Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
The Midnightuniv website 2006
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การจัดการป่าภายใต้แนวคิดอาณานิคม
เรื่องของกะเหรี่ยงป่าผาก ภายใต้วาทกรรมอาณานิคม
กฤษฎา บุญชัย
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการชิ้นนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
ประวัติศาสตร์การเร่ร่อนของกะเหรี่ยงป่าผาก ภายใต้วาทกรรมอาณานิคม
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจการจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์
ซึ่งเผยแพร่เข้ามาในประเทศโลกที่สามต่างๆ ในยุคสมัยอาณานิคม
ซึ่งปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวยังฝังลึกอยู่ในวิธีคิดการจัดการและการอนุรักษ์ป่าในประเทศไทย
ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ชนกลุ่มน้อย และคนชายขอบต่างๆที่อาศัยอยู่กับป่าเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทความชิ้นนี้ ได้เสนอถึงผลกระทบที่มีต่อชาวกระเหรี่ยงป่าผาก สุพรรณบุรี
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 937
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 19.5 หน้ากระดาษ A4)

 



เรื่องของกะเหรี่ยงป่าผาก ภายใต้วาทกรรมอาณานิคม
(ประวัติศาสตร์การเร่ร่อนของกะเหรี่ยงป่าผาก ภายใต้วาทกรรมอาณานิคม)
กฤษฎา บุญชัย : นักวิชาการอิสระ ([email protected])

บทนำ
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ในอาศัยในป่ากับรัฐ ที่ต้องการควบคุมจัดการป่าเพื่อเป้าหมายเชิงพาณิชย์หรือเชิงอนุรักษ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมที่ประเทศมหาอำนาจจากยุโรปได้เข้าไปยึดครอง แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศซีกโลกใต้มาจนถึงปัจจุบัน

กระบวนการผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเจ้าอาณานิคมเป็นไปอย่างซับซ้อน ไม่เพียงแต่การเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรโดยตรง แต่ยังสร้าง "ความชอบธรรม" ต่อการใช้อำนาจดังกล่าวด้วยวาทกรรม "การจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์" (Scientific Forestry) และวาทกรรมการพัฒนา วาทกรรมเหล่านี้ปฏิบัติการผ่านระบบโครงสร้างการเมือง ตลอดจนเผยแพร่ผ่านกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐเพื่อเปลี่ยนความหมาย ความสำคัญของ "ป่า" เสียใหม่ ตลอดจนปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่ป่าให้กลายเป็น "ชายขอบ" ของอำนาจในการจัดการทรัพยากร และชายขอบของการพัฒนาด้วย

อำนาจและผลประโยชน์ดังกล่าวได้แบ่งปันแก่ชนชั้นนำของรัฐในประเทศซีกโลกใต้ ในฐานะนายหน้า (Comprador) ของตะวันตก จึงไม่แปลกใจว่าแม้ผ่านพ้นยุคอาณานิคมไปแล้ว ทำไมปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนในพื้นที่ป่าจึงยังคงอยู่ต่อไป ประเทศไทยเองแม้ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ แต่ก็ตกอยู่ภายใต้ชุดวาทกรรมอาณานิคมดังกล่าว ทำให้ปัญหาการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชนในพื้นที่ป่ากลับมีความรุนแรงและซับซ้อน โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกรัฐจัดวางไว้ว่าเป็น "ชาวเขา" ที่แฝงฝังด้วยอคติทางชาติพันธุ์ที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นในกระแสการพัฒนาเพื่อความทันสมัย เมื่อรัฐต้องการจำกัดผู้มีส่วนร่วมประโยชน์ต่อการใช้ทรัพยากร และ "ชาวเขา" คือวาทกรรมแห่งการกีดกันการมีส่วนร่วมดังกล่าว

ผู้เขียนใคร่ขอหยิบยกกรณีตัวอย่าง คือ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในผืนป่าตะวันตก ซึ่งต้องเผชิญกับอำนาจของรัฐที่เข้าปิดกั้นการอยู่อาศัยและทำกิน โดยการยึดเอาพื้นที่การผลิตเป็นไปพื้นที่ของรัฐโดยการอ้างถึงทรัพย์สินของรัฐ ผลประโยชน์สาธารณะ และการอนุรักษ์ป่า กระบวนการดังกล่าวไม่ใช่มีแต่รัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในแง่การสนับสนุนรัฐ และช่วยเหลือชุมชนกะเหรี่ยงป่าผาก

โจทย์การศึกษา
วาทกรรม "การอนุรักษ์ธรรมชาติ" และ "การพัฒนา" ที่รัฐใช้กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงป่าผากและชุมชนในเขตป่าอื่นๆ มีต้นกำเนิดจากระบบคิดตะวันตกในยุคอาณานิคมอย่างไร และวาทกรรมเหล่านี้ทำงานร่วมกันอย่างไร ในการจัดสร้างอัตลักษณ์ชาวป่าผากเพื่อการควบคุมกำกับตัวตนของชาวกะเหรี่ยง

แนวทฤษฎีหลังอาณานิคมศึกษา
แนวคิดหลังอาณานิคมศึกษาคือ แนวคิดเชิงวิพากษ์ที่สนใจความสัมพันธ์อำนาจที่ไม่เท่าเทียมนานาชนิด อันเกิดจากฐานคิดสมัยใหม่ของตะวันตก (Western Modernity) ที่กระทำต่อคนชายขอบ พร้อมกับตั้งคำถามและรื้อถอนแนวคิดสมัยใหม่ และปลดปล่อยผู้คนให้หลุดพ้นจากพันธนาการอำนาจขอบระบบคิดเหล่านั้น

แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลาง (Center) กับชายขอบ (Periphery) ในทัศนะแบบหลังอาณานิคมศึกษา มีความสลับซับซ้อน เนื่องจากนักคิดหลังอาณานิคมศึกษาหลายท่าน เช่น อริฟ เดอลิค (Arif Dirlik) ที่วิจารณ์วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม และปฏิเสธประวัติศาสตร์ที่กำหนดตัวตนออกเป็นศูนย์กลางและชายขอบอย่างตายตัว เนื่องจากประวัติศาสตร์เหล่านี้สร้างขึ้นมาจากความสัมพันธ์ที่ตะวันตกเป็นฝ่ายครอบงำ ดังนั้นจึงควรยกเลิกวิธีคิดดังกล่าว โดยเสนอให้มองความสัมพันธ์ทางสังคมของโลกอย่างซับซ้อน หลากหลาย และไม่ต่อเนื่อง (Dirlik, 2002, p.207) เช่นเดียวกับเบนิต้า เพอร์รี่ (Benita Perry, p.67) ได้วิจารณ์กรอบคิดแบบคู่ตรงข้าม โดยมองแต่ว่าสังคมชายขอบถูกกระทำจากศูนย์กลางอำนาจนั้น เป็นแนวคิดที่มีข้อจำกัดทำให้ไม่เห็นความซับซ้อน สิ่งที่เราควรสนใจก็คือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางและชายขอบ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ให้ยกเลิกความวิธีแบ่งศูนย์กลางและชายขอบของเดอร์ลิก เป็นเรื่องของการไม่ยอมรับระบบคิดที่กำหนดความสัมพันธ์อย่างตายตัว หรือมองความสัมพันธ์ดังกล่าวแบบเป็นเอกภาพ เพราะสังคมล้วนเต็มไปด้วยความลักลั่น หลากหลาย ไม่ต่อเนื่อง แต่ผู้เขียนเห็นว่า ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบศูนย์กลางและชอบขอบยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ต้องพิจารณาในบริบทเฉพาะและอาจไม่ได้มีศูนย์กลางเดียว หากเปลี่ยนบริบทเราก็อาจจะเห็นศูนย์อำนาจและชายขอบในแบบอื่นๆ อีกทั้งความสัมพันธ์ดังกล่าวก็เป็นไปในลักษณะการต่อรอง แต่ก็เป็นการต่อรองที่อาจอยู่บนฐานอำนาจไม่เท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่ามีศูนย์กลางและชายขอบ แต่ต้องจำกัดบริบทและชี้ให้เห็นเงื่อนไขของความสัมพันธ์ที่ชัดเจน

วิธีมองความสัมพันธ์ทางอำนาจของทฤษฎีหลังอาณานิคมศึกษา มีฐานจากญาณวิทยาแบบมาร์กซิสม์ (Marxism) ที่สนใจโครงสร้างทางเศรษฐกิจการกำหนดความสัมพันธ์ทางชนชั้น หรือสนใจวัตถุสภาพ (Material) ของการกดขี่ ขูดรีด แต่ในอีกแง่หนึ่งหลังอาณานิคมศึกษายังได้อิทธิพลจากแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) ทีสนใจอำนาจของระบบสัญญะที่เกิดปฏิสัมพันธ์ของตัวบทอันซับซ้อน ลื่นไหล ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้ในบริบทเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ หลังอาณานิคมศึกษาจึงทั้งมุ่งตั้งคำถาม และรื้อถอนแนวคิดสมัยใหม่ที่สร้างความเป็นชายขอบ และความเป็นอื่นให้กับผู้คน และมุ่งปลดปล่อยผู้คนให้หลุดพ้นจากกรอบแห่งอำนาจนานาประการที่เข้ามาจัดระเบียบชีวิตทางสังคม การเมืองของประชาชน

ประเด็นที่แนวคิดหลังอาณานิคมศึกษาสนใจก็คือ การศึกษาการสร้างความเป็น "ปกติ" ของอำนาจแห่งยุคสมัยใหม่ ซึ่งความเป็น "ปกติ" ดังกล่าวกระทำในหลายรูปแบบ โดยใช้กระบวนการสถาปนาความรู้ การกำหนดประวัติศาสตร์เพื่อเอื้อต่อสถาบันอำนาจและปิดกั้นประวัติศาสตร์ของคนในแบบอื่นๆ นอกจากนี้แล้วแนวคิดหลังอาณานิคมศึกษายังสนใจที่สภาวะความลักลั่น ไม่ลงตัว ของผู้คน สังคมที่ไม่ได้ถูกจัดกรอบคิดแบบคู่ตรงข้าม เช่น สภาวะของคนพลัดถิ่น คนชายขอบ อัตลักษณ์ที่ผู้คนที่หลากหลาย เพราะพื้นที่แห่งความกำกวมเหล่านี้เกิดขึ้นจากสภาวะทางสังคมที่การเกิดปะทะประสานทางวัฒนธรรมอย่างซับซ้อน (Brennan 2004, p.133) อีกทั้งยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในชี้ให้เห็น "ความไม่ปกติ" ที่ถูกอำพรางจากเส้นแบ่งทางอำนาจ หรือวิธีคิดคู่ตรงข้ามเชิงครอบงำ (Hierarchy) ที่เป็นตัวการสร้าง "ความเป็นอื่น" ซึ่งกลุ่มอำนาจไม่ว่าจะเป็นรัฐ ทุน หรือแม้แต่ขบวนการต่อต้านอาณานิคม ขบวนการชาตินิยมใช้ในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ

จากแง่มุมดังกล่าว นักคิดหลังอาณานิคมศึกษาจึงใช้วิธีวิทยาที่หลากหลาย เพื่อทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์อำนาจอันซับซ้อน เช่น การศึกษาวิถีชีวิตประจำวัน (Everyday life) ของผู้คนชายขอบ (Henri Lefebvre อ้างใน Bartolovish, 2002, p.5) เพื่อทำความเข้าใจการกำหนดสร้างตัวตนโดยภาษาและวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน แต่ในอีกด้านหนึ่งในพื้นที่ชีวิตประจำวัน ก็เป็นพื้นที่ของการต่อต้านขัดขืนของคนชายขอบ โดยใช้วัฒนธรรมเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้นานาชนิด เช่น การดื้อแพ่ง การนินทา การลักขโมย การก่อวินาศกรรม ดังที่เจมส์ ซี สก็อต (James C. Scott,1985,p.xvi) เรียกว่าเป็น "อาวุธของผู้อ่อนแอ" ที่คนชายขอบใช้ต่อสู้ในทางสัญลักษณ์โดยไม่ได้มีการวางแผน

เพื่อให้เข้าใจถึงการเมืองในชีวิตประจำวัน เราจึงต้องดูถึงรูปธรรมของการใช้อำนาจของสถาบันอำนาจต่างๆ และการต่อต้านขัดขืนที่เกิดขึ้นในระดับชีวิตประจำวัน การสนใจการต่อสู้ทางแนวคิด คุณค่าที่ปรากฏในวรรณกรรม งานเขียน เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมมวลชน เพราะนี่คือพื้นที่ที่การครอบงำ การต่อสู้ และการต่อต้านของฝ่ายต่างๆ ได้ปรากฏตัวอย่างชัดเจน

ในการศึกษาชิ้นนี้ ผู้เขียนใช้บางแง่มุมของทฤษฎีหลังอาณานิคมศึกษา โดยเน้นทำความเข้าใจว่า ปรากฏการณ์ที่รัฐใช้ความรุนแรงกับชุมชนกะเหรี่ยงป่าผากโดยใช้นโยบายด้านป่าไม้และการพัฒนา หากเราใช้วิธีวงศาวิทยา (Genealogy) สืบย้อนถึงการก่อรูปวาทกรรมที่รัฐใช้รองรับความชอบธรรมทางนโยบาย เราจะพบว่าวาทกรรมดังกล่าวเช่น วาทกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติ วาทกรรมการพัฒนาเหล่านี้ ถูกผลิตสร้างขึ้นจากประเทศตะวันตก และนำมาปฏิบัติการโดยเฉพาะกับประเทศอาณานิคม หรืออาจเรียกว่าเป็น "วาทกรรมอาณานิคม" วาทกรรมเหล่านี้แทรกซึม แผ่ซ่านไปในสังคมไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือภาคสังคม จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่มีใครตั้งคำถาม อำนาจที่มองไม่เห็นนี้ได้สร้างภาวะชายขอบให้แก่ชาวกะเหรี่ยงป่าผาก อัตลักษณ์ของพวกเขาถูกวาทกรรมเหล่านี้สร้างขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างเบื้องต้นของการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงทั้งในเชิงอัตลักษณ์ การกำหนดประวัติศาสตร์ตัวตนใหม่ เพื่อชี้เห็นถึงการไม่ยอมจำนนของพวกเขา

วาทกรรมป่าไม้ มรดกทางปัญญาแห่งยุคอาณานิคมที่ยังไม่ตาย
วิชาการป่าไม้แบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Forestry) ไม่ใช่ความรู้สากลที่เป็นกลาง ปราศจากคุณค่า และมีความเที่ยงตรงรอบด้านตามแนวคิดญาณวิทยาประจักษ์นิยม แต่หากพิจาณาจากประวัติศาสตร์ความรู้ดังกล่าว เราจะพบเห็นมิติความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ป่าไม้ กับการเติบโตของกระบวนการล่าอาณานิคม และการสร้างความเป็นรัฐที่อยู่บนคราบเลือด และหยาดน้ำตาของประชาชนที่อยู่กับผืนป่าทั่วโลก

เจมส์ ซี สก็อตต์ (Jame C. Scott, 1998 p.13-14) ได้ชี้ถึงพัฒนาการวิชาการป่าไม้ว่า เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1765 - 1800 ในปรัสเซียและแซกโซนี (ต่อมารวมเป็นเยอรมัน) โดยมีฟื้นฐานความต้องการของรัฐในการแสวงประโยชน์ รายได้ ภาษีจากการตัดไม้ในป่าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อการควบคุมผลประโยชน์การทำไม้ รัฐจึงได้พัฒนาวิธีคิด ระบบในการสำรวจ ตีตรา จัดวางแปลง วิธีการตัดฟันไม้ให้มีประสิทธิภาพ ศาสตร์ดังกล่าวต่อมาจึงได้รับการขนามนามว่าเป็น "การจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์" ที่เข้ามแทนที่วิธีคิด และความสัมพันธ์ของคนกับป่าตามวัฒนธรรมประเพณีเดิม

การจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์ดังล่าว เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมอรรถประโยน์ (Utilitarian Discourse) ที่รัฐสวมรอย แทนที่วิธีคิดเดิมที่ดำรงอยู่อย่างหลากหลาย และลดทอนวิธีคิด ความรู้เหล่านี้ให้เหลือเพียงแง่มุมด้านการเงินและการค้า ด้วยสายตาแบบการค้า (Fiscal lens) ดังล่าว ปฏิบัติการแทนที่รูปและความหมายสัญญะต่อป่าก็เริ่มปรากฏขึ้น คำว่า "ธรรมชาติ" ถูกแทนที่ด้วยคำว่า "ทรัพยากรธรรมชาติ" ขณะที่พืช (plants) ก็ถูกเปลี่ยนเป็นพืชไร่ (crops) แมลง (weeds) ที่ไม่เป็นประโยชน์หรือกระทบต่อพืชไร่จึงถูกเรียกเป็น แมลงศัตรูพืช (pests) หรือต้นไม้ (tree) ก็ถูกขนานนามในมิติการแปรรูปว่าเป็น ซุง (Timber) แม้แต่สัตว์ทั้งหลาย (animal) ที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็เรียกว่าเป็น ปศุสัตว์ (Livestock) เป็นต้น

ธรรมชาติ ที่มีมิติซับซ้อนทั้งด้านนิเวศ ศาสนา ความเชื่อ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่ผู้คนเกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์ต่างกันจึงถูกลดรูปเหลือเพียงมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผู้คนอื่นๆ ที่ไม่ร่วมประโยชน์ในการจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์ เช่น ชนพื้นเมือง ชุมชนป่า ประชาชนทั่วไปก็ถูกกีดกันออกจากการจัดการป่าไปด้วย รัฐจึงสามารถผูกขาดความมั่งคั่งในการจัดการป่าได้ โดยอาศัยความชอบธรรมทางด้านความรู้ที่อ้างอิงว่าเป็น "วิทยาศาสตร์" แต่โดยเบื้องหลังก็คือการเอาคำว่าวิทยาศาสตร์เข้ามาห่อหุ้มระบบคิดเชิงพาณิชย์

ฐานคิดของการจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์ ได้ช่วยสั่งสมความมั่งคั่งของรัฐในปรัสเซีย และแซกโซนีอย่างมาก รัฐในยุโรปต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ จึงนำไปใช้ในประเทศตนเอง และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตักตวงผลประโยชน์จากประเทศต่างๆ ที่ตกเป็นอาณานิคม ดังเช่น อินเดีย อเมริกาใต้ เป็นต้น การจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์จึงเป็นฐานรองรับอำนาจเจ้าอาณานิคมอย่างเข้มแข็ง และยังได้สืบทอดไปสู่ชนชั้นนำในประเทศอาณานิคมเหล่านี้ ในการใช้การจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อสั่งสมความมั่งคั่งในการสร้างรัฐชาติ

จนต่อมาเมื่อผลแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้สร้างความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในยุโรป จึงได้สร้างแนวคิดการอนุรักษ์ (Conservationism) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นมากในยุโรป ทำให้เกิดวิธีคิดต่อ "ธรรมชาติ" ในลักษณะของการเรียกร้องหา "ธรรมชาติดั้งเดิม" ในฐานะเป็น "จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์" แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของของการเสนอแนวคิดเรื่อง "ป่าปลอดมนุษย์" (wilderness) อันเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์ขึ้นมา (1)

แม้ดูเหมือนว่าวิชาการป่าเพื่อพาณิชย์และป่าอนุรักษ์ปลอดมนุษย์จะขัดแย้งกัน แต่สิ่งที่ตรงกันก็คือ การจัดการป่าเชิงพาณิชย์ก็ต้องการป่าแบบปลอดมนุษย์คนอื่นๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อป่าที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ ขณะที่ป่าอนุรักษ์ก็ต้องการปลอดมนุษย์คนอื่นๆ ยกเว้นรัฐที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ป่า ประการต่อมาคือ การจัดการป่าทั้งสองแบบต้องอาศัยอำนาจรัฐในการค้ำยัน และเพื่อสร้างความชอบธรรมต่ออำนาจรัฐ ก็ต้องอาศัยวาทกรรมว่าด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์มาอ้างอิงทั้งสองแบบ

แม้ในเชิงฐานที่มาแห่งอำนาจการจัดการป่าสองแบบจะไปด้วยกันได้ แต่ในภาคปฏิบัติได้ประสบความลักลั่น รัฐในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้แก้ปัญหาโดยหลักเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการแบ่งลำดับชั้น (Hierarchy) ให้กับป่า โดยการจำแนกให้ระบบการจัดการป่าเชิงอนุรักษ์ปลอดมนุษย์เป็นป่าที่มีคุณค่าสูงสุด ขณะที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ ป่าที่ประชาชนอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จะมีฐานะรองลงมา (2) หรืออาจถูกลบหายไปเลย

ลำดับชั้นของป่าสัมพันธ์อย่างยิ่งกับโครงสร้างชนชั้นทางสังคม ขณะที่ป่าปลอดมนุษย์ตอบสนองกับการท่องเที่ยวของคนชั้นสูงและคนชั้นกลาง แต่ป่าเชิงพาณิชย์เป็นพื้นที่ของกลุ่มทุนที่ครองพื้นที่เพื่อปลูกป่า เหลือแต่เพียงป่าเสื่อมโทรมที่เหลือจึงเป็นพื้นที่ของคนจน

วิเคราะห์แบบปิแอร์ บูดิเยอร์ (Pierre Bourdieu, 1977, p.183) ป่าอนุรักษ์ปลอดมนุษย์เป็นทุนทางสัญลักษณ์ (Symbolic Capital) ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของทุนที่นับวันจะสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และอำนาจให้แก่ผู้ครองป่ามากยิ่งขึ้น ขณะที่ป่าเชิงพาณิชย์ก็เป็นทุนทางเศรษฐกิจ (Economic Capital) ที่ยังคงสร้างความมั่งคั่งให้กับรัฐและทุนมาตลอด ส่วนป่าที่เหลือจากสองประเภทนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งกำลังจะถูกแปรสภาพให้เป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าเศรษฐกิจแบบใดแบบหนึ่ง

การจัดการป่าไม้แบบวิทยาศาสตร์เข้าไปจัดลำดับชั้นป่าดังกล่าว โดยกระบวนการสร้างอาณาเขต (Territorialization) ซ้อนทับไปบนผืนป่า โดยแบ่งออกเป็นป่าประเภทต่างๆ ใช้ระบบแผนที่ การกำหนดขอบเขตตามนิเวศ การปักป้าย ล้อมแนวเขต และดำเนินการขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ซึ่งเตรียมเป็นเขตป่าอนุรักษ์หรือป่าเศรษฐกิจ

การจัดลำดับชั้นจัดการป่าดังกล่าว สัมพันธ์กับการเศรษฐกิจการเมือง การแบ่งงานกันทำตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับท้องถิ่น ในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เป็นศูนย์กลางระบบป่าไม้โลก ก็ได้ยุติการทำไม้ในประเทศตนเองมาช้านาน แต่เปลี่ยนมาสร้างป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นทุนทางสัญลักษณ์ แต่ในประเทศโลกที่สามซึ่งส่วนใหญ่ตกเป็นอาณานิคม ประเทศยุโรปได้เข้ามาทำไม้เชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น จนแม้เมื่อเกิดการต่อต้านจากประชาชนในประเทศเหล่านี้อย่างหนัก จนหลายประเทศต้องยกเลิกตัดไม้ธรรมชาติไป โดยเปลี่ยนมาเป็นการจัดการป่าอนุรักษ์ แต่กระนั้นโครงสร้างการแบ่งงงานที่ไม่เท่าเทียมกันก็ยังไม่เปลี่ยน ป่าอนุรักษ์เป็นพื้นที่ที่คนชั้นสูงและคนชั้นกลางเข้าถึงและบริโภคเชิงสัญลักษณ์ได้ แต่คนชั้นล่างเป็นเพียงลูกจ้างตรวจป่า เช่นเดียวกันป่าปลูกพาณิชย์ที่กลุ่มทุนเช่าป่าราคาถูกไ ด้โดยมีชาวบ้านเป็นลูกจ้าง เหลือแต่ป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อยที่รัฐอาจยินยอมให้เป็นป่าที่ชาวบ้านจัดการกันเอง

ระบบการจัดการป่าเชิงวิทยาศาสตร์ที่รองรับโครงสร้างการผูกขาดป่า ของประเทศมหาอำนาจยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แม้ประเทศโลกที่สามจะหลุดพ้นจากสภาวะอาณานิคมแล้วก็ตาม เนื่องจากระบบจัดการดังกล่าวได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างผลประโยชน์ของรัฐ ตลอดจนมีสถาบันวิชาการจัดการป่า กลุ่มองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งรัฐและเอกชนที่เชื่อมโยงทางความคิด อุดมการณ์กับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ผูกขาดความรู้และทิศทางการจัดการป่ามาโดยตลอด) ด้วยเหตุนี้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างของการจัดการป่ายังไม่เปลี่ยนไป แต่กลับทวีความเข้มข้นและกดขี่ ปิดกั้นอย่างแนบเนียนขึ้น

ไร่หมุนเวียน กับสภาวะลักลั่นของระบบป่าไม้และการเกษตร
ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์มากที่สุดก็คือ ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยและพึ่งพาป่า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่การผลิต พื้นที่ทำกิน นานาชนิดของพวกเขาได้ถูกขีดวง ปิดล้อม และบีบบังคับให้ยกเลิกไป โดยเฉพาะต่อระบบการผลิตแล้ว ชนพื้นเมืองที่อยู่อาศัยบนที่สูงของผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์ ได้ทำ "ไร่หมุนเวียน" (Rotational Cultivation) โดยใช้หลักการหมุนเวียนสลับเปลี่ยนการใช้พื้นที่เพื่อให้มีโอกาสฟื้นตัว ระบบดังกล่าวสอดคล้องกับนิเวศป่าเขตร้อนชื้นและภูมินิเวศในที่สูง ซึ่งมีอัตราการเติบโตและการเสื่อมโทรมของชีวภาพอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อรัฐในประเทศโลกที่สามที่ใช้ระบบการจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาควบคุมการใช้พื้นที่ในเขตป่า ไร่หมุนเวียนถูกรัฐมองว่าเป็นอันตรายต่อการจัดการป่า ที่ต้องขจัดออกไปให้หมดสิ้น

ไม่เพียงแต่ระบบการจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ไร่หมุนเวียนกลายเป็นปัญหา แต่นโยบายการพัฒนาเกษตรแผนใหม่จากการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) (3) ที่มีจุดเริ่มต้นในในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นำมาใช้ในประเทศโลกที่สามเช่นกัน ระบบดังกล่าวคือระบบการจัดการเชิงเดี่ยว (Monoculture) ประกอบด้วยการใช้พันธุ์พืชใหม่ การใช้เทคโนโลยี การใช้พื้นที่อย่างถาวร การมีน้ำอย่างพอเพียง และการใช้ทุนเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ ก็ยิ่งทำให้ไร่หมุนเวียนกลายเป็นปัญหาไปด้วย เพราะไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นเกษตรล้าหลัง หรือไม่นับเป็นระบบเกษตร และไม่สามารถสร้างผลผลิตเพื่อการพาณิชย์ได้

ไร่หมุนเวียนเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นอีก เพราะมันถูกโยงว่าเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงที่อยู่อาศัยในป่าลึก ตามรอยต่อระหว่างประเทศ เป็นการผลิตของกลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายถิ่น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ถูกเพ่งเล็งจากรัฐใรประเทศโลกที่สามว่า เป็นต้นเหตุการทำลายป่า ไม่มีสัญชาติแน่นอน และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ระบบการจัดการป่าเชิงวิทยาศตร์ และระบบการพัฒนาเกษตรเชิงพาณิชย์ ที่ทั้งสองระบบคือรากฐานการพัฒนาของประเทศโลกที่สามที่ได้รับแนวทางมาจากประเทศตะวันตก ทำให้แม้แต่ประเทศที่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาว เวียดนาม เป็นต้น ก็ยังต้องมุ่งขจัดระบบไร่หมุนเวียนให้หมดไป

โดยเฉพาะในประเทศไทยแล้ว ที่อคติทางชาติพันธุ์ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองเสมอในสถานการณ์ที่เกิดการขาดแคลน และขัดแย้งแย่งชิงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ไร่หมุนเวียนถูกขนานนามว่าเป็น "ไร่เลื่อนลอย" ไม่สามารถจัดเข้าระบบการจัดการป่าหรือระบบเกษตรของรัฐได้ ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำไร่หมุนเวียนก็ถูกขนานนามว่าเป็น "ชาวเขา" ซึ่งถูกสงสัยว่าไม่เป็นคนไทย มีส่วนค้ายาเสพติด ทำลายป่า และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

กลุ่มชาติพันธุ์ในป่าที่ทำไร่หมุนเวียน เช่น ชาวกะเหรี่ยง ลั้วะ หรือแม้แต่คนไทย จึงประสบปัญหายิ่งในการธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเองในแบบเดิม ที่ยึดโยงกับการอยู่ป่าและทำไร่ไว้ได้ กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้ถูกกดดันจนต้องละทิ้งระบบการผลิตดังกล่าวไปแล้ว เหลือแต่เพียงชาวกะเหรี่ยงที่เป็นกลุ่มหลัก ที่ยังยืนหยัดต่อการอยู่กับป่าและทำไร่หมุนเวียนต่อไป

เรื่องราวของกะเหรี่ยงป่าผาก ชุมชนที่ถูกทำให้เร่ร่อนในป่าผืนใหญ่
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก เป็นหนึ่งในชุมชนกะเหรี่ยง (4) (โพล่ว) ที่อยู่อาศัยทำกินแถบผืนป่ารอยต่อลุ่มน้ำอิระวดีมาถึงลุ่มน้ำแม่กลองมาไม่ต่ำกว่า 200 ปี หรือในทางภูมิรัฐศาสตร์พวกเขาเป็นหนึ่งในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ระหว่างศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรหงสาวดีและอยุธยา โดยมีเทือกเขาและผืนป่าเป็นแนวกันชนระหว่างรัฐในอดีต ในภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวส่งผลให้พวกเขาอยู่ในสถานะชายขอบตลอดมา แต่เป็นชายขอบท่ามกลางดุลอำนาจ 2 ฝั่ง ทำให้พวกเขาไม่ถูกผนวกกลืนกลายโดยรัฐใดรัฐหนึ่ง
โดยวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโพล่ว แม้พวกเขาจะไม่ใช่ชุมชนเร่ร่อน แต่การย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาที่ทำกินที่เหมาะสมหรือหนีโรคระบาดเป็นเรื่องปกติ แม้จะมีการลากเส้นแบ่งประเทศด้วยแนวคิดแผนที่สมัยใหม่ที่อ้างอิงอธิปไตยของรัฐเหนือดินแดนในช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม ดังเห็นได้จากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ซึ่งแยกตัวออกมาจากกะเหรี่ยงบ้านองค์พระเนื่องจากเกิดโรคระบาด จนมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในอาณาบริเวณที่รัฐชาติสมัยใหม่ นิยามผ่านแนวคิดเรื่องเขตการปกครองว่าเป็นตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

การปิดล้อมพื้นที่ในอาณาบริเวณเหล่านี้ ที่เป็นผืนป่าฝั่งตะวันตกของไทยเกิดขึ้น เมื่อรัฐเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานไม้ในพื้นที่ป่าทั้งหมด แต่ในอีกด้านนหนึ่งก็ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา ชุมชนกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักในอาณาบริเวณดังกล่าว จึงตกอยู่ภายใต้เขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์เกือบทั้งสิ้น

ผืนป่าที่ชุมชนกะเหรี่ยงป่าผากอยู่อาศัยก็ถูกสัมปทานไม้โดยบริษัทสุพรรณบุรีทำไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 800 ตารางกิโลเมตรของป่าสงวนแห่งชาติองค์พระ จนปีถัดมาเจ้าของบริษัทเข้ามาใช้พื้นที่ห้วยปิดัง เพื่อปลูกสวนป่า แต่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านป่าผาก ทำให้ชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัวต้องเสียพื้นที่ทำกินและย้ายมาทำไร่ทางฝั่งตะวันตกของหมู่บ้าน

เมื่อสัมปทานไม้ยกเลิกในปี พ.ศ. 2532 กลับปรากฏชาวไทยพื้นราบเริ่มข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อทำไร่ข้าวโพด และตั้งบ้านเรือน ตลอดจนตัดไม้ที่เหลือจากสัมปทาน ทำให้ชาวป่าผากประมาณ 25 ครอบครัวถูกบีบให้ทำไร่กระจุกตัวอยู่บริเวณห้วยน้ำพุและห้วยป่าผาก

และในช่วงปี พ.ศ. 2533 นี้เอง เจ้าหน้าที่รัฐก็ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อออก สปก.4-98 ให้ โดยให้ชาวบ้านชี้จุด และให้รีบถางพื้นที่ให้เตียนภายใน 1-2 ปี โดยกล่าวว่าหากไม่ทำจะยึดพื้นที่คืน แต่อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่ามีเถ้าแก่จากบ้านไร่ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรีเข้ามาเสนอขอเช่าพื้นที่กับชาวบ้านเพื่อทำไร่ข้าวโพดเป็นเวลา 2-3 ปี พร้อมสัญญาว่าจะคืนพื้นที่ที่เตียนแล้วให้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ที่คืน แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าชาวบ้านจะได้เอกสารสิทธิต่อที่ดินดังกล่าว เพราะการรังวัดปักแนวเขตปฏิรูปที่ดินไม่ครอบคลุม เป็นแปลงเว้นแปลง ทำให้ชาวบ้านเสียสิทธิ

ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2540 เจ้าหน้าที่รัฐปศุสัตว์เข้ามาประสานกับผู้ใหญ่บ้าน กำนันเพื่อขอสร้างสถานีอาหารสัตว์ ในบริเวณพื้นที่ซึ่งเป็นไร่ซากของชาวบ้านเป็นบริเวณ 1,290 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินคืนให้กรมป่าไม้ และกรมป่าไม้ก็นำมาอนุญาตให้กรมปศุสัตว์สร้างสถานีอาหารสัตว์ ต่อเหตุการณ์นี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยินยอมเพราะต้องสูญเสียที่ทำกิน แต่ได้รับการเกลี้ยกล่อมจากรัฐว่าจะเอาความเจริญเช่น เอาไฟฟ้าเข้ามาให้ แต่ชาวบ้านไม่ยอมจึงถูกบังคับให้เซ็นชื่อ ถ้าครอบครัวไหนไม่เซ็นจะแจ้งชื่อแก่เบื้องบนว่ารัฐจะไม่รับผิดชอบ พร้อมกับได้ทำหนังสือสัญญาร่วมกันว่า รัฐจะหาพื้นที่รองรับให้ชาวบ้าน

แต่เมื่อย่างเข้าปี 2541 กรมอุทยานแห่งชาติก็ได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย ครอบคลุมพื้นที่ป่าพระกำ ป่าองค์พระและป่าห้วยพลู ที่ครอบทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านป่าผากที่เหลืออยู่ จนท้ายที่สุดในปี พ.ศ. 2543 กรมชลประทานก็ได้รับมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้จำนวน 350 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ไร่ที่เหลือน้อยนิดของชาวบ้านป่าผาก เพื่อทำโครงการอ่างเก็บน้ำองค์พระ การณ์ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น ในส่วนพื้นที่ซึ่งไม่อยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติ อันเป็นพื้นที่สุดท้ายที่ชาวป่าผากเหลืออยู่ ก็ถูกโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ์เข้าใช้พื้นที่

เมื่อพื้นที่สุดท้ายถูกรัฐยึดไปสิ้นแล้ว ชาวบ้านป่าผากไม่สามารถทำมาหากินได้ ต้องซื้อข้าวประทังชีวิตในแต่ละวัน จนบางส่วนทนไม่ไหวต้องบุกเข้าไปในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติพุเตย ที่เคยเป็นไร่เหล่าเดิมของพวกเขาเพื่อทำไร่ ก็ถูกจับกุมและฟ้องร้อง 5 ราย แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมแพ้

ในระดับพื้นที่พวกเขาได้ร่วมเป็นเครือข่ายกับชุมชนกะเหรี่ยงต่างๆ เช่น บ้านห้วยหินดำที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน เพื่อเรียนรู้เรื่องสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากร และยังได้เคลื่อนไหวร้องเรียนต่อรัฐในทุกระดับ ตั้งแต่คณะกรรมการกฤษฎีกาที่วินิจฉัยว่าหน่วยงานราชการมีสิทธิ เพราะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยกล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายบุกรุก ส่วนกรณีสถานีอาหารสัตว์ก็วินิจฉัยให้รับชาวบ้านเป็นลูกจ้างรายวัน แต่ชาวบ้านไม่ต้องการจึงไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองในปี 2545 แต่ศาลก็ยังไม่วินิจฉัย

ชาวบ้านยังได้ไปร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา แต่ก็ไม่ปรากฏความคืบหน้า จนมาถึงการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2547 ทำให้กลายเป็นกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2548 แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะนี้ชาวบ้านป่าผากทั้งหมด 44 ครอบครัว มี 15 ครอบครัวที่ไม่มีที่ทำกิน ต้องเช่าที่ดินคนอื่น กว่า 20 ครอบครัว ที่ทำกินเป็นพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งอาจถูกจับกุมได้ทุกเมื่อ และทุกครอบครัวไม่สามารถผลิตข้าวได้ รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายข้าวโพด ก็ไม่เพียงพอจะซื้อข้าว ต้องทำงานรับจ้างและมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

วาทกรรมอนุรักษ์ป่า กับการลบเลือนประวัติศาสตร์ตัวตนของชาวป่าผาก
"เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ทั้งที่ยังมีความเอื้ออาทรและเมตตาธรรมอยู่ในจิตใจ สังเกตได้จากมีพื้นที่ทั้งในอุทยานฯและป่าสงวนฯ ถูกชาวกะเหรี่ยงบุกรุกแผ้วถากถางจำนวนมาก แต่จับกุมผู้กระทำผิดได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณป่าที่ถูกทำลาย ไม่ใช่เพราะมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่หย่อนยาน แต่มาจากหลักมนุษยธรรมในฐานะชาวพุทธและเป็นคนไทยด้วยกัน" (คำสัมภาษณ์จากนายบุญชู จันทร์สุวรรณ, นายก อบจ.สุพรรณบุรี, มติชนรายวัน, 25 พ.ศ. 2548)

ถ้อยคำที่ดูเหมือนจะเปี่ยมด้วยความเมตตาดังกล่าวพรั่งพรูมาจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุพรรณบุรี หนึ่งในองค์กรที่อนุมัติให้มีการใช้พื้นที่ของชาวป่าผาก เพื่อสถานีอาหารสัตว์และโครงการอ่างเก็บน้ำ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การอ้างหลักมนุษยธรรมบนฐานของความเป็นชุมชนทางศาสนาและสังคมเดียวกัน โดยยอมที่จะให้มีให้การตัดไม้ทำลายป่าบ้าง แม้ดูจะเหมือนเป็นผนวกชาวกะเหรี่ยงป่าผาก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในสังคมร่วมกัน ไม่ได้ใช้ประเด็นทางชาติพันธุ์และศาสนามาเป็นตัวปิดกั้นเพื่อสร้างความเป็นอื่น

แต่กระนั้นการเอ่ยอ้างดังกล่าวกลับแฝงด้วยวาทกรรมเรื่องการอนุรักษ์ป่าแบบวิทยาศาสตร์ ที่เข้ามากำหนดตัดสินการกระทำของชาวบ้านในการทำไร่ว่าเป็นการกระทำที่ผิด ในขณะที่การอ้างถึงความจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่และความเอื้ออาทรกลับยิ่งตอกย้ำถึงความชอบธรรมของอำนาจรัฐ ต่อการควบคุมจัดการชาวป่าผาก

ไม่เพียงแต่ฝ่ายรัฐที่อ้างวาทกรรมการจัดการป่า แม้แต่ฝ่ายองค์กรเอกชนที่กำลังช่วยเหลือชาวบ้าน ก็ใช้วาทกรรมดังกล่าวในการผลักให้ชาวป่าผากกลายเป็นชายขอบด้วย

"ขณะที่ชาวป่าผากไม่มีที่ทำกิน อดอยาก น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามในฐานะคนที่ทำงานเกี่ยวกับป่า ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ชาวบ้านเข้าไปปลูกข้าวในเขตป่าสงวนฯ อย่างที่เป็นมาตลอด แม้จะเห็นความจำเป็นก็ตาม พื้นที่ทำกินน่าจะใช้พื้นที่บริเวณสถานีอาหารสัตว์ ซึ่งยังไม่ใช้ประโยชน์เต็มที่" (รตยา จันทรเฑียร, ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, มติชนรายวัน 12 มิย. 2548)

ปมปัญหาของการเสนอวาทกรรมอนุรักษ์ป่า มาเป็นคุณค่าเหนือคุณค่าอื่นก็คือ การลบเลือนประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ความเป็นตัวตน และมโนทัศน์เรื่องธรรมชาติในมิติอื่นไปสิ้น เห็นได้จาก รัฐและเอกชนเองไม่ได้สนใจการดำรงอยู่ของชาวบ้านก่อนเขตป่าสงวน ไม่ยอมรับระบบการผลิตไร่หมุนเวียน อันเป็นระบบการผลิตพื้นบ้านของชุมชนบนพื้นที่สูง ที่ใช้หลักวิธีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนพื้นที่ให้เกิดการฟื้นตัวตามธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ที่ถูกปล่อยให้พื้นตัวนี่เองก็เป็นพื้นที่ที่รัฐเข้าไปยึดมา

อย่างไรก็ตาม วาทกรรมป่าอนุรักษ์ที่รัฐและองค์กรเอกชนใช้ก็หาได้เป็นไปในทิศทางเดียวแบบเบ็ดเสร็จ ชาวบ้านป่าผากกลับต่อสู้ด้วยการเสนอมโนทัศน์ธรรมชาติในอีกแบบหนึ่ง เพื่อยืนยันถึงตัวตนพวกเขา

"สมัยก่อน ถึงเราจนเราก็มีความสุข อยู่กินกับธรรมชาติ ถ้าไม่มีไร่หมุนเวียนเราก็ไม่มีวัฒนธรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราบูชาอยู่ทุกวันจะไม่มีอยู่ ธรรมชาติที่เราเคยอาศัยมันจะสูญหายไป" (เสอะเยียเบ่อ งามยิ่ง, หญิงชาวกะเหรี่ยงป่าผาก, 12 มิย. 2548)

ธรรมชาติที่เสอะเยียเบ่อเสนอ ไม่ใช่ธรรมชาติที่แยกออกจากวัฒนธรรม แต่เป็นธรรมชาติที่รวมวัฒนธรรมการผลิต สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ที่ผูกพันกับความเป็นกะเหรี่ยงของพวกเขาไว้อย่างแนบแน่น และที่สำคัญคือเป็นเรื่องเล่าของธรรมชาติที่มีประวัติศาสตร์ของตัวตนกะเหรี่ยงรวมอยู่ด้วย และมีความเป็นเฉพาะถิ่นเฉพาะที่ แตกต่างจากเรื่องเล่าของธรรมชาติแบบรัฐหรือเอกชนที่ลดทอนมิติต่างๆ ออกไปเหลือเพียงเรื่องกายภาพ ลบเลือนประวัติศาสตร์พื้นที่ และเปลี่ยนให้เป็นธรรมชาติแบบสากลหรือเป็น "อภิมหาคำบรรยาย" (Meta-Narrative) หรือเป็นความจริงสากล (Transcendent truth)

แม้เรื่องเล่าธรรมชาติแบบกะเหรี่ยงจะดูเป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐ แต่กลับปรากฏว่าภายใต้วาทกรรมป่าอนุรักษ์ที่รัฐใช้ ก็มีการตีความใหม่ที่ต่างไปจากรัฐใช้ ดังเช่นคำกล่าวของศศิน เฉลิมลาภ นักปฐพีวิทยา ซึ่งเป็นรองเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กล่าวถึงความเหมือนที่แตกต่างกันของมิติธรรมชาติที่รัฐ คนชั้นกลาง และชาวกะเหรี่ยงนำเสนอ

"วันสิ่งแวดล้อมโลก เตือนให้เรามีจิตสำนึกปกป้องโลก แต่โลกที่ว่าไม่แน่ใจว่ารวมการดำรงอยู่ของชนชาติกะเหรี่ยงไว้ด้วยหรือไม่ วิถีชาวไร่ที่ฟันแล้วเผา เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจสำหรับนักนิเวศ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็พบว่าเป็นการให้ระบบนิเวศชั้นดินฟื้นตัว เป็นแค่การขอฟันไร่ในป่าใหญ่ซักนิดแล้วคืนเท่านั้นเอง ก่อนทำไร่ชาวกะเหรี่ยงต้องขอซ่งทะรี (แม่ธรณี) ด้วยพิธีมากมายที่สำนึกคุณแผ่นดิน ถามว่าความเชื่อที่เราว่างมงายอย่างของชาวป่าเหล่านี้ ต่างอะไรกับการสมมติวันสิ่งแวดล้อมโลกด้วยพิธีกรรมประหลาดๆ ของเราหรือเปล่า เจตนารมร์ของทั้งสองล้วนมุ่งสู่การสำนึกถึงข้อจำกัดในทรพัยากร ชาวกะเหรี่ยงบรรจุจิตสำนึกนี้ผนึกรวมกับวิถีทำมาหากินและขออาศัยธรรมชาติอย่างพึ่งพิง แต่วันสิ่งแวดล้อมโลกฉาบเคลือบจิตสำนึกบนพฤติกรรมล้างผลาญทรัพยากรนานาชนิด" (ศศิน เฉลิมลาภ, มติชนรายวัน, 5 มิย. 2548)

คำกล่าวของศศิน ได้ตั้งคำถามต่อวิธีคิดแห่งยุคสมัยใหม่ที่มองคุณค่าแบบกะเหรี่ยงเป็นตำนาน (Myth) ที่ไร้สาระ ขณะที่ธรรมชาติที่ "แท้จริง" ต้องเป็นไปตามแบบที่นักนิเวศตีความ ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการตั้งคำถามของวิลเลี่ยมส์ เออวิน ทอมสัน (William Irwin Thomson) ที่กล่าวว่า เราดำรงอยู่ในยุคแห่งความวุ่นวายในโลกสมัยใหม่ ที่ Myth กลายเป็นสิ่งเหลวไหล ไร้สาระ ความจริงที่เป็นไปได้ก็เมื่อถูกนักวิทยาศาสตร์ตีความ กำกับเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าวิทยาศาสตร์ไปจนถึงตำนานก็เป็น Myth คนละแบบ และเราล้วนดำรงอยู่ใน Myth เหล่านี้ร่วมกัน (Thomson,1981, p.7)

ด้วยเหตุนี้เรื่องเล่าต่อธรรมชาติของ Myth ในแต่ละแบบ ก็เชื่อมโยงกับการจัดสัมพันธ์อำนาจที่ต่างกัน เรื่องเล่าธรรมชาติแบบรัฐหรือนักนิเวศบางส่วน ก็เพื่อยืนยันอำนาจอันชอบธรรมในการเข้าไปจัดการธรรมชาติ และผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกนิยามว่าเป็นของรัฐ แต่เรื่องเล่าธรรมชาติแบบกะเหรี่ยงป่าผาก ก็เป็นการต่อสู้เพื่อยืนยืนถึงสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขาในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

การจัดวางประวัติศาสตร์ ต่อการจัดการพื้นที่และตัวตนกะเหรี่ยงป่าผาก
"คณะรัฐมนตรีมีมติว่า หากอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ต้องตรวจว่าหากเข้ามาใช้ก่อนปี 2541 ให้ผ่อนผันทำกินต่อ โดยขึ้นทะเบียนไว้ หากเข้ามาหลัง จะมีความผิด" (นายสุภัทร์ ศรีสุนทรพินิจ, นายอำเภอด่านช้าง, มติชนรายวัน, 14 มิย. 2548)

"พื้นที่ที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิย. 41 ต้องเป็นพื้นที่ทำกินต่อเนื่อง พื้นที่ที่ราษฎรบ้านป่าผากอ้างว่าเคยทำกินมาก่อน ไม่สามารถดำเนินการสำรวจให้ได้ เนื่องจากมีการกำหนดเป็นแปลงปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ์" (บันทึกประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลวังยาว ครั้งที่ 3 วันที่ 13 พฤษภาคม 2547)

ไม่ว่าประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงในพื้นที่จะเป็นอย่างไร สิ่งที่รัฐสนใจและนำมาเป็นหลักการที่ใช้อ้างอิงกับสังคมกลับเป็นประวัติศาสตร์ของกติการัฐ ดังเห็นได้จากการจัดลำดับช่วงเวลาที่เป็นเกณฑ์การพิจารณาสำคัญ สำหรับพื้นที่ป่า รัฐจะเริ่มต้นประวัติศาสตร์ด้วยการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และหากไม่ชัดเจนว่าชาวบ้านอยู่ก่อนหรือหลังการเป็นป่าสงวนก็ตาม ก็ต้องพิสูจน์ด้วยมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 แต่กระนั้นหากพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกรัฐจับจองไปใช้แล้ว การอยู่ก่อนหรือหลังก็ไม่มีความหมายในการอ้างสิทธิของชาวบ้าน

ประวัติศาสตร์กติการัฐไม่สนใจประวัติศาสตร์นิเวศ เศรษฐกิจ สังคมของชุมชนในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ถูกลบเลือนไป เพราะมันไม่เข้ากับโครงเรื่องหลักการใช้อำนาจจัดการป่าของรัฐ อีกทั้งมันยังเผยให้เห็นปัญหาความลักลั่นของการร้อยเรียงประวัติศาสตร์เหล่านี้

ประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงป่าผากกลับไปเริ่มต้นที่การตั้งถิ่นฐานมาช้านาน เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ชาวบ้านพึ่งพิงธรรมชาติมายาวนาน ผ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทำไร่ พื้นที่ไร่ซากอันเก่าแก่นับสิบปี บางผืนอาจถึงหลายสิบปี และการอ้างอิงกับตำนาน ร่องรอยการตั้งถิ่นฐาน หรือการยืนยันชื่ออันเก่าแก่ที่พวกเขาตั้งให้แก่หุบเขา แม่น้ำ ผืนดิน ผืนป่า แม้รัฐจะพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์ของพวกเขา โดยอ้างประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐแทนที่ หรือการนิยามพื้นที่ใหม่ เช่น การจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ "ป่ากล้วย" ลงในพื้นที่ "ป่าผาก" ที่ชาวบ้านนิยาม เป็นต้น

การเมืองของการพัฒนา กับอคติทางชาติพันธุ์
รัฐมองไม่เห็นพื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงป่าผาก ตั้งแต่การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติองค์พระ และปรากฏชัดเมื่อให้สัมปทานไม้บริษัทสุพรรณบุรีทำไม้ในปี พ.ศ. 2529 จนเมื่อมีคนไทยพื้นราบเข้ามาจับจองพื้นที่ทำไร่ข้าวโพด รัฐจึงได้เริ่มออกเอกสารสิทธิ์ สปก.4-98 ในปี พ.ศ. 2533 ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจกดังกล่าว ขัดแย้งกับวิธีคิดสิทธิการใช้ที่ดินที่ไม่มีเจ้าของของชาวกะเหรี่ยง และเป็นการเปิดช่องให้คนข้างล่างเข้ามาครอบครองพื้นที่ เพื่อให้คงไว้ซึ่งสิทธิที่ทำกิน ชาวกะเหรี่ยงบางส่วน จึงยอมรับข้อเสนอคนพื้นราบที่มาขอเช่าพื้นที่ เพื่อสุดท้ายตนเองจะได้สิทธิในพื้นที่เหล่านี้ต่อไป

จนเมื่อรัฐเตรียมจะยึดพื้นที่ไปสร้างสถานีอาหารสัตว์ โดยยื่นข้อเสนอว่าหากชาวบ้านยอมก็จะนำความเจริญมาให้ แต่ชาวบ้านก็เริ่มปฏิเสธเพราะต้องการรักษาพื้นที่เพื่อทำไร่ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือรักษาตัวตนความเป็นกะเหรี่ยง ตามที่พวกเขานิยามเอาไว้

ขณะที่รัฐกลับไปอ้างผลจากการพัฒนาอย่างกว้างๆ ปราศจากมิติเวลา ประวัติศาสตร์ และกลบทับคุณค่าของชาวกะเหรี่ยงเช่นเดียวกับที่อ้างถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรม ดังมติที่ประชุมสภาตำบลวังยาว เมื่อ 14 มิถุนายน 2539 ที่อนุญาตให้มีการก่อตั้งสถานีอาหารสัตว์ "เนื่องจากมีประโยชน์ต่อราษฎร และเกษตรกรผู้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์" หรือผลสรุปของทางจังหวัดกรณีให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำว่า "ไม่เป็นพื้นที่ที่มีทิวทัศน์สวยงามอันควรรักษาไว้ และไม่มีปัญหากับราษฎร จังหวัดเห็นว่า โครงการนี้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมาก" (ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี, 7 มิถุนายน 2543)

ราษฎรหรือประชาชนที่เจ้าหน้าที่รัฐหมายถึงว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะได้รับผลประโยชน์กลับมิใช่ชาวกะเหรี่ยงป่าผาก แต่อ้างไปถึงเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ และประชาชนจำนวนมาก ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่าเป็นใคร

นัยดังกล่าวเผยให้เห็นถึงวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนา ที่ประกอบด้วยระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจก การพัฒนาเกษตรที่ใช้พื้นที่ถาวรเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ชุดวาทกรรมเหล่านี้มารากฐานจากระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ของคนไทยพื้นราบ โดยรัฐกำลังนำเข้าไปปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของชาวกะเหรี่ยง ตั้งแต่การยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียน การส่งเสริมเฉพาะเกษตรพาณิชย์ จนแม้กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาชาวป่าผากเดือดร้อน แต่รัฐกลับเสนอการแก้ไขปัญหาด้วยการ ให้ชาวบ้านไปเป็นลูกจ้างรายวันของสถานีอาหารสัตว์ หรือเข้าไปส่งเสริมอาชีพ อันเป็นการกระทบต่ออัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงอย่างรุนแรง ดังที่เสอะเยียเบ่อ งามยิ่ง กล่าวไว้ว่า

"ถ้าเราไม่มีไร่หมุนเวียน เราก็ไม่มีวัฒนธรรม ทำไมเราต้องเจอปัญหาแบบนี้ ทำไมภาครัฐยังเลือกปฏิบัติกับคนจนอีก เพราะเราเป็นคนจนหรือเพราะเราเป็นกะเหรี่ยง" (เสอะเยียเบ่อ งามยิ่ง มติชนรายวัน, 12 มิย. 2548)

แต่ความเป็นกะเหรี่ยงที่เสอะเยียเบ่อหมายถึง กลับไม่เป็นเข้าใจในสายตารัฐ รัฐมีวิธีเข้าใจต่อประชาชนที่ไม่ยอมตามระเบียบที่รัฐจัด ว่าเป็นเพียงแต่ผู้แสวงหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตนที่ฉลาดแกมโกงเท่านั้น

"หลังสร้างโครงการรัฐ กะเหรี่ยงทุกครอบครัวได้รับการชดเชยทั้งเงินและที่ดิน ต่อมาทั้งหมดได้รวมกลุ่มขายที่ดินให้นายทุนและผู้ปลูกพืชเกษตรจากพื้นล่าง และกลับร้องเรียนว่าสร้างมลภาวะเนื่องจากสารเคมีไหลลงห้วย มีเจตนาเพื่อให้รัฐตรวจสอบเพื่อให้ยึดที่ดินคืนมาจัดสรรให้เข้าทำกินอีกครั้ง แกนนำกะเหรี่ยงบางคนมีที่ดินเขตปฏิรูปกว่า 50 ไร่ นอกเขตนับร้อยไร่ ซึ่งปัจจุบันก็นำไปให้คนพื้นล่างเช่าปลูกข้าวโพด ส่วนตัวเองเดินสายร่วมกับองค์กรต่างๆ และจะกลับมารับตัวพรรคพวกกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน ไปรับจ้างเดินขบวนเรียกร้องร่วมกับสมาชิกแนวร่วมในอีกหลายพื้นที่" (นายไพบูลย์ นนท์แก้ว, นายก อบต.วังยาว, มติชนรายวัน, 13 มิย. 48)

นี่อาจจะเป็นวิธีการนิยามกะเหรี่ยงในแบบของรัฐ ซึ่งเปลี่ยนความหมายจากกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตสอดคล้องธรรมชาติ แต่กลับเป็นมนุษย์เศรษฐกิจนิยมที่มุ่งกอบโกยหาผลประโยชน์จากรัฐไม่ต่างจากคนยากคนจนทั่วไป ด้วยทัศนะดังกล่าว ไร่หมุนเวียนที่ชาวกะเหรี่ยงป่าผากเสนอจึงเป็นสิ่งที่รัฐไม่เข้าใจ แต่กลับกลายเป็นเรื่องการบุกรุกถางป่า ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยการจับกุม และให้ทำมาหากินตามแบบที่รัฐต้องการ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ แรงงานรับจ้าง เป็นต้น

เงื่อนไขร่วมของวาทกรรมจัดการป่า และการพัฒนากับวิธีคิดตะวันตกสมัยใหม่
ทั้งวาทกรรมอนุรักษ์ป่าและการพัฒนาที่รัฐใช้ แม้ดูผิวเผินจะเป็นด้านตรงข้าม ขัดแย้ง ลักลั่นกัน แต่ในระดับวิธีคิดแล้วล้วนมีที่มาจากวิธีคิดตะวันตกสมัยใหม่ (Western Modernity) ที่ประเทศเจ้าอาณานิคมในอดีต ตลอดจนมหาอำนาจปัจจุบันยังคงใช้อยู่ ทั้งนี้เพราะวาทกรรมทั้ง 2 แบบ มีรากคิดที่สอดคล้องกันในเรื่องการเสริมสร้างอำนาจรัฐ และทุนในโลกานุวัตน์

เริ่มตั้งแต่การลากเส้นแบ่งธรรมชาติกับสังคมออกจากกัน ธรรมชาติถูกสถาปนาให้เป็นพื้นที่บริสุทธิ์ ปราศจากผู้คนที่รัฐไม่อนุญาตให้ดำรงอยู่ ขณะที่พื้นทีทางสังคมก็ถูกมองให้เป็นพื้นที่แห่งการพัฒนา ที่ตัดขาดจากการอยู่ร่วมกับนิเวศอย่างสมดุลเช่นกัน ดังเช่น การสัมปทานไม้ การสร้างสถานีอาหารสัตว์ หรือการสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยยืนยันว่าพื้นที่เหล่านี้เสื่อมโทรมแล้ว ภายใต้วิธีคิดคู่ตรงข้ามเช่นนี้ จึงไม่มีพื้นที่ให้แก่นิเวศพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงป่าผากแต่อย่างใด ไร่หมุนเวียนของพวกเขาจึงอยู่ในฐานะกำกวม เนื่องจากไม่เข้ากับระบบการพัฒนาหรือระบบการจัดการป่าแบบใดแบบหนึ่ง ฐานะของไร่หมุนเวียนจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก

วาทกรรมทั้ง 2 แบบต่างก็อ้างถึงความเป็นสากล (Universal) ของแนวคิด และรูปแบบการจัดการ โดยปฏิเสธลักษณะเฉพาะถิ่นเฉพาะที่ ปฏิเสธประวัติศาสตร์เฉพาะกรณี ซึ่งนี่ก็คือรูปแบบของการใช้ความรุนแรง ต่อการควบคุมกำกับชีวิตผู้คนและพื้นที่ที่สัมพันธ์กับผู้คน

รัฐได้ออกแบบโครงสร้างอำนาจรองรับเพื่อจัดการพื้นที่และผู้คน ในพื้นที่ที่ถูกนิยามว่าเป็นป่า รัฐก็ได้สร้างประวัติศาสตร์การจัดการพื้นที่ผ่านประวัติศาสตร์กติกาของรัฐ โดยลบเลือนประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่นออกไป พร้อมกับมีระบบกฎหมาย กลไกอำนาจเข้ามาควบคุมกำกับ ขณะที่วาทกรรมการพัฒนา ก็มีชุดสำเร็จรูปของการพัฒนาที่มาใช้จัดระเบียบวิถีชีวิตของชุมชนให้เป็นไปตามรูปแบบเกษตรพาณิชย์ที่รัฐต้องการ โดยลบเลือนประวัติศาสตร์การผลิต ชีวิต วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงป่าผากด้วยเช่นกัน

วาทกรรมทั้ง 2 แบบนี้มาทำงานร่วมกันในการกำหนดอัตลักษณ์ให้กับกะเหรี่ยงป่าผาก พวกเขาถูกมองแค่เป็น "เกษตรกร" "คนจน" "ชาวป่า" "ชาวเขา" ซึ่งแต่ละแบบล้วนนำไปสู่การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคนภายนอกต่อพวกเขาต่างกันไป ในฐานะ "คนจน" พวกเขาถูกเสนอให้รับ สปก.ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และแก้ปัญหาปากท้องด้วยการให้ไปเป็นแรงงานรับจ้าง ในฐานะ "พวกเขา" เป็นเพียงสิ่งตกค้างในประวัติศาสตร์ ที่ต้องถูกขจัดออกไปภายใต้วาทกรรมป่าปลอดมนุษย์ ในฐานะ "ชาวไทยภูเขา" พวกเขาถูกเมตตาสงสารในฐานะชาวพุทธและชาวไทยด้วยกัน ด้วยการที่รัฐอนุโลม ผ่อนปรนให้ แต่ไม่ใช่ในฐานะที่พวกเขามีสิทธิทางวัฒนธรรมของตนเอง

อัตลักษณ์ที่ถูกจัดสร้างจากภายนอกเช่นนี้ ไม่ต่างจากแนวคิดเรื่อง Orientalism ที่ตะวันตกทำความเข้าใจตะวันออกตามที่ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said,1978) เสนอ และนำมาสู่การใช้อำนาจเข้าจัดการพวกเขา ทั้งในแง่การปิดล้อมให้เปลี่ยนอัตลักษณ์ หรือแม้แต่การหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้พวกเขาตามกรอบอัตลักษณ์ที่รัฐและสังคมภายนอกเข้าใจ ภาวะการจัดสร้างอัตลักษณ์ดังกล่าวสร้างความระส่ำระสายแก่คนป่าผาก พวกเขาเกรงว่าความเป็นคนกะเหรี่ยงตามแบบที่พวกเขานิยามกำลังจะถูกแปรรูปโดยรัฐไปแล้ว

การทำงานของวาทกรรมจัดการป่าและการพัฒนาเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่อง "ปกติ" และเมื่อใดที่ชาวบ้านคัดค้านต่อต้าน ก็จะถูกจัดให้เป็นพวก "ไม่ปกติ" เพราะขัดต่อระบบระเบียบอำนาจวาทกรรมเหล่านี้ ก็จะเข้ามาจัดการให้กลายเป็นอื่นโดยทันที กะเหรี่ยงป่าผากในทัศนะของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงกลายเป็นพวกฉลาดแกมโกง เห็นประโยชน์ส่วนตน วิธีการจัดการก็โดยการใช้ความรุนแรงทางตรง ทั้งการจับกุมส่งฟ้องศาล

การต่อสู้กับความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว ในระดับชาวบ้าน พวกเขาใช้การต่อสู้ทางวัฒนธรรม ด้วยการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ตัวตนของพวกเขาที่โยงธรรมชาติ วัฒนธรรมเข้าหากัน และสร้างเรื่องเล่าที่แทรกแซง ชี้ให้เห็นรอยโหว่ของเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่รัฐนิยามผ่านกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตามการต่อสู้ในปริมณฑลทางวัฒนธรรมของพวกเขา ก็ประสบความยากลำบาก ไม่เพียงแต่พวกเขาเป็นชายขอบของอำนาจ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกมองว่าเป็นอื่นเท่านั้น การสร้างพื้นที่ทางสังคมโดยเชื่อมประสานเครือข่ายกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ตลอดผืนป่าตะวันตก เพื่อสร้างและผลักดันตัวตนร่วมกัน (Collective Identity) ของพวกเขา เช่น ความเป็นกะเหรี่ยงที่ยึดโยงกับไร่หมุนเวียน และใช้มันในฐานะยุทธศาสตร์ของการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์พร้อมกับปฏิบัติการในระดับพื้นที่ และปฏิบัติการทางการเมืองระดับนโยบายร่วมกับพันธมิตรทางสังคมต่างๆ ก็ยากลำบากเช่นกัน

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) ดังที่ปรากฏในสารานุกรมของ Diderot นักการป่าไม้ชาวเยอรมันที่นิยามถึงประโยชน์ของป่าว่ามีคุณค่าเพราะเป็นแหล่งของภาษี รายได้ กำไร แต่ป่าในฐานะที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยกลับไม่ปรากฎในสารานุกรมดังกล่าว (Scott, 1998, p.13)

(2) เกณฑ์การแบ่งแยกธรรมชาติที่ปลอดมนุษย์ว่ามีลำดับสูงสุด ไปจนถึงธรรมชาติที่มีมนุษย์ถูกใช้ในการจัดประเภทการจัดการธรรมชาติทุกแบบ เช่น การจัดประเภทป่า การจัดลำดับชั้นลุ่มน้ำ เป็นต้น โดยมีหน่วยงานระหว่างประเทศเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สหภาพว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาตินานาชาติ (IUCN) ธนาคารโลก สหประชาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ (UNEP) และเวทีประชุมนานาชาติที่มีประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำกับ

(3) การปฏิวัติเขียว คือ การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านการเกษตร ได้แก่ การใช้พันธุ์พืชใหม่ที่มาจากการประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ การใช้สารเคมีที่เป็นปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช การจัดระบบชลประทาน การวางแผนจัดการที่ดิน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างก้าวกระโดด
จุดเริ่มต้นปฏิวัติเขียวมาจากสหรัฐอเมริกาซึ่งค้นพบการสกัดแอมโมเนียจากพืช และพบวิธีการปลูกพืชเพื่อสกัดแอมโมเนีย อย่างไรก็ตามการพัฒนาก็ถูกระงับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากแอมโมเนียเป็นวัตถุในการผลิตไนเตรดเพื่อทำะเบิด

จนเมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีการเร่งผลิตไนเตรดเพื่อใช้ในสงคราม ซึ่งผลการดังกล่าวทำให้ไนเตรดถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยไนโตรเจนในการเกษตร ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตรอย่างรวดเร็ว จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศพันธมิตรต้องการอาหารอย่างมาก ทำให้สหรัฐอเมริกาเร่งนำพัฒนาเกษตรแผนใหม่เพื่อผลิตอาหารป้อนตลาดโลก ต่อมาไม่นานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ (FAO) ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีเกษตรแผนใหม่ไปส่งเสริมยุโรป และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นรูปแบบของแผนงานการช่วยเหลือด้านเทคนิคด้านต่างประเทศ และมาสู่เอเชียในทศวรรษ 1960 ในอินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ และขยายสู่ทั่วโลกในเวลาต่อมา (Norman E. Borlaug, 2006)

(4) กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ปกากะญอ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย และโพล่ว ซึ่งอยู่ทางแถบทิศตะวันตกไปจนถึงฝั่งพม่า

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2548 "บทวิเคราะห์ว่าด้วยการสร้างแนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติ",
การเมืองป่าไม้ไทยยุคหลังสัมปทาน, มูลินธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, กรุงเทพฯ

Arif Dirlik. 2000. "The Postcolonial Aura: Third World Criticism in the Age of Global
Capitalism", Postcolonialism: Critical concepts in literary and cultural studies, Edited by Diana Brydon, Routledge London and New York.

Benita Perry. 2004. "The institutionalization of postcolonial studies", In The Cambridge to
Postcolonial Studies, Edited by Neil Lazarus, Cambridge University Press.

Crystal Bartolovich.2002."Introduction: Marxism, modernity, and postcolonial studies."
In Marxism, Modernity, and Postcolonial Studies. Crystal Bartolovich and Neil Lazarus (eds.) Cambridge.

Edward W. Said. 1978. "Orientalism", New York: Random House.

James C. Scott. 1985. "Weapon of the Weak: Every day forms of Peasant Resistance",
Yale University Press.

_______________1998. "Seeing like a state: how certain schemes to improve the human
condition have failed", Yale University Press.

Norman E. Borlaug, 2006, The Green Revolution Revised and the Road Ahead, 1970
Nobel Peace Prize Laureate.

Pierre Bourdieu. 1977. "Structures, Habitus, Power: basis for a theory of symbolic
power", Outline of a Theory of Practice, Cambridge University Press.

Timothy Brennan.2004, "From development to globalization: postcolonial studies and
globalization theory." In The Cambridge to Postcolonial Studies, Edited by Neil
Lazarus, Cambridge University Press.

William Irwin Thomson, 1981, The Time Light Bodies Took to Fall, The Time Falling
Bodies Take to Lights: Mythology, Sexuality and The Origins of Culture,
New York.


 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



040649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความจากนักวิชาการอิสระ
บทความลำดับที่ ๙๓๗ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related
ข้อความบางส่วนจากบทความ

การจัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์ดังล่าว เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมอรรถประโยน์ (Utilitarian Discourse) ที่รัฐสวมรอย แทนที่วิธีคิดเดิมที่ดำรงอยู่อย่างหลากหลาย และลดทอนวิธีคิด ความรู้เหล่านี้ให้เหลือเพียงแง่มุมด้านการเงินและการค้า ด้วยสายตาแบบการค้า (Fiscal lens) ดังล่าว ปฏิบัติการแทนที่รูปและความหมายสัญญะต่อป่าก็เริ่มปรากฏขึ้น คำว่า "ธรรมชาติ" ถูกแทนที่ด้วยคำว่า "ทรัพยากรธรรมชาติ" ขณะที่พืช (plants) ก็ถูกเปลี่ยนเป็นพืชไร่ (crops) แมลง (weeds) ที่ไม่เป็นประโยชน์หรือกระทบต่อพืชไร่จึงถูกเรียกเป็น แมลงศัตรูพืช (pests) หรือต้นไม้ (tree) ก็ถูกขนานนามในมิติการแปรรูปว่าเป็น ซุง (Timber) แม้แต่สัตว์ทั้งหลาย (animal) ที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็เรียกว่าเป็น ปศุสัตว์ (Livestock) เป็นต้น
ประวัติศาสตร์การเร่ร่อนของกะเหรี่ยงป่าผาก ภายใต้วาทกรรมอาณานิคม
กฤษฎา บุญชัย : นักวิชาการอิสระ

คำกล่าวของศศิน ได้ตั้งคำถามต่อวิธีคิดแห่งยุคสมัยใหม่ที่มองคุณค่าแบบกะเหรี่ยงเป็นตำนาน (Myth) ที่ไร้สาระ ขณะที่ธรรมชาติที่ "แท้จริง" ต้องเป็นไปตามแบบที่นักนิเวศตีความ ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการตั้งคำถามของวิลเลี่ยมส์ เออวิน ทอมสัน (William Irwin Thomson) ที่กล่าวว่า เราดำรงอยู่ในยุคแห่งความวุ่นวายในโลกสมัยใหม่ ที่ Myth กลายเป็นสิ่งเหลวไหล ไร้สาระ ความจริงที่เป็นไปได้ก็เมื่อถูกนักวิทยาศาสตร์ตีความ กำกับเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าวิทยาศาสตร์ไปจนถึงตำนานก็เป็น Myth คนละแบบ และเราล้วนดำรงอยู่ใน Myth เหล่านี้ร่วมกัน (Thomson,1981, p.7)