บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ








Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๙๘๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙
27-07-2547

Spirituality & Health:
Spirituality and Well-Being

มหาวิทยาลัยทางจิตวิญญานร่วมสมัย
พันธกิจของมหาวิทยาลัยแห่งการตื่นรู้ : นาโรปะ
ณัฐฬส วังวิญญู : แปลและเรียบเรียง
The Mission of Naropa University
http://www.naropa.edu, 2546

บทความนี้ได้รับมาจาก อ.ชลนภา อนุกูล
เป็นเรื่องเกี่ยวกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยนาโรปะ
เป้าหมายทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบเรื่อง
ความรู้เท่าทันปัจจุบันขณะ, การสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้

บ่มเพาะความเปิดกว้าง, มรดกแห่งการศึกษาแนวพุทธ, และวิถีแห่งภูมิปัญญาโลก
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 987
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)

 

พันธกิจของมหาวิทยาลัยแห่งการตื่นรู้ : นาโรปะ
ณัฐฬส วังวิญญู : แปลและเรียบเรียงจาก The Mission of Naropa University
http://www.naropa.edu, 2546


มหาวิทยาลัยนาโรปะได้รับการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดย ชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สืบทอดคำสอนของพุทธศาสนาแนวธิเบต นิกายคากิวและนิงมา ตอนที่รัฐบาลจีนทำการยึดประเทศธิเบต ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ตรุงปะจำต้องลี้ภายออกมาตามแนวเทือกหิมาลัย มายังตอนเหนือของประเทศอินเดีย แม้กระนั้นท่านก็ทำการเผยแพร่ธรรมมะอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดียวกับสมเด็จองค์ทะไล ลามะ และอาจารย์ฝ่ายธิเบตคนอื่นๆ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านได้รับทุนการศึกษาสปอลดิ้ง ให้ได้เข้าศึกษาด้านศาสนาเปรียบเทียบ ปรัชญาศึกษา และศิลปกรรมที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท่านพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษจนแตกฉาน และเข้าใจถึงความต้องการด้านจิตวิญญาณของโลกตะวันตก

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านเริ่มเดินทางไปสอนธรรมมะและเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาร่วม ๑๗ ปี โดยที่ท่านได้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติสมาธิภาวนาหลายแห่งในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป ด้วยเหตุที่ท่านมีทั้งความเป็นนักวิชาการ เป็นศิลปิน และอาจารย์สอนสมาธิภาวนา ท่านจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นอาจารย์สอนพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในโลกตะวันตก

เมื่อท่านก่อตั้งนาโรปะขึ้นมา โดยมีวิสัยทัศน์ทางการศึกษา คือนาโรปะจะเป็นมหาวิทยาลัยที่หลอมรวมเอาองค์ประกอบของการสอนด้านจิตหรือภาวนา และการศิลปะแขนงต่างๆ รวมทั้งการศึกษาแนวตะวันตก ผนวกไว้ด้วยกัน และในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านได้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติชัมบาลาขึ้นสำหรับฆราวาสผู้มีความสนใจในการปฏิบัติ

ตรุงปะ รินโปเช เสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทิ้งผลงานและเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวของท่านไว้ในความทรงจำของผู้คนและบรรดาสานุศิษย์ มหาวิทยาลัยนาโรปะ และหนังสือที่ท่านนิพนธ์อีกหลายเล่ม เช่น Born in Tibet, Cutting Through Spiritual Materialism, The Myth of Freedom, Shambhala: The Sacred Path of the Warrior เป็นต้น

พันธกิจของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ๖ ประการ
เป้าหมายทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ตั้งอยู่บนปฐมนิมิตเมื่อแรกก่อตั้งและ มรดกทางวัฒนธรรมแห่งการภาวนา ซึ่งประกอบไปด้วย องค์ประกอบทั้ง ๖ ได้แก่

๑. ความรู้เท่าทันปัจจุบันขณะ
๒. สร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้
๓. บ่มเพาะความเปิดกว้าง
๔. มรดกแห่งการศึกษาแนวพุทธ
๕. วิถีแห่งภูมิปัญญาโลก
๖. การไม่ฝักใฝ่ในลัทธิความเชื่อหรือศาสนาใดๆ และความเปิดกว้าง

๑. ความรู้เท่าทันปัจจุบันขณะ
การบ่มเพาะความรู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาแนวภาวนา การฝึกฝนความรู้เท่าทันนี้หมายถึง การรับรู้ถึงประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นในกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละขณะอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น การเท่าทันกระบวนการทางความคิด การรับรู้ความรู้สึกผ่านผัสสะต่างๆ รวมทั้งห้วงอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนได้รับการหลอมรวมอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เมื่อร่างกายและจิตใจหลอมรวมกันได้โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวมแล้ว ความสามารถหรือคุณลักษณะด้านต่างๆ ก็จะก่อเกิดและสำแดงออกมา ได้แก่ ความคิดอ่านมีความแม่นยำและความเข้าใจมีความแจ่มชัดทะลุปรุโปร่ง การสื่อสารเป็นไปด้วยความเปิดกว้างและชัดเจน ตระหนักรู้และชื่นชมโลกได้อย่างเต็มเปี่ยมกว้างขวาง การกระทำการต่างๆ ก็มีประสิทธิภาพ

ความรู้เท่าทันนี้จะได้รับการบ่มเพาะให้แรงกร้าและเต็มเปี่ยมโดยกระบวนวิธีต่างๆ ได้แก่ การเจริญสมาธิภาวนา และการภาวนาตามธรรมเนียมปฏิบัติในแนวทางต่างๆ ทั้งที่มีมาแต่วัฒนธรรมดั้งเดิมและแนวทางสมัยใหม่ต่างๆ ทั้งนี้รวมถึงกระบวนการฝึกฝนทางพุทธิปัญญาและศิลปะในแขนงต่างๆ การฝึกปฏิบัติและวินัยเหล่านี้จะช่วยให้ปัจจุบันขณะเผยตัวในฐานะประสบการณ์ตรง ที่ผู้เรียนสัมผัสได้ด้วยตน รวมถึงการรับรู้ถึงความลังเลสงสัย และแรงต้านภายใน ในการที่จะเข้าถึงและดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ ทั้งนี้ เหล่าคณาจารย์ทั้งหลายจะได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาหลักปฏิบัติในการฝึกสติ หรือการตื่นรู้ ให้สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ตนสอน การฝึกฝนความรู้เท่าทันนี้ช่วยให้จิตตั้งมั่นและเรียนรู้ในปัจจุบันขณะ ไม่วอกแวกวุ่นวายและไหลเลื่อนไปอย่างไม่มีทิศทาง

๒. สร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้
การศึกษาเรียนรู้นั้นไม่ได้เป็นเพียงการแสวงหาความรู้โดยปัจเจกบุคคลเท่านั้น และกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพก็ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนที่แยกสัดส่วนออกจากสิ่งแวดล้อมโดยสิ้นเชิง หากว่าเกิดจากการปฏิสัมพันธ์และปะทะสังสรรค์ ในความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้คนและสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ นาโรปะจึงมีความมุ่งมั่นในการก่อให้เกิดบรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตรและชุมชนเรียนรู้ขึ้น เป็นเสมือนพื้นที่ศึกษาทดลองมีชีวิต ที่ท้าทายและทดสอบสติปัญญา องค์ความรู้และการรับรู้ของนักเรียนในโลกที่เป็นจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งนี้ เมื่อผู้เรียนมีความเข้าใจในตัวเองมากขึ้น ก็จะสามารถเข้าผู้อื่นและโลกได้มากขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งความเอื้ออาทรและความเมตตาต่อผู้อื่นก็จะงอกงามขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติด้วย บรรยากาศการเรียนรู้เช่นนี้เองที่ผู้เรียนจะค้นพบจิตใจและภูมิปัญญาภายในตน

๓. บ่มเพาะความเปิดกว้าง
กล่าวได้ว่า ผู้มีการศึกษานั้นควรจะมีคุณลักษณะ ๕ ประการด้วยกัน ซึ่งถือเป็นแนวทางฝึกปฏิบัติไปสู่พัฒนาการภายในที่สมดุล และเพื่อการเรียนรู้และการตอบสนองต่อโลกอย่างสร้างสรรค์ ตลอดเส้นทางของการดำรงชีวิต ทั้งนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาแขนงต่างๆ จะได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยในผู้เรียนได้บ่มเพาะคุณลักษณะเหล่านี้ ได้แก่

๓.๑ ความเปิดใจและความเคารพในประสบการณ์ตรงของผู้เรียนเอง-หมายถึงความตั้งใจที่จะมองให้เห็นประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นต่อตนเองอย่างชัดเจน รับรู้อย่างตรงไปตรงมาและเปิดกว้าง นั่นหมายรวมถึง ความรู้สึกทางผัสสะและอารมณ์ต่างๆ รวมถึงสภาวะจิตที่เป็นไปในแต่ละห้วงของปัจจุบันขณะ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่กระบวนการเรียนรู้ศึกษาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ หลายๆ คนอาจมีความวิตกกังวล อึดอัดหรือหงุดหงิดในกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงเหล่านี้ และพยายามหลีกเลี่ยง ปฏิเสธ หรือจัดการกับประสบการณ์ตรงที่มีค่าเหล่านี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การฝึกฝนจึงเป็นเรื่องของการที่ผู้เรียนต้องเปิดใจกว้างและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นภายใน อย่างเปิดเผย เพื่อให้สามารถรับรู้เท่าทันบทเรียนภายในเหล่านี้อย่างถูกต้องชัดเจนตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่จำเป็นในการเข้าถึงองค์ความรู้ในระดับที่ลึกซึ้งลงไป

ในการดำเนินชีวิต การกระทำใดๆ ที่จะถึงพร้อมด้วยสติปัญญาและความมั่นใจได้นั้น จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการไม่ตัดสินอย่างมีอคติ แต่ดำเนินไปด้วยความรู้เท่าทันที่แจ่มแจ้ง ต่อเนื่องและไม่บิดเบือน และสนใจใคร่รู้ในประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตนอยู่เสมอ ในแง่หนึ่ง การที่เราสามารถดำรงอยู่และยอมรับในสิ่งที่เราเป็นได้อย่างไม่แปลกแยกนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

๓.๒ ทักษะการสื่อสารและการสรรสร้างความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์-หมายถึง ความสามารถในการสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะยอมรับและชื่นชมคุณค่าของประสบการณ์ตรงของผู้อื่น และฝึกฝนทักษะการสื่อสารในทางต่างๆ ได้แก่ ทักษะการอ่านและเขียน การพูดและการฟังที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนถึงวิถีทางของการสื่อสารอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้ภาษาพูด เช่น ดนตรี ศิลปะการเคลื่อนไหว ทัศนศิลป์ เป็นต้น คุณสมบัตินี้ครอบคลุมถึงความรับผิดชอบในการช่วยเหลือเกื้อกูล สมดุลภาวะและการเจริญเติบโตด้านในของผู้อื่นด้วย

