บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๘๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
01-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Colonialism
The Midnight University

การจัดการกับธรรมชาติโดยมนุษย์
การจัดการธรรมชาติตามแนวคิดตะวันตกยุคอาณานิคม
โดม ไกรปกรณ์ : นักวิชาการอิสระ

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
จากเดิมชื่อ: แนวคิดว่าด้วยธรรมชาติและการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ โดยชาติตะวันตกในยุคอาณานิคม
เป็นเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการการพึ่งพาอาศัยและการจัดการธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากการล่าอาณานิคมของโลกตะวันตก แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการธรรมชาติโดยมนุษย์ได้เริ่มรุนแรงขึ้นตามลำดับ
และทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1087
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)



การจัดการธรรมชาติตามแนวคิดตะวันตกยุคอาณานิคม
โดม ไกรปกรณ์ : นักวิชาการอิสระ

1. แนวคิดว่าด้วยธรรมชาติและการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
โดยชาติตะวันตกในยุคอาณานิคม

ในหนังสืออิงนิยายเชิงสาระนิเวศน์เรื่อง "คนปลูกต้นไม้" (The Man Who Planted Hope and Grew Happiness) ของ ฌ็อง ฌิโอโน ได้เล่าถึง แอลเซอารด บุฟฟิเยร์ ที่ใช้เวลา 32 ปีปลูกต้นไม้นับไม่ถ้วนบนพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่รู้ว่าเป็นของใครบ้าง จนสามารถเปลี่ยนให้พื้นดินที่แห้งแล้งกลายเป็นป่า และชุมชนที่เคยเป็นซากปรักหักพังกลายเป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง (1) ซึ่งฌิโอโนได้อธิบายถึงจุดมุ่งหมายของการสร้างเรื่องของบุฟฟิเยร์ไว้ว่าเพื่อ "ให้คนรักต้นไม้ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือให้รักการปลูกต้นไม้"(2)

หรือที่พบว่าวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง "ปฏิบัติการพิทักษ์ฮูก" (Hoot) ของคาร์ล ไฮยาซัน ได้เล่าถึงเด็กชายรอย เอเบอร์ฮาร์ด และเพื่อนๆ ที่ช่วยกันพิทักษ์กลุ่มนกฮูกโพรงจากธุรกิจแพนเค้ก ที่จะสร้างร้านสาขาบนที่ดินที่เป็นที่อยู่ของนกฮูกโพรง(3) ซึ่งตัวผู้เขียนคือไฮยาซัน เป็นนักเขียนที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่ความแน่วแน่ในการตีแผ่นักการเมืองผู้กระทำผิด และการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม (4)

กล่าวได้ว่าวรรณกรรมแนวกระตุ้นจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่ยกตัวอย่าง ปรากฏขึ้นในบริบทของสังคมโลกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ซึ่งกระแสความตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม วาทกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เสนอเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการก่อตัวของ "พรรคกรีน" (green party) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ทำกิจกรรมโดยมีประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญขึ้นในหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี อังกฤษ ฯลฯ (5) (ยังไม่รวมถึงกลุ่มที่ทำกิจกรรมทางสังคมในประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ (Green Peace) หรือขบวนการ Earth First

อย่างไรก็ตามหากมองย้อนไปอย่างน้อยที่สุดในยุคอาณานิคม (ในที่นี้หมายถึงช่วงศตวรรษที่19 ถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่2 [กลางทศวรรษ1940]) จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้คนในสังคมตะวันตก มีส่วนที่แตกต่างจากที่กล่าวมาข้างต้น ดังเห็นได้จากหนังสือชุด "บ้านเล็ก" ของลอร่า อิงกัลล์ ไวลเดอร์ ที่ผู้แต่งได้บรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะชีวิตของผู้แต่งเองในช่วงระหว่างค.ศ.1872-1894 (โดยประมาณ) ที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติที่ให้ความสำคัญกับการจัดการธรรมชาติ เพื่อการดำเนินชีวิตหรือเศรษฐกิจของครอบครัวคือการทำกิน ดังบทสนทนาระหว่างพ่อกับแม่ของลอร่า

