บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๕๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙
31-10-2549



Crisis of Humanities
The Midnight University

การประชุมทางวิชาการมนุษยศาสตร์
ในวิกฤตมนุษยศาสตร์ : ความเป็นชาติ โลกของตลาด และความรู้สึก
โครงการวิจัยวิกฤตมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์
โดยการสนับสนุนของ สกว.

บทความถอดเทปต่อจากนี้ไป จะเป็นการไล่เลียงเนื้อหาในการสัมนาในหัวข้อ
วิกฤตมนุษยศาสตร์
: ความเป็นชาติ โลกของตลาด และความรู้สึก
โดยในส่วนแรกของบทความถอดเทปนี้ เป็นปาฐกถานำของ
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ - นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งจะได้กล่าวถึงภาพของความเป็นมา และแนะนำรายการสัมนาที่จัดขึ้นเมื่อ
วันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
ที่บ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1055
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)

 

ในวิกฤตมนุษยศาสตร์ : ความเป็นชาติ โลกของตลาด และความรู้สึก
โครงการวิจัยวิกฤตมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของ สกว.
วันที่ ๒๔ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
จัดขึ้น ณ ราชาวดีรีสอร์ท (ที่บ้านกรูด) ตำบลธงชัย
อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : กล่าวนำ
เช้านี้ของการประชุมกันทางวิชาการจะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์จะเป็นองค์ปาฐกนำ และหลังจากนั้นจะเป็นเวทีทางวิชาการโดยการนำพูดคุยจะแบ่งออกเป็น ๒ ท่านคือ คนแรกคือ ดร.เกษียร เตชะพีระ (จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งจะมาเสนอเรื่อง "วิกฤตสังคมศาสตร์" และหลังจากนั้น รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ (จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จะมานำเสนอเรื่อง "ความเป็นไทยและวิกฤตมนุษยศาสตร์ อันนี้คือทั้งหมดของครึ่งเช้าที่เราจะสนทนากัน

ในตอนช่วงบ่าย อ.ชัชวาล ปุญปัน (ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จะเป็นผู้นำสนทนา โดยจะทำในลักษณะเป็นเวทีเปิด และจะได้มีการพูดถึงการสร้างสรรค์ทางด้านมนุษยศาสตร์กับตลาด ซึ่งพวกเราทั้งหมดในที่ประชุมนี้จะเป็นวิทยากร (มีนักวิชาการร่วมประชุมประมาณ 25-30 คน) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ในระหว่างการประชุมทางวิชาการกันคราวนี้ จะได้มีการนำเสนอภาพการ์ตูนของ อ.วัลลภ แม่นยำ(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงมุมมองของศิลปินนักเขียนการ์ตูนว่า มองวิกฤตมนุษยศาสตร์ในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างไร
เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ขอเรียนเชิญท่าน อ.นิธิ ครับ

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปาฐกถานำ
สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนอื่นผมขอแจ้งให้ที่ประชุมนี้ทราบว่า ไม่มีการประชุมอะไรในโลกนี้ที่ไม่เป็นการเมือง. ผมรับอาสาที่จะมาทำงานที่ผมชอบมากคือ การกล่าวปาฐกถานำเพราะว่า จะไม่มีใครมีสิทธิซักถาม คัดค้านอะไรทั้งสิ้นหลังจากที่ผมพูดเสร็จแล้ว เท่ากับพูดอะไรก็ได้

ขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงมนุษยศาสตร์ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว จริงๆ เราไม่ได้หมายความถึงกลุ่มวิชาที่มีเนื้อหาว่าอะไร แต่เรากำลังหมายถึงตัววิธีคิดมากกว่ากลุ่มวิชา ซึ่งสรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ การพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยอาศัยแง่มุมคุณค่าที่มนุษย์ยึดถือเป็นวิธีการศึกษาพิจารณา

แน่นอน อันนี้ย่อมไม่ตรงกันกับวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือว่า เราจะพบว่ามันไม่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนิยม หรือพาณิชยนิยมโดยตรง ยกเว้นแต่เพียงบางเรื่อง เช่นเป็นต้นว่าเราสามารถเอาตัวความรู้เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์มาทำเป็นสินค้าก็ได้ หรือที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ตัดตอนเอามาเฉพาะบางส่วนเพื่อมาส่งเสริมการขาย ซึ่งก็ทำกันอยู่มากมาย ในขณะที่ละทิ้งคุณค่าอื่นๆ ที่มนุษย์ยึดถือ หรือที่เป็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไปหมด เหลือแต่เฉพาะส่วนที่เราจะสามารถส่งเสริมการขาย หรือเหลือเพียงส่วนที่เราจะนำมาทำเป็นสินค้าได้เท่านั้น

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของมนุษยศาสตร์ คุณค่าที่มนุษย์ยึดถือหรือคุณค่าความเป็นมนุษย์มันถูกกระทำ ๒ อย่างคือ

อย่างแรก มันถูกทำให้ไร้ความหมายเสียแล้วในโลกปัจจุบัน เพราะว่าเราอยู่ในโลกที่เป็นอุตสาหกรรมนิยม และพาณิชยนิยมอย่างรุนแรงเข้มข้นมาก

อย่างที่สอง ในทางวิชาการมันถูกเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า สิ่งที่มนุษย์ยึดถือก็ตาม สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นคุณค่าของมนุษย์ก็ตาม จริงๆ แล้วมันเป็นแค่เครื่องมือสำหรับการนำทางอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำทางอำนาจวัฒนธรรมที่เราเชื่อว่ามันเป็นฐานของวิชามนุษยศาสตร์

ในโลกปัจจุบัน อันที่หนึ่งมันไร้ความหมาย อันที่สองเริ่มถูกตั้งข้อสงสัยว่า มันเป็นคุณค่าของมนุษย์จริงหรือ หรือเป็นเพียงเครื่องมือทางอำนาจเท่านั้น

ในการสัมนาครั้งนี้ท่ามกลางทะเลสวย อาหารอร่อย เราไม่มีความพยายามที่จะตอบปัญหาที่ผมยกขึ้นมานี้ เพราะเราทำอย่างอื่นที่สนุกกว่านั้นดีกว่า จึงไม่คิดว่าจะตอบปัญหาดังกล่าวโดยตรง แต่ถามว่าทางออกของวิชามนุษยศาสตร์หรือการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์คืออะไร? เท่าที่นึกออกผมคิดว่ามันมีทางออกอยู่ ๓ ทางด้วยกัน

๑. การศึกษาแบบนี้มันหมดบทบาทหน้าที่ของมันไปแล้ว สำหรับคนซึ่งเรียนมาทางด้านนี้ให้ปลอบใจตัวเองว่า มันมีศาสตร์ในโลกนี้เป็นร้อยๆ ศาสตร์ ที่หมดบทบาทลงไปแล้วและไม่มีใครศึกษาอีก เช่นเป็นต้นว่า การศึกษาการทำนายจากกระดองเต่า ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยมีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมโบราณของจีน แต่ไม่มีใครเขาศึกษากันอีกแล้วเป็นต้น ดังนั้นมันจึงเป็นเหมือนเช่นศาสตร์โบราณทั้งหลายที่วันหนึ่งมันได้หมดอายุของมันไปเอง

๒. ตัวมนุษยศาสตร์มันอาจจะปรับเปลี่ยนไปเพื่อรับใช้เป้าหมายอื่นก็ได้ คือเป้าหมายเดิมทางด้านมนุษยศาสตร์ที่เขาสอนๆ กันหรือเรียนๆ กันมา เขาบอกว่ามันช่วยสร้างพลเมือง มีการสร้างคณะศิลปศาสตร์ขึ้นมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะว่ามันช่วยสร้างพลเมืองที่ดี หรือมิฉะนั้นก็สร้างมนุษย์ที่สามารถมีสมรรถภาพในการเสพสิ่งดีๆ ได้ หรือเอามันไปใช้ในการส่งเสริมหลักธรรมทางศาสนา หรือเอาไปสร้างนักปราชญ์ที่สามารถจะมองฝ่ามายาต่างๆ ของโลกไปได้

อะไรก็แล้วแต่ อันนี้เป็นเป้าหมายเดิม ก็ปรับเปลี่ยนมันเสียเพราะเป้าหมายทั้งหลายเหล่านี้มันไร้ความหมายไปแล้วในโลกปัจจุบัน โดยปรับเปลี่ยนไปให้มันรับใช้สิ่งที่มันมีความสำคัญหรือสิ่งจำเป็นที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน เช่นเป็นต้นว่า ใช้มันเพื่อส่งเสริมการตลาด เป็นต้น และในแง่หนึ่งเวลาเขาสอนวิชาการตลาดในทุกวันนี้ เขาก็ใช้ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ส่วนหนึ่งไปเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการตลาดก็ได้ หรือเราไปสร้างพลเมืองซึ่งไม่ใช่พลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นพลเมืองของโลกในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ก็ได้ อันนี้ก็คือความเป็นไปได้ในหนทางที่สองของ
วิชาทางด้านมนุษยศาสตร์

๓. ถ้าเราสงสัยหรือเราไม่เชื่อในคุณค่าของความเป็นมนุษย์อีกแล้ว เราก็สามารถศึกษามนุษยศาสตร์เพื่อให้รู้เท่าทันการครอบงำ คือใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือ แทนที่เราจะตกไปเป็นเหยื่อของการครอบงำ ก็ศึกษามนุษยศาสตร์เพื่อจะรู้เท่าทันว่า ใครกำลังครอบงำอะไรเราอยู่ก็ได้

คิดว่าทางออกหรือทางที่จะเป็นไปได้ในอนาคตของมนุษยศาสตร์ ดูประหนึ่งว่ามันเหลืออยู่ ๓ ทางดังกล่าวนี้

อย่างที่บอกไปแล้วว่าการสัมนาท่ามกลางทะเลสวยและอาหารอร่อยนี้ เราจะไม่พยายามที่จะตอบคำถามอะไรที่มันยุ่งยากจนเกินไปนัก แต่ว่าในการสัมนาครั้งนี้ เราอยากจะหยิบเอาความเปลี่ยนแปลงบางอย่างซึ่งค่อนข้างเป็นรูปธรรม เห็นได้ชัด ที่กระทบต่อการศึกษาทางด้านมนุษย์ศาสตร์ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ว่า มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ที่คนซึ่งศึกษามนุษยศาสตร์จะต้องตระหนักรู้และมีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ เราจะหยิบสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาดู

โดยการหยิบขึ้นมาแล้วในตัวของมันก็ไม่ได้มีคำตอบอยู่เหมือนกัน เพราะผู้ที่นำเสนอปัญหาเหล่านี้ ก็จะไม่เสนอคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่หยิบมันขึ้นมาให้ดูอย่างย่อๆ เพื่อว่าพวกเราทุกคนจะได้มาร่วมเสวนากัน หรือเพิ่มปัญหาให้มันหนักขึ้นไปอีกก็ได้ ลดปัญหาให้มันเบาลงก็ได้ หรือเสนอคำตอบก็ได้ รวมความแล้วทำอะไรก็ได้ทั้งสิ้น

ขอให้เป็นการประชุมทางวิชาการกันอย่างหลวมๆ สบายๆ และคิดว่าการที่ท่านทั้งหลายออกความเห็น โต้แย้งกันทั้งหมดเหล่านี้ จะมีการบันทึกเทปเอาไว้ ซึ่งจะมีประโยชน์เสียยิ่งกว่าคำตอบสำเร็จรูปอันใดอันหนึ่งที่ผู้นำเสนออาจจะเสนอขึ้นมา

เรื่องแรกสุดที่เราอยากจะนำมาพิจารณาก็คือเรื่อง"ชาติ"
ในท่ามกลางโลกโลกาภิวัตน์ "ชาติ"มันเปลี่ยนแน่ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวมนุษยศาสตร์ไทย สมัยหนึ่งจะเกี่ยวโยงกับชาติมาก สมัยหนึ่งรู้สึกว่ามันขาดไม่ได้เลย ผมจบอักษรศาสตร์จุฬาฯมาจำได้ว่า เขาจะสอนให้ผมรู้สึกว่า ภาระหน้าที่ของผมคือการผดุงความเป็นไทยเอาไว้เลย ไม่มีพวกอักษรศาสตร์เสียอย่างความเป็นไทยดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจะสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับความเป็นชาติมาก เมื่อไรที่เราพูดถึงมนุษยศาสตร์ ต้องนึกถึงเรื่องนี้ว่า "ชาติ"ที่เราใช้ๆ กันมา ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่อย่างที่ครั้งหนึ่งคณะอักษรศาสตร์คิดว่ากำลังทำหน้าที่อยู่ วันนี้ไม่ใช่แล้ว

ความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ สมัยหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องมือการสร้างและจรรโลงชาติเอาไว้ ถูกยกย่องว่าเป็นจิตวิญญานของชาติ อะไรต่างๆ นาๆ เหล่านี้ แต่แนวคิดเรื่องชาติ แม้แต่ชาติไทยซึ่งถูกทำรัฐประหารไปแล้ว(เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) ก็กำลังเปลี่ยน อันที่จริงได้เปลี่ยนไปมากแล้วด้วยซ้ำไป

เช่นเป็นต้นว่า เมื่อสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ ความเป็นชาติไทยหรือความเป็นไทย ไม่ได้เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นเลยกับประชาธิปไตย แต่ในโลกปัจจุบัน ณ นาทีนี้ ผมคิดว่าไม่มีใครสามารถพูดถึงเรื่องความรักชาติ หรือพูดถึงชาติไทยโดยไม่แตะต้องกับเรื่องประชาธิปไตยได้ ไม่แตะต้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ ไม่แตะต้องกับเรื่องสิทธิสตรีได้

ทั้งหมดเหล่านี้ในสมัยที่ผมเรียนไม่มีใครพูดถึง เช่น เสรีนิยม อะไรก็แล้วแต่ คุณหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไม่พ้นแล้ว ความเป็นเชาติไม่ใช่เพียงแต่เป็นเรื่องของบรรพบุรุษหลั่งเลือดมา เป็นเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ไม่ใช่… อย่างไรๆ คุณก็หนีสิ่งเหล่านี้ไม่พ้นที่จะพูดถึงความเป็นชาติไทย เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจะพูดถึงขุนช้าง ขุนแผน อย่างไร? เราจะพูดถึงอิเหนาอย่างไร? จะพูดถึงสุนทรภู่อย่างไร? ในท่ามกลางชาติที่มันเปลี่ยนไปแล้วอย่างปัจจุบันนี้

ในขณะเดียวกันรัฐชาติก็กำลังเปลี่ยนบทบาท หรือลดบทบาทไปในสภาพของโลกที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้ด้วย ฉะนั้นมนุษยศาสตร์ในชาติแบบใหม่หรือแบบโลกาภิวัตน์นี้ มันคืออะไร เป็นมนุษยศาสตร์ของมนุษย์ทั้งโลกนี้หมด หรือของคนไทยแต่เพียงอย่างเดียว มันก็น่าสงสัยว่าเราอยากจะให้ลูกของเราได้อ่านเชคสเปียร์ หรือเกอเธ่ดี หรือว่ายังอ่านขุนช้าง ขุนแผนดี เข้าใจไหมครับ จะอ่านไปทำไมเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ถ้าเราเชื่อว่าเช็คสเปียร์มันมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มันเป็นสากล ที่มันต้องไปเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ เขา

เวลานี้ถ้าคุณอ่านขุนช้าง ขุนแผน มากๆ ก็ไม่รู้จะไปคุยกับใคร เพราะว่าไม่มีใครเขาอ่านแล้ว ไม่รู้จะไปพูดกับใครด้วยซ้ำไป ปัญหาก็คือว่าถ้าเรามองจากเรื่องปัญหาของ"ชาติ" มันมีปัญหาที่น่าคิดมาก ซึ่งต่อไปอีกสักครู่ อ.เกษียร และ อ.สายชล จะมาพูดถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงของชาติ ไม่ว่าจะในเรื่องของชาติไทยหรือชาติในความหมายกว้างๆ

โลกของตลาด
อีกอันหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญในโลกยุคปัจจุบันค่อนข้างมาก และเข้ามาท้าทายมนุษยศาสตร์ค่อนข้างมากก็คือ"ตลาด" จริงๆ มนุษยศาสตร์ หรือการสร้างสรรค์ทางด้านมนุษยศาสตร์ มันมีเสี่ยอยู่ข้างหลังเสมอ สมัยหนึ่งอาจจะมีวัง มีวัด อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นผู้ควักกระเป๋าให้แก่การสร้างสรรค์ทางด้านมนุษยศาสตร์ ปัจจุบันพวกเสี่ยเหล่านั้นไม่มีบทบาทในการสนับสนุนอีกต่อไปแล้ว แต่คนที่เข้ามาแทนที่คือตลาด ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เหมือนกับพวกเสี่ยเหล่านั้นเลย

"ตลาด"คืออะไร? ผมเองก็พูดถึงมันได้ค่อนข้างยาก แน่นอนมันไม่ใช่สุกุมารชาติแบบวัง มันไม่มีอุดมการณ์ทางศาสนาที่ชัดเจน มันมีอุดมการณ์แน่ แต่มันมีความหลากหลายมาก และมันเป็นผู้สนับสนุนการสร้างศิลปะและปรัชญาจนเกือบจะพูดได้ว่า เป็นอยู่รายเดียว ร้ายยิ่งไปกว่านั้นมันเป็นทรราชด้วย ผมก็ไม่รู้ว่าวังกับวัดเป็นทรราชหรือเปล่า แต่ตลาดเป็นทรราชด้วย ทำไม่มันถึงเป็นทรราช

เพราะว่า มันลดอำนาจของผู้บริโภคลง ในขณะที่มันเป็นผู้ให้การสนับสนุน มันลดอำนาจของผู้บริโภคลงไปมากทีเดียว การสร้างสรรค์ทั้งหลายถูกกำหนดขึ้นจากพ่อค้า เพื่อจะทำให้มันประหยัดต้นทุน เพื่อจะทำให้มันเกิดผลตอบแทนทันกับดอกเบี้ยธนาคารก็ตาม เพื่อจะได้ผูกขาดเป็นผู้ขายแต่รายเดียวก็ตาม ฉะนั้นทุกท่านในที่นี้คงเคยได้ยินเกี่ยวกับการแต่งเพลงในโลกยุคปัจจุบันนี้ว่า ที่แกรมมีและ RS เขาทำกันอย่างไร

เห็นชัดเจนเลยว่ามันไม่ใช่การแต่งเพลง เรียกว่าหรือจัดว่าตลาดจะซื้ออะไรกันแน่ เขาบอกว่าท่อน hook หรือท่อนที่มันจะฮิตติดหูเรา ใช้เวลาเถียงกันเป็นวันๆ ว่ามันจะ hook ได้จริงหรือเปล่า อันนี้สำคัญกว่าว่ามันสร้างความไพเราะหรือเปล่า อันนี้เป็นตัวอย่างซึ่งค่อนข้างหยาบคายที่สุดเท่าที่ผมนึกออก

เพราะฉะนั้น มันจึงทำให้สิ่งที่เป็นการสร้างสรรค์ทางด้านมนุษยศาสตร์ มันเหลืออยู่ภายใต้ทรราชของตลาด สิ่งที่เราเคยเชื่อว่าเป็นสิ่งซึ่งดีเลิศหนักหนา จะเป็นวรรณคดีไทย เพลงไทย การฟ้อนรำแบบไทยหรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดเหล่านี้มันเหลือแต่ตลาดที่เป็นตลาดเฉพาะ(niche market) คือนักท่องเที่ยว เอาไปรำ เอาไปเล่นให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ดู ซึ่งอยู่รอดได้ หายใจได้ แต่สร้างสรรค์ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะว่าตลาดมันเล็กเกินไป ผู้อุปถัมภ์มันเล็กเกินไปจนกว่าที่จะสนับสนุนการสร้างสรรค์ได้

อันนี้ก็จะไม่มีใครเป็นผู้เสนอ แต่จะมีอ.ชัชวาล ปุญปัน ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ที่เป็นคนประหลาดอยู่สักหน่อย คือชอบเล่นดนตรีไทย ชอบฟังเพลงคลาสสิก อ่านวรรณคดีไทย ชอบทะเลาะกับคนที่มีอำนาจมากๆ ผมก็ไม่รู้ว่าแกยังมีความรู้เรื่องฟิสิกส์เหลืออยู่หรือเปล่า แกจะเป็นคนมานำการอภิปราย เพื่อจะมากระตุ้นให้พวกเราออกความเห็น อะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการท้าทายการสร้างสรรค์มนุษยศาสตร์ ซึ่งมันค่อนข้างใหญ่ในยุคปัจจุบัน และเราน่าจะคุยกันในเรื่องนี้

ความรู้สึก-ความรู้
สำหรับในวันพรุ่งนี้ เราจะมาสู่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งคิดว่ามีความสำคัญอีกในโลกยุคปัจจุบัน คือ ขอสรุปง่ายๆ ว่า ความรู้หรือความจริงทางด้านมนุษยศาสตร์ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความรู้สึก มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากประจักษ์พยาน หรือตรรกะที่ชัดเจนในกระบวนการค้นหาความรู้ แต่มันเป็นเรื่องของความรู้สึก

แต่ความรู้สึก แม้แต่มนุษย์โบราณก็ตามแต่ คนไทยโบราณก็ตามแต่ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ได้เป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นมาโดยการกำกับเลย ยังไงเสียก็มีการกำกับ จะมากจะน้อยจะโดยตรงหรืออะไรก็ตามแต่ มันมีการกำกับอยู่ ยากมากสำหรับคนที่เป็นมหาเปรียญ ๙ ประโยคสึกออกมาแล้ว จะมารู้สึกว่ามันมีพระเจ้าแบบชาวคริสเตียน อันนี้ก็ถูกกำกับโดยปรัชญาพระพุทธศาสนาให้มองโลก หรือมีความรู้สึกต่อโลกในแนวทางที่พระพุทธศาสนาได้สอนเอาไว้ เพราะฉะนั้นไม่ได้ปฏิเสธว่าความรู้สึกก็ถูกกำกับ

แต่สิ่งที่อยากจะชวนให้พวกเราคุยกันก็คือว่า เงื่อนไขที่กำกับความรู้สึกในโลกปัจจุบันนี้ ผมคิดว่ามันสลับซับซ้อนกว่าแต่ก่อนนี้มาก อันนี้จะจริงหรือเปล่าไม่ทราบแต่เป็น premise ของผมเอง คือคิดว่ามันมีความสลับซับซ้อนกว่าแต่ก่อนนี้มาก ฉะนั้นมันจึงมีสมรรถภาพในการกำกับควบคุมความรู้สึกมากกว่าสมัยก่อนนี้เยอะแยะ ถึงอย่างไรสมัยก่อนขอย้ำอีกครั้งว่า มันก็ไม่ใช่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบุคคล มันมีมิติทางสังคมที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกเสมอ แต่ในปัจจุบันนี้มิติทางสังคม มันถูกทำให้มีสมมรถภาพมากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น

เราจึงน่าเข้าไปตรวจสอบพลังอำนาจของเงื่อนไขที่เข้ามากำหนด หรือเข้ามากำกับความรู้สึกของคนในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการที่เราจะใช้มันในการสร้างความจริงทางด้านมนุษยศาสตร์ หรือสร้างความรู้ในทางมนุษยศาสตร์ขึ้น รวมไปถึงกระบวนการที่ทำให้ความรู้สึกเกิดขึ้นในบุคคลต่างๆ ในโลกปัจจุบันนี้

เราจะมีคนที่มาชวนคุย ๓ ท่าน สำหรับ ๒ ท่านแรกคือ อ.สมเกียรติ ก็จะมาชวนคุยเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา(visual culture) เพื่อที่จะมาชวนให้เราดูว่า สิ่งที่เราพบเห็นไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม อะไรก็แล้วแต่ ตัวมันเองก็ถูกกำกับมาจากอะไร และตัวมันเองก็เข้ามากำกับความรู้สึกของคนที่ไปเห็นมันอีกทีอย่างไร ทำนองอย่างนี้

อีกคนหนึ่งคืออ.ชูศักดิ์ ซึ่งจะหยิบเอาวรรณกรรมบางอย่าง แล้วนำมาวิเคราะห์ให้เห็นว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับวรรณกรรมเหล่านั้น มันถูกกำกับ ถูกควบคุม มันมีมิติทางสังคมของความรู้สึกต่อวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างไร

ทีนี้ในท่ามกลางการกำกับที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนเช่นนี้ ก็มีบางคนที่เขาอยากจะหลุดออกไปจากการกำกับอันนี้ ไม่ใช่หลุดออกไปจากการกำกับโดยสิ้นเชิง แต่หลุดออกไปจากการกำกับของเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนและมีสมรรถภาพของโลกปัจจุบัน คนนั้นคือ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ซึ่งได้ทดลองเดินโดยไม่ใช้สตางค์สักแดงเดียว จากเชียงใหม่กลับลงมาที่บ้านเกิดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี อันนี้ก็อยากให้ท่านมาคุยให้พวกเราฟังว่า ท่านรู้สึกอะไรเมื่อได้หลุดออกไปจากตลาด หลุดออกไปจากทุน หลุดออกไปจากทั้งหมดนี้ แล้วเดินมันคนเดียว มันได้ก่อให้เกิดความรู้สึกอะไร

ความรู้สึกที่ว่านี้ จริงๆ ก็เป็นความรู้สึกที่ถูกกำกับ แต่ย้อนกลับไปเป็นการกำกับของสมัยโบราณ หรือของพระพุทธศาสนาแทน อันนี้เป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน เรื่องของการสร้างความจริง สร้างความรู้จากความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึกซึ่งไม่ถูกกำกับจากเงื่อนไขของโลกปัจจุบันนี้ ตอนนี้อาจารย์ประมวลยังเดินมาไม่ถึงนะครับ แต่อย่างไรก็แล้วแต่พรุ่งนี้ก็คงมาถึงก็จะได้เข้ามาร่วมในวงสนทนานี้

ขณะเดียวกัน เราโชคดีที่มีศิลปินการ์ตูนอยู่ท่านหนึ่ง ท่านได้ทำงานวาดภาพการ์ตูน ออกแบบปกหนังสือมาเกือบตลอดชีวิตท่าน เราได้ขอให้ท่านช่วยทำ ๒ อย่าง อย่างที่หนึ่ง, คือท่านมีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับวิกฤตมนุษยศาสตร์ แล้วท่านจะสะท้อนมันออกมาอย่างไร ซึ่งคิดว่าในหลายภาพด้วยกันที่เราเห็นอยู่นี้ (ในขณะที่ดำเนินการประชุม ได้มีการฉายภาพการ์ตูนของ อ.วัลลภ แม่นยำ พร้อมกันไปด้วย) ไม่ยักจะเหมือนเรา ซึ่งก็ดีเพราะจะชี้ให้เห็นว่า ตัววิชาหรือความรู้ความจริงทางด้านมนุษยศาสตร์ที่ออกมาจากความรู้สึกที่แตกต่างกันนี้ ผมคิดว่า มันก็เป็นความรู้หรือความจริงอีกชนิดหนึ่งซึ่งเราควรสนใจ เท่าที่ผมรู้จัก อ.วัลลภ มา ท่านคิดอะไรไม่เหมือนเรา อันนี้ก็ดีแล้ว จึงได้ออกมาเป็นอย่างที่เห็น

