ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
related topic
240848
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 648 หัวเรื่อง
การแทรกแซงสื่อโดยอาณาจักรทุน
จรัล มานตรี : ถอดความ
นักศึกษา ป.เอก คณัวารสารศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

อิสรภาพของสื่อภายใต้ทุนนิยม
การแทรกแซงและครอบงำสื่อนิตยสารโดยอาณาจักรทุน

จรัล มานตรี : ถอดความ
นักศึกษา ป.เอก คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


ถอดความจากบทความเรื่อง
"Squeeze" ใน Columbia Journalism Review, September
October 1997, pp.30-36. โดย : Rass Baker


เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)




บทนำ
ในครั้งอดีต เมื่อกล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของสื่อมวลชน จะหมายถึง การนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล เสนอแนะข้อคิดเห็น และประกาศโฆษณา แต่ภายใต้ระบบธุรกิจทุนนิยม ปรัชญาความเชื่อในเรื่องนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ การนำเสนอข่าวสารข้อมูลและการเสนอแนะข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของสื่อมวลชน จะต้องไม่กระทบต่อวิถีทางของการแสวงหากำไรของ "อาณาจักรทุน" (กลุ่มทุนที่มีธุรกิจหลากหลายมากมาย) ที่ครอบครองสื่อมวลชนนั้น และยิ่งนับวันสื่อมวลชนก็ยิ่งถูกยึดครองโดยอาณาจักรทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แพร่กระจายไปทั่วโลก

มีการสำรวจพบว่า อาณาจักรทุนในสหรัฐอเมริกาครอบครองสื่อมากที่สุด ส่งผลให้เกิดการแทรกแซงและครอบงำการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง อาณาจักรทุนของสหรัฐอเมริกา ก็ยังกระทำการแทรกแซงและครอบงำในลักษณะเดียวกันกับที่กระทำการในประเทศอื่นเช่นเดียวกัน และจากบทความเรื่อง "Squeeze" ที่ตีพิมพ์ใน Columbia Journalism Review, September/October 1997, pp.30-36. ได้แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของการแทรกแซงและครอบงำการนำเสนอเนื้อหาในนิตยสารต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาโดยอาณาจักรทุน

มาตรการเซนเซอร์ล่วงหน้าและคำสั่งถึงกองบรรณาธิการ
ด้วยความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไคร์สเลอร์ จึงพยายามจะเซนเซอร์เนื้อหาบางส่วนหรือทั้งหมด ของบทความที่จะลงตีพิมพ์ในนิตยสารที่ทางบริษัทได้ซื้อหน้าโฆษณาเอาไว้ บริษัทไม่ต้องการให้มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ การเมือง หรือปัญหาสังคม หรือเรื่องราวใด ๆ ก็ตามที่อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมาหรือมีลักษณะของการล่วงละเมิดใด ๆ และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว นิตยสารทุกฉบับที่มีโฆษณาของไคร์สเลอร์จะต้องเขียนโครงเรื่องของบทความ งานเขียนต่าง ๆ ที่จะบรรจุอยู่ในนิตยสารของตนทั้งฉบับส่งให้ เพนตาคอม (PentaCom) -หน่วยงานควบคุมงานโฆษณาของไคร์สเลอร์ก่อน เพื่อตรวจสอบและแก้ไขตามที่บริษัทต้องการ

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากบริษัทไคร์สเลอร์จะใช้วิธีการเซนเซอร์เนื้อหาของนิตยสารที่อาจส่งผลลบต่อธุรกิจโดยวิธีการเรียกดูบทความ และงานเขียนทุกชิ้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว บริษัทยังได้มีคำสั่งไปยังบรรณาธิการและผู้บริหารระดับสูงของนิตยสาร ให้ใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนรอบคอบทุกครั้งเสมอ ก่อนจะนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ การเมือง หรือปัญหาสาธารณะ

มิลตัน กลาสเซอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารนิวยอร์ค กล่าวถึงพฤติกรรมของบริษัทไคร์สเลอร์ว่า ถือเป็นการทำลายล้างแนวความคิดที่ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการตรวจสอบของสื่อมวลชน

สำหรับกลาสเซอร์ผู้นี้เป็นหนึ่งในบรรดาสื่อมวลชนที่พยายามปลุกเร้าให้บรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของนิตยสารต่าง ๆ ต่อต้านการเข้าแทรกแซงในลักษณะนี้ โดยกล่าวว่า "ถ้าไคร์สเลอร์สามารถกระทำสิ่งนี้ได้ เจ้าของโฆษณาสินค้าตัวอื่นๆ ก็อาจเรียกร้องได้ในลักษณะเดียวกัน และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นิตยสารเหล่านั้นไม่สามารถปฏิเสธได้ มันอาจทำให้เจ้าของโฆษณามากกว่าสามสิบหรือสี่สิบรายการ สามารถเข้าทำการตรวจสอบเนื้อหาของนิตยสารของคุณ สิ่งนี้ถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง"

