Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University


คลำหาชีวประวัติรองผู้บัญชาการมาร์กอส
ชายไร้ใบหน้าหลังหน้ากากสกี : รองผู้บัญชาการมาร์กอส
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นักแปลและนักวิชาการอิสระ


บทความชิ้นนี้กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เรียบเรียง
เป็นการคลำหาความเป็นมาของรองผู้บัญชาการมาร์กอส
แม้จะมีคนที่เข้าถึงตัวเขาจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเขาเป็นใคร
มาร์กอสเป็นคนแรกๆที่เชื่อมโยงเรื่องของโลกาภิวัตน์กับปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นทั่วโลก
และในแวดวงวรรณกรรมได้มีการพูดถึงผลงานที่แหลมคมของเขาด้วยความประทับใจ
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
หมายเหตุ : ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1034
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)





ชายไร้ใบหน้าหลังหน้ากากสกี : รองผู้บัญชาการมาร์กอส
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง

ความนำ
9 กุมภาพันธ์ 1995 หนึ่งปีหลังจากกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าลุกฮือขึ้นก่อกบฏในรัฐเชียปาสของประเทศเม็กซิโก หลังจากกองทัพเม็กซิกันบุกเข้าบดขยี้และสังหารชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองใน 12 วันแรกของการปราบกบฏ หลังจากข้อตกลงหยุดยิง การเจรจาสันติภาพที่ล้มเหลว หลังจากซาปาติสต้าและรองผู้บัญชาการมาร์กอสกลายเป็นขวัญใจของชาวเม็กซิกันและนักเคลื่อนไหวทั่วโลก หลังจากชายคาบไปป์ใส่หน้ากากสกีครองความเป็นใหญ่บนจอทีวี บนหน้าหนังสือพิมพ์ ในโลกไซเบอร์สเปซของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และครองใจชาวเม็กซิกัน (โดยเฉพาะสาว ๆ) ยิ่งกว่านักการเมืองคนไหน รัฐบาลเม็กซิกันรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องยุติเรื่องทั้งหมดนี้เสียที

9 กุมภาพันธ์ 1995 ภายหลังรัฐบาลเม็กซิกันทุ่มเทกำลังทหารหลายหมื่นนายเข้าไปในเชียปาส และป่าลากันดอนเพื่อจับเป็นหรือจับตายมาร์กอส หลังจากตำนานร่ำลือที่ว่ารองผู้บัญชาการมาร์กอสหนีพ้นจากวงล้อมของทหารไปได้อย่างเหลือเชื่อ โดยเหลือแต่ไปป์ที่ยังมีควันกรุ่นทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า รัฐบาลเม็กซิกันคิดตกแล้วว่า การใช้กำลังเพียงอย่างเดียว นอกจากไม่ประสบผลสำเร็จแล้ว มันกลับทำให้ความนิยมและภาพพจน์ของรัฐบาลตกต่ำลงในสายตาของภาคประชาสังคมด้วย วิธีที่ดีกว่าคือฉีกหน้ากากมาร์กอสทิ้ง เปิดโปงว่าเขาเป็นใคร กระชากตำนานและความเร้นลับที่มีเสน่ห์เร้าใจให้พ้นไปจากตัวมาร์กอส และแฉโพยให้เห็นความเป็นปุถุชนสามัญของชายไร้ใบหน้าคนนี้

9 กุมภาพันธ์ 1995 ในห้องแถลงข่าวของกรุงเม็กซิโกซิตี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมปฏิบัติงานชิ้นสำคัญสุดยอด เขาทาบรูปถ่ายขาวดำของชายหนุ่มหน้าตาจืดชืดลงบนสไลด์ภาพใบหน้าสวมหน้ากากสกีของรองผู้บัญชาการมาร์กอส นั่นไงล่ะ! โฉมหน้าไร้เสน่ห์ของคล้าก เคนท์ รัฐมนตรีประกาศอย่างกระหยิ่มว่า มาร์กอสไม่ใช่ชายที่ตกลงมาจากสวรรค์ เขาเป็นแค่ผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่มีชื่อว่า ราฟาเอล เซบาสเตียน กุยเญน (Rafael Sebastian Guillen) ภูมิลำเนาเดิมมาจากเมืองท่าทัมปิโก ทางตอนกลางของประเทศเม็กซิโก

หากมาร์กอสคือราฟาเอล กุยเญน เขาย่อมเกิดในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1957 มาจากครอบครัวค้าเครื่องเรือนที่มีอันจะกิน ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เขาเป็นหนึ่งในนักศึกษา 5 คนที่ได้รับเหรียญเชิดชูความเป็นเลิศทางด้านปรัชญาและอักษรศาสตร์ จากประธานาธิบดีของเม็กซิโกในสมัยนั้น เขารับอุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับหลุยส์ อัลธุสแซร์ ซึ่งเป็นนักทฤษฎีมาร์กซิสต์ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญ

หลังจากเรียนจบ เขาเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย UAM (Universidad Autonoma Metropolitana) ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของอาจารย์นักศึกษาหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายที่นิยมคิวบา นิยมแซนดินิสต้า (ฝ่ายซ้ายในนิคารากัว) มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีการเรียนการสอนที่หลุดพ้นจากแบบแผนเดิม ๆ และมีแนวคิดแบบสหวิทยาการที่ไม่แบ่งแยกสาขาวิชาต่าง ๆ ออกจากกัน บรรยากาศทางความคิดที่นี่นิยมผสานทฤษฎีเข้ากับการปฏิบัติ อาจารย์ส่วนใหญ่คอยเตือนนักศึกษาให้คำนึงถึงความยากจนของประชาชน และความอยุติธรรมในเม็กซิโก

เป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการทำลายภาพพจน์อัศวินพเนจร ที่ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ของรองผู้บัญชาการมาร์กอส โดยฉีกหน้ากากเพื่อเปิดโปงใบหน้าจืด ๆ ของนักวิชาการมาร์กซิสต์เชย ๆ ดูเหมือนจะได้ผลสัก 72 ชั่วโมง สามวันต่อมา หนังสือพิมพ์ในเม็กซิโกซิตี้ได้รับสารหรือจดหมายเปิดผนึกจากมาร์กอสอีกครั้ง สารของมาร์กอสมักจะมีปัจฉิมลิขิตที่อ่านสนุกน่าสนใจเสียยิ่งกว่าตัวจดหมาย สารฉบับนี้มีปัจฉิมลิขิตตอนหนึ่งว่า:

ป.ล. ทั้งที่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยก็ยังไม่เลิกหลงตัวเอง: ว่าไง...รองผู้บัญชาการมาร์กอสรายใหม่หน้าตาดูได้หรือเปล่า? เพราะหลัง ๆ มานี้พวกเขาชอบยัดเยียดไอ้หนุ่มหน้าขี้ริ้วให้เป็นผมเสียจริง ๆ เชียว และทำลายบรรยากาศที่สาว ๆ เขียนจดหมายถึงผมหมด

[ลงชื่อ] เอล ซุป (คำเรียกตัวเองอย่างล้อเลียนของมาร์กอส) พลางขยับหน้ากากสกีด้วยมาดเข้มอย่างมีเสน่ห์

แค่ตวัดปลายปากกาไม่กี่ประโยค ความนิยมในตัวเขากลับคืนมาอีกครั้งทันที ไม่มีใครแยแสอีกต่อไปว่าใบหน้าหลังหน้ากากสกีนี้คือใคร

ความนิยมในตัวเอล ซุปไม่จำกัดเฉพาะชาวเม็กซิกันและนักเคลื่อนไหวทางสังคมเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงคนเด่นคนดังทั้งหลายในโลกทุนนิยม ในบรรดาฝูงชนที่แห่มาเยือนรัฐเชียปาสและปรารถนาจะได้พบกับรองผู้บัญชาการมาร์กอส ผู้ประกาศว่าตัวเองเป็นแค่โฆษกของกองทัพจรยุทธ์ชาวพื้นเมือง มีทั้งโอลิเวอร์ สโตน ผู้กำกับชื่อดัง, นักแสดงอย่างเอ็ดเวิร์ด เจมส์ โอลมอส, อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฝรั่งเศส ดานีแอล มิตเตอรองด์, นักรบกองโจรชาวฝรั่งเศสที่กลับลำมาเป็นที่ปรึกษารัฐบาลอย่าง เรอยิส เดอแบร, ไฮโซสาวเมียร็อคสตาร์อย่างเบียงก้า แจ็คเกอร์ก็โผล่มา แต่เธอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ เพราะเธอดันมากับโรเบิร์ต ตอร์ริเชลลี ผู้แทนในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกฎหมายคว่ำบาตรคิวบา

สถานีโทรทัศน์ซีบีเอสถ่ายทอดเรื่องราวของมาร์กอสออกรายการ 60 Minutes และคงไม่มีนักรบจรยุทธ์คนไหนในโลกอีกแล้ว ที่เบเนตตอง บริษัทเสื้อผ้าสำเร็จรูปของอิตาลี ยื่นข้อเสนออย่างงามเพื่อติดต่อให้เขาเป็นนายแบบโฆษณาเสื้อผ้าของบริษัท! (มาร์กอสปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย)

ไม่ว่ามาร์กอสจะเป็นราฟาเอล กุยเญนจริงหรือไม่ เขาก็คือนักรบอีกคนหนึ่งที่เป็นผลผลิตของอุดมการณ์สังคมนิยม ปัญญาชนผิวขาวที่ต้องการวัดรอยเท้าของเช เกวารา ความเพ้อฝันทางการเมืองอย่างที่เอล ซุปเองเรียกว่า "พิษไข้ฝัน"

กว่าจะเป็นรองผู้บัญชาการมาร์กอส: ราคาของพิษไข้ฝัน
ประมวลจากคำให้สัมภาษณ์ของตัวมาร์กอสเอง บวกกับข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้ มาร์กอสมาถึงป่าลากันดอนในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1983 โดยก่อนหน้านี้มีรุ่นพี่ร่วมอุดมการณ์เดินทางมา "ฝังตัว" ในเทือกเขานี้ก่อน ชายหญิงกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 8-12 คน แต่หลังจากผ่านไปไม่กี่เดือน คนกลุ่มนี้เหลืออยู่เพียง 4 คน มาร์กอสเคยกล่าวว่า ใน 4 คนนี้เป็นชาย 3 หญิง 1 และเป็นชาวพื้นเมืองสองคน พวกเขามุ่งหวังที่จะสร้างกองทัพจรยุทธ์ตามแบบเหมาเจ๋อตุง หรือฟิเดล คาสโตร โดยมีฐานมาจากชาวพื้นเมือง ในขณะเดียวกันก็กางตำราทหารของกองทัพอเมริกันเพื่อใช้ฝึกการรบ

"มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก" มาร์กอสรำลึกความหลังในสมัยแรก ๆ ที่เข้ามาอยู่ในป่าลากันดอน "โดยเฉพาะสำหรับคนที่มาจากในเมือง สิ่งเดียวที่ปลอบใจให้คุณอยู่รอดไปวัน ๆ คือความหวังว่าจะมีอะไรสักอย่างเกิดขึ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทุ่มเทลงไป มันเป็นความคาดหวังที่ไร้เหตุผล โง่เง่าอย่างที่สุด เพราะไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรโดยสิ้นเชิง ที่บอกว่าสิ่งที่เราทำอยู่จะสร้างผลลัพธ์อะไรขึ้นมา..."

ในความเชื่อของชาวพื้นเมือง ป่าดงดิบของลากันดอนเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า เป็นสถานที่ต้องห้าม แต่มาร์กอสค้นพบหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่านั้น เขาต้องทำความรู้จักกับพิษสงของยุงเชเชมหรือ "นางหญิงร้าย" ที่กัดแต่ละทีทำเอาเป็นไข้ไปหลายวัน เขาต้องเรียนรู้ถึงอันตรายของงูบักเนหรือ "ไอ้สี่จมูก" และทนกินเนื้องูเมื่อหาอาหารอื่นใส่ท้องไม่ได้อีกแล้ว เขาต้องฝึกที่จะไม่หลงทางในป่าดงดิบ ที่กิ่งก้านของต้นไม้แผ่ครึ้มประดุจร่มสีเขียวขนาดใหญ่ ต้องเดินทางไกลไปตามเส้นทางทุรกันดาร ท่ามกลางสายฝนหลายต่อหลายชั่วโมงโดยแบกเป้หนัก 40 กิโลไว้ที่หลังและไม่มีการหยุดพัก ต้องหัดรัดเข็มขัดและอดมื้อกินมื้อครั้งละหลาย ๆ วัน

จุดหักเหทางความคิดของมาร์กอสเกิดขึ้นเมื่อเขารู้จักกับดอนอันโตเนียว หมอผีผู้เฒ่าชาวเผ่ามายา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่เขาเข้ามาอยู่ในป่าลากันดอน มาร์กอสบอกว่าดอนอันโตเนียวเป็นคนที่ชักนำแกนนำของ EZLN (ชื่อย่อของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าในภาษาสเปน) ให้เข้าร่วมกับชุมชนชาวพื้นเมืองในปี ค.ศ. 1985

จากปากของดอนอันโตเนียว ได้หลั่งไหลตำนานปรัมปราของชาวเผ่ามายา ตำนานของเทพเจ้า ตำนานของคนผิวสีดิน ตำนานเหล่านี้ล้วนมีแก่นเรื่องอยู่ที่การยอมรับความแตกต่าง และไม่ลืมว่าความแตกต่างคือพื้นฐานของโลก. ความเข้มแข็งและอำนาจที่มาจากเบื้องล่าง ไม่ใช่จากเบื้องบน. เหตุผลเหนือการใช้กำลัง ฟังมากกว่าพูด ตั้งคำถามมากกว่าตอบ และยืนยันกับปัญญาชนเมสติโซผิวขาวว่า ในภาษาของชาวพื้นเมืองรัฐเชียปาส ไม่มีคำว่า "ยอมแพ้"

มาร์กอสเองก็ไม่ได้เป็นฝ่ายรับวิธีคิดของชาวพื้นเมืองแต่ถ่ายเดียว มันเป็นกระบวนการปะทะแลกเปลี่ยนทางความคิดที่ผลิดอกออกผลเป็นลัทธิที่เรียกกันว่า Zapatismo เขาผลักดันให้ชาวพื้นเมืองมองปัญหากว้างไกลออกไปจากบริบทแคบ ๆ ของตัวเอง รู้จักมองปัญหาท้องถิ่นผูกโยงเข้ากับปัญหาของระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ เปิดตัวเองเพื่อจับมือกับภาคประชาสังคมอื่น ๆ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต เป็นอาวุธสงครามในการต่อกรกับรัฐบาล

รองผู้บัญชาการมาร์กอส ยังคงยืนยันความเป็นฝ่ายซ้าย เพียงแต่เขาไม่ได้ประกาศด้วยคำขวัญหรือสูตรสำเร็จทางทฤษฎีที่มีแต่คำยาก ๆ เขาเพียงแต่พูดง่าย ๆ ว่า "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ธรรมชาติสร้างมนุษย์มาให้หัวใจตั้งอยู่ข้างซ้าย"

ชื่อ "มาร์กอส" เป็นชื่อจัดตั้ง ชาวซาปาติสต้าทุกคนจะมีชื่อจัดตั้ง หลายครั้งที่ชื่อจัดตั้งมักได้มาจากเกลอร่วมกองทัพที่เสียชีวิตในการรบ ว่ากันว่าชื่อ "มาร์กอส" ก็ได้มาเช่นนี้ แต่มีบางคนคิดไกลไปถึงขนาดว่า Marcos มาจากอักษรตัวต้นของเมืองหกเมืองที่ EZLN บุกเข้ายึดในการก่อกบฏวันที่ 1 มกราคม 1994 กล่าวคือ เมือง Margaritas, Altamirano, La Realidad, Chanal, Ocosingo และ San Cristobal

ส่วนตำแหน่ง "รองผู้บัญชาการ" ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาจนทุกวันนี้ มาร์กอสยืนยันหลายครั้งว่า EZLN อยู่ภายใต้การนำเป็นหมู่คณะของชาวพื้นเมือง เขาย้ำว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาพูดเป็นเพียงเสียงสะท้อนเจตจำนงของชาวซาปาติสต้า สารและแถลงการณ์ทุกฉบับจะต้องผ่านการเห็นชอบและลงนามโดยคณะกรรมการใต้ดินปฏิวัติของชาวพื้นเมือง (CCRI) ถึงขนาดมีข้อสันนิษฐานว่า มาร์กอสไม่สามารถไต่เต้าขึ้นไปสู่ระดับผู้บังคับบัญชาได้ เพราะเขาเป็นคนผิวขาว ซึ่ง
ขัดกับประเพณีพื้นเมืองที่คนระดับหัวหน้าต้องเป็นชาวอินเดียนแดงเท่านั้น

แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากไม่ยอมเชื่อ โดยเฉพาะสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกามักอุปโลกน์ให้เขาเป็นผู้นำของขบวนการตามวิธีคิดแบบเดิม ๆ ถ้าดูจากบทบาทตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของเขา (10 ปีก่อนการปฏิวัติและ 10 ปีหลังการปฏิวัติ) เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เขาน่าจะมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา (Comandante) มีบทบาทในกองทัพซาปาติสต้าพอสมควร มีอิสระพอที่จะเขียนสารและแถลงการณ์ที่สะท้อนบุคลิกภาพของตนอย่างเด่นชัด แต่เขาไม่ใช่ผู้นำที่มีอำนาจตัดสินใจขั้นเด็ดขาดใน EZLN

แล้วหน้ากากสกีล่ะมาจากไหน?
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งแรก หลังจากเขาตอบคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยคำพูดเล่น ๆ ว่า
"คนที่หล่อกว่าก็ต้องปกป้องตัวเองหน่อยสิ" เขาอธิบายต่ออย่างจริงจังดังนี้:

"เรื่องของเรื่องก็คือ ในกรณีนี้ นายทหารคือคนที่ใส่หน้ากาก ด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรก คือ เราต้องระวังการทำตัวเป็นพระเอก กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องไม่สร้างความเด่นให้ตัวเองมากเกินไป มันเป็นการทำตัวนิรนาม ไม่ใช่เพราะเรากลัว แต่พวกเขาจะได้ไม่มีทางติดสินบนเรา...เรารู้ว่าเรามีการนำเป็นหมู่คณะและเราต้องเชื่อฟังส่วนรวม... นั่นคือสิ่งที่ผมอยากให้คุณเข้าใจ ผมไม่ใช่ผู้นำตามแบบเก่า ไม่ใช่ผู้นำในภาพพจน์แบบนั้น

ประการที่สอง ภาพพจน์เดียวที่คุณน่าจะมีก็คือ คนที่ทำให้สิ่งนี้ (คือการปฏิวัติ) เกิดขึ้นคือคนที่ใส่หน้ากาก และจะต้องมีสักวันหนึ่งที่ประชาชนตระหนักว่า แค่มีศักดิ์ศรีก็เพียงพอแล้วและลุกขึ้นใส่หน้ากากพร้อมกับพูดว่า: เอาล่ะ ฉันก็ทำได้เหมือนกัน ฉันไม่จำเป็นต้องมีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น นี่คือความจริงและด้วยเหตุผล คุณไม่ควรเชื่อคำพูดที่ผมบอกว่าผมหล่อมาก เพราะนั่นเท่ากับผมกำลังโหมประโคมตัวเอง"

อำนาจวรรณกรรม
ตอนที่เอล ซุปเดินทางเข้าไปในป่าลากันดอนเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1983 เขาแบกหนังสือหลายเล่มใส่เป้หลังไปด้วย เปล่า มันไม่ใช่หนังสือทฤษฎีการเมือง แต่เป็นนิยายเสียมากกว่า นิยายของการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เควซ, มาริโอ บาร์กัส โญซ่า, ฮูลิโอ กอร์เตซ่า ฯลฯ เรื่องหนังสือนี้สร้างความขบขันให้สหายร่วมกบฏเป็นอย่างมาก พวกเขาตั้งใจสั่งสอนเมสติโซผิวขาวคนนี้โดยยืนยันว่า นอกจากหนังสือ มาร์กอสยังต้องแบกลูกปืน อาหารและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนของตัวเองเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ

หนุ่มชาวเมืองวัย 27 ได้เรียนรู้กฎข้อแรกของชีวิตการเป็นนักรบจรยุทธ์: "หลังจากผ่านไป 1 ชั่วโมง น้ำหนัก 1 กิโล หนักเหมือน 2 กิโล พอผ่านไป 2 ชั่วโมง มันหนักเหมือน 4 กิโลและคุณอยากจะโยนไอ้ของเฮงซวยพวกนี้ทิ้งไปให้หมด"

แต่ความสามารถของมาร์กอสในการทำให้หนังสือกลายเป็นเรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวาข้างกองไฟ ทำให้เกลอร่วมทัพเปลี่ยนใจ "ทุกครั้งที่ผมทิ้งหนังสือสักเล่ม ก็จะมีคนใดคนหนึ่งเสนอตัวมาแบกมันไปให้" ไม่นานนัก มาร์กอสก็กลายเป็นคนที่เพื่อนฝูงขาดไม่ได้ เขามีหน้าที่เขียนจดหมายรักให้เกลอนักรบกบฏทั้งหลาย

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ไม่ว่าชาวซาปาติสต้าจะมีการฝึกฝนทางทหารอย่างดีเยี่ยม มีความกล้าหาญ มีแผนการรบ มีระเบียบวินัย แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับกองทัพเม็กซิกัน เครื่องบินรบไอพ่น ปืนติดเลเซอร์ ไปจนถึงเครื่องบินทิ้งระเบิด ทหารชาวนาเหล่านี้แตกพ่ายหนีกระเจิดกระเจิงหัวซุกหัวซุนเข้าไปในป่าลากันดอน ดังที่เอล ซุปพรรณนาว่า "เราหนีจนแทบตะกายขอบฟ้า"

ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานนั้นเอง พูดได้ว่ามาร์กอสต่อกรกับกองทัพเม็กซิกันทั้งกองทัพเพียงคนเดียวโดด ๆ เขาเขียนแถลงการณ์ จดหมายเปิดผนึก บทกวี เล่านิทาน เล่าตำนาน ให้สัมภาษณ์ มันเป็นสงครามที่ปากกาด้ามเดียวสู้กับกองทัพเม็กซิกันทั้งกองทัพ (หรือพูดให้ถูกคือเวิร์ดโพรเซสเซอร์ เพราะมาร์กอสเขียนกับคอมพิวเตอร์) อย่างที่เขาพูดขำ ๆ ว่า

"งานของผมคือออกรบด้วยการเขียนจดหมาย"
ในสงครามแย่งชิงถ้อยคำ สงครามแย่งชิงมวลชน สงครามแย่งชิงทัศนคติของประชาชน รัฐบาลเม็กซิกันพ่ายแพ้ต่อเอล ซุปราบคาบ หมดรูป

มีอะไรในสารของมาร์กอสที่จับใจชาวเม็กซิกันและคนอีกมากมายทั่วโลก? ข้อเขียนของเขาเป็นการหลอมรวมของกวีนิพนธ์กับการเมือง การอุปมาอุปไมยที่แยบคายกับการเสียดสีที่แหลมคม เขาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยภาษาง่าย ๆ ที่ทุกคนเข้าใจ บางครั้งคมคาย บางครั้งโกรธเกรี้ยว บางครั้งลึกซึ้งจับใจ และไม่เคยขาดอารมณ์ขัน เขามักอ้างถึงงานเขียนตั้งแต่คลาสสิกจนถึงสมัยใหม่ ตั้งแต่เช็คสเปียร์จนถึงลูอิส แคร์รอล, อุมแบร์โต เอโก และบีตเทิ่ลส์, กรัมชีและเบรชท์ แน่นอน คนที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดคือ แซร์บันเตส ผู้ประพันธ์ดอน กีโฮเต้ อัศวินบ้าที่เอล ซุปบอกว่ามีอิทธิพลต่อเขาตั้งแต่ยังเด็ก

มาร์กอสผสมผสานภาษาภาพพจน์แบบตำนานปรัมปราของอินเดียนแดง ไว้ในแถลงการณ์ฉบับที่สอง เมื่อเดือนมิถุนายน 1994 "หันหน้าเข้าสู่เทือกเขา เราสนทนากับผู้ล่วงลับ เพื่อให้ถ้อยคำของพวกท่านนำทางเราไปตลอดเส้นทางที่เราต้องเดิน เสียงกลองสะท้อนก้องและในสุ้มเสียงของแผ่นดิน เราได้ยินความเจ็บปวดและประวัติศาสตร์ของเรา"

ใน The Story of Colors มาร์กอสใช้มุขปาฐะแบบพื้นบ้าน เล่าถึงต้นกำเนิดของสีต่าง ๆ "เทพเจ้าอีกตนหนึ่งกำลังค้นหาสี ก็พอดีได้ยินเสียงเด็กหัวเราะ เทพจับตัวเด็กคนนั้น คว้าเอาเสียงหัวเราะและปล่อยให้เด็กร้องไห้ นั่นคือสาเหตุที่คนพูดกันว่า เด็กชอบหัวเราะ แล้วอีกประเดี๋ยวก็ร้องไห้ เทพเจ้าขโมยเสียงหัวเราะของเด็กและตั้งชื่อสีที่เจ็ดว่าสีเหลือง" เมื่อเทพทั้งหมดเข้านอน เทพเจ้าติดสีทั้งเจ็ดสีที่เหลือไว้ที่หางนกแก้วมาคอว์ "เกลือกว่าผู้ชายกับผู้หญิงเกิดลืมไปว่าโลกนี้มีสีหลายสีและมีวิธีคิดหลายวิธี และโลกนี้ย่อมมีความสุข หากสีและวิธีคิดทั้งหมดต่างมีที่ทางของตัวเอง"

ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์ เอล ซุปแสดงให้เห็นถึงปฏิภาณไหวพริบที่ถูกอกถูกใจนักข่าวยิ่งนัก ครั้งหนึ่ง พอถูกถามว่ามันเป็นเรื่องเพ้อฝันไปหรือเปล่า ที่คิดว่าซาปาติสต้าจะบุกไปถึงกรุงเม็กซิโกซิตี้? เขาตอบว่า "เราไม่ได้อยู่ที่นั่นมาตั้งแต่วันที่สองมกราคมหรอกหรือ? เราอยู่ทุกหนแห่ง บนริมฝีปากของทุกคน-ในรถไฟใต้ดิน ในวิทยุ แม้แต่ธงของเรายังติดอยู่ที่จัตุรัสโซกาโลเลย" จัตุรัสที่ว่านี้ตั้งอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ลีลาที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัวอีกอย่างของเอล ซุปคือ การพูดที่ดูเหมือนขัดกันเอง แต่แฝงไว้ด้วยความจริงอย่างลึกซึ้ง ในจดหมายลงวันที่ 6 มีนาคม 1994 ซึ่งเขาเขียนตอบคำถามของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง "อยู่มาวันหนึ่ง พวกเราตัดสินใจเป็นทหาร เพื่อว่าสักวันหนึ่งจะได้ไม่จำเป็นต้องมีทหารอีกต่อไป นั่นคือ เราเลือกอาชีพที่เหมือนฆ่าตัวตาย เพราะเป้าหมายของอาชีพนี้คือการสาบสูญ ทหารที่เป็นทหารเพื่อว่าสักวันจะได้ไม่ต้องมีใครเป็นทหารอีก ชัดเจนมากเลย จริงไหม?"

แต่ไม่ใช่ว่าเอล ซุปจะรู้จักแต่ล้อเล่น เขายังคงเป็นปัญญาชนที่มองปัญหาได้เฉียบขาด เป็นปัญญาชนคนแรก ๆ ที่วิจารณ์โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงมันเข้ากับความยากจนของประชาชนในซีกโลกใต้ "หลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน มหาอำนาจตนใหม่ผุดโผล่ขึ้นมา โดยได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ แม้ว่าผู้ชนะรายใหญ่ในสงครามเย็น (ซึ่งเราขอเรียกว่าเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม) คือสหรัฐอเมริกา แต่มีมหาอำนาจตนใหม่เริ่มอุบัติขึ้นมาเหนือฝ่ายชนะและครอบงำฝ่ายชนะไว้ นั่นคือ มหาอำนาจทางการเงินที่เริ่มออกคำบัญชากำกับโลกทั้งโลก นี่ทำให้เกิดสิ่งที่เรามักเรียกกันกว้าง ๆ ว่า โลกาภิวัตน์

สำหรับโลกาภิวัตน์ อุดมคติคือทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่บริษัทเดียว มีกรรมการบริหารประกอบด้วยไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก กลุ่มประเทศโออีซีดี (องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ดับเบิลยูทีโอ และประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในสถานการณ์แบบนั้น รัฐบาลของประเทศอื่น ๆ จะมีหน้าที่เหลือเพียงแค่เป็นตัวแทนของกรรมการบริหาร จะเรียกว่า ผู้จัดการท้องถิ่นก็ได้"

ภาษาของเขาเป็นความแปลกใหม่ในการเมือง เป็นวิธีการใหม่ในการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการผสมเสียงหัวเราะเข้ากับความแน่วแน่ ผสานความทะลึ่งตึงตังเข้ากับความจริงจัง ดึงตำนานให้มาบรรจบกับโลกสมัยใหม่ ภาษาในแบบของเอล ซุปนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจแก่นักประท้วงทั่วโลก ขบวนประท้วงองค์กรโลกบาลที่สนุกสนานราวกับงานคาร์นิวัลย่อย ๆ การแสดงความขัดขืนต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่ด้วยละครข้างถนน ดนตรี การเต้นรำ การล้อเลียนป้ายโฆษณาของบรรษัทยักษ์ใหญ่ ฯลฯ นี่คือการแปลภาษาแบบเอล ซุปให้กลายเป็นภาษาของการปฏิบัติ การประท้วงที่ดูเหมือนล้อเล่น แต่ก็จริงจัง กัดไม่ปล่อยเพียงพอที่จะตามไปประท้วงทุกหนแห่งในโลก!

มาร์กอส : กับคนในโลกวรรณกรรม
ในโลกวรรณกรรม โดยเฉพาะในภาษาสเปน มาร์กอสถือเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง ภาษาที่เขาใช้คือ ภาษาของคนที่ลุ่มลึกในภาษาสเปนคลาสสิก แต่บิดผันมันมาผสมกับภาษาสเปนแบบอินเดียนแดง จนก่อให้เกิดท่วงทำนองและจังหวะลีลาใหม่ เขาเป็นที่นิยมยกย่องอย่างสูงในหมู่นักเขียนละตินอเมริกาและยุโรปที่ใช้ภาษาสเปน โดยเฉพาะกลุ่มนักเขียนที่มีสำนึกทางสังคมเข้มข้น

- ออคตาเบียว ปาซ (Octavio Paz) นักเขียนรางวัลโนเบลของเม็กซิโก ที่แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับขบวนการซาปาติสต้าเท่าไรนัก ก็ยังยอมรับว่างานเขียนของมาร์กอสเป็น "ร้อยแก้วที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและมีชีวิตชีวามาก"

- การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เควซ นักเขียนรางวัลโนเบลของโคลอมเบียบอกว่า ซาปาติสต้าทำให้เขาอยาก "เอาหนังสือที่ผมเขียนทั้งหมดไปโยนทิ้งทะเล" เขาดั้นด้นไปถึงเม็กซิโกซิตี้เพื่อสัมภาษณ์รองผู้บัญชาการมาร์กอสในวาระที่เขาเดินทางครั้งประวัติศาสตร์เข้าสู่เมืองหลวงเมื่อปี ค.ศ. 2001

- โฮเซ่ ซารามาโก นักเขียนรางวัลโนเบลชาวโปรตุเกส ยิ่งกว่าเต็มใจเขียนคำนำให้หนังสือชื่อ Our Word is Our Weapon ที่รวบรวมงานเขียนของมาร์กอส และปวารณาตัวว่าจะช่วยเหลือซาปาติสต้าทุกอย่างเท่าที่ทำได้

- การ์ลอส ฟูเอนเตส (Carlos Fuentes) นักเขียนนิยาย นักเขียนบทภาพยนตร์ นักปราชญ์และนักการทูตชาวเม็กซิกัน รวมทั้งเป็นนักวิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคละตินอเมริกา กล่าวถึงมาร์กอสว่า "เขาเป็นคนดี ไม่มีข้อกังขา เขาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ ผมชื่นชมเขา นิยมยกย่องเขาและกล้าพูดอย่างเปิดเผยด้วย"

- เอดัวร์โด กาเลอาโน (Eduardo Galeano) นักเขียนชื่อดังชาวอุรุกวัยที่เคยกล่าวปราศรัยสนับสนุนซาปาติสต้าในเมืองลา เรอัลลิดัด กล่าวว่า "ผมมาที่นี่เพื่อสนับสนุนชาวซาปาติสต้า เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยความมดเท็จ ผมเชื่อและไว้วางใจในตัวพวกเขา"

ยังไม่นับการ์ลอส มองซีบาอิส (Carlos Monsivais) นักเขียน นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมมากคนหนึ่งในเม็กซิโก และมานูเอล บาซเควซ มองตัลบัน (Manuel Vazquez Montalban) กวีและนักเขียนนิยายนักสืบชื่อดังของสเปน ก็เคยสัมภาษณ์มาร์กอสเช่นกัน (โดยเฉพาะรายหลัง นอกจากข้ามน้ำข้ามทะเลมาแล้ว ยังแบกไส้กรอกมาฝากเอล ซุปอีก 4 กิโลด้วย)

ถ้าหากคุณยังอยากรู้ว่ามาร์กอสคือใคร คำตอบของเอล ซุปคงช่วยให้หายสงสัย "...หากสิ่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างที่เรามุ่งหวังและสิทธิของชาวอินเดียนแดงได้รับการรับรองในที่สุด มาร์กอสจะเลิกเป็นรองผู้บัญชาการ เลิกเป็นผู้นำ เลิกเป็นตำนาน...ผู้คนทั้งหลายจะตระหนักว่า อาวุธสำคัญของซาปาติสต้าไม่ใช่ปืน แต่คือถ้อยคำ และเมื่อฝุ่นที่คลุ้งขึ้นมาจากการลุกฮือของเราซาลงไปแล้ว ประชาชนจะค้นพบสัจธรรมง่าย ๆ ประการหนึ่ง นั่นคือ ในกระบวนการต่อสู้และครุ่นคิดทั้งหมดนี้ มาร์กอสเป็นแค่นักต่อสู้อีกคนหนึ่งเท่านั้นเอง นั่นคือเหตุผลที่ผมพูดเสมอว่า

'หากคุณอยากรู้ว่ามาร์กอสเป็นใคร อยากเห็นคนที่ซ่อนอยู่หลังหน้ากาก จงหยิบกระจกขึ้นมาและส่องดูตัวเอง ใบหน้าที่คุณเห็นในกระจกนั่นแหละคือโฉมหน้าของมาร์กอส เพราะเราทุกคนคือมาร์กอส'"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


----------------------
รองผู้บัญชาการมาร์กอส

เรียบเรียงจาก

Subcomandante Insurgente Marcos, Our Word is Our Weapon, (edited by Juana Ponce de Le?n), New York: Seven Stories Press, 2002.

Tom Hayden (edit.), The Zapatista Reader, New York: Thunder's Mouth Press/Nation Books, 2002.

บทสัมภาษณ์และข้อเขียนส่วนใหญ่ของรองผู้บัญชาการมาร์กอสหาอ่านได้ใน http://flag.blackened.net/revolt/zapatista.html

บทแปลคำสัมภาษณ์ระหว่างการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เควซ และรองผู้บัญชาการมาร์กอส อ่านได้ที่เว็บไซท์วิทยาลัยวันศุกร์ http://www.fridaycollege.org/index.php?file=forum&obj=forum.view(cat_id=tr-war,id=31)

บทแปลงานเขียนของมาร์กอส "เรื่องเล่าของดอนอันโตเนียว: ตำนานของคำถาม" ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่มาร์กอสพบกับดอนอันโตเนียวเป็นครั้งแรก อ่านได้ในนิตยสาร SCALE ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 มีนาคม-เมษายน 2547

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard (1)
webboard (2) ธนาคารนโยบายประชาชน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



130949
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be w rought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
คลำหาชีวประวัติของรองผู้บัญชาการมาร์กอส
บทความลำดับที่ ๑๐๓๔ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
เขายังคงเป็นปัญญาชนที่มองปัญหาได้เฉียบขาด เป็นปัญญาชนคนแรก ๆ ที่วิจารณ์โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงมันเข้ากับความยากจนของประชาชนในซีกโลกใต้ "หลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน มหาอำนาจตนใหม่ผุดโผล่ขึ้นมา โดยได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ แม้ว่าผู้ชนะรายใหญ่ในสงครามเย็น (ซึ่งเราขอเรียกว่าเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม) คือสหรัฐอเมริกา แต่มีมหาอำนาจตนใหม่เริ่มอุบัติขึ้นมาเหนือฝ่ายชนะและครอบงำฝ่ายชนะไว้ นั่นคือ มหาอำนาจทางการเงินที่เริ่มออกคำบัญชากำกับโลกทั้งโลก นี่ทำให้เกิดสิ่งที่เรามักเรียกกันกว้าง ๆ ว่า โลกาภิวัตน์
สำหรับโลกาภิวัตน์ อุดมคติคือทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่บริษัทเดียว มีกรรมการบริหารประกอบด้วยไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก กลุ่มประเทศโออีซีดี (องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ดับเบิลยูทีโอ และประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในสถานการณ์แบบนั้น รัฐบาลของประเทศอื่น ๆ จะมีหน้าที่เหลือเพียงแค่เป็นตัวแทนของกรรมการบริหาร จะเรียกว่า ผู้จัดการท้องถิ่นก็ได้"

 

จากปากของดอนอันโตเนียว ได้หลั่งไหลตำนานปรัมปราของชาวเผ่ามายา ตำนานของเทพเจ้า ตำนานของคนผิวสีดิน ตำนานเหล่านี้ล้วนมีแก่นเรื่องอยู่ที่การยอมรับความแตกต่าง และไม่ลืมว่าความแตกต่างคือพื้นฐานของโลก. ความเข้มแข็งและอำนาจที่มาจากเบื้องล่าง ไม่ใช่จากเบื้องบน. เหตุผลเหนือการใช้กำลัง ฟังมากกว่าพูด ตั้งคำถามมากกว่าตอบ และยืนยันกับปัญญาชนเมสติโซผิวขาวว่า ในภาษาของชาวพื้นเมืองรัฐเชียปาส ไม่มีคำว่า "ยอมแพ้"