บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๔๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
19-09-2549

Midnight's law & Justice

Lesbian, Gay, Bisexual, and
Transgender people

LGBT ความรักข้ามผ่านเพศสภาพ และเรื่องเพศศีกษา
จอน อึ้งภากรณ์ / ไมเคิล ไรท : เขียน
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

LGBT (or GLBT) is an abbreviation used as a collective term
to refer to Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender people.
It is an adaptation of the abbreviation LGB.
While still controversial , it is considered less controversial than the terms queer
or lesbigay and is more comprehensive than homosexual or simply gay.
The acronym GLBT is sometimes used in the United States
and commonly in Australia, but to a lesser extent elsewhere.

บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการเผยแพร่ในสื่อดิจิตอลและสิ่งพิมพ์ต่างๆ
ประกอบด้วยบทความ ๔ เรื่องดังนี้
๑. ความรักบนฐานของความหลากหลายทางเพศ - จอน อึ๊งภากรณ์
๒. เพศศึกษาสำหรับยุวชน -คุณจำได้ไหม เมื่อแตกหนุ่มแตกสาว?
๓. สิทธิจดทะเบียนคู่เพศเดียวกัน และ ๔. ความรักร่วมเพศ หลักฐานเก่าสุดในโลก?
บทความตั้งแต่เรื่องที่ ๒-๔ โดย - ไมเคิล ไรท
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1040
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)

 

LGBT ความรักข้ามผ่านเพศสภาพ และเรื่องเพศศีกษา
จอน อึ้งภากรณ์ / ไมเคิล ไรท : เขียน
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง

1. ความรักบนฐานของความหลากหลายทางเพศ
จอน อึ๊งภากรณ์ - อดีตวุฒิสมาชิก นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน
ในการนำเสนอครั้งนี้ผมได้พยายามมองความรักที่สร้างสรรค์และเหมาะสม ที่สังคมสมควรยอมรับ เฉพาะภายในกรอบของการเกิดผลดีต่อคนที่รักกัน (เช่น: ทำให้มีความสุขกัน ช่วยเสริมพลังชีวิตแก่กันและกัน) และภายในกรอบของการเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน การรับผิดชอบต่อกัน และความเท่าเทียมกันของคนที่รักกัน

หมายความว่าเป็นกรอบการมองความรักในเชิงสุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยึดติดกับกรอบของสิ่งที่อาจเรียกว่า "บรรทัดฐานทางสังคม" ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและรุงรังเหมือนป่าไมยราบ และมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละสังคม และเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ซึ่ง "บรรทัดฐานทางสังคม" บางส่วนบางด้านอาจมีเหตุผลและมีความชอบธรรมอยู่ก็จริง แต่อีกหลายส่วนมักกลายเป็นแรงกดดันที่ทำลายสิทธิของคนที่จะรักกันหรืออยู่ด้วยกัน ทำลายความเท่าเทียมกัน ทำลายความสุขกระทั่งทำลายชีวิตของคนที่รักกัน โดยขาดทั้งความยุติธรรมและเหตุผล
(ยกตัวอย่างคู่รักชายหญิงที่อินเดียถูกแขวนคอตายโดยชุมชน สาเหตุเนื่องจากสังกัดคนละวรรณะ หรือตัวอย่างของสังคมต่างๆ ที่ไม่ยอมรับความรักระหว่างชายกับชายหรือความรักระหว่างหญิงกับหญิง)

ผมจึงพยายามมองออกนอกกรอบของ "ความคาดหวังของครอบครัว" หรือ "ความคาดหวังของชุมชน" หรือ "ความคาดหวังของสังคม" เพราะประการแรก ผมมองว่าสิทธิที่จะรักกันและอยู่ด้วยกันของคนที่รักกัน มาเหนือสิทธิของครอบครัวของเขาหรือสิทธิของชุมชนหรือสังคมของเขา ผมไม่ยอมรับว่าผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของชุมชนใด จะถูกกระทบโดยการเปิดเสรีภาพในการรักกันและการอยู่ด้วยกันของคนในชุมชน ยกเว้นเฉพาะบางกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ ประการที่สอง ถ้าเราคิดที่จะต่อสู้เพื่อการปฏิรูปสังคม ผมเห็นว่าเราก็ต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่ยุติธรรม หรือที่ไม่เคารพสิทธิของคนไปด้วย

ความรักเป็นเรื่องที่ดีงาม สวยงาม เป็นสิ่งที่ให้พลังแก่ชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย นี่คือเรื่องหลักที่สังคมควรยอมรับ แต่ความรักเป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝนในทางการจัดการ เป็นสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงได้หรืออาจไม่ยั่งยืน เป็นเรื่องที่อาจหรือมักต้องผ่านความผิดพลาดและ/หรือความเจ็บปวดกว่าจะพบ "รักแท้" และบางคนอาจพลาดไปซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือไม่พบ "รักแท้" เลยก็ได้

ความรักที่สร้างสรรค์ ที่เหมาะสม ที่สังคมควรยอมรับได้ มองในแง่ของสุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ควรจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้:

- เป็นความรักที่เต็มใจพร้อมใจเท่าทันกันทั้งสองคน (หรือทุกคน - เพราะอาจมีคนที่จะรักกันเป็นกลุ่มก็ได้) บนพื้นฐานการรู้จักกันและเข้าใจกันในสาระสำคัญ (informed consent) ไม่เกิดจากการกดขี่ บังคับขู่เข็ญ การกดดัน การใช้อำนาจ การหลอกลวง การรู้ไม่ทันกัน หรือจากความแตกต่างทางวัยวุฒิที่มีผลต่อความเท่าทันหรือความเท่าเทียมกัน

- เป็นความรักที่เท่าเทียมกัน ไม่มีใครใช้อำนาจเหนือใคร การตัดสินใจทุกอย่างในฐานะของการเป็นคู่ (หรือกลุ่ม) เกิดจากการปรึกษาหารือกันและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

- เป็นความรักที่หวงแหน ทะนุถนอมกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ปราศจากการใช้ความรุนแรงทุกชนิดไม่ว่าทางกายหรือทางใจ

- อยู่บนพื้นฐานความไว้วางใจ เชื่อใจ และความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งกันและกัน (แต่ไม่อยากใช้คำว่า "ซื่อสัตย์ต่อกัน") และปราศจากความระแวงต่อกัน

- ไม่มีใครเป็นเจ้าของใคร แต่ทุกคนเคารพสิทธิที่จะมีชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน ทั้งนี้โดยปราศจากการหึงหวงกัน หรือ การสอดแนมกัน

- การมีเพศสัมพันธ์และวิธีการมีเพศสัมพันธ์กันเกิดจากความสมัครใจกันทั้งสองคน (หรือทุกคน) โดยมีความพร้อมเพรียงกันทั้งทางกาย ทางใจ และทางวัยวุฒิ

- ทุกคนยอมรับพร้อมใจในสิทธิที่ของแต่ละคนที่จะเลิกความสัมพันธ์รักและ/หรือแยกทางไป แม้จะเกิดผลกระทบต่อคนอื่นก็ตาม

- หากเกิดการแยกทางกัน ก็เป็นการแยกทางกันแบบรับผิดชอบต่อกันและกัน และรับผิดชอบร่วมกันต่อบุตรหรือบุตรบุญธรรม หรือต่อภาระต่างๆที่เป็นภาระร่วมกัน และทุกคนมีความพยายามตั้งใจที่จะรักษาน้ำใจและความรู้สึกที่ดีต่อกันและกันต่อไป

ความรักเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ซึ่งต้องผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝนในทางจิตใจและการจัดการ ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องความรักและการจัดการความรัก ควรจะต้องเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรการศึกษาไทย

ความรักกับการมีเพศสัมพันธ์กันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คนเรามีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องรักกัน มีรักได้โดยไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์กัน แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่รักกันสามารถเสริมความรัก ความอบอุ่น และพลังชีวิตของกันและกันได้ - หากเป็นเพศสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์กันจึงมักเป็นความต้องการของคนที่รักกัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการทนุถนอมต่อกันและความเข้าใจต่อกัน รวมทั้งการยืดหยุ่นต่อกันและกัน

การมีเพศสัมพันธ์ที่ดีที่ให้ความสุขแก่กันและกัน(ไม่ใช่ความสุขข้างเดียว) ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝน ต้องมีลักษณะเป็นการ "ให้" ไม่ใช่การ "กอบโกย" การเรียนรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ ตลอดจนการมีเพศสัมพันธ์ที่ให้ความสุขแก่คนอื่น จึงควรจะต้องเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรการศึกษาไทย

ความรักไม่จำเป็นจะต้องควบคู่กับการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นคู่หรืออย่างเป็นกลุ่มหรืออย่างครอบครัว และไม่จำเป็นต้องควบคู่กับการจดทะเบียนสมรสหรือการแต่งงานกันตามประเพณี แต่คนที่รักกันก็มักจะมีความต้องการหาโอกาสหรือเงื่อนไขที่จะอยู่ร่วมกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับ "บรรทัดฐานของสังคม"

การมีความรัก การถูกรัก การเลือกคนรักที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในความรักที่มีต่อกัน น่าจะถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน (ภายใต้กรอบของความสัมพันธ์ที่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน) และสิทธิดังกล่าวย่อมรวมถึงสิทธิที่จะรักกันอย่างเปิดเผย สิทธิที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเปิดเผย และสิทธิที่ความรักดังกล่าวจะได้รับการยอมรับและรับรองจากสังคม

ความรักเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างบุคคล สังคมควรมีบทบาทเข้ามาแทรกแซงตรวจสอบเฉพาะในแง่มุมของการละเมิดสิทธิ การใช้ความรุนแรงทางกายหรือใจ การใช้อำนาจ การบังคับขู่เข็น การข่มขืน หรือการเอาเปรียบผู้เยาว์ แต่หากไม่เกิดปัญหาเหล่านี้แล้วสังคมควรปล่อยให้คนที่รักกันใช้ชีวิตร่วมกันตามแบบที่ตกลงกันเอง รวมทั้งให้โอกาสเขาเรียนรู้กันเอง และแยกทางกันได้โดยไม่ต้องซ้ำเติม

การเลิกกัน การแยกทางกัน เมื่อความรักเดิมเปลี่ยนแปลงไป หรือมีรักใหม่เกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดความผิดพลาด หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ก็ควรจะต้องเป็นสิทธิของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์รักเดิมทุกคน ซึ่งสังคมควรจะต้องยอมรับและรับรองเช่นเดียวกัน เพียงแต่คนที่แยกทางไปจะต้องรับผิดชอบต่อภาระที่มีร่วมกับคนรักเดิม เช่นในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร และจะต้องมีการชดเชยกันและแบ่งทรัพย์สินกันอย่างเป็นธรรม ในเรื่องนี้สังคมอาจต้องมีบทบาทเข้ามาดูแลความยุติธรรมของการจัดการต่าง ๆ ในการแยกทางกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ตกลงกันเองไม่ได้

ความรักควรต้องได้รับการยอมรับให้สามารถอยู่บนพื้นฐานความหลากหลายตามธรรมชาติ เช่นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางศาสนา ทางฐานะและชนชั้น ทางอายุและประสบการณ์ชีวิต ตลอดจนความหลากหลายทางเพศ และความหลากหลายทางความชอบทางเพศ

สำหรับชาว LGBT++ (คนที่รักคนเพศเดียวกันหรือรักคนหลายเพศ) ย่อมต้องมีสิทธิเท่าเทียมชาว S (ชายที่รักหญิง หญิงที่รักชาย) คือย่อมมีสิทธิที่จะรักกัน มีสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน มีสิทธิอยู่ด้วยกัน มีสิทธิจดทะเบียนสมรสกัน (ถ้าต้องการ) มีสิทธิแต่งงานกันตามประเพณี (ถ้าต้องการ) มีสิทธิใช้หรือไม่ใช้นามสกุลของคนรัก มีสิทธิมีบุตรหรือบุตรบุญธรรมกัน (ถ้าต้องการ) รวมทั้งมีสิทธิในการได้รับการยอมรับทางสังคมว่าเป็นคนรักกัน เป็นคู่กัน เป็นคู่สมรสกัน รวมทั้งความเสมอภาคในสิทธิอื่นๆ และหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมาย เช่นในเรื่องการลดหย่อนภาษี สิทธิทางมรดก เป็นต้น และที่สำคัญจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องใดๆ (เช่นในเรื่องการทำงาน)

ปัจจุบันหลายประเทศในโลกมีกฎหมายรองรับการจดทะเบียนสมรสของคนที่รักกันที่เป็นเพศเดียวกัน เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน แคนาดา แอฟริกาใต้ และรัฐแมสซาชูเซตของสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกหลายประเทศให้การยอมรับต่อการจดทะเบียนอยู่ร่วมกันเป็นคู่ (Civil Union) เช่น อันดอร์รา อาร์เจนตินา บราซิล โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิสราเอล ลักเซมเบิร์ก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สโลวีเนีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร รัฐส่วนใหญ่ของประเทศออสเตรเลีย (ยกเว้นออสเตรเลียใต้กับออสเตรเลียตะวันตก) ตลอดจนรัฐแคลิฟอร์เนีย คอนเนตทิคัต ฮาวาย เมน นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก เวอร์มอนต์ และวอชิงตันดีซี ของสหรัฐอเมริกา

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น กว่าเราจะบรรลุความยุติธรรมต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ทั้งหมด เราคงจะต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ความรักบนพื้นฐานความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งสิทธิทั้งหลายของคนที่รักกัน กลายเป็นประเด็นสำคัญของการปฏิรูปทางสังคมควบคู่กับการปฏิรูปทางสังคมด้านอื่นๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน

เครือข่ายของคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ควรต้องรวมพลังกับเครือข่ายอื่นๆ ที่ต่อสู้ทางสังคมในเรื่องอื่นๆ โดยหาโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ความเข้าใจและมุมมองซึ่งกันและกัน และหลีกเลี่ยงการเจาะจงต่อสู้เฉพาะประเด็นผลประโยชน์ของตนโดยลำพังอย่างคับแคบ ทั้งนี้เป็นเพราะความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิต่างๆ ทางสังคมมีมากมาย หลากหลาย และมีความเชื่อมโยงโยงใยกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยการรวมพลังกันของทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมต่างๆ เพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่เคารพและประกันสิทธิของทุกคนมากกว่าสังคมในปัจจุบัน

(ปาฐกถานำในการประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เรื่อง "สิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" เมื่อวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2549 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

2. เพศศึกษาสำหรับยุวชน -คุณจำได้ไหม เมื่อแตกหนุ่มแตกสาว?
Sex Education -Can You Remember Your Growing Up?
ฝรั่งมองไทย : ไมเคิล ไรท

ความนำ
ต้นเดือนกันยายนนี้มีนักเขียนสาวสองคนมาสัมภาษณ์ผมจาก S-exchange สังวาสสาระ ราย 3 เดือน เป็นเวทีการสื่อสารเรื่องเพศศึกษาสำหรับเครือข่ายโครงการ "ก้าวย่างอย่างเข้าใจ" และเครือข่ายคนทำงานต้านเอดส์ เพศศึกษา และสุขภาพทางเพศ จัดทำโดย องค์การแพธ (PATH) ในโครงการ "ก้าวย่างอย่างเข้าใจ" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis & Malaria)

ตอนแรกๆ ผมไม่อยากให้สัมภาษณ์ เพราะผมไม่มีคุณวุฒิใดๆ ในด้านเพศศึกษา อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เคยแตกหนุ่มและเคยประสบความวุ่นวาย, สับสนใจ, หัวขวิดก้นคว่ำคล้ายหนุ่มสาวทุกชาติทุกภาษาทั่วโลก ผมจึงเห็นว่าผมมีสิทธิและมีหน้าที่ควรออกความคิดเห็นด้วยเหมือนกัน

ผมคงจะเป็นฝรั่งรุ่นสุดท้ายที่รับการศึกษาตามประเพณี (โรงเรียนคาทอลิก) ที่ไม่สอนเพศศึกษาแต่สอนเรื่อง "บาป" ผมจำได้ว่าเมื่ออายุประมาณ 13 ขวบ บาทหลวงที่สอนวิชาศาสนาบอกว่า "ความเคลื่อนอันไม่มีระเบียบของอวัยวะ (Irregular Motions of the Flesh) เป็นของธรรมดา, ไม่เป็นบาป, แต่หากยินดีในความเคลื่อนนั่นก็เหยียบแดนบาป และหากช่วยมันแล้วก็เป็นบาปสมบูรณ์ตกนรก"

เด็กๆ ห้องผมหันหน้าถามกันว่า "คุณพ่อท่านหมายถึงอะไร?" ไม่รู้เรื่องจริงๆ

ต่อมาราวปี - 2 ปี ฮอร์โมนเริ่มพุ่งและอวัยวะไม่อยู่นิ่ง ต่างรู้สึก "ยินดี" และ "ช่วย" มันคนละไม้คนละมือ ผลก็คือเราต่างรู้สึกว่าเราเป็นคนบาปคนชั่ว, ใช้ไม่ได้, ช่วยไม่ได้, สมควรตกนรก

ใน 3-4 ทศวรรษต่อมา ระบบการศึกษาในตะวันตกได้พัฒนาวิชาเพศศึกษาในโรงเรียน ทั้งๆ ที่ต้องต่อสู้ตลอดเวลากับพวก "ผู้ดีมีมารยา" (Hypocrites) พวกบ้าศาสนาที่เห็นอะไรเป็นบาปไปหมด และพวกวัยตกกระที่ลืมเสียแล้วว่าเขาเคยเป็นหนุ่มเป็นสาว

ปัญหาในเมืองไทย
ผมเห็นใจเป็นอย่างยิ่งกับทุกคนและทุกหน่วยงานในเมืองไทยที่พยายามส่งเสริมเพศศึกษา ในขณะที่ท่านกำลังเผยแพร่ความรู้ให้เยาวชนสามารถครองชีวิตด้วยความสุขุมรอบคอบ และมีความสุขพ้นภัย ก็โดนพวกมิจฉาคติรุมกีดขวางขัดขาจากสรรพทิศ เช่น :-

พวกผู้ดีมีมารยา ใส่ความว่า เพศศึกษามุ่งสอนเด็กๆ ให้ทำชั่วลวดลายพิสดาร เช่น ชักว่าว-ตกเบ็ด, รักร่วมเพศ, ขายตัว, ท้องนอกสมรส, เปิดหน้าท้องให้เห็นสะดือ, ใส่เสื้อสายเดี่ยว และบาปอื่นๆ นานาชนิด. ท่านคงลืมกระมังว่า คนรุ่นก่อนๆ (รวมทั้งรุ่นท่านเอง) ก็ไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องในเรื่องเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้รับการศึกษาทางเพศ ชะรอยท่านคิดชั่วเอง หรือสอนชั่วกันเอง ผมไม่ทราบ

ที่จริงเพศศึกษามุ่งจะให้เด็กหนุ่มสาวสามารถดำเนินชีวิตทางเพศที่เขากำลังประสบใหม่ๆ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เขาไม่ใช่พระอิฐพระปูน) ด้วยความรับผิดชอบสมเป็นผู้ใหญ่ แล้วเด็กๆ จะรับผิดชอบได้อย่างไร หากไม่มีความรู้ที่สมบูรณ์ ซื่อตรงและถูกต้อง?

พวกบ้าศาสนา มักหาว่า เพศศึกษาชวนให้เด็กละเมิดศีลธรรม โดยลืมว่า พระศาสดาใหญ่ๆ (พระพุทธ, เยซู, มุฮัมหมัด) สอนศีลธรรมโดยเน้นหลักการใหญ่คือ ความยุติธรรมในสังคม อย่าเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกัน ท่านไม่หมกมุ่นกับเรื่องเพศ ขอชวนลองค้นพระคัมภีร์ทั้งสามดูสิว่า พระศาสดาว่าอย่างไร เกี่ยวกับการชักว่าวหรือตกเบ็ด

หากพระเยซูมาเยือนกรุงเทพฯ ท่านคงไปนั่งกินส้มตำกับโสเภณีริมถนนพัฒน์พงศ์โดยไม่เดือดร้อนหรือว่ากล่าวใคร แต่หากท่านไปรัฐสภา พระเยซูอาจจะมีวาจาเดือดร้อนว่าด้วยสังคมที่ปล้นชาวชนบทให้อนาถาจนลูกสาวต้องขายตัว

แล้วพวกบ้าศาสนาจะประณามคนสอนเพศศึกษาว่า "ละเมิดศาสนา" ได้อย่างไร?

พวกวัยตกกระ พูดกันไม่รู้เรื่อง ช่วยไม่ได้ ดูเหมือนกับว่าเขาไม่เคยเป็นหนุ่มสาว หรือลืมเสียแล้วว่าการแตกหนุ่มสาวรู้สึกอย่างไร จำไม่ได้ตอนเต้านมแตกตูมเริ่มมีระดู หรือ "จู๋" แข็งวันยังค่ำและมีน้ำขุ่นๆ พุ่งออกมา

วัยนี้แหละที่ต้องการความรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และควรทำอย่างไรกับมัน และต้องการความรู้ที่สมบูรณ์ซื่อสัตย์สุจริตไม่เล่นแง่ปิดบัง เด็กๆ ต้องการความรู้นี้ให้ทันอายุยังน้อย อย่าผลัดให้ถึงอายุ 16-18 เพราะคน 16-18 แก่แดดเต็มทีแล้ว ลูกสาวท่านอาจจะท้อง และลูกชายท่านอาจจะเป็นเอดส์

ขอร้องท่านวัยตกกระอย่ารูดม่านปิดความชั่วของตนเอง อย่าเล่นซ่อนหากับข้อเท็จจริง และอย่าหวงวิชา ระหว่างอายุราว 11-15 ลูกของท่านจะเริ่มมี เพศ (ชาย/หญิง) และต้องการความรู้ทันใดนั้น ไม่ใช่ 3-4 ปี ข้างหน้าซึ่งอาจจะช้าไปเสียแล้ว

เพศศึกษา, ปัญหาภาพใหญ่
ที่จริงปัญหาเพศศึกษาในเมืองไทยเป็นเพียงซีกหนึ่งของปัญหาสังคมทั้งหมด ว่าโดยทั่วไปสังคมไทยต้องการเด็ก "ว่านอนสอนง่าย" ไม่ต้องการเด็กที่เป็นปัจเจกบุคคลมีความคิดของตนเองท้าทายท่านผู้ใหญ่. ในระดับประเทศรัฐบาลไม่ต้องการประชาชนที่เป็นปัจเจกบุคคล ท้าทายสิทธิอำนาจของรัฐราชการกึ่งเผด็จการ

ดังนี้ สังคมไทยก็มีท่านผู้ใหญ่หลายคน "หวงวิชา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเพศศึกษาสำหรับเยาวชน ว่า "พ่อแม่ท่านทำอะไรกันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไอ้หนูอีหนูอย่าทะลึ่งอยากเรียนรู้เลย" เป็นที่น่าเสียดายว่า แม้กระทั่งในหมู่คนที่รักและเป็นห่วงคนรุ่นใหม่ ยังคงมีหลายคนที่คิดล้าหลังแบบนี้ไม่น้อย ดังนั้น ใครที่หมายจะพัฒนาเพศศึกษาในเมืองไทย คงต้องพร้อมที่จะเผชิญกับการต่อต้านและการใส่ร้ายอีกนาน

ผมหวังว่าท่านคงต่อสู้ต่อไปอย่างไม่ท้อถอยเพื่อความสุข และความเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของคนรุ่นใหม่

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

3. สิทธิจดทะเบียนคู่เพศเดียวกัน Same Sex Civil Partnerships
ในยุโรปบางประเทศ (และในสหรัฐอเมริกาบางรัฐ) เริ่มมีกฎหมายอนุญาตให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ เพื่อจะได้รับสิทธิเสมอคู่ชาย-หญิง ในเรื่องการลดภาษี, การสืบบำเหน็จ-บำนาญและมรดก และการรับสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ

"การจดทะเบียนคู่" Civil Partnership นี้ไม่ใช่ "การสมรส" Marriage (ซึ่งมีไว้สำหรับการจัดระเบียบการสืบพันธุ์ และรักษาเสถียรภาพของครอบครัว)

"การจดทะเบียนคู่" มีไว้เพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างคู่เกย์ (ทั้งเกย์ผู้ชายและเกย์ผู้หญิง) กับคู่ต่างเพศในสังคม, และเพื่ออำนวยความสะดวกให้คู่เกย์และเลสเบี้ยนได้ครองชีวิตรวมกันอย่างมีระเบียบ, รับผิดชอบต่อกันและมีเกียรติเสมอทุกคนในสังคม

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคมปีที่แล้ว ประเทศอังกฤษประกาศใช้ พระราชบัญญัติการครองคู่ทางบ้านเมือง Civil Partnerships Act (2005) เมื่อสิบปีที่แล้ว พระราชบัญญัติดังกล่าวถือกันว่า "เป็นไปได้ยาก" เมื่อยี่สิบปีก่อนมีการประกาศ พระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางเพศ Sexual Offences Act (1967) ว่า เพศสัมพันธ์ระหว่างบุรุษที่บรรลุนิติภาวะ, สมยอม, ในที่ลับ, ย่อมไม่ผิดทางกฎหมาย
(เพศสัมพันธ์ระหว่างสตรีไม่เคยผิดกฎหมายอังกฤษ, เพราะพระนางเจ้าวิกตอเรียไม่ยอมลงพระนามาภิไธยในพระราชบัญญัติห้าม, โดยตรัสว่า "เป็นไปไม่ได้")

Sexual Offences Act (1967) นี้ไม่ได้หมายจะส่งเสริมการลักเพศ, แต่มุ่งจะรับรองเสรีภาพของบุคคล (ผู้ใหญ่, สมยอม, ในที่ลับ), อย่าให้เป็นธุระที่ตำรวจต้องเสียเวลาติดตาม, อย่าให้ศาลสถิตยุติธรรมต้องเสียเวลารับพิจารณาและตัดสินลงโทษพฤติกรรมส่วนตัว (Private Behaviour) ของพลเมือง

อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นไม่มีใครนึกคิดเลยว่าราวยี่สิบปีต่อมาจะมีกฎหมายรองรับสิทธิการครองคู่ของคนรักร่วมเพศ เนื่องในการออกกฎหมายใหม่ฉบับนี้, หนังสือพิมพ์อังกฤษได้สัมภาษณ์คู่เกย์/เลสเบี้ยนหลายคู่ ให้แสดงความคิดเห็นและเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เช่น :-

1. Paul Beardshaw กับ Robin Crowley, ต่างอายุ 30 กว่าๆ
สองคนนี้พบกันในงานเลี้ยงเมื่อสามปีที่แล้ว, แล้วอยู่ด้วยกันแต่นั้นมา Robin ว่า "พอสบตากันก็รักเข้า ผมเคยฝันว่าอยากมีเพื่อนรักเป็นคู่ถาวร, แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะความรักดูจะไม่เที่ยง, แต่พอเจอะ Paul เข้า เราต่างสมัครใจอยู่กันจนเฒ่าจนแก่ แรกๆ เราคิดจะอยู่กันเงียบๆ แต่เมื่อกฎหมายใหม่นี้ออกมาเราตกลงกันว่าจะจัดเป็นงานพิธีใหญ่โต เพื่อขอบใจเพื่อนฝูงที่ให้กำลังใจและให้เกียรติกับพ่อแม่พี่น้องที่สนับสนุน

2. Liz Allum กับ Tilly Clarke อยู่มานานแล้วตั้งแต่อายุ 24
แรกๆ เธอทั้งสองตั้งใจจะไปจดทะเบียนกันที่สหรัฐ, แต่แล้วระงับเพราะต่างอยากให้ญาติมิตรร่วมเป็นพยาน เธอทั้งสองสาบานต่อกันว่าจะ "เคารพ, เจือจุน, อภัยแก่กัน, และเป็นที่พึ่งแก่กันตราบเท่าที่มีชีวิต"

เหตุผลประการหนึ่งที่ชวนให้เธอจดทะเบียนคู่คือ เธออยากมีสิทธิเลี้ยงลูกบุญธรรม ในเรื่องนี้ Liz บ่นว่า "กฎหมายปัจจุบันไม่ยุติธรรมเพียงพอ (ที่ให้จดทะเบียนเพียงเป็น "คู่" Partners ไม่ใช่ "คู่สมรส" Married Persons) ในเมื่อฉันกับ Tilly พร้อมจะครองเรือนกันอย่างรับผิดชอบต่อกัน และต่อลูกบุญธรรมเสมอคู่สมรสต่างเพศ, เราก็ควรได้รับเกียรติตามกฎหมายเสมอคู่สมรสอื่นๆ ในสังคม บัดนี้กฎหมายยังกีดกั้นและดูถูกชาวเกย์และเลสเบี้ยนไม่น้อย"

3. Ivan Roland (68) และ Alan Ashmole (74)
สองคนนี้ครองเรือนกันมา 32 ปี, ได้เล่าประสบการณ์และออกความคิดเห็นดังนี้ :-

Ivan :- "ผมเป็นเกย์ในยุคทศวรรษที่ 1950-1960, เป็นทหารเรือหกปีจนถึง 1962 ราชนาวีมีวัฒนธรรมชายฉกรรจ์สุดสุด, หากถูกจับว่าเป็นเกย์ อย่างดีก็อาจถูกปลด, อย่างร้ายอาจจะถูกขังคุกทหารสองปี"

"ปี 1967 มีพระราชบัญญัติประกาศว่า เพศสัมพันธ์ระหว่างบุรุษที่บรรลุนิติภาวะและสมยอมนั้น ไม่เป็นอาชญากรรม กฎหมายฉบับนี้ก็ดีอยู่, แต่ไม่สามารถเปลี่ยนค่านิยมของสังคมทันทีได้

"ปี 1972 ผมกับ Alan เริ่มครองเรือนแต่ไม่เผยให้เพื่อนบ้านทราบว่าเราเป็นเกย์ เราไม่เห็นจำเป็นเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว, คนบ้านข้างเคียงจะไปสนใจทำไม? ในที่ทำงานก็เช่นเดียวกัน, ผมไม่กลัวใครจะรู้, แต่ไม่เห็นจำเป็นต้องแจ้งให้ใครทราบในเรื่องส่วนตัวผมกับ Alan นานเข้าหลายปีเพื่อนบ้านต่างนึกออก, เข้าใจ, เห็นใจ, และให้เกียรติโดยไม่มีใครเดือดร้อน

"ผมกับ Alan จะลงทะเบียนเป็นคู่เพื่อผลประโยชน์ทางกฎหมาย, คือให้เป็นทายาทกัน :- หากผมตายก่อนให้ Alan สืบมรดกผม; หากเขาตายก่อนผมจะได้สืบบำเหน็จของเขาต่อไปจนกว่าจะสิ้น"

"ผมรำคาญกับพวกที่เรียกร้องให้เกย์ "สมรส" กัน กฎหมายเท่าที่มีอยู่ดีแล้ว การสมรส Marriage มีไว้สำหรับคู่ชาย-หญิง, เป็นวิธีที่สังคมควบคุมการสืบพันธุ์และสืบทอดตระกูลอย่างมีระเบียบ บอกตรงๆ Alan กับผมอายุปูนนี้ไม่คิดจะสืบพันธุ์สืบตระกูลกันหรอก, จะบอกให้"

Alan :- "ผมเพิ่งยอมรับกับตัวเองว่าผมเป็นเกย์เมื่ออายุหลัง 30 แล้ว ผมเกิดในตระกูลที่ถือศาสนาเคร่ง คนรักเพศเดียวกันเป็น "สัตว์ประหลาด", "คนบาป" และ "ปีศาจ" ผมจะยอมรับตัวเองได้อย่างไร? สมัยผมเป็นทหารบก (1967) กฎหมายเปลี่ยนแล้ว, แต่สังคมยังรังเกียจเกย์อยู่ ตลอดชีวิตการทำงานธนาคาร ผมไม่กล้าเผยว่าเป็นเกย์

"เมื่อ Ivan กับผมไปอยู่ด้วยกัน, เราไปครองเรือนในฐานะ "ชายโสดสองคน", ไม่ใช่คู่สมรส ผมไม่กล้าบอกญาติๆ (ทั้งๆ ที่เขารู้อยู่ดีแต่ไม่พูดมาก) มาปัจจุบัน Ivan กับผมประกาศจะจดทะเบียนกันเป็นคู่, แล้วผมตื้นตันใจอย่างยิ่งที่บรรดาเพื่อนร่วมงาน, เพื่อนบ้านข้างเคียง, และญาติพี่น้อง (ที่แต่ก่อนเราไม่กล้าเปิดให้เขารู้) ต่างแสดงความปีติยินดี, เข้าใจ, เห็นใจ, สนับสนุน, ไม่มีใครรังเกียจแม้แต่คนเดียว"

ความส่งท้าย
"ประชาชนชาวอังกฤษส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎหมายใหม่นี้ ที่คัดค้านก็มีบ้าง, เช่น บางคนว่า "ไม่เหมาะสม, ผิดประเพณีดีงาม", "ส่งเสริมพฤติกรรมวิปริต", "ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัว" ฯลฯ หากเมืองไทยมีกฎหมายอนุญาตให้จดทะเบียนคู่ชายกับชาย, หญิงกับหญิง, คนไทยก็คงมีความคิดเห็นสนับสนุนบ้าง, คัดค้านบ้างเช่นเดียวกัน

ส่วนตัวผม, ผมขออนุโมทนาสาธุกับกฎหมายทุกฉบับที่อำนวยให้ประชาชนประพฤติเป็นผู้ใหญ่, คือเปิดโอกาสให้ทุกคนดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและมีเกียรติเสมอกัน โดยรับผิดชอบตัวเอง, กับคู่รัก, และกับสังคม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นชายรักหญิง, หญิงรักชาย, ชายรักชาย, หรือ หญิงรักหญิง

ใครที่ไหนจะเดือดร้อนและต้องคัดค้านทำไม? ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร?

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

4. ความรักร่วมเพศ หลักฐานเก่าสุดในโลก?
เรื่องความรักร่วมเพศนั้นมีนานาทรรศนะ บางคนตกใจเห็นชายรักชาย หญิงรักหญิงเป็นเรื่องชั่วร้าย, ผิดธรรมชาติ, น่ารังเกียจ, และเป็นค่านิยมสมัยใหม่ที่นำเข้ามาจากเมืองนอก คนอีกจำนวนมากไม่เดือดร้อน, เห็นเกย์เป็นธรรมดามนุษย์, จะไปเต้นเป็นอีแร้งอีกาไปทำไม?

ส่วนคนที่มีการศึกษากว้างลึก, โดยมากจะนิยมชมชอบคนรักร่วมเพศว่ามักมีทักษะสร้างสรรค์ด้านศิลปะความงาม, มีทุกชาติทุกภาษา, ทุกกาลสมัย บางคนยังเสนอว่า ความเป็นเกย์นั้นเป็นวิธีของธรรมชาติที่น่าจะลดการเพิ่มจำนวนพลเมืองไม่ให้ล้นโลก, ถูกหลักศีลธรรม ดีกว่าการทำท้องแล้วทำแท้ง

ผมไม่เข้าข้างใครทั้งสิ้น (เดี๋ยวจะถูกหาว่าส่งเสริมความชั่ว), แต่ขอเสนอหลักฐานใหม่ที่ได้มาจากหนังสือพิมพ์ The Times (London, 1st, January, 2006) บทความนี้ว่าด้วยการสัมมนาทางโบราณคดีนานาชาติที่มหาวิทยาลัยเมืองเวลส์ (Swansea), เผยว่า ในปี 1964 มีการขุดค้นสุสาน (ถ้ำในหน้าผา) ที่บริเวณเขต Saqqara เมือง Memphis บนฝั่งตะวันตกแม่น้ำไนล์ มีอายุราว 4,000 ปีก่อนปัจจุบัน

สุสานนี้ถูกโจรปล้นตั้งแต่โบราณจึงไม่มัมมี่หรือของมีค่าเหลือ แต่จากจารึกและภาพตามผนังถ้ำทราบได้ว่า นี้คือที่ไว้ศพชายสองคนชื่อ Niankhkhnum และ Khnumhotep อย่าหวังให้ผมเสี่ยงปริวัตร) จารึกระบุว่าชายสองคนนี้เป็นข้าราชบริพารใกล้ชิดพระเจ้าฟาโรว์, มีหน้าที่ดูแลควบคุมกรมปรนนิบัติพระวรกาย, โดยเฉพาะพระนขา(เล็บ) และน่าจะรวมถึงพระเกศาและเครื่องทรงอีกด้วย. ว่าโดยสรุป ชายสองคนนี้เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่เคารพอย่างสูง

จารึกไม่ได้ระบุว่าชายสองคนนี้มีสัมพันธ์กันอย่างไร (พี่น้อง? ลูกแฝด? พ่อลูก? คู่รัก?), แต่ภาพตามผนังถ้ำแสดงว่าสองคนเป็นคู่กันในหลายอิริยาบถ :- ควงแขนกัน, กอดไหล่กัน, นั่งรับประทานอาหารกันสองต่อสอง, ซึ่งในภาพอื่นสุสานอื่นล้วนเป็นภาพสามี-ภรรยากัน

ที่สำคัญคือ ภาพที่นำมาแสดงนำหน้าบทความนี้ (ถ่ายมาจากผนังถ้ำ) ชายสองคนจับไหล่จับแขนแล้วสัมผัสจมูกกัน นักโบราณคดีที่ศึกษาจิตรกรรมอียิปต์ต่างสรุปว่านี่คือท่า "จุมพิต" ระหว่างสามี-ภรรยา, จะตีความอย่างอื่นไม่ได้. นักโบราณคดีบางท่านยังคัดค้านว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุป ชายสองคนนี้อาจจะเป็นพี่น้องหรือลูกแฝดที่รักกันอย่างสุดสุด ก็เป็นไปได้, ใครจะไปรู้?

ท่านผู้อ่านเห็นเป็นอย่างไร? ผมไม่รู้จะเชื่อใคร, แต่หากชายสองคนนี้ไม่เป็นพี่น้องกัน, ก็แสดงว่า ความรักร่วมเพศคงมีมาอย่างน้อยสี่พันปีและสังคมโบราณคงไม่เดือดร้อนหรือรังเกียจประการใด, ถึงบรรจุศพคู่รักชายกับชายไว้อย่างมีเกียรติเช่นนี้

ความส่งท้าย
คุณโมหิณี, แมวคู่ชีวิตผม, ปรารภตรงนี้ว่า "ไอ้ไมค์หาเรื่องใส่ตัวอีกแล้ว คอยดู, สัปดาห์หน้าจะต้องมีใครคนหนึ่งอุตส่าห์เขียนจดหมายด่าไมค์ว่า ส่งเสริมความประพฤติวิตถาร, บ่อนทำลายประเพณีอันดีงาม, ชักจูงเยาวชนให้รักร่วมเพศ ฯลฯ จิปาถะ"

เรื่องนี้ผมไม่กลัว, เพราะท่านผู้อ่านล้วนเป็นผู้ใหญ่ที่มีการศึกษากว้างลึก, มีวิจารณญาณ คิดเองเป็น ในบทความนี้ผมสนใจแต่เรื่องโบราณคดีและความรัก, ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างชายกับหญิง, ชายกับชาย, หรือหญิงกับหญิง. คนจะผูกรักกัน, ไม่ว่าจะต่างเพศหรือร่วมเพศ, ใครจะไปสนใจหรือเดือดร้อน? อย่างน้อยรักกันดีกว่าโกรธกันหรือทอดทิ้งกัน

อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับคุณโมหิณีอาจดูกระไรๆ อยู่, แต่อย่าลืมว่าคุณโมหิณีเป็นแมวตัวเมียครับ, จะถือเป็นความรักร่วมเพศได้อย่างไร?


 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

พวกบ้าศาสนา มักหาว่า เพศศึกษาชวนให้เด็กละเมิดศีลธรรม โดยลืมว่า พระศาสดาใหญ่ๆ (พระพุทธ, เยซู, มุฮัมหมัด) สอนศีลธรรมโดยเน้นหลักการใหญ่คือ ความยุติธรรมในสังคม อย่าเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกัน ท่านไม่หมกมุ่นกับเรื่องเพศ ขอชวนลองค้นพระคัมภีร์ทั้งสามดูสิว่า พระศาสดาว่าอย่างไร เกี่ยวกับการชักว่าวหรือตกเบ็ด... หากพระเยซูมาเยือนกรุงเทพฯ ท่านคงไปนั่งกินส้มตำกับโสเภณีริมถนนพัฒน์พงศ์โดยไม่เดือดร้อนหรือว่ากล่าวใคร แต่หากท่านไปรัฐสภา พระเยซูอาจจะมีวาจาเดือดร้อนว่าด้วยสังคมที่ปล้นชาวชนบทให้อนาถาจนลูกสาวต้องขายตัว

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R