นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
190948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

สาร ที่ลึกไปกว่า สื่อ
Media Literacy : การรู้เท่าทันสื่อ
เขียนโดย
สุชาดา จักร์พิสุทธิ์
อาจารย์-นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความประกอบการบรรยายถวายพระนิสิตปริญญาโท
มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย - เชียงใหม่
กระบวนวิชา"พุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่"


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 674
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)




บทนำ
กลายเป็นกิจวัตรและความจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับชีวิตยุคใหม่เสียแล้ว ที่ต้องเสพข่าวสารผ่านช่องทางสื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต เคเบิ้ล และแม้กระทั่งมือถือ จนแทบจะกล่าวได้ว่าข่าวสารคือลมหายใจ แต่ท่ามกลางความท่วมท้นของข่าวสารที่ทวีการแข่งขันตลอด 24 ชั่วโมง ก็มีคนที่เพิ่มพูนความเบื่อหน่ายและวิตกกังวลต่อข่าวสารเหล่านี้มากขึ้นทุกทีเช่นกัน

"ขยี้กามฆ่าเปลือยสาวศพยัดตู้เย็น"
"โจรใต้เหิมบึ้มป่วนเมืองนราฯเละ"
"โจ๋ไทยเหลวแหลกเสพเซ็กส์บนรถเมล์" ฯลฯ

คนที่อ่านหนังสือพิมพ์หรือติดตามข่าวทีวีทุกวันด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ เชื่อได้ว่าน่าจะบังเกิดความรู้สึกสลดหดหู่ จนถึงคิดไปว่าสังคมช่างมืดมน เต็มไปด้วยวิกฤตที่แก้ไขไม่ได้ สู้เอาตัวรอดเฉพาะตนดีกว่า… ทัศนคติเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ดังที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า

ท่ามกลางครัวเรือนไทย 96% ที่มี โทรทัศน์ ร้อยละ 71 ของข่าวสารทางโทรทัศน์และวิทยุ เป็น"ข่าวร้าย" หรือเรื่องที่ชวนให้รู้สึกหมดหนทางต่อสู้ (helplessness - invoking) ในขณะที่ "ข่าวดี"หรือเรื่องที่ชวนให้มีความหวัง มีเพียงร้อยละ 12 เช่นกันกับที่ "โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย " โดย พญ. จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ พบว่า

- เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ชมภาพความรุนแรง เช่น ตีกัน ฆ่ากันทั้งจากข่าวและละครหรือโฆษณาวันละ 501 ครั้ง
- เด็กประถมทั้งชาย-หญิง ชมรายการการ์ตูนที่เน้นไปในทางเพศเป็นอันดับ 1 ชมละคร อันดับ 2 และชมรายการเกมโชว์ เป็นอันดับ 3
- วัยรุ่นทั้งหญิง-ชาย ชมละครอันดับ 1 เกมโชว์อันดับ 2 และเพลงอันดับ 3
- วัยรุ่นหญิงที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ใช้เวลาดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง
- เด็กๆ ทั่วไปใช้เวลาเรียนหนังสือในโรงเรียนปีละ 900 - 1,000 ชั่วโมง ในขณะที่ใช้เวลาดูโทรทัศน์ ปีละ 1,000 - 1,200 ชั่วโมง
- เว็บไซต์ที่มีทั่วโลก 7 ล้านเว็บ เป็นเว็บโป๊ 2 ล้านเว็บ โดยเด็ก 1 ใน 5 ทั่วโลกที่ใช้อินเตอร์เน็ตได้รับเมล์ที่ส่อการล่อลวงทางเพศ

คงไม่ต้องพรรณนาถึงอิทธิฤทธิ์ของสื่อมากไปกว่านี้ และนี่คงไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย หากแต่เป็นการมองให้เห็นถึงผลร้ายของสารที่อยู่ลึกลงไปในสื่อ

เราไม่ปฏิเสธความสำคัญของข่าวสารในฐานะกลไกการสื่อสารของสังคม แต่เราต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า สื่อสารมวลชนที่ทำหน้าที่สื่อข่าวสารดังกล่าวคือผลผลิตของสังคมเช่นกัน ดังนั้น จึงอาจเต็มไปด้วยอวิชชา อคติและกิเลส ที่เราในฐานะ"ผู้รับสาร"ต้องรู้เท่าทันและสร้างภูมิคุ้มกันตนเองและลูกหลานเรา นี่คือสิ่งที่แวดวงวิชาการเรียกว่า "การรู้เท่าทันสื่อ" หรือ Media Literacy

น่าเสียใจอยู่บ้าง ที่ทั้งแวดวงวิชาการและวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนของไทย ยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ อันเป็นทั้งศาสตร์ ( knowledge )และทักษะชีวิต ( life skill ) ที่สำคัญยิ่งต่อยุค "ข่าวสารคืออำนาจ"นี้ และเป็นคุณสมบัติของประชาชนผู้กระตือรือร้น ( active citizen ) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ในขณะที่นานาประเทศในโลก ได้สร้างและใช้องค์ความรู้ด้านนี้กันอย่างแพร่หลาย

ตั้งแต่การบรรจุเป็นหลักสูตรทักษะชีวิต หรือหลักสูตรสร้างเสริมประสบการณ์แก่เด็กๆ นับแต่อนุบาลขึ้นมา ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีทั้งงานวิจัย พัฒนา และเป็นหลักสูตรสาขาวิชาและ course work นอกจากนี้ เฉพาะเว็บไซต์ว่าด้วย Media Literacy ที่พบในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ก็มีมากกว่า 9,000 เว็บ

นิยามของ Media Literacy ที่ว่าคือ The ability to Access , Analyze ,Evaluate and Communicate information in a variety of form .เราอาจถอดความได้ว่า คือความสามารถในการเข้าถึง การวิเคราะห์วิพากษ์ การประเมินคุณค่า และทักษะการตอบสนอง (สื่อสาร) ต่อข่าวสารในรูปแบบต่างๆ โดยนัยนี้ เราจำเป็นต้องติดตั้งความคิดไว้เป็นสมมุติฐานในการเสพข่าวสารเสมอว่า"กูไม่เชื่อมึง"

อันหมายถึงการตั้งคำถามต่อที่มาที่ไปของข่าวสารนั้น สงสัยว่าทำไมจึงสัมภาษณ์คนนั้นไม่สัมภาษณ์คนนี้ ตัวละครใดที่หายไปในข่าว ความเกี่ยวข้องของข่าวนี้ต่อข่าวนั้น ทำไมคนคนนี้เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นประจำ ทำไมไม่พูดถึงคนจนๆ ที่ได้รับผลกระทบ ทำไมจึงระบุว่าแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย เป็นต้น รวมถึงการขวนขวายที่จะได้รับข่าวสารจากหลากหลายทิศทางเพื่อถ่วงดุล เช่น สอบถามข้อมูลจากญาติมิตร ตรวจสอบข่าวสาร( message )จากสื่อ (media)ที่แตกต่างกัน เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปคือ การรู้เท่าทันสื่อจำต้องอิงอาศัยฐานคิดของคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ชอบตกอยู่ภายใต้อิทธิพล ไม่ประมาท แต่ชอบใช้ปัญญาและการคิดเชิงวิเคราะห์ ซึ่งในที่สุดก็คือการยึดหลักกาลามสูตร ของพุทธศาสนานั่นเอง

แนวทางการรู้เท่าทันและวิเคราะห์สื่อ ( code of conduct ) ประมวลได้ดังนี้
1. สื่อคือสิ่งที่สร้างขึ้น - Media are Constructions
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อคือสถาบันที่เกิดจากเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ และได้กลายเป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสังคม ดังนั้น สื่อจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในตัวของมันเอง ในขณะเดียวกันสื่อก็ได้วิวัฒน์ไปสู่การเป็นผู้ผลิตความรู้ ความจริงและวาทกรรมแก่สังคม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทว่า คำถามคือสื่อสร้างความรู้และความจริงชนิดไหน ?

ในความเป็นจริง สื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่าความรู้แฝง ( tacit knowledge ) และความจริงเทียม ( virtual reality ) ผ่านตัวบุคคลผู้ประกอบอาชีพสื่อ (ดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นผลผลิตของสังคม) โดยข่าวสารที่ส่งผ่านเทคโนโลยีสื่อมาถึงตัวเรา ได้ผ่านการคิดค้น จัดทำวิธีการนำเสนอตามข้อจำกัดของเครื่องมือ/สื่อ เช่น ต้องแข่งกับเวลา (จึงหาข้อมูลได้เพียงเท่านี้) มีเนื้อที่น้อย (จึงต้องตัดต่อและคัดเลือก) อยากให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย (จึงต้องนำเสนอแบบหวือหวาโดนใจวัยรุ่น)

แม้กระนั้น สื่อก็ได้สร้างความรู้แฝงและความจริงเทียม ที่ทำให้ผู้รับสารซึมซับรับรู้เสมือนหนึ่งเป็นความจริงหรือประสบการณ์ของตน ความข้อนี้ เราคงเห็นได้ชัดเจนจากโฆษณาที่ปรากฏเป็นภาพและเสียงที่แสนจะน่าเชื่อถือ เป็นจริงในทีวี ทำให้สาวๆยุคใหม่มีค่านิยมความงามที่จะ"ขาวอมชมพู" และเชื่อว่าบันดาลได้จริงด้วยสินค้าที่ปรากฏในโฆษณา

ส่วนภาพที่เราเชื่อว่า camera never lies ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน เราคงไม่ลืมเหตุการณ์กรือเซะที่ปัตตานี เมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงรูปหน้าหนึ่ง เป็นผู้ตายในเหตุการณ์ที่กำมีดสปาตาร์ไว้ในมือ ซึ่งสื่อสารถึงความเป็นโจรก่อการร้ายที่โหดเหี้ยมและมีขบวนการหนุนหลัง นำมาซึ่งความประหวั่นพรั่นพรึงของสังคม ที่มีผลส่งเสริมความชอบธรรมในการปราบปรามอย่างรุนแรง แม้ว่าในที่สุด หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจะได้ออกมาขอขมาลาโทษต่อผู้อ่าน และสารภาพว่าใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการตัดแต่งภาพ แต่ผลกระทบคือ มีคนจำนวนมากซึมซับรับรู้ทัศนคติและเชื่อว่าเป็นความจริงไปเสียแล้ว

ยังไม่นับข่าวสารทางเดียวที่ถูกสร้างขึ้นแบบมี "พระเอก-ผู้ร้าย" โดยเฉพาะในเหตุการณ์การวมกลุ่มของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการขนาดใหญ่ หรือเรียกร้องการแก้ปัญหาจากรัฐด้วยกลวิธีการรายงานข่าวแต่เพียงตัวเหตุการณ์ ใคร ทำอะไร ฯ ก็ได้สั่งสมความรู้แฝงแก่สังคมไทยว่า นี่เป็นความวุ่นวายอันเกิดจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ขัดขวางการพัฒนา เป็นต้น

2. สื่อมีเป้าหมายทางธุรกิจ/โฆษณา - Media Constructions have Commercial purposes
เนื่องเพราะสื่อไม่ใช่องค์กรสาธารณะกุศล หากแต่เป็นองค์กรธุรกิจที่ต้องแสวงหากำไร ด้วยขนาดการลงทุนค่อนข้างสูงและต้องจ้างบุคลากรจำนวนมาก ว่ากันว่าถ้ากู้เงินได้ไม่ถึง 100 ล้าน ก็อย่าหวังจะลงทุนด้านโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ยิ่งเมื่อสื่อต้องระดมทุนโดยการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ สื่อก็หมดสิ้นความเป็นพื้นที่สาธารณะไปแล้ว สื่อทุกชนิดจึงอยู่ได้ด้วยรายได้จากธุรกิจโฆษณา เช่นที่หนังสือพิมพ์มีราคาขายฉบับละ 8 บาท หากแต่ต้องลงทุนเฉลี่ยฉบับละ 80 - 100 บาท

ความจริงที่เกิดขึ้นคือ สื่อย่อมไม่สามารถทำหน้าที่โดยเที่ยงธรรม หากข่าวสารใดมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และธุรกิจของผู้มีอำนาจ สื่อก็อาจหลีกเลี่ยงหรือนำเสนอแต่เพียงผิวเผิน หรือแม้กระทั่งจงใจบิดเบือนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อุปถัมป์โฆษณาเสียด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้ อัตราการเติบโตของรายได้จากโฆษณาของโทรทัศน์และวิทยุ มีสัดส่วนถึง 4.4 ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ( GDP) ของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่โทรทัศน์ช่องต่างๆ แอบเพิ่มเวลาโฆษณาและรายการบันเทิงจนล้นจอ เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่โฆษณา ทั้งโดยเปิดเผยและยัดเยียดอย่างแยบยล เราคงเห็นได้ชัดเจนจากรายการเกมโชว์

ส่วนละครก็มักมีฉากห้างสรรพสินค้าหรือโต๊ะอาหารที่ปรากฏตราสินค้า อันเป็นเทคนิคการโฆษณาที่เรียกว่า การสร้างความคุ้นเคยและภักดีต่อสินค้า ( product royalty ) ลามปามไปจนถึงข่าวธุรกิจการตลาด ที่นำเสนอเสมือนหนึ่งเป็นข่าวสารหรือเหตุการณ์ในรอบวัน แต่เนื้อแท้คือการโฆษณาที่บริษัทธุรกิจต้องจ่ายเงินซื้อเวลา หรือแม้แต่การที่สื่อทำเสมือนหนึ่งการให้ผู้รับสาร มีส่วนร่วมในรายการอย่างการส่ง SMS เพื่อตอบคำถามไร้สาระหรือแสดงความคิดเห็น ที่แท้ก็เป็นความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสื่อกับบริษัทมือถือ ที่มีวัตถุประสงค์หารายได้จากบริการโทร SMS นั่นเอง

3. สื่อสร้างค่านิยมและอุดมคติ - Media messages contain Values and Ideologies
วัฒนธรรมและระบบคุณค่าของสังคมหนึ่งๆ ย่อมเกิดจากการสั่งสม ผลิตซ้ำและการยอมรับจนเป็นแบบแผนในการคิดและการดำเนินชีวิต ฉะนั้น ความรู้แฝงและความจริงเทียมที่สื่อผลิตขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทบโสตประสาททุกส่วนของเรา จึงมีผลประทับรับรู้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะแก่ผู้ที่มีวุฒิภาวะน้อยอย่างเด็กและเยาวชน ดังเช่นละครโทรทัศน์ที่มีแนวเรื่องพาฝัน ชิงรักหักสวาท หมกมุ่นอยู่กับความร่ำรวยสวยงาม หรือตัวประกอบละครที่มักเป็นผู้เบี่ยงเบนทางเพศ ก็มีส่วนปรับแต่งทัศนะของสังคมที่มีต่อเพศที่สาม และทำให้พฤติกรรมเพศที่สามขยายตัวขึ้น

ไม่มากก็น้อย ที่สื่อเป็นผู้ชี้นำทัศนะและท่าทีต่อความดี ความงามและความจริงของสังคม ตัวอย่างกรณีดาราสาว "แหม่ม"แคทลียา แม็คอินทอช ที่ปรากฏเป็นข่าวว่าท้อง 5 เดือนโดยปิดบังและอ้างว่าไม่รู้ สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และวิทยุ พากันประโคมข่าวถี่ยิบราวกับเกิดเหตุสำคัญระดับประเทศ! ทั้งยังแสดงความคิดเห็นจาบจ้วงล้วงลึกไปในชีวิตส่วนตัวพร้อมกับตัดสินเธอให้สังคมคล้อยตามว่า เธอโกหกและประพฤติไม่สมกับความชื่นชอบที่ผู้ชมมีให้ ทั้งที่ในความเป็นจริง เธอก็คือหญิงสาวคนหนึ่งในวัยเจริญพันธุ์ที่มีความรักและอยู่ก่อนแต่งกับชายคนรัก เช่นเดียวกับหญิงชายอีกจำนวนมากมายมหาศาลของยุคสมัยปัจจุบัน

ที่สำคัญไปกว่านี้ อย่างกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยได้สั่งสม อคติ ความไม่เข้าใจและโลกทัศน์ต่อวัฒนธรรม ความเชื่อและความแตกต่างทางเชื้อชาติของมุสลิม จาก"สาร"ที่ส่งผ่านสื่อและระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นความรุนแรงที่ไร้รูปรอย หากแต่ฝังลึกและส่งทอดแก่กันได้

เช่นกันกับที่เรามีทัศนะต่อความจนและคนจนว่า เพราะขี้เกียจหรือเป็นกรรมเก่า เมื่อใดที่คนจนรวมตัวกันเรียกร้องต่อสู้ เราก็พร้อมจะเชื่อว่ามีมือที่สามยุยง เราจึงเอือมระอาต่อการต่อสู้ของสมัชชาคนจน และเห็นว่ารัฐย่อมมีสิทธิกระทำการอย่างใดกับคนของรัฐได้ !

แล้วก็มาถึงพัฒนาการของการชี้นำจากสื่ออีกขั้นหนึ่ง เมื่อโทรทัศน์ทุกช่องเข้าสู่สงครามแข่งขันด้านข่าวร้อนข่าวด่วน โดยมีกลยุทธ์คือผู้ประกาศข่าว เล่าข่าว รายงานข่าว ที่เป็นที่นิยม มานั่งอ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกเช้า พร้อมด้วยลีลาการวิจารณ์ แสดงความคิดเห็นต่อเนื้อข่าวและบุคคลในข่าวอย่างเผ็ดมันฮา สิ่งที่น่าวิตกคือ ผู้รับสารกำลังได้รับสารสำเร็จรูปที่ผ่านการย่อยแล้ว จากมุมมองและการแสดงของผู้ดำเนินรายงาน ยิ่งนักเล่าข่าวที่เป็นที่นิยมสูงได้รับความเชื่อถือมาก ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าการใส่ความคิด อุดมการณ์และการชี้นำในข่าวสาร ซึ่งจะมีผลครอบงำผู้รับ โดยเฉพาะผู้หญิงและเยาวชนที่มีพื้นฐานด้านข่าวน้อย เช่นที่เมื่อเกิดเหตุหญิงคนหนึ่งจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ตำรวจเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่ยอม แต่เธอเรียกร้องขอพูดกับคนที่เธอไว้ใจและเชื่อถือ นั่นคือ"สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา" !

4. สื่อทำให้มีผลที่ตามมาทางการเมืองและสังคม - Media Messages have Social and Political Consequences
สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองและแสดงบทบาททางการเมืองเองอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสื่อในทุกประเทศอ่านสังคมได้อย่างฉับไว และพร้อมจะเล่นบทยืนข้างประชาชน ดังเช่นสื่อมวลชนไทยในช่วงเหตุการณ์"พฤษภาทมิฬ 2535" ที่นำมาซึ่งการเชิดชูอุดมการณ์สื่อเสรี จนก่อเกิดโทรทัศน์ช่องใหม่ ที่บัดนี้เปลี่ยนสีแปรธาตุไปสู่ธุรกิจอย่างเต็มตัว ภายใต้เม็ดเงินการถือหุ้นใหญ่จากกลุ่มบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น

วัฒนธรรมการทำข่าวของสื่อ โดยการเกาะติดกับนักการเมืองและศูนย์อำนาจ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้ข่าวสารทางเดียวจากปากนักการเมืองไหลลงสู่ประชาชนผู้รับสารเพียงข้างเดียว สถานการณ์การรุกรานสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และการยึดครองพื้นที่สื่อรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการเข้าจัดการควบคุมเนื้อหาและกำราบบุคคลผ่านระดับบริหารของสื่อที่เป็นเครือญาติ เช่น ไล่ออก ถอดบทความ หรือโดยการกว้านซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อกุมอำนาจบริหารเอง รวมถึงการตอบโต้ทั้งทางลับและทางแจ้งแก่สื่อมวลชน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม จนกล่าวได้ว่า พื้นที่ทางสังคมที่เหลืออยู่ของภาคประชาชนซึ่งคือ"สื่อ" ตกอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทุกวันนี้ เราจึงเสพข่าวสารจำนวนมากที่มีวาระซ่อนเร้น ( Hidden agenda) และเป็นข่าวที่ถูก"สร้าง" ขึ้น ( Agenda setting ) ด้วยอำนาจและการสมรู้ร่วมคิด ตัวอย่างข่าวครึกโครมกรณีนายกรัฐมนตรีดำริจะซื้อสโมสรฟุตบอล"ลิเวอร์พูล" ในห้วงเวลาเดียวกับความวุ่นวายในพรรคไทยรักไทยเพื่อปรับ ครม. ทำให้สังคมทั้งสังคมหันไปฮือฮาจับตาข่าวสร้างดังกล่าวนี้ทันที หรือตัวอย่างข่าวการระบาดของไข้หวัดนกรอบใหญ่ ที่สร้างความตื่นตระหนกจนคนไม่กล้าบริโภคไก่ พลันเมื่อปรากฏเกม"กินไก่โชว์" โดยนักการเมืองและดาราดังคับคั่ง สื่อก็ร่วมประโคมข่าวกันทั่วประเทศ โดยไม่ได้นำเสนอข้อมูลด้านแย้งหรือบทเรียนอื่นแต่อย่างใด

5. สื่อแต่ละชนิดมีเอกลักษณ์และข้อจำกัด - Each Medium has a unique Aesthetic Form
หรือพูดอีกอย่างได้ว่า สื่อแต่ละชนิดมีธรรมชาติของมันเอง เพราะในทางศาสตร์และศิลป์ของสื่อทุกประเภท แม้จะจำแนกเป็น สาร = Media content กับ สื่อ = Media form เท่านั้น หากแต่รายละเอียด ขั้นตอน เทคนิคและเครื่องมือ มีความแตกต่างอย่างมาก ซึ่งในกระบวนการผลิตนี้แหละ ที่ทำให้"สาร"บางอย่างถูกตัดตอน ปรับแต่ง ลดปริมาณและคุณภาพ รวมถึงอาจกลายเป็นการสร้างความจริงเทียมขึ้นในที่สุด

ยกตัวอย่างการายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ ที่มักรายงานแต่เพียงตัวเหตุการณ์ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร โดยปราศจากบริบทแวดล้อมและความเกี่ยวข้องของปัญหาอื่นๆ รวมถึงการจำกัดบุคคลในข่าวแต่เพียงผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำและผู้เห็นเหตุการณ์ แต่ไม่สืบค้นคลี่คลายประเด็น "ทำไม / อย่างไร" ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของ"สาร" ก็ด้วยข้ออ้างเรื่องความจำกัดของเวลา การเร่งรีบปิดข่าวให้ทันการตีพิมพ์ จนแม้กระทั่งตัดทอนรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญลงเหลือเพียงข้อมูลฉาบฉวยและสีสันทางอารมณ์ เช่น

การชุมนุมเรียกร้องการแก้ปัญหาเขื่อนและที่ดินของสมัชชาคนจน หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 90 วัน สื่อก็ไปรายงานที่ตัวเหตุการณ์ มีคนมาชุมนุมเท่าไร ข้อเรียกร้อง 1,2,3 วันนี้ชาวบ้านสมัชชาคนจนลงไปอาบน้ำในคลองแสนแสบ วันนี้ ชาวบ้านยิงธนูเข้าทำเนียบโดยผูกจดหมายไว้ที่ปลายลูกศร และถ่ายรูปลงหน้าหนึ่งจนดูน่าตื่นเต้น…เป็นต้น

แต่สำหรับผู้รับสารที่เท่าทันสื่อ ย่อมมีคำถามเกิดขึ้นทันทีว่า แล้วเนื้อหาสาระที่เขียนไว้ในจดหมายนั้นว่าอย่างไร ทำไมคนจนเหล่านี้จึงยืนหยัดตากแดดตากฝนอยู่หน้าทำเนียบแทนที่การนอนหลับอุ่นสบายในบ้านเกิด ? เราแทบไม่รู้เลยว่า ก่อนหน้าการชุมนุมหน้าทำเนียบของสมัชชาคนจน พวกเขาร้องเรียนตามขั้นตอนและรอคอยอย่างสิ้นเนื้อประดาตัวมา 13 ปีแล้ว !

โทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่ให้ทั้งเสียงและภาพ ดูเป็นจริงและน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่า ฝ่ายการตลาดของเขาสำรวจพฤติกรรมการรับชมทีวีของเราตลอดเวลา เพื่อจะผลิตรายการที่สะกดเราไว้หน้าจอ พร้อมกับที่สามารถอ้างกับบริษัทโฆษณาและเจ้าของสินค้าได้ว่า ช่องของตนมี rating สูง เหมาะแก่การจ่ายเงินโฆษณาเพียงใด และเรายิ่งไม่รู้เลยว่าการทำ spot โฆษณาแต่ละชิ้นนั้น ผ่านการวางแผน ออกแบบวิธีนำเสนอ การคิดถ้อยคำกินใจ การคัดเลือกตัวแสดง ฯ กันขนาดไหน รวมถึงการใช้เทคนิคปรับแต่งตัวแสดงโฆษณาให้มีผิวขาวอมชมพู หน้าตึงเนียนราวกับผิวพลาสติคในชั่วพริบตาได้อย่างไร ? ส่วนรายการเกมโชว์ที่มีเสียงปรบมือเฮฮาราวกับเป็นรายการที่มีผู้ชมในห้องส่งล้นหลาม และเป็นรายการที่แสนสนุกนั้น แท้จริงคือเสียงจากเครื่องอัดเทปเท่านั้นเอง

สำหรับวิทยุ ซึ่งปัจจุบันมักเป็นธุรกิจแตกขยายขององค์กรสื่อใหญ่ๆ ที่พยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันข้ามสื่อ ก็ไม่ต่างไปจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เพียงแต่ข้อจำกัดตามธรรมชาติของสื่อประเภทนี้ ที่คนมักหมุนเปลี่ยนคลื่นกันบ่อยๆ ทำให้เนื้อหารายการหลักของสื่อวิทยุยังคงเน้นไปที่การเปิดเพลงและโฆษณาสินค้า

กล่าวได้ว่า ยิ่งเทคโนโลยีด้านการสื่อสารก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ สื่อยิ่งต้องแข่งขันกันมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งทำให้สื่อใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไปในการสร้างเทคนิควิธี กลยุทธ์เอาชนะใจ"ลูกค้า" คือผู้รับสารมากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนว่า เทคโนโลยีคือเครื่องมือของการผลิตความจริงเทียมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นการทำความเข้าใจสื่อและสารที่สื่อผลิตขึ้น ในมุมของการเรียนรู้และการวิเคราะห์ผู้กระทำ ยังไม่ได้พูดถึงส่วนของ"ผู้รับสาร" คือเราทั้งหลายที่ถูกกระทำในกระบวนการสื่อสารทางเดียวจากสื่อทุกประเภท โดยแนวทางของการรู้เท่าทันสื่อ อันได้แก่

- การตั้งคำถาม
- การวิจารณ์ วิพากษ์ และการคิดเชิงวิเคราะห์
- การเป็นผู้บริโภคที่กระตือรือร้น แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม ความเห็นเพิ่มเติม
- การตอบสนอง / ตอบโต้ / สร้างผลสะท้อน ( Feed back ) ไปสู่สื่อมวลชน
- การรวมตัวจัดตั้ง เป็นกลุ่มหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
- การผลักดันกติกา กฎระเบียบเพื่อการควบคุม / ตรวจสอบสื่อ
- การณรงค์ การใช้มาตรการทางสังคมและจริยธรรม เช่น การคว่ำบาตรสื่อ (boycott)
- การมีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายปฏิรูปสื่อ มาตรา 40 … เป็นต้น

ยังเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนและลงมือสร้างปฏิบัติการณ์ด้วยตัวของผู้บริโภคสื่อทุกคนซึ่งไม่สามารถคาดหวังให้ใครรับเหมาทำแทนให้ การรู้เท่าทันสื่อจากการลงมือทำจึงเป็นเรื่องยาก และจำเป็นต้องอาศัยพลังจากภาคสังคม เช่น การสร้างกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อในเด็กเล็ก ค่ายเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ หลักสูตรรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เว็บไซต์รู้เท่าทันสื่อ งานเขียนเผยแพร่ให้รู้เท่าทันสื่อ การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อ การคิดค้นรูปแบบและกลยุทธ์การกระตุกเตือนสังคมให้รู้เท่าทันสื่อ ฯลฯ อีกมากมาย

คาถาที่ต้องท่องให้ขึ้นใจก่อนก็คือ …
การรู้เท่าทันสื่อคือการรู้เท่าทันบริโภคนิยม
การรู้เท่าทันสื่อคือการรู้เท่าทันการเมือง
การรู้เท่าทันสื่อคือการรู้เท่าทันสังคมและตนเอง


 

 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 670 เรื่อง หนากว่า 9000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
เชิญชวนผู้สนใจภาษาอังกฤษ นำเสนอคำศัพท์ใหม่ๆ พร้อมคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลก และความคิดร่วมสมัย ทั้งในมิติด้านการมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ความจริงที่เกิดขึ้นคือ สื่อย่อมไม่สามารถทำหน้าที่โดยเที่ยงธรรม หากข่าวสารใดมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และธุรกิจของผู้มีอำนาจ สื่อก็อาจหลีกเลี่ยงหรือนำเสนอแต่เพียงผิวเผิน หรือแม้กระทั่งจงใจบิดเบือนให้
เป็นประโยชน์แก่ผู้อุปถัมป์โฆษณาเสียด้วยซ้ำ



ท่ามกลางครัวเรือนไทย 96% ที่มี โทรทัศน์ ร้อยละ 71 ของข่าวสารทางโทรทัศน์และวิทยุ เป็นข่าวร้ายหรือเรื่องที่ชวนให้รู้สึกหมดหนทางต่อสู้ ในขณะที่ข่าวดีหรือเรื่องที่ชวนให้มีความหวัง มีเพียงร้อยละ 12 เช่นกันกับที่ โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย โดย พญ. จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ พบว่า

เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ชมภาพความรุนแรง เช่น ตีกัน ฆ่ากันทั้งจากข่าวและละครหรือโฆษณาวันละ 501 ครั้ง - เว็บไซต์ที่มีทั่วโลก 7 ล้านเว็บ เป็นเว็บโป๊ 2 ล้านเว็บ โดยเด็ก 1 ใน 5 ทั่วโลกที่ใช้อินเตอร์เน็ต ได้รับเมล์ที่ส่อการล่อลวงทางเพศ

 

ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี