Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ตุลาการ การเมือง และเรื่องรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวเนื่องกับตุลาการภิวัตน์และสถาบันกษัตริย์
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความวิชาการที่รวบรวมมานำเสนอบนเว็บเพจนี้ เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ไทย ประกอบด้วย
๑. ตุลาการภิวัตน์ในมุมมองบวรศักดิ์ ทศพิธราชธรรมกับมาตรา ๗
๒. สถาบันกษัตริย์และหลักเสรีภาพ ในมุมมองบวรศักดิ์กับสุลักษณ์
๓. ตุลาการภิวัตน์ในมุมมองมีชัย พระอัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญกับมาตรา ๓

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 977
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)




เกี่ยวเนื่องกับตุลาการภิวัตน์และสถาบันกษัตริย์
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1. ตุลาการภิวัตน์ในมุมมองบวรศักดิ์ ทศพิธราชธรรมกับมาตรา 7
และแล้วรอบสัปดาห์กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักกฎหมายมหาชนชั้นนำภาครัฐก็ทยอยออกมาทำหน้าที่อธิบายความหมายกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" หรือนัยหนึ่ง [เพราะราชดำรัสแก่ฝ่ายตุลาการเมื่อ 25 เมษายน ศกนี้(2549)] + [การปฏิบัติงานสนองพระราชดำรัสของฝ่ายตุลาการทั้ง 3 ศาลสืบต่อมา] ได้แก่:-

1) บทความ "ทศพิธราชธรรมกับพระมหากษัตริย์ไทย" ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันอุปสมบทเป็นภิกษุฉายา "ปวรสกโก" โดยฉบับตัดตอนลงพิมพ์ใน มติชนรายวัน, 11 มิ.ย.2549, น.2 และฉบับสมบูรณ์ภาษาอังกฤษทยอยลงพิมพ์ ติดต่อกัน 5 ตอนใน Bangkok Post, 12-16 June 2006.

2) บทสัมภาษณ์พิเศษ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา โดยหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ เนื่องในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง "6 ทศวรรษ...อัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญ", มติชนรายวัน, 12 มิ.ย.2549, น.11 และอาจอ่านคำตอบของมีชัยต่อคำถามเรื่อง "อำนาจ กกต.ตาม ม.145", มติชนรายวัน, 14 มิ.ย.2549, น.11. ประกอบด้วย

การตีความ "ตุลาการภิวัตน์" ของทั้งสองมีความเหมือน/ความแตกต่างบางประการที่น่าสนใจทั้งในแง่หลักการ, เหตุผลข้อถกเถียงและข้อวินิจฉัย แต่อาจประมวลสรุปไว้เป็นธงในขั้นต้นนี้ได้ว่า:-

- ขณะที่บวรศักดิ์ตีความอิงหลัก "ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือที่เขาเรียกว่า "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" (Convention of the Constitution) ดังที่ปรากฏความในมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยยึดโยงเข้ากับหลักทศพิธราชธรรมนั้น

- มีชัยเน้นตีความอิงหลัก "พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" ในมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการใช้อำนาจทางตุลาการเข้ามาแก้ปัญหา

เพื่อความกระจ่างควรบอกกล่าวแต่ต้นว่า ทั้งสองคนไม่เห็นด้วยกับการที่บางฝ่ายขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ "พระราชอำนาจ" (Royal Prerogative) พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยอ้างมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อต้นปีนี้ ทั้งนี้ เพราะขัดแย้งกับมาตราอื่นๆ หลายมาตราในรัฐธรรมนูญซึ่งจะต้องถูกงดใช้ไป (บวรศักดิ์) และยังเป็นการให้พระองค์ตัดสินในลักษณะเข้าข้างใดข้างหนึ่งทั้งที่พระองค์ทรงเป็นกลางในเวลาเกิดวิกฤต (มีชัย)

กระนั้นแล้ว จะทำความเข้าใจกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาอย่างไรดี?

บทความขนาดยาวของบวรศักดิ์ชิ้นนี้มีจุดประสงค์จะชี้ว่า ตลอดรัชกาลของพระองค์ นับแต่พระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นปฏิบัติหลักทศพิธราชธรรมอย่างแน่วแน่สม่ำเสมอ จนมันได้แปรเปลี่ยนกลายเป็น

1) หลักการและแนวทางปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

2) หลักบริหารจัดการรัฐกิจและกิจการพลเมืองสำหรับนักบริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมทุกระดับ และ

3) หลักการทางสังคมสำหรับสมาชิกสังคมทั้งปวง กล่าวคือ

- หลักศีลและอวิโรธนะ (high moral character & non-deviation from righteousness or conformity to the law) สอดคล้องเคียงคู่ไปกับ-หลักนิติรัฐและรัฐธรรมนูญแห่งระบอบประชาธิปไตย

- หลักปริจจาคะและตปะ (self-sacrifice & austerity or self-control or non-indulgence) สอดคล้องเคียงคู่ไปกับ-หลักการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและความโปร่งใสในการบริหาร อันเป็นเสาหลักสองในสามประการของธรรมรัฐหรือธรรมาภิบาล (good governance) ในยุคโลกาภิวัตน์

-หลักอวิหิงสา, มัททวะและอาชชวะ (non-violence or non-oppression; kindness and gentleness & honesty, integrity) -ในการดำเนินโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ไขบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนเป็นต้น

สรุปรวมความคือ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงบำเพ็ญปฏิบัติมาตลอดรัชกาล หลักทศพิธราชธรรม ได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" (Convention of the Constitution) -คือเป็นเลือดเนื้อ (flesh and blood) ที่ห่อหุ้มโครงกระดูก (skeleton) ของรัฐธรรมนูญ-แห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย

นั่นหมายความว่า โดยผ่านการปฏิบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้หลักทศพิธราชธรรมได้ถูกแปรเป็นธรรมเนียม (conventionalized) ส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญไทย, เป็นที่ยอมรับ (consensus), มีผลผูกพัน (binding), แม้ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย เอาไปฟ้องร้องกันในศาลไม่ได้เวลาใครล่วงละเมิด, แต่ก็มีสภาพบังคับทางการเมืองที่ผู้ล่วงละเมิดจะถูกวิพากษ์วิจารณ์, ว่าทำการฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติ (unconventional) และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (unconstitutional)

นับเป็นการให้ความหมายใหม่ทางวัฒธรรมที่กระชับรัดกุมขึ้นแก่มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญโดยยึดโยงน้อมนำหลักทศพิธราชธรรมไปรองรับกำกับการใช้พระราชอำนาจ "ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับ

กล่าวสำหรับพระราชดำรัส 25 เมษายนศกนี้ แก่ฝ่ายตุลาการ บวรศักดิ์วิเคราะห์เชื่อมโยงตามหลักที่วางไว้ข้างต้นว่าดังนี้

1) จัดเป็นกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชสิทธิที่จะทรงแนะนำ ทรงสนับสนุน และทรงตักเตือน (หรือ advisory power, ไม่ใช่ deciston-making power อันเป็นอำนาจตัดสินใจที่พ่วงตามมาด้วยภาระรับผิดชอบทางการเมืองต่อผลที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี) ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญแห่งระบอบกษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษที่วางแบบอย่างไว้แต่เดิมกล่าวคือ

"To state the matter shortly, the sovereign has, under a constitutional monarchy such as ours, three rights - the right to be consulted, the right to encourage, the right to warn."

Walter Bagehot, The English Constitution.
พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1867, อ้างจากฉบับพิมพ์ปี ค.ศ.1963, p.111

2) ทว่าในกรณีพระราชดำรัสองค์นี้ยังจัดเป็น ข้อยกเว้น ด้วย เพราะพระองค์พระราชทานพระราชดำรัสครั้งนี้อย่างเปิดเผย ซึ่งปกติจะไม่ทรงกระทำนอกจากในภาวะไม่ปกติจริงๆ ฉะนั้น หลักเรื่องความลับและการห้ามอ้างอิง (the principles of confidentiality and non-reference) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญในกรณีพระราชทานคำแนะนำโดยทั่วไปจึงได้รับยกเว้น

3) อย่างไรก็ตาม หลักเรื่อง "พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกระทำผิดเลย" (The King can do no wrong.) ยังต้องถือว่าคงอยู่แม้ในกรณีนี้ - โดยหลักดังกล่าวถือว่า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการพิจารณาทางการเมืองใดๆ (is not involved in any political consideation) ดังนั้น พระองค์จึงไม่ทรงกระทำผิด,แต่ตัวผู้กราบบังคมทูลฯ แนะนำและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต่างหาก ที่มีเจตจำนงทางการเมืองและฉะนั้นจึงมีความรับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมาย

4) นั่นหมายความว่าการดำเนินการใดๆ ตามพระราชดำรัสต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรและบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็น "ส่วนปฏิบัติการ" ของรัฐธรรมนูญ (efficient parts of the Constitution)

ซึ่งในกรณีพระราชดำรัส 25 เมษายนศกนี้ ก็หมายถึงอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายตุลาการทั้ง 3 ศาลนั่นเอง

นับเป็นการตีความกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" ที่ระมัดระวัง พยายามแยกแยะ และอิงธรรมเนียมประเพณีแบบอนุรักษ์นิยม อันนำไปสู่ข้อสรุปของบวรศักดิ์ที่เอาเข้าจริง ก็ไม่ต่างจากของธีรยุทธ บุญมี นัก ("พิพากษาหาความยุติธรรมให้ประเทศฯ" ใน มติชนรายวัน, 1 มิ.ย.2549, น.2, 5) ว่า:-

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นอยู่ในบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือ ทรงแนะนำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่ให้พระมหากษัตริย์มาทรงกระทำสิ่งที่ผิดหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ"

2. สถาบันกษัตริย์และหลักเสรีภาพ ในมุมมองบวรศักดิ์กับสุลักษณ์
การวิเคราะห์ตีความฐานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยโดยอิงหลักทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรที่แยบคายโดดเด่นในระยะใกล้ๆ นี้ นอกจากของพระปวรสกฺโก หรือบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แล้ว ก็ยังมีของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ด้วย ในคำกล่าวปิดการอภิปรายทางวิชาการว่าด้วยพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา ร่วมกับสถาบันสันติประชาธรรมและมูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 28 เมษายนศกนี้

ข้อน่าสังเกตคือ แม้จะอิงหลักการเดียวกัน แต่ก็อาจไม่นำไปสู่ข้อสรุปเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น:-

- ขณะที่บวรศักดิ์เห็นว่า การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลปัจจุบัน มีมิติเป็นสถาบันทางสังคมแบบพ่อปกครองลูก ย่อมเหนือล้ำสำคัญกว่าหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กล่าวคือ:-

คนไทยไม่คิดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำแบบนักการเมืองในสังคมตะวันตก ซึ่งเสมอภาคกับพลเมือง ผูกพันกับผู้เลือกตั้งตนแต่ในทางการเมือง หมดวาระแล้วก็เลิกกัน พลเมืองสามารถวิจารณ์ผู้นำทางการเมืองของตนอย่างไรก็ได้ โดยอ้างหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่คนไทยคิดว่าพระองค์ทรงเป็นพ่อของสังคมแบบครอบครัวใหญ่ ที่ซึ่งผู้ปกครองกับประชาชนผูกพันกันอย่างอบอุ่นเยี่ยงพ่อกับลูก คนไทยผู้รักเคารพพ่อจึงจะไม่มีวันปล่อยให้ใครมาวิจารณ์ในหลวงอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งความข้อนี้ฝรั่งไม่เคยรู้สึกก็เลยไม่เข้าใจ เพราะสังคมตะวันตกให้ลูกออกจากพ่อแม่ตั้งแต่เล็ก ฝรั่งจึงเหมือนกำพร้าตั้งแต่เกิด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพิสูจน์ว่าหลักทศพิธราชธรรมทันยุคทันสมัย และสอดคล้องกับประชาธิปไตยด้วยพระกรณียกิจที่เป็นจริงของพระองค์ และพระกรณียกิจนั้นย่อมดังกึกก้องกว่าถ้อยคำและหลักเสรีภาพในการพูดเป็นไหนๆ
(ประมวลเรียบเรียงจากคำบรรยายธรรมและข้อเขียนของพระปวรสกฺโกใน "ทศพิธราชธรรมกับพระมหากษัตริย์ไทย," มติชนรายวัน, 20 มิ.ย.2549, น.2; "The King"s paternalistic governance," Bangkok Post, 16 June 2006, p.10)

- อาจารย์สุลักษณ์กลับเน้น ความสำคัญของเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ต่อการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่างกรณีญี่ปุ่นในรัชสมัยเมจิ เปรียบเทียบกับกรณีไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า:-

ประเทศในเอเชียแห่งแรกที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่ พ.ศ.2422 เพื่อแสดงความทันสมัยอย่างไม่แพ้ฝรั่งคือญี่ปุ่นในรัชสมัยเมจิ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แสดงความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่สุด ยกพระจักรพรรดิ (ซึ่งเคยอยู่ในอำนาจของโชกุน) ให้ศักดิ์สิทธิ์เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ แม้จนปรัมปราคติที่ว่าต้นราชตระกูลเป็นองค์อาทิตย์เทพธิดา ก็ตั้งข้อกังขาไม่ได้ โดยที่ใครๆ ก็ต้องยอมตามถวายชีวิต จะในการพระราชสงครามหรือไม่ก็ตาม

ผลก็คือรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทางกดขี่ข่มเหงประชาราษฎร ทั้งในญี่ปุ่นเองและในประเทศอื่นๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกรุกเข้าไป ไม่ว่าจะจีน เกาหลี ฯลฯ รวมถึงเมืองไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกแล้วเมื่อ 60 ปีมานี้ ที่สหรัฐอเมริกาเขียนรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นใหม่ในฐานะผู้ชนะสงคราม กำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้หมดความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่างๆ อย่างให้องค์พระประมุขเป็นสามัญมนุษย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ดุจดังชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย...

รัฐธรรมนูญของเมจิที่ญี่ปุ่นนั้นก็คือการเอาอย่างฝรั่งในทางเผด็จการอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผนวกกับอำนาจทหารในทางการเมืองการปกครอง ตามแบบเยอรมันในสมัยนั้น ด้วยการลิดรอนเสรีภาพต่างๆ จนแทบหมดสิ้น...

ทั้งนี้ สืบมาแต่รัฐธรรมนูญเมจิมีความรุนแรงเป็นที่ตั้ง สถาบันพระมหากษัตริย์รับใช้ความรุนแรงนั้นติดต่อกันมาถึงสามรัชกาล ทั้งทางการเมือง การทหาร ซึ่งโยงไปยังทุนนิยม อำนาจนิยมและความรุดหน้าทางวิทยาการต่างๆ ซึ่งรวมเรียกว่า ความทันสมัย โดยที่ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในฝ่ายอธรรมแทบทั้งสิ้น

เปรียบกับสถาบันกษัตริย์ของไทย อย่างน้อยก็แต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เราเป็นไปในทางธรรมยิ่งกว่าอธรรม เพราะสมัยเมจิทำลายศาสนาพุทธ และชนชั้นนำรุ่นใหม่ ต้องการใช้ความรุนแรงอย่างฝรั่งบวกกับความรุนแรงเดิมของระบบโชกุน ในขณะที่อภิชนไทยใช้ศาสนาพุทธและความรอมชอมเป็นแกนกลาง ดังพระปฐมวาจาภาษิตของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ที่ตรัสเนื่องในงานบรมราชาภิเษกว่า เราจะปกครองโดยธรรม เพื่อความผาสุกของมหาชนชาวสยามนั้น ไม่เป็นเพียงรูปแบบ หากออกมาจากสาระของความเป็นพุทธ ที่ปรากฏชัดอยู่ในทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร ซึ่งมีข้อใหญ่ใจความว่า

1) พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย

2) มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน

3) ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์

4) ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบอยู่เสมอ
(พจนานุกรมพุทธศาส์น ของ ป.อ. ปยุตโต พ.ศ.2522 หน้า 32)

จะถือว่าทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรเป็นรัฐธรรมนูญ ที่ควบคู่ไปกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทางฝ่ายพุทธศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร จะได้หรือไม่...

พระมหากษัตริย์ก็ควรเป็นสมมติเทพที่ปราศจากความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ในทางเทวราช โดยที่มนุษย์ก็เป็นเทพได้ ถ้าทรงไว้ซึ่งเทวธรรม คือ หิริ ความละอายใจ และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ยิ่งถ้าพระราชมหากษัตริย์ทรงประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตรด้วยแล้ว ท่านย่อมมีค่าแห่งความเป็นมนุษย์ชั้นนำที่ทุกคนควรเอาเยี่ยง ดังพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระราชปรารภไว้อย่างชัดเจนว่าทรงเป็นสามัญมนุษย์ ที่พูดผิด ทำผิดได้ ถ้าใครจงรักภักดี ก็ควรวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ท่าน

ไม่ควรที่ใครจะเอาพระองค์ท่านหรือสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการโจมตีใคร เพื่อสร้างลัทธิอัตตนิยมให้ตนเอง หรือเพื่อสร้างความเขื่องให้ตนเองในนามของคำว่ารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างมืดบอดอีกต่อไป ตรัสว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกรายเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน ดังมีพระราชกระแสว่า "ถ้าแตะต้องพระราชมติไม่ได้ เมืองไทยก็ไม่มีทางเจริญ..."

แม้รัฐธรรมนูญของไทยในฐานะกฎหมายสูงสุดจะเพิ่งมีมาแต่ พ.ศ.2475 แต่เราไม่เข้าใจเนื้อหาสาระแห่งธรรม ที่ควรจะควบคุมอำนาจรัฐ ให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ เราจึงฉีกรัฐธรรมนูญกันทิ้ง อย่างปราศจากความเคารพธรรมหรือความถูกต้องด้วยประการทั้งปวง

ที่ร้ายอย่างสุดสุดก็คือ การทำลายล้างรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังหนึ่งว่าสถาบันดังกล่าวอยู่ตรงข้ามกับธรรมะ จนเผด็จการบางคนเสแสร้งและสรรค์สร้างให้สถาบันกษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ อย่างวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทั้งๆ ที่นั่นคือไสยศาสตร์ ศาสตร์แห่งความหลับใหล ในขณะที่พุทธศาสตร์ คือศาสตร์แห่งการตื่น ซึ่งย่อมเป็นไปตามทางของอหิงสธรรม ที่ปราศจากความรุนแรง อันเป็นเนื้อหาของศีล คือความเป็นปกติทั้งของแต่ละคนและสังคม

สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญจึงควรเกื้อกูลกันและกัน เพื่อความปกติของสังคมอย่างไปพ้นความโลภ ซึ่งแสดงออกทางทุนนิยม โดยที่บัดนี้ทุนนิยมมาในคราบของบรรษัทข้ามชาติและสยบยอมกับอภิมหาอำนาจอีกด้วย กล่าวคือ ทุนนิยมกับอำนาจนิยมผนวกกำลังกัน ทำให้โลภะและโทสะแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น โดยใช้วิธีมอมเมาในทางโมหะอีกด้วย

เราจึงจำต้องตื่นขึ้นด้วยการยึดเอาสถาบันกษัตริย์เป็นแนวทางของสมมติเทพ ซึ่งมีเทวธรรมเป็นแกน และสถาบันนี้ต้องควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญ ที่มีธรรมาธิปไตยเป็นหัวใจของการเมืองการปกครองที่มีความชอบธรรมอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้"
(คัดสรรอ้างอิงจาก "สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ," รายงานโดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง, สำนักข่าวประชาไท, 29 เมษายน พ.ศ.2549 www.prachathai.com)

3. ตุลาการภิวัตน์ในมุมมองมีชัย พระอัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญกับมาตรา 3
ในบรรดาคำอธิบายทางกฎหมายมหาชนเกี่ยวกับกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" หรือ พระราชดำรัสแก่ฝ่ายตุลาการเมื่อ 25 เมษายน ศกนี้(2549) + การปฏิบัติงานสนองพระราชดำรัสของฝ่ายตุลาการทั้ง 3 ศาลสืบต่อมา เท่าที่ปรากฏในสื่อสาธารณะนั้น ผมเห็นว่าคำอธิบายของ คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ที่ให้สัมภาษณ์แก่หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ภายใต้หัวเรื่อง "6 ทศวรรษ...อัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญ" (มติชนรายวัน,12 มิ.ย.2549,น.11) แหลมคมเร้าใจและชวนขบคิดที่สุด

ก่อนอื่น คุณมีชัยเลือกอธิบายกระบวนการดังกล่าว เช่นเดียวกับคุณชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ในหนังสือถึงประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ แจ้งผลการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กรณีการสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 คน ลงวันที่ 1 มิถุนายน ศกนี้ (มติชนรายวัน,2 มิ.ย.2549,น.2)

กล่าวคือ คุณมีชัยตีความพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ฝ่ายตุลาการเมื่อ 25 เมษายน ศกนี้ โดยอิงมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าเป็นกรณี "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"

ทว่าความน่าสนใจแท้จริงอยู่ตรงการประเมินค่า และเหตุผลข้อถกเถียงรองรับคำอธิบายข้างต้นของคุณมีชัย
คุณมีชัยชี้ว่านี่เป็น "ครั้งแรก" (ย้ำคำนี้ 2 ครั้งในบทสัมภาษณ์) ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางศาลในลักษณะนี้ อันสะท้อน "พระอัจฉริยภาพจริงๆ", "พระอัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ที่คนธรรมดานึกไม่ออก"

สิ่งที่ผู้คนทั่วไปนึกคิดไม่ถึง - ทว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนึกถึงด้วยพระอัจฉริยภาพเกี่ยวกับเนื้อความของมาตรา 3 ในทรรศนะของคุณมีชัย พอแยกแยะออกได้ 3 ประเด็นคือ

1) เวลานึกถึงอำนาจอธิปไตย คนทั่วไปจะนึกถึงแต่ฝ่ายบริหาร อันได้แก่คณะรัฐมนตรีและฝ่ายนิติบัญญัติ อันได้แก่ รัฐสภาเป็นหลัก,ไม่คิดถึงฝ่ายตุลาการ

2) เวลาคิดถึงฝ่ายตุลาการ คนทั่วไปก็จะคิดแต่ในความหมายของการพิจารณาพิพากษาคดี ไม่คิดถึงในแง่ที่เป็นอำนาจส่วนหนึ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นอำนาจอธิปไตย

3) พระราชดำรัส 25 เมษายน ศกนี้ แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนึกถึงฝ่ายตุลาการในฐานะเป็นองค์อำนาจ ไม่ใช่แค่ตัวการพิจารณาพิพากษาคดี และทรงใช้อำนาจตุลาการในฐานะอำนาจอธิปไตยเป็นครั้งแรก

สำหรับสภาพเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัย ริเริ่มใช้อำนาจตุลาการในฐานะอำนาจอธิปไตยเป็นครั้งแรกนี้ ก็ได้แก่วิกฤตทางการเมืองครั้งที่ 3 (เมษายน พ.ศ.2549 ส่วนสองครั้งก่อนคือ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และพฤษภาคม พ.ศ.2535) ในครั้งนี้เกิดภาวะอำนาจอธิปไตยอีก. 2 อำนาจได้แก่ บริหารและนิติบัญญัติใช้ไม่ได้เพราะเกิดปัญหา (มีการยุบสภา จึงเหลือเพียงรัฐบาลรักษาการ) ทุกคนตันหมดแล้ว หมดทางไป มองไม่เห็นลู่ทาง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร บ้านเมืองทำท่าจะเสียหายแล้ว

โดยทุกครั้งที่ทรงลงมาแนะนำทางออกเพื่อแก้วิกฤตด้วยพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหลัก 2 ประการ คือเพื่อความสุขสงบของประเทศ และความอยู่รอดปลอดภัยของประชาชน

นอกจากนี้ เวลาที่ทรงแก้นั้น ทรงระมัดระวัง ที่จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ทรงแก้โดย ปลอดจากการเมือง และทรงเป็นกลาง จะไม่ทรงลงมาในลักษณะที่จะทำให้ข้างใดข้างหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าถูกหรือผิด หรือในลักษณะที่เท่ากับว่าเข้าข้างใครอีกข้างหนึ่ง ไม่ทรงไปให้เห็นว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งยากลำบากมาก แต่เพราะเหตุนั้นจึงทำให้เป็นที่ยอมรับได้

มาในครั้งนี้ พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ฝ่ายตุลาการก็ ก็เป็นเพียงการให้คำแนะนำ เหมือนดังที่เคย ทรงชี้ทาง แก่ฝ่ายต่างๆ ในอดีต พระองค์ เพียงแต่บอกว่าใครควรจะลงไปทำ... ลองไปคิดดูสิว่าใครจะทำอะไร, อาศัยอำนาจที่มีอยู่ไปทำกันเอาเอง จะไปทำอย่างไรก็ไปทำกันเอาเอง

ส่วนฝ่ายตุลาการ 3 ศาลที่รับสนองพระราชดำรัสนั้นก็ต้องดูว่า จะทำอะไรได้บ้างในกรอบของตัวเอง, โดยคนที่ไปทำก็จะมีขอบเขต อย่างตุลาการก็มีขอบเขต แบ่งออกเป็น 2 ขา ได้แก่

ขาแรก) อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งมีตัวบทกำหนดกรอบไว้ค่อนข้างชัดเจน มีระยะเวลา มีความเที่ยงธรรม โอกาสที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีจะเท่ากัน อันเป็นอำนาจปกติทั่วไปอยู่แล้ว

ขาหลัง) อำนาจตุลาการที่จะไปแก้วิกฤตการเมือง ในฐานะที่เป็นคนไม่รู้เรื่องบริหารและนิติบัญญัติมาก่อน
อำนาจขาหลังนี้ เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายตุลาการเริ่มใช้ ค่อนข้างแปลกใหม่และไม่คุ้นเคย นับว่าเป็นอาณาบริเวณที่ฝ่ายตุลาการยังไม่ได้สำรวจทำความรู้จักมาก่อน (uncharted territory) จึงค่อนข้าง "อันตราย" (มีชัยย้ำคำนี้ถึง 4 ครั้งในบทสัมภาษณ์) และต้องระมัดระวังในการดำเนินการว่าทำอะไรได้บ้าง? ทำอะไรไม่ได้บ้าง? ไม่ควรทำอะไรบ้าง?

ที่สำคัญจะเดินเรื่องแค่ไหนอย่างไรดี ขาหลัง-อันเป็นเรื่องการเมือง มีฝักมีฝ่าย มีพวกพ้อง มีคนได้รับผลร้ายและได้รับผลดี เวลาเสียก็จะไม่พอใจ ว่ากล่าวและอาจไม่ยอมรับ ลงไปรุมศาลได้ จึงจะไม่ไปขัดขาแรก-อันเป็นเรื่องการพิจารณาพิพากษาคดีตามหลักกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม จนขาพันกันสะดุดล้มลง?

แม้แต่คุณมีชัยเองก็พูดถึงประเด็นนี้ด้วยถ้อยคำคลุมเครือแปลกแปร่งพิกล คือใช้คำว่า "เขา (หมายถึงฝ่ายตุลาการ) ก็จะแก้เท่าที่เขาจะเอื้อม เขาก็แนะนำเท่าที่เขาจะทำได้" โดยเสนอแนะหลักการป้องกันสองขาเดินขัดกันเองแก่ฝ่ายตุลาการไว้ว่า

- อาศัยกระบวนการตามอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีให้สอดคล้องกัน โดยกำหนดทิศทางร่วมกันได้

- แต่ไม่ใช่ต้องตัดสินอย่างเดียวกัน หรือไปตัดสินแทนกัน เพราะจะทำให้ขาดความเป็นอิสรภาพที่ศาลแต่ละศาลสั่งกันไม่ได้

เราอาจดึงข้อสรุปสำคัญบางประการเกี่ยวกับกระบวนการตุลาการภิวัตน์ในทรรศนะของมีชัยในชั้นนี้ได้ว่า

1) การใช้อำนาจตุลาการในฐานะอำนาจอธิปไตยโดยองค์พระประมุขเพื่อแก้วิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย

2) โดยทรงตีความมาตรา 3 ที่ว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ด้วยพระอัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญชนิดที่คนธรรมดานึกไม่ออก

3) อย่างไรก็ตาม พระราชดำรัสของพระองค์เพียงทรงชี้ทางแนะนำแก่ฝ่ายตุลาการ ส่วนการปฏิบัติสนองพระราชดำรัสของฝ่ายตุลาการ 3 ศาลนั้น ย่อมต้องมีกรอบ มีขอบเขตของตัวเอง และต้องรับผิดชอบเอง

4) ขอบเขตอำนาจของฝ่ายตุลาการในเรื่องนี้มี 2 ขา คือ ขาแรกอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี และขาหลังอำนาจที่จะไปแก้วิกฤตทางการเมือง ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนเป็นครั้งแรกเช่นกัน จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังให้อำนาจสองขาเดินไปด้วยกันได้ไม่ขัดกันเอง

5) ในทางวิชาการ อาจจะจริงที่การใช้อำนาจตุลาการมาแก้วิกฤตทางการเมืองทำให้อันตรายต่อศาล โดยเฉพาะถ้าใช้ไม่ถูกกาละเทศะ แต่ในภาวะวิกฤตที่หมดทางไปและฝุ่นยังตลบ อำนาจอธิปไตยด้านอื่นไม่อยู่ในฐานะที่จะแก้ปัญหาหาได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจเดียวที่มีอยู่

โดยขอภาวนาให้เรื่องจบเร็วๆ ศาลจะได้ไม่ต้องออกมายุ่งกับการเมือง

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



190749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
ตุลาการภิวัตน์และสถาบันกษัตริย์
บทความลำดับที่ ๙๗๗ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ประเทศในเอเชียแห่งแรกที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่ พ.ศ.2422 เพื่อแสดงความทันสมัยอย่างไม่แพ้ฝรั่งคือญี่ปุ่นในรัชสมัยเมจิ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แสดงความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่สุด ยกพระจักรพรรดิ (ซึ่งเคยอยู่ในอำนาจของโชกุน) ให้ศักดิ์สิทธิ์เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ แม้จนปรัมปราคติที่ว่าต้นราชตระกูลเป็นองค์อาทิตย์เทพธิดา ก็ตั้งข้อกังขาไม่ได้ โดยที่ใครๆ ก็ต้องยอมตามถวายชีวิต จะในการพระราชสงครามหรือไม่ก็ตาม

ผลก็คือรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทางกดขี่ข่มเหงประชาราษฎร ทั้งในญี่ปุ่นเองและในประเทศอื่นๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกรุกเข้าไป ไม่ว่าจะจีน เกาหลี ฯลฯ รวมถึงเมืองไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกแล้วเมื่อ 60 ปีมานี้ ที่สหรัฐอเมริกาเขียนรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นใหม่ในฐานะผู้ชนะสงคราม กำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้หมดความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่างๆ อย่างให้องค์พระประมุขเป็นสามัญมนุษย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ดุจดังชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย...

 

ขาแรก) อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งมีตัวบทกำหนดกรอบไว้ค่อนข้างชัดเจน มีระยะเวลา มีความเที่ยงธรรม โอกาสที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีจะเท่ากัน อันเป็นอำนาจปกติทั่วไปอยู่แล้ว
ขาหลัง) อำนาจตุลาการที่จะไปแก้วิกฤตการเมือง ในฐานะที่เป็นคนไม่รู้เรื่องบริหารและนิติบัญญัติมาก่อน
อำนาจขาหลังนี้ เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายตุลาการเริ่มใช้ ค่อนข้างแปลกใหม่และไม่คุ้นเคย นับว่าเป็นอาณาบริเวณที่ฝ่ายตุลาการยังไม่ได้สำรวจทำความรู้จักมาก่อน (uncharted territory) จึงค่อนข้าง "อันตราย" (มีชัยย้ำคำนี้ถึง 4 ครั้งในบทสัมภาษณ์) และต้องระมัดระวังในการดำเนินการว่าทำอะไรได้บ้าง? ทำอะไรไม่ได้บ้าง? ไม่ควรทำอะไรบ้าง?

 

midnightweb