คำกล่าวของกลาสเซอร์มิได้เกินจริงเลย เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความลำบากใจให้แก่เหล่าบรรดาบรรณาธิการ ที่ต้องพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากการโฆษณาเป็นอย่างมาก เพราะขณะที่ต้องเอาใจสปอนเซอร์ทั้งหลาย ตัวนิตยสารเองก็จำเป็นที่จะต้องสร้างสรรค์เนื้อหา ให้อยู่ในความสนใจของประชาชนกลุ่มเป้าหมายเช่นเดียวกัน

ประมวลเหตุการณ์การแทรกแซงกองบรรณาธิการของอาณาจักรทุนในสหรัฐ
ลำดับเหตุการณ์ที่จะนำเสนอต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นจริงในสหรัฐอเมริกา จากการที่กลุ่มธุรกิจทุน และอาณาจักรทุนได้ดาหน้าเข้าแทรกแซงการบริหารงานของกองบรรณาธิการนิตยสาร โดยใช้งบโฆษณาเป็นเครื่องมือต่อรอง

- มีกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่ง ( ไม่มีการระบุว่าคือใคร) ทุ่มเงินงบค่าโฆษณาจำนวนมหาศาลเพื่อเข้าแทรกแซงนิตยสารรายสัปดาห์ 3 ฉบับ คือ Times, Newsweek, และ U .S. News โดยกลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้สั่งการให้บรรณาธิการของนิตยสารทั้ง 3 ฉบับ ตรวจสอบเนื้อหาที่จะนำเสนออย่างละเอียด โดยจะต้องไม่มีเนื้อหาใดที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจของพวกเขา

นอกจากนั้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี กลุ่มธุรกิจที่ว่ายังได้มีการสั่งการลงไปอีกด้วยว่า ในส่วนของเนื้อหาคอลัมน์ที่เกี่ยวข้องกับข่าว นิตยสารเหล่านี้จะต้องเดินตามกรอบที่ทางกลุ่มธุรกิจได้วางเอาไว้ให้อีกด้วย จากนั้นจะมีการพิจารณาเลือกสรรนิตยสารเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ที่ปฏิบัติงานตามกรอบที่ทางบริษัทได้วางไว้ให้ หากพบว่าบริษัทใดปฏิบัติการได้อย่างเคร่งครัดที่สุด ก็จะได้รับมอบงบโฆษณาทั้งหมดที่เหลือของปีนั้น ๆ ให้เป็นของรางวัลตอบแทนความดีงาม

- บริษัทคิมเบอรี-คลาร์ก (Kimbery-Clark) ผู้ผลิตผ้าอ้อมเด็กฮักกี้ (Huggies) ได้ลงโฆษณาในนิตยสารต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งรวมถึง นิตยสาร Child, American Baby, Parenting Parents, Baby Talk, และ Sesame Street Parents บริษัทคิมเบอรี-คลาร์กได้ร้องขอให้นิตยสารภายใต้สังกัดเขียนเรื่องบางเรื่องขึ้นมา และแทรกโฆษณาของตัวเองเข้าไปด้วย แม้ว่าเนื้อหาดังกล่าวอาจไม่กลมกลืนกับนิตยสารฉบับนั้นก็ตาม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ บรรณาธิการระดับสูงผู้หนึ่งได้กล่าวว่า บางครั้งเราก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่เจ้าของบริษัทสินค้าที่ลงโฆษณากับเรา การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เนื้อหาบางส่วนที่เหมาะสม ซึ่งควรจะได้รับการนำเสนอผ่านทางหน้านิตยสารในคราวนั้น ต้องถูกตัดออกไป ส่งผลให้องค์ประกอบโดยรวมของนิตยสารเสียสมดุลไปได้ในที่สุด

- เฮเลน เกอร์เล่ย์ (Helen Gurley) แห่งนิตยสาร Cosmo ได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ Newsday ว่า ตัวแทนของบริษัทผลิตรถยนต์ในดีทรอยท์ (ไม่มีการระบุว่าเป็นบริษัทใด) ได้เรียกร้องขอตรวจสอบเนื้อหาของนิตยสารของเธอก่อนที่จะตีพิมพ์ โดยเฉพาะในบทความที่ชื่อว่า "How to Be Very Good in Bed." Result? พร้อมทั้งขู่ว่า จะถอนโฆษณาทั้งหมดหากถูกปฏิเสธ ทั้งนี้บรรณาธิการอาวุโสและตัวแทนจากบริษัทโฆษณาของบริษัทผลิตรถยนต์ในดีทรอยท์ ได้ร่วมกันเซนเซอร์บทความชิ้นนี้ก่อนที่จะอนุญาตให้ตีพิมพ์ เนื่องจากบทความดังกล่าวมีเนื้อหาบางประการที่สร้างความไม่พอใจให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ เจ้าของงบโฆษณาก้อนโตทีเดียวของนิตยสาร

- บริษัทคอลเกต ปาล์มโอลีฟ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่มีชื่อเสียงแต่ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายได้แก่ ยาสีฟันคอลเกต ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีการเข้าแทรกแซงเนื้อหาของสื่อมวลชน โดยใช้งบโฆษณาเป็นเงื่อนไขเช่นเดียวกัน กล่าวคือ บริษัทจะไม่ยอมให้มีการโฆษณาในสื่อที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ การต่อต้านสังคม หรือว่าเรื่องราวที่แสดงถึงรสนิยมไม่ดีเป็นอันขาด ครั้งหนึ่ง ทางบริษัทได้มีการฟ้องร้องเพื่อหาความรับผิดชอบจากนิตยสารฉบับหนึ่ง บริษัทโฆษณา และบริษัทซื้อสื่อโฆษณา กรณีที่มีการนำเอาสินค้าของตนเองไปโฆษณาในนิตยสารที่มีเนื้อหาต้องห้ามของบริษัท

- พลอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้เงินกับงบโฆษณาสูงที่สุดเป็นอันดับ2 เมื่อปีที่ผ่านมา (ราว 5 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ) จัดเป็นบริษัทที่ค่อนข้างเรื่องมากในการโฆษณาผ่านสื่อ โดยบริษัทจะไม่ยอมให้ชิ้นงานโฆษณาของตนอยู่ใกล้กับอุปกรณ์ปืน การทำแท้ง เกี่ยวกับเรื่องของเวทมนตร์คาถา การคลั่งศาสนา ข้อพิพาทด้านดินแดน เรื่องราวไร้สาระ เซ็กส์ และยาเสพติด

- บริษัท IBM ไม่ยอมให้โฆษณาของตัวเองอยู่ใกล้กับเรื่องราวความขัดแย้ง หรือวิกฤติการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกับ บริษัท AT& A ที่ชอบให้มีเนื้อหาแบบเบาๆ มากกว่าเนื้อหาหนักในนิตยสารที่ลงโฆษณา

สรุปได้ว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มักเป็นกลุ่มบริษัทที่มักชอบเข้าแทรกแซงการบริหารงานของกองบรรณาธิการนิตยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการนำเสนอเนื้อหา ขณะที่ยังพบอีกด้วยว่า 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้ผลิตรถยนต์ยังเป็นผู้สนับสนุนโฆษณารายใหญ่ในนิตยสารในดีทรอยท์

จดหมาย : หลักฐานสำคัญของการคุกคามกองบรรณาธิการนิตยสาร
มีวิธีการอย่างหนึ่งที่น่าสนใจที่บริษัทไคร์สเลอร์ (บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใช้เงินโฆษณาผ่านทางสื่อนิตยสารมากเป็นลำดับ 5 ราว 270 ล้านดอลล่าห์ รองจาก เยอเนรัล มอเตอร์, ฟิลิป มอร์ริส, พลอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล, และฟอร์ด) มักจะใช้วิธีการรวบรวมนิตยสารต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในการครอบงำของตนเองโดยผ่านทางงบโฆษณา วิธีการดังกล่าวได้แก่ การที่บริษัทจะมีจดหมายส่งตรงไปยังนิตยสารต่างๆ เนื้อหาในจดหมายจะระบุว่า หากนิตยสารฉบับใดต้องการได้งบโฆษณาจากทางบริษัท นิตยสารฉบับนั้นจะต้องยินยอมให้หน่วยงานของบริษัทได้เข้าตรวจสอบเนื้อหาล่วงหน้าก่อนเสมอ

จดหมายฉบับดังกล่าวถือเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่า บริษัทไคร์สเลอร์ได้เข้าแทรกแซงการบริหารงานของกองบรรณาธิการ โดยการเซนเซอร์ล่วงหน้าในส่วนของเนื้อหาของนิตยสาร ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างร้ายกาจ ขัดกับหลักการของประชาธิปไตย

