Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

พื้นที่ของผู้หญิงในสามจังหวัดภาคใต้
วันนี้ของผู้หญิงมลายูมุสลิม ในสามจังหวัดชายแดนใต้
จัดโดย : เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
และ คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายการเสวนานี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ณ วิทยาลัยอิสลาม มอ.ปัตตานี
หัวข้อ "ชีวิตผู้หญิงมลายูมุสลิม : มายาคติและความเป็นจริง"
นำเสนอความเป็นมาโดย คุณศิริพร สโครบาเนค
เปิดมุมมองโดย รศ.ดร.รวิวรรณ ชอุ่มพฤกษ์, อาจารย์มาเรียม สาเมาะ, ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ, ดร.มะรอนิง สาแลมิง,
ดำเนินรายการโดย คุณโซรยา จามจุรี
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1012
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 25.5 หน้ากระดาษ A4)





วันนี้ของผู้หญิงมลายูมุสลิม ใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้
จัดโดย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ และ
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายการเสวนานี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ณ วิทยาลัยอิสลาม มอ.ปัตตานี จัดโดย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ และ
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หัวข้อ ชีวิตผู้หญิงมลายูมุสลิม : มายาคติและความเป็นจริง
นำเสนอความเป็นมาโดย
คุณศิริพร สโครบาเนค
เปิดมุมมองโดย รศ.ดร.รวิวรรณ ชอุ่มพฤกษ์, อาจารย์มาเรียม สาเมาะ, ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ, ดร.มะรอนิง สาแลมิง,
ดำเนินรายการโดย คุณโซรยา จามจุรี


ความนำ
สืบเนื่องจากเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ คณะทำงานวาระทางสังคมกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ได้ทำงานคลุกคลีกับผู้หญิงผู้ถูกกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงมาระยะหนึ่ง และบันทึกเรื่องราวของผู้หญิงสามจังหวัดภาคใต้ จัดทำเป็นหนังสือ "ชีวิตที่หลงเหลือกับรอยยิ้มหลังหยาดเลือด" ซึ่งได้รับความสนใจจากสังคมไทยในการรับรู้ถึงเรื่องราว ความยากลำบากของชีวิตผู้หญิงมลายูมุสลิมในฐานะที่เป็นเมีย เป็นแม่ และเป็นลูกสาว

อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงสะท้อนจากพี่น้องมุสลิมบางท่านว่า เนื้อหาบางส่วนนั้นไม่ใช่หลักของอิสลาม และเกรงว่าจะทำให้สังคมส่วนใหญ่เข้าใจอิสลามไม่ถูกต้อง เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพเห็นความสำคัญของข้อท้วงติงดังกล่าว และเห็นว่าควรจะเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยน และเสริมสร้างความเข้าใจในสถานะและบทบาทของผู้หญิงมลายูให้มากขึ้น เพื่อนำสู่ความร่วมมือในการทำงานช่วยเหลือและเยียวยา ผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานเยียวยาผู้หญิง ครอบครัว และชุมชน ดังนั้นจึงได้จัดเสวนาเรื่อง "วันนี้ของผู้หญิงมลายูมุสลิมในชายแดนใต้ ในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ณ. วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี

อิสมาแอล อาลี : ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลาม
กล่าวต้อนรับ - ท่านผู้มีเกียรติ ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน นี่เป็นเกียรติของวิทยาลัยอิสลามที่ได้รับเป็นเจ้าภาพ และได้ต้อนรับโดยใช้สถานที่ของวิทยาลัยอิสลาม ในการเสวนาเรื่องที่เกี่ยวกับสตรี "วันนี้ของผู้หญิงมลายูในชายแดนภาคใต้" ก็คือความจริง เรื่องเกี่ยวกับสตรีและศาสนาอิสลาม สตรีมลายูมุสลิมภาคใต้มีมิติที่แตกต่างหลากหลาย มิติทางศาสนา มิติทางด้านสังคม มิติทางด้านเชื้อชาติ สัญชาติต่างๆ เหล่านี้ ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วก็รู้สึกว่ามีความประทับใจมากๆ ในเรื่องพูดถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของผู้หญิง โดยไม่พูดว่าสามีเป็นใคร เป็นข้าราชการ เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นชาวบ้านอะไรต่างๆ

แต่ผลที่ได้รับ คนที่เป็นเหยื่ออย่างแท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้น คนที่จากไปก็จากไป แต่คนที่ต้องรับกรรมต้องแบกภาระอันมากมายต้องดูแลลูก ผมอ่านแล้วก็รู้สึกซาบซึ้ง และถ้าหากว่า นำเรื่องแบบนี้ไปเผยแพร่ต่อทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ให้ทราบถึงจุดตรงนี้ เขาอาจจะไตร่ตรอง คิดแล้วคิดอีก ตอนที่จะไปทำอะไรหรือไปทำร้ายอะไรใคร ผมว่าเพราะถ้าเขามีเจ้าของตามที่หนังสือเล่มนี้บอก อาจจะเป็นลูกเล็กๆ ที่อยู่ แล้วก็ใครจะรับผิดชอบต่อคนเหล่านี้ เป็นมิติที่น่าสนใจมากๆ น่าจะเอาประเด็นสตรี เคราะห์กรรม ความยากลำบากของสตรีที่ได้รับจากเหตุร้ายไม่ว่าใครจะเป็นผู้กระทำ เป็นผู้ถูกกระทำก็ตาม ส่วนความหมายก็คือไปลงที่ผู้อ่อนแอ แต่ตรงนี้ผู้ที่รับกรรม ก็ถูกมองข้ามไปไม่มีใครสนใจมอง วันนี้ตายคนหนึ่ง เมื่อวานนี้ตายสองคน อะไรอย่างนี้ แต่คนที่รับภาระอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาที่ไม่มีที่สิ้นสุดเราไม่คำนึงเราไม่คิด

อันนี้เป็นสิ่งที่ผมยกย่องสรรเสริญเครือข่ายฯ เป็นอย่างมาก น่าจะได้รับการเผยแพร่ ในสิ่งต่างๆ ที่ทางเครือข่ายได้กระทำ ให้เกือบทุกฝ่ายได้สำนึก ได้ตั้งตัวคิดว่าสิ่งที่เราทำเพื่ออะไร และยอมรับบาปกรรมอันแท้จริงจากการกระทำของเรา อันนี้ผมมีความซาบซึ้งในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นมุสลิม ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่มักจะมองข้ามในประเด็นนี้ ที่ได้ทำอะไรมักจะนึกผลที่จะเกิดขึ้นที่ทันตาได้เห็น แต่ผลที่มันจะตามมาเป็นระยะเวลา เป็นสิบปี มักจะมองข้ามไม่ได้ทำอะไรเลย หนังสือเล่มนี้ผมอ่านแล้วเป็นหนังสือที่มีความสำคัญ และควรจะได้รับการเผยแพร่ไปยังทุกฝ่าย และควรจะรณรงค์ให้มีคนอ่านหนังสือเล่มนี้มากๆ

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นหนังสือที่ใช้ความพยายาม แต่ก็มีบางอย่างเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถ้าว่าเมื่อไหร่ที่เกี่ยวกับอิสลามแล้วควรที่ระวัง และกำลังเป็นข่าวที่ใหญ่โตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พูดเกี่ยวกับอิสลาม พูดถึงมุสลิมแต่อาจจะมีประเด็นที่จงใจ หรือไม่จงใจก็แล้วแต่ ในการที่จะบิดเบือนจากหลักการที่แท้จริง ก็อาจจะผิดพลาด ที่เราน่าจะปรับอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้เผยแพร่ได้อย่างดีมากๆ คิดว่าประเด็นนี้น่าจะเผยแพร่ และน่าจะให้ทุกคนได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ผู้ใหญ่ ทหาร ตำรวจ และชาวบ้าน ถ้าคนที่อ่านภาษาไทยไม่ได้น่าจะแปลเป็นภาษามลายู เขาจะได้อ่าน มันบอกมันสะกิดใจผู้คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรก็นึกถึงแล้ว

ภาพที่เกิดขึ้นในสังคม ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นมุสลิม หรือไม่เป็นมุสลิม ก็เกิดขึ้นจากการกระทำของคน โดยที่หนังสือไม่ได้บอกว่า ใครเป็นผู้ร้าย ใครไปก่อการอะไร จะพูดถึงเฉพาะคนที่ได้รับเคราะห์กรรมอย่างแท้จริงเท่านั้น อันนี้ผมก็ยินดีด้วยในการที่วันนี้วิทยาลัยได้รับโอกาสในการจัดเสวนาครั้งนี้

ศิริพร สโครบาเนค
สวัสดีคะ ขอขอบคุณอาจารย์ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลาม สำหรับข้อคิดเห็นกับหนังสือเล่มนี้ ก็อยากจะเล่าเรื่องความเป็นมาของเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และพวกผู้หญิงจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของหน่วยงาน หรือที่เป็นคนอิสระ รู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะอยู่เฉยๆ ได้ เราต้องทำอะไรกับความไม่เรียบร้อยกับความไม่สงบที่เกิดขึ้น จึงได้มีการจัดพูดคุยและเชิญพี่น้องภาคใต้ และก็เลยตัดสินใจที่จะจัดตั้งเป็นเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ มีสมาชิกจำนวนหนึ่ง และหลังจากนั้นเราก็จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น การลงมาเยี่ยมพี่น้องทางภาคใต้ ก็เห็นความทุกข์ยากของพี่น้องที่นั่น เสียสามีหรือสมาชิกในครอบครัว หลังจากนั้นก็ได้มีการทำกิจกรรมเยียวยา

วัตถุประสงค์อันหนึ่ง ก็เพื่อที่จะมีพื้นที่ซึ่งผู้หญิงสามารถที่จะเล่าเรื่องราวได้อย่างปลอดภัย และเราก็อยากจะให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม เพราะเราก็เป็นคนไทยด้วยกัน เป็นผู้สูญเสียเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเป็นผู้สูญเสียอาจจะเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะให้ผู้หญิงเห็นความทุกข์ยากของกันและกัน และอาจจะเป็นพื้นฐานในการสร้างความปรองดองกันต่อไป

เพราะฉะนั้นเนื้อหาในหนังสือ ก็ได้มาจากการแลกเปลี่ยน จากกิจกรรมอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งเราต้องการจะให้ผู้หญิงได้ระบายเล่าเรื่องของตัวเอง หลังจากนั้นก็สร้างความเข้มแข็ง มีเวทีที่สามารถจะเรียกร้องความต้องการ และคิดว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ เป็นความพยายามของไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะฉะนั้น เครือข่ายฯ จะเป็นคนอำนวยความสะดวกเป็นคนจัดพื้นที่ เพื่อให้ผู้หญิงได้เรียกร้อง ได้เข้าถึงกระบวนการความยุติธรรมต่างๆ เพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองมีพลัง ไม่ใช่เป็นเหยื่อแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นผู้ที่สามารถจะจัดการแก้ไข คุมชะตากรรมของตนเองและของสมาชิกในครอบครัว และก็ของชุมชนของสังคมได้

นอกจากนั้นก็ได้มีการจัดให้ความช่วยเหลือด้วย ในการไปเยี่ยมบ้านให้ความช่วยเหลือ ให้ผู้หญิงมีการส่วนในการตัดสินใจ และก็ล่าสุดหลังจากมีมหกรรมสันติภาพ ก็ทำให้เกิดความคิดที่จะสร้างเครือข่าย ในมหกรรมสันติภาพมีสิ่งที่ดีที่ว่า ผู้หญิงที่ประสบกับความทุกข์พอได้ฟังเรื่องราวของผู้หญิงชายขอบกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่น ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย แล้วเขาก็รู้สึกว่ามีคนที่แย่กว่าเขาอยู่อีกในสังคมไทย และก็น่าจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

โครงการต่อไปของเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ คือการที่จะจัดการเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยน ให้ผู้หญิงมุสลิมในภาคใต้ได้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนพี่น้องทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นชนชายขอบที่ต้องต่อสู้แม้แต่ความเป็นตัวตนของตนเองสิทธิพลเมือง สัญชาติก็ไม่ได้รับ จะเคลื่อนย้ายจะเคลื่อนที่ก็ยากลำบาก เพราะฉะนั้น การที่มีการได้แลกเปลี่ยนก็จะได้ให้เห็นว่า ตัวเองแต่ละคนตกอยู่ในสภาพยังไง และความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันต่อไป

ทีนี้กลับมาถึงหนังสือเล่มนี้ เป็นจุดประสงค์อันหนึ่งของเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ว่าอยากจะเล่าเรื่องราวที่ผู้หญิงได้แบ่งปันในพื้นที่ที่เราได้ทำขบวนการเยียวยา และไปเยี่ยมเยียนเขา แล้วทำเป็นหนังสือออกมา ตอนแรกคิดว่า เป็นหนังสือพ๊อกเก็ตบุ๊ค เล่าเรื่องความเป็นมา ความรุนแรง ซึ่งทั้งหมดก็มาจากชีวิตของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของรัฐ หรือฝ่ายที่รัฐมองว่าเป็นผู้ก่อการ และก็เรียบเรียงชีวิตของเขาเหล่านั้นมา

มีหลายๆ อย่าง ที่ผู้หญิงเล่าเรื่องให้เราฟังเราก็รู้สึกว่า ถ้าเขียนออกไปมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น คนเขียนก็เซ็นเซอร์ไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีหลุดออกมาที่ตรงนี้ ซึ่งจริงๆ จุดประสงค์เราต้องการที่จะให้สังคมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ได้ตระหนักถึงความทุกข์ยากของคนที่สูญเสีย และก็จะเห็นว่าการใช้ความรุนแรง กระสุนที่มันแล่นไปมันคร่าชีวิตของคน และเขาทุกข์ยากยังไง นี่คือจุดประสงค์ที่ต้องการ

สิ่งที่ผู้หญิงเล่า ซึ่งเป็นหน้า 13 ที่มีปัญหา ก็ไม่ทราบว่าตรงไหน อย่างเช่นที่บอกว่าใช้เส้นผมรองรับให้สามีเช็ดเท้า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้หญิงเล่า แต่ตอนนี้ไม่มีใครทำแล้ว คิดว่าผู้หญิงปัจจุบันก็คงจะไม่มีใครทำอย่างนั้นแล้ว แต่คือสิ่งที่เขาเล่า ดิฉันรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ก็ได้เขียนบอกว่า เป็นการนำเสนอแบบพรรณา หรือเป็นกลอน ซึ่งสะเทือนใจบ้าง แต่จุดประสงค์ไม่ต้องการที่จะให้เกิดบาดหมาง หรือความระคายเคืองกับพี่น้องชาวมุสลิม และหลังจากทำหนังสือนี้ออกมาแล้ว ก็ได้เชิญพี่น้องผู้หญิงที่ได้เคยร่วมกิจกรรมแรกๆ มาพูดคุยที่กรุงเทพฯ เขาก็บอกว่า พอใจในหนังสือเล่มนี้ และทุกคนสามารถที่จะระบุได้ว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องตัว และก็รู้สึกว่าอันนี้ดี ก็ไม่มีใครพูดถึงว่า หน้าที่ 13 มันเป็นสิ่งที่แย่มาก

เราได้ใช้เรื่องนี้ในการบอกเล่าเรื่องราว และทำเป็นละครนำเสนอบนเวที ซึ่ง อ.เสาวนีย์ ก็ไปด้วย ผู้ร่วมเวทีก็รู้สึกสะเทือนใจมาก และรู้สึกถึงปัญหาและสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น ถ้ามองว่าจะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการที่จะทำให้เข้าใจสภาพปัญหาอันนี้ แต่ถ้าหากว่ามีประเด็น แต่ก็ไม่คิดว่าจะรุนแรงมาก แล้วก็เพิ่งมารู้ตอนที่มีมหกรรมสันติภาพว่า หนังสือเล่มนี้ห้ามเผยแพร่ห้ามจำหน่ายจ่ายแจก ซึ่งอันนี้ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการ พวกเราทำงานอยากที่จะให้มีสันติสุขในทุกส่วน อยากที่จะมีส่วนร่วมในการที่จะลบรอยน้ำตารอยเลือด หรือความยุ่งยากร่วมกับพี่น้องทางภาคใต้ เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นสิ่งที่เลวร้าย เราคงจะไม่ทำเหมือนอย่างที่การ์ตูนล้อเลียนพระศาสดาในเดนมาร์กทำ และก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นในประเทศไทย

อาจจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะคิดว่าการที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น จะต้องมีบทสนทนาแลกเปลี่ยน และทั้งสองฝ่ายก็ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน มีพื้นที่ที่ปลอดภัยที่เราจะคุยกันได้ เพื่อที่จะสร้างความสามัคคี ความสมานฉันท์ เพื่อไม่ให้เกิดความบาดหมาง และยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะดิฉันก่อนจะเขียนหนังสือเล่มนี้ ก็ได้อ่านหนังสือหลายๆ เล่ม ถามเช็คข้อมูล

รวิวรรณ ชอุ่มพฤกษ์
สิ่งที่อยู่ในหนังสือที่คุณศิริพรได้พูด เชื่อว่าชาวบ้านพูดอย่างนั้นจริงๆ ยังไงก็ตามเรื่องที่ดิฉันจะเล่านี้ มันจะมีบ้างในบางประเด็นที่เป็นเรื่องของชาวบ้านที่ไม่ถูกหลักการทางศาสนา แต่มันก็เป็นชีวิต ซึ่งเชื่อว่าทุกคนไม่ว่านับถือศาสนาใด ในการดำเนินชีวิตของเราเองมันมีการก้าวพลาดไปบ้าง แม้ดิฉันเองก็เคยทำผิดซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการเช่นเดียวกัน

ในส่วนของบทบาทของผู้หญิง เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผู้หญิงมุสลิมในหมู่บ้านรูสะมิแลนี่เอง ซึ่งในความเป็นผู้หญิงในฐานะลูกสาว หรือในฐานะภรรยา แม่ อย่างนี้ ผู้หญิงก็ทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ แล้วก็เรื่องการเปลี่ยนแปลง เรื่องอะไรต่างๆ ผู้หญิงที่เคยออกไปนอกหมู่บ้าน ออกไปทำงานนอกบ้านเพราะเศรษฐกิจผลักเขาออกมา เพราะฉะนั้นก็เริ่มจากการทำงานคัดปลาที่แพปลา อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เปลี่ยนบทบาทของผู้หญิง ที่เขารู้สึกว่าเขาสามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ หรือเขาจะเป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนต้องเชื่อฟังพ่อ พ่อว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น อันนี้ไม่ได้หมายความว่าพอออกมาทำงานนอกบ้านแล้วจะไม่เชื่อใคร แต่จะชี้ประเด็นให้เห็นว่าผู้หญิงได้เปลี่ยนฐานะหรือบทบาทไป

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำเมื่อปี 1990 เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ตรงนั้นเราก็ดูความเปลี่ยนแปลงผู้หญิงบ้านรูสะมิแล โดยใช้งานหลักของเจมส์ สเปนเซอร์ เข้ามาวิจัย ในช่วงก่อนปี 1990 และในช่วงนั้น ตรงนี้ก็เห็นชัดว่าในสมัยนั้นการประมงเป็นหัวจิตหัวใจของชาวบ้าน เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เรือหนึ่งลำ คนหลายๆ คนเป็นเจ้าของ และก็มีการแบ่งปันกัน ประเด็นนี้เห็นมากๆ ในชาวบ้านจะคิดเรื่องแบ่งปันกันมาก

อย่างเช่นคนในเรือ ตำแหน่งต่างๆ คล้ายกับว่าบทบาทในการจับปลาของคนในเรือ ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้นผลที่ได้ก็จะแบ่งให้เท่ากัน คือแบ่งไปตามความสำคัญของคนในเรือ โดยหลักการนี้เขายึดกันมาโดยตลอด ซึ่งรู้สึกว่าตรงนี้เป็นเหมือนกับอะไรที่มันอยู่ในชีวิตของชาวบ้าน เพราะฉะนั้นผู้หญิงก็มีหน้าที่ไปเอาปลาเอาหอยออกจากอวน แล้วก็เอาไปขาย เมื่อก่อนก็ไปขายที่ตลาด ตอนนี้ก็มีเถ้าแก่มารับซื้อไป

เวลาผ่านไป ในที่สุดการทำงานเป็นกลุ่มก็ค่อยๆ ลดลงไปเพราะว่า มีเรือยนต์เข้ามามีอะไรต่างๆ เข้ามา เรือซึ่งลำหนึ่งเป็นเจ้าของหลายคน ในระยะหลังมันกลายเป็นครัวเรือนเป็นเจ้าของ ผู้หญิงก็เข้ามามีบทบาทมาก ซึ่งเมื่อก่อนเป็นข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงลงเรือ นึกถึงรถบรรทุกของคนไทยผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ขึ้นไปเพราะถือว่าซวย อันนี้ไม่รู้เขาคิดอย่างนั้นหรือเปล่า แต่พอเรือเป็นเจ้าของโดยครัวเรือนก็เห็นว่า สามีภรรยาไปจับปลาด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม จะมีผู้หญิงกลุ่มเด็กสาวต่างๆ ที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้านบ้าง ออกไปทำงานไกลขึ้น เช่น ไปทำงานที่มาเลเซีย เชื่อว่าในสามจังหวัดภาคใต้มีพี่น้องจำนวนมากไปทำงานที่นั่น ไปเป็นลูกจ้างในไร่ในนา ไปเป็นลูกจ้างก่อสร้าง หรือไปทั้งครอบครัว เด็กสาวๆ คนที่ไม่มีครอบครัวก็ไปเป็นลูกจ้างในร้านอาหารไทยนี่เยอะมาก ไม่น่าเชื่อเขาชอบต้มยำกุ้งกันมาก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ดึงผู้หญิงออกจากบ้านอีก ซึ่งก็เป็นบทบาทที่เปลี่ยนไปของผู้หญิง

ในช่วงที่อยู่ในงานสนามก็จะมีเด็กสาวๆ มาบอกว่าตนเองประจำเดือนขาด อันนี้ก็จะเห็นว่าถ้าเอาหลักการมาจับจริงๆ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าหญิงชายในศาสนาอิสลาม มันมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างเด็ดขาดชัดเจน และก็มีข้อห้ามเยอะมาก เช่น ผู้หญิงไปเที่ยวคนเดียวไม่ได้ ต้องไปกับคนที่คุ้มครองได้

แต่กระแสบริโภคนิยม กระแสความเปลี่ยนแปลง กระแสโลกาภิวัตน์ ที่เราพูดกันนี่เด็กวัยรุ่น คือเด็กไม่ค่อยจะนับถือศาสนาอะไร เพราะฉะนั้น ตรงนี้เขาเห็นทีวี เขาเห็นอะไรต่างๆ อย่างที่พูดกันมากว่าเด็กแต่งตัวถูกต้องเมื่ออยู่ในบ้าน ในหมู่บ้าน แต่พอออกมาพ้นจากหมู่บ้านก็ถอดกระโปรงถอดโสร่ง และข้างในเป็นกางเกงยีนส์ มีเพื่อนที่เป็นมาเลเซียแต่งตัวเปรี้ยวมากเลย แต่วันที่จะกลับประเทศคลุมผ้าเรียบร้อยมาก เราต้องยอมรับกันในส่วนนี้ อันนี้ก็คือสิ่งที่ชาวบ้านปฏิบัติ คือเป็นชีวิตของเขา บางคนที่เคร่งครัดก็จะทำตัวถูกต้องตามหลักการไปหมด บางคนที่ไม่ค่อยเคร่งครัดก็อาจจะหลงลืมไปบ้าง เช่น ในเดือนถือศีลอด ชาวบ้านก็จะบอกว่าคนนี้ไม่ได้เป็นมุสลิม ออกมานอกหมู่บ้านก็จะหาอะไรกิน อยู่ในหมู่บ้านก็จะเป็นมุสลิม ก็เป็นการนินทากัน ซึ่งไม่ใช่คนส่วนใหญ่ แต่ก็มีบ้างคนประเภทนี้

ดิฉันก็หลงซื่อว่าถ้าเป็นมุสลิมก็จะดีไปหมด นักศึกษามายืมเงิน ก็คิดว่าเด็กมุสลิมคงไม่โกงเราหรอก ก็ให้ไป ก็เราก็เป็นครูบาอาจารย์ ไม่คืนก็ไม่เป็นไร ด้วยพื้นฐานที่เข้าใจผิดว่าเขาคงไม่ทำเพราะว่าเขาเป็นมุสลิม ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่หรอก เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เพียงแต่อยากจะบอกว่าดิฉันคิดว่าคนอ่านคงจำแนกได้ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าคนที่เคร่งครัดก็อาจจะทำให้รู้สึกว่าเข้าใจผิดหรือเปล่า ถ้ามันมีประเด็นอย่างนั้นก็แก้ไขอย่างที่ท่านอำนวยการพูดถึง

แต่ดิฉันคิดว่ามันไม่ใช่คัมภีร์ มันเป็นวิถีชีวิต มันเป็นสิ่งที่ออกมาจากชาวบ้าน เหมือนกับที่ดิฉันเคยฟังชาวบ้านคนหนึ่งเล่า เป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนมุมมองสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพื้นที่ที่มีสามกลุ่ม มีไทย มีมุสลิม และมีคนจีน สิ่งที่เขาเล่าก็คือท่านนะบีบอกว่ามีลูกสามคน คนหนึ่งรวย คนหนึ่งจน คนหนึ่งกลางๆ ซึ่งเหมือนกับว่าสะท้อนคนในพื้นที่ว่า ถ้าคนจีนก็จะเป็นคนที่ร่ำรวย มุสลิมจะยากจนอะไรอย่างนั้น แล้วก็อีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลางๆ ก็คือกลุ่มพุทธอะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าไปดูในคัมภีร์อะไรที่ไหนก็คงไม่มีหรอก นั้นคือเป็นเรื่องเล่าของชาวบ้าน เป็นอะไรที่เขาเชื่อหรือเขาสืบทอดกันมา

เวลาเข้าหมู่บ้านมันก็จะมีเรื่องอะไรที่ประทับใจที่เห็น เราพูดถึงว่ามาเยียวยาผู้หญิงและผลกระทบ ธรรมดาที่ไม่มีเหตุการณ์ผู้หญิงก็ยากลำบากอยู่แล้ว ผู้หญิงในหมู่บ้านที่อยู่ในฐานะซึ่งหมายถึงอยู่ในกลุ่มที่ยากจน ปกติก็ยากลำบากอยู่แล้ว ที่ดิฉันไปเห็นไปพบ พอมาเจอเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างนี้ ก็เป็นความทุกข์ไม่รู้กี่เท่า จากหนังสือเล่มนี้ เห็นได้ชัดว่าลำบาก รัฐเข้าไปช่วยก็อาจจะประเดี๋ยวประด๋าว แต่ในที่สุดผู้หญิงก็ต้องเผชิญชะตากรรมด้วยตัวเอง ดิฉันคิดว่ากลุ่มผู้หญิงไม่ว่ากลุ่มไหน ด้วยหลักการความเชื่อของแต่ละฝ่ายของแต่ละคน มันก็เหมือนกับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวที่จะทำให้ต่อสู้กับชะตากรรมที่พบที่ประสบกับตัวเองได้

มาเรียม สาเมาะ
ก่อนหน้านั้นดิฉันทำงานสอนหนังสือในหมู่บ้านต่างๆ ไปสอนแม่บ้านในหมู่บ้าน ในชุมชนชนบท เพราะว่าตรงนั้นคนไม่ค่อยได้ทำ เมื่อก่อนนี้คนที่จะเข้าไปสอนในชุมชนนั้นจะเป็นผู้ชาย จะเป็นโต๊ะครู ในเมื่อคนสอนเป็นโต๊ะครู ปัญหาของผู้หญิงไม่ค่อยกล้าที่จะพูด บางทีก็อาย ดิฉันจึงมาทำงานจุดนี้ พอเขาถามเราก็จะได้ตอบอะไรที่เราทราบ ไปทำงานในหมู่บ้านต่างๆ ทั้งหมดก็สามสิบสองจุด เห็นว่าลูกๆ ที่อยู่ในหมู่บ้าน บางคนถูกทอดทิ้ง เพราะบางทีคุณแม่ไปทำงานคุณพ่อก็ไปทำงาน ลูกก็ไม่ทราบจะอยู่กับใคร บางครั้งเนื่องมาจากพ่อแม่ไม่ค่อยมีความรู้ เรียนจบแค่ป.สี่ ศาสนาก็ไม่ค่อยมี ดูแลลูกไม่ค่อยเป็น

แล้วก็อีกจุดที่เราเห็นที่เป็นปัญหากลุ่มชนบท เราจะเห็นว่าคุณแม่ทำงานหนักกว่า ถ้าเราจะเปรียบเทียบกับผู้ชาย เพราะว่าในบางท่านในการที่ว่าเขาไม่ค่อยมีความรู้ เขาก็ต้องไปเรียนศาสนา ในการที่ว่าเขาเป็นคนลำบากเขาก็ต้องไปทำงาน เขาต้องดูแลลูกเขาก็ต้องเป็นแม่หุงข้าวอะไรอยู่ตรงนั้น คือเขารู้สึกว่าจับนู่นปล่อยนี่อะไรมันเป็นอย่างนั้นตรงนั้นก็คือเป็นปัญหา และก็จะดูว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้เรียนแล้วก็คิดว่าผู้หญิงสำคัญมากที่จะต้องเรียน

แต่ไม่ใช่จะบอกว่าผู้ชายจะไม่สำคัญ ผู้ชายแน่นอนอยู่แล้ว แล้วก็กำลังถามอยู่ในใจว่า แล้วท่านนบีบอกว่า สวรรค์อยู่ที่แทบเท้ามารดา ทำไมท่านนบีถึงกล่าวอย่างนี้ ทำไมท่านนบีไม่กล่าวว่าสวรรค์อยู่ใต้แทบเท้าบิดา ก็ยังค้นหา คิดว่าในการที่จะช่วยสังคม ในการที่จะช่วยครอบครัว คิดว่าคุณแม่ต้องเป็นตัวยืน แม่มีบทบาทสำคัญ ก็เลยมาเกิดศูนย์เด็กกำพร้า

ตอนนี้ศูนย์เด็กกำพร้าก็เปิดมาประมาณสิบเจ็ดปี แล้วทำไมดิฉันเลือกเฉพาะผู้หญิง ทำไมไม่เลือกผู้ชายเข้าไปเรียนตรงนั้นด้วย คือคำตอบหลายๆคำตอบ หนึ่งก็คือความโปรดปราน เรามีความคิดว่าความสามารถของเรานั้นจำกัดมาก โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้หญิงกับผู้ชายนั้นถ้าสมมุติเรารับผู้ชายมาถึงเวลาสักพักนึง เราจะเป็นแม่ของเขาไม่ได้ในช่วงๆ นึง แล้วถ้าผู้หญิงเราสามารถเป็นแม่ของเขาได้ตลอด คือตรงนี้คือเป็นหลักของอิสลาม ก็เลยมาตัดสินใจกับเพื่อนๆ แล้วก็คิดว่าถ้าผู้ชายดูแลผู้ชายจะได้ดีกว่าผู้หญิงดูแลผู้ชาย และก็ผู้หญิงน่าจะไปดูแลผู้หญิงได้ดีกว่าผู้ชายดูแลผู้หญิง ก็เลยรับเฉพาะผู้หญิง และในเวลาเดียวกันรู้สึกว่า ผู้หญิงเป็นคนที่อ่อนแอเพราะฉะนั้นพยายามรับอะไรที่รู้สึกว่าตัวทำได้ อะไรที่รู้สึกว่าทำไม่ได้เราไม่ต้องไปตรงนั้น

แล้วถามว่าในศูนย์เด็กกำพร้าตรงนั้น เด็กมาจากไหนบ้าง และเด็กเป็นยังไงบ้างและการอยู่อะไรเป็นยังไง เด็กในส่วนเด็กกำพร้าตรงนี้มีหนึ่งร้อยสิบคน มาจากจังหวัดต่างๆ มาจากปัตตานี นราธิวาส สงขลา กระบี่ ตรัง ไกลสุดตอนนี้ก็มาจากสุราษฎร์ เมื่อก่อนถ้าไกลสุดมาจากเชียงรายแต่ตอนนี้คนที่มาจากเชียงรายก็ออกไปแล้ว กรุงเทพเพิ่งออกไปเมื่อวานซืน คือไกลสุดตอนนี้ก็คือสุราษฎร์ มาถึงวันนี้ปัญหาเด็กที่เข้าไปอยู่ตรงนั้นจากคุณพ่อหย่าร้างก็มี คุณพ่อตายไปก็มี เด็กเร่ร่อนก็มี พวกพ่อไม่ได้หย่าร้างแต่ว่าเป็นคนลำบากก็มีอยู่ตรงนั้น เพื่อเห็นว่าสิ่งที่เขาอยากจะได้คือความอบอุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากจะได้มากๆ เขาขาดความอบอุ่น

ถ้าใครเข้าไปตรงนั้นสามารถที่จะชนะใจ หรือว่าเอาใจเขา เขาก็จะรักหรือว่าพูดถึงคนนั้นตลอด เขาขาดมากๆ ตรงนี้ ถึงเขาจะขาดความรู้ก็ใช่ แต่ว่าความอบอุ่นรู้สึกว่าเขาขาดมากกว่าความรู้ ซึ่งถ้าเราเห็นจะรู้ว่าเขาจะขาดความรู้มาก ในใจของเขาลึกๆ เขาอยากจะได้ความอบอุ่นอีกมากกว่าความรู้เสียอีก แล้วก็เราจะเห็นว่า ตัวเขาไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตัวเองในการที่จะทำอะไรสักอย่าง เหมือนว่าฉันทำอย่างนี้ได้มั้ยฉันทำอย่างนี้ถูกมั้ยเดี๋ยวเขาว่าฉัน

จากบ้านเขาไม่ค่อยได้ถูกสอนตรงนั้นว่าอาจจะเพราะจากที่บ้านนั้น พ่อแม่ไม่ค่อยได้พูดอะไรกับเขา เขาก็เลยกลัวไปหมด แล้วก็เพื่อนๆ ที่อาจจะใครที่ฉลาดหน่อยก็อาจจะบอกว่าอย่างนี้ไม่ได้นะ ก็เป็นไปได้และก็เลยจะเห็นอีก ที่มากกว่านั้นเขานี่ง่ายในการที่จะคล้อยตาม อันนี้จะง่ายมาก มีอะไรที่ดีๆ เข้าไปก็จะเป็นเด็กดีได้เร็วมาก มีอะไรที่ไม่ดีๆ เข้าไปก็จะกลายเป็นเด็กที่ไม่ดีได้เร็วมาก จะไม่ค่อยมีจุดยืนของตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะมาจากที่บ้าน และอาจจะมาจากตรงนั้นจากเพื่อนๆ

จะเกี่ยวโยงกับหลักสูตรหรือยังไงก็ไม่ทราบ เราก็พยายามที่จะแก้ไขเพราะเราอยากได้ลูกๆที่มีจุดยืน และเชื่อมั่นในตัวเอง คือว่าดีก็คือดีไม่ดีก็คือไม่ดี ในสิ่งที่ทำได้ทำไม่ได้นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องยอมรับว่าถ้าถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด เช่นหลักของอิสลาม สมมุติว่าคลุมหัวบางคนยังทำไม่ได้ เหมือนที่อาจารย์เล่าเมื่อสักครู่ใช่มั้ยค่ะ เวลาอยู่ที่บ้านอยู่อีกแบบนึงเวลาอยู่ที่ข้างนอกอยู่อีกแบบนึง เช่นเดียวกันลูกๆ ที่อยู่ในศูนย์ ตอนอยู่ในศูนย์นี่เคร่งแต่พอกลับไปบ้านนี่เป็นคนละคน ไม่ทราบว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แต่เราก็พยายามบอกกับเขาว่าอยู่ที่ไหน ก็มองแบบเดียวกันนั่นแหละถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหลายๆ อย่างสิ่งแวดล้อมมั้งอะไรบ้างทำให้เขาเขว อย่าว่าแต่เขาเลย บางทีเราก็เป็นไปโดยไม่รู้ตัว

เราก็ทราบดีว่ามุสลีมะห์(ผู้หญิงมุสลิม)งานหลักคือ ในบ้านดูแลสามี ดูแลลูก แต่บางครั้งเราทำไม่ค่อยได้ทำตรงนั้นเพราะว่าต้องออกไปข้างนอกเยอะ เนื่องจากเป็นกรรมการสมานฉันท์ เป็นกรรมการผู้นำชุมชน บางครั้ง คิดอยากลาออก เพราะทำให้ไม่มีเวลาให้กับงานบ้าน เหมือนกับวันนี้ โทษนะคะพูดเป็นเรื่องส่วนตัวหน่อยกวาดบ้านก็ไม่ทันก็จะต้องออกมา ถามว่าสบายใจมั้ยไม่สบายใจ อยากจะทำงานบ้านให้เรียบร้อยก่อนค่อยออกมา คือจะมีความรู้สึกว่าเรามายืนตรงนี้มันถูกต้องหรือเปล่า มันใช่หรือไม่

แต่คิดไปอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าสมมุติเราไม่รับตรงนี้คนอื่นเขามาตรงนี้ไม่ได้ ในเมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็ให้คนอื่นมาช่วยตรงนั้นได้มั้ย ให้ลูกๆไปช่วยตรงนั้นได้มั้ย คือกำลังจะบอกว่ารู้สึกว่าตัวเองตอนนี้สับสน แล้วรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยดีแล้ว เพราะอิสลามสอนว่า ผู้หญิงต้องอยู่ในบ้าน มั่นใจเหลือเกินว่าถ้าผู้หญิงทุกคนเป็นแม่ที่ดี ส่วนลูกๆ คิดว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นเป็นลูกที่ดีได้ มั่นใจ พ่อที่ดียังไม่แน่จะเป็นลูกที่ดีหรือเปล่า เพราะว่าคุณพ่อไม่ค่อยได้อยู่กับลูกไม่ใช่อะไรแต่คุณแม่จะอยู่กับลูกตลอด และก็ถ้ามีปัญหาอะไร ลูกจะไม่ค่อยบอกกับคุณพ่อจะบอกกับคุณแม่ คือถ้าด่าก็ด่าคุณแม่ถ้าขอก็ขอคุณแม่ ต้องคุยกับคุณแม่ คือแม่จะเป็นทั้งแม่เป็นทั้งเพื่อนเป็นทั้งศัตรูเป็นได้ทุกอย่างกับลูก

สุกรี หลังปูเต๊ะ
ถ้าหากว่าความคิดเห็นของผมต่าง หรือท่านมีความคิดเห็นที่ต่างกัน นั้นคือวิทยปัญญาที่ต้องพัฒนาที่ต้องพัฒนาต่อไป จริงๆ แล้ว การทำวิจัยในสังคมมุสลิมนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา มันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนต้องเห็นเหมือนกัน เมื่อใดที่มีความเห็นต่างกันนั้นก็คือ จะต้องมีงานวิจัยเกิดขึ้นมาในสังคมมุสลิมอย่างแน่นอน แต่เรามองว่างานวิจัยคือสิ่งหนึ่งที่ต้องอยู่ในอุดมศึกษา ต้องอยู่ในมหาวิทยาลัย และการแสดงความเห็นครั้งนี้ ขอให้ถือว่า เป็นเสียงน้อยๆ จากลูกของแม่คนหนึ่ง แล้วก็สามีของภรรยาคนหนึ่ง แล้วก็พ่อของลูกสาว

"อิสลาม"ซึ่งหมายถึง"สันติภาพ" เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเรามองเห็นต่างกันเราก็คงจะต้องยืนยันสิ่งที่เรามองเห็น ถ้าเรามองต่างกันเราก็คงต้องหาข้อมูลต่อไป เพื่อที่จะสร้างองค์ความรู้หรือเป็นทฤษฎีใหม่ ถ้าเราพูดถึงวิถีชีวิตของผู้หญิงมุสลิมมลายูมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่า วิธีมองของผู้หญิงในพื้นที่ ที่เป็นคนในพื้นที่มีวิธีมองแบบหนึ่ง. วิธีมองของผู้หญิงที่เป็นคนข้างนอกแต่อาศัยอยู่ข้างในเป็นคนที่มาจากพื้นที่อื่น แต่มาทำงานในพื้นที่ เข้าใจผู้หญิงในมิติอย่างไรบ้าง.

