นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

รำลึก ๒๙ ปี เหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙
๖ ตุลา กับภูมิปัญญาสังคมไทย
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วเมื่อคราวครบรอบ ๒๐ ปีเหตุการณ์ ๖ ตุลา
โดยคณะกรรมการประสานงาน ๒๐ ปี ๖ ตุลา, ตุลากาล, ตุลาคม ๒๕๓๙

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 693
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)



6 ตุลา กับภูมิปัญญาสังคมไทย
นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในครึ่งหลังของปี 2518 ก่อนที่ผมกลับเข้ามาเมืองไทย ศาสตราจารย์เบน แอนเดอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งเพิ่งกลับจากเมืองไทยถึงอเมริกา ได้เขียนจดหมายเล่าให้ผมฟังว่า "สถานการณ์ไม่ดีเลย คงจะดำรงอยู่อย่างนี้ต่อไปได้อีกไม่นาน" นอกจากผมไม่เชื่อการวิเคราะห์ของอาจารย์เบนซึ่งได้ยกเหตุการณ์หลายอย่างขึ้นมาบรรยายให้ฟังแล้ว แม้เมื่อผมกลับมาถึงเมืองไทยในปลายปี 2518 เรื่อยมาจนใกล้วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมก็ยังคิดว่ายังพอมีช่องทางที่บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้โดยไม่ต้องนองเลือด ผมรู้ว่าความโง่เขลาเบาปัญญาของผมในตอนนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จนถึงบัดนี้ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าผมสามารถระงับไม่ให้เกิดอีกได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องเดียวกับการขจัดอคติให้หมดไปโดยสิ้นเชิงนั่นเอง และถ้าทำไม่ได้ก็ยังมีเชื้อของความโง่เขลาเบาปัญญารองอกงามขึ้นได้อีกตราบนั้น

ผมคิดว่าสังคมไทยโดยรวมเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปี พ.ศ. 2519 ไม่ต่างไปจากผมเท่าใดนัก กล่าวคือ ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุร้ายถึงขนาดนี้จะเกิดขึ้นได้กลางบ้านกลางเมืองอย่างนั้น พ้องพานคนและระบบลึกซึ้งกว้างขวางอย่างน่าตระหนก และอย่างที่หลายคนไม่เคยคาดไปถึงและเช่นเดียวกับผม จนถึงทุกวันนี้ ผมก็เข้าใจว่าสังคมไทยโดยรวมก็ยังไม่ได้มีปัญญางอกงามอะไรขึ้นมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา มากไปกว่าเมื่อ พ.ศ. 2519 มากนักอยู่นั่นเอง เพราะนักปราชญ์ท่านก็ยังรักษาท่าทีสุขุมอย่างเลือดเย็นของท่านไว้ด้วยคำเตือนว่า "มีประโยชน์อะไรที่จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ" หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ "อย่าเรียนรู้" เป็นอันว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นอีกเหตุการณ์ใหญ่หนึ่งในอดีตของไทยที่ถูกทำหรือรักษาความไร้ความหมายเอาไว้สืบไป

หนังสือเล่มนี้คงเป็นความพยายามรุ่นแรก ๆ อีกครั้งหนึ่งที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้จาก 6 ตุลา คงอีกยาวไกลกว่ากระบวนการนี้จะสามารถเสนออะไรที่มีคุณค่าควรแก่การเรียนรู้ได้ และคงอีกยาวไกลกว่าสังคมจะเริ่มลงมือเรียนรู้หรือร่วมไปในกระบวนการนี้ เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงย่อมมีความเจ็บปวดอยู่ด้วยเสมอ ยิ่งเรียนรู้อดีตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นนี้ย่อมมีเหตุให้เกิดความเจ็บปวดได้มาก เนื่องจากความขัดแย้งมักจะปลิ้นเอาธาตุแท้ของทุกอย่างออกมาให้เห็นชัดกว่ายามปรกติเป็นธรรมดา

