บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ








Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๙๙๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙
31-07-2547

Midnight's economic forum

การเจรจาเขตการค้า FTA, บทเรียนจากเอกวาดอร์
เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเรื่องเอฟทีเอ กรณีเอกวาดอร์และไทย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากเอกสารออนไลน์ที่ได้รับมาจากเว็บไซต์พันธมิตร

บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาเอฟทีเอ
กรณีประเทศไทยและประเทศเอกวาดอร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเอกวาดอร์
นักศึกษาจะได้เห็นถึงการต่อสู้ของชนพื้นเมืองในประเทศดังกล่าว
ซึ่งทำการต่อผู้กับชนชั้นปกครองของตนมาอย่างต่อเนื่อง คนแล้วคนเล่า
อันถือเป็นบทเรียนที่ดี ต่อท่าทีการเจรจาเขตการค้าเสรีสำหรับประเทศไทย

midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 990
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)

 

เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเรื่องเอฟทีเอ กรณีไทยและเอกวาดอร์
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาเขตการค้าเสรี FTA ประกอบกัน 3 เรื่องดังนี้
1. รายงานพิเศษ : FTA 'หลอน' ไม่เลิกที่เอกวาดอร์
2. คำแถลงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)
3. บทบรรณาธิการ : การถกเถียงเรื่องเอฟทีเออย่างมีเหตุผลแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

1. รายงานพิเศษ : FTA 'หลอน' ไม่เลิกที่เอกวาดอร์
ข้อมูลจาก : ประชาไทออนไลน์

รายงานประจำปีที่สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (FIDH) และองค์การสากลเพื่อต่อต้านการทรมาน (OMCT) ร่วมกันเผยแพร่ ณ กรุงปารีส เมื่อวันพุธที่ 22 มีนาคม 2549 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตลอดปี 2548 ที่ผ่านมา มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกภัยคุกคามจนถึงขั้นถูกลอบสังหาร รวมทั้งสิ้น 117 ราย กรณีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นทั่วโลก 1,172 ราย การทรมาน 92 ราย และการทำร้ายร่างกายอีก 56 ราย โดยประเทศที่มีชื่อระบุชัดเจนในรายงานดังกล่าว ได้แก่ โคลัมเบีย, อาร์เจนตินา, บราซิล, โบลิเวีย, ตูนีเซีย, เอกวาดอร์, เฮติ, ซูดาน, และจาไมกา
กว่าครึ่งของจำนวนประเทศที่กล่าวมา ล้วนอยู่ในแถบละตินอเมริกาทั้งสิ้น ทำให้พื้นที่ในแถบนั้นถูกขนานนามว่าเป็น 'ดินแดนอันตราย' ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ เนื้อหาในรายงานยังชี้ให้เห็นว่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันภายในประเทศ ซึ่งประกาศใช้มาตรการพิเศษต่างๆ มากขึ้น โดยอ้างว่านี่คือการออกนโยบายเพื่อปราบปรามการก่อการร้าย และมีเบาะแสว่าทหารและตำรวจจากหลายต่อหลายประเทศในแถบละติน อเมริกา ได้ปลอมตัวเป็นลูกเสือชาวบ้านไปสังหารนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อกลบเกลื่อนหลักฐานต่างๆ

ในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลเอกวาดอร์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นมาบังคับใช้ในพื้นที่ 5 เมือง รอบกรุงกีโต (Quito) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเอกวาดอร์ เป็นการตอกย้ำให้ทั่วโลกรับรู้ว่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในละตินอเมริกายังต้องต่อกรกับปัญหานี้ไปอีกนานจริงๆ

สาเหตุที่ประธานาธิบดี อัลเฟรโด พาลาชิโอ ประกาศภาวะฉุกเฉินในเอกวาดอร์ เนื่องมาจากชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ได้รวมตัวกันปิดล้อมเส้นทางคมนาคมเข้า-ออกเมืองหลวงเป็นเวลานานถึง 10 วัน เพื่อแสดงเจตนาต่อต้านการทำสัญญาเขตการค้าเสรี FTA กับสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีอัลเฟรโดจึงตอบโต้การกระทำของผู้ชุมนุมประท้วงด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมความรุนแรง

"เรา (รัฐบาลเอกวาดอร์) ได้รับมือกับการต่อรอง (จากกลุ่มชนพื้นเมือง) ด้วยการให้เกียรติ" นี่คือคำพูดของประธานาธิบดีอัลเฟรโดที่มีต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แต่ประโยคถัดมาของเขาเป็นการยืนยันในความมุ่งมั่นด้านการต่อรองของรัฐบาลเอกวาดอร์ได้เป็นอย่างดี

"ผมขอประกาศว่า เราจะต้องต่อรองกับพวกเขาโดยไม่ยอมยกเลิกเรื่องสิทธิการเจรจาทางการค้า เพื่อผลประโยชน์ด้านธุรกิจของประเทศ รวมถึงประโยชน์ด้านเทคโนโลยี และหนทางที่จะนำไปสู่ยุคใหม่ของประเทศชาติของเรา"
ช่างเป็นประโยคที่ฟังสวยหรูดูดี แต่ถ้าลองพิจารณาให้อย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่า ผู้นำของเอกวาดอร์คนปัจจุบันไม่มีแนวทางเป็นรูปธรรมที่จะใช้ 'ต่อรอง' กับผู้ชุมนุมเลยแม้แต่นิดเดียว

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มชนพื้นเมืองเอกวาดอร์
ถึงแม้เอกวาดอร์จะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมัน และรายได้หลักของประเทศก็คือการค้าน้ำมัน แต่ประชาชนชาวเอกวาดอร์กว่าค่อนประเทศยังคงประสบกับปัญหาความยากจนอย่างไม่มีทางเลือก. ร้อยละ 65 ของชาวเอกวาดอร์ 13 ล้านคน เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งมีหลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ และร้อยละ 30 คือชนพื้นเมืองเดิมเชื้อสายอินเดียน

แต่ความเป็นไปในเอกวาดอร์ก็เป็นเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพราะผลกำไรที่ได้จากการค้าน้ำมันมักจะไหลเข้าไปสู่กระเป๋าของนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่กลุ่ม และนายทุนส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มอำนาจเดิมที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นปกครองนับตั้งแต่ยุคอาณานิคม. ในทางกลับกัน ชนพื้นเมืองเดิมซึ่งมีหลายกลุ่มหลายเผ่าพันธุ์ต้องประสบกับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รัฐบาลไม่ยอมรับความแตกต่างของชนพื้นเมืองแต่ละกลุ่ม และมีการกวาดล้างจับกุมผู้คนในชุมชนที่มีขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมเป็นของตนเองอย่างเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ชาวเอกวาดอร์ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการจัดสรรปันส่วนพื้นที่มาโดยตลอด แต่ผู้ที่ได้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ก็คือ ผู้มีอิทธิพลและชนชั้นผู้นำเท่านั้น และสถานการณ์ภายในเอกวาดอร์ก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด จนในที่สุดขบวนการชนพื้นเมืองก็ได้รวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และขอทวงสิทธิ์ของตนในฐานะพลเมืองของประเทศกับเขาบ้าง

การเคลื่อนไหวต่างๆ ที่สำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิเพื่อชนพื้นเมืองเดิม ได้แก่

พฤศจิกายน 2529
ชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ รวมตัวเป็นพันธมิตรกันเพื่อหาข้อตกลงและเจรจาให้รัฐบาลยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ รวมทั้งต่อรองให้มีชาวพื้นเมืองเดิมมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง โดยขบวนการที่เป็นแกนนำคือกลุ่ม CONAIE (El Confederacion de Nacionalidades Indigenas del Ecuador) การรวมตัวครั้งนี้มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างเครือข่ายชนพื้นเมืองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐบาลเอกวาดอร์ในสมัยนั้นยอมรับข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณา ถึงแม้ว่ารัฐจะยังไม่มีการกำหนดนโยบายใดๆ มารองรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ถือได้ว่ารัฐบาลเอกวาดอร์ได้รับรู้ถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายชนพื้นเมืองเป็นครั้งแรก

ปี 2535 - 2537
ในช่วงนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชนพื้นเมืองในเอกวาดอร์ได้เริ่มต้นทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงให้ประชาชนที่เหลือได้รับรู้ถึงเจตจำนงของกลุ่ม ทั้งยังมีการปฏิบัติการทางตรงเพื่อประท้วงที่รัฐบาลไปกู้เงินมาจากกองทุนไอเอ็มเอฟ ชนพื้นเมืองนับพันคนซึ่งไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ตั้งแต่แรก จึงบุกเข้าปิดล้อมเส้นทางคมนาคมจากทุกภาคที่จะตรงสู่เมืองหลวงด้วยการขนท่อนไม้ใหญ่มาขวางถนน หรือบางที่ก็จะมีชนพื้นเมืองยืนรวมตัวกันเพื่อกีดขวางเส้นทาง ทำให้การจราจรและการลำเลียงสินค้าเพื่อดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก จากนั้นสมาชิกของขบวนการก็จะคล้องแขนกันเต้นระบำ เพื่อแสดงถึงการปิดล้อมอย่างสันติ

การเคลื่อนไหวด้วยความเข้มแข็งและสามัคคีของกลุ่มชนพื้นเมือง เรียกร้องความสนใจจากทั้งสื่อมวลชนทั่วโลกและจากชาวเอกวาดอร์กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการกู้ยืมเงิน นับจากนั้นเป็นต้นมา การเคลื่อนไหวของขบวนการชนพื้นเมืองก็กลายเป็นที่รู้จักและมีเข้าผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้น

ในระหว่างปี 2536 มีการปิดล้อมเส้นทางเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เพราะรัฐบาลเอกวาดอร์มีมติที่จะแปรรูปสัมปทานน้ำ และน้ำมันให้เป็นของเอกชน ขบวนการชนพื้นเมืองจึงมีการเคลื่อนไหวบ่อยขึ้น และต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจะอธิบายให้ประชาชนที่เหลือเข้าใจว่า การปล่อยให้ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญตกไปอยู่ในมือของบริษัทเอกชนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ผลกระทบทางตรงทางอ้อมเช่น การสูญเสียที่ดินทำกิน การผูกขาดด้านการบริหารทรัพยากรจะทำให้ประชนไม่อาจเข้าถึงทรัพยากรโดยตรงได้ รวมไปถึงการเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน เพราะถ้าหากมีโรงงานน้ำมันใหม่ๆ เกิดขึ้น การบุกรุกหรือขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ย่อมเกิดขึ้นแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ขบวนการฯ ชนพื้นเมืองจึงใช้วิธีประท้วง ปิดล้อม และเดินขบวนชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล ทำให้ชนพื้นเมืองได้รับการชดเชยที่สมควร

แม้จะไม่ถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะพรรคการเมืองชื่อว่า "ปาชาคูติก" ซึ่งเป็นพรรคที่มีสมาชิกเป็นชนพื้นเมือง สามารถเข้าไปมีบทบาทในสนามการเมืองด้วยตำแหน่งพรรคฝ่ายค้าน จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนพื้นเมือง หากจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนอย่างแท้จริงก็คือปี 2537 ซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ตามคำเรียกร้องของชนพื้นเมือง โดยรัฐธรรมนูญได้ระบุว่า การใช้วิถีชีวิตของชนพื้นเมืองแต่ละกลุ่ม เป็นสิทธิอันชอบธรรมในฐานะพลเมืองเอกวาดอร์

การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นความสำเร็จในการต่อสู้ของชนพื้นเมือง ที่สามารถทำให้การดำรงอยู่ของตนกลายเป็นความชอบธรรม และช่วยป้องกันไม่ให้ชนพื้นเมืองทั่วทั้งเอกวาดอร์ ต้องเจอกับการข่มขู่หรือข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่คิดทุจริตได้ในระดับหนึ่ง

ปี 2543
ประธานาธิบดี จามิล มาฮูอัด อยู่ในตำแหน่งเป็นปีที่ 3 เอกวาดอร์ก็ระสบกับภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก เพราะรัฐบาลใช้เงินไปกับนโยบายประชานิยม จนในที่สุดประชาชนเอกวาดอร์ก็หมดความเชื่อมั่นในค่าเงินของตน รัฐบาลจึงประกาศให้เอกวาดอร์ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แทนเงินสกุลเดิม การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้เอกวาดอร์เสียเอกราชทางการเงินและการธนาคารให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างสมบูรณ์แบบ

เช่นเดียวกับท่าทีของรัฐบาลที่สนใจจะร่วมลงนามในสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างเอกวาดอร์และสหรัฐฯ อย่างออกนอกหน้า แต่นโยบายนี้เป็นเรื่องที่ชนพื้นเมืองหวาดหวั่นจนต้องออกมาต่อต้านโดยฉับพลัน เพราะเกรงว่าข้อตกลงต่างๆ ในสัญญาอาจจะไม่เป็นธรรม และอาจทำให้ประชาชนเอกวาดอร์ต้องพบกับปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำยิ่งกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ ขบวนการฯ ชนพื้นเมืองจึงยินยอมร่วมมือกับนายพล ลูชิโอ กูเตียร์เรซ เพื่อขับไล่รัฐบาลออกไปให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อจะได้มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหม่ด้วย

ปี 2545
ประธานาธิบดีเอกวาดอร์คนใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งคือนายพลลูชิโอ กูเตียร์เรซ ซึ่งไม่ใช่ตัวเลือกที่ชนพื้นเมืองพอใจนัก ติดตรงที่ผู้สมัครอีกฝ่ายหนึ่งเป็นนักธุรกิจซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลเดิม ทำให้นายพลลูชิโอเป็นตัวเลือกที่ 'ดูดีกว่า' ขึ้นมาเล็กน้อย

ปี 2548
ข้อตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีระหว่างเอกวาดอร์และสหรัฐฯ ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความยินยอมของประธานาธิบดีลูชิโอ (ซึ่งเคยโหนกระแสต่อต้านเอฟทีเอมาแล้วในการล้มล้างรัฐบาลของปะธานาธิบดีจามิล) ขบวนการฯ ชนพื้นเมืองจึงไม่อาจปล่อยให้มีการลงนามในสัญญาการค้าเสรีได้ การชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีลูชิโอจึงเกิดขึ้น

ผลก็คือชาวเอกวาดอร์ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อว่า อัลเฟรโด พาลาชิโอ มารับตำแหน่งแทน และในวันที่ 22 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอัลเฟรโดได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ 5 เมืองซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ประกอบด้วยเมืองโคโตพาซี, คานาร์, ชิมโบราโซ, อิมบาบูรา, และบางส่วนของเมืองพิชินชา เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถยุติการประท้วงที่กินเวลายืดเยื้อยาวนานถึงสิบวันของบรรดาชนพื้นเมืองได้ และข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่ชนพื้นเมืองยืนยันก็คือ การขอให้รัฐบาลยกเลิกการเจรจาขั้นสุดท้ายเรื่องความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐอเมริกา

วงจรอำนาจกับภาระที่ไม่ได้รับการปลดปล่อยของชนพื้นเมือง
แม้ไม่อยากจะเชื่อ (แต่ก็ต้องเชื่อ) ว่าถึงที่สุดแล้ว ผู้ที่มารับตำแหน่งผู้นำแต่ละคนยังคงเลือกที่จะสานต่อโครงการเอฟทีเอ และรับเอาระบอบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มาเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ และคงไม่ต่างอะไรจากการหลับหูหลับตาทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาที่เรื้อรังอยู่ของประชาชน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีด้านกิจการภายในประเทศของเอกวาดอร์ (รัฐมนตรีมหาดไทย) เฟลิเป เวกา ยังอ้างอีกด้วยว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินคือสิ่งจำเป็น เนื่องจากประธานาธิบดีอัลเฟรโดได้ทำทุกวิถีทางแล้ว เพื่อจะยุติความขัดแย้งด้วยการเจรจากับชนพื้นเมืองเดิม แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะตัวแทนสมาพันธ์ชนพื้นเมืองเดิมไม่ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งหมายถึงการมุ่งมั่นที่จะลงนามในสัญญาเอฟทีเอให้ได้

บรรดาชนพื้นเมืองนับหมื่นคนที่เคลื่อนตัวจากพื้นที่ที่ราบสูงและป่าเขาทางด้านตะวันออก รวมตัวกันเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัลเฟรโดถอนตัวจากการเจรจาเอฟทีเอกับทางการสหรัฐอเมริกา และถ้าหากไม่มีการยุติการเจรจาเอฟทีเอ ชนพื้นเมืองเดิมก็ประกาศว่าจะลุกฮือขึ้นโค่นล้มประธานาธิบดีให้พ้นไปจากตำแหน่ง เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะขบวนการต่อสู้ทางตรงของกลุ่มชนพื้นเมือง และชาวเอกวาดอร์ที่ยากจนทั้งหลาย

เหตุผลที่ชนพื้นเมืองพยายามอธิบายให้ประธานาธิบดีที่มารับตำแหน่งแต่ละคน เข้าใจเจตนาในการคัดค้านเอฟทีเอและระบอบทุนนิยมเสรีนิยมก็คือ เท็จจริงที่ว่าบรรดาชาวนาและผู้ทำเกษตรกรรมรายย่อยของเอกวาดอร์ ไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรมาต่อกรกับสินค้านำเข้า ที่ได้รับการอุดหนุนเป็นอย่างมากจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้
นอกจากนี้ การทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม เพราะชนพื้นเมืองจะไม่สามารถรักษาวัฒนธรรมความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติของพวกตนเอาไว้ได้ เนื่องจากพวกเขาต้องกลายไปเป็น กลไกในระบอบทุนนิยมดังกล่าว ซึ่งนั่นคือการละทิ้งรากเหง้าของวิถีที่ผูกพันกับวิถีธรรมชาติ

แม้รัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่า คำพูดของชนพื้นเมืองเดิมมีน้ำหนักพอให้รับฟัง แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลใดหยุดยั้งความต้องการที่จะมุ่งหน้าไปสู่การค้าเสรี โดยไม่เคยสนใจศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
หรือในทางกลับกัน ผู้นำรัฐบาลของเอกวาดอร์แต่ละคนอาจรู้ดีอย่างถ่องแท้ว่า ผลกระทบที่เกิดกับชนพื้นเมืองจะแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินให้แก่ตนและกลุ่มทุนได้อย่างไร และนี่อาจเป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ผู้นำแต่ละคนยังกล้าที่จะตัดสินใจเช่นเดิม แม้จะเห็นแจ่มแจ้งอยู่แล้วว่าขบวนการภาคประชาชนที่มีชนพื้นเมืองเดิมเป็นแกนนำ มีความมุ่งมั่นที่จะคัดค้านการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมเช่นนี้อย่างไรบ้าง

แม้ว่า ฮัมเบอร์โต ทาลากัว ผู้ประสานงานพรรคปาชาคูติกจะออกมาระบุว่า ประธานาธิบดีอัลเฟรโดกำลังพาตัวเองเข้าสู่จุดล่มสลายทางการเมือง ด้วยการยืนยันทำความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา ฮัมเบอร์โตจึงขู่ว่าชาวเอกวาดอร์ส่วนใหญ่ยืนอยู่ข้างเดียวกับชนพื้นเมืองเดิม และจะมีการแสดงพลังบนท้องถนนต่อไป ในขณะที่ กิลเบอร์โต ทาลาฮัว ผู้นำชนพื้นเมืองและผู้จัดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้ก็ประกาศด้วยประโยคเดียวกันว่า จะยังคงประท้วงรัฐบาลต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลได้ใช้แก๊สน้ำตาและกองกำลังตำรวจบุกเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมได้สำเร็จ ในวันที่ 23 มีนาคม 2549

