ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 35000 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 - ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่
นักศึกษา สมาชิกและผู้สนใจ หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 620 เรื่อง หนากว่า 8200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

สโมสรศิลปวัฒนธรรม
คนไทยกับ ๓ คำเจ้าปัญหา : เชื้อชาติ-กลุ่มชาติพันธุ์-อัตลักษณ์
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ : บทความนี้ได้คัดลอกมาจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม
จากปาฐกถาของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 623
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)

 

เกริ่นนำ
วันนี้การถกเถียงเรื่องความเป็นใคร ไทย จีน หรือแขก? ดูกว้างขวางขึ้นทุกที มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับเครือซิเมนต์ไทย
และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้จัดงานภูมิสังคมเสวนาสาธารณะ เรื่องคนไทยหลายเผ่าพันธุ์ ๓,๐๐๐ ปี ในสุวรรณภูมิ
ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันพุธที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๘
โดยบทความนี้เป็นการปาฐกถานำของงาน เรื่อง "คนไทย" โดยอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่คัดย่อมานำเสนอ (ศิลปวัฒนธรรม)

เริ่มต้น
ขอเริ่มต้นเรื่องของคนไทย หรือของชาติไทย โดยความคิดของเราที่เกี่ยวกับชาติไทยนั้น มาจากคำ ๓ คำ ที่ทำให้เกิดความสับสนในความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นชาติของพวกเราคนไทย

คำแรก"เชื้อชาติ" ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Race ขอให้สังเกตครับว่า ความคิดที่อยู่เบื้องหลังเป็นคุณสมบัติบางอย่างในทางชีววิทยาที่มีอยู่ติดตัวคนโดยตายตัวไม่เปลี่ยนแปลงเลย แน่นอนนักชีววิทยาในโลกนี้ค้นให้ตายก็ค้นไม่พบ มันเป็นสิ่งที่คนสมมุติขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ว่าคนเชื้อชาตินั้นๆ จะอพยพไปอยู่ที่ไหน ผสมกับเชื้อชาติอื่นขนาดไหน ยังคงมีเม็ดเชื้อชาติที่มันซ่อนอยู่ในตัว คุณลักษณะทางชีววิทยาที่ซ่อนอยู่ในตัวที่จะไม่ถูกกระทบ ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิด เป็นการสร้างแนวคิดที่ผิด

ฝรั่งในศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา มีการผลักดันความเป็นชาตินิยม โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก สมัยหนึ่งนั้นเคยเป็นดินแดนอาณานิคมของออสเตรียฮังการีบ้าง ตุรกีบ้าง คนในยุโรปตะวันออก ณ เวลานั้นรู้สึกตัวเอง แตกต่างจากผู้ปกครอง พูดภาษาก็ไม่เหมือนกัน วัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน รวมทั้งมีไอ้เม็ดวิเศษที่เรียกว่าเชื้อชาติ ฝังอยู่ในตัวแตกต่างจากชาติอื่นๆ ที่มาเป็นผู้ปกครองตัวเองด้วย จึงผลักดันเคลื่อนไหวในทางชาตินิยมในยุโรปตะวันออก ซึ่งยุโรปตะวันตกเป็นคนริเริ่มเรื่องเชื้อชาติ และเผยแพร่ไปทั่วโลก

ผลจากการเชื่อนี้ทำให้เกิดเผด็จการ เช่น นาซี ที่ยืนยันในการสร้างความบริสุทธิ์ของกลุ่มเชื้อชาติอารยัน อย่างนี้เป็นต้น รวมทั้งการรังเกียจยิปซี รังเกียจยิว รังเกียจใครก็ตามแต่ที่ไม่มีเชื้อชาติอารยันด้วย และอย่างที่ผมได้พูดแล้วว่า ประเทศไทยเองใช้คติเรื่องเชื้อชาติ หรือไอ้เม็ดที่มันอยู่ตายตัว มีในตัวของเราแล้วใช้มันเป็นฐานในการสร้างชาติของไทยเรา

อย่างที่บอกไปแล้ว มันเป็น Misconception หรือการสร้างแนวคิดที่ผิด พวกที่เราเรียกว่าไต หรือไทนั้น กลับไปดูประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า ที่เรียกตัวเองว่าไต หรือไท หรือที่พูดภาษาที่เรียกว่าไต หรือไทก็ตาม ไม่เคยอยู่โดดเดี่ยวเลย อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นๆ ตลอดมา

ถ้าดูถึงคนไต หรือไท ที่อยู่ในประเทศจีนในปัจจุบันนี้ ก่อนหน้าที่พวกจีนจะอพยพมาทางใต้ พวกนี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเหมือนกัน ไต หรือไทอยู่ร่วมกับคนภาษาอื่นในวัฒนธรรมอื่น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันตลอดมา มีการผสมเผ่าพันธุ์ระหว่างกันตลอดมา ฉะนั้น ยิ่งพูดถึงไต หรือไท แล้วไปผูกพันความเป็นชาติไทย กับกลุ่มคนที่อ้างว่ามีเชื้อชาติเป็นไต หรือไทนั้นเลื่อนลอย

ผมคิดว่าเป็นความสับสน ความคิดที่สับสนเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติของเรา ที่สอนกันเป็นแบบเรียนและแบบอื่นๆ ตลอดมานั้น เป็นเรื่องของเชื้อชาติยึดกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าในทางวิทยาศาสตร์ ในทางมานุษยวิทยา หรือว่าในทางประวัติศาสตร์ ไม่มีสิ่งที่เราเรียกว่าเชื้อชาติ จริงๆ นั่นเป็นความสับสนของชาติ

คำที่ ๒ คือ "กลุ่มชาติพันธุ์" ซึ่งไม่เกี่ยวกับชีววิทยา ไม่เกี่ยวกับเม็ดเลือด ไม่เกี่ยวกับเม็ดอะไร ที่ว่าติดตัวอยู่กับเราตลอดเวลานั้นไม่ใช่ กลุ่มชาติพันธุ์ คือ กลุ่มวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนได้ ไม่อยู่คงที่ ไม่ตายตัวเหมือนเชื้อชาติ และรับสมาชิกใหม่ก็ได้ เช่น คนไทยที่ไปอยู่อเมริกา จนกระทั่งพูดภาษาไทยไม่เป็น ไม่มีความรู้สึกเป็นไทยเลย รับเอาวัฒนธรรมอเมริกันทุกอย่าง เขาก็ไม่อยู่ในชาติพันธุ์ไทยอีก เพราะเขาสังกัดอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับประเทศไทยทั้งสิ้น

ฉะนั้นความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จึงสั่งสมได้ อย่างที่คุณสุจิตต์ได้พูดไว้ บางอย่างสั่งสมได้ เป็นกว่า ๑,๐๐๐ ปี จากคนหลายเชื้อชาติ ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มไหนที่อยู่โดดเดี่ยว ต้องมีการแลกเปลี่ยนกับพ่อค้า มีการติดต่อสื่อสาร พูดได้ว่าทั้งโลก เราจะหากลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ผสมปนเป ไม่มีความหลากหลายในตัวมันเองไม่มีเลย การเกิดลักษณะในทางวัฒนธรรม เช่น ภาษา การแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งแปรเปลี่ยน ไม่ได้อยู่คงที่ตายตัวตลอดเวลา

ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ มันไม่ผิดในตัวมันเอง มันผิดที่ว่าเราสมมุติให้มันเป็นลักษณะจำเพาะทางวัฒนธรรมบางอย่าง แล้วไปยัดเยียดให้คนอื่นๆ ซึ่งรวมอยู่ในชาติของเรา ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นฐานคิดถึงความเป็นชาติได้ก็จริง แต่เมื่อเรายึดชาติพันธุ์เราต้องไม่ยึดเชื้อชาติ

คนไทยที่อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ เป็นพี่น้องกับมอญ, เขมร ยิ่งกว่าเป็นพี่น้องไทยอาหม, ไทยคำตี่, ไต หรือไท เป็นต้น ห่างไกลจากเราทั้งสิ้น ถ้าเราลองใช้ชีวิตร่วมกับไทยอาหม, ไทยคำตี่ เราจะรู้ว่าการใช้ชีวิตแตกต่างกันมาก

คำที่ ๓ ซึ่งผมคิดว่า ทำให้เกิดความสับสน คือ "อัตลักษณ์" แน่นอนอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยทุกฝ่าย (หมายถึงทุกคน)

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น เรามีอัตลักษณ์ ๒ อย่าง

๑. The Land of Smile คือ "สยามเมืองยิ้ม" ที่คนอื่นเขาสร้างให้เรา จนปัจจุบันนี้เรายังพอใจใช้ในการขายของการท่องเที่ยวฯ ผมไม่ทราบว่าฝรั่งเขายกย่องหรือไม่ได้ยกย่อง ที่เราเป็น The Land of Smile เพราะฝรั่งยิ้มเป็นในความหมายเดียว ขณะที่คนไทยใช้การยิ้มเพื่อสื่อความหมายหลายอย่างมาก เช่น ยิ้มแหะๆ แปลว่าอะไร ไม่มีในภาษาฝรั่ง ผมเชื่อว่าฝรั่งไม่เข้าใจ

๒. The Land of Siamese Talk เป็นอัตลักษณ์ที่ฝรั่งยัดเยียดให้เรา เราพยายามทำให้คำนี้หายไปในความรู้สึกนึกคิดของเรา ความเป็นอัตลักษณ์ของเรา แล้วยกย่อง The Land of Smile เป็นอัตลักษณ์แทน

ที่ต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อบอกให้รู้ว่า เมื่อไรที่เราพูดถึงเรื่องอัตลักษณ์ เมื่อนั้นเรากำลังพูดถึงสิทธิ สิทธิของประเทศไทยต่อคนอื่นๆ ในโลก

ฉะนั้นการนิยามแล้วนิยามอีกซึ่งอัตลักษณ์ จึงเป็นเรื่องของการต่อสู้ เป็นเรื่องที่ทุกสังคมต้องพยายามสร้างอัตลักษณ์เพื่อจะต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเนื้อที่และสิทธิเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ นั่นเอง อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว เมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เราต่างสามารถเปลี่ยนแปลงหรือสร้างอัตลักษณ์ได้ตลอดเวลา เช่น ประเทศอื่นมองกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงกามารมณ์ของโลก นี้เป็นอัตลักษณ์ที่เขายกให้กับประเทศไทย เราต้องต่อสู้ แต่ไม่ใช่ด้วยการโวยวายให้เขาปิดหนังสือพิมพ์ แต่ต่อสู้โดยการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นกรุงเทพฯ ขึ้นมาต่อสู้กับเมืองหลวงกามารมณ์ให้ได้

การจัดเสวนาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ในการสู้กับความเป็นนครหลวงกามารมณ์ของโลกเหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อไรที่พูดถึงเรื่องอัตลักษณ์เป็นเรื่องของบทบาท เป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของสิทธิ ซึ่งทำให้เราต้องเปิดโอกาสให้คนทุกๆกลุ่ม สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างอัตลักษณ์ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างอัตลักษณ์ให้ตนเองได้

ผมคิดว่าคำ ๓ คำนี้ เรามักเข้าใจผิด เอาความเข้าใจผิดมาใช้เป็นฐานของการสร้างความคิดเกี่ยวกับชาติของไทย สรุปคือ หาอะไรจริงไม่ได้สักอย่าง เชื้อชาติเป็นเรื่องไม่จริง, กลุ่มชาติพันธุ์เป็นของสมมุติ, อัตลักษณ์เป็นการสร้างขึ้นมา หาอะไรจริงไม่ได้สักอย่าง สมมุติทั้งนั้น แม้แต่คำว่าชาติเองก็สมมุติ ไม่ได้มีจริงๆ

ดังที่นักวิชาการฝรั่งพูดว่า "ชุมชนที่เกิดขึ้นจากจินตนากรรมของเราเอง เราเป็นคนที่จินตนากรรมให้เกิดชุมชนขึ้นมาเอง มันไม่ได้มีอยู่เองโดยธรรมชาติมาตั้งแต่ครั้งอยุธยา แต่เป็นสิ่งที่เราจินตนากรรมให้เกิดชุมชนชนิดนี้ขึ้นมา"

จินตนาการที่ทำให้เกิดชาติไทยของเราในปัจจุบันนี้ ผมอยากพูดว่าออกจะสับสน จนกระทั่งไม่ได้รองรับความเป็นจริง ซึ่งในชาติไทยของเราหรือสังคมไทยของเรามันมีความหลากหลายมากมาย ขณะที่จินตนาการที่ใช้อธิบายความเป็นชาติของเรา มันไม่เหลือพื้นที่ให้แก่ความแตกต่างหลากหลายอย่างเพียงพอ จินตนาการแบบนี้จะสร้างความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นแก่คนไทยอีกมากมาย

ระหว่างคนที่สามารถพิสูจน์ความเป็นไทยได้ ๑๐๐% อีกคน ๙๐% อีกคน ๘๐% ๗๐% ๕๐% จนกระทั่งติดลบไปเลย เขามีสิทธิและอำนาจในชาติของเราไม่เท่ากัน เรามีวิธีการกีดกันคนอื่นไม่ให้เข้ามาสู่เวทีแห่งอำนาจ เวทีแห่งสิทธิ โดยการกันเขาออกไปจากความเป็นไทย โดยอาศัยจินตนาการที่มันคับแคบเกินไป ไม่รองรับกับความเป็นจริง และที่สำคัญที่สุดทำให้ชาติที่แท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้

ผมคิดว่าเป็นภารกิจของพวกเราคนไทย เป็นภารกิจของเราที่ต้องสร้างชาติ แต่ไม่ใช่ชาติที่คับแคบ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำ เราต้องสร้างชาติของเราขึ้นจากความยุติธรรม สร้างชาติของเราขึ้นมาจากความเข้าใจถึงความหลากหลายของผู้คนในชาติของเราเอง เพื่อสร้างประชาชาติไทยที่แท้จริงนั้น ต้องทำอย่างไร ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีๆ

ผมอยากพูดในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ว่า วิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีทั้งสองอย่างนี้ ค่อนข้างจะก้าวหน้าในเรื่องนี้ เพราะเป็นกลุ่มวิชาแรกๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า คติชาติที่คับแคบแบบนี้ไม่รองรับความเป็นจริง เพราะยิ่งขุดค้น ยิ่งศึกษาลงไปมากเท่าไร เรายิ่งพบความหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น

ความหลากหลายที่สำคัญ ผมคิดว่ามันมีรากเหง้าของคนไทยที่แท้จริง มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีความหลากหลายในทางวัฒนธรรมอีกมากมาย คนไทยไม่ได้เป็นอะไรที่อยู่นิ่งๆ มา ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว คนไทยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และแลกเปลี่ยนรับเอาวัฒนธรรมรับเอากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เข้ามาผสมปนเปมากมาย

อันนี้น่าจะเป็นแก่นเรื่องหลักของการสอนประวัติศาสตร์ไทย แต่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้สอน สิ่งนี้กลับไม่ทำให้เรารู้จักความมั่งคั่งของชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดชาติไทยปัจจุบัน ทำให้เราเห็นบทบาทของคนหลายกลุ่มในสังคมไทย กว่าจะเป็นชาติไทยทุกวันนี้ มันมีคนหลายกลุ่มเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ

เมื่อตอนที่ผมเรียนในระดับปริญญาตรีนั้น จีนแทบไม่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนี้เราพูดถึงจีนในบทบาททางเศรษฐกิจ ไม่มีใครเถียง ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งเขาสามารถผลักตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ความทรงจำของคนไทยปัจจุบัน ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยี ที่เราเรียกอาหารไทย ลองไม่มีกระทะเหล็กซะใบเดียว คุณไม่ได้กินหรอก และกระทะเหล็กก็มาจากเมืองจีน

เราลองคิดถึงกลุ่มคนอื่นๆ บ้าง มีใครพูดถึงกะเหรี่ยงบ้าง กะเหรี่ยงมีอำนาจอยู่เหนือรัฐอิสระตามชายแดน ไม่ว่าพม่าจะรบกับไทยหรือไทยรบกับพม่า ต้องเป็นพันธมิตรกับพวกนี้ เพราะคุณต้องส่งเสบียงผ่านดินแดนและรวมถึงการค้าด้วย เพราะพบถ้วยชามสังคโลกบนเส้นทางการค้าที่ผ่านดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งน่าจะเป็นดินแดนของกะเหรี่ยง

พวกกูย ซึ่งคนภาคกลางเรียกว่าส่วย เป็นผู้สอนเกี่ยวกับช้างในทางปฏิบัติ ซึ่งเปลี่ยนจากช้างป่าเป็นช้างบ้าน ยังไม่พูดถึงการประมงที่มีทั้งจีน ญวน มลายู เพราะประมงทะเลเป็นสิ่งที่คนไทยไม่มีความรู้แต่อาศัยคนกลุ่มอื่นๆ มาสอนเราจนชำนาญ คนเหล่านี้จึงมีบทบาทมากมาย ซึ่งเราไม่ค่อยพูดถึง

ถ้าเราคิดถึงเรื่องข้าว พันธุ์พืชหลากหลาย ถ้าไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ช่วยเก็บรักษาและเพาะพันธุ์พืช เราคงไม่เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งในเรื่องพันธุ์พืช ผมคิดว่าผลไม้ไทยถูกพัฒนาพันธุ์มาก ไม่ใช่เกิดจากการพัฒนาของกรมอะไรของกระทรวงเกษตร ก่อนหน้านั้นไปอีกมีการทำสวนของจีนที่อพยพเข้ามา และพวกนี้รู้จักการคัดพันธุ์มาตั้งแต่เมืองจีนแล้วมาคัดพันธุ์ในเมืองไทย ที่มีได้เพราะมีคนพัฒนามัน

สิ่งที่เรามองว่าเป็นอัตลักษณ์ของเรานั้น ควรกว้างขวางกว่านี้ ไม่ใช่เฉพาะอัตลักษณ์ของกลุ่มคนไทยในภาคกลาง แต่ว่ามันเป็นอัตลักษณ์ที่กว้างขวางเพื่อให้เรามีพลังต่อรองในโลกข้างนอกได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นถามว่าคนไทยคืออะไร คนไทยคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย มีความสามารถที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้อยู่นิ่งตายตัว

ผมเรียกร้องว่าในการคิดถึงความเป็นชาติของไทย เราต้องสร้างจินตนาการใหม่ให้แก่ชาติไทย ไม่ใช่ยึดจินตนาการที่สืบทอดมาเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว เพราะเป็นจินตนาการที่แคบเกินไป และอาจก่อให้เกิดความบาดหมาง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นอย่างสูง

 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 620 เรื่อง หนากว่า 8200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

R
relate topic
280748
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

เที่ยงวันคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความมืด เที่ยงคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง
ผมคิดว่าเป็นความสับสน ความคิดที่สับสนเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติของเรา ที่สอนกันเป็นแบบเรียนและแบบอื่นๆ ตลอดมานั้น เป็นเรื่องของเชื้อชาติยึดกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าในทางวิทยาศาสตร์ ในทางมานุษยวิทยา

ฝรั่งในศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา มีการผลักดันความเป็นชาตินิยม โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก สมัยหนึ่งนั้นเคยเป็นดินแดนอาณานิคมของออสเตรียฮังการีบ้าง ตุรกีบ้าง คนในยุโรปตะวันออก ณ เวลานั้นรู้สึกตัวเอง แตกต่างจากผู้ปกครอง พูดภาษาก็ไม่เหมือนกัน วัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน รวมทั้งมีไอ้เม็ดวิเศษที่เรียกว่าเชื้อชาติ ฝังอยู่ในตัวแตกต่างจากชาติอื่นๆ ที่มาเป็นผู้ปกครองตัวเองด้วย จึงผลักดันเคลื่อนไหวในทางชาตินิยมในยุโรปตะวันออก ซึ่งยุโรปตะวันตกเป็นคนริเริ่มเรื่องเชื้อชาติ และเผยแพร่ไปทั่วโลก

ผลจากการเชื่อนี้ทำให้เกิดเผด็จการ เช่น นาซี ที่ยืนยันในการสร้างความบริสุทธิ์ของกลุ่มเชื้อชาติอารยัน อย่างนี้เป็นต้น รวมทั้งการรังเกียจยิปซี รังเกียจยิว รังเกียจใครก็ตามแต่ที่ไม่มีเชื้อชาติอารยันด้วย

H