๓.๓ ฝึกฝนการคิดวิเคราะห์ให้แหลมคมลุ่มลึก-คือความสามารถในการรับรู้และวิเคราะห์โลก มองเห็นลักษณะจำเพาะของปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างเชื่อมโยง คุณสมบัตินี้บ่มเพาะได้ด้วยการทำความเข้าใจในเหตุปัจจัยและฐานแห่งการก่อเกิดและขับเคลื่อนของสังคม ซึ่งรวมถึง โครงสร้างทางสังคม ตรรกะทางความคิดต่างๆ และความสัมพันธ์อันโยงใยทั้งหลาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถจับประเด็นต่างๆ เพื่อการเข้าใจตัวเองและสังคมโลกที่ตนอยู่ได้อย่างมีวิจารณญาณ และคมชัดพอที่จะนำเสนอออกมาได้ ในรูปแบบต่างๆ เช่น บทวิเคราะห์, บทวิพากษ์ หรือรูปแบบอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้ ปัญญานั้น นอกจากเป็นเรื่องของความสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างแหลมคม ยังหมายรวมถึง ความสามารถเปิดพื้นที่ให้แก่ ความเข้าใจอันกระจ่างชัด ให้ปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันและมีความสดใหม่ด้วย

๓.๔ ชื่นชมในความมั่งคั่งรุ่มรวยในภูมิปัญญาของโลก-เรียนรู้และชื่นชนในความหลากหลาย ระบบคุณค่าต่างๆ ที่อยู่ในสังคมโลก ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการอันสร้างสรรค์และพัฒนาความรอบรู้ของตัวเองให้ขยายขอบเขตไปอย่างไม่มีที่สุด นั่นหมายถึง การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อการนำมาใช้ ทั้งในด้าน พุทธิปัญญา อารมณ์ และด้านการปฏิบัติ โดยเพิ่มการรับรู้และการชื่นชมในวิถีแห่งปัญญา การแสดงออกทางปัญญา ประสบการณ์และความสร้างสรรค์ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในโลกนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

๓.๔.๑ การเข้าใจภูมิปัญญาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในบริบทและเงื่อนไขอันจำเพาะ โดยไม่ยัดเยียดกรอบเชิงคุณค่าและความคิดของตนเข้าไป

๓.๔.๒ ตระหนักรู้ว่า เมื่อเราสามารถชื่นชมความหลากหลายที่ดำรงอยู่ในโลกเหล่านี้ได้ ชีวิตของตนก็จะมั่งคั่งรุ่มรวยและ การกระทำต่างๆ จะเป็นไปด้วยความรอบรู้นี้

๓.๕ การกระทำที่มีประสิทธิภาพ-คือความสามารถในการนำเอาความรู้หรือความเข้าใจที่ตนได้มา ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์หมดจด โดยอาศัยคุณลักษณะของความเปิดใจกว้าง ความเข้าใจอันกระจ่างชัด ความสามารถในการสื่อสารและสัมพันธ์ เป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิตของตัวเอง สามารถตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย รักษาระดับความสนใจใคร่รู้และความมุ่งมั่นในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รวมถึงทำกิจกรรมโครงการต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงจนถึงที่สุด ทั้งนี้ คุณค่าของการศึกษาของนาโรปะนั้น วัดได้ที่ความสามารถของนักศึกษาในการดำเนินชีวิตในสังคมโลกได้อย่างเป็นประโยชน์ สร้างสรรค์และเกื้อกูล

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้งหลายเหล่านี้ ได้รับการพัฒนาและบรรจุไว้ในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจหน้าที่การงาน หากกล่าวโดยรวม คุณลักษณะเหล่านี้เป็นทักษะเชิงคุณภาพภายในของบุคคล มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของเทคนิควิธีการ และการฝึกฝนทางวิชาชีพ เพราะเชื่อว่าการบ่มเพาะคุณลักษณะเหล่านี้เป็นการตระเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อม ที่จะดำรงชีวิตในสังคมสมัยใหม่นี้ได้อย่างดี เพราะอุปสรรคหรือความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตในสังคมทุกวันนี้ มีผลมาจากอุปสรรคในทางจิตวิทยา เช่น ความไม่สมดุลทางอารมณ์ ความสับสน ความไม่สามารถในการสื่อสารและสัมพันธ์กับผู้อื่น ความไม่เข้าใจชีวิตอย่างพอเพียง เป็นต้น

เมื่อนักศึกษาเรียนรู้ที่จะจัดการกับอุปสรรคด้านในได้ ก็จะสามารถสัมผัสได้ถึงความพึงพอใจอย่างลุ่มลึกในชีวิตตนเอง และเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพในหน้าที่การงานทั้งหลายไปด้วยเช่นกัน นอกจากประโยชน์ต่อความสำเร็จในอาชีพการงานแล้ว การพัฒนาคุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้นักศึกษาได้บ่มเพาะ ความเปิดใจกว้าง ความรู้จักตัวเอง ขันติธรรม ความยืดหยุ่น และความสมดุลทางอารมณ์ ในชีวิตที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยแรงกดดันนานัปการ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาต่อ การทำงาน และการดำเนินชีวิตได้อย่างทันการณ์ และสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริง

๔. มรดกแห่งการศึกษาแนวพุทธ
ระบบการศึกษาแนวพุทธมีที่มาอันยาวนาน นับตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นในอินเดีย เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ระบบการศึกษาแนวพุทธนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานการฝึกปฏิบัติสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งนำไปสู่การค้นพบความไม่มีตัวตน (egolessness) ซึ่งในทางพุทธปรัชญาหมายถึง ภาวะที่เข้าถึงได้ ผ่านประสบการณ์และความเข้าใจถึงความจริงที่ว่า "ตัวเรา" นั้นหาได้ดำรงอยู่อย่างเอกเทศตายตัวไม่ แต่เป็นกระบวนการของชีวิตที่ดำเนินไปอย่างมีเหตุปัจจัยประกอบอยู่ด้วยเสมอ

การฝึกสมาธิภาวนา หมายถึง การฝึกสติและความรู้เท่าทันให้ถึงพร้อม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความเข้าใจตนเองและความกรุณา รวมถึงสำนึกแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การฝึกฝนทางจิตนี้จะเริ่มช่วยให้เราเป็นอิสระจากรูปแบบพฤติกรรมเดิมๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลสร้างสรรค์อันใด และเป็นอิสระจากอคติต่างๆ การภาวนาจะช่วยให้เราพัฒนาคุณค่าและความสง่างามของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งช่วยฝึกฝนสติปัญญาให้แก่กล้าลุ่มลึกด้วย

ในที่นี้ ศีล มี ๒ มิติ คือ การศึกษาสาขาวิชาความรู้เฉพาะด้าน และความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งต้องอาศัยทั้งขันติธรรมและอารมณ์ขัน

ประการสุดท้าย คือการฝึกเข้าถึงทางปัญญา ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ หนึ่ง รับฟังจากคำสอนที่มีมา สอง ตรวจสอบว่าความรู้ที่ได้รับมานั้นเป็นจริงอย่างไร และสุดท้ายคือ การน้อมรับความรู้มาพิจารณาอย่างแยบคาย (โยนิโสมนัสสิการ) ด้วยวิธีการนี้ ความรู้จริงเป็นสิ่งที่สดใหม่ หรือเป็น "ความรู้มือหนึ่ง" ที่ประจักษ์ได้ด้วยตน และสามารถถ่ายทอดผ่านภาษา (วจีกรรม) และการกระทำได้ (กายกรรม)

๕. วิถีแห่งภูมิปัญญาโลก
แนวทางดั้งเดิมของการแสวงหาและเข้าถึงความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนั้น รวมถึง แนวทางของศาสนาหลักดั้งเดิมทั้งหลาย จารีต ธรรมเนียมปฏิบัติ วัฒนธรรมและศาสตร์แห่งความรู้ที่ลี้ลับทั้งหลาย ซึ่งยังคงมีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบัน โดยสามารถให้ความเข้าใจที่ลุ่มลึกและแนวทางออกที่เหมาะสม การนำวิถีทางและองค์ความรู้เหล่านี้มาหลอมรวมกับระบบการศึกษาสมัยใหม่ จะช่วยให้นักศึกษาคลี่คลายความสำคัญตนผิด และความคิดอันคับแคบลง ดังนั้น จึงถือเป็นการสร้างพื้นที่แห่งการสืบค้น และตรวจสอบพรมแดนความรู้และวิถีแห่งปัญญาของมนุษย์ ที่กว้างใหญ่และหลากหลาย ที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยในโลกปัจจุบัน

๖. การไม่ฝักใฝ่ในลัทธิความเชื่อหรือศาสนาใดๆ และความเปิดกว้าง
ธรรมเนียมปฏิบัติในการฝึกฝนทางจิต การบ่มเพาะการตื่นรู้ และความรู้เท่าทันตัวเองและโลก เป็นหลักปฏิบัติที่มีอยู่ในวัฒนธรรมและศาสนาต่างๆ ในโลก เป็นสิ่งที่วัฒนธรรมทั้งหลายให้ความสำคัญ ไม่ใช่ในฐานะของหลักปฏิบัติทางศาสนา แต่ในฐานะที่เป็นแนวทางไปสู่การค้นพบตัวเองและความเข้าใจโลกที่ลุ่มลึก ในทางประวัติศาสตร์ ระบบการศึกษาแนวพุทธให้คุณค่าแก่การเรียนรู้ในความคิดเห็นและจารีตทางปัญญาที่หลากหลาย เพื่อเข้าใจถึงสภาวะและประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ ด้วยมรดกตกทอดทางปัญญาที่ได้รับสืบมานี้ มหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ แนวทางแห่งจิตวิญญาณ และระบบปรัชญาที่แตกต่างหลากหลาย

ในสังคมสมัยใหม่ ดูเหมือนว่า ศิลป์และศาสตร์ทั้งหลายที่ช่วยให้ผู้คนเชื่อมกายและจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านวิถีทางแห่งสติและความรู้ตัวทั่วพร้อม อย่างที่เห็นความจำเป็นของการไปพ้นความยึดมั่นในตัวตนอันคับแคบนั้น นับวันจะเป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ในขณะที่ความยึดติดในความคิดอย่างแข็งทื่อ และความยึดถืออุดมคติใดๆ อย่างตายตัว จนถึงขนาดที่อาจเป็นภัยต่อสังคมได้นั้น กำลังอ่อนแรงและคลายอำนาจลงไป

ท่ามกลางกระแสสำนึกอย่างใหม่ เช่น การเห็นคุณค่าของปฏิสัมพันธ์อันสอดคล้องระหว่างกายและจิตที่มีผลต่อกระบวนการบำบัดเยียวยา การฝึกการรับรู้เท่าทันตัวเองและสิ่งรอบตัวในวิชาชีพแขนงต่างๆ การเห็นบทบาทที่สำคัญของญาณทัศนะ(intuition) ในแวดวงวิทยาศาสตร์และภาคธุรกิจ แนวคิดเชิงนิเวศวิทยาที่พยายามไปพ้นมุมมองของประโยชน์ตน หรือประโยชน์ของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดจริยศาสตร์เชิงนิเวศน์อย่างใหม่ กระแสสำนึกใหม่นี้ยังเกิดขึ้นในสาขาวิทยาการด้านการจัดการ ที่ให้คุณค่ากับความร่วมไม้ร่วมมือ มากกว่าการแข่งขัน และการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาพึงสำเหนียกและฝึกฝนนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่สังคมโลก

 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 


 

H
R
ระบบการศึกษาแนวพุทธนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานการฝึกปฏิบัติที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งนำไปสู่การค้นพบความไม่มีตัวตน (egolessness) ซึ่งในทางพุทธปรัชญาหมายถึง ภาวะที่เข้าถึงได้ ผ่านประสบการณ์และความเข้าใจถึงความจริงที่ว่า "ตัวเรา" นั้นหาได้ดำรงอยู่อย่างเอกเทศตายตัวไม่ แต่เป็นกระบวนการของชีวิตที่ดำเนินไปอย่างมีเหตุปัจจัยประกอบอยู่ด้วยเสมอ