จี. บรูซ เน็ชท์ ของ The Wall Street Journal คือ ผู้สื่อข่าวคนแรกที่ได้นำเอาเรื่องราวของจดหมายฉบับอื้อฉาวของบริษัทไคร์สเลอร์ มาเปิดเผยกับสาธารณชนให้รับทราบ และในรายงานข่าวชิ้นเดียวกันนี้ จี. บรูซ เน็ชท์ ได้แสดงให้เห็นถึงกรณีที่บริษัทไคร์สเลอร์ ได้รุกคืบเข้าคุกคามเสรีภาพของนิตยสาร Esquire อย่างโจ่งแจ้ง

เหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Esquire ได้วางแผนที่จะบรรจุเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งซึ่งเขียนโดย เดวิด ลีวิทท์ มีความยาว 16 หน้า จำนวนคำ 20000 คำ โดยมีกำหนดการณ์ว่าจะตีพิมพ์ในนิตยสารประจำฉบับที่ 1997 ของเดือนเมษายน แต่เพราะเนื่องจากเรื่องสั้นดังกล่าวมีเนื้อหาสาระเกี่ยวพันอยู่กับพวกเกย์ และใช้ภาษาที่ค่อนข้างหยาบคายอยู่พอควร สิ่งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบริษัทไคร์สเลอร์ พวกเขาเห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ทางบริษัทจึงได้เรียกตัว วาเลรี ซาเลมเบียร์ ผู้บริหารระดับสูงของนิตยสารให้เข้าพบ เพื่อสั่งให้ถอดถอนเรื่องสั้นที่มาของปัญหาออกจากนิตยสารฉบับที่จะตีพิมพ์ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้วิลล์ บลีธ (Will Blythe) บรรณาธิการด้านวรรณกรรมของ Esquire ตัดสินใจลาออก เนื่องจากไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าว

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่างบโฆษณาในนิตยสาร Esquire เป็นต้นเหตุสำคัญที่เข้ามาคุกคามก้าวก่าย ต่อการตัดสินใจพิจารณาเนื้อหาของกองบรรณาธิการอย่างแท้จริง เพราะถ้าหากไม่ยอมถอดถอนเรื่องสั้น บริษัทไคร์สเลอร์ได้ขู่ว่าจะหั่นงบโฆษณาที่ให้กับทางนิตยสารออกเสีย

หลังจากที่มีการเผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนิตยสาร Esquire ทางหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว สมาคมบรรณาธิการนิตยสารของอเมริกา (America Society of Magazine Editors หรือ ASME) ซึ่งมีจำนวนสมาชิกอยู่ถึง 867 คน จากนิตยสาร 370 ฉบับ ก็ได้มีปฏิกริยาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น พร้อม ๆ กับได้มีการเรียกร้องในเรื่องความมีอิสรภาพของกองบรรณาธิการนิตยสาร

ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า " บรรดาเจ้าของ ผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งบรรณาธิการจะต้องไม่ยอมรับต่อการคุกคามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือถอดถอนบทความในนิตยสารของตน โดยไม่มีเหตุผลที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน "

ASME ยังระบุอีกด้วยว่า บรรณาธิการใหญ่ (the chief editor) ของนิตยสารฉบับใด ๆ ก็ตามต่างหาก คือผู้ที่จะต้องธำรงไว้ซึ่งสิทธิต่อการตัดสินใจที่จะให้เนื้อหา ถ้อยคำ หรือรูปภาพใด ๆ ปรากฏอยู่ในหน้านิตยสารหรือไม่ มิใช่ผู้ให้งบโฆษณาแต่อย่างใด

ต่อมา ภายหลังจากการประชุมร่วมกันระหว่างบอร์ดของ ASME และฝ่ายการตลาดของผู้ผลิตนิตยสารของอเมริกา (The Committee of the Magazine Publisher of America) ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 200 บริษัท ครอบคลุมนิตยสารกว่า 800 ฉบับ ทั้งสององค์กรได้มีมติร่วมกันว่า จะทำการต่อต้านการเซนเซอร์เนื้อหาล่วงหน้าของผู้ให้โฆษณา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แฟรงก์ ลัลลี ประธานของ ASME ได้แสดงความแคลงใจว่า โดยส่วนตัวแล้ว เขายังคงสงสัยอยู่ว่า จะมีนิตยสารสักกี่ฉบับที่จะกล้าหาญพอที่จะปฏิเสธคำร้องขอดังกล่าวของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่กุมงบโฆษณาก้อนมหึมาอย่าง ไคร์สเลอร์ ได้จริง ๆ แม้ว่าในที่จะประชุมจะได้พยายามเน้นย้ำว่า ข้อเสนอของบริษัทไคร์สเลอร์ เป็นสิ่งที่เราจะต้องไม่ยอมอ่อนข้อให้เป็นอันขาดก็ตามที

ด้านไมค์ อะเบอร์ลิช ผู้จัดการดูแลในเรื่องสื่อของไคร์สเลอร์ออกมากล่าวภายหลังจากคำประกาศต่อต้านการแทรกแซงและครอบงำสื่อมวลชนของอาณาจักรทุนของ ASME และฝ่ายการตลาดของผู้ผลิตนิตยสารของอเมริกา ว่า จนถึงขณะนี้ก็ยังมีนิตยสารจำนวนมากมายที่ยังคงยอมรับข้อเสนอของทางบริษัทอยู่ หรือไม่เช่นนั้น หากกองบรรณาธิการไม่ยอมรับ แต่เจ้าของก็จะยอมรับ เช่น นิตยสาร แมกซิม (Maxim) ซึ่งเป็นนิตยสารใหม่ มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่คนหนุ่มก็เป็นหนึ่งในนิตยสารที่ยินดีที่จะยอมรับเงื่อนไขของบริษัทไคร์สเลอร์ ขณะเดียวกันผู้จัดฝ่ายขายของแมกซิมได้กล่าวยอมรับว่า ได้มีการเซ็นสัญญายินยอมตามข้อความในจดหมายของทางบริษัทไคร์สเลอร์

ฮาเช็ต ฟิลิแพคชี่ (Hachette Filipacchi) เจ้าของนิตยสาร Elle และนิตยสารอีกหลายสิบฉบับในอเมริกาก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งยินยอมลงนามในจดหมายของทางไคร์สเลอร์ จอห์น เฟนเนล เจ้าหน้าระดับสูงผู้หนึ่ง กล่าวว่า "กองบรรณาธิการนิตยสารของเราพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่นำเอาชิ้นงานโฆษณาของไคร์สเลอร์ไปวางไว้ในตำแหน่งที่เขาไม่ต้องการ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้มีการตกลงกันเอาไว้ก่อนล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม เราได้ปฏิเสธที่จะร่วมปรึกษาหารือกับทางไคร์สเลอร์เกี่ยวกับกรอบทิศทางของการนำเสนอเนื้อหาของนิตยสาร"

ไคลส์เลอร์ได้กำหนดนโยบายในการโฆษณาไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริหารนิตยสารจะต้องไตร่ตรองอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับเรื่องราวที่จะนำเสนอว่า จะต้องไม่ส่งผลลบต่อภาพพจน์ของบริษัทเป็นอันขาด เดวิด มาร์ติน ประธานของ Pentacom และผู้บริหารซีอีโอได้เคยกล่าวเอาไว้กับ วอลล์สตรีท เจอนัล ถึงเหตุผลในเรื่องการโฆษณาที่ต้องคำนึงถึงภาพพจน์ของบริษัทว่า "เมื่อคุณต้องซื้อสินค้าที่มีราคาสูงถึง 22,000 ดอลล่าห์ แน่นอนว่า คุณก็อยากที่จะให้สินค้าชิ้นนั้นแวดล้อมไปด้วยแต่สิ่งที่ดี ๆ ดังนั้น บทความที่มีเนื้อหาไปในแง่ร้าย จะต้องไม่มีสำหรับเรา"

ข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับถ้อยคำของ อะเบอร์ลิช โฆษกของบริษัทไคร์สเลอร์ที่ได้เปรียบเปรยการลงโฆษณาของบริษัทในหน้านิตยสารต่าง ๆ ว่า สิ่งนี้ก็คงไม่ต่างไปจากการซื้อบ้าน เมื่อเราต้องการซื้อบ้าน เราก็ต้องพิจารณาเพื่อนบ้านของเราด้วยว่าเป็นอย่างไร คงไม่มีใครอยากให้มีสิ่งที่ทำให้เขาไม่สบายใจอยู่รายล้อมรอบตัว เช่นเดียวกันการลงโฆษณาของเรา เราก็ไม่อยากให้มีเนื้อหาในด้านลบใดๆ อยู่ร่วมกับสินค้าของเรา ดังนั้น บริษัทยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายเดิมในการแทรกแซงเนื้อหาของนิตยสารที่จะซื้อหน้าโฆษณาต่อไป

โลกแห่งความเป็น : การประสานประโยชน์ระหว่างอุดมการณ์และธุรกิจ
เป็นที่ยอมรับกันดีว่า เม็ดเงินจำนวนมหาศาลของงบโฆษณาที่ทุ่มลงไปในสื่อมวลชนนั้น เป็นที่ต้องการของสื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง มีการแก่งแย่งแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งงบโฆษณา ขณะที่สื่อนิตยสารนอกจากจะต้องแข่งขันกับสื่อนิตยสารด้วยกันเองแล้ว ยังคงจะต้องแข่งขันกับสื่อ อื่น ๆ อีกด้วย เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า สื่อนิตยสารต่าง ๆ จะสามารถตัดใจปฏิเสธการโฆษณาที่ว่านี่ได้จริงหรือ ? คำตอบก็คือ ไม่

นิตยสารทำได้เพียงแค่ขอบคุณ และรับปากว่าจะทำการโฆษณาตามที่ได้รับมาให้อย่างดีที่สุดเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่ายิ่งเวลาผ่านไป จำนวนเงินของงบโฆษณาก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเป็นลำดับ. ในปี 1987 นิตยสารต่าง ๆ สามารถขายโฆษณาได้รวมกันเป็นเงินถึง 5.3 พันล้านบาท ขณะที่ปี 1996 ตัวเลขได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 11.2 พันล้านบาท

ท่ามกลางการครอบงำของอาณาจักรทุนในสื่อนิตยสาร พบว่า นิตยสารบางฉบับสามารถประสานประโยชน์ระหว่างอุดมการณ์และธุรกิจ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้กรอบการครอบงำของอาณาจักรทุน ที่ใช้งบโฆษณาเป็นเครื่องมือมากจนเกินควร ซึ่งทำให้นิตยสารฉบับนั้นมีอิสระในการนำเสนอเนื้อหา และประสบความสำเร็จในเรื่องของยอดขายและจำนวนโฆษณาที่เข้าสู่องค์กร ยกตัวอย่าง กรณีของนิตยสาร GQ ที่มียอดจำหน่ายสูงลิ่ว รวมทั้งยังคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนิตยสารระดับชาติมาแล้วหลายรางวัล ก็อยู่ในข่ายของนิตยสารในลักษณะเช่นที่ว่านี้เช่นกัน

แคทเธอลีน วีสคาร์ดิ จอห์นสัน รองประธานฝ่ายการตลาดของ GQ'S ได้กล่าวว่าเธอได้ใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก ที่จะประสานประโยชน์ระหว่างอาณาจักรทุนเจ้าของงบโฆษณา และการทำงานของกองบรรณาธิการนิตยสาร และเธอสามารถประสานประโยชน์ได้อย่างดีเยี่ยม ตลอดชีวิตการทำงานของเธอในหน้าที่นี้ ไม่เคยมีโฆษณาหน้าไหนถูกถอดออกเลย หรือไม่เคยเลยสักครั้งที่เจ้าของธุรกิจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง หรือระงับการนำเสนอเนื้อหาของนิตยสารของเธอ

เช่นเดียวกันกับ ไพจ เรนส์ บรรณาธิการของนิตยสาร Architectural Digest ที่ได้กล่าวว่านิตยสารของเขาก็ได้รับการแทรกแซงจากเจ้าของโฆษณาน้อยมากเช่นกัน. แต่ใช่ว่าเจ้าของโฆษณาทุกรายจะเป็นเช่นที่ ไพจ เรนส์กล่าวไว้ เพราะมีเจ้าของโฆษณาบางคนที่ชอบเข้าแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการในระดับที่สูงมาก ดังที่ เคร์ท แอนเดอร์สัน ได้ระบุว่า เจ้าของโฆษณาบางคนยังคงไม่เข้าใจพื้นฐานความแตกต่างระหว่างนิตยสารที่มีอุดมการณ์ ซึ่งมีจริยธรรมอย่างแรงกล้า กับนิตยสารบางฉบับที่มีลักษณะตรงกันข้าม

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ฮาเช็ต ฟิลิแพคชี่ ประธานของ ASME ได้กล่าวยอมรับว่า มีบรรณาธิการนิตยสารบางคนที่ยอมขายตัวให้กับกลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้จริง คนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์ในรูปของงบโฆษณาและอื่น ๆ

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของอาณาจักรทุน
หากพิจารณาในแง่มุมของประชาชนผู้รับสารแล้ว กรณีที่อาณาจักรทุนได้เข้ามาก้าวก่ายการบริหารงานของกองบรรณาธิการนิตยสาร โดยใช้งบประมาณในการโฆษณามาเป็นเครื่องมือในการต่อรองนั้น โพลล์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ABC, NBC, และ CBS ชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 82 ของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นประชาชนที่รับข่าวสาร ต้องการที่จะได้เนื้อหาจากสื่อโทรทัศน์ที่สอดคล้องกับความสนใจของเขาเอง และอยากจะเป็นผู้ตัดสินใจเองมากกว่า ว่าเขาต้องการเนื้อหาแบบใด และไม่ต้องการเนื้อหาแบบใด ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการความต้องการของเจ้าของธุรกิจ และมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 9 เท่านั้นที่เห็นว่า อาณาจักรทุนเหล่านี้ สามารถเข้ามากำหนดเนื้อหาที่จะนำเสนอในสื่อต่างๆ ได้ ในฐานะที่เป็นเจ้าของเงินที่สนับสนุนรายการ