ประการต่อมาก็คือ คนที่อยู่ข้างในแต่ไปทำงานข้างนอก คนที่เป็นคนปัตตานี ยะลา นราธิวาส และคนชายขอบที่นี่ แต่มีโอกาสไปทำงานที่กรุงเทพ มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศ มองวิถีชิวิตของมาลายูมุสลิมที่นี่อย่างไรบ้าง. ประการสุดท้ายคือคนที่อยู่ข้างนอก มองวิถีชีวิตผู้หญิงมาลายูมุสลิมในพื้นที่อย่างไรบ้าง ตรงนี้ผมคิดว่าคงใจกว้างพอที่จะยอมรับว่า การมองหรือมุมมองของเราต้องมีความต่างกันแน่นอน

สิ่งสำคัญที่อยากจะนำเสนอที่นี่ ก็คือความสัมพันธ์ของศาสนาที่มีอยู่ในพื้นที่ มุสลิมถ้าดูในสามจังหวัด เป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่ถ้ามองระดับประเทศ มุสลิมก็กลายเป็นคนกลุ่มน้อย แต่เมื่อออกนอกไปนิดหนึ่ง ทีนี้เราพูดถึงเรื่องความเป็นมลายูด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคงจะต้องพูดถึงมลายูมาเลเซีย มลายูอินโดนีเซีย มลายูฟิลิปปินส์ มลายูกัมพูชาเพราะฉะนั้นในภาพของความเป็นมลายูมันก็คือภาพมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมันมีมากกว่าพุทธค่อนข้างแน่นอน มลายูมุสลิมที่ผมหมายถึง เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ตรงนี้เมื่อเรามองมิติของ 3 จังหวัด มองตากใบก็จริง มองกรือเซะก็จริง แต่ความสัมพันธ์ที่เราปฏิเสธไม่ได้อันนี้เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ที่ไม่สามารถตัดขาดกันได้ ดังนั้นการไม่เข้าใจเกิดเพราะการมองในมิติเดียว

หน้าที่ของเราในวันนี้ที่เราจะต้องทำร่วมกันก็คือต้องทำลายกำแพง ที่อาจจะกั้นศาสนา กำแพงที่เหมือนกับว่าเราอยู่กันคนละโลก ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมันเป็นงานที่หนักมากพอสมควร ในความหมายของผู้หญิงในทัศนะของอิสลาม ไม่ว่าท่านจะเกิดมาเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย สิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันก็คือ unity of Allah (อัลเลาะห์) คือความเป็นเอกภาพ ที่เรายอมรับในการมีพระเจ้าองค์เดียวกัน เพียงแต่ว่าในซีกซ้ายในเรื่องของการพัฒนาการส่วนตน ส่วนตัวผู้หญิงและผู้ชายมีหน้าที่เหมือนกันตรงที่ว่า เขาจะต้องศึกษาหาความรู้ที่เป็นพื้นฐานอาจจะเรียกว่าเป็นรากฐานของชีวิต ส่วนของความรู้ที่เป็นฐานทางสังคม แล้วแต่ใครที่มีความสามารถในการพัฒนาตนเอง สิ่งที่ผู้หญิงและผู้ชายต้องพัฒนาร่วมกันก็คือรากของชีวิต

สังคมไทยเป็นสังคมที่ถ้าพูดถึงความเป็นจริง สังคมไทยคือสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้ชาย เพราะฉะนั้นการมองตรงนี้ผมคิดว่าพวกผมที่เป็นมุสลิม กระทั่งเพื่อนผมที่ไม่ใช่มุสลิม ทั้งสตรีที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมควรที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะบอกกับสังคมไทยให้หลุดกรอบของสังคมไทย

มะรอนิง สาแลมิง
หนังสือที่อยู่กับเราโดยภาพรวมแล้ว เป็นหนังสือที่ดีถ้าพูดในบริบททั่วไปของสตรี แต่เมื่อมาถึงหน้า 12-14 กับหน้าที่ 26 ปรากฏว่าพอเข้าในเรื่องหลักการอิสลาม มันเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับกฎหมายอิสลามด้วย เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะฉะนั้นผมจึงอยากตั้งข้อสังเกตให้ดู แล้วมาดูหลักการอิสลามทั่วไป ข้อสังเกตที่มีในนี้มันจะตรงกันในประเด็นใดบ้าง

ก่อนที่ผมจะดูหนังสือเล่มนี้ ครั้งหนึ่ง ท่านนบีเคยถูกถามว่า คนไหนที่เราต้องทำดีที่สุดกับเขา ปรากฏว่าท่านตอบว่า "แม่" 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ก็ "แม่" ครั้งที่ 3 ถามว่าใครอีก ก็บอกว่า "แม่" คำถามที่ 4 จึงบอกว่า "พ่อ" ก็หมายความว่าความสำคัญของสตรีที่เป็นแม่นั้น 3 เท่า ถ้าแบ่งเป็นสี่ คนเป็นแม่คือสามในสี่ หนึ่งส่วนสี่ก็คือพ่อ แสดงว่าคนอิสลามนั้นให้สถานะมุสลีมะห์(มุสลิมที่เป็นผู้หญิง)สูงมาก มากกว่าชายหลายเท่า

แล้วมาดูในหลักการของศาสนา ปรากฏว่าอัลเลาะห์บอกว่า ผู้หญิง สตรี เป็นอาภรณ์ของพวกเจ้า เป็นเครื่องนุ่งห่มของพวกเจ้า และพวกเจ้าก็เป็นอาภรณ์ เป็นเครื่องนุ่งห่มของสตรี ซึ่งไม่ได้บอกเลยว่าใครเหนือกว่าใคร แต่จะบอกถึงความเท่าเทียม

ถ้าเราไปดูเรื่องสถาบันครอบครัว ปรากฏว่าหลักการอิสลาม เหมือนกันครับ อายะห์ที่ 233 ซึ่งกล่าวถึงการเลี้ยงดูทารกที่ผู้เป็นแม่ต้องรับภาระถึง 2 ปีบริบูรณ์ ถ้าเขามีความพึงพอใจที่จะให้นมลูก แต่พอถึงบทว่า หากต้องการหย่านมลูก ก็คือหยุดให้นม ต้องมาจากความพอใจของทั้งสองฝ่าย หรือต้องมาจากการปรึกษากันก่อน ผมกำลังยกตัวอย่างในบริบทง่ายๆ ในอัลกุรอาน ขนาดเรื่องเล็กๆ อย่างนี้ยังต้องมาปรึกษากัน ต้องขึ้นอยู่กับความพอใจทั้งสองฝ่าย

ในเรื่องอื่นๆ ก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า หลักการอิสลามก็ยิ่งให้ความสำคัญกว่า อันที่จริงในอัลกุรอาน หนึ่งในสัญญาณจากสัญญาณต่างๆ ที่เป็นพลังเดชานุภาพของอัลเลาะห์ คือการสร้างพวกเจ้ามา และสร้างผู้หญิงมาจากพวกเจ้า ก็เหมือนกับว่าการเกิดมาของมนุษย์ เป็นสตรีหรือบุรุษ มาจากตนเดียวกัน ไม่ได้แยกว่ามาจากอื่นใด แล้วก็สร้างมาเพื่อให้มีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ที่เป็นครอบครัวให้เกิดความรักใคร่และเมตตาระหว่างพวกเจ้า นี่คือเป้าหมายของครอบครัวในอิสลาม

ผมจะยกอายะห์สุดท้ายซึ่งเป็นสากล ก็คือว่า "โอ้มวลมนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้า เพศหญิงและเพศชาย และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน นี่คือความแตกต่างของเพศ ไม่มีอะไรนอกจากให้รู้จักกัน แท้จริงผู้มีเกียรติในหมู่พวกเจ้าก็คือผู้ศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง อันนี้คือเครื่องแบ่ง นี่คือหลักการทั่วไปที่บอกว่าชายและหญิงไม่ได้แตกต่างกัน และชีวิตครอบครัวต้องมีการปรึกษากันทั้งสองฝ่าย และการเป็นครอบครัวนั้น เป้าหมายก็คือเกิดความเมตตา สงสาร เกิดความสุข และอัลเลาะห์สร้างมนุษย์มาเป็นเพศทั้งหลายก็เพื่อทำความรู้จักกัน

แล้วมาดูอายะห์ที่บอกว่า ที่มีการพลาด เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมจะตั้งข้อสังเกต ซึ่งอายะห์ที่ยกมาในหน้า 12 ชายเป็นผู้จัดการเรื่องราวของผู้หญิง เพราะอัลเลาะห์ได้สร้างให้ฝ่ายหนึ่งเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรมีอยู่ในอัลกุรอาน แต่ข้อสังเกตก็คือว่า เมื่อไปดูอย่างเช่นฉบับที่แปลโดยคณะชมรมอาหรับเก่าในเมืองไทย จะมีความหมายที่ชัดเจนกว่าความหมายที่มีอยู่ในนี้ เพราะว่าความหมายว่า "จัดการ" นี้ก็คือ ultra word ก็คือความหมายครอบคลุมสิ่งต่างๆ มากมาย มันจะเกิดความคลุมเครือในความหมายขึ้นมา

ถ้าเราหาในกฎหมายอิสลามก็คือ ผมกำลังพูดในเรื่องกฎหมายนะครับ เพราะฉะนั้นเมื่ออ่านอย่างนี้แล้ว เมื่อดูบริบทภายใต้อายะห์ ดูคำอธิบายต่างๆ ถึงแม้เป็นคำอธิบายที่มาจากความเป็นจริงในสังคมก็ตาม ผมเหมือนจะไป identify ในอายะห์นี้ ครอบคลุมในอายะห์นี้ ซึ่งที่จริงแล้วอายะห์นี้ถ้าดูในหนังสือที่อยู่ตรงหน้าเรา บอกว่า "บรรดาชายนั้นคือผู้ปกครอง เลี้ยงดูบรรดาภรรยา เนื่องด้วยการที่อัลเลาะห์ได้ให้พวกเขาบางคน อยู่เหนือกว่าอีกบางคน ซึ่งอายะห์นี้เป็นอายะห์ที่เกี่ยวกับการสร้างระเบียบวินัยในพฤตินัยให้กับบทครอบครัว ซึ่งก็มีบทอื่นๆ เป็นบทประกอบด้วย

ถ้าเราเอาบทนี้มาบทเดียวโดยบทอื่น ไม่เอามาก็จะทำให้เกิดความคลุมเครือขึ้นว่า ผู้ชายนั้นเหนือกว่าผู้หญิงทุกอย่างเลย แต่หลักการนั้นไม่ใช่ อายะห์ที่ผมอ่านเมื่อกี้ก็เป็นตัวอย่างแสดงแล้ว และอายะห์อีกอายะห์หนึ่งก็บอกว่า "สำหรับผู้ชายนั้น มีส่วนได้รับจากสิ่งที่เขาขวนขวายไว้ และสำหรับหญิงนั้น ก็จะมีส่วนได้รับจากสิ่งที่พวกนางขวนขวายไว้ อยู่ที่ทั้งทั้งสองฝ่าย อายะห์ที่ 32 บอกว่าผู้ชายก็จะได้ ในสิ่งที่เขาขวนขวาย และผู้หญิงก็จะได้ในสิ่งที่ขวนขวายหามา ไม่ใช่ว่าชายเหนือกว่าหญิงทุกอย่าง

แต่ระบบวินัยและระเบียบในครอบครัวนั้น อิสลามได้แบ่งงานชัดเจน ใครเป็นหัวหน้าในครอบครัว ใครเป็นเลขาฯ ซึ่งถ้าพูดถึงประเทศสิงคโปร์ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สิงคโปร์ประชาชนของเขามีระเบียบวินัยมาก แต่ถ้าไปดูว่าทำไมวินัยนั้นเกิดขึ้นมาหรือวินัยเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็มีตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนว่า ใครทำงานอะไร และมีกลไกที่ควบคุมอยู่

ในอิสลามก็เหมือนกัน การแบ่งชัดเจนอย่างนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าใครคือใคร มีหน้าที่อะไร และต้องอยู่ในระเบียบวินัยอย่างนี้ เหมือนกับว่าอิสลามกำลังสร้างรัฐเล็กๆ รัฐหนึ่งก็เพราะว่าครอบครัวนั้นเป็นหน่วยสำคัญมากของสังคม สังคมก็อยู่ภายใต้รัฐ คืออิสลามกำลังสร้างการอยู่ภายใต้ระเบียบวินัย เหมือนรัฐ ๆ หนึ่ง เป็นรัฐย่อยในทุกบ้าน มีใครเป็นหัวหน้า ใครเป็นเลขาฯ ใครทำอะไร มีการพูดเป็นรายละเอียดต่างๆ ทั้งในอัลกุรอานและในซุนนะห์

จริยวัตรของนบีที่ชัดเจนมากในบริบทของครอบครัว เมื่ออกไปในบริบทของสังคมก็จะชัดเจนเป็นขั้นตอน ซึ่งไม่ขัดแย้งกับตัวบทที่มีอยู่ ตัวบทต่างๆ จะสนับสนุนตัวบทอื่นๆ ให้มีความชัดเจน นี่คือหลักการอิสลาม เพราะถ้าหากสถาบันครอบครัวเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นสถาบันที่ไม่อยู่ในระเบียบวินัยแล้ว สังคมก็จะยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น เพราะหากหน่วยเล็กๆ ไม่สามารถกำกับได้ มันก็จะเป็นโรคร้ายกับหน่วยใหญ่ที่เป็นสังคมและรัฐ ฉะนั้นความชัดเจนว่าใครเป็นหัวหน้ามีหน้าที่ต้องกำกับดูแลระเบียบวินัยในเรื่องนี้

ผมขอยกตัวอย่างอีกในบรรทัดที่บอกว่า "เวลานอนจะหันหลังไม่ได้ ซึ่งบางคนอาจตีความไปตามคำหรือความหมายที่ปรากฏ แต่ที่จริงมันเป็นหลักการก็คือ ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นตัวอย่างหลักการก็คือ เมื่อพูดถึงบริบทของสตรี แน่นอนว่าบริบทของผู้ชายก็มีอยู่ แต่ที่กำลังพูดถึงคือบริบทของสตรีที่ต้องทำกับสามีอย่างไร สตรีหรือภริยานั้นต้องอย่าแสดงความรังเกียจต่อสามี ก็เป็นคำอุปมาอุปไมย เพราะเราพูดกันในทุกสถานที่ หากมีคนจะทะเลาะกันเราก็บอกว่าให้หันหน้าเข้าหากันนะ อย่าหันหลังนะ แปลว่าต้องปรองดองกัน อย่ารังเกียจกัน คำอุปมาทั่วไปก็พูดถึง หลักการทั่วไปก็คืออย่าแสดงความรังเกียจ อย่าแสดงพฤติกรรมที่ส่อในทางไม่ดีกับสามี แต่ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมา ที่จริงแล้วมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้านอนหลับแล้วอาจจะพลิกไปมา เป็นเรื่องธรรมดาครับ แต่ความตั้งใจที่หันหลังไปเพื่อบอยคอตสามี อันนั้นไม่ได้

เอาละครับมีหลายประเด็น ประเด็นสมัยท่านนบีทุกคนก็คงมองภาพว่ามันชัดเจนและผมก็ยกตัวอย่างในหน้าที่ 26 อีกนะครับ เพราะหญิงมุสลิมมีข้อห้ามออกจากบ้าน 100 วันหลังสูญเสียสามี ที่จริงแล้วกุรอานบอกว่า 4 เดือนกับ 10 วัน จะต้องอยู่กับบ้านก็ประมาณ 130 วัน แต่อยู่ในบ้านของสามี เพราะว่าสตรีหลังสามีตายไปแล้ว บางครั้งอาจจะเกิดความสับสนขึ้นมา

การกำกับอย่างนี้ก็เพื่อต้องการให้คนในครอบครัวของสามีต้องมาเลี้ยงดู ให้เวลามาปรับมาช่วยเหลือ ไม่ใช่ห้ามให้ออกไปโดยไม่มีความชอบธรรม คือต้องรับภาระทั้งหมดที่มีอยู่แทนสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว ผมคิดว่า 4 เดือน 10 วันยังไม่พอนะครับ ที่จริงต้องตลอดชีวิตที่ฝ่ายสามีจะต้องช่วย เพราะว่าในศาสนาอิสลาม ถ้าหญิงที่เสียชีวิตนั้นมีลูกหญิงไม่มีลูกชาย คนที่เป็นอา เป็นป๊ะ เป็นน้า ก็จะได้ส่วนแบ่งมรดกไปด้วย ทำไมเขาเอามรดกไปแล้วไม่จุนเจือครอบครัวนี้ล่ะ นั้นคือความสมดุลและความครบสมบูรณ์รอบด้านที่กฎหมายอิสลามวางไว้ แต่ถ้าเราพูดสั้นๆ อย่างนี้ก็มองว่า เอ๊ะ! มันไม่ยุติธรรมกับสตรีเลย แต่หมวดรวมที่เป็นข้อต่อต่างๆ เป็นกฎหมายอื่นๆ ที่ต้องการสร้างความยุติธรรมให้สตรีนั้น เมื่อเราไม่ได้พูดถึงมันก็มองเป็นภาพลบไป

ที่จริงแล้วหากมีความจำเป็น ภรรยาที่สามีเสียชีวิตสามารถออกนอกบ้านได้ มีอายะห์หนึ่งที่อัลเลาะห์กล่าวว่า ถ้าหากพวกนางออกไปเองโดยไม่ยอมรับความช่วยเหลือ ก็ไม่เป็นบาปใดๆ แก่พวกเจ้า หากนางกระทำในเรื่องส่วนตัวของพวกนางที่เป็นสิ่งชอบธรรม สิ่งที่ดี อันนี้ทำให้บทที่บอกว่า เมื่อกลับไปทำงานที่ร้านก็ขายของไม่ดีเหมือนเดิม การขายของเป็นสิ่งที่ดีไหมครับ ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม ผมขอโทษด้วยหากผมตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ เพราะเป็นปกติธรรมดาของผู้แต่งหนังสือ ผู้ทำวิจัย ธรรมดาครับ ไม่ใช่เล่มแรก หลายเล่มมาแล้ว บางครั้งก็มีการเปิดพูดคุย ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะอิสลามนั้นพฤติกรรมของคนเป็นส่วนตัว แต่ถ้าขัดกับหลักการศาสนา หลักกฎหมายแล้ว กฎหมายก็ย่อมเหนือกว่า แต่ถ้าเป็นบริบททั่วไป แน่นอนครับว่าไม่ขัดอะไร

อิสมาแอล อาลี
ก่อนอื่นก็ต้องขอชมเชยผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ เพราะนอกจากจะเข้าใจชีวิตของคนแถบนี้แล้ว สามารถที่จะเข้าใจในทางอ้อมว่ามุสลิมที่เขาใช้ชีวิต เขาก็มีหลักการอิสลามแทรกเข้าไป ตรงนี้ก็เป็นไปตามที่เป็นจริง แต่ถ้าพูดในหลักการก็ต้องแก้ไขให้มันมีความถูกต้องมากขึ้น เพื่อเผยแพร่ที่ไหนจะได้ไม่มีคนมาท้วงติงว่ามันเพี้ยนมันผิด อะไรต่างๆ ซึ่งถ้าคนจะเอาเรื่องในหนังสือเล่มนี้ก็เอาเรื่องได้นะ ว่าเบี่ยงเบน แต่คงจะไม่มีเพราะรู้เจตนาของผู้เขียนว่า ไม่ได้เจตนาบิดเบือนหลักการ แต่ได้รับการบอกเล่ามาจากชาวบ้านก็บันทึกไว้ และมันเป็นไปตามที่ชาวบ้านเขาเชื่อ เขาสื่อกันระหว่างชาวบ้านด้วยกัน มันก็ชัดเจนในหน้า 13

ผมคงจะมีอีกประเด็นหนึ่งค่อนข้างละเอียด ก็คือในหน้า 13 เช่นเดียวกัน "แต่สามีถือว่าให้สินสอดซื้อเธอมาแล้ว" สินสอดนี้คงไม่ใช่ อันนี้เป็นกฎหมายไทย อิสลามเขาว่าเป็น "มะฮัรฺ" ให้ภรรยาโดยตรง ไม่ได้ให้กับพ่อแม่ พ่อแม่ไม่มีสิทธิที่จะได้ตัวนั้นเลย มอบให้แก่ผู้ที่จะเป็นภรรยา เป็นภาคบังคับตามกฎหมายอิสลาม คนละแนวคิด (concept) กับสินสอด ตรงนี้ควรจะแก้คำให้เหมาะสม เพราะว่ามันสับสนระหว่างสินสอดกับ "มะฮัรฺ" ในกฎหมายอิสลาม และบรรทัดที่ 4 จากล่างหน้า 13 "ตั้งแต่เกิดมาเป็นผู้หญิงก็ต้องถูกห้ามทุกอย่าง ห้ามเปิดหน้า" แต่ที่เข้ามาเสวนาวันนี้เปิดหน้าหลายคน แล้วก็ผู้หญิงที่ปิดหน้าคงมีไม่มากในสังคม ห้ามทุกอย่างผมว่าน่าจะมีข้อจำกัด ผมว่ามันยังเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งกัน

ผู้ดำเนินรายการ
ทัศนะของอิสลามหรือนะบีเองที่มีต่อแม่หม้าย จริงๆแล้วอิสลามเรามองแม่หม้ายยังไงบ้าง

อิสมาแอล อาลี
คือผู้หญิงธรรมดาที่หย่าขาดจากสามี ไม่ได้ถูกตีหน้าว่าไม่ดีเสมอไป อาจจะดีทั้งสองคนเท่ากันไม่ได้ ผู้ชายก็ดี ผู้หญิงก็ดี อยู่ด้วยกันไม่มีความสุข เราจะบอกว่าผู้หญิงไม่ดีไม่ได้ อิสลามที่บอกว่าผู้หญิงหม้ายไม่ดีไม่มี บอกว่าหญิงหม้ายเราต้องดูแลช่วยเหลือสนับสนุนเขา ต้องให้สังคมช่วยดูแลเขา อันนี้เป็นหลักการ แต่ความเชื่อของชาวบ้านเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่ได้พูดถึงเรื่องหลักการ

พูดเรื่องความเชื่อของชาวบ้าน ชาวบ้านจะมองว่าหญิงหม้ายเป็นหญิงที่ไม่ดี ในสายตาของสังคมก็เป็นเรื่องของสังคม อีกประเด็นหนึ่งในหน้า14 ได้ปรึกษา อ.สุกรีแล้ว บรรทัดที่ 3 จากล่าง "รักษาความบริสุทธิ์" ถ้าตามภาษาไทยคือผู้หญิงที่ไม่เคยสัมผัสกับผู้ชายไม่เคยเกี่ยวข้องกับผู้ชาย ตรงนี้ในทัศนะของอิสลามคือแม้ว่าจะมีสามีแล้ว และไม่เคยทำผิดทางเพศ ก็ถือว่า"บริสุทธิ์" อันนี้ความหมายของ"บริสุทธิ์"น่าจะเป็นอย่างอื่นมากกว่า เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

ผู้ดำเนินรายการ
เนื่องจากว่าท่านเป็นนักกฏหมาย มีคำถามที่บอกว่ามีกฏบัญญัติหน้า12 บรรทัดที่ 4 อันนี้เกี่ยวข้องกับกฎบัญญัติ คงจะเป็นเรื่องของหลักการบอกว่าผู้หญิงต้องเป็นคนรับใช้ของสามี ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง

อิสมาแอล อาลี
คืออันนี้แล้วแต่เราอธิบาย เราจะอธิบายว่าผมเป็นทาสของภรรยาผมได้ไหม ภรรยาผมอยู่บ้านสบายๆ ผมต้องมาทำงาน แล้วแต่คุณจะอธิบายมุมมองของคุณ ในเมื่อผมทำงานหนัก อันนี่ก็คือการปฏิบัติที่ดีของภรรยาของผมต่อผม ที่เวลากลับบ้านต้องต้อนรับต้องเตรียมให้มันเรียบร้อย ไม่ใช่ผมเหนื่อยทั้งวันแล้วก็กลับบ้าน แม่บ้านไม่รู้อยู่ที่ไหน ไม่ได้เตรียมอาหารไม่ได้เตรียมอะไร มันแล้วแต่ มันเป็นปรัชญาของการจัดสถาบันครอบครัวภายในอิสลามว่า ผู้หญิงรับผิดชอบภายในบ้าน ผู้ชายรับผิดชอบนอกบ้าน เราจะบอกว่าผู้หญิงเป็นคนใช้ของสามี แต่ถ้าบอกว่าสามีเป็นคนใช้ของภรรยามันก็ใช่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าเราจะมองยังไง

ดังนั้นในหลักการของอิสลามก็กำหนดหลักการไว้ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ของสามีภรรยา พวกนางมีสิทธิเหมือนกับพวกนางมีหน้าที่ ที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยดี ก็คือมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยดีต่อสามี ขณะเดียวกันมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติด้วยดีต่อสามี มันเป็นสมดุลกัน ก็คือ สิทธิที่ได้รับมา มันก็พอดีกับน้ำหนักที่ต้องปฏิบัติ ก็คือ สิทธิกับหน้าที่มันเป็นของคู่กัน มันไม่ใช่ผู้ชายได้เปรียบผู้หญิง ผู้หญิงได้เปรียบผู้ชาย อย่างที่ อ.มะรอนิงบอกว่า ถ้าเรามองในมิติเดียว มันก็บอกว่าศาสนาอิสลามไม่ยุติธรรม ไม่ดีอะไรต่างๆ เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงอะไรต่างๆ

ถ้าจะให้เข้าใจ เราต้องเข้าใจ Concept ปรัชญาการจัดการสังคม การใช้ชีวิตในบริบทของอิสลาม จึงจะเข้าใจ แต่ถึงอย่างไรหนังสือเล่มนี้ผมต้องขอชมเชยขอยกย่อง ในฐานะที่อาจารย์ไม่ได้เป็นมุสลิม อาจารย์ก็พยายามรวบรวมข้อมูลอะไรต่างๆ มา และพยายามที่จะเรียบเรียง เหมือนอาจารย์คณบดีว่า อ่านแล้วมันสะกิดใจ อ่านก็ต้องใช้ความอดทนพอสมควร ก็คือเป็นสิ่งที่ดีมากๆ แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เกิดความสมบรูณ์ ไม่ใช่ว่าอาจารย์เขียนนี่ผิด ไม่ถูกต้องไม่ใช่ แต่เพื่อที่จะให้หนังสือเล่มนี้มีความสมบรูณ์ สามารถที่จะเผยแพร่ได้อย่างสบายใจ ที่ว่าหนังสือเล่มนี้ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาแล้วว่าถูกต้องทุกมิติ ไม่ว่ามิติไหน มิติความเป็นอยู่ของสังคม ความเป็นอยู่ที่แท้จริง แล้วมิติทางศาสนามันไม่มีอะไรที่ผิดเพี้ยน

อลิสา หะสาเมาะ
ประเด็นในหน้า12-13 คือเป็นความรู้ในเรื่องศาสนาของผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า น้อยกว่ามาตรฐานของความรู้ด้านศาสนาโดยทั่วๆ ไปหรือเปล่า คือตามความเข้าใจของชาวบ้านวิถีของชาวบ้าน วัฒนธรรมของชาวบ้าน

อิสมาแอล อาลี
คืออันนี้ อาจจะเข้าใจว่า เขาได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เขาก็เล่าถ่ายทอดกันไปเรื่อยๆ ซึ่งอันนี้ โดยเฉพาะหน้า 13 บรรทัดแรก มันใช้ไม่ได้แน่นอน เพราะไปพาดพิงถึงศาสดาเมื่อไร ในเรื่องศาสนาจะต้องตรวจสอบความถูกต้องอะไรต่างๆ ทุกอย่างเลย เพราะพาดพิงถึงศาสนา แม้จะเป็นหลักการหนึ่งของศาสนาอิสลาม ก็คือหนึ่งคัมภีร์อัลกุรอาน อันที่สองคือวัจนะของท่านศาสดา การพาดพิงถึงศาสนา จะต้องมีแหล่งที่มาทันทีจะต้องตรวจสอบได้เท่านั้นเอง อันอื่นก็ไม่หนักหนาสาหัสเท่าอันนี้

สุกรี หลังปูเต๊ะ
คืออย่างที่ท่าน ดร.อิสมาแอลพูด ก็คืออยากจะขอชมเชย และถ้าเราดูตัวอย่างในอดีตที่เคยเกิดขึ้นก็คือท่านเสฐียรโกเศศ ท่านเขียนเกี่ยวกับอิสลาม ถ้ามุสลิมดูก็พูดเต็มปากว่าเป็นการบิดเบือนศาสนาอิสลาม แต่ไม่มีใครเลยที่ลุกขึ้นมาแล้วก็บอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ดี เพราะชื่อของหนังสือ คือ ศาสนาของเพื่อน การใช้คำว่าศาสนาของเพื่อน หมายความว่าเพื่อนกำลังเขียนเรื่องราวของเพื่อน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีผิดมีพลาดบ้าง เพื่อนพยายามทำความเข้าใจหนังสือนั้น คือเข้าใจเจตนาของผู้เขียน ซึ่งใช้คำว่าศาสนาของเพื่อน

หนังสือเล่มนี้มองดูแล้วคือ เสียงสะท้อนจากการศึกษาอิสลามที่เกิดขึ้นจากเบื้องลึกของสังคมว่า นี่คือระดับการศึกษาของพี่น้องมุสลีมะห์ในสังคมบ้านเรา นี่คืองานวิจัยที่อาจารย์ทำให้เราเห็นภาพว่า ผู้หญิงมุสลิมเข้าใจระดับนี้ นั่นหมายถึงว่าหน้าที่ของเราที่จะทำต่อไปต้องจากข้างบนลงไปข้างล่าง ให้เขาเข้าใจให้ถูกต้อง ฉะนั้นสิ่งนี้ที่ต่อไปที่เราต้องทำก็คือว่า เล่มนี้ให้คงอยู่ต่อไป ถ้ามีเล่มใหม่ขึ้นมาเป็นคำอธิบาย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักการจะมีขนาดเท่ากันหรือจำนวนหน้าอาจจะเพิ่มขึ้นมาก็แล้วแต่ นั่นคือเทคนิค คือให้ชัดขึ้นมาเลยว่าส่วนใดที่เป็นความเข้าใจพื้นฐานของประชาชน หรือเป็นความเข้าใจที่ปราศจากคำอธิบายเชิงหลักการ แล้วเรามาเพิ่มคำอธิบายเชิงหลักการ ในแต่ละประเด็น ในแต่ละคำ ในแต่ละองค์การของอัลกุรอานนี้

อาจจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิของหลักกฏหมายอิสลาม มาให้คำอธิบายกับสิ่งที่มีอยู่ในเล่มนี้ พอตีพิมพ์ฉบับที่ 2 อาจจะผนวกเข้าด้วยกัน มันก็จะเป็นเสียงที่มาจากข้างบน คำอธิบายที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จะเป็นการให้การศึกษาคนอ่านรุ่นต่อไปได้ดีมากๆ เพราะตอนนี้เราต้องเข้าใจว่า เราเองมีความบกพร่องที่จะสอนเขา และเขาก็แสดงออกมาว่าเข้าใจแค่นี้ หน้าที่ของเราต่อไปก็คือจะมีกระบวนการอย่างไร ทั้ง อ.มาเรียม ทั้งสถาบันอุดมศึกษาจะลงไปอย่างไรที่จะให้สตรีเหล่านี้ที่แสดงความคิดเห็นเหล่านี้ ได้เข้าใจถูกต้องตามที่วิทยากรได้พูดถึง

อังคณา นีละไพจิตร
ดิฉันคงเป็นคนเดียวในที่นี้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง แต่ดิฉันไม่ได้มีส่วนในการให้ข้อมูลตรงนี้ เพราะดิฉันไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการเยียวยา แต่ดิฉันได้อ่านหนังสือเล่มนี้ อย่างแรกคือ ต้องขอบคุณผู้จัดทำ เพราะว่าในช่วงแรกเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ดิฉันได้เห็นสิ่งหนึ่งก็คือสังคมมุสลิมเองไม่กล้าที่เข้ามาพบปะคนกลุ่มนี้ จะด้วยความกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผู้ก่อการอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ดิฉันได้เห็นผู้หญิงกลุ่มหนึ่งได้ลงมาได้มาทำงานตรงนี้ มองว่าตรงนี้มันสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้ววิธีคิดของคนในท้องถิ่นคืออะไร ตรงนี้ที่เราเรียกว่ามายาคติ

ดิฉันเองก็เป็นผู้หญิงมุสลิมที่ภูมิใจในความเป็นผู้หญิงตะวันออก ยึดมั่นถือมั่นในขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมแล้วก็ศาสนาตะวันออก เป็นผู้หญิงมุสลิมที่ไปไหนต้องขออนุญาตพ่อของสามี แล้ววันนี้ขออนุญาตลูก ดิฉันไม่รู้สึกว่ามันเป็นพันธนาการแต่รู้สึกว่ามันคือความผูกพัน

แต่วันนี้สิ่งหนึ่งที่ดิฉันได้พบก็คือ ความเป็นจริงมันคนละเรื่องกับหลักการ ดิฉันเข้าใจว่าผู้หญิงมุสลิมได้รับความคุ้มครองจากอัลกุรอาน ผู้หญิงมุสลิมสบายเหมือนไข่ในหินได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแลอย่างดี ทรัพย์ของดิฉันก็คือของดิฉัน แต่ทรัพย์ของสามีส่วนหนึ่งดิฉันก็มีสิทธิ์ที่จะรับ ไปไหนดิฉันต้องมีคนคอยดูแล แต่ในความเป็นจริง มีผู้หญิงไม่กี่คนที่โชคดีแล้วก็ได้รับสิทธิ์ตรงนี้ มีวันหนึ่งดิฉันได้มาที่นี่ แล้วก็พบกับผู้เสียหาย ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไปต่อสู้ให้ผู้หญิงที่สูญเสียได้รับเงินค่าชดเชย 300,000 บาท ถามว่าแล้วเอาเงินไปทำอะไร ส่วนใหญ่บอกว่าไม่เหลือ ได้รับจริงๆแค่ 40,000

แสนแรกรัฐจ่ายให้ ถูกหักไป 30,000 ให้ใครก็ไม่ทราบ บอกว่าให้ไปทำพิธีฮัจจ์ให้กับผู้ที่เสียชีวิต, อีก 70,000 พ่อแม่สามีรับ. 300,000 หลังได้แค่ 40,000 ส่วนที่เหลือพ่อแม่สามีรับ ถามว่าแล้วผู้หญิงพวกนี้ ที่ลูกตัวเล็กๆ จะเลี้ยงดูกันยังไงโตมายังไง ทรัพย์ที่ได้ตรงนี้ที่รัฐจ่ายให้ เราตีความว่ามันคืออะไร คือมรดกหรือเปล่า ถ้าเป็นมรดกผู้เสียชีวิตมีลูกชาย ลูกชายมีสิทธิ์ได้รับไหม ในขณะที่คนอื่นซึ่งรับส่วนใหญ่ไป ไม่ได้กลับมาดูแลครอบครัวแม่หม้ายกับลูกกำพร้า ถามว่าผู้หญิงพวกนี้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมนี้ได้อย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

วันนี้ผู้หญิงกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาฟ้องรัฐกระทำการละเมิดเรียกค่าเสียหาย ถามว่าวันนี้ไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือผู้หญิงพวกนี้ได้รับการข่มขู่ไม่เว้นแต่ละวัน เวลาฟ้องได้เงินมาจำนวนหนึ่งแล้วถูกแบ่งออกไปอีก ได้มานิดเดียว แล้วจะไปฟ้องทำไม อยู่เฉยๆ เป็นหัวหน้าครอบครัวก้มหน้าก้มตาทำมาหากินดีกว่าไม่มีใครมาคุกคามด้วย อยากถามว่าแล้วนักนิติศาสตร์อิสลามสบายดีอยู่หรือเปล่า หรือว่ามันเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นเราจะทำอย่างไร ที่เราจะดูแลผู้หญิงกลุ่มนี้ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีพ่อไม่มีสามี ไม่มีลูกชาย

ในวันนี้ พบว่ามีครอบครัวหนึ่งสามีมีภรรยาหลายคนจำไม่ได้ว่ากี่คน มีภรรยาคนหนึ่งลูกชายเสียชีวิตกรณีตากใบ พ่อเป็นคนรับค่าชดเชยแต่แม่ของผู้เสียชีวิตไม่ได้ พ่อเอาไปแบ่งให้กับภรรยาคนอื่น แล้วผู้หญิงคนนั้นที่ลูกเสียชีวิต ใครเลี้ยงดูเขาต่อ อยากจะให้สถาบันการศึกษาออกมามีบทบาทในการชี้นำความรู้ให้กับประชาชน ออกมาปกป้องเพื่อสิทธิของผู้หญิง หวังว่าองค์ความรู้ที่เรามีจะยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่เกิดขึ้น องค์ความรู้ที่เรามีจะหนักแน่นและอดทนกับการถูกตั้งคำถามและตอบคำถาม และจะเป็นที่พึ่งของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่สุด

มาเรียม สาและ
การปิดหน้า คืออยากจะบอกตรงนี้ว่า ถ้าใครรู้สึกว่าทำได้ก็ทำแต่ถ้าทำไม่ได้ก็เอาออก คือรู้สึกว่าน้องๆ คนที่จะเริ่มคลุมหน้าจะรู้สึกว่าไม่เอา เพราะว่าคนเรานั้นไม่มีใครที่ทำได้เกินความสามารถ พอสุดความสามารถก็จบแค่นั้น เหมือนกับตัวเองถามว่าเปิดหน้าสบายใจไหมไม่สบายใจ

ผู้ดำเนินรายการ
ดิฉันขอสรุปประเด็นเพิ่มเติม ที่ชี้ให้เห็นว่าจากหน้า12-13 สะท้อนให้เห็นพื้นความรู้ที่เป็นผู้หญิงมุสลิม อาจจะมีพื้นความรู้ในเรื่องของหลักการทางศาสนาทีเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้หญิง รวมทั้งสิทธิ์ที่มันยังน้อยอยู่ หรือว่ามันคลาดเคลื่อนจากความถูกต้องในเชิงหลักการนั้น ก็เป็นภาระกิจหน้าที่ของผู้รู้ที่จะต้องไปให้ความรู้เขาในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นให้มันถูกต้อง ประเด็นที่ 2 คือเรื่องการคลุมหน้าซึ่ง อ.มาเรียมได้พูดไปแล้วขึ้นอยู่กับศรัทธาตามหลักศาสนา การคลุมผมก็คือ การปกปิดร่างกายทั้งหมดยกเว้นใบหน้ากับฝ่ามือ ตรงนี้เป็นบทบัญญัติ

แต่ในเรื่องการคลุมหน้าจะเป็นเรื่องของอิหม่าน (เรื่องของความศรัทธา) ซึ่งจะมีขึ้นมีลง อาจจะมีเรื่องของสถานการณ์บางอย่างที่บีบบังคับ มีความจำเป็นที่จะต้องเอาผ้าคลุมหน้าออกไป เหมือนที่ อ.มาเรียมรู้สึกอยู่ แล้วก็ประสบอยู่ แต่ก็ไม่อยากให้ไปบั่นทอนความรู้สึกของน้องๆ บางคนที่อยากจะปิดหน้าซึ่งอาจจะยังทำไม่ได้ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบั่นทอน เพราะเรื่องอิหม่านเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

อิสมาแอล อาลี
คือ เรื่องปิดหน้าไม่ปิดหน้ามันจะมีสังคมมุสลิมด้วยกัน สังคมที่ไม่ได้เป็นสังคมมุสลิมบางคนเขาจะมองว่าคนปิดหน้ามันเกินไป บางคนเขาก็จะมองว่าคนที่เปิดหน้ามันหละหลวม คือจะมีสองฝั่ง คือต้องเข้าใจคนที่ปิดคลุมหน้าก็เป็นคนที่ดีเป็นสิทธิ์ส่วนตัว จะปิดก็ได้จะเปิดก็ได้ มันเป็นเรื่องประเด็นปลีกย่อย ถ้าปิดก็ดีไม่เคยว่าคนที่ปิดว่ามันเกินไป แต่ในบางกรณีถ้าเขาเป็นแม่ค้าเปิดร้านเขาต้องเปิด เป็นข้าราชการต้องเปิดเหมือนกันต้องบริการประชาชนต้องเปิด แต่ถ้ามากกว่านั้นมันเป็นเรื่องที่มันชัด ถ้าไม่คลุมมันก็ชัดเจน เป็นเรื่องปลีกย่อยไม่อยากให้เป็นเรื่องประเด็นสำคัญ บางคนที่สูงไปก็บอกว่าคนเปิดยังหลวมอยู่ไม่ดี ไม่อยากให้คนเข้าใจเป็นอย่างนี้ คนที่เปิดก็โอเค คนที่ปิดก็โอเค มันแล้วแต่ความศรัทธาตามที่ อ.มาเรียมบอก แต่ไปบอกว่าคนที่เปิดนั้นไม่ดีไม่ได้ คนปิดมันเกินก็ไม่ใช่เหมือนกัน มันต้องเข้าใจคนที่เปิดและปิด

โซรยา จามจุรี
บางทีบางสถานการณ์การเปิดหน้าก็จำเป็น อย่างกรณีที่นักศึกษาต้องสอบแล้วต้องดูบัตร นักศึกษาบางคนปิดหน้า ถามว่าอาจารย์ที่คุมสอบเขาต้องตรวจเช็คไหม ระหว่างบัตรที่เปิดหน้ากับเจ้าตัวซึ่งปิด อย่างนี้จำเป็นต้องเปิดใช่ไหม เพราะว่าจะต้องเช็คว่าตรงกันหรือเปล่า อาจจะมีใครอำพรางตัวมาสอบแทน เพราะฉะนั้นในบางกรณีก็เป็นกฎว่าจะต้องเปิด

เสาวนีย์ จิตต์หมวด
ประเด็นแรกในเรื่องของหนังสือคือไม่ต้องชมเชยแล้ว จะพูดนิดหนึ่งถึงเรื่องที่หลายท่านได้พูดมาแล้ว อยากจะเล่าเสริมในประเด็นหน้า 13 คือเป็นเสียงสะท้อนของชาวบ้าน ให้ลองฟังเสียงสะท้อนที่เป็นเสียงของคนกรุงเทพดูบ้าง คือคุยกับพี่สะใภ้ที่อายุ 60 ซึ่งเป็นคนอยุธยามีประเด็นที่ตรงกันกับเสียงสะท้อนของชาวบ้านในหน้าที่ 13 เพราะฉะนั้นก็สรุปว่า การเล่าต่อกันมาตรงนี้เกิดขึ้นมานาน ตอนนี้ยอมรับว่ามันเริ่มหายไป คือสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ

ประเด็นที่ 2 พาดพิงถึง อ.ระวิวรรณ ว่า อ. ถูกเด็กมุสลิมหลอกเหมือนกับว่ายืมเงินแล้วก็ไม่ใช้ ในราชภัฏธนบุรีก็มีหลายราย ร้ายมากๆ คือการจัดงานละศีลอด ซึ่งจะต้องจ่ายค่าอาหารเป็นหมื่น ป่านนี้ก็ยังไม่ได้เลย ส่วนที่เป็นร้อยเป็นหลายๆ ร้อยไม่ต้องพูดถึง เพราะฉะนั้นก็เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป

ประเด็นต่อไปคือประเด็นของการแต่งกายในเรื่องที่จำเป็นในเรื่องที่บังคับคือ การฮิญาบ พูดกันมากในกรุงเทพในอุดมศึกษาในกรุงเทพ เรามีข้อคุยกันว่าทำไมเด็กจาก 3 จังหวัด 4 จังหวัดภาคใต้ไปเรียนในกรุงเทพในระดับอุดมศึกษาพอสมควร เด็กเหล่านี้จำนวนไม่น้อยพอไปถึงตรงนั้นแล้วถอดฮิญาบออก ในราชภัฏธนบุรี ตอนนี้ปี 3 ถอดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังไม่ได้คุยกันว่ามีเหตุผลอะไรในการถอดหลังจากที่คลุมมาเป็นเวลานาน

แล้วมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เด็กที่ถอดฮิยาบออกส่วนใหญ่จบมาจากโรงเรียนราษฎร์ที่สอนศาสนาอิสลาม ไม่ใช่โรงเรียนที่เรียนมาจากโรงเรียนสามัญ ซึ่งโรงเรียนที่จบมาจากสามัญแล้วคลุมฮิยาบจะคลุมได้เหนียวแน่น เพราะกว่าเขาจะคลุมได้เขาต่อสู้มานาน แต่คนที่อยู่ในโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ไม่รู้คลุมด้วยความจำเป็นอะไรหรือเปล่า หลายปีมาแล้วเคยนั่งรถในพื้นที่ตรงนี้ ปรากฏว่าก็แต่งเป็นเด็กวัยรุ่นแต่งตัวธรรมดา แต่พอไปถึงจุดที่ไปส่งตรงหน้าโรงเรียนราษฎร์ เด็กคนนั้นแปรสภาพเรียบร้อยเลยคือคลุมฮิญาบเรียบร้อยอย่างนี้เป็นต้น ในขณะที่ได้รับการเล่าจากในพื้นที่เหมือนกันว่า เป็นเด็กที่เรียนโรงเรียนเทศบาลเป็นเด็กเล็กด้วย จากบ้านต้องคลุมฮิยาบไป แต่พอถึงหน้าโรงเรียนต้องถอดออกเพราะอ.ไม่ให้เข้า นี่มันต่างกัน เพราะฉะนั้นมันเลยมีผลมาตอนโตด้วย

ประเด็นต่อไปเป็นประเด็นที่ อ.มาเรียม พูดในเรื่องของสถานภาพและบทบาทที่มันเป็นบทบาทที่ 1 กับบทบาทที่ 2 ดิฉันกำลังตั้งคำถามในฐานะที่ห้องประชุมนี้มีท่านผู้รู้ทางศาสนาอยู่ ซึ่งตัวดิฉันเองก็อยู่ในฐานะที่ไม่ต่างจาก อ.มาเรียม ตรงนี้ ซึ่งก็ไม่ค่อยสบายใจเหมือนกัน คือการที่ผู้หญิงส่วนหนึ่งต้องออกมาทำงานทางสังคมตรงนี้ มันสามารถที่จะดึงไปได้เพราะมันเป็นเพราะฟัรฎูกิฟายะห์ สำหรับบางคนที่จะต้องออกมารับผิดชอบส่วนตรงนี้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของทุกคน

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงตรงนี้มันก็เลยมี 2 สถานะ 2 บทบาท แล้วก็ต้องมาชั่งน้ำหนักแต่ยอมรับว่าเหนื่อยหนัก เพราะว่าเมื่อออกมาทำงานข้างนอกแล้ว ใช่ว่างานในบ้านจะมีคนทำแทน เราก็ต้องทำอยู่ดี บอกได้เลยว่างานแรกที่กลับเข้าบ้านที่ต้องทำเป็นงานแรกคือ ล้างห้องน้ำเป็นภาระจำเป็นแล้วก็ห้องอื่นก็ค่อยๆ ว่าไป เกิดมาในชีวิตนี้ไม่เคยมีคนใช้ งานนอกบ้านก็หนัก แต่งานบ้านเราก็ต้องทำ เป็นการบริหารจัดการเวลา สำหรับฟัรฎูกิฟายะห์ ก็คือมันเป็นหน้าที่ทางสังคมที่จะมีบางคนที่ออกมาทำหน้าที่ทางสังคมได้

แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ในแง่หลักของการหาเลี้ยงชีพก็คือของพ่อบ้าน แต่ในแง่ของความเป็นจริงตรงนี้ ในพื้นที่ที่เห็นมาเป็นเวลาหลายปีมานี้ มันกลายเป็นว่าแม่บ้านต้องออกมาประกอบอาชีพจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่สะพานปลา หรืออะไรก็ตาม กลับกลายเป็นว่าผู้ชายก็จะมีเวลาที่จะนั่งร้านน้ำชากันมากขึ้น ตรงนี้ต่างหากที่ต้องมองว่ามันเป็นเรื่องของสิทธิหน้าที่ ตรงที่ว่ามันกลายเป็นว่าผู้หญิงมีแต่หน้าที่เต็มไปหมดเลย แต่สิทธิที่เธอควรจะได้บางทีมันก็ไม่มี เป็นต้น ตรงนี้มันก็เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่ามันอะไรกัน

จากการที่เก็บข้อมูลจากการตอบคำถามของผู้หญิงจากภาคใต้จำนวนไม่น้อย ซึ่งประเด็นนั้นดิฉันไม่ได้ถาม แต่เป็นคำถามเปิดไว้ มันก็เลยมีเสียงกลับมาพอสมควรในแง่ที่ว่าผู้หญิงจาก 3 จังหวัด กำลังบ่นเรื่องของดะวะห์ (ดะวะห์ตับลีฆ คือการออกไปเผยแพร่ศาสนา ในลักษณะของการเชิญชวนออกกันเป็น 40 วัน) ในแง่ที่ว่าเธอต้องรับภาระหนักมากโดยที่ผู้ชายไม่รับผิดชอบ อันนี้คือเสียงสะท้อนของผู้หญิงใน 3 จังหวัดภาคใต้ แม้แต่ในกรุงเทพเองก็พบสภาพที่ว่าผู้ชายออกดะวะห์ไป แล้วก็ให้ผู้หญิงปิดหน้า แต่ว่าให้ผู้หญิงขับรถไปส่งของไปขายของ ก็เลยตั้งคำถามว่าแล้วมันอะไร เพราะฉะนั้นอันนี้ก็อาจเป็นประเด็นที่มันสับสนขึ้นในสังคมตรงนี้ คงเป็นประเด็นที่ขอนำเสนอ

นายแพทย์ดำรง แวอาลี
ในฐานะที่เป็นจิตแพทย์ให้คำปรึกษากับคนต่างๆ ในเรื่องของความเข้มแข็งทางจิตใจส่วนใหญ่จะใช้เรื่องของศาสนา ผู้หญิงมุสลิมมีความอดทน ยอมที่จะถูกทำร้ายซึ่งคงคล้ายกับผู้หญิงทั่วๆไป นี้คือส่วนหนึ่ง อีกอย่างที่เจอแต่ไม่มากเป็นเรื่องของความรุนแรงทางเพศ แต่ผู้หญิงอาจจะไม่ค่อยเล่า แต่จริงๆ แล้วมี เพราะว่าอาจจะเป็นความเข้าใจผิดหรือเปล่าว่าต้องยอม คือไม่แน่ใจในเรื่องของหลักศาสนา แล้วก็ไม่อยากจะไปแตะตรงนี้เดี๋ยวเข้าใจผิด คือผู้หญิงจะมีความสุขได้จะต้องมีอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ถ้าเครียดแล้วสามีต้องการแล้วก็ต้องยอมมันก็ไม่มีความสุข ตรงนี้มันก็ทำให้ผลทางด้านจิตใจก็ตามมาอีก บางทีมันพูดยากเพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากเลย แต่ก็เอามาพูดให้เห็นว่าความเป็นจริงเป็นยังไง ผู้หญิงมุสลิมเราจะถูกทำร้ายถูกทารุณทั้งร่างกายจิตใจแล้วก็ทางเพศ การถูกทอดทิ้งต่างๆ ค่อนข้างจะเยอะ

ประเด็นสุดท้ายของผู้หญิงบางกลุ่มไม่มากก็คือ ผู้หญิงที่รับอิสลามตอนแรกก็ดี พอตอนหลังสามีก็ทิ้งไป แต่ว่าส่วนใหญ่มุอัลลัฟ(มุอัลลัฟ หมายถึงบุคคลที่เพิ่งเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม หรืออยู่ในช่วงที่กำลังสนใจจะรับอิสลาม) ก็ยังเข้มแข็งอยู่ อาจจะเพราะว่าเขาได้มาเพราะความลำบากหรือเปล่า คือมุอัลลัฟ ที่ได้มา คือคนที่ศึกษาแล้วก็เข้มแข็งแล้ว ถึงแม้ว่าสามีเขาทิ้งไปเขาก็ไม่กลับไป มีบางคนยังคลุมหน้าอยู่เลยบางคนที่สามีทิ้งไป เขาก็ยังคลุมหน้าต่อไป ไม่กลับไปนับถือศาสนาเดิม ถือว่าตรงนี้เป็นความเข้มแข็งของเขา ตรงนี้ก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์

ศิริพร สะโครบาแนค
ศาสนาอิสลามเป็นหลักการและการสั่งสอนถึงวิถีชีวิตการดำรงอยู่ ไม่มีศาสานาไหนจะบอกว่าจะมีชีวิตกันได้ยังไง จะมีเพศสัมพันธ์กันเมื่อไร พูดถึงการมีประจำเดือน การหย่านมอะไรอย่างนี้ซึ่งลงไปในรายละเอียด และก็ไม่มีศาสนาไหนมีเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นศาสนาอิสลามก็เป็นวิถีชีวิตสอนให้คนดำรงชีวิตในครอบครัวได้อย่างไรได้อย่างมีความสุข

แต่หลักการคำสั่งสอนสิ่งที่ผู้หญิงสะท้อน แสดงให้เห็นถึงความคับข้องใจในการที่จะต้องปฏิบัติตามเหล่านี้ คิดว่าถ้าไม่มีเวทีให้ผู้หญิงถ่ายทอดออกมา โดยที่ไม่มีใครมาบอกว่าสิ่งนี้ผิดสิ่งนี้ถูก แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ ถ้าไม่มีเวทีอย่างนั้น หมอดำรงก็คงจะรับปัญหาของผู้หญิงมากมาย คิดว่าหนังสือตรงนี้ถึงแม้ว่าจะมีความไม่เข้าใจ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการที่จะพูดคุยกัน และทำให้เห็นว่าพี่น้องผู้หญิงที่มีสภาพอย่างนี้อยู่

เพราะฉะนั้นในศาสนามุสลิม ก็ถามเขาตอนที่คุยกันว่าศาสนามุสลิม ก็บอกให้ช่วยเหลือกันไม่ใช่หรือ คนที่มีฐานะดีกว่าก็ต้องช่วยเหลือคนยากจนใช่ไหม แล้วผู้หญิงก็บอกว่านั่นเป็นคำสอนแต่ในทางปฏิบัติเขาไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ได้เซ็นเซอร์สิ่งเหล่านี้ออกไปมาก ไม่ได้เขียนลงไปในหนังสือ แล้วก็คิดว่าเนื้อหาที่ปรากฎ ที่มีอยู่ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ตัวตนของผู้หญิงมุสลิมเป็นอย่างไร แล้วก็ความรู้สึกของเธอเป็นอย่างไร เพราะคิดว่าในคำสอน ผู้หญิงภาษาอังกฤษเรียกว่าอินเกรนเอาเข้าไปโหมดมากแล้ว การที่จะรับเอาเข้าไปก็เกิดความทุกข์ทรมานมาก แล้วบางคนก็บอกว่าบางทีเขาอยากจะกรีดร้องแต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะไปที่ไหน เพราะฉะนั้นคิดว่าอันนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชายแล้วก็คนอื่นด้วย ก็น่าจะต้องเข้าถึงแล้วก็ต้องมีวิธีการ

สิ่งที่เขียน ที่ อ. บอกว่าชายคือผู้จัดการ ซึ่งก็ดูในหนังสือเล่มนี้ A Gift for Women เป็นหนังสือที่ผู้หญิงมุสลิมเองเป็นคนเขียน แล้วก็พยายามอธิบายสิ่งเหล่านี้ ซึ่งดีมาก ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง และคิดว่าในศาสนามุสลิม จริงๆแล้วก็บอกว่าผู้ชายเป็นเจ้าของผู้หญิงอยู่ แต่ว่าผู้ชายก็มีหน้าที่อย่างนี้ๆ แต่ก็ไม่ทราบว่าผู้ชายก็อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ให้กับผู้หญิง คิดว่าเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นที่ให้เราได้มาคุยกัน

เพราะฉะนั้นเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ดร.สุกรี ที่คิดว่ามันน่าจะมีหนังสือเล่มอื่นๆ มาอธิบายให้เข้าใจ และคิดว่าผู้หญิงมุสลิมเองยังมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ คิดว่านักการศาสนา นักวิชาการต้องให้ความกระจ่างว่าสิ่งที่ อัลเลาะห์หรือนบีบอก หมายถึงอะไร และการที่เขาถูกกระทำมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เป็นหลักการของศาสนา คิดว่าเหล่านี้ต้องมีการทำงานกันต่อไป

คิดว่าจะต้องมีวิธีการที่หาทางออกในข้อยุติในเชิงสร้างสรรค์ และคิดว่าในแง่ของนักวิชาการ ต้องทำความรู้ให้ลึกซึ้งโดยกรอบของหลักการศาสนา พวกเราเองก็ต้องเรียนรู้ด้วยในหลายๆ อย่าง คิดว่าทุกศาสนาก็มีสิ่งที่ดีงามของแต่ละศาสนา เพราะศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี มันไม่ใช่เป็นเรื่องเซ็นเซอร์ คนเราก็ต้องมีความรับผิดชอบของตัวเอง คิดว่าสิ่งนี้สามารถเปิดประเด็นแล้วทำให้มีการพูดคุย แล้วทำให้เกิดความกระจ่าง ความเข้าใจกันมากขึ้นความรู้สึกที่ดีๆ ต่อกัน เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้อยู่ด้วยกัน ท่ามกลางความหลากหลายของความเชื่อและเคารพซึ่งกันและกัน สิ่งนั้นคือสิ่งที่เราต้องการและอยากจะเห็น

รวีวรรณ ชอุ่มพฤกษ์
กลุ่มดะวะห์ที่ไปเผยแพร่ศาสนาซึ่งมีมา 10 ปีแล้ว ตอนนั้นใหม่ๆ ก็เข้าไปถามกรณีที่สามีไปแบบนี้ ผู้หญิงเขาคิดว่าเขาได้บุญ อันนี้ก็อาจจะเป็นทัศนะหนึ่ง เพียงแต่ว่าต้องการสะท้อนว่ากรณีแบบนี้ผู้หญิงเขาบอกว่าเขาได้บุญ แต่ขณะเดียวกันภาระมาตกกับเขาแน่นอน เป็นเหมือนกับหัวหน้าครอบครัวไปเลย เพราะฉะนั้นประเด็นที่คุณมาพูดถึงก็เห็นว่า จะทำยังไงให้ผู้ชายเหล่านี้ที่ไปทำหน้าที่ในทางศาสนา แต่ละทิ้งหน้าที่ผู้นำครอบครัวได้กลับมาเหลียวแลเขาบ้าง อาจจะต้องรณรงค์หรือเปล่า ก็จะกลายเป็นลุกขึ้นมาเป็นสิทธิสตรีแบบฝรั่ง คงไม่ใช่อย่างนั้น อันนี้ก็เพียงแต่เล่าให้ฟัง

สุกรี หลังปูเต๊ะ
เราพูดถึงความรุนแรงทางตรงกันมากกว่า แต่สิ่งที่เรามักจะลืมกันก็คือความรุนแรงทางวัฒนธรรม และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หนังสือฉบับนี้ดีที่เรามีเวที ถ้าไม่มีเวทีนี้หนังสือนี้อาจจะกลายเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรมได้ ซึ่งท้ายที่สุด มันก็จะเป็นผลพวงของความรุนแรง เป็นความรุนแรงทางตรง

สุดท้ายอยากจะฝากเอาว่าการเยียวยาหรือการแก้ไขปัญหาในอนาคต หรือการป้องกัน คิดว่าต้องศึกษาและหาวิธีด้วยกันก็คือ จะแก้ไขปัญหาที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม เพราะว่าผู้หญิงเสียเปรียบและเสียโอกาสและถูกทำลาย แม้กระทั่งเสียชีวิตจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างเยอะมาก

คำสอนที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้หญิงอยู่ในความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แต่ที่เราเห็นกับตาที่หมอพูดเมื่อกี้ทางจิตเวช จิตแพทย์ แต่สิ่งที่มองไม่เห็น โดยวาจาที่เปล่งออกมาสิ่งที่มันอยู่ในโครงสร้างที่ผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบมีอีกเยอะ แล้วก็เชิงวัฒนธรรมที่ผู้หญิงสะท้อนออกมาอันนั้น คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม แสดงว่าศาสนาของมุสลิมกับศาสนาอิสลามมันเป็น 2 ประเด็นที่ต้องคุยกัน ศาสนามุสลิมคือศาสนาที่คนมุสลิมเข้าใจว่ามันคือสิ่งที่เขายึดถือ แต่อิสลามเป็นเรื่องที่เป็นหลักการไม่ใช่เรื่องของคน ศาสนาอิสลามมีความเชื่อว่าถูกส่งถูกประทานลงมา เพราะฉะนั้นผู้สร้างย่อมจะเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร

เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากให้แยกประเด็น ก็คืออิสลามกับมุสลิม มุสลิมย่อมจะมีปัญหาเยอะแยะมากมายแต่เราก็ยังให้เกียรติ ถึงแม้ว่าเราไม่ใช่มุสลิมก็อาจจะมองว่า อย่างน้อยอิสลามก็มีระบบมีโครงสร้างมีตัวการันตีระบบที่มันจะคุมมาตรฐานของมัน

อลิสา หะสาเมาะ
จะพูดต่อจากประเด็นที่ อ.สุกรีพูด เรื่องความรุนแรงของผู้หญิงในปัจจุบัน เราจะต้องมองในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย มันมีความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงทางอ้อม ถ้าเรามองลึกๆ อย่างที่พี่ศิริพรบอกว่า หนังสือเล่มเล็กเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวที่พี่เขาตัดออกจากส่วนใหญ่ไป สังคมมุสลิมมะของเรา กำลังเผชิญกับปัญหาหรือว่าวิกฤติหลายๆอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของสังคมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปัจจุบันนี้สถานการณ์วิกฤติ ผลกระทบจากการพัฒนา

เมื่อก่อนผู้ชายจะเป็นคนออกไปหาปลา คือจะมีวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ แต่ทรัพยากรของ3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นว่าทรัพยากรต่างๆเหล่านี้มันลดน้อยลง มันหายไป ทำให้ผู้ชายที่อยู่ข้างนอกถูกจำกัดลง แทนที่ผู้ชายจะกลับมาช่วยผู้หญิง บางทีศักดิ์ศรีหรืออะไรบางอย่าง คือมันต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มในแง่ของเชิงโครงสร้าง ในแง่การพัฒนาก็ดี กระบวนการโลกาภิวัตน์ก็ดี โดยเฉพาะสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี อาจจะเป็นว่า ผู้หญิงที่ประสบปัญหาอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลของโครงสร้างใหญ่

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



210849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
พื้นที่ของผู้หญิงใน ๓ จังหวัดภาคใต้
บทความลำดับที่ ๑๐๑๒ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
คำสอนที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้หญิงอยู่ในความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แต่ที่เราเห็นกับตาที่หมอพูดเมื่อกี้ทางจิตเวช จิตแพทย์ แต่สิ่งที่มองไม่เห็น โดยวาจาที่เปล่งออกมาสิ่งที่มันอยู่ในโครงสร้างที่ผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบมีอีกเยอะ แล้วก็เชิงวัฒนธรรมที่ผู้หญิงสะท้อนออกมาอันนั้น คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม แสดงว่าศาสนาของมุสลิมกับศาสนาอิสลามมันเป็น 2 ประเด็นที่ต้องคุยกัน ศาสนามุสลิมคือศาสนาที่คนมุสลิมเข้าใจว่ามันคือสิ่งที่เขายึดถือ แต่อิสลามเป็นเรื่องที่เป็นหลักการไม่ใช่เรื่องของคน ศาสนาอิสลามมีความเชื่อว่าถูกส่งถูกประทานลงมา เพราะฉะนั้นผู้สร้างย่อมจะเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร

เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากให้แยกประเด็น ก็คืออิสลามกับมุสลิม มุสลิมย่อมจะมีปัญหาเยอะแยะมากมายแต่เราก็ยังให้เกียรติ ถึงแม้ว่าเราไม่ใช่มุสลิมก็อาจจะมองว่า อย่างน้อยอิสลามก็มีระบบมีโครงสร้างมีตัวการันตีระบบที่มันจะคุมมาตรฐานของมัน

ในวันนี้ พบว่ามีครอบครัวหนึ่งสามีมีภรรยาหลายคนจำไม่ได้ว่ากี่คน มีภรรยาคนหนึ่งลูกชายเสียชีวิตกรณีตากใบ พ่อเป็นคนรับค่าชดเชยแต่แม่ของผู้เสียชีวิตไม่ได้ พ่อเอาไปแบ่งให้กับภรรยาคนอื่น แล้วผู้หญิงคนนั้นที่ลูกเสียชีวิต ใครเลี้ยงดูเขาต่อ อยากจะให้สถาบันการศึกษาออกมามีบทบาทในการชี้นำความรู้ให้กับประชาชน ออกมาปกป้องเพื่อสิทธิของผู้หญิง หวังว่าองค์ความรู้ที่เรามีจะยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่เกิดขึ้น องค์ความรู้ที่เรามีจะหนักแน่นและอดทนกับการถูกตั้งคำถามและตอบคำถาม และจะเป็นที่พึ่งของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่สุด