Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ทำความเข้าใจความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ยศธรและอัมมานา
: ความรุนแรงยังไม่จางที่ภาคใต้ (๒)
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(คณะกรรมการ
รอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ)

รายงานที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
เกี่ยวกับ การเอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ (ร่างที่ 8) ซึ่งได้นำมาเผยแพร่บางส่วนดังประเด็นต่อไปนี้
1. เรื่องของยศธรและอัมมานา
2. กรอบคิดเพื่ออธิบายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. วินิจฉัยเหตุ: ทำความเข้าใจความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.1 ปัจจัยชั้นบุคคล 3.2 ปัจจัยชั้นโครงสร้าง 3.3 ปัจจัยชั้นวัฒนธรรม:
4. สรุปข้อวินิจฉัยเหตุของปัญหา

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 948
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)

 

รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ (ร่างที่ 8)

ยศธรและอัมมานา : ความรุนแรงยังไม่จางที่ภาคใต้ (๒)
3.2.2 เศรษฐกิจท้องถิ่น
ถ้าพิจารณาตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2546 เศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เข้มแข็งนัก เห็นได้ว่าขยายตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ และประเทศไทยโดยรวมอย่างมาก ปัญหาเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลมาจากความตกต่ำในภาคเกษตรที่สำคัญ จนทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ติดอันดับ 1-4 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนด้านรายได้มากที่สุดของภูมิภาค

นอกจากนั้น ตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2546 พบว่ามีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวต่ำกว่าที่ปรากฏในจังหวัดภาคใต้อื่น ๆ และในระดับประเทศ ดังข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งมีจำนวน"คนจน"รวมสูงถึง 311,500 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 47.6 ของคนจนทั้งภูมิภาค นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันสูง

แต่ทั้งรายได้เฉลี่ยและการกระจายรายได้ก็ล้วนเป็นภาพนิ่ง ที่ไม่แสดงให้เห็นพลวัตของปัญหาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งพึ่งพิงภาคเกษตรมากเกินไป ภาคเกษตรในทุกพื้นที่จะต้องมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยรองรับกระบวนการผลิต แต่ทรัพยากรธรรมชาติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังถูกแรงกดดันอย่างมาก

เมื่อภาคที่ใช้แรงงานมากที่สุดถูกแรงกดดันเช่นนี้ (23) ผู้คนที่หาเลี้ยงชีพในภาคเกษตรก็มีเหตุผลอันชอบที่จะออกไปแสวงหางานหรืออาชีพในภาคอื่น ๆ แต่กลับเป็นว่าโอกาสมีงานทำของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างน้อย เป็นเหตุให้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในวัย 20-24 ปี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสัดส่วนว่างงานสูงกว่าภาคอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความรุนแรงสูงหรือที่เรียกว่า "พื้นที่สีแดง" ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 257 หมู่บ้าน จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 1,638 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 15.7 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด ที่น่าสนใจคือ ปรากฏว่าทั้ง 3 จังหวัดมีหมู่บ้าน "สีแดง" อยู่ทั้งสิ้น 120 หมู่บ้าน และร้อยละ 46.7 ของหมู่บ้าน "สีแดง" ทั้งหมดมีความขัดแย้งทางทรัพยากร คือ ปัญหาอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน เมื่อพิจารณาจังหวัดปัตตานีเฉพาะในอำเภอที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล พบหมู่บ้าน "สีแดง" ถึง 44 หมู่บ้านหรือร้อยละ 58.7 ของจำนวนหมู่บ้านติดฝั่งทะเลทั้งหมด 75 หมู่บ้าน (24)

ถ้า "สีแดง" ของหมู่บ้านเกิดขึ้นเพราะความรุนแรง ก็เป็นไปได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางทรัพยากรอยู่ด้วย คงไม่ใช่เพราะมี "คนร้าย" คิดก่อการใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐและราษฎรสามัญเท่านั้น ความกดดันทางทรัพยากรย่อมผลักชาวบ้านให้เข้าสู่มุมอับแห่งความยากจน เมื่อผู้คนที่ยากจนไม่แข็งแกร่งทางการศึกษาเพียงพอที่จะมีทางเลือกในชีวิตอื่น ๆ ความกดดันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้วิธีลดปัญหาความรุนแรงทางหนึ่ง คือ ลดความกดดันทางทรัพยากร โดยการให้สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากร คือ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน บนพื้นฐานความเชื่อทางศาสนธรรม ทั้งหมดนี้เป็นไปได้โดยอาศัยกฎกติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญไว้แล้ว

3.2.3 การศึกษา
แรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่ผลักดันให้คนออกจากภาคเกษตรไปแสวงหาอาชีพอื่นๆ นั้นมิได้เป็นปรากฏการณ์เฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เกิดขึ้นแทบจะทั่วประเทศไทย ที่แตกต่างกันคือ เกษตรกรและบุตรหลานของเขาในพื้นที่อื่นๆ สามารถหาทางออกด้วยการไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคอื่นๆ แต่สำหรับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะประสบปัญหาในการได้งานทำมากกว่าในภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความอ่อนแอของระบบการศึกษาสามัญ

ในปี 2545 ประชากรอายุ 20-29 ปี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการศึกษาสามัญโดยเฉลี่ยรวม 8.3 ปี ขณะที่ในจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ได้รับ 9.5 ปี และในภาคอื่นๆ ได้รับ 9 ปี ประชากรในวัยเรียนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้เพียงร้อยละ 2 ในด้านคุณภาพการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการทดสอบทั่วประเทศโดยกระทรวงศึกษาธิการแสดงว่านักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คะแนนต่ำกว่านักเรียนในภาคอื่นๆ ในทุกวิชายกเว้นภาษาอังกฤษ

ปัญหาเรื่องระดับและผลการศึกษาที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นเรื่องของสามัญศึกษา และอาจจะเป็นปัญหาแต่เฉพาะคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเท่านั้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะเรียนน้อยกว่าคนไทยในจังหวัดอื่นๆ ความจริงแล้วสามารถกล่าวได้ว่า นักเรียนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้เวลาในการเรียนมากกว่านักเรียนไทยพุทธโดยทั่วไป

เพราะผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานของตนเรียนศาสนาควบคู่ไปกับวิชาสามัญ และวิชาอิสลามศึกษาที่เรียนกันในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น เข้มข้นกว่าวิชาศาสนาที่สอนอยู่ในโรงเรียนของรัฐมาก ผลก็คือ เด็กมุสลิมประมาณ 2 ใน 3 จะถูกผู้ปกครองส่งไปเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งมีชั่วโมงเรียนรวมกันประมาณสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง เทียบกับโรงเรียนรัฐบาลที่มีชั่วโมงเรียน 25 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์

เหตุที่นักเรียนมุสลิมสามารถเรียนสามัญศึกษา ควบคู่กับการเรียนศาสนาได้ในปัจจุบัน เป็นผลพวงของวิวัฒนาการอันยาวนานของระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและอคติที่มีต่อกันระหว่างรัฐและชุมชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ฝ่ายชุมชนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูมักมองว่า รัฐไทยจะใช้การศึกษาภาคบังคับเป็นเครื่องมือในการกลืนวัฒนธรรมมลายูมุสลิมให้หมดสิ้นไป ฝ่ายรัฐบาลก็มองสถาบันการสอนศาสนาที่ชุมชนตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันศึกษาปอเนาะว่า เป็นแหล่งเพาะอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนและอุดมการณ์อิสลามที่ใช้ความรุนแรงในระยะหลังๆ

ถึงแม้ว่าทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจนค่อนข้างลงตัว แต่ที่ยังค้างอยู่มีเพียงเรื่องเดียวคือ วิธีการที่จะสอนภาษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่เด็กที่มีภาษามลายูเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม อคติที่ยังมีอยู่ยังไม่หมดสิ้นไป กล่าวคือ ในฝ่ายรัฐมักมีนักการเมืองหรือข้าราชการ ที่ยังไม่เข้าใจปัญหาออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศึกษาปอเนาะ และเสนอให้ปิดสถาบันการศึกษาที่ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างภาคภูมิใจเหล่านี้ อีกด้านหนึ่งผู้ก่อการก็ดูจะเลือกสถานที่และบุคลากรด้านการศึกษาเป็นเป้าหมายหนึ่งในการก่อความไม่สงบ ระหว่างเดือนเมษายน 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม 2548 มีโรงเรียนถูกวางเพลิงไปแล้ว 61 แห่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงมิถุนายน 2548 มีครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาถูกฆ่า 24 คนและได้รับบาดเจ็บ 18 คน

3.2.4 ประชากร
ลักษณะพิเศษของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ วัฒนธรรมของประชากรในพื้นที่ที่แตกต่างไปจากส่วนอื่นของประเทศไทย ประชากรส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 79.3 หรือ 1.4 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลามและนิยมพูดภาษามลายู โดยมีประชากรชาวไทยพุทธอยู่เพียงร้อยละ 20.1 กระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเขตเมืองและชนบท

ที่น่าสนใจคือ อัตราการขยายตัวของประชากรชาวไทยพุทธในพื้นที่ลดลงอย่างมากในช่วง 15 ปีก่อนจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2547 ในสายตาของชาวพุทธในพื้นที่บางส่วนเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรดังกล่าวเป็นปัญหา ก่อภาระให้แก่รัฐด้วยการต้องนำภาษีอากรไปดูแลอุดหนุนประชากรมุสลิมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะครอบครัวมุสลิมยากจน ขาดโอกาส ไม่สามารถบำรุงเลี้ยงให้ประชากรที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ให้มีคุณภาพดีได้ ขณะเดียวกันจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้ ก็สร้างความกังวลให้แก่บางคนเรื่องความมั่นคงของประเทศ แต่จำนวนบุคลากรในภาครัฐกลับมีโครงสร้างที่ไม่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรในพื้นที่ คือมีข้าราชการที่เป็นไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่มากนัก

3.2.5 ภูมิศาสตร์ชายแดน
พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีอาณาเขตติดต่อกับตอนเหนือของมาเลเซียเป็นระยะทางยาวถึง 573 กิโลเมตร ประชากรทั้ง 2 ประเทศในเขตนี้ใกล้ชิดกันมาก กระทั่งบางคนเห็นว่า แม่น้ำโกลกซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นโกตาบาห์รูออกจากจังหวัดนราธิวาส เป็นเพียงทางระบายน้ำในฤดูน้ำหลากเท่านั้น (25)

ความใกล้ชิดในสภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างน้อย 2 ประการคือ

ประการแรก ปัญหาคน 2 สัญชาติซึ่งมีจำนวนมาก (26) เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าเป็นปัญหา

ประการที่สอง การอพยพข้ามไปฝั่งมาเลเซีย เช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีคนไทย 131 คนอพยพไปอยู่ในรัฐกลันตัน หลังเกิดเหตุที่บ้านละหาร จังหวัดนราธิวาส เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548 ส่งผลให้มีปฏิกิริยาจากมาเลเซีย ในกรณีนี้นิก อาซิซ ผู้ว่าการรัฐกลันตันและผู้นำพรรคปาส (Pertubuhan Angkatan Sabilullah - PAS ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซีย) กล่าวว่าเรื่องการกำหนดท่าทีผู้อพยพจากฝั่งไทยขอให้เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง หลังจากนั้นได้กล่าวในการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดแห่งหนึ่งว่า ทางพรรคจะช่วยรับบริจาคเงินและเสื้อผ้าอาหารเพื่อช่วยผู้อพยพกลุ่มนี้ และถือว่าเป็นกลุ่มผู้เดือดร้อนเข้าข่ายผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือในรูปของซะกาต และว่าการอพยพของคนกลุ่มนี้สำคัญมากสำหรับชาวกลันตัน เพราะญาติพี่น้องของชาวกลันตันจำนวนมากยังติดอยู่ในความขัดแย้งฝั่งไทย

หลังจากนั้นแม้แต่ฝ่ายรัฐบาลคือ ฮิชามุดดิน ฮุซเซน หัวหน้ากลุ่มยุวชนพรรคอัมโน (United Malays National Organization - UMNO) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวว่า ตนเองประสานงานเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ของไทยอยู่ตลอด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยนั้น เป็นที่รู้สึกได้ในมาเลเซีย (27) ด้วยความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ในลักษณะนี้ การแก้ปัญหาภาคใต้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทางการมาเลเซีย ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐทางตอนเหนือ ดังนั้นจะมองมาเลเซียเป็นผู้ร้ายไม่ได้ (28)

3.3 ปัจจัยชั้นวัฒนธรรม
ประกอบด้วย ภาษา-ศาสนา, ประวัติศาสตร์

3.3.1 ภาษา-ศาสนา
ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนเชื้อสายมลายู พูดภาษามลายูปัตตานีซึ่งใกล้เคียงกับภาษามลายูกลันตัน ความเป็นมลายูนี้เชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับ "โลกวัฒนธรรมมลายู" ซึ่งต่อเนื่องยืนยงทั้งในทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ จากตอนเหนือของแหลมมลายูถึงสุมาตรา ไปจนถึงตอนใต้ของ ฟิลิปปินส์ การเป็นส่วนหนึ่งของ "โลกวัฒนธรรมมลายู" นี้ถูกขับให้เด่นชัดเพราะปัจจัยในทางภูมิศาสตร์ด้วย

เมื่อถามชาวบ้านในพื้นที่ว่าเขาเป็นใคร คำตอบที่ได้คือ เป็น "คนมลายูมุสลิม คือ เชื้อชาติมลายูนับถือศาสนาอิสลาม บางครั้งมักเรียกตนเองว่า เป็น 'คนอิสลาม' ด้วยน้ำเสียงแสดงถึงความภูมิอกภูมิใจ และบ่งบอกว่าตนเองมีความเคร่งครัดทางศาสนาในระดับสูง" บางคนก็จะตอบว่าเขาเป็น "ออแฆนายู" (คนมลายู) ไม่ใช่ "ออแฆซีแย" หรือ "ออแฆซิยัม" (คนสยาม) เป็นไปได้ว่าเขาไม่กล้าตอบว่าเป็น "คนไทย" เพราะในความเข้าใจของผู้คนส่วนหนึ่ง "คนไทยหรือคนสยาม คือชาวพุทธ" หากตอบว่าเป็น "ออแฆซีแย" อาจทำให้เขาต้องตก "มุรตัด" คือหลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม (29) ในแง่นี้ภาษา และศาสนาก่อร่างสร้างรูปเป็นอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่นี้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องนานมา

นอกจากนี้ความภักดีต่อภาษามลายูของชาวบ้านมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังขึ้นต่อการที่ เขาเป็นคนในเขตชนบทซึ่งใช้ภาษานี้ทั้งเมื่อยังเป็นเด็กกับพ่อแม่ และใช้ในการศึกษาทางศาสนา ในแง่นี้ภาษามลายูซึ่งกลายเป็นเครื่องกำหนดเขตแดนว่าใครเป็นหรือไม่เป็นคนมลายู เป็นเครื่องเชื่อมร้อยผู้คนในปัจจุบันเข้ากับอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรปัตตานี ยิ่งเมื่อแหลมมลายูตกอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนาอิสลาม ผู้คนในดินแดนนี้ก็นำอักษรอาหรับมาเขียนในระบบภาษามลายู

ด้วยเหตุนี้ภาษามลายูที่เขียนด้วยอักษรอาหรับจึงไม่ใช่มีเพียงคุณค่าทางการสื่อสาร แต่ยังมีความหมายทางศาสนาเพราะใช้ในการศึกษาและเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ตลอดจนในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ดังนั้นสำหรับพวกเขา ภาษามลายูจึงเป็นดังขุมทรัพย์อันทรงค่าทางวัฒนธรรม และเป็นเกียรติภูมิของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในเวลาเดียวกัน (30)

ในทางหนึ่งความเป็น "มลายู" นี้แตกต่างจากการเป็นคนมาเลย์ในประเทศมาเลเซีย เพราะขณะที่มาเลเซียเป็นประเทศซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ใน คริสตศตวรรษที่ 20 ปัตตานีในอดีตเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลาม 1 ใน 2 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อีกแห่งหนึ่งคือ อาเจะห์ ซึ่งถือกันว่าเป็นประตูสู่นครมักกะห์อันศักดิ์สิทธิ์) มากว่า 700 ปีแล้ว อันที่จริงเมื่อ 300 ปีก่อน ปัตตานีได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามที่ดีที่สุดในแหลมมลายู (31) ตำราทางศาสนาอิสลามทั้งหมดที่เขียนโดยปวงปราชญ์ปัตตานีนั้น ถ้าไม่เป็นภาษาอาหรับ ก็เขียนเป็นภาษามลายูด้วยอักษรอาหรับที่เรียกว่าตัวหนังสือยาวี

ผู้คนส่วนใหญ่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลาม และเช่นเดียวกับชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในโลก พวกเขาเป็นสายสุหนี่ (Sunni) ไม่ใช่ชีอะห์ (Shi'a) (32) อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาอิสลามเชื่อมผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ากับชะตากรรมของโลกมุสลิม และดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโลกที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมเข้าไว้ด้วย (33)

ในบริบทของปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลามอยู่ 2 เรื่อง คือ "ความเคร่งครัดทางศาสนาของชาวมุสลิม" และ "ทัศนะของชาวมุสลิมต่อความยุติธรรมและการต่อสู้"

1) ความเคร่งครัดทางศาสนาของชาวมุสลิม ในสังคมไทยส่วนใหญ่ ตำแหน่งแห่งที่ของความเคร่งครัดทางพระศาสนาอยู่ในศีลาจารวัตรของภิกษุสงฆ์ ส่วนในอิสลามไม่มีนักบวช ดังนั้นมุสลิมทุกคนทั้งชายและหญิง จึงอยู่ในฐานะทั้งเป็นผู้ครองเรือนและผู้ครองธรรมในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้วิถีในการดำเนินชีวิตของทุกคนต้องอยู่ในกรอบของศาสนาในทุกห้วงเวลา เช่น มุสลิมต้องละหมาดวันละ 5 เวลา ต้องจ่ายซะกาตและถือศีลอดในแต่ละรอบปี ส่วนผู้ที่มีความสามารถจะต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์

นอกจากนั้นอิสลามยังได้กำหนดวิถีในการดำเนินชีวิตให้เป็นครรลองในการปฏิบัติทุกย่างก้าว เช่น การกินอยู่ การแต่งกาย ความสะอาด ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยปล่อยให้วัฒนธรรมอันไม่พึงประสงค์เข้ามามีอิทธิพลในสังคมมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวมุสลิมรู้สึกไม่สบายใจนัก ที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น

ศาสนาอิสลามถือว่าความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธาทางศาสนา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะในบริบทของศาสนาอิสลาม เช่น บางหมู่บ้านอาจแลดูไม่ถูกสุขอนามัย แต่ถ้าชาวบ้านมุสลิมใช้พื้นที่บริเวณนั้นละหมาดได้ ก็นับว่า "สะอาด" ที่สำคัญบ้านของมุสลิมจะไม่เพียงเป็นที่พักอาศัย แต่บ้านยังใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ เช่น การละหมาด การอ่านคัมภีร์ อัล-กุรอาน บ้านจึงต้องสะอาดตามบริบทของศาสนา นอกจากนั้นก่อนการละหมาด ก่อนการจับต้องและอ่านคัมภีร์มุสลิมก็ต้องอาบน้ำละหมาด

ความไม่เข้าใจในเรื่อง "ความสะอาด" อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนบากงพิทยา ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถูกค้น 2 ครั้งก่อนเหตุการณ์ปล้นปืนวันที่ 4 มกราคม 2547 เจ้าหน้าที่อ้างว่า เพราะนักเรียน 4 คนก่อเหตุยิงตำรวจที่ ตำบลตุยง จังหวัดปัตตานี ครั้งแรกเจ้าหน้าที่นำกำลังมาประมาณ 100 นาย เข้าพังฝาอาคารเรียน ใส่รองเท้าเข้าตรวจค้นทุกที่รวมทั้งมัสยิด ครั้งที่สองนำสุนัขตำรวจเข้ามาตรวจค้นด้วย

บาบอเจ้าของโรงเรียนเล่าว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่กลับกันแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ ล้างปอเนาะทั้งโรง ไม่เว้นแม้กระทั่งบ้านของบาบอ และบริเวณมัสยิดเป็นการป้องกันไว้ก่อน เพราะบางทีสุนัขอาจกระโดดเข้ามาตอนกำลังค้นหา (34) ทั้งหมดนี้เพราะหากพิจารณาตามหลักการของศาสนาอิสลามแล้ว "สุนัข" โดยเฉพาะน้ำลายสุนัขถือว่าสกปรก ("นะญิส") เชื่อกันว่าการปฏิบัติศาสนกิจในที่ที่ไม่สะอาด ผู้ปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลบุญ บาบอเจ้าของโรงเรียนรู้สึกว่า "สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำเป็น 'ลือโมะสมางะ' หมายถึง ทำให้เรารู้สึกว่าหมดกำลังใจ ว่าทำไมเขาถึงทำได้ขนาดนี้ และทำให้เราเสียศักดิ์ศรีของความเป็นมุสลิม รู้สึกเศร้าเสียใจ แล้วก็โกรธด้วย และคิดว่า 'เขาไม่เชื่อเราถึงขนาดนี้เชียวหรือ' ทั้งที่บาบอพยายามอดทนมากที่สุดแล้ว ก็ยังอดคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้" แต่ก็ถือว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการทดสอบของพระผู้เป็นเจ้า (35)

มักกล่าวกันว่าศาสนาอิสลามเป็น "วิถีชีวิต" ในแง่นี้ศาสนาอิสลามก็ไม่ต่างอะไรจากระบบวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เป็นกรอบกำหนดพฤติกรรมที่ยอมรับให้ปฏิบัติได้ หรือที่ถือว่าไม่ถูกต้อง วัฒนธรรมกำหนดแบบแผนพฤติกรรม เช่น การกิน การอยู่ การแต่งกาย ความสัมพันธ์กับคนต่างเพศ เป็นต้น คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอาจไม่ยึดถือแบบแผนพฤติกรรมอย่างเคร่งครัดนัก แต่สำหรับชาวมุสลิม แบบแผนพฤติกรรมอาจมีมิติทางศาสนาและจิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้เรื่องซึ่งดูเหมือนเล็กน้อย ก็กลายเป็นปมขยายความขัดแย้งให้เคลื่อนเข้าหาความรุนแรงได้

2) ทัศนะของชาวมุสลิมต่อความยุติธรรมและการต่อสู้ เมื่อพิจารณาเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลางและในที่อื่น ๆ คำกล่าวว่า "ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของสันติภาพ" ดูเหมือนจะเป็นถ้อยคำที่ขัดกับความเป็นจริงในโลก แต่หากจริงจังกับคำกล่าวนี้ คงต้องเข้าใจปมสำคัญของปัญหานี้ด้วยว่า

สำหรับมุสลิม "สันติภาพ" หมายรวมถึงความยุติธรรมด้วย ศาสนาอิสลามอนุญาตให้ชาวมุสลิมต่อสู้ได้เพื่อปกป้องพิทักษ์สัจธรรม รักษาความสงบสันติ และยับยั้งความอยุติธรรม การข่มขู่ และการละเมิดรุกรานได้

"และเพราะเหตุใดสูเจ้าจึงจะไม่ต่อสู้ในหนทางของพระเป็นเจ้า
(เพื่อ) บรรดา บุรุษ สตรี และเด็ก ๆ ผู้ถูกกดขี่
ผู้ซึ่งร่ำร้องสวดอ้อนวอนว่า
"พระเป็นเจ้า ทรงโปรดปลดปล่อยเราจากดินแดนนี้ที่ชาวเมืองเป็นผู้กดขี่
ด้วยพระเมตตาของพระองค์ โปรดประทานผู้ช่วยเหลือและปกป้องแก่เราด้วย"
ผู้ศรัทธาต่อสู้ในหนทางของพระเป็นเจ้า
แต่ผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรม"
ความหมายพระคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน ซูเราะห์ (บทที่) 4 อายะห์ (วรรค) 75-76

จะเห็นได้ว่า ศาสนาอิสลามอนุญาตให้มุสลิมครุ่นคิดหาวิธีการต่าง ๆ ในกรอบของศาสนามาดิ้นรนต่อสู้ เพื่อให้รอดพ้นจากการกดขี่ข่มเหง และความไม่เป็นธรรมจากน้ำมือของฝ่ายอธรรม ในแง่นี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีซึ่งมีพื้นฐานทางศาสนาอิสลาม เช่น วิธีการพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม หรือการแสดงออกด้วยการคัดค้านไม่ร่วมมือกับผู้ที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม จึงเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้

ด้วยเหตุนี้มุสลิมคงต้องสำรวจตรวจสอบว่า โลกรอบ ๆ ตัวนั้นมีผู้คนได้รับความอยุติธรรมหรือไม่ ตนเองปิดหูปิดตาไม่ยอมได้เห็นได้ยินความทุกข์ทรมานของเพื่อนมนุษย์หรือไม่ และถ้าพบว่ามีสภาพเช่นนี้ ก็ต้องตั้งคำถามว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ชีวิตของชาวมุสลิมดำรงอยู่ในโลกที่มีพระผู้สร้าง ให้ทั้งพยายามอดทนกับชะตากรรมที่ตนประสบในฐานะบททดสอบจากพระเป็นเจ้า และให้พยายามต่อสู้เปลี่ยนแปลงโลกที่ไม่เป็นธรรมให้ดีขึ้น เป็นธรรมขึ้นในฐานะที่เป็นมุสลิมด้วย

ที่สำคัญต้องตระหนักว่า การต่อสู้เช่นนี้มิใช่เป็นเพียงประเด็นทางการเมือง แต่เป็นภาระทางจิตวิญญาณที่ผู้ศรัทธาต้องหาหนทางให้กับตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ คือด้วยการกระทำ ด้วยวาจา หรือไม่เช่นนั้นก็ด้วยจิตใจ ลักษณะเช่นนี้หมายความว่า ในวัฒนธรรมอิสลามนั้นเองมีระบบความหมายที่พร้อมจะให้ความชอบธรรม กับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอยู่แล้ว จากมุมมองของมุสลิมนั้นถือได้ว่า การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเป็นสิ่งควรกระทำ มีเหตุผลทางศาสนาสนับสนุนมั่นคง เพราะถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ในหนทางของพระเป็นเจ้า

3.3.2 ประวัติศาสตร์
3 ปีหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรีเมื่อ 2325 ปัตตานีมิได้ส่งบรรณาการให้แก่กรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงส่งกองทัพเรือเข้าโจมตีปัตตานี ชาวเมืองปัตตานีล้มตายลงมาก ที่สุดก็ยอมแพ้ต่อสยาม ในปี 2351 พระองค์ทรงโปรดให้ปรับการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่นี้เป็น 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรี และระแงะ

แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งกว่า เกิดขึ้นพร้อมกับกำเนิดของรัฐชาติสยามใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสยามปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ ด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ปรับปรุงระบบภาษีอากรตามระเบียบกระทรวงการคลังใหม่ ผลประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับผู้นำท้องถิ่น ทั้งในเรื่องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีการเป็นผู้ปกครองเดิม จนในปี 2445 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ขบถ ร.ศ. 121" คือ เกิดขบถเงี้ยวเมืองแพร่ในภาคเหนือ ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน และขบถ "เจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง" ในภาคใต้

อาจกล่าวได้ว่าการเกิดขบถในทุกภาคของประเทศในปีเดียวกันเช่นนี้ เป็นปฏิกิริยาของท้องถิ่นต่อการรวมศูนย์อำนาจของรัฐสยามใหม่ เมื่อเหตุการณ์ยุติลง ตนกูอับดุลกาเดร์ หรือพระยาวิชิตภักดี ซึ่งเป็นเจ้าเมืองปัตตานีในขณะนั้น ก็ถูกรัฐบาลกรุงเทพ ฯ จับกุมตัวไป นับเป็นจุดจบแห่งยุคสมัยรายาปัตตานี

ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2452 สยามลงนามในสัญญากรุงเทพ ฯ ยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงคิดเป็นเนื้อที่ 15,000 ตารางไมล์และพลเมืองกว่า 500,000 คนให้อังกฤษ โดยฝ่ายอังกฤษรับรองว่าจะให้รัฐบาลสหพันธรัฐมลายูจัดการหนี้สินที่รัฐเหล่านั้นมีกับรัฐบาลสยามให้เรียบร้อย และจะยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต รวมถึงอำนาจกงสุลในสยาม ถ้าสยามปฏิรูปกฎหมายเรียบร้อยให้คนในบังคับอังกฤษมีสิทธิเช่นเดียวกับคนพื้นเมือง เว้นแต่ไม่ต้องเป็นทหารเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อคราวเสด็จประพาสหัวเมืองมลายูของไทยในปี 2434 ว่า "เราไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่อย่างใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้...หากเราต้องสูญเสียหัวเมืองเหล่านี้ให้อังกฤษ เราจะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทอง นอกเหนือจากเครื่องบรรณาการนี้แล้ว ก็ไม่มีการสูญเสียด้านวัตถุอื่นใดอีก อย่างไรก็ตาม การสูญเสียดินแดนเหล่านี้ไป ย่อมเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิของประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เราจึงต้องย้ำความเป็นเจ้าของดินแดนในส่วนนี้..." (36)

ดินแดนซึ่งเคยเป็นอาณาจักรปัตตานีถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน ด้านเหนือกลายมาเป็นของรัฐสยามและด้านใต้ตกอยู่ใต้บังคับของบริติช มลายา กล่าวได้ว่า นับแต่นั้นมาตอนเหนือของอาณาจักรปัตตานีเดิมก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามใหม่ เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศที่เป็นเอกรัฐ แบ่งแยกไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับ นับแต่เปลี่ยนการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา

ในแง่นี้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือได้ว่าเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ที่ผู้คนแถบนี้มีประวัติศาสตร์เฉพาะของตนเอง ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอยุธยา-กรุงเทพ ฯ แต่เพราะความทรงจำและสำนึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ "บ้าน" ของผู้คนในปัตตานีที่ยังทรงพลังจนปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ของเขาจึง "ขัดฝืน" เข้ากันไม่ได้กับประวัติศาสตร์มาตรฐาน ที่กำหนดขึ้นโดยอำนาจรัฐจากกรุงเทพ ฯ (37)

ด้วยเหตุนี้จึงอาจมองประวัติศาสตร์ของอาณาบริเวณปัตตานีได้เป็น 2 มุม จากทัศนะของอยุธยา-กรุงเทพ ฯ ประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นประวัติศาสตร์ของการขบถ แข็งเมือง ทุกครั้งที่อำนาจของอยุธยา-กรุงเทพ ฯ อ่อนลง อาณาจักรปัตตานีก็จะเป็น "ขบถ"

แต่ถ้ามองประวัติศาสตร์เดียวกันนี้จากมุมมองปัตตานี ก็จะเห็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระ ในแง่นี้พลังอำนาจของประวัติศาสตร์มิได้อิงอยู่กับตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ หรืองานเขียนทางวิชาการที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้เท่านั้น แต่พลังอำนาจของประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับความหมายที่ผู้คนให้กับเรื่องราวในอดีต ในเวลาที่พวกเขาดิ้นรนต่อสู้เพื่อพิทักษ์สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเครื่องนิยามวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของเขา

4. สรุปข้อวินิจฉัยเหตุของปัญหา
แม้บางฝ่ายจะเชื่อว่า แกนนำของกลุ่มก่อความรุนแรงจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้ยากจนหรือมิได้เผชิญกับความไม่เป็นธรรมมาโดยตรง แต่ทั้งความยากจนและความไม่ยุติธรรมก็เกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (38) กอส. เห็นว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างปัญหาความยากจน หรือความไม่เป็นธรรมเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรง เพราะเป็นทั้งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดแนวร่วม และการสนับสนุนทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นข้ออ้างในการต่อสู้ใช้ความรุนแรงได้

บางคนเห็นว่าศาสนาอิสลามก่อให้เกิดความรุนแรง แต่ กอส. วินิจฉัยชัดว่า ศาสนาไม่ใช่เหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็เกี่ยวกับความรุนแรงนี้ในฐานะข้ออ้างที่คนบางกลุ่มนำมาใช้ให้ความชอบธรรมกับวิธีการรุนแรงของตน (39) ที่สำคัญศาสนาก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ใช้ให้ความชอบธรรมเช่นนี้ ประวัติศาสตร์ปัตตานีและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ความเป็นมลายูก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรม กับการใช้ความรุนแรงด้วยเช่นเดียวกัน

บริบทของโลกที่ความรุนแรงปรากฏอยู่ในรูปของการโจมตีสหรัฐ ฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 หรือการโต้ตอบของสหรัฐ ฯ ด้วยการรุกรานอัฟกานิสถาน และโจมตีอิรัก ก็เกี่ยวข้องกับความรุนแรงได้ เพราะสามารถนำมาใช้เป็นเงื่อนไขให้เห็นว่า โลกมุสลิมกำลังถูกรุกรานโดยจักรวรรดิอเมริกันในสงครามที่ไม่เป็นธรรม

ถ้านำข้อวินิจฉัยเหล่านี้มาจัดเรียงเป็นชั้นคำอธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรง จะเห็นว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นจากเงื่อนไข 3 ประการ คือ

ประการแรก เงื่อนไขเชิงบุคคล ได้แก่ ผู้ก่อความไม่สงบและฝ่ายรัฐซึ่งตอบโต้ด้วยความรุนแรง

ประการที่สอง
เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง อันได้แก่

- ความไม่เป็นธรรมอันเกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมและการปกครองที่เป็นอยู่
- ปัญหาทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องประสบ
- การศึกษาที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ประชาชน มีพลังเอาชนะการท้าทายทางสังคมในรูปต่าง ๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม
- สภาพของประชากร
- ปัญหาเกิดขึ้นในบริบทภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างแจ่มชัดในคุณภาพชีวิต ระหว่างผู้คนที่มีเชื้อสายศาสนาเดียวกัน เป็นมลายูมุสลิมเช่นเดียวกันใน 2 ประเทศ คือบริเวณชายแดนภาคใต้ของไทย และในมาเลเซีย

ประการที่สาม เงื่อนไขทางวัฒนธรรม คือ ลักษณะเฉพาะทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพื้นที่คือ ศาสนาอิสลาม ภาษามลายู และประวัติศาสตร์ปัตตานี สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในสังคมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง หรือทำให้ผู้คนไม่น้อยยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาศัยเงื่อนไขทาง ชาติพันธุ์ ผสานกับศาสนามาเป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรม กับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนในนามของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม

คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(23) ภาคเกษตรใน 3 จังหวัดยังเป็นภาคที่จ้างแรงงานมากที่สุดคือประมาณ 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด

(24) รายงานของคณะอนุกรรมการศึกษาวิถีทางเพื่อพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ (กรุงเทพ ฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548), หน้า 7

(25) Nadzru B. Azhari, "The Crisis in the South: A Kelantanese perspective," The Nation (May 14, 2004)

(26) ตัวเลขคน 2 สัญชาติยังไม่ชัดเจนนัก สถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์ และสถานกงสุลไทยในโกตาห์ บารู ระบุว่า คนไทยที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในกลันตัน และมีสิทธิลงคะแนนเสียงในมาเลเซียมีจำนวน 30,000 คน คม ชัด ลึก, 28 กันยายน 2548

(27) ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง, การวิจัยเรื่องสื่อสิ่งพิมพ์มาเลเซีย กับปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย (กรุงเทพ ฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548)

(28) "หวั่นเหตุร้ายตุลาซ้ำรอยบาหลี," บางกอกทูเดย์ , 4 ตุลาคม 2548

(29) อลิสา หะสาเมาะและดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์ , รายงานวิจัยอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิม: พื้นที่แห่งการปะทะต่อรอง (กรุงเทพ ฯ : คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548)

(30) Seni Mudmarn, "Language Use and Loyalty among the Muslim Malay of Southern Thailand." (Ph.D. Dissertation, State University of New York at Buffalo, 1988)

(31) ครองชัย หัตถา, ปัตตานี: การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต (ปัตตานี: โครงการปัตตานีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี, 2541) , หน้า 61-62

(32) ดูความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งระบุว่า ได้วิเคราะห์สังคมมุสลิมแล้วพบว่า "สตูลส่วนใหญ่เป็นสุหนี่ ที่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสได้รับอิทธิพลมาจากอิหร่านมากที่สุด" ในคณะทำงานสำรวจรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดองชุดที่ 5 คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, รายงานความคิดเห็นของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัด (2548), หน้า 63

(33) โปรดพิจารณาบทวิเคราะห์กรณีที่ชาวมุสลิมในภาคใต้ของไทยประท้วงสงครามที่สหรัฐฯ บุกอิรักได้ใน Chaiwat Satha-Anand, "Praying in the Rain", Global Change, Peace and Security Vol. 16 No.2 (June 2004), pp. 151-168

(34) เวลาล้างต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 7 ครั้ง และ1 ใน 7 ครั้งจะต้องใช้ "น้ำดิน" กว่าจะได้ "น้ำดิน" มา ต้องหาลักษณะดินที่สะอาดและขุดเอาดินนั้นขึ้นมาทำการ 'สาเมาะ' หมายถึง การเอาดินโคลน 1 กำมือ ผสมกับน้ำสะอาดกลายเป็นน้ำโคลน แล้วจึงนำมาล้างปอเนาะทั้งหมด 1 ครั้ง และล้างกับน้ำที่สะอาดที่สุดถึง 6 ครั้ง

(35) อลิสา หะสาเมาะและดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์, รายงานวิจัยอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิม: พื้นที่แห่งการปะทะต่อรอง

(36) อ้างถึงใน ครองชัย หัตถา, ปัตตานี: การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต, หน้า 111

(37) ธงชัย วินิจจะกูล, ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา: ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548 (กรุงเทพ ฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2548), หน้า 68-73

(38) ดูตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนและสงครามกลางเมืองคือ ยิ่งมีคนจนมากยิ่งมีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองได้มากใน A more secure world: Our shared responsibility: Report of the High-level Panel on Threats, Challenges and Change (New York: United Nations, 2004), pp. 15.

(39) ดูการวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ใน Chaiwat Satha-Anand, Islam and Violence: A Case Study of Violent Events in the Four Southern Provinces, Southern Thailand, 1976-1981. (Tampa, Florida: University of South Florida, Monographs in Religion and Public Policy, 2nd printing, 1990).





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



150649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
รายงาน กอส.สาเหตุแห่งความรุนแรงที่ภาคใต้
บทความลำดับที่ ๙๔๘ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
3 ปีหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรีเมื่อ 2325 ปัตตานีมิได้ส่งบรรณาการให้แก่กรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงส่งกองทัพเรือเข้าโจมตีปัตตานี ชาวเมืองปัตตานีล้มตายลงมาก ที่สุดก็ยอมแพ้ต่อสยาม ในปี 2351 พระองค์ทรงโปรดให้ปรับการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่นี้เป็น 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรี และระแงะ

แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งกว่า เกิดขึ้นพร้อมกับกำเนิดของรัฐชาติสยามใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสยามปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ ด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ปรับปรุงระบบภาษีอากรตามระเบียบกระทรวงการคลังใหม่ ผลประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับผู้นำท้องถิ่น ทั้งในเรื่องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีการเป็นผู้ปกครองเดิม จนในปี 2445 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ขบถ ร.ศ. 121" คือ เกิดขบถเงี้ยวเมืองแพร่ในภาคเหนือ ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน และขบถ "เจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง" ในภาคใต้

 

ในทางหนึ่งความเป็น "มลายู" นี้แตกต่างจากการเป็นคนมาเลย์ในประเทศมาเลเซีย เพราะขณะที่มาเลเซียเป็นประเทศซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ใน คริสตศตวรรษที่ 20 ปัตตานีในอดีตเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลาม 1 ใน 2 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อีกแห่งหนึ่งคือ อาเจะห์ ซึ่งถือกันว่าเป็นประตูสู่นครมักกะห์อันศักดิ์สิทธิ์) มากว่า 700 ปีแล้ว อันที่จริงเมื่อ 300 ปีก่อน ปัตตานีได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามที่ดีที่สุดในแหลมมลายู ตำราทางศาสนาอิสลามทั้งหมดที่เขียนโดยปวงปราชญ์ปัตตานีนั้น ถ้าไม่เป็นภาษาอาหรับ ก็เขียนเป็นภาษามลายูด้วยอักษรอาหรับที่เรียกว่าตัวหนังสือยาวี