Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ปรัชญาการเมืองของ Giorgio Agamben
Giorgio Agamben: ว่าด้วยชีวิตเปลือยเปล่าและองค์อธิปัตย์
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ : บทความวิชาการเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ที่ถูกทำให้เป็นชีวิตเปลือยเปล่า หรือชีวิตที่ปราศจากการคุ้มครอง
และเรื่องของอำนาจองค์อธิปปัตย์ที่อยู่เหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากบทความชิ้นนี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 983
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16.5 หน้ากระดาษ A4)



ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ตอน ๒
ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ : นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อำนาจอธิปัตย์ (sovereignty) และสภาวะพิเศษ (state of exception)
ในการนิยามคำว่า อำนาจอธิปัตย์ (sovereignty) นั้น Agamben ดำเนินรอยตามคำนิยามที่ Schmitt ให้ไว้ โดย Schmitt (49) กล่าวว่า อำนาจสูงสุด หรือ อำนาจอธิปัตย์ หมายถึง "อำนาจผูกขาดสำหรับการตัดสินใจครั้งสุดท้าย" (50) องค์อธิปัตย์ในความคิดของ Schmitt นั้นไม่ได้เปิดเผยตัวในเวลาปกติ แต่จะเปิดเผยตัวในเวลาที่เกิดสถานการณ์พิเศษ (time of exception) ซึ่งแสดงออกอย่างไม่มีข้อจำกัดหรือพันธนาการ และสามารถยับยั้งหรือแม้แต่ทำลายระเบียบที่มีอยู่ทั้งหมดได้ ในสภาพการณ์เช่นนี้ กฎหมายจึงหมดความหมายลง อำนาจแห่งการตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับองค์อธิปัตย์เพียงผู้เดียว (51)

อำนาจขององค์อธิปัตย์จึงเป็นอำนาจที่แสดงออกในสภาวะพิเศษ หรือ สภาวะฉุกเฉิน (state of emergency/exception) เท่านั้น อำนาจขององค์อธิปัตย์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในกฎหมาย เพราะอำนาจสูงสุดย่อมอยู่เหนือ/ข้ามพ้นกฎหมาย เป็นอำนาจที่ให้กำเนิดกฎหมายอีกทีหนึ่ง (constituting power) หรือที่ Giambatista Vico นักปรัชญาอิตาเลียนในศตวรรษที่ 19 เรียกว่า ความสูงสุดของสถานะพิเศษ (superiority of exception) (52) หรือที่ Agamben กล่าวว่า เป็นอำนาจที่ตัดสินใจในสิ่งที่ตัดสินใจไม่ได้ (Its decision is the position of an undecidable.) (53)

สภาวะพิเศษ (state of exception) ที่กฎหมายถูกทำให้หมดความหมายนั้นไม่ใช่สภาพของความไร้ระเบียบ (chaos) แต่เป็นสภาวะที่กฎหมายถูกตั้งข้อสงสัย (suspension) โดยอำนาจของอธิปัตย์ในขณะนั้น โดยคำว่า "ตั้งข้อสงสัย" นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคำว่า "ละเมิด". Agamben จงใจใช้คำว่าตั้ง"ข้อสงสัย"มากกว่าคำว่า"ละเมิด" เนื่องจากอำนาจขององค์อธิปัตย์นั้นอยู่เหนือการละเมิด เพราะการละเมิดก็เท่ากับการทำผิด ซึ่งต้องได้รับโทษจากการทำผิด แต่ถ้าอำนาจขององค์อธิปัตย์เป็นอำนาจสูงสุดที่ไม่มีวันทำผิด (unmistakable) (54) ก็ไม่จำเป็นต้องละเมิดแบบที่คนทั่วไปละเมิดกฎหมายซึ่งเป็นความผิดและต้องได้รับโทษ

อำนาจอธิปัตย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พิเศษ) เป็นอำนาจในการทำให้กฎหมายใช้การไม่ได้ชั่วคราวมากกว่า ในแง่นี้กฎหมายเองก็มีสิ่งที่เรียกว่า นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ (nonjuridical) (55) ทั่วไปอยู่ด้วย แม้จะไม่มีการระบุไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม การมีสิ่งที่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทั่วไปนั้น ทำให้สภาวะฉุกเฉินที่ทำให้กฎหมายใช้การไม่ได้ชั่วคราวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ในความคิดของ Agamben สภาวะฉุกเฉินนั้น การบังคับใช้กฎหมาย (force of law) จึงไม่ได้กลายเป็นกฎหมายอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่ปราศจากกฎหมาย (force of law without law) มากกว่า หรือพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ก็เหลือแต่ force (pure force) ไม่มี law หรือ rule of law อีกต่อไป เมื่อมาถึงจุดนี้ การนำกฎหมายไปปฏิบัติ (application of law) กับ ตัวบทกฎหมายเอง ก็แยกกันเด็ดขาด (56) การปฏิบัติจึงเป็นเรื่องการปฏิบัติล้วนๆ ที่ไม่อิงกับกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เหลือแต่ความรุนแรงที่ปราศจากหลักการ(ของกฎหมาย) (pure violence without logos) (57) เท่านั้น หรือกลายเป็น situational law ที่ขึ้นกับการสถานการณ์มากกว่าว่าจะปฏิบัติหรือจะใช้อำนาจอย่างไร

Agamben มอง สภาวะพิเศษ (state of exception) ในฐานะที่เป็น กระบวนทัศน์ (paradigm) ของ การปกครอง (government) (58) โดยเฉพาะในสภาวะสมัยใหม่ ซึ่งสภาวะฉุกเฉินเป็นสภาวะที่เกิดความไม่สมดุลระหว่าง กฎหมาย และ ความจริงทางการเมือง(political facts) คือ เมื่อกฎหมายไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลง หรือสภาพความขัดแย้งทางการเมืองได้ เช่น ในสภาวะสงครามกลางเมือง การปฏิวัติ การก่อการร้าย หรือการเกิดโรคระบาด ก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนของพรมแดนระหว่าง ความเป็นการเมือง และ กฎหมาย การปรากฏตัวของสภาวะฉุกเฉินในฐานะที่เป็นกฎหมายอันหนึ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตราที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญมารองรับ (59)

สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดภาวะของการตัดสินใจไม่ได้ หรือ zone of undecidability ขึ้น สภาวะฉุกเฉิน คือ สภาวะที่รัฐตอบสนองต่อสภาพที่ตรึงเครียดขัดแย้งที่สุดภายใน เช่น ที่ Hitler ประกาศพระราชกำหนดปกป้องประชาชนและรัฐ ซึ่งแม้จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไวมาร์ก็ตาม แต่ Hitler ในฐานะของผู้ใช้อำนาจอธิปัตย์ในการตัดสินใจก็สามารถทำให้รัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้ได้ชั่วคราว (60) ในกรณีของ Hitler นั้นสภาวะฉุกเฉินกลับมีสภาพถาวรมากกว่าที่จะเป็นภาวะชั่วคราว ในแง่นี้ Agamben จึงกล่าวว่า สภาวะฉุกเฉินในสภาวะสมัยใหม่นั้น มีแนวโน้มจะกลายเป็นสภาพถาวรมากขึ้นเรื่อยๆ

ในกรณีนี้เราจะเห็นการขยายเวลาการใช้ พระราชกำหนดฯ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ การขยายเวลาของกฎหมายป้องกันชาติของ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษอย่างไม่มีกำหนด หรือการเลื่อนเวลาของปฏิบัติการ "สร้างประชาธิปไตย" ของสหรัฐอเมริกาในอิรักออกไปอย่างไม่มีกำหนด หรือแม้แต่การอ้างบางมาตราในรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจพิเศษแก่กษัตริย์ในการพระราชทานนายกรัฐมนตรีดังที่ปรากฏในการเมืองไทย เป็นต้น

ในความคิดของ Agamben นั้น สหรัฐอเมริกาได้ทำลายสถานะทางกฎหมายของปัจเจกบุคคล โดยการสร้างสภาวะฉุกเฉินที่หวาดระแวงคนทุกคนว่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย โดยเฉพาะการสร้าง "ความเป็นผู้ก่อการร้าย" ซึ่งก็มีความคลุมเครือขึ้น (61) ขบวนการตาลีบันก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของ ภาวะที่จัดประเภทไม่ได้ อันเนื่องมาจากไม่มีกฎหมายใดระบุสถานะของคนเหล่านี้ไว้ว่าเป็นโจร หรือไม่มีการระบุว่าสหรัฐอเมริกามีความชอบธรรมในการใช้กำลังปราบปรามคนพวกนี้อย่างไร ดังนั้นการวาดภาพศัตรูใหม่ๆ รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงของจักรวรรดิภายใต้สภาวะฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและมักจะข้ามพ้นกฎหมายที่มีอยู่โดยสิ้นเชิง

Agamben เสนอว่า เราสามารถแบ่ง สภาวะพิเศษ ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- สภาวะพิเศษที่เกิดขึ้นจริง (real state of exception) กับ
- สภาวะพิเศษลวงตา (fictitious/fancied state of exception)

สภาวะพิเศษลวงตานี้เป็นสภาวะเทียมที่ถูกสร้างขึ้นจากองค์อธิปัตย์เองด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งสภาวะพิเศษทั้งสองประเภทนั้นสามารถข้ามไปข้ามมาระหว่างกันได้ สภาวะพิเศษที่เกิดขึ้นจริง ก็อาจกลายเป็นลวงตาที่ถูกทำให้เสมือนว่ามีอยู่ได้ด้วย หรือ การที่สภาวะพิเศษลวงตาที่ถูกสร้างขึ้นกลายเป็นความรุนแรงต่อเนื่อง จนนำไปสู่การเป็นสภาวะพิเศษที่เกิดขึ้นจริงได้เช่นกัน (62)

โดยในทัศนะของ Walter Benjamin นั้นหน้าที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งขององค์อธิปัตย์ก็คือ การทำให้ สภาวะพิเศษลวงตา หรือที่ Benjamin ใช้คำว่า virtual state of exception นั้น กลายเป็นความจริงขึ้นมา (63) ในที่นี้อำนาจอธิปัตย์จึงเป็นอำนาจที่สามารถทำให้สิ่งที่ไม่ปรากฏกลับปรากฏขึ้น และทำให้สิ่งที่ปรากฏอยู่แล้วไม่ปรากฏ (64)

ในทัศนะของ Agamben สภาวะพิเศษเป็นผลของการรวมกันของตัวแบบสองชนิดเข้ามาหากัน คือ การที่อำนาจการทหารขยายตัวเข้าไปสู่ชีวิตของพลเรือนทั่วไป และการที่รัฐธรรมนูญที่เคยปกป้องเสรีภาพของพลเมืองถูกทำให้ใช้การไม่ได้ชั่วคราว (65) นำไปสู่การเพิ่มอำนาจการปกครองให้แก่ฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้หลักการแบ่งแยกอำนาจแบบ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ตามความเชื่อแบบเสรีประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (66) อันเนื่องจากฝ่ายบริหารจะมีอำนาจเต็ม (full power) ในสภาวะฉุกเฉิน

ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปไม่ว่าประเทศนั้นจะปกครองด้วยระบอบการปกครองอะไรก็ตาม เช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 รัฐทุกรัฐที่เข้าร่วมสงครามต่างประกาศสภาวะฉุกเฉินในลักษณะนี้ทั้งสิ้น การให้อำนาจเบ็ดเสร็จของฝ่ายบริหารในการประกาศสภาวะฉุกเฉินนี้ เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับในโลกระบุให้ฝ่ายบริหารสามารถประกาศว่าเมื่อไหร่ ชาติ สถาบัน ดินแดน หรือแม้แต่สถาบันกษัตริย์กำลังมี "ภัย" (67) เมื่ออำนาจในการประกาศสภาวะฉุกเฉินกลายเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารแล้ว การอภิปรายถึงความจำเป็นของการประกาศสภาวะฉุกเฉินก็กลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นอีกต่อไป (68)

ในทัศนะของ Agamben เช่นเดียวกับ Jacques Derrida นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสศตวรรษที่ 20 กฎหมายนั้นไม่สามารถจะดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเอง เพราะกฎหมายโดยตัวมันเองไม่ได้มีอะไร เป็นความว่างเปล่า (69) เหมือนการเดินเข้าไปสู่ประตูที่เปิดอยู่แล้วซึ่งก็ไม่ใช่การเข้าไป เพราะมันเปิดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้อง "เข้าไป" ก็อยู่ในนั้นอยู่แล้ว หรือที่ France Kafka เรียกว่า ประตูที่เปิดอยู่แล้ว (open door) (70) และเมื่อกฎหมายเป็นสิ่งที่ว่างเปล่าแล้ว ชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎหมายเช่นนี้จึงกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า ปราศจากคุณค่า และไม่มีแก่นสารสาระใดๆทั้งสิ้นเช่นกัน (71)

และเมื่อกฎหมายโดยตัวมันเองนั้นว่างเปล่า กฎหมายจึงต้องอิงอยู่กับอะไรบางอย่างที่มีอยู่จริงและไม่ว่างเปล่า ซึ่งก็คือ อำนาจทางการเมืองขององค์อธิปัตย์ ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเมือง หรือมีความเป็นการเมือง (the political) อย่างมาก การแยกกฎหมายออกจากการเมืองหรือความเป็นจริงทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (72) ซึ่งการกล่าวเช่นนี้นั้นขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงต่อความเชื่อของแนวคิดเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ที่เชื่อว่าสามารถแยก กฎหมาย ออกจาก ความเป็นการเมือง ได้ (73)

มาถึงจุดนี้ Agamben ได้ชี้ให้เห็นการดำรงอยู่ขององค์อธิปัตย์ โดยเสนอว่า อำนาจในการสร้าง (constituting power) กับ อำนาจที่มาจากตัวรัฐธรรมนูญ (constituted power) นั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก (74) โดย Agamben ไม่เห็นด้วยกับ Antonio Negri โดยเสนอว่า อำนาจในการสร้าง(รัฐธรรมนูญ) นั้นไม่สามารถลดทอนไปสู่ตัวกฎหมายหรือตัวรัฐธรรมนูญได้ (75) อำนาจในการสร้างนี้เป็นอำนาจที่ไม่สามารถแยกออกจากอำนาจอธิปัตย์ เมื่ออำนาจในการสร้างไม่สามารถลดทอนลงไปสู่สถานะที่เท่าเทียมกับรัฐธรรมนูญ หรือตัวบทกฎหมายใดๆ ได้ อำนาจในการสร้างขององค์อธิปัตย์จึงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งหมด ดังนั้นการใช้อำนาจขององค์อธิปัตย์ที่ทำลายหรือสร้างกฎหมายใหม่ซึ่งเท่ากับว่าอยู่เหนือกฎหมายโดยสมบูรณ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่ยกเว้นหรือยกไว้สำหรับองค์อธิปัตย์เท่านั้น (76) โดยที่อำนาจในการสร้างนี้เองที่เป็นการทำให้อำนาจหรือศักยภาพ (potentiality) ขององค์อธิปัตย์ปรากฏเป็นจริงได้ (actuality)

Agamben ใช้แนวคิดเรื่อง ศักยภาพ (potentiality หรือ potenza ในภาษาลาติน) และ การปรากฏเป็นจริง (actuality) ในการอธิบายว่า อำนาจอธิปัตย์นั้นมี 2 หน้า คือ หน้าที่เป็น ศักยภาพ และ หน้าที่ปรากฏเป็นจริง หมายความว่า อำนาจและการดำรงอยู่ขององค์อธิปัตย์นั้นมีอยู่แล้ว โดยที่อาจจะมองไม่เห็น หรือ ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งหากยึดถือตาม Schmitt ในการนิยามอำนาจอธิปัตย์แล้ว ก็จะพบว่า Schmitt นั้นมองว่า องค์อธิปัตย์นั้นไม่ได้ปรากฏตัวทั่วไป แต่จะปรากฏตัวในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย หรือการประกาศสภาวะพิเศษเท่านั้น

การดำรงอยู่ขององค์อธิปัตย์จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องจับต้องได้ หรือ มองเห็นได้ตลอดเวลา แต่องค์อธิปัตย์ในที่นี้มีสถานะเป็นศักยภาพ ทั้งศักยภาพในการระงับ หรือ ทำให้กฎหมายใช้การไม่ได้ชั่วคราว หรือแม้แต่การสร้างกฎหมายใหม่ ดังนั้นการดำรงอยู่ (existence) ขององค์อธิปัตย์จึงเป็นการดำรงอยู่โดย อัตตภาวะของตัวเองอย่างเป็นอิสระ (self-grounding being) การดำรงอยู่ขององค์อธิปัตย์แบบนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องนิยามว่า รูปธรรมของมันคืออะไร แต่องค์อธิปัตย์สามารถปรากฏตัวได้ในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่จำกัดสถานที่ และเวลา การดำรงอยู่ขององค์อธิปัตย์จึงเป็นสิ่งที่มาก่อน/มีอยู่ก่อนการปรากฏตัวเสมอ ที่แม้มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่จริง (77)

Agamben ใช้คำว่า nomos แทนอำนาจ หรือ ความมีอำนาจสูงสุดขององค์อธิปัตย์ โดย nomos หมายถึงอำนาจสูงสุด หรืออำนาจของผู้ที่แข็งแรงที่สุด ดังที่ Agamben ได้ยกบทกลอนของกวีโบราณ คือ Theban Pindar ซึ่งมีใจความดังนี้

Nomos อธิปัตย์ที่สูงกว่าใครทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นพวกที่มีชีวิตที่ต้องตายหรือเป็นพวกที่เป็นอมตะ
นำไปสู่มือของผู้ที่แข็งแรงที่สุด
สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงที่สุด
ข้าพเจ้าตัดสินจากงานของ Hercules
Theban Pindar's Fragment 169 (78)

อำนาจขององค์อธิปัตย์นั้นเป็นอำนาจที่สูงสุดแข็งแรงที่สุด เปรียบได้กับ เฮอร์คิวลิส จอมพลังที่ปรากฏในบทกลอนของ Pindar ถ้าเทียบกับ เฮอร์คิวลิส ผู้มีพละกำลังที่ในตำนานใช้กำลัง (force) เป็นหลัก ก็หมายความว่า nomos หรือ อำนาจสูงสุดของอธิปัตย์นั้น เป็นสิ่งที่คู่กับ ความรุนแรง (violence) ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (79)

ดังนั้นการแยก กฎหมายออกจากความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังที่ Agamben ยกคำของ Plato ที่กล่าวไว้ใน บทสนทนาที่มีชื่อว่า Gorgias ว่า "การใช้ความรุนแรงนั้นก็เป็นไปเพื่อการรักษาความยุติธรรมที่สุด" (80) ดังนั้นความรุนแรงจึงแยกไม่ออกจากการใช้อำนาจขององค์อธิปัตย์ และ nomos หรือหลักของผู้ที่แข็งแรงที่สุด ซึ่งเป็นหลักการของการใช้อำนาจสูงสุดนี้เอง ที่ให้ความชอบธรรมกับใช้ความรุนแรงขององค์อธิปัตย์

อำนาจขององค์อธิปัตย์จึงเป็นทั้งอำนาจที่ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ เป็นทั้งอำนาจของเมืองและอำนาจของป่าพร้อมๆกัน (81) การแยก สภาวะธรรมชาติ (nature) ออกจาก อารยธรรม (culture) จึงไม่มีความหมาย เพราะในแง่นี้มันแยกกันไม่ได้ อำนาจขององค์อธิปัตย์นั้นเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง ทั้งกฎของป่าและกฎของเมือง (82)

อำนาจของอธิปัตย์ไม่มีขีดจำกัด ไม่ตายตัว ไม่ถูกจำกัดโดยอาณาเขตหรือดินแดน (83)และพร้อมจะลบและลากเส้นแบ่งใหม่ๆ เสมอ อำนาจแบบนี้เป็นไปด้วยหลักการที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ (Everything is possible) (84) โดยที่การกล่าวว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้นั้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในกฎของป่า (law of the jungle) (85) หรือในสภาวธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้นเมื่อชุมชนทางการเมืองมีสิ่งที่เรียกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ ก็หมายความว่า ป่ากับเมืองนั้นอยู่ด้วยกัน ปรากฏพร้อมกัน และแยกกันไม่ออกนั่นเอง (zone of indistinction)

อำนาจขององค์อธิปัตย์จึงเป็นอำนาจที่เรียกว่า non-place คือ ไม่มีสถานที่สถิตตายตัว ไม่มีข้างนอก/ข้างใน แต่สามารถปรากฏได้ทุกที่ทุกหนแห่ง (omnipotence) และสามารถผนวกทุกสิ่งทุกอย่างได้ nomos จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ไปด้วยกันระหว่าง สภาวะธรรมชาติ กับ สภาวะฉุกเฉิน สภาวะฉุกเฉินจึงไม่ได้อยู่ "ข้างนอก" จาก nomos แต่เป็นอำนาจแบบหนึ่งภายใน nomos เอง (86)

ในทัศนะของ Foucault เหตุผลของรัฐ (reason of state) ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นอันเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะแห่งการปกครอง (governmentality) ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 และตกผลึกในต้นศตวรรษที่ 17 (87) และนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เหตุผลของรัฐว่าด้วย ความมั่นคง (security) ได้กลายมาเป็น เหตุผลของรัฐ ในสภาวะสมัยใหม่ซึ่งมีสถานะสูงส่ง ที่ใครจะแตะต้องไม่ได้ ความมั่นคงแบบนี้ได้พัฒนามาควบคู่กับวิธีคิดแบบเสรีนิยม จนกลายเป็นกระบวนทัศน์สำคัญของโลกสมัยใหม่ (88)

ซึ่งการคิดถึงความมั่นคงแบบนี้เองที่นำไปสู่การคิดถึง "ภัย" ไม่ว่าจะเป็นภัยจากลัทธิการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับความคิดแบบเสรีนิยม เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือ ภัยจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือแม้แต่ภัยจากโรคระบาด แผ่นดินไหว (89) ก็เป็นเหตุผลของรัฐในการประกาศสภาวะฉุกเฉินได้ทั้งหมด ความมั่นคงอันเกิดจากการไม่มีภัย "ภายใน" จึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าภัยจาก "ภายนอก" ในความคิดของ Agamben ความจำเป็น (necessity) จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของกฎหมายทั้งปวง (90) ทั้งนี้ทั้งนั้น การประกาศว่าอะไรคือ "ภัย" หรือ ใครคือ "ศัตรู" ผู้คุกคาม "ความมั่นคง" ได้กลายเป็นหน้าที่ที่สำคัญแต่ผู้เดียวขององค์อธิปัตย์ คือ รัฐสมัยใหม่ไปโดยปริยาย

ในแง่นี้ สภาวะฉุกเฉิน/พิเศษ นั้นไม่ใช่สภาวะที่อยู่นอกเหนือจาก nomos แต่เป็นส่วนสำคัญของ nomos เอง ซึง Agamben กล่าวว่า การประกาศสภาวะฉุกเฉินเป็น "ธรรมชาติ" ของการใช้อำนาจอธิปัตย์ที่ดำรงอยู่ในหลักการของ nomos แม้ว่าจะไม่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายก็ตาม ตัวอย่างที่เราเห็นได้ในปัจจุบันมีมากมายที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบรัฐสภา หรือ ระบอบเสรีประชาธิปไตย ประกาศสภาวะฉุกเฉิน

ในพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่รัฐบาลไทยรักไทยออกมาเพื่อใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปราบปราม "ผู้ก่อการร้าย" นั้นระบุชัดเจนว่า ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการออกคำสั่ง และตัดสินใจ และที่น่าสนใจมากก็คือ มีการระบุว่าให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะเป็นทหาร หรือ ตำรวจ ในการจับกุม หรือ ตัดสินใจได้ว่าจะจัดการอย่างไร รวมไปถึงอำนาจในการตัดสินใจว่า ใครคือ "ผู้ต้องสงสัย" หรือ "ผู้ก่อการร้าย"

อำนาจในการตัดสินใจว่าใครเป็นหรือไม่เป็น ชีวิตที่เปลือยเปล่า ผ่านการบอกว่าใครคือ "ผู้ก่อการร้าย" นั้นเป็นสิ่งที่ Agamben กล่าวว่า เป็นอำนาจการตัดสินใจแบบองค์อธิปัตย์ที่ทำงานบนชีวิตและความตาย โดยอำนาจเช่นนี้เอง เป็นปรากฏการณ์ที่อำนาจอธิปัตย์สามารถปรากฏตัวได้ทุกหนทุกแห่ง ในกรณีนี้ตำรวจ ทหาร จะกลายเป็นองค์อธิปัตย์ชั่วคราว อำนาจอธิปัตย์ที่ประกาศความเป็นศัตรู หรือ ชีวิตที่เปลือยเปล่า จึงอยู่ที่หรือปรากฏอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐในการตัดสินใจจับกุม หรือ ฆ่า ในแต่ละครั้งนั่นเอง (91)

การใช้อำนาจที่รุนแรงขององค์อธิปัตย์เพื่อปกป้องความมั่นคง "ภายใน" ของรัฐนั้น ในทัศนะของ Agamben นำไปสู่การที่รัฐเองก็ทำตัวไม่แตกต่างไปจากผู้ก่อการร้าย ผ่านการลดทอนการเมืองให้อยู่ในอำนาจของการฆ่าคนและการกำจัดภัยของตำรวจ (police) (92) ดังที่ Agamben กล่าวว่า "ไม่มีผู้นำของรัฐใดในโลกใบนี้ที่ไม่ใช่อาชญากร" (93) หรือที่ Derrida กล่าวขนานนามรัฐสมัยใหม่ว่าเป็น "รัฐอันธพาล" หรือ Rogue State โดยชี้ว่า "ไม่มีอำนาจอธิปัตย์ที่ปราศจากการใช้กำลัง หรือ ปราศจากการใช้กำลังของคนที่แข็งแรงที่สุด ผู้ซึ่งเหตุผลของเขา ซึ่งเป็นผู้ที่แข็งแรงที่สุดนั้น จะเอาชนะและอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง" (94)

"ค่าย" (camp) : พื้นที่แห่งการปะทะระหว่าง อำนาจชีวญาณ และ ชีวิตที่เปลือยเปล่า

อำนาจอธิปัตย์ของรัฐประชาชาติในสภาวะสมัยใหม่นั้น เป็นอำนาจที่ต้องมีพื้นที่/ดินแดน (territory) และขอบเขตของอำนาจ (order) ที่ตายตัวชัดเจน สำหรับสภาวะสมัยใหม่พื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การจัดการพื้นที่และทรัพยากรในพื้นที่กลายเป็นหัวใจของศาสตร์และศิลป์แห่งการปกครอง (95) แต่การพูดถึงพื้นที่นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของพื้นที่เท่านั้น แต่พื้นที่เป็นสิ่งที่บรรจุทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเข้ามาอยู่ในพื้นที่ด้วย ดังนั้นการจัดการพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากการจัดการสิ่งมีชีวิต (ที่อยู่ในพื้นที่)

รัฐสมัยใหม่นั้นปกครองพลเมือง และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในพื้นที่ของรัฐประชาชาติผ่านเครื่องมือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ตำรวจ หรือแม้แต่ความรู้ แต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ในสภาวะสมัย การสร้างสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ชีวิตที่เปลือยเปล่า นั้นเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สุดของการปกครอง ซึ่งการทำงานของอำนาจอธิปัตย์ต่อชีวิตเหล่านี้นั้น เป็นอำนาจที่ทำงานในสภาวะพิเศษ หรือ ในสภาวะฉุกเฉิน (state of exception) มากกว่าสภาวะปกติ

การทำงานของอำนาจในสภาวะฉุกเฉินต่อชีวิตที่ไม่ปกติ หรือชีวิตที่เปลือยเปล่าก็ย่อมต้องการพื้นที่บางอย่าง เพราะชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าหรือชีวิตที่มีคุณค่าต่างก็ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ (space) หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเสมอ พื้นที่ที่จะมารองรับการใช้อำนาจขององค์อธิปัตย์ต่อชีวิตที่เปลือยเปล่า จึงต้องถูกสร้างขึ้นในฐานะที่เป็นกิจกรรมอันหนึ่งของสภาวะสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่ง Agamben เรียกพื้นที่ในลักษณะนี้ว่า "ค่าย" หรือ Camp

ในทัศนะของ Agamben "ค่าย" ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ "ข้างนอก" เช่นเดียวกับ ชีวิตที่เปลือยเปล่า "ค่าย" นั้นเป็นสิ่งที่เกิดนอกกฎหมายปกติ แต่ก็ยังคงสถานะเป็นกฎหมายในตัวมันเอง มากกว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอก (96) ค่ายจึงเป็นสิ่งที่ถูกอำนาจข้างในจับให้อยู่ข้างนอก (captured outside) มากกว่าที่จะอยู่ข้างนอกโดยตัวของมันเอง ค่ายจึงเป็นสิ่งที่อยู่ "ระหว่าง" (threshold) ซึ่งไม่ใช่ทั้งข้างในและข้างนอกจริงๆ ค่ายจึงมีความหมายเฉพาะของตัวมันเอง

โดย Agamben นิยาม "ค่าย" ว่าหมายถึง "พื้นที่ที่เปิดขึ้นเมื่อสภาวะฉุกเฉินเริ่มกลายเป็นกฎที่เริ่มทำงานจริง" (97) ค่ายจึงเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดของอำนาจอธิปัตย์ในสภาวะฉุกเฉิน (98) ผ่านการสร้างพื้นที่ที่การทำงานของกฎหมายในสภาวะปกตินั้นถูกระงับชั่วคราว (a temporal suspension of the state of law) สำหรับ Agamben นั้น ค่ายเป็นพื้นที่ที่อำนาจของอธิปัตย์แบบชีวญาณสามารถเข้ามาปะทะกับชีวิตได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือกลไกที่เป็นตัวกลาง (mediation) เช่น กฎหมาย อีกต่อไป (99)

เมื่อ"ค่าย"เป็นสิ่งที่กฎหมายปกติไม่ถูกบังคับใช้นั้น ชีวิตที่เข้ามาอยู่ในค่าย เช่น ผู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าก่อการร้ายในอ่าวกวนตานาโม (Guantanamo Bay) หรือ ชาวยิวที่ถูกขังในค่ายกักกันของนาซี ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ จึงไม่ต้องถูกปกป้องโดยกฎหมายให้มีสถานะปกติ ความเป็นพลเมืองของชีวิตที่อยู่ในค่ายจึงถูกทำลายไป จึงทำให้การจัดประเภทของคนตามความเป็นพลเมืองของรัฐประชาชาติในสภาวะสมัยใหม่นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะไม่รู้ว่าจะเอากฎหมายอะไรไปจัดการ คนเหล่านี้จึงกลายเป็นความลักลั่น และกลายเป็นส่วนย่อยที่ประสานเข้าไปกับองค์รวมที่มีเอกภาพของรัฐประชาชาติไม่ได้ สถานะของคนเหล่านี้จึงเป็นได้แค่เพียง ชีวิตที่เปลือยเปล่าเท่านั้น (100)

สำหรับ Agamben การพูดถึงค่ายนั้นไม่ใช่การพูดถึงความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น เพราะเขาไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ค่ายในความคิดของ Agamben นั้นเป็น metaphor หรือการอุปมาอุปมัยที่ทำหน้าที่เทียบเคียงให้เห็น กระบวนทัศน์ หรือการทำงานของความรู้และอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลาหนึ่งๆ บนพื้นที่หนึ่งๆ เท่านั้น ดังที่เขาได้ทำกับตัวแบบ "ชีวิตที่เปลือยเปล่า" ไปแล้ว ค่ายในที่นี้จึงเป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่ง

สำหรับ Agamben ค่ายซึ่งเป็นผลผลิตขององค์อธิปัตย์นั้น สามารถปรากฏตัวที่ไหนก็ได้ เช่นเดียวกับที่อำนาจอธิปัตย์เป็นอำนาจที่ปรากฏได้ทุกหนทุกแห่ง ค่ายจึงปรากฏตัวทั้งในค่ายกักกันนาซี ในโรงพยาบาล สนามบิน หรือแม้แต่สนามฟุตบอล ค่ายจึงไม่ใช่พื้นที่ที่ตายตัว แต่ปรากฏได้ทุกที่ที่อำนาจสามารถเข้าไปถึง

ตัวอย่างอันหนึ่งที่ Agamben ยกขึ้นมาก็คือ เมื่อปี 1991 ตำรวจอิตาเลียนเข้าไปจับกุมคนข้ามชาติผิดกฎหมายในสนามฟุตบอลที่กำลังแข่งขันอยู่ สถานการณ์ขณะนั้นจึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่กฎหมายในสภาวะปกติใช้การไม่ได้ โดยสนามฟุตบอลได้กลายสภาพเป็น ค่าย ที่คนทุกคนถูกตรวจค้น และผู้กระทำความผิดถูกทำเสมือนเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า ที่เจ้าหน้าที่จะทำอะไรก็ได้ (101) การใช้อำนาจตำรวจในที่นี้จึงกระทำการในฐานะที่เป็นองค์อธิปัตย์ชั่วคราว (act temporarily as sovereign) (102)

หรือแม้แต่กรณีที่ Agamben ปฏิเสธการได้รับเชิญไปสอนของ New York University ในปี 2004 อันเนื่องมาจากรัฐบาลสหรัฐประกาศว่า คนต่างชาติที่จะเข้าและออกประเทศสหรัฐได้นั้นต้องถูกตรวจลายนิ้วมือเพื่อป้องกันผู้ก่อการร้าย ในที่นี้สนามบินจึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีสถานะเป็นค่าย ซึ่งชีวิตและความเป็นมนุษย์ได้ถูกระแวงตั้งข้อสงสัย และมีโอกาสกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าได้ หากตำรวจหรือพนักงานตรวจคนเข้าเมืองใช้อำนาจตัดสินว่าเป็นผู้ต้องสงสัย (103)

สำหรับ Agamben นั้น ค่าย เป็นผลผลิตของสภาวะสมัยใหม่ (Modernity) อย่างแท้จริง เนื่องจากรัฐประชาชาติซึ่งเป็นผลผลิตของสภาวะสมัยใหม่นั้น เป็นรัฐที่กำหนดพื้นที่ และอำนาจที่ชัดเจนตายตัว ซึ่งถ้าเทียบกับรัฐโบราณแล้ว รัฐโบราณนั้นไม่ได้มีการกำหนดดินแดน อาณาเขตที่ตายตัว อำนาจของรัฐจึงเหมือนศูนย์หลายๆ ศูนย์เฉกเช่นหมู่ดาวที่กระจายตัวไป โดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนแบบรัฐสมัยใหม่ (104)

ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นพลเมืองที่อิงอยู่กับการเกิดและความเป็นชาตินั้น ก็เป็นสิ่งใหม่ที่ถูกสร้างโดยสภาวะสมัยใหม่มากกว่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ดั้งเดิม ในสภาวะแบบนี้เองที่ การเกิด (birth) กับ ความเป็นชาติ (nation) เป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กัน เช่น คนที่เกิดบนแผ่นดินไทย ก็ต้องมีสัญชาติไทย เป็นต้น

แต่ปัญหาก็คือ ในสภาวะที่มีความลักลั่นของพื้นที่และความเป็นประชากรของสภาวะสมัยนั้น นำไปสู่การที่ การเกิด (birth) ไม่ได้นำไปสู่ ความเป็นชาติ (nation) ที่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองโดยรัฐประชาชาติอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในค่ายคลอดลูกในดินแดนของไทย ก็ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติหรือความเป็นพลเมืองไทย หรือกรณีที่ชาวเขาที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้ตัวเขาเองจะเกิดและมีบรรพบุรุษจะอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าดินแดนไทยมานานแล้วก็ตาม นี่เองเป็นสิ่งที่ Agamben มองว่า การพูดถึง nomos ของรัฐประชาชาติแบบเดิมที่เป็นเรื่องของ ดินแดน การเกิด อำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายไม่ได้อีกต่อไป (105)

ในแง่นี้ nomos ของรัฐประชาชาติในปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยได้เกิด กฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับความเป็นพลเมือง (new laws on citizenship) ที่สามารถทำลายความเป็นพลเมืองได้ หากพลเมืองนั้นไม่ได้มีชาติพันธุ์เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ (106) ค่ายจึงกลายเป็นพื้นที่ทางอำนาจชีวญาณแบบใหม่ (new biopolitical nomos) (107) ที่จะทำหน้าที่บรรจุชีวิตที่เหมือนเป็นส่วนเกิน ลักลั่น และไม่สามารถบรรจุไว้ในกรอบความเป็นเอกภาพของรัฐประชาชาติได้

ความโหดร้ายของค่ายจึงกลายเป็นความทรงจำอันเลวร้ายที่สุดของคนที่เคยอยู่ในนั้น (108) ดังที่ Agamben (109) กล่าวถึงค่ายว่า "ค่าย คือ สถานที่ที่ความไร้มนุษยธรรมอย่างถึงที่สุดได้บังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้"

บทส่งท้าย : การเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด และความหวัง
ดูเหมือนว่าโครงการทางปรัชญาของ Agamben จะมีแต่เรื่องน่าเศร้าสลดสิ้นหวัง และไร้ทางออก แต่สำหรับ Agamben (110) ความหวังก็คือ ชุมชนที่กำลังมา (Coming Community) หรือที่ Jean-Luc Nancy (111) และ Jacques Derrida (112) ต่างเรียกว่า "สิ่งที่กำลังจะมา" (to come) (113)

การ "กำลังมา" นั้นแปลว่าไม่มีทางสิ้นสุด สิ่งที่กำลังมาจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด ไม่ตายตัว แต่ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่มีเส้นทางเดียว หากเป็นชุมชนที่ อะไรก็เป็นไปได้ เป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่แต่ละคนจะเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี โดยที่ใครอยากเป็นอะไรก็ได้เป็น ซึ่งเป็นภาวะที่ Agamben เรียกว่า whatever being ที่แต่ละคนสามารถเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น (singularity) เป็น being ที่ไม่ขึ้นกับอะไรทั้งสิ้น ยกเว้นตัวเอง (belonging itself)

ชุมชนแบบนี้จึงเต็มไปด้วย "ความรัก" ซึ่งเป็นความรักที่จะทำตามความปรารถนา (desire) และศักยภาพ (potentiality) ที่แต่ละคนมีจะเป็นศักยภาพที่อยากจะเป็น (potentiality to be) หรือ ไม่อยากจะเป็นก็ได้ (potentiality to not be) ชุมชนที่กำลังมานี้จึงไม่มีหน้าตาชัดเจนแบบชุมชนในอุดมคติ แต่เป็นการเดินทางอย่างไม่มีวันสิ้นสุด (means without end) (114) ของมนุษย์ทุกคนที่สามารถมีความสุขสูงสุด (jouissance) (115) ได้ตลอดการเดินทาง

+++++++++++++++++++++++++++++++++


Giorgio Agamben
ภาพประกอบบทความวิชาการ

อ้างอิง

(49) "sovereign is those who decides on the state of exception" ซึ่งเป็นความคิดของ Carl Schmitt ที่ปรากฏในงาน Political Theology: Four Chapters on the Theory of Sovereignty, tr. George Schwab (Cambridge: The MIT Press, 1986)

(50) Carl Schmitt, Political Theology, 13. อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ความคิดทางการเมืองของ คาร์ล ชมิทท์, 104.
(51) Carl Schmitt, Political Theology, 13. อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ความคิดทางการเมืองของ คาร์ล ชมิทท์, 107.

(52) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 16.
(53) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 27.
(54) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 23.
(55) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 21.
(56) Giorgio Agamben, State of Exception, 36-9.
(57) Giorgio Agamben, State of Exception, 39.
(58) Giorgio Agamben, State of Exception, 1.
(59) Giorgio Agamben, State of Exception, 1.
(60) Giorgio Agamben, State of Exception, 2.
(61) Giorgio Agamben, State of Exception, 3.
(62) Giorgio Agamben, State of Exception, 3.

(63) ดูความคิดของ Benjamin ได้ใน Walter Benjamin, "Theses on the Philosophy of History" in Illuminations, ed. Hannah Arendt, tr. Harry Zorn (London: Pimilco, 1999), 248-9.

(64) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 56.
(65) Giorgio Agamben, State of Exception, 5.
(66) Giorgio Agamben, State of Exception, 18.; Giorgio Agamben, Homo Sacer, 173.
(67) Giorgio Agamben, State of Exception, 14.
(68) Giorgio Agamben, State of Exception, 19.

(69) ดู Jacques Derrida, "Force of Law" in Cardozo Law Review, 11 (1990), 919-1045. และ Cornelia Vismann, "Derrida, Philopher of the Law" in German Law Journal, vol. 06 no. 01, 5-13. ซึ่งเป็นฉบับที่อุทิศให้แก่การจากไปของ Derrida

(70) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 49-50.
(71) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 55.
(72) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 27.
(73) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 28.
(74) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 39.
(75) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 43.
(76) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 52.
(77) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 45-8.

(78) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 30. แปลโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา, "อำนาจอธิปไตยกับสภาวะสมัยใหม่ : พื้นที่ลักลั่นและความเป็นตัวตน" ใน รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 24 ฉบับพิเศษ 2546, 250.

(79) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 31. และใน State of Exception (2005) Agamben อ้างงานของ Walter Benjamin จำนวนมาก งานชิ้นหนึ่งที่สำคัญชิ้นหนึ่งก็คือ Walter Benjamin, "Critique of Violence" in One Way Street and Other Writings, tr. Edmund Jephcott and Kingsley Shorter (New York and London: Verso, 1992), 132-54.

(80) ต้นฉบับคือ "Doing violence to the most just." Giorgio Agamben, Homo Sacer, 32.

(81) ตรงกับความคิดของ Machiavelli ดูได้ใน นิโคโล มาคิอาเวลี, เจ้าผู้ปกครอง, แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (สำนักพิมพ์คบไฟ, 2542)

(82) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 35.

(83) ดูการอภิปรายเรื่องนี้ได้ใน Michael Hardt and Antonio Negri, Empire, 67-204.
(84) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 36.

(85) ดู Jacques Derrida, "Preface: Veni" in Rogues: Two Essays on Reason (Stanford: Stanford University Press, 2005), xiii.

(86) Giorgio Agamben, Homo Sacer, 37.

(87) มิเชล ฟูโก, "ว่าด้วยการปกครอง (On Governmentality)" , แปลโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา ใน วารสารสังคมศาสตร์, ปีที่ 30 ฉบับที่ 3 , 116-7.

(88) Giorgio Agamben, "Security and Terror" tr. Carolin in Theory & Event, 5:4, 2002
(89) Giorgio Agamben, State of Exception, 17.
(90) Giorgio Agamben, State of Exception, 17, 24, 26-8.

(91) Giorgio Agamben, "Sovereign Police" in Means without End, trs. Vincenzo Binetti and Cesare Casarino (Minneapolis: University of Minnesota Press, 2000), 102-6.

(92) Giorgio Agamben, "Security and Terror" tr. Carolin in Theory & Event, 5:4, 2002; Giorgio Agamben, Homo Sacer, 147.

(93) ต้นฉบับคือ "There is no head of the State on Earth today who, in this sense, is not virtually a criminal" ใน Giorgio Agamben, "Sovereign Police" in Means without End, 106.

(94) ต้นฉบับคือ "There is no sovereignty without force, without the force of the strongest, whose reason-the reason of the strongest-is to win out [avoir raison de]everything." ใน Jacques Derrida, Rogues, 101.

(95) Michael Foucault, "Security, Territory, and Population" in Ethics, 67-71.
(96) Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 37.

(97) ต้นฉบับคือ "The camp is the space that opens up when the state of exception starts to become the rule." ใน Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 38.

(98) Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 40.
(99) Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 40.
(100) Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 40.
(101) Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 41.
(102) Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 41.

(103) Giorgio Agamben, "Bodies Without Words: Against the Biopolitical Tatoo" in German Law Journal, vol. 05 no. 02, 168-9.

(104) ดู Thongchai Winichakul, Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation (Chiangmai: Silkworm Books, 2004)

(105) Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 42.

(106) ดูการอธิบายถึงการเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฐานะที่เป็นผลผลิตของความเป็นรัฐประชาชาติของสภาวะสมัยใหม่ได้ใน Michael Mann, The Dark Side of Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2005)

(107) Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 44.

(108) ดูงานที่พูดถึงความทรงจำทางการเมืองเกี่ยวกับ "ค่าย" ใน Jenny Edkins, Trauma and the Memory of Politics (Cambridge: Cambridge University Press, 2003)

(109) ต้นฉบับคือ "The Camp is the place in which the most absolute condition inhumana ever to appear on Earth was realized…" ใน Giorgio Agamben, "What Is a Camp?" in Means without End, 36.

(110) Giorgio Agamben, The Coming Community, tr. Michael Hardt (Minneapolis: University of Minnesota Press, 2000)

(111) Jean-Luc Nancy, The Birth to Presence, 1-6.
(112) Jacques Derrida, "Preface: Veni" in Rogues, xi-xv.

(113) ความคิดเกี่ยวกับ "to come" และ "coming" ดูเหมือนว่ากำลังได้รับการพูดถึงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นงานของ Agamben , Derrida, Nancy หรือแม้แต่ Hardt และ Negri การทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้นจึงอาจจะเป็นโครงการศึกษาในอนาคตต่อไปสำหรับผู้สนใจ ข้าพเจ้าได้ความกระจ่างในประเด็นนี้มากขึ้นจากงานของ Penelope Deustscher, How to Read Derrida (W.W. Norton: New York and London, 2006)

(114) Means without End (2000) นั้นเป็นชื่อหนังสือของ Agamben
(115) Jean-Luc Nancy, The Birth to Presence, 6.

คลิกกลับไปทบทวน Giorgio Agamben: ว่าด้วยชีวิตเปลือยเปล่าและองค์อธิปัตย์ ๑






สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



240749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
ปรัชญาการเมืองของ Giorgio Agamben
บทความลำดับที่ ๙๘๓ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
Agamben นั้นยอมรับการแบ่งชีวิตของอริสโตเติล แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องมาจาก Agamben มองว่า เอาเข้าจริงชีวิตที่ถูกแบ่งเป็นสองประเภทนี้กลับแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะการหยิบยืมคำอธิบายจาก Foucault เรื่อง การเมืองชีวญาณ (biopolitics) ซึ่งไม่ใช่การเมืองที่มีแต่ชีวิตที่มีคุณภาพหรือชีวิตทางการเมืองแบบอริสโตเติลเท่านั้น แต่เป็นการเมืองที่รวมเอาชีวิตตามธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองด้วย เช่น การที่รัฐสมัยใหม่ให้ความสนใจต่อ สุขภาพที่ดีของประชากร รัฐสมัยใหม่ที่เข้ามายุ่งกับชีวิตประจำวัน หรือชีวิตที่เป็นส่วนตัว (private life) นั้นเป็นอำนาจที่ควบคุมชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จนถึงกระทั่งการมีอำนาจที่จะสามารถปกป้องชีวิต หรือ แม้แต่ประหารชีวิตก็ได้ อำนาจอธิปัตย์ จึงอยู่เหนือและทำหน้าที่ตัดสินให้มีชีวิตและให้ตายได้พร้อมๆ กัน
Hannah Arendt เป็นอีกคนที่ Agamben อ้างถึงโดย Arendt กล่าวว่า รัฐสมัยใหม่นั้นเป็นรัฐที่ยุ่งย่ามกับชีวิตส่วนตัวมากที่สุด และดังที่ Karl Lowith กล่าวว่า อำนาจรัฐสมัยใหม่ คือ การผนวกทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตส่วนตัวให้เข้ามาอยู่ในปริมณฑลทางการเมือง

รัฐประชาชาติ หรือ รัฐสมัยใหม่ในทัศนะของ Agamben จึงไม่สามารถถูกแบ่งได้ตามกรอบแบบ "ประชาธิปไตย" หรือ "เผด็จการ" หากทั้งประชาธิปไตย และเผด็จการเบ็ดเสร็จ นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน คือ เป็นอำนาจที่สร้างบนฐานของการสร้างและเบียดขับ ชีวิตที่เปลือยเปล่า หรือ ศัตรู ทางการเมืองเหมือนๆ กัน โดยที่ศัตรูในที่นี้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนแบบศัตรูทางชนชั้น แบบมาร์กซิสต์ ที่รู้แน่ชัดว่า ศัตรู คือ ชนชั้นนายทุน และระบบทุนนิยม แต่ศัตรูในที่นี้ไม่มีความชัดเจนตายตัว เป็นศัตรูที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา หรือบางทีเราเองก็ไม่รู้ว่าในขณะนั้นๆ ศัตรูคือใคร

 

midnighpolitic