สิ่งที่ชาวเอกวาดอร์ต้องกลับมาทบทวนจึงไม่ใช่จุดยืนของชนพื้นเมืองเดิมอีกต่อไป แต่ควรจะพูดถึงการเปลี่ยนไปของประธานาธิบดีแต่ละคนหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ เพราะเหตุใดผู้นำแต่ละคนซึ่งมองเห็นบทเรียนจากการล้มล้างรัฐบาลเอกวาดอร์จึงพร้อมจะกระโจนเข้าสู่วังวนการค้าเสรีกันนัก? ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะระบบการค้าแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่นี้เอื้ออำนวย 'ผลประโยชน์' ชั้นดีให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองและกลุ่มทุนได้รับ บรรดาผู้นำเหล่านั้นจึงพร้อมที่จะก้าวไปซ้ำรอยเดิม แม้จะรู้ดีอยู่เต็มอกว่าประชาชนกว่าครึ่งประเทศไม่ยอมรับข้อตกลงนี้

เมื่อไม่มีกลไกทางการเมืองใดๆ ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้ชนพื้นเมืองเดิมต่อรองกับฝ่ายรัฐบาลได้อย่างเป็นระบบ ประชาชนเอกวาดอร์จึงต้องเสียหยาดเหงื่อและน้ำตาในการเดินขบวนไปตามท้องถนน แต่จะต้องมีการชุมนุมเช่นนี้กี่ครั้งกี่หน วงจรอำนาจแบบเดิมๆ ที่ผู้นำประเทศเป็นผู้มีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการตัดสินใจจึงจะหมดสิ้นไป?

ข้อมูลอ้างอิง
http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/4811342.stm
http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/4812166.stm
http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/4834106.stm
http://en.wikipedia.org/wiki/CONAIE
http://today.reuters.com/News/CrisesArticle.aspx?storyId=N23191015
http://www.hartford-hwp.com/archives/41/043.html

2. คำแถลงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)
ข้อมูลจาก : กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (๒๕ เมษายน ๒๕๔๙)

ทักษิณเว้นวรรค แต่ระบอบทักษิณเดินหน้า
หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนเอฟทีเอ ด้วยการปฏิรูปการเมือง
ตามที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและกลุ่มบุคคลและกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มในประเทศไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการณ์เดินหน้าการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ และเร่งรัดให้มีการลงนามเอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่นนั้น กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและองค์กรพันธมิตรขอเรียกร้องให้กลุ่มดังกล่าวยุติการดำเนินการดังกล่าวเสีย เนื่องจากเห็นว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เหมาะสมด้วยสาเหตุหลายประการ

ประการแรก กลุ่มที่เรียกร้องให้มีการลงนามเอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่น เป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำเอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่น ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปยังไม่มีโอกาสได้เห็นตัวสัญญาดังกล่าวแต่ประการใด ข้อตกลงซึ่งไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะดังกล่าว อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนไทยที่ต้องได้รับผลกระทบจากการบริการด้านสุขภาพ และผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอางของญี่ปุ่นจะเข้ามาแย่งชิงพันธุ์พืชและภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศโดย ที่ไม่มีกลไกใดๆ ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

ส่วนกรณีการเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการณ์หรือรัฐบาลเฉพาะกิจที่จะจัดตั้งขึ้นหลังเดือนเมษายน ให้ดำเนินการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของสภาหอการค้าไทยนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเกษตรของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดจากสหรัฐฯ และได้ประโยชน์จากการส่งออกกุ้ง ไก่ และอาหารทะเล เท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวจึงขัดแย้งกับอุตสาหกรรม และภาคบริการอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอ

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ขอเรียกร้องให้ประชาชนไทยและสื่อมวลชนตรวจสอบความชอบธรรมของกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ โดยในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศเว้นวรรคแล้ว แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับเดินหน้าผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของตนต่อไป โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ และผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ

ประการที่สอง รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดเดียวกันกับรัฐบาลที่ประชาชนนับแสนๆ คนเดินขบวนขับไล่ และมีประชาชนนับสิบล้านคนลงคะแนนงดออกเสียงเลือกตั้ง ปฏิเสธที่จะให้มาบริหารประเทศต่อไป รัฐบาลรักษาการณ์จึงปราศจากความชอบธรรมใดๆ ที่จะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างผลกระทบระยะยาวต่อประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาภายหลังการเลือกตั้งในปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ แต่รัฐบาลซึ่งมาจากสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดียวและพิกลพิการ อันเนื่องมาจากการปฏิเสธการเลือกตั้งของประชาชนก็ปราศจากความชอบธรรมใดๆ ที่จะตัดสินใจชะตากรรมของประเทศ

เอฟทีเอว็อทช์และองค์กรพันธมิตร ขอเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ยุติการผลักดันให้มีการเจรจาหรือลงนามข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ โดยทันที ทั้งนี้โดยการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ต้องรอจนกว่าจะมีกระบวนการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และมีรัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาบริหารประเทศ โดยคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี

ข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง
เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน จากการที่กลุ่มทุนในรัฐบาลดำเนินการจัดทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน ตลอดจนป้องกันมิให้รัฐบาลในอนาคตดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แปรรูปประเทศ โดยส่งเสริมระบอบการค้าเสรีอย่างไร้ขอบเขตและขาดดุลยภาพในการพัฒนาที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและวิถีวัฒนธรรมที่ดี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีและองค์กรพันธมิตรเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง 4 ประการสำคัญคือ

1. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องไม่มีข้อกำหนดใดๆ ให้รัฐต้องส่งเสริมระบอบการค้าทุนนิยมเสรี ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปทรัพยากร หรืออื่นๆ ให้กลายเป็นสินค้า คำนึงถึงแต่การแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการแสวงหากำไร ยิ่งไปกว่าการคำนึงถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

2. เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 224 โดยให้การเจรจาและทำความตกลงในการค้าระหว่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลีกเลี่ยงไม่นำความตกลงระหว่างประเทศเข้าไปพิจารณาในรัฐสภา ดังที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ดำเนินการในการลงนามเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ

3. เสนอให้กฎหมายเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการสำคัญระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและมีกำหนดเวลาระบุไว้แน่ชัดว่า ต้องดำเนินการให้มีการออกกฎหมายแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายฉบับนี้ต้องมีบทบัญญัติให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีส่วนร่วมและมีส่วนในการตัดสินใจในการเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ การจัดการผลกระทบ การเกลี่ยผลประโยชน์ ตลอดจนผู้ที่มีส่วนได้เสียต้องได้รับผลผูกพันจากการลงนาม เป็นต้น

4. ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิออกเสียงในกรณีที่มีการลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศ ทั้งนี้โดยเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ สามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างรอบด้านและเป็นธรรม ประชาชน

เอฟทีเอว็อทช์ ขอเรียกร้องให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มร่วมกันทำหน้าที่ ในการตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร และจับตาบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบอบทักษิณ ในสภาพการณ์ทางการเมืองที่มีเพียงรัฐบาลรักษาการณ์บริหารประเทศ และมีสภาพิกลพิการซึ่งไม่อาจฝากความหวังใดๆ ในการตรวจสอบการดำเนินงานรัฐบาลได้

ภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนทุกกลุ่มคือการผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การบริหารประเทศดำเนินไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นปกติโดยเร็ว

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
801/ 8 ถ.งามวงศ์วาน ซ.งามวงศ์วาน 27 อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทร.02-952-7953 โทรสาร 02-591-5076
email: [email protected] www.ftawatch.org

3. บทบรรณาธิการ : การถกเถียงเรื่องเอฟทีเออย่างมีเหตุผลแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ข้อมูลจาก : กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙)

ชื่อบทบรรณาธิการฉบับนี้ "การถกเถียงเรื่องเอฟทีเออย่างมีเหตุผลแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย"
นำมาจากข้อเขียนของคุณไมเคิล มอนเทซาโน อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และนักวิจัยรับเชิญที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเขียนลงในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น คอลัมน์จดหมายถึงบรรณาธิการ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา
…
คุณไมเคิลบอกว่า การถกเถียงเรื่องเอฟทีเอนั้น ถูกปล่อยให้อยู่ในมือของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความคิดแบบ "อุดมคติ" ซึ่งแม้ว่าจะมีประเด็นหลายข้อที่ใช้ได้ในการคัดค้านข้อตกลง แต่ไม่นำไปสู่การถกเถียงที่ชัดเจนได้เนื่องจากเหตุผลหลายประการ เหตุผลหนึ่งคือ การแบ่งแยกขั้วทางการเมืองนั้น ไม่ได้ส่งผลแต่กับกรณีการหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเสกของทักษิณ แต่ยังทำให้การถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะด้วยเหตุผล เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ในกรณีข้อโต้เถียงเรื่องการขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา คุณไมเคิลบอกว่า อุตสาหกรรมยาต้องการการคุ้มครองเช่นนั้นก็เพราะว่า ประเทศไทยมีแรงบันดาลใจในการจะเป็นศูนย์กลางการวิจัยทางการแพทย์ชั้นนำอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นจึงหวังว่ารัฐบาลต้องเข้าข้างบริษัทในการปกป้องสิทธิบัตรยาอันเป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรม

คุณไมเคิลบอกว่า เรื่องแบบนี้ไม่เคยมีใครนำมาพูดเป็นประเด็นในการถกเถียงเรื่องเอฟทีเอเลย และไม่มีใครพูดถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านยา และผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับในการพัฒนา ดังนั้น ความล้มเหลวเช่นที่ว่านี้ จึงช่วยอธิบายว่าทำไมสหรัฐฯจึงพยายาม "ให้การศึกษา" กับคนไทย (เมื่อเร็วๆนี้ โดย นักเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐฯ ที่ได้รับเชิญจากสถานทูตสหรัฐฯ ให้มาบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆในหัวข้อ "เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ไม่ตอนนี้…แล้วเมื่อไหร่")

นอกจากนี้ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ต่อต้านเอฟทีเอนั้น ประสบความล้มเหลวในการนำเสนอทางเลือกและวิสัยทัศน์ในอนาคตสำหรับไทยในระบบเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

คุณไมเคิลยังได้พูดถึงอีกหลายเหตุผลซึ่งท่านที่สนใจคงจะหาอ่านได้จากเว็บไซต์ แต่ท้ายสุด ข้อเสนอของคุณไมเคิล คือ "ระหว่างการเจรจาและการให้สัตยาบันในเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ และทั้งในส่วนของรัฐบาลและสาธารณะ การถกเถียงที่ชัดเจน ตรงประเด็น และจริงจัง นั้นเป็นไปได้และจำเป็นด้วย"

เอฟทีเอว็อทช์ เป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมหนึ่งซึ่งติดตามและตรวจสอบการเจรจาเอฟทีเอ โดยเฉพาะไทย-สหรัฐฯมาโดยตลอด เอฟทีเอว็อทช์ประกอบด้วยคนจากหลายส่วน ทั้ง นักวิชาการ, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, องค์กรพัฒนาเอกชน, และองค์กรภาคประชาชน เช่น กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์, กลุ่มเกษตรกร, ซึ่งได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอโดยตรง ดังนั้น เราจึงอยู่กับ "ความเป็นจริง" ไม่ใช่อยู่ในอุดมคติที่ทึกทักเอาเองอย่างแน่นอน แต่เรายังมองไม่เห็นว่า "การถกเถียงที่ชัดเจน ตรงประเด็น และจริงจัง" อย่างที่ว่านั้นจะเกิดได้อย่างไรถ้าไม่มีข้อมูล

เอฟทีเอว็อทช์, คณะกรรมาธิการต่างประเทศ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, รวมถึงนักวิชาการอื่นๆอีกจำนวนไม่ถ้วน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการเจรจาและทำกระบวนการให้โปร่งใสมากขึ้นมาโดยตลอด แต่ได้รับคำปฏิเสธมาอย่างสม่ำเสมอจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน

แม้ในเอฟทีเอที่กำลังจะเซ็นกับญี่ปุ่น รัฐบาลก็ยังอุตสาห์ปฏิเสธว่าต้องรอให้ลงนามก่อนแล้วจึงเปิดเผยได้ และจนถึงบัดนี้ แม้รัฐบาลจะอ้างว่าได้ส่งร่างข้อตกลงเข้าสู่สภาแล้ว แต่ในความจริง เป็นการส่งไปให้กับสำนักงานเลขาฯ ของสภาในชั้นเอกสารลับ แจ้งว่าเพื่อขอความเห็นแต่ไม่มีประเด็นคำถามที่ชัดเจน และไม่มีใครเห็นร่างเอฟทีเอนอกจากสำนักงานเลขาฯ จึงไม่ใช่การนำเสนอร่างต่อสภาเพื่อพิจารณาอันควรจะเป็นตามมาตรา 224 แต่อย่างใด

พฤติกรรมของรัฐบาลที่ปกปิดเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ แท้จริงแล้วนั้น ฝ่ายไทยมีร่างการเจรจาเป็นของตัวเองหรือไม่ หรือว่าเพียงแต่ตอบสนองตามร่างของสหรัฐฯ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนอยู่หรือไม่ ?

ผู้เสียภาษีในสหรัฐฯ อย่างน้อยที่สุด ก็ยังมีโอกาสที่จะเห็นร่างข้อตกลงเมื่อต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส แต่ในประเทศไทย กระบวนการให้สัตยาบันอย่างที่คุณไมเคิลว่านั้นไม่มี รัฐบาลอ้างว่าการผ่านร่างเอฟทีเอเข้าสูสภานั้นไม่จำเป็น และอันที่จริง ข้อตกลงเอฟทีเอก็เจรจาและตกลงได้เสียก่อนที่ผู้เสียภาษีในประเทศไทยจะรู้เสียอีกว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง

ส่วนการอธิบายถึง "ความพยายามของสหรัฐในการให้การศึกษากับสาธารณชนไทย" นั้นมีความสับสนระหว่างคำว่า "การศึกษา" และ "การโฆษณาชวนเชื่อ"

สหรัฐฯนั้นดูเหมือนจะคิดว่าคนไทยหัวอ่อน และพร้อมที่จะเชื่อว่าผลประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกสินค้าไทยนั้นมหาศาล แล้วสหรัฐฯนั้นก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่าไทยสักเท่าไร แต่เราต้องอย่าลืมว่า เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้น สาเหตุสำคัญหนึ่งคือ การที่ไทยเปิดเสรีให้มีการนำเข้าเงินตราต่างประเทศ (BIBF) ทั้งๆ ที่กฎระเบียบและโครงสร้างภายในยังอ่อนแออยู่มาก ซึ่งประเทศที่กดดันไทยขณะนั้นคือ สหรัฐฯ นั่นเอง

แล้ว 10 ปีผ่านมา ภาคบริการของไทยก็ยังเทียบไม่ได้กับสหรัฐ ที่ธนาคารเพียง 1 ธนาคาร มีสินทรัพย์มากกว่าธนาคารของไทยทั้งหมดรวมกันถึง 10 เท่า ข้อเรียกร้องให้เปิดเสรีทางการเงินรวมถึงและการคุ้มครองการลงทุนในปี 2549 ของสหรัฐฯผ่านเอฟทีเอนั้น มีแนวโน้มจะนำไปสู่วิกฤตที่หนักหนายิ่งกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาก และจะจำกัดเครื่องมือกลไกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลจะสามารถใช้ได้ในยามเกิดวิกฤต

สำหรับการที่รัฐบาลลืมนึกถึงการโฆษณาถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ จากการเป็นศูนย์กลางการวิจัยทางด้านการแพทย์นั้น บางทีอาจเป็นความฉลาดก็ได้ เพราะไม่เช่นนั้น รัฐบาลอาจต้องอธิบายต่อด้วยว่า ทำไมเมื่อกฎหมายสิทธิบัตรของไทยได้รับการยกระดับให้การคุ้มครองเข้มแข็งขึ้นในปี 2535 แล้ว ทำไมนวัตกรรมการวิจัยที่เกิดในประเทศไทยยังกลับลดลงอีก

ข้อโต้แย้งหนึ่งที่ไม่เป็นจริง คือ การที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้คัดค้าน ไม่ได้ให้เหตุผลในการต่อต้านเอฟทีเอ และยังไม่นำเสนอทางเลือกหรือวิสัยทัศน์ในอนาคตให้กับประเทศไทยอีกด้วย เพราะอย่างน้อยที่สุดด้วยงบประมาณและกำลังคนเท่าที่มีอยู่ การที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้คัดค้าน ยังมีหนังสือและงานวิจัยออกมาเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งได้ร่ายยาวถึงเหตุผลความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ในเอฟทีเอระหว่างไทย-สหรัฐฯ

และงบที่ใช้ไปเพื่อการนี้ ก็เทียบไม่ได้เลยกับงบประมาณของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหลายสิบล้านบาท ที่มาจากภาษีอากรของประชาชนสำหรับ "การประชาสัมพันธ์" เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่แน่ว่าจะรวมงบประมาณอีกเกือบ 20 ล้านบาทที่ใช้ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติสหรัฐฯ เพื่อหาทาง "จัดการ" กับผู้มีส่วนได้เสียในเอฟทีเอหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในคำถามที่บริษัทที่ปรึกษาต้องตอบคือ จะจัดการกับกลุ่มคัดค้านเรื่องสิทธิบัตรยาอย่างไร

ทางเลือกอื่นๆ ของไทย นอกจากเอฟทีเอนั้น ปรากฎอยู่ในหลายๆ ที่ เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งในหลวงทรงสนับสนุนนั้นได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาครัฐจำนวนมาก ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 นี้ แม้ว่ายังไม่อาจทราบได้ว่าในทางปฏิบัติจะเป็นเช่นไร แต่อย่างน้อยก็มีองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียง และความสนใจในดัชนีอื่นๆที่นอกเหนือจากจีดีพีซึ่งวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีทางเลือกดีๆ อยู่อีกมากที่องค์กรชาวบ้าน ชุมชน และแม้แต่ในสังคมเมืองกำลังปฏิบัติกันอยู่ เช่น ตลาดสีเขียว, ระบบสหกรณ์, เกษตรทางเลือก, เงินตราชุมชน เป็นต้น แต่ทางเลือกอย่างที่ว่านั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากภาครัฐมัวแต่สนใจการทำเงิน การแสวงหาพันธมิตรทุนขนานใหญ่ที่จ้องแต่ทำกำไร การกำหนดนโยบายที่เข้าข้างธุรกิจเอกชนที่ใกล้ชิด โดยเอาภาษีและทรัพยากรต่างๆของประชาชนไปแลก อย่างที่รัฐบาลทักษิณได้ทำมา

ดังนั้น การแบ่งขั้วทางการเมืองที่เกิดขึ้น กลุ่มประชาชนที่ต่อต้านทักษิณและระบอบทักษิณนั้น จึงแบ่งแยกออกจากเรื่องเอฟทีเอไม่ได้เลย เพราะเอฟทีเอก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้ทักษิณหมดความชอบธรรม การถกเถียงเรื่องเอฟทีเอจึงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ แต่หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องถกเถียงประเด็นทางการเมืองด้วย

และสิ่งที่เราพูดเสมอมาก็คือ "หยุดเอฟทีเอ หยุดแปรรูปประเทศไทย สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม"

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน

 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 


 

H
R
ในช่วงนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชนพื้นเมืองในเอกวาดอร์ได้เริ่มต้นทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงให้ประชาชนที่เหลือได้รับรู้ถึงเจตจำนงของกลุ่ม ทั้งยังมีการปฏิบัติการทางตรงเพื่อประท้วงที่รัฐบาลไปกู้เงินมาจากกองทุนไอเอ็มเอฟ ชนพื้นเมืองนับพันคนซึ่งไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ตั้งแต่แรก จึงบุกเข้าปิดล้อมเส้นทางคมนาคมจากทุกภาคที่จะตรงสู่เมืองหลวงด้วยการขนท่อนไม้ใหญ่มาขวางถนน หรือบางที่ก็จะมีชนพื้นเมืองยืนรวมตัวกันเพื่อกีดขวางเส้นทาง ทำให้การจราจรและการลำเลียงสินค้าเพื่อดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก จากนั้นสมาชิกของขบวนการก็จะคล้องแขนกันเต้นระบำ เพื่อแสดงถึงการปิดล้อมอย่างสันติ