บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๗๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
18-11-2549



Space and Politics
The Midnight University

ความเข้าใจเรื่องพื้นที่หลังสมัยใหม่
Heterotopias / Thirdspace / Landscape of living
ทัศนัย เศรษฐเสรี
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
บัณฑิตศึกษาสถาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความถอดเทปนี้ คัดมาจากรายการสนทนา Asiatopia
ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาคารหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบ
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
midnightuniv(at)gmail.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1073
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)

 



Heterotopias / Thirdspace / Landscape of living
ทัศนัย เศรษฐเสรี : หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตศึกษาสถาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตอนที่ ๑ : Heterotopias / Thirdspace / Landscape of living
เรื่องที่จะพูดวันนี้เป็นสิ่งที่ทำและสนใจมาหลายปีเกี่ยวกับ space, place, และ geography ตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทต่อปริญญาเอกอยูที่อเมริกา ก็ทำเรื่องพื้นที่ โดยการไปวิจารณ์งานของ Wittgenstein ในเรื่อง cardinal number (1) หรือตัวเลข 1-2-3-4 ซึ่งสัมพันธ์กับการจดจำ และนำไปสู่ภาคปฏิบัติของวิถีชีวิตประจำวันที่สัมพันธ์กับเรื่องเวลาและสถานที่ คือเรานับตัวเลขและวัดระยะทาง แล้วทำให้เราจำได้ว่าสิ่งของที่เราหยิบในชีวิตประจำวัน อยู่ที่ไหน ตำแหน่งไหน เราจำเรื่องสี เรื่องสัณฐานของวัตถุได้

งานวิจัยตอนเรียนปริญญาโทอยู่ได้วิจารณ์งานของ Wittgenstein ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และจากงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ได้นำไปสู่เทศกาลงานวัดกลางเมืองชิคาโก หลังจากกลับมาที่เมืองไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็มีสายตาที่ไม่ใช่เป็นคนปกติซึ่งใช้ native eyes หรือสายตาของคนท้องถิ่น แต่ได้ถูกใส่ด้วย contact lens สีน้ำข้าว จึงทำให้เริ่มสนใจพื้นที่สาธารณะและเป็นปฏิบัติการของบุคคล สังคม บนพื้นที่สาธารณะว่ามีลักษณะอย่างไร?

ซึ่งผมพบว่ามีลักษณะที่น่าสนใจมาก แต่อย่างไรก็ตาม ผมมองผ่านเลนส์ตาสีน้ำข้าว ซึ่งก็ทำให้เข้าใจสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนด้วยสายตาที่เป็น native eyes แต่ตอนนี้ contact lens คู่นี้เริ่มจะหมดอายุ และเริ่มจะมองอะไรไม่ค่อยเห็นอย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้มองไม่เห็นอะไรในชีวิตประจำวัน

ตอนแรกที่ได้รับเชิญให้พูด หัวข้อซึ่งกำหนดให้พูดเป็นเรื่อง "พื้นที่สาธารณะกับการแสดง"(public space & performance) ก็พยายามจะคิดว่าจะกำหนดเรื่องพูดอะไรดี เพราะหัวข้อค่อนข้างกว้าง และมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องมากมายสำหรับเรื่องนี้และผมสนใจด้วย แต่ในเวลาที่จำกัดคงจะพูดไม่ได้หมด ทำให้ต้องใคร่ครวญอยู่หลายวัน และทำการบ้านอย่างหนักพร้อมทั้งค้นอะไรต่างๆดู นอกจากมีงานศิลปะแล้วก็มีงานเขียนเกี่ยวกับเรื่อง space เรื่องปฏิบัติการใน space ที่พูดถึงเรื่อง performance ในชีวิตประจำวันจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ก็คิดไม่ออก จนกระทั่งคิดถึงครูคนหนึ่ง เวลาผมมีปัญหาคิดอะไรไม่ออกก็จะคิดถึงหน้าครูคนนี้ และบทเรียนที่เรียนผ่านมาซึ่งเป็นครูที่ผมรักและเคารพมาโดยตลอด ก็ทำให้นึกถึงตอนหนึ่งซึ่งครูคนนี้พยายามจะสอนแนวคิดทฤษฎี และตั้งคำถามให้ผมตอบว่าศิลปะคืออะไร ด้วยบทเรียนแปลกๆ อย่างเช่น พาผมไปตกปลาบ้าง พาผมไปจีบสาวเพื่อที่จะมาเป็นหุ่น nude บ้าง แล้วผมจำได้อยู่ตอนหนึ่ง ขณะที่เราไปตกปลาแห่งหนึ่ง เราไม่ได้เตรียมเสบียงไปเพียงพอ และเลยเวลาทำให้หิวข้าวมาก ครูคนนี้ก็ควักขนมปังขึ้นมาซึ่งเราเตรียมไว้สำหรับไปปั้นเป็นเหยื่อตกปลาสวายกินธรรมดา ขึ้นมากัดกินอย่างเอร็ดอร่อย

พวกเรา 2-3 คนซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ติดตามไป รู้สึกว่า ทำไมมันอร่อยจัง ทำไมรู้สึกว่าอาจารย์อร่อย เราก็รู้ว่ามันเป็นขนมปังธรรมดา อาจารย์ก็เลยเริ่มสอนเราและเป็นสำนึกที่ติดตัวผมมาโดยตลอดคือ ความหมายอะไรก็ตาม ซึ่งเราคิดว่าเป็นความหมายที่ถูกจัดตั้งให้โดยใครก็ตาม ความหมายที่เป็น existing meaning เราสามารถเปลี่ยนมันด้วยฉายาลักษณ์ และเป้าประโยชน์ของเราเอง และถ้าเราฝึกอยู่ทุกวัน อะไรก็ตามที่มันดูเหมือนไร้สาระ ดูเหมือนไม่เป็นสิ่งที่มีคุณภาพนัก เราสามารถ turn it over หรือเปลี่ยนมันให้มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าได้

สิ่งนี้จึงนำมาซึ่งประเด็นที่ผมจะพูดวันนี้ออก โดยจะพูดถึงเรื่อง Theory of practice หรือทฤษฎีทางด้านปฏิบัติการของปัจเจกบุคคลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วมาบวกกับชื่อของโครงงาน Asiatopia(2). คำว่า topia เหมือนกับอะไรที่เป็น utopia หรืออุดมคติอะไรทั้งหลายแหล่ และเป็นสิ่งที่สนใจอยู่แล้วด้วย จึงนำมาสู่หัวข้อที่เลือกเกี่ยวกับ Theory of Practice กับอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นบรรยากาศของวิชาการร่วมสมัย นั่นคือคำว่า heterotopia(3). คำๆนี้แปลเป็นภาษาไทยเท่าที่ลูกศิษย์ผมบอกว่าเป็น"พื้นที่พิเศษ" ซึ่งในความพ้องความหมายไม่ใช่ spacial space แน่ๆ

คิดว่าในตอนเริ่มต้นจะพูดถึงเรื่องธรรมชาติของ heterotopia บวกกับ theory of practice ก่อน เพื่อจะเข้าใจว่าสำนึกทางสังคมที่เกิดขึ้นในศิลปะในแขนงต่างๆ รวมทั้ง performance art ด้วยบทบาทของมันเกี่ยวกับ space, place, แล้วตัว subject คือตัวบุคคลที่อยู่ใน space นั้น เราคิดถึงมันภายใต้บรรยากาศวิชาการอะไร ซึ่งน่าจะถูกทำความเข้าใจก่อน และส่วนต่อมาผมจึงจะพูดถึงบทบาทและหน้าที่ของ performance art และงานศิลปะในภาพกว้างในพื้นที่ภายใต้บรรยากาศของสำนึกใหม่เหล่านี้

Heterotopia เป็นคำซึ่งถูกใช้ในทางวิชาการโดย Foucault เป็นคนแรกๆ แต่ว่าพื้นที่ซึ่งเรียกว่า heterotopia ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะมีคนพูดว่ามันมีอยู่ อันที่จริงมันมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว คำว่า heterotopia ก็คือความหลากหลายของกิจกรรมและความหลากหลายของ domain หรืออาณาเขต, ขอบเขตของพื้นที่เฉพาะในกิจกรรมนั้น ซึ่งในสมัยก่อนแบ่งออกเป็น sacred and profane ยกตัวอย่างเช่น

- sacred space คือพื้นที่ทางพิธีกรรมในโบสถ์วิหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับความลี้ลับ ความศักดิ์สิทธิ์
- ส่วน profane space ก็คือพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ชีวิตฆราวาส เช่น ห้องสมุด, หอศิลป์, สวนสาธารณะโดยทั่วไป

Foucault บอกว่า ก่อนคริสตศตวรรษที่ 17 คำว่า sacred and profane หรือ heterotopia ในอดีตมันไม่เคยแยกกันอยู่ มันเป็นพื้นที่ซึ่งทับซ้อนกันอยู่เสมอ และจะเห็นได้ในตัวอย่างของสังคมไทย ในงานบุญ งานบวชอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัด มักจะมีเรื่อง profane เข้าไปร่วมด้วยเสมอ มีเรื่องความบันเทิง, มีเรื่องการแทงไฮโลว์, มีการดื่มเหล้าในพื้นที่ที่เป็น sacred. เพราะฉะนั้น sacred และ profane จึงเป็นพื้นที่ซึ่งทับซ้อนกันอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดการแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดของคำว่า sacred และ profane สำหรับ Foucault ใช้ตัวอย่างของหลุมฝังศพในช่วงก่อนปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ซึ่งก่อนหน้านั้นหลุมฝังศพมักจะอยู่ใกล้ๆ กับศูนย์กลางของเมือง ซึ่งต่อมาภายหลังนั้นคือต้นคริสตศตวรรษที่ 19 หลุมฝังศพได้ถูกย้ายไปอยู่นอกเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ความหมายของหลุมฝังศพก็ยังคงมีความหมายที่มันทับซ้อนกันอยู่ซึ่ง Foucault ได้ลงไปศึกษามัน และเรียกมันว่า heterotopia ศึกษามันในฐานะที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนของความหมาย และการเปลี่ยนความหมาย

ในสังคมร่วมสมัย หลายคนเอางานของ Foucault มาพัฒนาต่อ และพยายามที่จะอธิบายว่า ในสังคมร่วมสมัยดังที่เป็นอยู่ มันมีคำว่า heterotopia และการทับซ้อนกันของ sacred และ profane อยู่ในชีวิตประจำวันที่ใดบ้าง ก็มีคำตอบอยู่ว่า เช่นคำว่า resting place หรือพื้นที่พักผ่อนโดยทั่วไป ก็มักจะมีการทับซ้อนกันของความหมายพื้นที่และหน้าที่ของมันอยู่เสมอ เช่น ในโรงภาพยนตร์, ในสปา, หรือที่อื่นๆ ซึ่งเป็นที่ที่ถูกให้ความหมายไว้ก่อนหน้า ก่อนที่ปัจเจกจะเข้าไปใช้พื้นที่นั้นๆ และปัจเจกก็เข้าไป intervene คือเข้าไปแทรกแซงและเปลี่ยนความหมายและรูปร่างของพื้นที่นั้น โดยที่ตัวเองก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ของการจัดการนั้นๆ

Heterotopia ในความหมายของ Foucault มีความสัมพันธ์กับคำว่า "ปฏิบัติการทางวาทกรรม"(discursive practice) ซึ่งคิดว่าในพื้นที่ต่างๆ มีโครงสร้างของการจัดการอยู่เสมอ และการจัดการเหล่านี้มักจะเป็น order มักจะเป็นกรอบ ระเบียบของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งภายใต้กิจกรรมเหล่านี้ที่มันเกิดเป็นวาทกรรม เพราะบุคคลพยายามที่จะหนีวาทกรรม แต่เขาก็ฟันธงว่า บุคคลไม่สามารถหนีมันได้ หรือกระโดดออกไปนอกวาทกรรม แต่หลังๆ มางานของ Foucault ถูกพัฒนาไปต่อว่า บุคคลต่อสู้กับวาทกรรมภายใต้โครงสร้างของวาทกรรมเอง

โดยธรรมชาติแล้ว heterotopia ก็คือพื้นที่ของความหลากหลายของสรรพสิ่ง ที่มันมีความหลากหลายเกี่ยวกับธรรมชาติของเวลาด้วย ตัวอย่างเช่น หอศิลป์ ซึ่งมีการรวบรวมผลงานศิลปะ จุดประสงค์ของการรวบรวมก็คือ เอาสรรพสิ่งที่อยู่นอกเหนือกรอบเวลาซึ่งมีความแตกต่างกัน มารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน จัดเรียงให้มันมี order มีหมวดหมู่ classification มีการจำแนกแยกแยะ อย่างไรก็ตาม การจัดจำแนกแยกแยะสรรพสิ่งเหล่านั้น ก็ยังอยู่ภายใต้ความหลากหลายซึ่งไม่เคยเป็นเอกภาพหรือ unity. สำหรับ Foucault มันเต็มไปด้วยความหลากหลาย และมันมีอะไรที่ไม่ลงรอยและไม่สัมพันธ์กันด้วย

แต่ในโลกสมัยใหม่ พยายามที่จะจัดระเบียบ, เชื่อมโยง cause and effect คือเชื่อมความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของความหมายสรรพสิ่งที่เป็นตัวแทนของเวลาเหล่านั้นในหอศิลป์ เช่น เราจะบอกว่าสมัยกรีก มันเป็น cause หรือมูลเหตุอิทธิพลให้กับวัฒนธรรมตะวันตกในรุ่นหลังๆ มา จนถึง กอธธิค, เรอเนสซองค์, โรแมนติค, อิมเพรสชั่นนิสม, อะไรก็ตามในศิลปะ ซึ่ง Foucault บอกว่า ถ้าเราลองตัดช่วงกลางมันออกแล้วถามดูว่า อิมเพรสชั่นนิสมมันสัมพันธ์กับปรัชญากรีกในตอนต้นอย่างไร ซึ่งมันอาจจะไม่สัมพันธ์กันเลย แต่ด้วยการเรียงร้อยเป็น cardinal number หรือการเรียงร้อยตัวเลขตามลำดับ 1-2-3-4 มันทำให้สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน และทำให้เกิด unity เกิด concept เรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งเขาบอกว่ามันค่อนข้างจะแปลก

ดังนั้นแล้ว heterotopia ในความหมายของ Foucault แล้วก็คือ space of crisis คือพื้นที่ของความขัดแย้ง ซึ่งมีความขัดแย้งอยู่เสมอ. Heterotopia ไม่ได้ฝังตัวอยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ เพียงอย่างเดียว บางครั้งมันสามารถอธิบายถึงปฏิบัติการ หรือว่าชีวิตอื่นๆ ของบุคคลด้วย เช่น ขณะที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ผู้หญิงที่ในภาวะปกติเป็นอย่างหนึ่ง แต่มันมีภาวะที่แทรกซ้อนเข้ามาทำให้ตัวเองไม่ปกติในภาวะเหล่านั้น ขณะที่มีประจำเดือน Foucault บอกว่า นั่นคือ space of heterotopia ด้วย ซึ่งมันสามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมา

ดังนั้นแล้ว space จริงๆ ที่เป็น utopia หรือ space ปกติที่มันเป็น existing space กลับ heterotopia มันไม่เคยเกิดหรือ fix อยู่อย่างนั้น แต่มันจะสลับปรับเปลี่ยนกันไปมา ไขว้กันไปไขว้กันมา และยังมีในตัวอย่างอื่นๆ เช่น งานเทศกาล เราลองนึกถึงงานเทศกาลฤดูหนาวของเชียงใหม่ เราเข้าไปในงานฤดูหนาว เราจะพบเห็นความแตกต่างของกิจกรรมและความสนใจของบุคคล ซึ่งพกพาด้วยเบื้องหลังและประสบการณ์ต่างๆ ที่เข้าไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่งานเทศกาลฤดูหนาวด้วย

เราได้เห็นมอเตอร์ไซค์ไต่ถังทางขวามือ เราเห็นสาวน้อยตกน้ำอยู่ซ้ายมือ เราไม่สามารถมีประสบการณ์ทั้งหมดภายในกิจกรรม หรือใน event นั้นได้ เพราะมันเต็มไปด้วยความหลากหลายของ domain ของกิจกรรม และขีดกรอบของธรรมชาติพื้นที่ไว้ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเหมือนกับอะตอมที่วิ่งสวนกันไปมา บางครั้งปะทะกัน บางครั้งทะเลาะกัน บางครั้งประสานกัน บางครั้งทับซ้อนกัน

แต่งานของ Foucault มักจะมีแนวโน้มที่จะบอกว่า heterotopia มันมีโครงสร้างของอำนาจ และการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งปัจเจกบุคคลแทบจะไม่มีสิทธิ์ที่จะหายใจหายคอในการที่จะผลิตกิจกรรมที่โต้แย้งโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้นเลย ซึ่งนักวิชาการหลังๆ ที่เป็น Foucauldian ทั้งหลาย ได้เอางานของ Foucault มาอ่านใหม่และตีความใหม่ บอกว่า จริงๆ แล้วพวกเขาอ่านงานของ Foucault และเข้าใจผิดมาโดยตลอด

ถูกต้องทีเดียวที่บุคคลไม่สามารถหลีกหนีวาทกรรมได้ Derrida บอกว่า บุคคลไม่สามารถหลีกหนีภาษาได้ หรือโครงสร้างของการจัดการภาษาได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลเป็นทาสตลอดชีวิตของโครงสร้างของการจัดการนั้น ตัวอย่างเช่นงานของ Kavin Hetherington ที่พูดว่า มันไม่จริงหรอก ภายใต้ crisis นั้น บุคคลมักจะมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธบรรทัดฐาน ความเชื่อทางสังคมที่ถูกให้ไว้ก่อนล่วงหน้าเสมอ และจะเปลี่ยนบรรทัดฐานเหล่านั้นด้วยความหมายใหม่ หรือซ้อนความหมายเข้าไปตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ

คนต่อมาก็คือ de Certeau เป็นนักคิดฝรั่งเศสเช่นกัน แต่มีชีวิตที่สั้นมาก ได้เขียนหนังสือเอาไว้ชื่อว่า Theory of Practice เขาได้ไปดูภาคปฏิบัติการของชีวิตประจำวัน พิจารณาปรกติของบุคคล. ถ้าเราเชื่อว่าสังคมเมือง สังคมสมัยใหม่ซึ่งเป็นผลผลิตของกากเดนทุนนิยม คือสังคมของการจัดการ สังคมที่มัน fixed order ทำให้ทุกอย่างมันถูก check list ได้ ว่าอะไรอยู่ตรงไหน อย่างไร ทุกคนไม่มี free will หรือเจตจำนงเสรีในการใช้ชีวิต

สำหรับ de Certeau ไปดูในรายละเอียดของกิจกรรมในชีวิตประจำวันแล้ว de Certeau พบว่ามันไม่จริง ยกตัวอย่างเช่น ที่เราเห็นโดยทั่วไปในสังคมไทย เราสามารถที่จะเปลี่ยน dead end ของถนนหรือทางตันของถนนไปเป็นสนามแบดมินตันได้ เราสามารถที่จะตากผ้าหน้าบ้าน หรือตากปลาเค็มได้บนพื้นที่ฟุตบาทซึ่งเจ้าของคือเทศบาล หรือเป็นภาษีของคนอื่น นี่คือขบวนการต่อต้านหรือโต้แย้งโครงสร้าง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า micro politics of resistance ก็คือการโต้แย้งในทางการเมืองในระดับจุลภาค ซึ่งไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีม็อบ ไม่มีการตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้า เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา และใช้ survival skill คือทักษะของการเอาชีวิตรอดอย่างชาญฉลาด ซึ่งแต่ละบุคคลก็จะมีทักษะในการใช้ skill นี้ที่ไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ de Certeau สนใจก็คือเรื่อง mndane หรือเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป เรื่อง life practice หรือเรื่องของชีวิตประจำวัน ผมสรุปงานของ de Certeau เองว่า นี่คือ performance ที่มี creative หรือความคิดสร้างสรรค์

ก่อนหน้าที่วิชาการแขนงนี้ที่เรียกว่า heterotopia จะถูกยอมรับและถกเถียงกันอย่างมากมาย วิธีคิดต่อเรื่อง space ไล่เลียงมาตั้งแต่เรื่องของ positive geography หรือภูมิศาสตร์แบบปฏิฐานนิยม ซึ่งเชื่อว่า พื้นที่ก็คือพื้นที่ พื้นที่เหมือนกับกะละมังใบหนึ่ง ซึ่งมันมีอาณาเขตที่ชัดเจน มีขัณฑสีมาที่ชัดเจน น้ำในกะละมังก็ต้องมีรูปร่างตามที่กะละมังมันกำหนด

แต่สำหรับ de Certeau แล้ว โต้แย้งความคิดนี้โดยชัดเจน ที่เชื่อว่าธรรมชาติของพื้นที่ รูปร่างของพื้นที่ไม่ได้มีก่อน แล้วเป็นตัวกำหนดปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน แต่ในทางกลับกัน ชีวิตประจำวันต่างหากและปฏิบัติการของมัน ด้วยความคิดสร้างสรรค์ต่างหากที่กำหนดบทบาทและรูปร่างของพื้นที่. ตรงนี้ทำให้น้ำหนักของการพูดถึงพื้นที่ มันเทมาให้ความคิดสร้างสรรค์ของปัจเจกธรรมดาสามัญ ซึ่งเปิดพื้นที่ของการหายใจหายคอในการเอาชีวิตรอดของโครงสร้างการกำหนดจัดการของสังคมสมัยใหม่เสมอ

อีกคนหนึ่งที่น่าสนใจคือ Ed Soja ซึ่งได้เอาแนวคิดของ postmodern ไปศึกษา ในเรื่องการเปลี่ยนเชิง concept ของภูมิศาสตร์ โดยเขาได้ไปศึกษา down town ใน Los Angeles ซึ่งพิเศษมาก เพราะว่ามันมีการสับเปลี่ยน สับวาง และสลับความหมายอยู่ตลอดเวลา. กลางวัน down town ของลอส แองเจลิส เป็นพื้นที่ที่เป็น financial space พื้นที่ซึ่งเป็นเหมือนสีลม หรือสยามสแควส์ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องของธุรกิจ ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง ต่างเข้ามาใช้พื้นที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์และทุนนิยมโลก