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าผมไม่คิดว่าผมสามารถสลัดความโง่เขลาเบาปัญญาของตนเองใน พ.ศ. 2519 ไปได้ อีกทั้งไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากสังคมที่ถูกวางเงื่อนไขให้ลืม 6 ตุลา เสียอีก ฉะนั้นสิ่งที่เขียนต่อไปนี้จึงขาดความสัมพันธ์กันเอง ไม่มีลักษณะที่อาจใช้เป็นกรอบโครงในการเรียนรู้ 6 ตุลา ได้ และเมื่อกระบวนการเรียนรู้ก้าวหน้าต่อไป สิ่งที่ผมพูดต่อไปนี้ (ซึ่งหลายข้อคงมีผู้อื่นพูดมาแล้วด้วย) ก็คงถูกพิสูจน์ว่าไม่ถูกต้อง หรือเป็นเพียงความรู้ดาด ๆ ที่ไม่มีประโยชน์มากนัก

1. ผมคิดว่า เราไม่อาจแยก 6 ตุลา กับ 14 ตุลา ได้ เพราะ 6 ตุลา สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างรวดเร็วหลัง 14 ตุลาคม 2516 อาจกล่าวได้ว่า 6 ตุลา เป็นฉากสิ้นสุดของกระแสหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ 14 ตุลา นำมาสู่สังคมไทยนั้นกว้างใหญ่ไพศาลนักจนเกินกว่าที่นักรัฐประหารคณะใด เผด็จการพลเรือนหรือ จปร. รุ่นใด ๆ จะสามารถหยุดยั้งมันลงได้ทั้งหมด จาก 14 ตุลา จนถึงทุกวันนี้ เราไม่เคยมีรัฐบาลพลเรือนที่มั่นคงสักชุด แต่เราก็ไม่เคยมีรัฐบาลรัฐประหารที่มั่นคงสักชุดเช่นเดียวกัน

เมืองไทยได้เปลี่ยนไปเกินกว่าที่จะดึงให้กลับไปสู่สภาพก่อน พ.ศ. 2516 ได้อีกแล้ว และ 6 ตุลา น่าจะเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่อยู่ในความเปลี่ยนแปลงมโหฬารนี้ ไม่ใช่อุบัติการณ์โดด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญอย่างแน่นอน

2. เฉพาะในส่วนของ 6 ตุลา การเรียนรู้จะต้องทำให้สองส่วนซึ่งมีความสัมพันธ์กันนี้เพิ่มพูนขึ้นและหลากหลายขึ้น สองส่วนดังกล่าวนี้ก็คือ

ก. ข้อเท็จจริง
ในปัจจุบันได้มี พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นออกมาแล้ว แม้ในครั้งที่ออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็มีผู้คัดค้านว่า เหตุใดจึงนิรโทษกรรมแก่นักศึกษาซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ในเมื่อจุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือ การนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีมือเปื้อนเลือดเท่านั้น ทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้นไม่เปิดเผยในชั้นการสอบสวนหรือชั้นศาล อย่างไรก็ดี จนถึงทุกวันนี้ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมก็ไม่เป็นผลให้มีผู้เล่าความจริงเพิ่มขึ้น นอกจาก "เหยื่อ" ซึ่งรู้ข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียวและการสัมภาษณ์หลายบุคคล และหลายครั้ง ก็ดูเหมือนไม่ได้ข้อมูลอะไรที่จะทำให้มองเห็นอะไรได้กว้างขวางมากนัก การเก็บรวบรวมข้อมูลจึงควรหันไปเจาะผู้ที่กระทำให้มากขึ้น ผมเชื่อว่าหลายคนในเวลานี้คงพร้อมจะเล่ามากขึ้น ถ้ายอมปิดบังชื่อเสียงเรียงนามของเขา แม้แต่ผู้กระทำที่เป็นเพียงเบี้ย หากเป็นเบี้ยฝ่ายรุก การได้ข้อเท็จจริงจากฝ่ายนี้ก็จะทำให้ภาพที่กระจ่างขึ้นอย่างไม่ต้องสังสัย

เราจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลปลีก ๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกันเหล่านี้ปะติดปะต่อกันให้ได้ว่า ใครทำอะไรในวันที่ 6 ตุลา ใครไม่ทำอะไรในวันที่ 6 ตุลา ใครแกล้งทำอะไร และใครแกล้งไม่ทำอะไร ใครรู้อะไร รู้แค่ไหน และรู้เมื่อไร ฯลฯ เป็นต้น ถ้ายังไม่มีข้อมูลย่อย ๆ สำหรับปะติดปะต่อให้เกิดภาพใหญ่ขึ้นได้แล้ว ก็ยากที่จะเข้าใจได้ว่า 6 ตุลา ไปเกี่ยวโยงอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงอันมโหฬารที่สังคมเผชิญอยู่ในเวลานั้นได้

ข. ทรรศนะที่ใช้เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์
ที่ผ่านมาในสังคมไทย มักใช้อุดมการณ์เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อุบัติการณ์นี้ ดังนั้น 6 ตุลา จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ที่แตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งออกจะเห็นได้ชัดว่า แทบไม่ได้อธิบายเหตุการณ์อีกมากมายใน 6 ตุลา รวมทั้งไม่อธิบายพฤติกรรมของคนอีกหลายกลุ่มที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย บางคนก็อาจเปลี่ยนอุดมการณ์มาร์กซิสท์ เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ ฯลฯ ซึ่งก็ได้ผลเท่ากันคือ ดูไม่เพียงพอสำหรับเป็นกรอบการวิเคราะห์ 6 ตุลา ได้

นักวิชาการบางท่านพยายามเชื่อมโยงความเสื่อมโทรมทางการเมืองในประเทศไทยระหว่างนั้น กับเผด็จการที่ตนเองเคยช่วยขจัดออกไป อย่างไรก็ตาม คนชั้นกลางไทยจะเผชิญกับภาวะไร้ความแน่นอนในอนาคตเหมือนกัน หรือยิ่งกว่าอีกครั้งหนึ่งภายใต้รัฐบาลเปรมที่ฝ่าฟันวิกฤตทางเศรษฐกิจออกไปได้ในที่สุด แต่ในครั้งนั้น คนชั้นกลางไทยก็ไม่เกิดอาการ "ถอยกลับ" ยิ่งไปกว่ามีพลเอกเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง

ผมหวังว่าถ้าเราไม่หยุดเรียนรู้ เราจะสามารถสร้างทรรศนะที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ 6 ตุลา ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือมีพลังกว่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือ ลงตัวกับเหตุการณ์จริงตามข้อเท็จจริงที่รวบรวมมาได้หรือแม้แต่ที่ยังรวบรวมไม่ได้ เปิดเผยเมื่อไรก็ไม่ขัดแย้งกับทรรศนะนั้น นอกจากนี้ ยังสามารถอธิบายพฤติกรรมของฝ่ายต่าง ๆ ในการเมืองไทยในสมัยที่ใกล้กับ 6 ตุลา ได้ดีอีกด้วย บางส่วนก็อาจยังเอามาใช้อธิบายสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันหรืออนาคตได้ด้วย

ฉะนั้น ผมจึงเชื่อว่าการเรียนรู้ 6 ตุลา ของสังคมเป็นเรื่องมีประโยชน์อีกทั้งยังหลบหลีกไม่ได้อีกด้วย แม้ไม่มีใครต้องมาชดใช้การกระทำของตนในวันนั้นกับกฎหมายอีกแล้ว แต่ทุกคนยังเป็นหนี้ที่ต้องให้สังคมได้เรียนรู้ ไม่ควรที่จะปกปิดหรือพยายามกลบเกลื่อน เพราะนั่นคือการไม่ยอมคืนบทเรียนแก่สังคมไทยนั่นเอง

3. 6 ตุลา เป็นอุบัติการณ์ที่มักทำให้ต้องพูดกันถึงความรุนแรงทางการเมืองบ างคนถึงกับประกาศว่าเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนเป็นครั้งแรกในการเมืองไทย แต่ที่จริงแล้ว การเมืองไทยมิใช่การเมืองที่สงบ หากเป็นการเมืองที่มีความรุนแรงแฝงเร้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลอดมา จะไม่ย้อนกลับไปกล่าวสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือยุคราชาธิราชย์ ซึ่งก็ไม่ได้ว่างเว้นจากความรุนแรงในหลายรูปแบบเช่นกัน เพียงแต่ว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีอำนาจภายนอกคือจักรวรรดินิยมตรามาตรฐานของตัว สำหรับใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงการเมืองเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย ทำให้การใช้ความรุนแรงทางการเมืองไม่เป็นไปอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมานัก

อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติโดยแทบจะไม่เสียเลือดเนื้อในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไปแล้วความรุนแรงก็กลายเป็นเนื้อหาหลักอีกอย่างหนึ่งของการเมืองไทย เพียงแต่ว่าจำกัดการใช้ความรุนแรงไว้เฉพาะสำหรับนักการเมืองที่สามารถเข้าถึงกำลังกองทัพเท่านั้น จึงดูเหมือนว่าการยกทัพปะทะกันกลับกลายเป็น "ความมีระเบียบ" แต่ที่จริงแล้ว มีคนเจ็บคนตายหรือข้าวของเสียหายเนื่องจากการที่กองทัพรบกันเอง ไม่ว่าจะเป็นกบฏบวรเดช กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน ฯลฯ ทั้งสิ้น ยุคสมัยที่ผู้นำสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำได้นาน ๆ ก็ใช้กลไกสำคัญอย่างหนึ่งคือ การประหารชีวิตนักโทษการเมือง การปล่อยเกาะ และ/หรือการลอบสังหารคู่แข่งทางการเมือง ฯลฯ นักการเมืองไทยที่พ่ายแพ้การแข่งขันมักต้องหนีไปจบชีวิตในต่างแดน ทั้งหมดเหล่านี้ลองเทียบกับเพื่อนบ้าน เห็นจะมีการเมืองที่ใกล้เคียงกับไทยก็แต่พม่าและกัมพูชาเท่านั้น

ความรุนแรงอีกลักษณะหนึ่งที่ใช้ในการเมืองไทยตลอดมาคือ การสังหารโหดประชาชนในชนบทที่อำนาจบ้านเมืองเข้าใจว่ากระด้างกระเดื่องต่อตัว หรือจะเป็นเหตุให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง นี่เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทำร้ายมามากแล้ว ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2516 - 2519 มีผู้นำชาวนาถูก "เก็บ" มากกว่าผู้นำนักศึกษาหลายเท่าตัวนัก นอกจากนี้ เพราะอำนาจในรัฐไทยนั้นไปสัมพันธ์อย่างแยกออกไม่ได้กับอำนาจท้องถิ่น พึ่งพาอาศัยกันเองอย่างซับซ้อน อำนาจในท้องถิ่นจึงอาศัยอำนาจบ้านเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของอำนาจบ้านเมืองในการ "เก็บ" ประชาชนที่ขัดขวางผลประโยชน์ของตนด้วย

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มต้นทำการเก็บเหล่านี้ให้ถูก "กฎหมาย" โดยการประหารบุคคลที่ถูกเรียกว่า "ผีบุญ" และคอมมิวนิสต์ (อย่างไรก็ตาม ในสมัยของเขา อำนาจเถื่อนทุกอย่างที่เขามีอยู่ถูกทำให้เป็นอำนาจที่ถูกกฎหมายหมดด้วยมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญปกครองประเทศการรักษาอำนาจเถื่อนนี้ไว้ให้ถูกกฎหมาย จะยังคงมีสืบมาอีกหลายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า มีการทำความรุนแรงให้กลายเป็นสถาบันสถาพรทางการเมืองไปเลย และไม่ได้เป็นสถาบันที่เหลือแต่อาชญาสิทธิ์ที่ไร้ความหมายด้วย เพราะถูกนำมาใช้อีกหลายครั้ง)

ความรุนแรงในลักษณะนี้ที่เคยถูกซุกไว้ไต้พรมในชนบท มาในภายหลังหลายปีก่อน 6 ตุลา ก็ปรากฏขึ้นมาให้เป็นที่รู้เห็นของสังคมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองเผด็จการ ที่ครอบงำประเทศไทยยาวนานร่วมสองทศวรรษ จึงแยกไม่ออกจากการเมืองไทย เหมือนการยกทัพแย่งตำแหน่งกันกลางกรุงของกองทัพซึ่งกระทำกันหลายครั้งหลายหนนั่นเอง

ก่อน 6 ตุลา มีผู้เรียกร้องให้ขวาพิฆาตซ้ายบ้าง ให้ขจัดพวกหนักแผ่นดินสัก 2,000 แล้ว บ้านเมืองจะสงบสุขบ้าง การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปบ้าง ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้คืออคติ ( mentality ) ของคนที่เคยชินกับวิธีคิดของความรุนแรงทางการเมืองที่รู้จักกันดีในชนบทไทย เพราะ "เก็บ" ศัตรูเสียได้ ทุกอย่างก็ปลอดโปร่งโล่งสบาย หรือ "สงบสุข" สำหรับผู้เก็บไปได้อีกนานทีเดียว ความคิดของคนจำนวนหนึ่งที่สร้างสถานการณ์ 6 ตุลา ขึ้นมาก็เพื่อ "เก็บ" นักศึกษา และทำให้เกิดความหลาบจำแก่คนอื่นที่ได้พบเห็น อย่างเดียวกับการยิงทิ้งในชนบท หลายครั้งก็อาจลากศพไปทิ้งไว้หน้าบ้านศัตรูอีกคนหนึ่งด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น ความรุนแรงใน 6 ตุลา จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่โดดเดี่ยวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่อย่างไร ถ้าสังคมไทยจะเรียนรู้ 6 ตุลา ก็ต้องมีผลให้ขจัดความรุนแรงทางการเมืองในลักษณะอื่น ๆ ไปด้วย ไม่แต่เพียงขจัดการยิงกราดผู้เดินขบวนอย่างพฤษภาทมิฬ หรือการล้อมยิงผู้บริสุทธิ์อย่าง 6 ตุลา เท่านั้น เหตุการณ์เช่นนี้อาจไม่เกิดบ่อยเท่าการสังหารผู้นำชาวบ้านอย่างครูประเวียน บุญหนัก

4. แม้กระนั้น ก็ต้องยอมรับใน "ปริมาณ" ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเข้มข้นมากกว่าเดิม แม้มาจากฐานของประเพณีการใช้ความรุนแรงทางการเมืองอันเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้เพราะความรุนแรงของ 6 ตุลา เกิดขึ้นในบริบทอันใหม่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในการเมืองไทยบ่อยนัก เท่าที่ผมมองเห็นก็คือ

ก. อันที่จริง ประเทศไทยในช่วงนั้นไม่มีรัฐสืบเนื่องกันมานานมาก นับตั้งแต่กรุงแตกเมื่อ 200 ปีมาแล้ว เห็นจะไม่มีครั้งไหนที่บ้านเมืองจะขาดรัฐนานถึงเพียงนั้นอีก บ้านเมืองเป็นจลาจลแก่ทุกฝ่าย มองจากฝ่ายที่ถูกรังแกก็จะเห็นได้ชัด มีการขว้างระเบิดใส่ฝูงชนจนผู้คนล้มเจ็บจำนวนมากโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองป้องกันไม่ได้ และจับคนร้ายมาลงโทษไม่ได้ มีแก๊งอันธพาลทางการเมืองเอาระเบิดใส่กล่องวางไว้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกีดกันมิให้อีกฝ่ายหนึ่งเดินขบวนผ่านไป มีการบุกเข้าไปเผาทำลายธรรมศาสตร์ ฯลฯ การกระทำเหล่านี้ถามว่า ใครไม่รู้บ้างว่าผู้ละเมิดกฎหมายเหล่านี้คือใคร ก็จะเห็นว่าไม่มี แต่คนหรือหน่วยงานที่มีอำนาจในมือเพียงพอจะจัดการจับกุมลงโทษคนเหล่านี้ ก็ไม่มีไปด้วยต่างหาก นั่นก็คือ ไม่มีรัฐเหลืออยู่อีกแล้ว

ผมไม่ได้หมายความว่าถ้ามีรัฐไทยแล้ว ทุกอย่างจะราบรื่นหมด ผมหมายความเพียงว่าอำนาจเถื่อนในรัฐไทยซึ่งมีเป็นปกตินั้น จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากรัฐ ฉะนั้น จึงไม่ทำอะไรที่หยามน้ำหน้ารัฐขนาดนั้น แต่ในช่วงนั้นทุกฝ่าย และผมขอย้ำว่าทุกฝ่าย (ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน) ไม่สนใจการยอมรับจากรัฐมากนัก หรือต่อสู้กับคู่ปรปักษ์ของตนโดยตรงโดยมองข้ามรัฐไปเลย ต่างฝ่ายต่างมีหนังสือพิมพ์ของตัว และหนังสือพิมพ์ของแต่ละฝ่ายก็ด่าประณามคู่ปรปักษ์ของตัวอย่างไม่ต้องเกรงกลัวการหมิ่นประมาทเลย ผมคิดว่าหยิบหนังสือพิมพ์สมัยนั้นมาอ่านก็จะเห็นเองว่า แทบจะฟ้องขึ้นศาลกันได้ทุกวันทีเดียว

คดีในศาลเป็นการแสวงหายอมรับจากรัฐว่าตนเป็นฝ่ายถูก ในขณะที่การเผาหรือวางระเบิดโรงพิมพ์เป็นอำนาจเถื่อน ซึ่งใช้กันในรัฐไทยค่อนข้างบ่อย และเขามักใช้ทั้งสองอย่าง แต่เท่าที่ผมจำได้ในช่วงนั้น คดีในศาลมีไม่มากเท่าการใช้อำนาจเถื่อน เช่น ตีหัวนักเขียน ยิงคอลัมนิสต์ทิ้ง เอาระเบิดไปวางไว้หน้าโรงพิมพ์ ฯลฯ ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนการอันตรธานของรัฐทั้งนั้น

ผมคิดว่า นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งผู้นำในตอนนั้นทั้งคนน้องและคนพี่ เลือกที่จะประคับประคองรักษาเงาของรัฐไทยเอาไว้ เพราะคิดว่าถ้าใช้ไม้แข็งเพื่อสถาปนารัฐให้มีสถานะเดิมให้ได้แล้ว ก็อาจนำไปสู่ความแตกแยกล่มสลายของรัฐอย่างเปิดเผยเลยก็ได้ ผมคิดว่านั่นเป็นนโยบายที่ผิดอย่างยิ่งทีเดียว และส่วนหนึ่งก็เป็นเหตุนำมาสู่ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วย

รัฐไทยที่กลับเกิดขึ้นใหม่ในเย็นวัน 6 ตุลาคม ของปีนั้น กลับเป็นรัฐที่เกิดจากการฮั้วกันของแก๊งที่หลากหลายผลประโยชน์มาก เพียงแต่ต้องสวมเสื้อคลุมขวาจัดเท่านั้น ฉะนั้น จึงทำให้แก๊งและกลุ่มที่ไม่อาจสวมเสื้อคลุมตัวนี้ได้ ต้องพากันหลุดออกไปจากรัฐเข้าป่าบ้างไปต่างประเทศบ้างไปทำนาบ้าง ไปเริ่มขบวนการ อพช. บ้าง มีเมียแล้วเลิกยุ่งกับ "แม่ง" บ้าง ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนทำให้รัฐอ่อนแอลงทั้งสิ้น เพราะรัฐไทยมีพลังที่ธำรงความหลากหลายไว้ภายในได้ต่างหาก

ผมคิดว่า สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกเปลี่ยนไปมากแล้ว หลัง 14 ตุลาคม 2516 ทุกแก๊งทุกกลุ่มต้องถูกบังคับให้ทะเลาะกัน วางระเบิดกัน และป้ายสีกัน ภายใต้รัฐให้ได้ เพื่อที่ว่าในที่สุดจะได้ร่วมกันพัฒนาเวทีสำหรับการต่อรองทางการเมือง ที่มีประสิทธิภาพกว่าระบบพี่เอื้อยของรัฐไทยขึ้นมาให้ได้ ฉะนั้น สิ่งที่บาดเจ็บที่สุดในการต่อสู้กันของฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งนำมาสู่ 6 ตุลา ก็คือประชาธิปไตย เพราะมันถูกปฏิเสธโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นในสังคมไทย ซ้ายก็ไม่เชื่อ ขวาก็ไม่ใช่ แม้แต่รัฐบาลเองก็สังเวยมันเสีย เพื่อเก็บเงาของรัฐเอาไว้เท่านั้น

ข.
ผมคิดว่า "ขบวนการนักศึกษา" (ผมขอใช้วลีนี้ไปก่อนด้วยความอึดอัด เพราะยังไม่แน่ใจว่า มีสิ่งที่อาจเรียกว่า ขบวนการนักศึกษา ได้จริงหรือไม่ ? ) ทำให้ความขัดแย้งแตกต่างออกไปจากที่เคยเกิดขึ้นในรัฐมาก่อนอย่างมาก นั่นก็คือ แปรเปลี่ยนผลประโยชน์ออกมาในรูปอุดมการณ์ การกระทำอย่างนี้มีพลังมากทีเดียว เพราะอุดมการณ์ให้แผนปฏิบัติการทางสังคมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่สำนึกว่า ใครเป็นศัตรู ใครเป็นมิตร ความขัดแย้งซึ่งเดิมเคย เป็นความขัดแย้งของแก๊งของกลุ่มจึงกลายเป็นความขัดแย้งที่กว้างกว่านั้นมาก (เช่น "ชนชั้น" หรือ "ฝ่ายประชาธิปไตย" กับ "ฝ่ายเผด็จการ" หรือ "นายทุน" กับ "แรงงาน" ฯลฯ)

ในสภาพความขัดแย้งอย่างนี้ ผลักให้ทุกฝ่ายต้องวิ่งเข้าหาฝ่ายที่มีพลังกล้าแข็งที่สุด และพลังกล้าแข็งมาจากความสามารถในการจัดตั้ง "ขบวนการนักศึกษา" เองก็มีพลังตรงนี้ และหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็มีคนวิ่งเข้าหาอยู่ไม่น้อย แต่ต่อมาก็เห็นได้ว่า พลังดังกล่าวของ "ขบวนการนักศึกษา" มีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองฝ่าย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นฝ่ายที่มีการจัดตั้งที่ดีที่สุดในสังคมไทยขณะนั้น นั่นก็คือ กองทัพ และ พคท. และสองฝ่ายนี้แหละที่ในที่สุดแล้ว ทุกฝ่ายในสังคมต่างพากันวิ่งเข้าหาเพื่ออาศัยเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มที่ขัดแย้งกับตน

ผมคิดว่า ความขัดแย้งในสังคมถูก "ลด" มาให้เหลือเป็นคู่ความขัดแย้งเดิม คือ ระหว่างกองทัพและพคท. ไม่นานหลังปี พ.ศ. 2516 ทำให้ความขัดแย้งทั้งหมดกลายเป็นเรื่องของสงครามชนชั้น หรือสงครามของผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กับคนขายชาติไป คู่ความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้มานานแล้ว ถ้าเอาวิดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลา มาดูใหม่จะเห็นยุทธวิธีปราบผู้ก่อการร้ายที่อเมริกันสอนเอาไว้มากมายหลายอย่างทีเดียว

ค.
ตลอดเวลา 3 ปีของความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มพูนขึ้นแทบทุกวินาทีนั้น คนไทยในเมืองได้สร้างวัฒนธรรมความรุนแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ประเด็นนี้มีผู้พูดไว้พอสมควรแล้ว ผมก็ขอกล่าวซ้ำแต่เพียงสองเรื่องคือ การทำลายความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามลงในวลี เช่น "หนักแผ่นดิน" "สมุนจักรวรรดินิยม" ผลของการทำลายความเป็นมนุษย์ของศัตรูสำเร็จแค่ไหน จะเห็นได้จากคำแก้ตัวของกลุ่มที่ทุบตีนักศึกษาจนเสียชีวิต แล้วจับเอาไปเผานั่งยางกลางสนามหลวง กลุ่มนี้อาจกล่าวว่า เพราะเหยื่อเป็นญวน ดูเหมือนเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำอะไรกับญวนก็ได้ เพราะญวนไม่ใช่คน

อีกกรณีหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบอาชีพครูสองคนออกโทรทัศน์ แล้วพากันหัวร่อต่อกระซิกชี้ชวนกันชมภาพวิดีโอที่แสดงการลากทึ้งศพนักศึกษาของฝูงชนกลางสนามหลวง การหัวร่อใส่ศพเช่นนั้นก็เป็นอนารยะในวัฒนธรรมไทยเหลือจะกล่าว แล้วมิพักต้องพูดถึงการกระทำเบื้องหน้าสาธารณชนทางโทรทัศน์เช่นนั้น และภาพของครูที่มีปฏิกิริยาเช่นนั้นต่อนักเรียน ก็ทำลายอุดมคติความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ที่เคยมีในวัฒนธรรมไทยลงโดยสิ้นเชิง

อีกเรื่องหนึ่งของวัฒนธรรมความรุนแรงก็คือ ตลอดช่วง 3 ปีนั้น ดูเหมือนไม่มีภูมิปัญญาสำหรับการแก้ปัญหาสังคมอะไรเหลืออยู่อีก นอกจากการใช้ความรุนแรง ประชาธิปไตยก็เป็นเพียงเครื่องมือของนายทุน และไม่มีทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นอื่นได้เลยนอกจากการปฏิวัติ แม้แต่จะสนับสนุนให้ใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้นในการคุมกำเนิด เพราะปลอดภัยแก่ผู้หญิงมากกว่า ก็ยังต้องปฏิวัติเสียก่อน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เสนอภาพของชาติที่เต็มไปด้วยเลือดของบรรพบุรุษ ซึ่งทาแผ่นดินไว้ทุกตารางนิ้ว ไม่มีความรัก ความสนุก ความเมตตา ความเอื้ออาทร หรืออะไรที่ตลกขบขันในชาติไทยเอาเสียเลย

คนไม่รู้ควรพูด เพราะจะทำให้ความไม่รู้ลดลง แต่ควรพูดพอดี ๆ เพราะถ้าพูดมากเกินไปก็จะทำให้ไม่ได้เรียนรู้อีกนั่นเอง ผมจึงขอยุติเพียงเท่านี้ แม้มีอะไรที่คันปากอีกมากก็ตาม

(ที่มา : คณะกรรมการประสานงาน 20 ปี 6 ตุลา, ตุลากาล, ตุลาคม 2539, หน้า 226-241)


 

บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งผู้นำในตอนนั้นทั้งคนน้องและคนพี่ เลือกที่จะประคับประคองรักษาเงาของรัฐไทยเอาไว้ เพราะคิดว่าถ้าใช้ไม้แข็งเพื่อสถาปนารัฐให้มีสถานะเดิมให้ได้แล้ว ก็อาจนำไปสู่ความแตกแยกล่มสลายของรัฐอย่างเปิดเผยเลยก็ได้ ผมคิดว่านั่นเป็นนโยบายที่ผิดอย่างยิ่งทีเดียว
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ผลของการทำลายความเป็นมนุษย์ของศัตรูสำเร็จแค่ไหน จะเห็นได้จากคำแก้ตัวของกลุ่มที่ทุบตีนักศึกษาจนเสียชีวิต แล้วจับเอาไปเผานั่งยางกลางสนามหลวง กลุ่มนี้อาจกล่าวว่า เพราะเหยื่อเป็นญวน ดูเหมือนเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำอะไรกับญวนก็ได้ เพราะญวนไม่ใช่คน

 

 

R
related topic
061048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

อีกกรณีหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบอาชีพครูสองคนออกโทรทัศน์ แล้วพากันหัวร่อต่อกระซิกชี้ชวนกันชมภาพวิดีโอที่แสดงการลากทึ้งศพนักศึกษาของฝูงชนกลางสนามหลวง การหัวร่อใส่ศพเช่นนั้นก็เป็นอนารยะในวัฒนธรรมไทยเหลือจะกล่าว แล้วมิพักต้องพูดถึงการกระทำเบื้องหน้าสาธารณชนทางโทรทัศน์เช่นนั้น และภาพของครูที่มีปฏิกิริยาเช่นนั้นต่อนักเรียน ก็ทำลายอุดมคติความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ที่เคยมีในวัฒนธรรมไทยลงโดยสิ้นเชิง