ในขณะเดียวกัน ท่านก็จะสเก็ตการ์ตูนในช่วงการประชุมสองวันนี้ ถึงความประทับใจของท่านที่มีต่อการสัมนา จะเป็นเนื้อหาอะไรก็แล้วแต่ ท่านอาจจะสเก็ตภาพของคนที่นั่งหลับ หรืออะไรต่างๆ อันนี้ก็แล้วแต่ท่าน ก็จะปรากฏออกมาให้เราเห็นกันก่อนที่เราจะจากกันไปหลังการประชุมในวันพรุ่งนี้

ทีนี้จุดเน้นที่สำคัญของการสัมนาในครั้งนี้ คือการเสวนาแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ตัวการเสนอของวิทยากรเท่านั้น วิทยากรทั้งหลายจะเพียงเสนอเพื่อเป็นการจุดชนวนเพื่อให้เกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น หลังจากการจบการสัมนาในวันพรุ่งนี้แล้ว เราอยากจะฟังคือเรามีผู้รู้ทางปรัชญาท่านหนึ่งเกี่ยวกับทางด้านมนุษยศาสตร์ ซึ่งทำงานมาทางด้านนี้ยาวนานพอสมควร เราอยากจะฟังปฏิกริยาของผู้รู้ท่านนั้น คือ อ.วีระ สมบูรณ์ ว่า ท่านมีปฏิกริยาอย่างไรต่อสิ่งที่เราพูดคุยกันมาวันครึ่ง

ที่เราไม่เปิดโอกาสให้ทาง สกว.มีปฏิกริยาคือว่า เชื่อว่ามันอาจจะไม่น่าฟังเท่าไหร่ เราก็เลยเอาพวกเราเองเป็นผู้แสดงปฏิกริยาแทน ซึ่งถ้าหากว่าเราได้พูดอะไรที่มันไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวตลอดวันครึ่งที่จะมีการสัมนากันต่อไป ก็หวังว่า อ.วีระ จะพูดอะไรที่มันได้เรื่องได้ราวบ้าง เพื่อเจ้าของทุนจะพบว่ามันมีประโยชน์อยู่เหมือนกันที่อุตสาห์มาถึงตรงนี้

ผมก็คงมีเพียงเท่านี้ ขอบคุณมากครับ

คลิกไปอ่านต่อบทความถอดเทปเกี่ยวเนื่อง 1056

 


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

อีกอันหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญในโลกยุคปัจจุบันค่อนข้างมาก และเข้ามาท้าทายมนุษยศาสตร์ก็คือ"ตลาด" จริงๆ มนุษยศาสตร์ หรือการสร้างสรรค์ทางด้านมนุษยศาสตร์ มันมีเสี่ยอยู่ข้างหลังเสมอ สมัยหนึ่งอาจจะมีวัง มีวัด อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นผู้ควักกระเป๋าให้แก่การสร้างสรรค์ทางด้านมนุษยศาสตร์ ปัจจุบันพวกเสี่ยเหล่านั้นไม่มีบทบาทในการสนับสนุนอีกต่อไปแล้ว แต่คนที่เข้ามาแทนที่คือตลาด ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เหมือนกับพวกเสี่ยเหล่านั้นเลย. "ตลาด"คืออะไร? ผมเองก็พูดถึงมันได้ค่อนข้างยาก แน่นอนมันไม่ใช่สุกุมารชาติแบบวัง มันไม่มีอุดมการณ์ทางศาสนาที่ชัดเจน มันมีอุดมการณ์แน่ แต่มันมีความหลากหลายมาก และมันเป็นผู้สนับสนุนการสร้างศิลปะและปรัชญาจนเกือบจะพูดได้ว่า เป็นอยู่รายเดียว ร้ายยิ่งไปกว่านั้นมันเป็นทรราชด้วย

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น