บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๘๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
25-11-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Violence in Iraq
The Midnight University

สงครามอิรักและการล่มสลาย
นรกในอิรัก: โศกนาฎกรรมที่โลกทำเป็นลืม
อุทัยวรรณ เจริญวัย
(กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนนำมาจากประชาไทออนไลน์)

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการเผยแพร่แล้วในประชาไทออนไลน์
ผลงานของอุทัยวรรณ เจริญวัย จากบทความเรื่อง
อิรักล่มสลาย : From Despair To Where?
: The Real War

รายงานเกี่ยวกับสงครามอิรัก ความล่มสลายของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
และชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกือบจะเป็นเรื่องชินชาไปแล้ว
อเมริกันผู้ก่อสงครามยังคงละเมิด
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ ๔ (๑๙๔๙)
ที่ว่าด้วยการคุ้มครองพลเรือนยามสงคราม มาตราที่ ๕๕ และมาตราที่ ๕๖
ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ยึดครองที่จะต้องดูแล และส่งมอบอาหาร, ยา, บริการด้านสุขภาพ
และสุขอนามัย สิ่งซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
midnightuniv(at)gmail.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1081
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)



นรกในอิรัก: โศกนาฎกรรมที่โลกทำเป็นลืม
อิรักล่มสลาย : From Despair To Where?
: The Real War

โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย : ประชาไทออนไลน์

ความนำ
ถ้าสงครามทำให้ 2.5% ของประชากรอเมริกัน (7.5 ล้าน) ต้องเสียชีวิตไป ลองจินตนาการว่า...โลกทั้งโลกจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่ถ้าสงครามทำให้ 2.5% ของชาวอิรักล้มตาย ไม่ต้องแปลกใจ...ถ้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะเป็นได้แค่ "ความเงียบ"

ประชากรอิรัก 655,000 คนที่เสียชีวิต ห่างไกลจากตัวเลข 30,000 คนของประธานาธิบดีบุชมากเกินไป, 655,000 คนไม่มีค่าพอที่จะทำให้สื่อหลักๆ ของอเมริกาสะดุ้งสะเทือน-อึ้ง-ซึมแต่อย่างใด

11 ตุลาคมที่ผ่านมา วารสารการแพทย์อังกฤษ แลนเซ็ต ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยล่าสุดเรื่อง 'ความตายในอิรัก' หลังการบุกยึดของอเมริกาในปี 2003 เป็นต้นมา โดยทีมนักวิชาการด้านระบาดวิทยากลุ่มเดิม มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ของอเมริกา ที่เคยทำวิจัยเรื่องนี้ในปี 2004 มาแล้ว

อิรักมีประชากรประมาณ 26 ล้าน ด้วยวิธีการทางสถิติที่เรียกว่า cluster sample survey งานชิ้นแรกของนักวิชาการกลุ่มนี้ ให้ตัวเลขประเมินว่า หลังอเมริกาบุกยึดอิรัก 18 เดือน ชาวอิรักเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมที่ควรจะเป็น ประมาณ 100,000 คน. หายไป 2 ปี หลังอิรักเละเทะยับเยินไม่มีชิ้นดี งานชิ้นที่สองของพวกเขาก็กลับมาใหม่ จากการเก็บข้อมูลในอิรักระหว่างพฤษภาคม-กรกฎาคมที่ผ่านมา ในที่สุด ตัวเลขชวนช็อคของนักระบาดวิทยาก็ออกมาว่า - - หลังอเมริกาบุกยึดอิรัก 40 เดือน ชาวอิรักเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากที่ควรจะเป็น ประมาณ 655,000 คน
(655,000 เป็นค่ากลาง - หรือพูดอีกอย่าง...ด้วยความเชื่อมั่น 95% ได้ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงอยู่ระหว่าง 393,000- 943,000 คน)

สำหรับยอดผู้เสียชีวิตที่เกินปกติมานี้ (excess deaths) งานวิจัยระบุว่า ประมาณ 601,000 คน เสียชีวิตจากความรุนแรง และ 54,000 คนเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและอื่นๆ ความรุนแรงที่เป็นสาเหตุก็เช่น ถูกปืนยิง, คาร์บอมบ์, ระเบิดแบบอื่นๆ, และการโจมตีทางอากาศ เป็นต้น

ความรุนแรง: ใครเป็นต้นเหตุทำให้พวกเขาตาย?
ในสถานการณ์ชนิดมั่วสุด-โกลาหลสุดที่ผ่านมา 45% ไม่สามารถระบุได้ 31% ตายเพราะกองกำลังของอเมริกาและพันธมิตร ขณะที่ 24 % ตายเพราะกองกำลังอื่น (ฝ่ายต่อต้าน กลุ่มติดอาวุธ หรือแก๊งอาชญากรรม ฯลฯ) - นักวิจัยระบุไว้ด้วยว่า ด้วยเหตุที่มีการเสียชีวิตที่ไม่แน่ใจว่าเกิดจากฝ่ายไหนจำนวนมาก ตัวเลข 31% ของอเมริกาจึงอาจเป็นตัวเลขแบบคอนเซอร์เวทีฟ หรือต่ำกว่าความเป็นจริง

แต่ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำแค่ไหน สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ความตายส่วนเกินที่เกิดขึ้นนี้...เป็นผลลัพธ์มาจาก 'การยึดครองอิรัก' ของกองกำลังต่างชาติ

โรนัลด์ วอลด์แมน (Ronald Waldman) นักระบาดวิทยามหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำงานอยู่ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention) เป็นเวลาหลายปี ให้ความเห็นต่องานชิ้นนี้ว่า "นี่คือตัวเลขประมาณการเกี่ยวกับความตายที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่"

มันเป็นวิธีการทางสถิติที่ใช้ประเมินความตายใน ดาฟอวร์ (Dafur) และ คองโก มาแล้ว บรรณาธิการแลนเซ็ต ริชาร์ด ฮอร์ตัน (Richard Horton) เขียนถึงรายงานชิ้นนี้ว่า
"มันเป็นเรื่องน่าสนใจดีเหมือนกัน เวลาที่เรารายงานตัวเลขจากประเทศเหล่านั้น นักการเมืองอเมริกันไม่เคยมีปัญหาอะไร พวกเขามักจะขมวดคิ้ว พยักหน้า และยอมรับว่าสถานการณ์มันวิกฤติรุนแรงจนทำเฉยต่อไปไม่ได้อีกแล้ว พวกเขาจะพูดว่า ประชาคมโลกต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะ แต่พอมันมาถึงกรณีของอิรัก เรื่องนี้กลับแตกต่างออกไป เตรียมใจไว้ได้เลยว่ารัฐบาลจะใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผลงานของนักวิชาการอเมริกาและอิรักกลุ่มนี้ เพื่อที่จะปัดความสำคัญของรายงานชิ้นนี้ และเพื่อที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบที่จะต้องพิจารณารายงานชิ้นนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งรัฐบาลจะวิจารณ์แลนเซ็ตด้วยว่า...เล่นการเมืองมากไป"

24 ปีภายใต้ระบอบซัดดัม, 3 ปี ภายใต้การยึดครองของอเมริกา
จากตัวเลขประเมินของ ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ ชาวอิรักถูกสังหารไป 250,000 - 290,000 คน แต่แค่ 3 ปีกว่าๆ ภายใต้ 'การยึดครองของอเมริกา' ความสามารถของประธานาธิบดีบุชดูจะ...ล้ำหน้า...อดีตประธานาธิบดีซัดดัมไปไกล

อิรักกำลังล่มสลาย แต่การล่มสลายในสังคมอิรักวันนี้...ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขนับศพเท่านั้น หลังการบุกโจมตีของอเมริกาในเดือนมีนาคม 2003 โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมในอิรักได้ถูกทำลายอย่างสาหัสตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้...การมีชีวิตอยู่ในอิรักดูจะเป็นเรื่องที่ 'โหดร้าย' และ 'เกินจะแบกรับ' มากขึ้นทุกที

นอกจากคนตายที่โลกไม่สนใจจะรับรู้แล้ว ประชากรส่วนใหญ่ในอิรักเหลืออยู่แค่ 2 กลุ่ม คือคนที่กำลังจะตาย กับคนที่หมดหวังในชีวิต
"ผมคิดว่าคนอิรักจะต้องร้องไห้ไปตลอดชีวิตสำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น"
พลเอกอาเหม็ด อับดุล อาซิซ (General Ahmed Abdul Aziz) อดีตนายทหารที่เกษียณแล้ว

ในความมืด
พ้นไปจากสภาวะไร้ระเบียบ ไร้กฎหมายและไร้ความมั่นคงปลอดภัยใดๆ จากรัฐ (ถึงขั้น 'ตำรวจ' ทำตัวเป็น 'หน่วยล่าสังหาร' นอกกฎหมายเสียเอง) ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทุกอย่างในอิรักยังได้ตกอยู่ในสภาพพิกลพิการและถูกทำลายมากขึ้นทุกวัน ท่ามกลางความล้มเหลวในการซ่อมแซมและฟื้นฟูบูรณะ

จากการจัดอันดับของ Mercer Human Resource Consulting ปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบด้านคุณภาพชีวิต แบกแดดติดอันดับเมืองที่มีสภาพเลวร้ายที่สุดในโลกมาติดกัน 3 ปีแล้ว ด้วยคะแนนต่ำยิ่งกว่าเมือง บราสซาวิลล์ (Brazzaville) คองโก และเมือง คาร์ทูม (Khartoum) ซูดาน ขณะที่เมืองที่ได้คะแนนสูงสุดคือ ซูริก (Zurich) สวิสเซอร์แลนด์

หลังอเมริกายึดครองอิรักใหม่ๆ คณะผู้ปกครองชั่วคราว (Coalition Provisional Authority - CPA) ซึ่งนำทีมโดย พอล เบรเมอร์ (Paul Bremer ) ได้ถูกส่งเข้ามาดูแลบริหารงบประมาณก้อนใหญ่ในการฟื้นฟูอิรัก (เงินของอิรักเอง-ส่วนใหญ่มาจากรายได้น้ำมัน) จนกระทั่งมิถุนายน 2004 หลังเบรเมอร์สะบัดก้นลุกไปจากเก้าอี้บริหาร เงินของคนอิรักถึง 8.8 พันล้านดอลลาร์ ก็ได้อันตรธานหายไปด้วยชนิดที่ตรวจสอบหลักฐานไม่ได้ จากนั้น แม้อิรักจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงาน ภารกิจในการฟื้นฟูบูรณะประเทศก็ไม่มีอะไรดีขึ้น. สุดท้าย อิรักทั้งประเทศจึงกลายเป็นซากปรักหักพังที่ไร้การซ่อมแซม ขณะที่เงินหลายพันล้านเหรียญก็เอาแต่ไหลออกจากอิรัก...ไปเข้ากระเป๋าบริษัทอเมริกัน อย่างเช่น ฮัลลิเบอร์ตัน

ท่ามกลางอัตราการว่างงานในอิรักที่สูงกว่า 60% อัตราเงินเฟ้อในรอบปีที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2005 - กรกฎาคม 2006) อีก 70% ต่อไปนี้…คือสถานการณ์ล่าสุดในอิรัก

- ชาวอิรัก 8 ล้าน ดำรงชีวิตด้วยรายได้ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อวัน, ชาวอิรัก 96% ได้รับอาหารปันส่วนรายเดือน คือข้าว แป้ง และน้ำมัน แต่เนื่องจากปัญหาความปลอดภัยและปัญหาคอรัปชันที่มีมาตลอด การแจกจ่ายอาหารปันส่วนของรัฐจึงขาดแคลน, ส่งมาไม่พอ, หรือไม่ก็ไม่เคยมาถึงเลยในบางพื้นที่. ล่าสุด ในปี 2006 นี้ รัฐบาลยังได้ตัดงบอาหารปันส่วนจาก 4 พันล้านลงมาเหลือ 3 พันล้านดอลลาร์อีกด้วย

- ปัญหาการกำจัดของเสียเป็นปัญหาวิกฤติอันหนึ่งในอิรัก ขณะที่เมืองต่างๆ ต้องปวดหัวกับการแก้ปัญหาขยะของเสียที่มีแมลงวันตอมหึ่ง แบกแดดกลับต้องรับมือเพิ่มขึ้นกับปัญหา 'ศพที่แมลงวันตอมหึ่ง' ซึ่งเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วเมืองไปด้วย ยิ่งกว่านั้น พฤษภาคม 2006 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่นั่นยังระบุว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา คนเก็บขยะในแบกแดดถูกฆ่าตายไปแล้วกว่า 300 คน

- น้ำสะอาดคือสิ่งที่ขาดแคลนและหายาก 65% ของน้ำที่ออกมาจากโรงประปาทั่วอิรักจะต้องเจอกับปัญหาท่อรั่ว หรือไม่ก็ปนเปื้อนขยะของเสีย ชาวแบกแดดจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 แสน มีน้ำใช้ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน

- โรงผลิตไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าในอิรักอยู่ในสภาพล่มสลาย อิรักผลิตไฟฟ้าได้เพียง 3,700 เมกกะวัตต์ เทียบกับ 4,300 เมกกะวัตต์ช่วงก่อนมีนาคม 2003 (ซึ่งตอนนั้น ก็ผลิตไฟไม่พออยู่แล้ว) ที่ผ่านมา ชาวเมืองแบกแดด จึงมีไฟใช้เฉลี่ย 2-6 ชั่วโมงต่อวัน. โรงพยาบาล โรงเรียน และบ้านเรือนทั่วไป มักจะใช้เครื่องปั่นไฟจากน้ำมันดีเซล แต่ต้นทุนราคาน้ำมันในอิรักก็กลับพุ่งขึ้นสูงกว่าเดิมอย่างมาก (ประมาณ 13 เท่า) ยิ่งกว่านั้น คนอิรักยังต้องเข้าคิวยาวหลายชั่วโมงเพื่อที่จะซื้อน้ำมันปั่นไฟหรือเติมน้ำมันรถ

- ชาวอิรักหลายล้านต้องอาศัยอยู่ในที่ที่แออัด ตามข้อมูลของกระทรวงที่อยู่อาศัยในอิรัก 250,000 ครอบครัวทางตอนใต้ของบาสราไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง และต้องอยู่อาศัยกับครอบครัวอื่น ปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ของอเมริกาที่โจมตีเมืองต่างๆ ในอิรัก เช่น ฟัลลูจาห์, ซามารา, และทัล อาฟาร์ ยิ่งทำลายบ้านเรือน สร้างความเสียหายและสร้างคนอพยพ-ไร้บ้านตามมาอีกมาก

- อิรักทั้งประเทศต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ทั้งจากหน่วยล่าสังหารและโจรลักพาตัว การลักพาตัวผู้หญิงและเด็กกลายเป็นธุรกิจรายได้งามสำหรับแก๊งโจรผู้ร้ายในหลายๆ พื้นที่ของอิรัก โดยเฉพาะแบกแดด ผู้หญิงอิรักกลัวการลักพาตัวมากจนแทบจะไม่ออกไปไหนคนเดียวอีกแล้ว บางคนใช้วิธีนั่งแท็กซี่ไปทำงานแทน. องค์กร Women's Freedom Organisation แถลงในเดือนกันยายน 2006 ว่า, 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงประมาณ 2,000 รายถูกลักพาตัวในอิรัก ซึ่งน่าเชื่อว่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะการลักพาตัวจำนวนมากไม่มีการรายงาน

จากข้อมูลล่าสุดของ UNHCR ชาวอิรัก 1.6 ล้านได้อพยพออกจากประเทศไปแล้ว ส่วนใหญ่ทะลักเข้าไปในซีเรียและจอร์แดน ขณะที่ชาวอิรัก 1.5 ล้านได้อพยพย้ายถิ่นฐานอยู่ในประเทศ. เดือนตุลาคม 2006 นี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UN, ยาน เอกแลนด์ (Jan Egeland) ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า มีชาวอิรักที่อพยพลี้ภัยออกจากบ้านของตนประมาณ 1,000 คนต่อวัน พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า "คนที่หนีออกไปจากอิรักจำนวนมากเป็นคนที่มีการศึกษาสูง อย่างเช่น ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ มีการประเมินกันว่า มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลได้สูญเสียบุคลากรในสาขาวิชาชีพของตนไปแล้วถึง 80%"

ระบบการศึกษาของอิรักเคยเป็นความภาคภูมิใจของคนอิรักและอยู่ในกลุ่มที่ 'ดีที่สุดในภูมิภาค' ตามข้อมูลของ United Nations University. 84% ของสถาบันการศึกษาชั้นสูงในอิรัก ถ้าไม่ถูกเผา ถูกขโมย ก็ถูกทำลายไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึง 'แคมเปญลอบสังหารปัญญาชนระดับมันสมองของอิรักอย่างเป็นระบบ' กุมภาพันธ์ 2006 หนังสือพิมพ์การ์เดียนระบุว่า เฉพาะที่ มหาวิทยาลัยแบกแดด แห่งเดียว อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยถูกฆ่าตายไปแล้วกว่า 80 ศพ

ตุลาคม 2006 หลังไปร่วมงานศพคณบดีคณะนิติศาสตร์มาหมาดๆ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ในเมืองโมซุล โมฮัมหม็ด ยู (Mohammed U - ไม่เปิดเผยชื่อเต็ม) ให้สัมภาษณ์การ์เดียนว่า
"การศึกษาที่นี่ตกอยู่ในสภาวะโกลาหลอย่างสิ้นเชิง ศาสตราจารย์หลายคนทะยอยหนีไป สถานการณ์ต่างๆ อย่างเช่นการปิดรถ ปิดสะพาน ทำให้ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ยากที่เดินทางมาเข้าชั้นเรียนได้ ในสถาบันของผม บางภาควิชา นักศึกษาลดเหลือแค่หนึ่งในสาม ขณะที่บางภาควิชาเราพบว่า ไม่มีนักศึกษามาเข้าชั้นเรียนเลย"

ในโรงพยาบาล
"มันเป็นระบบดูแลสุขภาพที่เลวที่สุด...ที่อิรักเคยรู้จักมา" ดร. วาลีด จอร์จ (Dr. Waleed George)
หัวหน้าศัลยแพทย์ โรงพยาบาลอัล-ซาดูน แบกแดด

ตุลาคม 2005 กระทรวงสาธารณสุขของอิรัก ได้รายงานว่า ในจำนวนแพทย์ทั้งหมด 18,000 คนในอิรัก, 25% ได้อพยพออกจากไปประเทศไปแล้ว มีนาคม 2006 รายงานของ Medact ได้กล่าวไว้ว่า "แพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสุขภาพ ถูกโจมตี, ถูกยิง, ถูกลักพาตัว, ถูกคุกคาม, และถูกข่มขู่ให้หนีออกไปจากประเทศ ไม่เช่นนั้นจะถูกฆ่า"

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เมษายน 2003 - มิถุนายน 2006 ทั้งแพทย์และผู้มีทักษะระดับสูงด้านสุขภาพถูกฆ่าตายไปแล้ว 720 ศพ นอกจากนี้ยังมีแพทย์ที่ถูกอุ้มหายหรือลักพาตัวไปอีกหลายร้อย (ไม่มีตัวเลขแน่ชัด) ด้วยเหตุนี้จึงมีรายงานว่า ในบางพื้นที่ของอิรัก พยาบาลต้องทำหน้าที่แทนหมอ

หมอในอิรักถูกโจมตีทั้งจากกองทัพอเมริกาและหน่วยล่าสังหาร กันยายนปี 2005 ระหว่างที่หมอผ่าตัดสมอง บาซิล อับบาส ฮัสซัน (Basil Abbas Hassan) กำลังขับรถไปทำงานที่โรงพยาบาลในเขตใจกลางเมืองแบกแดด เขาขับรถออกมาจากด้านข้างของถนน โดยไม่ทันสังเกตว่าขบวนรถของอเมริกันกำลังเคลื่อนมาทางด้านหลัง ทหารอเมริกันคนหนึ่งจึงยิงเขาจนเสียชีวิต

ในปี 2004 เมื่ออเมริกาโจมตีเมืองฟัลลูจาห์ 2 ครั้ง และสังหารหมู่ชาวเมืองไปหลายพันคน อเมริกายังได้ขัดขวางทุกวิถีทางไม่ให้ชาวเมืองฟัลลูจาห์ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอีกด้วย ดร. ซาลาม อิสมาเอล (Salam Ismael) จากองค์กร Doctors for Iraq เล่าว่า หลังอเมริกาปิดล้อมเมืองได้ไม่กี่วัน ก็ได้เข้ายึดโรงพยาบาลใหญ่ของฟัลลูจาห์ ขณะที่คลีนิกที่เหลืออีกแห่งถูกอเมริกาโจมตีด้วยขีปานาวุธถึง 2 ครั้ง จนกระทั่งยาและอุปกรณ์การแพทย์ถูกทำลายไป รถพยาบาล 2 คันที่ถูกส่งออกไปรับคนไข้ก็ถูกอเมริกายิงโจมตีเช่นกัน ในฟัลลูจาห์ช่วงนั้น จึงไม่มีรถพยาบาลที่ใช้การได้เหลือไว้เลย

นอกจากนี้ ดร. อิสมาเอล ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า มีหมอผ่าตัดถึง 15 คนที่ถูกอเมริกาจับไปขังคุกเพราะให้การรักษาคนไข้ตามจรรยาวิชาชีพ แต่อเมริกาอ้างว่ามีความผิดเพราะให้การรักษาฝ่ายต่อต้าน

ย้อนไปในอดีต โรงพยาบาลของอิรัก เคยได้รับการยอมรับนับถืออย่างมากในระดับซึ่ง 'เป็นที่อิจฉา' ของย่านตะวันออกกลาง นักธุรกิจรวยๆ ในต่างประเทศจะพาเครือญาติบินมาใช้บริการที่นี่ ตั้งแต่ผ่าตัดหัวใจไปจนถึงศัลยกรรมพลาสติก แพทย์เฉพาะทางของอิรักเดินทางไปทั่วโลกเพื่อนำงานวิจัยของตนไปบรรยายให้ประชาคมแพทย์ฟัง แต่หลังจากนั้น ภายใต้มาตรการแซงก์ชันของสหประชาชาติ (นำโดยอเมริกา) ซึ่งยาวนานถึง 12 ปี การแพทย์ในอิรักก็ได้ถูกทำลายลง จนกระทั่งช่วงสงครามและการยึดครอง 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ก็ยิ่งถูกซ้ำเติมหนักจนระบบสุขภาพถึงขั้นล่มสลาย

เมษายน 2003 หลังอเมริกายึดประเทศรวมทั้งยึด 'กระเป๋าสตางค์' อิรักไปแล้ว เพื่อที่จะฟื้นฟูการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข อเมริกาได้เซ็นสัญญา 43 ล้านดอลลาร์กับบริษัทที่ปรึกษาอเมริกัน Abt Associates Inc เพื่อให้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ USAID ในเวลาต่อมา สรุปได้ว่า "ชุดอุปกรณ์รักษาพยาบาลที่ตั้งใจจะแจกจ่ายให้กับสถานพยาบาล 600 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายและไม่มีประโยชน์"

นอกจากนี้ ในบรรดายาพื้นฐาน 900 รายการที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาพยาบาลทั่วไป แค่ 45% (ไม่ถึง 450 รายการ) เท่านั้นที่มีให้ใช้ในอิรัก และจากการแปรรูปบริการสุขภาพที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ยาพื้นฐานในอิรักมีราคาพุ่งสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ที่ โรงพยาบาลยามุก โรงพยาบาลที่รองรับสถานการณ์รุนแรงและคนไข้ฉุกเฉินมากที่สุดในแบกแดด สิ่งที่ขาดแคลนมีทั้งยารักษาคนไข้, ยาฆ่าเชื้อโรค, อุปกรณ์ผ่าตัด, ผ้าปูเตียง, และพนักงานทำความสะอาด. จากรายงานของ Medact โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในเมืองบาสรา ต่างก็ประสบปัญหาขาดแคลนหรือไม่มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ : ชุดให้เลือด, ชุดให้น้ำเกลือ, ยาปฏิชีวนะ, และออกซิเจน

เร็วๆ นี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอิรักได้ออกมาแถลงว่า ตามที่อเมริกาเคยมีโครงการจะสร้างคลีนิกสุขภาพ 180 แห่งให้สำเร็จทั่วอิรักภายในธันวาคม 2005 นั้น จนถึงบัดนี้ มีเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่สร้างเสร็จ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแห่งใดที่สามารถเปิดให้บริการได้

การขาดแคลนไฟฟ้าจัดเป็นปัญหาหลักของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ในเดือนเมษายน 2004 อาห์ลัน บารี (Ahlan Bari) ผู้บริหารคนหนึ่งของ โรงเรียนแพทย์ยามุก ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอิสระชื่อดัง ดาร์ จาเมล ว่า "เรามีปัญหาเรื่องไฟดับระหว่างการผ่าตัด คนไข้ต้องเสียชีวิตเพราะเครื่องไม้เครื่องมือใช้การไม่ได้ เพราะไม่มีไฟฟ้า" ในอิรัก โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องปั่นไฟสำรองที่สามารถรองรับการใช้งานได้เต็มที่ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการขาดแคลนเงินทุนซ่อมแซม ยิ่งกว่านั้น ในหลายๆ กรณี ชิ้นส่วนอะไหล่ก็ไม่มีวางขาย

ดร. วาลิด จอร์จ (Dr. Waleed George) หัวหน้าศัลยแพทย์ โรงพยาบาลอัล-ซาดูน แบกแดด กล่าวว่า "ลองคิดดูว่าคุณกำลังพยายามผ่าตัดคนไข้รายหนึ่งซึ่งต้องใช้เวลาสองชั่วโมง แล้วอยู่ๆ ไฟฟ้าก็ดับ… คุณได้แต่นึกถึงพระเจ้าอยู่ในใจแล้วก็เหงื่อแตกไปด้วย"

ในลมหายใจของเด็กๆ
"ตลอดทั้งวัน สิ่งเดียวที่ผมได้กินก็คือขนมปังหนึ่งชิ้นกับมะเขือเทศ และมันฝรั่งทอด… ถ้าเรากินมากกว่านี้ พ่อของเราจะไม่ให้เรากินอะไรอีกในวันรุ่งขึ้น" (คาลิด อามีร์ (Khalid Amir) เด็กผู้ชายอายุ 10 ขวบในแบกแดด)

ภายใต้การยึดครองของบุชกับแบลร์, ยูนิเซฟ (UNICEF) กล่าวว่า...เด็กอิรักตายเร็วกว่าในยุคของซัดดัม. เด็กๆ ในอิรักเติบโตขึ้นมาพร้อมกับสงคราม ตั้งแต่ยุค 1980 เป็นต้นมา อิรักต้องเจอถึง 3 สงครามกับอีก 1 แซงก์ชัน ดังนั้น ก่อนเริ่มสงครามนี้ เด็กๆ ในอิรักจำนวนมากจึงมีความอ่อนแอต่อโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้ว สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนสูงถึง 1 ใน 4 เป็นโรคขาดสารอาหารเรื้อรัง ขณะที่ 1 ใน 8 เสียชีวิตก่อนที่จะได้ฉลองวันเกิดปีที่ 5

หลังการยึดครอง จากข้อมูลของ เฮเดอร์ ฮุสเซนี (Hayder Hussainy) เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ประมาณ 50% ของเด็กอิรักได้รับผลกระทบจากภาวะขาดสารอาหารในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง. 1 ใน 10 ของเด็กเหล่านั้นต้องทนทุกข์กับความเจ็บป่วยเรื้อรัง ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2004 ระบุว่า "อาการป่วยไข้ที่รักษาง่ายๆ อย่างท้องร่วงหรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุการตายของเด็กถึง 70%"

หรือชีวิตของเด็กอิรัก...จะราคาถูกยิ่งกว่าสุนัขในนิวยอร์ค? มารี เฟอร์นันเดซ (Marie Fernandez) จาก Saving Children from War องค์กรให้ความช่วยเหลือที่มีฐานอยู่ในเวียนนา กล่าวว่า "มันขาดแคลนไปทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กกำลังตายเพราะว่าเด็กเสียเลือด เพราะโรงพยาบาลไม่สามารถให้เลือดได้ ไม่มีเลือดเป็นถุงๆ เก็บไว้" เธอแจกแจงถึงสิ่งที่ขาดไปว่า มีตั้งแต่ยาปฏิชีวนะไปจนถึงสิ่งที่มีไว้รักษาอาการเจ็บป่วยแบบฉุกเฉินแทบทั้งหมด

ที่โรงพยาบาลซึ่งให้การศึกษาเกี่ยวกับโรคของเด็ก Paediatric Teaching Hospital ในย่านอิสคาน แบกแดด เด็ก 2 คนหรือบางทีถึง 3 คนต้องนอนแออัดยัดเยียดอยู่บนเตียงเดียวกัน เตียงไหนที่มีผ้าพันแผลเลอะเทอะส่งกลิ่นก็จะมีแมลงวันบินมารุมตอม หมอต้องผ่าตัดในห้องที่มีเลือดหรือเศษสิ่งสกปรกเรี่ยราดอยู่บนพื้น เนื่องจากการขาดแคลนน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การทำความสะอาดพื้นจึงมีปัญหาตามมา

ที่โรงพยาบาลแม่และเด็ก Maternity and Child Hospital ในเมืองบาสรา นอกจากความเจ็บป่วยอันเนื่องจากน้ำไม่สะอาด ขยะท่วมเมืองและโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ แล้ว ยังมีรายงานเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งและมะเร็งเม็ดเลือดขาวเดือนละ 14-16 ราย, ดร. อาลี ฮาชิมี (Dr Ali Hashimy) กล่าวว่า "มันเจ็บปวดที่จะเห็นเด็กจำนวนมากต้องตายด้วยโรคมะเร็ง เพียงเพราะเราไม่สามารถให้การรักษาพวกเขาได้อย่างที่ควรจะเป็น" เขากล่าวต่อไปว่า "ถ้าเพียงแต่เรามียา พวกเขาก็จะรอดชีวิต"

พ้นไปจากอาการเจ็บป่วยทางกาย สงครามกับความบอบช้ำทางจิตใจเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก. มารวน อับดุลลาห์ (Maruan Abdullah) โฆษก สมาคมจิตแพทย์อิรัก (Association of Psychologists of Iraq) กล่าวว่า "มีไม่กี่อย่างที่พวกเขา (เด็กอิรัก) มีอยู่ในใจ : ปืน, ลูกปืน, ความตาย, และความกลัวภายใต้การยึดครองของอเมริกา"

ตามข้อมูลของสมาคม "เด็กอิรักได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างหนัก จากเรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัยในสังคม โดยเฉพาะความหวาดกลัวในเรื่องการถูกลักพาตัวและภัยจากระเบิด" เด็กที่จิตใจบอบช้ำหรือถูกกระทำจากสงคราม อาจจะแสดงอาการออกมาได้หลายอย่าง เด็กบางคนอาจจะมีอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ สมาธิต่ำ หรือปัสสาวะรดที่นอน ฯลฯ ขณะที่เด็กบางคนอาจจะมีอาการรุนแรงกว่านั้น

- อายัต ซาลาห์ (Ayat Salah) อายุ 6 ขวบ อาศัยอยู่ในแบกแดด มีปฏิกิริยา...หยุดพูดไปเสียดื้อๆ หลังจากที่เธอบังเอิญไปเจอบางอย่างไม่คาดฝันเข้าที่หน้าบ้าน : ศีรษะมนุษย์ที่ถูกบั่นคอตัดขาด ปราศจากร่างกาย. "เช้าวันนั้น อายัตจูบลาฉันและพ่อของเธอตามปกติ" แม่ของเด็กเล่า "แล้วเธอก็ออกไปจากบ้าน ทันใดนั้น เราก็ได้ยินเสียงเธอกรีดร้อง เราเห็นเธอหมดสติล้มลงไป หลังจากนั้นเธอก็ไม่พูดอะไรอีกเลย"

- ชรูค มุสตาฟา (Shrooq Mustafa)
อายุ 5 ขวบตอนที่เธอเห็นกลุ่มติดอาวุธฆ่าตัดคอพ่อของเธอ "ต่อหน้าต่อตา" พ่อของเธอทำงานเป็นล่ามให้กับกองทัพอเมริกันในแบกแดด เลือดของพ่อกระเซ็นมาเปรอะเปื้อนไปทั่วกระโปรงสีชมพูของลูก กลุ่มติดอาวุธทิ้งเธอไว้กับศพของพ่อ เธอได้แต่ส่งเสียงกรีดร้อง และตกอยู่ในอาการช็อค

ไม่มีข้อมูลสำรวจชัดเจนว่าเด็กอิรักได้รับผลกระทบจำนวนมากน้อยแค่ไหน และการรับมือกับปัญหานี้ก็ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจิตแพทย์ในอิรักเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างหายาก และไม่มีใครเชี่ยวชาญด้านเด็กโดยเฉพาะ

"เด็กๆ ของเราสูญเสียวัยเด็กไปแล้ว", อลา ออมราน (Alaa Omran) ครูโรงเรียนประถมในโมซุล กล่าว, ทุกๆ วัน เธอจะได้ยินลูกศิษย์ของเธอพูดคุยกัน ถ้าไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับกระสุนอะไร ระเบิดแบบไหน ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับญาติหรือเพื่อนของใครที่ตาย ถูกอุ้มหายไป หรือถูกฆ่าตัดคอ

โรงเรียนเองก็ไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อต้นปีนี้ระบุว่า เฉพาะช่วง 4 เดือนก่อนหน้า มีการโจมตีโรงเรียน 417 ครั้ง ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตไป 64 คน บาดเจ็บ 57 คน และในรอบ 4 เดือนนั้น เด็กโตถูกลักพาตัวไปมากกว่า 47 คน บนเส้นทางไป-กลับระหว่างบ้านและโรงเรียน

ตามข้อมูลของ ยูนิเซฟ อัตราการไปโรงเรียนของเด็กลดต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณ 65% เพราะพ่อแม่พากันวิตกเรื่องความปลอดภัยของลูกมากขึ้นเรื่อยๆ

มิถุนายน 2006, โอมาร์ คาลีฟ (Omar Khalif) รองประธาน"สมาคมครอบครัวอิรัก" (Iraqi Families Association) กล่าวว่า "ทุกๆ สัปดาห์ มีเด็กอิรักอย่างน้อย 5 คนที่หายตัวไป", "ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสถิติของรัฐบาลได้ เราได้รับข้อมูลมาว่า ในบางกรณี มีการส่งเด็กไปยุโรป โดยส่งผ่านเส้นทางประเทศเพื่อนบ้าน" เขากล่าว

การลักพาตัวเด็กอิรักไม่ได้เกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีฐานะดี หรือมีการลักพาตัวไปเพื่อเรียกค่าไถ่เท่านั้น ทุกวันนี้การลักพาตัวเด็กสามารถเกิดได้กับครอบครัวชาวอิรักทั่วไป แม้จะยังไม่ชัดเจนนักว่าเด็กถูกลักพาตัวไปเพื่ออะไร หรือไปขายให้กับใคร แต่ล่าสุด มีรายงานถึง 'การขายเด็ก' ที่น่าสนใจกรณีหนึ่ง...จากสำนักข่าวที่จับประเด็นด้านมนุษยธรรมในเครือ UN ที่ชื่อ IRIN

ครอบครัวหนึ่งในแบกแดดให้สัมภาษณ์กับ IRIN ว่า เนื่องจากสาเหตุการว่างงานและความยากจนทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจขายลูกคนหนึ่งเพื่อนำเงินมาเลี้ยงคนอื่นๆ ที่เหลือในครอบครัว "มันยากที่จะนั่งมองลูกๆ ของเราอดอยาก ไม่มีอะไรจะกิน" อาบู คาราม (Abu Karam) พ่อที่มีลูกถึง 9 คนกล่าว เขาขายลูกชายคนหนึ่งไปในราคา 60,000 ดอลลาร์

"เราขายลูกเราให้กับชาวต่างประเทศครอบครัวหนึ่ง พวกเขาจ่ายเราดีมาก และลูกของเรา (ที่ขายไป) ก็จะได้มีชีวิตดีๆ ที่นั่น พร้อมกันนี้ เด็กคนอื่นๆ ที่เหลือก็จะได้มีอะไรกินด้วย"

ลมปากเน่าๆ ของผู้นำบางคน
ก่อนสงครามอิรักเริ่มต้น ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ได้กล่าวสุนทรพจน์ในเดือนมกราคม 2003 เพื่อหาข้ออ้างและความชอบธรรมในการโจมตีอิรัก โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "เช่นเดียวกับที่เราและพันธมิตรหุ้นส่วนของเรากำลังทำในอัฟกานิสถาน เราจะนำสิ่งเหล่านี้มามอบให้ชาวอิรักเช่นกัน : อาหาร ยา สิ่งของจำเป็นอื่นๆ และเสรีภาพ"

พ้นไปจากลมปากเน่าๆ ของผู้นำบางคน อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 (1949) ที่ว่าด้วยการคุ้มครองพลเรือนยามสงคราม ได้ระบุไว้ชัดเจนใน มาตราที่ 55 และมาตราที่ 56 ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ยึดครองที่จะต้องดูแลและส่งมอบอาหาร, ยา, บริการด้านสุขภาพ และสุขอนามัย สิ่งซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ให้แก่ประชาชนในดินแดนภายใต้การยึดครองของตน. แต่กว่า 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากการละเมิดกฎหมายอื่นๆ เป็นว่าเล่นแล้ว เป็นที่น่าสมเพชเวทนาว่า ประเทศผู้ยึดครองอิรักซึ่งนำโดยอเมริกา ยังได้ละเมิดอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 2 มาตรามาโดยตลอด

อิรักล่มสลาย และผู้นำทั่วโลกต่างก็นั่งกอดอก-ปล่อยให้อเมริกาละเมิดกฎหมาย พรุ่งนี้เด็กอิรักกำลังจะตายมากขึ้น และพรุ่งนี้ของประเทศอิรัก...ก็จะเป็นแค่ 'อีกหนึ่งวันในอุโมงค์อันหนาวเย็นและมืดดำ'

บทสรุป
ไม่มีอะไรจะ 'สั้นๆ แต่จริงใจ' มากไปกว่า คำพูดของ ซินดี ชีแฮน (Cindy Sheehan) คุณแม่อเมริกันนักต้านสงครามที่เสียลูกชายไปในอิรัก เธอกล่าวไว้ว่า
"รัฐบาลของเราไม่เคยสนใจใยดีคนอิรัก กองกำลังพันธมิตรต่างหากที่เป็นตัวปัญหา ไม่ใช่ทางแก้ไข" ไม่ใช่ทางแก้ และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้…" ออกไปจากอิรักเสียเถอะ ไอ้เสรีภาพ-ประชาธิปไตยตอแหล"

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลหลัก
Where Have All the Doctors Gone? The Collapse of Iraq's Health Care Services, David Wilson, Stop the War Coalition, October 14, 2006

ข้อมูลประกอบ
Mortality after the 2003 invasion of Iraq, The Lancet, October 12, 2006

Study Claims Iraq's 'Excess' Death Toll Has Reached 655,000, David Brown, Washington Post, October 11, 2006 (page - A12!!)

Conflict fuels Iraqi health crisis, Medact, 30 Mar 2006

'Democracy' Brings Bleak Days, Dahr Jamail and Arkan Hamed, IPS, January 10, 2006

Violence Aside, Baghdad is Broken, Anna Badkhen, SF Chronicle, May 24, 2006

For quality of life, Baghdad ranks last in world, survey finds, IRIN, 11 April 2006

IRAQ: Unemployment and violence increase poverty, IRIN, 17 Oct 2006

IRAQ-SYRIA: Three million uprooted Iraqis face 'bleak future', UNHCR says, IRIN, 22 Oct 2006

Death of a professor, Haifa Zangana, The Guardian, February 28, 2006

Experts Fear a Lost Generation, Sahar Al-Haidery, IWPR, 27 September 2006

Concern over reports of child trafficking, IRIN, 29 June 2006

Cindy Sheehan condemns Australian prime minister as an 'illegal combatant', Richard Phillips, WSWS, 31 May 2006


+++++++++++++++++++++++++++++++
นำมาจาก
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID
=5644&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

 

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

มันเป็นเรื่องน่าสนใจดีเหมือนกัน เวลาที่เรารายงานตัวเลขจากประเทศเหล่านั้น นักการเมืองอเมริกันไม่เคยมีปัญหาอะไร พวกเขามักจะขมวดคิ้ว พยักหน้า และยอมรับว่าสถานการณ์มันวิกฤติรุนแรงจนทำเฉยต่อไปไม่ได้อีกแล้ว พวกเขาจะพูดว่า ประชาคมโลกต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะ แต่พอมันมาถึงกรณีของอิรัก เรื่องนี้กลับแตกต่างออกไป เตรียมใจไว้ได้เลยว่ารัฐบาลจะใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผลงานของนักวิชาการอเมริกา และอิรักกลุ่มนี้ เพื่อที่จะปัดความสำคัญของรายงานชิ้นนี้ และเพื่อที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบที่จะต้องพิจารณารายงานชิ้นนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งรัฐบาลจะวิจารณ์แลนเซ็ตด้วยว่า...เล่นการเมืองมากไป