ตอนเย็นผู้คนเหล่านี้จะออกนอกเมืองไปหมด มันจะเงียบทั้งหมด คนพวกนี้จะไม่ได้อยู่ใน down town แต่จะไปอยู่ที่ suburb หรือตามชานเมืองต่างๆ ดังนั้น down town จึงกลายเป็นพื้นที่ของพวก homeless เป็นที่สิงอยู่ของกลุ่มแก๊งหรือพวกผิดกฎหมาย เป็นพวกค้ายาเสพติดอะไรทั้งหลายเหล่านี้ ดังนั้น ลอสแองเจลิสจึงเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมาก

และเมื่อไปดูในสวนสาธารณะ ปรากฏว่าแนวคิดของสวนสาธารณะเป็นกากเดนของลัทธิ bourgeois หรือชนชั้นกลาง คุณจะเข้าไปวิ่งได้หมายความว่า คุณจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ พร้อม แล้วก็มีเวลาที่จะไปวิ่งจ็อกกิ้งได้ ส่วนบางคนอดโซ อาหารไม่ค่อยจะมีกิน เวลาทั้งหมดก็ต้องไปขุดเผือกขุดมัน ดังนั้นจึงไม่มีเวลาไปจ็อกกิ้งแบบนั้นได้ แต่ว่าสวนสาธารณะในลอสแองเจลิส มันสลับซับซ้อนกว่านั้น มันมีการเข้าแทนความหมายของคนที่ถูกกันออกจากการใช้งานของสวนสาธารณะ เช่นเดียวกับสวนสาธารณะที่อื่นๆ ซึ่งในสังคมไทยเองก็มี

Ed Soja ได้พูดถึง heterotopia ด้วยการบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า Third Space หรือพื้นที่ที่สาม. อะไรคือพื้นที่ที่สาม

- พื้นที่อันแรก(First Space) คือพื้นที่ที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างของการจัดการของสังคมสมัยใหม่ จะเป็นทุนนิยมหรืออะไรก็ตามที่มันกำหนดแน่นอน เป็นกรอบระเบียบซึ่งมันสามารถเขียนแผนที่ได้

- ส่วนพื้นที่ที่สอง(Second Space)
คือพื้นที่ที่มีลักษณะเป็น subjective และ imagine คือพื้นที่ที่บุคคลให้ความหมายมันได้ สามารถจินตนาการถึงมันได้ด้วยตัวเอง

- ส่วนพื้นที่ที่สาม (Third Space)
คือการปะทะกันของความต้องการของการกำหนดความหมายของพื้นที่ โดย second space และพยายามฉุดรั้งกฎระเบียบการจัดการของ First space ดังนั้น Third space จึงเป็น space of crisis ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่าง space อื่นๆ

ถ้าเรานึกถึง First space เป็นหนึ่งวง, Second space อีกหนึ่งวง, Third space ไม่ใช้อีกวงหนึ่ง แต่เป็น space ระหว่างสองวงนี้ ซึ่งไม่มีรูปร่าง หรือขนาดที่แน่นอน

อีกคนหนึ่งซึ่งพูดถึงเรื่อง heterotopia และ Third space และเป็นนักคิดนักวิชาการคือ Homi Bhaba ซึ่งได้พูดถึงเรื่อง hybrid space หรือพื้นที่พันทาง ซึ่งเขาใช้คำว่า in between space ก็คล้ายๆ กับ Ed Soja. สำหรับคำว่า in between หมายถึงระหว่าง 2 สิ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ระหว่างตรงไหน มันอาจจะระหว่างซ้าย ระหว่างขวา ระหว่างที่ไม่มีรูปร่างก็ได้ หมายความว่าไมมี outline ในการกำหนด demarcation หรือเส้นกรอบ/เส้นรอบนอก/เขตแดน

หลายๆ คนได้นำเอาแนวคิดเรื่องพื้นที่มาพัฒนาต่อ เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ และไปพูดในเรื่องราวการศึกษาอื่นๆ เช่นเรื่องการจัด landscape เรื่องการจัดสวน, botanical garden, botanical flora, อย่างที่เราพบเห็นกันอยู่ แม้กระทั่งเรื่องพื้นที่ของอนุสาวรีย์

คนสำคัญอีกคนหนึ่งก็คือ Tom Michel (W.J.T.) ซึ่งพูดถึงเรื่อง Landscape of the colonial, Landscape of Politics, Landscape of Space ที่บอกว่า landscape ก็คือกากเดนที่หลงเหลือของความคิดอาณานิคม คือเรานึกถึง landscape ที่เราจัดๆ กัน. ผมเคยเสนอผู้ว่าราชการคนหนึ่ง ซึ่งมีนโยบายที่จะทำสวนสาธารณะแห่งใหม่ ผมบอกว่า ท่านอย่าไปทำเลยประเภทปลูกต้นลีลาวดี, ปลูกต้นเหลืองปรีดียาธร, มาปลูกผักปลูกหญ้า, ปลูกกล้วย, ปลูกหอม, ให้กินได้ดีกว่า แล้วพวกพืชผักเหล่านี้ มันไม่ได้เป็นต้นไม้ยืนต้น สามารถปรับเปลี่ยนสับวางอย่างอื่นไปได้เรื่อยๆ แล้วปล่อยให้คนเข้ามาใช้ มาเก็บไปกิน จะได้เป็น heterotopia. แต่ผู้ว่าฯ ไม่เอาด้วย เพราะจะมาผัดผักบุ้งกินในสวนไมไหวแน่

โดยสรุป ในบรรยากาศที่พูดถึงเรื่องพื้นที่ในปัจจุบัน คือพื้นที่แบบการทับซ้อน การสลับปรับเปลี่ยนความหมาย ซึ่งเน้นน้ำหนักไปให้ agent หรือบุคคล ซึ่งยังพอมีที่ยืน. อ.ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งผมเคยไปหาที่บ้านที่วิสคอนซิน-เมดิสัน เมื่อสัก 4 ปีที่แล้ว ขณะนั้นอาจารย์กำลังเขียนหนังสือเรื่อง History from interstice หรือประวัติศาสตร์จากรอยแยก อาจารย์ก็เป็นฟูโกเดียนคนหนึ่ง ที่พูดถึงเรื่องความหมายของประวัติศาสตร์ ความหมายของ site of memory คือพื้นที่ของการจดจำ ที่เราเห็นเราทำงานในชุมชนทั้งหลายแหล่ ที่ถูกผลิต, ถูก reinvented หรือถูกสร้างสรรค์ใหม่ จากรอยแยกของโครงสร้างการจัดการ

ถ้าเราเชื่อว่าโครงสร้างของการจัดการของสังคมสมัยใหม่ จะทุนนิยมหรืออะไรก็ตาม ซึ่งเป็นเครื่องจักรตัวหนึ่ง ที่มันบริโภคทุกสิ่งรวมทั้งบริโภคตัวมันเองด้วย ทำให้ตัวมันเองใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การเจริญเติบโตที่มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นี้ มันมักจะมีรอยแยก มักจะมีน็อตที่มันหลุดอยู่เสมอ และเราสามารถใช้ประโยชน์จากรูน็อตที่มันหลุด และรอยแยกเหล่านี้ได้

ตอนที่ ๒ : Public space กับ Private space
คำว่า Public space กับ Private space เป็นแนวคิดแบบ dualism หรือทวินิยม ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าในชีวิตประจำวันเองก็ตาม หรือในภาคปฏิบัติของบุคคลเองก็ตาม เรามักจะเบลอหรือคลุมเครือกับลักษณะทวินิยมนี้ว่า อันไหนเป็น public space อันไหนเป็น private spce ไปแล้ว

ตัวอย่างที่ผมสนใจก็คือ จังหวะชีวิตในพื้นที่ของสังคมไทย ซึ่งมักจะได้ยินอยู่เสมอว่า"ไม่เป็นไร" หรือ"อะไรก็ได้" จังหวะชีวิตของการเดินบนท้องถนน เห็นว่าท้องถนนไทยไม่ค่อยราบเรียบนัก เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางมากมาย ไม่การยึดครองพื้นที่หน้าร้านรวงตามฟุตบาท ก็ร่องรูที่จะตกลงไปได้ หรือมีขี้หมาอะไรอื่นๆ อีกก็ตาม ดังนั้นเราจึงต้องปรับชีวิตในการเดินให้เข้ากับพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ

สังคมไทยเรามีความเข้าใจเรื่อง public space และ private space ที่สลับซับซ้อนกว่าสังคมตะวันตกมากทีเดียว และก็อย่างที่ว่า heterotopia ไม่ใช่อย่างที่ Foucault เป็นคนกำหนดขึ้น แต่มันมีอยู่ทุกที่ และสังคมไทยก็มีอย่างรุนแรงด้วย ถ้าบอกว่ามันเป็นข้อบกพร่องของเทศบาลที่ไม่ซ่อมฟุตบาทหรือถนนให้เรียบร้อย ทำให้เกิดสิ่งกีดขวางที่อาจเป็นอันตรายได้รวมทั้งการจราจร คนไทยก็ไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ เพราะคนไทยไม่ได้คิดถึงเรื่องของพื้นที่สาธารณะเสียเท่าไหร่เหมือนกับฝรั่ง คนไทยมักจะปรับจังหวะชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว ก็อย่างที่ว่า เปลี่ยนปลายถนนที่เป็นทางตันให้กลายเป็นสนามแบดมินตัน นั่นคือการเปลี่ยนความหมายของพื้นที่อย่างง่ายที่สุด

อีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแฟชั่น เรื่องดีไซน์ และผมสนใจเรื่องของการแต่งตัว หรือ mentality ของการแต่งตัวในบรรดาวัยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งมีบทความหนึ่งที่ผมเขียนไว้ว่า เราจะเห็นว่าทำไมวัยรุ่นปัจจุบันที่แต่งตัวกันแบบ beyond mix and match คือไม่สนใจสิ่งรอบๆ ข้าง ไม่สนใจว่าใครจะดูและสายตาที่จ้องมองจะพูดถึงตัวเองอย่างไร เพราะอะไร?

คำตอบก็คือ ก็เพราะไม่รู้สึกว่าเขาอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นในขณะที่เขาสวมใส่เสื้อผ้า เพราะเขากำลังใช้ชีวิตเชิงจินตนาการ ยกตัวอย่างเช่นพวก J-pop ร่วมกับสมาชิก J-pop คนอื่นๆ ในพื้นที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่แคร์สังคมไทย เขาไม่กังวลที่อยู่สวนจตุจักร์ หรือพ่อแม่จะกำลังมองดูก็ตาม อันนี้เขาอยู่อีกโลกหนึ่ง นี่คือการสร้างพื้นที่ทับซ้อน และพื้นที่ซับซ้อนขึ้นมาของบุคคลในพื้นที่สาธารณะ อันนี้ผมเห็นว่ามันไม่มีการแบ่งแยกที่ชัดเจนในเรื่อง private หรือ public อย่างนั้นอีกแล้ว

อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเราบอกว่า public space เป็นพื้นที่ของปัญหา และหน้าที่ของศิลปินหรือนักคิดก็คือเข้าไป intervene หรือแทรกแซงมัน เพื่อจุดประเด็นให้คนคิดถึง, ซึ่งเดี๋ยวผมจะพูดถึงเรื่อง Performance art ที่เป็น Art performance กับ routine everyday life performance ซึ่งมีข้อแตกต่างกัน, ตัวอย่างนั้นคือ Graffiti อันนี้ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่งทำเรื่อง Graffiti ประวัติศาสตร์ แนวคิด และเรื่อง Graffiti และสำนึกของนักสเปรย์ Graffiti แบบไทยๆ

ตอนหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า Graffiti ซึ่งมันเกิดขึ้นบนพื้นที่สาธารณะ เกิดขึ้นเพราะอะไร? คำตอบคือเพราะคิดว่าสาธารณะคือศัตรู สาธารณะก็คือ…ไม่รู้ล่ะว่าใครจ่ายภาษีก็แล้วแต่ แต่ภาษีคือสัญลักษณ์ของทุน, สัญลักษณ์ของการจัดการโดยรัฐ เพราะฉะนั้นพวก Graffiti จึงเข้าไปทำลายสมบัติสาธารณะเหล่านี้

Graffiti จะไม่ทำลายบ้านตัวเอง จะไม่ทำลายที่พักอาศัยของพวก homeless แต่จะไปดูว่าตรงไหนเป็นสมบัติของรัฐ หรือสมบัติของชนชั้นกลาง พวกเขาก็จะไปพ่นทันที นั่นคือสำนึกของ Graffiti ในตอนต้นๆ แต่หลังๆ มา นักพ่น Graffiti ไม่ได้มีสำนึกเหล่านั้นอีกแล้ว คือการเข้าไปแทรกแซงหรือทำให้ประเด็นของพื้นที่สาธารณะถูกพูดถึง ซึ่งขาดกิจกรรมหรือสำนึกตรงนั้น

Graffiti กลายเป็นงาน routine ไม่มีความหมายอีกต่อไป ปัจจุบันมีการประกวดกัน มีการสอนกันว่าจะพ่นสเปรย์อย่างไร อุปกรณ์ในการพ่น Graffiti ก็มีมากและซับซ้อนขึ้น ทำให้ Graffiti มันดูสวยขึ้นโดยปราศจากความหมายอยู่ภายใน แล้วเราลองตั้งคำถามกันว่า performance art ในเวลาปัจจุบัน อยู่ในสถานะเดียวกันกับ Graffiti ที่พูดถึงหรือไม่

ในส่วนที่สอง คือที่บอกว่า performance ที่ผมเห็นว่ามีความหมายที่แตกต่างกันระหว่าง everyday life performance โดยคนธรรมดาสามัญที่เขาเน้นภาคปฏิบัติการของการใช้ชีวิต มากกว่าการสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ ที่มันเป็น art performance เพราะตรงนั้น art performance ก็คล้ายๆ กับ Graffiti คือไปสร้างระบบสัญลักษณ์ที่คิดว่ามันเป็น time bomb หรือระเบิดเวลา ที่จะเข้าไปจุดประเด็นให้ผู้คนสำนึก ร่วมพูดคุยกับปัญหาของพื้นที่สาธารณะ

ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ปัจจุบันมันไม่เหลือสำนึกเช่นนั้นอีกต่อไป แต่ที่มันเป็น everyday life performance เขาไม่ได้เน้นว่าเขาจะสร้างสัญลักษณ์อะไร แน่นอนทีเดียว สิ่งที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา มันประกอบด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น เขาเอาสติกเกอร์ของพรรคไทยรักไทยในช่วงหาเสียงที่เหลืออยู่ มาปะปิดรูเบาะรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า อันนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ แต่เขาไม่ได้คิดถึงความหมายเชิงสัญลักษณ์มากเท่ากับประโยชน์ที่ได้จากภาคปฏิบัติการ ซึ่งผมเห็นว่าตรงนี้มีความต่างกัน

ขอทิ้งประเด็นไว้ตรงนี้ก่อน เพื่อให้ศิลปิน performance ช่วยตอบว่า บทบาทของ performance และปฏิบัติการของ performance ควรจะเป็นอะไร?

ตอนที่ ๓ : Rambutan Society
ผมเคยไปทำงานกับพื้นที่สาธารณะ ที่เป็น performance ไปทำกับคนอื่น โดยตัวศิลปินไม่ค่อยได้ทำ ไปร่วมงานกับพี่ฤกษ์ฤิทธิ์ที่นิวยอร์ค แถวควีนซึ่งอยู่นอก area แมนฮัตตัน. Project ที่ทำก็คือ Rambutan society. แถวๆ ควีนนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วยคนชายขอบ หรือคนที่มีชาติพันธุ์ถึง 1200 ชุมชน จากหัวถนนถึงหัวถนน มีความหลากหลายเชิงชาติพันธุ์สูงมาก เราได้ลงพื้นที่ไปสำรวจดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ได้คุยกับพี่ฤกษ์ฤิทธิ์ ซึ่งบอกว่าจะฉายหนังกลางแปลง และก็มี idea เรื่อง Rambutan society

เสร็จแล้วก็นำมาสู่แนวคิดที่จะทำงาน โดยเราจะไปปิดสี่แยกไฟแดงในควีน เพื่อฉายหนัง 4 จอ ในคืนเดียวกัน แต่ก่อนที่จะฉายหนังเราก็ไปสำรวจชุมชน ไปสัมภาษณ์คนในชุมชนซึ่งจะมี background, ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ถามเขาว่าเขาอย่างดูหนังเรื่องอะไร แล้วหนังเรื่องนั้นจากประเทศของตนเอง ที่สามารถแชร์ความรู้สึก หรือเล่าถึงอัตลักษณ์ของตัวเองในโลกใหม่ได้ อันนี้ได้มีการทำโพล์ขึ้นมา โดยมีการจัดลำดับหนังที่ถูกผลิตขึ้นมาจาก 4 ชุมชน แล้วจะจัดฉาย 4 อาทิตย์ โดยจะปิดการจราจร 4 ครั้งใน 1 เดือน แต่ละอาทิตย์ก็จะฉายหนัง 4 เรื่องจาก 4 ชุมชน เวลาดูหนังก็มีการเปิดเงาะกระป๋องบริการ แล้วเรียกมันว่า Rambutan society

คือการทำงานนี้ สนับสนุนโดยเทศบาลนิวยอร์ค โดยการจัดการของหอศิลป์ควีน คือเราจะใช้วิธีคิดแบบนี้ เพื่อแยกและแย่งพื้นที่ออกไปจากชีวิตทางสังคมของคนต่างๆ เช่น พื้นที่ของการจราจร 365 วัน โดยจะปิดไฟแดงนี้ 4 ครั้ง เพื่อคืนพื้นที่ให้กับสาธารณะ แต่เป็นการปิดโดยฉันทามติที่มีการตกลงกันเอง ด้วยการที่ชุมชนตกลงกันเองว่าจะใช้ประโยชน์อะไร จะดูหนังเรื่องอะไร โดยที่ศิลปินถอยตัวเองออกมา. นี่ก็คือการใช้เงินของรัฐ, ใช้เงินภาษีเทศบาล และการจัดการของโครงสร้างสถาบันมาตรฐานก็คือหอศิลป์ควีน โดยเอามันมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เอามันมาใช้อย่างไร้ประโยชน์ คือตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อจะจะละลายโครงสร้างของมันเอง

ทีนี้ถามว่ามันเป็น performance หรือเปล่า ก็ไม่ได้เป็น performance ตรงๆ แต่เป็นสถานการณ์ แล้วเราปล่อยให้คนอื่นเขาทำ โดยที่ subject ซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นคนตัดสินใจเอง อันนี้น่าจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมพูดมาได้ เกี่ยวกับหน้าที่และบทบาทของศิลปินในการพูดถึงเรื่องของ public space การเข้าไปแทรกแซง public space มันควรจะอยู่บนน้ำหนักข้างไหน ระหว่างการที่ศิลปินเข้าไปทำงาน หรือทำให้ชุมชนสำนึกรู้ว่าตนเองอยู่ภายใต้โครงสร้างอะไร แล้วเขาสร้างสรรค์ performance ของเขาเอง

+++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) cardinal number หมายถึงตัวเลขสำหรับนับจำนวน เช่น 1-2-3-4-5 เป็นต้น ซึ่งตรงข้ามกับ ordinal number ที่เป็นเลขสำหรับนับตำแหน่ง เช่น ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 เป็นต้น

(2) Asiatopia คือ เทศกาลงานศิลปะ และศิลปะเกี่ยวกับการแสดง (performance art) ซึ่งจัดขึ้นทุกปีโดยศิลปินเอเชีย ซึ่งได้มารวมตัวกันเพื่อทำงานศิลปะกับสังคม เป็นโครงงานความคิดที่เชื่อมโยงระหว่างศิลปะ สถานการณ์ การแสดง และสังคมเข้าด้วยกัน (สำหรับปีนี้เป็นงานเอเชียโธเปีย ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2549)

(3) Heterotopia ตามความหมายพจนานุกรมหมายถึง การเข้าแทนที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งจากสถานะหรือตำแหน่งปรกติของมัน

ในงานของ Foucault เรื่อง "Different Spaces" (reprinted in Aesthetics, Method, and Epistemology) เขาสังเกตว่า ผู้คนในสังคมเทคโนโลยีทั้งหลาย ได้เคลื่อนย้ายไปสู่พื้นที่ซึ่งไม่มีการกำหนดนิยามที่เรียกว่า heterotopia ซึ่งตามตัวหนังสือหมายถึง"พื้นที่อื่นๆ"(other space). พื้นที่เหล่านี้เป็นทั้งพื้นที่จริงและพื้นที่เสมือน(จินตนาการ) ตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่เสียงกริ่งโทรศัพท์ดังขึ้น หรือในพื้นที่ข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิตอลที่เรียกกันว่า"ไซเบอร์สเปซ"

Definitions of Heterotopia
- the displacement of part of an organ from its normal position
www.proteus-uk.org/glossary.html

- In his essay, "Different Spaces" (reprinted in Aesthetics, Method, and Epistemology), Michel Foucault observed that people in advanced technological societies would increasingly move into indeterminate spaces called "heterotopias," which literally means "other spaces." These spaces are both real and imagined, such as the space where a phone call takes place, or within the informational sphere that has also been labeled "cyberspace."
en.wikipedia.org/wiki/Heterotopia


 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

In his essay, "Different Spaces" (reprinted in Aesthetics, Method, and Epistemology), Michel Foucault observed that people in advanced technological societies would increasingly move into indeterminate spaces called "heterotopias," which literally means "other spaces." These spaces are both real and imagined, such as the space where a phone call takes place, or within the informational sphere that has also been labeled "cyberspace." (en.wikipedia.org/wiki/Heterotopia)

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น