ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
240748
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 621 หัวเรื่อง
การปฏิรูปการศึกษาโลกมุสลิม์
นิพนธ์ โซะเฮง : เขียน
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี


บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปฏิรูปการศึกษาในโลกมุสลิม
อิสลามานุวัตร และ อิสลามานุวัตรองค์ความรู้
นิพนธ์ โซะเฮง : เขียน
อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี

หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
Islamization and Islamization of Knowledge: The Context of Muslims in Thailand
อิสลามานุวัตรและอิสลามานุวัตรองค์ความรู้: บริบทของมุสลิมในประเทศไทย

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 37 หน้ากระดาษ A4)


 

บทนำ
กระแสอิสลามานุวัตร (Islamization current) เป็นกระแสหรือวาทกรรมทางปัญญาของปัญญาชนมุสลิมสมัยปัจจุบัน กระแสดังกล่าวเป็นการโต้เถียงกันอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์ต่าง ๆ อันหลากหลายตามความถนัดของนักวิชาการมุสลิมในหลายสาขาวิชา ท่ามกลางกระแสการอิสลามานุวัตรนักวิชาการทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์อิสลามานุวัตรเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับอิสลามานุวัตร อย่างไรก็ดีความคลุมเครือในบัญญัติคำศัพท์ยังคงมีอยู่ ดังนั้นการจำกัดความหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็นเบื้องต้นในการทำความเข้าใจ

"อิสลามานุวัตร" (Islamization) ถูกจำแนกว่าเป็นกระบวนการองค์รวมของการกล่อมเกลาทางศาสนา(1) บ้างก็บอกว่าเป็นมรรควิธี(Method)ที่จะนำมาซึ่งสังคมใหม่ ที่อุทิศให้กับหลักคำสอนของอิสลามในทุกแง่มุม(2) ความจริงอิสลามานุวัตรเป็นประวัติศาสตร์ทางปัญญาของอิสลาม ซึ่งปัญญาชนมุสลิมในอดีตถึงปัจจุบันได้เพียรพยายามทำตามแบบอย่างท่านศาสดา(3) กล่าวคือการกระทำใด ๆ ก็ตามให้สอดคล้องกับหลักการคำสอนของพระเจ้า

ในขณะที่ปัจจุบันอิสลามนุวัตรถือว่าเป็นกระบวนการการสังเคราะห์ (Synthesis) ที่นักวิชาการมุสลิมร่วมสมัยได้พยายามคิดค้นและแสวงหาทางออกให้กับสังคมมุสลิม ที่กำลังประสบวิกฤติการพัฒนาตามแบบฉบับของอิสลาม อิสลามานุวัตรจึงเป็นผลโดยตรงมาจากการสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาเพื่อให้สอดประสานกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่(4) ซึ่งมีต้นแบบการพัฒนามาจากแนวทางการพัฒนาตามรูปแบบตะวันตกที่เน้นแนวทางการพัฒนาเชิงประจักษ์ (Emperical) เชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific) หรือการเน้นแนวทางการพัฒนาแบบโลกียนิยม (Secularism) ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการการทำให้เป็นแบบวิถีโลก(Secularization) ที่ต้องการลดความสำคัญและอิทธิพลของศาสนาออกไปจากชีวิตความเป็นจริงในด้านหนึ่ง(5)

กับอีกด้านหนึ่งก็คือแนวทางการพัฒนาสังคมมุสลิมแบบดั้งเดิม (Traditionalism) ซึ่งเน้นย้ำความเป็นแบบฉบับดั้งเดิม และยึดติดอยู่กับตัวบทและระเบียบที่เคร่งครัดตามแบบฉบับของตัวบทกฎหมาย (Legalistic)(6) นอกจากนี้แนวทางการพัฒนาสังคมมุสลิมแบบดั้งเดิมดังกล่าว ยังตัดขาดจากการพัฒนาตามรูปแบบตะวันตกที่เน้นย้ำไปทางการพัฒนาด้านวัตถุ

ดังนั้นทั้งสองแนวคิดดังกล่าวในสายตาของนักวิชาการมุสลิมสมัยใหม่(Muslim Modernists) ถือว่าต่างก็เป็นวิธีการที่บิดเบือนคำสอนอันเที่ยงตรงตามแบบฉบับที่ท่านศาสดามุฮำหมัด(ซ.ล.)(7) และพระองค์อัลลอฮ์(ซ.บ.)ต้องการ จากข้อบกพร่องของกระแสการพัฒนาแบบดั้งเดิม และกระแสการพัฒนาตามรูปแบบตะวันตกนี้ จึงเปิดโอกาสให้มุสลิมสมัยใหม่ให้ความสนใจรวมทั้งได้เสนอแนวทางการสังเคราะห์การพัฒนาแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้เองจึงถูกขนานนามว่าเป็นอิสลามานุวัตร(Islamization) ซึ่งเป็นการประสมประสานระหว่างแนวคิดและวิธีการการพัฒนาแบบวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับหลักการศาสนาหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การพัฒนาทางวัตถุไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักการทางศาสนาเพื่อสร้างดุลยภาพ

ทั้งนี้ก็เพราะศาสนาอิสลามได้พร่ำสอนให้มุสลิมทุกคนได้ดำเนินชีวิตแบบเพียงพอ สายกลาง ไม่ให้เอียงซ้ายหรือเอียงขวา อิสลามานุวัตรจึงถูกพิจารณาจากนักวิชาการสมัยใหม่ว่า เป็นแนวทางการพัฒนาสังคมมุสลิมที่ถูกต้อง ทันโลกและทันเวลา(8) เพราะอันที่จริงแล้วหลักคำสอนของอิสลามไม่เคยล้าสมัย แต่นำสมัย. คำสอนของศาสนาอิสลามในหลาย ๆ เหตุการณ์ได้ถูกพิสูจน์แล้ว ตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นจริง

หนึ่งในกระแสอิสลามานุวัตรที่มีอิทธิพลต่อสังคมมุสลิมในสมัยปัจจุบันมาก ๆ ก็คือ กระแสหรือวาทกรรมอิสลามานุวัตรเชิงความรู้ หรือ อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ (Islamization of knowledge) อิสลามานุวัตรเองค์ความรู้พอจะจำกัดใจความได้ ตามที่นักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้ ได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันในด้านจุดเน้น เช่น

ในขณะที่ ซัยยิด นากิบ อัล อัตตาส จากสถาบันนานาชาติแห่งความคิดและอารยธรรมอิสลาม (International Institute of Islamic Thought and Civilization)(ISTAC)จากประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวไว้คือ การทำให้องค์ความรู้ร่วมสมัยให้เป็นแบบฉบับอิสลาม(9) ศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอล อัลฟารุกี ชาวปาเลสไตน์ ของสถาบันอิสลามนานาชาติเกี่ยวกับแนวคิดอิสลาม หรือ International Institute of Islamic Thought (IIIT). ได้กล่าวว่า อิสลามานุวัตรเชิงความรู้ก็คือ การทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นแบบฉบับอิสลาม(10)

จะสังเกตเห็นว่านักวิชาการมุสลิมทั้งสองท่านต่างก็เน้นย้ำเรื่องการทำหรือสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่หรือร่วมสมัยให้เป็นไปในแบบฉบับของอิสลาม องค์ความรู้สมัยใหม่หรือร่วมสมัยดังกล่าวนี้ก็คือ ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ (Human sciences) หรือองค์ความรู้ที่ชาวตะวันตกในยุครู้แจ้ง(the Enlightenment Era)ได้คิดค้นและสร้างขึ้น

ก่อนที่จะมาทำความเข้าใจกระบวนการการสร้างองค์ความรู้ตามแบบฉบับตะวันตก ให้เป็นแบบฉบับอิสลามหรือที่เรียกว่า(Islamization of Knowledge) นี้ ต้องมาทำความเข้าใจกับธรรมชาติ และคุณลักษณะที่สำคัญขององค์ความรู้สมัยใหม่( Modern knowledge)หรือร่วมสมัยเสียก่อน เพื่อว่าจะได้ทำความเข้าใจขบวนการอิสลามานุวัตร หรือขบวนการการทำให้เป็นแบบฉบับอิสลาม (Islamization Movement) รวมทั้งองค์ความรู้อิสลาม

ในความเป็นจริงองค์ความรู้สมัยใหม่ซึ่งเป็นความรู้กระแสหลัก หรือวาทกรรมหลักที่มนุษยชาติเกือบทุกมุมโลกกำลังสั่งสอนหรือถูกอบรมสั่งสอนอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนกระทั่งถึงระดับชั้นอุดมศึกษาของปัญญาชน ดังนั้น ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนพยายามที่จะแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างการทำองค์ความรู้ให้เป็นแบบฉบับอิสลาม หรืออิสลามานุวัตรองค์ความรู้(11) กับ ความรู้ตามแบบฉบับตะวันตก หรือความรู้สมัยใหม่(12) และประเด็นต่อมาก็เพื่อจะอธิบายกระแสและวาทกรรมของขบวนการการสร้างองค์ความรู้ให้เป็นแบบฉบับของอิสลาม (Islamization of Knowledge) ว่ามีที่มาและความสำคัญอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง

สุดท้ายก็เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การพัฒนาการ ภาพรวมและแนวโน้มในอนาคต นอกจากนี้ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นความสำเร็จและความล้มเหลวของกระแสการพัฒนาของอิสลามานุวัตรในเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมมุสลิมในประเทศไทยเป็นสำคัญ

การจำกัดความเรื่องความรู้สมัยใหม่กับการสร้างองค์ความรู้ในแบบฉบับของอิสลาม
ความรู้สมัยใหม่ หรือ ความรู้แห่งนวสมัย (Modern knowledge) ถูกจำกัดความตามตัวอักษรว่าเป็นความรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงในสมัยปัจจุบัน กล่าวคือ ความรู้สมัยใหม่เป็นความรู้ที่อิงกับกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกระบวนการการทดลอง การสังเกต และพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ได้มาซึ่งความแน่นอนขององค์ความรู้ใหม่เหล่านั้น

ในความเป็นจริงแล้วความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นการพิสูจน์และค้นพบกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ของ เซอร์ไอแซค นิวตัน ที่กล่าวว่ามันจะเป็นไปตามขั้นตอนของมันอย่างเคร่งครัด หรือแม้แต่การสร้างหลอดไฟฟ้าและการค้นพบกระแสไฟฟ้าของ โธมัส เอดิสัน ปี 1882 การเกิดโทรเลขในปี 1844 โทรศัพท์ ปี 1876 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่มาของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

หากจะมองกันด้วยความไม่ลำเอียงแล้ว ก็จะพบว่า การค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นความรู้สมัยใหม่นี้ มิใช่แค่ชาวตะวันตกเท่านั้นที่มีส่วนในการค้นพบวิทยาการอันนำไปสู่ความทันสมัยในสมัยต่อ ๆ มาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ยังมีนักคิดชาวอาหรับ ชาวเตอร์กและชาวเปอร์เซียมุสลิมอีกหลายท่านซึ่งอยู่ในยุคที่อิสลามรุ่งเรืองระหว่างคริสศตวรรษที่ 8-11(ค.ศ. 750-1100) เช่น Jabir Ibnu Haiyam, Al-Khawarizmi, Al-razi, Al-Masudi, Abu Al-Wafa, Al-Bairuni, Omar Khayyam, Ibnu Sina, Ibnu Khaldun เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ต่างก็มีส่วนร่วมในการรังสรรค์การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่รวมถึงสังคมศาสตร์แทบทั้งสิ้น(13)

ดังนั้นจึงถือได้ว่า องค์ความรู้สมัยใหม่ตามแบบแผนตะวันตกในสมัยปัจจุบัน ก็เป็นหนี้ความคิดนักเขียนมุสลิมชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซีย หรือชาวเตอร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากย้อนประวัติศาสตร์ไปในสมัยยุคมืดของยุโรป (ค.ศ.10-15 ) ซึ่งตรงกับอาณาจักรอิสลามราชวงศ์อับบาซียะห์กำลังเจริญรุ่งเรือง มีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกว่าชาวยุโรปในยุคมืดได้ไปศึกษาหาความรู้ในอาณาจักรอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นเมืองแบกแดด ในอิรัก หรืออันดาลุส ในเสปน(14) ก่อนที่อิสลามจะสูญเสียที่มั่นทางปัญญานี้ โดยฝีมือของ เจงกิสข่านแห่งราชวงศ์โมงโกล อารยธรรมและความก้าวหน้าทางความรู้ของอิสลามถูกทำลายลงไปพร้อม ๆ กันกับการล่มสลายของอาณาจักรอับบาซียะห์(15)

อย่างไรก็ดีมุสลิมมิอาจจะอ้างได้ว่า ความล้ำหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่นั้นเป็นผลผลิตโดยตรงของพวกเขา มุสลิมมิควรที่จะหลงภาคภูมิใจกับภาพความสำเร็จในอดีตมากเกินไปจนลืมและละเลยที่จะคิดค้น เพิ่มพูนองค์ความรู้ของตนเองไป ทั้งนี้ก็เพราะความรู้สมัยใหม่นี้เองที่สร้างความแตกต่างระหว่างโลกมุสลิมกับโลกตะวันตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้นผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะติเตียนโลกมุสลิมที่กำลังล้าหลังโลกตะวันตกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สมควรตำหนิมุสลิมก็คือ ความบกพร่องภายในระบบการศึกษาของโลกมุสลิมต่างหาก เพราะในระบบการศึกษาในโลกมุสลิมปัจจุบัน เกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาที่แบ่งแยกเป็นสองระบบ กล่าวคือ

การศึกษาอิสลามแบบดั้งเดิม (Traditional Islamic System) กับการศึกษาแบบโลก (Secular System) ซึ่งเป็นการแยกการศึกษาเป็นสองส่วน และก็แยกกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ก็เพราะความบกพร่องจากภายในระบบการศึกษาของมุสลิมเองส่วนหนึ่ง กับอิทธิพลกระแสการศึกษาแบบตะวันตกที่เน้นการพัฒนาทางด้านวัตถุอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการแยกระบบการศึกษาเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นรูปแบบการศึกษาที่ถูกต้องตามรูปแบบอิสลาม

ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาตามแบบฉบับตะวันตกที่เป็นกระแสหลักของวาทกรรมโลกในสมัยปัจจุบันเองก็มีข้อบกพร่อง ยกตัวอย่างการพัฒนาที่เน้นทางวัตถุเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีโดยไม่คำนึงถึงวิธีการในการใช้ ที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยา ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมายที่ต้องล้มหายตายจาก จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เช่นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น

และในท้ายที่สุดระบบนิเวศวิทยาที่เสื่อมโทรมก็กลับมาทำลายมนุษย์เสียเอง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือแม้แต่การเกิดสภาวะเรือนกระจกบนผิวบรรยากาศของโลก (Green House Effect) ทำให้ผิวโลกร้อนระอุขึ้น ล้วนเป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์ที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติ โดยการสร้างเครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศนั่นเองก็สร้างผลกระทบในชั้นบรรยากาศของโลกให้เลวลงไปอีก

ถึงแม้ว่าไม่มีมนุษย์คนใดปฏิเสธความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีดังกล่าวก็ตาม แต่ความสะดวกสบายเหล่านั้นกลับย้อนมาทำลายมนุษย์อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะคนจนระดับรากหญ้าที่ไม่สามารถหาซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มีอยู่ในระบบบริโภคนิยม เพราะความยากจนและความด้อยโอกาสในสังคมยุคใหม่ที่ต้องแข่งขันกันสูง ผู้ที่ยืนหยัดอยู่ได้และได้รับการอำนวยความสะดวกก็คือ กลุ่มคนร่ำรวยและมีฐานะทางสังคม นี่จึงถือเป็นจุดด้อยของการพัฒนาสังคมสมัยใหม่อย่างเห็นได้ชัดเจน

ในส่วนผลกระทบทางด้านจริยธรรมก็มีให้เห็นกันเกลื่อนกลาด จริยธรรมของคนในสังคมสมัยใหม่เสื่อมทรามลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ใช้ระบบพึ่งพาอาศัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การใช้หลักเกณฑ์ความถูกผิดโดยมีหลักจริยธรรมทางศาสนาเป็นส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็น ศาสนา พุทธ อิสลาม หรือคริสต์ แต่วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เน้นหนักเฉพาะเสรีภาพ ความเป็นอิสระของปัจเจกชน ความเห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน ใช้ระบบการแข่งขันตามที่นักทฤษฎีสังคมดาร์วิน ชื่อ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ที่ได้กล่าวไว้ว่า "ผู้ที่แข็งแรงที่สุดก็จะอยู่รอด" (The Survival of the Fittest)

ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ที่ต้องการจะอยู่รอดต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีกำลังอำนาจและแข็งแรงและสามารถอยู่รอดได้ ในสังคมสมัยใหม่จะเปิดโอกาสให้ผู้อ่อนแอเข้าสู่ระบบการแข่งขันได้น้อยมาก นอกจากนี้หากได้รับโอกาสก็จะเป็นการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะผู้ได้รับโอกาสใหม่ ย่อมมีฐานในการแข่งขันที่ไม่แข็งแรงเท่ากันกับผู้ที่เคยมีโอกาสและที่เคยอยู่ในระบบเดิม

ผลจากความเสื่อมทางด้านจริยธรรมที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ก็คือจริยธรรมในสังคมสมัยใหม่ก็คือจริยธรรมที่ไม่เคยคำนึงถึงหลักความเชื่อหรือศรัทธาใด ๆ ของศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่เป็นหลักเหตุและผลที่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ผลที่ตามมาก็คือปัจเจกบุคคลเหล่านี้ต่างก็อ้างเหตุผล และผลประโยชน์แห่งตนเสียมากกว่า หลักที่ว่า "การปกครองภายใต้กฎหมาย" ก็กลายเป็นหลักกฎหมายที่บุคคลบางกลุ่มสร้างเป็นข้ออ้าง เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น

ความเสื่อมทรามทางจริยธรรมในตะวันตกจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในประเทศอเมริกาที่อ้างว่าประเทศตัวเองมีอารยธรรมมากที่สุด ข้อมูลจากการสำรวจอัตราการก่ออาชญากรรมของโลกโดยองค์การสหประชาชาติอเมริกา ก็มีอัตราการเกิดอาชญากรรมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก(16) นักวิชาการผู้หนึ่งชื่อ นิวต์ กิงริช เขียนไว้ในหนังสือของท่าน To Renew America (หน้า 25-31) กล่าวว่า

"คนอเมริกันปัจจุบันนี้เป็นคนรุ่นแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ต้องเผชิญกับการท้าทายของความเสื่อมโทรมศีลธรรมจากภายในตัวเอง มีสภาพวิกฤติที่แท้ขึ้นในการศึกษาและในชีวิตของประชาชน และเป็นปัญหาขึ้นมาว่า อเมริกันเรานี้ เป็นอารยธรรมจริงหรือเปล่า และมีอะไรบ้างหรือไม่ในอดีตของอเมริกาที่มีคุณค่าแก่การถ่ายทอดสืบต่อไป"(17)

แม้แต่นักวิชาการอเมริกันเองก็ยังกังขากับอารยธรรมของตนเอง ที่พัฒนาเฉพาะด้านวัตถุเช่นนี้ โดยที่ด้านศิลธรรมที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของอารยธรรม (Civilization) กลับเสื่อมทรามลง

ความหมายองค์ความรู้แบบตะวันตก
การศึกษาความรู้และที่มาของความรู้ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักวิชาการตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะแต่ละคนต่างก็อ้างว่าความรู้ของตนเป็นความรู้แท้ ความรู้จริง(ultimate truth)นี่จึงเป็นที่มาของสาขาวิชาญานวิทยา(Epistemology) ในวิชาปรัชญา(Philosophy) ซึ่งศึกษาถึงที่มาและขอบเขตของความรู้(18) นอกจากนี้ยังมีอีกสาขาวิชาหนึ่งในปรัชญาก็คือสาขาวิชา(Teleology)ที่พยายามศึกษาถึงสาเหตุที่มาของความรู้รวมถึงปฐมเหตุของความรู้ (Ultimate Causes of Knowledge) ดังนั้นอะไรคือความรู้ (Knowledge) ดูจะเป็นคำถามที่นักคิดนักเขียนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันพยายามจะตอบคำถามกันอยู่เสมอ และความรู้ดังกล่าวนั้นเป็นความรู้แท้หรือความรู้เทียม

ในสังคมตะวันตกเองมีความพยายามจะตอบคำถามเหล่านี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ตามกระบวนวิธีคิดของตนเอง ความรู้จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามจะตอบคำถามให้ได้ และพยายามตรวจสอบจนกระทั่งว่าที่มาของความรู้นั้นมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ใครคือผู้บอกถึงความรู้นั้น (The authority of knowledge) และความรู้เหล่านั้นได้มาด้วยวิธีการใด นักวิชาการตะวันตกจึงได้พยายามแยกแยะวิธีการ ที่มาของความรู้เหล่านั้น เป็นสามวิธีหลัก ๆ คือ(19)

หนึ่ง ความรู้ที่ได้มาจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ (Authoritarian mode) เช่น ผู้ที่มีคุณสมบัติครอบครองความรู้นั้น เช่น กษัตริย์ นักบวช เป็นต้น

สอง ส่วนความรู้ที่ได้มาจากอีกวิธีหนึ่งคือ ความรู้ที่ได้มาจากวิธีที่ผิดธรรมชาติ ยากที่มนุษย์ธรรมดาจะหยั่งถึง (Mystical mode) เช่น ความรู้ของศาสดาต่าง ๆ โดยผ่านการดลบันดาลจากผู้ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า "พระเจ้า" และ

สาม คือ ความรู้ที่ได้มาจากความเป็นเหตุเป็นผล (Rationalistic mode) กล่าวคือ ความรู้ที่ประมวลจากความเป็นเหตุเป็นผล โดยความสามารถจากสติปัญญาของมนุษย์เอง และมันต้องเป็นความรู้ที่เป็นไปตามหลักการของหลักเหตุผลเท่านั้น

จากวิธีการการได้มาซึ่งความรู้ดังกล่าว ที่ความรู้หรือองค์ความรู้ทั้งหลายมีอยู่ในปัจจุบันได้รับอิทธิพล แต่บรรดาวิธีการได้มาของความรู้ที่ทรงอิทธิพลต่อองค์ความรู้ตะวันตกในสมัยปัจจุบันก็คือ องค์ความรู้ที่ได้มาด้วยวิธีการตามหลักเหตุและผล และต้องเป็นหลักเหตุและผลที่มนุษย์สามารถหยั่งถึงสามารถพิสูจน์ได้เท่านั้น วิวัฒนาการทางความรู้สมัยใหม่ของตะวันตกจึงมีที่มาจากหลักเหตุผลของตัวมนุษย์เอง และก็เป็นหลักเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะอธิบายในตอนต่อไป

ความรู้สมัยใหม่ (Modern knowledge) อาจจะถูกจำกัดความได้ว่า เป็นองค์ความรู้สมัยใหม่ที่ยึดถือหลักความเป็นเหตุเป็นผล สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น การทดลอง การสังเกตพฤติกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยใช้ประสาทสัมผัส (Senses) ตา หู ปาก จมูก ลิ้น ผิวหนัง ที่มนุษย์ครอบครองอยู่ หรือที่เรียกว่า องค์ความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์จริงที่ปรากฏ เป็นเหตุและผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริง หรือที่เรียกว่าเหตุผลเชิงประจักษ์ (Emperical reason)

หรืออาจจะผ่านกระบวนการการทดลองแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งเน้นความจริงที่เป็นความจริงจากการทดลองมิใช่ความเชื่อ

ทั้งนี้และทั้งนั้นกระบวนการในการตรวจสอบความรู้ดังกล่าวจะต้องมีเกณฑ์มาตรฐานวัดความถูกต้องขององค์ความรู้นั้น ๆ ความรู้สมัยใหม่แบบตะวันตกจึงมิใช่เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตกาลมาแล้ว เพียงแต่ความรู้สมัยใหม่ได้รับการพัฒนาจนมีมาตรฐานและสามารถทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ได้มาซึ่งความแน่นอนและแน่ใจได้ว่าเป็นความจริง เป็นองค์ความรู้ที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้องค์ความรู้สมัยใหม่ยังมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือการพัฒนาวัตถุ จนเกิดการปฏิวัติทางความคิดและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในยุคสมัยปัจจุบัน ปรากฏการณ์การพัฒนาทางวัตถุที่มนุษย์ได้พยายามสร้างขึ้นเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคุณอนันต์ ทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน การพัฒนาดังกล่าวก็มีจุดบกพร่องและโทษมหันต์ ทั้งนี้มิใช่ด้วยตัวของเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ ที่เป็นโทษ แต่ปัญหาก็คือ ผู้ใช้คือมนุษย์ และการใช้ของมนุษย์ในทางที่ผิดต่างหาก ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้สามารถที่จะได้รับการแก้ไขได้ หากมนุษย์ไม่ลืมหลักคุณธรรมและจริยธรรมตามแบบฉบับดั้งเดิมที่แต่ละศาสนาได้พร่ำสอนเพื่อปกป้องทั้งตัวมนุษย์เอง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งมวลด้วย

ความจริงปรากฏการณ์การพัฒนาทางด้านวัตถุดังกล่าวของตะวันตก เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เรียกว่า ยุคโพล่งทางปัญญา (the Enlightenment Era) หรือยุคที่เรียกว่า ยุคสมัยแห่งเหตุผล (The age of reason) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง ศตวรรษที่ 18(20) โดยมีวิธีคิดแบบใหม่ที่เน้นย้ำประสบการณ์ในโลกแห่งวัตถุ(22) โดยสรุปองค์ความรู้สมัยใหม่จึงเน้นพึ่งพาสติปัญญาของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสงสัยผู้มีอำนาจทางศาสนาในแบบดั้งเดิม

หากจะสรุปประเด็นให้ชัดเจนเกี่ยวกับองค์ความรู้สมัยใหม่ก็คือ การปฏิเสธอำนาจและอิทธิพลของศาสนา ประเด็นต่อมาก็คือ องค์ความรู้ที่แท้จริงต้องมาจากสติปัญญาของมนุษย์เท่านั้น มนุษย์จึงกลายเป็นจุดศูนย์กลางขององค์ความรู้สมัยใหม่ทั้งมวล ศาสนาจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีคุณค่าและมีอิทธิพลต่อองค์ความรู้แต่อย่างใด ดังนั้นองค์ความรู้หรือทฤษฎีใหม่ ๆ อันใดก็ตาม จักต้องเป็นองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานตามหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสังเกต ด้วยประสาทสัมผัส เช่น การสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน และการได้ลิ้มชิมรส อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงประสาทสัมผัสของมนุษย์ไม่สามารถสังเกตโลกทางสังคมโดยตรง (Social world) ได้ทั้งหมดโดยใช้แค่เพียงประสาทสัมผัส

นอกจากนี้แล้วยังสามารถสรุปลักษณะสำคัญๆ ขององค์ความรู้สมัยใหม่หรือที่เรียกกันว่าเป็นศาสตร์ (Science) โดยที่ศาสตร์นี้มีข้อสมมติฐานต่าง ๆ หลายประการ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับองค์ความรู้สมัยใหม่ที่สำคัญที่สุด พื้นฐานเหล่านี้เป็นที่มาของความแตกต่างระหว่างการศึกษา"พื้นฐานความรู้ของตะวันตก"กับ"พื้นฐานความรู้ของอิสลาม" หรือที่เรียกว่า ญนวิทยา(Epistemology) หรือการศึกษาพื้นฐานของความรู้ ในบรรดาข้อสมมติฐานองค์ความรู้หรือศาสตร์แห่งความรู้ของตะวันตกจึงประกอบไปด้วยสมมติฐานดังนี้คือ(22)

1. ธรรมชาตินั้นมีระเบียบและดำเนินไปตามขั้นตอนของมัน กล่าวคือ ในภาวะธรรมชาติของโลก มีเหตุการณ์หรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกิดขึ้น มิใช่เพราะความบังเอิญ แต่มันมีสาเหตุ (Cause) ที่ทำให้เหตุการณ์ หรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้น เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มิได้ถูกบังคับโดยสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติหรือพระเจ้า แต่มันเป็นไปตามธรรมชาติของมันเอง และที่สำคัญที่สุด ทุกเหตุการณ์และการเคลื่อนไหวบนพื้นโลกเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรอย่างมีระบบระเบียบแบบแผน จึงอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ หรืออภินิหาร จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และไม่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลของมนุษย์

2. สมมติฐานข้อที่สองคือ มนุษย์สามารถหยั่งรู้ธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาติเองได้สร้างกฎธรรมชาติขึ้นมาให้มีระบบระเบียบแบบแผน เป็นขั้นเป็นตอน มนุษย์ก็เช่นเดียวกันย่อมดำเนินชีวิตไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น

3. ความรู้สูงส่งกว่าความโง่เขลาเบาปัญญา เมื่อมนุษย์สามารถหยั่งรู้ธรรมชาติได้ มนุษย์ก็สามารถหาความรู้นั้น และเพื่อที่จะได้มาซึ่งสภาวการณ์ที่ดีกว่าของมนุษย์เอง ดังนั้นความรู้ที่แท้จริงจึงไม่ใช่ความรู้ที่สมบูรณ์ ความรู้สามารถเพิ่มพูนและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

4. ปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งมวล ล้วนมีสาเหตุในการเกิดขึ้นมาทั้งสิ้น ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้นโดยปราศจากสาเหตุหรือ (Causes)

5. ข้อสมมุติฐานประการต่อมาคือ ไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานในตัวของมันเอง กล่าวคือ การจะกล่าวว่าอะไรคือความจริงที่เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะต้องแสดงหรือสาธิตให้เห็นถึงความจริงอันนั้น จากความเป็นจริงที่ปรากฏ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นความรู้ที่ไม่ได้มาจากความรู้สึกนึกคิดเอาเอง หรือทึกทักคาดเดาเอาเองว่าเป็นเช่นนั้น และความรู้ทางวิทยาศาสตร์นี้ จะต้องเป็นความรู้ที่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ โดยไม่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เคยพิสูจน์มาก่อนแล้วว่าเป็นความรู้ ความจริง ดังนั้น การตรวจสอบความถูกต้องด้วยประสาทสัมผัสจึงเป็นความรู้ที่จริงแท้และถูกต้อง(Objective verification)

6. ประการสุดท้าย สมมุติฐานที่ว่า ความรู้เกิดจากการได้รับประสบการณ์ เพราะฉะนั้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่จะแสดงองค์ความรู้เป็นตัวแทน ความจริงใดบนโลกจะต้องเป็นความรู้ที่มาจากประสบการณ์ หรือที่เรียกว่า ความรู้เชิงประจักษ์ (Emperical knowledge)คือ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสังเกต ประสบการณ์ และการรับรู้สัมผัสได้ วิธีการนี้นี่เองที่เป็นเสาหลักของกระบวนการการสร้างองค์ความรู้ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

จากสมมุติฐานทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า กระบวนการสร้างองค์ความรู้หรือวิธีการที่ได้มาซึ่งความทางวิทยาศาสตร์ จะปฏิเสธองค์ความรู้ใด ๆ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ที่เป็นความเชื่อ ความศรัทธา ดังนั้น ความรู้ทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาที่นับถือพระเจ้า (Divine Religions) อย่างศาสนาคริสต์ ยูดาย หรืออิสลาม ต่างก็ได้รับความรู้ อันมีที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งตามหลักทางวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ ต่างเห็นพ้องกันว่า ไม่สามารถพิสูจน์ และสังเกตได้ และก็อ้างว่าเป็นแค่ความรู้ที่บอกต่อ ๆ กันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งโดยไม่มีมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงปฏิเสธความรู้ใด ๆ ที่ปราศจากการพิสูจน์ที่เป็นไปตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง

ความหมายองค์ความรู้อิสลาม
สำหรับมุสลิมแล้วความรู้หรือองค์ความรู้อิสลาม ในนัยยะที่มุสลิมศรัทธาและถือปฏิบัติถูกถือว่าเป็นองค์ความรู้สากล ทั้งนี้เพราะมุสลิมทุกคนที่นับถืออิสลามถูกบังคับโดยศาสนาว่า ต้องเรียนรู้ทั้งหลักการศรัทธา ควบคู่กันกับหลักการปฏิบัติอันเดียวกัน แม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันบ้างก็ตาม ดังที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล.)ได้กล่าวใว้ว่า "การศึกษาหาความรู้นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทั้งหญิงและชาย" จะไม่มีมุสลิมคนใดถูกถือว่าเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ได้ ถ้าเขาเลือกปฏิบัติแต่ไม่ศรัทธาหรือเลือกศรัทธาแต่ไม่ปฏิบัติตาม

ดังนั้นองค์ความรู้อิสลามจึงเป็นองค์ความรู้แรกเริ่มสำหรับมุสลิมตั้งแต่แรกเกิด หรือตั้งแต่เขาน้อมรับตนเข้าอิสลาม การน้อมตนเข้ารับอิสลามมิได้เป็นการบังคับดังที่อัลกุรอานได้กล่าวใว้ว่า "ไม่มีการบังคับในเรื่องศาสนา" (2: 256) แต่ตราบใดที่เขาน้อมรับอิสลามแล้วแสดงว่าเขาพร้อมที่จะนำเอาหลักการและความรู้อิสลามมาปฏิบัติตนในทุกท่วงท่าของชีวิต โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกบังคับแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเป็นความปลาบปลื้มยินดีในการปฏิบัติตาม และการไม่ได้ปฏิบัติตามความรู้และหลักปฏิบัติของอิสลามจะทำให้เขารู้สึกละอายตนในการเป็นมุสลิมเป็นยิ่งนัก ดังนั้ทุกองค์ความรู้อิสลามมีหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการศรัทธาเสมอ

องค์ความรู้อิสลามจึงเป็นองค์ความรู้ที่ครอบคลุมในทุกบริบทของสังคม ดังทรรศนะของซัยยิดกุตุบ ที่จำกัดความความรู้ตามอิสลาม ซึ่งท่านมีความเห็นสอดคล้องกับอิบนิมัสอูดว่า "ความรู้คือบางสิ่งที่มากกว่าความเข้าใจ ความรู้คือความเข้าใจที่สมบูรณ์และการปฏิสัมพันธ์กับความเข้าใจในเบื้องลึกของจิตวิญญาณและสติสัมปชัญญะ ซึ่งติดตามมาด้วยการกระทำที่สอดคล้องลงรอยกัน"(23)

ดังนั้นการกระทำที่สอดคล้องกับความรู้จึงเป็นขั้นตอนที่สามที่สมบูรณ์ หลังจากขั้นตอนแรกที่จิตรับรู้เป็นความเข้าใจ มาสู่ขั้นตอนที่สองคือการยอมรับโดยจิตวิญญาณและสติสัมปชัญญะ สำหรับ ซัยยิดกุตุบ เขามองว่าความรู้ของมนุษย์ยังหมายความรวมถึง ความรู้ที่มนุษย์ไม่สามารถหยั่งถึงได้ในเชิงประจักษ์หรือสิ่งที่ประสาทสัมผัส(senses)ของมนุษย์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของมนุษย์เองเช่น ความรู้ในเรื่องพระเจ้า แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนักคิดตะวันตก เช่น อริสโตเติลที่มองว่า ความรู้คือสิ่งที่มีอยู่เป็นรูปธรรม(Objective Existence - สิ่งที่มีอยู่เป็นภววิสัย)

อันที่จริงความรู้ในทรรศนะอิสลามถูกแบ่งออกเป็น

หนึ่ง ความรู้ที่มาจากธรรมชาติหรือความรู้ที่ได้จากการแสวงหาโดยการใช้ประสาทสัมผัส(sensory knowledge)ของมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างว่า(acquired knowledge)

สอง ความรู้ที่มาจากการประทานของพระเจ้า(revealed knowledge) โดยผ่านศาสนทูตศาสดาผู้ประกาศโองการของพระเจ้า มีศาสดามากมายหลายองค์ที่ถูกส่งลงมาโดยพระเจ้า เพื่อประกาศโองการของพระองค์ผู้อภิบาล ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงรู้ว่ามนุษย์มีความอ่อนแอและมีขีดความสามารถอันจำกัดไม่อาจรอบรู้ในทุกๆสิ่ง

ท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล)ก็เป็นหนึ่งในศาสดาเหล่านั้นแต่ท่านก็เป็นพระศาสดาองค์สุดท้ายที่มาพร้อมกับสาสน์อันสุดท้ายที่สมบูรณ์คือพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อให้เป็นทั้งความรู้และการตักเตือนแก่มนุษยชาติ และสาสน์ดังกล่าวก็ได้รบการรับรองและปกป้อง มีโองการหนึ่งที่อัลลอฮ์ได้กล่าวว่า "วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า"(5:3)

อีกโองการหนึ่งอัลลอฮ์ได้กล่าวถึงการปกป้องสาสน์ของพระองค์มีความว่า "แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน(อัลกุรอาน)ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน" (15:9)


ทั้งสองโองการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งพันสี่ร้อยกว่าปีว่า สาสน์ของพระองค์ยังคงอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่มีการบิดเบือนเปลี่ยนแปลงทั้ง ๆ ที่อัลลอฮ์ทรงท้าทายให้มนุษย์ลองผลิตโองการขึ้นมาเองสักหนึ่งโองการหากมนุษย์มีความสามารถ

โดยทั่วไปความรู้ตามทรรศนะอิสลามจึงมีที่มาและปฐมเหตุสุดท้ายจากพระเจ้าทั้งสิ้น ทั้งความรู้ที่มนุษย์แสวงหาและความรู้ที่มาจากพระเจ้าโดยผ่านท่านศาสดา ดังนั้น การจำกัดความ "ความรู้" ในศาสนาอิสลามจึงไม่จำกัดเฉพาะ ความรู้ที่มนุษย์ขวนขวายเองเพียงอย่างเดียว และการค้นหา"ความจริง"(truth) ที่ได้มาจากความรู้จะต้องประกอบไปด้วยความรู้ที่แสวงหา(acquired knowledge)และความรู้ที่ถูกประทานลงมา(revealed knowledge)คือ อัลกุอานและซุนนะห์ของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล.) การรับหรือปฏิเสธความรู้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใดจึงไม่ไช่องค์ความรู้อิสลามที่แท้จริง ดังเช่น การค้นหา "ความจริง" ขององค์ความรู้สมัยใหม่ที่ปฏิเสธองค์ความรู้ใด ๆ ที่มีที่มาจากพระเจ้า

อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ (Islamization of Knowledge)
กลุ่มหรือขบวนการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นไปตามแบบฉบับอิสลาม ที่เรียกกันว่า อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ตามทรรศนะของนักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอดีตกาลแล้ว แต่ขบวนการเหล่านี้ถูกทำให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในต้นคริสตศักราช 1920 ภายใต้การนำของนักวิชาการเอเชียใต้อย่างเช่น อาละมา มูฮัมหมัด อิกบาล (ค.ศ.1879-1938) ซัยยิด อบุล อะลาอ์ เมาดูดี (ค.ศ.1903-1979) และซัยยิด นากิบ อัล-อัตตาส (ค.ศ.1931-ปัจจุบัน) ซึ่งรวมไปถึงนักวิชาการชาวอเมริกันสัญชาติปาเลสไตน์ คือ ดร. อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี (ค.ศ.1921-1986)(24)

นักวิชาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีบทบาทในขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร. อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี เป็นผู้ที่สามารถทำให้ขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกมุสลิม และในโลกตะวันตก ทั้งนี้เพราะความเป็นอัจฉริยะส่วนตนของท่านในการแสดงปาฐกถา การโต้แย้งองค์ความรู้ของท่าน และขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ให้เป็นที่แพร่หลาย

ในแวดวงวิชาการมุสลิมเองก็มีข้อโต้แย้งว่า ใครเป็นคนริเริ่มขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ หรือใครเป็นเจ้าของความคิดอันนี้ขึ้นมา บางท่านก็บอกว่า ซัยยิด นากิบ อัล-อัตตาส จากประเทศมาเลเซียเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดอันนี้ อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องใครเป็นผู้ริเริ่มก่อนหลังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือวิธีการในการสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่ ให้เป็นไปตามแบบฉบับของอัลอิสลามของนักวิชาการแต่ละคนต่างหาก ที่เป็นประเด็นความสนใจให้กับปัญญาชนมุสลิม

ทั้งนี้เพราะนักวิชาการแต่ละคนต่างก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็ตั้งข้อสงสัยกับขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ เช่น Sardar และ Nasr. โดยให้เหตุผลว่าอิสลามมิสามารถที่จะเปลี่ยนศาสตร์ตะวันตกให้เป็นอิสลามได้ เพราะธรรมชาติของศาสตร์ตะวันตกมีพื้นฐานทางความรู้ หรือญานวิทยา(Epistemology) แตกต่างไปจากอิสลามอย่างสิ้นเชิง(25) ดังนั้น การสังเคราะห์องค์ความรู้ตะวันตกเข้ากับอิสลามจะด้วยวิธีใด ก็ย่อมมีข้อผิดพลาดให้เห็นได้

ดังนั้น นักวิชาการบางกลุ่มจากมุสลิมเองก็เสนอแนวคิดการรื้อสร้างองค์ความรู้อิสลามเสียใหม่ เช่น Taha Jabir Alwani กล่าวคือ การตรวจสอบองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม แล้วก็สร้างองค์ความรู้อิสลามขึ้นมาใหม่โดยมิต้องไปปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาอิสลามให้สอดคล้องกับของตะวันตก แต่จะทำอย่างไรให้องค์ความรู้ของตะวันตกให้มาสอดคล้อมกับหลักการอิสลาม

ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนอิสลามานุวัตรองค์ความรู้อิสลาม เช่น ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี และอีกหลาย ๆ ท่าน ให้เหตุผลว่า มีความจำเป็นสำหรับโลกมุสลิมในปัจจุบันที่จะสร้างขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ระหว่างองค์ความรู้อิสลามกับองค์ความรู้ตะวันตก โดยให้เหตุผลว่านี่คือความตกต่ำและความล้าหลังของโลกมุสลิมที่ตามไม่ทันโลกตะวันตก

นอกจากนี้ในโลกมุสลิมเองก็ยังแบ่งการศึกษาของตนเองเป็นสองฝักสองฝ่าย กล่าวคือ กลุ่มที่สนับสนุนการศึกษาระบบดั้งเดิม (Traditional Education) กับกลุ่มที่สนับสนุนการศึกษาแบบทางโลกอย่างตะวันตก (Secular Education) จึงทำให้ทั้งสองกลุ่มไม่สามารถจะประณีประนอมกันทางความคิด และแนวทางการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ในท้ายที่สุดผู้เสียผลประโยชน์ที่แท้จริงก็คือ เยาวชนมุสลิมที่กลายเป็นเครื่องมือในการถกเถียงให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไป ที่สำคัญ เยาวชนเหล่านี้กลับไม่ทราบถึงหลักปรัชญาการศึกษาที่แท้จริงของอิสลาม เพราะคนในระดับผู้นำสร้างความสับสน ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาที่แท้จริง

อันที่จริงแล้ว อิสลามเป็นศาสนาที่เดินทางสายกลาง(26) ไม่ได้ปฏิเสธความก้าวหน้าหรือเทคโนโลยีใด ๆ แต่ก็เน้นย้ำเรื่องคุณธรรมในสังคมตามแบบฉบับของอิสลามเอง ดังนั้นการแยกกันเดินระหว่างการศึกษาแบบดั้งเดิม (Religious Education) กับการศึกษาแบบสมัยใหม่ (Secular Education) จึงเป็นรอยร้าวทางสังคมของมุสลิมเอง ทั้งนี้เพราะพัฒนาการทางการศึกษาแบบแยกส่วนเช่นนี้ รังแต่นำมาซึ่งความสับสน ความคลุมเครือในหลักการของอิสลาม

ดังนั้นขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ จึงเป็นภาระหนึ่งในความพยายามของนักวิชาการมุสลิม ที่พยายามจะผสมผสานองค์ความรู้ของตะวันตกให้เข้ากันกับหลักการอิสลาม แต่เมื่อตรวจสอบดูแนวโน้มของนักวิชาการในขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้แล้ว ก็จะพบว่า ความพยายามที่จะทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นอิสลามนั้นจะเน้นหนักไปทางด้านสังคมศาสตร์ (27) ไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ จิตวิทยา รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความพยายามดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เยาวชนมุสลิมรุ่นใหม่ตื่นตัวกับขบวนการการสร้างองค์ความรู้ให้เป็นอิสลามมากขึ้น และระแวดระวังสิ่งแปลกปลอมทางความคิด ค่านิยมของชาวตะวันตกที่มาพร้อมกับสาขาวิชาต่าง ๆ ที่สอนกันอยู่ในสาขาวิชาสังคมศาสตร์

ถึงแม้ว่าจะมีนักวิชาการทั้งจากชาวตะวันตกและมุสลิมเองที่กล่าวว่า ขบวนการอิสลามานุวัตรเป็นแค่เพียงวาทกรรมโต้แย้งและปกป้องอิสลามเท่านั้นเอง (28) (Apologetic polemics) มิใช่วาทกรรมแห่งการพัฒนาแต่อย่างใด แน่นอนว่า การโต้แย้งดังกล่าวจะไม่จบสิ้นลงง่าย ๆ ตราบใดที่เป้าหมาย หลักการ และพื้นฐานทางความรู้ (Foundation of knowledge) ของมุสลิมและคนที่ไม่ใช่มุสลิมยังคงแตกต่างกันอยู่ อิสลามานุวัตรทางความรู้จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความพยายามของโลกมุสลิมที่พยายามสร้างวาทกรรม และให้อำนาจแห่งวาทกรรมนี้เป็นตัวตัดสินความต้องการของประชาชาติมุสลิมเอง

จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การทำองค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นอิสลามจึงเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากความตกต่ำของอาณาจักรของชาวเติร์กหรือ อาณาจักรออตโตมัน ซึ่งรุ่งเรือง ณ เวลานั้นได้กลายเป็นอดีตและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการตะวันตก รวมถึงนักวิชาการมุสลิมเองว่าเป็น "คนไข้ของยุโรป"( The Sick Man of Europe)(29)

และเนื่องจากการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน การแบ่งแยกและการก่อสงครามกันเองระหว่างมุสลิมก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งขณะนั้นทั้งอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ฉวยโอกาสยุยงให้มุสลิมแตกแยกกันเอง โดยมีเชื้อชาติ ภาษา เผ่าพันธุ์ เป็นตัวกำหนดรูปแบบการปกครองตามแบบฉบับประเทศรัฐ(รัฐชาติ) (Nation-State) ซึ่งความจงรักภักดีสูงสุดจะถูกมอบให้กับรัฐ ประเทศที่ตัวเองอาศัยอยู่ ดังนั้นการปกครองรูปแบบใหม่นี้ จึงเข้ามาแทนที่ระบบดั้งเดิมของอิสลาม (Islamic Ummah) ซึ่งความเป็นประเทศรัฐมิได้ถูกกำหนดโดยเชื้อชาติ ภาษา หรือเผ่าพันธุ์ และความจงรักภักดีสูงสุดก็มิได้มอบหมายให้กับรัฐ แต่จะมอบหมายให้กับพระผู้เป็นเจ้า และหลักปฏิบัติที่พระองค์ทรงประทานเป็นโองการซึ่งถูกรวบรวมเป็นเล่ม ที่มุสลิมเรียกว่า "พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน" ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลสูงที่สุดทางความคิดและการปฏิบัติตนของมุสลิมทั้งมวล

คัมภีร์อัลกุรอานถูกถือว่าเป็นคัมภีร์อันศักดิสิทธิ์ ทั้งนี้มิใช่เพื่อว่ามนุษย์จะได้กราบไหว้และสักการะคัมภีร์ แต่ความศักดิสิทธิของคัมภีร์อยู่ที่การปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่มีอยู่ในตัวบทของคัมภีร์ต่างหาก โดยมีแบบอย่างจากท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) นอกจากนี้ ความศักดิสิทธิที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นคัมภีร์ที่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะปกป้อง และไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเปลี่ยนแปลงคัมภีร์ หรือสามารถลอกเลียนให้เหมือนได้แม้แต่เพียงสักหนึ่งโองการ ความท้าทายเหล่านี้ เป็นความจริงที่ปรากฏในศาสนาอิสลามมากกว่า 1400 ปี ดังนั้น คัมภีร์อัลกุรอานกับแนวทางของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) หรือซุนนะห์ของท่าน(30) จึงเป็นเสมือนเบ้าหลอมที่สำคัญของมุสลิมทั้งมวล อัลกุรอานกับซุนนะห์ของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) จึงเป็นพื้นฐานองค์ความรู้ของอิสลาม (Foundation of knowledge of Islam) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การศึกษาที่มาของความรู้ (Epistemology) ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้องค์กรของอิสลามมีแนวคิดและทิศทางการพัฒนาแตกต่างไปจากตะวันตก

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างง่ายที่สุด ระหว่าง"องค์ความรู้อิสลามและแนวทางการพัฒนาแบบอิสลาม" กับ "องค์ความรู้แบบตะวันตกและแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตกหรือโลกวิถี (Secular)" ก็คือ องค์ความรู้อิสลามมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางและสูงสุด (God-Centered Knowledge)ในขณะที่องค์ความรู้ตะวันตก หรือองค์ความรู้สมัยใหม่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางความรู้ทั้งปวง (Human-Centered Knowledge) เพราะมนุษย์อ้างว่าความรู้ตามหลักเหตุผลของมนุษย์เท่านั้นที่เป็นเหตุผลสูงสุดในการยอมรับและความน่าเชื่อถือของความรู้นั้น ๆ และเป็นที่มาของลัทธิมนุษย์นิยม(Humanism) กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวคิดเรื่องความรู้แบบโลกวิถี (Secular knowledge) จะต้องได้รับการพิสูจน์หลักฐานความถูกต้องและความน่าเชื่อถือจากมนุษย์เท่านั้น มนุษย์จึงกลายเป็นพระเจ้าเสียเอง

ดังนั้น อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ จึงเป็นขบวนการที่พยายามจะขัดเกลาความรู้สมัยใหม่หรือความรู้แบบโลกวิถีให้อยู่ภายใต้กรอบและหลักการของอิสลาม โปรดอย่าเข้าใจผิดคิดว่าอิสลามปฏิเสธมาตรฐานการวัดความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องของความรู้ที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้น เช่น โดยการทดลอง การสังเกต โดยการพิสูจน์ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ที่มีอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง และเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่สำคัญในอิสลามเช่นกัน

