บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๕๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙
29-10-2549



Anti - Coup d' atat
The Midnight University

อธิบายการเมืองไทยร่วมสมัย
พื้นที่โจร พื้นที่รัฐ และชาติยาธิปไตย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมบทความของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

บทความอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัยนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์
เป็นผลงานของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ :
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ประกอบด้วย ๑. รัฏฐาธิปปัตย์ และ ๒. ชาติยาธิปไตย

midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1053
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

 

พื้นที่โจร พื้นที่รัฐ และชาติยาธิปไตย (รวบรวมบทความการเมืองของนิธิ เอียวศรีวงศ์)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สนใจอ่านบทความชิ้นนี้ในภาษาอังกฤษคลิก

๑. รัฏฐาธิปัตย์
เนื่องจากผมไม่เคยเรียนทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ผมจึงเขียนเรื่องเกี่ยวกับรัฏฐาธิปัตย์ได้สบายมาก เพราะไม่มีพันธะของ "ศักดิ์และสิทธิ์" แห่งปริญญาบัตรไว้แบก.
เกือบสิบปีมาแล้ว ผมถูกนักกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นที่นับถือกันอย่างกว้างขวางรวมทั้งตัวผมเองด้วย ถามว่า กฎหมายหรือคำสั่งของรัฐกับคำสั่งของโจร ต่างกันตรงไหน? คำอธิบายของท่านคือในทางปรัชญานิติศาสตร์ (บางสำนักกระมัง) แล้ว สองอย่างนี้ไม่ได้ต่างอะไรกันเลย. ผมก็อึ้งมาเกือบสิบปี ตอบไม่ได้ครับ จนกระทั่งรัฐถูกยึดไปทั้งด้วยอาวุธและหีบบัตรเลือกตั้งมาหลายครั้งหลายหน ผมก็ตอบไม่ได้สักที เพิ่งมาตอบได้กระจ่างแก่ใจตัวเองเมื่อรัฐเพิ่งถูกยึดไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง

คำถามของท่านนักกฎหมายมหาชนที่ว่าข้างต้นนั้น ผมคิดว่ามีสองความหมาย แต่ทั้งสองความหมายล้วนทำให้คำสั่งของโจรแตกต่างจากคำสั่งของรัฐทั้งคู่

๑. ผมจะขอเริ่มพูดถึงความหมายที่หนึ่งก่อน ตอนที่โจรเอามีดหรือปืนจี้เราในที่เปลี่ยว แล้วบอกให้ปลดทรัพย์ทั้งหมดยกให้แก่มันไป เรา (อย่างน้อยก็ผมล่ะครับ) ควรทำตามมัน รักษาชีวิตไว้ทำอย่างอื่นน่าจะดีกว่า

๒. ดูๆ ไปก็ไม่ต่างจากคำสั่งของรัฐนะครับ คนเขาอาศัยทำกินอยู่มาบนที่ดินหลายชั่ว อยู่ๆ รัฐก็เอาป่าไม้, ตำรวจ, อัยการ, และศาลมาจี้ แล้วบอกว่ามึงขนข้าวของออกไปจากที่กู เพราะกูสั่งแล้วว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ซึ่งกูเท่านั้นจะเป็นผู้ดูแลรักษาตามใจกู จะให้เป็นป่าหรือเป็นไนท์ซาฟารีก็เรื่องของกู เพื่อรักษาชีวิตหรืออิสรภาพไว้ทำอะไรอื่นที่ดีกว่านั้น เรา (อย่างน้อยก็ผมด้วยคนหนึ่งละครับ) ย่อมเก็บข้าวของแล้วขยับตูดไปอยู่ที่อื่นเหมือนกัน

แต่มันมีความแตกต่างที่สำคัญในคำสั่งสองประเภทนี้ สำคัญเสียจนเราต้องสำเหนียกไว้ให้ดีด้วย

ประการแรก รัฐไม่สามารถออกคำสั่งในที่เปลี่ยวได้ ตำรวจที่อุ้ม คุณสมชาย นีละไพจิตร หายไปนั้นไม่ได้ใช้คำสั่งของรัฐนะครับ แต่เป็นคำสั่งของโจร คนที่รู้เห็นเป็นใจแก่การกระทำนั้น แม้จะคุมอำนาจรัฐไว้มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่กล้าพูดได้ว่าตำรวจเหล่านั้นทำตามคำสั่งของรัฐ

การที่รัฐไม่ออกคำสั่งในที่เปลี่ยวได้ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างคำสั่งของรัฐกับโจรมากทีเดียว เช่นเมื่อโจรสั่งให้เราปลดทรัพย์นั้น เราไม่มีเพื่อนนะครับ เพราะโจรสั่งเราคนเดียว คนอื่นไม่เกี่ยว ในขณะที่เมื่อรัฐออกคำสั่งให้เราย้ายตูดไปจากที่ดินของบรรพบุรุษนั้น เรามีเพื่อนแยะ ทั้งคนที่ถูกไล่เหมือนเรา และคนที่กลัวว่ารัฐจะเป็นอันธพาลมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อเขาไปด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำสั่งของรัฐเป็นปฏิบัติการทางสังคม ไม่ใช่ทางบุคคลเหมือนคำสั่งของโจร

เพียงแค่นี้ก็ทำให้อำนาจของรัฐถูกกำกับไปส่วนหนึ่งแล้ว เพราะอำนาจที่แท้จริงของรัฐนั้นไม่ใช่จะอยู่ที่ปากกระบอกปืน (ซึ่งยังไงๆ ก็ไม่สามารถยิงคนที่ยืนอยู่หน้ากระบอกปืนได้หมด) แต่อยู่ที่การยินยอมพร้อมใจของพลเมืองต่างหาก ไม่ว่าความยินยอมพร้อมใจนั้นจะมาจากการถูกล่อหลอก, ติดสินบน, ครอบงำทางความคิด, หรือวางเหยื่อทางโภคทรัพย์และเกียรติยศล่อ, ประเพณี หรือความเชื่อ ฯลฯ ก็ตาม ฉะนั้น คำสั่งของรัฐ แม้แต่คำสั่งที่ฉ้อฉล ก็ยังต้องได้รับคำยินยอมพร้อมใจของคนอื่นๆ ในสังคม

ประการที่สอง ด้วยเหตุดังที่กล่าวข้างต้น คำสั่งของรัฐจึงอาจต่อรองได้ ไม่จำเป็นต้องต่อรองในสภาอย่างเดียว บนท้องถนนก็ได้, หลบให้พ้นหน้ารัฐเสียก็ได้ (เช่นหนีเข้าป่าต้นไม้เมืองไทยหรือป่าคอนกรีตแคลิฟอร์เนีย) หรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียก็ยังได้ (อยู่บ่อยๆ เสียด้วย) กฎหมายจึงเป็นคำสั่งที่รัฐ (แม้แต่รัฐรัฐประหาร) ต้องแสวงหาความเห็นชอบจากสังคม ในขณะที่คำสั่งของโจรไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น

ฉะนั้นใครที่คิดว่า เมื่อรัฐถูกใครยึดไปได้คนนั้นก็คือรัฏฐาธิปัตย์ จะออกคำสั่งอะไรก็ล้วนเท่ากับคำสั่งของรัฐหมด ผมจึงออกสงสัยว่า จริงเร้อ ไม่ง่ายและตื้นไปหน่อยหรือ

คำกล่าวของนักกฎหมายมหาชนท่านนั้นยังน่าจะมีความหมายที่สองอยู่ด้วย คือคำสั่งของนายโจรในซ่องโจรกับคำสั่งของรัฐก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกัน

นายโจรสั่งให้เตรียมตัวไปปล้นบ้านเศรษฐี กับรัฐสั่งให้คนปลูกกระเทียมไปหาพืชอื่นมาปลูก เพราะเขาได้ทำเอฟทีเอกับจีนไปแล้ว ปลูกกระเทียมไปก็ขายใครไม่ได้ ดูจะไม่ต่างอะไรกันนัก นายโจรย่อมคิดถึงประโยชน์ของหมู่คณะเป็นที่ตั้ง แม้การปล้นบ้านเศรษฐี อาจเสี่ยงอันตรายมากหน่อย อาจมีโจรบางคนต้องตาย แต่ก็ทำให้มีรายได้เข้าซ่องมากขึ้น อันเป็นความจำเป็นที่จะทำให้ซ่องดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ต่างอะไรใช่ไหมครับกับการสังเวยคนปลูกกระเทียมให้แก่ผลประโยชน์ของคนอื่น ในนามของความมั่งคั่งและวัฒนาถาวรของรัฐ

แต่ผมคิดว่ายังมีความแตกต่างที่สำคัญอย่างมากระหว่างรัฐและซ่องโจร (ซึ่งทำให้คำสั่งของรัฐและนายโจรต่างกัน)

ซ่องโจรดำรงอยู่เพื่ออะไรครับ และดำรงอยู่อย่างไร
ผมเดาว่าซ่องโจรย่อมดำรงอยู่เพื่อการปล้นสะดมเลี้ยงชีพ (อันเป็นอาชีพที่สังคมมนุษย์ในยุคสมัยหนึ่งก่อนจะมีรัฐเคยใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำมาหากินทั้งนั้น - จะปล้นสะดมฝูงสัตว์, พืชผล, ที่ดิน หรือทรัพย์อื่นก็ตาม) และด้วยเหตุดังนั้น ซ่องโจรจึงตั้งอยู่ท่ามกลางศัตรู นับตั้งแต่ศัตรูกับรัฐ ซึ่งย่อมมีหน้าที่และความจำเป็นจะต้องปราบปรามการแข็งข้อทุกประเภท รวมทั้งโจรซึ่งประกอบอาชีพที่รัฐสั่งห้ามด้วย ยิ่งกว่านั้นซ่องโจรยังต้องอยู่ท่ามกลางศัตรูคือคนที่ตัวปล้นสะดมมาแล้ว และคนที่กลัวว่าจะถูกปล้นสะดมอีกมากมาย ด้วยเหตุนั้น วิถีชีวิตของคนในซ่องโจรคือการป้องกันตนเองในท่ามกลางโลกที่ไม่เป็นมิตร จะว่าต้องเตรียมพร้อมในการต่อสู้ป้องกันตนเองอยู่ตลอดเวลาก็ได้

และด้วยเหตุดังนั้น ศรีปราชญ์กับสุนทรภู่จึงไม่ได้เกิดและโตในซ่องโจร ไม่มีการสร้างสรรค์อะไรเกิดขึ้นได้ในซ่องโจร ไม่ว่าจะเป็นศิลปะหรือวิทยาการ ไม่ใช่เพราะโจรไม่ฉลาดนะครับ แต่เงื่อนไขในชีวิตของโจรไม่อำนวยให้เกิดการสร้างสรรค์ได้ ระบอบปกครองของซ่องโจรจึงไม่มีโอกาสพัฒนามากไปกว่ากำปั้นที่โตที่สุด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคืออำนาจดิบ อธิปัตย์ในซ่องโจรตั้งอยู่บนกำปั้น นายโจรย่อมหวาดระแวงต่อกำปั้นอื่นๆ ทั้งหมด ต้องหาทางทำให้กำปั้นของคนอื่นโตไม่ได้ตลอดเวลา หากเห็นกำปั้นของใครทำท่าจะโตเกินไปก็ต้องฆ่าเสีย อย่างที่ขุนแผนโดนนางบัวคลี่วางแผนสังหาร

ตรงกันข้าม รัฐนำเราทุกคนออกมาจากสภาวะสงคราม เกิดช่องทางที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพได้อีกหลายอย่าง และทำให้เราสามารถหล่อเลี้ยงศรีปราชญ์, สุนทรภู่ และไอน์สไตน์ได้ แน่นอนว่าเราต้องนำเอาทรัพยากรไปหล่อเลี้ยงทรราชด้วย แม้กระนั้นทรราชก็ไม่ได้มีอำนาจอยู่ได้เพราะกำปั้นเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยกลไกของรัฐอีกหลายอย่างนับตั้งแต่การศึกษา, ทีวี, ไปจนถึงอุดมการณ์นานาชนิดเป็นเครื่องมือ และด้วยกลไกเหล่านี้เองที่เป็นเครื่องมือให้ประชาชนใช้ล้มอำนาจของทรราชได้ในภายหลัง โดยที่รัฐยังอยู่ และโอกาสที่จะลดความสำคัญของกำปั้นในการเถลิงอำนาจในอนาคตก็ยังอยู่

ผมจึงมองไม่เห็นว่ารัฐกับซ่องโจรนั้นเหมือนกัน และผมเชื่อว่าคนอื่นอีกมากก็คงมองไม่เห็นเหมือนกันกับผม รัฐไม่ใช่ซ่องโจรแน่ และเหตุผลสำคัญที่รัฐไม่ใช่ซ่องโจรก็เพราะรัฐตั้งอยู่บนรากฐานที่ต่างจากซ่องโจร รากฐานของรัฐนั้นคือ (ขอเรียกสั้นๆ ว่า) ศีลธรรมครับ กล่าวคือ เรามีรัฐด้วยเหตุผลทางศีลธรรมแม้ว่ารัฐอาจทำอะไรที่ไร้ศีลธรรมก็ตาม แต่รัฐต้องอ้างเหตุผลทางศีลธรรมในการดำรงอยู่ ในขณะที่ซ่องโจรไม่จำเป็นต้องอ้างศีลธรรมและไม่ต้องใช้ศีลธรรมเป็นรากฐาน

ที่ผมใช้คำว่าศีลธรรมนั้น ไม่ต้องการให้มีความหมายลึกซึ้งอะไรมากไปกว่า การคำนึงถึงคนอื่นหรือสิ่งอื่นนอกจากผลประโยชน์ของตัวเอง รัฐไทยโบราณอ้างความเป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังชาติภพที่เข้าใกล้พระนิพพาน รัฐโบราณของฝรั่งอ้างทำนองเดียวกันคือชาติภพใน "เทวนคร" แม้รัฐสมัยปัจจุบันอ้างผลประโยชน์ในทางโลกย์ แต่ก็เป็นผลประโยชน์ของ "ชาติ" ซึ่งเป็นนามธรรมอันรวมพลเมืองทั้งหมด ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง รัฐในอนาคตน่าจะมี "ศีลธรรม" ที่หมายถึงระบบนิเวศน์ของโลกซึ่งอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน

ซ่องโจรและมาเฟียอ้างผลประโยชน์ทางวัตถุร่วมกันของบุคคลที่มารวมกลุ่มกันเท่านั้น อันเราไม่อาจนับว่าเป็น "ศีลธรรม" ได้

ศีลธรรม (อย่างน้อยก็ในความหมายที่ผมนิยามข้างต้น) จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในความเป็นรัฐ และรัฐทำให้ "ศีลธรรม" มีความสำคัญกว่ากำปั้น ไม่ว่าจะด้วยความจริงใจหรือไม่ก็ตาม และศีลธรรมในความหมายนี้ที่ทำให้คนในรัฐรู้สึกอุ่นใจว่า วิถีชีวิตของตนจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐถูกยึดไปด้วยกำปั้น ความอุ่นใจที่ว่านั้นย่อมหายไป เพราะไม่แน่เสียแล้วว่าศีลธรรมซึ่งเป็นรากฐานของรัฐยังอยู่หรือไม่ วิถีทางที่คนจะยึดรัฐได้จึงมีความสำคัญกว่ารัฐตกอยู่ในมือใคร

ถ้ารัฏฐาธิปัตย์ย่อมอยู่ในมือของผู้ที่ยึดเอารัฐไปแล้วด้วยวิถีทางใดๆ ก็ได้ จะมีความแตกต่างระหว่างรัฐและซ่องโจรตรงไหนล่ะครับ เพราะในที่สุดกำปั้นต่างหากที่เป็นรากฐานของรัฐไม่ใช่ศีลธรรมอีกต่อไป ในทัศนะของผม การพิจารณาอย่างง่ายๆ ว่าใครยึดรัฐได้คนนั้นคือรัฏฐาธิปัตย์จึงมีอันตรายต่อรัฐในระยะยาวเป็นอย่างยิ่ง

ผมเข้าใจนะครับว่า เมื่อโจรเอาปืนจี้เรา โจรอยากได้สมบัตินอกกายอะไรของเราก็ต้องมอบให้เป็นธรรมดา แต่จะหากโจรบังคับให้เราประกาศในที่สาธารณะว่า การปล้นสะดมเป็นความชอบธรรม ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องให้แล้วล่ะครับ เพราะอย่างที่พูดในตอนต้น อำนาจของโจรนั้นมีเฉพาะในที่เปลี่ยวครับ ไม่มีในที่สาธารณะหรอก

๒. ชาติยาธิปไตย
คุณสนิทสุดา เอกชัย ถามปัญหาชวนสะอึกเอาไว้ในคอลัมน์ประจำของเธอในบางกอกโพสต์ ว่า มีอะไรที่บกพร่องในระดับวัฒนธรรมของไทยหรือ ที่ทำให้เราไม่ลงเอยกับนักการเมืองขี้ฉ้อ ก็ต้องลงเอยกับเผด็จการทหาร

ผมพยายามแก้อาการสะอึกด้วยการนึกหาคำตอบ แวบแรกคำตอบที่ได้ยินบ่อยๆ พรั่งพรูเข้ามา เช่น คนไทยขาดความอดทน, คนไทยเป็นนักสัมฤทธิคติย่อมเอาประโยชน์เฉพาะหน้าก่อนหลักการที่เป็นประโยชน์ระยะยาว, สังคมไทยอ่อนแอเกินกว่าจะแก้ปัญหาใหญ่ๆ ทางการเมืองได้ด้วยตัวเอง เราจึงเลือกตั้งคนมาเป็นนาย แทนที่จะมาเป็นบ่าว ครั้นนายทำไม่ดี ก็ต้องไปหานายใหม่นอกหีบบัตรเลือกตั้ง, ประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรมและคนไทยไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมนี้ ฯลฯ เป็นต้น

ดูเหมือนได้ผลครับ คืออาการสะอึกเบาลงไป และด้วยเหตุดังนั้น จึงได้สติกลับคืนมาพอจะตั้งคำถามกับคำตอบของตัวเองได้ คำตอบเหล่านั้นก็จริงทั้งนั้นนะครับ แต่ในขณะเดียวกันก็่ก่อให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมาย เริ่มด้วยคำถามง่ายๆ ก่อนก็ได้ว่า ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมที่ถาวรประจำชาติ หรือแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขแวดล้อม

ผมเชื่อว่าคนไทยบางคนตอบอย่างหนึ่ง บางคนก็ตอบอีกอย่างหนึ่ง ตัวผมเองตอบว่าแปรเปลี่ยน เพราะผมเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นผลผลิตของความสัมพันธ์ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขแวดล้อมเสมอ เพราะเชื่ออย่างนี้จึงทำให้เราต้องถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นลักษณะทางวัฒนธรรมที่กล่าวนั้นเพิ่งเกิดเมื่อใด ภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์อะไร และในที่นี้ผมจะพยายามตอบเฉพาะคำถามนี้ โดยไม่พูดถึงคำถามอื่นๆ อีกมากที่คำตอบดังกล่าวก่อให้เกิดขึ้น

ก่อนตอบ ผมอยากชี้ให้เห็นด้วยว่า ลักษณะทางวัฒนธรรมดังที่กล่าวนั้นอธิบายย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ไม่ได้ไกลนัก หรือบางทีก็ขัดแย้งกันเอง เช่น จะบอกว่าคนไทยขาดความอดทน แต่เราก็ทนอยู่กับพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้เรื่องหรือกดขี่ข่มเหงอาณาประชาราษฎรมาได้หลายพระองค์ด้วยกัน เช่น เขาว่ากันว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นร้ายกาจเหลือกำลัง แต่ท่านก็สวรรคตลงด้วยอาการประชวรตามธรรมชาตินั่นเอง

แต่ในทางตรงกันข้าม จะบอกว่าอดทนเป็นบ้าเป็นหลังก็ไม่ได้อีก เพราะที่จริงแล้ว ในประวัติศาสตร์ไทยมีเรื่องของการลุกขึ้นสู้กับผู้ปกครองของประชาชนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนการเดินหนีไปเฉยๆ จากทะเบียนไพร่นั้น ทำกันเป็นปรกติในทุกภาคของประเทศไทย

จะว่าคนไทยเป็นนักสัมฤทธิคติ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าพูดในเงื่อนไขอะไร เราจะเรียกคนที่มีประเพณีเอารายได้ก้อนใหญ่ของตัวไปทำบุญทำทานเพื่อหวังผลในชาติหน้า หรือหวังพระนิพพานว่านักสัมฤทธิคติก็ดูกระไรอยู่นะครับ หรือว่าขาดความอดทนเห็นประโยชน์เฉพาะหน้าอย่างเดียว ก็คงไม่ได้ใช่ไหมครับ

จะว่าวัฒนธรรมไทยไม่มีส่วนของประชาธิปไตยเลยก็ไม่ได้ วัฒนธรรมไทยเคารพเสียงส่วนน้อยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในชนบท แม้แต่จะทำอะไรตามเสียงส่วนใหญ่ยังต้องคิดถึงหน้าของคนส่วนน้อยว่า ทำอย่างไรไม่ให้เขาเสียหน้า การให้ความเคารพต่อเสียงส่วนน้อยนั้น จะเรียกว่าเป็นจิตวิญญาณของประชาธิปไตยก็ได้ ไม่งั้นเราก็จะมีทรราชที่เผด็จอำนาจด้วย 19 ล้านเสียง 16 ล้านเสียงตลอดไป แต่จะมองตรงกันข้ามก็ได้อีกว่า ความเคารพที่ให้ต่อเสียงส่วนน้อยนั้นที่จริงเพราะวัฒนธรรมไทยเปิดพื้นที่ให้แก่การนอกคอก (dissent) แคบมาก จึงต้องพยายาม "กลืน" เอาเสียงส่วนน้อยไว้ด้วยการขืนใจแบบนุ่มนวล

นี่ล่ะครับที่ทุกครั้งที่เราพูดถึงวัฒนธรรมประชาธิปไตยมันจึงไม่ง่าย และผมสงสัยว่าไม่มีวัฒนธรรมของสังคมอะไรที่เป็นประชาธิปไตยเต็มร้อยสักสังคมเดียว เพราะเรานิยามวัฒนธรรมประชาธิปไตย โดยการเลือกหยิบเอาเพียงบางส่วนของวัฒนธรรมในสังคมฝรั่งมายัดลงไป แล้วทิ้งส่วนที่ไม่เข้าร่องเข้ารอยไปหน้าตาเฉย

ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าเราต้องเข้าใจเงื่อนไขของวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ว่าอะไรทำให้เราตกอยู่ในชะตากรรมที่คุณสนิทสุดาพูดไว้ เพราะวัฒนธรรมเหล่านี้แม้บางอย่างอาจตรงกับที่เคยมีในสมัยโบราณ แต่ก็ดำรงอยู่คนละเงื่อนไข พลังที่ทำให้ดำรงอยู่ได้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่เราเผชิญในปัจจุบันทั้งนั้น ไม่ใช่มรดกตกทอดมาจากอดีตล้วนๆ

และผมคิดว่าวัฒนธรรมที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ประชาธิปไตยเพื่อปกครองตนเองได้นั้น ล้วนเป็นวัฒนธรรมที่เกิดมาพร้อมกับการสร้างรัฐชาติของเราเมื่อไม่นานมานี้เอง จนอาจเรียกได้ว่า "วัฒนธรรมชาติ" และ "วัฒนธรรมชาติ" ของไทยนี่เอง ที่ไม่ลงรอยกับระบอบประชาธิปไตย จนทำให้เราต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่ในเส้นทางประชาธิปไตยตลอดมา

สำนึกความเป็นชาติของไทยค่อยๆ ก่อกำเนิดมาภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ลงมา และอันที่จริง สำนึกนี้ไม่ได้ก่อกำเนิดเป็นอิสระจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ แต่มีการกำกับชี้นำ ควบคุมและจัดการโดยอำนาจของระบอบอยู่ตลอดมา ชาตินิยมไทยจึงมีลักษณะเป็นชาตินิยมแบบสั่งการลงมาจากเบื้องบนสูง ส่วนบนๆ ของโครงสร้างได้รับความสำคัญในชาติลำดับต้นๆ แล้วค่อยๆ ลดหลั่นลงมาถึงส่วนล่างๆ ในโครงสร้าง นั่นก็คือประชาชน

ตรงกันข้ามกับชาตินิยมของสังคมอื่นอีกหลายสังคม ที่ประชาชนหรือส่วนล่างๆ ของโครงสร้างกลับได้รับความสำคัญลำดับต้น

ฉะนั้น เมื่อคนไทยเริ่มสำนึกว่ามีหน่วยใหม่ที่ตัวสังกัดอยู่ อันเป็นสิ่งสำคัญในอัตลักษณ์ของตัวคือ "ชาติไทย" ชาติก็มีธรรมชาติที่เป็นอริกับประชาธิปไตยเสียแล้ว และนับจากนั้นมา อุดมการณ์ชาตินิยมในเมืองไทยจะถูกใช้เพื่อขัดขวางหรือเป็นขั้วตรงข้ามกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยสืบมาจนปัจจุบัน

การปฏิวัติประชาชาติใน พ.ศ.2475 เปลี่ยนเฉพาะระบอบการปกครองแต่ไม่ได้ปฏิวัติ "ประชาชาติ" จริง จึงเปิดโอกาสให้นักการเมือง โดยเฉพาะที่เป็นผู้นำกองทัพ ใช้ชาติเป็นเครื่องมือทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยตลอดมา โดยความยินยอมพร้อมใจหรือไม่ต่อต้านคัดค้านโดยประชาชนส่วนใหญ่ด้วย ผมจึงคิดว่าความอ่อนแอทางวัฒนธรรมของสังคมไทยที่จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ได้ยินบ่อยๆ นั้น เป็นผลผลิตส่วนหนึ่งของความเป็นชาติที่เพิ่งก่อตัวในเมืองไทยไม่นานมานี้เอง ไม่ใช่ลักษณะเด่นประจำชาติที่ตกทอดมาแต่โบราณกาลที่ไหน

ในขณะเดียวกัน อีกหลายส่วนของความอ่อนแอนั้นผมก็สงสัยว่าจะหาได้จากชาตินิยมไทยอีก เช่น การที่คนไทยขาดความอดทนทางการเมือง ไม่ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยได้มีโอกาสแก้ไขตัวของมันเอง นั่นก็เป็นไปตาม "จิตวิญญาณ" ของชาติแบบที่เราสร้างขึ้นมานั่นแหละ

เมื่อพูดถึง "จิตวิญญาณ" ของชาติ เรากำลังหมายถึงอะไร ผมคิดว่าส่วนสำคัญที่สุดของ "จิตวิญญาณ" คือความทรงจำเกี่ยวกับความเป็นมาของชาตินั่นเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือประวัติศาสตร์ของชาติ และอย่างที่ทราบอยู่แล้วนะครับว่า ความทรงจำร่วมกันหรือประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้นถูกสร้างขึ้นมาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นของชาติอะไรก็ตาม และผมคิดว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เราเรียกกันมานั้น สอนให้คนไทยเป็นคนที่รอไม่ได้หรือรอไม่เป็น

เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นประวัติศาสตร์ของผู้นำหรือของมหาบุรุษ ไม่ใช่ของประชาชาติ ฉะนั้น คนที่มีจิตวิญญาณของชาติแบบนี้จึงมองหาผู้นำมาแก้ปัญหาเสมอ ไม่คิดว่าตัวเองมีศักยภาพจะแก้ปัญหาอะไรที่เป็นปัญหาของชาติได้ เรื่องนี้มีผู้พูดไว้มากแล้ว ผมไม่ขอพูดมากไปกว่านี้

ยังมีอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผมอยากพูดถึงคือ จะมีใครรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ก็ไม่ทราบ ว่า อ่านประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้ว รู้สึกว่าเส้นทางเดินผ่านกาลเวลาของชาตินี้ช่างเป็นเส้นตรงเสียจริง ไม่ยอกย้อน วกวน เลี้ยวลดบ้างเลย จุดเริ่มต้นจะอยู่ที่ไหนก็ตาม แต่มันมีพัฒนาการเป็นขั้นๆ จากรวมประเทศ แล้วก็ "ก้าวหน้า" ต่อมาสู่การรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ทำการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ แล้วถูกข้าศึกทำลายราชธานี ในช่วงเวลาอันสั้น ก็กอบกู้เอกราชได้ใหม่แล้วก็เดินต่อมา ปรับปรุงแก้ไขให้สมสมัยแล้วก็เป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

ความเลี้ยวลดวกวนของเส้นทางเดินหากจะมีบ้างก็เป็นชั่วระยะเวลาสั้นๆ ซ้ำเป็นการประทุษร้ายของคนภายนอก จิตวิญญาณของไทยจึงไม่มีสำนึกถึงความทุกข์เข็ญอันสืบเนื่องยาวนาน ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีแรงกายแรงใจของผู้คนหลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม ผมคิดว่าคนที่มีจิตวิญญาณแบบนี้ไม่อดทนต่อปัญหาหรอกครับ เพราะรู้สึกว่าปัญหาอะไรที่ดำรงอยู่นานๆ นั้นผิดธรรมชาติ

(ลองเปรียบเทียบกับสำนึกประวัติศาสตร์ของจีนสิครับ เฉพาะยุคที่เรียกว่ายุครัฐขุนศึก-Warring States- ก่อนสมัยราชวงศ์จิ๋นอย่างเดียวก็ว่ากันไปเป็นศตวรรษ และว่าที่จริง พงศาวดารจีนมีแต่เรื่องความทุกข์เข็ญของประชาชนเสียมากกว่าความสุขเสียอีก - ปัญหาจึงเป็นธรรมชาติกว่าไม่มีปัญหาเสียอีก)

ผิดธรรมชาติคืออาเพศ และต้องแก้โดยเร็ว จะแก้อย่างไรก็ได้ ขอให้แก้เสียก่อนแล้วกัน เรื่องอื่นไว้ค่อยว่ากันทีหลัง

สรุปก็คือ จำเป็นต้องพูดผิดหูคนจำนวนหนึ่งว่าประชาธิปไตยจะตั้งมั่นในสังคมไทยได้ จำเป็นที่เราต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนสำนึกความเป็นชาติและชาตินิยมกันใหม่ด้วย เพราะ "ชาติ" อย่างที่เราถูกสอนให้ยึดถืออย่างนี้แหละที่เป็นศัตรูกับประชาธิปไตย รวมทั้งบ่อนทำลายประชาธิปไตยตลอดมา

(ผมเชื่อด้วยว่า มีคนที่อ่านถึงตรงนี้แล้วก็สรุปอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าอย่างนั้น รักษา "ชาติ" ของเราไว้ แล้วอย่าเป็นมันเลยประชาธิปไตย)

สนใจอ่านบทความชิ้นนี้ในภาษาอังกฤษคลิก


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H
สำนึกความเป็นชาติของไทยค่อยๆ ก่อกำเนิดมาภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ลงมา และอันที่จริง สำนึกนี้ไม่ได้ก่อกำเนิดเป็นอิสระจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ แต่มีการกำกับชี้นำ ควบคุมและจัดการโดยอำนาจของระบอบอยู่ตลอดมา ชาตินิยมไทยจึงมีลักษณะเป็นชาตินิยมแบบสั่งการลงมาจากเบื้องบนสูง ส่วนบนๆ ของโครงสร้างได้รับความสำคัญในชาติลำดับต้นๆ แล้วค่อยๆ ลดหลั่นลงมาถึงส่วนล่างๆ ในโครงสร้าง นั่นก็คือประชาชน. ตรงกันข้ามกับชาตินิยมของสังคมอื่นอีกหลายสังคม ที่ประชาชนหรือส่วนล่างๆ ของโครงสร้างกลับได้รับความสำคัญลำดับต้น. ฉะนั้น เมื่อคนไทยเริ่มสำนึกว่ามีหน่วยใหม่ที่ตัวสังกัดอยู่ อันเป็นสิ่งสำคัญในอัตลักษณ์ของตัวคือ "ชาติไทย" ชาติก็มีธรรมชาติที่เป็นอริกับประชาธิปไตยเสียแล้ว และนับจากนั้นมา อุดมการณ์ชาตินิยมในเมืองไทยจะถูกใช้เพื่อขัดขวางหรือเป็นขั้วตรงข้ามกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยสืบมาจนปัจจุบัน
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น