"จะไปขอยืมพลั่วเขามาขุดหน่อต้นไม้ที่ในนาของเรา ต้นไม้แตกหน่อขึ้นมา
รอบๆ ตอสูงเกือบจะถึงเอวอยู่แล้ว คนเรานี่จะต้องคอยระวังไม่รู้จักจบสิ้น
มิฉะนั้นป่ามันก็จะมาครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินไปตามเดิมอีก"

ในขณะเดียวกันก็คิดถึงเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่าในเชิงอนุรักษ์เพื่อให้สิ่งนั้นๆ มีให้ใช้นานๆ เช่น การไม่ล่าสัตว์ในช่วงที่สัตว์มีลูกเล็กๆ จนกว่าลูกสัตว์โตพอที่จะเลี้ยงสัตว์ตัวพ่อตัวแม่ (7)

สำหรับประเด็นสำคัญของบทความนี้อยู่ที่การทำความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติโดยชาติตะวันตกในยุคอาณานิคม (อนึ่งการกล่าวอ้างหรือยกตัวอย่างวรรณกรรมที่กล่าวมาทั้งหมด อยู่บนพื้นฐานการมองวรรณกรรมในฐานะสิ่งบรรจุและแสดงถึงแนวคิดของผู้คน หรือที่นักวรรณกรรมเรียกว่ามุมมองแบบปฏิฐานนิยม (Positivist) คือวรรณกรรมเป็นผลผลิตของสังคม จึงแสดงออกหรือบรรจุความคิดของผู้คน(อย่างน้อยก็ผู้แต่ง)ในยุคสมัยที่วรรณกรรมเรื่องนั้นๆ ถูกเขียนขึ้น)

ชาติตะวันตกกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในยุคอาณานิคม:
มองจากปรากฏการณ์ในเอเชียและแอฟริกา
ในแง่มุมของความสัมพันธ์ระหว่างชาติตะวันตกกับชาติอื่นๆ ในโลกนั้น ยุคอาณานิคมเป็นยุคที่จักรวรรดินิยมตะวันตกมีอำนาจใน "โลกใหม่" (ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้) และ"โลกเก่า" (ดินแดนส่วนที่ไม่ใช่ทวีปอเมริกา) ขณะที่ในประวัติศาสตร์ของยุโรปนั้นช่วงศตวรรษที่ 19ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดินิยมตะวันตกก่อตัวและมีพลังอย่างมาก โดยมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ยุโรปในด้านที่เป็น "ยุคทองของวิทยาศาสตร์" เช่น มีการค้นพบทางด้านฟิสิกส์แนวใหม่ การตีพิมพ์หนังสือว่าด้วยทฤษฎีจิตไร้สำนึกของซิกมันต์ ฟรอยด์ การศึกษาทางธรรมชาติวิทยาและการค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยชาร์ล ดาร์วิน (8)

ทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของ "โลกเก่า" จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ยังพอปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าเขตร้อนซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีอายุเก่าแก่ยาวนาน และมีพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่หลากหลายหลายหมื่นหลายพันชนิด ต่างจากป่าเขตอบอุ่นที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ (Tropic of Cancer) ในซีกโลกเหนือและระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น (Tropic of Capricorn) กับเส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิล ( The Antarctic Circle) ในซีกโลกใต้ที่(มักจะ)มีพืชเดี่ยวบางชนิด เช่น สน, โอ๊ค, เรดวู้ด, เมเปิ้ล ฯลฯ ขึ้นเต็มไปหมดและกินบริเวณกว้างหลายร้อยเอเคอร์ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลอย่างชัดเจนถึง4 ฤดู. ในขณะที่ป่าเขตร้อนไม่มีการเปลี่ยนฤดูอย่างชัดเจน มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีในปีหนึ่งๆ ไม่ต่างกันเท่าไรนัก (9) (อนึ่งควรกล่าวด้วยว่าป่าเขตร้อนส่วนหนึ่งตั้งอยู่ใน "โลกใหม่" โดยเฉพาะบริเวณอเมริกาใต้)

เมื่อจักรวรรดินิยมตะวันตกเข้ายึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของโลกเก่าเป็นอาณานิคม และมีอำนาจอย่าง(ค่อนข้าง)สมบูรณ์ในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงครึ่งแรกของทศวรรษ 1940 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นและสิ้นสุดลง ตามด้วยการที่ประเทศอาณานิคมค่อยๆ เป็นเอกราช ไม่ว่าจะด้วยการต่อสู้ด้วยความรุนแรง เรียกร้องด้วยสันติวิธี หรือเจ้าอาณานิคมให้เอกราชก็ตาม) โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่าจักรวรรดินิยมตะวันตกได้ทำให้ดินแดนโลกเก่า ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์แบบพื้นที่ป่าเขตร้อนที่หลากหลายทางชีวภาพ เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยการทำให้เกิดการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งๆ จำนวนมากในพื้นที่ขนาดใหญ่ ตามความต้องการบริโภคของชาติตะวันตก

ดังเช่นกรณีเกาะชวา (ส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียตามชื่อเรียกประเทศที่ใช้โดยเจ้าอาณานิคม) ภายใต้การปกครองของฮอลันดา ที่มีการนำเอาระบบวัฒนธรรมการเพาะปลูกอ้อย กาแฟ และคราม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออก และมีการถางป่าจำนวนมากเพื่อบุกเบิกที่ดินในการดังกล่าว (10)

ในขณะเดียวกันก็พบว่า ภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคอาณานิคมนั้น จักรวรรดินิยมตะวันตกได้จัดรูปแบบการใช้ทรัพยากรของอาณานิคมขึ้นใหม่ โดยผนวกเอาประเทศอาณานิคมเข้าไปในทุนนิยมโลก และให้เป็นผู้ผลิตพืชผลและผลิตผลจากธรรมชาติชนิดที่ถูกเลือกโดยเจ้าอาณานิคมหรือโดยตลาดในปริมาณมาก

เช่น พม่า(เมียนมาร์) ผลิตข้าว, ไม้สัก, แร่ธาตุ, ฟิลิปปินส์ผลิตน้ำตาล และมะพร้าว, มาลายา(มาเลเซีย)ผลิตดีบุก, น้ำมันปาล์มและยางพารา, ซึ่งรูปแบบการใช้ทรัพยากรที่จัดโดยเจ้าอาณานิคมจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับกระบวนการทางการเมืองของการเป็นรัฐสมัยใหม่ อย่างเช่น การสร้างเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ หรือเส้นเขตแดนภายนอก และเส้นเขตแดนภายในเพื่อควบคุมประชาชนและการใช้ทรัพยากรภายในรัฐนั้นๆ (11)

ในทำนองเดียวกันพบว่าบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้ผลักดันให้เกิดการปลูกชาในลักษณะอุตสาหกรรมขึ้นในอินเดีย นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1834 เนื่องจากสิทธิการผูกขาดทางการค้าในจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกชาไปยังโลกตะวันตกของบริษัทสิ้นสุดลง โดยมีผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่อินเดียเป็นประเทศที่มีการผลิตและบริโภคชามากที่สุด (12)

อนึ่งหากมองในมิติเวลาคงต้องกล่าวว่า ชาติตะวันตกไม่ได้มีเฉพาะส่วนของการลดทอนความหลากหลายของพืชพันธุ์ในโลกเก่าซึ่งเป็นบริเวณป่าเขตร้อน ด้วยการทำให้เกิดการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งๆ ปริมาณมากๆ หากแต่ชาวยุโรปได้นำเอาพืชพันธุ์หลายชนิดจากโลกใหม่เข้ามายังโลกเก่า (กล่าวอีกนัยหนึ่งคือชาวยุโรปได้มีส่วนในการเพิ่มความหลากหลายของชนิดพืชพันธุ์ในโลกเก่า)

ดังกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบว่าหลังจากที่ ปีเตอร์ มาร์ทิล ลูกเรือคนหนึ่งของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (ผู้สำรวจและค้นพบโลกใหม่ในช่วงปลายศตวรรษที่19) ได้นำพริกซึ่งเป็นพืชจากทวีปอเมริกาเข้ามาทดลองปลูกในสเปนแล้ว พ่อค้านักเดินทางชาวยุโรปหรือที่เดินเรือผ่านยุโรปได้นำเอาพริกเข้ามาปลูกในประเทศไทย และประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (13) หรือย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 (ค.ศ.1771) ชาวโปรตุเกสได้นำมะละกอซึ่งมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางมาปลูกที่มะละกา และต่อมาได้มีการขยายไปปลูกที่อินโดนีเซียและไทย รวมทั้งที่อินเดียด้วย (14)

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเอาระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจจำนวนมากๆ ที่มีนัยถึงการลดทอนความหลากหลายของบริเวณป่าเขตร้อนในโลกเก่าแล้ว การนำพืชจากโลกใหม่เข้ามาเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืชในโลกเก่า ไม่ได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในโลกเก่าเท่ากับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากการลดทอนความหลากหลายของธรรมชาติ เนื่องจากการนำสิ่งใหม่เข้าไปในบริเวณป่าเขตร้อน จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีความหลากหลายเท่าไรนัก พืชและสัตว์ที่นำเข้าไปใหม่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมในป่าเขตร้อนได้ง่ายกว่าในบริเวณป่าเขตอบอุ่นที่มีชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ไม่มากนัก (15)

การอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งที่ชาติตะวันตกสร้างขึ้นในอาณานิคม โดยช่วงศตวรรษที่19 ถึงทศวรรษ 1930 เป็นช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสดำเนินการปกป้องป่าไม้และพื้นที่ทางธรรมชาติของอาณานิคม ภายใต้บริบทของการที่มีงานเขียนและการถกเถียงเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ที่จะมีผลต่อความอยู่รอดของอารยธรรมยุโรป และมีการประชุมนานาชาติขึ้น 3 ครั้งระหว่าง ค.ศ.1923-1933

โดยในที่ประชุม 2 ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้ประชุมเกี่ยวกับการปกป้องธรรมชาติ (การประชุมครั้งที่ 2 มีขึ้นพ้องกับมหกรรมอาณานิคมนานาชาติ (the International Colonial Exhibition) ในปี ค.ศ.1931) และการประชุมครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยสาระหลักของการประชุมอยู่ที่การป้องกันทิวทัศน์(landscape) สัตว์ป่าและพันธุ์พืชของอาณานิคมในแอฟริกา อันนำมาซึ่งการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ตลอดจนสถานที่สงวนรักษาพืชพันธุ์ทั้งในยุโรปและในแอฟริกา เช่นที่ มาดากัสการ์ (Madagascar's reserves naturelles) (16) (ในทำนองเดียวกันในเอเชีย ก็มีสถานที่สงวนรักษาพันธุ์พืชในลักษณะเดียวกันนี้ เช่น สวนพฤกษศาสตร์โบกอร์ในอินโดนีเซีย (Botannical Garden) ที่ตั้งขึ้นโดยฮอลันดา)

ขณะที่ในส่วนของการปกป้องสัตว์เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงก่อนหน้าคือในศตวรรษที่18หรือยุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) นั้นในยุโรป ได้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของสวนสัตว์จากการเก็บรวบรวมสัตว์จากอาณานิคมหรือดินแดนที่ห่างไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของผู้ปกครองประเทศ หรือประเทศที่ตั้งสวนสัตว์นั้นๆมาเป็นบทบาทในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และในศตวรรษที่ 19 สวนสัตว์ได้เน้นบทบาทการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงานในสังคมตะวันตก โดยที่ภาพลักษณ์ของสวนสัตว์ในฐานะสถานที่เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่งจะเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดแล้วหลายทศวรรษ (17) (อีกนัยหนึ่งคือเพิ่งเกิดขึ้นหลังยุคอาณานิคมสิ้นสุดลงหลายสิบปี)

ประเด็นสำคัญที่พอจะใช้เป็นข้อสรุปอย่างรวบรัด เกี่ยวกับการปกป้องสัตว์ป่าและพันธุ์พืชของประเทศอาณานิคม โดยเจ้าอาณานิคมอาจอาศัยข้อคิดจากการศึกษาเกี่ยวกับสวนสัตว์ในโลกตะวันตกที่ว่าสวนสัตว์เป็นสถาบันทางอำนาจแบบหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าและธรรมชาติที่ว่ามนุษย์เป็นฝ่ายที่อยู่เหนือธรรมชาติ (18) และในศตวรรษที่ 19 สวนสัตว์คือนิทรรศการที่แสดงสิ่งมีชีวิต บนระเบียบความรู้ทางภูมิศาสตร์ของตะวันตกที่ครอบคลุมความรู้ด้านชาติพันธุ์วรรณา, มานุษยวิทยา, พฤกษศาสตร์และธรรมชาติวิทยา (สิงสาราสัตว์) ให้ผู้ชมได้รับรู้และเข้าใจ (19)

โดยนัยนี้การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของแอฟริกาและเอเชีย ที่ชาวตะวันตกเป็นผู้ดำเนินการ จึงเป็นการจัดระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ บนความรู้และการอธิบายโลกของตะวันตกที่มองว่า มนุษย์อยู่เหนือกว่าธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความอยู่รอดของอารยธรรมยุโรป ตามที่งานเขียนและข้อถกเถียงตลอดจนการประชุมระดับนานาชาติเกี่ยวกับการปกป้องธรรมชาติที่ปรากฏในยุโรปยุคอาณานิคม

แนวคิดว่าด้วยธรรมชาติ: รากฐานทางความคิดของการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติโดยชาติตะวันตก
ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ศตวรรษที่ 19 เป็น "ยุคทองของวิทยาศาสตร์" ในแง่นี้แนวคิดว่าด้วยธรรมชาติของจักรวรรดินิยมตะวันตกในยุคอาณานิคม จึงเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของวิธีคิดและความรู้แบบวิทยาศาสตร์ โดย เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (Raymond Williams) นักสังคมวิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งฝ่าย "ซ้ายใหม่" และจัดทำวารสาร New Left Review ในอังกฤษได้อธิบายว่า

ความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ(ของตะวันตก) เริ่มจากการมองและอธิบายธรรมชาติโดยเชื่อมโยงธรรมชาติกับเทพเจ้าหรือเทพธิดา, เมื่อเข้าสู่ยุคกลางที่คริสต์ศาสนามีพลังในสังคม ได้มีการอธิบายธรรมชาติโดยเชื่อมโยงเข้ากับอำนาจของพระเจ้า ซึ่งดลบันดาลหรือกำหนดความเป็นไปของมนุษย์, กระทั่งปลายศตวรรษที่18 - ศตวรรษที่ 19 วิธีคิดและการอธิบายธรรมชาติของสังคมยุโรปได้เปลี่ยนแปลงสู่การเน้นความสำคัญของมนุษย์ในระบบธรรมชาติ และการสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความคิดใหม่ ว่าด้วยวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มนุษย์พบว่า ธรรมชาติเป็นพลังทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีผลต่อชีวิตต่างๆ บนโลก (20)

อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องกล่าวด้วยว่า ความคิดใหม่ว่าด้วยวิวัฒนาการของชีวิตบนโลกที่อธิบายโดยชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darvin) แม้ว่าจะปรากฏขึ้นใน "ยุคทองของวิทยาศาสตร์" หากแต่ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน (ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก ฌอง แบบติส ลามาค นักวิทยาศาสตร์ผู้วางทฤษฎีแรกในทางวิวัฒนาการและคิดค้นคำว่า "ชีววิทยา") มีแนวทางการอธิบายที่ต่างจากแบบอย่างการอธิบายโลกในเชิงวิทยาศาสตร์ของ เรเน เดส์คาตส์ นักปรัชญาผู้วางรากฐานของวิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และเซอร์ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้มีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 (อันเป็นรากฐานของ "ยุคทองของวิทยาศาสตร์" ) ที่กลายเป็นกระบวนทัศน์หลักของวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 19

โดยทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์ละทิ้งทัศนะแบบเดคาตส์และนิวตัน ที่มองและอธิบายโลกรวมทั้งสิ่งมีชีวิตในลักษณะเครื่องจักร และแทนที่ความคิดเก่าด้วยความคิดใหม่ที่ว่า สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด (21) แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของดาร์วินได้ถูกโต้แย้งอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายเรื่องกำเนิดของชีวิตที่ชี้ว่ามนุษย์สืบสายบรรพบุรุษมาจากลิง

ข้อที่น่าสังเกตคือ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้ศึกษาความรู้ด้านธรณีวิทยา ได้เดินทางไปกับเรือ"บีเกิล" เรือสำรวจธรรมชาติของอังกฤษ และสนใจสะสมศึกษาตัวอย่างพืชและสัตว์ (22) ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่า แนวการศึกษาวิวัฒนาการแห่งชีวิตของดาร์วิน เป็นรากฐานประการหนึ่งของการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ชาติตะวันตกทำ ในรูปของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และสถานที่เก็บรวบรวมพันธุ์พืชและสัตว์ป่า

ในส่วนของแนวคิดว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่าง"มนุษย์"กับ"ธรรมชาติ"ที่มองว่า มนุษย์มีสถานะเหนือกว่าธรรมชาติ นอกจากจะอธิบายได้ว่ามาจากความเปลี่ยนแปลงของความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของสังคมตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่18 - ศตวรรษที่ 19 ตามคำอธิบายของ เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ ที่ได้กล่าวแล้ว, เมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ความคิดของอารยธรรมยุโรปจะพบว่า มีจารีตความคิดก่อนการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ที่สามารถเป็นฐานรองรับความคิดที่ว่า มนุษย์อยู่เหนือกว่าธรรมชาติ ได้แก่ จารีตชีวภาพ (Organic Tradition) ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีก และมีการผสมผสานกับความคิดแบบคริสต์ศาสนา

โดยสาระสำคัญของจารีตชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติกับมนุษย์ อยู่ที่การชี้ถึงพลังแห่งเหตุผลของมนุษย์ที่มีศักยภาพในการเอาชนะธรรมชาติ (23) เช่นเดียวกับที่พบว่า การมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในศตวรรษที่ 16 (ช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ[Renaissance])) เป็นการมองธรรมชาติด้วยวิธีคิดที่ว่า โลกมีระเบียบที่กำหนดโดยพระเจ้าอย่างแน่นอนตายตัว ซึ่งมนุษย์อยู่สูงสุดในบรรดาสรรพสิ่ง. มนุษย์เป็นสิ่งพิเศษที่พระเจ้าสร้างขึ้นให้อยู่เหนือผู้ถูกสร้างอื่นๆ จึงเป็นผู้ครอบครองธรรมชาติและสามารถใช้ประโยชน์จากโลกธรรมชาติได้. สำหรับการมองธรรมชาติมนุษย์และธรรมชาติตามทัศนะแบบเดสคาตส์ในศตวรรษที่ 17เป็นการมองโลกธรรมชาติในฐานะเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับมนุษย์ได้ตกแต่งให้เป็นตามต้องการ (24)

นอกจากนี้ทฤษฎีวิวัฒนาการแห่งชีวิตของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับความรู้วิทยาศาสตร์กระแสหลักในศตวรรษที่ 19 กลับพบว่าได้มีการนำเอาทฤษฎีวิวัฒนาการแห่งชีวิตไปใช้อธิบายสังคม-วัฒนธรรมของมนุษย์ โดยชี้ว่า อารยธรรมยุโรป (ชาติตะวันตก) ได้ถูกเลือกสรรตามธรรมชาติให้อยู่เหนือกว่าอารยธรรมของชนชาติอื่น (25) โดยนัยนี้ความคิดว่าด้วยธรรมชาติของชาติตะวันตกจึงเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการอนุรักษ์ธรรมชาติ

โดยชาวตะวันตกหรืออย่างตะวันตกในส่วนต่างๆ ของโลกที่อำนาจของจักรวรรดินิยมแผ่ขยายเข้าไป ซึ่งในส่วนของ "โลกเก่า" (รวมทั้ง "โลกใหม่") ยังมีวาทกรรมว่าด้วย "บูรพคดีนิยม" (Orientalism) ที่ผลิตและผลิตซ้ำทัศนะที่ว่า โลกตะวันออก/ชาวตะวันออกด้อยกว่า เพื่อรองรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบอาณานิคมที่สร้างขึ้นโดยจักรวรรดินิยมตะวันตก (26) ดังตัวอย่างจากบทสนทนาระหว่าง มิสซิสสก็อต(เพื่อนบ้านของครอบครัวอิงกัลล์ส) กับแม่ของลอร่า ในหนังสือชุด "บ้านเล็ก" ของลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ (แม้ว่าบทสนทนานี้จะเป็นเรื่องของ "โลกใหม่" แต่ก็ช่วยให้นึกถึงความคิดของชาวตะวันตกใน "โลกเก่า" ได้ไม่ยากนัก เพียงแต่เปลี่ยนคำว่า "อินเดียนแดง" เป็นชื่อกลุ่มคนพื้นเมืองในเอเชียหรือแอฟริกา)

"แผ่นดินย่อมรู้ดีว่า พวกอินเดียนแดงนี่ไม่เคยได้ทำผลประโยชน์
อะไรเลยกับผืนแผ่นดินนี้ ได้แต่เที่ยวเร่ร่อนพเนจรไปเหมือนกับ
สัตว์ป่า สนธิสัญญาอะไรฉันไม่รู้ด้วยละ แผ่นดินควรจะเป็นของ
คนที่เขาถากถางทำไร่ทำนาซี ว่ากันตามเหตุผลและความยุติ
ธรรมมันก็ควรจะเป็นอย่างนี้" (27)

แนวคิดที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถูกผลิตและตอกย้ำต่อมากระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในช่วงกลางทศวรรษ 1940 ที่มีการก่อตัวของแนวคิดว่าด้วยธรรมชาติของชาติตะวันตกในอีกลักษณะหนึ่ง (ภายใต้บริบทเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากยุคอาณานิคม)

++++++++++++++++++++++++++++++++

รายการอ้างอิง

(1) ฌ็อง ฌิโอโน, คนปลูกต้นไม้, กรรณิการ์ พรมเสาร์ (แปล), พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ:มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2544)

(2) เรื่องเดียวกัน, หน้า 54.

(3) คาร์ล ไฮยาซัน, ปฏิบัติการพิทักษ์ฮูก, มณฑารัตน์ ทรงเผ่า (แปล) (กรุงเทพฯ:มติชน, 2546)

(4) เรื่องเดียวกัน, หน้า7 (คำนำผู้แปล) (ส่วนที่เน้นโดยผู้อ้าง)

(5) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ:วิภาษา, 2545), หน้า 247-291; ประชา หุตานุวัตร, การเมืองสีเขียว, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544)

(6) ลอร่า อิงกัลล์ ไวล์เดอร์, หนังสือชุดบ้านเล็กเล่ม 1 บ้านเล็กในป่าใหญ่, สุคนธรส (แปล), พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:แพรวเยาวชน, 2548),หน้า 124.

(7) เรื่องเดียวกัน, หน้า 103-104.

(8) จูเลียน ฮักซ์ลีย์, เจ. โบร์โนวสกี, เจอรัลด์ แบร์รี, เจมส์ ฟิชเชอร์ (บรรณาธิการ), วิวัฒนาการแห่งความคิด: ภาคมนุษย์และโลก, จุฑาทิพย์ อุมะวิชนี (แปล), พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540), หน้า 88-111.

(9) อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ, ป่าฝนเขตร้อน, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ:คบไฟ, 2545), หน้า 3-9.

(10) ภูวดล ทรงประเสริฐ, อินโดนีเซีย: อดีตและปัจจุบัน (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), หน้า 163-179.

(11) Raymond L. Bryant, "Resource Politics in Colonial South-East Asia A Conceptual Analysis," in Victor T. King (ed.), Environmental Challenges in South-East Asia (Surrey: Curzon Press,1998), pp.30-38.

(12) ทอม สแตนเดจ, ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว, คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ (แปล) (กรุงเทพฯ:มติชน, 2549), หน้า 216-222.

(13) สุรีย์ ภูมิภมร, พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย (กรุงเทพฯ:มติชน, 2548), หน้า 4.

(14) เรื่องเดียวกัน, หน้า 26.

(15) อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ, ป่าฝนเขตร้อน, หน้า 8.

(16) Caroline Ford, "Nature, Culture and conservation in France and her colonies 1840-1940," Past&Present a journal of historical studies 183 (May 2004): 188-195.

(17) Bob Mullan and Garry Marvin, Zoo Culture, second edition (Urbana and Chicago: University of Illinois Press,1999) อ้างถึงใน เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ, "สวนสัตว์:มายาคติว่าด้วยธรรมชาติและสัตว์ป่า," (วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษย
วิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545), หน้า 4-5.

(18) Bob Mullan and Garry Marvin, Zoo Culture, p.159 อ้างถึงใน เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ, "สวนสัตว์:มายาคติว่าด้วยธรรมชาติและสัตว์ป่า," หน้า 5-6.

(19) Barbara Kirshenblatt-Gimblett, Destination Culture: tourism,museum,and heritage (Berkeley: University of California Press,1998), pp.35-47 เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ, "สวนสัตว์:มายาคติว่าด้วยธรรมชาติและสัตว์ป่า," หน้า 122-123.

(20) Raymond Williams, Problems in Materialism and Culture (London and New York:Verso,1980), pp.67-79.

(21) ฟริตจ๊อฟ คาปร้า, จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ เล่ม2 อิทธิพลของความคิดแบบเดคาตส์-นิวตัน, พระประชา ปสนธมโม และคณะ (แปล), พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ:มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2546), หน้า 3-22.

(22) ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, แหกคุกวิทยาศาสตร์ ล้างตำนาน...ดาร์วิน (กรุงเทพฯ:ประพันธ์สาส์น, 2549), หน้า 77-79.

(23) ศุภวิทย์ ถาวรบุตร, "เรขาคณิตวิเคราะห์: กุญแจเผยวิถีแห่งฟากฟ้า (จากโคเปอร์นิคัสถึงนิวตัน) ค.ศ.1543-1687," (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547), หน้า 20-26.

(24) ประภาส ปิ่นตบแต่ง, "ขบวนการสิ่งแวดล้อมยุคหลัง Modernism," วารสารร่มพฤกษ์ 13:1 (มิถุนายน-ตุลาคม 2537): 49-50.

(25) Raymond Williams, Problems in Materialism and Culture, pp.86-102; Richard J. Perry, Five Key Concepts in Anthropological Thinking (New Jersey: Pearson Education, Inc.,2003), pp.12-54.

(26) Edward Said, Orientalism, Reprinted (London: Penguin Books,1987).

(27) ลอร่า อิงกัลล์ ไวล์เดอร์, หนังสือชุดบ้านเล็กเล่ม 2 บ้านเล็กในทุ่งกว้าง, สุคนธรส (แปล) (กรุง
เทพฯ: แพรวเยาวชน, 2548), หน้า 156.

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

ในส่วนของการปกป้องสัตว์เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงก่อนหน้าคือในศตวรรษที่18 หรือยุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) นั้นในยุโรป ได้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของสวนสัตว์จากการเก็บรวบรวมสัตว์จากอาณานิคมหรือดินแดนที่ห่างไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของผู้ปกครองประเทศ หรือประเทศที่ตั้งสวนสัตว์นั้นๆมาเป็นบทบาทในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และในศตวรรษที่ 19 สวนสัตว์ได้เน้นบทบาทการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงานในสังคมตะวันตก โดยที่ภาพลักษณ์ของสวนสัตว์ในฐานะสถานที่เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่งจะเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดแล้วหลายทศวรรษ (อีกนัยหนึ่งคือเพิ่งเกิดขึ้นหลังยุคอาณานิคมสิ้นสุดลงหลายสิบปี)