อิสลามไม่ได้ปฏิเสธองค์ความรู้ที่มาจากประสาทสัมผัสของมนุษย์เอง แต่อิสลามพยายามจะชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีข้อจำกัด แม้แต่ประสาทสัมผัสบางอย่างของมนุษย์เองก็ไม่สามารถปฏบัติงานได้ดีกว่าประสาทสัมผัสของสัตว์บางชนิด และประเด็นสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการปฏิเสธพระผู้สร้างหรือพระเจ้าโดยมนุษย์ ความแตกต่างตรงนี้เองที่สร้างความโดดเด่นขององค์ความรู้แบบอิสลาม ในขณะที่ชาวตะวันตกเองหรือนักคิดแบบวิถีโลกก็จะพูดว่านี่ถือเป็นชัยชนะของมนุษย์ที่มีเหนือพระเจ้า เหนือธรรมชาติ อิทธิพลของพระเจ้า ถูกถือว่าเป็นความเชื่อของบุคคลไป มนุษย์เป็นอิสระแล้ว

ในฐานะนักวิชาการ ลองตอบคำถามสั้น ๆ ง่าย ๆ เพียงหนึ่งข้อว่า มนุษย์มีอิสรภาพจริงหรือ แม้แต่การที่ท่านจะตอบคำถามเหล่านี้ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าท่านไม่มีอิสระภาพเสียแล้ว เพราะท่านถูกผูกมัดให้ตอบหรือไม่ตอบคำถามนั้น ๆ อิสลามานุวัตรองค์ความรู้จึงเป็นวาทกรรม (Discourse) ที่นักวิชาการมุสลิมก็ยังโต้แย้งกันเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน อย่างไรก็ดี วาทกรรมอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ถูกถือว่าเป็นการเพิ่มเติมเสริมแต่งองค์ความรู้อิสลามให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีวิวัฒนาการตามแบบฉบับของตนเอง และที่สำคัญที่สุด มันกลายเป็นหน้าที่ของมุสลิมผู้รู้ ที่จะต้องสานต่อและประดิษฐ์ประดอยองค์ความรู้เหล่านี้ให้สอดคล้องกับหลักการอิสลาม เพื่อตอบสนองความต้องการอันมีไม่จำกัดของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า "โลกานุวัตร" (Globalization) ดังนั้นขบวนการอิสลามมานุวัตรองค์ความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการดำรงอยู่ของความจริงแท้(al-Haq)ตามทรรศนะของอิสลาม รวมทั้งการดำรงอยู่ของศรัทธาชนมุสลิมต่อไป

ประเด็นปัญหาและอุปสรรคบางประการเกี่ยวกับอิสลามานุวัตรองค์ความรู้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ (Islamization of knowledge) ได้รับการตอบรับจากโลกมุสลิมและโลกตะวันตกทั้งทางบวกและทางลบ ปัญหาและอุปสรรคในแวดวงมุสลิมเองก็มีหลายประเด็นที่ควรจะกล่าวถึง

ประการแรก ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรู้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อิสลามานุวัตรมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ความรู้ถูกแบ่งออกโดยนักวิชาการมุสลิม ตามหลักวิชาฟิกฮ์หรือวิชานิติศาสตร์อิสลามว่า ความรู้ใดเป็นสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) ความรู้ใดเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) ความรู้ใดเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ละทิ้งเสีย (มักรูฮ์) และอีกหลาย ๆ ข้อบัญญัติ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจัดได้ว่า มุสลิมบางคนไม่สามารถที่จะบอกและชี้แจงได้อย่างชัดเจนว่า ความรู้อันใดสมควรเป็นที่อนุญาต หรือความรู้ใดสมควรเป็นที่ต้องห้าม ประเด็นต่อมาจากความไม่รู้ดังกล่าวนี่เอง จะพบว่าในระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่องค์ความรู้อันหลากหลายถูกบรรจุเข้าไปในระบบการศึกษา โดยไม่ได้รับการกลั่นกรองจากผู้รู้ทางการศึกษาอิสลาม หรืออาจจะมีผู้รู้ทางด้านนี้ไม่เพียงพอที่จะสามารถเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึง

ประการที่สอง แม้แต่ในวงการนักวิชาการมุสลิมลิมก็ยังคงมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่หลายประเด็น ความไม่ลงรอยกันดังกล่าวได้สร้างความแตกแยกในหมู่นักวิชาการมุสลิมและกลุ่มผู้สนับสนุน องค์ความรู้อิสลามจึงไร้เอกภาพ ยกเว้นในเรื่องหลักศรัทธาหรือหลักปฏิบัติที่สำคัญ ๆ

ประการที่สาม ก็คือองค์ความรู้อิสลามบางประการ กลายเป็นแค่ความเชื่อความศรัทธา แต่ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติใช้จริงได้ หรืออาจมีข้อจำกัดหรืออาจจะเรียกแบบตรงไปตรงมาว่าเป็นข้ออ้างทางสังคม ทางราชการ หรือข้ออ้างอื่น ๆ อีกมากมายเหล่านี้เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อห้ามการโกหกมดเท็จ ข้อห้ามการติดสินบน หรือในบางกรณีที่การประพฤติปฏิบัติตามประเพณีหรือความชอบทางสังคม กลับมีบทบาทหรือหลักปฏิบัติที่เป็นสิ่งจำเป็น (วายิบ)(31) (เช่น การทิ้งละหมาด การทิ้งการถือศิลอด) เหล่านี้ล้วนเป็นข้อบกพร่องที่มุสลิมเองจะต้องแก้ไขจากภายในสังคมมุสลิม

นักวิชาการชาวอียิปต์ ซัยยิด กุตุบ ผู้ซึ่งเคยเป็นอดีตอธิการบดีมหาลัยอัล-อัซฮัร ในไคโร ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งเกี่ยวกับความรู้ไว้ว่า "ความรู้คือบางสิ่งที่มากไปกว่าความเข้าใจ...ความรู้เป็นความเข้าใจที่สมบูรณ์และเป็นการปฏิสัมพันธ์กับความเข้าใจในเบื้องลึกของจิตวิญญาณ และปรีชาญาณ ซึ่งจะติดตามมาด้วยการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความรู้นั้น ๆ"(32)

ประการที่สี่ ประเด็นปัญหาที่สำคัญประการต่อมา ในกระบวนการการสร้างองค์ความรู้อิสลามก็คือ ขบวนการอิสลามานุวัตรเองยังไม่เป็นที่ยอมรับ และเป็นเอกภาพในสังคมมุสลิมเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักวิชาการแบบดั้งเดิม (Traditional Ulamas)(33) ซึ่งเหตุผลที่สำคัญที่พอจะสรุปข้ออ้างการปฏิเสธการสร้างองค์ความรู้อิสลามของนักวิชาการกลุ่มนี้ก็คือ

ข้อแรก ขบวนการอิสลามานุวัตรเป็นแค่ขบวนการที่ต้องการปรับเปลี่ยนปรุงแต่ง หรือปฏิรูปหลักการอิสลามให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้สมัยใหม่ (Modern knowledge).

ข้อที่สอง นักวิชาการที่บทบาทในการเปลี่ยนแปลงหรือการทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นองค์ความรู้อิสลามนั้น กลับกลายเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านความรู้ตะวันตกเท่านั้น ในขณะที่บทบาทของนักวิชาการแบบดั้งเดิมมีบทบาทน้อย ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวรังแต่จะสร้างความแตกแยกและความสับสนให้กับปัญญาชนมุสลิมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นเอกภาพเชิงความรู้

หากลองย้อนกลับไปดูยุทธศาสตร์ทางขบวนการอิสลามานุวัตร ซึ่งนำเสนอโดย ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี ก็จะพบว่า ขั้นตอนของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ทั้ง 12 ขั้นตอน ที่ท่านนำเสนอนั้นลดบทบาทนักวิชาการแบบดั้งเดิมให้เป็นแค่เพียงที่ปรึกษาให้คำชี้แนะ และเป็นผู้รวบรวมแหล่งความรู้ทั้งหมดในอิสลาม (Islamic Sources or Turath) และในท้ายที่สุด นักวิชาการมุสลิมที่มีความเชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์ในสาขาวิชาต่าง ๆ จะเป็นผู้สังเคราะห์องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เข้ากับองค์ความรู้ของอิสลาม ซึ่งขั้นตอนที่ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี เสนอ มีขั้นตอนดังนี้(34)

1. สร้างความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาสมัยใหม่
2. สำรวจสาขาวิชาสมัยใหม่
3. สร้างความเชี่ยวชาญในมรดกทางความรู้อิสลาม
4. วิเคราะห์มรดกทางความรู้อิสลาม
5. สร้างความเกี่ยวโยงระหว่างอิสลามกับสาขาวิชาสมัยใหม่
6. ประเมินค่าเชิงวิพากษ์ต่อวิชาสมัยใหม่
7. ประเมินค่าเชิงวิพากษ์ต่อมรดกทางความรู้อิสลาม
8. สำรวจปัญหาที่สำคัญของมุสลิมอุมมะห์
9. สำรวจปัญหาของมนุษยชาติ
10. วิเคราะห์และสังเคราะห์มรดกทางความรู้อิสลามกับสาขาวิชาความรู้วิชาสมัยใหม่อย่างสร้างสรรค์
11. สร้างสาขาวิชาความรู้ใหม่ภายใต้กรอบอิสลาม: ผลิตหนังสือแบบเรียน
12. เผยแพร่องค์ความรู้

จะเห็นได้ว่าขบวนการอิสลามานุวัตรที่ ดร. ฟารุกี นำเสนอให้ความสำคัญกับนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์มาก

หลังจากการอสัญกรรมของ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี ในปี 1986 โดยการลอบสังหารของกลุ่มผู้ต่อต้านขบวนการอิสลามานุวัตรในอเมริกา ดร.ตอฮา ญาบิร อัลวานี นักวิชาการนิติศาสตร์อิสลาม ผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขานิติศาสตร์อิสลาม ณ.มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ไคโร ได้เข้ามาสานต่อขบวนการอิสลามานุวัตร เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในขบวนการอิสลามานุวัตรภายใต้สถาบันที่มีชื่อว่า (International Institute of Islamic Thought) สถาบันนานาชาติเพื่อความคิดอิสลาม ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นโดยผู้ร่วมก่อตั้งที่มีชื่อเสียงมากมายในวงการมุสลิม เช่น ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี, ดร.อับดุล ฮามิด อบู สุไลมาน, และนักวิชาการในกลุ่มเดียวกันนี้อีกหลายคน เช่น รศ.ดร.ลุอัย ซาฟี, ศาสตราจารย์ ดร.ราชิด โมเต็น ฯลฯ

การเข้ามารับหน้าที่ของ ดร.ตอฮา ญาบิร อัลวานี ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบขบวนการอิสลามานุวัตรที่ตรงกันข้ามกับ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี กล่าวคือ ท่านได้เน้นย้ำการสร้างความเชี่ยวชาญกับองค์ความรู้สมัยใหม่และองค์ความรู้แบบอิสลาม ซึ่งท่านเรียกว่า การทำความเข้าใจหรือการอ่านคัมภีร์สองเล่ม (The reading of two books or the combining of the two readings) การผสมผสานการอ่านหรือการทำความเข้าใจในคัมภีร์สองเล่มดังกล่าว คือ

หนึ่ง คัมภีร์ธรรมชาติ หรือความเป็นจริงในธรรมที่ถูกสร้างโดยอัลลอฮ์

สอง เทวคัมภีร์ หรือ ความรู้ที่มาจากพระเจ้าโดยผ่านท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) หรือที่เรียกกันว่า คัมภีร์อัลกุรอาน ทั้งนี้รวมถึง ซุนนะห์ หรือแนวทางการปฏิบัติที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดได้สั่งสอน สาธิต และอธิบายด้วย

ส่วนขั้นตอนในขบวนการอิสลามานุวัตรที่ ดร.ตอฮา ญาบิร อัลวานี ได้เสนอไว้นั้น มีขั้นตอนโดยสรุป ที่แตกต่างกันออกไปจาก ดร. อิสมาแอล ดังนี้คือ(35)
หนึ่ง ให้ความสำคัญกับนักวิชาการแบบดั้งเดิม หรือนักวิชาการนิติศาสตร์อิสลามมากกว่านักวิชาการสมัยใหม่ (ผู้เชี่ยวชาญทางความรู้แบบตะวันตก)

สอง ให้นักวิชาการทั้งหมดย้อนกลับไปสำรวจและตรวจสอบมรดกทางความรู้อิสลามอย่างจริงจัง และให้นักวิชาการพยายามสร้างองค์ความรู้ของอิสลามขึ้นมาใหม่ โดยให้นักวิชาการพยายามตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงข้อดี ข้อเสียขององค์ความรู้จากคัมภีร์ทั้งสองนั้น

ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าแนวทางของ ดร.ตอฮา ญาบิร เปรียบเสมือนการสร้างองค์ความรู้อิสลาม ตามบริบทและสถานการณ์ ณ ปัจจุบันมากกว่า หรืออาจเรียกว่า "บริปทานุวัตร" (Contextualization)(36)

นอกจากนี้แล้ว ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพยายามจะโต้แย้งว่า ขบวนการอิสลามานุวัตรนั้นเป็นไปไม่ได้ทั้งนี้ เพราะพื้นฐานองค์ความรู้อิสลามนั้นขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับพื้นฐานองค์ความรู้ตะวันตก หรือองค์ความรู้สมัยใหม่ ข้อนี้เป็นปัญหาทางด้านการศึกษาที่มาขององค์ความรู้ (Epistemology)

ในขณะที่นักวิชาการของขบวนการอิสลามานุวัตรที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง ดร. อับดุล ฮามิด อบู สุไลมาน ซึ่งเดิมทีมีความคิดเห็นและแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกันกับ ดร.อิสมาแอล อัลฟารุกี ในอันที่จะสร้างองค์ความรู้หรือหลอมรวมองค์ความรู้สมัยใหม่ให้เข้ากับอิสลาม แต่อย่างไรก็ดี ท่านมีแนวความคิดอันใหม่ในอันที่จะสร้างองค์ความรู้อิสลามตามแนวทางของท่านขึ้นมา

เพราะท่านมองว่าปัญหาการแบ่งแยกระบบทางการศึกษาของโลกมุสลิมเป็นแบบตะวันตก หรือแบบโลกียวิถี (secular) กับการศึกษาแบบดั้งเดิม (traditional) เป็นต้นตอของความล้าหลังทางการศึกษาของโลกมุสลิม ดังนั้นท่านจึงมีความคิดว่า ควรจะมีการศึกษาแบบผสมผสานองค์ความรู้แบบตะวันตกกับองค์ความรู้อิสลาม ตั้งแต่เยาว์วัย คือ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยท่านพยายามเปรียบเทียบการศึกษาที่ท่านนำเสนอ กับการเปลี่ยนแปลงประชาชาติของท่านศาสดามูซา (ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน) ในการสร้างคนของท่าน โดยการอพยพและอบรมให้การศึกษาอิสลาม โดยกำหนดระยะเวลาในการกล่อมเกลาทางจริยธรรม หรือด้วยกระบวนการอิสลามานุวัตรทางความรู้เป็นระยะเวลา 40 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ท่านศาสดามูซา (ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน) สามารถทำให้ชุมชนชาวบนีอิสราเอลเข้มแข็งมีเอกภาพ ตามหลักคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า และกระบวนการนี้จึงถูกเรียกขานว่า เป็นตัวแบบของท่านศาสดามูซา (ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน) (Musa model)(37)

อย่างไรก็ดี ดร.อับดุล ฮามิด อบู สุไลมาน ก็มิได้ปฏิเสธแนวทางอิสลามานุวัตรตามแบบดั้งเดิมของ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี เพียงแต่เพิ่มเติมแนวทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้

ถึงแม้ว่านักวิชาการในขบวนการอิสลามานุวัตร จะมีแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการอิสลามานุวัตรมีบทบาทที่สำคัญในการฟื้นฟูอิสลาม และการพัฒนาองค์ความรู้อิสลาม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทัดเทียมกับวิวัฒนาการของโลกสมัยใหม่ ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มุสลิมในทุกสาขาวิชาชีพ ต่างก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับขบวนการอิสลามานุวัตร ทั้งนี้ก็เพื่อจะยกระดับการพัฒนาสังคมมุสลิม และแก้ปัญหาภายในสังคมมุสลิมเองด้วย

กระแสอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ในบริบทของประเทศไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่าขบวนการอิสลามานุวัตรไม่เป็นที่แพร่หลายในทางทฤษฎีในประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติขบวนการอิสลามานุวัตร ได้ก่อตั้งขึ้นมาในรูปขององค์กรและสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางการศึกษาทั้งในมัธยมศึกษา เช่น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีอยู่มากมายโดยเฉพาะห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และสถาบันระดับอุดมศึกษา เช่น วิทยาลัยอิสลาม ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ปี ค.ศ.1989(38) หรือแม้แต่วิทยาลัยอิสลามยะลาที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1999 ในจังหวัดยะลา ซึ่งทั้งสองสถาบันดังกล่าวเกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย อันเป็นเขตพื้นที่ที่มุสลิมอยู่อาศัยหนาแน่น คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสตูล

ส่วนสถาบันการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันที่ส่งเสริมขบวนการอิสลามานุวัตรและรับใช้สังคมมุสลิมมาเป็นเวลานานแล้ว ก็คือระบบการศึกษาแบบปอเนาะ ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ระบบการศึกษาแบบปอเนาะมีสองระบบคือ การศึกษาศาสนาอย่างเดียว กับสอนระบบปอเนาะแบบบูรณาการที่นำการศึกษาศาสนาและระบบสามัญเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เยาวชนมุสลเมมีโอกาสได้รับการศึกษาทั้งสองด้าน คือ ด้านศาสนา และสามัญ

ก่อนอื่นก็ต้องทำความเข้าใจเช่นกันว่า การศึกษาระบบที่ถูกนำเข้ามาอยู่ในหลักสูตรการศึกษาระบบปอเนาะ หรือที่นิยมเรียกกันว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เป็นหลักสูตรเดียวกันกับหลักสูตรของโรงเรียนสามัญทั่ว ๆ ไปในประเทศ การศึกษาในระบบสามัญจึงเป็นตัวแทนการศึกษาและแนวทางการพัฒนาตามแบบตะวันตก หรือที่เรียกกันว่า การศึกษาทางโลก (secular education or non-religious education) ซึ่งปรัชญาทางการศึกษาในระบบนี้ได้ถูกนำเสนอไว้แล้วในตอนต้น ดังนั้น การศึกษาในระบบปอเนาะระบบที่สอง หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีแพร่หลายในประเทศไทย จึงเป็นตัวแทนการพัฒนาการอิสลามให้สอดคล้องกับการศึกษาแบบสมัยใหม่ (modern / secular)

การศึกษาเช่นนี้เองที่เป็นกระบวนการหนึ่งของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ (Islamization of knowledge) ถึงแม้ว่าในระบบการศึกษาเช่นนี้ยังมีข้อบกพร่องหลายประการ ที่ทำให้ขบวนการอิสลามานุวัตรในประเทศไทยไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ตัวอย่างข้อบกพร่องดังกล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง การศึกษาทั้งศาสนาและสามัญยังแยกส่วนกันในด้านการเรียนการสอนอย่างชัดเจน ยังไม่มีกระบวนการการบูรณาการทางการศึกษาอิสลามกับสามัญอย่างเป็นรูปธรรม ต่างคนต่างสอนตามสาขาที่ตนเองถนัด

ประการที่สอง ระบบการศึกษาแบบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เริ่มต้นเมื่อนักเรียนได้ผ่านระบบการศึกษาภาคบังคับซึ่งเป็นแบบโลกวิถี (secular) มาก่อนแล้ว ขณะเดียวกันนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากระบบปอเนาะในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มีทางเลือกเพียงแค่สองทางหลังจบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วก็คือ เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของรัฐ หรือเอกชน ที่เปิดสอนตามระบบการศึกษาแบบโลก (secular education) หรือไม่ก็เลือกที่จะศึกษาต่อสถาบันการศึกษาศาสนาในต่างประเทศ เช่นในตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาก็มักจะเลือกเรียนในสาขาวิชาศาสนาอย่างเดียว (religious education) เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้นขบวนการอิสลามานุวัตร ซึ่งมีปรัชญาในการหลอมรวมการศึกษาทั้งระบบ(secular) กับศาสนา(religious) จึงไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ เพราะการศึกษาตอนต้นหรือระดับประถมศึกษา กับการศึกษาตอนปลาย หรือระดับอุดมศึกษา กลายเป็นระการศึกษาแบบโลกวิถี (secular) ระบบการศึกษาแบบปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จึงเปรียบเสมือนการศึกษาที่ถูกโดดเดี่ยวให้อยู่กับความฝันที่จะสร้างบุคลากรมุสลิมที่มีความพร้อม ทั้งองค์ความรู้แบบอิสลามและองค์ความรู้ที่ทันสมัยตามแบบตะวันตก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หรือกลายเป็นการศึกษาที่ไม่รู้จุดมุ่งหมายปลายทางของตนเองชัดเจน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้เรียนเองว่าจะเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษาแบบระบบทางโลก(Secular System) ที่มีอยู่ดาษดื่นในประเทศ หรืออิสลามศึกษาในแบบดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง

ประการที่สาม ข้อบกพร่องประการที่สาม คือการศึกษาแบบบูรณาการขาดความต่อเนื่องในการผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ตามปณิธานของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ นอกจากนี้ระบบการศึกษาแบบบูรณาการเอง ยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างผลผลิตทางการศึกษาของตนเอง ทั้งในด้านงานวิชาการ บุคลากร และการจัดการ

ประการสุดท้าย คือ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญตามปณิธานการสร้างองค์ความรู้อิสลาม ถูกสังคมทุนนิยม ดึงให้ไปอยู่ภาคส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องทางการศึกษา หรือถูกดึงไปอยู่ในภาคส่วนอื่นที่ไม่สร้างสรรค์ องค์ความรู้อิสลามเท่าที่ควรจะเป็น เช่น ไปทำงานในบริษัทต่าง ๆ ที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า อย่างไรก็ดีขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้อิสลาม ยังคงต้องดำเนินอยู่ต่อไปโดยอาศัยบุคลากรที่มีความทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อปณิธานของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามยังถือว่าเป็นโชคดีของเยาวชนมุสลิม ที่ยังมีสถาบันอิสลามศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ช่วยต่อยอดองค์ความรู้อิสลามให้คงอยู่ และอย่างน้อยที่สุดยังคงยึดหลักปรัชญาการศึกษาแบบอิสลามานุวัตรองค์ความรู้หลงเหลืออยู่บ้าง และก่อเกิดขึ้นในประเทศไทยดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นคือ วิทยาลัยอิสลามศึกษาวิทยาเขตปัตตานี ภายใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, และวิทยาลัยอิสลามยะลา ยังไม่นับรวมกับมหาวิทยาลัยอิสลามนราธิวาสที่กำลังจะเปิดใหม่ ทั้งสองสถาบันเพิ่งก่อตั้งเมื่อไม่นานมานี้เอง อย่างไรก็ตามทั้งสองสถาบันนี้ก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของเยาวชนมุสลิมในประเทศไทย แม้กระนั้นความพยายามในการสร้างองค์ความรู้อิสลามของสถาบันทั้งสอง กลับเป็นที่ยอมรับจากสังคมมุสลิมในระดับหนึ่งซึ่งจะกล่าวต่อไป

วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนใกล้เคียงกับความต้องการ และปรัชญาขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้อิสลามมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ กล่าวคือในช่วงทศวรรษ 1990 มุสลิมจากทุกภาคในประเทศไทย ต่างก็ได้รับภาคผลจากสถาบันอุดมศึกษานี้ แม้ว่าบางภาคส่วนของสังคมมุสลิมจะมองว่าเป็นสถาบันการศึกษาอิสลามที่ถูกกลืนและควบคุมโดยรัฐไทยก็ตาม

แต่สถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ยังเป็นทางเลือกแห่งหนึ่งของเยาวชนมุสลิม และที่สำคัญยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเยาวชนมุสลิม ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดในการตอบรับเยาวชนมุสลิมที่ต้องผ่านการสอบเอ็นทรานซ์ ซึ่งจำกัดจำนวนผู้ที่ต้องการจะศึกษาในสถาบันแห่งนี้ นอกจากนี้การถูกคุกคามจากรัฐไทยในการจับตาของ เยาวชนมุสลิมไทยที่ไปศึกษาในระดับอุดมศึกษาในตะวันออกกลาง(39) จึงทำให้เยาวชนมุสลิมที่ต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขาดที่พึ่งทางการศึกษาที่ตนเองต้องการในแผ่นดินไทย

จากข้อจำกัดต่าง ๆ หลายประการของวิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการมุสลิมกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของ ดร.อิสมาแอล ลุตฟี่ จะปากียา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิมามมูฮัมหมัด ฮินนิซะอุด จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ผู้ซึ่งมองการณ์ใกลและเห็นจุดบอดของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของมุสลิมในประเทศไทย วิทยาลัยอิสลามยะลาจึงเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก องค์กรช่วยเหลือมุสลิมนานาชาติ และมหาวิทยาลัยอิมามมูฮัมหมัด อิบนิซาอุด วิทยาลัยอิสลามยะลาแห่งนี้จึงเป็นอีกสถาบันที่เป็นความภาคภูมิใจและได้รับการตอบสนองจากสังคมมุสลิมไทยในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ก็เพราะหลักสูตรการศึกษาสถาบันแห่งนี้สนับสนุนแนวทางการพัฒนาการศึกษาแบบอิสลาม ที่มีลักษณะหลอมรวมการศึกษาทั้งทางศาสนาและทางโลกเข้าด้วยกัน แม้ว่าในเบื้องต้น สถาบันแห่งนี้จะเปิดสอนเฉพาะหลักสูตรอิสลามศึกษาที่มีเพียงสามสาขาเท่านั้นคือ สาขากฎหมายอิสลาม(Shariah) สาขาวิชาหลักการอิสลาม(Usuluddin) และสาขาวิชาภาษาอาหรับ(Arabic) อย่างไรก็ดีทั้งสามสาขาถูกวางให้เป็นระยะเริ่มต้นของการศึกษาตามรูปแบบอิสลาม ที่เป็นหลักพื้นฐานการศรัทธา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะนำไปสู่การศึกษาในระยะที่สอง(40) ที่มีการหลอมรวมการศึกษาตามปรัชญาอิสลามานุวัตรองค์ความรู้อิสลาม

กล่าวคือ ทางสถาบันได้เปิดหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร และหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้ได้ถูกบูรณาการให้เข้ากับสาขาวิชาเดิมที่เป็นหลักสูตรอิสลามศึกษาล้วน ๆ ดังกล่าวนี้วิทยาลัยอิสลามยะลาจึงเป็นจุดศูนย์รวมความสนใจของเยาวชนมุสลิมในยุคใหม่อย่างแท้จริง

เมื่อจะเปรียบเทียบหลักสูตรอิสลามศึกษา ของวิทยาลัยอิสลามศึกษา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี กับวิทยาลัยอิสลามยะลา ก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันในอันที่จะหลอมรวมการศึกษาอิสลามให้เข้ากับการศึกษาแบบโลกวิถี นอกจากนี้ทั้งสองสถาบันยังมีความร่วมมือทางการศึกษาโดยมีการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนบุคลากร ประสบการณ์ระหว่างสถาบันเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าอดีตผู้อำนวยการอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ผศ.ดร ฮาซัน หมัดหมาน ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในบุคลากรของวิทยาลัยอิสลามยะลา โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการภาษานานาชาติวิทยาลัยอิสลามยะลา

วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานีเปิดสอนหลักสูตรต่าง ๆ 5 หลักสูตร กล่าวคือ หลักสูตรอิสลามศึกษา หลักสูตรคุรุศาสตร์อิสลาม หลักสูตรนิติศาสตร์อิสลาม หลักสูตรเศรษฐศาสตร์อิสลาม และหลักสูตรตะวันออกกลางศึกษา จะสังเกตเห็นว่าหลักสูตรเหล่านี้จะไม่ครอบคลุมในสาขาวิชาอื่น ๆ เช่น สาขาวิชาในสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะ สาขาวิชาดังกล่าวได้เปิดทำการสอนตามหลักสูตรโลกวิถี(secular curriculum) ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จึงถือเป็นข้อจำกัดประการแรกของวิทยาลัยอิสลามศึกษาในการขยายสาขาวิชาต่าง ๆ ให้ทั่วถึงโดยมีหลักปรัชญาอิสลามานุวัตรองค์ความรู้. ข้อจำกัดประการต่อมาเป็นผลมาจากข้อจำกัดประการแรก กล่าวคือ วิทยาลัยอิสลามศึกษาไม่สามารถขยายอัตราอาจารย์และนิสิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มีมากและหลากหลายมากขึ้น

จากข้อด้อยดังกล่าวของวิทยาลัยอิสลาม ม.อ.ปัตตานี จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่เป็นที่มาของการก้าวข้ามความคับแคบทางการศึกษา ที่ภาครัฐพึงให้แก่สังคมมุสลิม จนในที่สุดวิทยาลัยอิสลามยะลาได้ก่อตัวขึ้นในปี 1999 อย่างไรก็ดีวิทยาลัยอิสลามยะลาก็ยังอยู่ในช่วงฟักตัว ยังต้องรอการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมตามหลักปรัชญาของอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ที่หลอมรวมการพัฒนาความรู้ทั้งที่ถูกประทานโดยพระเจ้า (revealed knowledge) และความรู้ที่มนุษย์ขวนขวายจากความสามารถของมนุษย์เอง (acquired knowledge) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือความรู้จากคัมภีร์อัลกุรอาน และคำอธิบายจากท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล.) หรือที่เรียกว่าซุนนะห์ กับความรู้ที่มีอยู่ในธรรมชาติเช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ฯลฯ

วิทยาลัยอิสลามยะลา ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมุสลิมแห่งแรกในจังหวัดภาคใต้ จึงเป็นเหมือนกุญแจสำคัญของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยดังนี้คือ

ประการแรก ความเป็นอิสระในการจัดการภายใต้ปรัชญาของขบวนการมุสลิมานุวัตรองค์ความรู้

ประการที่สอง การขยายสาขาต่าง ๆ ในอนาคตเพื่อให้เป็นไปตามหลักปรัชญาขบวนการอิสลามานุวัตรมีโอกาสเจริญเติบโตก้าวหน้าง่ายกว่า เพราะการขยายและการจัดการต่างมีความเป็นเอกเทศ และเป็นไปตามความต้องการของชุมชนมุสลิม

ประการที่สาม ความเป็นเอกเทศในการเลือกสรรบุคลากรตามหลักปรัชญาของวิทยาลัย และหลักปรัชญาของขบวนการอิสลามานุวัตร

ประการที่สี่ การได้รับความช่วยเหลือการสนับสนุนทางด้านการเงิน และการบริหารการจัดการจากบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ(41)

ประการที่ห้า ความเป็นเอกภาพของบุคลากรในองค์กรรวม ทั้งความมีคุณภาพของบุคลากรในสถาบันเอง

ประการที่หก
ความเป็นผู้นำที่มีศักยภาพและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลของอธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา ดร. อิสมาแอล ลุตฟี จะปากียา และการเป็นที่ยอมรับของท่านในวงนักวิชาการในประเทศและต่างประเทศ

ประการสุดท้าย คือ การได้รับความเข้าใจและการเกื้อหนุนที่ดีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาและการจัดการการศึกษาภายใต้หลักการความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี พ.ศ 2540(42) ตามพระราชบัญญัติการศึกษาตามมาตรา 29 ที่กล่าวว่า

"ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์การชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถาบันประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญา และวิทยาการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน"

จะเห็นได้ว่าวิทยาลัยอิสลามศึกษาทั้งสองแห่ง ต่างก็ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทยนับตั้งแต่การก่อร่างสถาบันของทั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และวิทยาลัยอิสลามยะลา. นอกจากนี้สถาบันทั้งสองแห่งยังตอบสนองความต้องการของชุมชนมุสลิมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากจำนวนความต้องการผู้สมัครที่มีมากขึ้นตามลำดับในสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว ทั้งหมดนี้เป็นแนวโน้มและสัญญาณที่ดีของขบวนการอิสลามานุวัตรในประเทศไทย

ภาพรวมจุดมุ่งหมายทางการศึกษา ของขบวนการอิสลามานุวัตรในประเทศไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยโดยพื้นฐานในอดีตของไทยยังคงเป็น "การผลิตบุคลากรเพื่อบรรจุเข้าสู่ระบบราชการ"(43) และในยุคปัจจุบันยุคที่ความเจริญทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในระบบทุน เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางทางเศรษฐกิจ และการศึกษา ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยจึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะผลิตบุคลากรทางการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อ "ระบบทุนนิยม" คือการผลิตบุคลากรทางการศึกษาเพื่อตอบสนองความเจริญทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายทางการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยขั้นพื้นฐานในสมัยปัจจุบันจึงอาจจะแตกต่างจากอดีตไปบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ยึดเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก (Profit oriented) และการยึดเรื่องผลประโยชน์เป็นหลักนี้ก็มีแนวโน้มของความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น ในขณะที่ความเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมนิยมกลับจะเหือดหายลงไป (Public profit) ผลประโยชน์ส่วนรวมจึงถูกใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมเสมอ ๆ ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล (individual interest)

ในขณะเดียวกันหากวิเคราะห์จุดมุ่งหมายของการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยของวิทยาลัยอิสลามศึกษาของ ม.อ.ปัตตานี และวิทยาลัยอิสลามยะลา ก็จะพบว่าทั้งสองสถาบันต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่เน้นการสนองตอบต่อความต้องการของหลักการศาสนาอิสลาม กล่าวคือ เพื่อรับใช้อัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นเบื้องต้น และรับใช้ตนเองเป็นลำดับรองลงมา ดังนั้นการผลิตบุคลากรทางการศึกษาตามความต้องการของอิสลาม ไม่ใช่เพียงเพื่อจุดประสงค์หรือผลประโยชน์ของตน หรือของสังคม ของโลกมนุษย์ (mundane world) เท่านั้น แต่จะต้องตอบสนองความต้องการของพระผู้เป็นเจ้าเป็นอันดับแรก ดังคำกล่าวของในคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า

"เรามิได้สร้างญิน(44)ฺ และมนุษย์มาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเคารพสักการะเรา" (อัลกุรอาน 51:56)

ดังนั้นโองการจากคัมภีร์อัลกรุอานข้างต้น จึงได้กลายเป็นปรัชญาขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ในทุกมิติของทุกปัจเจกชนมุสลิม การศึกษาของมุสลิมในทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษาชั้นสูง ต่างก็ต้องตอบสนองต่อความหมายและนัยยะของการจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นสำคัญ

โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ผลประโยชน์ส่วนตนตามปรัชญาของระบบทุนนิยม หรือผลประโยชน์ส่วนรวมตามปรัชญาของรัฐชาติสมัยใหม่ (modern nation-state) เป็นแค่ผลประโยชน์ปลีกย่อยรองลงมาจากผลประโยชน์ คำสั่งของพระผู้อภิบาล (God's commandment) เพราะแท้จริงตามทรรศนะของอิสลาม มนุษย์ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งและผลประโยชน์ของพระเจ้าแล้ว ผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมของมนุษย์จะไม่เสียหายและถูกพรากไปอย่างแน่นอน เพราะแท้ที่จริงความต้องการของพระองค์หรือผลประโยชน์ของพระองค์นั้น มีอรรถประโยชน์เป็นสากล เป็นสัจธรรมสากล ไม่มีสิ่งใดเลยจากคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะทำลายและขัดขวางความสงบสุขของสังคมมนุษย์นอกเสียจากการกระทำและความต้องการของมนุษย์เอง

บทสรุป
ในภาคปฏิบัติคงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า ขบวนการอิสลามานุวัตรเป็นขบวนการที่มีอยู่ในสังคมมุสลิมไทยมาช้านาน ทั้งนี้เพราะการปฏิสัมพันธ์ของมุสลิมกับชาวไทยพุทธในอดีต การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันภายใต้รัฐชาติไทย รัฐชาติไทยได้พยายามนำแนวทางการพัฒนาสมัยใหม่ หรือแบบแผนตะวันตกมาใช้ในสังคมของไทย ซึ่งรวมถึงสังคมมุสลิมไทย ดังนั้นมุสลิมไทยจึงจำเป็นต้องสนองตอบต่อการพัฒนาดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพื่อจะปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของมุสลิม โดยมีอิสลามเป็นทางนำในการประยุกต์ใช้

นอกจากนี้ก็เพื่อให้สนองตอบต่อความต้องการของรัฐไทยโดยที่ความต้องการของมุสลิมในท้องที่ไม่ถูกลดความสำคัญลงไป โดยการนี้มุสลิมในประเทศไทยจึงพึ่งพาขบวนการอิสลามานุวัตรในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและหลักปฏิบัติอันแตกต่าง

ขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ซึ่งถือเป็นเสาหลักในการพัฒนาสังคมมุสลิมในอันที่จะสร้างองค์ความรู้อิสลามที่เหมาะสมกับบริบทและวิถีชีวิตของตน ดังเช่นการดำรงใว้ซึ่ง โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาอย่างวิทยาลัยอิสลามศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยอิสลามยะลา และมหาวิทยาลัยอิสลามที่กำลังจะก่อตัวขึ้นเร็ว ๆ นี้ในจังหวัดนราธิวาส เหล่านี้ถือเป็นองค์กรที่ช่วยส่งเสริมองค์ความรู้อิสลาม รวมทั้งเป็นขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ที่สำคัญในสังคมมุสลิมไทย

นอกจากนี้ยังเป็นเสมือน "องค์กรสมานฉันท์ทางความคิด" ที่สำคัญในทางศาสนาอิสลามในอันที่จะอยู่ร่วมกับสังคมอื่น ๆ อย่างเท่าเทียม ยุติธรรม และสันติธรรม

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ เป็นองค์กรที่พยายามสร้างกระบวนการในการหลอมรวมองค์ความรู้สมัยใหม่ ให้เข้ากับองค์ความรู้อิสลาม ซึ่งประวัติความเป็นมาของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ถูกทำให้เป็นที่แพร่หลายโดยนักวิชาการชาวอเมริกันสัญชาติปาเลสไตน์ ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี และนักวิชาการในกลุ่มเดียวกันอีกหลายท่าน พันธกิจต่าง ๆ ของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าจะมีอุปสรรคต่าง ๆ อยู่บ้างแต่ก็เป็นอุปสรรคทางด้านกระบวนการและการจัดการ มากกว่าที่จะเป็นอุปสรรคในด้านความขัดแย้งทางความคิด เพราะนักวิชาการมุสลิมในขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ต่างก็มีความเข้าใจที่ตรงกันในประเด็นหลัก คือ การมุ่งพัฒนาศักยภาพองค์ความรู้อิสลามให้สอดคล้องกับองค์ความรู้สมัยใหม่ และมุ่งยกระดับสังคมมุสลิมโดยรวม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการอิสลามานุวัตรโดยเฉพาะขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ มีอิทธิพลต่อสังคมมุสลิมทั่วโลกรวมถึงสังคมมุสลิมในประเทศไทย อย่างไรก็ดี ขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ในประเทศไทย ยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ว่าแนวโน้มและพัฒนาการของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ในประทศไทย กำลังมุ่งสู่ทิศทางที่ดีและมีโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคสถาบันการศึกษา เช่น

โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เป็นฐานรากสำคัญของขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ตลอดมา และสถาบันอุดมศึกษาของมุสลิม สถาบันหนึ่งเป็นสถาบันของรัฐ คือวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และอีกหนึ่งสถาบันที่เป็นของเอกชนคือวิทยาลัยอิสลามยะลา รวมทั้งบุคลากรในสถานศึกษาเหล่านี้ และที่ลืมเสียไม่ได้คือ ความเข้าใจที่ดีของภาครัฐ และชุมชนมุสลิมเองที่ตระหนักในความสำคัญในการศึกษาของบุตรหลาน และให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษาเหล่านี้เป็นอย่างดี

++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

1 Surendra nath Kaushik, Politics of Isalmization in Pakistan, ( New Delhi: South Asian Publisher, 1993), p. 8.


2 Jaafar S. Idris, "The Process of Islamization", Reading in Islam, No. 4, (1979), p. 27.


3 Abdul Rashid Moten, "Approaches to the Islamization of Knowledge: A Trend Analysis", in Encounter, 7:2(2001), p.189.

4 Imad al Din Khalil, Islamization of Knowledge: A Methoodology (Herndon, Virginia, London: International Institute of Islamic Thought(IIIT), 1991 ), p. 3.

5 Lars Haugom, "Towords Secularization? Development in the Islamic Republic of Iran after Khomeini", paper presented in The Fourth Nordic Conference on Middle Eastern Studies: The Middle East in Globalizing World, Oslo, 13-16 August 1998.

6 Louay Safi, The Foundation of Knowledge: A Comparative Study in Islamic and Western Methods of Inquiry ( Petaling Jaya: International Islamic University and International Institute of Islamic Thought, 1996), p. 13.

7 (ซ.ล.) เป็นคำย่อที่มาจากภาษาอาหรับซึ่งมีความหมายว่า "ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน" นี่เป็นคำกล่าวสรรเสริญท่านศาสดาจากมุสลิมผู้ศรัธาในทุก ๆครั้งที่มีการเอ่ยถึงชื่อของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล.) .ในขณะที่ (ซ.บ.) ก็เป็นคำย่อที่มาจากภาษาอาหรับเหมือนกันซึ่งมีความหมายว่า "พระมหาบริสุทธิและพระผู้สูงส่ง" ซึ่งใช้กล่าวในการสรรเสริญพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)

8 See in Abdul Rashid Moten, "Approaches to the Islamization of Knowledge: A Trend Analysis" in Encounter, 7:2(2001), pp.189-210.

9 Rosnani Hashim and Imron Rossidy, "Islamization of Knowledge: A Comparative Analysis of the Conception of Al-ttas and Al_Faruqi" in Intellectual Discourse, Vol 8, No., 1, 2000, pp. 19-14. See also in http://en.wikipedia.org/wiki/Islamization_of_knowledge

10 Ibid.

11 ผู้เขียนขอใช้คำแปลอันหลังคืออิสลามานุวัตรองค์ความรู้(Islamization of Knowledge)

12 ผู้เขียนขอใช้คำแปลอันหลังคือความรู้สมัยใหม่(Modern Knowledge)

13 โปรดดูใน Obaid ul Hag, "Modernity , Islam and Social Science" in Chaiwat Satha-Anand (ed.), Islam and the Quest of Social Science, IAS Monograph No. 043. Institute of Asian Studies, Chulalongkorn Univeresity, (1989), p. 18.

14 Ibid., p. 18.,http://www.islamicity.com/mosque/ihame/Sec7.htm ,and http://www.islamicity.com/mosque/ihame/Ref4.htm.

15 อาณาจักรอับบาซียะห์ (Abbasid Caliphate ค.ศ.750-1258)เป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่สำคัญของอิสลามที่รุ่งเรืองในอดีตซึ่งชื่อราชวง์มีที่มาจากเชื้อสายวงศ์วานของ อับบาส อินนุ อับดุลมุตตอลิบ ชาวกุเรซ (ค.ศ.566-652) ผู้ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.) มีการปกครองโดยผู้นำเรียกว่าคะลีฟะห์ คะลีฟะห์องค์แรกของราชวงศ์นี้คืออะบูอัลอับบาส อับดุลลเลาะห์ อิบนุมูฮัมหมัด อัล ซาฟฟะห์(ค.ศ. 721-754)Abu al-'Abbas Abdullah ibn Muhammad al-Saffah หลังจากคะลีฟะห์องค์สุดท้ายคือ มัรวานที่สอง (Marwan II ค.ศ. 744-750)แห่งราชวงศ์อุมัยยะห์ (Umayyad Caliphate ค.ศ..661-750)

16 http://www.freerepublic.com/focus/news/798708/posts
17 โปรดดูใน พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2003) หน้า 38.

18 http://en.wikipedia.org/wiki/Epistemology

19 Chava Nacmias and David Nacmias, Research Methods in Social Sciences( London:Edward Arnold), pp. 4-6.

20 W. Lawrence Neuman, Social Research Methods: Qualitative and Quantitative Approaches(Boston,London: Alyn&Bacon, 2000), p.6.

21 Ibid., see also in http://www.infidels.org/library/historical/thomas_paine/age_of_reason/intro.html

22 Chava Nacmias and David Nacmias, Research Methods in Social Sciences( London, Melbourne, Auckland:Edward Arnold,), pp. 6-9.

23 Cited in Ahmad Muoussalli, "Sayyid Qutb's View of Knowledge", The American Journal of Islamic Social Sciences, Vol. 7, No. 3, (1990), p. 318.

24 Abdul Rashid Moten, "Approaches to the Islamization of Knowledge: A Trend Analysis" in Encounter, 7:2(2001), p.189.

25 Rosnani Hashim and Imron Rossidy, "Islamization of Knowledge: A Comparative Analysis of the Conception of Al-ttas and Al_Faruqi" in Intellectual Discourse, Vol 8, No. 1, (2000), p. 20.

26 โปรดดูรายละเอียดใน "อักุรอาน" (2:143). " และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย และร่อซูลก็จะเป็นสักขีพยานแด่พวกเจ้า"

27 โปรดดูรายละเอียดใน IIIT, Islamization of Knowledge: General Principles and Workplan, (Herndon,V.A.: IIIT, 1987 ), Abdul hamid Abu Suayman, " Islamization of Knowledge with Special Reference to Political Science." American Journal of Islamic Social Sciences 2,No. 2 (December 1985): 263-289., Abdul Rashid Moten , "Isloamization of Knowledge: Methodology of Research in Political Science." American Journal of Islamic Social Sciences 7, No. 2 (September 1990),pp. 161-175.

28 Seyyid Vali Reza Nasr, Islamization of Knowledge: A Critical Overview ( Islamabad: International Institute of Islamic Thought, 1992), p. 2.

29 "Ottoman Empire." Britannica Student Encyclopedia. 2005. Encyclop?dia Britannica Premium Service
10 Apr. 2005 <http://www.britannica.com/ebi/article?tocId=206012>.

30 ซุนนะห์ คือ สิ่งที่ท่านศาสดาพูด กระทำ หรือนิ่งเฉยต่อกิจการหนึ่งกิจการใดก็ตาม เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางในการประพฤติปฏิบัติให้กับสาวก และผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นมุสลิม ผู้ศรัทธาในอัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์

31 วายิบ คือข้อกำหนดใช้ต่าง ๆ ของอัลลอฮ์(ซ.บ.)ที่ผ่านมาทางท่านศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.)ถ้าไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษทั้งในโลกนี้และโลกหน้า สำหรับการลงโทษในโลกนี้สำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนั้นจะขึ้นอยู่กับกลไกการบังคับใช้ที่สร้างขึ้นและมีอยู่ในสังคมด้วย

32 Sayyid Qutb, Fi al -Tarikh…Fikrah wa Minhaj (Cairo:Dar al sharuq,1974), p. 26 cited in Ahmad Moussalli, "Sayyid Qutb 's View of Knowledge" in The American Journal of Islamic Social Sciences, Vol. 7, No. 3, (1990), p. 316.

33 Abdul Rashid Moten, "Approaches to the Islamization of Knowledge: A Trend Analysis" in Encounter, 7:2(2001), pp.189-210

34 Abdul Rashid Moten, "Approaches to ……pp.192-193.

35 Abdul Rashid Moten, "Approaches to the Islamization of Knowledge: A Trend Analysis" in Encounter, 7:2(2001), pp.194-198.

36 Ibid.

37 Ibid., pp. 201-205.

38 Hassan Madmarn, "Islamic Studies and Modern Trends: A New Dimension of Thailand" Paper presented in International Seminar on University Teaching of Islamic Studies at the International Level: Concept, Polocy and Trends, The College of Islamic Studies, Prince of Songkla University Pattani campus, Thailand, 19-20 March 2005.

39 "เทศมองไทย" ในมติชนสุดสัปดาห์, 3 ก.พ. 2547 ฉบับที่ 1255 ปีที่ 24.หน้า 102.

40 Sukree Langputeh, "Teaching Public Administration in Islamic Higher Education: Yala Islamic College 's Experience" Paper presented in Interrnational Seminar on University Teaching of Islamic Studies At The Intenational Level: Concept, Policy and Trends, Organized by The College of Islamic Studies, Prince of Songkla University, Pattani Campus, Thailand, 19-20 March 2005.

41 "History of Yala Islamic College", YICN, Vol. 4 No. 19, (May - June 2001).

42 ศึกษารายละเอียดในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2541 มาตรา 29 - 30

43 เสน่ห์ จามริก "สังคมศาสตร์นอกสังคมตะวันตก" แปลและเรียบเรียงจาก "Social Science in a Non-Western Milliue" บทความเสนอในการสัมมนาเรื่อง "Western Ideas and Higher Education in Southeast Asia" จัดโดยสมาคมในสถาบันอุดมศึกษาตะวันตกเฉียงใต้ (ASAIHL) ณ. กรุงจาการ์ตา 26-28 มิถุนายน 2523.

44 ญินฺเป็นหนึ่งในสิ่งถูกสร้างของอัลลอฮ์(ซ.บ.)เช่นเดียวกับมนุษย์ เป็นวิญญานที่มีชีวิตแต่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา มีรากฐานคำศัพท์จากภาษาอาหรับ "ญินฺ" แปลว่า ซ่อนเร้น (hidden). โปรดศึกษารายละเอียดใน http://www.usc.edu/dept/MSA/reference/glossary/term.JINN.html

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

หากจะมองกันด้วยความไม่ลำเอียงแล้ว ก็จะพบว่า การค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นความรู้สมัยใหม่นี้ มิใช่แค่ชาวตะวันตกเท่านั้นที่มีส่วนในการค้นพบวิทยาการอันนำไปสู่ความทันสมัยในสมัยต่อ ๆ มาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ยังมีนักคิดชาวอาหรับ ชาวเตอร์กและชาวเปอร์เซียมุสลิมอีกหลายท่านซึ่งอยู่ในยุคที่อิสลามรุ่งเรืองระหว่างคริสศตวรรษที่ 8-11 ด้วย

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างง่ายที่สุด ระหว่าง"องค์ความรู้อิสลามและแนวทางการพัฒนาแบบอิสลาม" กับ "องค์ความรู้แบบตะวันตกและแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตกหรือโลกวิถี (Secular)" ก็คือ องค์ความรู้อิสลามมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางและสูงสุด (God-Centered Knowledge)ในขณะที่องค์ความรู้ตะวันตก หรือองค์ความรู้สมัยใหม่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางความรู้ทั้งปวง (Human-Centered Knowledge) เพราะมนุษย์อ้างว่าความรู้ตามหลักเหตุผลของมนุษย์เท่านั้นที่เป็นเหตุผลสูงสุดในการยอมรับและความน่าเชื่อถือของความรู้นั้น ๆ และเป็นที่มาของลัทธิมนุษย์นิยม กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวคิดเรื่องความรู้แบบโลกวิถี (Secular knowledge)

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง