทางการศึกษาและทำงานเลี้ยงชีพตัวเองได้
[1] http://www.japantimes.co.jp/cgi-bin/getarticle.pl5?fl20041107x1.htm

ความคิดที่นาโฮโกะให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศ จึงไม่แตกต่างจากเหตุผลของ 'ยูโกะ' ในหนังเรื่องนี้ที่รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองถูกเติมเต็มเมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่น และทำให้รู้สึกถึงความมีคุณค่าในการดำรงอยู่ของตัวเอง... แม้ว่าเหตุผลในการช่วยเหลือคนอื่นของยูโกะจะเป็นเพียงการทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี แต่มันก็น่าจะดีกว่าการปล่อยให้ชีวิตล่องลอยอยู่กับความไม่แน่ใจไปวันๆ

การตั้งคำถามว่าถ้าหากเธอต้องการเป็นอาสาสมัครหรือต้องการทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ทำไมต้องอุทิศตนให้ 'คนอื่น' หรือ 'สังคมอื่น' ที่อยู่ห่างไกลถึงตะวันออกกลาง และการทวงถามความรับผิดชอบของยูโกะในฐานะ 'คนญี่ปุ่น' ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนว่า 'สังคมญี่ปุ่น' ควรจะหันกลับมาสำรวจตัวเองในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของโลกกันบ้าง แทนที่จะแยกตัวออกห่างเพราะคิดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันเลย

การมองโลกแบบแยกส่วน ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่เข้าใจความรู้สึก 'เชื่อมโยง' ที่ยูโกะมีต่อเด็กๆ ชาวตะวันออกกลางที่เธอเดินทางไปช่วยเหลือ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอต้องกลับไปที่นั่นอีกครั้ง แต่ในทางกลับกัน สังคมญี่ปุ่นไม่เคยมองตัวเองที่กีดกันและไม่เคยทำให้ยูโกะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในนั้นเลย

ชีวิตของยูโกะเป็นชีวิตที่ไม่ได้ 'มาตรฐาน' ไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการชอบเก็บตัว เรียนหนังสือไม่เก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ติด ขาดบุคลิกที่น่าเชื่อถือ และล้มเหลวทางการสื่อสารความคิดกับคนรอบข้าง สังคมญี่ปุ่นจึงกีดกันเธอออกไปเป็นคนวงนอก ที่ไม่ผ่านกลไกการคัดเลือกต่างๆ จนสามารถพูดได้เต็มปากว่า ไม่มีใครคิดที่จะรับรู้หรือเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่ในใจของยูโกะเลย

เมื่อตัวตนของเธอถูกปฏิเสธจากสังคมญี่ปุ่น ยูโกะจึงต้องดิ้นรนตามหาดินแดนที่ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าให้ได้ และบังเอิญว่าที่แห่งนั้นคือตะวันออกกลางที่กำลังลุกเป็นไฟ ความรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้นทางกายภาพ อาจจะมีผลต่อจิตใจของยูโกะน้อยกว่าการเป็นส่วนเกินของสังคมที่สงบเงียบแต่เต็มไปด้วยความเย็นชาไร้หัวใจ...

คำบอกเล่าตรงไปตรงมาที่ยูโกะพูดกับแม่เลี้ยงในตอนท้ายของ Bashing จึงเป็นประเด็นที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ และน้ำหนักในการวิพากษ์เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ได้ถูกเน้นย้ำมากเท่ากับการบอกว่าสังคมที่พยายามคัดทิ้งคนที่แตกต่างและไม่เข้าพวกออกไปอยู่นอกวงตลอดเวลา เป็นสังคมที่โหดร้ายทารุณยิ่งกว่าสังคมที่มีการฆ่าฟันให้เห็นกันตรงๆ เสียอีก

2. The Last Communist คอมมิวนิสต์คนสุดท้าย
คอลัมน์ อาทิตย์เธียเตอร์ / มติชน (โดย พล พะยาบ)
"The Last Communist" เป็นหนังสารคดีจากมาเลเซีย ผลงานของ "อามีร์ มูฮัมหมัด" ว่าด้วยประวัติชีวิตของ "จิน เป็ง" หรือ "เฉิน ผิง" ในภาษาจีนกลาง, อดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะถูกทางการมาเลย์ห้ามกลับเข้าประเทศ ขณะที่หนังชีวประวัติของเขาเรื่องนี้ก็ถูกห้ามฉายในมาเลเซีย

คือ "จิน เป็ง" คนเดียวกับที่ปรากฏในข่าวเกี่ยวกับความไม่สงบทางภาคใต้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน จากคำพูดของนายทหารระดับสูงของไทยว่า ลูกน้องของจิน เป็ง หรือ "โจรจีนคอมมิวนิสต์" ในอดีต เกี่ยวข้องกับขบวนการป่วนใต้

ดังนั้น ก่อนจะเข้าเรื่องจึงต้องบอกกล่าวไว้ก่อนว่า แม้เนื้อหาใน The Last Communist จะมีส่วนที่พูดถึงชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมทั้งเข้ามาถ่ายทำใน อ.เบตง จ.ยะลา แต่ไม่มีตอนใดกล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเราเลย. นอกจากนี้ แม้หนังจะถูกห้ามฉายในมาเลเซีย แต่เนื้อหาโดยรวมไม่ได้หมิ่นเหม่หรือสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ใครหรือฝ่ายใด ที่ถูกแบนคงเป็นเพราะหนังกล่าวถึง "บุคคลต้องห้าม" ของทางการอย่างเรียบง่ายจนเกินไป กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลคนหนึ่งออกมาระบุว่า ที่ต้องแบนหนังเรื่องนี้เพราะหนังไม่มีความรุนแรงเพียงพอ จึงถือเป็นการบิดเบือนอดีต

ขอเล่าย้อนไปอีกหน่อยว่า ตอนแรกคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของมาเลเซียพิจารณาหนังเรื่องนี้แล้วให้ผ่านโดยไม่มีการตัดฉากใดๆ เลย และนับเป็นหนังสารคดีสัญชาติมาเลย์ซึ่งฉายในวงจำกัดเรื่องแรกที่ได้เรต U หรือเหมาะสำหรับทุกวัย. จากนั้น The Last Communist ได้เดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลก แต่เมื่อจวนจะฉายในบ้านเกิด หนังสือพิมพ์ภาษามาเลย์แนวอนุรักษนิยมฉบับหนึ่งได้ออกมาต่อต้านการฉายหนังเรื่องนี้ จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางแม้แต่ในสภา กระทั่งมีการกลับคำตัดสินดังกล่าว

เส้นทางชีวิตของ "จิน เป็ง" หรือ "เฉิน ผิง" สู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เริ่มจากการเข้าเป็นสมาชิกพรรคและร่วมรบในกองกำลังชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้ความดีความชอบจากอังกฤษ ซึ่งปกครองมาเลเซียในขณะนั้น. แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุด สถานะของจิน เป็ง พลิกผันไปสุดขั้วเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเปลี่ยนเป้าหมายจากการต่อต้านญี่ปุ่นเป็นต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม

เหตุการณ์ทวีความรุนแรงเมื่อผู้บริสุทธิ์รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวอังกฤษถูกสังหาร. จิน เป็งและพรรคคอมมิวนิสต์ถูกปราบปรามอย่างหนัก โดยอังกฤษใช้สารพัดวิธีเพื่อตัดการช่วยเหลือจากประชาชน. การสู้รบดำเนินต่อเนื่องกว่าทศวรรษภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉิน กระทั่งปี 1955 อังกฤษเริ่มให้มาเลเซียปกครองตนเองในบางด้าน, จิน เป็งจึงต้องการวางอาวุธและนำพรรคคอมมิวนิสต์เข้าสู่เวทีการเมือง แต่การเจรจาสงบศึกระหว่างจิน เป็ง กับตัวแทนมาเซียและอังกฤษ ไม่สามารถหาข้อยุติได้เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้จิน เป็ง ยอมแพ้

จิน เป็งลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและอาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่ตอนนั้น โดยไม่เคยยอมแพ้หรือละวางอุดมการณ์ต่อต้านชาติตะวันตกเจ้าอาณานิคม

ประวัติของจิน เป็ง ที่เล่ามานี้อยู่ใน The Last Communist ในรูปของข้อความสั้นๆ ที่ใส่เข้ามาเป็นระยะ โดยที่ตลอดทั้งเรื่อง เราจะไม่ได้เห็นหน้าของจิน เป็ง, ไม่ว่าจะเป็นภาพในอดีตหรือปัจจุบัน จะมีแค่เพียงภาพการ์ตูนจำลองเหตุการณ์การเจรจาสงบศึกระหว่างจิน เป็ง กับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

ขณะที่การสัมภาษณ์ผู้คนในเมืองหรือสถานที่ที่จิน เป็งเคยผ่านพักอาศัยซึ่งผู้สร้างได้เดินตามรอยไปนั้น มีเพียงครั้งเดียวที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงเรื่องราวของจิน เป็ง และมีไม่กี่ฉากที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและเหตุการณ์ในอดีต (ในจำนวนไม่กี่ฉากนี้ กว่าครึ่งคือการสัมภาษณ์อดีตลูกน้องของจิน เป็ง ในหมู่บ้านสันติที่เบตง)

ดังนั้น ภาพและการสัมภาษณ์ผู้คนส่วนใหญ่กลับกลายเป็นเรื่องราวหลากหลายที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจิน เป็ง, หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ช่วงต้นเรื่องที่บ้านเกิดของจิน เป็ง เมื่อข้อความขึ้นมาว่าเขาเกิดในครอบครัวที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับจักรยาน หนังได้พาเราไปยังร้านขายจักรยานในเมืองนั้น แล้วให้เจ้าของร้านเล่าถึงธุรกิจการขายจักรยานในปัจจุบัน หรือเมื่อไปยังเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องใด ประเด็นการพูดคุยก็เป็นเรื่องนั้น เช่น คุยกันเรื่องส้มโอเมื่อไปยังเมืองหนึ่งในเปรัก อีกลักษณะหนึ่งคือสัมภาษณ์ผู้คนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา บ้างสุข บ้างทุกข์ แตกต่างกันไปแต่ละคน

ภาพและเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวอะไรกับประวัติชีวิตของบุคคลต้นเรื่องนี้ คงเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ต้องการเชื่อมอดีตกับปัจจุบัน เพราะขณะที่หนังกำลังเล่าเรื่องสำคัญระดับชาติในอดีต ใช่หรือไม่ว่าเรื่องดังกล่าวล้วนมีผลต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน. ที่สำคัญ ผู้คนที่ให้สัมภาษณ์มีทั้งคนมาเลย์ แขก และชาวจีน ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นคนชายขอบ หรือคนเล็กๆ ในสังคมที่ไม่มีปากเสียง ในเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจอย่างกัวลาลัมเปอร์ ทำให้คิดต่อไปได้ว่า ผู้สร้างกำลังเขียนประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน ซึ่งต่างจากประวัติศาสตร์ที่รัฐเขียนขึ้นมาตลอด

การพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติของผู้คนหลากหลาย ผ่านการถ่ายภาพที่ไม่พิถีพิถันมากนัก และการตัดต่อที่ใส่ลูกเล่นง่ายๆ ทำให้หนังมีเสน่ห์และสัมผัสได้ง่าย ไม่แปลกที่คราวแรกกรรมการเซ็นเซอร์จะมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะกับทุกช่วงอายุ

บางครั้งคำพูดของผู้คนที่ไม่ได้ผ่านการประดิดประดอย หลายครั้งหลายหนก่อให้เกิดความหมายชวนใคร่ครวญคิดตามได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น การแจกแจงประเภทของสะตอว่ามี 3 ชนิด และแต่ละชนิดก็เป็นที่โปรดปรานของคน 3 เชื้อสาย ทั้งมาเลย์, จีน, และอินเดีย, เหมือนเป็นตัวอย่างของความแตกต่างด้านเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือคำบอกเล่าของคน 2 คน 2 ความรู้สึก ต่อเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกมาเลเซีย คนหนึ่งคือชาวบ้านผู้ทุกข์ตรม อีกคนคือเจ้าของโรงงานผลิตถ่านผู้ภาคภูมิใจในกิจการของตนเอง

ลักษณะเด่นของหนังเรื่องนี้อีกประการหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ การผสมผสานรูปแบบ "หนังเพลง" อันเป็นความแตกต่างเหลือเกินกับหนังสารคดี เนื้อเพลงและดนตรีฟังสนุกประกอบการแสดงเน้นความสนุกสนานเป็นหลักถูกใส่แทรกเข้ามาราว 5-6 เพลง เช่น ตอนกล่าวถึงโรคมาลาเรีย กล่าวถึงภัยคอมมิวนิสต์. สำหรับผู้ชมต่างชาติอาจจะมองฉากเพลงดังกล่าวด้วยความไม่เข้าใจและคิดว่าเป็นส่วนเกิน แต่สำหรับชาวมาเลเซียเองเมื่อดูแล้วจะรู้ทันทีว่า ผู้สร้างกำลังล้อเลียนหนังสารคดีที่ทางการมาเลย์สมัยอังกฤษปกครอง เคยใช้เป็นเครื่องมือให้ข้อมูลข่าวสารตามหมู่บ้านในรูปแบบความบันเทิง หรือนัยหนึ่งคือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อนั่นเอง

The Last Communist จึงเป็นหนังสารคดีประวัติชีวิตบุคคลที่แปลกต่าง ดูสนุกสนาน มีเสน่ห์ จริงใจ สื่อสารในเรื่องยากๆ ทั้งประเด็นการเมืองและประวัติบุคคลให้กลายเป็นเรื่องง่าย มีภาพชีวิตหาดูยากให้ได้สัมผัส

อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยของหนังที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องราวความเป็นไปของจิน เป็ง ที่หนังนำมาอ้างอิงนั้น มาจากหนังสืออัตชีวประวัติของจิง เป็ง เรื่อง My Side of History เพียงด้านเดียว ไม่มีแง่มุมคัดง้างหรือแตกต่าง ไม่มีการสืบค้นนอกเหนือจากนั้น ทำให้เกิดความเอนเอียงและไม่มีมุมมองใหม่ๆ ที่แหลมคมและพอจะต่อยอดได้

แถมท้ายด้วยประวัติชีวิตของจิน เป็ง ที่ไม่ได้ปรากฏในหนังอีกสักนิด

- ปี 1989 หรือ พ.ศ.2532 ในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น ผบ.ทบ. จิน เป็งลงนามในสัญญาสงบศึกร่วมกับตัวแทนฝ่ายไทยและมาเลเซีย เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย
- ปี 2005 เขาทำเรื่องขอกลับเข้ามาเลเซีย แต่คำขอถูกปฏิเสธ

 


 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

การมองโลกแบบแยกส่วน ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่เข้าใจความรู้สึก 'เชื่อมโยง' ที่ยูโกะมีต่อเด็กๆ ชาวตะวันออกกลางที่เธอเดินทางไปช่วยเหลือ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอต้องกลับไปที่นั่นอีกครั้ง แต่ในทางกลับกัน สังคมญี่ปุ่นไม่เคยมองตัวเองที่กีดกันและไม่เคยทำให้ยูโกะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในนั้นเลย

ชีวิตของยูโกะเป็นชีวิตที่ไม่ได้ 'มาตรฐาน' ไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการชอบเก็บตัว เรียนหนังสือไม่เก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ติด ขาดบุคลิกที่น่าเชื่อถือ และล้มเหลวทางการสื่อสารความคิดกับคนรอบข้าง สังคมญี่ปุ่นจึงกีดกันเธอออกไปเป็นคนวงนอก ที่ไม่ผ่านกลไกการคัดเลือกต่างๆ จนสามารถพูดได้เต็มปากว่า ไม่มีใครคิดที่จะรับรู้หรือเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่ในใจของยูโกะเลย เมื่อตัวตนของเธอถูกปฏิเสธจากสังคมญี่ปุ่น ยูโกะจึงต้องดิ้นรนตามหาดินแดนที่ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าให้ได้ และบังเอิญว่าที่แห่งนั้นคือตะวันออกกลางที่กำลังลุกเป็นไฟ ความรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้นทางกายภาพ อาจจะมีผลต่อจิตใจของยูโกะน้อยกว่าการเป็นส่วนเกินของสังคมที่สงบเงียบแต่เต็มไปด้วยความเย็นชาไร้หัวใจ...