แม้แต่ PentaCom ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกิจการโฆษณาในสื่อของบริษัทไคร์สเลอร์เอง ก็ยังออกมายอมรับว่า กลุ่มเป้าหมายของบริษัทไม่ได้รู้สึกว่าตนเองถูกรบกวนแต่อย่างใด ในกรณีที่ชิ้นงานโฆษณาของบริษัทจะต้องไปอยู่ติดกับบทความที่พูดถึงปัญหาความขัดแย้ง (สิ่งนี้เป็นข้อห้ามของบริษัทที่จะไม่ยอมให้ชิ้นงานโฆษณาของบริษัท จะต้องไปอยู่ติดกับบทความที่กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งใดๆ)

การเซนเซอร์ตัวเองอันตรายที่น่าหวั่นเกรง
นอกจากประโยชน์ของสาธารณะที่ต้องสูญเสียไป อันเนื่องมาจากการเข้าเซนเซอร์เนื้อหาของนิตยสารจากอาณาจักรทุนแล้ว การที่บรรณาธิการนิตยสารกระทำการเซนเซอร์ตัวเอง ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ประโยชน์ของสาธารณะสูญเสียไป และที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การเซนเซอร์ตัวเองนี้ยังถือได้ว่ามีอันตรายมากยิ่งกว่าการเซนเซอร์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากอาณาจักรทุนเสียอีก เนื่องจากวิธีการดังกล่าวทำได้ง่ายดายยิ่งกว่ากรณีการเซนเซอร์ที่เกิดจากอาณาจักรทุน

ธุรกิจบุหรี่จัดเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะอธิบายถึงกรณีที่เกิดขึ้น เป็นความจริงที่ว่าบริษัทบุหรี่เหล่านี้จะมีการลงโฆษณากับนิตยสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันเนื้อหาสาระในนิตยสารที่จะพูดถึงอันตรายของมันกลับมีปริมาณที่น้อยนิด สาเหตุมาจากบรรณาธิการมีความตั้งใจที่จะละเว้นที่จะพูดถึงมัน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบุหรี่ที่ลงโฆษณาในนิตยสารของเขา

ซูซาน อีสแลม ผู้อำนวยการคณะกรรมการทางด้านสื่อที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งในปอดของชาวอมเริกัน (The American Cancer society media director) ได้แสดงทัศนะว่า เมื่อพูดถึงโรคมะเร็งธรรมดา นิตยสารสตรีดูจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่เป็นที่น่าสนใจว่า หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมะเร็งปอดที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุประการสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่ กลับพบว่าแทบจะไม่มีบทความหรือเนื้อหาใด ๆ ในนิตยสารที่จะกล่าวถึงเลย

รัธ วิทนี่ บรรณาธิการใหญ่ของนิตยสารกลามัวร์ ซึ่งมีหน้าโฆษณาบุหรี่ในปริมาณที่สูงมากกล่าวยอมรับว่า เป็นที่รู้กันดีถึงพิษภัยของบุหรี่ว่าร้ายแรงเพียงใด แต่นิตยสารของเราก็ไม่สามารถที่จะนำเสนอมันได้อย่างลึกซึ้งนัก ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

จากข้อมูลที่ได้นำเสนอมานี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ASME หรือสมาคมบรรณาธิการนิตยสารของอเมริกา จะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้างหรือไม่กับนิตยสารที่มีพฤติการณ์ดังเช่นที่ว่ามา ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงของ ASME มาร์ลีน คาฮาน ผู้อำนวยการของ ASME ตอบคำถามนี้ว่า ASME ทำได้แค่เพียงส่งจดหมายตักเตือนไปยังผู้ฝ่าฝืน หรือมิฉะนั้นก็อาจจัดให้มีการประชุมระหว่าง ASME กับผู้ที่ฝ่าฝืนเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ASME ยังสามารถที่จะกีดกันนิตยสารที่ทำผิดกฏระเบียบ ออกจากการประกวดนิตยสารแห่งชาติ (The National Magazine Awards) แต่ ASME ก็ยังไม่เคยทำการลงโทษนิตยสารฉบับใดดังเช่นที่ว่าเลย ส่วนในกรณีของบริษัทไคล์สเลอร์ ซึ่งยืนกรานที่จะทำการตรวจสอบเนื้อหาของนิตยสารล่วงหน้าต่อไปนั้น อาจเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่ ASMEจะทำการสอบสวนได้ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถอดถอนหรือเปลี่ยนแปลงบทความ การเซนเซอร์ตัวเอง ไม่ได้มีหลักฐานแสดงให้ได้เห็นได้อย่างชัดเจนแต่ประการใด

การแก้ไขปัญหาการคุกคามสื่อมวลชนจากอาณาจักรทุน
บรรณาธิการผู้มีชื่อเสียงผู้หนึ่งที่ไม่อนุญาตให้ระบุนาม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการคุกคามสื่อมวลชนจากอาณาจักรทุน ผ่านงบโฆษณาที่กำลังเกิดขึ้นในวงการนิตยสารสหรัฐฯในปัจจุบันนี้ว่า เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ประชาชนจะพากันปฏิเสธเนื้อหาสาระของสื่อที่ถูกควบคุมและแทรกแซงโดยอาณาจักรทุน ทั้งนี้เพราะว่า เนื้อหาดังกล่าวจะไม่สามารถตอบสนองความสนใจหรือผลประโยชน์ของประชาชนได้เท่าที่ควร เพราะปรัชญาแนวนี้ จะมุ่งตอบสนองตามความพอใจของกลุ่มธุรกิจเป็นสำคัญ โดยมิได้ตระหนักถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง และเมื่อถึงจุดนั้น ทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ ทว่าจะต้องมีการกระตุ้นเตือนจากสังคมเพื่อช่วยกันกำจัดสิ่งเหล่านี้ ทั้งในส่วนของประชาชนและสื่อมวลชนเอง

บรรณาธิการคนเดิมยังได้กล่าวย้ำด้วยว่า ในส่วนของบรรณาธิการทั้งหลาย พวกเขาจะต้องไม่ยอมสยบยอมต่อการคุกคามของอาณาจักรทุนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะมิฉะนั้นแล้วมันจะส่งผลร้ายโดยตรงต่อตัวเขาเองในที่สุด พวกเขาควรจะต้องสร้างกรอบมาตรฐานของตัวเองขึ้นมาใช้ในการนำเสนอเนื้อหา ไม่ยอมให้อาณาจักรทุนได้เข้ามาก่ายก้าวคุกคามการนำเสนอเนื้อหาของทางกองบรรณาธิการนิตยสาร ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า หากยอมให้อาณาจักรทุนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาอยู่เช่นนี้ ในที่สุดแล้วจะทำให้เนื้อหาที่นำเสนอสู่ประชาชนมีความน่าเบื่อหน่าย ไม่มีสาระ ไม่มีความน่าสนใจหรือก่อเกิดประโยชน์ให้กับประชาชน

และเมื่อถึงตอนนั้น เหล่าบรรณาธิการของนิตยสารก็จะต้องออกมาเตะฝุ่นอยู่ดี เพราะประชาชนจะเลิกอ่านนิตยสารของเขาไปในที่สุด


 

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(จะมีการปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

Esquire ได้วางแผนที่จะบรรจุเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งซึ่งเขียนโดย เดวิด ลีวิทท์ มีความยาว 16 หน้า โดยมีกำหนดการณ์ว่าจะตีพิมพ์ในนิตยสารประจำฉบับที่ 1997 ของเดือนเมษายน แต่เพราะเนื่องจากเรื่องสั้นดังกล่าวมีเนื้อหาสาระเกี่ยวพันอยู่กับพวกเกย์ และใช้ภาษาที่ค่อนข้างหยาบคายอยู่พอสมควร สิ่งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบริษัทไคร์สเลอร์ พวกเขาเห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท

ด้วยความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไคร์สเลอร์ จึงพยายามจะเซนเซอร์เนื้อหาบางส่วนหรือทั้งหมด ของบทความที่จะลงตีพิมพ์ในนิตยสารที่ทางบริษัทได้ซื้อหน้าโฆษณาเอาไว้ บริษัทไม่ต้องการให้มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ การเมือง หรือปัญหาสังคม หรือเรื่องราวใด ๆ ก็ตามที่อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมาหรือมีลักษณะของการล่วงละเมิดใด ๆ และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว นิตยสารทุกฉบับที่มีโฆษณาของไคร์สเลอร์จะต้องเขียนโครงเรื่องของบทความ งานเขียนต่าง ๆ ที่จะบรรจุอยู่ในนิตยสารของตนทั้งฉบับส่งให้ เพนตาคอม (PentaCom) -หน่วยงานควบคุมงานโฆษณาของไคร์สเลอร์ก่อน

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาท
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง